เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 7
  พิมพ์  
อ่าน: 52709 พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 29 พ.ย. 10, 10:02

สืบเนื่องจากกระทู้  จอมพลป.2 ไม่ผ่านขึ้นป.3  ของคุณ Navarat.C
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3438.0
ดิฉันบอกไว้ใน ค.ห. 356  ว่าจะแยกกระทู้เป็นเรื่องของพ.ท.โพยม    แต่หลายเดือนแล้วก็ยังไม่ได้ตั้งสักที
มัวติดงานอื่นๆอยู่
ตอนนี้ตัดสินใจว่าถ้าไม่เริ่มตอนนี้ ก็คงไม่ได้เริ่มจนแล้วจนรอด

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลยังมาไม่ครบ   
ขอเสิฟน้ำจิ้มไปก่อน ด้วยรูปถ่ายของพันโทโพยม จุลานนท์


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 29 พ.ย. 10, 13:04

อย่างน้อย บิดาและบุตรก็มีส่วนคล้ายกันที่ใบหน้า


รอติดตามอ่านอยู่ครับ

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 29 พ.ย. 10, 13:22

เจ้าหนี้รายแรกมาทวงหนี้เสียแล้ว  จำต้องเปิดม่าน   ยิงฟันยิ้ม

ได้ยินชื่อพ.ท.โพยม จุลานนท์ครั้งแรกเมื่อสิบกว่าปีก่อน     เมื่อได้อ่านหนังสืออนุสรณ์งานศพ คุณหญิงเก๋ง วิเศษสิงหนาถ   หรือคุณหญิงเก๋ง จุลานนท์  ซึ่งถึงแก่กรรมเมื่อพ.ศ. ๒๔๙๐
หนังสืองานศพมีบันทึกประวัติชีวิตขนาดยาว   เขียนโดยบุตรชายของผู้ล่วงลับ    เล่าความตั้งแต่จำความได้ มาจนกระทั่งโต   เป็นความผูกพันฉันแม่ลูกที่ละเอียดอ่อนและซาบซึ้ง   ไม่ใช่คำไว้อาลัยสั้นๆ  เขียนด้วยสำนวนเป็นทางการ อย่างที่เราอาจจะหาอ่านได้ในหนังสืออนุสรณ์งานศพโดยมาก
บันทึกของพ.ท.โพยมที่มีต่อมารดา จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดนวนิยายเรื่อง "ราตรีประดับดาว" ขึ้น       เมื่อเขียนจบแล้วก็เก็บหนังสือและเอกสารอ้างอิงทั้งหมดใส่แฟ้มเก็บไว้ในห้องหนังสือ    ผ่านมาสิบกว่าปีเลยหาไม่เจอ
ได้แต่เขียนจากความทรงจำ

พ.ท.โพยม เป็นบุตรของพ.อ. พระยาวิเศษสิงหนาถ  (ยิ่ง จุลานนท์)    กับคุณหญิงเก๋ง    ฝ่ายบิดาเป็นคนกรุงเทพแต่ว่าไปรับราชการทหารอยู่ที่จ.เพชรบุรี  ในกรมทหารที่เรียกกันว่า "กองทัพล่าง" ส่วนมารดาของท่านเป็นชาวท่าหิน  สมัยโน้นเรียกว่าบ้านท่าหิน    
ท่านทั้งสองสมรสกันที่เพชรบุรี  เด็กชายโพยมเกิดที่นั่น
เมื่อเกิด   พระยาวิเศษสิงหนาถซึ่งตอนนั้นยังเป็นพ.ท. บรรดาศักดิ์เป็นคุณพระ   ถูกย้ายกะทันหันจากเพชรบุรีไปเมืองหมากแข้งหรือ
จ.อุดรธานี  เนื่องจากมีเหตุตำรวจกับทหารปะทะกันในจังหวัด  ผู้บังคับบัญชาทั้งๆไม่มีส่วนรู้เห็นกับลูกน้องทะเลาะวิวาทกัน ก็โดนหางเลข ถูกย้ายแบบตั้งตัวไม่ติด
ลูกยังเล็กนัก    พ่อจึงให้แม่กับลูกอยู่ที่เพชรบุรีไปก่อน    โตพอจะเดินทางได้จึงจะให้ตามไปทีหลัง  เด็กชายโพยมตั้งแต่จำความได้จึงพบว่าอยู่กับแม่กันสองคนแม่ลูกในบ้านเล็กๆ     มีสามีภรรยาคู่หนึ่งอยู่เป็นเพื่อนด้วย   แต่ว่าเป็นญาติหรือเป็นคนรู้จักกันทางไหน ท่านไม่ได้ระบุไว้

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 29 พ.ย. 10, 13:56

เด็กชายโพยมเป็นเด็กเฉลียวฉลาด กล้า ช่างพูดช่างถาม  เมื่อพอจะรู้ความ  เห็นตัวเองมีแต่แม่ ไม่มีพ่ออยู่บ้านอย่างเด็กอื่นๆในละแวกนั้น ก็ถามถึงพ่อ    แม่ก็บอกว่า พ่อเป็น "คุณพระ"    ดังนั้นเมื่ออายุ ๓ ขวบ  พระสงฆ์มารับบิณฑบาตที่บ้าน   พอรู้ว่านี่คือ "พระ" เด็กชายโพยมก็เดินตามพระออกจากบ้านไปจนกระทั่งถึงวัด  เพื่อจะไปอยู่กับ "พ่อ"
เจ้าอาวาส ท่านเมตตา ท่านก็รับเลี้ยงหาข้าวปลาให้กิน และพามาส่งบ้าน   จากนั้นพอโตขึ้นกว่านี้หน่อย ท่านก็สอนให้เขียนอ่านหนังสือที่วัดนั่นเอง

บิดาของดช.โพยมจากไปอยู่เมืองหมากแข้งหลายปี   ไม่ได้ส่งข่าวมาหาลูกเมียทางเพชรบุรี    เมื่อลูกชายโตพอจะฝากคนให้ดูแลอยู่ทางบ้านได้    มารดาก็เดินทางจากเพชรบุรีมากรุงเทพ  เพื่อสืบหาข่าวคราว     
บางครั้ง  เธอมาพักอยู่ที่บ้านภรรยาคนเดิมซึ่งเลิกร้างกันไปแล้วจากสามี     บางครั้งเธอก็มาพักอยู่ที่้บ้านพระยาปริยัติธรรมธาดา(แพ ตาละลักษมณ์)  อีกคนหนึ่งที่เธอมาขอพึ่งพาคือเจ้าจอมอาบ บุนนาค   หนึ่งในจำนวนเจ้าจอมก๊ก อ.  ที่ชาวเรือนไทยคงได้เคยผ่านตามาบ้างแล้ว   
ในสมัยนั้น  การเดินทางจากต่างจังหวัดมาพักในเมืองหลวง สำหรับผู้หญิงตัวคนเดียวถือเป็นเรื่องลำบาก   ต้องหาบ้านคนรู้จักเพื่ออาศัยอยู่ได้อย่างปลอดภัย     โดยมากก็เป็นญาติหรือคนคุ้นเคยกันมาก่อน   
เจ้าจอมอาบเป็นชาวเพชรบุรีโดยกำเนิด  เป็นธิดาของเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) ที่เกิดกับท่านผู้หญิงอู่   คงจะรู้จักกับมารดาของพ.ท.โพยมมาก่อนตั้งแต่อยู่เมืองเพชร  จึงเอื้อเฟื้อให้เธอพักอยู่ด้วย    มิตรภาพของเจ้าจอมอาบและคุณหญิงเก๋งก็ดำเนินกันมายาวนานตลอดชีวิตของท่านทั้งสอง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 29 พ.ย. 10, 17:28

คำว่า" พระ" ที่เด็กชายโพยมจำได้ว่าเป็นชื่อของพ่อ   ความจริงคือนายพันโทพระนเรนทรรักษา (ยิ่ง จุลานนท์)  เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยเกียกกายทหารบก กระทรวงกลาโหม 

ตระกูลของเด็กชายโพยมเข้มข้นด้วยเลือดทหาร  สืบมาตั้งแต่ครั้งปู่    คุณปู่ชื่อเล็ก เป็นครูฝึกทหารวังหน้าของสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพันโทหลวงรัดรณยุทธ  ซึ่งก็เป็นบรรดาศักดิ์เดียวกับพระนเรนทรฯได้รับเมื่อเป็นพันตรี
คุณปู่หลวงรัดรณยุทธเคยถูกส่งตัวไปเรียนวิชาทหารกับกองทหารอังกฤษที่ประจำอยู่ในอินเดีย    กลับมาจึงได้เป็นครูฝึกทหารให้วังหน้า
นามของครูเล็ก หลวงรัดรณยุทธนี่เอง เป็นที่มาของนามสกุลพระราชทานในล้นเกล้าฯรัชกาลที่ ๖ ว่า "จุลานนท์"  จุล แปลว่า เล็ก

บิดาของพ.ท.โพยมเคยสมรสมาก่อน กับคุณนายกลีบ    มีบุตร ๓ คนคือ
๑ พันโท พระอร่ามรณชิต (อ๊อด จุลานนท์)
๒ พยัพ จุลานนท
๓ พยงค์ จุลานนท์

หลังจากเลิกร้างกัน   ก็ไม่ได้เกิดความรู้สึกบาดหมางเมื่อพระนเรนทรรักษาไปสมรสใหม่กับนางสาวเก๋ง หญิงสาวชาวเมืองเพชรบุรี   เห็นได้จากเธอเคยไปพักที่บ้านคุณนายกลีบเมื่อเข้ามาติดตามข่าวคราวอย่างสามี อย่างที่เล่าไว้ข้างบน
อายุของเธอ เท่ากับบุตรคนโตของสามีคือพระอร่ามรณชิตพอดี    ทั้งคุณพระอร่ามฯ และแม่เลี้ยงต่างก็มีความเคารพและให้เกียรติกันและกันอย่างดี       ความรู้สึกเคารพและเป็นมิตรก็ตกทอดมาถึงชั้นลูกๆของทั้งสองคนด้วย
จะเรียกว่าคนในตระกูลจุลานนท์ ไม่มีปัญหาแม่เลี้ยงลูกเลี้ยงก็ว่าได้  แม้ในเจนเนอเรชั่นต่อมาก็เช่นกัน    เรื่องนี้จะเล่าขยายต่อไปในโอกาสหน้า
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 29 พ.ย. 10, 19:28

เล่ารวบรัดในตอนนี้ มิฉะนั้นจะออกนอกประวัติชีวิตพ.ท.โพยมไปไกล     ขอตัดตอนว่าในที่สุดพันโทพระนเรนทรรักษาก็ได้เลื่อนขึ้นเป็นพันเอก มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาวิเศษสิงหนาถ   ย้ายกลับเข้ามาอยู่ในพระนคร  
ครอบครัวพ่อแม่ลูกจึงได้มารวมกันอีกครั้ง    มารดาของเด็กชายโพยมก็ได้เป็นคุณหญิงวิเศษสิงหนาถ ตามบรรดาศักดิ์ของสามี  ย้ายจากเพชรบุรีมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บางโพธิ์ บริเวณใกล้สะพานพระราม ๖

ด้วยความวิริยะอุตสาหะของคุณหญิงวิเศษสิงหนาถ ซึ่งเคยค้าขายข้าวสาร มีการค้าของตัวเองมาก่อนตั้งแต่สมัยยังสาวอยู่เพชรบุรี    ท่านก็สร้างฐานะได้เป็นปึกแผ่นมั่นคง    เป็นเจ้าของสวนทุเรียน และที่ดินอีกหลายแปลง  นับเป็นเศรษฐินีคนหนึ่งของบางโพธิ์
ดช.โพยมมีน้องต่อมาอีก ๒ คนคือน้องสาวชื่อพยูร และน้องชายคนเล็กชื่อยศ  เมื่อโตขึ้น โพยมก็เข้าเรียนด้านทหาร เช่นเดียวกับคุณพ่อและคุณปู่
ส่วนน้องชายคนเล็กคือยศ เข้าเรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พันเอกพระยาวิเศษสิงหนาถ ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘   ปีสุดท้ายในรัชกาลที่ ๖     แต่ฐานะครอบครัวก็ไม่ได้กระทบกระเทือนแต่อย่างใด  เพราะคุณหญิงวิเศษสิงหนาถมีฐานะดีอยู่แล้ว  จึงสามารถส่งเสียบุตรชายทั้งสองให้เล่าเรียนได้สูงตามที่มุ่งหมาย

ชีวิตในวัยหนุ่มของร้อยตรีโพยมเป็นไปด้วยดี ทั้งอาชีพการงานและส่วนตัว     เขาพบรักกับธิดาของนายทหารใหญ่อีกคนหนึ่ง  คือพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) อดีตนักเรียนทหารจากเยอรมัน  
เธอชื่อคุณอัมโภช ท่าราบ  ญาติพี่น้องต่างก็เห็นพ้องกันว่าเหมาะสมกันเป็นกิ่งทองใบหยก     ต่อมาก็ได้สมรสกัน  มีบุตร ๓ คนคือ ลูกสาวคนโตชื่ออัมพร บุตรชายคนกลางชื่อสุรยุทธ์  และนภาพร เป็นบุตรสาวคนเล็ก
ชื่อของลูกสาวทั้งสอง มีความหมายสอดคล้องกับชื่อพ่อ คือแปลว่า ท้องฟ้า

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๑ ปี เกิดกบฏบวรเดช ในพ.ศ. ๒๔๗๖     ชื่อของพันเอกพระยาศรีสิทธิสงครามเป็นที่จารึกในประวัติศาสตร์การเมืองในฐานะแม่ทัพใหญ่ฝ่ายพระองค์เจ้าบวรเดช    หาอ่านได้จาก กระทู้ "ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์"
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3025.msg57959#msg57959
ขณะนั้น โพยมเป็นนายร้อยทหารหนุ่ม   ยังไม่มีบทบาทใดๆทางการเมือง

 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 30 พ.ย. 10, 08:53

พ.ท. โพยมเติบโตขึ้นมาในสายอาชีพทหาร ในช่วงที่สยามก้าวเข้าสู่ความผันผวนทางการเมืองมากที่สุดนับแต่ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา   แม้ว่าเรียกกันตามทางการ คือสยามเปลี่ยนระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือราชาธิปไตย  เป็นประชาธิปไตย มาตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๗๕    แต่ในทางปฏิบัติ   กลายเป็นระบอบรัฐสภาสลับกับรัฐประหารมาตลอด

ในเมื่อจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาจากคณะทหาร   จากนั้น    สถาบันทหารเข้ามาพัวพันกับการปกครองโดยไม่ขาดสาย   จนเรียกว่าแยกกันไม่ออก     นายทหารชั้นผู้ใหญ่กลายเป็นผู้นำทางการเมือง ชุดแล้วชุดเล่าและคนแล้วคนเล่า   เมื่อคนเก่าหมดอำนาจไป คนใหม่ก็เข้ามาแทน
ใครที่ยังไม่เคยอ่านเรือนไทย หรืออ่านแต่ลืมไปแล้ว  จะหาอ่านบทบาททหารกับการเมืองไทยได้จากกระทู้มหากาพย์  
ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3363.0

การชิงอำนาจและล้มล้างอำนาจเก่ากัน มีทั้งระหว่างกองทัพต่อกองทัพ  ทหารกับทหาร และทหารกับพลเรือน  ที่เห็นได้ชัดคือกรณีกบฎวังหลวง ซึ่งเป็นรัฐประหารนำโดยนายปรีดี  พนมยงค์ และส่วนหนึ่งของกองทัพเรือ ที่ชิงอำนาจจากจอมพลป.   และต่อมาคือกบฎแมนฮัตตันระหว่างทหารเรือกับจอมพลป.
อ่านได้จาก
จอมพลป.2 ไม่ผ่านขึ้นป.3
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3438.0  
ด้วยสภาพแวดล้อมแบบนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นายทหารระดับนายพันคือระดับคุมกำลัง  มีจำนวนมากที่ต้องเข้าไปพัวพันกับการเมือง ทั้งโดยหน้าที่  หรือถูกผลักดัน หรือด้วยความสมัครใจ
พ.ท.โพยม ก็เป็นหนึ่งในจำนวนนี้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 30 พ.ย. 10, 09:49

ขอนั่งพักก่อน  รวบรวมข้อมูลอยู่ค่ะ
เชิญเข้ามากระแอมกระไอให้เสียง หรือคุยอะไรก็ได้ ตามอัธยาศัย
บันทึกการเข้า
sirinawadee
ชมพูพาน
***
ตอบ: 101


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 30 พ.ย. 10, 12:38

เห็นกระทู้นี้แล้วเลยต้องปัดฝุ่นลอกอินเข้ามาลงชื่อติดตามค่ะ

ถ้าอยู่ใกล้ๆ จะรินน้ำให้ดิ่ม ปรนนิบัติพัดวีให้อาจารย์หายเหนื่อยมาให้ความรู้ต่อนะคะ  ยิ้ม
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 30 พ.ย. 10, 14:29

บทกวีจากหน้า ๑๗



กบฏ

เธอคือต้นกล้าแห่งอนาคต
จึงแข็งขืนต่อกฎอันล้าหลัง
เธอศรัทธาต่อหัวใจและจริงจัง
จึ่งบางครั้งคล้ายก้าวร้าวรุนแรง

มิคุดค้อมทรชนจำนนนิ่ง
กล้าประกาศทุกสิ่งอย่างกร้าวแกร่ง
กล้าเปิดเผยสัจธรรมนำสำแดง
มิเสแสร้ง-ซบอำนาจทมิฬใด

เธอคือธงนำทางความคิด
เธอต่อสู้เพื่อสิทธิ์อันยิ่งใหญ่
บูชาเสรีภาพเหนือสิ่งใด
เทอดทูนไว้เหนือชีวิตชีวา

เธอคือต้นกล้าแห่งอนาคต
ถูกกำหนดให้สร้างสรรค์วันข้างหน้า
มีชีวิตเพื่อประสานกาลเวลา
มีดวงตาพิทักษ์ธรรมส่องนำทาง

มิใช่เหล่าสมุนเขาขุนใช้
เป็นกลไกทางสังคมที่ใครสร้าง
คือสายเลือดกบฏกำหนดวาง
เธอคือผู้นำทางของแผ่นดิน

ศรี  พิริยะศิลป์
 
 
 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 30 พ.ย. 10, 15:55

มาเสิฟกาแฟตอนเบรค ค่ะ



ขอออกนอกเรื่องหน่อย
ชื่อพ.ท.โพยม สะกดว่าโพยม หรือพโยม คะ? เพราะเห็นทั้ง ๒ อย่าง
ถ้ามีหนังสืออนุสรณ์งานศพอยู่ในมือ ก็จะเช็คได้ นี่ยังหาไม่เจอ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 30 พ.ย. 10, 16:08

ถ้าจะให้มีความหมายต้องใช้ โพยม

โพยม [พะโยม] น. ท้องฟ้า, อากาศ, โพยมัน หรือ โพยมาน ก็ใช้. (ส. โวฺยมนฺ).

 ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 30 พ.ย. 10, 19:20

เมื่อสำรวจเส้นทางชีวิตทหารของพ.ท. โพยม ตั้งแต่นายร้อยจนเป็นนายพันตรี ก็พบว่าเติบโตมาทางสายอาชีพ   ยังไม่เกี่ยวกับการเมือง    จึงขอเก็บความมาเพียงย่อๆ ว่า เมื่อจบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔  ก็ไปประจำการครั้งแรกที่กรมทหารปืนใหญ่ที่ ๒ จังหวัดราชบุรี     ตอนเปลี่ยนแปลงการปกครองในปีต่อมา  พ.ท.โพยมไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องมากนัก  เป็นเพียงนายร้อยตรีชั้นผู้น้อยในกองกำลังรถถัง  ประจำอยู่ ณ กองบัญชาการฝ่ายทหารของคณะราษฎร ที่วังปารุสกวัน
จากนั้นอีก ๕ ปี  ท่านเรียนจบจากโรงเรียนเสนาธิการ  ไปเป็นเสนาธิการกรมทหารราบที่ ๕ กองพลทหารบกที่ ๒ ปราจีนบุรี    ศึกแรกที่เผชิญก็คือปะทะกับกองทหารญี่ปุ่นที่บุกประเทศไทยเมื่อวันที่ ๘  ธันวาคม  ๒๔๘๔   เข้ามาทางอรัญประเทศ   กองทหารไทยสู้จนกระทั่งมีคำสั่งจากรัฐบาลให้หยุดรบ

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๘๖  พันโทโพยมถูกส่งไปเป็นเสนาธิการกรมทหารราบที่ ๓ ปฏิบัติการตามชายแดนประทศพม่า-จีน ตามฝั่งแม่น้ำโขง  และต่อมาได้ย้ายไปเป็นเสนาธิการกรมทหารราบที่ ๑๘  จังหวัดสงขลา  ได้รับหน้าที่เป็นกองทหารไปรับมอบดินแดนใน ๔ รัฐมลายู ในปี ๒๔๘๗  เข้าร่วมกับขบวนการเสรีไทยในพื้นที่จังหวัดภาคใต้   จนกระทั่งสงครามโลกสิ้นสุดลง

พ.ท.โพยมเป็นนายทหารหน้าตาบุคลิกดี  เฉลียวฉลาด กล้าหาญ กล้าคิด  กล้าตัดสินใจ และมีอุดมการณ์ทางประชาธิปไตย     เมื่อเห็นว่าการเมืองหลังสงครามจะเป็นเรื่องยุ่งยากให้ประเทศชาติต้องเผชิญปัญหาอีกมาก   เสธ.โพยมก็ตัดสินใจขอลาออกจากกองทัพไปสมัครเป็นส.ส. ที่เพชรบุรี 
แต่ว่าสมัครครั้งแรก  คะแนนยังสู้คู่แข่งไม่ได้   ก็เลยขอกลับเข้ารับราชการอีกครั้ง ย้ายไปเป็นอาจารย์ร.ร.เสนาธิการทหารบก

ถึงไม่ได้เป็นส.ส.  เป็นธรรมดาอยู่เองที่นายทหารชั้นเสนาธิการที่มีแววโดดเด่นกว่าเพื่อน  จะ" เข้าตา" ผู้ใหญ่     พ.ท.โพยมก็อยู่ในข่ายนี้     ผู้ใหญ่ที่เล็งเห็นคุณสมบัติข้อนี้  จนให้ความพอใจและสนิทสนมด้วย  ไม่ใช่ใครอื่น นอกจาก "ท่านผู้นำ"   หรือจอมพลป. พิบูลสงคราม
ในตอนนั้น ท่านผู้นำชะตาตกหลังจากญี่ปุ่นแพ้สงคราม   การเมืองก็ทำให้ท่านพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาอยู่บ้านเฉยๆ  รอดจากเป็นอาชญากรสงครามได้อย่างหวุดหวิด
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 01 ธ.ค. 10, 10:08

ไปเช็คมาแล้ว ชื่อของท่านสะกด ว่า "พโยม" ค่ะ    ชื่อคนเป็นวิสามานยนาม  ไม่จำเป็นต้องสะกดตามพจนานุกรม
จะแก้ตัวสะกดไล่หลังในความเห็นก่อนๆ
**********************
แม้ว่าพ.ท.พโยมใช้ชีวิตในวัยเรียนจนจบจากโรงเรียนนายร้อย อยู่ในเมืองหลวง  แต่เมื่อเริ่มรับราชการ  ก็ออกหัวเมืองตลอด ได้คลุกคลีอยู่กับชาวบ้านร้านถิ่น ชาวไร่ชาวนามาตลอด          จึงมองเห็นความจริงข้อหนึ่งว่า  แม้ว่าเปลี่ยนแปลงการปกครองมานานกว่า ๑๕ ปีแล้ว  ชีวิตชาวบ้านก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงในทางดีขึ้น  ยังยากจน เพราะถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่ทุกด้าน
พ.ท. พโยมยังจำอุดมการณ์ในประกาศฉบับที่ ๑ ของคณะราษฎร์ได้  ว่ามุ่งความเจริญของประชาชนเป็นหลัก     ขอตัดตอนมาลงให้อ่านกันตามนี้นะคะ

...
ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกตั้งขึ้น อยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา ตามวิธีนี้ราษฎรพึงหวังเถิดว่าราษฎรจะได้รับความบำรุงอย่างดีที่สุด ทุกๆ คนจะมีงานทำ เพราะประเทศของเราเป็นประเทศที่อุดมอยู่แล้วตามสภาพ....การปกครองซึ่งคณะราษฎรจะพึงกระทำก็คือ จำต้องวางโครงการอาศัยหลักวิชา ไม่ทำไปเหมือนคนตาบอด เช่นรัฐบาลที่มีกษัตริย์เหนือกฎหมายทำมาแล้ว เป็นหลักใหญ่ๆ ที่คณะราษฎรวางไว้ มีอยู่ว่า
๑.จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่นเอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
๒.จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
๓.ต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
๔.จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่ในเวลานี้)
๕.จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก ๔ ประการดังกล่าวข้างต้น
๖.จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

แต่เอาเข้าจริง  ชาวบ้านก็ยังอยู่เหมือนเดิมแทบไม่มีสิ่งใดเปลี่ยนแปลง   ขณะที่เมืองหลวงก็เปลี่ยนผู้บริหารชุดแล้วชุดเล่า  แต่ความเปลี่ยนแปลงก็จำกัดอยู่ในระดับบน  ไม่ได้ลงมาถึงระดับล่างจนแล้วจนรอด
นายทหารผู้นี้เห็นว่าระบอบประชาธิปไตย คือระบอบที่มุ่งความต้องการของคนส่วนใหญ่ เป็นหลัก   ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  ชาวนาขายข้าวก็ได้ราคาตามจริง  ไม่ถูกพ่อค้าคนกลางเอารัดเอาเปรียบ    ชาวบ้านก็อยู่ได้อย่างปลอดภัย ไม่ถูกข้าราชการกดขี่ข่มเหงวางตัวเป็นเจ้าใหญ่นายโต   ในความเป็นจริง   แม้จะอ้างว่าสยามเป็นประชาธิปไตยมาตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๗๕  แต่ประชาธิปไตยยังไม่มาถึงชาวบ้านโดยเฉพาะในต่างจังหวัดอยู่ดี
พ.ท.พโยมจึงอยากจะเป็นปากเสียงแทนประชาชน  รับรู้ทุกข์สุขและช่วยเรียกร้องในสิ่งที่พวกเขาสมควรได้     ข้อนี้ไม่ใช่การอ้างเพื่อนำตัวไปสู่รัฐสภา  แต่เป็นอุดมการณ์ที่ฝังใจจริงจัง    และยึดมั่นมาจนถึงบั้นปลายชีวิต 

แม้ชะตากรรมผันผวนให้ตกระกำลำบากแทบเอาชีวิตไม่รอด   พ.ท.พโยมก็ไม่เคยละทิ้งอุดมการณ์ ๒ ข้อ
๑   ประชาชนไทยจะต้องมีสิทธิ์ในการปกครองประเทศอย่างแท้จริง
๒   แผ่นดินไทยต้องมีเอกราช  เป็นของคนไทย  ปลอดจากการรุกรานของต่างประเทศ
บันทึกการเข้า
prickly heat
อสุรผัด
*
ตอบ: 22


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 02 ธ.ค. 10, 22:21

หายไปนานเพราะน้ำท่วมบ้านญาติ....เพิ่งจัดการเสร็จลุล่วง....ขออนุญาติเข้ามาบีบนวดท่านอาจารย์เพื่อได้ความรู้ประดับสมองอีกครั้งครับ.... ยิงฟันยิ้ม

..........
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.074 วินาที กับ 19 คำสั่ง