เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 11
  พิมพ์  
อ่าน: 9423 ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 21 มิ.ย. 23, 19:23

ก็มาถึงภาพของวิถีของชุมชนและของชาวบ้านในช่วงเวลาสายถึงช่วงเวลาอาหารกลางวัน  เห็นว่าน่าจะจำแนกออกได้เป็น 4 กลุ่มเรื่อง คือ กลุ่มของเรื่องความร่วมมือในการพัฒนาชุมชน  กลุ่มของเรื่องประเพณีและงานบุญ  กลุ่มของเรื่องทางราชการ  และกลุ่มของเรื่องภาระการต่างตอบแทน
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 22 มิ.ย. 23, 18:52

เกือบลืมเรื่องการบิณฑบาตรและการใส่บาตร

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าพระจะออกบิณฑบาตรในตอนเช้า ซึ่งการใส่บาตรของผู้คนก็จะทำกันด้วย 4 วิธีการ คือ ใส่แต่ข้าวในบาตร แล้วเอากับข้าวตามไปส่งให้ที่วัด โดยชาวบ้านจะจัดบ้านเวรเพื่อทำหน้าที่ทำกับข้าวและนำไปถวายที่วัด   วิธีที่สอง ใส่ทั้งอาหารคาวและของหวานในบาตร โดยการค่อยๆใส่แต่ละอย่างไล่เรียงกันไป เป็นวิธีที่เกือบจะไม่เห็นว่ามีทำกันวันวันปกติ เห็นแต่ทำกันในวันที่มีพิธีทางศาสนาที่มีการจัดขึ้นมา   วิธีที่สาม จัดชุดอาหารใส่ถุงครบทั้งคาวและหวาน แล้วใส่บาตรถวายไปทั้งถุง ซึ่งเป็นวิธีนิยมของผู้คนในกรุงเทพฯและในเมืองใหญ่ต่างๆในปัจจุบัน    และวิธีที่สี่ ใช้วิธีการถวายปัจจัย ซึ่งดูจะพบวิธีการนี้แต่เพียงในพื้นที่กรุงเทพฯ ก็มีทั้งแบบใส่ซองเตรียมพร้อมไว้ และแบบควักออกจากกระเป๋าในเวลานั้น นัยว่าเตรียมตัวไม่ทันหรือไม่พร้อม ณ เวลานั้น (กระทันหัน ...)

ภาพที่สวยงามและยังให้เกิดความรู้สึกอิ่มบุญและอิ่มใจของชาวพุทธ ก็ดูจะเป็นภาพเมื่อวันวาน(แต่ก่อนโน้น)ของการเดินบิณบาตรของพระ ซึ่งดูจะมีให้เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้น้อย ภาพในลักษณะเช่นนี้ดูจะยังคงเห็นอยู่ในพื้นที่ภาคอิสาน   

ทางภาคเหนือตอนบน  แต่ก่อนนั้น เมื่อช่วงเวลาประมาณตีห้าถึงแปดโมงเช้า จะได้ยินเสียงฆ้อง สักพักก็จะเห็นเด็กลูกศิษย์วัดเดินตีฆ้องนำหน้าแถวพระและเณรที่เดินตามมา ตามปกติก็ประมาณห้าหกองค์   ภาพนี้ไม่เหลืออยู่ให้เห็นอีกแล้ว และก็เป็นเวลานานมามากแล้วด้วย น่าจะเป็นหลังจากประมาณ พ.ศ.2500 เป็นต้นมา
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 22 มิ.ย. 23, 19:55

ภาพของพระเดินบิณฑบาตรที่เล่ามานั้น เป็นภาพในตัวเมืองและตามหมู่บ้านบางแห่งที่จำได้นะครับ  เมื่อแถว พ.ศ.นั้น ผมเองก็ยังเด็กอยู่มาก ได้เห็นและจำได้ก็เพราะเคยอยู่และต้องเดินทางผ่านเพื่อเข้ากรุงเทพฯมาเรียนหนังสือ   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 23 มิ.ย. 23, 18:53

วันนี้มาเข้ากระทู้ช้าเพราะต้องจัดกรงนกและหาอาหารให้นกแก้ววัยกำลังโต ไม่รู้หลงมาจากใหน มาเกาะอยู่ที่ต้นกุหลาบดูจะตลอดบ่าย ส่งเสียงร้องบ้าง ตกเย็นจึงเห็นว่าเป็นนกแก้วมาเกาะอยู่ ก็เลยเอาตัวเขามาใส่กรง ออกไปหาซื้อเมล็ดทานตะวันมาให้เขา หิวโซเลยทีเดียวครับ เชื่องมาก รู้เลยว่าเป็นนกเลี้ยงมาตั้งแต่เป็นลูกนกตัวเล็กๆ  แล้วก็รู้ว่าเจ้าของเค้าคงจะรักมันมากเช่นกัน เพราะมีกำไลลงหมายเลขสวมไว้ที่ข้อเท้า (เป็นนกที่มีทะเบียน)  ก็จะพยายามตามหาเจ้าของคนที่เลี้ยงเขามา คงจะไม่ยากนัก 

ก็รู้สึกเป็นสุขและมีความสุขใจที่บ้านของเราเป็นที่ร่มรื่นและปลอดภัยสำหรับสัตว์ที่หลงทางจะหลบมาพักรักษาตัว มาสะสมแรงเพื่อกลับไปใช้ชีวิตตามธรรมชาติของเขาต่อไป   เมื่อช่วงปลายปีที่แล้วเป็นลูกนกเขาชวา ก็เลี้ยงไว้จนมีขนเต็ม แลัวก็ปล่อยให้เป็นอิสระ เขาก็แวะมาเยี่ยมเยียนอยู่บ้าง เมื่อโตเต็มที่ก็เหมือนกันหมดทุกตัวก็เลยจำเขาไม่ได้  ก็น่าจะลงมาพร้อมกับฝูงนกที่ลงมากินอาหารตอนบ่ายๆก่อนแยกย้ายกันกลับรังไปนอน
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 23 มิ.ย. 23, 19:27

การใส่บาตรในภาคอิสานดูจะมีรูปแบบเฉพาะที่กระทำกันทั่วทั้งภาค คือพระเดินเรียงกันเป็นแถวตามอาวุโส ชาวบ้านใส่บาตรโดยปั้นข้าวเหนียวก้อนหนึ่งใส่ลงในบาตร กับข้าวที่จะฉันพร้อมข้าวจะมีบ้านเวรทำไปถวายที่วัด 

วิธีการใส่บาตรแต่เพียงข้าว ส่วนกับข้าวคาวหวานนำไปถวายที่วัดนี้ ดูจะเป็นวิธีการปกติที่เห็นได้เช่นกันในหมู่ชาวมอญที่เข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่ชายแดนทางตะวันตกของไทย 

สำหรับในพื้นที่ภาคกลาง เท่าที่ได้เห็นมาดูจะมีวิธีการคละกันไปหมด 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 24 มิ.ย. 23, 19:25

ภาพของพระเดินเรียงกันเป็นแถวบิณฑบาตร เป็นภาพในลักษณะหนึ่งที่ให้ความรู้สึกได้ถึงความสงบของสิ่งแวดล้อมทั้งด้านทางกายภาพและด้านจิตใจ    ในพื้นที่ภาคกลางซึ่งเต็มไปด้วยแม่น้ำคูคลอง จะมีอีกภาพหนึ่ง คือพระพายเรือออกบิณฑบาตร  ภาพลักษณะนี้ ในปัจจุบันนี้คิดว่าน่าจะยังพอเห็นได้บ้างในบางจุดในพื้นที่ๆมีวัดตั้งอยู่ติดชายฝั่งแม่น้ำ เช่น แม่น้ำน้อย แม่น้ำสะแกกรัง และคลองขุดที่ขุดในสมัยสมัยต้นถึงกลางยุครัตนโกสินทร์    ภาพพระพายเรือบิณฑบาตรที่ยังมีให้เห็นแน่ๆก็น่าจะอยู่ในละแวกแพรกคลองต่างๆในพื้นที่ อ.อัมพวา  แต่จะเป็นการใช้เรือในอีกลักษณะหนึ่งที่ไม่เหมือนกับเรือที่พระในสมัยก่อนใช้กัน ที่เรียกว่า 'เรือบด'   เรือบดเป็นเรือที่สร้างขึ้นมาเป็นการเฉพาะ มีขนาดเล็กมาก พระนั่งได้เพียงรูปเดียว

ในพื้นที่ป่าเขาก็มีที่พระที่ออกบิณฑบาตรด้วยการใช้ม้าเป็นพาหนะ   เคยเห็นเมื่อหลายสิบปีมาแล้วที่หมู่เหมืองปิล็อก อ.ทองผาภูมิ บริเวณเส้นเขตชายแดนไทย-พม่า   สำหรับในปัจจุบันนี้ก็ทราบว่ามีที่มีการใช้ม้าเป็นพาหนะอยู่ในพื้นที่ อ.แม่จัน จ.เชียงราย    และก็มีอีกภาพหนึ่งที่พระใช้วิธีการเดินทางด้วยรถเพื่อไปเดินบิณฑบาตรตามหมู่บ้านที่ไม่มีวัดที่อยู่ค่อนข้างห่างไกล ซึ่งก็จะมีการนัดวันกันล่วงหน้าเพื่อการตักบาตร

การใส่บาตรในเวลาประมาณ 10 โมงเช้าก็มีเหมือนกัน เรื่องของเรื่องก็เกิดในพื้นที่ๆมีการทำเหมืองแร่ดีบุก  ก็คงจะเป็นโรคทางประเพณีที่ติดต่อกันมาว่า ตื่นแต่เช้ามืดกินกาแฟแก้วเดียว แล้วออกไปทำงานหน้าเหมือง กลับบ้านมากินข้าวเช้า (เป็น brunch) ตอนประมาณ 10 โมง ทำให้ไม่มีคนใส่บาตรในตอนเช้า อีกทั้งชาวเหมืองก็ยังไม่มีของพร้อมจะใส่บาตร เพราะทั้งมวลยังอยู่ในช่วงของการเตรียมการและทำการปรุงอาหารสำหรับเวลา 10 โมงเช้า  ก็เป็นการปรับความเหมาะสมให้คนกับวัดสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุขและเกิดความสมดุลย์ระหว่างทางโลกกับทางธรรม   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 25 มิ.ย. 23, 18:58

ก็มาถึงภาพของวิถีของชุมชนและของชาวบ้านในช่วงเวลาสายถึงช่วงเวลาอาหารกลางวัน  เห็นว่าน่าจะจำแนกออกได้เป็น 4 กลุ่มเรื่อง คือ กลุ่มของเรื่องความร่วมมือในการพัฒนาชุมชน  กลุ่มของเรื่องประเพณีและงานบุญ  กลุ่มของเรื่องทางราชการ  และกลุ่มของเรื่องภาระการต่างตอบแทน

กลุ่มเรื่องเหล่านี้ต่างก็มีวาระงานของมัน หลายๆวาระงานถูกกำหนดขึ้นมาเป็นปฏิทินงานประจำในระดับประเทศที่พึงจะต้องมีการจัดงานร่วมด้วย หลายวาระงานเป็นเพียงการประชุมตามระเบียบหรือกฎเกณฑ์  หลายๆงานเป็นงานที่ต้องทำเร่งด่วน  หลายๆงานเป็นเรื่องที่ต้องมีการเตรียมการล่วงหน้าเป็นเวลาค่อนข้างนาน  ในขณะเดียวกัน แต่ละผู้คนก็มีวาระงานของตนเอง ทั้งในลักษณะที่ตนเองสามารถปรับและเปลี่ยนแปลงได้ด้วยตนเอง และที่เป็นเรื่องเร่งด่วน ต้องรีบไปทำการแก้ไขความเสียหายที่เกิดมาจากกระบวนการทางธรรมชาติ

ก็คือ ย่อมเกิดกรณีของความขัดแย้งในเรื่องของประโยชน์อันพึงได้ต่างๆ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 25 มิ.ย. 23, 19:56

เขียนเล่าความแบบตะกุกตะกักมาสักพัก รู้สึกว่านั่งเล่าให้ฟังจะง่ายกว่า  นึกออกว่าน่าจะลองใช้วิธีการเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นกับคนที่เป็นชาวบ้านบุคคลหนึ่งในวันหนึ่งๆ เพื่อการสื่อให้เห็นภาพ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับตัวผม
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 26 มิ.ย. 23, 19:57

ขอเริ่มต้นด้วยการลงไปสำรวจดูด้านรายจ่ายของชาวบ้าน

ในเชิงรายวัน ค่าใช้จ่ายส่วนมากจะเป็นเรื่องของอาหารประเภทเนื้อสัตว์สด โดยเฉพาะเนื้อหมู  เรื่องเงินค่าขนมสำหรับลูกไปโรงเรียน ค่าระบบการสื่อสาร (โดยเฉพาะโทรศัพท์) ...

ในเชิงรายเดือน รายจ่ายพื้นฐานก็จะมีเรื่องค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา(ประปาหมู่บ้าน) ค่าน้ำมันรถและสำหรับเครื่องยนต์เกษตรกรรม  ค่าปุ๋ยและเคมีทางการเกษตร ...

ในเชิงฤดูกาลก็จะมี เรื่องที่เกี่ยวกับงานบุญต่างๆ วัฒนธรรมประเพณี ...

ในเชิงรายปีก็จะเป็นเรื่องของการใช้จ่ายในการเตรียมการ (ไถพรวน ...) เพื่อเพาะปลูกพืชไร่ นา สวนต่างๆ 

สุดท้ายก็เป็นค่าใช้จ่ายทางสังคมที่เป็นเรื่อง/งานจรทั้งหลาย เช่น งานศพ งานกีฬาระหว่างหมู่บ้าน ...     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 27 มิ.ย. 23, 18:35

กระบวนคิดเรื่องรายได้และรายจ่ายนี้  โดยทั่วๆไปดูจะมีใน 3 ลักษณะ คือ คิดในลักษณะของการได้มา-จ่ายไปแบบหมุนเวียน เป็นลักษณะของคิดแบบการค้าขาย    ลักษณะที่สอง คิดในลักษณะของการสะสมรายได้เพื่อให้ได้มากถึงระดับที่สามารถจะใช้จ่ายตามยอดค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นเป็นประจำในแต่ละปี    และคิดในลักษณะที่สาม เป็นการหารายได้ให้ได้มากพอสำหรับการใช้จ่ายให้สามารถอยู่รอดในแต่ละวัน ทุกวัน ทุกสัปดาห์ หรือทุกเดือน

แนวคิดแรกจะเป็นแนวคิดหลักสำหรับผู้หญิงเกือบจะทุกคนที่เป็นแม่บ้าน ก็จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่จะเห็นผู้หญิงเป็นฝ่ายที่ออกเดินเก็บผักป่า เก็บเห็ดป่าต่างๆ  ลงห้วยลงหนองหากุ้ง หอย ปู ปลา  เดินส่องกบ เขียด อึ่งอ่าง หลังฝนหยุดตกแล้วในเวลาค่ำคืน

แนวคิดที่สอง เป็นแนวคิดของผู้ชายเกือบทั้งหมด ก็เพราะเป็นฝ่ายที่ต้องดำเนินการในเรื่องของรายได้จากผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งแต่ละเรื่องทางการเกษตรล้วนมีช่วงเวลาบังคับให้ต้องมีการใช้จ่ายในลักษณะเป็นเงินก้อน เป็นลักษณะของการลงทุนที่มีภาคบังคับ  ยิ่งทำการเกษตรหลายอย่างก็จะยิ่งต้องคิดให้รอบคอบและมีความวุ่นวายมากขึ้น  ทั้งนี้ เรื่องของการทำนาจะเป็นเรื่องพื้นฐานที่ต้องมีการดำเนินการสำหรับทุกครัวเรือน   

สำหรับแนวคิดที่สามนั้น มีอยู่ 2 ลักษณะ คือ ในลักษณะของการยึดเป็นอาชีพรับจ้างทำงานรายวัน  และในลักษณะของรับทำงานรายวันในวันที่ตนเองว่าง(จากการต้องไปทำสวนทำนา ....)  คนที่ยึดอาชีพรับจ้างรายวันจริงๆไม่ค่อยจะพบเห็นกันในแต่ละหมู่บ้าน เกือบทั้งหมดจะเดินทางไปทำงานในต่างพื้นที่   ที่จะพบก็จะเป็นในลักษณะของการรับจ้างเมื่อมีวันว่าง   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 27 มิ.ย. 23, 19:21

ก็คงพอจะสื่อให้เห็นภาพได้ว่า  หลักคิดของชาวบ้านโดยทั่วไปจะอยู่ในลักษณะของแนวคิดที่สอง ซึ่งเป็นลักษณะของการคิดบนพื้นฐานของรายได้แบบรวมเป็นรายปี ผนวกกับรายได้ในลักษณะแรกและลักษณะที่สามซึ่งเป็นรายได้ในลักษณะของ Petty cash (ในระบบบัญชีใช้คำว่าเงินสดย่อย)  ต่างกับหลักคิดของชาวเมืองที่จะมองรายได้ในลักษณะของรายเดือนแล้วใช้วิธีบริหารการใช้จ่ายแบบค่อยๆทยอยแบ่งจ่ายสำหรับแต่ละเรื่อง

ทั้งนี้ สำหรับรายได้ลักษณะที่สามของชาวบ้านนั้น หากเป็นการทำงานต่อเนื่องกันเป็นช่วงเวลาหลายสัปดาห์ ก็จะนิยมรับเป็น 'วิก' ซึ่งก็คือ 'วีค' (week) เป็นลักษณะของรายได้ต่อสัปดาห์  ซึ่งก็เป็นสิ่งที่แสดงถึงความสมบูรณ์พอประมาณของชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านของหมู่บ้านที่เราเห็นนั้นๆ   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 28 มิ.ย. 23, 19:24

ก็คงจะสื่อให้เห็นภาพที่มาของรายได้หลักประจำปีของชาวบ้านว่า ส่วนมากก็จะได้มาจากการทำนา เพื่ออย่างน้อยก็จะได้มีข้าวกินเองอย่างพอเพียงในแต่ละปี ก็มีที่ได้มาจากการปลูกพวกพืชล้มลุกและที่ได้มาจากพวกพืชสวน ซึ่งก็จะมีทั้งที่เป็นในลักษณะของรายได้หลักและที่เป็นรายได้เสริม    ด้วยที่ว่าเรื่องของผลิตทางการเกษตรจะได้ผลเช่นใด มันเกี่ยวข้องกับสภาพทางภูมิอากาศและการดูแลบำรุงรักษา  ก็สื่อความว่ามันมีค่าใช้จ่ายที่ต้องมีในแต่ละช่วงเวลา  ทุนก็จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะส่งผลให้ชาวบ้านสามารถดำรงชีวิตได้อย่างที่พอจะมีความสุขได้ในแต่ละปี     
 
ที่เล่ามาก็น่าจะพอสื่อความให้คิดต่อไปได้อีกมากเรื่อง เช่นในเรื่องด้านของกระบวนการสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนสภาพของการดำรงชีวิตจากสภาพ การพอมี-พออยู่ ไปเป็นสภาพของ การอยู่ดี-กินดี   ซึ่งก็มีกระบวนวิธีคิดต่างๆกัน อาทิ บ้างก็ใช้การจำนำผลิตผล บ้างก็ในด้านการประกันรายได้ บ้างก็ในด้านการตลาด บ้างก็ในด้านการสหกรณ์ ....    เชื่อว่า มีเป็นจำนวนน้อยที่จะคิดในด้านของการเข้าถึงแหล่งทุน ด้านของแหล่งและกระบวนการเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง ด้านของโอกาสเข้าถึงในเชิงนวัตกรรม....         
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 29 มิ.ย. 23, 19:06

ขอขยายความเรื่องของเหตุที่ใช้คำพูดว่ารายได้หลักมาจากการทำนา รายได้จากการทำไร่ทำสวนเป็นรายได้เสริม   ภาพนี้เป็นภาพของชาวบ้านที่อยู่นอกระบบชลประทาน เกษตรกรรมที่ทำทั้งหลายจะได้ผลผลิตหรือไม่ และจะมากน้อยเพียงใด จะขึ้นอยู่กับฟ้าฝนและฤดูกาลตามธรรมชาติที่นิยมเรียกกันง่ายๆว่า นาน้ำฟ้า  ซึ่งเป็นสภาพโดยส่วนใหญ่ของภาคเหนือ อีสาน และขอบแอ่งภาคกลางตอนบน

ผืนที่ดินทำนาแต่ดั้งเดิม รุ่นพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย นั้น  แต่แรกก็น่าจะมีอยู่ในระดับประมาณ 20-50 ไร่  เมื่อมีการแบ่งสมบัติ ผืนนาสำหรับลูกหลานแต่ละคนก็จะเล็กลง  แต่ละคนก็จะได้ปริมาณข้าวปลูกน้อยลง รายได้ก็น้อยลงตามกันไป   เพื่อจะหารายได้เพิ่มบนพื้นฐานของการทำนา ก็เป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องขยายพื้นที่การทำนา ซึ่งทำได้สองวิธีการ คือ หาซื้อนาของผู้อื่นเพิ่มเติม หรือไม่ก็ต้องหักร้างถางพงทำให้เป็นพื้นที่ๆสามารถทำนาได้ ซึ่งด้วยที่ทำนาข้าวมีลักษณะ/คุณสมบัติจำเพาะ การจะหักร้างถางพงเพื่อขยายพื้นที่ผืนนาจึงมีความจำกัดและเป็นไปได้น้อยมาก  พื้นที่ๆหักร้างถางพงจึงมีสภาพการใช้งานออกไปทางการทำพืชไร่หรือพืชสวนเสียมากกว่า  ซึ่งจะเป็นไร่หรือเป็นสวนก็ไปขึ้นอยู่กับลักษณะของพื้นที่และดิน  ทั้งนี้ พื้นที่หักร้างถางพงของแต่ละคน ดูจะอยู่ในระดับน้อยกว่า 10 ไร่  ขนาดพื้นที่มากกว่านี้ดูจะเป็นของผู้ที่อยู่ในระดับผู้มีอันจะกิน 

ก็เป็นภาพพอสังเขปเมื่อประมาณ 30+ปีที่ผ่านมา จากนั้นภาพที่กล่าวมานี้ก็จางหายไปเป็นหย่อมๆ แปรสภาพจากการทำไร่ทำสวนเพื่อช่วยเพิ่มรายได้ ไปเป็นการทำไร่ทำสวนเพื่อการได้มาซึ่งรายได้หลัก ก็คือการทำเกษตรกรรมเพื่อป้อนผลผลิตสำหรับตลาด niche market เช่น แป้งท้าวยายม่อม กระเจี๊ยบ วาซาบิ พืชสมุนไพรต่างๆ....

จะเป็นเช่นใดก็ตาม ภาพแต่ดังเดิมก็คงยังมีให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 58  เมื่อ 30 มิ.ย. 23, 19:23

เรื่องที่น่าจะคิดก็คือ อะไรจะดีกว่ากันระหว่างรายได้แบบน้ำซึมบ่อทรายกับรายได้แบบเป็นก้อนใหญ่ปีละครั้ง 

ในปัจจุบัน ชาวบ้านแต่ละครอบครัวจะมีนาเหลือให้ทำอยู่ประมาณไม่เกิน 10 ไร่ ซึ่งเมื่อแตกออกเป็นในเชิงของแต่ละบุคคล ก็ดูจะมีนาข้าวกันในระดับประมาณ 2-3 ไร่ต่อคนเป็นส่วนใหญ่  โดยพื้นๆแล้ว ข้าวจากนาประมาณ 2 ไร่ จะพอเพียงสำหรับการบริโภคทั้งปีของครอบครัวหนึ่ง ก็แสดงว่ามีผลผลิตข้าวเหลือพอที่จะขายได้มากโขอยู่ ซึ่งเมื่อประเมินรายได้โดยใช้ฐานข้อมูลอย่างหลวมๆแบบไม่หักค่าใช้จ่ายค่าลงทุนและค่าแรงงานอันพึงมี...ผลผลิตข้าวต่อไร่ได้ประมาณ 500 กก.ข้าวเปลือก ราคาขายข้าวเปลือก กก.ละ 10 บาท  ก็หมายความว่าเจ้าของจะมีรายได้ในเกณฑ์ประมาณ 40,000-50,000 บาทต่อปี   เมื่อจะหารายได้เพิ่มจากผืนนาเดิมด้วยการใช้วิธีการทำนาซ้ำ ก็หมายถึงต้องทำนาซ้ำอีกเป็นครั้งที่ 2 หรือครั้งที่ 3 ในรอบหนึ่งปี (ซึ่งจะทำได้ก็เฉพาะในพื้นที่ๆอยู่ในเขตชลประทาน)  หรือจะใช้วิธีเปลี่ยนการปลูกพืชอื่นใดในผืนนา หรือจะไปหาพื้นที่อื่นเพื่อปลูกพืชไร่หรือพืชสวน

>แทรก...กรณีแล้งน้ำของชาวบ้านที่อยู่ในเขตหรือนอกเขตชลประทานมีความแตกต่างกัน คำว่าแล้งซ้ำซากก็จึงต่างกัน  ทั้งมวลไปขึ้นอยู่กับว่าจะพูดถึงกันบนพื้นฐานใด ระหว่างการขาดแคลน(ไม่มี)น้ำสำหรับการใช้ในชีวิตประจำวันของผู้คน หรือการขาดแคลนน้ำ(มีไม่เพียงพอ)ที่จะใช้ในกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจดังที่เคยมี เช่น ไม่สามารถทำนาได้ปีละ 2 หรือ 3 ครั้งเหมือนเดิม ...

พระเอกของรายได้แบบน้ำซึมบ่อทรายอย่างหนึ่งก็คือ การปลูกยางพารา  ใช้เวลาให้มันโตประมาณ 6-7 ปี แล้วก็กรีดเอาน้ำยางของมันได้เกือบจะทุกวันและเกือบจะทั้งปี  อื่นๆก็มีเช่น มะละกอดิบ(ส้มตำ) มะกรูด มะนาว ชะอม หอยขม กล้วยน้ำว้า ผักเชียงดา ผักพาย(ตาลปัตรฤๅษี) มะเขือส้ม การเลี้ยงโคนม ....
 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 59  เมื่อ 01 ก.ค. 23, 19:18

ผมมองว่า สังคมที่เรียบง่ายเป็นสังคมของชุมชน(หรือผู้คน)ที่ใช้ชีวิตสอดคล้องไปกับครรลองของธรรมชาติบนฐานของความชัดเจน(แบบเหรียญสองด้าน) ไม่นิยมอะไรๆที่มีลักษณะเป็นสีเทา  เป็นลักษณะสังคมแบบของพหุภาคี (ช่วยกันคิดช่วยกันทำ)   และก็เห็นว่าความเรียบง่ายนั้นมันมีและคงอยู่ได้ก็เพราะชุมชนยังคงมีจิตสำนึกในด้านคุณธรรมและยังคงมีภาคปฏิบัติในเรื่องที่เกี่ยวกับจริยธรรม ประเพณี และวัฒนธรรม

เรื่องชู้สาว เรื่องการตบตีระหว่างสามีภรรยา และเรื่องของการรังแกข้ามเพศ เป็นเรื่องที่เกือบจะไม่เกิดขึ้นเลย  แต่เรื่องของผู้ญิงคนนี้หรือผู้ชายคนนั้นที่เคยเป็นสามีภรรยากัน มีลูกด้วยกัน แล้วเลิกกัน แยกกันไปแต่งงานใหม่กับอดีตสามีภรรยาของคนนั้นคนนี้ กรณีเช่นนี้ได้เห็นเป็นภาพปกติ เห็นเขานั่งคุยกันเป็นปกติธรรมดา ก็เป็นลักษณะทางสังคมอย่างหนึ่งของชาวบ้านในหมู่บ้านหนึ่งๆ   ฝ่ายชายก็ยังคงทำหน้าที่เหมือนเดิมคือ เป็นฝ่ายลงแรงหารายได้ ได้เงินมาก็ส่งให้ฝ่ายหญิงเก็บ (ก็มีที่แอบแบ่งส่วนแยกเก็บไว้เอง)  ฝ่ายหญิงก็ทำหน้าที่ในเรื่องของการหุงหาข้าวปลาอาหาร และดูแลสัตว์เลี้ยงที่บ้านหรือที่คอกในไร่/สวน (ไก่ หมู ....)
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 11
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.062 วินาที กับ 19 คำสั่ง