หน่วยอารักขาบุคคลสำคัญแห่งสหรัฐฯ ที่เรารู้จักกันในนามของ US Secret Service ถูกสังคมตั้งคำถามกันมากในช่วงที่ผ่านมา หลังจากอดีตปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ตกเป็นเป้าหมายของการลอบสังหารถึงสองครั้งในเวลาแค่สามเดือน และเกือบจะเอาชีวิตไปทิ้งที่เพนซิลเวเนียในการลอบสังหารครั้งแรก เป็นเหตุให้ผอ.ของหน่วยต้องลาออกเพื่อสังเวยความผิดพลาด และมีการตั้งคณะกรรมการมากมายขึ้นมาสอบสวนหน่วยงานนี้
แต่ในขณะที่คนในสังคมรุมก่นด่า นักการเมืองจับจ้องจะเอาผิด ฯลฯ น้อยคนจะรู้ว่าหน่วยงานนี้ต้องเผชิญกับอะไรบ้างใน 20 กว่าปีที่ผ่านมาตั้งแต่ถูกโอนให้ไปอยู่กับกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ หลังจากที่ทรัมป์ถูกลอบสังหารในครั้งแรก. นสพ.นิวยอร์คไทมส์ของสหรัฐฯ จึงใช้เวลาหลายเดือนในการรวบรวมข้อมูลมารายงานอย่างเจาะลึกว่า ความผิดพลาดต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการอารักขาทรัมป์ที่เพนซิลเวเนียนั้นมันมีสาเหตุมาจากความล้มเหลวขององค์กรโดยรวม หรือเป็นแค่ความเลินเล่อของจนท.ภาคสนามไม่กี่คนกันแน่
คำตอบที่ได้อาจทำให้คนอ่านช็อคค่ะ
_ _ _ _
คงไม่มีงานประเภทไหนในโลกนี้ที่จะเรียกร้องให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ต้องเพียบพร้อมสมบูรณ์แบบอยู่ตลอดเวลาเหมือนงานของ Secret Service เพราะถ้าพลาดเพียงนิดเดียวก็อาจหมายถึงชีวิตของบุคคลในอารักขาได้ แต่ถ้าทำงานดีก็ไม่มีใครพูดถึง เพราะจะไม่มีอันตรายร้ายแรงอะไรเกิดขึ้นกับบุคคลในอารักขาให้เป็นข่าว Secret Service จึงมีภาพลักษณ์ขององค์กรระดับอีลีทที่ใครๆ ก็อยากเข้า ความล้มเหลวในการอารักขาทรัมป์ที่เพนซิลเวเนียเมื่อเดือนกค. ทำให้เราตระหนักว่า เบื้องหลังภาพลักษณ์นั้นอาจมีอะไรแย่ๆ ซ่อนอยู่
ก่อนหน้านี้เมื่อปลายเดือนกย. มีรายงานการสอบสวนมูลเหตุแห่งความผิดพลาดที่เพนซิลเวเนียออกมาสองฉบับ ฉบับแรกเป็นการสอบสวนภายในโดย Secret Service เอง ฉบับที่สองเป็นการสอบสวนโดยคณะกรรมาธิการร่วมแห่งรัฐสภาสหรัฐฯ
รายงานทั้งสองฉบับระบุตรงกันว่าต้นตอของความผิดพลาดมาจากการที่ Secret Service ปล่อยปละละเลย ไม่ได้ควบคุมดูแลให้การปฏิบัติงานเป็นไปตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด รวมถึงการที่ผู้ปฏิบัติงานทั้งจากรัฐบาลกลางและจากท้องถิ่นในวันนั้นไม่มีช่องทางสื่อสารถึงกันอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับมือปืนไม่ได้ถูกถ่ายทอดไปถึงจนท.ที่อารักขาทรัมป์อย่างทันท่วงที
แต่รายงานเของนิวยอร์คไทมส์ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่า ปัญหาที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของ Secret Service นั้นมันฝังลึกและดำเนินไปอย่างเนิ่นนานก่อนทรัมป์จะถูกลอบสังหารเสียอีก
ตั้งแต่เดือนตค. ปี 2022 เป็นต้นมา สภาพการทำงานอันเลวร้ายทำให้จนท. Secret Service 1,400 คน หรือเกือบ 20% ของหน่วยงานทั้งหน่วย ต่างก็พากันลาออกก่อนจะหมดอายุราชการหรือไม่ก็ขอโอนย้ายไปทำงานที่อื่น ทำให้ขาดคนทำงานภาคสนามที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญสูง อันส่งผลให้เกิดสภาวะที่เรียกว่า vicious cycle หรือวงจรอุบาทว์ คือคนที่เหลืออยู่ต้องทำงานหนักขึ้นจนรับกันไม่ไหว พอคนที่รับไม่ไหวพากันลาออกไป คนที่ยังไม่ออกก็ยิ่งต้องรับภาระหนักขึ้นไปอีก วนลูปกันไปอย่างนี้ไม่มีวันสิ้นสุด
จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ Secret Service จะถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 413 จากหน่วยงานทั้งหมด 459 แห่ง ในการสำรวจประจำปี 2023 ว่าหน่วยงานในรัฐบาลกลางแห่งไหนน่าไปทำงานด้วยมากที่สุด
ก่อนหน้านี้ Secret Service อยู่ใต้สังกัดกระทรวงการคลัง แต่พอเกิดเหตุการณ์วินาศกรรม 9/11 รัฐบาลสหรัฐฯ ก็โอนหน่วยงานนี้ให้ไปอยู่กับกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ หรือ Department of Homeland Security (DHS) ที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ในปี 2003
การทำงานใน Secret Service จะแบ่งออกเป็นสามเฟส เฟสแรกสำหรับจนท.ที่เพิ่งเข้ามาใหม่ๆ ซึ่งจะถูกส่งไปประจำตามสนง.ในรัฐต่างๆ เพื่อปฏิบัติภารกิจด้านการสืบสวนอาชญากรรมทางการเงินและทางไซเบอร์ แต่ถ้ามีบุคคลสำคัญผ่านมาแถวนั้นก็อาจจะไปเป็นฝ่ายสนับสนุนหน้างานบ้าง หรือไปช่วยสำรวจพื้นที่ก่อนวันงานบ้าง
หลังจากทำงานในเฟสแรกไปสัก 4-5 ปีก็จะเข้าสู่เฟสที่สอง นั่นคือภารกิจอารักขาบุคคลสำคัญทั้งในอดีตและปัจจุบัน รวมถึงบุคคลที่ปธน.มอบหมายให้อยู่ในความดูแลด้วย เฟสนี้จะเป็นเฟสที่หนักหน่วงที่สุดเพราะชม.ทำงานจะขึ้นอยู่กับภารกิจและความต้องการของบุคคลในอารักขา จนท.บางคนเล่าว่าการเข้ากะ 12 ชม.นี่ถือเป็นเรื่องปกติ เวลาอยู่ในหน้าที่ก็ต้องยืนนานเป็นชั่วโมงติดต่อกันไม่ได้พัก
พออยู่เฟสสองไปนานๆ ก็จะได้เลื่อนไปยังเฟสสาม คือได้เป็น Special Agent ผู้มีความชำนาญพิเศษ หรือไปเป็นผู้ดูแลหน่วยพิเศษต่างๆ (เช่น หน่วยนักแม่นปืนเพื่อป้องกันการลอบสังหาร) และหน.สนง.ระดับภูมิภาค เป็นต้น
ในทศวรรษที่ผ่านมา Secret Service ต้องเผชิญกับปัญหาการขาดบุคลากรที่เพียงพอสำหรับการปฏิบัติงานในเฟสสองให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ภารกิจและจำนวนผู้อยู่ในความอารักขากลับเพิ่มสูงขึ้นทุกปี
มาถึงสมัยทรัมป์นี่ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ เพราะ Secret Service ต้องรักษาความปลอดภัยให้แก่ครอบครัวของปธน.ที่มีลูกห้า เขยสะใภ้สาม หลานอีกสิบ ซึ่งไม่ได้อาศัยอยู่ในรัฐเดียวกันทั้งหมดด้วย ยังไม่นับจนท.ระดับสูงที่ทรัมป์ต้องการให้อารักขาเป็นพิเศษอีก แถมในช่วงที่ทรัมป์เป็นปธน.นั้น ทั้งลูกตัว ลูกเขย และลูกสะใภ้ต่างก็เดินทางไปต่างประเทศกันเป็นว่าเล่น ตัวทรัมป์เองก็ชอบบินกลับบ้านที่ฟลอริด้าและไปเล่นกอล์ฟที่สนามของตัวเองในนิวเจอร์ซี่ย์ สร้างแรงกดดันให้แก่ Secret Service เป็นอย่างมากในขณะที่หน่วยงานเองก็ยังประสบกับภาวะสมองไหลอยู่
แม้จำนวนคนในอารักขาจะลดลงบ้างหลังจากที่ไบเดนขึ้นเป็นปธน. แต่ปัญหาเรื่องการขาดบุคลากรก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข พอมาในปี 2024 ซึ่งเป็นปีเลือกตั้ง Secret Service ก็ยังต้องรับภารกิจสำคัญๆ เพิ่มขึ้นมากมาย เพราะผู้สมัครทั้งสองฝ่ายเป็นอดีตปธน.และปธน.คนปัจจุบันที่ต้องอยู่ในอารักขา นอกจากนั้น อเมริกาก็ยังต้องรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดผู้นำนาโต้ในเดือนกค. อีกด้วย ความล้มเหลวที่เราได้เห็นในเพนซิลเวเนียจึงเป็นเครื่องบ่งชี้อย่างชัดเจนว่าหน่วยงานไม่มีศักยภาพและความพร้อมที่จะรับมือกับภารกิจมากมายเหล่านี้ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน
_ _ _ _
อ่านบทความฉบับเต็มที่นี่ค่ะ
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid02RVW5mtyiHPXKFDwtmieVGDnUkA6GK1unJWJj128GjCLEzpyzWBhutNGvEyezSpDRl&id=61564539505812