เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9
  พิมพ์  
อ่าน: 3621 สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 105  เมื่อ 20 มี.ค. 24, 12:15

     กองเรือเฉพาะกิจที่ 63 ออกเดินทางวันที่ 19 กรกฎาคม 2488 นี่คือภาพถ่ายจากเรือบรรทุกเครื่องบิน HMS Ameer มองเห็นเครื่องบิน F6F Hellcat II ฝูงบิน 804 จำนวนหนึ่งจอดอยู่บนลานบิน อาวุธประจำเครื่องบินคือปืนกลขนาด 12.7 มม.จำนวน 6 กระบอก บรรทุกระเบิดหรือจรวดไม่นำวิถีได้มากสุด 1,800 กิโลกรัม เทียบกันตัวต่อตัวกับเครื่องบินทะเล บรน.2 หรือ บรน.3 แห่งราชนาวีไทย ฝ่ายเราซึ่งต้องป้องกันน่านฟ้าภูเก็ตตกเป็นรองอย่างชัดเจน ทว่ายังโชคดีมีเครื่องบินขับไล่ญี่ปุ่นบนเกาะภูเก็ตจำนวนพอสมควร ฉะนั้นสงครามเหนือน่านน้ำภูเก็ตจึงไม่ใช่การไล่ถล่มอยู่ฝ่ายเดียว

     

     โปรดสังเกตเรือเล็กแล่นประกบ HMS Ameer กลางภาพ นี่คือเรือกวาดทุ่นระเบิดขนาดใหญ่ชั้น Algerine แต่ไม่แน่ใจว่าชื่ออะไร เรือชั้นนี้ระวางขับน้ำเต็มที่ 1,125 ตัน ยาว 78 เมตร กว้าง 10.8 เมตร กินน้ำลึก 3.5 เมตร นอกจากอุปกรณ์สำหรับจัดการทุ่นระเบิดท้ายเรือ ยังมีปืนใหญ่ 102 มม. 1 กระบอก กับปืนกล 20 มม.4 กระบอกไว้ป้องกันตัว ประเทศไทยซื้อมาใช้งานหลังสงครามจำนวน 1 ลำคือเรือหลวงโพธิ์สามต้น ภาพนี้กองเรือเฉพาะกิจที่ 63 เดินทางมาถึงทะเลอันดามันแล้ว

     กองทัพเรืออังกฤษมีวันนี้เพราะพี่ให้อย่างแท้จริง ลำพังตัวเองมีเพียงเครื่องบินทิ้งตอร์ปิโดปีกสองชั้นโบราณมาก เทียบกับเครื่องบินทะเลของเราแล้วถือว่าสูสีกันมาก บังเอิญอังกฤษมีเพื่อนที่ดีแสนยานาภาพทางทะเลจึงกลับมายิ่งใหญ่และยิ่งใหญ่มากกว่าเดิม
บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 106  เมื่อ 21 มี.ค. 24, 12:10

สงครามเหนือน่านน้ำภูเก็ต

     วันที่ 24 กรกฎาคม 2488 กองเรือเฉพาะกิจที่ 63 บุกเข้าสู่อ่าวภูเก็ต แบ่งกำลังเป็น 2 ส่วนเพื่อจัดการเป้าหมายให้ราบคาบตามแผนการ กำลังส่วนแรกจะบุกถล่มข้าศึกให้แหลกเป็นจุณ เรือบรรทุกเครื่องบิน HMS Ameer ส่งฝูงบิน 804 มาทิ้งระเบิดใส่สนามบิน ค่ายทหาร เส้นทางสัญจรบนเกาะ รวมทั้งเรือน้อยใหญ่ โดยมีเรือลาดตระเวนหนัก HMS Sussex กับเรือประจัญบาน HMS Nelson และเรือพิฆาต 2 ลำทำหน้าที่คุ้มกัน นี่คือการโจมตีแบบวันเวย์ฝ่ายตรงข้ามแทบไม่มีโอกาสป้องกันตัว

     กำลังส่วนที่สองลักลอบเข้ามาจัดการทุ่นระเบิดตามเส้นทางเดินเรือ ใช้เรือกวาดทุ่นระเบิดชั้น Algerine จำนวน 5 ลำทำงานพร้อมกัน ได้เรือบรรทุกเครื่องบิน HMS Empress กับเรือพิฆาตจำนวน 2 ลำทำหน้าที่คุ้มกัน

     ผลการโจมตีปรากฏตามภาพถ่ายจากนักบิน F6F Hellcat II ฝูงบิน 804 เรือสินค้าถูกโจมตีเกิดไฟไหม้กลางลำ สถานที่สำคัญบนชายฝั่งได้รับความเสียหายมากบ้างน้อยคละเคล้ากันไป

     

บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 107  เมื่อ 21 มี.ค. 24, 12:11

     การโจมตีวันแรกไม่ได้รับการต่อต้านจากฝ่ายญี่ปุ่น โชคร้ายอังกฤษต้องสังเวยเรือกวาดทุ่นระเบิดชื่อ HMS Squirrel ให้กับทะเลภูเก็ต ลูกเรือ HMS Empress ซึ่งอยู่ใกล้กันบันทึกในรายงานว่า ทำภารกิจอยู่ดีๆ HMS Squirrel ก็หายตัวไป เข้าใจว่าแล่นชนทุ่นระเบิดเพียงแต่ไม่ทราบของชาติไหน เนื่องจากทั้งอังกฤษและญี่ปุ่นเคยนำทุ่นระเบิดมาวางสกัดกั้นเส้นทางเดินเรือ ทุ่นระเบิดอังกฤษชนิดทอดประจำผูกโซ่โยงไว้กับก้นทะเลก็จริง ทว่ามีโอกาสหลุดออกมาสร้างอันตรายได้เช่นกัน เนื่องจากทุ่นระเบิดต้องเผชิญคลื่นลมแรงฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งแรงเสียจนตัวเองยังไม่กล้ายกพลขึ้นบก

     วันที่ 25 กรกฎาคม 2488 การโจมตีแบบวันเวย์เกิดขึ้นอีกครั้ง อังกฤษไม่มีความสูญเสียทั้งเรือและเครื่องบิน วันที่ 26 กรกฎาคม 2488 วันสุดท้ายของ Operation LIVERY มีการเปลี่ยนแปลงแผนให้เรือลาดตระเวนหนัก HMS Sussex กับ เรือประจัญบาน HMS Nelson ย้ายมาคุ้มกันกองเรือกวาดทุ่นระเบิด เนื่องจากวันนี้ต้องทำหน้าที่เก็บกวาดทุ่นระเบิดใกล้ฝั่งให้เสร็จเรียบร้อย อาจถูกทหารญี่ปุ่นบนเกาะภูเก็ตยิงถล่มตอนไหนก็ได้ ส่วนเรือบรรทุกเครื่องบินทั้ง 2 ลำส่งเครื่องบินไปถล่ม Kra Isthmus หรือคอคอดกระ

     เวลา 18.25 น.ทหารอังกฤษทุกนายกำลังกระหยิ่มยิ้มย่องในใจ ทันใดนั้นมีเครื่องบินรบญี่ปุ่น 3 ลำปรากฏตัวเหนือน่านน้ำภูเก็ต มุ่งตรงมายังเรือลาดตระเวนหนัก HMS Sussex เป้าหมายขนาดใหญ่
บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 108  เมื่อ 21 มี.ค. 24, 12:16

แผนโต้กลับกองทัพบกญี่ปุ่น

     เมื่อเครื่องบินรบญี่ปุ่นบุกโจมตีพร้อมกัน กัปตันเรือ HMS Sussex  สั่งการให้ปืนทุกกระบอกระดมยิงใส่เป้าหมาย เครื่องบินรบจำนวน 2 ลำพลาดท่าเสียทีถูกยิงร่วงน้ำ บังเอิญเครื่องบินลำที่สามซึ่งใช้วิธีบินต่ำมาทางกราบซ้าย เล็ดลอดลูกกระสุนจำนวนมากมายพุ่งชนกลางเรือค่อนมาทางท้าย ใกล้เสากระโดงรองใต้ป้อมปืนกล 40 มม.แฝดสี่พอดิบพอดั

     ผลการโจมตีกราบซ้ายเรือมีรอยประทับตรายางรูปร่างเหมือนเครื่องบิน ทว่าเรือแค่เสียหายเล็กน้อยไม่มีลูกเรือบาดเจ็บ เนื่องจากตัวเรือจุดที่เครื่องบินเข้าปะทะมีเกราะเหล็กห่อหุ้มอย่างแน่นหนา จากการตรวจสอบอย่างละเอียดพบว่ารอยประทับตรายางข้างตัวเรือ เหมือนเครื่องบินโจมตีรุ่น Mitsubishi Ki-51 ของกองทัพบกญี่ปุ่นร้อยเปอร์เซ็นต์

     ภาพประกอบฝั่งซ้ายมือคือเรือลาดตระเวนหนัก HMS Sussex กับภาพกราฟิกเครื่องบินโจมตี Ki-51 ขณะพุ่งชน ภาพขวามือคือ USS Sterett (DD-407) เรือพิฆาตชั้น Benham กองทัพเรืออเมริกา ระวางขับน้ำเพียง 1,500 ตันเล็กกว่ากันพอสมควร ถูกกามิกาเซ่โจมตีเกิดเป็นรูใหญ่กราบขวาหัวเรือ อันเป็นผลสืบเนื่องจากหลายปัจจัยด้วยกัน รวมทั้งตัวเรือไม่มีเกราะเหล็กป้องกันเหมือนดั่งเรือลาดตระเวนหนัก

          

     หมายเหตุ : เรือรบในปัจจุบันทุกชนิดไม่มีการหุ้มเกราะเพราะสิ้นเปลืองเกินไป รวมทั้งเกราะไม่สามารถป้องกันอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบรุ่นใหม่ทันสมัย ต้องวิธีอื่นในการป้องกันภัยทั้งเรื่องระบบเป้าลวง ระบบก่อกวนการเผยแพร่คลื่นเรดาร์ หรือใช้ระบบอาวุธทันสมัยบนเรือยิงสกัดให้ร่วงน้ำ

     สรุปความได้ว่า…การโจมตีแบบกามิกาเซ่ครั้งแรกในเมืองไทยประสบความล้มเหลว

บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 109  เมื่อ 21 มี.ค. 24, 12:23

ทำไมการโจมตีแบบกามิกาเซ่ที่ภูเก็ตถึงไม่ได้ผล?

     เรื่องราวในอ่าวภูเก็ตแตกเป็นแม่น้ำหลายสาย หลายคนบอกว่าเครื่องบินโจมตี Ki-51 พุ่งชนเกราะข้างเรือหรือ Belt Armor ค่อนข้างหนา จึงมีแค่เพียงรอยแมวข่วนให้คนทั่วโลกฮือฮา หลายคนค้านว่า HMS Sussex มี Belt Armor ก็จริงแต่บางมาก จุดที่เครื่องบินพุ่งชนเป็นเพียงแผ่นเหล็กหนา 1 นิ้วเท่านั้น บังเอิญเป็นจุดที่แผ่นเหล็กสองแผ่นวางประกบกัน แรงปะทะจึงถูกหารสองความเสียหายย่อมน้อยกว่าเหล็กแผ่นเดียว

     กองทัพเรืออเมริกาให้ความสนใจเรือลาดตระเวนหนัก HMS Sussex มากเป็นพิเศษ มีการเปรียบเทียบกับเรือตัวเองซึ่งถูกกามิกาเซ่โจมตี มีการวิเคราะห์ตามหลักคณิตศาสตร์บวกวิทยาศาสตร์ ได้ผลสรุปโน้มเอียงมาทางขนาดกับความเร็วเครื่องบิน ลำไหนใหญ่กว่าความเร็วสูงกว่าย่อมสร้างความเสียหายได้มากกว่า ลำไหนเล็กกว่าความเร็วต่ำกว่าย่อมสร้างความเสียหายได้น้อยกว่า

     Mitsubishi Ki-51 คือเครื่องบินโจมตีขนาดเล็ก จำนวนสองที่นั่งบรรทุกระเบิดได้เพียง 200 กิโลกรัม ถูกออกแบบให้บุกโจมตีข้าศึกแบบดำดิ่ง ฉะนั้นต้องบินช้าหน่อยเพื่อเล็งเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ ความเร็วสูงสุดทำได้เพียง 424 กิโลเมตร ช้ากว่าเครื่องบินทะเลกองทัพเรือไทยเสียด้วยซ้ำ
สรุปความได้ว่าการโจมตีแบบกามิกาเซ่ครั้งแรกในประเทศไทย Ki-51 พุ่งชน HMS Sussex ด้วยความเร็วค่อนข้างต่ำ (จริงๆ เกือบบินตกทะเล) ความเสียหายจึงมีเพียงน้อยนิดตามหลักคณิตศาสตร์บวกวิทยาศาสตร์

     แนวคิดสุดท้ายได้รับความเห็นชอบอย่างแพร่หลาย เนื่องจากในที่เกิดมีหลักฐานสำคัญช่วยยืนยันชัดเจน นักบินญี่ปุ่นบนเครื่องบาดเจ็บนิดหน่อยไม่ถึงกับสาหัส ลูกเรือ HMS Sussex ช่วยกันนำตัวขึ้นมาจากทะเลอันดามัน จึงไม่เสียชีวิตมีโอกาสกลับมาหาครอบครัวหลังสงครามสิ้นสุด


บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 110  เมื่อ 21 มี.ค. 24, 12:28

เหยื่อกามิกาเซ่ตัวจริง

     กลับมาที่การรบเหนือน่านน้ำภูเก็ตอีกครั้ง เมื่อการโจมตีระลอกแรกผ่านพ้นไปชนิดใจหายใจคว่ำ ต่อมาไม่นานมีเครื่องบินโจมตี Ki-51 จำนวนหลายลำ บินเข้ามาโจมตีเรือลาดตระเวนหนัก  HMS Sussex ระลอกสอง บังเอิญถูกห่ากระสุนจากเรือรบหลายลำเป็นแนวกั้นขวาง จำเป็นต้องหักหัวเครื่องหนีความตายจ้าละหวั่น นักบินรายหนึ่งบังเอิญเห็นเป้าหมายใหม่อย่างชัดเจน นักบินนายนั้นบังคับเครื่องพุ่งใส่เรือกวาดทุ่นระเบิดชื่อ HMS Vestal (J215)

     ปืนใหญ่ 102 มม.กับปืนกล 20 มม.บนเรือกวาดทุ่นระเบิดขนาดใหญ่ มิอาจหยุดยั้งความตั้งใจนักบินจากแดนอาทิตย์อุทัย HMS Vestal ถูกเครื่องบินโจมตี Ki-51 พุ่งชนแบบพลีชีพโดนเข้าที่กลางลำ เกิดการระเบิดไฟลุกท่วมแล้วค่อยๆ จมลงสู่ก้นทะเล ลูกเรือ 12 รายต้องสังเวยชีพให้กับแผนโต้กลับกองทัพบกญี่ปุ่น

     HMS Vestal คือเรือลำแรกที่ราชนาวีอังกฤษสูญเสียเพราะถูกกามิกาเซ่โจมตี

     HMS Vestal คือเรือลำสุดท้ายที่ราชนาวีอังกฤษสูญเสียระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง

     ปัจจุบันเรือจมอยู่ก้นอ่าวระดับความลึก 70 เมตร ส่วน HMS Squirrel ซึ่งหายตัวไปในวันแรกของภารกิจ จมอยู่ที่ระดับความลึก 95 เมตรพื้นที่ใกล้เคียงกัน ‘The last British Royal Naval vessel sunk during WWII’ อยู่ลึกเกินไปสำหรับนักดำน้ำโดยทั่วไป จึงไม่ได้รับความนิยมเหมือนเรือรบไทยที่ปลดประจำการแล้ว

     ภาพประกอบภาพบนคือเครื่องบิน Mitsubishi Ki-51 ตัวแสบ ใช้ลายพรางเสือดาวมาตรฐานกองทัพบกญี่ปุ่น ส่วนภาพล่างคือเรือกวาดทุ่นระเบิด HMS Vestal แฟนเก่าพระเอกผู้แสนโชคร้าย นี่คือผู้ล่ากับเหยื่อลำแรกและลำสุดท้ายแห่งน่านน้ำทะเลไทย สังเวยการโจมตีแบบพลีชีพไพ่เด็ดญี่ปุ่นในช่วงท้ายสงครามมหาเอเชียบูรพา

   


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 111  เมื่อ 21 มี.ค. 24, 12:43

      กามิกาเซ่ (Kamikaze) หรือเรียกอย่างเป็นทางการว่า กองกำลังจู่โจมพิเศษ     ภาษาญี่ปุ่นมีความหมายว่าลมแห่งสวรรค์ หรือลมแห่งเทวะ   นำมาใช้เป็นชื่อฝูงบินและนักบินเท่านั้น    เวลาออกรบจะบรรทุกระเบิดและพุ่งเข้าชน ยอมตายพร้อมเครื่องบิน
       เคยได้ยินคำว่า กามิกาเซ่ จากหนังสงครามที่ดูตอนเด็กๆ   ผู้ใหญ่ที่ทันผจญสงครามโลกครั้งที่ 2 เล่าให้ฟังว่าเป็นชื่อฝูงบินและนักบิน ที่ทำลายข้าศึกฝ่ายตรงข้ามด้วยการพุ่งชน ยอมตายไปพร้อมกับข้าศึกด้วย    นักบินกามิกาเซ่เป็นที่ขึ้นชื่อว่าเป็นนักรบพลีชีพ ที่น่ากลัวมาก    ถ้าเจอฝูงบินมรณะนี้เมื่อไหร่  ฝ่ายถูกโจมตีไม่มีทางรอด
  
    อ่านรายละเอียดได้ที่นี่ค่ะ

    https://www.silpa-mag.com/history/article_58805#google_vignette
บันทึกการเข้า
Neo
อสุรผัด
*
ตอบ: 4


ความคิดเห็นที่ 112  เมื่อ 22 มี.ค. 24, 10:49

เข้ามาศึกษาหาความรู้ที่นี่ ไม่ผิดหวังเลยครับ ขอบคุณอาจารย์ทุกๆท่านด้วยครับ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 113  เมื่อ 22 มี.ค. 24, 11:35

จาก # ๑๑๑ ขออนุญาตขยายความ และแก้ลิงก์

神風 คามิกาเซะ แปลตามตัวอักษร คือ ลมพระเจ้า

ว่าด้วยเรื่อง คามิกาเซะ

https://www.silpa-mag.com/history/article_58805#google_vignette
บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 114  เมื่อ 22 มี.ค. 24, 13:34

เรือบรรทุกเครื่องบินถูกโจมตีด้วยกามิกาเซ่

     การโต้กลับจากกองทัพบกญี่ปุ่นหาได้สิ้นสุดเพียงเท่านี้ เครื่องบินโจมตี Ki-51 หลายลำเปลี่ยนใจหันมาบุกเรือบรรทุกเครื่องบิน ซึ่งลอยลำห่างออกไปพอสมควรมีเรือพิฆาตจำนวน 2 ทำหน้าที่คุ้มกัน เมื่อแน่ใจว่าภัยคุกคามเบนเข็มมาที่ตัวเอง กระสุนปืนทุกชนิดบนเรือบรรทุกเครื่องบิน HMS Ameer ถูกสาดขึ้นสู่ฟากฟ้าเพื่อสกัดกั้น เครื่องบินโจมตี Ki-51 ทุกลำไม่สามารถฝ่ายแนวป้องกันจากเรือบรรทุกเครื่องบินและเรือพิฆาต ทำได้เพียงสาดกระสุนปืนอย่างสะเปะสะปะก่อนหักเลี้ยวจากไป บังเอิญนักบินญี่ปุ่นรายหนึ่งไม่รู้แอบกินดีหมีมาจากไหน บังคับเครื่องบินตัวเองฝ่าดงกระสุนพุ่งเข้าหาเรือบรรทุกเครื่องบินฝ่ายตรงข้ามอย่างบ้าดีเดือด

     ปืนทุกกระบอกเปลี่ยนเป้าหมายมาที่เครื่องบินลำเดียว เมื่อนักบินใจสิงห์บังคับเครื่องเข้าใกล้ระยะ 500 หลา พลันถูกกระสุนปืนกลต่อสู้อากาศยานขนาด 40 มม.ของเรือบรรทุกเครื่องบินจนตกทะเล รายงานจากกัปตันแจ้งว่าเรือไม่ได้รับความเสียหายจากเหตุปะทะ แต่รายงานจากเรือเรือลาดตระเวนหนัก HMS Sussex แจ้งว่าเรือบรรทุกเครื่องบิน HMS Ameer ได้รับความเสียหายเพียงไม่ทราบว่ามากหรือน้อย

     การบุกโจมตีเรือบรรทุกเครื่องบิน HMS Ameer ระบุได้อย่างชัดเจนว่า วิธีโจมตีแบบพลีชีพโดยใช้เครื่องบินพุ่งชนหรือที่เรารู้จักในชื่อกามิกาเซ่ คือสิ่งที่นักบินเครื่องบินรบญี่ปุ่นทุกคนต้องตัดสินใจเอง บางคนตัดสินใจทำส่วนบางคนไม่ทำไม่ถือว่าเป็นความผิด

    Operation LIVERY มีเรื่องประหลาดเกิดขึ้นหลายอย่าง นอกจากภูเก็ตอันเป็นเป้าหมายหลักตามแผนการ อังกฤษยังตัดสินใจส่งเครื่องบินมาถล่มคอคอดกระซึ่งอยู่นอกแผนการ เนื่องจากได้รับรายงานจากแนวที่ห้าฝังตัวอยู่ในเกาะภูเก็ตว่า การโจมตี 2 วันแรกสร้างความเสียหายต่อทหารญี่ปุ่นบนเกาะค่อนข้างน้อย ผู้บังคับบัญชาตัดสินใจเบนเป้าหมายโจมตีคอคอดกระในการรบวันสุดท้าย

     ภาพประกอบคือเรือบรรทุกเครื่องบิน HMS Ameer ซ้อมยิงปืนต่อสู้อากาศยานระหว่างเดือนมีนาคม 2488 ก่อนที่ตัวเองจะประสบการณ์โจมตีที่แท้จริงในอีกสี่เดือนถัดมา เรือบรรทุกเครื่องบินและเครื่องบินขับไล่ล้วนได้รับมอบจากสหรัฐอเมริกาเพื่อนผู้แสนดีและเจ้าหนี้รายใหญ่

   


บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 115  เมื่อ 22 มี.ค. 24, 13:46

     
     ปฏิบัติการ Operation LIVERY จบสิ้นลงเย็นวันที่ 26 กรกฎาคม 2488  เวลา 3 วัน HMS Ameer ส่งเครื่องบินโจมตีเป้าหมายมากกว่า 150 ครั้ง ทำลายค่ายทหาร สนามบิน ทางรถไฟ รวมทั้งเส้นทางหลักในการขนส่ง เรือลำเลียงจำนวน 3 ลำถูกโจมตีจมลงก้นอ่าว เรืออีก 11 ลำถูกยิงกราดด้วยปืนกล หัวรถจักรจำนวน 11 คันถูกทำลาย (ที่คอคอดกระ) เครื่องบินญี่ปุ่นจำนวน 30 กว่าลำถูกโจมตีบนพื้นดิน ตัวเลขทั้งหมดมาจากรายงานซึ่งมีการเผยแพร่ในภายหลัง

     เรามาชมภาพประกอบหลักฐานสำคัญกันสักนิด นี่คือบอร์ดแสดงผลงานฝูงบิน 804 พร้อมมอดโต้เสือคาบดาบ ระบุชัดเจนทำลายเครื่องบินญี่ปุ่นบนพื้นดินจำนวน 16 ลำ ทำลายเครื่องบินญี่ปุ่นบนท้องฟ้าจำนวน 3 ลำ ส่วนภาพเล็กซ้ายมือคือผลงานเรือบรรทุกเครื่องบิน HMS Ameer ยิงเครื่องบินญี่ปุ่นตกจำนวน 2 ลำรวมทั้งกามิกาเซ่ลุยเดี่ยวลำนั้น

   

     หมายความว่าฝูงบิน 804 จัดการเครื่องบินญี่ปุ่นได้เพียง 19 ลำ รวมผลงานเรือเข้าไปด้วยเท่ากับ 21 ลำ ไม่ถึง 30 กว่าลำตามรายงานที่ได้ปรากฏภายหลัง แต่ถ้านับผลงานเรือลำอื่นๆ เพิ่มเติมเข้ามา รวมทั้งเรือบรรทุกเครื่องบิน HMS Empress ซึ่งมีบทบาทค่อนข้างน้อย ตัวเลขผลงานน่าจะใกล้เคียงตัวเลขบนรายงาน

     วันที่ 28 กรกฎาคม 2488 กองเรือเฉพาะกิจที่ 63 กลับมายังฐานทัพเรือในศรีลังกา เพื่อซ่อมแซมเรือและเครื่องบินทุกลำให้อยู่ในสภาพพร้อมรบ ลูกเรือกับนักบินได้รับคำสั่งให้พักผ่อนตามอัธยาศัย ต่อมาในวันที่ 10 สิงหาคม 2488 กองเรือเฉพาะกิจจากอังกฤษได้ออกเดินทางอีกครั้ง

     เรือบรรทุกเครื่องบิน HMS Ameer ย้ายมาอยู่กองเรือเฉพาะกิจที่ 61 พร้อมเรือบรรทุกเครื่องบินอีก 4 ลำกับเรือคุ้มกันชนิดต่างๆ จำนวน 14 ลำ เพื่อเข้าร่วมปฏิบัติการ Operation CARSON บุกโจมตีฐานทัพเรือปีนังของญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 14 ถึง 15 สิงหาคม นี่คือศึกแห่งศักดิ์ศรีครั้งสำคัญระหว่างอังกฤษกับญี่ปุ่น เปรียบได้กับนัดล้างตาหลังจากตัวเองเคยพลาดท่าเสียทีแบบหมดสภาพ ตั้งแต่ปลายปี 2484 ช่วงเวลาที่ทหารญี่ปุ่นกำลังฉายแสงเจิดจ้าทั่วโลก

    เวลาเดียวกันเรือลาดตระเวนหนัก HMS Sussex ยังจอดอยู่ที่ท่าเรือ Trincomalee ประเทศศรีลังกา เพื่อซ่อมแซมทุกส่วนบนเรือให้มีสภาพสมบูรณ์เต็มที่ รอเวลาทำภารกิจบุกโจมตีแหลมมลายูหรือ Operation ZIPPER ที่กำลังจะเกิดขึ้น อังกฤษตั้งใจใช้ความคล่องตัวกับปืนใหญ่ขนาด 203 มม.ยิงถล่มชายฝั่ง ซึ่งเหมาะสมกับประสิทธิภาพเรือมากกว่าบุกโจมตีฐานทัพเรือญี่ปุ่นที่ปีนัง

    กองเรือเฉพาะกิจที่ 61 เดินทางได้เพียง 1 วัน มีคำสั่งด่วนจากเกาะอังกฤษให้หันหัวเรือกลับ Operation CARSON กับ Operation ZIPPER ถูกสั่งเลื่อนไม่มีกำหนด ไม่มีใครรู้เหตุผลรวมทั้งไม่มีการแจ้งเหตุผลจากผู้บังคับการ ทว่าทหารอังกฤษทุกคนยังมีกำลังเต็มร้อยพร้อมลบรอยแค้นในอดีต

    ต่อมาในวันที่ 15 สิงหาคม 2488 สมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นประกาศยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตร สงครามโลกครั้งที่สองอันแสนยาวนานสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการในวันนี้ ไม่มีปฏิบัติการ Operation CARSON กับ Operation ZIPPER ส่งผลให้ Operation LIVERY กลายเป็นปฏิบัติการสุดท้ายของทหารอังกฤษระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง


บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 116  เมื่อ 23 มี.ค. 24, 12:21


    ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย

     ภูเก็ตหรือเมืองถลางปรากฏในบันทึกนักเดินทางตั้งแต่ 700 ปีที่แล้ว บรรดากัปตันเรือพร้อมใจกันเรียกสถานที่แห่งนี้ว่าแหลมจังซีลอน ที่นี่อากาศดี ดินดี ท่าเรือกว้างขวาง โอบล้อมด้วยป่าไม้แน่นหนา แรกเริ่มเดิมทีเป็นเพียงชุมชนเล็กๆ จุดแวะจอดเรือสินค้า ต่อมาเมื่อพบว่าที่นี่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่โดยเฉพาะแร่ดีบุก จึงได้มีการริเริ่มทำเหมืองแร่กันอย่างแพร่หลาย ต่อมาไม่นานมีการสร้างตึกรามบ้านช่องในเขตตัวเมือง มีคนจีน อังกฤษ และฮอลันดาเดินทางข้ามทะเลเข้ามาตั้งรกรากทำมาหากิน

     ภูเก็ตถูกยกฐานะเป็นมณฑลประจำภาคใต้ มีการสั่งซื้อเรือเหล็กจากฮ่องกงมาใช้งานตั้งชื่อว่า ‘ถลาง’ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองระหว่างปี 2475 เรือถูกส่งมอบให้กองทัพเรือ ถูกเรียกชื่อใหม่ว่าเรือหลวงถลางใช้เป็นเรือลำเลียงระหว่างกรุงเทพ-ศรีราชา ต่อมาเทศบาลเมืองภูเก็ตขอรับเรือกลับมาใช้งานตามเดิม เรือจึงเดินทางมาอยู่ภูเก็ตพร้อมเรือหลวงสารสินธุลำที่หนึ่งซึ่งเป็นเรือตรวจการณ์ประมงขนาด 22 เมตร

     ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองภูเก็ตประสบภัยคุกคามจากเรือดำน้ำฝ่ายสัมพันธมิตร เรือจำนวนมากถูกยิงจมรวมทั้งเรือกลไฟชื่อถ่องโหในภาพประกอบ ก่อนเกิดสงครามถ่องโหเป็นเรือสินค้าวิ่งขนส่งระหว่างภูเก็ต-กระบี่-ตรัง-ปีนัง ต่อมาถูกทหารญี่ปุ่นยึดไปใช้ขนส่งทหารและสัมภาระ ระหว่างปี 2487 เรือไม้ลำนี้ถูกเรือดำน้ำอังกฤษยิงจมบริเวณเกาะหัวขวาน ทะเลกระบี่ ไม่ทราบชะตากรรมลูกเรือหรือสินค้ากับผู้โดยสารที่มาพร้อมเรือ

     

     เรือหลวงถลางซึ่งเป็นเรือเหล็กลำเดียวของไทยเคยถูกโจมตีเช่นกัน เรือดำน้ำอังกฤษลอยลำขึ้นมายิงถล่มด้วยปืนใหญ่ โชคดีกระสุนพลาดเป้าหมายกัปตันเรือรีบหักหลบเข้าหลังเกาะลันตา เรือยามฝั่งญี่ปุ่น 2 ลำซึ่งคอยคุ้มกันขบวนเรือแล่นเข้ามากดดันจนเรือดำน้ำล่าถอยไป เรือดำน้ำสมัยก่อนมักลอยลำขึ้นมาโจมตีเรือสินค้าขนาดเล็กด้วยปืนใหญ่ เก็บตอร์ปิโดไว้จัดการเรือสินค้าขนาดใหญ่หรือเรือรบฝ่ายตรงข้ามซึ่งมีคุณค่าทางการทหารอาทิเช่น เรือลาดตระเวน เรือประจัญบาน หรือเรือบรรทุกเครื่องบิน แต่ถ้าเจอเรือพิฆาต เรือฟริเกต หรือเรือฝามฝั่งติดอาวุธปราบเรือดำน้ำต้องหนีให้เร็วที่สุด

     เรือหลวงถลางยังเป็นเป้าหมายเพียงหนึ่งเดียวของทุ่นระเบิดอังกฤษ เนื่องจากเรือลำอื่นขนาดเล็กกว่าและเป็นเรือไม้ทั้งลำ ขณะแล่นผ่านทุ่นระเบิดตรวจไม่พบเหล็กจึงไม่ทำงาน

     ภยันตรายทั้งหลายทั้งปวงหาได้สร้างความเสียหายต่อเรือลำนี้ จวบจนอังกฤษส่งกองเรือเฉพาะกิจที่ 63 เข้ามาถล่มแบบปูพรม วาระสุดท้ายของเรือหลวงไทยบนเกาะภูเก็ตจึงได้มาเยือน

     วันที่ 25 กรกฎาคม 2488 เรือหลวงถลางถูกเครื่องบินอังกฤษยิงจมบริเวณท่านเรศวรตำบลทุ่งคา วันเดียวกับเรือหลวงสารสินธุถูกเครื่องบินอังกฤษยิงจมในอ่าวฉลอง หลายปีถัดมากองทัพเรือกู้เรือหลวงถลางขึ้นมาใช้งานอีกครั้ง เปลี่ยนชื่อเป็นเรือหลวงสุริยะประจำการกรมอุทกศาสตร์ถึง 12 ปีเต็ม เรือหนังเหนียวจากมณฑลภูเก็ตมีอายุใช้งานรวม 33 ปี แบ่งเป็นลอยลำเหนือผิวน้ำ 25 ปีกับจมอยู่ใต้ท้องทะเลอีก 8 ปี


บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 117  เมื่อ 23 มี.ค. 24, 12:31

เบื้องหลังการโจมตีทางอากาศ

     ความเสียหายของกองทัพเรือมีมากกว่านี้ สนามบินน้ำในอ่าวฉลองทหารไทยถูกโจมตีโดยไม่รู้ตัว ความสูญเสียทั้งหมดผมค้นพบในอินเทอร์เน็ตสั้นๆ ใจความว่า เครื่องบินทะเล บรน.2 หรือนากาชิมาเสียหาย 2 ลำ ทว่าตัวเองบังเอิญเจอบทความเขียนโดยพลเรือตรีสนอง นิสาลักษณ์ ผู้บังคับฝูงบินประจำอ่าวฉลองในช่วงเวลาดังกล่าว จากหนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพลเรือเอกสินธุ์ กมลนาวิน (หลวงสินธุสงครามชัย) จึงขอคัดลอกมานำเสนอเพื่อความสมบูรณ์ของบทความ

     สมัยหนึ่งกองทัพเรือไม่ค่อยสนใจต่อการข่าวนัก กับยังได้ยินนายทหารผู้ใหญ่ฝ่ายการข่าวพูดทีเล่นทีจริงว่า เจ้ากรมข่าวนั้นทำหน้าที่เหมือนผู้จัดการโรงแรมหรือหัวหน้าฝ่ายรับรองทำนองนั้น เพราะงานออกหน้าออกตาของกรมข่าวสมัยนั้นก็คือการรับรองชาวต่างประเทศ และข้าพเจ้าก็มีเรื่องติดใจเกี่ยวกับการข่าวควรแก่การศึกษาคือ

     ตอนท้ายของสงครามโลกข้าพเจ้าได้รับแต่งตั้งให้ไปเป็นผู้บังคับฝูงบินประจำฐานบินที่อ่าวมะนาวจังหวัดภูเก็ต มีหน้าที่ลาดตระเวนฝั่งทะเลมหาสมุทรอินเดีย และทำการบินคุ้มกันเรือพาณิชย์ที่เดินระหว่างภูเก็ตกับกันตัง จังหวัดตรัง ข้าพเจ้าประจำทำงานอยู่ในตำแหน่งนั้นจนกระทั่งถูกกองเรือบรรทุกเครื่องบินอังกฤษอันประกอบด้วย เรือบรรทุกเครื่องบิน 1 ลำ เรือลาดตระเวน 1 ลำ กับเรือคุ้มกันอีก 10 กว่าลำ เข้ามาทิ้งระเบิดและระดมยิงฐานบินและเครื่องบินที่มีอยู่ทำให้เกิดไฟไหม้เสียหายหมดสิ้น

    ทั้งนี้ตลอดเวลาข้าพเจ้าไม่เคยได้รับข่าวสารจากกองทัพเรือเลย จริงอยู่หน่วยทหารที่อยู่ในแนวรบมีหน้าที่ต้องหาข่าวทางยุทธการและเราก็กระทำอยู่ แต่ข่าวการเคลื่อนกำลังกองทัพเรือของอังกฤษน่าจะได้รับทราบจากหน่วยเหนือมิทางใดก็ทางหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อข้าพเจ้าถอนตัวกลับมาถึงกันตังแล้วและคุยกับนายทหารญี่ปุ่นซึ่งเคยประจำอยู่ ณ สนามบินที่จังหวัดภูเก็ต ทราบว่าทหารญี่ปุ่นถอนตัวออกจากเกาะภูเก็ตหมดสิ้นแล้วก่อนกองเรืออังกฤษจะเข้ามาทิ้งระเบิดและระดมยิงชายฝั่ง ซึ่งแสดงว่าเขารู้ข่าวจึงทำให้เขาไม่ได้รับความเสียหาย

    ผู้ที่ไม่อยู่ในสนามรบขณะนั้นอาจตั้งคำถามว่า ทำไมข้าพเจ้าไม่ประสานงานกับญี่ปุ่นเรื่องขาวสารการเคลื่อนไหวของข้าศึก ข้าพเจ้าก็ใคร่ที่จะแถลงว่าการทำงานของฝ่ายเราในขณะนั้น ไม่อยู่ในฐานะที่จะสร้างความไว้วางใจให้กับญี่ปุ่นจนถึงขั้นที่จะให้ความร่วมมือกันได้สนิทนัก สรุปก็เก็บเอาไว้เป็นบทเรียนเพื่อปรับปรุงวิธีปฏิบัติต่อไปในอนาคต

     ข้อมูลจากบทความพลเรือตรีสนอง นิสาลักษณ์ สามารถอธิบายได้ดังนี้

     1.เครื่องบินทะเลทุกลำถูกยิงถล่มเสียหายอย่างหนัก แต่ไม่ทราบจำนวนไม่ทราบว่าซ่อมแซมได้หรือไม่

     2.วันที่ 24 ถึง 25 กรกฎาคม 2488 ฝูงบิน 804 ประจำเรือบรรทุกเครื่องบิน HMS Ameer ไม่ได้ทำลายเครื่องบินญี่ปุ่นแต่เป็นเครื่องบินกองทัพเรือไทย ต่อมาในวันที่ 26 กรกฎาคม 2488 จึงได้บินไปทิ้งระเบิดสนามบินญี่ปุ่นที่คอคอดกระ ก่อนถูกญี่ปุ่นย้อนรอยกลับมาทวงแค้นด้วยฝูงบินกามิกาเซ่

     3.แต้มสะสมบนเรือบรรทุกเครื่องบิน HMS Ameer ส่วนหนึ่งเป็นเครื่องบินทะเลกองทัพเรือไทย

    4.บนเกาะภูเก็ตไม่มีทหารญี่ปุ่นแม้แต่รายเดียว เครื่องบินญี่ปุ่นที่ย้ายออกไปก่อนไม่ทราบชะตากรรม อาจอยู่สนามบินคอคอดกระแล้วถูกถล่มยับเยินก็เป็นได้

     การเขียนบทความสมควรมีข้อมูลครบทุกฝ่าย โชคร้ายเหลือเกินผมไม่มีข้อมูลจากญี่ปุ่นแม้แต่นิดเดียว จึงขาดมุมมองที่สนใจมากที่สุดมุมมองนี้ไป ปฏิบัติการโจมตีภูเก็ตจัดอยู่ในลำดับความลับสุดยอดมากที่สุด ทว่าญี่ปุ่นกลับรับรู้เรื่องราวคล้ายตัวเองเข้าไปนั่งกลางที่ประชุมฝ่ายสัมพันธมิตร

     คำถาม : พวกเขารู้ความเคลื่อนไหวอังกฤษได้อย่างไร?

     คำตอบ : น่าจะได้รับแจ้งข่าวจากค่ายทหารญี่ปุ่นบนเกาะสุมาตรา
 
     คำถาม : พวกเขาเคลื่อนกำลังพลออกจากเกาะอย่างเงียบกริบได้เช่นไร?

    คำตอบ : การข่าวทหารไทยในพื้นที่ไม่ดีเท่าไร การข่าวจากกองบัญชาการที่กรุงเทพก็ไม่ดีเช่นกัน เครื่องบินและทหารญี่ปุ่นจำนวนมากเวลาเคลื่อนพลปิดบังไม่ได้แน่นอน ถ้ามีแนวที่ห้าประกบติดฐานทัพญี่ปุ่นถึงเคลื่อนทัพตอนกลางคืนก็ต้องรู้


 ภาพประกอบคือเครื่องบินทะเล บรน.๓ หรือ AICHI E13A Type Zero Model 11  ซึ่งกองทัพเรือมีใช้งานจำนวน 3 ลำ ไม่ทราบจริงๆ ว่าอยู่ที่ภูเก็ตในวันถูกโจมที่ทางอากาศด้วยหรือไม่

  
บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 118  เมื่อ 23 มี.ค. 24, 12:33

สงครามเหนือน่านน้ำภูเก็ตตัดจบตรงนี้นะครับ พรุ่งนี้ผมจะลงเรื่องการทิ้งระเบิดที่สงขลาคงไม่ยาวเท่าไร  ตกใจ

บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 119  เมื่อ 24 มี.ค. 24, 13:36

เรื่องราวที่สงขลา

    ผมมีบทความ ‘เมื่อญี่ปุ่นบุกสงขลา’ เขียนโดย ขุนศิลปกรรมพิเศษ (แปลก ศิลปกรรมพิเศษ) มาฝาก ตัดมาเฉพาะเรื่องราวการทิ้งระเบิดฝ่ายสัมพันธมิตรไม่มากเท่าไรครับ

    วันที่ 9 ธันวาคม 2484 ทางราชการเปิดสำนักงานชั่วคราวขึ้นที่บ้านพักโลหกิจจังหวัด ข้าราชการทุกแผนกมาช่วยปฏิบัติการที่นี่เฉพาะเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์พิเศษ ส่วนงานปรกติที่เคยปฏิบัติตามหน้าที่เป็นอันระงับไป และในบ่ายวันเดียวกันนั้นเครื่องบินอังกฤษ 2 หรือ 3 ลำบินมาตรวจการณ์และทิ้งระเบิดลงที่เรือนจำ วัดดอนรัก และที่อื่นๆ อีกบ้าง เป็นเหตุให้ต้องปล่อยนักโทษจนหมด เมื่อเหตุการณ์เป็นปรกติลงบ้างแล้ว นักโทษบางคนก็มารายงานตัวเข้าที่คุมขังต่อไป ส่วนที่วัดดอนรักระเบิดทำให้สามเณรเสียชีวิต 1 รูป

     ต่อมาเมื่อสัมพันธมิตรเป็นฝ่ายรุก ก็ส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดที่สงขลาอีกหลายครั้ง ลงตรงวัดดอนรักอีกครั้งหนึ่ง ทำลายความเสียหายมากมายจนแทบจะกลายเป็นวัดร้าง ในการโจมตีครั้งแรกเครื่องบินอังกฤษถูกเครื่องบินญี่ปุ่นขึ้นขับไล่และยิงตกที่อำเภอสะบ้าย้อย 1 เครื่อง แต่ครั้งต่อมาไม่มีเครื่องบินญี่ปุ่นขึ้นขัดขวางและปืนต่อสู้อากาศยานก็ไม่มี

    ถัดมาประมาณหนึ่งหน้ามีการพูดถึงการโจมตีทางอากาศอีกครั้ง

    เครื่องบินอังกฤษซึ่งบินมาโจมตีแรกเริ่มสงครามได้หายเงียบไปจนพากันตายใจไปตามๆ กัน แต่คืนวันหนึ่งดึกสงัด ข้าพเจ้าตื่นขึ้นมาโดยได้ยินเสียงเครื่องบินเป็นการผิดปรกติ เพราะเครื่องบินญี่ปุ่นไม่มีอยู่ในสงขลาแล้ว พอได้ยินเสียงระเบิดลูกแรกก็รีบลงจากเตียงนอนหมอบราบใต้เตียง ส่วนในห้องติดกันมีครูโรงเรียนมหาวชิราวุธผู้หนึ่งกับคนรู้จักกันมานอนเป็นเพื่อน เพราะครอบครัวของข้าพเจ้าไปอยู่รวมกับครอบครัวน้องที่บ้านบน ทั้งสองคนนี้นอนกับพื้น ได้ยินเสียงระเบิดติดกัน 3-4 ลูก ทราบภายหลังว่าลูกแรกตกริมทางรถไฟ หน้าฌาปนสถานวัดหัวป้อมนอก ลูกที่สองลงตรงอาคารเรียนของโรงเรียนช่างเย็บผ้า ทำให้อาคารนั้นเสียหายและทหารญี่ปุ่นซึ่งอาศัยอยู่เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายราย

    ระเบิดลูกที่สามตกลงตรงกองถังน้ำมันของญี่ปุ่นซึ่งกองไว้ในบริเวณที่ทำการเทศบาลเดิม ไฟลุกไหม้โชติช่วง ลูกที่สี่ลงตรงหน้าบ้านพักของข้าพเจ้าสะเก็ดระเบิดเจาะฝาเข้ามาในบ้านพักหลายรู ถ้าข้าพเจ้าไม่นอนนิ่งก็คงโดนสะเก็ดระเบิดเป็นแน่ แม้แต่ขวดน้ำซึ่งวางไว้บนหลังตู้ข้างเตียงก็แตกกระจายและมุ้งขาดหลายรู ส่วนครูโรงเรียนมหาวชิราวุธโดนสะเก็ดระเบิดเข้าที่หน้าผากทะลุท้ายทอยถึงแก่กรรม เวลานั้นทหารญี่ปุ่นซึ่งนายแพทย์กับคนรับใช้อาศัยอยู่ด้วย ก็ช่วยเอาผ้าพันแผลให้หายความน่าสังเวช

    เริ่มอพยพครอบครัวกันอีกครั้ง ครอบครัวข้าพเจ้าและอีกหลายครอบครัวไปอาศัยบ้านเพื่อนที่น้ำน้อย กงสุลใหญ่ญี่ปุ่นก็อพยพไปอยู่ที่นั่นด้วย เขาปรารภว่าตามปรกติคนญี่ปุ่นสุภาพเรียบร้อย แต่ทหารบางคนประพฤติเสื่อมเสียอยู่บ้าง คงจะเพราะกระทำการรบมานาน เขาแสดงความเสียใจให้พวกเราทราบด้วย และต่อมาไม่กี่วันก็มีเครื่องบินมาโจมตีอีก ลูกหนึ่งตกลงใกล้บ้านพักของข้าพเจ้าทำให้ทหารญี่ปุ่นบาดเจ็บ สืบถามได้ความว่าไปรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสนาม โรงเรียนมหาวชิราวุธ ข้าพเจ้าไปเยี่ยมเห็นถูกตัดแขนขวา ที่นั่นมีทหารมารักษาตัวอยู่มากมาย

    ที่ริมถนนหน้าบ้านพระเพชรคีรี อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข เห็นเอาหินก่อเป็นรูปคล้ายๆ เจดีย์ เขาว่าญี่ปุ่นถูกระเบิดตายที่นี่หลายคน อนุสาวรีย์นี้ต่อมาก็ถูกรื้อทิ้ง

   ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทิ้งระเบิดของบทความสิ้นสุดเพียงเท่านี้

   



    ภาพประกอบคืออาคารที่มีชื่อเรียกกันว่า ‘บ้านสงครามโลก’ เป็นอาคารเก่าที่ตั้งอยู่ตรงแยกถนนนครนอกตัดกับถนนยะลา อาคารหลังนี้มีความสำคัญคือน่าจะเป็นอาคารเก่าเพียงหลังเดียว ที่รอดพ้นจากการถูกทิ้งระเบิดโดยกองทัพอากาศอังกฤษ เป็นอาคารคอนกรีต สไตล์เดคโค่สูงสามชั้น

    บ้านสงครามโลกเริ่มสร้างปี 2481แล้วเสร็จปี 2483  เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ก่อผนังอาคารด้วยอิฐเผาโบราณ เหล็กโครงสร้างอาคารใช้เหล็กชนิดเดียวกับเหล็กสร้างสะพานรถไฟ คอนกรีตเป็นเนื้อแบบปูนนำ้อ้อย มีความแข็งแกร่งทนทานต่อแรงระเบิดมาจนถึงปัจจุบัน

   วันที่ 17 กรกฎาคม 2488 หลังเที่ยงวัน บ้านสงครามโลกถูกโจมตีทางอากาศพร้อมบ้านหลังอื่น ทว่าอาคารยังคงยืนตระหง่านดังเดิมและกลายเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนจนถึงปัจจุบัน
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.088 วินาที กับ 19 คำสั่ง