เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 5 6 [7] 8 9
  พิมพ์  
อ่าน: 3982 สงครามโลกครั้งที่สอง วันระเบิดลง
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 90  เมื่อ 16 มี.ค. 24, 17:39

     คุ้นๆชื่อกฤช ปุณณกันต์ สมัยเมื่อท่านมียศเป็นพลเอก มีชื่อลงหนังสือพิมพ์และออกข่าวทีวีบ่อย    ถ้าเป็นปัจจุบันก็ต้องเรียกท่านว่าเป็น"บิ๊ก" คนหนึ่ง 
      แต่ตำแหน่งใหญ่ๆของท่านอยู่นอกกองทัพ  เช่นตำแหน่งอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์   ต่อมาามีก้าวเข้าสู่วงการเมือง เป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสหประชาไทย  ได้เป็นวุฒิสมาชิก และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร ในรัฐบาลนายพจน์ สารสิน ต่อมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร


บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 91  เมื่อ 17 มี.ค. 24, 12:37

สถานการณ์เดือนเมษายน 2488

     เรามาพักเบรกจากการทิ้งระเบิดแบบไม่บันยะบันยังจากฝ่ายสัมพันธมิตร เพื่อตรวจสอบสถานการณ์โดยรวมสงครามโลกครั้งที่สองและสงครามมหาเอเชียบูรพา

     -เยอรมันถูกบุกขนาบสองฝั่งใกล้เข้าตาจนเต็มที่ แนวรบด้านตะวันตกทหารฝ่ายสัมพันธมิตรมาพร้อมอาวุธทันสมัย แนวรบด้านตะวันออกทหารรัสเซียจำนวนมหาศาลมาพร้อมความแค้น

     -ที่ฟิลิปปินส์ทหารญี่ปุ่นต้องร่นถอยเข้าสู่ใจกลางป่าใหญ่ นายพลดักลาส แมกอาเธอร์พาทหารทหารฝ่ายสัมพันธมิตรจำนวนมาก ยกพลขึ้นบกเพื่อแย่งชิงพื้นที่กลับคืนตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 1987

     -สหรัฐอเมริกาส่งนาวิกโยธินยกพลขึ้นบกที่เกาะอิโวะจิมะต่อด้วยเกาะโอกินาวะ

     -อินโดนีเซียซึ่งปกครองด้วยผู้นำเข้าข้างญี่ปุ่นถือว่าสงบสุขมากที่สุด

    -ทหารญี่ปุ่นในอินเดียถูกขับไล่กลับคืนสู่พม่าทั้งหมด โดยเฉพาะหลังยุทธการที่อิมผาล เดือนกรกฎาคม 1987 ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นยุทธการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอังกฤษ

    -ออสเตรเลียรอดพ้นจากการรุกรานของญี่ปุ่นร้อยเปอร์เซ็นต์ หนำซ้ำเป็นฝ่ายรุกรานญี่ปุ่นกลับคืนด้วยเครื่องบินทิ้งระเบิดกองทัพอากาศ โดยความสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา

     เรามาชมภาพภาพประกอบจำนวนเครื่องบินรบทหารญี่ปุ่นในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กันต่อ

    ภาพแรกวันที่ 1 พฤศจิกายน 2487 ญี่ปุ่นมีเครื่องบิน 465 ลำ ภาพที่สองวันที่ 30 มีนาคม 2488 หรือถัดมาอีก 5 เดือน ผลจากการทิ้งระเบิดอย่างหนักญี่ปุ่นเหลือเครื่องบินเพียง 268 ลำ

       

       

   เครื่องบิน 268 ลำไม่อยู่ในพม่าตอนเหนือแม้แต่ลำเดียว อยู่ในพม่าตอนใต้เพียง 13 ลำ อยู่ในประเทศไทยจำนวน 3 ลำ อยู่ในอินโดจีนตอนเหนือ 33 ลำ อยู่ในอินโดจีนตอนใต้ 78 ลำ อยู่ในแหลมมลายู 31 ลำ และอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยมากที่สุดอินโดนีเซีย 83 ลำ ลดลงจาก 5 เดือนที่แล้วเท่ากับ 465-268=197 ลำ
บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 92  เมื่อ 17 มี.ค. 24, 12:39

     ตัวเลขบอกอะไรเราบ้างมาวิเคราะห์กันสักนิด

     1.ญี่ปุ่นสูญเสียเครื่องบินรบจำนวนมากจนต้องดึงเครื่องบินจากอินโดนีเซียมาช่วยเสริมทัพ
   
     2.สถานการณ์การรบในพม่าตอนเหนือเข้าขั้นเจียนอยู่เจียนไป เพื่อความปลอดภัยญี่ปุ่นถอนเครื่องบินทั้งหมดกลับสู่ประเทศไทย ส่วนการรบในพม่าตอนใต้ดีกว่าเล็กน้อยทว่าสูญเสียหนักมาก

     3.ทหารญี่ปุ่นในประเทศไทยจำนวนเยอะขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะนครสวรรค์ซึ่งอยู่ห่างสมรภูมิและเคลื่อนย้ายกำลังพลค่อนข้างง่าย

     4.ญี่ปุ่นเสริมเครื่องบินรบในอินโดจีนมากกว่าเดิม ตอนเหนือเพื่อสกัดกั้นทหารจีนที่อาจรุกล้ำเข้ามา ส่วนตอนใต้เล็งเป้าหมายมาที่ทหารไทยเรานี่แหละครับ ถ้าเสรีไทยเปิดหน้าแลกเครื่องบินรบ 78 ลำจะบินข้ามชายแดนเข้ามาโจมตีทันที

     5.การเสริมทัพด้วยเครื่องบินรบรุ่นใหม่จากแผ่นดินแม่ ญี่ปุ่นทำไม่ได้เลยเพราะถูกสกัดกั้นเส้นทางขนส่งโดยเรือดำน้ำกับเครื่องบินทิ้งระเบิด

     อินโดจีนซึ่งถูกปกครองโดยฝรั่งเศส (และฝรั่งเศสถูกปกครองโดยเยอรมัน) มีชะตากรรมไม่แตกต่างจากประเทศไทย ญี่ปุ่นขอใช้พื้นที่ทำการรบกับจีนและเตรียมบุกเข้าประเทศไทย มีการปะทะกันเล็กน้อยแล้วข้าหลวงใหญ่แห่งอินโดจีนก็ขอยอมแพ้ ทั้งที่ตัวเองมีกำลังทหารฝรั่งเศส 50,000 นาย (สี่ในห้าเป็นทหารรับจ้าง) กับกำลังทหารเวียดนามอีก 40,000 นายเยอะกว่าไทยด้วยซ้ำ ข้อตกลงที่ทำร่วมกันญี่ปุ่นจะส่งทหารประจำการในอินโดจีนไม่เกิน 50,000 นาย

     สู้ไม่ได้ก็ยอมหมอบไม่ใช่เรื่องแปลก สมัยนั้นแค่ประเมินกำลังก็รู้แล้วใครแพ้ใครชนะ

     การทิ้งระเบิดอย่างรุนแรงและต่อเนื่องโดยเฉพาะในพม่าซึ่งเป็นสนามรบใหญ่ ได้รับผลตอบแทนค่อนข้างดีจนกลายจุดพลิกผันสงครามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทว่าการทิ้งระเบิดอย่างหนักโดยสหรัฐอเมริกายังเหลือเวลาอีก 1 เดือน ฉะนั้นหวอเตือนภัยในประเทศไทยยังคงดังกระหึ่มต่อไป
บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 93  เมื่อ 17 มี.ค. 24, 12:42

พลเอกกฤชถือเป็นบิ๊กได้จริงๆ ครับอาจารย์ สมัยรบก็มีผลงานโดดเด่น เป็นนักการเมืองก็ขึ้นถึงผู้ร่วมก่อตั้งพรรคและรัฐมนตรี
บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 94  เมื่อ 18 มี.ค. 24, 12:24

ความมืดมาเยือน

     วันที่ 7 เมษายน 2488 เครื่องบินขับไล่ P-51 จำนวนหนึ่งบุกมาโจมตีสนามบินดอนเมือง เครื่องบินขับไล่ไล่ Ki-43 Hayabusa ที่จอดอยู่ในสนามบินถูกทำลาย 7 ลำ
 
     วันที่ 9 เมษายน 2488 เครื่องบินขับไล่ P-51 จำนวน 40 ลำบุกมาโจมตีสนามบินดอนเมืองครั้งที่ 2 ในรอบ 3 วัน เครื่องบินขับไล่ไล่ Ki-43 Hayabusa กองทัพอากาศไทยจำนวน 2 ลำบินขึ้นสกัดกั้น ผลการโจมตีเครื่องบินทิ้งระเบิด Ki-21-I Nagoya จำนวน 1 ลำกับเครื่องบินชนิดอื่นๆ อีก 3 ลำถูกทำลาย

     เป็นการไล่เก็บแต้มทีละนิดทีละหน่อยตามปรกติแหละครับ เครื่องบินรบทั้งไทยและญี่ปุ่นทยอยหายไปครั้งละเจ็ดลำบ้างสี่ลำบ้าง เป็นการลงทุนที่ใช้งบประมาณสูงแต่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับผลลัพธ์ และบ่งบอกอย่างชัดเจนสงครามคือการเอาเงินจำนวนมหาศาลสาดใส่กัน 

     วันที่ 14 เมษายน 2488 เวลา 15.00 น.ถึง 17.00 น.เครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 ถล่มโรงไฟฟ้าวัดเลียบใกล้สะพานพุทธ กับโรงไฟฟ้าสามเสนถนนศรีย่านเกิดความเสียหายอย่างหนัก กรุงเทพเข้าสู่ความมืดมิดมองไม่เห็นอนาคต ไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้งาน รถรางหยุดเดินรถเป็นการชั่วคราว เนื่องจากโรงไฟฟ้าที่มีอยู่สองโรงกลายเป็นเศษซากไม่อาจทำงานได้

     เป้าหมายสำคัญถูกจัดการในช่วงสงครามใกล้ถึงเวลาสิ้นสุด ต้องถือว่าอเมริกาใจดีกับเราหรือกรุงเทพดวงดีผมไม่แน่ใจ สำหรับเหตุการณ์นี้คุณเจียวต้ายจดบันทึกไว้ตามนี้

    สำหรับโรงไฟฟ้าสามเสนนี้ ผมยืนมองจากระเบียงบ้าน เห็นเครื่องบินเลาะลำแม่น้ำมาจากทางใต้ จึงไม่กลัว เขาปลดลูกระเบิด ตั้งแต่วัดส้มเกลี้ยง เห็นลอยลงมาเรียงยังกับนิ้วมือ พอลับตาไปก็มีเสียงระเบิดดังเป็นกลุ่มก้อน คือไม่ใช่ดังทีละบึ้ม เหลียวมองไปอีกที ปล่องสูงของโรงไฟฟ้าที่เคยเห็นอยู่ทุกวัน ได้หายไปจากสายตาแล้ว

    แม่บันทึกว่า ต่อไปนี้ จังหวัดพระนครจะไม่มีไฟฟ้าใช้ ถ้าเดือนมืดถนนจะมืดตื๋อ รถรางไม่มีเดิน น้ำประปาไม่มีกิน หนังละครไม่ได้เล่น โรงงานต้องหยุดทำ  จักรยานสามล้อ เที่ยวละ ๕-๑๐ บาท น้ำคลองหาบละ ๕๐ ส.ต.ถึง ๑ บาทไม้ขีดกลักละ ๑ บาท น้ำมันก๊าดขวดละ ๘ บาท ปี๊บละ ๔๐๐ บาท แล้วยังหาซื้อยาก ต้องใช้น้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันหมูแทน และไม่มีหวอบอกสัญญาณภัยด้วย ต้องใช้รถดับเพลิงเปิดไซเรนแล่นผ่านถนนต่าง ๆ ได้ยินบ้างไม่ได้ยินบ้าง

 

บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 95  เมื่อ 18 มี.ค. 24, 13:06

การทิ้งระเบิดปิดท้าย

     วันที่ 18 เมษายน 2488 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 ฝูงบิน 95 กองบิน 10 ประเทศอินเดียไม่ทราบจำนวน บินมาถล่มระเบิดประตูน้ำดำเนินสะดวก ประตูน้ำภาษีเจริญ ประตูน้ำบางนกแขวก และประตูน้ำบางยาง เพื่อตัดเส้นทางถอนกำลังของกองทัพญี่ปุ่นจากคลองดำเนินสะดวกมายังแม่น้ำท่าจีน แนวคลองเป็นเส้นตรงช่วยในการนำทางเครื่องบิน ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ส่งผลให้การโจมตีประตูน้ำทั้ง 4 แห่งประสบความสำเร็จ

    วันที่ 29 เมษายน 2488 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 จำนวนหนึ่งโจมตีกรุงเทพเป็นการสั่งลา ทว่าไม่มีรายละเอียดทั้งฝั่งสหรัฐอเมริกาและทางการไทย

     เทศกาลระเบิดจากสหรัฐอเมริกาสิ้นสุดลงแล้ว การโจมตีทางอากาศห่างไปเกือบ 1 เดือนเต็ม ต่อมาในวันที่ 30 พฤษภาคม 2488 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 บินมาโจมตีสะพานข้ามแม่น้ำแควครั้งที่ 5 ในเวลา 17.00 น. เหตุผลก็คือญี่ปุ่นพยายามซ่อมสะพานฝ่ายสัมพันธมิตรจำเป็นต้องลงมือ ต่อมาในเวลา 18.00 น.เครื่องบิน B-24 ลำหนึ่งบินมาทิ้งยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์จำนวน 30 ชุด

     วันที่ 1 มิถุนายน 2488 เครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 จำนวน 8 ลำบินมาทิ้งทุ่นระเบิดที่ปากน้ำ สมุทรปราการ ต่อด้วยโจมตีสะพานข้ามแม่น้ำแควครั้งที่ 6 ให้เสียหายอย่างเด็ดขาด

    วันที่ 10 กรกฎาคม 2488 มีการทิ้งระเบิดสะพานรถไฟสายไทย-พม่าครั้งสุดท้าย ต่อด้วยโจมตีสะพานจุฬาลงกรณ์ที่ราชบุรีครั้งที่ 5 ในเวลา 14.30 น. ครั้งนี้สามารถทำลายสะพานดำข้ามแม่น้ำแม่กลองในตำนานสำเร็จลุล่วงตามความตั้งใจ

     วันที่ 18 กรกฎาคม 2488 เวลา 13.00 น.ถึง 15.00 น.เครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 จำนวน 3 ลำบินผ่านสนามหลวงค่อนข้างต่ำเป็นพิเศษ เพื่อโปรยยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์จำนวน 18 ชุดพร้อมใบปลิวจำนวนมหาศาล โดยมีเครื่องบินขับไล่ P-51 สองลำตัวจำนวน 8 ลำทำหน้าที่คุ้มกัน หน่วยงานที่จัดเก็บยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ไปคือหน่วยกองพลรักษาพระนครซึ่งเป็นเสรีไทยของกองทัพบก  กับกำลังพลเสรีไทยสายพลเรือนซึ่งไม่มีการเปิดเผยรายชื่อ

     นี่คือครั้งแรกและครั้งเดียวที่เครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 บินต่ำกว่า 20,000 ฟุต

     บังเอิญแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ไกลจากสนามหลวงจุดที่ B-29 บินผ่าน มีเรือดำน้ำกองทัพเรือไทยลำหนึ่งชื่อเรือหลวงวิรุณจอดจอดเทียบท่าราชวรดิษฐ์ (ตามข่าวแจ้งว่าเพื่อจ่ายกระแสไฟให้กับคนกรุงเทพพร้อมเรืออีกลำชื่อเรือหลวงมัจฉานุ แต่ผมค่อนไปในทางไม่เชื่อเพราะเรือดำน้ำมีขนาดเล็กมาก) P-51 ซึ่งทำหน้าที่คุ้มกันเห็นเรือดำน้ำจึงปักหัวลงเพื่อยิงขู่หนึ่งชุด กระสุนนัดหนึ่งเฉียดกระบอกปืนใหญ่ขนาดสามนิ้วบนเรือหลวงวิรุณจนแหว่งไปเล็กน้อย

     

     จบแล้วครับ…การทิ้งระเบิดโจมตีใส่ประเทศไทยในสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงเพียงเท่านี้

    ส่วนการโจมตีสถานีรถไฟบางกอกน้อยวันที่ 28 กรกฎาคม 2488 ไม่มีบันทึกในรายงานกรมการบินกองทัพบกสหรัฐอเมริกาและกองทัพอากาศอังกฤษ

    บังเอิญการทิ้งระเบิดโจมตีใส่ประเทศไทยในสงครามโลกครั้งที่สอง ไม่ได้มีแค่เพียงจากกรมการบินกองทัพบกสหรัฐอเมริกาและกองทัพอากาศอังกฤษ วันพรุ่งนี้ผมจะตอนพิเศษยาวๆ เกี่ยวข้องกับภาคใต้ฝั่งอันดามัน เลยมาถึงวันสิ้นสุดมหาสงครามระดับโลกอย่างเป็นทางการ บอกใบ้เล็กน้อยสงครามนี้คือ the empire strikes back


บันทึกการเข้า
visit.pra
อสุรผัด
*
ตอบ: 0


ความคิดเห็นที่ 96  เมื่อ 18 มี.ค. 24, 17:11

คุณ superboy หรือท่านอี่นมีเรื่องที่ฝ่ายสัมพ้นธมิตรทิ้งระเบิดโจมตีเมืองสงขลาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือไม่ครับ เครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตรเคยมาโจมตีสงขลาหลายคร้ังเพราะเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญตั้งแต่การยกพลขึ้นบกผ่านไทยไปมลายาและเป็นที่ต้ังของกองทหารญื่ปุ่น ปัจจุบันยังคงมีต้วตึกที่ถูกระเบิดจากการโจมตีเป็นหลักฐานเหลืออยู่ที่แยกถนนยะลาตัดกับถนนนครนอกในย่านเมืองเก่าของสงขลาครับ
บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 97  เมื่อ 18 มี.ค. 24, 19:11

สงขลาเป็นสมรภูมิที่ไทยรบกับญี่ปุ่นหนักหน่วงมากที่สุด ทั้งเรือพิฆาตและเครื่องบินญี่ปุ่นบุกโจมตีอย่างหนักข้ามมาถึงอีกวัน ต่อมายังถูกฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดใส่กลางเมือง เป็นการโมตีช่วงต้นสงครามเดือนธันวาคม 2485 พอมลายูถูกญี่ปุ่นยึดครองการทิ้งระเบิดก็หายไป

ผมเคยเขียนบทความถึงสงขลาเหมือนกัน แต่เนื้อหาเกือบทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการยกพลขึ้นบกของญี่ปุ่น เดี๋ยวมีเวลาว่างผมหาข้อมูลการทิ้งระเบิดให้ครับ

บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 98  เมื่อ 19 มี.ค. 24, 12:51


ตอนพิเศษ : สงครามเหนือน่านน้ำภูเก็ต

     แรงบันดาลใจที่ผมเขียนบทความนี้นั่นคือ ‘กามิกาเซ่ครั้งแรกและครั้งเดียวในประเทศไทย’

     เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองล่วงเลยมาถึงกลางปี 2487 ญี่ปุ่นตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำต่ออเมริกาและอังกฤษ ทหารจำนวนมากต้องเสียชีวิตรวมทั้งนักบินฝีมือฉกาจ ดินแดนในครอบครองถูกแย่งชิงกลับคืนทีละแห่งๆ ญี่ปุ่นได้พัฒนาอาวุธร้ายแรงชนิดใหม่ขึ้นมาต่อกร ใช้ชื่อเรียกว่ากามิกาเซ่หรือ Kamikaze แปลว่าพายุเทพเจ้า

     กามิกาเซ่คือกองกำลังจู่โจมพิเศษรูปแบบใหม่ ใช้การโจมตีแบบพลีชีพโดยขับเครื่องบินพุ่งชนฝ่ายตรงข้าม เริ่มปฏิบัติการครั้งแรกเดือนตุลาคม 2487 แม่นยำกว่าระเบิดหรือตอร์ปิโดทุกชนิด สร้างความเสียหายได้มากกว่า ทำลายขวัญกำลังใจฝ่ายตรงข้ามได้ดีกว่า ผลสำเร็จจากการโจมตีอยู่ที่ประมาณ 19 เปอร์เซ็นต์

     ขอยกตัวอย่างให้อ่านสักหนึ่งเรื่อง วันที่ 11พฤษภาคม 2488 เรือบรรทุกเครื่องบิน USS Bunker Hill ขนาด 36,000 ตันของอเมริกา ถูกโจมตีด้วยกามิกาเซ่จำนวน 2 ลำ ส่งผลให้เกิดไฟไหม้อย่างรุนแรงบนดาดฟ้า ลูกเรือเสียชีวิต 389 รายสูญหาย 264 ราย เรืออาจยังไม่จมก็จริงแต่เสียหายอย่างหนัก ต้องถอนตัวจากภารกิจเดินทางกลับฐานทัพโดยเร่งด่วน

     ปรกติเรือลำไหนถูกโจมตีด้วยกามิกาเซ่ ถ้าไม่จมก็ต้องเสียหายหนักกลายเป็นภาระเพื่อนๆ ให้บังเอิญมีเรือรบลำหนึ่งแห่งราชนาวีอังกฤษ ถูกกามิกาเซ่ลำหนึ่งพุ่งชนกราบเรือฝั่งซ้ายแบบเต็มเหนี่ยว ทว่าเรือกลับมีแค่เพียงรอยประทับตรายางรูปเครื่องบิน ปรากฏอยู่บนภาพประกอบที่หนึ่งของบทความ

     เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในเขตน่านน้ำไทย บริเวณชายฝั่งไม่ใกล้ไม่ไกลจากเกาะภูเก็ต

    อยากอ่านกันแล้วใช่ไหม…ถ้าเช่นนั้นทุกคนตามข้าพเจ้ามา

    

บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 99  เมื่อ 19 มี.ค. 24, 12:59

ภูเก็ตระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง

     สงครามโลกครั้งที่สองในไทยเริ่มปะทุวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ญี่ปุ่นส่งกำลังทหารยกพลขึ้นบกพร้อมกันหลายจุด มีการปะทะกันก่อนทหารทั้งสองฝ่ายได้รับคำสั่งหยุดยิง รัฐบาลไทยยอมให้ญี่ปุ่นผ่านทางไปยังพม่าและมลายู รวมทั้งเข้าร่วมสงครามในภายหลังจะด้วยเต็มใจหรือไม่ก็ตาม

     ช่วงเวลาดังกล่าวภูเก็ตมีความสำคัญในระดับหนึ่ง ญี่ปุ่นส่งทหารกับพลเรือนมาตั้งค่ายกองสำรวจแผ่นที่บนเกาะ มีเรือสลุปขนาด 1,500 ตันพร้อมเครื่องหยั่งน้ำบนเรือ เพื่อสำรวจร่องน้ำต่างๆ ในอ่าวพังงาและภูเก็ต อันเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางขนส่งปีนัง-ร่างกุ้ง เชื่อมโยงดินแดนมลายูกับพม่าของตัวเองไว้ด้วยกัน

     สองปีแรกเส้นทางเดินเรือไม่มีปัญหากวนใจ ญี่ปุ่นใช้เรือกับเครื่องบินจำนวนมากดูแลคุ้มกัน ต่อมาไม่นานเมื่อสายลมเริ่มเปลี่ยนทิศทาง เรือลำเลียงจำนวนมากถูกเรือดำน้ำอังกฤษยิงจม กำลังทางเรือของญี่ปุ่นมีขนาดลดลง เรือปราบเรือดำน้ำ เรือพิฆาต หรือเครื่องบินทะเลย้ายมาอยู่ฐานทัพเรือปีนังแห่งเดียว

     การลำเลียงยุทธปัจจัยระหว่าง ‘ปีนัง-วิคตอเรียพอยต์-มะริด-ร่างกุ้ง’ เปลี่ยนมาใช้เรือกลไฟขนาดเล็กกับเรือใบลำเลียงติดเครื่องยนต์สร้างด้วยไม้ ญี่ปุ่นใช้เรือยามฝั่งขนาดเล็กทำหน้าที่คุ้มกันเส้นทาง มีปืนกลหนักที่หัวเรือกับตอร์ปิโดที่ท้ายเรือเป็นเขี้ยวเล็บ เห็นเล็กๆ แบบนี้เรือดำน้ำลำหนึ่งเคยถูกเผด็จศึกมาแล้ว

     เส้นทางลำเลียงใช้วิธีเดินเรือเลียบชายฝั่ง ป้องกันตัวเองจากเรือดำน้ำอังกฤษหอกข้างแคร่ และหลบคลื่นลมแรงในช่วงฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ แต่ถึงกระนั้นเรือลำเลียงญี่ปุ่นยังถูกยิงจมอยู่เป็นประจำ โดยลำใหญ่ที่สุดชื่อไทงะมารูระวางขับน้ำ 700 ตัน ถูกยิงจมด้วยตอร์ปิโดมากกว่าหนึ่งนัดมีหลักฐานชัดเจน

     รับชมเรื่องราวจากฝั่งประเทศไทยกันบ้าง การเดินทางจากกรุงเทพมาที่ภูเก็ตยังสามารถทำได้ตามปรกติ เริ่มต้นจากโดยสารรถไฟจากหัวลำโพงมาลงสถานีกันตังจังหวัดตรัง สองทุ่มตรงให้ขึ้นเรือโดยสารสาย ‘กันตัง-กระบี่-พังงา-ภูเก็ต’ ซึ่งใช้เรือหลวงถลางลำที่หนึ่งเป็นพาหนะ ถึงจุดหมายปลายบนเกาะใหญ่ช่วงเวลาประมาณเช้าตรู่วันรุ่งขึ้น

     เรือหลวงถลางมีระวางขับน้ำ 920 ตัน ยาว 53.3 เมตร กว้าง 10.7 เมตร กินน้ำลึก 2.8 เมตร เป็นเรือเหล็กลำเดียวของไทยในเขตภาคใต้ ช่วยให้เส้นทางเดินเรือในประเทศยังคงใช้งานได้ ส่วนเส้นทางเดินเรือนอกประเทศ ‘ภูเก็ต-ปีนัง’ ถูกยกเลิกอย่างไม่เป็นทางการ เจ้าของเรือเอกชนรายไหนอยากเสี่ยงภัยก็แล้วแต่ดวง

     กองทัพเรือมีเรือประจำการที่ภูเก็ตเพียงลำเดียว ชื่อเรือหลวงสารสินธุลำที่หนึ่งเป็นเรือตรวจการณ์ประมง ระวางขับน้ำเพียง 50 ตัน ยาว 22 เมตร กว้าง 4 เมตร กินน้ำลึก 1 เมตร ติดปืนขนาด 37/20 มม.ที่หัวเรือ 1 กระบอก ทำหน้าที่ตรวจจับเรือประมงต่างชาติลักลอบเข้ามาหาปลา

     ต่อมาในวันที่ 20 ตุลาคม 2487 กองทัพเรือจัดตั้ง ‘หน่วยทหารเรือภูเก็ต’ ขึ้นมา มีการก่อสร้างสนามบินน้ำในอ่าวฉลอง จังหวัดภูเก็ต ทำหน้าที่ลาดตระเวนฝั่งมหาสมุทรอินเดีย และบินคุ้มกันเส้นทางเดินเรือกันตัง-ภูเก็ตจากเรือดำน้ำฝ่ายสัมพันธมิตร โดยใช้เครื่องบินทะเล บรน.2 และหรือบรน.3 ในการทำภารกิจ

บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 100  เมื่อ 19 มี.ค. 24, 13:00

     ทุกคนอาจมีข้อสงสัยในใจว่า เครื่องบินทะเลป้องกันภัยจากเรือดำน้ำได้เช่นไร?

     คืออย่างนี้ครับ…กองทัพเรืออังกฤษใช้เรือดำน้ำ 2 แบบในการโจมตี แบบที่หนึ่งเรือดำน้ำชั้น S ระวางขับน้ำ 930 ตันระหว่างดำน้ำ ยาว 61.72 เมตร กว้าง 7.3 เมตร ติดตั้งตอร์ปิโด 533 มม.จำนวน 6 ท่อยิง ปืนใหญ่ขนาด 76 มม.1 กระบอก และปืนกล 20 มม.อีก 1 กระบอก แบบที่สองเรือดำน้ำชั้น T ระวางขับน้ำ 1,575 ตันระหว่างดำน้ำ ยาว 84.28 เมตร กว้าง 7.7 เมตร ติดตั้งตอร์ปิโด 533 มม.จำนวน 6 ท่อยิง ปืนใหญ่ขนาด 100 มม.1 กระบอก และปืนกล 20 มม.อีก 1 กระบอก สามารถติดตอร์ปิโดมนุษย์นอกตัวเรือได้อีก 2 ลำ

     ในการโจมตีถ้าเป็นเรือใหญ่จะใช้ตอร์ปิโด ปัญหาก็คือญี่ปุ่นมีเพียงเรือกลไฟขนาดเล็กกับเรือใบสร้างจากไม้ ตอร์ปิโดขนาด 533 มม.มักวิ่งลอดใต้ท้องเรือญี่ปุ่นรวมทั้งไทย เรือดำน้ำอังกฤษจึงเปลี่ยนมาใช้วิธีลอยตัวขึ้นสู่ผิวน้ำ ทำลายเรือเป้าหมายด้วยปืนใหญ่พร้อมกับช่วยเหลือลูกเรือขึ้นฝั่ง

     เครื่องบินทะเล บรน.2 หรือนากาชิมา หรือ Nakajima E8N Dave เป็นเครื่องบินทะเลทุ่นเดี่ยวติดปืนกล 7.7 มม.จำนวน 2 กระบอก บรรทุกระเบิดขนาด 30 กิโลกรัมได้อีก 2 ลูก ส่วนเครื่องบินทะเล บรน.3 หรือซีโร่ หรือ Aichi E13A Jake เป็นเครื่องบินทะเลทุ่นคู่ติดปืนกล 7.7 มม.จำนวน 2 กระบอก บรรทุกระเบิดขนาด 60 กิโลกรัมได้อีก 2 ลูก ป้องกันตนเองได้ดีในระดับหนึ่ง และทำลายเรือข้าศึกได้ด้วยลูกระเบิด

     บรน.2 กับ บรน.3 สามารถโจมตีเรือดำน้ำอังกฤษได้ ในการคุ้มกันจะทำงานร่วมกับเรือยามฝั่ง ทั้งเรือไทยและเรือญี่ปุ่นซึ่งมีตอร์ปิโดเป็นไม้เด็ด ผู้บังคับฝูงบินประจำฐานอ่าวมะนาวเขียนถึงเรื่องนี้ว่า เมื่อกองบินทหารเรือประจำการเครื่องบินทะเลติดอาวุธ เรือดำน้ำฝ่ายสัมพันธมิตรไม่สามารถโจมตีเรือพาณิชย์ไทยได้อีกเลย

     

บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 101  เมื่อ 19 มี.ค. 24, 13:08

The Empire Strikes Back

     อังกฤษสูญเสียพม่ากับมลายูให้กับญี่ปุ่นตั้งแต่ปลายปี 2484 นับจากวันนั้นพวกเขาต้องวุ่นวายอยู่กับการรบในยุโรป จนกระทั่งเยอรมันยอมแพ้แบบไร้เงื่อนไขในวันที่ 8 พฤษภาคม 2488 อังกฤษได้ริเริ่มแผนการโต้กลับญี่ปุ่นอย่างเต็มรูปแบบ ในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งหมู่เกาะใกล้เคียง

     สถานการณ์ฝั่งนี้อังกฤษเข้าพม่าได้แล้ว ทหารญี่ปุ่นจำนวนมากถอยร่นกลับมาตั้งหลักในไทย แต่เป้าหมายสำคัญอยู่ที่มลายูอดีตดินแดนในอาณานิคม โดยมีทหารญี่ปุ่นฝีมือดีทั้ง 3 เหล่าทัพเป็นก้างขวางคอ

     อังกฤษใช้เวลา 4 เดือนฝึกฝนกำลังทหารอย่างหนัก เพื่อให้ทุกคนพร้อมทำภารกิจใหญ่ในอนาคต ต่อมาในเดือนมิถุนายนจึงได้จัดกองเรือเฉพาะกิจขนาดใหญ่ ประกอบไปด้วยเรือบรรทุกเครื่องบินหลายลำ เรือประจัญบาน เรือลาดตระเวน เรือพิฆาต และเรือกวาดทุ่นระเบิดจำนวนมาก เดินทางสู่พื้นที่เป้าหมายเพื่อกวาดล้างทหารญี่ปุ่น โดยการทำภารกิจเล็กภารกิจน้อยไปตลอดเส้นทาง เริ่มต้นจากเกาะสุมาตรามาสิ้นสุดที่แหลมมลายู

     หนึ่งในภารกิจเล็กภารกิจน้อยของอังกฤษก็คือ…จังซีลอนเกาะขนาดใหญ่ที่สุดของไทย

     วันที่ 19 กรกฎาคม 2488 กองเรือเฉพาะกิจที่ 63 อันประกอบไปด้วยเรือบรรทุกเครื่องบิน 2 ลำ เรือประจัญบาน 1 ลำ เรือลาดตระเวน 1 ลำ เรือพิฆาต 4 ลำ กับกวาดทุ่นระเบิด 5 ลำ ทำการแยกตัวออกมาจากกองเรือหลัก มุ่งตรงมายังน่านน้ำภูเก็ตเพื่อทำภารกิจสำคัญใช้ชื่อว่า ‘Operation LIVERY’ เป็นการรบเพื่อกู้ศักดิ์ศรีกลับคืนแทบไม่ส่งผลต่อภาพรวมสงครามแม้แต่นิดเดียว

   

บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 102  เมื่อ 20 มี.ค. 24, 11:49

Operation DRACULA

     ก่อนเข้าสู่ปฏิบัติการผู้เขียนปูเรื่องเล็กน้อย ภูเก็ตระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองคล้ายดั่งแหล่งรวมจอมยุทธ เรือรบหลายชาติแวะมาเยี่ยมเยียนต่างกรรมต่างวาระ เรือบางลำพลาดท่าเสียทีให้ข้าศึกต้องจมดิ่งสู่ก้นทะเล

     อังกฤษเองให้ความสนใจเกาะภูเก็ตไม่แพ้ชาติอื่น วันที่ 3 มกราคม 2488 พวกเขาส่งเรือดำน้ำมาวางทุ่นระเบิดชนิดทอดประจำใกล้อ่าวภูเก็ตจำนวน 50 ลูก โดยวางสองแนวแนวละ 25 ลูกระยะระหว่างลูก 250 ฟุต ตั้งความลึกไว้ที่ 6-8 ฟุต ต่างจากเกาะตะรุเตาซึ่งวางทุ่นระเบิดแบบอิทธิพลจำนวน 8 ลูก ที่เป็นเช่นนั้นผู้เขียนเดาว่าเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยเรือตัวเอง รู้ตำแหน่งทุ่นระเบิดชัดเจนจะได้ไม่เกิดเหตุถล่มพวกเดียวกัน

     การวางทุ่นระเบิดยังเป็นส่วนหนึ่งของแผนยกพลขึ้นบกภูเก็ต กวาดล้างทหารญี่ปุ่นยึดครองพื้นที่และตัดเส้นทางลำเลียงระหว่างปีนังกับร่างกุ้ง ใช้เป็นหอกข้างแคร่ทิ่มแทงทหารญี่ปุ่นทั้งในมลายู ประเทศไทย และพม่า อังกฤษจริงจังเรื่องนี้มากมีการตั้งชื่อปฏิบัติการว่า ‘Operation ROGER’ โผล่ขึ้นมาพร้อมแผนยกพลขึ้นบกกรุงร่างกุ้งประเทศพม่า ซึ่งถูกตั้งชื่อปฏิบัติการว่า ‘Operation DRACULA’

     ปัญหาของอังกฤษมีด้วยกันสองประการใหญ่ๆ หนึ่งเรือยกพลขึ้นบกน้อยไปบุกสองจุดพร้อมกันไม่ได้ และสองควรทำภารกิจให้เรียบร้อยก่อนเดือนมิถุนายน มิฉะนั้นจะต้องเผชิญคลื่นลมแรงฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ อังกฤษต้องเลือกว่าจะยกพลขึ้นบกที่ภูเก็ต Operation ROGER หรือยกพลขึ้นบกที่ร่างกุ้ง Operation DRACULA

     บทสรุปสุดท้ายอังกฤษเลือกบุกร่างกุ้งทางบกโดยใช้ทหารจากอินเดีย และลักลอบส่งคนมาสำรวจพื้นที่เตรียมบุกยึดภูเก็ต บังเอิญการสู้รบในพม่ากลับไม่เป็นดั่งใจหวัง กำลังทหารจากอินเดียทำภารกิจล้มเหลวตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ ทหารราบ 2 กองพล นาวิกโยธิน 1 กองพลน้อยซึ่งเตรียมขึ้นฝั่งเกาะใหญ่ในประเทศไทย จำเป็นต้องเปลี่ยนเส้นทางมุ่งสู่แม่น้ำร่างกุ้งเพื่อช่วยเหลือเพื่อน

     วันที่ 2 พฤษภาคม 2488 ร่างกุ้งเต็มไปด้วยทหารอังกฤษจำนวนมาก ถัดมาไม่กี่วันฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มาเยือนทะเลอันดามัน การยกพลขึ้นบกที่ภูเก็ตถูกยกเลิกเป็นการถาวร แต่ถึงกระนั้นอังกฤษยังไม่สิ้นสุดความพยายาม โดยใส่ภารกิจ Operation LIVERY เพิ่มเติมเข้ามาในแผนบุกแหลมมลายู เพื่อโจมตีสนามบินกับค่ายทหารญี่ปุ่นบนเกาะภูเก็ต และกวาดทุ่นระเบิดญี่ปุ่นในน่านน้ำให้มากที่สุด เป็นการกรุยทางให้กับการยกพลขึ้นบกหลังฤดูมรสุมประจำปีผ่านพ้นไป

     ในภาพคือยกพลขึ้นบกที่ร่างกุ้งหรือ Operation DRACULA มองเห็นร่องรอยความเสียหายจากสงครามอย่างชัดเจน และมองเห็นตึกรามบ้านช่องสถาปัตยกรรมยุโรปสวยงามน่าประทับใจ พม่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ผมอยากไปเที่ยวสักครั้งหนึ่งในชีวิต แต่ดูจากสถานการณ์คงอีกนานเลยล่ะ

     

บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 103  เมื่อ 20 มี.ค. 24, 12:06

     เรือรบสำคัญในกองเรือเฉพาะกิจที่ 63

     เรามาทำความรู้จักตัวละครหลักในปฏิบัติการกันสักนิด เริ่มตันจากเรือบรรทุกเครื่องบิน HMS Ameer (D01) กับ HMS Empress (D42) ทั้งสองลำเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินขนาดเล็ก ระวางขับน้ำเพียง 7,800 ตัน ยาว 151.05 เมตร กว้าง 21.18 เมตร กินน้ำลึก 7.9 เมตร ติดตั้งปืนกล 40 มม.กับ 20 มม.เป็นอาวุธป้องกันตัว บรรทุกเครื่องบินได้ 24 ลำหรือ 1 ฝูงบินพอดิบพอดี ขนาดไม่ใหญ่เท่าไรการสร้างเรือไม่ยุ่งยากกินเวลาไม่นาน นี่คือของขวัญจากลุงแซมสมาชิกฝ่ายสัมพันธมิตรชาติสุดท้าย



     อเมริกาสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินขนาดเล็กมอบให้อังกฤษจำนวน 24 ลำ ใช้งานทดแทนเรือเดิมซึ่งถูกยิงจมหรือเสียหายอย่างหนัก HMS Ameer คือเรือลำแรกรับมอบในปี 2486 จึงถูกนำชื่อมาตั้งชื่อเป็นชั้นเรือตามธรรมเนียมแต่โบราณ มาพร้อมเครื่องบินรบประจำเรือจากอเมริกาเช่นเดียวกัน ก่อนออกเดินทางฝูงบิน 804 ถูกคัดเลือกให้มาประจำการบน HMS Ameer ใช้เครื่องบินขับไล่ Grumman F6F Hellcat II ของอเมริกาซึ่งค่อนข้างใหม่และทันสมัยกว่าเครื่องบินอังกฤษ

     ก่อนมาประเทศไทย HMS Ameer กับ HMS Empress เข้าร่วมกองเรือเฉพาะกิจที่ 62 ในการส่งเครื่องบินโจมตีค่ายทหารญี่ปุ่นบนเกาะสุมาตราอย่างสนุกมือ รวมทั้งช่วยคุ้มกันกองเรือกวาดทุ่นระเบิดของตัวเองไปพร้อมกัน เสร็จเรียบร้อยถึงแยกตัวออกมารวมกลุ่มกับเรือจากกองเรือเฉพาะกิจที่ 61 ซึ่งประสบปัญหาเดินทางล่าช้าเล็กน้อย กลายเป็นกองเรือเฉพาะกิจที่ 63 เพื่อทำภารกิจโจมตีทางอากาศต่อเกาะภูเก็ตและพื้นที่ใกล้เคียง
บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 104  เมื่อ 20 มี.ค. 24, 12:10

    ตัวละครสำคัญลำที่สองแต่สำคัญมากที่สุดคือเรือลาดตระเวนหนัก HMS Sussex เป็นเรือชั้น County กลุ่มสองเข้าประจำการปี 2472 ระวางขับน้ำเต็มที่ 13,315 ตัน ยาว 193 เมตร กว้าง 20 เมตร กินน้ำลึก 6.4 เมตร ติดตั้งปืนใหญ่ 203 มม.จำนวน 8 กระบอกกับตอร์ปิโด 533 มม.8 ท่อยิงเป็นอาวุธปราบเรือผิวน้ำ ติดตั้งปืนใหญ่ 102 มม.จำนวน 4 กระบอก ปืนกลขนาด 40 มม.แฝดสี่จำนวน 2 กระบอก และปืนกลขนาด 40 มม.ลำกล้องเดี่ยวจำนวน 2 กระบอกสำหรับต่อสู้อากาศยาน

    HMS Sussex ทำหน้าที่คุ้มกันกองเรือร่วมกับเรือประจัญบาน HMS Nelson (28) เรือที่สวยที่สุดในโลก ทั้งคู่เดินทางจากอังกฤษไปทำภารกิจที่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เสร็จเรียบร้อยจึงตียาวมาร่วมทีมในภายหลัง การบุกเกาะภูเก็ตถือเป็นการประเดิมสนามแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


   
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 5 6 [7] 8 9
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.092 วินาที กับ 19 คำสั่ง