เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 9
  พิมพ์  
อ่าน: 3611 สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
 เมื่อ 24 ก.พ. 24, 12:16


เกริ่นนำ
   
   เนื่องจากหลายปีที่แล้วผมเคยเขียนบทความเกี่ยวข้องกับสงครามโลกครั้งที่สองจำนวน 5 ตอน แบ่งเป็นเรื่องราวฝ่ายญี่ปุ่นบุกไทยจำนวน 3 ตอน กับฝ่ายฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดในไทยจำนวน 2 ตอน ญี่ปุ่นบุกไทยผมเขียนจบแล้วจึงมาต่อเรื่องราวญี่ปุ่นในไทย เลยมาถึงเรื่องราวท่านนายพลนากามูระกับเสรีไทย ส่วนเรื่องราวสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดในไทยเรื่องราวเดินทางมาถึงวันที่ 5 มิถุนายน 2487

   ฉะนั้นในกระทู้นี้ผมจะนำเสนอเรื่องราวสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดในไทย จะพยายามดันให้จบอาจล่าช้าไปบ้างอย่าว่ากันเลย ส่วนเรื่องราวญี่ปุ่นบุกไทยไว้ค่อยว่ากันหลังปิดกระทู้นี้สำเร็จ ในการเล่าเรื่องราวผมอ้างอิงข้อมูลจากฝูงบินทิ้งระเบิดกองบินกองทัพบกสหรัฐอเมริกา (หรือกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน) และนำข้อมูลจากประเทศไทย (ถ้าเหตุการณ์นั้นมีการบันทึก) มาขยายความและเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจน เพื่อนๆ สมาชิกและอาจารย์ทุกท่านเพิ่มเติมข้อมูลได้นะครับ  ยิ้มกว้างๆ

บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 24 ก.พ. 24, 12:19

ญี่ปุ่นขึ้นบก

วันที่ 8 ธันวาคม 2484 เวลาประมาณ 2.00 น.กองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกประเทศไทยพร้อมกับมลายูหรือมาเลเซีย ฮ่องกง และฟิลิปปินส์ ช่วงเวลาเดียวกันคนกรุงเทพส่วนใหญ่กำลังร่วมงานฉลองรัฐธรรมนูญอย่างสนุกสนาน ท่ามกลางอากาศหนาวกำลังพอเหมาะและงานฉลองก็ยาวนานถึงรุ่งเช้า

กองเรือขนาดใหญ่ญี่ปุ่นซึ่งเตรียมพร้อมอยู่บริเวณกลางอ่าวไทย  ทำการแยกตัวเดินทางมายังเป้าหมายสำคัญๆ จำนวน 7 เส้นทาง ประกอบไปด้วย ปัตตานี สงขลา นครศรีธรรมราช ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และบางปู (สมุทรปราการ) กองทัพญี่ปุ่นยังได้เคลื่อนกำลังพลทางบกจากพระตะบอง เข้าสู่ชายแดนไทยด้านอรัญประเทศ

ปฐมบทสงครามโลกครั้งที่สองในเมืองไทยเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ

   วันที่ 9 ธันวาคม 2484 รัฐบาลไทยเปิดประชุมสภาผู้แทนวิสามัญวาระด่วนพิเศษ จอมพล ป.พิบูลสงคราม แจ้งเรื่องรัฐบาลไทยยอมให้ญี่ปุ่นผ่านดินแดนต่อที่ประชุม วันถัดมามีการประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง ในประเด็นซึ่งยังมีความแตกแยกทางด้านความคิด รวมทั้งประเด็นการเข้าร่วมปฏิบัติการทางทหารร่วมกับประเทศญี่ปุ่น

ช่วงเวลาใกล้เคียงกันเรือประจัญบานของอังกฤษจำนวน 2 ลำ ได้แก่ เรือเรือประจัญบาน HMS Prince of Wales ระวางขับน้ำ 43,786 ตัน และเรือเรือประจัญบาน HMS Repulse ระวางขับน้ำ 32,740 ตัน ถูกเครื่องบินรบญี่ปุ่นฝูงใหญ่บุกโจมตีแบบไม่ให้ตั้งหลัก ส่งผลให้เรือทั้งสองลำอับปางในทะเลบริเวณนอกชายฝั่งรัฐกลันตัน แหลมมลายู ผลจากความแพ้พ่ายกำลังทางเรือกองทัพเรืออังกฤษในมลายูแทบไม่เหลืออีกต่อไป

   หมายเหตุ : ก่อนหน้านี้สงครามทางทะเลมักเป็นการดวลปืนใหญ่ระหว่างเรือรบสองฝ่าย ทว่าในสงครามโลกครั้งที่สองญี่ปุ่นใช้วิธีโจมตีทางอากาศต่อเรือรบข้าศึกเป็นชาติแรก ผลลัพธ์ก็คืออังกฤษซึ่งใช้ยุทธวิธีค่อนข้างโบราณพ่ายแพ้แบบหมดสภาพในระยะเวลาอันสั้น

   ในภาพประกอบทหารญี่ปุ่นขึ้นบกที่สงขลา วันที่ 8 ธันวาคม 2484




บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 24 ก.พ. 24, 12:25

        วันที่ 21 ธันวาคม 2484 รัฐบาลไทยทำพิธีลงนามร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือวัดพระแก้ว ญี่ปุ่นแจ้งความประสงค์ว่าไม่ต้องการยึดครองประเทศไทยแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องการใช้เป็นทางผ่านไปยังพม่าและแหลมมลายู รวมทั้งต้องการขอใช้พื้นที่ในประเทศไทยส่วนหนึ่ง สำหรับจัดตั้งสถานที่พักให้กับกำลังทหาร รวมทั้งสถานที่รักษาพยาบาลหรือคุมตัวนักโทษสงคราม

   ส่งผลให้ประเทศไทยหลังวันญี่ปุ่นขึ้นบก ถูกผลักให้อยู่ตรงข้ามฝ่ายสัมพันธมิตรด้วยการกดดันทุกหนทางจากญี่ปุ่น ฉะนั้นการโจมตีจากฝ่ายสัมพันธมิตรจึงตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ เล็งเป้าหมายมาที่เส้นทางการคมนาคม โดยเฉพาะที่เส้นทางรถไฟซึ่งถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ เปรียบเสมือนหัวใจหลักในการคมนาคมตลอดจนการทำสงคราม เนื่องจากเส้นทางรถไฟมีความสะดวกสบายที่สุด ขนส่งสินค้าและกำลังพลได้ในปริมาณมาก ที่สำคัญประเทศไทยมีรางรถไฟตั้งแต่เหนือจรดใต้

ญี่ปุ่นยังวางแผนเชื่อมต่อทางรถไฟสายใต้เข้ากับทางรถไฟในมลายูและสิงคโปร์ เชื่อมต่อทางรถไฟสายเหนือมายังพื้นที่ตอนใต้ของพม่า เล็งเป้าหมายมายังประเทศอินเดียซึ่งเป็นสมรภูมิขนาดใหญ่ที่สุด เท่ากับว่าทางรถไฟในประเทศไทยมีความสำคัญต่อกองทัพญี่ปุ่นมาก และเป็นเป้าหมายสำคัญอันดับต้นๆ ที่ฝ่ายสัมพันธมิตรต้องหาวิธีจัดการให้ย่อยยับอับปาง

   ทหารญี่ปุ่นในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 50,000 นาย มีการตั้งค่ายทหารกระจัดกระจายตั้งแต่เหนือจรดใต้ ถือเป็นเป้าหมายสำคัญอันดับรองลงมาของฝ่ายสัมพันธมิตร

เป้าหมายที่มีความสำคัญไม่แพ้กันก็คือระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศ ประกอบไปด้วย โรงงานผลิตไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม สถานีรถไฟและโรงรถจักร สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำ ทางหลวงสายหลัก คลังน้ำมัน คลังสรรพาวุธ รวมทั้งสถานที่ราชการบางส่วน

      ฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีทางอากาศต่อเป้าหมายในเขตกรุงเทพและพื้นที่ใกล้เคียง ด้วยเครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดใหญ่เพราะบินระยะทางค่อนข้างไกลได้ ส่วนเป้าหมายบริเวณชายแดนและต่างจังหวัด ใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดกลางหรือเครื่องบินโจมตีทำภารกิจได้

     ภาพประกอบคือสะพานปรมินทร์ จังหวัดอุตรดิตถ์สมัยสร้างเสร็จได้ไม่นาน เป็นเส้นส่วนหนึ่งของเส้นทางรถไฟสายเหนือมุ่งสู่เชียงใหม่ และเป็นเป้าหมายสำคัญที่ฝ่ายสัมพันธมิตรปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้เด็ดขาด สังเกตนะครับสะพานมีแค่ทางรถไฟกับทางคนเดินเท่านั้น



บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 24 ก.พ. 24, 17:06

อังกฤษเปิดฉากโจมตี

   วันที่ 8 ธันวาคม 2484 หลังจากญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่สงขลาสำเร็จ อังกฤษมีแผนการโต้ตอบทางทหารต่อฝ่ายตรงข้าม โดยการส่งกำลังทหารจำนวนหนึ่งข้ามฝั่งเข้ามาในประเทศไทย เพื่อทำลายสะพานรถไฟที่บ้านคลองแงะ จังหวัดสงขลา ซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างเส้นทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ เป็นการถ่วงเวลาให้กำลังทหารญี่ปุ่นเดินทางล่าช้ากว่าเดิม

   ขบวนรถยนต์นำทหารราบหน่วยกล้าตายจำนวน 2 กองร้อย เดินทางเข้าสู่ประเทศไทยเวลาประมาณ 17.30 น.จากนั้นไม่นานขบวนรถไฟหุ้มเกราะติดอาวุธแล่นข้ามฝั่งตามมา ระหว่างทำภารกิจทหารญี่ปุ่นบังเอิญตรวจพบข้าศึกจึงได้มีการยิงต่อสู้ เป็นการปะทะกันครั้งแรกระหว่างทหารญี่ปุ่นกับทหารอังกฤษในดินแดนสยามประเทศ

        หลังทำลายสะพานรถไฟที่บ้านคลองแงะสำเร็จตามแผนการ  ขบวนรถไฟหุ้มเกราะทหารอังกฤษรีบถอนตัวกลับปาดังเบซาร์ ญี่ปุ่นใช้เครื่องบินจำนวนหนึ่งบินไล่ตามโจมตีเป็นการส่งท้าย ทว่าไม่ได้ผลเนื่องจากกลางคืนมองเห็นเป้าหมายไม่ชัดเจน

       ตลอดสงครามโลกครั้งที่สองในไทยอังกฤษบุกญี่ปุ่นทางบกสำเร็จครั้งนี้เพียงครั้งเดียว
บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 24 ก.พ. 24, 17:12

        วันที่ 21 ธันวาคม 2484 รัฐบาลไทยทำพิธีลงนามร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ถัดมาในคืนวันที่ 22 ธันวาคม 2484 เวลาประมาณ 21.55 น. เครื่องบินทิ้งระเบิดกองทัพอากาศอังกฤษในมลายูซึ่งยังไม่ถูกญี่ปุ่นยึดครอง บินข้ามชายแดนเข้ามาบินเข้ามาทิ้งระเบิดใส่เป้าหมายในพื้นที่จังหวัดชุมพร สงขลา นครศรีธรรมราช และสุราษธานี

   วันที่ 23 ธันวาคม 2484 เวลาประมาณ 20.00 น.เครื่องบินทิ้งระเบิดอังกฤษบินมาทิ้งระเบิดใส่ตัวเมืองชุมพรบริเวณที่ตั้งค่ายทหารญี่ปุ่น เป็นการทิ้งระเบิดครั้งที่สองในรอบ 24 ชั่วโมง

   วันที่ 24 ธันวาคม 2484 เวลาประมาณ 17.00 น.เครื่องบินทิ้งระเบิดของอังกฤษจากเมาะตะมะ บินข้ามเทือกเขาตะนาวศรีเข้าโจมตีขบวนรถไฟเดินทางมาจากบางซื่อ รถไฟขบวนนี้ลำเลียงกองทหารญี่ปุ่นมายังประจวบคีรีขันธ์ การโจมตีครั้งนี้เกิดขึ้นจากกองทัพอากาศอังกฤษในประเทศพม่า ซึ่งมีเครื่องบินรบประจำการในประเทศพม่ากับอินเดียโดยใช้ชื่อว่า Far East Air Force

    การทิ้งระเบิดช่วงแรกของสงครามกองทัพอากาศอังกฤษเหมาเรียบ ใช้เครื่องบินทิ้งระเบิด Bristol Blenheim ในการทำภารกิจ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ใกล้ชายแดนประเทศเล็งเป้าหมายมาที่ทหารญี่ปุ่น เพื่อยับยั้งหรือถ่วงเวลาการโหมบุกกระหน่ำสักเล็กน้อยก็ยังดี เป็นเพียงการโจมตีเล็กๆ น้อยๆ หลายครั้งจึงถูกละเลยไม่มีการจดบันทึกทั้งฝั่งไทย ญี่ปุ่น และอังกฤษ

       เครื่องบินทิ้งระเบิด Bristol Blenheim ยาว 12.98 เมตร กว้าง 17.17 เมตร ใช้ 2 เครื่องยนต์มีนักบินจำนวน 3 นาย บรรทุกระเบิดได้มากสุดจำนวน 540 กิโลกรัม เครื่องบินขนาดไม่ใหญ่บรรทุกระเบิดจำนวนไม่มาก อานุภาพการทำลายล้างจึงลดน้อยตามขนาดเครื่องบิน ความเสียหายต่อทรัพย์สินประชาชนค่อนข้างน้อยนิด ยกเว้นสถานที่ที่ญี่ปุ่นเข้ามาครอบครองใช้เป็นค่ายทหารหรือเก็บอาวุธ ส่งผลให้ข่าวการทิ้งระเบิดของอังกฤษในช่วงแรกของสงครามมหาเอเชียบูรพา แทบไม่มีการบันทึกในประเทศไทยการค้นหาข้อมูลทำได้ค่อนข้างยากพอสมควร

       ภาพประกอบคือเครื่องบินทิ้งระเบิด Bristol Blenheim กองทัพอากาศอังกฤษในพม่า รุ่นนี้แหละครับที่บินเข้ามาทิ้งระเบิดในไทยช่วงแรกของสงคราม



      ตอนต่อไปจะเข้ากรุงเทพแล้วครับ ทีนี้แหละมีรายละเอียดเยอะหน่อย  ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 25 ก.พ. 24, 09:11

ระเบิดลงที่กรุงเทพ

   วันที่ 8 มกราคม 2485 เวลาประมาณ 02.00 น.ขณะที่คนกรุงเทพกำลังนอนหลับฝันดีกันอยู่นั้น ฉับพลันเกิดเสียงไซเรนหรือหวอเตือนภัยดังกระหึ่ม เมื่อเครื่องบินทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีกรุงเทพเป็นครั้งแรก เล็งเป้าหมายมาที่สถานีรถไฟหัวลำโพงและสะพานพุทธ

       บังเอิญการโจมตีขาดความแม่นยำรวมทั้งเป็นช่วงเวลากลางคืนมองเป้าหมายไม่ชัดเจน ส่งผลให้เกิดไฟไหม้ที่เยาวราช โรงไม้กระดาน และตรอกบีแอลฮั้วฝั่งธนบุรี เกิดความเสียหายกับบ้านเรือนและสถานที่ราชการหลายแห่ง ได้แก่ สะพานเจริญสวัสดิ์ กระทรวงมหาดไทย วัดตะเคียน โรงพยาบาลบางรัก รวมทั้งตึกสุงเจ็ดชั้นที่ถนนเยาวราช เป็นสัญญานบ่งบอกกับคนกรุงเทพว่า มหันตภัยจากฟากฟ้าได้มาเยี่ยมเยือนแล้ว

   ก่อนอื่นผู้เขียนขอย้อนเวลาเพียงนิดเดียว กลับไปยังจุดเริ่มต้นของสงครามใหญ่อีกครั้ง หลังทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกในช่วงกลางดึก สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ได้ออกประกาศตั้งแต่เช้าตรู่วันรุ่งขึ้น เพื่อให้คนกรุงเทพทำตามข้อบังคับอย่างเคร่งครัด ได้แก่ การควบคุมแสงไฟ การใช้เสียงไซเรนหรือหวอเตือนภัย งดงานฉลองรัฐธรรมนูญทันที งดการหยุดงานของข้าราชการ รวมทั้งจัดเตรียมน้ำไฟและอาหารไว้ใช้ยามฉุกเฉิน

   เมื่อไทยลงนามร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น จึงมีประกาศจากรัฐบาลต่อเนื่องตามมาภายหลังหลายเรื่อง ทั้งสั่งให้ใช้ผ้าสีน้ำเงินคลุมโป๊ะไฟโดยรอบ เพื่อเป็นการพรางไฟให้มีแสงแค่ในบ้าน ไฟนอกบ้านทุกดวงต้องปิดอย่างเด็ดขาด มีสายตรวจเดินเท้าดูแลการพรางไฟทั้งคืนใครไม่ทำตามจะถูกตักเตือน มีการซ้อมป้องกันภัยหรือ ซ.ป.อ.จำนวนบ่อยครั้ง คนกรุงเทพเริ่มคุ้นเคยกับเสียงไซเรนจากหอสัญญานที่อยู่ตามวัด ถ้าเสียงไซเรนดังเป็นห้วง ๆ ตลอดนั่นคือมีการทิ้งระเบิด ถ้าเสียงไซเรนดังยาวครั้งเดียวแล้วหยุดนั่นคือปลอดภัยแล้ว ทว่าทุกคนก็ยังไม่รู้อยู่ดีว่าตัวเองเผชิญหน้าอยู่กับอะไร

   การโจมตีครั้งแรกสุดสร้างความเสียหายพอสมควร มีผู้โชดร้ายเสียชีวิต 31 คน (บางข้อมูลบอกว่า 11 คน) บาดเจ็บ 112 คน เช้าตรู่วันนี้คนกรุงเทพจึงเริ่มเข้าใจ ว่าชีวิตพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิง บนท้องถนนเต็มไปด้วยผู้คนจำนวนมาก รถรางและรถเมล์ล้วนมีผู้โดยสารแน่นขนัด ส่วนหนึ่งต้องการอพยพไปอยู่ที่อื่น ส่วนหนึ่งต้องการเยี่ยมญาติพี่น้องที่บาดเจ็บ บ้างส่วนต้องการไปโรงเรียนหรือที่ทำงาน และบางส่วนทำหน้าที่ไทยมุงผู้แข็งขัน รถสามล้อถีบขึ้นราคาสองเท่าโดยพลัน เมื่อไม่มียานพาหนะให้ได้โดยสาร หลายคนจำเป็นต้องเดินทางด้วยสองเท้าอย่างเลี่ยงไม่ได้

   นี่คือครั้งแรกที่กรุงเทพเผชิญความสูญเสียจากสงครามโลกครั้งที่สอง

   ภาพประกอบคือหลุมหลบภัยใกล้สถานีหัวลำโพง ปัจจุบันไม่น่าหลงเหลือแล้วนะครับ

     
บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 25 ก.พ. 24, 09:12

การโจมตีครั้งแรกผมมีข้อมูลเพิ่มเติมจากบทความ “ชีวิตระหว่างสงคราม” เขียนโดยเจียวต้าย  หรือ พ.สมานคุรุกรรม เผยแพร่ในนิตยสารยารักษาใจฉบับที่ 120-125 รวมทั้งในพันทิปโดยเป็นส่วนหนึ่งของนิทานชาวสวน ชุด ‘ชีวิตระหว่างสงครามเอเชีย’ คุณแม่ของคุณเจียวต้ายเป็นคุณครูได้จดบันทึกเหตุการณ์รายวันไว้ค่อนข้างละเอียด คุณเจียวต้ายนำข้อมูลมาปรุงแต่งและเผยแพร่ต่อประมาณปี 2456 ตามนี้ครับ

https://pantip.com/topic/37423185


ถึงวันขึ้นปีใหม่มกราคม ๒๔๘๕ งดการจัดงานปีใหม่นอกจากการตักบาตรที่ท้องสนามหลวง แต่มีการปราศรัยจอมพล ป.พิบูลสงครามนายกรัฐมนตรีไทย กับพลเอกโตโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นทางวิทยุกระจายเสียง จากโตเกียวและพระนคร เพิ่มรายการภาษามาลายู ภาษาพม่า และภาษอินเดีย ขึ้นจากรายการปกติ จนกระทั่งถึงวันที่ ๗ มกราคม ๒๔๘๕ ชาวพระนครจึงประสบภาวะสงครามเป็นครั้งแรก บันทึกของแม่เขียนไว้ว่า

เวลาประมาณ ๔ นาฬิกา เสียงระเบิดลูกแรกทำให้สะดุ้งตื่น พอลุกขึ้นนั่งก็ได้ยินเสียงหวูดอันตราย พร้อมกับเสียงระเบิดอีก ๖ ครั้ง เปิดประตูออกมาดูนอกชานเห็นเรือบินข้าศึกเปิดไฟแดง ทุกคนเข้าใจว่าเรือบินของไทยขึ้นต่อสู้เพราะเห็นยิงปืนกลด้วย เงียบไปสักครู่ก็บินกลับมาอีก เสียง ป.ต.อ. ยิงขับไล่กับเสียงระเบิดปนคละกันไป ไฟฉายส่องจับเห็นเรือบินแต่ไม่ได้ถูกยิงแล้วเงียบไป เวลา ๕ นาฬิกาครึ่งหวูดหมดอันตรายจึงดังขึ้น ต่างเข้าครัวหุงข้าวกินโดยไม่ได้นอนอีก นับเป็นประวัติการณ์ครั้งแรกของกรุงเทพมหานคร

ขณะนั้นทั้งบ้านมีผู้อาศัยห้าคน คือ น้าและพี่สาว ลูกของน้าซึ่งเป็นเจ้าของบ้าน แม่และผมกับน้องสาว เป็นผู้อาศัย มีผู้ชายแต่ผมคนเดียวอายุ ๑๑ ขวบ แม่ได้บันทึกเหตุการณ์ผลเสียหายฝ่ายเรามีดังนี้

๑.ฝั่งธนบุรี บ้านเอกชนหลังหนึ่งถูกทำลาย

๒.เยาวราช ตึกแถวใกล้เจ็ดชั้นทลายและไฟไหม้

๓.หัวลำโพง โรงรับจำนำและโรงแรมทลาย

๔.วัดตะเคียน เพลิงไหม้ไม้กระดาน

๕.บางรัก ไปรษณีย์กลางไม่เป็นอันตรายเพราะลูกระเบิดด้าน แต่ถูกโรงพยาบาล บ้าน ร้านขายรองเท้า และ โรงเรียนอัสสัมชัญ

๖.ริมคลองหลอด เขื่อนพังเล็กน้อย กระทรวงมหาดไทยเสียหายห้องหนึ่ง

รวมทั้งหมดคนบาดเจ็บ ๑๑๒ คน เสียชีวิต ๓๑ คน โดยมากเป็นจีนและแขก

บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 25 ก.พ. 24, 11:25

การทิ้งระเบิดในปี พ.ศ.2485

   นอกจากการทิ้งระเบิดครั้งแรกกลางดึกวันที่ 8 มกราคม 2485  ตลอดทั้งปีมีการโจมตีทางอากาศจำนวน 6 ครั้ง แบ่งเป็นพื้นที่กรุงเทพกับธนบุรีจำนวน 4 ครั้ง และพื้นที่ภาคเหนือของประเทศอีก 2 ครั้ง

   วันที่ 24 มกราคม 2485 เวลาประมาณ 20.30 น.มีการโจมตีทางอากาศในเขตพื้นที่กรุงเทพและธนบุรี เครื่องบินทิ้งระเบิดบางส่วนมุ่งตรงมาที่ค่ายทหาร ร.พัน.5 ซึ่งอยู่ใกล้กับพระที่นั่งอนันตสมาคม ทหารไทยโต้ตอบด้วยปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานแบบ 76 โดยใช้ไฟฉายขนาดใหญ่ช่วยส่องเป้าหมายกลางอากาศ ลำแสงจากกระสุนปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานสาดส่องทั่วท้องฟากฟ้า แสงเพลิงจากการระเบิดตามสถานที่ต่างๆ สว่างเจิดจ้ากลบความมืดมิด การต่อสู้ระหว่างเครื่องบินกับปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานดำเนินไปอย่างรุนแรงและดุเดือด กระทั่งเวลาประมาณ 23.00 น.เครื่องบินทุกลำบินกลับที่ตั้งสถานการณ์กลับคืนสู่ปรกติดังเดิม

   ความเสียหายจากการทิ้งระเบิดประกอบไปด้วย ทหารรักษาการณ์กองทัพบกไทยเสียชีวิตจำนวน 3 นาย ระเบิดประมาณ 10 ลูกตกบริเวณพระที่นั่งอนันตสมาคม ระเบิดจำนวน 4 ลูกบังเอิญด้านไม่ทำงาน ทว่าระเบิด 2 ลูกตกใส่มุขด้านเหนือของพระที่นั่งสร้างความเสียหายต่อตัวอาคาร

   วันที่ 25 มกราคม 2485 รัฐบาลไทยประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ให้เหตุผลว่าสหรัฐอเมริกาและอังกฤษรุกรานประเทศไทยทางอากาศจำนวน 30 ครั้ง กับทางพื้นดินจำนวน 36 ครั้ง

   วันที่ 28 มกราคม 2485 เวลาประมาณ 20.30 น.มีการโจมตีทางอากาศในเขตพื้นที่กรุงเทพและธนบุรี เกิดความเสียหายที่ตลาดชูชีพ เชิงสะพานกษัตริย์ศึก รวมทั้งตึกแถวขนาดใหญ่บริเวณใกล้เคียง โชคดีโรงไฟฟ้าวัดเลียบซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญไม่เกิดความเสียหาย สถานีวิทยุแห่งประเทศไทยระบุว่า เครื่องบินทิ้งระเบิดถูกทหารเรือยิงตก 1 ลำ นักบินบนเครื่องเสียชีวิตทั้งหมด คาดว่าเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 ของอเมริกา

   นี่ภาพถ่ายพระที่นั่งอนันตสมาคม ครั้งเป็นที่ประชุมสภา ถูกระเบิดเสียหาย




บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 25 ก.พ. 24, 11:30

      การทิ้งระเบิดสองครั้งถัดมามีข้อมูลไม่ตรงกัน ฝูงบินทิ้งระเบิดกองบินกองทัพบกสหรัฐอเมริกาบันทึกว่า

      24 January 1942: Bombing of BKK and Thonburi at Night - the bomb has damaged Anantasamakhom Throne hall

      28 January 1942: SHotting down Havilon plane by the Navy at Thonburi

      เนื้อหาตรงกับข้อมูลจากสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย ยกเว้นเครื่องบินทิ้งระเบิดที่ถูกยิงตกไม่ใช่ B-24 ของอเมริกา แต่เป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดรุ่นฮาวิลอน หรือ de Havilland Mosquito ของอังกฤษ ทว่าหนังสือ ‘ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า’ เขียนโดยพลตรี ประยูร ภมรมนตรี เล่าเรื่องราวแตกต่างกันออกไปตามนี้

   ก่อนที่รัฐบาลไทยจะประกาศสงครามกับสัมพันธมิตร เครื่องบินอังกฤษได้มาทิ้งระเบิดวันที่ 25 มกราคม 2484 (เหตุการณ์จริงปี 2485 หนังสือเล่มนี้พิมพ์ปีแรกของสงครามผิดทุกจุด) ได้ทิ้งแฟลร์พลุส่องแสงแดงฉาน ไซเรนสัญญาณภัยโหยหวนเหมือนผีตายโหง เป็นการทิ้งระเบิดวาระแรก เครื่องบินได้บินวนเวียนอยู่นาน และชะล่าใจบินต่ำก็ถูก ปตอ.ยิงตกที่บริเวณบางขุนเทียน ประชาชนแตกตื่นไปดูกันล้นหลามช่วยกันดึงช่วยกันทึ้งข้าวของสมบัติในเครื่องบิน ปรากฏตามบัตรประจำตัวเป็นอาสาสมัครที่เคยขับเครื่องบินโดยสารของสายการบิน เค.แอล.เอ็ม.มาก่อน ต่อมาก็ได้มีการทิ้งระเบิดประปรายกันเรื่อยๆ มา โดยเฉพาะในค่ำคืนเดือนหงาย ฉะนั้นวันเพ็ญที่เคยชมเดือนกลับกลายเป็นราตรีมหาภัย เครื่องบินอังกฤษนั้นเวลามาทิ้งระเบิดก็บินวนเวียนก่อกวนประสาทเหมือนแมลงหวี่แมลงวัน ส่วนเครื่องบินอเมริกันนั้นใจสปอร์ต พอเทกระจาดลูกระเบิดแล้วก็บินผ่านไปเลย

     บ้านคุณอรุณวดีพี่สาวของข้าพเจ้าใกล้สถานีรถไฟสามเสน ซอยเศรษศิริ รถสินค้ามาจอดรอหลีกก็โดนระเบิด ทำให้บ้านพี่สาวที่อยู่ใกล้ก็พลอยพังทลายเป็นรายแรก ส่วนที่บ้านข้าพเจ้าเรียกกันว่าบ้านมะลิวัลย์อยู่ริมแม่น้ำถนนพระอาทิตย์ ถูกเครื่องบินที่มุ่งทิ้งระเบิดสถานีบางกอกน้อยผิดที่หมาย  ข้ามมาลงในย่านท่าช้าง วังหน้า มีบ้านพังทลาย และผู้คนล้มตายกันหลายราย ส่วนแรงระเบิดทำให้หลุมหลบภัยในบ้านข้าพเจ้าพังทลายเกิดไฟไหม้ ทำให้ลูกน้อยเกิดใหม่ชื่อตุ๋งติ๋งถูกไฟคลอกตาย ในวันโดนระเบิดนั้นข้าพเจ้าไปราชการส่วนแม่ตุ๋งติ๋งไม่อยู่บ้านกลับมาลูกก็ตายในกองเพลิง

     ในภาพคือความเสียหายของอาคารย่านเยาวราชใกล้ตึก 7 ชั้น





บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 25 ก.พ. 24, 11:33

เหตุการณ์เดียวกันคุณเจียวต้ายเขียนไว้ในบทความ ‘ชีวิตระหว่างสงคราม’ ตามนี้

วันเสาร์ที่ ๒๔ มกราคม ๒๔๘๕ เวลา ๒๐.๓๐ น.ได้มีเสียงระเบิดดังขึ้นแต่ไกลก่อนหวูดอันตรายดังขึ้น เงียบอยู่ประมาณ ๒๐ นาทีเครื่องบินก็มาปรากฏในพระนคร เสียงระเบิดอีก ๒ ครั้งและเสียงปืนยิงหลายนัด แล้วมีเสียงไชโยทั่วไปเพราะเห็นเครื่องข้าศึกถูกปืน เงียบไปสักสิบนาทีเครื่องบินก็ผ่านมาอีก เสียงปืนยิงอีกแล้วก็เงียบไปอีก ๒๐ นาที เครื่องบินผ่านมาอีกเป็นครั้งที่สามแล้วเงียบเลย เวลา ๒๒ น.จึงเปิดหวูดหมดอันตราย

วันอาทิตย์ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๕ ได้ความว่า เมื่อคืนมีเครื่องบินข้าศึกมารบกวนพระนคร ๒ เครื่อง ถูกยิงตก ๑ เครื่องที่ตำบลตลาดพลูฝั่งธน อีก ๑ เครื่องก็เสียหายอาจไม่ได้กลับถึงฐานทัพ ฝ่ายเราเสียหายคือ

๑.ตลาดชูชีพที่เชิงสะพานกษัตริย์ศึก ถูกระเบิดทำลาย ตลาดนี้เป็นของเจ้าพระยาธรรมาฯ ซึ่งถึงแก่กรรมเมื่อวันศุกร์ พอเสาร์ก็ถูกระเบิดตลาดพัง

๒.ตึกแถวของเจ้าพระยาธรรมาฯ ซึ่งอยู่หน้าบ้านของท่าน ริมสะพานกษัตริย์ศึก

๓.วัดเลียบ ไม่เป็นอันตราย

ส่วนเครื่องบินข้าศึกที่ตกนั้นนักบินตายหมดเพราะเครื่องบินระเบิด

แล้วก็มาถึงวันอังคาร ๒๗ มกราคม ๒๔๘๕ แม่บันทึกไว้ว่า

ตั้งแต่เช้าถึงเย็นเหตุการณ์เป็นปกติ เวลา ๒๐.๑๕ น.มีเครื่องบินผ่านเข้ามาแต่ไม่มีเสียงหวอ เวลา ๒๐.๓๐ น.มีเสียงระเบิดขึ้นแต่ไกลหวูดอันตรายก็ดังขึ้น ขณะนี้เครื่องบินแล่นอย่างเร็วผ่าน ร.พัน.๙ ไปทางพระที่นั่งอนันตสมาคมแล้วเกิดเสียงดัง บ้านเราอยู่ใกล้ ร.พัน.๙ จึงเห็นลูกระเบิดเพลิงสว่างจ้าขึ้น ๒ ครั้ง ข้าพเจ้าไม่รอดูต่อไปเพราะขวัญเสียแล้ว จูงลูกไปลงหลุมหลบภัยหลังบ้านนายอ๋อย ขณะนั้นเสียงระเบิดเสียงปืนประสานกันอยู่พักๆ แล้วก็เงียบไป เวลา ๒๓ นาฬิกาจึงเปิดหวูดหมดอันตราย รวมเวลาระหว่างอันตราย ๒ ชั่วโมงครึ่ง น่าสงสารเด็กที่อยู่ในหลุมหลบภัย ถูกปลุกลงมานั่งให้ยุงกินกันใหญ่ มีเด็กจากบ้านอื่น ๕ คน บ้านเรา ๒ คน คอยหวูดจนง่วงนอนรวมกันเป็นกลุ่ม

วันพุธ ๒๘ มกราคม ๒๔๘๕ รุ่งเช้าขึ้นจึงได้ความว่า เครื่องบินข้าศึกเข้ามาทิ้งระเบิดเมื่อคืนนี้ ๒ เครื่อง ได้ทิ้งระเบิดหลายแห่งมากว่า ๑๐ ลูก ในบริเวณพระที่นั่งอนันตสมาคมด้าน ๔ ลูก ระเบิด ๒ ลูก โดนหลังคาตรงมุมด้านหลังพระที่นั่งพังและโหว่ไปหน่อย ทหารรักษาการตาย ๓ คน

ต่อมามีบันทึกว่า หลุมหลบภัยทุกแห่งเต็มไปด้วยน้ำฝน แต่เคราะห์ดีที่ตอนกลางคืนอากาศมืดมัวไม่แจ่มใส เครื่องบินข้าศึกจึงไม่มา มิฉะนั้นก็จะต้องไปนั่งแช่น้ำอยู่ในหลุม และสรุปว่าในเดือนมกราคมนี้ เครื่องบินข้าศึกได้มารบกวนในพระนครรวม ๖ ครั้ง คือมาทิ้งระเบิด ๓ ครั้งในวันที่ ๘- ๒๔- ๒๗ มกราคม
   
ในภาพคือสภาพสวนฝั่งธนฯ ในอดีต และชาวสวนช่วงปลายทศวรรษ 2470 เครดิตภาพ : โรเบิร์ต ลาริมอร์ เพนเดิลตัน

   

บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 25 ก.พ. 24, 11:43

ข้อมูลไม่ตรงกัน…การพนันจึงเกิดขึ้น ไม่ใช่แล้ว  ตกใจ
   
   เพื่อค้นหาข้อเท็จจริงผมนำข้อมูลจากบทความ ‘ตามชาวพระนครสมัยสงคราม ไปดูเครื่องบินอังกฤษตกที่ตลาดพลู’ เขียนโดยคุณ ณัฐพล ใจจริง จากมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 - 15 กุมภาพันธ์ 2567 ตามลิงก์ด้านล่าง

   https://www.matichonweekly.com/column/article_744324?fbclid=IwAR1mKDe-bMkdXSXE0553qLBw_Bru8tLvyitzgBZrj8cP5YMYGCtVJ4aoqW8

   พลันเมื่อไทยยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไทย (8 ธันวาคม 2484) ต่อมา รัฐบาลประกาศการพรางไฟทั่วประเทศ ด้วยคาดว่าอังกฤษคงจะส่งเครื่องบินมาโจมตีไทย และเพียงราว 1 เดือนหลังจากนั้น อังกฤษตอบโต้กลับไทยด้วยการส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดที่พระนคร ด้วยเหตุที่ไทยยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านไทยเข้าโจมตีมลายูและพม่าของอังกฤษ

เมื่อ de Havilland โจมตีพระนคร

เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2485 ราวเที่ยงวัน เครื่องบินทิ้งระเบิดสัญชาติอังกฤษ รุ่นเดอ ฮาวิลแลนด์ ดีเอช.98 มัสคีโต บินจากฐานบินในพม่ามาโจมตีทางอากาศในไทย มีผู้บันทึกเหตุการณ์ครั้งนั้นไว้ว่า เสียงหวอดังลั่นดังทั่วพระนคร ติดตามด้วยเสียงเครื่องบินและมีเสียงระเบิด มีรายงานว่าระเบิดลงแถวพระราม 6 สะพานกษัตริย์ศึก โรงไฟฟ้าวัดเลียบ อาคารห้างร้านแถวพาหุรัด ย่านกรุงเกษม ย่านวัดดวงแขแถวถนนรองเมืองใกล้สถานีรถไฟหัวลำโพง ในช่วงเวลานั้น ชาวพระนครต่างสร้างหลุมหลบภัยตามบ้านแต่ไม่แข็งแรงนัก ครั้งนั้น ชาวบ้านกลับไม่หลบภัยในหลุม แต่ไปยืนตามถนนใหญ่เพื่อเฝ้าดูเครื่องบิน บางคนใช้กล้องส่องทางไกลดูเครื่องบินกันด้วยความตื่นเต้น (สรศัลย์, 2558, 60-61)

ทั้งนี้ เครื่องบินเดอ ฮาวิลแลนด์เป็นเครื่องบินรบ มีเครื่องยนต์ใบพัดบนปีกไหล่ทั้งสองข้าง สามารถทำปฏิบัติหน้าที่ได้หลายภารกิจ และเป็นหนึ่งในเครื่องบินที่สามารถบินปฏิบัติการที่เร็วที่สุดในโลก เดอ ฮาวิลแลนด์ประจำการในกองทัพอากาศอังกฤษในเขตสงครามยุโรปและในเขตสงครามเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อาจินต์ ปัญจพรรค์ บันทึกว่า ในวันนั้น เครื่องบินอังกฤษมาทิ้งระบิดที่ยศเส สะพานกษัตริย์ศึก เพื่อหวังทำลายหัวลำโพงแต่พลาดเป้า ด้วยสัมพันธมิตรต้องการสกัดการขนส่งทหารญี่ปุ่นขึ้นเหนือ โดยนักบินมุ่งทำลายโรงไฟฟ้าวัดเลียบ แต่ไม่ถูกเป้าหมายพลาดไปโดนบ้านเรือนแถวพาหุรัดแทน (อาจินต์ ปัญจพรรค์, 2541, 196)

ข้ามสะพานพุทธไปเป็นไทยมุงที่ตลาดพลู

หลังจากเครื่องบินอังกฤษฝ่าดงกระสุนทิ้งระเบิดวนเวียนเหนือท้องฟ้าพระนครอยู่ราวชั่วโมง ปรากฏว่าเครื่องบิน 1 ลำใน 3 ลำที่เข้ามาทิ้งระเบิดเกิดความผิดปกติเซแฉลบออกจากฝูง ร่อนถลาต่ำๆ ตกลงในสวนแถวตลาดพลู พลประจำเครื่อง 5 นายเสียชีวิตทั้งหมด รวมทั้งเรือกสวนผลไม้และต้นหมากเป็นพื้นที่กว้างขวาง มีผู้คนแห่ไปเป็นไทยมุงกันมากมาย ทหาร ตำรวจไปถึงช้ากว่าชาวบ้าน ทหารอากาศและทหารเรือเข้าไปกู้ศพ พบเป็นเครื่องบินชนิดเดอ ฮาวิลแลนด์ ปีกชั้นเดียวแบบสองเครื่องยนต์ (สรศัลย์, 2558, 60-61)

อาจินต์ ชาวปากคลองตลาดในครั้งนั้น บันทึกว่า เมื่อเครื่องบินข้าศึกลำหนึ่งมาตกที่บางสะแก ตลาดพลูแล้ว “ทีนี้ คนกรุงเทพฯ ไม่ต้องทำอะไรกันแล้ว ไม่ว่าผู้ใหญ่ ไม่ว่าเด็ก ไม่ว่าข้าราชการ หรือครู หรือนักเรียนต่างออกเดินกันแต่มืดข้ามสะพานพุทธไปตลาดพลูเพื่อดูเครื่องบินตก” (อาจินต์ ปัญจพรรค์, 2541, 114)

ควรบันทึกด้วยว่า ครั้งนั้น ไม่แต่เพียงย่านตลาดพลูเป็นที่ชุมนุมการค้าพลูและพืชผักแห่งสำคัญทางน้ำเท่านั้น แต่ยังมีสถานีรถไฟตลาดพลูอันเป็นเส้นทางรถไฟสายมหาชัยอีกด้วย ทำให้ตลาดพลูเป็นแหล่งซื้อขายอาหารทะเลจากมหาชัย แล้วยังมีร้านค้า โรงงิ้วให้กุลีชาวจีนตามโรงสี โรงเลื่อย โรงต่อเรือแถวริมแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านดังกล่าวจับจ่ายใช้สอย ย่านดังกล่าวจึงมีความคึกคักตลอดทั้งวัน

เมื่อมีการตัดถนนเทอดไทเข้ามาในย่านตลาดพลู ราวปี 2480 ก่อนสงครามระเบิดขึ้น ทำให้ย่านดังกล่าวมีการคมนาคมและการค้ายิ่งเจริญขึ้น ชาวตลาดพลูบางส่วนเริ่มปรับเปลี่ยนการทำสวนพลูมาทำการค้าเพิ่มขึ้น เมื่อเกิดสงคราม เกิดการโจมตีทางอากาศในพระนคร ทำให้ชาวพระนครต่างอพยพข้ามมาพักอาศัยตามเรือกสวนในแถบนี้มากขึ้น (lek-prapai.org/663)

สภาพเครื่องบินอังกฤษตกที่ตลาดพลู

ขุนวิจิตรมาตรา บันทึกการโจมตีทางอากาศในวันนั้นไว้ว่า “ข้าพเจ้านั่งอยู่ที่ปั๊มน้ำมันวัดสระเกศ ตอนบ่ายได้ยินเสียงเครื่องบินมาทางหลังร้านหรือทางวัดสระเกศผ่านเหนือร้านขึ้นไป บินไม่สูงนักแต่ก็ไม่ต่ำนัก ข้าพเจ้าและคนที่อยู่ในตึกแถวออกไปดูกลางถนนกันมาก ได้ยินเสียงเครื่องยนต์ดัง เครื่องบินบินเฉียงไปทางวัดสุทัศน์ค่อนข้างช้า…ถึงเย็นวันนั้นได้ยินว่ามีเครื่องบินลำหนึ่งตกที่บางสะแก บางสะแกอยู่ระหว่างตลาดพลูกับปากคลองด่าน…

เครื่องบินตกในสวนผลไม้ คนที่ไปดูมาบอกว่า เครื่องบินแหลกป่นปี้นักบินก็แหลก หน้าตาร่างกายไส้พุงฉีกขาดกระจายไปค้างอยู่บนกิ่งไม้และพื้นดิน ว่าเป็นฝรั่ง เข้าใจว่าเป็นลำเดียวกับที่บินผ่านร้านข้าพเจ้าไป…เป็นเครื่องบินอังกฤษ บินมาจากทางเหนือ และทิ้งระเบิดมุมหนึ่งของพระที่นั่งอนันตสมาคมเสียหายเล็กน้อยแล้วบินต่อลงมา จะเป็นด้วยถูกยิงหรือเครื่องเสียไม่ทราบจึงไปตกที่บางสะแก…” (ขุนวิจิตรมาตรา, 463-464)

สภาพเครื่องบินที่ตกในสวนย่านบางสะแกนอก ตลาดพลูนั้น เมื่อมองขึ้นไปจะเห็นปีกเครื่องบินคาที่ยอดหมาก ลำตัวแหลกที่ร่องสวน ที่ปีกมีรูปธงอังกฤษ เศษชิ้นส่วนนักบินกระจายไปทั่ว (อาจินต์ ปัญจพรรค์, 2541, 115) ชาวบางไส้ไก่ ย่านฝั่งธนฯ คนหนึ่งบันทึกถึงเหตุเครื่องบินตกที่ตลาดพลูว่า คนแถวบ้านที่อยากรู้อยากเห็นจึงดั้นด้นไปดูเล่าให้เขาฟังว่า พวกเขาเห็นชิ้นส่วนของนักบินแขวนตามยอดมะพร้าว (lek-prapai.org/home/view.php?id=191)

สรศัลย์ แพ่งสภา บันทึกว่า การเข้าโจมตีทางอากาศของเครื่องบินสัญชาติอังกฤษในพระนครนั้น นักบินคงยังไม่ทราบตำแหน่งยุทธศาสตร์หรือที่ตั้งของหน่วยงานญี่ปุ่นดีเพียงพอจึงไปทิ้งบ้านเรือนที่เยาวราช ทั้งที่ชาวจีนมิได้นิยมในญี่ปุ่นสักเท่าใด (สรศัลย์, 2558, 54)

อย่างไรก็ตาม ภายหลังอังกฤษโจมตีทางอากาศพระนคร เมื่อ 24 มกราคม 2485 แล้ว รัฐบาลไทยได้ประกาศสงครามต่ออังกฤษและสหรัฐเมื่อ 25 มกราคม 2485

หนึ่งในเหตุผลคือ ระหว่างวันที่ 8 ธันวาคม 2484-20 มกราคม 2485 อังกฤษได้โจมตีทางอากาศไทย 30 ครั้ง และโจมตีทางบกไทย 36 ครั้ง โดยจังหวัดที่ถูกโจมตีคือ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี นครสวรรค์ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ยะลา พระนคร และธนบุรี อันเป็นการโจมตีบ้านเรือนราษฎรและใช้ปืนกลยิงผู้คนปราศจากศีลธรรม

“ครั้นมาวันที่ 24 เดือนนี้เอง เครื่องบินอังกฤษได้มาโจมตีกรุงเทพฯ อีก ทั้งๆ ที่ไทยมิได้ประทุษร้ายอังกฤษและอเมริกาแต่อย่างใด” (ราชกิจจานุเบกษา 25 มกราคม 2485)

ในช่วงแรกบ้านเรือนที่ถูกทำลายจากการโจมตีทางอากาศรัฐบาลให้เก็บศพและปล่อยซากปรักหักพังให้ทิ้งคาอย่างนั้น อาจินต์ ปัญจพรรค์ คาดว่ารัฐบาลคงต้องการเก็บเป็นหลักฐานประจานความมีอารยธรรมของชาติตะวันตก ว่าได้ทำลายบ้านเรือนของพลเรือนมิใช่หน่วยราชการหรือหน่วยทหาร แต่ต่อมารัฐบาลให้ขนอิฐปูนไปทิ้งเพื่อมิให้เกะกะการสัญจร (อาจินต์ ปัญจพรรค์, 2541, 178-179)

ทั้งนี้ การโจมตีทางอากาศของอังกฤษเมื่อ 27 มกราคม 2485 ภายหลังไทยประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐแล้ว สร้างความเสียหายให้กับพระที่นั่งอนันตสมาคมซึ่งขณะนั้นเป็นที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรด้วย

เครื่องบินเดอ ฮาวิลแลนด์ของอังกฤษที่บินข้ามฟากมาจากพม่าทาสีตามนี้เลยครับ 


บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 25 ก.พ. 24, 11:45

     ดูเหมือนข้อมูลจะตรงกันก็คือเครื่องบินตกวันที่ 24 มกราคม 2485 ส่วนข้อมูลทิ้งระเบิดใส่พระที่นั่งอนันตสมาคมยังมีเสียงแตก ขุนวิจิตรมาตราบอกว่าวันเดียวกับเครื่องบินตก ส่วนสรุปปิดท้ายบทความลงว่าเป็นวันที่ 27 มกราคม 2485

     ผมไปค้นหาในหนังสือนาวิกศาสตร์เดือน มิถุนายน 2557 หน้า 39 ระบุว่า

     การโจมตีทางอากาศของฝ่ายสัมพันธมิตรในวันที่ 24 มกราคม 2485 ซึ่งทำให้พระที่นั่งอนันตสมาคมได้รับความเสียหาย และมีผู้เสียชีวิต ซึ่งยังผลอันสำคัญที่ทำให้ประเทศไทย ประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่ (อังกฤษ) และสหรัฐอเมริกา

    สรุปความได้ว่าพระที่นั่งอนันตสมาคมได้รับความเสียหายวันที่ 24 มกราคม 2485 และทหารกองทัพเรือยิงเครื่องบินฮาวิลอนตกวันที่ 24 มกราคม 2485 หรือวันเดียวกัน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 25 ก.พ. 24, 20:01

เข้ามาบอกว่าติดตามด้วยความสนใจอย่างยิ่งค่ะ
บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 26 ก.พ. 24, 08:52

ขอบคุณครับอาจารย์

กระทู้นี้ผมจะใส่ข้อมูลที่เก็บไว้ตัวเองทั้งหมดเท่าที่สามารถทำได้ ไปเรื่อยๆ ครับเร็วบ้างช้าบ้าง

บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 26 ก.พ. 24, 09:11

        เดือนมกราคมวิปโยคผ่านพ้นไปแล้ว กรุงเทพถูกรุกรานทางอากาศจำนวน 6 ครั้ง แบ่งเป็นการโจมตีด้วยระเบิดจำนวน 3 ครั้ง การถ่ายภาพทางอากาศอีก 3 ครั้ง หลังจากนั้นเป็นช่วงปลอดภัยทุกคนในกรุงเทพใช้ชีวิตได้ตามปรกติ ทว่าต่างจังหวัดยังมีการโจมตีทางอากาศต่อเป้าหมายสำคัญ ฝ่ายสัมพันธมิตรต้องการยับยั้งทหารญี่ปุ่นซึ่งกำลังรุกรานพม่าอย่างหนัก

   วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2485 อังกฤษประกาศสงครามกับประเทศไทย มีผลตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2485 ซึ่งก็คือวันแรกที่รัฐบาลไทยประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ

   วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2485 ข้อมูลจากอเมริการายงานว่า เครื่องบินรบอังกฤษทิ้งระเบิดบริเวณตัวเมืองเชียงราย ทหารไทยเสียชีวิตจำนวน 14 นายบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง ส่วนข้อมูลจากทางการไทยรายงานว่า ฝ่ายตรงข้ามส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดรุ่น Bristol Blenheim จำนวน 7 ลำโจมตีสนามบินเชียงราย กองบินผสมที่ 80 ได้ส่งเครื่องบินขับไล่ บ.ข.10 (ฮอว์ค 3) ทำการสกัดกั้น ผลการรบและความเสียหายไม่ปรากฏในรายงาน

   วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2485 สิงคโปร์ยอมจำนนต่อญี่ปุ่นแบบไม่มีเงื่อนไข

   วันที่ 6 มีนาคม 2485 มีการทิ้งระเบิดในจังหวัดเชียงใหม่เป็นครั้งแรก ไม่มีรายงานความเสียหายจากทั้งสองฝ่าย ทหารไทยที่ประจำการในพื้นที่คือกองพันทหารม้าที่ 4 กรมทหารม้าที่ 46 (ม.พัน.4 ม.46) ซึ่งเป็นทหารม้าส่วนหน้าของกองทัพพายัพ มีภารกิจสำคัญที่แนวรบเหนือสุดของประเทศก็คือเชียงตุง

   วันที่ 9 มีนาคม 2485 กองทัพญี่ปุ่นยึดเมืองร่างกุ้งได้อย่างเด็ดขาด พม่าตกอยู่ในความควบคุมของญี่ปุ่นร้อยเปอร์เซ็นต์ กำลังทหารอังกฤษทั้งหมดรวมทั้งกองทัพอากาศต้องถอยร่นเข้าสู่อินเดีย ส่งผลให้การรุกรานประเทศไทยด้วยเครื่องบินทิ้งระเบิดพลอยเงียบหายตามกัน

   แนวรบภาคเหนือของพม่ากลับเข้าสู่ความปรกติ ญี่ปุ่นระดมสรรพกำลังจากจับกังและเชลยศึกอังกฤษ สร้างทางรถไฟเชื่อมต่อจากภาคใต้มายังภาคเหนือเพื่อใช้ในกิจการทางทหาร

       ต่อมาไม่นานแนวรบภาคใต้ของพม่าลุกเป็นไฟขึ้นมาแทน เมื่อกองทัพพายัพแห่งประเทศไทยบุกเข้าตีเมืองเชียงตุงหรือสหรัฐไทยเดิม อังกฤษซึ่งถอยทัพทั้งหมดเข้าอินเดียไปแล้วส่งกองพลที่ 93 กองกำลังทหารฝ่ายจีนก๊กมินตั๋ง มาตั้งมั่นรอต้อนรับการรุกรานจากทหารไทยในพื้นที่เมืองเชียงตุง

       เมื่อพม่าถูกญี่ปุ่นยึดครองการโจมตีจากอังกฤษพอลยเงียบหายตามกัน เป็นช่วงเวลา 9 เดือนเต็มๆ ที่ประเทศไทยไม่ถูกรุกราน อาจถือได้ว่านี่คือความเงียบสงบก่อนพายุลูกใหญ่มหึมาจะพัดผ่าน

บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 9
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.091 วินาที กับ 19 คำสั่ง