เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 327 ชัยชนะอย่างถล่มทลายของชายชาวมุสลิมในรัฐที่มีคนเชื้อสายยิวมากที่สุดของอเมริกา
ปัญจมา
อสุรผัด
*
ตอบ: 247


 เมื่อ 08 ก.ค. 25, 20:48

https://plus.thairath.co.th/topic/politics&society/105517
บันทึกการเข้า
ปัญจมา
อสุรผัด
*
ตอบ: 247


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 08 ก.ค. 25, 20:53

เข้าไปดูคลิปที่เขาหาเสียงเป็นภาษาอูรดู-ฮินดีได้ที่นี่  (มีฟีลบอลลีวู้ดด้วย แปลว่าเป็นคนมีอารมณ์ขัน  อีโก้ไม่สูงเลยแซวตัวเองได้)

https://youtu.be/NFGk6PtoBdw?si=3foDRq0wfA4R7ZeT
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 41307

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 09 ก.ค. 25, 09:43

คุณปัญจมามีความเห็นอย่างไรบ้างคะ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 16067



ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 11 ก.ค. 25, 09:35

"โซห์ราน มัมดานี" นักการเมืองหนุ่มอายุ ๓๓ ปี ลูกหลานผู้อพยพเชื้อสายอินเดีย เกิดที่ยูกันดา เป็นสมาชิกรัฐสภาของนิวยอร์กตั้งแต่ปี ๒๐๒๑ มีภาพลักษณ์เข้าถึงง่าย คล่องแคล่วด้านสื่อดิจิทัล เป็นมุสลิม และสนับสนุนสิทธิชาวปาเลสไตน์อย่างแข็งขัน ในฐานะผู้แทนพรรคเดโมแครตในนิวยอร์ก (รัฐที่เดโมแครตครองเสียงส่วนใหญ่) มัมดานีมีโอกาสสูงมากที่จะชนะเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน และเป็น นายกเทศมนตรีนิวยอร์กคนถัดไป

ผู้สนับสนุนมองว่าชัยชนะของมัมดานีเป็น จุดเปลี่ยนของการเมืองอเมริกัน แสดงให้เห็นว่าผู้สมัครฝ่ายซ้ายที่กล้ายืนหยัดเพื่อสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสิทธิของชาวปาเลสไตน์ ก็สามารถชนะการเลือกตั้งใหญ่ได้ Pew Research ระบุว่า ๖๙% ของชาวเดโมแครตมีทัศนคติเชิงลบต่ออิสราเอล ซึ่งสวนทางกับอดีตที่สหรัฐฯ หนุนอิสราเอลอย่างเต็มที่ นักวิจารณ์ชี้ว่า ยุคที่การหนุนอิสราเอลแบบไม่ตั้งคำถาม = การเมืองที่ดี อาจจบลงแล้ว

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา AIPAC  (คณะกรรมการกิจการสาธารณะอเมริกัน-อิสราเอล) และกลุ่มที่หนุนอิสราเอล ทุ่มเงินมหาศาลในศึกเลือกตั้งขั้นต้นของพรรคเดโมแครต เป้าหมายคือเอาชนะผู้สมัครแนวก้าวหน้าที่วิจารณ์นโยบายของอิสราเอล ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา พวกเขาสามารถโค่นผู้แทนฯ ที่สนับสนุนสิทธิชาวปาเลสไตน์ เช่น จามาล โบว์แมน,คอรี บุช  สำหรับการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนิวยอร์กครั้งนี้ กลุ่ม Super PAC "Fix the City" ซึ่งต่อต้านมัมดานี ได้รับทุนสนับสนุนจาก บิล อัคแมน (มหาเศรษฐีโปรอิสราเอล) และ ไมเคิล บลูมเบิร์ก รวมกันกว่า ๘.๕ ล้านดอลลาร์ เป้าหมายคือโจมตีจุดยืนของมัมดานีเกี่ยวกับอิสราเอล-ปาเลสไตน์ อย่างไรก็ตาม แม้จะเผชิญการโจมตีและเงินทุนมหาศาลจากกลุ่มหนุนอิสราเอล มัมดานีก็ยังชนะอย่างชัดเจน สะท้อนว่าอิทธิพลของ AIPAC เริ่มถูกท้าทายโดยกระแสของคนรุ่นใหม่และผู้มีแนวคิดก้าวหน้าในพรรคเดโมแครต

นิวยอร์ก คือหัวใจของอเมริกา เป็นเมืองใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ศูนย์กลางเศรษฐกิจ การเงิน และวัฒนธรรมระดับโลก เป็นที่ตั้งของตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (NYSE) และ UN Headquarters มีอิทธิพลทางการเมืองและสื่ออย่างมหาศาล แนวโน้มและกระแสทางสังคมจากนิวยอร์ก มักกระเพื่อมไปทั่วประเทศ ชัยชนะของนักการเมืองก้าวหน้าในนิวยอร์กอย่างมัมดานี จะถูกมองว่าเป็น "จุดเปลี่ยนของการเมืองระดับชาติ"

บทวิเคราะห์จาก White news



บันทึกการเข้า
ปัญจมา
อสุรผัด
*
ตอบ: 247


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 11 ก.ค. 25, 12:46

คุณปัญจมามีความเห็นอย่างไรบ้างคะ

อยากฟังท่านอื่นมากกว่าค่ะ   แต่ถ้าเขาชนะเลือกตั้งและบริหารงานได้ดี  สามารถบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างที่หาเสียงไว้    เขาก็อาจจะเป็นตัวอย่างให้แก่อีลีทในพรรคเดโมแครตได้ตระหนักเสียทีว่าควรจะเดินเกมการเมืองอย่างไรถึงจะเรียกศรัทธากลับคืนมาได้   เพราะตอนนี้พรรคกำลังเป๋มาก ทั้งไร้ทิศทาง ทั้งปราศจากผู้นำที่สามารถหล่อหลอมฐานเสียงและคนในที่แตกแยกให้เป็นหนึ่งเดียวได้   รอแต่ให้ทรัมป์เตะตาปลาตัวเองจนคะแนนนิยมตกต่ำเท่านั้น  ไม่ได้ใช้พลังงานและทรัพยากรไปกับการระดมความคิดว่าเพราะอะไรฐานเสียงที่เคยเป็นของตายถึงแปรใจไปจากพรรคอย่างที่ควรจะทำ
 
นอกเหนือไปจากเรื่องเพราะอะไรเขาถึงชนะแล้ว อีกเรื่องที่น่าสนใจก็คือการที่มัมดานีเหมือนจะไม่ได้รับแรงสนับสนุนจากพรรคของตัวเอง   ถึงแม้ว่าผลเลือกตั้งจะแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามีผู้มีสิทธิเลือกตั้งรุ่นใหม่ๆ นิยมชมชอบเขาเป็นอย่างมาก   แต่กลับกลายเป็นว่ามัมดานีกำลังพาตัวเองเข้าไปอยู่ในตำบลกระสุนตก   เพราะนอกจากจะถูกพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามโจมตีว่าซ้ายสุดโต่งแล้ว  มัมดานียังได้รับเสียงต่อต้านโดยอีลีทในพรรคเดโมแครตที่เห็นเขาเป็นภัยคุกคามสถานะของตัวเองอีกด้วย    (ทรัมป์เรียกมัมดานีว่า “คอมมิวนิวสต์” และขู่ว่าจะยึดมหานครนิวยอร์คมาปกครองเองถ้ามัมดานีได้เป็นนายกเทศมนตรีแล้วแข็งขืนต่อนโยบายปราบคนเข้าเมืองผิดกฎหมายของเขา)   แม้แต่นสพ.นิวยอร์คไทมส์เองก็ยังไม่ยอมประกาศสนับสนุนเขาอย่างเป็นทางการ  แถมยังไปขุดเรื่องเก่าๆ มาโจมตีอีก  (เมื่อ 10 กว่าปีก่อนมัมดานีเคยไปสมัครเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย   ตอนที่ต้องกรอกเชื้อชาติ/ชาติพันธุ์ในใบสมัครนั้น  เขาได้กาช่องแอฟริกันอเมริกันรวมกันกับช่องเอเชียด้วย  ทีนี้มันมีคนไปแฮ็คระบบคอมพิวเตอร์ของมหาลัยแล้วเอาข้อมูลนี้มาให้นักข่าว  นักข่าวเลยมาเขียนทำนองว่าในอดีตเขาเคยแอบอ้างว่าเป็นคนผิวดำ ทำให้คู่แข่งเอาข่าวนี้ไปโจมตีว่าเขาไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต     นสพ.เดอะการ์เดียนของอังกฤษเลยเขียนข่าวว่านิวยอร์คไทมส์มีอคติและกำลังพยายามจะทำให้รถไฟความเร็วสูงสายมัมดานีต้องตกขบวน)
 
บันทึกการเข้า
ปัญจมา
อสุรผัด
*
ตอบ: 247


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 11 ก.ค. 25, 12:59

อีกเรื่องที่ทำให้หนูนึกถึงการเมืองไทยก็คือเรื่องที่มัมดานีพึ่งโซเชียลมีเดียในการเข้าหาคนรุ่นใหม่  ทำให้ใช้เงินน้อย  (มีรายงานว่าเขาได้เงินบริจาคแค่ 1.7 ล้านเหรียญก็จริง  แต่เงินนั้นมาจากผู้บริจาค 20,000 กว่า   ขณะที่คู่แข่งอย่างแอนดรูว์ ควัวโม่ได้เงินบริจาคตั้ง 4 ล้านแต่มาจากผู้บริจาคแค่ 5,700 คนเท่านั้น)   อีกเรื่องที่เขาทำได้ดีมากคือการออกไปเดินพบปะผู้คนในชุมชนต่างๆ ทุกวัน  ทำให้ได้ใจคนในพื้นที่   รวมทั้งได้ตระหนักถึงปัญหา แล้วยังได้คอนเทนท์มาใช้หาเสียงต่ออีก  เป็นยุทธศาสตร์เดียวกันกับที่คุณพิธาใช้ตอนหาเสียงกับพรรคก้าวไกลในปี 2566    ไม่เหมือนแอนดรูว์ ควัวโม่ที่ยังหาเสียงแบบเดิมๆ  ใช้เงินที่ระดมได้ไปกับการซื้อโฆษณาทีวีที่คนรุ่นใหม่เขาก็ไม่ดูกันแล้ว   แล้วก็ไม่เดินเข้าหาคนตามตรอกซอกซอย   ทำให้ไม่เข้าใจความต้องการของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง    ตรงนี้นับว่าเป็นกระจกสะท้อนสิ่งที่ทำให้พรรคเดโมแครตตกต่ำได้ดีพอสมควร 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 41307

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 12 ก.ค. 25, 11:45

      ตอนนี้เพิ่งผ่านขั้นตอนแรก  แต่กว่าจะปีนขึ้นเก้าอี้นายกเทศมนตรีของนครนิวยอร์ก โคตะระยาก  จนบัดนี้ก็ยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการว่าเขาจะลงสมัครชิงตำแหน่งนายกเทศมนตรีในการเลือกตั้งครั้งถัดไป   ทำไมไม่รู้ ต้องขอคุณปัญจมาวิเคราะห์   เท่าที่อ่านพบคือหนุ่มรายนี้ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้างเท่ากับนักการเมืองระดับสูงคนอื่นๆ ในนครนิวยอร์ก
     มัมดานีได้กระแสหัวก้าวหน้า (Progressive Movement)ของนิวยอร์กหนุนหลัง   ถ้าสามารถทำให้ขยายวงกว้างต่อไป  รวมพลังผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ เขาก็มีโอกาส  บวกกับคะแนนเสียงจากประชาชนที่ไม่ชอบนายกเทศมนตรีคนปัจจุบัน    แต่เขาก็ต้องสร้างเครือข่ายและการระดมทุนอีกมาก   แค่นี้ยังไม่พอ
   กำแพงอุปสรรคที่หนุ่มคนนี้ต้องปีนข้ามให้ได้ คือการแข่งขันชนิดเอาเป็นเอาตาย    มือเก๋าที่เขี้ยวเล็บประสบการณ์พราว มีอีกหลายคน  พวกนี้ฐานเสียงแน่นปึ้กอยุ่แล้ว ประมาทไม่ได้เลย
   เขายังเหลืออีก 4 เขตในนิวยอร์กที่จะต้องสร้างคะแนนนิยมเหนือคู่แข่ง ก็เป็นงานหนักหนาไม่ใช่เล่น 
   นอกจากนี้  จุดยืนเรื่อง "ก้าวหน้า" อาจกลายมาเป็นดาบสองคม แม่เรียกกระแสจากหนุ่มสาวได้มาก แต่นิวยอร์กไม่ได้มีแต่หนุ่มสาวหัวก้าวหน้า    พวกพวกสายกลางเอย พวกอนุรักษ์นิยมเอย พวกนี้ถ้าเห็นว่าผู้สมัครคนนี้ประกาศว่าหัวก้าวหน้าชัดเจน ก็จะไม่เลือก
   แล้วยังประสบการณ์ด้าบริหารอีก มีพอจะจัดการปัญหาเขี้ยวลากดินทั้งหลายแหล่หรือยัง   มีทีมงานฝีมือยอดในสังกัดหรือยัง    พอจะให้เกิดความมั่นใจได้  ไม่ใช่ส้มหล่นลงมาแล้วทำอะไรไม่ถูก
บันทึกการเข้า
ปัญจมา
อสุรผัด
*
ตอบ: 247


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 13 ก.ค. 25, 09:27

      ตอนนี้เพิ่งผ่านขั้นตอนแรก  แต่กว่าจะปีนขึ้นเก้าอี้นายกเทศมนตรีของนครนิวยอร์ก โคตะระยาก  จนบัดนี้ก็ยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการว่าเขาจะลงสมัครชิงตำแหน่งนายกเทศมนตรีในการเลือกตั้งครั้งถัดไป   ทำไมไม่รู้ ต้องขอคุณปัญจมาวิเคราะห์   เท่าที่อ่านพบคือหนุ่มรายนี้ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้างเท่ากับนักการเมืองระดับสูงคนอื่นๆ ในนครนิวยอร์ก

เรามาทำความเข้าใจกับระบบ ranked choice voting ของ primary election สำหรับการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีของมหานครนิวยอร์คกันก่อนนะคะ

ที่นั่นเขาไม่ใช้ระบบ first past the post หรือใครได้คะแนนสูงสุดก็ชนะไปเหมือนบ้านเรา   แต่เป็นการลงคะแนนแบบ ranked choice voting  โดยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจัดอันดับว่าจะเลือกใครเป็นอันดับหนึ่งและอนุญาตให้กาได้ถึงห้าอันดับ  ถ้าผลการเลือกตั้งรอบแรกมีผู้สมัครคนไหนได้คะแนนเกิน 50% ก็ถือว่าสิ้นสุดไป ไม่ต้องมีรอบสองรอบสาม    แต่ถ้าไม่มี   เขาก็จะคัดคนที่ได้คะแนนต่ำสุดออกจากการแข่งขัน  แล้วดูว่าคนที่มากาให้ผู้สมัครคนนั้นเป็นอันดับหนึ่งได้ลงคะแนนให้ใครเป็นอันดับรอง ๆ ลงไป   จากนั้นถึงจะเอาคะแนนที่ได้ไปกระจายให้ผู้สมัครที่ยังเหลืออยู่เพื่อที่จะคัดคนที่ได้คะแนนต่ำสุดออกไปอีก   ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้ผู้สมัครที่มีคะแนนเกิน 50%   

จากผลของการเกลี่ยคะแนนในรอบที่ 2 เมื่อวันที่ 1 กค. ที่ผ่านมาก็ปรากฎว่า มัมดานีได้คะแนนรวมสูงถึง 56.2% ขณะที่แอนดรูว์ ควัวโมได้แค่ 43.8% เท่านั้น    ดังนั้น ไม่ว่าอีลีทของพรรคเดโมแครตจะคิดยังไงกับมัมดานีก็ตาม  ความจริงที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ก็คือ   เขาจะได้เป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกเทศมนตรีในนามของพรรคอย่างเป็นทางการเพราะ the voters have spoken.   
บันทึกการเข้า
ปัญจมา
อสุรผัด
*
ตอบ: 247


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 13 ก.ค. 25, 09:55

คำถามที่ตามมาก็คือแล้วพรรคเดโมแครตจะทุ่มกำลังสนับสนุนผู้สมัครเลือดใหม่อย่างมัมดานีแม้ว่าเขาจะมีจุดยืนแตกต่างไปจากอีลีทของพรรคหรือเปล่า   หนูถึงได้บอกว่าตอนนี้มัมดานีกำลังเผชิญศึกทั้งภายในและภายนอก   

ก็ต้องรอดูกันต่อไปในเดือนพย.ว่าสุดท้ายแล้วนโยบายลดค่าครองชีพที่เขาใช้เป็นเครื่องมือหาเสียงนั้นมันจะสามารถครองใจคนหมู่มากได้หรือไม่     แต่อย่าลืมว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มัมดานีพลิกสถานการณ์จากที่เป็นผู้สมัครโนเนมในเดือนกุมภาจนกลายมาเป็นผู้ชนะในเดือนมิถุนาได้นั้นก็เป็นเพราะคู่แข่งของเขาแต่ละคนไม่มีใครมีจุดแข็งที่ชัดเจนหรือสามารถครองใจประชาชนหมู่มากได้   และไม่ว่าจะเป็นแอนครูว์ ควัวโม เอริค อดัมส์ หรือผู้ท้าชิงจากพรรครีพับลิกันก็ตาม  แต่ละคนก็เปรียบเสมือนสัญญลักษณ์ของการเมืองแบบเดิมๆ ที่คนส่วนใหญ่เบื่อหน่าย  เพราะมันไม่ตอบโจทย์ประชาชนในเรื่องค่าครองชีพและชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา       
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.072 วินาที กับ 20 คำสั่ง