ระเด่นลันได
จาก ตู้หนังสือเรือนไทย
เนื้อหา |
ข้อมูลเบื้องต้น
แม่แบบ:เรียงลำดับ ผู้แต่ง: พระมหามนตรี (ทรัพย์)
บทประพันธ์
อธิบายบทละคอน เรื่อง ระเด่นลันได
บทละคอนเรื่อง ระเด่นลันได ถ้าอ่านโดยไม่ทราบเค้ามูล ก็คงจะเข้าใจว่า เป็นบทแต่งสำหรับ เล่นละคอนตลก แต่ความจริง ไม่เป็นเช่นนั้น หนังสือเรื่อง ระเด่นลันไดนี้ที่แท้เป็นจดหมายเหตุ หากผู้แต่ง ประสงค์จะจดให้ขบขัน สมกับเรื่องที่จริง จึงแกล้งแต่งเป็นละคอน สำหรับอ่านกันเล่น หาได้ตั้งใจจะให้ใช้เป็น บทเล่นละคอนไม่
เรื่อง ระเด่นลันได เป็นหนังสือแต่งในรัชกาลที่ ๓ เล่ากันมาว่า ครั้งนั้น มีแขกคนหนึ่งชื่อ ลันได ทำนองจะเป็นพว กฮินดู ชาวอินเดีย ซัดเซพเนจร เข้ามาอาศัยอยู่ที่ใกล้โบสถ์พราหมณ์ ในกรุงเทพฯ เที่ยวสีซอขอทานเขาเลี้ยงชีพเป็นนิจ พูดภาษาไทยก็มิใคร่ได้ หัดร้องเพลงขอทานได้เพียงว่า "สุวรรณหงษ์ถูกหอกอย่าบอกใคร บอกใครก็บอกใคร" ร้องทวนอยู่แต่เท่านี้ แขกลันไดเที่ยวขอทาน จนคนรู้จักกันโดยมากในครั้งนั้น มีแขกอีกคน ๑ เรียกกันว่า แขกประดู่ ทำนองก็จะเป็นชาวอินเดีย เหมือนกัน ตั้งคอกเลียงวัวนม อยู่ที่หัวป้อม (อยู่ราวที่ สนามหน้าศาลสถิตยุติธรรม ทุกวันนี้) มีภรรยา เป็นหญิงแขกมลายู ซื่อประแดะ อยู่มาแขกลันได กับแขกประดู่ เกิดวิวาทกัน ด้วยเรื่องแย่งหญิงมลายูนั้น โดยทำนองที่กล่าวในเรื่องละคอน คนทั้งหลาย เห็นเป็นเรื่องขบขัน ก็โจษกันแพร่หลาย พระมหามนตรี (ทรัพย์) ทราบเรื่อง จึงคิดแต่งเป็นบทละคอนขึ้น พระมหามนตรี(ทรัพย์)นี้ เป็นกวีที่สามารถในกระบวน แต่งกลอนแปด จะหาตัวเปรียบได้โดยยาก แต่มามีชื่อโด่งดัง ในการแต่งกลอน ต่อเมื่อถึงแก่กรรมแล้ว เพราะเมื่อมีชีวิตอยู่ ไม่ใคร่พอใจแต่งโดยเปิดเผย หนังสือซึ่ง พระมหามนตรี(ทรัพย์) ได้ออกหน้าแต่งมีปรากฏ แต่โคลงฤาษีดัดตนบท ๑ กับเพลงยาวกลบทชื่อ กบเต้นสามตอน (ซึ่งขึ้นต้นว่า "แจ็บคำจำคิดจิตขวย") บท ๑ เท่านั้น ที่พระมหามนตรี (ทรัพย์) มีชื่อเสียงสืบต่อมา จนรัชกาลหลัง ๆ เพราะแต่งหนังสืออีก ๒ เรื่อง คือ เพลงยาว แต่งว่า พระยามหาเทพ(ทองปาน) เมื่อยังเป็น จมื่นราชามาตย์เรื่อง ๑ กับบทละคอนเรื่อง ระเด่นลันไดนี้เรื่อง ๑
เพลงยาวว่าพระยามหาเทพ(ทองปาน) นั้น เล่ากันมาว่า เป็นแต่ลอบแต่ง แล้วเขียนมาปิดไว้ที่ ทิมดาบตำรวจ ในพระบรมมหาราชวัง ผู้อื่นเห็นก็รู้ว่า เป็นฝีปากพระมหามนตรี(ทรัพย์) แต่ไม่มีผู้ใดฟ้องร้องกล่าว มีแต่ผู้ลอกคัดเอาไป (แล้วเห็นจะเลยฉีกทั้งต้นหนังสือเสีย จึงไม่เกิดความฐานทอดบัตรสนเท่ห์) ด้วยครั้งนั้น มีคนชัง พระยามหาเทพ (ทองปาน) อยู่มากด้วยกัน เพลงยาวนั้น ก็เลยแพร่หลาย หอพระสมุดฯ ได้พิมพ์เพลงยาวนั้น ไว้ในหนังสือวชิรญาณวิเศษเล่ม ๓ ประจำปีกุน จุลศักราช ๑๒๔๙ (พ.ศ.๒๔๓๐)
ส่วนบทละคอนเรื่องละเด่นลันได เหตุที่แต่งเป็นดังอธิบายมาข้างต้น ถ้าผู้อ่านสังเกตจะเห็นได้ว่า ทางสำนวน แต่งดีทั้งกระบวนบทสุภาพ และวิธีที่เอาถ้อยคำขบขัน เข้าสอดแซม บางแห่ง กล้าใช้สำนวนต่ำช้าลงไป ให้สมกับตัวบท แต่อ่านก็ไม่มีที่จะเขินเคอะ ในแห่งใด เพราะฉะนั้น จึงเป็นหนังสือ ซึ่งชอบอ่านกันแพร่หลาย ตั้งแต่แรกแต่ง ตลอดมาจนในรัชกาลหลัง ๆ นับถือกันว่า เป็นหนังสือกลอนชั้นเอกเรื่อง ๑
บทละคอนเรื่องระเด่นลันไดนี้ มีผู้ใดเคยพิมพ์มาแล้ว แต่ฉบับที่พิมพ์มาแต่ก่อน วิปลาสคลาดเคลื่อน แลมีผู้อื่นแต่งแทรกแซม เพิ่มเติมอีกเป็นอันมาก จนวิปริตผิดรูปฉบับเดิม กรรมการหอพระสมุดฯ เห็นว่าบทละคอนเรื่อง ละเด่นลันได นับว่าเป็นเรื่องสำคัญ ในหนังสือกลอนไทยเรื่อง ๑ ซึ่งสมควรจะรักษาไว้ให้บริสุทธิ์ จึงได้พยายามหาฉบับมาแต่ที่ต่าง ๆ สำหรับชำระแล้วพิมพ์ไว้ในสมุดเล่มนี้
แต่เสียดายอยู่ที่ บทตอนท้ายในเล่มนี้ ยังขาดฉบับเดิมอยู่ สักสามฤาสี่หน้ากระดาษ เนื้อเรื่องที่ขาดเพียงใด จะอธิบายไว้ ท้ายเล่มสมุด เผื่อท่านผู้ใด มีฉบับบริบูรณ์ ถ้ามีแก่ใจคัดส่งมายัง หอพระสมุดฯ ฤาให้ยืมต้นฉบับ มาให้หอพระสมุดฯ ดัดได้ จะขอบพระคุณเป็นอันมาก
ดำรงราชานุภาพ
สภานายก หอพระสมุดวชิรญาณ วันที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ.๒๔๖๓
บทละคอนเรื่องระเด่นลันได
๏ | |||