เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 11
  พิมพ์  
อ่าน: 9240 ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 12 มิ.ย. 23, 19:24

ที่เล่ามาก็คงพอจะเห็นภาพของกิจกรรมของชุมชนในบางเรื่องในเชิงที่เกี่ยวกับความมั่นคง ที่ต้องมีการดำเนินการในแต่ละหมู่บ้าน  ซึ่งก็จะมีทั้งลักษณะที่เป็นนโบายของทางราชการ/มาจากทางราชการ และลักษณะที่เป็นนโยบายของผู้นำชุมชนที่มีความเห็นชอบร่วมกัน   

ในด้านทางสังคมและทางประเพณีและวัฒนธรรมก็มีมากเช่นกัน  กิจกรรมที่จะนึกออกกันในทันทีก็จะเป็นเรื่องของวันสำคัญทางศาสนาและงานบุญต่างๆ  วันสงกรานต์  วันยี่เป็ง  งานตาน(ทาน)ข้าวใหม่  งานปอยหลวง และงานปอยต่างๆ ฯลฯ  และเรื่องของงานเพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทิตา เรื่องของงานฉลองวันสำคัญต่างๆ 

ก็น่าจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจทีเดียวในการบริหารจัดการในเรื่องเหล่านี้โดยผู้คนของแต่ละหมู่บ้านที่มีจำนวนประมาณ 500++ คน ที่สามารถยังให้เกิดผลแบบ fruitful  แม้จะดูอุดมไปด้วยเรื่องที่วุ่นวาย  แต่ภาพที่เราเห็นภายนอกกลับเป็นภาพที่สะท้อนออกมาในอีกภาพหนึ่งที่ทำให้เราเห็นว่าเป็นสังคมที่สงบสุขและเรียบง่าย    ผู้คนก็ยังตื่นแต่เช้ามืดไปทำงานในเรือกสวนไร่นา กลับมาบ้านห้าหกโมงเย็น อาบน้ำกินข้าว เข้าประชาคม เข้านอนประมาณสองทุ่ม ตื่นขึ้นมาตีสามตีสี่ ไปทำงานต่อ เป็นวัฎจักร       
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 13 มิ.ย. 23, 19:23

ภาพของโครงสร้างของหมู่บ้านในเชิง institutional framework ที่กล่าวมาก็น่าจะพอสำหรับการขยายความในเรื่องวิถีชีวิตของชาวบ้านในวันต่างๆ (ภาพเชิง a day in a life)

ประมาณตี 3 ตี 4 เป็นช่วงเวลาปกติที่ชาวบ้านส่วนมากจะตื่นนอน ลุกไปทำธุระส่วนตัว ส่วนเด็กในวัยเรียนโดยทั่วไปก็จะตื่นในเวลาประมาณตี 5     ช่วงเวลาดังกล่าวนี้ดูจะเป็นเวลามาตรฐานของชาวบ้านโดยทั่วไป  ซึ่งดูจะมีสาเหตุมาจากเรื่องของความคุ้นเคยที่กระทำต่อๆกันมารุ่นต่อรุ่น   แต่ก่อนนั้นส้วมจะสร้างอยู่นอกบ้าน ห่างจากตัวบ้านออกไปประมาณ 5+ เมตร การไปทำธุระในช่วงเวลาดึกดื่นนั้นรู้สึกไม่ค่อยปลอดภัย ก็เลยต้องกลั้นใว้บ้างจนเวลาใกล้ฟ้าสาง และก็ด้วยที่เข้านอนเมื่อเวลาประมาณ 2-3 ทุ่ม เพราะเหนื่อยมาจากการทำงาน  เมื่อนอนได้ประมาณ 6-7 ชม. ก็ถือว่านอนได้เพียงพอและรู้สึกว่านอนเต็มอิ่มแล้ว ก็ตื่นมาดูวัวควายและสัตว์เลี้ยงอื่นใด ออกไปดูไร่นาพร้อมกับทำธุระส่วนตัวในขณะที่ฟ้ายังมืดอยู่

กิจกรรมในช่วงเวลาเช้ามืดใกล้ฟ้าสางนี้มีอยู่หลายลักษณะ เช่น เข้าไร่สวนเพื่อดูความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการกระทำของธรรมชาติ ไปดูกับดักสัตว์ ไปเก็บพืชผักผลไม้เพื่อเอามาทำอาหารหรือนำไปขายในตลาดเช้า ไปนาเพื่อดูเรื่องของน้ำ (ปรับระดับน้ำเข้าออกนา)...    ฝ่ายแม่บ้านส่วนมากก็จะหุงหาอาหารสำหรับลูก (ทั้งอาหารเช้าที่บ้านและอาหารเที่ยงนำติดตัวไปโรงเรียน)  สำหรับอาหารของสามีนั้น จะกลับมากินก็เมื่อเวลาค่อนข้างสายมากแล้ว หรือไม่ก็เตรียมเพื่อนำไปส่งให้เป็นอาหารเช้าควบเที่ยง_brunch .....         
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 14 มิ.ย. 23, 19:07

ใช้คำว่า ไปทำธุระส่วนตัว ซึ่งเป็นภาษาแสลงที่มีความสุภาพมาก  ทำให้นึกถึงคำว่า ไปทุ่ง ที่ชาวบ้านภาคกลางใช้กัน หรือ ไปโต้ง ที่ชาวบ้านภาคเหนือใช้กัน

ผมค่อนข้างจะคุ้นเคยกับภาพของการไปทำธุระตอนเช้าในพื้นที่ชนบท เพราะตัวเองก็ต้องทำเช่นนั้นเมื่อครั้งยังออกทำงานภาคสนาม  จะดีกว่าชาวบ้านก็ตรงที่เราใช้กระดาษชำระ ต่างกับชาวบ้านที่ใช้กิ่งไม้หรือใบไม้เมื่อเสร็จธุระ       กระดาษชำระสมัยก่อนนั้นจะมีใช้กันเฉพาะบ้านบางบ้านและตามร้านอาหารบางร้านในเมือง เรียกกระดาษชำระนั้นว่า กระดาษฟาง  ชื่อก็น่าจะสื่อเรื่องที่เกี่ยวข้องต่างๆได้เป็นอย่างดีแล้วนะครับ

ส้วมของบ้านที่อยู่นอกบ้านก็เป็นส้วมหลุม บางบ้านก็มีเพียงไม้ 2 แผ่นวางพาดที่ปากหลุม มีฟากไม้ไผ่สานกั้นเป็นห้องสี่เหลี่ยม บางแห่งก็เปิดโล่งไม่ทำหลังคา เป็นเรื่องที่ไม่สนุกเลยเมื่อต้องทำธุระในช่วงกลางคืน   ก็คงพอจะนึกออกว่าการไปทุ่งในตอนเช้าจะรู้สึกผ่อนคลายและสบายกว่าเช่นใด  ภาพนี้เริ่มหายไปจากพื้นที่ในชนบทเมื่อประมาณ พ.ศ.2515 เปลี่ยนสภาพเป็นส้วมซึมที่ใช้โถส้วมแบบนั่งยองๆ พร้อมๆไปกับเริ่มเห็นภาพชาวบ้านเดินแบกจอบในช่วงเวลาฟ้าเริ่มสาง   แล้วภาพเหล่านี้ก็หายไปเกือบสิ้นเชิงในช่วงเวลาประมาณ 10 ปีต่อมา ซึ่งแสดงถึงการเอาจริงเอาจังในการพัฒนาด้านสุขอนามัยของไทยจนประสบผลสำเร็จทั่วประเทศไทย  เรื่องของการควบคุมโรคไข้มาลาเรียก็เช่นกัน และที่ไม่ค่อยจะรู้กันก็คือโรคเท้าช้าง ก็มีการไปเจาะเลือดกันถึงในพื้นที่ชายแดน(มิใช่เฉพาะในภาคใต้) ซึ่งจะต้องทำการเจาะเลือดเฉพาะในเวลากลางคืนอีกด้วย  รู้แต่เพียงว่าโรคเท้าช้างนี้เกิดมาจากพยาธิชนิดหนึ่งที่ทำงานในเวลากลางคืน แะฝังตัวอยู่ได้นานเป็นสิบปีก่อนจะออกอาการ  ที่เรียกว่าโรคเท้าช้างก็เพราะส่วนใหญ่เกิดที่บริเวณใต้เข่าลงไป แต่ก็มีที่มันไปเกิดที่บริเวณอัณฑะ เป่งโตออกมาได้เต็มขันน้ำเลย               
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 15 มิ.ย. 23, 18:04

ภารกิจเมื่อยามฟ้าเริ่มสางของชาวบ้านส่วนมากจะจบลงไปเมื่อกลับมาบ้านในช่วงเวลาประมาณ 8-9 โมงเช้า  มีไม่มากนักที่จะกลับมาบ้านในช่วงประมาณเวลาพระฉันเพล หรือหายไปเลยทั้งวัน ขึ้นอยู่กับแต่ละช่วงเวลาของปี    ในสมัยก่อนโน้น (สมัยที่ถนนทางหลวงยังเป็นถนนลาดยางที่ใช้วิธีการบดอัดก้อนกรวดหรือหินปูนแล้วราดยางมะตอยปิดทับลงไป โรยด้วยทรายที่ผิวหน้าอีกทีหนึ่ง แล้วบดอัดให้แน่น) ภารกิจในช่วงเวลาที่กล่าวถึงนี้น่าจะจัดได้ว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับตนเองและครอบครัวโดยแท้จริง เรื่องที่จะต้องทำอื่นๆนอกจากธุระส่วนตัวและที่ได้กล่าวถึงแล้วก็จะมี เช่น เอาวัวหรือควายไปผูกหรือไปปล่อยให้กินหญ้า ไปไถนาพรวนดินสักรอบหนึ่ง  หาบน้ำใส่ตุ่มเพื่อใช้ในในบ้าน ...   โดยนัยก็คืองานต่างๆที่พึงต้องหลบแดดหลบร้อน

ในปัจจุบันนี้ ภาพในเชิงของงานก็ยังไม่ต่างไปจากเดิมมากนัก   จากการเดินก็เป็นการใช้มอเตอร์ไซด์หรือรถกระบะ  จากการพาวัวควายออกไปทำงาน ก็เป็นการใช้ควายเหล็กหรือรถแทรกเตอร์  จากเดิมที่กลับมากินข้าวบ้าน ก็เปลี่ยนไปเป็นแบบห่อไปกินหรือเอาไปส่ง 

เมื่อดูช่วงเวลาของภารกิจยามเช้า ก็จะเห็นว่าโอกาสที่ชาวบ้านจะกลับมาอยู่ที่บ้านหรืออยู่ในพื้นที่หมู่บ้านพร้อมๆกันก็หลังจากเวลาประมาณ 9 โมงเช้าไปแล้ว
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 15 มิ.ย. 23, 18:41

ช่วงเวลาประมาณ 10 โมงเช้าถึงเที่ยง จึงเป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับงานทางด้านสังคมที่คนทุกคนในหมู่บ้านสามารถมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทางราชการ เรื่องของความร่วมมือในระดับตำบลหรือในระหว่างหมู่บ้าน และเรื่องที่เกี่ยวข้องหรือยังผลต่อทุกคนในหมู่บ้านของตนเอง

งานทางด้านสังคมที่กล่าวถึงนี้เป็นงานใน 2 ลักษณะ คือ ลักษณะแรก เป็นการประชุม/หารือ/ตัดสินใจ  ลักษณะที่สองเป็นการรวมพลร่วมกันทำงาน   ทั้งนี้ สำหรับกิจกรรมด้านการหารือหรือการตัดสินใจใดๆนั้น(ทำประชาคม) ส่วนมากจะกระทำกันในช่วงเวลาหลังอาหารเย็นไปแล้วคือเริ่มเวลาประมาณ 1 ทุ่ม
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 16 มิ.ย. 23, 19:08

การนัดประชุมที่เราคุ้นเคยกันตามปกตินั้น จะกระทำกันโดยมีหนังสือแจ้งถึงตัวบุคคล จะมีการแจ้งสถานที่และเวลาพร้อมกับวาระและเอกสารประกอบการประชุมแนบมาด้วย   ในแบบหมู่บ้าน จะไม่มีหนังสือเชิญหรือเรียกประชุม แต่ใช้วิธีการประกาศด้วยเครื่องขยายเสียงผ่านหอกระจายช่าวของหมู่บ้าน    หอกระจายข่าวนี้น่าจะมีในเกือบทุกหมู่บ้านที่มีไฟฟ้าเข้าถึง หรือมีการปั่นไฟฟ้าใช้เองเป็นการเฉพาะกิจ  แต่จะมีการใช้ให้เกิดประสิทธิผลดังเป้าประสงค์ที่ตั้งขึ้นมาเช่นใดนั้น คิดว่าไม่ ด้วยเหตุผลหลัก 2 ประการ คืออุปกรณ์เสียหรือไม่สามารถใช้งานได้(เพราะขาด....)  กับเรื่องของสาระข่าวสารที่จะค้ดมาออกมาป่าวประกาศนั้น มีประโยชน์หรือไม่ก้บชุมชนหมู่นั้นๆมากน้อยเช่นใด   ทั้งนี้ แม้ว่าหอกระจายข่าวจะมีกันในระดับหมู่บ้าน ก็เคยเห็นว่า ในระดับในระดับอำเภอก็มีอยู่เช่นกัน (กระทั่งในปัจจุบัน)

ภาระในเรื่องของการกระจายข่าวผ่านทางหอกระจายข่าวนี้เป็นของผู้ใหญ่บ้าน  แต่ก่อนนั้น จะมีหรือไม่มีข่าวสารหรือการนัดประชุมใดๆ หอกระจายข่าวก็จะส่งเสียงของนาฬิกาจากสถานีวิทยุแห่งประเทศไทยเมื่อเวลา 8.00 น.ตรง ดังจนเพลงชาติจบลง ทุกวัน  และอาจจะแถมการถ่ายทอดข่าวต่อไปอีกสักสามสี่นาที  ก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องและพึงกระทำ อย่างน้อยก็ในเรื่องของเวลาอ้างอิง   ก็มีที่มีการใช้วิธีการเปิดวิทยุให้เสียงดังลั่นในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งพบได้มากตามหมู่บ้านเล็กๆที่อยู่ห่างไกลใกล้ชายแดน

ที่เล่าความมา ก็คงพอจะทำให้นึกไปถึงภาพต่อเนื่องต่างๆได้อีกมากมาย เช่น ด้านการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม ด้านความมั่นคง ด้านการเมือง...  ซึ่งก็เห็นว่าเรื่องที่กระทำต่างๆในอดีตและที่ยังคงมีหลงเหลืออยู่เหล่านั้น ดูจะตั้งอยู่ในภาคของการป้องกัน (defensive minded) มากกว่าในด้านของภาคการเพิ่มโอกาส (offensive minded) 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 16 มิ.ย. 23, 19:19

ก็มีการใช้หอกระจายข่าวในเชิงของการสรุปเรื่องราวของวาระเพื่อการพิจารณาเรื่องที่จะประชุมให้ความเห็นกัน   เสียงจากหอกระจายข่าวโดยทั่วไปจะได้ยินในสองช่วงเวลา คือในช่วงเวลาประมาณเที่ยงวัน และในช่วงเวลาประมาณ 5 โมงเย็น  โดยส่วนมากก็มักจะเป็นในช่วงเวลาเย็น  สำหรับในเวลากลางวันนั้น ดูจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับแม่บ้าน และเรื่องที่ต้องการให้แม่บ้านบีบ ( ยิงฟันยิ้ม) ให้พ่อบ้านต้องไปประชุม ห้ามหนีประชุม 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 17 มิ.ย. 23, 17:59

ที่จริงแล้ว ในกรุงเทพฯในปัจจุบันนี้ก็ยังมีระบบหอกระจายเสียงให้เห็นอยู่ ไม่มีสภาพตั้งเป็นหอหรือการตั้งเสาเพื่อติดตั้งลำโพง หากแต่เป็นการติดลำโพงไว้ที่ปลายเสาไฟฟ้าในพื้นที่ชุมชนที่มีผู้คนอาศัยอยู่ค่อนข้างมาก พบเห็นได้ตามชุมชนในพื้นที่ของเขตต่างๆ หลายๆแห่งได้ใช้วัดเป็นจุดกระจายเสียง แต่จะส่งเสียงเพียงตอนเวลา 8 โมงเช้าพร้อมเพลงชาติแล้วก็หยุด แต่ก็มีอีกเช่นกันที่บางเขตใช้ช่วงเวลาสั้นๆนี้บอกข่าวสารที่สำคัญ ซึ่งที่ได้ยินก็จะเป็นข่าวด้านสาธารณสุข เช่น เรื่องโรคระบาด หรือการเชิญชวนให้ไปฉีดวัคซีน ภาพในกรุงเทพฯนี้ดูจะพบเห็นได้ตามวัดที่มีการติตลาดสดเช้า   

ทั้งมวลที่ได้เล่ามานั้น ก็คงเป็นเรื่องหนึ่งที่พอจะเป็นตัวบ่งชี้ในด้านคุณภาพของความเป็นผู้ใหญ่บ้าน หัวหน้าชุมชนหรือเขต  ซึ่งเป็นการทำงานด้วยใจและรู้รับผิดชอบโดยไม่ต้องมีฉากแสดง   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 17 มิ.ย. 23, 18:43

ด้วยที่เรื่องราวยังเกี่ยวพันอยู่ในช่วงของเวลาเช้า ก็เลยขอออกไปเรื่องของตลาดสดในตอนเช้า

ผมเชื่อว่าทุกท่านที่ตื่นแต่เช้ามืดได้ และสามารถออกไปเดินเที่ยวในตลาดสดตอนเช้าในช่วงเวลาประมาณตีห้าครึ่งได้ จะต้องชอบกันทุกคน ตลาดสดเช้าและตลาดสดบ่ายในระดับหมู่บ้านจะไม่น่าสนใจ เพราะจะมีแผงขายของอยู่น้อยมาก  ของที่ขายส่วนมากจะเป็นพวกเครื่องปรุงที่ขาดมือ เช่น ผักชีใบเลื่อย(ผักชีฝรี่ง) ลูกมะกอก และของแห้งต่างๆ....     

ตลาดสดที่น่าสนใจจะเป็นของระดับตำบลและของอำเภอห่างไกล ซึ่งก็มีลักษณะจำเพาะบางประการ คือมักจะมี 2 สถานที่ เป็นตลาดที่ติดในตอนเช้าที่หนึ่ง ติดในตอนเย็นอีกที่หนึ่ง

ขอหลบฝนก่อนครับ 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 18 มิ.ย. 23, 18:01

ทั้งตลาดเช้าและตลาดเย็นจะมีลักษณะเป็นตลาดสดที่มีการขายทั้งของสดและอาหาร แต่ก็มีความแตกต่างกันค่อนข้างจะมาก

ตลาดสดเช้าส่วนมากจะเป็นตลาดที่ขายของกันภายใต้หลังคาของโรงเรือน  หากเป็นตลาดในเมือง (ตัวจังหวัดหรือตัวอำเภอ) และในหมู่บ้านใหญ่ที่เป็นจุดเชื่อมต่อของการเดินทางระหว่างหลายชุมชนในพื้นที่กับเมือง  ตลาดพวกนี้ก็จะมีลานพื้นที่ๆจอดรถ หรือมีพื้นที่ข้างทางที่พอจะจอดรถได้มากๆคัน  ตัวตลาดก็จะเป็นตลาดสดของเทศบาลหรือของอำเภอ ตลาดมีลักษณะเป็นกึ่งตลาดขายส่ง อาหารที่ขายในตลาดที่เป็นอาหารแบบสำเร็จรูปจะมีน้อย จะเป็นอาหารประเภทสั่งแล้วนั่งกินเสียมากกว่า   อาหารสำเร็จรูปที่วางขายส่วนมากจะออกไปทางเป็นอาหารแบบแห้งที่เหมาะกับการพกพาเพื่อการเดินทาง หรือเป็นกับข้าวสำหรับมื้ออาหารกลางวัน

ตลาดเช้าเป็นตลาดที่น่าเดินมาก อย่างน้อยก็เพราะเป็นช่วงเวลาอากาศกำลังเย็น  และก็เห็นว่า ในช่วงเวลาประมาณ 6+/- โมงเช้าดูจะเป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุด ตัวเราเองตื่นมาแต่เช้าเมื่ออากาศกำลังสดชื่น ออกไปเดินตลาด ก็เหมือนกับไปเดินออกกำลังกายแบบเบาๆ  ในฝ่ายแม่ค้าเองก็อยู่ในช่วงเวลาที่ได้จัดวางของขายเป็นระเบียบเรียบร้อยตามที่ต้องการและพร้อมขายแล้ว ผัดหน้าทาแป้งพอเหมาะแล้ว ใจก็สบาย หายอารมณ์เสีย  ก็จึงเป็นเวลาที่เหมาะที่เรากับแม่ค้าจะพบกัน คุยกัน สอบถามกัน เรียนรู้สาระเรื่องราวบางเรื่องระหว่างกัน .... ถูกใจกันก็ได้ของแถม ได้ราคาของที่ถูกลง หรือไม่ก็ถูกหลอกแบบสนิทใจไปเลย

ที่น่าสนใจก็คือ ในพื้นที่บริเวณชายขอบของตลาดเช้าเหล่านี้ จะมีร้านอาหารเจ้าอร่อยของพื้นที่ตั้งอยู่ ซึ่งอาหารของร้านเหล่านี้ดูจะเป็นอาหารที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว (signature) แม้ว่าจะเป็นอาหารตามปกติแบบที่ขายกันที่วๆไป 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 19 มิ.ย. 23, 18:58

ในตัวจังหวัด  ในปัจจุบันนี้ อาหารปรุงสดที่เราจะเห็นขายเป็นปกติในพื้นที่รอบๆตลาดสดเช้าก็จะเป็นพวก ต้มเลือดหมู(ต้มเครื่องในหมู) โจ๊ก และปาท่องโก๋ ซึ่งเป็นภาพกลางๆในพื้นที่ภาคเหนือ  ในภาคใต้ดูจะมีอาหารหนักเพิ่มขึ้นมา เช่น ข้าวมันไก่ และข้าวเหนียวห่อหน้าต่างๆที่กินไปพร้อมกับกาแฟ และดิ่มซำ   ในพื้นที่แถบภาคตะวันตกก็จะมีพวกอาหารหนักเป็นหลัก ออกไปทางพวกข้าวราดแกงต่างๆ     ก็คงพอจะเป็นภาพเล็กๆน้อยๆที่สื่อให้เห็นถึงลักษณะทางสังคมและลักษณะของกิจกรรมในด้านเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาค  กรณีของภาคเหนือจะออกออกไปในทางการรับผู้คนต่างถิ่น  ส่วนในภาคใต้และภาคตะวันตกก็จะออกไปในทางด้านของภาคการผลิต     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 19 มิ.ย. 23, 20:11

ตลาดสดเช้าในเมืองและระดับอำเภอใหญ่นั้น แต่ก่อนก็ไม่มีอาหารปรุงสดขาย  คิดว่าเริ่มเห็นเป็นประเภทรถเข็นที่มีการตั้งโต๊ะสำหรับนั่งกินอย่างเป็นเรื่องเป็นราวในช่วงประมาณ พ.ศ.2520+    ก่อนนั้น จะมีแต่แผงในตลาดสดหรือข้างตลาดที่ขายไข่ลวก กาแฟ และขนมปังปิ้งทาเนย(มาการีน)  อาหารเช้าสำหรับฝ่ายชายที่ไปเดินตลาดหรือไปนั่งสมาคมกับเพื่อนฝูงที่ตลาดเช้าในสมัยนั้น ดูจะนิยมเป็นไข่ลวก 2 ฟอง ปาท่องโก๋ 2-3 ตัว จิ้มนมข้นหวาน และกาแฟดำร้อนที่เรียกว่า 'โอยั๊วะ' หรือกาแฟใส่นมข้นหวาน บางคนก็นิยมขนมปังทาเนยปิ้ง ซึ่งบ้างก็ให้โรยน้ำตาลทรายขาวด้วย ได้เวลาพอประมาณแล้วก็กลับบ้านเพื่อแต่งตัวหรือเพื่อกินอาหารเช้าที่แม่บ้านทำให้ก่อนที่จะออกไปทำงาน

ก็น่าจะเป็นอีกภาพหนึ่งของวิถีชีวิตและสังคมที่เรียบง่าย ต่างคนต่างก็มีกิจกรรมและภาระที่เป็นของตัวเอง รู้ขอบเขต ไม่ยกเรื่องใดๆขึ้นมาให้เป็นประเด็นเพื่อการแข่งขันกัน ไม่เคยเห็นพ่อค้าแม่ค้ามีอารมณ์เกรี้ยวกราดต่อกัน เห็นมีแต่การทักทายสอบถามทุกข์สุขของคนในครอบครัว สภาพนี้ก็ยังคงเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 20 มิ.ย. 23, 19:18

ตลาดเย็นก็เป็นตลาดที่น่าสนใจ เมื่อตลาดสดเช้าซาไปแล้ว ก็มักจะเปลี่ยนสภาพ แปรไปเป็นตลาดเครื่องอุปโภค (เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ในครัวเรือน ...)  พ่อค้าแม่ค้าที่ขายของและทำอาหารขายช่วงเย็น ก็เลยหนีไปตั้งแผงขายกันขางถนน นานเข้าก็แปรสภาพเป็นถนนคนเดินกลายๆ ซึ่งในที่สุดก็ทำให้เป็นถนนคนเดินจริงๆด้วยการปิดถนน ณ วันเวลาที่กำหนด  กลายเป็นวันสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะได้ลิ้มลองอาหารพื้นบ้านและซื้อของกินของใช้ประเภท OTOP

ตลาดเย็นในระดับตำบล ในปัจจุบันนี้ ส่วนมากก็จะวางแผงขายของอยู่ในโรงเรือนมีหลังคา   ที่น่าสนใจก็จะพวกอาหารสำเร็จรูปพื้นบ้านที่ต้องใช้เวลาในการทำ สำหรับนักชิมก็น่าจะเข้าใจได้ดีว่า ผัดแกงหลายชนิดที่ว่าอร่อยนั้น หลายชนิดจำเป็นต้องทอดระยะเวลาให้เครื่องรสต่างๆมันเข้าเนื้อ แม้ว่ามันจะสุกเต็มที่แล้วก็ตาม ช่วงเวลาบ่ายแก่ๆจึงดูจะเหมาะสม  เช่น แกงส้มจะมีรสที่นุ่มนวลอร่อยกว่าเมื่อแกงเสร็จใหม่ๆ โดยเฉพาะเมื่อได้ค้างหม้อมาสักหนึ่งคืนแล้ว  แกงขนุนอ่อน  แกงไตปลา แกงมัสมั่น ต้มมะระซี่โครงหมู  แกงอ่อม... เหล่านี้ก็ใช่      ลืมไปครับ นึกถึงแกงคั่วสับปะรดกับไข่แมลงดาทะเลแล้วใส่เห็ดเผาะลงไปด้วย ก็เป็นของอร่อยสุดๆไปเลย ก็ด้วยเช่นกัน   ช่วงแรกเริ่มของฤดูฝนทุกปี จะเป็นฤดูของเห็ดเผาะ ปีนี้มีน้อย ราคาสูงมาก กิโลฯละหลายร้อยบาทมาก ค่อนไปทางหลักพันบาทเลยทีเดียว   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 21 มิ.ย. 23, 18:30

แต่ก่อนนั้น ตลาดสดเช้ามีความคึกคักมากกว่าตลาดเย็น  ด้วยที่ตลาดอยู่ในพื้นที่เดียวกันกับท่าจอดรถระหว่างอำเภอ เป็นที่มีผู้คนมาก จึงมีสภาพเป็นพื้นที่ทางด้านการสังคมของชุมชน เป็นพื้นที่สำคัญด้านการสื่อสารข่าวสารและเรื่องราวต่างๆสำหรับผู้คนที่อยู่ทั้งใกล้และไกล พอเวลาประมาณ 10 โมงเช้า บรรดาพ่อค้าแม่ค้าก็จะเริ่มทะยอยเดินทางกลับบ้านพร้อมกับข่าวสารและความคืบหน้าของเรื่องราวต่างๆของวันที่ผ่านมา

ผมชอบเดินตลาดเช้าในต่างจังหวัดเมื่อครั้งยังต้องเดินทางออกไปทำงานในพื้นที่ต่างๆ เหตุหนึ่งก็คือ การเตรียมสะเบียง   อีกเหตุหนึ่งคือ การหาข้อมูลข่าวสารและประเมินสถานการณ์ต่างๆเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการรับสภาพการณ์ต่างๆทั้งที่เป็นในเชิงบวกและเชิงลบ   อีกเหตุหนึ่งก็คือ ได้มีโอกาสคุยกับผู้เฒ่าผู้แก่ที่มานั่งขายของ ซึ่งแต่ละครั้งก็ได้เรียนรู้ ได้ขยายความรู้เพิ่มเติมในเรื่องที่เกี่ยวกับวิถีและการดำเนินชีวิตของคนพื้นถิ่น ความเหมือน/ความต่างของพวกเขาเหล่านนั้น (ปรัชญา แนวคิด อาหารการกิน ...)  และเรื่องสุดท้ายก็คือ ได้ทำบุญด้วยไถ่ชีวิตสัตว์บางชนิดที่ยังมีชีวิตที่ถูกจับเอามาขายเพื่อเอาไปทำเป็นอาหาร เอาไปปล่อยสู่ธรรมชาติ   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 21 มิ.ย. 23, 18:58

ปัจจุบันนี้ ผมชอบเดินตลาดเย็นมากกว่า  มีขายทั้งอาหารสำเร็จรูปและของสดต่างๆ   ความน่าสนใจก็คือ มีพืชผักที่ชาวบ้านปลูกใว้สำหรับกินเอง เอาส่วนเกินหรือที่กินไม่ทันนั้นมาวางขาย ก็เลยมีราคาที่ถูก สด และไร้ยา  และเป็นของที่ผ่านการคัดมามาในระดับหนึ่ง  มิใช่ในลักษณะของที่ต้องรีบเก็บแข่งกับเวลา(ให้ทันฟ้าสาง) หรือที่ต้องเก็บค้างคืนเพื่อนำมาขายในตลาดเช้า

ตลาดเย็นมีลักษณะออกไปทางตลาดที่ทุกคนเร่งรีบจะซื้อของ ทำให้เสร็จธุระโดยเร็วเพื่อจะได้ไม่ต้องกลับถึงบ้านเมื่อฟ้ามืดแล้ว จึงเป็นตลาดที่มีการสังคมน้อยมาก 
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 11
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.05 วินาที กับ 19 คำสั่ง