เรือนไทย

General Category => ชั้นเรียนวรรณกรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: hobo ที่ 13 ก.ค. 13, 05:54



กระทู้: นางเอ่น นางรม อีลุ้ม
เริ่มกระทู้โดย: hobo ที่ 13 ก.ค. 13, 05:54
บริษัทพัทลุงคว้าสัมปทานเกาะรังนกอีแอ่นที่ชุมพร มูลค่าเฉียด 170 ล้าน

รบกวนถามท่านผู้รู้ครับเกี่ยวกับคำว่า อี พอดีผมเจอหัวข้อข่าวนี้ ทำให้อดคิดไม่ได้ถึงที่มาที่ไป
เดิมเข้าใจว่าอี เป็นคำหยาบ สรรพนามสำหรับเรียกเพศหญิง
และได้มีการใช้คำว่านางแทน หลายๆ คำถูกแทนที่และติดปากเช่น หอยนางรม นกนางเอ่น
แต่มีอยู่เป็นจำนวนมากที่ยังคงอยู่เช่น นกอีลุ้ม

สรุปว่าดั้งเดิมจริงๆ แล้วอี มีความหมายว่าอย่างไรครับ ขอบพระคุณครับ



กระทู้: นางเอ่น นางรม อีลุ้ม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.ค. 13, 11:50
ระหว่างรอคุณเพ็ญชมพู   ขอยกคำตอบจากพจนานุกรมราชบัณฑิตฯ มาให้อ่านก่อนค่ะ

อี ๑   น. คําประกอบคําอื่นบอกให้รู้ว่าเป็นเพศหญิงหรือสัตว์ตัวเมีย
   เช่น อีสาว อีเหมียว, คําประกอบหน้าชื่อผู้หญิงที่มีฐานะตํ่ากว่า,
   คําใช้ประกอบหน้าชื่อผู้หญิงแสดงความดูหมิ่นเหยียดหยาม,
   คําประกอบคําบางคําที่ผู้ใหญ่ใช้เรียกเด็กผู้หญิงหรือผู้หญิงที่
   อายุน้อยกว่ามากด้วยความเอ็นดูหรือสนิทสนมเป็นกันเอง เช่น
   อีหนู, คําประกอบหน้าคําบางคําเพื่อเน้น เช่น อีทีนี้จะเอาอะไร
   กินกันล่ะ อีตอนนั้นไม่สบายเลยไม่ได้ไป, คําประกอบหน้าคํา
   บางคําเพื่อเน้นในเชิงบริภาษ เช่น อีบ้า อีงั่ง อีควาย, คําใช้แทน
   สิ่งที่กล่าวถึงและเป็นที่เข้าใจกัน เช่น เอาอีนี่ออกไปซิ, (โบ) คํา
   นําหน้าชื่อผู้หญิงสามัญชนทั่วไป เช่น อีอยู่อีคงทาษภรรยา
   พระเสนานน. (สามดวง), ถ้าใช้ในทางเสียหายโดยเฉพาะทาง
   ด้านชู้สาวมักใช้ว่า อี่ เช่น หย่างไอ้ดีบวดอยู่วัดโพเสพเมถุนธรรม
   ด้วยอี่ทองมาก อี่เพียน อี่พิ่ม อี่บุนรอดอี่หนู อี่เขียว. (สามดวง).
อี ๒   น. คําประกอบหน้าชื่อการเล่นบางอย่าง เช่น อีตัก อีขีดอีเขียน;
   คําประกอบหน้าชื่อท่าในการเล่นบางอย่าง เช่น อีงุ้ม อีเข่า ใน
   การเล่นสะบ้า อีรวบ อีกาเข้ารัง ในการเล่นหมากเก็บ.


กระทู้: นางเอ่น นางรม อีลุ้ม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 ก.ค. 13, 12:31
บางความเห็นจากสำนวน "ไม่ฟังอีร้าค่าอีรม"

ในสมัยหนึ่งของไทย    ศัพท์ที่มีคำว่า "อี" นำหน้า ไม่ว่าจะด้วยความหมายดั้งเดิมใดๆก็ตาม  ถูกตัดสินว่าหยาบคาย ไม่เหมาะสม  ต้องเปลี่ยนเป็น"นาง "
หอยอีรม จึงกลายเป็นหอยนางรม    อีเลิ้ง (เป็นชื่อตุ่มชนิดหนึ่ง) กลายเป็นนางเลิ้ง   ด้วยประการฉะนี้


เป็นที่น่าสังเกตคนไทยดูจะนิยมเรียกชื่อสัตว์, สิ่งของเครื่องใช้, การละเล่น, โรคภัยไข้เจ็บ เป็นเพศหญิง  นอกจาก นกอีร้า และ หอยอีรม ก็มีอีกหลายชื่อ

นก - อีแอ่น, อีกา, อีก๋อย, อีโก้ง, อีแร้ง, อีลุ้ม

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม - อีเก้ง, อีเห็น

สิ่งของเครื่องใช้- อีจู้, อีโต้, อีแปะ, อีโปง, อีเลิ้ง

การละเล่น - อีตัก, อีคว่ำอีหงาย

โรคภัยไข้เจ็บ - อีสุกอีใส, อีดำอีแดง

คำเหล่านี้ถูกตัดสินว่าไม่สุภาพเพราะมีคำว่า "อี" นำหน้า การปรับปรุงคำมีอยู่ ๒ วิธีคือไม่เอาคำว่า "อี" ออก ก็เปลี่ยน "อี" เป็น "นาง" แต่อย่างไรก็ตามหลายคำก็ยังใช้ "อี" นำหน้าอยู่ และเริ่มมีคำใหม่ ๆ ที่ใช้ "อี" เช่น อีแต๋น

ปัจจุบันมีการนำเข้า "E" จากเมืองนอกเข้ามา คำไทยหลายคำจึงเริ่มมี "อี" นำเข้า นับตั้งแต่ "อีหรอบ" จนถึง "อีมู และ "อีเมล"

สองคำหลังถ้าเปลี่ยนเป็น "นางมู" และ "นางเมล" คงฟังตลกดี

แหะ แหะ

คู่กับ "อี" คือ "ไอ้"

ในขณะที่เราใช้ "อี" นำหน้าชื่อจริงของสัตว์ สำหรับ "ไอ้" มักใช้นำหน้าชื่อเรียกเล่น ๆ ของสัตว์ เช่น ไอ้จ๋อ, ไอ้ตูบ, ไอ้เข้, ไอ้ทุย

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: นางเอ่น นางรม อีลุ้ม
เริ่มกระทู้โดย: hobo ที่ 13 ก.ค. 13, 20:02
ขอบพระคุณมากครับ ผมต้องขออภัยด้วยที่ไม่ได้ค้นข้อมูลเก่า แต่ก็ยังแปลกใจที่คนโบราณชอบใช้คำนี้นำหน้าคำอื่นๆ


กระทู้: นางเอ่น นางรม อีลุ้ม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 ก.ค. 13, 10:42
เรื่องของ "อีเกร็ง-นางเกรง" และ "อีรม-นางรม" แถมด้วย อีเห็น อีเก้ง

แต่ผมมีคำถาม คำว่า บางนางเกรง กับ บางจะเกร็ง
ต่างกันอย่างไรครับ  


จากพจนานุกรมรอยอินนะครับ
เหงือกปลาหมอ ๒    น. ชื่อไม้ล้มลุก ๒ ชนิดในสกุล Acanthus วงศ์ Acanthaceae ชนิด
   A. ebracteatus Vahl ขึ้นตามริมนํ้าบริเวณนํ้ากร่อย ดอกสีขาว ขอบใบ
   เป็นหนาม ชนิด A. ilicifolius L. ดอกสีม่วงอ่อน บางทีขอบใบเรียบ,
   จะเกร็ง หรือ อีเกร็ง ก็เรียก.

นัยว่าทั้ง จะเกร็งและอีเกร็ง จะเป็นคำมอญ หรือไม่ก็เขมรนะครับ

ทั้งบางนางเกรง และบางจะเกร็ง อยู่ในเขตน้ำกร่อยทั้งคู่ ไม่แปลกที่จะมีต้นเหงือกปลาหมอขึ้นอยู่มากครับ

ผมว่านางเกรงที่สมุทรสงคราม คงจะเป็นญาติกับนางเลิ้งในเมืองกรุงนี่แหละครับ  ;D
เดาว่าในยุคที่อีเลิ้งได้อัพเกรดเป็นนางเลิ้ง อีเกร็งคงจะพลอยได้อัพเกรดเป็นนางเกรงไปพร้อมๆกันด้วยความกรุณาของท่านผู้นำ

ส่วนบางจะเกร็งรอดตัวไปได้อย่างน่าหวาดเสียว


ผมคิดว่า "นางเกร็ง" ก็คงถูกเปลี่ยนมาจาก "อีเกร็ง" ตามที่คุณ CrazyHOrse ได้กล่าวไปแล้วนั่นแหละครับ เพราะยุคหนึ่งมีศัพท์จำนวนมากถูกเปลี่ยนคำ ด้วยเหตุผลสอง สาม ประการคือ "สะกดผิดเพี้ยนจากภาษาไทยมาตรฐาน" (โดยไม่คำนึกว่าคำเดิมเป็นภาษาถิ่น)  :-\ กับ "เป็นคำไม่สุภาพ ต้องแก้ให้สุภาพ"  :-\ หรือ "รูปคำไม่สวยเพราะดูไทยๆ เกิน ต้องเปลี่ยนให้ดูคล้ายๆ คำบาลี" :o

สงเปือย ก็เป็น สงเปลือย  ;D อันนี้ฮามาก ใครได้ยินก็คิดไปถึงพระแก้ผ้า  ;D .... อันที่จริง ถ้าจำไม่ผิด สงเปือยจะเป็นชื่อต้นไม้หรืออะไรนี่แหละครับ
แม่น้ำมูน ก็เป็น แม่น้ำมูล ข้อนึ้ผมไม่แน่ใจเกี่ยวกับความหมายเดิม แต่เคยเจอคำว่า "มูน" ในภาษาเขมรแปลว่า ใหญ่ (Robust)

มีอีกหลายชื่อครับ และก็มีอีกหลายคนที่เขียนบทความท้วงติงกัน

นี่แหละครับเค้าเรียกว่า หน่วยงานราชการทำลายภาษาไทยเสียเอง โดยความไม่รู้ ที่คิดว่าตัวเองรู้

นางเกร็ง ก็คงทำนองเดียวกัน คือ "อี" เป็นคำไม่สุภาพ ก็เป็น "นาง"

หอยอีรม ก็อีกชื่อที่ถูกเปลี่ยนเป็น หอยนางรม ซึ่งคำว่า อีรม นี้ ผมเคยค้นว่า น่าจะเพี้ยนมาจากภาษามาเลย์ว่า Tiram

ภาษาไทยถิ่นมีอีกหลายคำครับที่มักเรียกพืช หรือ สัตว์ ว่า "อี" เช่น อีเห็น อีเก้ง เข้าใจว่า "อี" ในความหมายนี้ คงหมายถึง "ตัว"

ดังนั้น ถ้าจะกล่าวว่า "บางนางเกร็ง" มาจาก "บางอีเกร็ง" มีความเป็นไปสูงครับ เพราะเป็นพืชน้ำกร่อย ทำให้นึกถึง "บางลำพู" ด้วยเหมือนกัน  ;D ที่เป็นพืชป่าโกงกาง-น้ำกร่อย


ตามความเห็นของคุณม้าและคุณโฮ คงพอได้ข้อสันนิษฐาน ๓ ประการคือ

๑. บางนางเกรง อาจมาจาก บางอีเกร็ง ในภาษามอญหรือเขมร (น่าจะเป็นมอญมากกว่า  ;))

๒. อีรม อาจมาจากภาษามาเลย์ว่า Tiram

๓. "อี" เช่น อีเห็น อีเก้ง ในภาษาถิ่นอาจหมายถึง "ตัว"

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: นางเอ่น นางรม อีลุ้ม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 16 ก.ค. 13, 12:39
อี ๑   น. คําประกอบคําอื่นบอกให้รู้ว่าเป็นเพศหญิงหรือสัตว์ตัวเมีย
   เช่น อีสาว อีเหมียว, คําประกอบหน้าชื่อผู้หญิงที่มีฐานะตํ่ากว่า,
   คําใช้ประกอบหน้าชื่อผู้หญิงแสดงความดูหมิ่นเหยียดหยาม,
   คําประกอบคําบางคําที่ผู้ใหญ่ใช้เรียกเด็กผู้หญิงหรือผู้หญิงที่
   อายุน้อยกว่ามากด้วยความเอ็นดูหรือสนิทสนมเป็นกันเอง เช่น
   อีหนู, คําประกอบหน้าคําบางคําเพื่อเน้น เช่น อีทีนี้จะเอาอะไร
   กินกันล่ะ อีตอนนั้นไม่สบายเลยไม่ได้ไป, คําประกอบหน้าคํา
   บางคําเพื่อเน้นในเชิงบริภาษ เช่น อีบ้า อีงั่ง อีควาย, คําใช้แทน
   สิ่งที่กล่าวถึงและเป็นที่เข้าใจกัน เช่น เอาอีนี่ออกไปซิ
, (โบ) คํา
   นําหน้าชื่อผู้หญิงสามัญชนทั่วไป เช่น อีอยู่อีคงทาษภรรยา
   พระเสนานน. (สามดวง), ถ้าใช้ในทางเสียหายโดยเฉพาะทาง
   ด้านชู้สาวมักใช้ว่า อี่ เช่น หย่างไอ้ดีบวดอยู่วัดโพเสพเมถุนธรรม
   ด้วยอี่ทองมาก อี่เพียน อี่พิ่ม อี่บุนรอดอี่หนู อี่เขียว. (สามดวง).

คําใช้แทนสิ่งที่กล่าวถึงและเป็นที่เข้าใจกัน เช่น เอาอีนี่ออกไปซิ

ตัวอย่างนี้ของท่านรอยอินฟังดูเหมือนไม่ใช่วลีที่คนไทยใช้ นึกถึงที่เคยได้ยินที่แขกพูดว่า "อีนี่นะนายจ๋า"

แขกในที่นี้เป็นแขกอะไรหนอ แขกอินเดีย (ฮินดู) แขกซิกซ์ หรือแขกอิสลาม   ;)


กระทู้: นางเอ่น นางรม อีลุ้ม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 16 ก.ค. 13, 22:05
วิสัชนาคำว่า "อีนี่"

"อีนี่" มาจากตอนออกแขกลิเกนะนายจ๋า ลิเกก็มีต้นกำเนิดมาจากการสวดในศาสนาอิสลาม

แขกลิเกก็น่าจะเป็นแขกอิสลามซึ่งได้รับอิทธิพลด้านภาษาจากภาษามลายู "อีนี่" ของแขกในลิเก คงมาจากคำว่า "ini" ในภาษามลายู ซึ่งแปลว่า "นี้" นั่นเอง

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)



กระทู้: นางเอ่น นางรม อีลุ้ม
เริ่มกระทู้โดย: hobo ที่ 17 ก.ค. 13, 05:23
ขอบคุณครับ ผมได้ความรู้เพิ่มเติมอีกมากโข อ่านเจอความเห็นท่านหนึ่งที่ได้เอามาลงซ้ำว่า

ภาษาไทยถิ่นมีอีกหลายคำครับที่มักเรียกพืช หรือ สัตว์ ว่า "อี" เช่น อีเห็น อีเก้ง เข้าใจว่า "อี" ในความหมายนี้ คงหมายถึง "ตัว"

หากเป็นเช่นนี้เข้าใจว่าคงคล้ายกับคำว่า หมาก- หรือ มะ- เช่นมะม่วง มะนาว มะพร้าว อันนี้พูดโดยไม่มีความรู้นะครับ ถ้าเคยเรียนมาบ้างตอนเด็กๆ ก็ลืมหมดแล้วครับ


กระทู้: นางเอ่น นางรม อีลุ้ม
เริ่มกระทู้โดย: mrpzone ที่ 18 ก.ค. 13, 00:39
คำที่ใช้ "อี" ในภาษาถิ่นทางเหนือที่ไม่ได้แสดงถึงเพศหญิง
และไม่ได้ถือว่าเป็นการเหยียดหยามหรือเป็นคำด่าก็มี ได้แก่คำว่า "อีป้อ"
ซึ่งลูกๆ ใช้เรียกพ่อ เทียบได้กับ "คุณพ่อ" ในภาษากลาง
รวมทั้งยังเีรียก "คุณแม่" ว่า... "อีแม่" ด้วยครับ

ตัวอย่าง: อีป้อๆ... อีแม่ฮ้องกิ๋นเข้า (คุณพ่อๆ... คุณแม่เรียกกินข้าว)

ในกรณีคำว่า "อีป้อ-อีแม่" นี้ ทางภาคเหนือยังใช้เรียกผู้มีอาวุโสกว่าได้อีกด้วย
แต่ถ้าอาวุโสกว่ามากๆ จะเรียกว่า "ป้อหลวง-แม่หลวง" หรือ "ป้ออุ๊ย-แม่อุ๊ย" แทนครับ

ตัวอย่าง: อีป้อ/อีแม่... กิ๋นยาวันละสามเตื่อ หลังเข้าเจ๊า หลังเข้าตอน หลังเข้าแลง เน้อเจ้า
คำแปล: คุณลุง/คุณป้า... กินยาวันละสามครั้ง หลังข้าวเช้า หลังข้าวเที่ยง หลังข้าวเย็น นะคะ

อ่อ..ทางภาคอีสานก็มีสำเนียงต่างจากทางเหนือนิดหน่อย
เคยได้ยินเพื่อนเรียกพ่อแม่ว่า "อีผ่อ-อีแหม่" ครับ  ;D