เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 5 6 [7]
  พิมพ์  
อ่าน: 23804 ตัวหนอนในสมุด
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 90  เมื่อ 03 เม.ย. 08, 12:13

อ้างถึง
เจอหนอนเพลงด้วยกัน รู้สึกว่าคุยกันแล้วจะมีความมัน ดิฉันหมายถึงหนอนเนื้อเพลงมากกว่าหนอนดนตรีนะคะ

อยากคุยด้วยมากค่ะ เรื่องนี้
ได้ฤกษ์แล้ว ขอเปิดกระทู้ใหม่ในห้องชั้นเรียนวรรณกรรม
ชื่อ คนเขียนเพลง
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=2633.0
บันทึกการเข้า
Oam
แขกเรือน
ชมพูพาน
***
ตอบ: 168



ความคิดเห็นที่ 91  เมื่อ 07 เม.ย. 08, 11:28

อ่านหนังสือไปเจอคำว่า "เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์" เข้า เลยขอคัดลอกเรื่องราวที่เกี่ยวข้องมาให้อ่านกัน

ที่คุณกุหลาบบอกว่าลาออกนั้น คือลาออกจากหน้าที่ผู้ช่วยงานบรรณาธิการหนังสือ เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ รายเดือนของโรงเรียนนายร้อยทหารบก ซึ่งพันโท พระวิสิษฐพจนการ (อ่อน อินทรปาลิต) บิดาคุณ ป. อินทรปาลิต ผู้เนรมิตพลนิกรกิมหงวน เป็นบรรณาธิการ

คุณกุหลาบเล่าอย่างเดือดดาลว่า สำนักงานหนังสือเสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ อยู่ด้านหลังสุดเขตของบริเวณโรงเรียนนายร้อยที่ถนนราชดำเนินนอก เดินเข้าไปไกลอยู่ คุณกุหลาบก็ต้องเดินเข้าไปทำงานและเดินออกกลับบ้านอยู่ทุกวัน มาเมื่อวานซืนกำลังเดินจะเข้าประตูใหญ่ติดถนนราชดำเนินที่มีทหารยามเฝ้าอยู่ที่ประตูเล็กทางคนเดินเข้าออก เห็นพลทหารคนหนึ่งขี่จักรยานมาพอเกือบจะถึงประตุเล็ก พลทหารนั้นก็บอำให้ยามนั้นเปิดประตูเล็ก ยามก็รีบเปิดให้จักรยานผ่านเข้าไปโดยเรียบร้อย คุณกุหลาบก็มาคำนึงว่า ทางเดินจากทางประตูเข้าบริเวณโรงเรียนนายร้อย กว่าจะถึงที่ทำงานสำนักงานหนังสือพิมพ์นั้นเป็นระยะทางไกล ต้องเสียพลังงานไปเปล่าวันละไม่น้อย น่าที่เราจักได้ซื้อจักรยานสักคันหนึ่งขี่เข้าไปและกลับออกมาเป็นการทุ่นแรง รุ่งขึ้นก็จัดการลงทุนซื้อจักรยานใหม่เอี่ยมคันหนึ่ง

พอวันรุ่งขึ้น คือเช้าวันที่มาหาผม(หมายถึงคุณอบ ไชยวสุ)นั่นเอง คุณกุหลาบขี่จักรยานออกจากที่พัก ไปถึงใกล้ประตูโรงเรียนนายร้อยก็บอกดังดังให้ทหารยามได้ยินว่า "ยาม ช่วยเปิดประตูเล็กให้ที" ยามก็เฉยอยู่ไม่เปิด คุณกุหลาบขี่รถไปถึงประตูก็จำเป็นเป็นต้องลง ยามจึงได้มาเปิดประตูให้ บอกให้คุณกุหลาบจูงรถผ่านประตูเข้าไป จะขี่เข้าไปไม่ได้ จูงผ่านแล้วจึงขี่ต่อไปได้ คุณกุหลาบบอกว่าทำไมพลทหารขี่ผ่านเข้าไปได้ ไม่ต้องลงจูง ยามบอกว่าข้อห้ามมีอย่างนั้น

คุณกุหลาบว่าแก่ตัวเองให้ยามประตูได้ยินด้วยว่า "วะ แล้วกันโว้ย จักรยานก็เหมือนกัน ของเราใหม่กว่าด้วยซ้ำ ที่ขี่ก็คนเหมือนกัน นั่นพลทหาร เรานึกว่าเราดีกว่าด้วยซ้ำ ทั้งมีธุระการงานต้องเข้าไปเหมือนกัน แต่เรานึกว่างานเราดีกว่า หน็อย เขาขี่เข้าไปได้ ส่วนเราต้องลงจูงเดินเข้าไป ไม่เอาละวะ ลาออกดีกว่า" แล้วก็เขียนใบลาออกจากหน้าที่ผู้ช่วยบรรณาธิการ โดยเหตุที่เห็นไม่ยุติธรรม

นั่นคือที่มาของการที่คุณกุหลาบมาออกหนังสือพิมพ์ "สุภาพบุรุษ"
บันทึกการเข้า
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 92  เมื่อ 07 เม.ย. 08, 16:53

"แผ่วิทยาศาสตร์" ฟังแล้วสะดุดหูมากครับ  ยิงฟันยิ้ม

หมายถึง "ตีแผ่เรื่องราวทางวิทยาศาสตร์" หรือเปล่าครับ ฮืม ภาษาปัจจุบันไม่ใช้เดี่ยวๆ แล้ว เห็นจะใช้ว่า "ตีแผ่" ซึ่งมักเป็นเรื่องไม่ค่อยดี เป็นการเปิดโปงความจริง  ถ้าใช้เดี่ยวๆ เท่าที่นึกออกเห็นจะมี "นอนแผ่หรา"

สมัยนี้ เข้าใจว่าจะนิยมใช้ "เผยแพร่" หรือ "เผยแผ่" แทน  ขยิบตา

เผยแพร่ ก. โฆษณาให้แพร่หลาย เช่น เผยแพร่ความรู้.
เผยแผ่ ก. ทําให้ขยายออกไป, ขยายออกไป, เช่น เผยแผ่พระศาสนา.

บันทึกการเข้า
Oam
แขกเรือน
ชมพูพาน
***
ตอบ: 168



ความคิดเห็นที่ 93  เมื่อ 07 เม.ย. 08, 19:36

ต้องถามคนรุ่นคุณพิพัฒน์ครับ คุณ Hotacunus  ยิงฟันยิ้ม

คำหลายคำความหมายเปลี่ยนไปตามเวลา ฮิวเมอริสต์บอกว่า ดิถี ใช้เฉพาะทางจันทรคติ ที่นำมาใช้กับดิถีขึ้นปีใหม่ นั้นไม่ถูก หรือ สูสี แต่ก่อนใช้เพียงความหมายว่าเกี่ยวข้อง เนื่องด้วย เท่านั้น
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 94  เมื่อ 07 เม.ย. 08, 21:21

คนรุ่นผมใช้ว่าแผ่สองสลึงแล้ว พ่อหนุ่มโอม
แผ่ในรุ่นรัชกาลที่ 6 ขึ้นไป เป็นความหมายเชิงยกย่องครับ
นักหนังสือพิมพ์รุ่นกึ่งศตวรรษแหละ ที่ไปกระชากลงมาทำอนาจาร...อุ๊บบบ มิถึงเพียงนั้น
ทำให้ความหมายเคลื่อนไปในทางลบ

แผ่ขยาย แผ่ปก เผื่อแผ่....
พวกนี้ความหมายทางดีทั้งนั้นแหละครับ
แผ่วิทยาศาสตร์ก็คืออุดมการณ์ของบัณฑิตรุ่นนั้น ที่อยากให้สังคมของเราหลุดจากปลักไสยเสียที
ครูเทพนี่แหละครับ ที่เป็นหัวหอก
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 95  เมื่อ 12 เม.ย. 08, 15:31

        เคยกล่าวถึงคุณวิลาศ มณีวัต และนิยายเรื่อง ละครแห่งชีวิตไว้ในความเห็นก่อน
          วันนี้ได้อ่าน คอลัมน์ มิตรน้ำหมึก ของคุณ ณรงค์ จันทร์เรือง จาก มติชนสุดสัปดาห์
(คุณณรงค์ เขียนเรื่องการเป็นนักเขียน ต่อเนื่องกันมาหลายสัปดาห์ อ่านได้ทั้งความรู้และความเพลิดเพลิน)
        กล่าวถึงคุณวิลาศ มณีวัต ที่เขียนนวนิยายด้วยจินตนาการและแรงบันดาลใจจาก ละครแห่งชีวิต
จึงนำมาถ่ายทอดเรื่องราวเป็นบันทึกไว้ ครับ

         วิลาศ มณีวัต เคยให้สัมภาษณ์ คำรพ นวชน เมื่อราว ๒๐ ปีก่อนว่า
         นวนิยายที่โด่งดังในยุคแรกของเขาคือ "ชีวิตไม่มีพรมแดน" ได้แรงบันดาลใจจาก "ละครแห่งชีวิต"
ของ ม.จ.อากาศดำเกิง รพีพัฒน์
         "ผมอ่านแล้วอ่านอีก อ่านอย่างหลงใหล และต้องยอมรับว่ามีอิทธิพลต่อแนวทางการดำเนินชีวิตของผม
เป็นอย่างมาก หนังสือเล่มนั้นทำให้ผมไม่อยากเป็นอย่างอื่น นอกจากคนหนังสือพิมพ์ อยากไปสืบข่าวที่อังกฤษบ้าง
อยากจะไปดมกลิ่นหมอกลอนดอน ....
         แต่ความเป็นจริงเดินช้าไม่ทันใจ ผมจึงฝันมันขึ้นมา และได้กลายเป็นนิยายในนามของ วิไล วัชรวัต
...ซึ่งเขียนผิดไปเยอะเหมือนกัน เพราะผมเขียนจากหนังสือบวกแผนที่ บวกความฝัน และบวกความกำแหงขนาดหนัก... "

        คณะศิวารมณ์ นำตอนหนึ่งไปสร้างละคร ให้ชื่อว่า "แว่วเสียงยิปซี" จากฝีมือบทละครระดับเทพ สุวัฒน์ วรดิลก
          "ผมต้องขอบคุณ คุณสุวัฒน์ วรดิลก ไว้ในที่นี้ด้วยอย่างสูง เพราะทำเป็นละครได้ดีกว่าเรื่องเดิมของผม
เป็นอันมาก."
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 96  เมื่อ 19 เม.ย. 08, 01:38

กลับมาปั่นกระทู้ต่อ อาจจะกระโดดโดกเดกไปบ้างนะครับ

โรงพิมพ์เป็นสถานศักดิสิทธิ์ในความทรงจำอีกแห่งหนึ่ง

สมัยที่เรียนอำนวยศิลป์ เพื่อนในห้องเป็นโรงกลึง...เราก็รู้แค่นั้น
มารู้เพิ่มอีกทีก็เมื่อแยกย้ายไปหลายปีว่า โรงกลึงของมันนั้น แท้ที่จริงเป็นตำนานบทเล็กๆ ในประวัติศาสตร์การพิมพ์
คือเป็นโรงกลึงที่สามารถผลิตลูกกลิ้งแท่นพิมพ์ได้เอง....แม้ เราเองก็ไปนอนเล่นบ้านมันออกบ่อย
ทราบว่าโรงงานซึ่งอยู่เลยวงเวียนใหญ่ไปสามป้ายรถเมล์ ถูกเวณคืนเมื่อขยายถนน..นั่นก็นานก่อนผมจะเข้าโรงพิมพ์จริงๆ

หนังสือรุ่น เป็นเหตุให้เราต้องเข้าโรงพิมพ์ วันนั้นเพื่อนเป็นประธานนักเรียน
ผมติดร่างแหไปช่วยเขาหน่อยหนึ่ง พอได้กลิ่นแท่นฉับแกละ
ในปีนั้น การพิมพ์ออฟเส็ท เป็นของหรู การพิมพ์รูป ถ้าต้องพิมพ์ด้วยบล๊อคเม็ดสกรีน ก็ยิ่งหรู
นี่ไม่ต้องไปฝันถึงการพิมพ์สอดสีเลยนะครับ เงินน่ะ ต้องเตรียมไปอีกหลายเท่าทีเดียว

ไม่มีใครสอนกันด้วยนะครับ เรื่องพิมพ์หนังสือ
คิดดูก็ใจกล้าหน้าด้านไม่น้อยทีเดียว ที่เด็กนักเรียนอายุยังไม่ถึงยี่สิบ กำเงินร่วมหมื่นของเพื่อนๆ
เข้าโรงพิมพ์ไปสั่งพิมพ์หนังสือรุ่น

เถ้าแก่ถามว่ากี่หน้ายก เราก็อ้อมแอ้มทำเป็นหยิบเล่มของรุ่นก่อนให้ดู
บอกว่าประมาณนี้แหะ แต่อาจจะหนากว่าหน่อย
เถ้าแก่จึงเป็นครูของพวกเราในการพิมพ์หนังสือ แกเป็นเจ้าของเจริญวิทย์
โรงพิมพ์ที่พวกเรียนศิลปะได้อาศัยพึ่งพา ในขณะที่ตัวแกเองเริ่มอ่านหนังสือของมาร์ก เองเจิล
และเริ่มติดการประท้วง

แต่พวกเราไม่สนใจดอก ขอให้พิมพ์หนังสือเราทันกำหนดเป็นใช้ได้
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 97  เมื่อ 19 เม.ย. 08, 20:03

ก่อนเข้าไปยุ่งกับการพิมพ์
การเรียนศิลปะ ทำให้เราต้องแวะโรงพิมพ์เหมือนกัน แต่ไปขอกระดาษครับ
ในการฝึกมือนั้น เด็กเรียนศิลปะต้องล้างผลาญกระดาษกันคนละนับไม่ถ้วน
สมมติว่าเขียนรูปวันละสามสี่แผ่น อาทิตย์นึงก็หมดไปเป็นหลายโหล
บางคนที่รอบคอบ อาจจะพลิกด้านหลังมาใช้ แต่ไม่ใช่ว่าจะใช้ได้ทุกแผ่น
บางแผ่นก็เขียนจนแหลกเหลว

เพื่อนบางคนพกมาทีละห้า-หกสิบแผ่น เอาแต่เขียนเส้นเป็นวงกลมดำปิ๊ดปี๋เต็มทั้งแผ่น
เปลืองทั้งดินสอทั้งกระดาษ แต่ทำให้เขารู้สึกมั่นใจ
วันหนึ่งไอ้โต้งก็ออกไอเดียบันเจิด
พ่อมันรู้จักโรงพิมพ์สยามรัฐ บอกว่าที่นั่น เขาทิ้งกระดาษกันทีละมากๆ ไปขอมาใช้ท่าจะดี

เรื่องของเรื่องก็คือ กระดาษที่เราใช้วาดเส้นนั้น เราเรียกกระดาษปรูฟ ก็คือกระดาษหนังสือพิมพ์นั่นแหละครับ
เนื้อบาง สีออกเหลืองอ่อน เบา และราคาถูก แต่ซื้อทีละร้อยแผ่น แผ่นละสลึง
เด็กนักเรียนอย่างเราก็สู้ไม่ไหวเหมือนกัน
ทีนี้ โรงพิมพ์ใหญ่ๆ เขาจะใช้กระดาษนี้แบบม้วน (ม้วนละเป็นตันนะครับ)
ลากกระดาษเข้าแท่นปล่อยให้วิ่งจนครบออกมาเป็นเล่ม
ปัญหาก็คือ พอเหลือก้นม้วน มักจะกระตุกขาด ขาดแล้วลากเข้าแท่นอีกทีจะไม่คุ้ม เพราะต้องลากยาวเป็นร่วมร้อยเมตร
เขาจึงมักจะทิ้ง ม้วนหนึ่งอย่างน้อยก็มีเป็นร้อยเมตร

เจ้าโต้งจัดแจงอ้างพ่อเข้าไปยกมาคนละม้วน หนักเป็นสิบกิโลครับท่าน
เรียกตุ๊กๆ สิบบาทจากโรงพิมพ์มาที่วังหน้า
จากนั้นก็ช่วยกันตัดครับ ได้กระดาษฟรีเป็นพันแผ่น.....เฮ้อ
ไม่ยักมีใครเขียนรูปเก่งขึ้น

ในรุ่นเดียวกัน ไม่มีใครได้เป็นศิลปินสักคน
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 5 6 [7]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.059 วินาที กับ 19 คำสั่ง