เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 9
  พิมพ์  
อ่าน: 4028 สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 75  เมื่อ 10 มี.ค. 24, 13:01

     วันที่ 18 พฤศจิกายน 2487 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวน 10 ลำ บินมาทิ้งระเบิดใส่สนามบินดอนเมือง เหตุการณ์นี้ไม่มีบันทึกความเสียหายจากทั้งสองฝ่าย

     วันที่ 27 พฤศจิกายน 2487 เวลา 10.00 น. เครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 จากกองบิน 20 จำนวน 55 ลำ บินระยะทาง 2,261 ไมล์เพื่อโจมตีจากระดับความสูง 22,500 ฟุตใส่หัวรถจักรและสถานีรถไฟบางซื่อกับมักกะสัน ครั้งนี้เปลี่ยนมาใช้ระเบิดขนาดใหญ่ 500 ปอนด์ซึ่งมีประสิทธิภาพทำลายล้างมากกว่าเดิม ผลลัพธ์จากการโจมตีโรงงานปูนซิเมนต์ไทยที่บางซื่อถูกระเบิดเสียหายอย่างหนัก

     โรงงานปูนซีเมนต์มีเรื่องราวระหว่างสงครามโลกเช่นกัน ญี่ปุ่นต้องการปูนซีเมนต์จำนวนมากนำไปใช้ก่อสร้างเส้นทางหรือซ่อมแซมเส้นทาง บริษัทปูนซิเมนต์ไทยส่งให้เพียงหนึ่งในเจ็ดอ้างว่ากำลังผลิตมีเพียงเท่านี้ แล้วแอบผลิตกันเองในตอนกลางคืนโดยมีการพรางไฟหลอกญี่ปุ่น เมื่อโรงงานถูกถล่มจนปล่องหม้อเผาปูนจำนวน 6 ปล่องเหลือเพียง 5 ปล่อง โรงงานยังแอบผลิตต่อและซ่อมแซมปล่องหม้อเผาปูนที่เสียหายไปพร้อมกัน กระทั่งปี 2522 ถึงย้ายฐานการผลิตไปอยู่โรงงานแก่งคอย

     จากภาพจะเห็นนะครับว่าโรงงานปูนซิเมนต์ไทยอยู่ใกล้จุดจอดตู้รถไฟจำนวนมาก ถ้านักบินจะทิ้งระเบิดพลาดไปลงโรงงานก็คงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะ B-29 ทิ้งระเบิดจากระดับความสูง 22,500 ฟุต ไม่อยู่ในระยะทำการเรดาร์ AN/APQ-13 กับ Norden bombsight

     

     เครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 จำนวน 3 ลำได้แยกตัวไปทิ้งระเบิดใส่เมืองมะริดประเทศพม่า มีผู้เสียชีวิต 114 คน บาดเจ็บ 150 คน อาคารเสียหายจำนวนมาก เครื่องบินขับไล่ Ki-43 Hayabusa -ของญี่ปุ่นที่บินขึ้นไปสกัดกั้นถูกยิงตกจำนวน 1 ลำ

     วันเดียวกันเครื่องบินขับไล่ P-38, P-40 และ P-51 จากกองบิน 14 ประเทศจีนจำนวน 56 ลำ บินมาถล่มสถานีรถไฟนครลำปางและรางรถไฟบริเวณใกล้เคียง โดยไม่มีเครื่องบินขับไล่จากสนามบินพระบาท นครลำปาง บินขึ้นมาสกัดกั้น เนื่องจากวันที่ 11 พฤศจิกายน 2487 เครื่องบินทุกลำถูกยิงตก ไม่เหลือเครื่องบินในการสกัดกั้นจึงเป็นการเลือกโจมตีอย่างเมามันฝ่ายเดียว

     เดือนพฤศจิกายน 2487 มีการทิ้งระเบิดอย่างหนักทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด บรรดานักบินเริ่มจับเป้าหมายได้แม่นยำมากกว่าเดิม รวมทั้งใช้แผนลักลอบโจมตีไม่ให้ทหารไทยและญี่ปุ่นไหวตัวทัน ส่วนในกรุงเทพการทิ้งระเบิดตอนกลางวันเกิดขึ้นอีกครั้ง มีการบุกถล่มเครื่องบินขับไล่ญี่ปุ่นและไทยที่สนามบินดอนเมืองก่อน เห็นว่าปลอดภัยจึงส่งป้อมบินมหากาฬบินข้ามทะเลมาหย่อนระเบิดขนาดใหญ่ใส่เป้าหมาย
บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 76  เมื่อ 12 มี.ค. 24, 13:28

ขบวนการเสรีไทย หรือ Free Thai Movement
   
     วันที่ 15 มีนาคม 2487 นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ นายประทาน เปรมกมล และนายเปรม บุรี ซึ่งเป็นเสรีไทยสายอังกฤษ ลักลอบกระโดดร่มเข้าสู่ประเทศไทยที่บ้านน้ำขาว อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท ผู้กล้าทั้งสามถูกตำรวจไทยจับกุมตัวโดยไม่มีการขัดขืน แต่ด้วยความช่วยเหลือจากตำรวจที่เป็นเสรีไทยในประเทศ จึงสามารถติดต่อกับหัวหน้าขบวนการเสรีไทยสำเร็จตามแผนการ วิทยุติดต่อทหารอังกฤษที่นำมาด้วยถูกจัดเก็บอยู่ในกรมตำรวจโดยไม่ได้ใช้งาน นี่คือรายงานอย่างเป็นทางการส่งมอบให้กับทหารญี่ปุ่น ส่วนของจริงจะเป็นอย่างไรน่าจะรู้กันดีอยู่แล้ว

     วันที่ 10 มิถุนายน 2487 ร้อยเอกนายการะเวก ศรีวิจารณ์ ร้อยโท สมพงศ์ ศัลยพงศ์ เสรีไทยสายอเมริกาพร้อมผู้นำทาง ลักลอบเข้าสู่ประเทศไทยในพื้นที่ตำบลบ้านด่าน อำเภอเชียงแมน จังหวัดล้านช้าง โชคร้ายถูกตำรวจท้องที่ยิงเสียชีวิตทั้งหมด เพราะต้องการทรัพย์สินที่มีติดตัวโดยเฉพาะทองคำ อุปกรณ์ที่มากับตัวรวมทั้งวิทยุกำลังส่ง 500 ไมล์ ถูกส่งต่อจนถึงมือพลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ

     สองอาทิตย์ถัดมาร้อยโทโผน อินทรทัต เดินทางข้ามแม่น้ำโขงจากฝั่งลาวเข้าสู่พื้นที่จังหวัดน่าน และชิงมอบตัวกับตำรวจไทยตามแผนการ เป็นเสรีไทยสายอเมริการุ่นแรกที่เดินทางเข้าสู่ประเทศไทยสำเร็จ เขาถูกส่งตัวให้กับพลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส หนึ่งในสามบุคคลระดับสูงของไทย และมีโอกาสได้พบนายปรีดี พนมยงค์หัวหน้าเสรีไทยในประเทศ ก่อนเดินทางย้อนกลับเส้นทางเดิมเพื่อนำข่าสารจากไทยไปแจ้งต่อเสรีไทยสายอเมริกาซึ่งมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นผู้นำ

     เท่ากับว่ากลางปี 2487 เสรีไทยในประเทศกับเสรีไทยในอเมริกาสำเร็จ การทำงานทั้งในและนอกประเทศจึงมีพัฒนาการที่ดีขึ้นมากกว่าเดิม งานใต้ดินพวกนี้แหละที่ช่วยเหลือประเทศไทยในช่วงสิ้นสุดสงคราม

บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 77  เมื่อ 12 มี.ค. 24, 14:21

ธันวาคมถล่มหนัก

     คืนวันที่ 2 ธันวาคม ถึงเช้าวันที่ 3 ธันวาคม 2487 มีการทิ้งระเบิดใส่พื้นที่กรุงเทพและสถานีรถไฟหนองปลาดุก อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ไม่มีรายงานความเสียหายจากทั้งสองฝ่าย

     วันเดียวกันมีรายงานว่าเครื่องบินทิ้งระเบิดไม่ทราบจำนวน 7 ลำ บินมาทิ้งระเบิดใส่บางโพ   วัดสร้อยทอง สะพานพระราม 6 สะพานพระพุทธยอดฟ้า ท่าเตียน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองในเวลา 24.00 น.ถึง 03.00 น.ของอีกวัน ไม่มีรายงานความเสียหายจากทั้งสองฝ่าย

     หนองปลาดุกเปรียบได้กับชุมทางรถไฟสายใต้ ถ้าโจมตีหนองปลาดุกสำเร็จจะสามารถตัดเส้นหลักของทหารญี่ปุ่น ส่งผลต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวของสงครามค่อนข้างสูง สะพานจุฬาลงกรณ์สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแม่กลองในจังหวัดราชบุรี ล้วนตกเป็นเป้าหมายสำคัญที่ต้องกำจัดโดยเร็วที่สุด เพราะรถไฟสายใต้ทุกขบวนต้องแล่นผ่านสะพานนี้ก่อนจะชุมทางหนองปลาดุก ฉะนั้นสมรภูมิบ้านโป่งราชบุรียังมีตอนต่อไปและตอนต่อไปให้ได้ติดตาม

     ในภาพคือสะพานจุฬาลงกรณ์ก่อนสงครามโลก แบ่งเป็นทางรถไฟครึ่งหนึ่งกับทางรถยนต์ (หรือทางเกวียน) ครึ่งหนึ่ง

          

     วันที่ 12 ธันวาคม 2487 เครื่องบินขับไล่สองหาง P-38 จากกองบิน 14 ประเทศจีนจำนวนหนึ่ง บินมาทิ้งระเบิดใส่ทหารญี่ปุ่นในพม่าและเชียงใหม่ก่อนวกกลับฐานทัพ ไม่มีรายงานความเสียหายจากทั้งสองฝ่าย

     วันที่ 13 ธันวาคม 2487 เครื่องบินขับไล่ P-38 และ P-51 จากกองบิน 14 ประเทศจีนจำนวนหนึ่ง บินเข้ามาทิ้งระเบิดใส่สะพานรอบเมืองเชียงใหม่ก่อนวกกลับฐานทัพ ไม่มีรายงานความเสียหายจากทั้งสองฝ่าย แต่คาดว่าเชียงใหม่ซึ่งถูกโจมตีบ่อยครั้งน่าจะบอบช้ำพอสมควร

     เชียงใหม่ถูกเตือนด้วยเครื่องบินขับไล่ขนาดเล็กสองครั้งแล้วนะครับ

     วันที่ 14 ธันวาคม 2487 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 จากกองบิน 20 เมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดียจำนวน 48 ลำ ดาหน้าเข้ามาหย่อนระเบิดใส่สะพานพระราม 6 วงเวียนเล็ก และวัดประยูรวงศาวาส ในเวลา 09.35 น. ชาวบ้านถูกลูกหลงผู้เสียชีวิต 71 คน บาดเจ็บ 75 คน

     การทิ้งระเบิดในช่วงกลางวัน B-29 จำนวน 33 ลำทิ้งระเบิดตรงเป้าหมาย อีก 14 ลำทิ้งระเบิดลงพื้นที่ใกล้เคียง สามารถยิงเครื่องบินขับไล่ญี่ปุ่นตกจำนวน 1 ลำ ส่วน B-29 จำนวน 4 ลำได้รับความเสียหายโดยมี 1 ลำเสียหายอย่างหนัก เครื่องบินทุกลำต้องปลดประจำการกลายเป็นอะไหล่

     เครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 บินไปกลับมากถึง 2,261 ไมล์ การทิ้งระเบิดเกิดขึ้นที่ระดับความสูง 20,000 ฟุต ต่ำกว่าเดิมเล็กน้อยและถูกเป้าหมายแม่นยำมากขึ้น โดยใช้ระเบิดขนาด 1,000 ปอนด์ทำงานคู่กับเรดาร์เรดาร์ AN/APQ-13 กับ Norden bombsight

     ผลงานการทิ้งระเบิดฝ่ายสัมพันธมิตรดีขึ้นกว่าเดิม ทว่าสะพานพระราม 6 ยังปรกติสุขไม่เป็นอะไร ปี 2487 เด็กกรุงเทพได้เรียนหนังสือเพียงไม่กี่เดือนแล้วปิดยาวไม่มีกำหนดเปิด ตลอดทั้งปีมีเสียงหวอเตือนถึง 27 ครั้งมากกว่าปี 2485 กับ 2486 รวมกัน

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33590

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 78  เมื่อ 12 มี.ค. 24, 15:11

    
อ้างถึง
ผลงานการทิ้งระเบิดฝ่ายสัมพันธมิตรดีขึ้นกว่าเดิม ทว่าสะพานพระราม 6 ยังปรกติสุขไม่เป็นอะไร ปี 2487 เด็กกรุงเทพได้เรียนหนังสือเพียงไม่กี่เดือนแล้วปิดยาวไม่มีกำหนดเปิด ตลอดทั้งปีมีเสียงหวอเตือนถึง 27 ครั้งมากกว่าปี 2485 กับ 2486 รวมกัน
    ทำให้นึกได้ว่าควรบันทึกถึงนักเรียนและบัณฑิตรุ่น "โตโจ" ไว้ในกระทู้นี้ด้วย
     เพราะระเบิดลงถี่ยิบมาก จนประชาชนในกรุงเทพและอีกหลายจังหวัดตกเป็นเป้าถูกโจมตีทางอากาศจากเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรแทบไม่เว้นแต่ละวัน   นักเรียนนักศึกษากำลังเรียนหนังสืออยู่ดีๆ ก็มีเสียง “หวอ” หรือสัญญาณภัยทางอากาศดังขึ้น ทั้งครูและนักเรียนต้องวิ่งไปลงหลุมหลบภัย หรือไม่ทางโรงเรียนก็รีบปล่อยนักเรียนกลับบ้านก่อนเลิกเรียน      ภาวะเช่นนี้รบกวนไม่มีหยุดมีหย่อนจนไม่เป็นอันการเรียนกัน   กระทรวงศึกษาธิการต้องประกาศปิดการเรียนเป็นเดือนๆ
      หลายโรงเรียนใช้วิธีย้ายโรงเรียนออกไปให้ห่างไกลจากจุดยุทธศาสตร์ หรือออกไปต่างจังหวัดที่ไม่อยู่ในกลุ่มเป้าหมายของฝ่ายสัมพันธมิตร    จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ย้ายไปเรียนที่ผักไห่ อยุธยา   โรงเรียนเพาะช่างที่อยู่ใกล้สะพานพระพุทธยอดฟ้าและโรงไฟฟ้าวัดเลียบที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ ได้ย้ายไปเรียนที่วัดนางนอง เขตจอมเทียน ธนบุรี ในเดือนมิถุนายน ๒๔๘๖  โรงเรียนก่อสร้างอุเทนถวายถูกทหารญี่ปุ่นยึดเอาเป็นที่พักทหาร รวมทั้งร.ร.หอวังที่ต่อมาคือรร.เตรียมอุดมศึกษา ก็กลายเป็นที่พักทหารญี่ปุ่นด้วย    เช่นเดียวกับโรงเรียนของชาวคริสต์อีก 2 แห่งคือโรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชย์กับโรงเรียนมาแตร์เดอี      
     เมื่อสถานที่ถูกยึดเป็นค่ายที่พักของทหารญี่ปุ่นไปเสียแล้ว  โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัยต้องอพยพครูและนักเรียน ไปที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์   อยู่บริเวณพระราชวังไกลกังวล  จนสงครามสงบจึงได้ย้ายกลับมาอยู่สถานที่เดิม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33590

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 79  เมื่อ 12 มี.ค. 24, 15:18

      โรงเรียนก่อสร้างอุเทนถวายอยู่ระหว่างปิดภาคเรียนพอดี พอถึงเวลาเปิดเรียนจึงต้องไปขออาศัยเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบ อีกส่วนหนึ่งยังเรียนอยู่ที่เก่าในโรงฝึกงานที่ญี่ปุ่นไม่ได้ใช้    ส่วนโรงเรียนสวนกุหลาบซึ่งอยู่ติดกับโรงเรียนเพาะช่างอยู่ใกล้จุดยุทธศาสตร์ เลยต้องย้ายอีกทีไปเรียนที่โรงเรียนพาณิชยการวัดแก้วฟ้าล่าง ถนนสี่พระยา ต่อมาระเบิดได้ลงที่อาคารโรงเรียนซึ่งเป็นค่ายทหารญี่ปุ่น ส่วนที่เรียนที่โรงฝึกจึงต้องอพยพไปเรียนที่โรงเรียนช่างไม้สามโคก ปทุมธานี
     หลายโรงเรียนได้ย้ายออกไปต่างจังหวัด อย่างโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ได้หอบหิ้วนักเรียนไปเรียนกันที่พระราชวังบางปะอิน ไม่มีทั้งน้ำประปาและไฟฟ้า   ต้องใช้ตะเกียงทั้งที่น้ำมันก๊าดก็หายาก แต่ทนลำบากเรียนกันได้เพียง ๔-๕ เดือน แต่วันหนึ่งเจอแจ๊กพ็อต  เครื่องบินฝ่ายข้าศึกยิงปืนกลกราดไปทั่วบางปะอิน   ทางโรงเรียนจึงตัดสินใจปิดโรงเรียนส่งนักเรียนกลับบ้าน
   เมื่อภัยทางอากาศรุนแรงยิ่งขึ้น กระทรวงศึกษาธิการจึงสั่งปิดโรงเรียนทั่วประเทศ ไม่มีการเรียนการสอนและการสอบ แต่ให้นักเรียนทุกคนได้เลื่อนชั้นโดยอัตโนมัติ นักเรียนรุ่นนั้นจึงได้ฉายากันว่า “รุ่นโตโจ” มาจากชื่อนายพลโตโจ  นายกรัฐมนตรีที่ญี่ปุ่นที่ร่วมรบกับไทย
     จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจำต้องปิดให้นิสิตได้เรียนจบโดยไม่ต้องสอบปลายภาค   แต่อาศัยคะแนนเฉลี่ยทั้งปีแทน ด้วยเหตุผลอย่างเดียวกับโรงเรียนข้างบนนี้  และอีกอย่าง ครูบาอาจารย์ฝรั่งที่มีสัญชาติเดียวกับพวกพันธมิตร ถูกส่งตัวเข้าค่ายหมด  มหาวิทยาลัยจึงตัดสินใจประกาศให้นิสิตปี 4 ทั้งหลายได้เรียนจบเป็นบัณฑิต   มีศักดิ์และสิทธิ์เท่ากับบัณฑิตรุ่นอื่นๆ ก่อนหน้านี้ทุกประการ
    นักเรียนและนิสิตที่เรียนจบรุ่นนี้ จึงเป็น"รุ่นโตโจ" กันเพียงรุ่นเดียวในประวัติการศึกษาของไทย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33590

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 80  เมื่อ 12 มี.ค. 24, 15:24


"...การเรียนในช่วงนั้นไม่ค่อยสม่ําเสมอ เรียนบ้าน หยุดบ้าง บางครั้งหยุดเป็นอาทิตย์ก็มี ขณะเรียนหากมีเสียงหวอก็ต้องหยุดและ วิ่งลงหลุมหลบภัยกันจ้าละหวั่น หลุมหลบภัยมี 2 แห่งในบริเวณวัดศรีบุญเรือง แห่งหนึ่งกลบแล้วและใช้เป็นพื้นที่สร้างโบสถ์ อีกแห่งหนึ่งยังเป็นหลุมใช้เป็น สระน้ําจนทุกวันนี้ การที่เรียนบ้างไม่เรียนบ้าง ประกอบกับครูไม่พอสอน ทําให้ ความรู้ของนักเรียนด้อยมาก ผลการสอบมักไม่ผ่านเกณฑ์ คือ 50 เปอร์เซ็นต์ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้ ในระดับชั้น ม.6 ใครที่ได้คะแนนเกิน 45 เปอร์เซ็นต์ทั่ว ประเทศ ถือว่าสอบผ่านทั้งหมด เนื่องจากเล่ากันทั่วไปว่า บุตรนายกรัฐมนตรี ของไทยในยุคนั้นสอบได้แค่ 45 เปอร์เซ็นต์หากใช้เกณฑ์ 50 เปอร์เซ็นต์เหมือน เช่นเคยปฏิบัติจะต้องตกซ้ําชั้น นักเรียนชั้นม.6 ในรุ่นเดียวกันทั่วประเทศจึงได้รับ อานิสงฆ์นี้ทั่วหน้า ผ่านกันหมด เรียกรุ่นนี้ว่า “รุ่นม.6 โตโจ” คําว่า โตโจ เป็นชื่อนายกรัฐมนตรีประเทศญี่ปุ่นในช่วงสงคราม(คุณอินสม ไชยชาววงศ์ สัมภาษณ์)..."

เรื่อง สงครามโลกครั้งที่ 2 ในเมืองเชียงใหม่
ตอนที่ 5 “รุ่นเสาหิน”  โดย konlanna โพสต์เมื่อ ธันวาคม 4, 2019

https://pantip.com/topic/31840676

บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 81  เมื่อ 13 มี.ค. 24, 12:59

ราชบุรีวิปโยค

     วันที่ 1 มกราคม 2488 สถานีรถไฟนครชัยศรีและสะพานเสาวภาข้ามแม่น้ำนครชัยศรี (ท่าจีน) ถูกโจมตี ทว่าระเบิดทั้งหมดหลุดเป้าหมายหล่นใส่บ้านเรือนประชาชนที่อยู่ข้างเคียง

     วันที่ 2 มกราคม 2488 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 จากกองบิน 20 เมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดียจำนวน 49 ลำ ดาหน้าเข้ามาหย่อนระเบิดใส่สะพานพระราม 6 ช่วงเวลา 10.00-10.30 น.โดยไม่เกรงกลัวฝูงบินป้องกันพระนครกองทัพอากาศไทยจะเข้ามารบกวน

     ผลการโจมตี B-29 จำนวน 44 ลำทิ้งระเบิดตรงเป้าหมาย อีก 2 ลำทิ้งระเบิดใส่พื้นที่ใกล้เคียง เครื่องบินขับไล่ญี่ปุ่นถูกยิงตกจำนวน 1 ลำ ส่วน B-29 จำนวน 1 ลำได้รับความเสียหาย การโจมตีจากระยะ 20,000 ฟุตด้วยระเบิดขนาด 1,000 ปอนด์จำนวน 96 นัดได้ผลลัพธ์ยอดเยี่ยม สะพานพระราม 6 เป้าหมายสำคัญถูกระเบิดขาดกลางเสียหายอย่างหนัก กว่าจะซ่อมแซมใช้งานได้อีกครั้งก็ปาเข้าไปหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุด โดยบริษัทอังกฤษจนกระทั่งพร้อมใช้งานอีกครั้งในปี 2496


     
   

    การโจมตีครั้งนี้คือที่มาของข่าวลือ ‘การร้อยระเบิดเป็นพวงด้วยโซ่’ ปรกติลูกระเบิดมักลอยตกน้ำไม่ตรงเป้าหมาย พอเปลี่ยนมาร้อยด้วยโซ่ลูกระเบิดจึงค้างอยู่บนโครงเหล็ก เกิดการระเบิดอย่างรุนแรงส่งผลให้หักกลางทิ่มลงไปในแม่น้ำ เป็นอีกหนึ่งตำนานสงครามโลกครั้งที่สองในเมืองไทย

     ข่าวลือเรื่องระเบิดร้อยโซ่เป็นไปไม่ได้เลยครับ ผมติดตามข่าวสารทางทหารตั้งแต่สมัยเด็กน้อย ไม่เคยเห็นการร้อยระเบิดเป็นพวงด้วยโซ่แม้แต่ครั้งเดียว ความแม่นยำการทิ้งระเบิดมาจากอุปกรณ์ช่วยเล็งบนเครื่องบิน B-29 

     เรื่องราวการทิ้งระเบิดสะพานพระราม 6 มีให้เลือกอ่านเยอะแยะหลายเวอร์ชัน ทว่าเนื้อหาที่เกี่ยวข้องจริงๆ คิดว่ามีเท่าที่ผมนำมาลง อเมริกาใช้แผนเดิม ใช้เส้นทางเดิม ใช้จำนวนเครื่องบินเท่าเดิม เพียงแต่ครั้งนี้แม่นยำกว่าเดิมภารกิจจึงสำเร็จลุล่วง เหตุผลที่ไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแผนเพราะเครื่องบินขับไล่ฝ่ายตรงข้ามแทบไม่มีแล้ว ฉะนั้นถ้าครั้งนี้ไม่สำเร็จครั้งต่อไปก็น่าจะสำเร็จ

     วันที่ 14 มกราคม 2488 เวลาเที่ยงคืน เลยมาถึงวันที่ 15 มกราคม 2488 เวลาเที่ยงวัน ราชบุรีถูกถล่มอย่างหนักเป็นเวลา 12 ชั่วโมง เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จำนวนมากบุกเข้ามาโจมตีครั้งแล้วครั้งเล่า เป้าหมายอยู่ที่สะพานจุฬาลงกรณ์ สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแม่กลองที่ชาวราชบุรีเรียกว่าสะพานดำ

     เมื่อการโจมตีระลอกแรกผ่านพ้นไปอย่างใจหายใจคว่ำ หลวงนิคมคณารักษ์ข้าหลวงประจำจังหวัดราชบุรี มาตรวจราชการเพื่อดูความเสียหายบริเวณสะพานดำ ถูกระเบิดจากการโจมตีระลอกใหม่เสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่

     วันที่ 21 มกราคม 2488 เวลา 23.00 น.มีการโจมตีสะพานจุฬาลงกรณ์ในราชบุรีครั้งที่ 2 ในรอบ 1 สัปดาห์ แต่เนื่องมาจากความมืดเป็นเหตุจึงไม่สามารถจบภารกิจสำคัญ

     คืนวันที่ 27 มกราคม 2488 มีรายงานว่าเครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 จำนวน 1 ลำลักลอบเข้ามาหย่อนระเบิดใส่สะพานพุทธ ข้อมูลระบุว่าแท้จริงแล้วเครื่องบินลำนี้โจมตีสะพานพระราม 6 ซึ่งหักกลางไปแล้ว ทว่าผลการโจมตีถือว่าล้มเหลวเพราะมาตอนกลางคืนแค่เพียงลำเดียว เป็นรายงานที่แปลกจำนวนเครื่องบินก็ค่อนข้างแปลก จนน่าสงสัยว่าเครื่องบินแค่บินมาถ่ายภาพสะพานหรือเปล่า

     วันที่ 30 มกราคม 2488 เวลา 23.00 น.มีการโจมตีสะพานจุฬาลงกรณ์ในราชบุรีครั้งที่ 3 ในรอบ 1 เดือน และเหมือนกับทุกครั้งเป้าหมายสำคัญยังคงแคล้วคลาดจากลูกระเบิด

    ขึ้นปี 2488 เพียงเดือนเดียวสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดหนักมาก สะพานพระราม 6 เรียบร้อยไปแล้วส่วนสะพานจุฬาลงกรณ์ยังคงเจียนอยู่เจียนไป ฉะนั้นต้องถือว่าการทิ้งระเบิดสำเร็จเพียงห้าสิบเปอร์เซ็นต์
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33590

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 82  เมื่อ 13 มี.ค. 24, 15:06

บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 83  เมื่อ 14 มี.ค. 24, 12:44

     ก่อนเข้าสู่เรื่องราวเรามาสรุปเหตุการณ์กันสักเล็กน้อย

     ต้นเดือนพฤษภาคม 2486 ทหารญี่ปุ่นอยู่ในสถานะได้เปรียบมากที่สุด สงครามมหาเอเชียบูรพาเป็นตามแผนทุกประการ ปัญหาเล็กน้อยเข้ามารบกวนจิตใจก็คือ กองทัพอากาศมีเครื่องบินและนักบินไม่เพียงเพียงพอ ในเดือนนี้มีการประชุมผู้บัญชาการทหารที่สิงคโปร์ เพื่อปรึกษาการยุทธและสร้างความรู้จักกันให้มากขึ้น

     ก่อนเข้าสู่สงครามญี่ปุ่นมีเครื่องบินรบรวมกันประมาณ 5,000-6,000 ลำ มีกำลังผลิตประมาณเดือนละ 400-500 ลำ ดูแค่ตัวเลขน่าจะเพียงพอในการทำสงครามระยะยาวหลายปี โชคร้ายสหรัฐอเมริกามีกำลังผลิตเครื่องบินรบมากกว่าเกินสิบเท่า รวมทั้งส่งเรือดำน้ำมาตัดเส้นทางลำเลียงอาวุธยุทธปัจจัยจากญี่ปุ่นไปยัง ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์กับมลายู รวมทั้งไทยกับพม่า เท่ากับว่ายิ่งรบกันนานวันเครื่องบินญี่ปุ่นมีจำนวนลดลง ส่วนเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรกับเพิ่มขึ้นอย่างกับดอกเห็ด ผลการรบตั้งแต่ปลายปี 2486 จึงได้พลิกผันกลายเป็นญี่ปุ่นต้องเริ่มล่าถอย

    ภาพประกอบคือข้อมูลเครื่องบินรบญี่ปุ่นในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2487 เหลือเพียง 465 ลำ แบ่งเป็นพม่าตอนบน 22 ลำ พม่าตอนล่าง 84 ลำ ประเทศไทยและอินโดจีน 53 ลำ มลายู 52 ลำ และอินโดนีเซีย 254 ลำ เครื่องบินญี่ปุ่นในพม่าเหลือน้อยมากเพราะถูกฝ่ายสัมพันธมิตรทำลายโดยการทิ้งระเบิด ในประเทศไทยก็เหลือเพียงน้อยนิดจึงแทบไม่มีเครื่องบินบินขึ้นสกัดกั้น B-29

    


     ทดตัวเลข 465 ไว้ในใจก่อนนะครับ อีกสักพักผมจะกลับมาพูดถึงอีกครั้ง   

     ปี 2487 เครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดในไทยรุนแรงหนักหน่วงมากขึ้น เป้าหมายสำคัญในภาคเหนือทั้งเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง และอุตรดิตถ์โดนระเบิดทิ้งเกือบทั้งหมด เหลือเพียงส่วนเล็กส่วนน้อยค่อยจัดการในภายหลังตอนไหนก็ได้ ฝูงบินทิ้งระเบิดเบนเป้าหมายมาที่ทางรถไฟสายไทย-พม่า การโจมตีราชบุรีถึง 3 ครั้งภายใน 1 เดือนเปรียบได้กับคำเตือนครั้งสุดท้าย

บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 84  เมื่อ 14 มี.ค. 24, 12:47

กุมภาพันธ์หฤโหด

     วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2488 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 จากกองบิน 20 เมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดียจำนวน 64 ลำ ดาหน้าเข้ามาหย่อนระเบิดใส่สะพานพระราม 6 ช่วงเวลา 08.00-10.00 น.เครื่องบิน 88 ลำทิ้งระเบิดตรงเป้าหมายอย่างแม่นยำ ส่งผลให้ช่วงกลางสะพานขาดสะบั้นเสียหายอย่างหนัก เป็นการโจมตีซ้ำเพื่อทำลายสะพานไม่ให้กลับมาใช้งานได้ในระยะเวลาสั้นๆ

    เท่ากับว่าภาพที่ผมลงในวันที่ 2 มกราคม 2488 เป็นจากการโจมตีวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2488 ส่วนการโจมตีวันที่ 2 มกราคม 2488 สะพานน่าจะขาดจริงแต่ยังมีระยะห่างจากกันไม่มาก

     วันเดียวกันสหรัฐอเมริการายงานว่า เครื่องบิน B-29 จำนวน 3 ลำแยกตัวออกจากฝูงเพื่อทิ้งระเบิดใส่สถานีรถไฟเมืองมะตะบันในประเทศพม่า

     วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2488 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จากฝูงบิน 95 กองบิน 10 ประเทศอินเดียไม่ทราบจำนวน บินมาทิ้งระเบิดใส่สถานีรถไฟชุมพรเพื่อทำลายทางรถไฟขนานแนวถนนสายชุมพร-กระบุรี หรือที่รู้จักในวงกว้างว่าทางรถไฟสายคอคอดกระ ความเสียหายยังไม่มีมากเท่าไรเพราะเป็นการโจมตีครั้งแรก แต่ดูจากรูปการณ์ชุมพรจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

     วันเดียวกันเวลา 23.00 น.เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 บินมาถล่มสะพานจุฬาลงกรณ์ในราชบุรีครั้งที่ 4 แต่ยังไม่สำเร็จสะพานดำผู้แสนทรหดยังเป็นปรกติสุข

     วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2488 15.00-15.45 น.เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จากฝูงบิน 95 กองบิน 10 ประเทศอินเดีย จำนวน 6 ลำ ทิ้งระเบิดโจมตีสะพานท่ามะขามหรือสะพานข้ามแม่น้ำแคว อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เวลา ระเบิดขนาด 1,000 ปอนด์จำนวน 9 นัดถูกเป้าหมายบริเวณตอม่อ ส่งผลให้สะพานสร้างจากแรงงานเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรหักครึ่งหมดสภาพโดยสมบูรณ์แบบ

     

     ก่อนหน้านี้มีการโจมตีสะพานข้ามแม่น้ำแควถึง 4 ครั้ง โชคร้ายพลาดเป้าหมายหมดเพราะทิ้งระเบิดจากความสูงค่อนข้างมาก การโจมตีครั้งที่ 5 มีการกำหนดให้ B-24 บินต่ำระดับ 100 เมตรเพื่อโจมตีขั้นเด็ดขาด  และ B-24 หมายเลข 190-CO44-40989 ทิ้งระเบิดขนาด 1,000 ปอนด์จำนวน 4 นัดใส่เป้าหมายอย่างแม่นยำ โดยมีระเบิด 1 นัดตกกลางสะพานจนเสาสะพานหักร่วงน้ำ 1 ต้น

    วันเดียวกันเครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จากฝูงบิน 492 กองบิน 10 ประเทศอินเดีย จำนวน 6 ลำ ทิ้งระเบิดโจมตีสถานีรถไฟหนองปลาดุก อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี หัวรถจักรไอน้ำ 2 หัวถูกทำลายยับเยิน รางรถไฟเกิดความเสียหายในวงกว้าง

    วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2488 มีรายงานว่าเครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 บินมาถล่มสะพานจุฬาลงกรณ์ สะพานท่ามะขาม และสถานีรถไฟหนองปลาดุกอีกครั้ง ทว่าไม่มีการยืนยันทั้งจากสหรัฐอเมริกาและทางการไทย

     วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2488 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จากฝูงบิน 231 กองทัพอากาศอังกฤษใน ประเทศอินเดีย โจมตีสถานีรถไฟนครราชสีมา เป็นรายการส่งท้ายปิดเดือนกุมภาพันธ์หฤโหด นี่คือการโจมตีโคราชครั้งแรกแต่หนักหน่วงไม่แพ้สมรภูมิอื่น เหตุผลก็คือที่โคราชเลยมาถึงแก่งคอยมีทหารญี่ปุ่นจำนวนพอสมควร ที่ไหนมีญี่ปุ่น เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จะตามมาถล่มให้ราบคาบ

    สังเกตนะครับว่า…กองทัพอากาศอังกฤษกลับมาแล้วจ้ะ
บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 85  เมื่อ 15 มี.ค. 24, 12:54

โคราชระเบิดลง

     วันที่ 1 มีนาคม 2488 เครื่องบินทิ้งระเบิด De Haviland Mosquito กองทัพอากาศอังกฤษจำนวน 1 ลำ ลักลอบเข้ามาตรวจผลการทิ้งระเบิดของสัมพันธมิตร ซึ่งทิ้งระเบิดถล่มสถานีรถไฟนครราชสีมาเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา และได้พบว่ายังมีการระเบิดของระเบิดถ่วงเวลาอยู่อย่างต่อเนื่อง

     ระเบิดถ่วงเวลาเป็นอีกหนึ่งยุทธวิธีในการทำลายเป้าหมาย เมื่อตกถึงพื้นจะยังไม่ทำงานจนกว่าอุปกรณ์ตั้งเวลาเดินมาถึงกำหนด จึงสั่งจุดชนวนระเบิดทำลายเป้าหมายช่วงเวลาที่ฝ่ายตรงข้ามพลั้งเผลอ

     วันที่ 2 มีนาคม 2488 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จากฝูงบิน 231 กองทัพอากาศอังกฤษ กองบิน 10 ประเทศอินเดียจำนวน 23 เครื่อง ทิ้งระเบิดใส่สถานีรถไฟนครราชสีมาครั้งที่ 2 ในรอบ 3 วัน สามารถทำลายสถานีรถไฟและโรงซ่อมรถจักรสำเร็จ โรงแรมรถไฟที่นครราชสีมาก็พลอยโดนถล่มไปพร้อมกัน

     ภาพประกอบคือหลุมหลบภัยสร้างจากปูนคอนกรีต นครราชสีมา หลังคาสามเหลี่ยมทรงจั่ว คลุมห้องโถงกลางซึ่งอยู่ใต้ดินลึกเกือบ 2 เมตร ในหลุมกว้างประมาณ 2×3 เมตร จุคนได้ประมาณ 10-15 คน มีปล่องระบายอากาศ 2 อัน มีช่องประตูและบันไดขึ้นลงหลุม 2 ทาง น่าจะใกล้เคียงหลุมหลบภัยสำเร็จรูปที่คุณเจียวต้ายพูดถึง แต่มีพัฒนาการสองทางเข้าออกและขนาดใหญ่กว่าเดิม

     

     


บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 86  เมื่อ 15 มี.ค. 24, 12:59

บางกอกน้อยถูกโจมตี

     วันที่ 3 มีนาคม 2488 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 จำนวน 50 ลำ บินมาถล่มที่ตั้งทหารญี่ปุ่นในเขตมักกะสันอย่างรุนแรงหนักหน่วง โรงงานมักกะสันกรมรถไฟเกิดไฟไหม้ตามอาคารที่ยังหลงเหลือ เป็นการโจมตีครั้งที่ 5 และครั้งสุดท้ายต่อสถานที่สำคัญในการซ่อมบำรุงหัวรถจักรไอน้ำ

     วันที่ 5 มีนาคม 2488 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 กลับมาเยือนกรุงเทพอีกครั้ง ครั้งนี้โจมตีสถานีรถไฟธนบุรีหรือบางกอกน้อยจนเสียหายอย่างหนักใช้งานไม่ได้ พื้นที่ใกล้เคียงเต็มไปด้วยร่องรอยความเสียหายจากระเบิด สำหรับการโจมตีสถานีรถไฟบางกอกน้อยผมมีประเด็นนิดหน่อย

     ข้อมูลประเทศไทยระบุว่า วันที่ 28 กรกฎาคม 2488 มีการโจมตีสถานีรถไฟบางกอกน้อยอย่างรุนแรง เป็นการโจมตีทางอากาศครั้งสุดท้ายที่เกิดขึ้นในกรุงเทพ ส่งผลให้โกโบริต้องอำลาจากอังศุมาลินในวันนั้น ทว่าข้อมูลจากสหรัฐอเมริกาการทิ้งระเบิดในประเทศไทยสิ้นสุดลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2488

      

     ภาพประกอบระบุว่าสถานีรถไฟบางกอกน้อยถูกโจมตีวันที่ 5 มีนาคม 2488 สภาพคือพังยับเยินตรงตามข้อมูลจากสหรัฐอเมริกา อยู่ในเวลาช่วงที่ฝ่ายสัมพันธมิตรโหมทิ้งระเบิดในประเทศไทย ตั้งแต่ปลายปี 2487 ถึงเดือนเมษายน 2488 หลังเดือนนี้ไปแล้วไม่มีเครื่องบินทิ้งระเบิดมาเยือนกรุงเทพแล้ว แล้ววันที่ 28 กรกฎาคม 2488 มีเครื่องบินจากที่ไหนมาโจมตีสถานีรถไฟบางกอกน้อย

    เป็นประเด็นที่น่าสนใจมากประเด็นหนึ่ง

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33590

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 87  เมื่อ 15 มี.ค. 24, 17:55

ไปเจอรูปหลุมหลบภัยหน้าสถานีรไฟหัวลำโพง ในกระทู้เก่า   ปัจจุบันไม่เหลือแล้ว


บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 88  เมื่อ 16 มี.ค. 24, 13:03

เป้าหมายใหม่

     วันที่ 19 มีนาคม 2488 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จากฝูงบิน 95 กองบิน 10 ประเทศอินเดียไม่ทราบจำนวน ทิ้งระเบิดใส่สถานีรถไฟชุมพร สะพานข้ามแม่น้ำท่าตะเภา และทางรถไฟสายคอคอดกระ เกิดความเสียหายอย่างหนักต่อสถานีรถไฟชุมพร หัวรถจักรและตู้รถไฟถูกทำลายทิ้งจำนวนมาก เนื่องจากชุมพรไม่มีปืนต่อสู้อากาศยานญี่ปุ่นหรือไทยช่วยปกป้องสถานีรถไฟ

     วันที่ 2 เมษายน 2488 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จากฝูงบิน 458 ประเทศอังกฤษ กองบิน 10 ประเทศอินเดียไม่ทราบจำนวน บินมาทิ้งระเบิดขนาด 1,000 ปอนด์ใส่สะพานข้ามแม่น้ำแควซึ่งกำลังซ่อมแซมโดยเชลยศึก ผลการโจมตีสะพานท่ามะขามเสียหายยับเยินไม่อาจใช้งานได้อีกต่อไป

     จุดยุทธศาสตร์สำคัญอย่างชุมพรกับสะพานท่ามะขามฝ่ายสัมพันธมิตรจัดการได้แล้ว ลองทายกันดูสักนิดเครื่องบินทิ้งระเบิดจะแวะไปเยี่ยมเยียนสถานที่ไหน คำตอบก็คือปากทางเข้าอีสาน

     วันที่ 3 เมษายน 2488 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จากฝูงบิน 356 ประเทศอังกฤษ กองบิน 10 ประเทศอินเดียไม่ทราบจำนวน ทิ้งระเบิดใส่สถานีรถไฟแก่งคอยในเวลา 16.00 น. ส่งผลให้สถานที่ราชการ สถานีรถไฟ สถานีจ่ายไฟ ตลาด วัด และบ้านเรือนประชาชนเสียหายอย่างหนัก คนแก่งคอยเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวประมาณ 100 คน มีผู้ได้รับบาดเจ็บประมาณ 200 คน

     ระหว่างสงครามโลกมีทหารญี่ปุ่นในสระบุรีจำนวนพอสมควร มีค่ายเชลยศึกหน้าสถานีรถไฟพระฉาย มีเชลยศึกชาวออสเตรเลียอยู่ในค่ายหนึ่งพันกว่าราย พันตรีกฤช ปุณณกันต์ ผู้บังคับ ม.พัน 1 รอ. ทหารม้ากองทัพที่ 2 ค่ายอดิศร จังหวัดสระบุรี ซึ่งถูกส่งมาดูแลแก่งคอยพร้อมลูกน้องทั้งกองพันจำนวน 1,400 นาย พันตรีกฤชพยายามติดต่อเชลยศึกด้วยจดหมายน้อยหลายครั้ง เพื่อนัดหมายว่าเมื่อเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งอาวุธทันสมัยให้ตัวเองกับลูกน้องจะปล้นค่ายเชลย ขอให้เชลยทุกคนเตรียมจับอาวุธต่อสู้กับทหารญี่ปุ่น

     บังเอิญสิ่งที่เครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งลงมากลับกลายเป็นลูกระเบิด

     เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 บินผ่านแก่งคอยจำนวน 42 เที่ยวบิน แต่ละเที่ยวบินจะปลดระเบิด 12 นัด โดยมีเพียงเที่ยวบินเดียวปลดระเบิด 8 นัด รวมเบ็ดเสร็จวันนั้นแก่งคอยโดนเข้าไป 500 นัดมีระเบิดด้าน 3 นัด ตั้งแต่ 16.00 น. ถึง 18.00 น.ถือเป็นการทิ้งระเบิดที่หนักหน่วงยิ่งกว่ากรุงเทพ

     ก่อนมีการทิ้งระเบิดคนแก่งคอยเตรียมพร้อมรับมือไว้แล้ว ทุกครัวเรือนจะกินข้าวให้อิ่มหนำก่อนเก้าโมงเช้าแล้วอพยพมาหลบภัยร้ายตามป่าเขา บ่ายสี่โมงถึงเดินทางกลับบ้านเพราะคิดว่าปลอดภัยแน่นอน บังเอิญเครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 ดันเริ่มโจมตีตอนบ่ายสี่โมง ความสูญเสียที่เกิดขึ้นจึงมีมากเกินคำบรรยาย ตลาดแก่งคอยมองไปทางไหนเห็นแต่ไฟไหม้กลุ่มควันสีดำลอยสูงลิบ

     พันตรีกฤช ปุณณกันต์ กับทหาร ม.พัน 1 รอ.ต้องทำงานหนักมาก ทั้งปิดเส้นทางไม่ให้ชาวบ้านที่อื่นเข้ามาขโมยข้าวของซ้ำเติม จัดทหารเสนารักษ์ดูแลคนเจ็บตามมีตามเกิด วันรุ่งขึ้นให้พลาธิการขนข้าวสารแจกจ่ายชาวบ้าน เร่งติดต่อกองทัพหรือจังหวัดส่งยานพาหนะรับคนเจ็บไปโรงพยาบาล (สมัยนั้นเส้นทางแก่งคอย-สระบุรีเถื่อนมาก ทหารและชาวบ้านต้องใช้ม้าเดินทาง) ขอยา ข้าวสาร อาหารแห้งเพิ่มเติมเพื่อแจกจ่ายคนในพื้นที่ ปิดท้ายด้วยจัดการเรื่องศพอย่างรวดเร็วก่อนเกิดโรคระบาด

    จากบันทึกพันตรีกฤช ปุณณกันต์ ทหารเสียชีวิต 1 นาย ประชาชนประมาณ 80 คนไม่รวมที่ส่งไปโรงพยาบาลและหาศพไม่เจอ ตลาดแก่งคอยเสียหายอย่างหนักผู้คนไร้บ้านเรือนจำนวนมาก ทหารต้องสร้างห้องแถวทำจากไม้ไผ่จำนวน 20 ห้องให้พักอาศัยเป็นการชั่วคราว

     เหตุผลที่มีการทิ้งระเบิดใส่แก่งคอย พันตรีกฤช ปุณณกันต์ (ยศสุดท้ายพลเอก) ระบุไว้ว่า ก่อนเกิดเหตุเพียงหนึ่งวันมีขบวนรถไฟทหารญี่ปุ่นจำนวน 2 ขบวน เดินทางมาหยุดที่สถานีแก่งคอยประมาณครึ่งชั่วโมงก่อนไปโคราช แนวที่ห้าหรือสายลับหรือเสรีไทยซึ่งแฝงตัวอยู่ในแก่งคอย อาจคิดว่าทหารญี่ปุ่นเดินทางมาที่แก่งคอยรีบส่งข้อมูลให้กับต้นสังกัด เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 จึงเล็งเป้าหมายมาที่สถานีรถไฟซึ่งอยู่ติดตลาด ไม่สนใจค่ายทหารไทยขนาดใหญ่ห่างออกไปเพียงสองกิโลเมตรกว่า เป็นการตั้งข้อสังเกตุเฉยๆ เพราะที่ผ่านมาแก่งคอยไม่มีอะไรให้ฝ่ายสัมพันธมิตรต้องหนักใจ

     แก่งคอยถือเป็นสิ่งบ่งบอกความเลวร้ายของสงครามได้เป็นอย่างดี

     

บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 89  เมื่อ 16 มี.ค. 24, 13:08

เหตุผลที่ชาวบ้านแก่งคอยหนีไปอยู่ในป่าช่วงกลางวัน เนื่องจากโคราชเพิ่งถูกโจมตีสดๆ ร้อนๆ เมื่อเดือนที่แล้ว ก็แค่เผื่อเหลือเผื่อขาดไม่คิดว่าจะโดนถล่มยับเยินขนาดนี้

บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 9
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.085 วินาที กับ 19 คำสั่ง