เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 11
  พิมพ์  
อ่าน: 9442 ชีวิตในสังคมที่เรียบง่าย
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 60  เมื่อ 02 ก.ค. 23, 19:30

ทราบกันดีอยู่แล้วว่า  คนที่เรียกตนเองว่าเป็นคนไทยล้วนมีครรลองตามจารีตประเพณีและวัฒนธรรมที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาจากบรรพบุรุษ แม้ว่าเรื่องของจารีตประเพณีเหล่านั้นจะตั้งอยู่บนฐานที่มาที่ต่างกันก็ตาม ต่างก็ล้วนยอมรับและในบางกรณีก็ร่วมด้วย   

ก็มีข้อสังเกตว่า เรื่องของจารีตประเพณีนั้น มีความหมายสองนัยปนกัน คือ ในเชิงของวาระ และ ในเชิงของการกระทำ     ในเชิงของวาระนั้นก็จะมีทั้งในลักษณะที่เป็นวาระในระดับประเทศ ในระดับจังหวัด และในระดับของชุมชน เช่น วัน....ต่างๆ      ในความหมายเชิงของการกระทำนั้น ส่วนมากจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของระเบียบพิธีกรรมต่างๆ

กำลังนำเรื่องเข้ามาสู่ประเด็นในเรื่องของภาษีสังคม ครับ แต่จะต้องขอพักไว้ตรงนี้เพื่อหนีฝนอีกครั้ง ครับ   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 61  เมื่อ 03 ก.ค. 23, 19:10

ใช้คำว่าภาษีสังคมก็เพราะว่า มันเป็นวาระที่ต้องมีค่าใช้จ่ายอิงอยู่ และก็ยังเป็นวาระที่เป็นการแสดงว่าตนเองยังมีความผูกพันและมีความมั่นคงในการเป็นสมาชิกของสังคมนั้นๆ     ภาษีสังคมโดยทั่วๆไปจะมีอยู่ใน 2 ลักษณะ คือ ในรูปของสิ่งที่เห็นได้หรือจับต้องได้ (in kind) และในรูปของเงิน (in cash)  ซึ่งผู้คนโดยทั่วไปยอมรับได้ไม่ว่าจะเป็นในรูปใด ซึ่งก็จะรู้สึกมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งกับการให้ทั้งสองรูปแบบ   

ภาษีสังคมเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ของทุกปี ก็จะต้องมีรายจ่ายที่ทราบกันดีอยู่แล้ว บ้างก็เกี่ยวกับการทำบุญ บ้างก็เกี่ยวกับประเพณีนิยมที่ลอกเลียนแบบมา ....  รายจ่ายจะมีมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับค่านิยมและความสามารถทางการเงิน   

สำหรับวันขึ้นปีใหม่ของชาวบ้านทั่วไปก็จะเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวกับเรื่องของการทำบุญตักบาตรที่วัดของหมู่บ้าน   ต่อมาอีกไม่นานในเดือนเดียวกัน  ในภาคเหนือก็จะมีงานบุญที่เรียกว่าทานข้าวใหม่ ประเพณีก็นี้ยังคงมีอยู่ แต่ดูจะกระทำกันแบบเงียบๆ  และก็มีเรื่องที่น่ารัก คือ ก่อนที่ลูกหลานจะเอาข้าวของฤดูใหม่ที่เก็บเกี่ยวได้มาหุงกินกัน เขาจะเอาข้าวใหม่นั้นมาหุงให้พ่อแม่ปู่ย่าตายายกินก่อนเป็นอันดับแรก  เป็นภาพที่แสดงถึงลักษณะของจิตใจ ความรู้สึก และสำนึกที่แสดงถึงความเป็นมนุษย์ของผู้คนต่างๆ   คิดว่าในภาคอื่นๆก็น่าจะมีประเพณีนี้เช่นกัน

เกือบลืมไปว่า ทุกว้นเสาร์ของสัปดาห์ที่สองของเดือนมกราคมทุกปีก็จะเป็นวันเด็กแห่งชาติ  ก็เป็นอีกวาระหนึ่งที่จะต้องมีรายจ่ายทั้งในลักษณะที่เป็นส่วนกลางและในลักษณะที่เป็นส่วนตัว(ครอบครัว)     เมื่อครั้งยังทำงานอยู่  ด้วยที่ทำงานเป็นสถานที่หนึ่งที่เด็กจะมาแวะมาดูซากบรรพชีวิน หินแร่ ... ก็มีการสมัครใจช่วยกันบริจาคทรัพย์เพื่อจัดหาสิ่งของสำหรับแจกเด็กให้เป็นที่ระลึก บางปีก็เพื่อจัดหาของส่งไปให้โรงเรียนที่อยู่ห่างไกลปืนเที่ยงต่างๆ  เมื่อเกษียณแล้วไปใช้ชีวิตบางส่วนในพื้นที่ชุมชนนอกเมืองในต่างจังหวัด ก็ยังมีโอกาสได้ร่วมในการให้เป็นครั้งคราว     บางที ในช่วงปลายสัปดาห์ที่สองของเดือนมกราคม หลายๆท่านอาจจะอยู่ในระหว่างเดินทางกลับจากต่างจังหวัด ก็อาจจะเดินทางผ่านพื้นที่ชุมชน หมู่บ้าน โรงเรียนที่ตั้งอยู่ริมถนน  ก็อาจจะนึกถึงการซื้อของเล็กๆน้อยๆติดไม้ติดมือ แวะลงไปให้กับเด็กหรือผู้จัดงานในระหว่างที่กำลังมีงานก็น่าจะเป็นบุญอย่างยิ่ง  ง่ายๆก็เช่นท๊อฟฟี่ เป็นของกินเล่นที่เด็กชอบ เด็กบางคนไม่เคยมีโอกาสได้ลิ้มลองเลย แพ็คละไม่กี่บาทเอง

ความสุขและความอิ่มเอมใจมันฟ้องออกมาที่ตา  เลยทำให้นึกไปถึงภาพตาในระยะใกล้ของช้างพลายศักดิ์สุรินทร์ที่เพิ่งกลับมาถึงไทย ที่บอกถึงความสุขแบบสุดๆที่ได้กลับบ้าน     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 62  เมื่อ 04 ก.ค. 23, 18:58

คงจะนึกออกว่าตลอดทั้งปีจะมีวาระงานอะไรบ้าง ซึ่งเกือบทั้งหมดก็ไม่ต่างไปจากที่ทำกันในเมืองดังที่เรารู้กันอยู่  หากแต่ว่าในเมืองนั้น ภาระงานและค่าใช้จ่ายจะเป็นเรื่องของหน่วยงาน ซึ่งผู้คนทั่วไปมีอิสระที่จะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมก็ได้  ต่างไปจากชาวบ้าน ซึ่งหากไม่ร่วมมือกัน งานนั้นๆก็จะกร่อยไปทันที เพราะแต่ละหมู่บ้านส่วนใหญ่จะมีประชากรทั้งเด็กและผู้ใหญ่รวมกันระหว่าง 500-1000 คน ซึ่งก็เป็นธรรมดาที่จะต้องมีผู้ที่ไม่สามารถไปร่วมงานได้ (ส่วนมากก็จะมาจากเหตุความขัดแย้งในเรื่องของกรอบเวลาของงานทางสังคมที่จัดขึ้นในวันนั้นๆกับเวลาของงานที่ต้องใช้ในการหารายได้)

คงนึกออกเช่นกันว่า จะจัดงานใดๆก็ตามก็จะต้องมีการเตรียมการ      การจัดงานในเมือง สามารถจัดหาอุปกรณ์และสิ่งของต่างๆได้ด้วยการซื้อหรือสั่งทำ แต่การจัดงานในระดับหมู่บ้านนั้น ด้วยมีข้อจำกัดทางด้านการเงินและวัสดุอุปกรณ์ที่มีอยู่ในพื้นที่  สิ่งของต่างๆที่จะต้องใช้จึงเป็นเรื่องที่ต้องทำหรือประดิษฐ์ขึ้นมาด้วยตนเอง ก็จึงดูจะไม่แปลกนักที่เรามักจะได้ยินการเรียกคนด้วยคำว่า'ช่าง'นำหน้าชื่อ เพราะแต่ละคนมีความสันทัดในการทำหรือประดิษฐ์เครื่องใช้บางอย่างไม่เหมือนกัน ทางภาคเหนือเรียกช่างเหล่านี้ว่า 'สล่า'   สำหรับฝ่ายหญิง งานส่วนมากจะไปทางด้านของความสวยงามและความอิ่มหนำสำราญ ก็คือการจัดการร้อยข้าวตอกดอกไม้ และการทำโรงครัว   ทั้งมวลก็เป็นเรื่องของงานในลักษณะของการลงแรง (in-kind contribution) ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 63  เมื่อ 04 ก.ค. 23, 19:59

ภาษีสังคมอีกอย่างหนึ่ง ก็คือการหารายได้ประจำปีเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของวัดและการบำรุงวัดของหมู่บ้าน  วิธีการตามปกติที่กันก็คือ การทอดผ้าป่า การทอดกฐิน และการจัดงานวัดเพื่อการเฉลิมฉลองในเรื่องหนึ่งใด

ก็มีวิธีการหนึ่งที่พบมา คือใช้การบริจาคส่วนของผลผลิตข้าว (ไม่มีความรู้ว่าสำหรับผลิตผลทางการเกษตรอื่นๆจะกระทำเช่นใด) คณะกรรมการหมู่บ้านจะประเมินผลผลิต แล้วตกลงกันว่านาของผู้ใดจะต้องจัดให้วัดเป็นปริมาณเพียงใด (หรือเป็นจำนวนเงินเท่ากับราคาข้าวเปลือกปริมาณนั้นๆ) เพื่อเป็นการช่วยรายจ่ายเรื่องค่าน้ำค่าไฟของวัด
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 64  เมื่อ 05 ก.ค. 23, 18:58

งานหนึ่งที่มีค่าใช้จ่ายมากเป็นพิเศษเป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดงานศพ และจะยิ่งมากขึ้นไปอีกมากหากผู้เสียชีวิตเป็นผู้ที่มีคนรักและนับถือมาก   ชาวบ้านโดยทั่วๆไปจะจัดพิธีกันที่บ้าน ไม่นำไปทำกันที่วัด  ทำพิธีสวด 2-3 คืนแล้วก็เคลื่อนศพไปเผาที่เมรุเผาของหมู่บ้าน ซึ่งนิยมสร้างอยู่ใกล้หรือหลังว้ด แต่จะอยู่นอกเขตกำแพงวัด ก็มีการพัฒนาไปเป็นเตาเผาแบบปิดมิดชิดหากแต่ยังคงใช้ถ่านไม้   เมรุอีกลักษณะหนึ่งเป็นแบบเปิด เป็นการใช้ฟืนสุมในการฌาปนกิจ แบบนี้ยังมีให้เห็นโดยทั่วไป ดูจะเรียกกันว่าเมรุลอย   

ที่ว่ามีค่าใช้จ่ายมากนั้น มันก็มากจริงๆ หลายๆงานดูจะมากกว่าการทำพิธีงานศพของวัดในกรุงเทพฯเสียอีก   ผมเห็นว่าสาเหตุที่งานศพของชาวบ้านในต่างจังหวัดมีค่าใช้จ่ายสูงมากนั้น ก็ดูจะเป็นเพราะเรื่องของการต้องต้อนรับแขกแบบไม่รู้ว่าจะมาเมื่ีอใดและจำนวนมากน้อยเพียงใด    เมื่อได้ทราบข่าวการเสียชีวิต ก็จะมีการมาเคารพศพ ซึ่งนอกจากคนในหมู่บ้านเดียวกันแล้วก็จะมีพวกที่อยู่ต่างหมู่บ้าน ต่างอำเภอ หรือต่างจังหวัด การเดินทางของคนเหล่านี้จะต้องใช้เวลาในการเดินทาง บ้างก็หลังเลิกงาน บ้างก็ต้องนั่งรถข้ามคืนมา.... เวลามาถึงบ้านงานจึงแตกต่างกันไป ทั้งวันตั้งแต่เช้าจนค่ำมือดึกดื่น  เจ้าของงานก็ต้อนรับแบบไทยแท้แต่โบราณ มาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ  ก็เป็นเรื่องปกติที่จะต้องมีการจัดน้ำจัดอาหารการกินต้อนรับ แขกใหม่มาก็ต้องตั้งวงตั้งสำรับอาหารใหม่ ทั้งมวลก็เพื่อเป็นการแสดงถึงความขอบคุณกับแขกทุกคนอย่างเหมาะสม       
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 65  เมื่อ 05 ก.ค. 23, 19:26

ในสภาพเช่นนี้ เชื่อว่าทุกคนจะคิดถึงการต้อนรับแบบมีพร้อมไว้ซึ่งข้าวหม้อแกงหม้อ น้ำดื่ม น้ำขวด(น้ำหวาน) น้ำแข็ง และเรื่องของเหล้ายาปลาปิ้ง  ก็หมายถึงจะต้องมีการตั้งครัว ต้องมีแม่ครัวอาสา ต้องมีฝ่ายชายช่วยกันจัดการในเรื่องเช่น เต็นท์ เก้าอี้ งานที่ต้องใช้แรงต่างๆ และเวรไปอยู่เป็นเพื่อนผู้ตายตลอดคืน...   คงจะนึกออกถึงภาพจำนวนคนที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งดูจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของบุญคุณทั้งนั้น   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 66  เมื่อ 06 ก.ค. 23, 18:17

ข้าวหม้อแกงหม้อ เป็นสำนวนในความหมายของอาหารการกินแบบเรียบง่าย แต่ในความเป็นจริง มันเป็นเรื่องของอาหารหลักที่มีความพร้อมกินได้ในทุกเวลา แน่นอนว่าเมื่อเป็นการจัดงานก็ต้องมีอาหารเสริมแบบที่ทำได้เร็ว ต้องมีของขบเคี้ยวกินเล่นแก้ปากว่าง และก็ต้องมีเมรัยรวมอยู่ด้วย

เมนูอาหารส่วนที่เรียกว่าแกงหม้อหนึ่งนั้น เท่าที่มีประสบการณ์มาและดูจะยืนยงอยู่ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา พบว่าเกือบทั้งหมดจะเป็นต้มเสียมากกว่าแกง ที่นิยมก็ดูจะมีต้มเครื่องในหมูหรือเครื่องในวัวหั่นแยกแต่ละส่วนเป็นชิ้นใหญ่ๆ หรือทำต้มจืดฟักกับหมูหรือไก่ ทำกันเป็นหม้อใหญ่ๆตั้งบนเตาไฟอุ่นให้ร้อนอยู่ตลอดเวลา  จัดเครื่องปรุงให้พร้อมไว้ พวกพริกแห้ง พริกสด มะนาว มะขาวเปรี้ยว น้ำปลา น้ำตาล หัวหอม น้ำดี(ของวัว) ข้าวคั่ว และบรรดาผักที่ใช้ปรุงหรือใช้แนมทั้งหลายเท่าที่จะหาได้... 

ในด้านอาหารเสริมนั้น จะเป็นการทำของแม่ครัวอาสาช่วย จะทำเพิ่มมาให้ก็เพียงหนึ่งหรือสองจานสำหรับบางกลุ่มแขกและบางช่วงเวลา  ในด้านของกินเล่นแก้ปากว่างนั้น แต่ดังเดิมน้้นจะเป็นพวกผลไม้เช่น กล้วย อ้อย น้ำตาลอ้อย ...ตามที่มีอยู่ในพื้นที่   แต่ในปัจจุบันดูจะนิยมเป็นพวกเมล็ดทานตะวันและข้าวเกรียบทอด   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 67  เมื่อ 06 ก.ค. 23, 19:18

ก็คงพอจะเห็นว่า ด้วยเหตุใดในงานศพของชาวบ้านจึงต้องมีการล้มหมู หรือวัว หรือควาย หรือเชือดไก่   แน่นอนว่าไปซื้อในตลาดก็ได้ แต่การล้มจะมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่ามาก ทั้งยังได้ชิ้นส่วนทั้งตัวอีกด้วย  บางงานที่มีแขกมากก็ถึงกับต้องล้มทั้งหมูและวัว

ก็เลยต้องขยายความต่อไปอีกถึงเหตุว่าด้วยเหตุใดจึงต้องใช้ปริมาณเนื้อสัตว์มากเหลือเกิน  เรื่องนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเพณีซึ่งดูจะมีเหมือนๆกันทั่วไทย   เริ่มด้วยคนที่ทำการล้มสัตว์ตัวใหญ่จะได้ส่วนแบ่งบางชิ้นส่วนของสัตว์ เสมือนเป็นค่าแรงสำหรับผู้ที่ออกแรงดำเนินการ  งานที่เห็นมาก็มีตั้งแต่การล้ม การถลกหนัง การแล่/ชำแหล และการจำแนกออกเป็นชิ้นส่วนต่างๆ เป็นงานที่ทำกันในช่วงเวลาก่อนรุ่งสาง  เมื่อชิ้นส่วนต่างๆถึงมือเจ้าของงานในตอนเช้า ก็จะต้องมีคนช่วยกันดำเนินการทำความสอาด ต้ดแยก ย่อยซอย จนถึงการเอาไปต้มหรือจะเอาไปทำอื่นใด  ซึ่งก็แน่นอนว่าเจ้าของงานยินดีที่จะแบ่งปันให้กับผู้มาช่วยทำงาน  ด้วยเพราะด้วยที่ผู้มาช่วยงานเช่นนี้จะเป็นผู้หญิง เมื่อมาช่วยงานตั้งแต่เช้าก็จึงไม่มีเวลาทำกับข้าวกับปลาหุงหาอาหารให้ลูกและสามี การแบ่งปันของสดหรืออาหารจึงเป็นการตอบแทนที่ดีที่สุดที่พึงกระทำ   ในกรณีที่ต้องมีการเลี้ยงเพล ก็หมายถึงต้องมีการทำกับข้าวต่างๆเพื่อถวายพระและเลี้ยงแขก บรรดาแม่ครัวอาสาก็จะยิ่งไม่มีเวลาทำกับข้าวให้กับครอบครัว   การณ์นี่ก็ยังเกิดกับฝ่ายหญิงที่เดินทางมาร่วมในพิธีแทนบรรดาสามีที่ยังคงติดงานสวน-ไร่-นาอยู่  ก็เลยมีภาพที่ดูจะแปลกตาว่า ในงานเช่นนี้จะมีหญิงที่มางานห่อกับข้าวกลับบ้าน แม้กระทั่งแบบหิ้วปิ่นโตมาเลยก็มี      จะว่าไป ภาพเช่นนี้ก็มีในเมืองหลวงของเรา (ไม่ค่อยจะเห็นใน ตจว.) เลยเป็นที่รู้กันอยู่ในหมู่เจ้าภาพว่า จะต้องจัดเตรียมถุงพลาสติกและยางรัดพร้อมไว้   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 68  เมื่อ 07 ก.ค. 23, 17:45

ขออภัยครับ อ่านแล้วก็งงตัวเอง ข้อความในวงเฃ็บหลุดออกไปได้ไงก็ไม่รู้ เรียกว่าสะเพร่าในการตรวจทานมากไปหน่อยครับ
 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 69  เมื่อ 07 ก.ค. 23, 18:51

ต้มเครื่องในหม้อใหญ่นี้ แปรออกไปเป็นอาหารได้หลายเมนูเลยทีเดียว ทั้งแปรเป็นกับข้าวหรือแปรเป็นกับแกล้ม และก็เป็นที่รู้กันอยู่ว่าแขกที่มางานก็ต้องช่วยตัวเองในเรื่องอาหารการกินด้วย และก็รับรู้กันว่าแขกที่มาจากบ้านใกล้จะช่วยกันทำหน้าที่ต้อนรับแขกพวกบ้านห่างไกล   เมื่อแขกที่อยู่ห่างไกลเดินทางมาถึงงานก็จะได้รับเชิญให้เข้านั่งร่วมวงกับชุดที่มาก่อนที่มีความสนิทสนมกัน  นอกจากเสิร์ฟน้ำเปล่าแก้กระหายแล้วก็มักจะตามมาด้วยน้ำเมา ซึ่งในงานเช่นนี้ ไม่เคยเห็นว่ามีการดื่มกันจนเมามายหรือมีการส่งเสียงดัง  แขกฝ่ายหญิงจะแยกตัวออกไปคุยกับบรรดาแม่ครัวต่างๆ    งานศพแต่ละงานก็เลยมีค่าใช้จ่ายในเรื่องของเมรัยผนวกเข้าไปด้วย



 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 70  เมื่อ 07 ก.ค. 23, 19:51

เมื่อเผาศพแล้ว ก็ยังมีค่าใช้จ่ายตามหลังอีกวันหรือสองวัน ก็คือการดูแลผู้ที่มาช่วยกันเก็บของที่ขอยืมมาเพื่อส่งคืนเจ้าของ ก็จะเป็นมื้อเย็นแบบครึ่งทาง(กึ่งอิ่ม กึ่งเมา)   บางทีถัดมาอีกสองสามวัน ก็มีที่เจ้าของงานจัดเลี้ยงตอบแทน

ค่าใช้จ่ายของงานศพของชาวบ้านในปัจจุนี้ดูจะอยู่ในระดับกว่าแสนบาท ซึ่งก็มีหลายกรณีที่ไปไกลถึงหลักสามแสนบาท  ก็คงเป็นจำนวนที่ไม่ต่างไปมากนักกับการจัดงานในกรุงเทพฯ
 
จำนวนวันที่ใช้ในการจัดงานก็ไม่ต่างกันนักเช่นกัน  ของชาวบ้าน สวด 2-3 วัน เผา 1 วัน เก็นอัฐิ 1 วัน เก็บของจัดงาน 1 วัน เลี้ยงตอบแทน 1 วัน   ของกรุงเทพฯ สวด 3-5 วัน เผา 1 วัน เก็บอัฐิ 1 วัน ลอยอังคาร 1 วัน
     
จำนวนเงินช่วยเหลืองานจากแขก ของชาวบ้านอยู่ในหลักไม่เกินหมื่นบาท เงินช่วยเหลือก้อนใหญ่จะได้มาจากญาติพี่น้อง   ของกรุงเทพฯได้ในหลักหลายหมื่นบาทถึงหลายแสนบาท       
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 71  เมื่อ 08 ก.ค. 23, 18:27

ก็เป็นอีกภาพหนึ่งของสังคมที่อยู่แบบอยู่ร่วมกันและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ยอมรับและยกย่องกันและกัน ยอมรับในทักษะและความสามารถของผู้อื่น ไม่ค่อยจะมีเรื่องการยกตนข่มท่านหรือดูถูกเหยียดหยามกัน 

สิ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษก็คือการที่ทุกคนรู้จักตัวเองมากพอที่จะรู้ระดับของตนในสังคมและในงานต่างๆ  คือรู้จักและมีความเข้าใจในเรื่องของ hierarchy ของตนเองในวงสังคมและในแวดวงของงานหนึ่งใดเมื่อต้องทำงานร่วมกัน    อาจจะดูเหมือนสังคมในฝัน แต่มันก็เป็นภาพที่ปรากฎจริงเช่นนั้น  อันที่จริงมันก็มีเรื่องของความขัดแย้งต่างๆตามปกติของมนุษย์ เพียงแต่ความขัดแย้งเหล่านั้นเขาไม่โพนทะนาออกมาให้เป็นที่รับรู้กันเป็นวงกว้าง  ที่กระทำกันก็คือพยายามไม่ก้าวล่วงกันในเรื่อง/ด้านที่ต่างคนต่างไม่ชอบกัน  ทำให้เรื่องของการทะเลาะกันแบบรุนแรงๆภายในชุมชนจึงไม่ค่อยจะมี หากจะมีก็มีแบบรุนแรงไปเลย   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 72  เมื่อ 08 ก.ค. 23, 19:20

ตัวอย่างหนึ่งที่พอจะแสดงถึงการเคารพและความเข้าใจในเรื่องของ hierarchy ก็เช่นกรณีงานก่อสร้าง  ได้กล่าวมาแล้วว่าในหมู่บ้านหนึ่งๆจะมีคนที่มีทักษะในบางเรื่องมากพอจนชาวบ้านเรียกว่าช่าง  เป็นเรื่องปกติที่ช่างบางคนรับทำงานพิเศษบางอย่าง  ก็ต้องมีลูกมือ ด้วยที่ทุกคนต้องหาเงิน บรรดาลูกมือส่วนหนึ่งก็คือช่างต่างๆที่อยู่ในชุมชนของตนนั้นเอง ช่างเหล่านี้ก็แปรสภาพเป็นลูกจ้างมีฝีมือรายวัน จะทำงานตามสั่งของผู้ที่รับงานมา  แล้วก็มีลูกมือที่ทำงานในลักษณะของผู้ช่วยช่าง ซึ่งคนเหล่านี้ส่วนมากก็จะเป็นญาต พี่-ป้า-น้า-อา  ก็เช่นกันจะทำงานตามสั่งของช่างต่างๆ   ฝ่ายหญิงโดยส่วนใหญ่จะทำงานในหน้าที่กรรมกร    ปัจจุบัน สำหรับงานช่วงสั้นๆหนึ่งหรือสองสัปดาห์ ค่าจ้างคนในระดับช่างในพื้นที่อยู่ที่วันละ 450 บาท ผู้ช่วยช่างวันละ 400 บาท และกรรมกรวันละ 350 บาท  แล้วก็มีธรรมเนียมพ่วงท้ายหลังเลิกงานอีกเล็กน้อยเพื่อแก้เหนื่อย และจัดกำหนดงานของวันถัดไป ก็มีของแกล้มเล๋กน้อยสักอย่างหนึ่งกับเมรัยสักสองสามกรึ๊บ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 73  เมื่อ 09 ก.ค. 23, 18:17

เล่าเรื่องในลักษณะของภาพในองค์รวมของสังคมมาพอควรแล้ว  อาจจะน่าเบื่อ ลองมาดูภาพในลักษณะของแต่ละบุคคลบ้าง ซึ่งจะใช้กรณีที่เกิดขึ้นกับตัวเองเป็นตัวอย่าง ซึ่งคงจะพอแสดงให้เห็นสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านทั่วไป

ผมมีนาแปลงเล็กๆประมาณ 2 ไร่ ได้ปลูกข้าวกินเองมาระยะหนึ่งแล้ว ตามปกติก็ใช้พันธุ๋ข้าวที่หาได้ในพื้นที่ บางปีก็ซื้อกล้าข้าวที่ชาวบ้านเขาเหลือจากการใช้ปลูกในนาของเขา เดิมเป็นการปลูกข้าวหอมมะลิ พันธุ์ กข.105  ปีนี้เกิดอยากปลูกข้าวที่มีปริมาณน้ำตาลต่ำ พันธุ์ กข.43 ก็เลยต้องหาพันธุ์เอง เพราะชาวบ้านเขานิยมปลูกข้าวจ้าว กข.105 (หรือปลูก กข.15_ข้าวดอ? แบบประปราย) สำหรับข้าวเหนียวนั้น นิยมปลูกกันอยู่หลายพันธุ์ เช่น กข.6, เขี้ยวงู, สันป่าตอง, ข้าวก่ำ...  ก็มีที่สนใจปลูก กข.แม่โจ้ 2

เหตุที่ต้องหาพันธุ์เองก็เพราะเป็นพันธุ์ข้าวที่มีการปลูกกันในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาแถวอ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท ซึ่งเป็นพื้นที่ในระบบชลประทาน  แต่ที่นาที่จะปลูกอยู่ในภาคเหนือ เป็นพื้นที่ๆมีแต่เพียงลำเหมือง(ร่องขุด)ส่งน้ำเข้านาที่ค่อนข้างดี  ก็เลยอยากได้สายพันธุ์ต้นตอที่บริสุทธิ ประกอบกับเคยได้กินข้าวหอมมะลิตัวจริงจากนาของตัวเอง ทำให้ได้รู้ว่า หอมจริง นิ่มจริง นั้นมันเป็นเช่นใด     
 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 74  เมื่อ 09 ก.ค. 23, 19:31

เมื่อจะทำอะไรก็ต้องมีการศึกษาหาข้อมูลเพื่อให้มีความรู้และรอบรู้มากพอเท่าที่จะทำได้ เลยทำให้มีความรู้เพิ่มพูนขึ้นมาอีกหน่อย แต่ก็ยังน้อยนิดในเรื่องของวิชา วิทยาการ และกิจกรรมต่างๆว่าด้วยเรื่องของข้าว   

ก็จึงได้เห็นความแตกต่างลึกๆระหว่างชาวนาที่มีอาชีพปลูกข้าวขายบนฐานของการค้าและการลงทุน  กับชาวนาที่การทำนาเป็นเพียงวิธีการหนึ่งในหลายๆวิธีของการหาเลี้ยงชีพที่ใช้ประโยชน์/อาศัย/พึ่งพาธรรมชาติ    ชาวนาทั้งสองลักษณะนี้มีความแตกต่างกันค่อนข้างจะมากในด้านของโอกาสของการเข้าถึงและการได้รับการสนับสนุนในเรื่องข้อมูล/การเงิน/ความรู้ที่มีความเหมาะสมตามสภาพและสถานะภาพ     
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 11
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.067 วินาที กับ 21 คำสั่ง