เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 8
  พิมพ์  
อ่าน: 22309 สงครามโลกครั้งที่สอง วันญี่ปุ่นขึ้นบก
superboy
สุครีพ
******
ตอบ: 818


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 02 ต.ค. 24, 08:34

ญี่ปุ่นขึ้นบกที่สงขลา

วันที่ 8 ธันวาคม 2484 เวลาประมาณเที่ยงคืน เรือญี่ปุ่นจำนวนมากแล่นเข้าประชิดชายฝั่งสงขลาอย่างเงียบกริบ ก่อนจอดเรียงรายเป็นแนวยาวตั้งแต่แหลมสมิหลาถึงเก้าเส้ง จากนั้นจึงดับไฟแล้วปล่อยเรือระบายพลส่วนหนึ่งลงน้ำเป็นการเตรียมพร้อม หนึ่งชั่วโมงถัดมาเรือระบายพลบางลำแยกตัวออกมาอย่างเงียบกริบ เพื่อส่งหน่วยจู่โจมขึ้นฝั่งยึดสถานที่ราชการและตัดสายโทรศัพท์

หลังได้รับคำสั่งบุกเรือลำเลียงขนาดใหญ่ 12 ลำแล่นเข้าใกล้ชายหาดมากกว่าเดิม ภายใต้การคุ้มกันจากเรือพิฆาตชั้น Fubuki Group II ขนาด 2,000 ตันจำนวน 4 ลำประกอบไปด้วยเรือ DD-47 IJN Asagiri, DD-48 IJN Yugiri, DD-49 IJN  Amagiri, และ DD-50 IJN Sagiri

ญี่ปุ่นใช้กำลังพลกองพลที่ 5 กองทัพที่ 25 ยกพลขึ้นบกที่ปัตตานีกับสงขลา กำลังพลส่วนใหญ่ถูกส่งมาขึ้นฝั่งที่สงขลาเพราะเดินทางสะดวกสบายกว่าปัตตานี

การยกพลขึ้นบกที่สงขลามีลักษณะแตกต่างจากที่อื่น ญี่ปุ่นสามารถลำเลียงพลขึ้นฝั่งได้โดยไม่เกิดปัญหาใดๆ เหตุผลก็คือสงขลามีหาดทรายที่ทั้งยาวและกว้างตลอดแนว กำลังพลสามารถเดินทางต่อไปยังมลายูโดยใช้ระยะทางใกล้ที่สุด จึงเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญอันดับหนึ่งในปฏิบัติการยกพลขึ้นบก และเป็นจุดที่กองทัพญี่ปุ่นส่งกำลังทหารขึ้นฝั่งมากที่สุด

แม้น่านน้ำสงขลาจะเต็มไปด้วยคลื่นสูงและหมอกหนา ทว่าการส่งทหารชุดแรกขึ้นบกกลับทำได้อย่างง่ายดาย ด้วยความร่วมมือของจารชนญี่ปุ่นซึ่งแฝงตัวเข้ามาอยู่ร่วมกับคนสงขลา 

เวลาประมาณเที่ยงคืนบริเวณชายหาดหน้าศาลจังหวัด คนบนฝั่งสามารถมองเห็นเรือขนาดใหญ่จำนวนมาก ลอยลำอยู่ไม่ไกลปรากฏเป็นเงาขนาดใหญ่เหนือท้องทะเล ชาวบ้านพยายามติดต่อด้วยไฟฉายแต่ไม่ได้รับการตอบสนอง กระทั่งมีคนพบทหารญี่ปุ่นซึ่งเป็นหน่วยจู่โจมบุกเข้ายึดสถานที่ราชการ จึงรีบรายงานข้อมูลทั้งหมดไปยังข้าหลวงประจำจังหวัด


ภาพประกอบคือเรือพิฆาต IJN Sagiri ทำหน้าที่คุ้มกันกองเรือลำเลียงญี่ปุ่นที่สงขลา



บันทึกการเข้า
superboy
สุครีพ
******
ตอบ: 818


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 02 ต.ค. 24, 08:41

ย้อนกลับไปวันที่ 6 ธันวาคม 2484 สถานีวิทยุ บี.บี.ซี.ของอังกฤษได้กระจายข่าวสำคัญว่า กองเรือญี่ปุ่นซึ่งมีจำนวนเรือทุกชนิดประมาณ 200 ลำ กำลังเดินทางจากทะเลจีนใต้มุ่งตรงเข้าสู่อ่าวไทย กรมทหารราบที่ 18 บ้านสวนตูลมีคำสั่งให้ทหารทุกกองพันเตรียมกำลังรบอย่างเต็มที่

ทหารไทยค่อนข้างโชคดีที่ได้รับแจ้งข่าวอย่างรวดเร็ว จึงมีเวลาเตรียมพร้อมตั้งรับการรุกรานจากญี่ปุ่นทันเวลา การรบที่สงขลาเป็นการรบตามยุทธวิธีและแบบแผนมากที่สุด กำลังพลฝ่ายไทยก็มีจำนวนมากกว่าจุดอื่น ทหารทุกกองพันสังกัดค่ายทหารบ้านสวนตูลประกอบไปด้วย

1.กองพันทหารราบที่ 5 หรือ ร.พัน 5 จากเขาคอหงส์

2.กองพันทหารราบที่ 41 หรือ ร.พัน 41

3.กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 13 หรือ ป.พัน 13

4.หน่วยขึ้นตรงกรมทหารราบที่ 18 หรือ นขต ร.18 อีกจำนวนหนึ่ง

เมื่อทราบข่าวจากข้าหลวงประจำจังหวัดว่าญี่ปุ่นบุกสงขลา ทหารจากกองร้อยที่ 1 ร.พัน 41 รีบเคลื่อนพลไปตั้งรับบริเวณกิโลเมตรที่ 1 ถนนสายสำโรง-ทุ่งหวัง อันเป็นเส้นทางหลักสำหรับเดินทางไปยังมลายู ทหารจากกองร้อยที่ 2 ร.พัน 41 พร้อมหมวดปืนกลหนัก แยกตัวมาตั้งรับบริเวณฝั่งซ้ายของถนนเส้นเดียวกัน ทหารส่วนที่เหลือเข้าแนวป้องกันบริเวณเนินเขารูปช้าง โดยมีกองร้อยที่ 3 ป.พัน 13 ซึ่งใช้ปืนใหญ่ภูเขาแบบ 63 ตั้งแนวอยู่ด้านหลัง ปืนใหญ่รุ่นนี้ยิงสนับสนุนทหารราบได้ และยิงต่อสู้รถถังได้อีกหนึ่งภารกิจ ระยะทำการอาจไม่ไกลแต่ต้องถือเป็นอาวุธหนักสำหรับทหารไทย

ทหารไทยจากบ้านสวนตูลเข้าประจำตำแหน่งตามแผนอย่างรวดเร็ว


บันทึกการเข้า
superboy
สุครีพ
******
ตอบ: 818


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 02 ต.ค. 24, 08:44

เวลาเดียวกันกองพันทหารราบที่ 5 หรือ ร.พัน 5 ซึ่งตั้งฐานอยู่ที่เขาคอหงส์ รับแจ้งโทรศัพท์จากอัยการจังหวัดว่าญี่ปุ่นบุกก่อนโทรศัพท์จะถูกตัดสาย จึงไม่สามารถติดต่อพันเอกหลวงประหารข้าศึกซึ่งเป็นผู้บังคับการทหารทุกหน่วยในจังหวัดสงขลา ผู้บังคับกองพันตัดสินใจเคลื่อนพลมาตั้งรับที่แนวเขาบ้านน้ำน้อย ยึดช่องแคบแม่เตยเป็นที่มั่นขวางถนนสายสงขลา-ไทรบุรี อันเป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่ทหารญี่ปุ่นใช้เดินทางไปยังมลายู แล้วส่งทหารสื่อสารมาที่บ้านสวนตูลเพื่อติดต่อกำลังพลส่วนอื่น   

แผนลับสุดยอดของผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 5 ก็คือ ถ้ารับมือทหารญี่ปุ่นไม่ไหวจะให้กำลังพลทั้งหมดย้ายไปอยู่ฝั่งหาดใหญ่ เสร็จเรียบร้อยจึงระเบิดสะพานข้ามแม่น้ำน้อยทิ้งเพื่อถ่วงเวลา

ทหารไทยในสงขลาเข้าสู่ที่ตั้งเตรียมพร้อมรับมือทหารญี่ปุ่น ทุกอย่างมีความใกล้เคียงแผนรับมือที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ติดขัดแค่เพียงเรื่องการสื่อสารระหว่างทหารต่างกองพัน


ภาพประกอบคือถนนสงขลา-หาดใหญ่-ไทรบุรี ทหาร ร.พัน 5 เลือกมาตั้งรับทหารญี่ปุ่นที่แนวเขาบ้านน้ำน้อย





บันทึกการเข้า
superboy
สุครีพ
******
ตอบ: 818


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 03 ต.ค. 24, 08:24

เริ่มปะทะกัน

เมื่อทหารไทยทุกกองพันเข้าแนวป้องกันได้ไม่นาน การเผชิญหน้ากันระหว่างสองฝ่ายได้เปิดฉากขึ้น เวลาประมาณ 02.40 น.กองกำลังจักรยานทหารญี่ปุ่นประมาณ 1 กองร้อย เข้าปะทะ ร.พัน 5 ซึ่งมาตั้งรับที่ช่องแคบแม่เตย ทหารญี่ปุ่นอยู่ในที่โล่งจำเป็นต้องถอยขบวนหลบเข้าข้างทาง จากนั้นไม่นาน ร.พัน 41 เข้าปะทะหน่วยลาดตระเวนญี่ปุ่นที่เชิงสะพานสามแยกสำโรง การรบที่สงขลาถือเป็นศึกสองด้านทหารไทยถูกทหารญี่ปุ่นบุกโอบล้อมสองฝั่ง

ช่วงแรกของการปะทะยังไม่รุนแรงหนักหน่วง ถัดมาเพียงครึ่งชั่วโมงกำลังทหารญี่ปุ่นจำนวนมากตามมาสมทบ ผู้รุกรานจากดินแดนอาทิตย์อุทัยพยายามบุกเข้าตีจากด้านข้าง ส่งผลให้แนวปะทะขยายตัวมากกว่าเดิม การรบเป็นไปอย่างดุเดือดท่ามกลางทัศนวิสัยค่อนข้างขมุกขมัว การยิงปืนใหญ่สนับสนุนจาก ป.พัน 13 ช่วยให้เพื่อนทหารยังอยู่รอดปลอดภัย ปืนใหญ่วิถีราบขนาด 75 มม.ทั้ง 8 กระบอกต้องปรับเปลี่ยนแนวยิงโดยใช้แผนที่ประกอบ และทำได้อย่างยอดเยี่ยมกดหัวทหารญี่ปุ่นไม่ให้เข้าใกล้มากกว่าเดิม

เวลาประมาณ 04.00 น.หลังติดต่อกับผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 18 ได้แล้ว กำลังทหารจาก ร.พัน 5 ที่มาตั้งรับในช่องแคบแม่เตยและปะทะกับกองกำลังจักรยานทหารญี่ปุ่น ได้รับคำสั่งให้ถอนตัวแล้วรีบมาสมทบ ร.พัน 41 ที่เชิงสะพานสามแยกสำโรง เหตุผลก็คือต้องการรวบรวมกำลังพลทั้งหมดไว้ด้วยกัน รวมทั้งการรบที่ถนนสายสำโรง-ทุ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น การแบ่งกำลังทหารออกเป็นสองแนวรบส่งผลเสียมากกว่าดี เนื่องจากทหารญี่ปุ่นมีกำลังพลค่อนข้างมากจนไม่อาจคาดเดา

ถนนสายสงขลา-ไทรบุรีตกเป็นของทหารญี่ปุ่นโดยสมบูรณ์แบบ

ภาพประกอบคือ กองร้อยจักรยานทหารญี่ปุ่น


[/img]

บันทึกการเข้า
superboy
สุครีพ
******
ตอบ: 818


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 03 ต.ค. 24, 08:27

เมื่อทหารร.พัน 5 มารวมตัวกับทหารทุกหน่วยจากบ้านสวนตูล สถานการณ์โดยรวมดูเหมือนเป็นการพักรบชั่วคราว ทหารไทยอยากเก็บกระสุนปืนไว้ใช้ยามจำเป็น การยิงปืนตอนกลางคืนมีความแม่นยำค่อนข้างน้อย ทัศนวิสัยการมองเห็นค่อนข้างแย่ ผู้บังคับการสั่งให้ยิงเฉพาะเป้าหมายที่มองเห็นชัดเจน ส่วนทหารญี่ปุ่นเป็นเพียงกองกำลังส่วนระวังหน้า ต้องแบ่งกำลังพลบางส่วนไปยึดรถยนต์กับรถประจำทางของคนไทย ใช้เป็นพาหนะในการลำเลียงทหารข้ามชายแดนไปยังมลายู

กำลังพลส่วนใหญ่ของญี่ปุ่นอยู่ในเรือลำเลียงจอดไม่ไกลจากชายหาด และมีคำสั่งเตรียมพร้อมเคลื่อนพลขึ้นบกเมื่อแสงอาทิตย์สาดส่องมองเห็นทุกอย่างชัดเจน

ช่วงเวลาใกล้รุ่งเช้าทัศนวิสัยดีขึ้นกว่าเดิม หมอกน้อยลงสามารถมองเห็นได้ไกลเกือบเท่าปรกติ จากจุดตรวจการณ์บ้านสวนตูลซึ่งเป็นจุดตั้งรับสำคัญที่สุด ทหารไทยเห็นเรือลำเลียงพลญี่ปุ่นทาสีเทาจำนวน 12 ลำ ทยอยปล่อยเรือท้องแบนลงน้ำด้วยปั้นจั่นขนาดใหญ่ลำละ 4 ตัว ไกลออกไปเล็กน้อยคือเรือพิฆาตชั้น Fubuki Group II จำนวน 4 ลำ ทำหน้าที่คุ้มกันกองเรือลำเลียงพลด้วยปืนใหญ่ขนาด 5 นิ้วลำละ 6 กระบอก ห่างออกไปไกลลับตาเห็นเงาเรือรบขนาดใหญ่สีดำทะมึน คาดว่าอาจเป็นเรือลาดตระเวนบางส่วนหรือทั้งหมดจากจำนวน 5 ลำ

กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 13 ถูกสั่งให้พร้อมยิงตลอดเวลา กองร้อยที่ 1 รับหน้าที่คุ้มกันชายหาดตั้งแต่ แหลมทราย-แหลมสน-แหลมสมิหลา-แนวศาลจังหวัด กองร้อยที่ 2 รับหน้าที่คุ้มกันชายหาดตั้งแต่ศาลจังหวัด-สนามบินสงขลา-เก้าเส้ง

ทหารไทยจำนวน 3 กองพันจ้องมองทหารญี่ปุ่นหลายหมื่นนายยกพลขึ้นบกอย่างเงียบๆ

ภาพประกอบคือปฎิบัติการณ์ยกพลขึ้นบกช่วงเช้าตรู่



บันทึกการเข้า
superboy
สุครีพ
******
ตอบ: 818


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 03 ต.ค. 24, 08:34

การรบเมื่อรุ่งสาง

เวลา 05.42 น.กระสุนปืนใหญ่ชุดแรกจากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 13 ถูกยิงออกมาเพื่อถล่มเรือท้องแบนญี่ปุ่นที่ลอยลำเข้าใกล้อย่างเชื่องช้า เวลาต่อมาปืนทั้ง 8 กระบอกต้องรีบปรับเปลี่ยนมายิงแนวชายฝั่ง หลังตรวจพบทหารญี่ปุ่นจำนวนมากอยู่บนชายหาด ตั้งแต่บริเวณสนามบินสงขลาไปจนถึงเก้าเส้ง ญี่ปุ่นเลือกขึ้นฝั่งหลายจุดเป็นการหลีกเลี่ยงอำนาจการยิงของปืนใหญ่ไทย

เพื่อป้องกันภัยจากปืนใหญ่วิถีราบขนาด 75 มม.ทหารไทยจำนวน 8 กระบอก เรือพิฆาตญี่ปุ่นจำนวน 4 ลำใช้ปืนใหญ่เรือขนาด 127/50 มม.จำนวน 24 กระบอกยิงถล่มฐานทัพทหารไทย การดวลปืนใหญ่ระหว่างทหารไทยกับเรือรบญี่ปุ่นได้พลันเกิดขึ้นครั้งแรก (และครั้งเดียว) บังเอิญอำนาจการยิงปืนใหญ่ญี่ปุ่นเหนือกว่าอย่างชัดเจน กลับกลายเป็นทหารไทยต้องรีบหาที่หลบภัยจ้าล่ะหวั่น

 จุดตรวจการณ์ทหารปืนใหญ่ ป.พัน 13 ถูกยิงถล่มอย่างหนัก หินก้อนใหญ่ใช้เป็นแนวกำบังถูกทำลายกลายเป็นลานกว้าง ทหารไทยต้องวุ่นวายกับการตั้งจุดตรวจการณ์ใหม่อย่างเร่งรีบ พลอยทำให้ปืนใหญ่ภูเขาแบบ 63 ฝ่ายไทยต้องเงียบเสียงลงชั่วเวลาหนึ่ง

เวลาประมาณ 8.00 น.ทหารญี่ปุ่นทยอยขึ้นฝั่งมองเห็นเป็นแถวยาวเหยียด จุดหมายปลายทางคือสนามบินสนามสงขลาซึ่งถูกยึดครองเรียบร้อยแล้ว กำลังพลบางส่วนโอบมาทางปีกซ้ายอันเป็นที่ตั้งปืนใหญ่ ป.พัน 13 ผู้บังคับกองพันต้องส่งกำลังพลสำรองจำนวน 1 หมวดเข้ามาช่วยป้องกัน

ช่วงเวลานั้นเรือพิฆาตญี่ปุ่นยังคงทำหน้าที่สนับสนุน ต่อมาเมื่อญี่ปุ่นตั้งกองร้อยปืนใหญ่บริเวณสนามบินสงขลา การยิงถล่มใส่ทหารไทยพลอยมีความรุนแรงหนักหน่วงมากกว่าเดิม

ภาพประกอบคือเรือพิฆาตชั้น Fubuki Group II ทำการระดมยิงชายฝั่งด้วยปืนใหญ่เรือขนาด 127/50 มม.ลำละ 6 กระบอก ทหารไทยที่สงขลาต้องเจอของแข็งทั้งเรือพิฆาตทั้งเครื่องบินโจมตี ท้ายที่สุดพวกเขาจะเป็นเช่นไรโปรดติดตามตอนต่อไปวันพรุ่งนี้  ยิ้ม







บันทึกการเข้า
superboy
สุครีพ
******
ตอบ: 818


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 04 ต.ค. 24, 08:36

ทหาร ร.พัน 5 ถูกปืนใหญ่ทหารญี่ปุ่นยิงถล่มแทบไม่หยุดพัก เครื่องบินญี่ปุ่นมากกว่า 20 ลำจิกหัวโจมตีจุดตรวจการณ์บนเขารูปช้าง แม้มีอำนาจการยิงเหนือกว่ากำลังพลมากกว่าหลายเท่าตัว ทว่าแนวรบด้านนี้ทหารญี่ปุ่นประสบความยุ่งยากลำบาก ที่ตั้งทหารไทยอยู่ในชัยภูมิดีกว่าเหมาะสมกว่า ถ้ายังดึงดันดาหน้าเข้ามีแต่จะสูญเสียกำลังพลมากกว่าเดิม

การปะทะกันที่รุนแรงและดุเดือดอยู่ที่สามแยกถนนสายสำโรง-ทุ่งหวัง ทหาร ร.พัน 41 ถูกรุมกระหน่ำด้วยปืนใหญ่เรือและปืนกลเครื่องบินโจมตี ปืนใหญ่ ป.พัน 13 ก็กำลังย้ายจุดตรวจการณ์ไม่พร้อมยิงสนับสนุน แต่ถึงจะโดนกดดันอย่างหนักพวกเขายังเป็นก้างขวางคอชิ้นใหญ่ของญี่ปุ่น

เวลาประมาณ 9.00 น. ปืนใหญ่จาก ร.พัน 13 ทำการยิงได้อีกครั้ง พร้อมกับเครื่องบินญี่ปุ่นลำแรกลงจอดบนรันเวย์สนามบินสงขลา เมื่อทหารไทยเริ่มยิงปืนใหญ่อีกครั้งทหารญี่ปุ่นไม่ยอมนิ่งเฉย เครื่องบินหนึ่งฝูงถูกส่งมาทิ้งระเบิดใส่ที่ตั้งปืนใหญ่ทหารไทย เดชะบุญระเบิดพลาดเป้าหมายเพราะโดนสวนมะพร้าวบดบัง

ครึ่งชั่วโมงหลังจากนั้นทหารที่อยู่แนวหน้าร้องขอกำลังเสริม ทหารญี่ปุ่นจำนวนมากดาหน้าเข้ามาหวังตีให้แตก ผู้บังคับการส่งทหารช่วยรบที่เหลือประมาณ 50 นายไปเสริมทัพ มีการเตรียมตัวถอนกำลังทั้งหมดมาอยู่ที่มั่นสำรองบริเวณบ้านทุ่งหวัง และสั่งให้กองร้อยที่ 3 ของ ร.พัน 13 ย้ายมาตั้งยิงบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 8 เป็นการคุ้มกันการถอยทัพที่กำลังจะตามมาในอีกไม่นาน

ปืนใหญ่ภูเขาแบบ 63 ขนาดปากลำกล้องปืนกว้าง 75 มม. มีขนาดกะทัดรัดและคล่องตัว การเคลื่อนย้ายจากเขารูปช้างไปที่ตั้งใหม่ทำได้อย่างรวดเร็ว โดยความช่วยเหลือจากหมวดปืนกลหนักช่วยยิงคุ้มกัน

ภาพประกอบคือปืนใหญ่ภูเขาแบบ 63 ซึ่งมีบทบาทค่อนข้างสูงในการรบที่สงขลา ทหารไทยใช้ปืนรุ่นนี้ยิงเรือระบายพลญี่ปุ่นจมน้ำจำนวน 2 ลำ



บันทึกการเข้า
superboy
สุครีพ
******
ตอบ: 818


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 04 ต.ค. 24, 08:38

สถานการณ์ทหารไทยทุกกองพันค่อนข้างเลวร้าย กระสุนปืนชนิดต่างๆ ลดจำนวนลงอย่างน่าใจหาย บังเอิญกระสุนปืนญี่ปุ่นลดลงแบบฮวบฮาบตามกันไปด้วย ปืนใหญ่จากเรือพิฆาตกับระเบิดจากเครื่องบินบนฟ้าก็พลอยเงียบหาย ดูเหมือนตอนนี้ญี่ปุ่นไม่สนใจบุกเข้าตีทหารไทยให้แตกหัก การรบที่รุนแรงหนักหน่วงตั้งแต่รุ่งสางจึงพลอยเหือดหายตามกัน

จากการตรวจสอบพบทหารญี่ปุ่นจำนวนมากในสนามบินสงขลา ยืนต่อแถวยาวเหยียดบริเวณหัวโค้งพร้อมเดินทางข้ามประเทศด้วยรถไฟ การขนส่งทหารชุดแรกดำเนินไปอย่างรวดเร็วไม่มีอุปสรรคกีดขวาง นอกจากใช้ขบวนรถไฟในการเดินทางไปยังที่หมาย ญี่ปุ่นยังยึดรถยนต์และรถประจำทางของคนไทยจำนวนมาก ใช้เป็นพาหนะขนกำลังพลส่วนใหญ่ผ่านชายแดนมุ่งตรงเข้าสู่มลายู

การเคลื่อนพลของทหารญี่ปุ่นอยู่ในสายตาทหารไทยตลอดเวลา แต่ทำอะไรมากกว่านี้ไม่ได้อีกฝ่ายอำนาจการยิงเหนือกว่า นอกจากนี้ยังมีเรือพิฆาตกับเครื่องบินโจมตีทำหน้าที่คุ้มกัน เวลาประมาณ 11.35 น.มีคำสั่งจากผู้บังคับบัญชามณฑล 6 ค่ายนครศรีธรรมราช ให้ทหารญี่ปุ่นเคลื่อนกำลังพลผ่านไปตามคำสั่งรัฐบาล การปะทะเดือดที่สงขลาพลันจบสิ้นลงแต่เพียงเท่านี้

ความสูญเสียที่เกิดขึ้นระหว่างการรบประกอบไปด้วย ทหาร ร.พัน 41 เสียชีวิต 8 นาย บาดเจ็บ 22 นาย ทหาร ร.พัน 5 เสียชีวิต 7 นาย บาดเจ็บ 33 นาย ทหาร ป.พัน 13 ไม่มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บไม่ทราบจำนวน มีประชาชนเสียชีวิตและบาดเจ็บแต่ไม่ทราบจำนวน ส่วนทหารญี่ปุ่นมีความสูญเสียมากกว่าพอสมควร นั่นคือเสียชีวิตประมาณ 200 นาย กับบาดเจ็บไม่ทราบจำนวน

นี่คือคลิปวิดีโอญี่ปุ่นบุกสงขลา (บางส่วน) ซึ่งหาดูได้ยากมาก วินาทีที่ 0.43 คือหาดสมิหลาคนในพื้นที่ยืนยันเช่นนี้



บันทึกการเข้า
superboy
สุครีพ
******
ตอบ: 818


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 04 ต.ค. 24, 08:44

ญี่ปุ่นกับคนสงขลา

คนญี่ปุ่นในสงขลาก็เหมือนกับปัตตานีและจังหวัดอื่นๆ ก่อนหน้านี้มีร้านหมอฟันเพียงร้านเดียวให้บริการร่วมสิบปี ต่อมาเริ่มมีหมอรักษาโรคทั่วไปและหมอฟันเปิดร้านเพิ่ม ช่วงใกล้เกิดสงครามมีร้านขายถ้วยชามเปิดใหม่อีก 2 แห่ง คนญี่ปุ่นที่มาทีหลังล้วนเป็นจารชนหรือมีส่วนช่วยเหลือกองทัพญี่ปุ่น ช่วยให้ยกพลขึ้นบกเป็นไปอย่างสะดวกราบรื่นและใช้ระยะเวลาค่อนข้างสั้น

ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2484 สงขลามีการซ้อมการป้องกันภัยทางอากาศ จัดเตรียมหลุมหลบภัยจากการทิ้งระเบิด รวมทั้งสร้างสนามบินแห่งใหม่ริมชายหาดตรงข้ามบ้านด่าน  ทางราชการได้จัดตั้งกองอาสาสมัครขึ้น หวังใช้เป็นกำลังหนุนในยามฉุกเฉินกำลังพลหลักไม่เพียงพอ มีการฝึกใช้อาวุธที่ค่ายทหารบ้านสวนตูล ถือได้ว่าสงขลาเตรียมพร้อมรับมือญี่ปุ่นมากที่สุดแห่งหนึ่ง

หลังหยุดยิงทหารญี่ปุ่นจำนวนมากยังอยู่ร่วมกับคนไทย พวกเขามีแผนที่ตัวเมืองสงขลาอย่างละเอียด และมีข้อมูลว่าบ้านไหนใช้รถยนต์กี่คันรุ่นอะไรบ้าง ญี่ปุ่นถือวิสาสะยึดสถานที่ราชการทุกแห่ง รวมทั้งอาคารบ้านเรือนของประชาชนจำนวนหนึ่ง เพื่อดัดแปลงเป็นที่พักที่อาศัย โรงพยาบาล  ฐานบัญชาการ หรือเรือนรับรองแขก โรงเรียนมหาวชิราวุธถูกญี่ปุ่นยึดครองทั้งหมด ส่งผลให้นักเรียนไม่มีที่เรียนถึง 1 ปีการศึกษา ทางการไทยตัดสินใจให้นักเรียนทุกคนสอบผ่านปีนั้นไปเลย

ทหารญี่ปุ่นยังเป็นตัวนำโชคร้ายมาสู่ชาวสงขลาในภายหลัง ฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งประกอบไปด้วยอังกฤษกับสหรัฐอเมริกา ส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดกลางตัวเมืองในเวลากลางวัน ระเบิดลูกแรกลงที่โบสถ์วัดใต้ (วัดดอนรัก ) ประชาชนถูกลูกหลงเสียชีวิตทันที 1 คน ตามติดมาด้วยระเบิดลูกที่ 2 ลงตรงสี่แยกวัดเลียบ คราวนี้ทหารญี่ปุ่นเสียชีวิตจำนวน 2 นาย รวมทั้งมีการทิ้งระเบิดใส่ที่ตั้งทหารญี่ปุ่นอีกหลายครั้ง คนสงขลาต้องคอยเงี่ยหูฟังเสียงหวอเตือนภัยแทบไม่ได้หุงหาอาหาร หลุมหลบภัยที่เคยขุดเตรียมไว้พลอยได้ใช้งานกันอย่างทั่วถึง

ทหารญี่ปุ่นจากกองทัพที่ 25 พักอาศัยในสงขลาเพียงไม่กี่เดือน ต่อมามีคำสั่งเคลื่อนพลเข้าสู่มลายูต่อด้วยสิงคโปร์ เมื่อก้าวเข้าสู่ปี 2487 สถานการณ์การรบเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ญี่ปุ่นตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำต่อฝ่ายสัมพันธมิตรในทุกสนามรบ ทหารจากแดนอาทิตย์อุทัยทยอยเดินทางกลับสงขลา และอยู่ที่นี่จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่สองยุติลงจึงถูกส่งตัวกลับประเทศ

อังกฤษคำนวนว่าญี่ปุ่นใช้ทหารประมาณ 150,000 นายในการโจมตีมลายูกับสิงคโปร์ ทหารญี่ปุ่นมากกว่าครึ่งยกพลขึ้นบกที่สงขลา จังหวัดที่มีการทำสงครามอย่างเต็มรูปแบบไม่น้อยหน้าใคร




บันทึกการเข้า
superboy
สุครีพ
******
ตอบ: 818


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 05 ต.ค. 24, 08:27

เหตุการณ์ที่ผ่านพ้น

วิธีตั้งรับญี่ปุ่นขึ้นบกทั้งสองจุดแตกต่างกันพอสมควร ที่ปัตตานีมีทหารราบไม่พร้อมรบจำนวนหนึ่งกองพัน การตั้งรังปืนกลที่ริมชายหาดน่าจะเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด กำลังพลของอีกฝ่ายจะอยู่ในที่โล่งแจ้งไร้สิ่งปกป้อง ทหารไทยสามารถต้านทานการยกพลขึ้นบกได้ระยะเวลาหนึ่ง บังเอิญการยกพลขึ้นบกของญี่ปุ่นเกิดขึ้นเสียก่อน ทหารไทยเดินทางไปจุดตั้งรับไม่ทันจึงตกเป็นรองอย่างชัดเจน

วิธีตั้งรับที่สงขลาซึ่งมีกำลังพลมากกว่าปัตตานี มีอาวุธหนักเบาเยอะกว่า ใช้ทหารราบสองกองพันตั้งด่านสกัดบนเส้นทางหลักสองเส้นทางไปมลายู ใช้ปืนใหญ่กองพันที่ 13 ทำหน้าที่สนับสนุนค่อนข้างเหมาะสมกับเหตุและผล ปัญหาก็คือจำนวนทหารญี่ปุ่นขึ้นบกที่สงขลามากกว่าห้าหมื่นนาย ทหารราบสองกองพันบวกทหารปืนใหญ่หนึ่งกองพันของไทยทำหน้าที่ดีที่สุดแล้ว

การปะทะเดือดที่สงขลายังลุกลามบานปลายมาถึงตัวเมือง ตำรวจภูธรสงขลาได้เผชิญหน้าทหารญี่ปุ่นที่บุกเข้ามายึดโรงพักและที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข ปัญหาก็คือตำรวจมีเพียงปืนเล็กยาวรุ่นเก่ากับกระสุนคนละไม่เกินห้าสิบนัด ไม่อาจต้านทานกำลังพลญี่ปุ่นอันเต็มไปด้วยอาวุธหนักเบารุ่นใหม่ทันสมัย เมื่อทหารญี่ปุ่นยึดโรงพักได้จึงยึดปืนเล็กยาวตำรวจไทยมาถอดลูกเลื่อนป้องกันอันตราย

ผ่านพ้นไปแล้วสองสมรภูมิคือปัตตานีกับสงขลา ข้อเท็จจริงมีมากกว่านี้แต่ผมลงรายละเอียดแค่พอเห็นภาพ มีบทความหรือเอกสารมากมายให้เพื่อนๆ สมาชิกที่สนใจได้ศึกษาเพิ่มเติม

ภาพประกอบคือเรือระบายพลญี่ปุ่นที่ถูกปืนใหญ่ไทยยิงจมน้ำจำนวน 2 ลำ



บันทึกการเข้า
superboy
สุครีพ
******
ตอบ: 818


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 05 ต.ค. 24, 08:43


นี่คือแผนที่ที่ญี่ปุ่นใช้งานตอนยกพลขึ้นบกที่สงขลา มีเรือลำเลียงขนาดใหญ่ 10 ลำจอดเรียงรายไม่ไกลจากชายฝั่ง (เรือลำเลียงหรือเรือสินค้าญี่ปุ่นมักลงท้ายด้วยคำว่ามารู maru) จะเห็นนะครับว่าชายหาดสำหรับขึ้นฝั่งมีความกว้างไกลมาก ทหารหน่วยรบพิเศษญี่ปุ่นสามารถเลือกขึ้นฝั่งจุดไหนก็ได้ แต่สมรภูมิหลักอยู่อยู่ด้านล่างของแผนที่เป็นถนนมุ่งตรงไปยังหาดใหญ่ มีค่ายทหารบ้านสวนตูลตั้งขวางทางไม่ไกลจากสนามบิน และหาดเก้าเส็งก็เป็นจุดที่ปืนใหญ่ภูเขาไทยได้ดวลเดี่ยวกับปืนใหญ่เรือพิฆาตญี่ปุ่น ส่วนตัวเมืองสงขลาอยู่ด้านบนทหารไทยมีกำลังพลไม่พอส่งไปช่วยรบ หน้าที่หลักตกเป็นของตำรวจภูธรสงขลา ข้าราชการ และชาวบ้านในพื้นที่



ปัจจุบันการหาข้อมูลญี่ปุ่นขึ้นบกที่สงขลาง่ายกว่าเดิม เพราะมีข้อมูลจากญี่ปุ่นเป็นสิ่งช่วยยืนยัน ต่างจาก 8 ปีก่อนที่ผมเขียนบทความนี้เป็นครั้งแรก

บันทึกการเข้า
superboy
สุครีพ
******
ตอบ: 818


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 05 ต.ค. 24, 09:37

เมืองคอนก่อนสงครามโลก

นครศรีธรรมราชเป็นจังหวัดขนาดใหญ่ของประเทศไทย มีจำนวนประชากรมากที่สุดในภาคใต้ และมีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับสองของภาคใต้ ภูมิประเทศแต่ล่ะส่วนแตกต่างกันตามลักษณะเทือกเขานครศรีธรรมราช สามารถแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วนประกอบไปด้วย เทือกเขาตอนกลาง ที่ราบชายฝั่งด้านตะวันออก และที่ราบชายฝั่งด้านตะวันตก นครศรีธรรมราชมีชายฝั่งยาวสุดในประเทศคือยาวถึง 225 กิโลเมตร มีแหลมที่ยาวที่สุดในประเทศคือแหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง

เนื่องจากนครศรีธรรมราชเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ จึงเป็นที่ตั้งมณฑลทหารบกที่ 6 ค่ายวชิราวุธ ที่บ้านท่าแพ ตำบลปากพูน อำเภอเมือง พลเอกหลวงเสนาณรงค์เป็นผู้บัญชาการมณฑลทหารบก หน่วยทหารประจำการประกอบไปด้วย ร.พัน 39 และ ป.พัน 15 ทำหน้าที่ดูแลหน่วยทหารภาคใต้ทั้งหมด ทหารส่วนใหญ่มาจากราชบุรีระหว่างปี 2482 ซึ่งมีการย้ายค่ายวชิราวุธมาอยู่ท่าแพ

หลังได้รับแจ้งข่าวญี่ปุ่นอาจยกพลขึ้นบกประเทศไทยจากรัฐบาล ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกสั่งเตรียมพร้อมรับมือผู้รุกรานเต็มกำลัง มีการฝึกฝนทหารประจำการและยุวชนทหารให้มีความพร้อมรบ มีการคัดเลือกราษฎรอาสาสมัครเข้ามาฝึกหัดการใช้อาวุธ หวังระดมกำลังพลให้มากที่สุดเท่าที่ตัวเองสามารถหาได้ เพราะรู้ดีว่าทหารญี่ปุ่นมีศักยภาพสูงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าทหารอังกฤษ

แม้มีการเต็มพร้อมเต็มที่ทว่าสมรภูมินี้ทหารไทยตกเป็นรอง นครศรีธรรมราชชายหาดยาวเสียจนไม่อาจคาดเดาจุดที่ญี่ปุ่นต้องการยกพลขึ้นบก พลเอกหลวงเสนาณรงค์ตัดสินใจคงกำลังส่วนใหญ่ไว้ในค่ายวชิราวุธ เมื่อทราบว่าญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกจุดไหนจึงสั่งเคลื่อนพลไปยังจุดปะทะ อาจไม่ใช่แผนที่ดียอดเยี่ยมแต่ค่อนข้างเหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ

ภาพประกอบคือทหาร ร.พัน 39 และ ป.พัน 15 ค่ายวชิราวุธ ที่บ้านท่าแพ




บันทึกการเข้า
superboy
สุครีพ
******
ตอบ: 818


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 05 ต.ค. 24, 12:11

นครศรีธรรมราชไม่แตกต่างจากจังหวัดอื่นที่อยู่ใกล้เคียง มีจารชนญี่ปุ่นแฝงตัวเข้ามาปะปนกับชาวบ้านในพื้นที่ ประมาณต้นปี 2475 ครอบครัวชาวญี่ปุ่นครอบครัวหนึ่งเข้ามาตั้งรกรากเป็นรายแรก และเปิดกิจการทั้งร้านหมอฟันและร้านถ่ายรูป ทุกคนในเมืองรู้จักพวกเขาในชื่อหมอลูกับแม่ศรี กิจการเจริญก้าวหน้าสามารถสร้างตึกใหญ่โตขนาดสามคูหา มีลูกจ้างชายหนุ่มญี่ปุ่นหลายคนผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาทำงานในร้าน จากนั้นไม่นานมีวิศวกรญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งเข้ามาควบคุมการก่อสร้างถนนสายปากพนัง-นครศรีธรรมราช รวมทั้งมีพ่อค้าแร่ชาวญี่ปุ่นมากกว่า 7 คนมาทำงานในเมืองคอนก่อนการยกพลขึ้นบกไม่ถึงหนึ่งขวบปี

พวกเขาเหล่านี้ล้วนเป็นจารชนญี่ปุ่นเข้ามาฝังตัวในพื้นที่ โชคร้ายชาวบ้านและทางการไทยไม่ระแคะระคายเรื่องนี้แม้แต่นิดเดียว

การยกพลขึ้นบกที่ปัตตานีกับสงขลาญี่ปุ่นใช้ทหารราบกองทัพที่ 25 ส่วนการยกพลขึ้นบกที่นครศรีธรรมราชและเป้าหมายอื่นในประเทศไทยใช้ทหารราบจากกองทัพที่ 15 เวลาประมาณ 04.00 น.วันที่ 8 ธันวาคม 2484 มีคำสั่งให้ทหารญี่ปุ่นบางส่วนเคลื่อนพลขึ้นฝั่ง เรือลำเลียงซึ่งดัดแปลงมาจากเรือสินค้าจำนวน 3 ลำประกอบไปด้วย Zenyo Maru Miike Maru และ Toho Maru พร้อมเรือคุ้มกันขนาด 870 ตันชื่อ Shimushu ติดปืนใหญ่ขนาด 20/45 มม.จำนวน 3 กระบอก เดินทางเข้าสู่น่านน้ำเมืองคอนโดยใช้ความมืดเป็นเกาะกำบังป้องกันภัย

ค่ายวชิราวุธอยู่ห่างจากอำเภอเมืองประมาณเจ็ดกิโลเมตร เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่ญี่ปุ่นต้องการควบคุม รวมทั้งใช้งานเป็นที่ตั้งทางทหารของตัวเอง จึงวางแผนยกพลขึ้นบกบริเวณชายฝั่งปากพูนและปากนคร ต่อด้วยลำเลียงกำลังพลมาตามคลองท่าแพโดยใช้เรือระบายพล ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงจะถึงสะพานท่าแพ เมื่อได้รับคำสั่งบุกจึงส่งกำลังพลเข้าไปควบคุมทหารไทยค่ายวชิราวุธ

ภาพประกอบคือเรือลำเลียงขนาด 10,000 ตันชื่อ Miike Maru ซึ่งพาทหารญี่ปุ่นมายกพลขึ้นบกที่เมืองคอน

[/img]


บันทึกการเข้า
superboy
สุครีพ
******
ตอบ: 818


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 06 ต.ค. 24, 08:31

สมรภูมิท่าแพ

   เวลาประมาณ 06.00 น.เศษผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 6 ได้รับข่าวจากนายไปรษณีย์นครศรีธรรมราชว่า ทหารญี่ปุ่นจำนวนมากยกพลขึ้นบกที่สงขลา เขารีบสั่งการต่อนายพันตรีหลวงประหารริปูราบ (ชื่น โหระกุล) ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 39 หรือ ร.พัน 39 ให้จัดเตรียมกำลังพลเดินทางไปสนับสนุนทหารไทยที่สงขลาโดยเร่งด่วน โดยให้กำลังพลบางส่วนไปสกัดกั้นทหารญี่ปุ่นที่สถานีรถไฟชุมทางเขาชุมทองและชุมทางท่าแพ อันเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการเดินทางข้ามชายแดนไปยังมลายู

   ระหว่างเตรียมพร้อมเคลื่อนพลไปสนับสนุนทหารบ้านสวนตูลที่สงขลา พลทหารจาก ป.พัน 15 ซึ่งเป็นเวรยามเฝ้าระวังคลองท่าแพ แจ้งข้อมูลว่าพบทหารญี่ปุ่นพร้อมเรือระบายพลหลายลำในคลอง รวมทั้งมีรายงานชาวบ้านเห็นทหารญี่ปุ่นแฝงตัวมากับเรือชนิดต่างๆ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 6 รีบระงับคำสั่งเดินทางไปช่วยสงขลา และส่งกำลังพล ร.พัน 39 ทั้งหมดออกไปเผชิญหน้าผู้รุกรานจากดินแดนอาทิตย์อุทัย

ช่วงเวลาดังกล่าวเกิดฝนตกหนักทั่วพื้นที่เมืองคอน น้ำในคลองขึ้นสูงเหมาะสมกับการบุกโจมตีแบบสายฟ้าแลบ การวางกำลังตั้งรับทหารญี่ปุ่นเป็นไปอย่างรวดเร็วและเหมาะสม กำลังพล ร.พัน 39 พร้อมอาวุธอยู่ในที่กำบังพร้อมทำศึกใหญ่ ได้ปืนใหญ่เบากระสุนวิถีโค้ง 105 มม.จำนวน 5 กระบอกและปืนใหญ่ภูเขาแบบ 63 อีก 2 กระบอกจาก ป.พัน 15 ทำหน้าที่สนับสนุน ทหารช่วยรบมณฑลทหารบกที่ 6 ถูกส่งมาประจำการแนวรับตะวันออก รวมทั้งมียุวชนทหารจากหน่วยฝึกยุวชนที่ 55 จังหวัดนครศรีธรรมราชจำนวน 30 นายเข้ามาเสริมทัพ ผู้บังคับหมวดยุวชนทหารคือร้อยเอกสงัด ธรรมสุนทร

สนามบินขนาดเล็กติดค่ายวชิราวุธมีเครื่องบินขับไล่ บ.ข.10 หรือฮอว์ค 3 จำนวน 3 ลำจอดเตรียมพร้อมขึ้นบิน การปรากฏตัวของเครื่องบินขับไล่ บ.ข.10 เป็นส่วนหนึ่งของแผนการตั้งรับญี่ปุ่น ด้วยการส่งเครื่องบินขับไล่กระจายไปตามจุดยุทธศาสตร์สำคัญๆ ทั่วประเทศ

ภาพประกอบคือสะพานท่าแพซึ่งเป็นจุดชี้เป็นชี้ตาย





บันทึกการเข้า
superboy
สุครีพ
******
ตอบ: 818


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 06 ต.ค. 24, 08:35

กระสุนปืนนัดแรกดังขึ้นในเวลา 06.50 น. การปะทะกันระหว่างทหารไทยกับทหารญี่ปุ่นเริ่มขึ้นแล้ว บรรดาผู้รุกรานดาหน้าเข้ามาอย่างไม่หยุดหย่อน เรือระบายพลจำนวนมากลอยลำเป็นขบวนอยู่ในคลอง กำลังพลญี่ปุ่นบางส่วนหนึ่งขึ้นฝั่งเป็นที่เรียบร้อย และเข้าปะทะกับทหารไทยซึ่งมาปักหลักอยู่ในชัยภูมิค่อนข้างดี กลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบระหว่างไทยกับญี่ปุ่นครั้งแรกในเมืองคอน

เนื่องจากค่ายวชิราวุธอยู่ในระยะยิงปืนใหญ่ขนาด 105 มม.ขึ้นไป ส่งผลให้ได้ยินเสียงปืนใหญ่ทั้งของไทยและญี่ปุ่นดังถี่ยิบ เสียงปืนกลกับปืนเล็กยาวดังกระหึ่มตลอดเวลา ทหารญี่ปุ่นใกล้เข้ามากขึ้นตามลำดับ ตอนนั้นเองมีคำสั่งให้นักบินไทยนำเครื่องบินขึ้นโจมตีฝ่ายตรงข้าม โชคร้ายเกิดฝนตกหนักจนพื้นสนามเละเป็นโคลน เครื่องบินรบปีกสองชั้นทั้ง 3 ลำไม่สามารถขึ้นบินตามคำสั่ง การโจมตีทางอากาศจากนักบินชาวไทยที่เมืองคอนประสบความล้มเหลว

ภาพประกอบคือเรือคุ้มกันขนาด 870 ตันชื่อ Shimushu ติดปืนใหญ่ขนาด 120/45 มม.จำนวน 3 กระบอก ขนาดค่อนข้างเล็กแต่มีเขี้ยวเล็บแหลมคมไม่แพ้เรือลำไหน ได้รับบทเด่นคือการยิงถล่มค่ายวชิราวุธจกระยะไกลด้วยปืนใหญ่เรือ


ความคิดเห็นที่ 42 ผมเขียนผิดนะครับ  ปืนใหญ่บนเรือลำนี้ต้องขนาด 120/45 มม.ไม่ใช่ 20/45 มม.



บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 8
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.081 วินาที กับ 19 คำสั่ง