เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 25 26 [27] 28 29 ... 37
  พิมพ์  
อ่าน: 71522 Dramatic license กับ ข้อเท็จจริง ในหนังอิงประวัติศาสตร์
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33593

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 390  เมื่อ 30 ม.ค. 18, 14:12

ดูตอนที่ 14 (1/6)  ก็เจอฉากพระพิมานอนันดา เป่าขลุ่ย  ท่วงทำนองเพลงคุ้นๆ  ฟังสักพัก  คิดว่าไม่น่าจะเป็นเพลงอื่นนอกจากลาวคำหอม
ถ้าเป็นเพลงนี้ก็แสดงว่า พระพิมานคงจะโดยสารไปกับแม่บุษบาบรรณ ทะลุมิติออกสู่ยุครัตโกสินทร์ได้ในรัชกาลที่ 6
ก่อนจะกลับมาสมัยอยุธยาตอนปลาย

ตามประวัติเพลงลาวคำหอม ผู้แต่งคือจ่าเผ่นผยองยิ่ง (โคม) ซึ่งเรียกโดยทั่วไปว่า "จ่าโคม" แต่งทั้งบทร้องและทำนองการร้อง ต่อมา พระยาประสาน ดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) จึงแต่งทำนองดนตรีขึ้นสำหรับบรรเลงรับร้อง โดยถอดจากทำนองร้องของจ่าเผ่นผยองยิ่งอีกชั้นหนึ่ง ได้รับความนิยมแพร่หลายในวงการดนตรีทุกชนิดจนปัจจุบัน



บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 391  เมื่อ 30 ม.ค. 18, 15:03

          ผกก.ใช้อภิสิทธิ์จับเพลง"ล้ำยุค" หลายเพลงมาใส่ในละครตามความที่เห็นว่าเหมาะสมกับอารมณ์,
เนื้อเรื่อง ทั้งเพลง บังใบ และลาวคำหอม (คงจะ)สื่อเรื่องรักสามเส้าเราสามคนที่กำลังจะตามมา, เพลงจากเรือน
เหมือนนกจากรัง ตอนคุณพิมานจะออกจากเรือนบุษบาคราวก่อน, เพลงบุหลันลอยเลื่อน ในคืนส่งตัวแม่นางแข
นอกจากนี้ยังมีเพลงบรรเลงสั้นๆ ที่เรียบเรียงได้เหมือนกับตอนท้ายเพลงท่อนที่สองของ From the New World
Symphony โดย Dvorak ที่มีคนนำมาใส่คำร้องเป็นเพลง Goin' Home ประกอบซีนที่เกี่ยวกับการกลับคืนมา(บ้าน)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33593

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 392  เมื่อ 30 ม.ค. 18, 15:21

จริงค่ะ   อภิสิทธิ์เพลงทั้งนั้น
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12607



ความคิดเห็นที่ 393  เมื่อ 30 ม.ค. 18, 15:22

"ลาวคำหอม" น่าจะเป็นเพลงโปรดของหม่อมท่าน

ศรีอโยธยา



แม่เบี้ย



สี่แผ่นดิน

บันทึกการเข้า
เขียวนเรศ
อสุรผัด
*
ตอบ: 0


ความคิดเห็นที่ 394  เมื่อ 30 ม.ค. 18, 15:47

ขออนุญาติโพสต์รวมกระทู้เนื้อหาใน pantip

ได้อ่านหลายๆคอมเม้นท์ในยูทูป แล้วก็รู้สึกตลกในตรรกะของคนดูบางคนที่ว่า คุณน้อยเป็นม.ล. เลยรู้ธรรมเนียมดี ตรรกะนั้นคงใช้ได้กับม.ล.บางท่าน แต่อาจจะใช้ไม่ได้กับคุณน้อย ก็ยังงงอยู่ว่าเป็น ม.ล. แต่ทำไมคุณน้อยดูเหมือนไม่ค่อยรู้ธรรมเนียมอะไรในวังเลยเสียจริงๆ ทั้งๆที่อายุของคุณน้อยก็จัดว่าไม่น้อยแล้ว น่าจะทันพวกเจ้านายที่เคยอยู่ในรั้วในวัง และคาดว่าน่าจะเคยได้รับฟังเรื่องราวประเภทนี้มาบ้าง โดยส่วนตัวเราไม่ได้ติดตามเรื่องนี้บ่อยนัก เพราะเปิดมาทีไรก็รู้สึกตะขิดตะขวงใจตลอด มันทำให้ไม่สามารถดูละครเรื่องนี้ได้อย่างราบรื่น และคิดว่าคงมีอีกไม่น้อยที่รู้สึกเหมือนเรา เท่าที่เห็นว่ามันผิดจากธรรมเนียม ก็อย่างเช่น

1. ฉากเข้าเฝ้า ทำไมให้ข้าราชการระดับคุณหลวง ถึงสามารถไปนั่งหมอบกระแตอยู่หน้า พระยาได้ตลอดเวลา
2. ทำไมพระเจ้าอุทุมพร พระเจ้าเอกทัศ ถึงเรียกใช้แต่ข้าราชการชั้นผู้น้อย ทั้งๆที่ในการสงครามหรืองานเมืองน่าจะเรียกหา ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่
3. คุณกำนัลนารีสังข์ ทำกิริยาที่ไม่สมควรอยู่ในวังเลย แม้จะบอกว่าสร้างขึ้นเพื่อเป็นสีสัน นักเทศ ขันที จริงๆ รูปร่างเป็นชาย เป็นพวกแขก กับพวกจีน ไม่มีที่จะแต่งตัวแบบนี้
4. พระเจ้าเอกทัศ ทำไมต้องสวมพระมหามงกุฎอยู่ตลอดเวลา ไม่เว้นแม้แต่ จงกรม ทั้งๆที่ความจริงเราเพิ่งมาถือว่าพระมงกุฎสำคัญก็ล่วงเข้าสมัยรัชกาลที่ 4 แล้ว
5. พระพันวสาน้อย ทำไมต้องห่มสไปเต็มยศตลอดแม้เวลาอยู่ในฝ่ายใน ทั้งๆที่ปกติจะผลัดเป็นผ้าคาดอกทั้งนั้น เพราะสบายและคล่องตัวกว่าเยอะ
6. เจ้าจอมที่คุณญิ๋งแสดง ทำไมถึงมีสิทธิ์ขึ้นเสลี่ยงในเขตวังหลวง ทั้งๆที่ปกติขนาดเจ้านายระดับพระองค์เจ้ายังต้องเดิน แถมพนักงานเสลียงยังเป็นผู้ชายอีก ผิดทั้งทำธรรมเนียม ผิดทั้งจารีต
7. รุจจาเทวี เป็นชื่อพระองค์เจ้า ไม่ใช่เจ้าฟ้า เจ้าฟ้าในรัชกาลนี้ที่ปรากฏชื่อมีเพียงพระองค์เดียวคือ "เจ้าฟ้าสิริจันทรเทวี" พระธิดาตัวจริงของ"กรมขุนวิมลภักดี" แต่คุณน้อยกลับไปหยิบเอาพระนามพระองค์เจ้าลูกพระสนม สถาปนาเป็นเจ้าฟ้าไปซะเฉยๆ ทั้งๆที่ก็มีพระนามเจ้าฟ้าพระองค์จริงปรากฏอยู่ชัดเจนแล้วแท้ๆ
8. เจ้าฟ้า ไม่ไหว้ไพร่แน่นอนในสมัยก่อน อย่างช้าสุดธรรมเนียมนี้ยังถือกันอยู่จนถึงรัชกาลที่ 5 พวกที่บอกว่าเจ้าไหว้ไพร่ได้นั้นเพราะ ธรรมเนียมมันเคลื่อนมามากแล้ว เอาไปเทียบกันไม่ได้ สมัยที่ศักดินาเข้มข้นมันต่างกับสมัยเราเยอะ
9. พระอิสริยยศ พระอัครมเหสีในสมัยอยุธยาเป็น "กรมขุน หรือกรมหลวง" เพราะฉะนั้นเป็น กรมขุนพิมลภักดี ถ้าจะยอพระเกียรติท่านจริง ก็ไม่ควรไปลดยศพระองค์ท่าน เป็นแต่เพียง "กรมหมื่น"
10. เด็กหญิง/เจ้าหญิง ที่ยังไม่โกนจุก/โสกันต์ จะไม่ห่มสไบ
11. บุษบาบรรณ นี่คือชื่อ ไพร่สมัยอยุธยาจริงๆหรือ เข้าใจว่าเป็นนางเอก แต่ก็ควรตั้งชื่อให้เหมาะสม เจ้าฟ้าสมัยนั้น ชื่อ นิ่ม สังวาล ประชาวดี พระองค์เจ้าชื่อแมงเม่า มังคุด รถ นี่เป็นเพียงไพร่ถึงจะบอกว่ามีเชื้อสายพราหมณ์ก็เถอะ ถ้าชื่อหรูกว่าเจ้า รับรองอยู๋ในวังไม่รอด มีแต่คนเกลียดไม่เป็นที่โปรดปรานแบบนี้หรอก เพราะประพฤติเสมอ เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ตั้งชื่อสูงเกินศักดิ์
12. ฉากถวายตัว นี่ก็สุดบรรยาย นึกว่ารำแก้บน
13. เกือบลืม คุณพวงแก้ว (ไม่แน่ใจว่าใช้ชื่อนี้ไหม) เชิญรับยาที่ช่องเบอร์ 6 เถอะ ล้นจนไม่รู้จะล้นยังไง ไม่รู้ว่าผู้กำกับเป็นคนบอกให้ถ่ายทอดแบบนี้รึ่เปล่า คือ มัน out of reality มาก
14. พระเจ้าอุทุมพร ห่มลูกบวบ คือ สรุปเป็นรามัญนิกาย ไม่ใช่ลังกาวงศ์แล้วหรืออย่างไร

ขอเพิ่มเติมจากเพื่อนๆที่ช่วยกันให้ข้อมูลที่อาจจะบิดเบี้ยวทีปรากฏในละครเรื่องนี้

15. พกดาบเข้าเฝ้า ไม่มีแน่นอน ผิดกฎมณเฑียรบาลยกเว้นแต่ราชองครักษ์ที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยเท่านั้นถึงมีสิทธิ์พกอาวุธในเขตพระราชฐาน
16. สมัยอยุธยาไม่ใส่เสื้อเข้าเฝ้า เพิ่งเริ่มมีสมัยรัชกาลที่ 4 อันที่จริงเรื่องนี้ไม่เป็นไร เพราะคุณน้อยอาจจะคิดว่าอุจาดเลยให้ใส่เสื้อ แต่กระทั่งชมตลาดยังใส่เสื้อเต็มยศนี้เกินไปนิดนึง
17. การพูดไทยคำอังกฤษคำ เช่น รับ tea ไหมจ๊ะ ถามจริงๆคนเรียนเมืองนอกเค้าพูดแบบนี้หรือ พูดรับชาไหมจ๊ะ จะดูระรื่นหูกว่าไหม
18. พระเกี้ยว คงไม่ได้ใส่ตลอดทั้งวี่ทั้งวัน ปกติยังไม่ตัดจุกจะร้อยมาลัยสวมรอบพระเมาฬี(จุก) พระเกี้ยวคงใช้เฉพาะในพระราชพิธีโสกันต์ เกศากันต์ หลังตัดจุกคงไว้ผมยาว ก็ไม่ใส่พระเกี้ยวอยู่ดี ใส่มากๆระวังไมเกรนจะพาลรับประทานเอา
19. พระพันวสาน้อยพระราชทานเกี้ยวทองกับปิ่นทองรับขวัญหลานพระสนม เราอุทานเบาๆ สมัยก่อนจะให้อะไรแก่ใครต้องคำนึงถึงฐานันดรเสมอ เจ้าฟ้าใช้เครื่องทอง หม่อมเจ้าใช้เครื่องเงิน ไม่มีสิทธ์ใช้เครื่องทองเพราะสูงเกินศักดิ์ หม่อมราชนิกูลใช้เครื่องนาค การที่พระพันวสาน้อยซึ่งย่อมต้องรู้ธรรมเนียมพวกนี้เป็นอย่างดี มีรึที่จะพระราชทานเครื่องทองให้
20. พระสยามเทวาธิราช ประเด็นแรกชาวอยุธยา เรียกตัวเองว่า คนไทย เรียกกรุงศรีอยุทธยา (เขียนตามตัวสะกดดั้งเดิม) แบบลำลองว่ากรุงไทย เราไม่เคยเรียกตัวเองว่า สยามจนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งนำไปสู่ประเด็นถัดมาคือ พระสยามเทวาธิราชก็เพิ่งมามีในรัชกาลที่ 4 นี่เอง ที่ถูกน่าจะบอกว่า พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง มากกว่า

21. บนพระแท่นราชบัลลังก์ สามารถให้ขุนนางขึ้นไปยืนได้ด้วยหรือ.... ถ้าหากว่าทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตจริง พระยานาหมื่นผู้นั้น แนะนำให้ระวังตัวให้มากๆ เพราะนั่นแสดงว่าทรงเคลือบแคลงพระราชหฤทัยในตัวท่านแล้วทรงลองใจ ถ้ายังกล้าขึ้นไปยืน เสร็จพระราชพิธียังมิทันจะกลับถึงบ้าน อาจต้องพระราชอาญาขบถ ถูกฟันคอริบเรือนในไม่ช้านี้แล
22. เห็นมาหลายตอนแล้ว เจ้าฟ้าสุทัศน์เปลือยท่อนบน แต่พิมานข้ารับใช้ยังสวมเสื้ออยู่ได้หน้าตาเฉย
23. ขุนนางที่อ่านประกาศพระบรมราชโองการ ถามจริงๆ ไม่ต้องบอกว่าเกิดทันหรือไม่ทัน แค่เอาความเป็นมนุษย์ปุถุชนเข้ามาจับ เราพูดกับแบบนั้นจริงๆรึเปล่า อ่านเสร็จก็เชิดแล้วตั้งวงตีลังกาด้วยเลยดีไหม

            พวกที่บอกว่าสำเนียงหลวงของกรุงศรีอยุธยาคือ สำเนียงแบบพากย์เจรจาโขน หรือสำเนียงสุพรรณ เราจะขอแย้งด้วยหลักฐานที่มีระบุเอาไว้ชัดๆตามข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ตอนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 พม่ากวาดต้อนผู้คนในกรุงศรีอยุธยาไปเกือบจะหมด เหลือไว้รั้งพระนครแค่ 2 หมื่นได้มั้ง ประชากรส่วนใหญ่กรุงศรีอยุธยาในช่วงหลังจากสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นต้นมา ได้มาจากการกวาดต้อนหัวเมืองเหนือ หัวเมืองมอญ เขมร และจีนเข้ามาทั้งนั้น นั่นคือ หลังจากรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรเป็นต้นมา แทบจะหาคนกรุงศรีฯรุ่นดั้งเดิมไม่ได้แล้ว แล้วเรายังจะสามารถสรุปแบบกำปั้นทุบดินว่า สำเนียงโขนเป็นสำเนียงหลวงดั้งเดิมของกรุงศรีอยุธยาได้อีกหรือ แน่ใจได้อย่างไรว่าไม่ใช่สำเนียงที่เกิดการควบรวมระหว่าง ไทย ลาว มอญ เขมร ในขณะนั้น ไม่ทราบว่าท่านเหล่านั้นหรือท่านทั้งหลายที่เห็นด้วยความคิดเรื่องสำเนียงเจรจาโขนนี้ พอจะตอบข้อสงสัยเราได้บ้างไหม

          แล้วที่บอกว่าสำเนียงรัตนโกสินทร์เนี่ย ผสมสำเนียงจีน สำเนียงเจ๊ก เนี่ย มันเป็นอย่างนั้นจริงๆรึเปล่า เรามีเพื่อนที่พ่อแม่เค้า จี๊นจีน คือ พูดภาษาไทยยังไม่ชัด ใช้อั๊ว ใช้ลื้อ ม่ายล่าย อะไรประมาณนี้ ถามว่าเพื่อนเรามีสำเนียงผสมระหว่างพ่อแม่เค้า กับสำเนียงไทยรึเปล่า คำตอบคือ ไม่ แล้วเอาตรรกะอะไรมาคิดว่า สำเนียงกรุงเทพฯปัจจุบันเป็นสำเนียงผสม 

           ที่เราพยายามจะบอกคืออย่าหลงเชื่อนักวิชาการอย่างหัวปักหัวปำ เช่น กรณีที่บอกว่า สำเนียงสุพรรณหรือสำเนียงแบบเจรจาโขน เป็นสำเนียงหลวงของราชสำนักกรุงศรีอยุธยา ถามว่าท่านเหล่านั้นได้คิดรอบคอบหรือยัง มีหลักฐานเพียงพอในการมารองรับหรือไม่ เท่าที่เห็นก็เพียงแต่นั่งยันนอนยันว่าถูกเฉยๆ พอพูดบ่อยๆเข้า พูดซ้ำๆ ออกสื่อบ่อยๆ กลายเป็นน่าเชื่อถือ กลายเป็นเรื่องจริงไปซะอย่างนั้น

24. ฉากพระราชพิธีสถาปนาพระอิสริยยศ กรมพระราชวังหน้า สรุปคือ กรมพระเทพามาตย์ กรมหมื่นวิมลภักดี(ในเรื่อง) กลายเป็นต้องกราบพิมานไปด้วย เพราะถือพระแสงดาบตามหลังอยู่ ตามธรรมเนียมแล้วฝ่ายในจะไม่เข้ามาร่วมในงานของฝ่ายหน้าโดยไม่จำเป็น เพื่อหลีกเลี่ยงการพบปะระหว่างข้างหน้ากับข้างใน และเลี่ยงความอิหลักอิเหลื่อ เรื่องนี้ยึดเป็นธรรมเนียมมาจนกระทั้งสมัยรัชกาลที่ 6 เพราะปรากฏว่าพระราชชนนีของท่าน ก็ไม่ได้เข้าร่วมสรงน้ำพระองค์ท่านในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เนื่องจากไม่มีธรรมเนียมให้ฝ่ายในเข้าร่วมพระราชพิธีนั่นเอง

25. แต่โบราณมา ในบรรดาเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ทั้งหมด ในบ้านเมืองแถบนี้ ถือเอาพระขรรค์เป็นใหญ่ รองลงมาคงเป็นพระมหาเศวตฉัตร ส่วนพระมหามงกุฎ ไม่ได้มีความสกัดสำคัญสักเท่าไรนัก สังเกตได้จากว่าเราไปตีกรุงละแวกทีไร พระครูพราหมณ์กรุงละแวกต้องเอาพระขรรค์ไปซ่อนตลอด เพราะมันเป็นเครื่องแสดงถึงสิทธิ์อันชอบธรรมเหนือราชสมบัติ ส่วนพระมหามงกุฎปกติในพระราชพิธีบรมราชาพิธีทรงรับการถวายจากพระราชครู แล้วทรงส่งต่อให้เจ้าพนักงาน
มิได้ยกขึ้นสวมเหนือพระเศียร เพิ่งมาทรงสวมตามอย่างตะวันตกในรัชกาลที่ 4 นี่เอง
          ถึงจะบอกว่ามันเป็นเพียงละคร แต่ละครก็ควรจะสอดแทรกเกร็ดความรู้ที่ถูกต้องให้กับผู้ชม โดยเฉพาะเด็กๆที่ไม่มีผู้รู้คอยให้คำแนะนำ จะจำไปผิดๆได้ ไม่ใช่สักแต่จัดฉากสวย เสื้อผ้าหน้าผมอลังการ เครื่องประกอบฉากดูไฮโซ นั่นจริงๆแล้วเป็นแค่ส่วนเสริมให้ละครออกมาน่าดูเท่านั้น สิ่งที่ผู้จัดและผู้กำกับทั้งหลายควรให้ความสำคัญที่สุด ควรจะเป็นเนื้อหาความถูกต้อง เพื่อให้คนไทยรุ่นหลังอย่างพวกเราๆได้เกิดความภาคภูมิใจว่า เราเป็นชาติหนึ่งที่มีประวัติศาสตร์ มี"ราก" มีความเป็นมาที่ช้านาน ซึ่งสามารถถ่ายทอดออกมาได้โดยผ่านจารีต ประเพณีและธรรมเนียม (ที่บางท่านอาจจะคิดว่ายุบยิบหยุมหยิมเหล่านี้) และยังเป็นการแสดงความเคารพต่อบรรพบุรุษที่ท่านได้สละเลือดเนื้อและชีวิตเพื่อให้เรามีแผ่นดินอาศัยอยู่มาจนถึงบัดนี้ได้อย่างแท้จริง

          จริงๆแล้วการหาข้อมูลคิดว่าไม่ได้หนักหนาหรือยากลำบากอะไรเลยอะไรเลย ถ้าจะให้วิจารณ์ตรงไปกว่านี้คือ เทียบกับ ฟ้าใหม่ สายโลหิต นิราศสองภพ รัตนโกสินทร์ ไม่ได้เลย ทั้งๆที่ละครเหล่านี้ไม่ได้มีฉากอลังการอะไร แต่กลับสะท้อนสภาพสังคมที่เป็นจริงในสมัยก่อนออกมาได้อย่างดีเยี่ยม นี่ถึงจะเรียกว่าละครที่มีคุณภาพ และรับผิดชอบต่อสังคม

          จุดประสงค์ของการตั้งกระทู้นี้นอกจากต้องการเผยแพร่สิ่งที่ถูกต้องแล้ว ยังแอบหวังใจเล็กๆว่ามันจะไปถึงทางทีมผู้จัด โดยเฉพาะคุณน้อย ทุกคนล้วนเคยทำเรื่องผิดพลาดมาแล้วทั้งนั้น แต่สำคัญคือต้องแก้ไข หวังว่าคุณน้อยคงใช้สิ่งที่เกิดขึ้นในเรื่องนี้เป็นบทเรียน และปรับปรุงให้ดีขึ้นในละครหรือภาพยนตร์เรื่องหน้าต่อๆไป ถ้าคุณน้อยใส่ใจให้ความสำคัญกับเรื่องพวกนี้มากขึ้น รับรองว่าละครของคุณน้อยจะต้องออกมาอย่างสมบูรณ์แบบ เป็นที่ชื่นชมในทุกด้านอย่างแน่นอน

          อนึ่ง เราได้มีโอกาสเข้าไปอ่านในเว็ปเรือนไทย ตามคห.ที่ 63 แล้ว มีเนื้อหาและสาระกว่าเราเยอะมาก โดยเฉพาะข้อมูลในเชิงลึก แต่ที่ตรงกับใจเราของเป็นโพสต์ของคุณเพ็ญชมพูในหน้า 26 ซึ่งมีกลอนอันไพเราะและมีใจความซึ่งตอบจุดประสงค์การโพสต์ของเราได้เป็นอย่างดี ขออนุญาตนำมาลงไว้ใน ท้ายที่สุดนี้

                                                                       หลายอย่างนั้นผิดเพี้ยน           
                                                             แม้จะเขียนว่าตั้งใจ
                                                             เทิดซึ่งพระเกียรติไว้                     
                                                             ด้วยใจหมายสดุดี
                                                                       ผิดทั้งประวัติศาสตร์           
                                                             ผิดทั้งราชประเพณี
                                                             ผิดแล้วฤๅควรที่                               
                                                             จะนิ่งไว้ไม่ชี้แจง
บันทึกการเข้า
เขียวนเรศ
อสุรผัด
*
ตอบ: 0


ความคิดเห็นที่ 395  เมื่อ 30 ม.ค. 18, 15:47

ตอบข้อซักถามเพิ่มเติม

6. // แล้วเสลี่ยงใครมีสิทธินั่งได้บ้างคะ -- เจ้านายชั้นสูง  จริงๆเรายังไม่ได้กลับไปเปิดกฎมณเฑียรบาลเพราะหนังสืออยู่อีกบ้านนึง แต่ที่ทราบและมีหลักฐานคือ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์เคยทรงเสลียงมาเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แต่ก็เป็นเพียงจากภายนอกเข้ามาถึงทิมดาบซึ่งอยู่ไม่ไกลจากประตูกำแพงพระราชวังเท่านั้น ส่วนในสมัยรัตนโกสินทร์ก็มีรัชกาลที่ 3 ครั้นยังดำรงพระอิสริยยศที่ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ โดยทรงวอประเวศวังมาเข้าเฝ้ารัชกาลที่ 2 ทั้งสองพระองค์ล้วนเป็นพระบรมวงศ์องค์สำคัญในรัชกาลนั้นๆทั้งสิ้น
          อีกประการหนึ่งถ้าคุณได้มีโอกาสไปเที่ยวชมพระราชวังโบราณแล้ว จะเห็นได้ว่า เขตที่อยู่ของฝ่ายในที่เรียกว่า "ท้ายสนม" นั้นเนื้อที่ไม่ได้กว้างขวางเท่าใดเลย คงไม่เหมาะที่จะแห่แหนไปด้วยเสลี่ยง และในความเป็นจริงก็คงไม่มีความจำเป็น เนื่องจากพระราชวังหลวงกรุงศรีอยุธยามีฉนวนสำหรับพระมหากษัตริย์และฝ่ายในยาวจากทิศเหนือจรดทิศใต้ของพระราชวัง จึงไม่มีความจำเป็นที่ฝ่ายในจะต้องนั่งเสลี่ยงแต่ประการใด

7. // รุจจาเทวี เป็นพระนามของพระองค์เจ้าลูกเธอ ในสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ พระองค์หนึ่งประสูติแต่เจ้าจอมมารดาแม้นพระสนมเอก ร่วมพระครรโภทรกับพระองค์เจ้าชายสุทัศน์ ส่วนพระนามเจ้าฟ้าในรัชกาลดังกล่าวที่พบ ตามคำให้การชาวกรุงเก่ามีเพียงพระองค์เดียวคือ เจ้าฟ้าหญิงสิริจันทรเทวี ซึ่งประสูติแต่ กรมขุนวิมลภักดี พระอัครมเหสี

9.// พระอิสริยยศ พระอัครมเหสีในสมัยอยุธยาขาดูจากอะไรบ้างว่าตำแหน่งฝ่ายในใครควรเลื่อนยศ เลื่อนยศเป็นอะไรจากยศเดิม -- คงไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว โดยทั่วไปก็สุดแต่พระบรมราชวินิจฉัย แต่โดยทั่วไปมักจะทรงยกย่องพระภรรยาเจ้า โดยเฉพาะพระองค์ที่เป็นพระภรรยาเจ้าตั้งแต่ก่อนขึ้นครองราชสมบัติขึ้นเป็นพระอัครมเหสี ส่วนจะได้ทรงกรมระดับกรมขุนหรือกรมหลวง ยังไม่ทราบเหตุผลในการเลือกที่ชัดเจนเหมือนกัน ส่วนสมเด็จพระบรมราชชนนีทั้งที่เป็นแม่จริงและแม่เลี้ยง ในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา เมื่อทรงขึ้นครองราชย์มักสถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็น "กรมพระเทพามาตย์"

11. //สมัยนั้นไพร่มีชื่อหรือยังคะ และส่วนใหญ่ชื่ออะไรกันเพราะระดับเจ้านายก็ดูจะชื่อธรรมดามากๆแล้วถ้าจะตั้งแบบไม่ให้หรูเกินจะต้องตั้งอย่างไง มีกฏเกณฑ์การตั้งชื่อไหมคะสมัยนั้น -- คงไม่มีกฏเกณฑ์อะไรตายตัว แต่ในสมัยก่อนเรานิยมตั้งชื่อเป็นคำโดด คือ พยางค์เดียว อย่างมากสุดคือ 2 พยางค์ เท่านั้น เราจะยกตัวอย่างจากละครที่คิดว่าพอจะเข้าเค้าแล้วกัน เรื่องสายโลหิตพระเอกชื่อ ไกร นางเอกชื่อ ดาวเรือง, เรื่องฟ้าใหม่พระเอกชื่อ แสน นางเอกชื่อ เรณูนวล(อันนี้ก็เทียมเจ้าเทียมนายเหมือนกัน) , นิราศสองภพพระเอกชื่อ เทียน ส่วนนางเอกที่หลงภพไปชื่อ บัวบุษยา นามสกุลหิรัญมนตรีกุล และก็มีฉากที่ถูกบ่าวรับใช้ของแม่พระเอกค่อนขอดว่า เป็นแค่บ่าวไพร่ แต่ตั้งชื่อราวกับเจ้ากับนาย, เรื่องรัตนโกสินทร์พระเอกชื่อ ฟัก นางเอกชื่อ เพ็ง

         ส่วนบุคคลที่มีชีวิตอยู่จริงๆและเป็นสามัญชน สามารถ search ได้จากรายชื่อเจ้าจอม เจ้าจอมมารดาในรัชกาลต่างๆของกรุงรัตนโกสินทร์ ชื่อก็คงไม่ทิ้งจากแบบนี้มาก ท่านเหล่านี้ก็ล้วนเป็นผู้ลากมากดีทั้งนั้น ยังไม่เห็นมีใครชื่อวิลิศมาหราถึง 3 พยางค์และศัพท์บาลีสันสฤตเหมือนบุษบาบรรณ เลยสักท่านเดียว
บันทึกการเข้า
เขียวนเรศ
อสุรผัด
*
ตอบ: 0


ความคิดเห็นที่ 396  เมื่อ 30 ม.ค. 18, 15:49

 ตอบข้อซักถามเพิ่มเต็มใน pantip

        เราว่าที่คุณเขียนมาก็ถูก แต่ไม่ถูกซะทีเดียว เกาหลีหรือญี่ปุ่นล้วนอ้างอิงมาจากข้อมูลหลักฐานเสมอ แล้วเอามาเติมแต่งส่วนที่ขาดหายไป ในที่สุดมันจะบรรจบเข้ากับประวัติศาสตร์ได้พอดี จะว่าเป็นความโชคดีของชาติเราก็ได้ ที่ถึงแม้ว่าเราจะมีข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ขาดวิ่นอยู่หลายช่วง แต่ช่วงปลายกรุงศรีอยุธยากลับเป็นช่วงที่มีความสดใหม่ ทำให้มีหลักฐานอยู่อย่างกลาดเกลื่อน ทั้งของไทยเอง ของพม่า ของฝรั่ง ถ้าจะกล้าจริง ก็กล้าให้ถูกทางแบบเกาหลี แบบญี่ปุ่นเหมือนที่คุณกล่าวถึง คือ อาศัยข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้ ผูกเรื่องขึ้นมาให้น่าสนใจ มีปมที่ชวนติดตาม โดยส่วนตัวคิดว่าแบบนี้ถึงจะเรียกว่า กล้าอย่างแท้จริง

        สมมุติว่ายกเรื่องเนื้อหาของละครเรื่องนี้ออกไปเพราะว่าไม่ใช่ละครอิงประวัติศาสตร์ ถามว่าละครเรื่องนี้สอบผ่านไหม ก็ต้องตอบตามความเห็นเราว่าไม่ผ่านอย่างแรง ถามว่าตรงไหน ก็ต้องเป็นเรื่องขนบจารีตของละครเรื่องนี้เนี่ยแหละ เราต้องแยกแยะนะว่า ถึงแม้เนื้อหาละครจะลงทะเลไปขนาดไหน แต่เราสามารถรักษาขนบธรรมเนียม จารีต ให้เป็นไปตามครรลองในสมัยนั้นไว้ได้ และมันจะทำให้ละครดูน่าติดตาม ดูสมจริงมากขึ้นโดยไม่ต้องคำนึงถึงเนื้อหาใดๆเลย ซึ่งละครเรื่องนี้ก็ไม่สามารถถ่ายทอดออกมาได้ดีอย่างที่มันควรจะเป็น

         ถามว่าเราสามารถเรียกร้องความเป็นจริงจากละครได้ไหม ก็คงไม่ขนาดนั้น และมันขึ้นกับจุดประสงค์ของละครเรื่องนั้นๆเองด้วย ซึ่งในเรื่องนี้ทางทีมงานคุณน้อยเอง ก็อุตส่าห์โปรดหัวซะดิบดีว่า รังสรรค์ขึ้นเพื่อ "เชิดชูพระเกียรติคุณแห่งองค์พระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าให้ประจักษ์แก่คนรุ่นหลัง" เขียนซะยิ่งใหญ่รัชดาลัยเธียเตอร์ซะขนาดนี้ แน่นอนคนดูหลายๆคนก็คงหวังให้มันตั้งอยู่บนข้อมูลที่ถูกต้องอยู่พอสมควร ไม่เช่นนั้นมันจะเข้าทีว่า ยกย่องในพื้นฐานที่เลื่อนลอย บุคคลที่สมควรถูกยกย่องไม่มีกล่าวถึง แต่บุคคลที่ยังไม่สมควรถูกยกย่องเวลานั้น กลับมีบทบาทมากเหลือเกิน อย่างที่ละครเรื่องนี้ทำอยู่ แบบนี้หรือคือการยกย่องเชิดชูบรรพบุรษของเรา

        จริงๆโดยส่วนตัวเราคิดว่าน่าจะเติมตรงโปรยหัวในทุกตอน ให้ชัดไปเลยว่า ละครเรื่องนี้ผู้สร้างผูกเรื่องขึ้นเองทั้งหมดหาได้มีส่วนใดส่วนหนึ่งตรงกับพระราชพงศาวดารฉบับใดไม่ ธรรมเนียมและเนื้อหาส่วนใหญ่ อาจไม่ต้องด้วยขนบจารีตที่เกิดขึ้นจริงในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นที่เพียงจินตนาการของผู้กำกับและทีมงานล้วนๆ และผู้ใหญ่ควรให้คำชี้แจงแก่เด็กๆอย่างใกล้ชิด ด้วยซ้ำไป คือ ถ้าจะผลิตละครที่ไม่ต้องการให้ผู้ชมคาดหวัง ก็ควรมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย ไม่ใช่โปรยหัวกั๊กๆแบบที่กำลังทำอยู่

         อยากให้เรื่องถัดๆไปคุณน้อยสละงบ 5 เปอร์เซ็นต์จากฝ่ายเสื้อผ้าและสถานที่ อีกสัก 3 เปอร์เซ็นต์จากการโปรโมทหนัง/ละคร มาจ้างนักประวัติศาสตร์ที่เชียวชาญสักท่านมาช่วยชี้แนะ ว่าอะไรถูกอะไรควร หรือถ้ามีอยู่แล้วก็รบกวนรับฟังเค้ามากๆ ไม่อย่างนั้นก็จากออกมาเป็นละครจินตลีลา แฟนตาซีแบบนี้แล

ส่วนเรื่องที่บอกว่าบทอ่อน อันนี้ก็เห็นๆกันอยู่คงไม่ต้องสาธยายเพิ่มเติมอีก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33593

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 397  เมื่อ 30 ม.ค. 18, 16:02

ขอบคุณคุณเขียวนเรศที่นำกระทู้ในพันทิปมาลงให้อ่านกันที่นี่ด้วยค่ะ

มีบางข้อที่อยากเพิ่มเติมนิดหน่อย

11. //สมัยนั้นไพร่มีชื่อหรือยังคะ และส่วนใหญ่ชื่ออะไรกันเพราะระดับเจ้านายก็ดูจะชื่อธรรมดามากๆแล้วถ้าจะตั้งแบบไม่ให้หรูเกินจะต้องตั้งอย่างไง มีกฏเกณฑ์การตั้งชื่อไหมคะสมัยนั้น -- คงไม่มีกฏเกณฑ์อะไรตายตัว แต่ในสมัยก่อนเรานิยมตั้งชื่อเป็นคำโดด คือ พยางค์เดียว อย่างมากสุดคือ 2 พยางค์ เท่านั้น เราจะยกตัวอย่างจากละครที่คิดว่าพอจะเข้าเค้าแล้วกัน เรื่องสายโลหิตพระเอกชื่อ ไกร นางเอกชื่อ ดาวเรือง, เรื่องฟ้าใหม่พระเอกชื่อ แสน นางเอกชื่อ เรณูนวล(อันนี้ก็เทียมเจ้าเทียมนายเหมือนกัน) , นิราศสองภพพระเอกชื่อ เทียน ส่วนนางเอกที่หลงภพไปชื่อ บัวบุษยา นามสกุลหิรัญมนตรีกุล และก็มีฉากที่ถูกบ่าวรับใช้ของแม่พระเอกค่อนขอดว่า เป็นแค่บ่าวไพร่ แต่ตั้งชื่อราวกับเจ้ากับนาย, เรื่องรัตนโกสินทร์พระเอกชื่อ ฟัก นางเอกชื่อ เพ็ง

ถูกต้องค่ะ ชื่อสามัญชนของไทยแต่เดิมตั้งแต่ปลายอยุธยามาจนถึงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 5  นิยมชื่อสั้นๆง่ายๆ อ่านปุ๊บเข้าใจความหมายปั๊บ   ไม่ต้องแปล และส่วนใหญ่ไม่กำหนดเพศ   คือใช้กับชายหรือหญิงก็ได้เหมือนกัน
ก็มีแต่พระนามเจ้าฟ้าบางพระองค์เท่านั้นที่เอามาจากบาลีสันสกฤต เช่นเจ้าฟ้าพินทวดี

ชื่อแม่เรณูนวลนางเอกฟ้าใหม่  ผู้เขียนคือคุณศุภร บุนนาคได้ออกตัวไว้ในเรื่อง โดยให้นางกำนัลอาวุโสบอกแม่พระเอกว่า ไม่มีใครเรียกชื่อเต็ม  เขาเรียกกันว่าแม่นวลเท่านั้น
แสดงว่าท่านผู้เขียนก็รู้ธรรมเนียมการตั้งชื่อในสมัยปลายอยุธยาเป็นอย่างดี    แต่ท่านเป็นคนยุคหลังจากนั้น 200 ปี
 ที่เห็นว่าชื่อของนางเอกนิยายของท่านควรไพเราะเสนาะหูคนอ่านยุคท่าน  ก็เลยตั้งให้ถูกรสนิยมคนอ่าน  ถึงกระนั้นท่านก็ไม่มองข้ามธรรมเนียมเดิมที่จะให้นางเอกมีชื่อสั้นๆง่ายๆ

ชื่อบุษบาบรรณ ถ้ามีจริงสมัยอยุธยาตอนปลาย คงจะถูกเรียกว่า แม่บัน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33593

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 398  เมื่อ 30 ม.ค. 18, 16:13

   หลักการเขียนนิยายหรือละคร(หรือหนัง)อิงประวัติศาสตร์มีหลักข้อหนึ่งว่า คนเขียนจะสมมุติอะไรก็ได้เข้าไปในเรื่อง  ถือเป็นอภิสิทธิ์ของกวี      แต่จะต้องไม่ไปเบี่ยงเบนหรือขัดกับข้อเท็จจริงใหญ่ๆ ที่มีอยู่ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์  ไม่ว่าจะทางกฎหมาย สังคม หรือขนบธรรมเนียมประเพณี
    ผู้แต่ง "สี่แผ่นดิน" สามารถสมมุติให้มีนางข้าหลวงชื่อพลอยอยู่ในวังหลวงได้     พระเอกคือคุณเปรมก็เป็นลูกหลานเชื้อสายพระยาโชฎึกราชเศรษฐีได้   ตาอ้นลูกชายเป็นทหารฝ่ายพระองค์เจ้าบวรเดชได้    แต่ผู้เขียนไม่สามารถเขียนให้แม่พลอยเป็นเพศชาย แม่เอาไปฝากไว้ให้เสด็จทรงชุบเลี้ยงจนโตเป็นหนุ่มในตำหนักได้    ไม่สามารถเขียนให้คุณเปรมกลับกลายจากขุนนางเป็นเจ้าขึ้นมาได้   ไม่สามารถเขียนให้ตาอ้นไปช่วยพระองค์เจ้าบวรเดชจนชนะการสู้รบกับรัฐบาล
    การปรับให้เรื่องสมมุติกลมกลืนเข้ากับข้อเท็จจริงตามหลักฐาน เป็นฝึมือของกวี ในการแต่งอะไรที่อิงกับประวัติศาสตร์
    เราคงจะเห็นได้วรรณคดีอย่างขุนช้างขุนแผน ไม่ได้ระบุเลยว่าพระพันวษาคือพระเจ้าแผ่นดินองค์ไหนของอยุธยา  ทั้งนี้ทำให้กวีมีอิสระที่จะแต่งเติมเหตุการณ์เข้าไปได้ในเนื้อเรื่อง โดยไม่ต้องผูกมัดกับเหตุการณ์ในรัชสมัยใดๆเป็นพิเศษ
    ถ้าศรีอโยธยาจะสมมุติยุคสมัยขึ้นมาเอง ไม่ไปผูกมัดกับวีรกรรมของพระมหากษัตริย์ไทยในอดีตโดยเจาะจงลงไปว่าเป็นการเทิดพระเกียรติ   ก็น่าจะทำให้ลื่นไหลสะดวกใจขึ้นมาก ทั้งคนสร้างและคนดู ได้ใช้จินตนาการได้เต็มที่ 

บันทึกการเข้า
เขียวนเรศ
อสุรผัด
*
ตอบ: 0


ความคิดเห็นที่ 399  เมื่อ 30 ม.ค. 18, 17:19

ขอบพระคุณ คุณเทาชมพูที่กรุณาให้ความรู้เพิ่มเติมครับ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12607



ความคิดเห็นที่ 400  เมื่อ 30 ม.ค. 18, 17:19

ชื่อบุษบาบรรณ ถ้ามีจริงสมัยอยุธยาตอนปลาย คงจะถูกเรียกว่า แม่บัน

มีเพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่งชื่อ "บุศนีย์" รุ่นน้องเรียกว่า "พี่บุด"  เพื่อน ๆ รุ่นเดียวกันก็เรียกว่า "บุด"  

หรืออย่าง "เพ็ญชมพู" เพื่อน ๆ ก็เรียกว่า "เพ็น" ไม่มีใครเรียกว่า "ชมพู" สักคน เห็นมีแต่ในนิยายที่เคยอ่านเรื่องหนึ่งเท่านั้นที่เรียก "เพ็ญชมพู" ว่า "หนูชมพู"  ยิงฟันยิ้ม  ยิงฟันยิ้ม  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12607



ความคิดเห็นที่ 401  เมื่อ 30 ม.ค. 18, 17:46

แต่ที่ตรงกับใจเราของเป็นโพสต์ของคุณเพ็ญชมพูในหน้า 26 ซึ่งมีกลอนอันไพเราะและมีใจความซึ่งตอบจุดประสงค์การโพสต์ของเราได้เป็นอย่างดี

ยินดีที่คุณเขียวนเรศถูกใจ ที่เขียนมิใช่กลอนดอกแต่เป็น "กาพย์ยานี ๑๑"

ผิดแล้วฤๅควรที่   จะนิ่งไว้ไม่ชี้แจง    ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33593

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 402  เมื่อ 30 ม.ค. 18, 18:23

ชื่อบุษบาบรรณ ถ้ามีจริงสมัยอยุธยาตอนปลาย คงจะถูกเรียกว่า แม่บัน

มีเพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่งชื่อ "บุศนีย์" รุ่นน้องเรียกว่า "พี่บุด"  เพื่อน ๆ รุ่นเดียวกันก็เรียกว่า "บุด"  

หรืออย่าง "เพ็ญชมพู" เพื่อน ๆ ก็เรียกว่า "เพ็น" ไม่มีใครเรียกว่า "ชมพู" สักคน เห็นมีแต่ในนิยายที่เคยอ่านเรื่องหนึ่งเท่านั้นที่เรียก "เพ็ญชมพู" ว่า "หนูชมพู"  ยิงฟันยิ้ม  ยิงฟันยิ้ม  ยิงฟันยิ้ม
การเรียกชื่อเล่นที่ตัดออกมาจากชื่อจริง ไม่มีการผูกขาดว่าต้องเอามาแต่คำหน้าเท่านั้น คำหลังก็ได้ ตามใจสมัคร
 
มีเพื่อนช่ื่อ ม.ร.ว. กัลยา  เพื่อนๆทั้งรุ่นก็เรียกเธอว่า หญิงยา  ไม่มีใครเรียก หญิงกัล
เพื่อนอีกคนชื่อ หทัยทิพย์  เพื่อนๆเรียกว่า ทิพย์  ไม่มีใครเรียกเธอว่า หะ หรือ ทัย
คนชื่อชนะ  เรียกสั้นๆว่า นะ น่าจะน่าฟังว่า ชะ   นะคะ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33593

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 403  เมื่อ 30 ม.ค. 18, 19:01

เห็นชุดทรงพระบรรทม(ชุดนอน) ของพระเจ้าเอกทัศ แล้ว ก็น่าจะเป็นอภิสิทธิ์ชุดละครอีกชุดหนึ่ง
ในความเป็นจริง แต่งสองชั้นสามชั้นยังงี้คงร้อนแย่     แล้วตัวนอกที่เป็นเสื้อครุย แต่งเข้านอนด้วยหรือคะ?
ชุดนี้ถ้าจะใส่ให้นอนได้ไม่เหงื่อท่วมตัว   ห้องบรรทมต้องติดแอร์   ปรับอุณหภูมิให้ต่ำกว่า 20   ถึงจะพอไหว



บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 404  เมื่อ 30 ม.ค. 18, 19:26

ผ่านมานานมาก เพิ่งเห็นว่าอาจารย์เทาชมพูและอีกหลานท่านได้ถกกันถึงศรีอโยธยาอย่างละเอียดมาหลายตอน ผมเองก็มีเขียนลงเพจของตัวเองไว้บ้าง เลยขอมาร่วมด้วยนะครับ


เอาเรื่องล่าสุดเมื่อคืนคือมีฉากพิธีอุปราชาภิเษกของตัวละครเจ้าฟ้าสุทัศน์ จึงขอนำจดหมายเหตุพิธีอุปราชาภิเษกของเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ซึ่งเป็นพิธีอุปราชาภิเษกครั้งสุดท้ายในสมัยกรุงศรีอยุทธยามาเทียบเคียงกันนะครับ


รายละเอียดของพระราชพิธีอุปราชาภิเษกครั้งนี้ถูกตีพิมพ์รวมไว้ใน “ตำราแบบธรรมเนียมในราชสำนักอยุธยา” ตอน “ตำราราชาภิเษกครั้งกรุงศรีอยุทธยา” ซึ่งแต่งขึ้นใน พ.ศ. ๒๓๒๖ สมัยรัชกาลที่ ๑ ซึ่งมีบานแพนกระบุว่า

“วัน ๕ ๑๐ฯ ๒ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๔๕ ปีเถาะ เบญจศก (พ.ศ. ๒๓๒๖) เจ้าพระยาเพ็ชรพิไชย เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี พระยาราชสงคราม พระยาอุทัยมนตรี นั่งพร้อมกันแต่งกฎหมายซึ่งทำการพระราชพิธีราชาภิเษกครั้งในหลวงวัดประดู่ไว้สำหรับหอหลวงฉะบับ ๑”

ตำรานี้มีเนื้อหากล่าวถึงพระราชพิธีราชาภิเษกของพระเจ้าอุทุมพรซึ่งเป็นพิธีที่จัดขึ้นครบถ้วนตามขั้นตอนมากที่สุด (สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศและพระเจ้าเอกทัศจัดไม่ครบ) โดยมีการกล่าวถึงพิธีอุปราชาภิเษกของพระองค์ซึ่งเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระองค์สุดท้ายในสมัยอยุทธยาไว้ด้วย ซึ่งจะขอนำมาลงไว้เต็มๆ ให้เห็นภาพชัดเจนครับ


“เมื่อครั้ง ปีฉลู นพศก ในหลวงในพระบรมโกศทรงพระกรุณาสั่งกรมเทพพิพิธ ว่าสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตนั้นให้ยกขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ครั้งนั้นตั้งพิธีสวดพุทธมนต์พระที่นั่งสรรเพ็ชญ์ปราสาท ๓ วัน ตั้งเครื่องทั้งปวงอย่างเฉลิมพระตำหนัก ปลูกโรงริมพระที่นั่งสรรเพ็ชญ์ปราสาท ตั้งเตียงที่สรงมีราชวัตรฉัตรธง ฉัตรเงิน ฉัตรทอง ฉัตรนาก ฉัตรเบญจรงค์ ตามธรรมเนียม ครั้นเข้าที่สรงแล้วพระสงฆ์รดน้ำพระพุทธมนต์แล้ว พราหมณ์ถวายน้ำกรดน้ำสังข์ แล้วทรงพระภูษาลายเขียนทองจีบโจงหางหงส์ ทรงฉลองพระองค์กรองทอง ทรงพระมาลาพระเส้าสูงสีแสด ทรงพระเสลี่ยงแห่เครื่องสูงสามชั้น ลงมาที่พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ เกณฑ์แห่หยุดอยู่ เสด็จลงจากเสลี่ยง เปลื้องเครื่องแต่เครื่องต้นออกเสีย เสด็จขึ้นไปเฝ้าในหลวงบนพระที่นั่ง เมื่อเสด็จกลับลงมานั้นเห็นทรงพระแสงดาบญี่ปุ่นฝักมะขามสำหรับพระราชวังบวร ฯ ทรงอยู่แต่ก่อนนั้นลงมา แล้วขึ้นเสลี่ยงแห่ไปตำหนักสวนกระต่าย แล้วเจ้ากรมเทพพิพิธลงมาสั่งหมื่นเสมอใจราชมหาดเล็กว่าสมเด็จพระเจ้าลูกเธอขึ้นไปเฝ้าบนพระที่นั่ง ล้นเกล้าล้นกระหม่อมพระราชทานพระแสงสำหรับพระราชวังบวร ฯ ให้แล้วพระราชทานพรอวยพระชัยให้เป็นเจ้ากรมพระราชวังบวรสถานมงคลให้รับพระบัณฑูร ให้หมายบอกแก่ข้าทูลลอองธุลีพระบาทฝ่ายทหารพลเรือนให้ทั่วกัน ได้ทราบเกล้าทราบกระหม่อมแต่เท่านี้”
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 25 26 [27] 28 29 ... 37
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.079 วินาที กับ 19 คำสั่ง