จดหมายเหตุเรื่องทูตไทยไปประเทศอังกฤษเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๐

จาก ตู้หนังสือเรือนไทย

ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

เนื้อหา

ข้อมูลเบื้องต้น

แม่แบบ:เรียงลำดับ ผู้แต่ง: หม่อมราโชทัย

เป็นส่วนหนึ่งใน ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๔๕

บทประพันธ์

อธิบายเรื่องราชทูตไทยไปยุโรปแต่โบราณมา

ในสมัยเมื่อกรุงศรีอยุธยาเปนราชธานี เคยมีราชทูตไทยไปถึงยุโรปหลายคราว ตามที่มีจดหมายเหตุปรากฏนั้น ราชทูตไทยไปถึงยุโรปครั้งแรกเมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ โปรดให้ทูตานุทูตเชิญพระราชสาส์นออกไปยังประเทศฮอแลนด์ เจริญทางพระราชไมตรีกับเจ้ามอริสในราชวงศ์ออเรนช์ เมื่อปีมะแมจุลศักราช ๙๖๙ พ.ศ.๒๑๕๐ ตรงกับคฤศตศก ๑๖๐๗ ต่อนั้นมายังมีราชทูตไทยได้ออกไปยุโรปในรัชกาลอื่น ๆ อีก แต่ในเรื่องราชทูตที่ไปมากับประเทศสยาม จะเปนราชทูตที่พระเจ้าแผ่นดินต่างประเทศแต่งเข้ามาก็ดี หรือราชทูตไทยไปเจริญทางพระราชไมตรีถึงต่างประเทศก็ดี ตอนไหน ๆ ไม่เลื่องลือรู้แพร่หลายเท่าเมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีทางพระราชไมตรีกับพระเจ้า หลุยที่ ๑๔ กรุงฝรั่งเศส เพราะพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ มีรับสั่งให้สร้างสิ่งที่ รฦกไว้เฉลิมพระเกียรติยศหลายอย่าง เปนต้นแต่ให้ตีเหรียญแลเขียนรูปภาพราชทูตไทยเข้าเฝ้าที่พระราชวังเวอซาย แลให้แต่งหนังสือทั้งเรื่องราชทูตฝรั่งเศสเข้ามากรุงสยาม แลเรื่องราชทูตสยามคราวโกษาปานออกไปเมืองฝรั่งเศสพิมพ์ไว้ หนังสือเหล่านั้นแพร่หลายทั้งในภาษาฝรั่งเศส แลได้แปลเปนภาษาอื่นยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ จึงได้ทราบเรื่องกันยิ่งกว่าคราวอื่น ๆ


เรื่องราชทูตไทยไปเมืองฝรั่งเศสครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้ความตามหนังสือจดหมายเหตุของฝรั่งในครั้งนั้นว่าไปถึง ๔ คราว คราวแรกไปเมื่อคฤศตศก ๑๖๘๑ ตรงกับ (ปีระกา จุลศักราช ๑๐๔๓) พ.ศ. ๒๒๒๔ ราชทูตเชิญพระราชสาส์นไปถวายพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ แลโป๊ปณกรุงโรม ไปในเรือกำปั่นฝรั่งเศส เรือลำนั้นไปแตกที่เกาะมดะคัศคา คนที่ไปหายสูญไปหมด ต่อมาอีก ๒ ปี ถึงพ.ศ.๒๒๒๖ทูตไทยไปเปนคราวที่ ๒ ทูตที่ไปคราวนี้ได้ความว่าเปนแต่ขุนนางผู้น้อยในกรมท่าคน ๑ ในกรมอาสาจามคน ๑ โดยสารเรือกำปั่นฝรั่งเศสไปสืบข่าวทูตไทยไปคราวแรกที่หายไปนั้น ทูต ๒ คนนี้ได้ไปถึงกรุงปารีศเข้าใจว่าเห็นจะถือศุภอักษรเสนาบดีกรุงศรีอยุธยาไปด้วย จึงปรากฏว่ารัฐบาลฝรั่งเศสต้อนรับ แต่ไม่ได้เชิญพระราชสาส์นไปจึงมิได้เข้าเฝ้าพระเจ้า หลุยที่ ๑๔ โดยฐานทูต เปนแต่ให้เข้าไปคอยเฝ้าเวลาเสด็จออกทรงพระดำเนินได้หยุดทรงปราไสย แต่ครั้งนั้นเมื่อพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ ได้ทรงทราบว่า สมเด็จพระนารายณ์มหาราชจะใคร่มีทางพระราชไมตรีก็ทรงยิ่งดีโดยเปนโอกาสที่จะแผ่พระเกียรติยศแลเดชานุภาพ ให้มาปรากฎทางประเทศทิศตวันออก จึงแต่งให้เชวะเลียเดอโชมองเปนราชทูต เชิญพระราชสาส์นกับเครื่องราชบรรณาการมาเจริญทางพระราชไมตรียังสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทูตฝรั่งเศสมาด้วยเรือรบ รับทูตไทยทั้ง ๒ คนกลับมาส่งด้วย มาถึงปากน้ำเจ้าพระยาเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.๒๒๒๘ครั้นถึงเดือนธันวาคม ทูตฝรั่งเศสจะกลับไป สมเด็จพระนารายณ์มหาราชจึงทรงแต่งให้พระวิสูตรสุนทร คือโกษาปาน เปนราชทูตเชิญพระราชสาส์นแลเครื่องราชบรรณาการไปเจริญทางพระราชไมตรีตอบแทนพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ โกษาปานไปคราวนี้นับเปนทูตไทยไปคราวที่ ๓ ไปเรือรบฝรั่งเศสกับเชวะเลียเดอโชมองด้วยกัน ไปถึงเมืองฝรั่งเศสได้เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ ที่พระราชวังเวอซายเมื่อวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ.๒๒๒๙ โกษาปานอยู่ในเมืองฝรั่งเศส ๗ เดือน กลับเมื่อเดือนมีนาคม เมื่อโกษาปานจะกลับจากเมืองฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยที่ ๑๔ ทรงแต่งให้มองสิเออร์เดอลาลุแบร์ เปนราชทูตเชิญพระราชสาส์นกับเครื่อง ราชบรรณาการเข้ามาถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราชอีกครั้ง ๑ มาเรือรบแลรับโกษาปานกลับมาส่งด้วย มาถึงปากน้ำเจ้าพระยาเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.๒๒๓๐ ถึงเดือนธันวาคมเมื่อราชทูตฝรั่งเศสจะกลับไป (๑) สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงแต่งราชทูตเชิญพระราชสาส์นแลเครื่อง ราชบรรณาการไปถวายพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ แลโป๊ปณกรุงโรมอิกคราว ๑ นับเป็นคราวที่ ๔ ( ใครเปนราชทูต ข้าพเจ้ายังหาพบชื่อไม่ ชื่อที่ปรากฎในหนังสือบาดหลวงตาชาด์ผู้ไปกับทูตคราวนั้นเรียกว่า “ออกขุนชำนาญ”เห็นจะไม่ใช่ตัวราชทูต) พาเด็กนักเรียน ๕ คนออกไปเล่าเรียนวิชาในประเทศฝรั่งเศสด้วย มองซิเออร์ลาลุแบร์รับราชทูตไทยไป ราชทูตไทยไปถึงเมืองฝรั่งเศสเมื่อเดือนกรกฏาคม พ.ศ. ๒๒๓๑ ทางนี้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชสวรรคต พระเพทราชาได้ราชสมบัติ เกิดรบพุ่งกับทหารฝรั่งเศสที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทยขับไล่ทหารฝรั่งเศสไปหมด แต่ข่าวยังไม่ทราบออกไปถึงยุโรป เมื่อทูตไทยไปถึงเมืองฝรั่งเศสพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ ไม่เสด็จอยู่ในพระนคร รัฐบาลฝรั่งเศสจึงจัดให้ทูตไปเฝ้าโป๊ปอินโนเซนต์ที่ ๑๑ ที่กรุงโรมก่อน ทูตได้เข้าเฝ้าโป๊ปเมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๒๓๑ แล้วจึงกลับมาเมืองฝรั่งเศส ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ แล้วพักอยู่ในเมืองฝรั่งเศสเกือบปี ๑ จนปลายปีมะเสง พ.ศ.๒๒๓๒ฝรั่งเศสจึงได้จัดส่งมาขึ้นที่เมืองมะริด ซึ่งเปนเมืองท่าของกรุงสยามทางทเลหน้านอกในเวลานั้นเรื่องราชทูตไทยไปเมืองฝรั่งเศสครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ความดังแดส่งมานี้


ในหนังสือพระราชพงศาวดารกล่าวว่า เมื่อสิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแล้ว สมเด็จพระเพทราชาทรงแต่งราชทูตไปเจริญทางพระราชไมตรีกับพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสอีกครั้ง ๑ เมื่อปีมะโรงจุลศักราช ๑๐๕๐ เหมือนอย่างครั้งโกษาปานออกไปเมื่อในแผ่นดินก่อน อันความที่กล่าวนี้เพราะผู้แต่งหนังสือพระราชพงศาวดารลงศักราชปีสม เด็จพระนารายณ์มหาราชสวรรคตผิดเร็วไป ๖ ปี จึงหลงเอาทูตที่ไปกับมองสิเออร์ลาลุแบร์มาลงผิดรัชกาลไป จะเปนความจริงไม่ได้ ด้วยในแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชาเกิดวิวาทขาดทางไมตรีกับฝรั่งเศสมาแต่เริ่มรัชกาลดังกล่าวมาแล้ว มีจดหมายเหตุฝรั่งเศสกล่าวอิกแห่ง ๑ ว่าเมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ พระเจ้าฟีลิบที่ ๕ พระเจ้าแผ่นดินสะเปนให้ราชทูตเชิญพระราชสาส์นแลเครื่องราชบรรณาการเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรี เมื่อปีจอ พ.ศ.๒๒๖๑ ต่อมามีในจดหมายเหตุของพวกสะเปนว่ามีเรือกำปั่นหลวงพาทูตไทยออกไปถึงเมืองมนิลา อันเปนหัวเมืองขึ้นของสะเปนทางตวันออก แต่ทูตไทยไปเกิดความไม่พอใจในการที่รับรองเลยกลับมากรุงศรีอยุธยาเสีย ไม่ได้ออกไปเจริญทางพระราชไม ตรีตอบแทนถึงยุโรป จึงเข้าใจว่าตั้งแต่สิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแล้วไม่ได้มีทูตไทยไปถึงยุโรปอิก จนตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยาเปนราชธานี ถึงกระนั้นก็ดีราชทูตไทยที่ไปเจริญทางพระราชไมตรีถึงต่างประเทศที่อยู่ในเอเซียด้วยกัน ยังมีไปเนือง ๆ ไม่ขาด คือ ไปเมืองจีน เมืองอัดแจ แลเมืองลังกาเปนต้น ประเพณีการทูต ทั้งที่รับราชทูตต่างประเทศแลที่แต่งราชทูตไปต่างประเทศ จึงคงมีแบบแผนติดต่อแต่ครั้งกรุงเก่ามาจนถึงในชั้นกรุงรัตนโกสินทรนี้


ประเพณีการทูตที่ถือเปนแบบแผนในประเทศนี้ เห็นจะมีนิติได้มาทางมัชฌิมประเทศแต่โบราณทีเดียว เพราะดูคล้ายคลึงกับที่ถือเปนประ เพณีทั้งประเทศมอญพม่าแลลังกาทวีป บางข้อผิดกันข้ามกับประ เพณีทูตของฝรั่ง เปนต้นว่าตามประเพณีของฝรั่งเขาถือว่าราชทูตเปนผู้แทนพระองค์พระมหากษัตริย์ไปยังประเทศโน้น พระราชสาส์นเปนแต่หนัง สือสำคัญสำหรับแสดงว่าผู้เชิญไปเปนราชทูต เพราะฉนั้นการรับรองเขาให้เกียรติยศแก่ตัวราชทูต ส่วนพระราชสาส์นนั้นจะเอาไปอย่างไรไม่ถือเปนข้อสำคัญ แต่ประเพณีของไทยเราแต่โบราณถือว่าพระราชสาส์นเปนต่างพระองค์พระมหากษัตริย์ ราชทูตผู้จำทูลพระราชสาส์นเปนแต่อย่างข้าราชการที่ไปตามเสด็จ แบบแผนข้อที่กล่าวนี้ถ้าพิเคราะห์ดูในเรื่องราชทูตไทยไปส่งพระอุบาลีที่เมืองลังกา ซึ่งพิมพ์อยู่ในหนังสือเรื่องประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีปนั้น ก็จะเห็นได้ชัดเจน ตั้งแต่พระราชสาส์นออกจากพระราชวังก็แห่แหนอย่างกระบวนเสด็จ พระราชสาส์นไปยับ ยั้งที่ไหนก็จัดเปนที่ประทับ ถึงเวลาเสด็จออกมีประโคม แล้วทูตานุทูตเข้าไปถวายบังคมพระราชสาส์นอย่างเข้าเฝ้าทุกวัน แม้ขุนนางต่างประเทศที่มาต้อนรับราชทูตก็ให้เข้าไปถวายบังคมพระราชสาส์น อย่างว่าพาเข้าเฝ้า เคารพพระราชสาส์นไปโดยอาการอย่างนี้ จนได้ถวายถึงพระหัตถ์พระมหากษัตริย์ประเทศโน้นแล้วจึงเปนเสร็จกิจ ถึงพระราชสาส์นมาแต่ต่างประเทศตั้งแต่เข้ามาถึงในพระราชอาณาเขตร เราก็เคารพอย่างเดียวกัน ที่ประเพณีฝรั่งกับไทยผิดกันในข้อเคารพพระราชสาส์นดังกล่าวมานี้ ถึงเคยเปนเหตุเกิดประดักประเดิด ครั้งเชวะเลียเดอโชมองเปนราชทูตของพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ เข้ามาครั้งแรกในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีความปรากฎอยู่ในหนังสือจดหมายเหตุของทูตฝรั่งเศสคราวนั้นว่า ตั้งแต่ทูตถึงเมืองสมุทปราการ ไทยก็รับรองแห่แหนพระราชสาส์นเปนสำคัญ แต่ส่วนทูตนั้นเปนแต่จัดเรือรับตามพระราชสาส์นไป เมื่อถึงที่สำนักในระยะทางเจ้าพนักงานไทยเข้าไปถวายบังคมพระราชสาส์นแล้วจึงเชิญขึ้นไว้ในห้องซึ่งจัดตกแต่งเปนที่พักของพระราชสาส์น ครั้นเมื่อจะเชิญพระราชสาส์นกลับลงเรือ ก็เข้าไปถวายบังคมพระราชสาส์นแล้วจึงเชิญลงเรือไป ราชทูตแปลกใจครั้นสืบถามได้ความว่าประเพณีไทยถือว่าพระราชสาส์นสำคัญกว่าราชทูต จึงคิดอ่านอุบายจะให้ไทยเคารพต่อราชทูตเหมือนกับเคารพต่อพระราชสาส์น คราวนี้ก่อนเวลาจะเชิญพระราชสาส์นลงเรือ ราชทูตให้เอาเก้าอี้เข้าไปตั้งแล้วเข้าไปนั่งอยู่เคียงข้างพระราชสาส์น เจ้าพนักงานไทยถวายบังคมแล้ว จึงยกพานพระราชสาส์นส่งให้เจ้าพนักงานไทยเชิญไปลงเรือ ในวันหลังเมื่อพักอยู่ที่ขนอนหลวงใต้วัดโปรดสัตว์ ถึงวันจะแห่พระราชสาส์นเข้ากรุง ราชทูตคิดจะให้เปนเกียรติยศยิ่งขึ้นไปอิกชั้นหนึ่ง คราวนี้ให้บาดหลวงเดอชัวซี (ซึ่งเตรียมมาจะให้เปนราชครูผู้สอนคฤศตสาสนาถวายสมเด็จพระนารายณ์) เข้าไปยืนอยู่ด้วย เมื่อขุนนางไทยเข้าไปถวายบังคมพระราชสาส์นแล้ว ราชทูตไม่ให้ไทยเชิญพระราชสาส์น ให้บาดหลวงเดอชัวซี เชิญพานพระราชสาส์นเดินมากับราชทูต เข้าในเงาพระกลดที่กั้นพระราชสาส์นมาด้วยกัน หวังจะให้ไทยนับถือว่ามีบันดาศักดิ์สูง มาส่งพระราชสาส์นให้ไทยต่อเมื่อถึงเรือบุษบกซึ่งจัดลงมารับพระราชสาส์นการที่คิดเลี่ยงหลีกให้ไทยถวายบังคมราชทูตด้วยได้ในครั้งนั้น ดูเปนที่พอใจของราชทูตมาก


ประเพณีการทูตตามแบบโบราณ นอกจากข้อที่กล่าวมาแล้วยังมีอย่างอื่นอิก จะลองเรียบเรียงลงไว้ต่อไปนี้ ตามที่ได้พบในจดหมายเหตุเก่า คือ


ว่าด้วยพระราชสาส์นตามแบบโบราณ ต้องจาฤกลงในแผ่นสุพรรณบัตร เขียนจำลองลงแผ่นกระดาษแต่สำเนาซึ่งส่งไปกับศุภอักษรของเสนาบดี การที่จาฤกลงแผ่นทองถือว่าเปนเครื่องหมายแห่งไมตรีแม้หนังสือสัญญาทางไมตรีที่มีต่อกันในระหว่างประเทศ ก็ใช้จาฤกในแผ่นสุพรรณบัตร แลการที่หมายสำคัญใช้ประทับยอดหัวแหวนกดรอยไว้ในแผ่นทองแทนประทับตรา ด้วยเหตุนี้จึงเปนคำพูดกันว่า “เปนทองแผ่นเดียวกัน” แล “เปนสุวรรณปัถพีอันเดียวกัน” มาแต่ โบราณ ประเพณีอันนี้ไม่มีในประเทศฝรั่งแลประเทศจีน


ว่าด้วยทูตที่จำทูลพระราชสาส์นประเพณีของไทยเราแต่โบราณถ้าหากมีพระราชสาส์นแล้วจำต้องแต่งทูตานุทูตเชิญไป ที่จะส่งพระราชสาส์นไปด้วยประการอย่างอื่น แม้แต่จะมอบให้ราชทูตต่างประเทศที่เชิญพระราชสาส์นมาเชิญกลับไปก็ไม่ได้ ถ้าหากจะไม่แต่งทูตานุทูตไปก็ไม่มีพระราชสาส์นทีเดียว ถ้าเช่นนั้นให้เสนาบดีมีศุภอักษรไปถึงเสนา บดีประเทศโน้นให้นำกระแสรับสั่งขึ้นกราบทูล ศุภอักษรนั้นมอบให้ทูตต่างประเทศถือกลับไป หรือส่งไปอย่างไรก็ได้ ความที่กล่าวในข้อนี้จะเห็นตัวอย่างได้ในเรื่องราชทูตไทยไปลังกาเมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ซึ่งพิมพ์อยู่ในเรื่องประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีปนั้นเหมือนกันคือเมื่อส่งพระอุบาลีพระอริยมุณีไปกับคณะสงฆ์คราวแรกมีราชทูตเชิญพระราชสาส์นไปด้วย ต่อมาคราวส่งพระวิสุทธาจารย์พระวรญาณมุนี กับคณะสงฆ์ไปเปลี่ยนคณะสงฆ์ชุดก่อน ก็มีราชทูตเชิญพระราชสาส์นไปด้วย คราวนี้เมื่อพระเจ้าเกียรติศิริราชสิงหะให้ราชทูตลังกาเชิญพระราชสาส์นพาพระอริยมุนี กับคณะสงฆ์ที่ไปคราวแรกกลับมาส่ง ข้างกรุงศรีอยุธยาจะไม่แต่งทูตไปลังกาอิก จึงมีแต่ศุภอักษรเสนาบดีไทย ให้ราชทูตลังกาถือไปถึงเสนาบดีในลังกาทวีปให้ทูลกระแสรับสั่งตอบพระราชสาส์นแก่พระเจ้าเกียรติศิริราชสิงหะ


แต่ประเพณีฝรั่งในเรื่องมีพระราชสาส์นเขาไม่ถือว่าจำเปนจะต้องมีราชทูตเชิญไป ด้วยเหตุนี้ในครั้งกรุงเก่าเมื่อแรกบริษัทฝรั่งต่างชาติเข้ามาค้าขายที่กรุงศรีอยุธยา มักจะทูลขอให้พระเจ้าแผ่นดินประเทศของตนมีพระราชสาส์นทรงฝากฝัง ขอให้พวกพ่อค้าค้าขายได้โดยสดวก พระเจ้าแผ่นดินก็มีพระราชสาส์นให้พวกพ่อค้าของบริษัทถือมา ฝ่ายไทยเราเคารพนับถือพระราชสาส์นเปนสำคัญ เมื่อรู้ว่ามีพระราชสาส์นมาแต่พระเจ้าแผ่นดินต่างประเทศ ก็รับรองแห่แหนพระราชสาส์น แลรับรองพ่อค้าซึ่งเปนผู้เชิญพระราชสาส์นให้เข้าเฝ้าแหนได้ จนเลยเข้าใจกันในพวกฝรั่งทั่วไปในครั้งนั้นว่า ถ้าจะให้ไทยรับรองให้ดีแล้วจำต้องมีพระราชสาส์นถือมาด้วย ด้วยเหตุนี้เมื่อบาดหลวงฝรั่งเศสจะเข้ามาตั้งสั่งสอนสาสนาคฤศตัง จึงทูลขอพระราชสาส์นพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ แลมหาสมณะสาส์นของโป๊ปเชิญมา อันเปนต้นเหตุอย่าง ๑ ซึ่งจะแต่งทูตไทยออกไปประเทศฝรั่งเศสแลกรุงโรมเมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช


ว่าด้วยพาหนะที่รับพระราชสาส์นไปยังต่างประเทศ เพราะประเพณีไทยแต่โบราณถือว่าพระราชสาส์นเปนต่างพระองค์ดังกล่าวมาแล้ว ก็จำต้องไปด้วยพาหนะของหลวงในประเทศนี้ จนถึงอาณาเขตรของประเทศโน้น พอเข้าในอาณาเขตรแล้วเจ้าของประเทศก็ต้องเปนธุระรับรองแห่แหนต่อไปให้สมพระเกียรติยศ ด้วยเหตุนี้ถ้าหากว่าทูตเชิญพระราชสาส์นไปทางเรือต้องไปด้วยเรือหลวง จะโดยสารเรือผู้อื่นไปนั้นไม่ได้ ความข้อนี้เมื่อครั้งกรุงเก่าแต่แผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถมาจนแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีเรือกำปั่นหลวงไปค้าขายถึงต่างประเทศเสมอเรือกำปั่นหลวงเหล่านั้นเคยรับทูตไทยไปจนถึงประเทศยี่ปุ่นแลเปอเซียแลประเทศอื่น ๆ ที่ยังเปนอิศระอยู่ในอินเดียเนือง ๆ แต่ไม่มีเรือกำปั่นหลวงเคยออกไปถึงยุโรปเมื่อจะแต่งราชทูตออกไปยุโรปในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ จึงต้องคิดเปนวินัยกรรม ให้ราชทูตเชิญพระราชสาส์นไปเรือกำปั่นหลวงจากกรุงศรีอยุธยาเพียงถึงเมืองบันตัม (ใกล้กับที่เมืองเบตาเวียทุกวันนี้) อันเปนหัวเมืองใหญ่ของฮอลันดาในครั้งนั้นโดยถือว่าเข้าในอาณาเขตรของฮอลันดาแล้ว แต่นั้นรัฐบาลฮอลันดาเอาเรือรบรับทูตไทยไปจนถึงยุโรป มาถึงแผ่นดินพระนารายณ์มหาราช เมื่อทูตไทยเชิญพระราชสาส์นไปเมืองฝรั่งเศสคราวแรก เข้าใจว่าก็คงไปด้วยเรือกำปั่นหลวง ไปจากเมืองมะริตจนถึงเมืองปอนดิเจรีอันเปนหัวเมืองขึ้นของฝรั่งเศส ซึ่งมีอยู่ในอินเดียแล้ว จึงลงเรือกำปั่นของฝรั่งเศสแต่นั้นไปกำปั่นนั้นไปแตกที่เกาะมะดะคัศคาดังกล่าวมาแล้ว แต่เมื่อโกษาปานจะไปเมืองฝรั่งเศสได้ผ่อนลงมาอิกชั้นหนึ่ง เพราะมีเรือรบของประเทศโน้นมารับ จึงให้ทูตไปในเรือรบฝรั่งเศสตั้งแต่ออกจากอ่าวสยามไป ต่อมาถึงแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ เมื่อทูตไทยไปลังกาคราวแรก ก็ไปด้วยเรือกำปั่นหลวง เรือลำนั้นไปชำรุดที่หน้าเมืองนครศรีธรรมราชทูตกับพระอุบาลีต้องกลับเข้ามากรุงศรีอยุธยาเสียคราว ๑ จะไปอิกคราวนี้ ที่จริงไปในเรือกำปั่นของพ่อค้าฮอลันดา แต่ถือว่าเพราะเจ้าของเรือรับอาสาพาทูตไปส่งเมืองลังกาเหมือนอย่างที่ทูตลังกามาประเทศนี้ มิใช่อาศรัยโดยสารไปก็ไม่เสียประเพณี แต่ทูตที่ไปเมืองจีนก็ดี หรือเมืองญวนก็ดี ยังคงไปเรือหลวงตลอดมาจนในชั้นกรุงรัตนโกสินทร


ว่าด้วยยศราชทูตที่ไปเจริญทางพระราชไมตรียังต่างประเทศประเพณีฝรั่งกับประเพณีไทยในข้อนี้ก็ผิดกัน คือที่ฝรั่งถือว่าทูตเปนผู้ไปแทนพระองค์ ไทยถือว่าทูตเปนแต่ผู้เชิญพระราชสาส์นไป ตำแหน่งแลหน้าที่ ทูตของฝรั่งกับของไทยจึงต่างกัน ตำแหน่งทูตของฝรั่งมียศเปน ๓ ชั้น ชั้นสูงสุดเปนเอกอรรคราชทูต ชั้นที่ ๒ เปนอรรคราชทูต ชั้นที่ ๓ เปนราชทูต การที่ฝรั่งจะแต่งทูตไปต่างประเทศ ถือเอาการที่ไปหรือประเทศที่ไปเปนสำคัญ ถ้าสำคัญอย่างยิ่ง ทูตที่ไปก็เลือกสรรบุคคลชั้นสูงให้เปนตำแหน่งเอกอรรคราชทูต ถ้าสำคัญไม่ถึงอย่างยิ่ง ทูตที่ไปก็เปนแต่เพียงชั้นอรรคราชทูตหรือราชทูต ตามสมควรแก่การแลประเทศที่ไปนั้น จะยกตัวอย่างเช่นราชทูตฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาเมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เชวะเลียเดอโชมอง ที่เข้ามาคราวแรกมียศเปนเอกอรรคราชทูต แต่มองสิเออร์ลาลุแบร์ ที่เข้ามาคราวที่ ๒ มียศเปนแต่เพียงอรรคราชทูต เพราะการที่ทูตเข้ามาครั้งที่ ๒ ไม่สำคัญเหมือนทูตที่เข้ามาคราวแรก แต่ถึงยศจะเปนชั้นใดทูตฝรั่งคงเปนตัวทูตแต่คนเดียว ผู้ที่มาด้วยเปนแต่บริวารของทูต เช่นเปนเลขานุการเปนต้น


ส่วนประเพณีทูตานุทูตไทยที่ไปจำทูลพระราชสาส์นยังต่างประเทศแต่โบราณยศราชทูตไม่มีชั้นสูงต่ำอย่างแบบฝรั่ง ทูตคงไปเปนคณะ ๓ คนเหมือนกันทุกคราว เรียกว่าราชทูตคน ๑ อุปทูตคน ๑ ตรีทูตคน ๑ นับเปนทูตด้วยกันทั้ง ๓ คน บันดาศักดิ์ราชทูตตามที่ปรากฏในจดหมายเหตุครั้งกรุงก่า เปนชั้นออกพระเปนอย่างสูง เพียงบันดาศักดิ์เปนออกขุนเปนราชทูตก็มี พิเคราะห์ตามราชทินนามของทูตานุทูตที่ปรากฏ เช่นคราวโกษาปานราชทูตเปนออกพระวิสูตรสุนทร อุปทูตเปนออกหลวง ศรีวิสารวาจา ตรีทูตเปนออกขุนกัลยาณราชไมตรี ทูตไทยไปเมืองจีนในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ราชทูตเปนที่ออกขุนศิริราชไมตรี ต่อมาในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ ราชทูตไปลังกาคราวแรกเปนที่พระสุธรรมไมตรี อุปทูตเปนขุนวาทีพิจิตร ตรีทูตเปนหมื่นพิพิธเสนหา ราชทินนามที่กล่าวมานี้เห็นได้ว่าล้วนเปนนามแต่งขึ้นสำหรับผู้เปนทูตทั้ง นั้น จึงเข้าใจว่าประเพณีเก่า เมื่อเลือกสรรผู้ที่จะเปนทูตานุทูตแล้ว จึงทรงตั้งราชทินนามสำหรับไปรับราชการในคราวนั้น เมื่อไปราชการทูตมีบำเหน็จความชอบกลับมาก็ได้เลื่อนยศบันดาศักดิ์สูงขึ้นไป ดังเช่นโกษาปานเปนที่ออกพระวิสูตรสุนทรราชทูตไปเมืองฝรั่งเศส กลับมาก็ได้เลื่อนเปนพระยาโกษาธิบดี จตุสดมภ์กรมพระคลัง เมื่อก่อนสมเด็จพระนารายณ์มหาราชสวรรคตเพียงสักสองสามเดือนเท่านั้น


ว่าด้วยอำนาจของราชทูตที่ไปต่างประเทศ ประเพณีฝรั่งกับไทยก็ผิดกันเปนข้อสำคัญ ข้างประเพณีฝรั่ง การที่พูดจาว่าขานอย่างใดในกิจ ที่ไปนั้น มอบไปในราชทูตเสร็จ แจ้งไปในพระราชสาส์นแต่ว่าถ้าราชทูตจะพูดจาว่ากล่าวประการใด ขอให้ถือว่าเหมือนเปนพระวาจาของพระเจ้าแผ่นดินประเทศโน้นตรัส เชื่อฟังได้ดุจกัน แต่ฝ่ายประเพณีทูตของไทยกิจการอันใดที่จะว่ากล่าวกับประเทศโน้น เสนาบดีมีศุภอักษรให้ราช ทูตถือไปถึงเสนาบดีประเทศโน้นในคราวเดียวกับที่ทูตเชิญพระราชสาส์น ไป ทูตเปนแต่ผู้จะพูดจาชี้แจงไขข้อความศุภอักษรนั้น ความที่กล่าวในข้อนี้จะเห็นตัวอย่างได้ในสำเนาพระราชสาส์นแลศุภอักษรเสนาบดี ซึ่งมีไปมาในระหว่างกรุงธนบุรีกับกรุงศรีสัตนาคนหุต อันพิมพ์อยู่ในหนังสือ พระราชวิจารณ์นั้น


ว่าด้วยประเพณีการรับทูตต่างประเทศ ตามที่สังเกตเห็นในจดหมายเหตุครั้งกรุงเก่า ตั้งแต่ทูตเข้ามาถึงพระราชอาณาเขตร การกินอยู่เลี้ยงดูเปนของหลวงทั้งสิ้น เห็นจะเปนด้วยเหตุนี้จึงเรียกว่าแขกเมืองเมื่อมีทูตเข้ามาถึง โดยฉะเพาะที่เปนราชทูตจำทูลพระราชสาส์น จำต้องให้ทูตพักรออยู่ที่ปลายแดนก่อน เพื่อตระเตรียมการรับรองหลาย ๆ วัน ถ้าทูตมาทางทเลก็ต้องคอยอยู่ที่ปากน้ำ เพราะทางในกรุงจะต้องจัดเรือกระบวนลงไปแห่พระราชสาส์นแลรับทูตานุทูตขึ้นมา ทั้งจะต้องจัดหอพระ ราชสาส์น แลที่สำนักทูตตามระยะทาง คือ ที่เมืองสมุทปราการแห่ง ๑ ที่เมืองพระประแดงแห่ง ๑ ที่เมืองธนบุรีแห่ง ๑ ที่เมืองนนทบุรีแห่ง ๑ ที่เมืองประทุมธานีแห่ง ๑ ที่ขนอนหลวงใต้วัดโปรดสัตว์อีกแห่ง ๑ ในเวลาที่ทูตคอยอยู่ที่ปากน้ำนั้น มีเจ้าพนักงานลงไปเยี่ยมเยียนแลส่งสิ่งของสะเบียงอาหารไปเลี้ยงดู ครั้นเมื่อรับขึ้นมาถึงที่สำนักตามระยะทางก็มีข้าราชการไปต้อนรับทักทายทุกระยะ จนถึงขนอนหลวงที่ใต้วัดโปรดสัตว์ ถึงนั่นแล้วก่อนจะเข้าไปในกรุง ทูตต้องคอยอยู่ที่ขนอนหลวงอิกหลายวัน เพราะต้องแปลพระราชสาส์นแลศุภอักษร ตรวจทำบาญชีสิ่งของเครื่องราชบรรณาการ แลตระเตรียมตกแต่งถนนหนทางในพระนครรับแขกเมือง แลหาฤกษ์วันดีที่จะเสด็จออกรับแขกเมืองด้วย เมื่อถึงกำหนดจึงจัดเรอกระบวนแห่พร้อมด้วยเรือข้าราชการเปนกระบวนใหญ่ลงมารับพระราชสาส์นทั้งทูตานุทูตแลเครื่องราชบรรณาการ แห่เข้าพระนครไปขึ้นที่ท่าประตูไชยอยู่ตรงวัดพุทไธสวรรย์ข้ามเชิญพระราชสาส์นขึ้นราชรถ ทูตานุทูตขึ้นเสลี่ยงบ้าง คานหามบ้าง ขี่ม้าบ้าง ตามควรแก่บันดาศักดิ์ มีกระบวนช้างม้าแลพลเดินเท้าแห่ไปยังพระราชวังให้ราชทูตพักคอยเฝ้าที่ศาลาลูกขุน ทูตลังกาว่าเวลาเมื่อทูตคอยอยู่ศาลาลูกขุนมีเจ้าพนักงานนำดอกไม้มงคลมาพระราชทานราชทูต แต่ทูตฝรั่งหาปรากฏว่ามีไม่ การเสด็จออกรับแขกเมืองถวายพระราชสาส์น เปนการเต็มยศใหญ่ มียืนช้าง ยืนม้า แลทหารนั่งกัลบาถที่สนามในพระราชวังหลายกอง จำนวนคนนับพัน แม้ชาวต่างประเทศ แขก ฝรั่ง จีน จาม ที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ก็ป่าวร้องให้แต่งตัวเปนสง่าราษี พากันมาประชุมที่สนามในคอยรับแขกเมืองด้วย แต่ที่เสด็จออกรับแขกเมืองนั้นต่างกันเปน ๒ อย่าง เสด็จออกสีหบัญชรให้แขกเมืองเข้าเฝ้าในท้องพระโรงอย่าง ๑ เสด็จออกมุขเด็ดให้แขกเมืองเฝ้าที่ชาลาหน้าพระที่นั่งอย่าง ๑ เมื่อทูตฝรั่งเศสเข้ามาในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทูตเข้าเฝ้าในท้องพระโรง แต่เมื่อทูตลังกาเข้ามาเมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ ตามที่กล่าวพรรณาไว้ในจดหมายเหตุของราชทูต ปรากฎว่าเสด็จออกมุขเด็จพระที่นั่งสรรเพ็ชญ์ปราสาท ราชทูตเฝ้าที่ชาลาหน้าพระที่นั่ง


อันลักษณะเสด็จออกรับแขกเมืองเปน ๒ อย่างนี้ อธิบายไว้ในหนังสือระยะทาง เชวะเลียเดอโชมองราชทูตฝรั่งเศสว่า ถ้าเปนราชทูตมาแต่ประเทศใหญ่ เช่นราชทูตจีน แลราชทูตเปอเซียเปนต้นให้เข้าเฝ้าในท้องพระโรง ถ้าราชทูตที่มาแต่ประเทศน้อย เช่นทูตตังเกี๋ย ทูตอัดแจ แลทูตกรุงศรีสัตนาคนหุต ทูตเชียงใหม่ เสด็จออกที่มุขเด็ดความที่กล่าวนี้จะถูกผิดอย่างไรไม่พบหลักฐานที่จะสอบสวน


ว่าด้วยกิริยาที่แขกเมืองเข้าเฝ้า มีกล่าวชี้แจงไว้ในหนังสือจดหมายเหตุราชทูตฝรั่งเศสเข้ามาครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชละเอียดละออ ด้วยว่าเมื่อทูตฝรั่งเศสเข้ามาครั้งแรก เวลาพักรออยู่ที่ขนอนหลวงราชทูตถามถึงขนบธรรมเนียมที่จะเข้าเฝ้า เจ้าพนักงานกำกับทูตชี้แจงให้ฟัง ราชทูตฝรั่งเศสไม่พอใจในขนบธรรมเนียมบางอย่างร้องขอให้แก้ไข จึงโปรดให้เจ้าพระยาวิชเยนทรไปปรึกษาหารือกันแล้วราชทูตฝรั่งเศสจึงได้เข้าเฝ้า


ประเพณีทูตเข้าเฝ้าอย่างเดิม ตามที่ทูตฝรั่งเศสพรรณาไว้นั้นเมื่อทูตไปถึงพระราชวังแล้ว พักคอยอยู่ที่ศาลาลุกขุนใน ครั้นจวนเสด็จออก เจ้าพนักงานกรมวังกับกรมท่ามาพาทูตเข้าไปพักอยู่ที่ทิมดาบ แห่ง ๑ ในบริเวณพระมหาปราสาท เจ้าประเทศราชแลขุนนางผู้ใหญ่ เข้าไปคอยเฝ้าอยู่ในท้องพระโรงหมอบเปน ๒ ฝ่าย ตั้งเครื่องยศสำหรับตัวทุกคน ขุนนางชั้นรองลงมาหมอบอยู่ที่ทิมคดหน้าพระมหาปราสาทครั้นเวลาเสด็จออกพอสุดเสียงประโคมแล้ว เจ้าพนักงานจึงมาพาทูตไปเมื่อทูตถึงหน้าพระมหาปราสาท ทูตต้องคุกเข่าลงถวายบังคมที่ชาลาหน้าพระมหาปราสาท ๓ ครั้ง แล้วคลานขึ้นบันไดพระมหาปราสาทคลานเข้าในพระทวารถึงหน้าที่นั่งในท้องพระโรงต้องถวายบังคมอิก ๓ ครั้งแล้วคลานขึ้นไปถึงที่ตำแหน่งเฝ้าจึงถวายบังคมอิก ๓ ครั้ง ถ้าทูตเฝ้าที่ชาลาหน้ามุขเด็ด ขุนนางผู้ใหญ่หมอบเฝ้าที่ทิมคด ขุนนางผู้น้อยหมอบเฝ้าในชาลา ทูตเข้าไปจากศาลาลูกขุนถึงหน้าฉานถวายบังคม ๓ ครั้ง แล้วคลานเข้าไปในชาลาตรงหน้าพระที่นั่งถวายบังคมอิก ๓ ครั้ง ขึ้นไปถึงที่ตำแหน่งเฝ้าถวายบังคมอิก ๓ ครั้ง เรื่องทูตถวายบังคมตามที่กล่าวนี้พิเคราะห์ดูเห็นว่า กิริยาแสดงความนอบน้อมของชาวประเทศทางตวันออกเปนทำนองเดียวกันทุกประเทศ คือคงอยู่ในคุกเข่าลงก้มกราบ นับว่าเปนอันถวายบังคมเหมือนกัน แต่กิริยานอบน้อมของฝรั่งที่ยืนคำนับนั้นผิดกันไกล ทูตฝรั่งเข้าเฝ้าเปนสามัญครั้งกรุงเก่าจะให้ทำอย่างไรยังหาพบอธิบายไม่ ได้พบแบบแผนแต่ในกรุงรัตนโกสินทรนี้แขกเมืองฝรั่งเข้าเฝ้าไม่ต้องหมอบคลาน ยอมให้เดินเข้าไปถึงที่ควรถวายบังคมแล้วนั่งลงยกมือขึ้นถวายบังคม ๓ ครั้ง เข้าใจว่าในครั้งกรุงเก่าก็จะอย่างเดียวกัน


แบบแผนทางเมืองพม่าในเรื่องทูตฝรั่งเข้าเฝ้า มีในจดหมายเหตุของนายพันเอกยูล ซึ่งเปนเลขานุการทตอังกฤษ คราวเซออาเธอแฟรไปเฝ้าพระเจ้ามินดง เมื่อคฤศตศก ๑๘๕๕ พรรณาไว้ถ้วนถี่พอใช้ ปรากฎว่า ทูตอังกฤษเกี่ยงไม่ยอมไปนั่งคอยที่ศาลาลูกขุน พม่าจึงให้ทูตอังกฤษเข้าไปคอยอยู่ในท้องพระโรงแต่ก่อนเสด็จออก ทำนองจะเกี่ยงกันด้วยเรื่องพม่าจะให้คลานเข้าไปนั้นเอง ฝรั่งไม่ยอมคลาน พม่าก็ไม่ยอมให้เดิน จึงตกลงเปนผ่อนผันให้เข้าไปคอยอยู่ก่อน แต่ต้องถวายบังคมเหมือนกัน


ลักษณถวายพระราชสาส์น โดยปรกตินั้นทูตไม่ได้ถวายต่อพระหัตถ์ เวลาทูตเข้าเฝ้าตั้งพระราชสาส์นกับเครื่องราชบรรณาการไว้ข้างหน้าทูต ครั้นทูตเข้าไปถึงที่เฝ้า ถ้าเปนทูตจีน แลแขก ฝรั่งโกษาธิบดีทูลเบิก ถ้าเปนทูตลาว จะเปนมหาดไทยหรือโกษาธิบดีทูลเบิกข้อนี้สงสัยอยู่ เมื่อทูลเบิกแล้วจึงมีพระราชปฏิสัณฐาร ลักษณพระราชปฏิสัณฐารทูตก็มีแบบโบราณว่าทรงปฏิสัณฐาร ๓ นัดเปนธรรมเนียม แลเปนธรรมเนียมลงไปจนถึงข้อความของพระราชปฏิสัณฐาร คือดำรัสถามว่า พระเจ้าแผ่นดินฝ่ายโน้น กับทั้งพระราชวงศ์ทรงสบายดีอยู่หรือนัด ๑ ว่าทูตานุทูตเดินทางมาสดวกดีอยู่หรือเดินทางมาช้านานเท่าใดจึงมาถึงนัด ๑ ว่าประเทศโน้นฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล บ้านเมืองมีความสุขสมบูรณ์ ไพร่บ้านพลเมืองมีความสุขอยู่หรือนัด ๑ แบบพระราชปฏิสัณฐารอย่างนี้เข้าใจกันซึมทราบมาแต่ก่อนจนอาจจะแต่งลงเปนบทเสภา เมื่อสมเด็จพระพันวะษาเสด็จออกรับทูตล้านช้างได้ดังนี้

๏ ครานั้นพระองค์ผู้ทรงเดชชำเลืองพระเนตรผายผัน
เห็นราชทูตมาถวายบังคมคัลกับทั้งเครื่องสุวรรณบรรณา
จึงตรัสประภาษปราไสมาในป่าไม้ใบหนา
กี่วันจึงถึงพระภารามรรคายากง่ายประการใด
อนึ่งกรุงนาคบุรีเข้ากล้านาดีหรือไฉน
หรือฝนแล้งเข้าแพงมีภัยศึกเสือเหนือใต้สงบดี
ทั้งองค์พระเจ้าเวียงจันท์ทรงธรรม์เปนสุขเกษมศรี
ไม่มีโรคายายีอยู่ดีหรืออย่างไรในเวียงจันท์ ฯ
             

แบบแผนทางเมืองพม่ายิ่งหนักมือไป ถึงพระเจ้าแผ่นดินไม่ต้องมีรับสั่งว่ากะไร เพียงพยักพระพักตร์เท่านั้น ผู้สนองพระโอฐก็รับสั่งมาแจ้งพระราชปฏิสัณฐารแก่ทูตตามข้อความที่กล่าวมา


เมื่อมีพระราชปฏิสัณฐารนัด ๑ โกษาธิบดีก็รับพระราชโองการมาบอกแก่กรมท่าขวาหรือซ้าย อันเปนเจ้าหน้าที่ ๆ บอกล่าม ๆ แปลบอกทูต ทูตจะกราบทูลว่ากะไรก็ต้องย้อนกลับโดยนัยอันเดียวกัน แล้วมีพระราชปฏิสัณฐารนัดที่ ๒ ที่ ๓ ต่อไป ครั้นมีพระราชปฏิสัณฐารแล้ว เจ้าพนักงานจึงยกพานหมากกับเสื้อผ้ามาตั้งพระราชทานทูตานุทูต เปนสัญญาว่าเสร็จการเฝ้า พอตั้งพานหมากแล้วไม่ช้าก็ปิดบานพระบัญชรเสด็จขึ้นมีประโคม แลข้าราชการกับทูตานุทูตถวายบังคมอิก ๓ ครั้งแล้วทูตจึงออกจากท้องพระโรง เมื่อทูตออกมาจากเฝ้าแล้ว เจ้าพนักงานพาไปดูสิ่งสำคัญในพระราชวัง คือพระยาช้างเผือกเปนต้น ปรากฎเหมือนกันทั้งคราวราชทูทฝรั่งเศสแลราชทูตลังกา แล้วจึงพาทูตกลับไปพัก เมืองพม่าก็เหมือนกันอย่างนี้


การที่ขอร้องแก้ไขในครั้งเมื่อทูตฝรั่งเศสเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น คือ

ข้อ ๑ ขอให้ขุนนางนายเรือรบกับพวกบาดหลวงได้เฝ้าด้วย ได้รับอนุญาตให้พวกนั้นเข้าไปนั่งคอยเฝ้าอยู่ในท้องพระโรงกับขุนนางไทยตั้งแต่ก่อนเสด็จออก ไม่ได้เข้าไปพร้อมกับทูต เพราะตำแหน่งไม่นับว่าเปนทูต

ข้อ ๒ เรื่องถวายพระราชสาส์น ทูตขอถวายเองต่อพระหัตถ์ จึงเอาพระราชสาส์นไว้ให้บาดหลวงเดอชัวซีเชิญเข้ามากับตัวทูต ครั้นถึงในท้องพระโรงราชทูตจึงรับพานพระราชสาส์นถือเข้าไปถวายที่พระบัญชรปรากฎในจดหมายเหตุของทูตว่า พระบัญชรสูง ทูตส่งถวายไม่ถึงสมเด็จพระนารายณ์ต้องชโงกพระองค์ออกมารับพระราชสาส์น ด้วยไม่เคยมีประเพณีถวายพระราชสาส์นเช่นนั้นมาแต่ก่อน

ข้อ ๓ กิริยานอบน้อม ยอมให้ถวายคำนับอย่างฝรั่ง ไม่ต้องถวายบังคม ข้อนี้พรรณาไว้ในจดหมายเหตุฝรั่งเศสว่า เมื่อเชวะเลียเดอโชมองเข้าเฝ้านั้น เจ้าพระยาโกษากับเจ้าพระยาวิชเยนทรเปนผู้นำท่านทั้ง ๒ นั้นคลานเข้าไปถวายบังคมที่ใดทูตก็ถวายคำนับ ก้มศีร์ษะลงอย่างต่ำที่สุดแล้วเดินต่อไปจนถึงที่เฝ้าจึงนั่งลงแล้วใส่หมวก กิริยาที่ทูตใส่หมวกเฝ้าในท้องพระโรงที่กล่าวนี้ ชรอยขุนนางไทยที่เข้าเฝ้าจะสวมลอมพอก ทูตจึงทำตาม ความที่กล่าวข้อนี้สมด้วยรูปโกษาปานเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ ในรูปนั้นพวกทูตไทยก็สวมลอมพอกทั้งนั้นที่เมืองพม่า เสด็จออกแขกเมืองขุนนางก็สวมลอมพอกเข้าเฝ้าเหมือนกัน


ยังมีความอีกข้อ ๑ ซึ่งปรากฎในครั้งทูตฝรั่งแรกเข้ามาในกรุงรัตนโกสินทรนี้ คือที่ไม่ยอมให้ทูตขัดกระบี่แลสวมรองเท้าเข้าเฝ้าประเพณีอันนี้ก็เห็นจะมีมาแต่ครั้งกรุงเก่า เมืองพม่าก็ห้ามอย่างเดียวกันด้วยเปนการฝ่าฝืนประเพณีบ้านเมืองในสมัยนั้น เข้าใจว่าพวกทูตฝรั่งเศสจะได้รับยกเว้นข้อนี้ด้วย อีกประการ ๑ เสื้อผ้าที่สมเด็จพระนารายณ์พระ ราชทานทูตฝรั่งเศสนั้น กล่าวในจดหมายเหตุของทูตว่า ครั้งนั้นโปรดให้ยักเยื้องธรรมเนียมเก่า ต่อทูตเฝ้าแล้วจึงให้ข้าราชการนำแพรแลผ้าอย่างดีไปพระราชทานยังที่พัก เจ้าพนักงานแจ้งกระแสรับสั่งว่า ทูตมาแต่เมืองหนาว มาถึงเมืองนี้เปนเมืองร้อน จึงโปรดให้นำแพรผ้ามาพระราชทานให้ทำเครื่องแต่งตัวให้สบาย ครั้นจะตัดทำเปนเครื่องแต่งตัวมาให้เสร็จก็เกรงจะไม่ถูกใจทูต ให้ทำเอาตามใจเถิด ตามความที่ปรากฎดังกล่าวมานี้เข้าใจได้ว่า เสื้อผ้าที่พระราชทานแขกเมืองซึ่งยังมีเปนธรรมเนียมมาจนกรุงรัตนโกสินทรนี้ ที่จริงเปนของพระราชทานให้แขกเมืองใช้เวลาแขกเมืองอยู่ในกรุง ฯ มิใช่พระราชทานให้ไปใช้สอยในบ้านเมืองของตน


การที่ราชทูตเข้าเฝ้านั้น เฝ้าเสด็จออกเต็มยศใหญ่แต่ ๒ คราวคือเฝ้าเมื่อมาถึงดังพรรณามาแล้วคราว ๑ เฝ้าเมื่อทูลลาจะกลับไปบ้านเมืองอิกคราว ๑ แต่ในเวลาทูตพักอยู่ในกรุง ฯ ยังได้เข้าเฝ้าเวลาอื่นอิกตามแต่กิจที่จะโปรดให้เข้าเฝ้าเปนพิเศษ เช่นทูตลังกาได้เข้าเฝ้าที่พระที่นั่งทรงปืน เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐเสด็จออกทอดพระเนตรเครื่องราชบรรณาการที่จะจัดส่งไปลังกานั้นเปนต้น ราชทูตฝรั่งเศสเข้า มาคราวแรกครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ก็ได้เข้าเฝ้าในกรุงศรีอยุธยาอิกคราว ๑ เฝ้าแล้วมีการเลี้ยงพระราชทาน แต่เลี้ยงลับหลังพระที่นั่ง แล้วตามเสด็จขึ้นไปเมืองลพบุรี ได้เฝ้าที่พระราชวังแลที่ตำ หนักทเลชุบศรอิกหลายครั้ง ลักษณที่ทูตเข้าเฝ้าในที่ระโหฐานครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์นั้น ก็ว่าเสด็จออกที่พระบัญชร ทูตนั่งเฝ้าข้างนอก ความที่กล่าวข้อนี้ เมื่อไปพิจารณาดูที่ประทับของสมเด็จพระนารายณ์ทั้งที่พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ในพระนารายณ์ราชนิเวศน์แลที่ตำหนัก ทเลชุบศรเห็นแผนที่เปนอย่างเดียวกัน คือ ห้องในซึ่งเปนห้องเสด็จอยู่อยู่ในหลังขวาง อย่างพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ท้องพระโรงเปนมุขอย่างพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย แต่พื้นเสมอกัน แลพระที่นั่งของสมเด็จพระนารายณ์เล็กกว่ามาก ตรงผนังหลังขวางต่อท้องพระโรงมีพระบัญชรอยู่เตี้ย ๆ พอตั้งพระแท่นที่ประทับข้างในเข้าใจว่าโดยปรกติถ้าเสด็จออกให้ขุนนางเฝ้าในท้องพระโรงคงประทับที่พระบัญชรนี้ ตรงสุดมุขไปข้างหน้าท้องพระโรงยังมีพระบัญชรที่เสด็จออกมุขเด็ดอีกแห่ง ๑ ให้ข้าราชการเฝ้าในชาลาหน้าพระลาน การที่ราชทูตฝรั่งเศสเข้าเฝ้าที่ลพบุรีดังพรรณานั้น ก็คือเฝ้าอย่างเสด็จออกในท้องพระโรงเปนสามัญนั้นเอง ไม่ได้จัดการพิเศษอย่างใด


ทูตเข้าเฝ้าแล้ว จึงกำหนดวันไปเฝ้าพระมหาอุปราช แลไปหาขุนนางผู้ใหญ่บางคนแต่ที่เปนหัวหน้าในราชการ เพราะต้องมีของถวายแลของกำนันไปให้ทุกแห่ง ลักษณที่พระมหาอุปราชเสด็จออกรับแขกเมือง ก็จำลองแบบวังหลวงทุกอย่าง แม้ที่สุดจนข้อที่ทรงปฏิสัณฐารก็เปนอย่างเดียวกัน ฝ่ายลักษณะที่ขุนนางผู้ใหญ่รับทูต ถ้าทูตเปนผู้น้อย เช่นทูตลังกาที่เข้ามาขอสงฆ์ไปหาพระยาชำนาญบริรักษ์ ๆ นั่งเตียงให้ทูตนั่งกับพื้นกับข้าราชการผู้ใหญ่ในกรมท่าด้วยกัน ถ้าทูตเปนฝรั่งแต่มียศสูง เช่นเชวะเลียเดอโชมองไปหาเจ้าพระยาพระคลังจัดตั้งโต๊ะเก้าอี้รับอย่างฝรั่ง เมื่อทักทายปราไสกันแล้ว จึงเลี้ยงอาหารทูตบางแห่งก็มีระบำดนตรีด้วย ประเพณีทางเมืองพม่าก็อย่างนี้เหมือนกันนายพันเอกยูลว่า เมื่อเซออาเธอแฟรเปนทูตอังกฤษไปเมืองพม่า ไปหาขุนนางผู้ใหญ่ในวันเดียวกัน ต้องกินเลี้ยงในตอนเช้าวันนั้นถึง ๕ ครั้ง เมื่อเสร็จการเฝ้าแหนหาสู่ดังกล่าวมาก็เปนเสร็จพิธีรับทูต ต่อนั้นทูตก็ไปดูสถานต่าง ๆ แลถ้ามีการแห่แหนเจ้าพนักงานก็พาไปดู แต่มิได้เข้าเฝ้าแหนในการพิธีนั้น


เมื่อทูตเข้าเฝ้าทูลลาจะกลับไป เปนเวลาที่ได้พระราชทานบำเหน็จบำเหน็จที่พระราชทานต่างกันตามชั้นยศผู้ที่เปนทูตานุทูต เชวะเลียเดอโชมองทูตฝรั่งเศสได้พระราชทานพานทองเครื่องยศกับของอื่น ๆ อิกหลายสิ่ง คราวทูตลังกาได้พระราชทานสิ่งของต่าง ๆ มีพรรณาไว้ในศุภอักษรหลายสิ่ง แต่มิใช่เปนเครื่องยศขุนนางชั้นสูง


ลักษณะการแต่งทูตแลรับทูตแต่โบราณ ตามที่ปรากฏในหนัง สือเก่า ตรวจได้เนื้อความดังพรรณามานี้


มาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร เมื่อในรัชกาลที่ ๑ เปนเวลามีศึกสงครามวุ่นวายในยุโรป ตั้งแต่เกิดจลาจลในประเทศฝรั่งเศสติดต่อมาจนรบกับเอมเปอเรอนะโปเลียนที่ ๑ ทางเข้าประเทศนี้ก็รบกับพม่าติดพันกันอยู่ ทูตฝรั่งพึ่งมีเข้ามาต่อเมื่อในรัชกาลที่ ๒ ก็เปนแต่ทูตของขุนนางผู้สำเร็จราชการหัวเมืองขึ้นของประเทศโปรตุเกตแลอังกฤษแต่งมา ไม่มีปัญหาที่จะต้องแต่งราชทูตไปจำทูลพระราชสาส์นตอบแทนทูตฝรั่งที่ผู้เปนใหญ่ในประเทศแต่งมา ในกรุงรัตนโกสินทรมีเข้ามาครั้งแรกในรัชกาลที่ ๓ เมื่อประธานาธิบดีของประเทศยุไนติดศะเตต อะเมริกา แต่งให้นายเอดมอนด์ รอเบิต เปนทูตเชิญอักษรสาส์นกับเครื่องบรรณาการเข้ามาถวาย ขอทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีเมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๗๕ ในคราวนั้นทำนองจะคิดเห็นกันว่าประธานาธิบดีเปนแต่ผู้ซึ่งราษฎรเลือกขึ้นตั้งเปนหัวหน้าอยู่ชั่วคราว มิใช่พระมหากษัตริย์เสวยราชย์ตามราชประเพณี ประกอบกับที่ประเทศยุไนติดศะเตตอยู่ห่างไกลสุดหล้าฟ้าเขียว พ้นวิสัยที่จะแต่งทูตไปเจริญทางพระราชไมตรีได้ ก็มิได้มีทูตไทยไปตอบแทน จึงยุติได้ว่า ตั้งแต่สิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมา ตลอดเวลากว่า ๑๖๐ปีไม่ได้มีทูตไทยออกไปถึงยุโรปอิกเลย จนถึงรัชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร จึงได้มีทูตไทยไปยุโรปอิก เมื่อปีมะเสง พ.ศ.๒๔๐๐ ตรงกับ คฤศตศก ๑๘๕๗


เรื่องราวอันเปนเหตุที่ทูตไทยจะไปยุโรปครั้งแรกเมื่อในรัชกาลที่ ๔ นั้น ด้วยเมื่อปีเถาะ พ.ศ.๒๓๙๘ สมเด็จพระราชินีวิกตอเรีอพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ ทรงแต่งให้เซอยอนเบาริงเปนราชทูตเชิญพระราชสาส์นแลเครื่องราชบรรณาการเข้ามาถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ชวนให้กรุงสยามทำหนังสือสัญญาตามแบบอย่างทางพระราชไมตรี ในระหว่างต่างประเทศที่มีอิศระเสมอกัน ทูตอังกฤษเข้ามาคราวนั้น เข้าใจด้วยกันทั้งฝ่ายไทยแลฝ่ายอังกฤษ ว่าเปนการสำคัญกว่าทูตที่เคยเข้ามาคราวก่อน ๆ ด้วยเปนครั้งแรกที่เปนราชทูตเชิญพระราชสาส์นของพระเจ้าแผ่นดินอันเปนมหาประเทศ ๑ ในยุโรปเข้ามายังกรุงรัตนโกสินทร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริห์เห็นว่า เซอยอนเบาริงเข้ามาคราวนั้นเปนอย่างเดียวกับราชทูตฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีเมื่อแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชครั้งกรุงเก่า จึงโปรดให้จัดการรับรองตามแบบอย่างให้เกียรติยศสูงกว่า เมื่อยอนครอเฟิด แลเฮนรีเบอร์นี เปนทูตของผู้สำเร็จราชการหัวเมืองอินเดียของอังกฤษเข้ามาแต่ก่อน เตรียมหาจดหมายเหตุครั้งสมเด็จพระนารายณ์รับราชทูตฝรั่งเศสเข้ามาไว้สอบทานการที่ไทยรับรอง เมื่อเห็นว่าการรับรองเปนทำนองเดียวกันก็พอใจ ได้กล่าวความอันนี้ไว้ในจดหมายเหตุของเซอยอนเบาริงที่เข้ามาในคราวนั้น


ความปรากฎในจดหมายเหตุของเซอยอนเบาริงว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เข้าเฝ้าในที่ระโหฐาน ได้มีรับสั่งปรารภว่า มีพระราชประสงค์จะทรงแต่งทูตานุทูตไปเจริญทางพระราชไมตรีตอบแทนถึงเมืองอังกฤษ แต่ยังขัดข้องอยู่ด้วยไม่มีเรือที่จะไปถึงยุโรป แลทรงหารือเซอยอนเบาริงถึงลักษณะพระราชสาส์นแลเครื่องราชบรรณาการที่จะส่งไปถวายสมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย ว่าอย่างไรจะสมควรในสมัยนั้น เซอยอนเบาริงทูลว่า พระราชสาส์นนั้นถ้าทรงพระราชนิพนธ์เปนภาษาอังกฤษเห็นจะดี ด้วยยังไม่มีพระเจ้าแผ่นดินประเทศใดในทิศตวันออก นอกจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่จะได้ทรงศึกษาทราบภาษาอังกฤษ สมเด็จพระราชินีวิกตอเรียคงจะทรงยินดีที่จะได้รับพระราชสาส์นนั้น ส่วนเครื่องราชบรรณาการนั้น เห็นว่าถ้าให้เปนของฝีมือไทยทำเปนสิ่งของเครื่องใช้สอยตามประเพณีในกรุงสยามจะสมควรกว่าอย่างอื่น ได้ความตามจดหมายเหตุของเซอยอนเบาริงดังกล่าวมานี้


ต่อมาอิกปี ๑ ถึงปีมะโรง พ.ศ.๒๓๙๙ คฤศตศก ๑๘๕๖นายพล แยกสันประธานาธิบดียุในติดศะเตตอะเมริกา แต่งให้นายเตาวน์เซนด์แฮริสเปนทูต สมเด็จพระเจ้านะโปเลียนที่ ๓ เอมเปอเรอฝรั่งเศสแต่งให้นายมองติคนีเปนราชทูต เข้ามาชวนทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีอย่างเดียวกับประเทศอังกฤษ ในส่วนทางประเทศอเมริกาจะมีเรื่องราวเปนสาขาความอย่างไรบ้างข้าพเจ้ายังหาทราบไม่ แต่ทางข้างฝรั่งเศสนั้นเข้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคงจะได้ดำรัสปรารภกับราชทูตฝรั่งเศส ถึงพระราชประสงค์ที่จะใคร่แต่งราชทูตไทยไปเจริญทางพระราชไมตรีตอบแทนถึงประเทศฝรั่งเศส ราชทูตทูลความนั้นไปยังเอมเปอเรอนะโปเลียนที่ ๓ ความปรากฎว่าเอมเปอเรอมีรับสั่งให้รัฐบาลฝรั่งเศสบอกมายังเสนาบดีว่า ถ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงแต่งราชทูตไปประเทศฝรั่งเศส เอมเปอเรอก็จะทรงยินดีที่จะให้เรือรบฝรั่งเศสมารับราชทูตไป แลให้กลับมาส่งเหมือนอย่างครั้งพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบพระประสงค์ของเอมเปอเรอนะโปเลียนที่ ๓ ทรงพระราชดำริห์ว่า อังกฤษได้มาเจริญทางพระราชไมตรีก่อน จะแต่งทูตไทยไปเจริญทางพระราชไมตรีตอบแทนประเทศฝรั่งเศส ไม่บอกให้อังกฤษทราบเสียก่อนหาควรไม่ จึงโปรดให้เสนาบดีบอกไปยังรัฐบาลอังกฤษว่า เดิมมีพระราชประสงค์จะแต่งราชทูตไปเจริญทางพระราชไมตรียังประเทศอังกฤษ การขัดข้องอยู่ด้วยเรื่องเรือที่ทูตจะไป จึงยังหาได้แต่งทูตไปไม่ บัดนี้ไทยได้ทำสัญญาทางพระราชไมตรีกับประเทศฝรั่งเศส ๆ จะให้เรือรบมารับราชทูตไทยไปเจริญพระราชไมตรีตอบแทน จึงโปรดให้แจ้งความมาให้ทราบ เพราะมีพระราชประสงค์ในทางพระราชไมตรีต่อประเทศอังกฤษเหมือนกัน ถ้าหากว่ารัฐอังกฤษส่งเรือมารับราชทูตไทยเหมือนอย่างฝรั่งเศส ก็จะทรงยินดีที่จะแต่งราชทูตไทยไปยังประเทศอังกฤษอย่างเดียวกัน รัฐบาลอังกฤษตอบมาว่าสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียทรงยินดีที่จะให้เรือรบมารับแลส่งราชทูตไทยแลจะต้อนรับราชทูตไทยให้สมควรแก่พระเกียรติยศด้วยประการทั้งปวงด้วยเหตุนี้จึงโปรดให้พระยามนตรีสุริยวงศ์ เปนราชทูต เจ้าหมื่นสรรพ์เพ็ธภักดี เปนอุปทูต จมื่นมณเฑียรพิทักษ์ เปนตรีทูต (๒) เชิญพระราชสาส์นแลเครื่องราชบรรณาการ ไปถวายสมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย เจริญทางพระราชไมตรีตอบแทนประเทศอังกฤษ เมื่อปีมะเสง พ.ศ.๒๔๐๐ ส่วนประเทศฝรั่งเศสในระยะนั้นพระเจ้านะโปเลียนมีการสงคราม จึงต้องรอมาจนปีวอก พ.ศ.๒๔๐๓ โปรดให้พระยาศรีพิพัฒน์ เปนราชทูตเจ้าหมื่นไวยวรนารถ เปนอุปทูต พระณรงค์วิชิต เปนตรีทูต เชิญพระราชสาส์นแลเครื่องราชบรรณาการไปถวายพระเจ้านะโปเลียนที่ ๓ เอมเปอเรอฝรั่งเศส เจริญทางพระราชไมตรีตอบแทนประเทศฝรั่งเศส


หม่อมราโชทัย กระต่าย ได้เปนตำแหน่งล่ามในคณะทูตที่ไปประเทศอังกฤษ เมื่อปีมะเสงนพศก คราวพระยามนตรีสุริยวงศ์เปนราชทูตนั้น จึงแต่งจดหมายเหตุระยะทางที่พิมพ์ต่อไปในสมุดเล่มนี้


ท่านทั้งหลายผู้อ่านเรื่องราชทูตไทยไปเมืองลอนดอนที่หม่อมราโชทัยแต่ง โดยฉะเพาะผู้ที่เปนนักเรียนภาษาต่างประเทศในชั้นหลัง ถ้าไม่รู้ฐานะของหม่อมราโชทัย น่าจะไม่เห็นราคาตามสมควรของหนังสือเรื่องนี้ บางทีถึงอาจจะมีผู้ยิ้มเยาะว่า หม่อมราโชทัยช่างไปตื่นเอาของจืด ๆ เช่นละคอนม้า แลทางรถไฟสายโทรเลข มาแต่งพรรณาดูเปนวิจิตรพิศดารไปด้วยความพิศวง ราวกับท้าวเสนากุฎเข้าเมืองผู้ที่จะคิดเห็นเช่นกล่าวมานี้ ต้องนึกถึงฐานะของหม่อมราโชทัยว่า เมื่อแต่งหนังสือเรื่องนี้ เปนเวลาแรกที่ไทยจะได้ไปพบเห็นของเหล่านั้นจึงแต่งพรรณาโดยตั้งใจจะเล่าให้ไทยซึ่งยังไม่มีใครเคยเห็นเข้าใจว่า ของเหล่านั้นเปนอย่างไร ถ้าอ่านด้วยรู้ฐานะเช่นว่านี้ ข้าพเจ้าเชื่อว่าคงจะยอมเปนอย่างเดียวกันทุกคน ว่าหม่อมราโชทัยแต่งพรรณาดีมิใช่น้อย ยกตัวอย่างแม้แต่ตรงว่าด้วยละคอนม้าชาวเราที่ได้ดูละคอนม้าในชั้นหลัง อ่านหนังสือเรื่องนี้คงจะรับเปนพยาน ว่าที่หม่อมราโชทัยพรรณาเข้าใจได้ซึมทราบเหมือนกับจะหลับตาเห็นละคอนม้าที่หม่อมราโช ทัยได้ดูทุกอาการที่เล่น ถึงพวกที่เคยได้ไปถึงประเทศอังกฤษ หรือแม้ที่เคยอ่านเรื่องราวแบบธรรมเนียมอังกฤษ ถ้าอ่านตรงหม่อมราโชทัยพรรณาถึงสถานที่ หรือการพิธีเช่นลักษณะที่อยู่โฮเต็ลก็ดี หรือพิธีเปิดปาร์เลียเมนต์ก็ดี เมื่อคิดเทียบดูกับที่ตนรู้ก็จะเห็นได้ว่า หม่อมราโชทัยพรรณาดีเพียงใด เปนแต่ใช้ถ้อยคำอย่างเก่า ๆ เพราะคำใหม่ที่เราใช้กันยังไม่เกิดในเวลานั้น ยังมีความสำคัญอิกข้อ ๑ ซึ่งยากที่นักเรียนในเวลานี้จะเข้าใจได้ ว่าผู้ที่ได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษถึงสามารถจะได้เปนล่ามไปในราชการทูต แลอาจจะแต่งหนังสือเล่าถงกิจการของฝรั่งได้ดังหม่อมราโชทัยแต่งหนังสือเรื่องนี้ ในสมัยนั้นหายากสักเพียงใดเว้นแต่จะได้เคยทราบเรื่องตำนานการที่ไทยเรียนภาษาฝรั่งกันแต่ก่อนอันเปนเรื่องน่ารู้อยู่บ้าง เพราะฉนั้นข้าพเจ้าจะลองสาธกแก่ท่านทั้งหลายตามที่ได้สดับมา.


ความจริงในชั้นกรุงรัตนโกสินทรนี้ พึ่งมีไทยเรียนรู้ภาษาอังกฤษมาไม่ช้านัก เมื่อในรัชกาลที่ ๒ มีแต่พวกฝรั่งกฎีจีนซึ่งเปนเชื้อสายโปตุเกศครั้งกรุงเก่ายังเรียนรู้ภาษาโปตุเกศอยู่บ้าง คนพวกนี้ที่รับราชการในตำแหน่งเรียกว่า “ล่ามฝรั่ง” ในกรมท่ามีอัตราในบาญชีเบี้ยหวัด ๕ คน ที่เปนหัวหน้าล่ามเปนที่ขุนเทพวาจา รับเบี้ยหวัดปีละ ๗ ตำลึง พวกล่ามฝรั่งเหล่านี้จะมีความรู้ตื้นลึกสักเพียงไรทราบไม่ได้ แต่ รู้ภาษาโปตุเกศเท่านั้น หน้าที่ก็ไม่สู้มีอันใดนัก เพราะราชการที่เกี่ยวข้องกับโปตุเกศมีแต่การค้าขายทางเมืองมาเก๊า นาน ๆ เจ้าเมืองมาเก๊าจะมีหนังสือมาสักครั้งหนึ่ง ส่วนภาษาอังกฤษถึงแม้ว่ามีเรือกำปั่นอังกฤษไปมาค้าขายอยู่ในสมัยนั้นบ้าง นายเรือรู้ว่าไม่มีใครพูดภาษาอังกฤษได้ในเมืองนี้ ก็หาแขกมลายูเข้ามาเปนล่าม เพราะฉนั้นการที่ไทยพูดจากับอังกฤษที่เข้ามาถึงกรุงเทพ ฯ ก็ดี หรือพูดจาทางราชการที่เกี่ยวข้องกับอังกฤษที่เมืองเกาะหมากแลสิงคโปร์ก็ดี ใช้พูดจากันแต่ด้วยภาษามลายู แม้จนเมื่อผู้สำเร็จราชการอินเดียของอังกฤษให้หมอ ยอน ครอเฟิด เปนทูตเข้ามายังกรุงรัตนโกสินทรเมื่อปีมะเสง พ.ศ.๒๓๖๔ ตรงกับคฤศตศก ๑๘๒๑ ในตอนปลายรัชกาลที่ ๒ ก็ต้องพูดจาราชการกับไทยทางภาษามาลายู ความปรากฎในจดหมายเหตุที่ ครอเฟิดแต่งไว้ว่า การที่พูดจากับรัฐบาลไทยครั้งนั้น ทูตต้องพูดภาษาอังกฤษแก่ล่ามที่เอามาด้วย ล่ามต้องแปลเปนภาษามลายูบอกหลวงโกชาอิศหาก ๆ แปลเปนภาษาไทยเรียนเจ้าพระยาพระคลัง ๆ ตอบว่ากะไรก็ต้องแปลย้อนกลับไปเปนต่อ ๆ อย่างเดียวกัน ครั้นต่อ มาเมื่อครอเฟิดกลับไปแล้ว ได้ไปเปนเรสิเดนต์อยู่ที่เมืองสิงคโปร์อังกฤษเกิดรบกับพม่าครั้งแรกเมื่อปลายรัชกาลที่ ๒ ครอเฟิดจะบอกข่าวการสงครามมาให้ไทยทราบ ต้องให้แปลหนังสือพิมพ์ข่าวภาษาอังกฤษเปนภาษาโปตุเกศเสียก่อน แล้วจึงส่งเข้ามายังกรุงเทพ ฯ เพราะภาษามลายูถ้อยคำมีน้อย ไม่พอจะแปลความในหนังสือพิมพ์ข่าวภาษาอังกฤษให้เข้าใจได้แจ่มแจ้ง ครั้นต่อมาถึงต้นรัชกาลที่ ๓ ผู้สำเร็จ ราชการอินเดียของอังกฤษให้เฮนรีเบอนีร์เปนทูตเข้ามาขอทำหนังสือสัญญาเมื่อปีระกา พ.ศ.๒๓๖๘ ตรงกับคฤศตศก ๑๘๒๕ การที่พูดจากับไทยสดวกขึ้นกว่าครั้งครอเฟิดหน่อยหนึ่ง ด้วยเบอร์นีพูดภาษามลายูได้ถึงกระนั้นหนังสือสัญญาที่ทำก็ต้องใช้ภาษาต่าง ๆ กำกับกันถึง ๔ ภาษา คือภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาโปตุเกศ แลภาษามลายูเพราะไม่มีภาษาใดที่จะเข้าใจดีได้ด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย.


ในรัชกาลที่ ๓ นั้น เมื่อปีชวด พ.ศ.๒๓๗๑ ตรงกับคฤศต ศก ๑๘๒๘ พวกมิชชันนารีอเมริกันเข้ามาตั้งในกรุงเทพ ฯ เปนทีแรกอันนี้เปนต้นเหตุที่ไทยจะได้เรียนภาษาอังกฤษเดิมมา ด้วยลัทธิของพวกมิชชันนารีอเมริกันไม่ได้ตั้งตัวเปนสมณะเหมือนพวกบาดหลวงวางตนเปนแต่เพียงมิตรสหาย ใช้การสงเคราะห์ เปนต้นว่าช่วยรักษาโรคแลช่วยบอกกล่าวสั่งสอนวิชาการต่าง ๆ ให้แก่ผู้อื่นเปนเบื้องต้นของการสอนสาสนา เพราะฉนั้นเมื่อคนทั้งหลายรู้จักคุ้นเคยจึงชอบสมาคมคบหากับพวกมิชชันนารีอเมริกันมาแต่แรก.


ในสมัยนั้นผู้มีสติปัญญาที่เปนชั้นสูงอยู่ในประเทศนี้แลเห็นอยู่แล้ว ว่าการสมาคมเกี่ยวข้องกับฝรั่งต่างประเทศคงจะต้องมียิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน แลภาษาอังกฤษจะเปนภาษาสำคัญทางประเทศตวันออกนี้ มีเจ้านายบางพระองค์แลข้าราชการบางคนปราถนาจะศึกษาวิชาการขนบธรรมเนียมของฝรั่ง แลจะเล่าเรียนให้รู้ภาษาอังกฤษ จึงพยายามเล่าเรียนศึกษากับพวกมิชชันนารีอเมริกันตั้งแต่เมื่อในรัชกาลที่ ๓ ที่สำคัญคือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เวลานั้นยังทรงผนวชเปนพระราชาคณะอยู่พระองค์ ๑ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เวลานั้นยังเปนเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์พระองค์ ๑ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เวลานั้นยังเปนหลวงสิทธิ์นายเวรมหาดเล็กแล้วได้เลื่อนเปนจมื่นไวยวรนารถอิกองค์ ๑ แต่สมเด็จเจ้าพระยาทางภาษารู้แต่พอพูดอังกฤษได้บ้าง ไม่เชี่ยวชาญเหมือนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แลพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ท่านทั้ง ๓ ที่กล่าวมานี้ศึกษาได้ความรู้การฝรั่งต่างประเทศ ทันได้ใช้วิชาช่วยราชการมาแต่เมื่อในรัชกาลที่ ๓ เพราะเมื่อปีจอ พ.ศ.๒๓๙๓ ตรงกับคฤศตศก ๑๘๕๐ รัฐบาลอังกฤษให้เซอเชมสะบรุกเปนทูตมาด้วยเรือรบ ๒ ลำ จะเข้ามาขอแก้หนังสือสัญญาที่เบอร์นีได้มาทำไว้ เซอเชมสะบรุกเข้ามาครั้งนั้นไม่เหมือนกับครอเฟิด แลเบอร์นีที่มาแต่ก่อนด้วยเปนทูตมาจากประเทศอังกฤษ การที่มาพูดจาแลหนังสือที่มี มาถึงรัฐบาลไทย ใช้ภาษาอังกฤษ กิริยาอาการที่มาก็ทนงองอาจ ผิดกับทูตแต่ก่อน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระราชดำริห์หาผู้ที่สันทัดอย่างธรรมเนียมฝรั่ง ให้พอที่จะรับรองโต้ตอบกับเซอเชมสะบรุกได้ ความปรากฎในจดหมายเหตุกระแสรับสั่งในเรื่องเซอเชมสะบรุก (ซึ่งหอพระสมุดพิมพ์ เมื่อ ร.ศ.๑๒๙ พ.ศ.๒๔๕๓) ว่า :-


“ทรงพระราชดำริห์ เห็นว่าผู้ใดมีสติปัญญาก็ควรจะเอาเข้ามาเปนที่ปรึกษาด้วย การครั้งนี้เปนการฝรั่ง สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ทราบอย่างธรรมเนียมฝรั่งมาก ควรจะเอาเปนที่ปฤกษาใหญ่ได้ แต่ก็ติดประจำปืนอยู่ที่เมืองสมุทปราการ ( ด้วยครั้งนั้นไม่ไว้พระทัย เกรงอังกฤษจะเอาอำนาจมาบังคับให้แก้หนังสือสัญญาอย่างทำแก่เมืองจีน จึงให้ตระ เตรียมรักษาป้อมคูให้มั่นคง ) จมื่นไวยวรนารถ ( คือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ) ก็เปนคนสันทัดหนักในธรรมเนียนฝรั่ง ก็ลงไปรักษาเมืองสมุทปราการอยู่ ให้พระยาศรีพิพัฒน์ ( คือสมเด็จเจ้า พระยาบรมมหาพิชัยญาติ เปนผู้รั้งราชการกรมท่า ด้วยเจ้าพระยาพระคลังลงไปสักเลขที่เมืองชุมพรในเวลานั้น ) แต่งคนดีมีสติปัญญาเข้าใจความ เชิญกระแสพระราชดำริห์ลงไปปฤกษา” แลการที่มีหนังสือโต้ตอบกับเซอเชมสะบรุกครั้งนั้น ปรากฎว่าหนังสือที่มีมาเปนภาษาอังกฤษ ให้หมอยอน ( คือหมอยอน เตเลอ โยนส์ มิชชันนารีอเมริกัน ) แปลเปนภาษาไทยกับล่ามของสมเด็จเจ้าพระยาฯ อีก ๒ คน เรียกว่า โยเสฟ เปนฝรั่งยุเรเซียนคน ๑ เรียกว่าเสมียนยิ้ม ( คือ เชมส์ เฮ ) อังกฤษอิกคน ๑ ส่วนหนังสือที่ไทยมีตอบเซอเชมสะบรุกนั้น ร่างในภาษาไทยถวายทรงแก้ไขก่อน แล้วให้หมอยอนกับล่ามช่วยกันแปลเปนภาษาอังกฤษแล้วส่งไปถวาย “ ทูลกระหม่อมพระ” คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตรวจสอบอิกชั้นหนึ่ง เพราะในทางภาษาอังกฤษทรงทราบดีกว่าผู้ที่เล่าเรียนด้วยกันในครั้งนั้น


ไทยที่ศึกษาวิชาความรู้กับมิชชันนารีอเมริกัน เมื่อในรัชกาลที่ ๓ ยังมีอิกแต่ไปเรียนทางวิชาอื่น เช่นกรมหลวงวิงศาธิราชสนิททรงกำกับกรมหมออยู่ในเวลานั้น ทรงศึกษาทางวิชาแพทย์ฝรั่งจนได้ประกาศนิยบัตร ถวายเปนพระเกียรติยศมาจากมหาวิทยาลัยแห่ง ๑ ในประเทศอเมริกา กรมหลวงมหิศวรินทรามเรศอิกพระองค์ ๑ ว่าทรงศึกษาการช่างฝรั่ง แต่จะทรงศึกษากับใครแลทรงสามารถเพียงใดหาทราบไม่ ยังนายโหมด อมาตยกุล ที่ได้เปนพระยากระสาปนกิจโกศลเมื่อในรัชกาลที่ ๕ อิกคน ๑ ได้ศึกษาเรื่องเครื่องจักรแลวิชาประสมธาตุจากพวกมิชชันนารีอเมริกัน แลหัดชักรูปจากบาดหลวงหลุยลานอดีฝรั่งเศส แต่เมื่อยังถ่ายด้วยแผ่นเงิน เปนผู้เรียนรู้วิชาฝรั่งมีชื่อเสียงมาจนรัชกาลที่ ๕ แต่ผู้ที่เล่าเรียนแต่ทางวิชาช่างไม่สู้จะเอาใจใส่ในทางภาษาจึงไม่ใคร่รู้ภาษา ถึงสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ก็เพราะเอาใจใส่ในวิชาต่อเรือกำปั่นเสียมาก จึงไม่ใคร่สันทัดทางภาษาอังกฤษ


ผู้ที่เล่าเรียนรู้ภาษาอังกฤษในเมืองไทยเมื่อในรัชกาลที่ ๓ นอกจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มีปรากฎอิกแต่ ๒ คน คือหม่อมราโชทัยผู้ที่แต่งหนังสือเรื่องนี้คน ๑ เกิดในรัชกาลที่ ๒ เมื่อปีเถาะจุลศักราช ๑๑๘๑ พ.ศ.๒๓๖๒ เดิมเปนแต่หม่อมราชวงศ์กระต่ายบุตรหม่อมเจ้าชอุ่ม ในเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ เปนข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพียรเรียนตามเสด็จจนรู้ ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ หม่อมเจ้าชอุ่มได้เปนกรมหมื่นเทวานุรักษ์ หม่อมราชวงศ์กระต่ายได้เปนหม่อมราโชทัยแล้วจึงได้เปนตำแหน่งล่ามไปเมืองอังกฤษกับพระยามนตรีสุริยวงศ์ ชุ่ม บุนนาค เมื่อทูตไทยไปคราวแรกนั้นครั้นกลับจากราชการทูตทราบว่าได้พระราชทานพานทองเล็ก แล้วได้เปนอธิบดีผู้พิพากษาศาลต่างประเทศคนแรก อยู่มาจนอายุได้ ๔๙ ปี ถึงอนิจกรรมในปลายรัชกาลที่ ๔ เมื่อปีเถาะ พ.ศ.๒๔๑๐ อิกคน ๑ ชื่อนายดิศ เปนมหาดเล็กข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ฝึกหัดวิชาเดินเรือ แลเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเรียกกันว่า “ กัปตันดิก “ มีชื่ออยู่ในหนังสือเซอยอนเบาริงแต่งเรื่องเมืองไทย คนนี้ในรัชกาลที่ ๔ ได้เปนที่ขุนปรีชาชาญสมุท เปนล่ามของจมื่นมณเฑียรพิทักษ์ตรีทูตไปเมืองอังกฤษด้วยต่อมาได้เปนที่หลวงสุรวิเศษ เปนครูสอนภาษาอังกฤษแก่พระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวมาแทบทุกพระองค์ อยู่มาจนในรัชกาลที่ ๕ ไทยที่เรียนรู้ภาษาอังกฤษในเมืองไทยเมื่อในรัชกาลที่ ๓ มีปรากฎแต่ ๔ ด้วยกันดังกล่าวมานี้ ยังมีไทยที่ได้ออกไปเล่าเรียนถึงยุโรปเมื่อในรัชกาลที่ ๓ อิกคน ๑ ชื่อนายฉุน เปนคนที่สมเด็จเจ้า พระยา ฯ เลี้ยงมา เห็นว่าฉลาดเฉลียวจึงฝากกับกัปตันเรืออังกฤษออกไปฝึกหัดวิชาเดินเรือกำปั่น ได้ไปเรียนอยู่ในเมืองอังกฤษจนได้ประกาศนีย บัตรเดินเรือทเลได้แล้วจึงกลับมา (เข้าใจว่าเมื่อในรัชกาลที่ ๔) ได้เปนที่ขุนจรเจนทเล แลได้เปนล่ามของพระยามนตรีสุริยวงศ์เมื่อไปเปนราชทูตด้วย ต่อมาถึงรัชกาลที่ ๕ ได้เปนหลวงชลธารพินิจจัย ตำแหน่งเจ้ากรมคลอง แล้วเลื่อนเปนพระชลธารพินิจจัย


ถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปนพระราชธุระบำรุงการเล่าเรียนภาษาฝรั่ง มาแต่แรกเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เรื่องนี้มีภาษิตสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศ วริยาลงกรณ์ดำรัสว่า “ในรัชกาลที่ ๑ ใครแขงแรงในการศึกสงครามก็เปนคนโปรด ในรัชกาลที่ ๒ ใครแต่งบทกลอนดีก็เปนคนโปรด ในรัชกาลที่ ๓ ใครศรัทธาสร้างวัดก็เปนคนโปรด แลในรัชกาลที่ ๔ ถ้าใครเรียนรู้ภาษาฝรั่งก็เปนคนโปรด“ ดังนี้ แต่ในสมัยเมื่อราชทูตไทยออกไปประเทศอังกฤษเมื่อคราวปีมะเส็ง ผู้ที่เริ่มเล่าเรียนภาษาฝรั่งขึ้นในรัชกาลที่ ๔ ยังอยู่ในเวลาเล่าเรียน หรือพึ่งเริ่มจะเข้ารับราชการในตำแหน่งต่ำ ยังไม่มีผู้ใดซึ่งเปนข้าราชการชั้นสูงจะสามารถรับหน้าที่ทำการได้อย่างหม่อมราโชทัย ด้วยเหตุทั้งปวงดังกล่าวมานี้จึงควรนับว่า จดหมายเหตุของหม่อมราโชทัยเปนหนังสือแต่งดีแลหน้าอ่านด้วยประการทั้งปวง.


(๑) ที่ปรากฎว่าทูตฝรั่งเศสมาถึงในเดือนกันยายน แลกลับไปในเดือนธันวาคมเหมือนกันทัง ๒ คราว เพราะการใช้เรือใบต้องไปมาให้ได้ฤดูมรสุม.

(๒) รายชื่อผู้ที่ไปในราชการทูตครั้งนั้นได้สืบมาพิมพ์ไว้ข้างท้ายจดหมายเหตุ

ตอนที่ ๑ ว่าด้วยราชทูตออกจากกรุงเทพ ฯ จนถึงเมืองสิงคโปร์

ข้าพระพุทธเจ้า หม่อมราโชทัย กระต่าย ได้รับพระราชทานจดหมายรายเรื่องความ ตามระยะทางที่พวกราชทูตกราบถวายบังคมลา ออกจากกรุงเทพมหานคร ไปจำเริญทางพระราชไมตรีพระเจ้ากรุงลอนดอน ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย


ใจความว่า ณวันศุกร์ เดือน ๙ ขึ้น ๓ ค่ำ จุลศักราช ๑๒๑๙ ปีมะเสงนพศก ( พ.ศ. ๒๔๐๐ ) เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ พระยามนตรีสุริยวงศ์ ราชทูต เจ้าหมื่นสรรเพธภักดี อุปทูต จมื่นมณเฑียรพิทักษ์ ตรีทูต หม่อมราโชทัย ล่าม จมื่นราชามาตย์ นายพิจารณ์ สรรพกิจ ผู้กำกับเครื่องมงคลราชบรรณาการ (๑) พร้อมกันในพระบรมมหาราชวัง เชิญพระราชสาส์นขึ้นใส่พระยานุมาศแห่ไปถึงท่าพระ แล้วเชิญลงเรือพระที่นั่งชลพิมานไชย ล่องลงไปเมืองสมุทปราการ


วันเสาร์ เดือน ๙ ขึ้น ๔ ค่ำ ย่ำรุ่งแล้ว พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท กับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ สมันตพงศ์พิสุทธ มหาบุรุษรัตโนดม ว่าที่สมุหกระละโหม ให้เชิญพระราชสาส์นแลรับเครื่องราชบรรณาการ ลงเรือพระที่นั่งกลไฟสยามอรสุมพลเสร็จ


เวลาเช้าโมงหนึ่ง พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ แลพวกขุนนางทั้งผู้มีชื่อซึ่งจะไปด้วยราชทูตนั้นรวม ๒๗ คน ลงในเรือแล้วให้ใส่ไฟใช้จักรออกไปถึงเรือรบอังกฤษเปนเรือกลไฟชื่อ เอนกวนเตอ จักรท้ายยาว ๒๑๔ ฟิต กว้าง ๓๓ ฟิต กินน้ำลึก ๑๘ ฟิต ถ้าจะคิดอย่างไทย ฟิตหนึ่ง ๑๔ นิ้ว กับ ๓ กระเบียดใหญ่ยาว ๒๑๔ ฟิต คือ ๑ เส้น ๑๒ วา ๓ ศอกคืบกับกึ่งนิ้ว กว้าง ๓๐ ฟิต คือ ๕ วา ๖ นิ้ว กับ ๓ กระเบียด กินน้ำลึก ๑๘ ฟิต คือ ๑๑ ศอกกับนิ้วกึ่ง กำลัง ๓๖๐ แรงม้า คนในเรือกัปตัน ๑ ออฟฟิเซอ ๒๐ ลูกเรือทหารคนใช้รวม ๑๘๖ คน เปนเรือกวีน (๒) โปรดให้มารับพวกราชทูต เวลาเช้า ๓ โมงครึ่งกัปตันกับขุนนางนายทหาร จัดทหารถือปืนยืนเรียงเคียงกันคำนับพระราชสาส์นสองแถว ๆ ละ ๖ คน มีคนตีกลองคน ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท เจ้า พระยาศรีสุริยวงศ์ จึงขึ้นไปบนเรือเอนกวนเตอก่อน แล้วให้หม่อมราโชทัยเชิญพระบรมราชสาส์น จมื่นมณเฑียรพิทักษ์ เชิญพระบวรราชสาส์นขึ้นไปต่อภายหลัง กัปตันขุนนางแลทหารคำนับพระราชสาส์นแล้วให้ทหารยิงปืนใหญ่สลูตราชทูต ๑๙ นัด แล้วให้เชิญพระราชสาส์นขึ้นไว้บนโต๊ะในห้องข้างท้าย เปนที่พวกราชทูตอยู่ ครั้นขนเครื่องราชบรรณาการขึ้นบนเรือเอนกวนเตอเสร็จแล้ว เวลาบ่ายโมงหนึ่งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ก็ลงเรือพระที่นั่งสยามอรสุมพลกลับเข้ามากรุงเทพ ฯ เวลาบ่ายโมงเศษกัปตันโอแกแลแฮน ให้ใส่ไฟใช้จักรออกจากที่ทอดสมอนอกสันดอน


พอเวลาสว่างขนเปนวันอาทิตย์ เดือน ๙ ขึ้น ๕ ค่ำ ถึงหน้าภูเขาสามร้อยยอด เวลาพลบถึงเกาะอ่างทองได้ลมดี กัปตันให้เอาจักรขึ้นแล่นใบไป


วันจันทร์ เดือน ๙ ขึ้น ๖ ค่ำ เวลาย่ำรุ่งถึงเกาะพงัน ครั้นเวลาสายขัดลมเรือไม่เดิน บางทีก็ถอยหลัง บางทีเดินไปสักหน่อยถึงบ่าย ๒ โมงจึงมีลม แล่นออกไปได้ถึงแหลมกลุมพุกพอพลบ


วันอังคาร เดือน ๙ ขึ้น ๗ ค่ำ สว่างที่อ่าวยางตรงเกาะกระ (๓) ขณะนั้นขัดลม จนบ่าย ๒ โมงเศษจึงได้ลมแล่นต่อไป พ้นเกาะกระประมาณ ๒๕ ไมล์ คือ ๑๑๒๕ เส้น พอค่ำ


วันพุธ เดือน ๙ ขึ้น ๘ ค่ำ มาสว่างตรงแหลมหน้าเมืองตานีเวลาพลบถึงหน้าเมืองกลันตัน ลมทวนหน้า กัปตันให้ใส่ไฟใช้จักรต่อไป


วันพฤหัสบดี เดือน ๙ ขึ้น ๙ ค่ำ มาสว่างที่หน้าเมืองตรังกานูพ้นอ่าวตรังกานูออกไปมีเกาะชื่อเกาะฝ้าย เรือทวนน้ำทวนลม จนเวลาค่ำจึงถึงเกาะตังโกรัน พวกจีนเรียกเกาะเต๊า เปนแขวงเมืองตรังกานูกัปตันให้เอาจักรขึ้น ใช้ใบไป


วันศุกร์ เดือน ๙ ขึ้น ๑๐ ค่ำ สว่างพ้นเกาะตังโกรันออกไปประมาณ ๒๕ ไมล์ คือ ๑๑๒๕ เส้น เรือทวนน้ำทวนลมก้าวไม่ออก กัปตันให้ทหารหัดปืนใหญ่ทำท่ารบต่าง ๆ ให้ราชทูตดู เวลาบ่ายโมงหนึ่งให้เอาจักรลงที่ แล้วใส่ไฟใช้จักรต่อไป เวลาทุ่มเศษถึงหน้าเมืองปะหัง

วันเสาร์ เดือน ๙ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เวลาย่ำรุ่งถึงเกาะหม้อใต้เมืองปะหังหน่อยหนึ่ง เวลาย่ำค่ำถึงเกาะนาก พวกจีนเรียกแต้ปั๊ว


วันอาทิตย์ เดือน ๙ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เวลาสว่างถึงศิลาขาว ที่ศิลาขาวนั้น เปนศิลางอกขึ้นพ้นน้ำบ้าง อยู่ใต้น้ำบ้าง เปนที่น่ากลัวเรือเข้าเรือออกจะโดนก็จะเปนอันตราย จึงก่อหอคอยสูงจุดโคมไว้บนนั้น เรือเข้าออกจะได้เห็นเปนที่สังเกต มีคนผลัดเปลี่ยนกันรักษาอยู่ที่นั้นเปนนิจเวลาเช้า ๔ โมงถึงเมืองสิงคโปร์ รวม ๙ วัน


กัปตันให้ชักธงพระจอมเกล้าขึ้นบนปลายเสากระโดงหน้าแล้วให้ทอดสมอลงกัปตันก็ลงเรือโบตขึ้นไปหาออนเนอ เรบล์ บลันแดล เจ้าเมือง ๆ ให้มิศเตอร์แมกเนียลงมาทักถามข่าวราชทูตที่ในเรือรบ มิศเตอร์แมกเนียบอกว่าเจ้าเมืองสิงคโปร์ให้มาแจ้งความแก่ท่านราชทูตว่า ได้ยินข่าวราชทูตจะออกมานานแล้ว เจ้าเมืองสิงคโปร์ตั้งใจคอยอยู่ทุกวันมิได้ขาดแต่วันนี้ราชทูตมาถึงเปนวันอาทิตย์ เจ้าเมืองเสียใจนัก ด้วยจะจัดแจงเชื้อเชิญแลยิงสลูตรับยังไม่ได้ ขอเชิญพักอยู่ในเรือรบสักคืนหนึ่งก่อนต่อรุ่งขึ้นวันจันทร์จึงจะจัดทหารตั้งกระบวนรับราชทูต ให้เปนเกียรติยศแก่พระเจ้าอยู่หัวกรุงสยาม ราชทูตตอบว่าชอบแล้ว เมื่อเรือกลไฟเข้าไปถึงกรุงเทพ ฯ พระเจ้าอยู่หัวแลท่านเสนาบดีผู้ใหญ่ก็ได้จัดแจงให้เราออกมา เราก็มีความปราร์ถนาจะออกมาให้ถึงโดยเร็ว จะใคร่พบรู้จักกับเจ้าเมืองแลขุนนางด้วย แต่วันนี้เปนวันอาทิตย์จะของด ต่อเวลาพรุ่งนี้จึงจะจัดแจงรับทูตานุทูตนั้น ตามแต่เจ้าเมืองสิงคโปร์จะจัดแจงให้สมควารแก่พระเกียรติยศเถิด พูดกันเท่านั้นแล้วมิศเตอร์แมกเนียก็ลากลับไป


วันจันทร์ เดือน ๙ ขน ๑๓ ค่ำ เวลาเช้าโมงครึ่ง เจ้าเมืองสิงคโปร์ให้จัดเรือโบตลำหนึ่ง หน้าเรือปักธงพระจอมเกล้า ท้ายเรือปังธงอังกฤษ มีขุนนางฝ่ายทหารขัดกระบี่หน้าเรือคน ๑ อยู่ท้ายเรือคน ๑ คนตีกระเชียง ๑๐ เล่ม คนถือของถ่อง่ามคอยรับเรือ ๒ คนคนถือหางเสือคน ๑ รวมอังกฤษ ๑๕ คน ออกมารับราชทูตที่เรือรบพวกราชทูตทั้ง ๖ คนแต่งตัวใส่หมวกยอดทอง ใส่เสื้อเข้มขาบ นุ่งผ้า ยกทอง ใส่สนับเพลา คาดเข็มขัดราตคด ใส่ถุงเท้ารองเท้า (๔) เมื่อราชทูตจะลงเรือขึ้นไปในเมืองนั้น ที่เรือเอนกวนเตอ มีทหาร ๑๒ คน ถือปืนปลายหอกยืนคำนับส่ง ครั้นพวกราชทูตทั้ง ๖ คนลงเรือโบตออกไปห่างกำปั่นประมาณ ๓ เส้นเศษ ที่ในเรือรบยิงปืนใหญ่นัดหนึ่ง ให้ขุนนางที่บนเมืองรู้เปนสัญญาว่าราชทูตลงเรือมาแล้ว เมื่อราชทูตถึงท่าหน้าเมือง มิศเตอรแมกแกนซี ที่สองเจ้าเมือง กับมิศเตอแมกเนียแลจีนกิมจิ๋ง เปนที่พระพิเทศพานิชสยามพิชิตภักดี (๕) ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณ เปนผู้ช่วยดูแลว่ากล่าวในที่กงสุลไทยอยู่ที่เมืองสิงคโปร์ ลงมายืนคอยรับราชทูตอยู่ เมื่อพวกขุนนางไทยจะขึ้นจากเรือนั้นมิศเตอรแมกเนีย ลงมายืนถึงที่ริมเรือ แล้วยื่นมือให้ราชทูตแลขุนนางไทยจับประคองขึ้นไป ครั้นขึ้นไปบนตลิ่งพร้อมกันแล้ว มิศเตอรแมกแกนซีบอกว่า เจ้าเมืองก็ลงมาคอยรับอยู่ด้วย แต่บัดนี้หาสู้สบายไม่ขอลาขึ้นไปก่อน ให้ข้าพเจ้ากับมิศเตอรแมกเนีย คอยรับราชทูตแทน ครั้นพูดกันเท่านั้นแล้ว นายทหารก็เป่าแตรสัญญา ให้ทหารปืนใหญ่หน้าป้อม ๔ กระบอกยิงสลูต ๑๙ นัด ที่ปืนใหญ่นั้นมีทหารรักษาอยู่กระบอกละ ๕ คน ๔ กระบอกรวมทหาร ๒๐ คน ทางที่ราชทูตขึ้นนั้นมีทหารปืนปลายหอกยืนคำนับอยู่สองแถว ๆ ละ ๖๕ คน สองแถว ๑๓๐ คน มีคนเป่าแตรตีกลองตีฉาบอิก ๒๔ คนมาตามส่งราชทูตด้วย รถที่มารับ พวกราชทูต ๕ รถ แต่รถราชทูตอุปทูตรถหนึ่ง เปนรถมีประทุน เทียมด้วยม้าเทศคู่หนึ่ง ครั้นมาถึงตึกที่พัก ชื่อเรศเปอแรนศโฮเตลเปนตึกสำหรับเศรษฐีนายห้างขุนนางคนไปมาเช่าอาศรัย เจ้าเมืองสิงคโปร์จัดทหารแต่งตัวถือปืนปลายหอกผลัดเปลี่ยนกันเดินยาม ตรวจตรารักษาพวกราชทูตทั้งกลางวันกลางคืน ๓๐ คน มีรถประจำอยู่สำหรับให้ใช้ ๓ รถ ในตึกนั้นมีเตียงที่นอนครบทุกนาย แล้วเวลาเช้า ๓ โมงเลี้ยงเข้า เที่ยงเลี้ยงน้ำชา มีขนม นมโค น้ำตาลทราย ผลไม้ต่าง ๆ บ่าย ๓ โมงเลี้ยงเข้าเย็น เวลา ๒ ทุ่มเลี้ยงน้ำชา มีของ เหมือนเลี้ยงกลางวันอิกครั้งหนึ่ง มีเครื่องสำหรับใช้ต่าง ๆ เปนอันมาก เจ้าเมืองสิงคโปร์ให้มิศเตอรแมกเนีย มาเยี่ยมเยียนถามข่าวอยู่เนือง ๆ แลขุนนางอื่นก็ไปมามิได้ขาด


วันอังคาร เดือน ๙ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เวลาเช้า ๓ โมงเศษ เชอรแมก กอสแลนด์ เปนขุนนางสำหรับตัดสินความในเมืองสิงคโปร์มาเยี่ยมราชทูตถึงตึกที่อยู่ เมื่อมานั้นแต่งตัวใส่เสื้อสักหลาดแดงกรอมลงไปถึงเท้า มีคนถือกระบองหุ้มเงินนำหน้าคู่หนึ่ง เวลา ๔ โมงเช้ามิศเตอรแมกเนีย เอารถ ๖ รถมาเชิญพวกราชทูตไปบ้านเจ้าเมือง พวกราชทูตทั้ง ๖ คน แต่งตัวเหมือนเมื่อแรกขึ้นมาจากกำปั่นเสร็จแล้ว มิศเตอรแมกเนีย ก็เชิญให้ขึ้นรถพาไปบ้านเจ้าเมืองบนยอดภูเขา เมื่อถึงนั้น มีทหารปืนปลายหอกยืนอยู่หน้าบันไดสองแถว ๆ ละ ๖ คน คนหนึ่งผลัดเปลี่ยนกันเดินถือกล้องส่องคอยดูเหตุการณ์ซึ่งจะมีมาในท้องทเลจะได้รู้โดยเร็ว ครั้นรถประทับหน้าบันไดแล้ว พวกราชทูตก็พากันขึ้นไปหา เจ้าเมือง ต่างทักทายปราไสกันตามธรรมเนียม แล้วลาเจ้าเมืองไปบ้านพระพิเทศพานิช อยู่ที่นั้นประมาณครึ่งชั่วโมงจึงกลับมาตึกที่สำนัก


วันพุธ เดือน ๙ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เวลาเช้า ๔ โมงเศษ เจ้าเมืองมาเยี่ยมราชทูตถึงที่อยู่ พูดจากันแล้วก็ลากลับไป ประมาณ ๑๐ นาฑีรองเจ้าเมืองชื่อ มิศเตอร แมกแกนซี มาหาราชทูต ถามข่าวสุขทุกข์กัน ตามธรรมเนียม


รุ่งขึ้นวันพฤหัสบดี เดือน ๙ แรมค่ำหนึ่ง เวลาเช้า ๔ โมง มิศเตอร แมกเนีย มาเชิญพวกราชทูตไปเที่ยวดูถิ่นฐานบ้านเมืองแลไป หา เซอแมกกอสแลนด์ผู้ชำระความ แล้วกลับมาตึกที่พัก บ่ายโมง หนึ่งพวกกงสุลหลายชาติมาเยี่ยมราชทูต เวลาบ่าย ๔ โมงพวกราชทูต ไปหามิศเตอรแมกแกนซี เวลาทุ่มหนึ่งพระพิเทศพานิชเชิญพวกราชทูต ๖ คนไปกินโต๊ะ เลี้ยงอย่างอังกฤษ มีอังกฤษ ๑๑ คน ไทย ๖ คน จีน ๒ คน แขกคน ๑ รวมกัน ๒๐ คน


วันศุกร เดือน ๙ แรม ๒ ค่ำ เวลา ๔ โมงเย็น จีนจงฮวดนายห้างพระยาพิศาลศุภผล (๖) เชิญราชทูตไปกินโต๊ะเลี้ยงอย่างจีน มี


ไทย ๖ คน จีน ๒ คน รวม ๘ คน เวลา ๒ ทุ่มกัปตันกิมเสง (๗) จีน เชิญพวกราชทูตไปกินโต๊ะที่บ้านบนยอดภูเขา เมื่อไปนั้นจมื่นมณเฑียรพิทักษ์ จมื่นราชามาตย์ไปรถเดียวกัน รถนั้นล้าหลัง คนขับพาหลงทางไปไม่ถูกก็กลับคืนที่สำนัก ที่กัปตันกิมเสงเลี้ยงโต๊ะมีปี่พาทย์อย่างอังกฤษวงหนึ่ง ๒๘ คน มีพวกอังกฤษรำเท้าผู้ชายผู้หญิงเต้นเปนคู่กัน ประมาณ ๓๐ คู่ (๘) พวกอังกฤษที่ไปกินโต๊ะประมาณ ๑๕๐ เศษล้วนแต่ผู้ดีทั้งสิ้น พวกราชทูตไทย ๔ คน จีนประมาณ ๒๐ เศษ แขกเทศ ๗ คน แขกมะลายู ๑๕ คน พวกราชทูตอังกฤษรำเท้าอยู่จน ๕ ทุ่ม เศษจึงกินโต๊ะ ครั้นเสร็จพักอยู่สัก ๒๐ นาทีก็กลับมาตึกที่อยู่


(๑) บัญชีผู้ที่ไปราชการทูตครั้งนั้น ทั้งบัญชีสิ่งของเครื่องราชบรรณาการ แลของซึ่งส่งไปพระราชทาน มีรายละเอียดแจ้งอยู่ในใบเพิ่มข้างท้ายหนังสือนี้

(๒) คือสมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย

(๓) เกาะกระอยู่หน้าเมืองนครศรีธรรมราช

(๔) สมัยนั้นยังไม่ใช้รองเท้าถุงเท้าเท้ากันในกรุงฯ จึงกล่าวนับเข้าในเครื่องแต่งตัวทูต

(๕) ต่อมาได้เปนที่พระยาอัษฎงคตทิศรักษา ผู้ว่าราชการเมืองกระบุรี ครั้นในรัชกาล ที่ ๕ เลื่อนเปนพระยาอนุกูลสยามกิจ กงสุลเยเนราลสยามที่เมืองสิงคโปร์

(๖) พระยาพิศาลศุภผล (ชื่น)

(๗) ที่เรียกัปตัน เปนยศหัวหน้าจีน

(๘) เปนการมีบอล เลี้ยงโต๊ะ คือ ซัปเปอ

ตอนที่ ๒ ว่าด้วยราชทูตออกจากเมืองสิงคโปร์ไปถึงเมืองไกโร แว่นแคว้นอายฆุบโต (๑)

วันเสาร์เดือน ๙ แรม ๓ ค่ำ มีคนอังกฤษผู้ดีมาเยี่ยมราชทูตหลายคน จนถึงเวลาบ่าย ๕ โมงเศษพวกราชทูตก็ขึ้นรถพร้อมกันออก จากที่สำนักไปลงเรือที่ท่า มีทหารถือปืนยืนคำนับสองแถว ๆ ละ ๖๐ คน มีทหารเป่าแตรเปนสัญญาบอกให้ทหารปืนใหญ่ ๓ กระบอกยิงสลูต ๑๙ นัดมิศเตอรแมกแกนซี ๑ มิศเตอรแมกเนีย ๑ เซอรแมกกอสแลนด์ ๑ พระพิเทศพานิช ๑ ขุนนางอังกฤษฝ่ายกรมท่า ๑ ลงมาส่งที่เรือ ในเรือ นั้นมีขุนนางฝ่ายทหารกำกับเรือคน ๑ คนถือขอถ่อง่ามคอยรับเรือ ๒ คนคนตีกระเชียง ๑๐ คน พวกราชทูตก็ลงเรือมาถึงเรือกลไฟแล้วกัปตันจึง บอกว่าคนไปค้างอยู่บนเมืองสิงคโปร์ ๙ คน ยังให้ไปตามหาอยู่ ใน เวลานี้ยังจะไปมิได้ แล้วเดือนก็มืดนัก ต่อเกือบสว่างจึงค่อยไป ถึง เวลา ๑๑ ทุ่มจึงให้ถอนสมอใช้จักรไปสว่างที่ในอ่าวเรียว (๒)


วันอังคาร เดือน ๙ แรม ๖ ค่ำ เวลา ๕ โมงเช้าถึงเกาะแคสปาบ่ายโมงเศษถึงเกาะเมนดานออยู่ข้างซ้ายมือ พ้นออกไปข้างขวามือหน่อยหนึ่งมีอีก ๒ เกาะ เรียกเกาะเหนือเกาะใต้ ถัด ๒ เกาะออกไป มีอิกเกาะหนึ่งชื่อเตบละ


วันพุธ เดือน ๙ แรม ๗ ค่ำ เช้าโมงเศษถึงเกาะชื่อวาตเชอบ่าย ๒ โมงถึงช่องยะกะตรา (๓) บ่าย ๔ โมงถึงแหลมแอนเยอ กัปตัน ให้ทอดสมอลงตรงหน้าป้อม ป้อมนั้นเปนด่านเมืองยะกะตรา มีบ้านเรือน อยู่ไม่มากนัก ทั้งตึกทั้งโรงประมาณ ๒๐๐ หลัง ที่ใต้ป้อมลงไปมีหอคอยสูงจุดโคมบนยอด สำหรับให้เรือเข้าออกเห็นเปนสำคัญ ที่หน้าป้อมมีกำปั่นอะเมริกันเที่ยวหาปลาวาฬเข้าไปทอดพักอยู่ ๒ ลำ เมื่อเรือกลไฟเอนกวนเตอทอดสมอลงแล้ว มีเรือลูกค้าแล่นใบบ้าง เรือกระเชียงบ้าง เอาผลไม้เผือกมันแลสัตว์มีชีวิต คือวานรแลนกเป็ดไก่สัตว์อื่นอิก หลายอย่างออกมาขายเปนหลายลำ แล้วมีเรือโบตดาดผ้าตีกระเชียงออกมาลำหนึ่ง ถึงจอดเข้าข้างเรือกลไฟ แล้วตัวนายขึ้นมาบอกแก่ขุนนางที่ในเรือ ว่าเราเปนเจ้าท่าจะมาหากัปตัน ขุนนางในเรือจึงเข้าไปบอกกัปตันว่า นายเจ้าท่ามาหาท่าน กัปตันก็สั่งให้เข้ามา ครั้นนายเจ้าท่ามาถึงแล้วคำนับพูดจาไต่ถามตามการ สักครู่หนึ่งก็ลาไป กัปตันจึงให้ ชักธงวิลันดาขึ้นบนปลายเสาหน้า แล้วยิงปืนใหญ่สลูต ๒๑ นัด ฝ่าย ข้างบนป้อมก็ยิงตอบ ๒๑ นัด แล้วกัปตันจึงเชิญพวกราชทูตลงเรือโบต ตีกระเชียงไปถึงท่า แล้วพาเดินขึ้นไปใกล้เรือนนายเจ้าท่า ฝ่ายนาย เจ้าท่ารู้ก็ออกมารับเชิญให้เข้าไปในตึก แล้วกัปตันกับนายเจ้าท่าจึงนำราชทูตไปเที่ยวเดินดูตำบลบ้านตามทางประมาณชั่วโมงหนึ่ง แล้วนำไปที่โรงอาบน้ำ น้ำนั้นไหลลงมาจากภูเขาเย็นใสสอาดนัก ครั้นพวกราชทูตอาบน้ำแล้ว แวะไปนั่งอยู่ที่ตึกเจ้าท่าครู่หนึ่ง พอค่ำก็ลากลับมาลงเรือ เรือยังทอดค้างอยู่หน้าด่านคืนหนึ่ง


รุ่งขึ้นวันพฤหัสบดี เดือน ๙ แรม ๘ ค่ำ เวลา ๔ โมงเช้าจึงถอนสมอใช้จักรออกจากที่นั้น ไปจนเย็นยังหาพ้นเกาะยะกะตราไม่ เกาะนั้นอยู่ ซ้ายมือเมื่อออกไป ข้าวขวามือแลเห็นภูเขาที่เกาะสุมาตรา เวลาค่ำลง ลมดี กัปตันให้เอาจักรขึ้น ใช้ใบไป


วันศุกร เดือน ๙ แรม ๙ ค่ำ ไม่แลเห็นฝั่งเห็นเกาะเห็นภูเขาเลย วันอาทิตย์ เดือน ๑๐ ขึ้น ๔ ค่ำเวลาเที่ยง ต้นหนวัดแดดบอกว่าเรือเราเดี๋ยวนี้ตรงเกาะลังกาแล้ว แต่ไกลนักแลไม่เห็น วันพฤหัสบดี เดือน ๑๐ ขึ้น ๘ ค่ำ เวลาค่ำขัดลมเรือไม่เดิน ราชทูตให้ถามกัปตันว่าเราขัดลม ดังนี้ถ้าจะใช้ไฟไม่ได้ฤา กัปตันตอบว่าถ่านมีน้อย ถ้าใช้ไฟถ่าน จะหมดเสีย เกลือกเปนเหตุการณ์ไปข้างหน้าเราก็จะได้ความขัดสนประการหนึ่งถ่านหมดเรือก็จะโคลงนัก


วันเสาร์ เดือน ๑๐ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เวลาค่ำจึงได้ลมดี วันอาทิตย์เดือน ๑๐ แรม ๓ ค่ำ เวลา ๒ ยามเศษ เกิดลมสลาตันจัดนัก คลื่นใหญ่ สูงกว่าเรือ พัดเสมออยู่จนถึงวันจันทร์ เดือน ๑๐ แรม ๔ ค่ำเวลาค่ำต้นหนบอกว่า พรุ่งนี้พอสว่างจะเห็นฝั่งข้างแหลมแอฟริกา ครั้น รุ่งขึ้นเวลาสว่างก็เห็นฝั่ง ที่ฝั่งนั้นมีภูเขาทรายสูง เรียกที่นั้นชื่อว่ายาดาฟูม เปนปากทางที่จะเข้าในทเลแดง ขณะนั้นลมสลาตันยัง พัดจัดอยู่ เวลาเช้า ๒ โมงเศษเห็นกำปั่น ๒ เสาครึ่ง เปนเรือฝรั่งเศสแล่นตามเรือแอนกวนเตอเข้าไปลำหนึ่ง เรือเอนกวนเตอ แลเรือฝรั่งเศสนั้นต้องลดใบ เอาแต่ใบชั้นต้นไว้ด้วยลมแรงนัก มิศเตอรเรมันด์ต้นหนบอกว่ายังอิก ๒-๓ ชั่วโมงทเลก็จะราบไม่มีคลื่น ครั้นแล่นไปจนเวลา ๔ โมงเช้า กัปตันให้เอาจักรลง ใช้ไฟไปสักชั่วโมงหนึ่งลมก็สงบคลื่นเรียบเสมอเหมือนน้ำในแม่น้ำ เวลาบ่ายโมงเศษแลไม่เห็นฝั่งแลเกาะเลย


วันพฤหัสบดี เดือน ๑๐ แรม ๗ ค่ำเวลารุ่ง แลเห็นฝั่งเอเดนอยู่ฝั่งฟากแผ่นดินอาหรับ เช้าโมงเศษถึงหน้าป้อม ป้อมนั้นไม่ใหญ่ไม่โตนัก ตั้งอยู่บนภูเขา เมื่อกำปั่นเอนกวนเตอเข้าไปใกล้แล้ว ฝ่าย ข้างบนป้อมชักธงขึ้นรับ แล้วยิงปืน ๔ นัด กัปตันจึงสั่งให้ทอดสมอลงตรงหน้าป้อม ประมาณ ๒๐ นาฑีมีแขกเปนเจ้าท่าลงเรือโบตแล่นใบออกมาถึงกำปั่น แล้วบอกกัปตันว่าที่นี้ไม่ดี ให้ไปทอดข้างภูเขาด้านตวันตกเถิดกัปตันจึงให้ถอนสมอ ยิงปืนใหญ่ขึ้นนัดหนึ่ง แล้วบนป้อมก็ยิงรับนัดหนึ่งเรือเอนกวนเตอก็ใช้จักรแล่นอ้อมภูเขาไปทางทิศใต้ แล้วเลี้ยวไปข้าง ตวันตก เวลาเช้า ๓ โมงเศษถึงที่ทอดสมอ ในอ่าวที่ทอดสมอนั้นมีเรือกลไฟเรือใบทอดอยู่ประมาณ ๓๐ เศษ ครั้นบ่าย ๓ โมงพวกราชทูตพากันไปเที่ยวเล่นบนบก ที่บนบกมีโฮเตล คือตึกสำหรับให้คนเช่าอาศรัยแลขายเข้าปลาอาหาร มีรถมีม้ามีฬาสำหรับให้คนเดินทางเช่าขี่ มีอูฐให้เช่าบรรทุกของ คนในประเทศนั้นเปนคนดำผมหยิก ชั่วมาก ใจก็ดุร้าย ยากจนนัก เมื่อกำปั่นถึงทอดท่าแล้วมีพวกเด็ก มาว่ายน้ำอยู่ตามข้างเรือ ว่ายน้ำท่วงทีก็ผิดกับไทย ว่ายทนอยู่ได้นาน ๆ ถึง ๓-๔ ชั่วโมง คนบนกำปั่นเอาเบี้ยทองแดงทิ้งลงไปในทเล ไม่ทัน จมลงไปถึงพื้นดิน เด็กพวกนั้นก็แย่งชิงกันดำเอาได้ไม่มีสูญเลย ที่ประเทศนั้นรอนนักด้วยฝนน้อย บางที ๓ ปีจึงจะตกสักครั้งหนึ่ง บนภูเขาต้นไม้แต่สักต้นหนึ่งก็ไม่มี ที่เอเดนนั้นอังกฤษตีเอาไว้เปนที่สำหรับไว้ถ่านศิลาใช้ในการเรือกลไฟ ที่เอเดนมีป้อมอยู่หลายป้อม มีทหารแลปืนใหญ่น้อยไว้รักษาเขตรแดนที่แดนต่อแดนให้เอาศิลาก่อกำแพงกั้นไว้ ถ้าคนชาติอื่นพลัดออกไปนอกกำแพงพวกคนดำเห็นก็ฆ่าเสีย เก็บเอาผ้าเอาของไป เรือเอนกวนเตอทอดท่ารับถ่านอยู่ที่เอเดน ถึงณวันเสาร์เดือน ๑๐ แรม ๙ ค่ำ เวลา ๒ ทุ่มจึงให้ใส่ไฟใช้จักรออกจากที่ รุ่งขึ้นเวลาบ่าย ๔ โมงถึงที่ช่องแคบชื่อแบบเอลแมนเดบ ในทางทเลแดงนั้น มีบ้านห่าง ๆ เมื่อเรือเอนกวนเตอใช้ไฟไปแลเห็นฝั่งบ้างแลไม่เห็นบ้างบางทีก็แลไม่เห็นฝั่งถึง ๒ วันบ้าง ๓ วันบ้าง


วันพุฒ เดือน ๑๐ แรม ๑๓ ค่ำ ลมเปนพัดหลวงทวนหน้านักกัปตันให้ลดเสาเพลาลงเสียชั้นหนึ่ง จนถึงวันศุกรเดือน ๑๐ แรม ๑๕ ค่ำ ลมยิ่งพัดกล้าขึ้น เรือเดินได้แต่โมงละนอดหนึ่งบ้างครึ่งนอดบ้าง นอดหนึ่งคือ ๔๕ เส้น กัปตันจึงให้เอาเสากระโดงขึ้นที่แล่นก้าวไป ลมจัดหนักขึ้นทุกวัน บางทีใบขาดเชือกขาด จนถึงวันจันทร์เดือน ๑๑ ขึ้น ๓ ค่ำเวลาเช้าก่อนเที่ยงเรือเอนกวนเตอแล่นก้าวเข้าไป พอแลเห็นภูเขาที่ฝั่ง ข้างขวามือเห็นเรือใบหลายลำ ลำหนึ่งยาวประมาณ ๕ วา ๖ วา มี พวกแขกในลำเรือประมาณลำละ ๓๐ คน ๔๐ คนแล่นตรงออกมา ครั้นใกล้กำปั่นแล้วก็ชักใบกลับไป ขณะนั้นถ่านในเรือยังเหลืออยู่น้อยไม่พอ ใช้จนถึงท่าสุเอศ กัปตันจึงปรึกษาพวกขุนนางอังกฤษเห็นพร้อมกันว่าจะแวะเข้าที่บ้านเวช (๔) วันอังคารเดือน ๑๑ ขึ้น ๔ ค่ำ จึงให้บ่ายเรือเข้าที่ตรงอ่าวบ้านเวช เวลาบ่ายโมงเศษถึงเกาะอยู่ตรงปากอ่าวเวช บ่าย ๕ โมงถึงท่าหน้าบ้านเวช กัปตันให้ทอดสมอลงห่างตลิ่งประมาณ ๔ เส้นที่ริมฝั่งมีเรือนนายบ้านชาวบ้านประมาณ ๒๐ เรือน เรือนนั้นก่อด้วยก้อนศิลา เอาดินทำเปนใบสอ สัณฐานเหมือนเตาที่เผาหม้อเผาอิฐไม่มีหลังคา เอาแต่ใบไม้แลหญ้าขึ้นคลุมไว้พอร่มแดด ในประเทศนั้นฝนแล้งบางคนว่า ๔ ปีบ้าง ๕ ปีบ้างจึงจะตกสักครั้งหนึ่ง คนที่นั้นใช้อูฐม้าแลฬาเปนพาหนะสำหรับขี่แลบรรทุกของ ของที่นั้นแพงนัก ฟองไก่ ๑๔ ฟอง เปนเงินรูเปียหนึ่ง คิดเปนเงินไทย ๓ สลึง คนอยู่ที่นั้นยากจนเข็ญใจ ด้วยเปนประเทศแล้ง มีแต่น้ำค้างตกมาก รุ่งขึ้นเวลาเช้ากัปตันจึง ขึ้นไปดูฟืนบนบกสักครึ่งชั่วโมงแล้วกลับมาเรือ เวลาสายแขกพวกตุรเกเปนนายทหารลงมาหากัปตัน แล้วถามว่ากำปั่นนี้จะไปข้างไหน กัปตัน ตอบว่าจะไปท่าสุเอศ นายทหารจึงว่ามีคนอยู่ที่นี่สัก ๑๐๐ เศษ จะขอโดยสานไปท่าสุเอศด้วย จะให้เงินค่าโดยสารคนละ ๑๐ เหรียญ กัปตันตอบว่าจะให้ไปไม่ได้ ด้วยเรือนี้เปนเรือหลวง แขกนายทหารจึงถามว่าท่านมานี้จะประสงค์สิ่งใด กัปตันตอบว่าเรามาจะต้องการซื้อน้ำซื้อฟืนนายทหารรับว่าได้แล้วก็ลาไป ประมาณสักครึ่งชั่วโมง มีเรือบรรทุกน้ำบรรทุกฟืนลงมาส่งที่กำปั่น น้ำนั้นใส่ในหนังแพะ หนังแพะนั้นลอกออกจากตัวแพะ แล้วเอามาเย็บเปนรูปอยู่เหมือนกับตัวแพะ เมื่อจะใส่น้ำเอากรอกลงไปทางฅอแล้วเอาเชือกผูกเสีย ฟืนที่ได้มาน้อยนัก หาซื้อ อิกก็ไม่ได้ กัปตันจึงว่าจะต้องไปที่เมืองโกไซอิกจึงจะได้ถ่านได้ฟืนพอใช้รุ่งขึ้นณวันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ ขึ้น ๖ ค่ำเวลาเช้า ๔ โมงเศษ กัปตันให้ใส่ไฟใช้จักรออกจากบ้านเวช


วันศุกร เดือน ๑๑ ขึ้น ๗ ค่ำ เวลาเช้า ๓ โมงถึงเมืองโกไซเปนเมืองขึ้นแก่ตุรเก เรือเอนกวนเตอทอดสมอลงห่างตลิ่งประมาณ ๔ เส้นแล้วมีพวกตุรเกเปนนายด่าน ลงเรือโบตมีธงตุรเกปักท้ายเรือมา ถามกัปตันว่าท่านมานี้จะประสงค์สิ่งใดฤๅ กัปตันโอแกแลแฮนตอบว่า กวีน รับสั่งให้เรารับราชทูตไทยไปส่งถึงท่าสุเอศ บัดนี้ถ่านหมดลงเราจึงแวะมา ปราร์ถนาจะซื้อถ่านศิลา นายด่านรับว่าได้แล้วก็ลากลับไป กัปตันจึงให้ขุนนางอังกฤษขึ้นไปดูถ่านแล้วให้บอกเจ้าเมืองว่า กัปตันโอแกแลแฮนสั่งมาว่าที่เรือรบจะยิงสลูตคำนับธงตุรเก เจ้าเมืองจะสลูตคำนับตอบฤๅไม่สลูต เจ้าเมืองจึงตอบว่าจะคำนับตอบ ขุนนางอังกฤษก็กลับมาแจ้งแก่กัปตันตามคำเจ้าเมืองว่า กัปตันจึงให้ทหารปืนใหญ่ยิงสลูต ๒๑ นัดฝ่ายเจ้าเมืองโกไซก็ให้ยิงตอบ ๒๑ นัดเหมือนกัน ถึงเวลาบ่าย ๔ โมงพวกราชทูตพากันไปเที่ยวเล่นบนบก ครั้นจวนค่ำแล้วก็กลับลงมากำปั่น รุ่งขนเจ้าเมืองให้มาเชิญพวกราชทูต ๖ คน กัปตันโอแกนแฮน ๑ มิศเตอรเรมันด์ต้นหนใหญ่ ๑ มิศเตอรฟอเรอคิล์เปนขุนนางวัดแดดในกำปั่นรบ ๑ รวมไทยกับอังกฤษ ๙ คน ขึ้นไปกินโต๊ะที่บ้านเจ้าเมืองกับเข้าเลี้ยงนั้นตามธรรมเนียมของพวกตุรเก คล้าย ๆ กับเข้าแขกที่มา อยู่ในเมืองไทย ของมีหลายสิ่ง แต่ยกมาตั้งทีละสิ่ง ของนั้นล้วนแล้ว ไปด้วยเนื้อแพะแลเนื้อแกะ ครั้นกินแล้วพวกคนที่รับใช้จึงเอากล้องใส่ยา จุดไฟเข้ามาคำนับส่งให้คนละอัน น้ำกาแฟคนละถ้วย เมื่อสำเร็จแล้ว เจ้าเมืองให้พาพวกราชทูตกับอังกฤษไปเที่ยวดูป้อมแลถิ่นฐานบ้านเมืองป้อมนั้นก่อด้วยศิลาแต่ไม่แน่นหนาด้วยบางนัก ที่บนป้อมมีปืนใหญ่กระสุน ๓ นิ้ว ๘ กระบอก กระสุน ๒ นิ้วกึ่งกระบอก ๑ ปืนกระสุนแตกกระบอก ๑ บานประตูป้อมหุ้มเหล็ก ครั้นดูทั่วแล้วก็พากันลงจากป้อมไปเที่ยวดูตามตลาด บ้านเรือนชาวบ้านชาวเมือง ทำสัญฐานคล้ายบ้านเรือนอังกฤษ ก่อด้วยศิลา เอาทรายกับดินถือต่างปูนบ้าง ถือปูนบ้าง แต่ไม่มีหลังคา เอาแต่สิ่งซึ่งบังแดดได้ขึ้นบังไว้ ที่เรือนเจ้าเมืองนั้นเอาไม้พาดทำขื่อให้ถี่แล้วก็เอาก้านอินตะผาลำเรียบให้ชิด เอาดินเปนทรายดาดข้างบน บานหน้าต่างทำด้วยกระจก พื้นก็ดาดดินปนทรายเหมือนอย่างหลังคา ในประเทศนั้นคนตาบอดแลเจ็บตามาก ด้วยเปน เหตุเพราะเจ้าเมืองเก็บเอาผู้ชายไปหัดปืนเปนทหาร ถ้าคนยากจนมีบุตร เปนชายแล้ว ก็เอาของที่ร้ายแรงหยอดตาข้างขวาของบุตรให้บอดเสีย จะได้ไม่ต้องเปนทหาร ด้วยตาข้างขวาบอดเล็งดูสูนย์ปืนไม่ได้ ครั้นเที่ยวดูบ้านช่องทั่วแล้วก็กลับมาลาเจ้าเมือง เจ้าเมืองจึงลงมาส่งถึงประตูบ้าน ต่างคำนับกันทั้งสองฝ่ายแล้วก็กลับมากำปั่น


วันอาทิตย์ เดือน ๑๑ ขึ้น ๙ ค่ำ บ่าย ๒ โมงได้ถ่านศิลาบรรทุกแล้ว กัปตันให้ถอนสมอใส่ไฟใช้จักรไปตามทางในที่ช่องแคบ แลเห็นฝั่งทั้งสองข้าง พวกอังกฤษว่าบางแห่งแคบทีเดียวเพียง ๘ ไมล์ คือ ๓๖๐ เส้น ที่กว้างก็เพียง ๑๕ ไมล์ คือ ๖๗๕ เส้น


วันพุธ เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ย่ำรุ่งแล้วถึงท่าเมืองสุเอศ เปนเมืองขึ้นแก่ไกโรชาติตุรเก กัปตันให้ทอดสมอลงหน้าเมือง แล้วชักธงพระจอมเกล้าขนบนปลายเสาหน้า ประมาณไม่ถึงชั่วโมง รองกงสุลอังกฤษให้จัดเรือกลไฟเล็กลำหนึ่ง ออกมารับพวกราชทูตแลเครื่องราชบรรณาการ ตัวกงสุลก็ลงเรือโบตตามมาด้วย แล้วแจ้ง ความว่าบัดนี้กงสุลมีธุระขึ้นไปเมืองลอนดอน แต่ได้สั่งข้าพเจ้าไว้ว่าถ้าราชทูตมาถึงเมื่อไรให้ข้าพเจ้าจัดแจงรับ อนึ่งทางรถไฟที่ทำมาแต่เมืองอาเลกซันเดอก็ยังไม่แล้ว จะต้องจัดรถเทียมม้าแลอูฐ บรรทุก เครื่องราชบรรณาการไปส่งจนถึงทางรถไฟ ทางสัก ๒๕ ไมล์ คือ ๑๑๒๕ เส้น ถึงแล้วจึงจะได้บรรทุกรถไฟต่อไป ข้าพเจ้าให้จัดรถแลอูฐเตรียมไว้พร้อมแล้ว กัปตันโอแกแลแฮนจึงให้ยิงสลูต ๒๑ นัด เจ้าเมืองสุเอศก็ให้ยิงคำนับตอบ ๒๑ นัดเหมือนกัน เวลา เช้า ๔ โมงครึ่งพวกราชทูต กัปตันโอแกแลแฮน พร้อมกันลงในเรือกลไฟเล็ก หน้าเรือปักธงพระจอมเกล้า ท้ายปักธงตุรเก ออกจากเรือรบเอนกวนเตอ ที่เรือรบเอนกวนเตอเสาหน้าชักธงช้างเผือก เมื่อเรือห่างกันออกมาประมาณ ๔ วา ทหารที่เรือเอนกวนเตอยิงสลูตส่งราชทูตอีก ๑๙ นัด เรือไฟเล็กใช้จักรมาตามร่องน้ำที่คดอ้อมวงเวียนประมาณครึ่งชั่วโมงถึงท่าจอด เมื่อจะขึ้นบกมีคนถือร่มขาวคันยาวกั้นให้ราชทูตคันหนึ่ง อุปทูตคันหนึ่ง รองกงสุลเชิญพวกราชทูตขึ้นพักบนโฮเต็ล จัดแจงเลี้ยงดูสำเร็จแล้ว บ่ายเกือบโมงรองกงสุลจึงเชิญพวกราชทูตทั้งนายแลไพร่ขึ้นรถ ๖ รถ เทียมม้ารถละ ๔ ม้ามาตามระยะทางชั่วโมงหนึ่งคิดเปนทาง ๕ ไมล์ คือ ๒๒๕ เส้น มีตึก ที่พักเปลี่ยนม้าครั้งหนึ่งเปลี่ยนทุกชั่วโมง เมื่อถึงที่เปลี่ยนม้าคำรบ ๔ เวลาบ่าย ๕ โมง กัปตันโอแกแลแฮนจึงเชิญพวกราชทูตหยุดพักรับอาหาร (๕) ในโฮเต็ล เสร็จแล้วออกจากที่นั้นไปทางอีกพักม้าหนึ่งถึงทางรถไฟพอค่ำ เมื่อถึงนั้นรถไฟไปเสียก่อนแล้ว ต้องหยุดพักคอยอยู่ในเรือนผ้าจนยามเศษรถไฟกลับมาถึง กัปตันโอแกแลแฮนจึงเชิญพวกราชทูตขึ้นรถไฟไป จนเวลา ๕ ทุ่มเศษถึงเมืองไกโร เปนเมืองอุปราชของเมืองตุรเก เจ้าเมืองไกโรชื่อ มฮัมหมัด ซาอิดปาซา (๖) ให้ขุนนางเอารถ ๘ รถมาคอยรับราชทูต มีคนถือตระบองหุ้มเงินขี่ม้านำหน้ารถม้า ๑ ทหารขัดดาบขี่ม้าคู่ ๑ คนเดินถือคบไฟนำหน้า ๒ คู่ หลังคู่ ๑ คนถือโคมนำหน้ารถ คู่ ๑ รถต่อลงมามีคนถือคบ ไฟรถละคู่ ไปจากรถไฟถึงที่โฮเต็ลชื่อ โอเรียนแตล จัดแจงให้พัก อยู่ที่นั้น


รุ่งขึ้นเจ้าเมืองไกโรให้ขุนนางเอารถเทียมม้าเทศรถละคู่ ๓ รถมาเชิญพวกราชทูตไปเที่ยวชมวัดแลวังเปนที่อยู่เปลี่ยนฤดู วัดนั้นใหญ่โตระโหฐานนัก เสาในโบถส์ทำด้วยศิลาโมราทั้งแท่งใหญ่ประมาณ ๖ กำ ยาวประมาณ ๔ วา พื้นแลผนังดาดศิลาโมราแผ่น ๑ ยาวศอกคืบกว้างศอกคืบ โบถส์นั้นทำสัณฐานกลมคล้ายวัดแขกที่ตะเกี่ย กว้างประมาณ ๓๐ วาเศษ ที่วังก็ใหญ่กว้างสนุกงดงาม เปนที่อยู่ตามฤดูร้อนแลฤดูหนาว ราชทูตเที่ยวดูรอบแล้วก็กลับมาที่อยู่ เวลาบ่าย ๓ โมงเจ้าเมืองไกโรให้ขุนนางเอารถ ๓ รถมาเชิญพวกราชทูตไปเฝ้าที่ในวัง เจ้าเมืองไกโรแต่งรับราชทูตที่ประตูมีทหารขี่ม้าใส่เสื้อเกราะ ทองเหลืองตะพายปืนถือดาบยืน ๒ แถว ๆ ละ ๖๐ ม้า ประตูชั้นในถือปืนปลายหอก ๒ แถว ๆ ละ ๖๐๐ คน ปี่พาทย์สำหรับทหารปืนปลายหอก ๒๔ คน ที่สนามในมีทหารปืนใหญ่ขี่ม้าประจำอยู่กระบอกละ ๒๔ ม้า ปืนใหญ่ ๖ กระบอก รวมทหาร ๑๔๔ ม้า ปี่พาทย์สำหรับ ปืนใหญ่ ๒๔ คน พวกราชทูตเข้าไปถึงชั้นไหน ทหารก็คำนับตามธรรมเนียมทุกชั้น ครั้นถึงที่เจ้าเมืองไกโรออกขุนนาง พวกราชทูตพร้อมกันลงจากรถ แล้วมีขุนนาง ๓ คนออกมาเชิญให้เข้าไปข้างในขณะนั้นเจ้าเมืองไกโรออกมานั่งอยู่บนที่ ครั้นเห็นราชทูตเจ้าเมืองไกโรลุกขึ้นยืนรับ แล้วเชิญพวกราชทูตให้นั่งบนที่อันเดียวกันกับเจ้าเมืองไกโร แต่ที่เจ้าเมืองไกโรนั่งเบาะหมอนทำด้วยโหมดเทศ ที่พวกราชทูตนั่งเบาะหมอนทำด้วยแพรดวงอย่างหนาเปนแพรฝรั่งเศส เจ้าเมืองไกโรให้เอากล้องมาให้พวกราชทูตสูบคนละคัน น้ำกาแฟคนละถ้วย แล้วพูดจา ปราไสกันอยู่ครู่หนึ่งราชทูตก็ลาออกมาภายนอก ขุนนางนายทหารจึง สั่งทหารให้เดินกระบวนต่าง ๆ ให้พวกราชทูตดู เสร็จแล้วพวกราชทูตก็ลามาจากวัง ขุนนางจึงนำไปที่สวนแห่งหนึ่ง มีที่สำหรับเจ้าเมืองไกโรประพาสหลายแห่ง มีสระน้ำสระหนึ่ง กว้างประมาณ ๒ เส้น มีเกาะกลาง ตามขอบสระก่อด้วยศิลาอ่อนทำเปนรางน้ำ ไหลได้รอบ ในพื้นรางจำหลักเปนรูปสัตว์น้ำต่าง ๆ แล้วก่อระเบียงรอบสระน้ำกว้างประมาณ ๓ วา ทิศตวันตก ทิศตวันออก ทิศเหนือ ทิศใต้ ทั้ง ๔ ทิศ ทำเปนมุขสำหรับเจ้าเมืองไกโรประทับ มีที่นั่งที่นอนพร้อมทุกแห่ง พวกราชทูตเที่ยวดูรอบแล้วก็ลากลับมาที่สำนัก


วันศุกร เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เวลา ๔ โมงเช้าราชทูตออกจากเมืองไกโรไปขึ้นรถไฟ เจ้าเมืองไกโรให้ขุนนางเจ้าพนักงานตามมาส่งด้วย ๒ คน บ่ายโมง ๑ ถึงที่พัก เจ้าพนักงานจึงเชิญพวกราชทูต แลกัปตันโอแกแลแฮนขึ้นไปรับอาหาร (๗) บนโฮเต็ลกลางทางเสร็จแล้ว ก็ขึ้นรถไฟต่อไป บ่าย ๓ โมงก็ถึงแม่น้ำไนล์ น้ำที่นั้นลึก ๑๗ วากว้าง ๒๐๐ วา รถไฟไปถึงริมฝั่งมีตะพานเลื่อนรถลงแพเหล็กชักข้ามฟากไปตามสายโซ่ที่ขึ่งไว้ ครั้นถึงท่าฟากข้างหนึ่งแล้วก็เลื่อนรถขึ้นจากแพไปตามทาง จนบ่าย ๕ โมงเศษถึงเมืองชายทะเลเปนท่ากำปั่นจอด ชื่อเมืองอาเล็กซันเดอ เปนเมืองขึ้นแก่เมืองไกโร ขุนนางเข้าในเจ้าเมืองไกโร จึงเชิญพวกราชทูตเข้าพักอยู่ในวัง ชื่อมูแซเฟียฮอเนอ อาเล็กซันเดรีย เปนวังที่ประทับของเจ้าเมืองไกโร รุ่งขึ้นเวลาเช้าขุนนาง ๓ นายจึงนำราชทูตไปที่วังอีกแห่งหนึ่งอยู่ริมชายทะเล มีตึกใหญ่หลังหนึ่งกั้นเปนห้องเล็กห้องใหญ่ประมาณ ๒๐ ห้อง พื้นในห้องปูด้วยไม้ลายต่าง ๆ บางห้องก็ฝั่งทองเหลืองเปนลวดลาย บางห้องก็ปูด้วยศิลาอ่อน บางห้องก็ปูพรม เครื่องแต่งห้องต่าง ๆ กัน คือ เก้าอี้นั่ง เก้าอี้นอน โต๊ะ เตียง บางที่เปนทองเหลือง บางที่เปนไม้ลาย บางที่ทำด้วยศิลาลาย แต่เตียงนอนของเจ้าเมืองไกโรนั้นทำด้วยเงิน กว้าง ๔ ศอก ยาว ๔ ศอกมุ้งแพรปักทอง ที่นอนเย็บด้วยผ้าเยียระยับ ของทั้งปวงที่ใช้ในวังนั้นเปนของฝรั่งเศสบ้าง เปนของอังกฤษบ้าง พวกราชทูตเที่ยวดูทั่วแล้วก็กลับมาที่อยู่


(๑) คือ อิยิปต์ เรียกอายฆุบโต ตามในหนังสือใบเบลที่พวกมิชันนารีแปล

(๒) ไปหนทางเรือแล่นใบแต่ก่อน ต้องไปทางเกาะชะวา

(๓) ชื่อเมืองยะกะตรา เปนชื่อเก่าของภูมิลำเนาที่ตั้งเมืองเบตาเวีย ที่เกาะชะวา

(๔) บ้านนี้อยู่ในแดนอาหรับ ขินเตอรกี

(๕) ควรสังเกตตรงนี้ว่า คำ “รับอาหาร” ซึ่งคนชอบพูดกันชุมเมื่อในปลายรัชกาลที่ ๕ อยู่คราว ๑ ใช้มาแต่ในรัชกาลที่ ๔ แล้ว แต่ที่ใช้เก่าก่อนที่สุดนั้น ได้เคยเห็นในหนังสือเสภาแต่งในรัชกาลที่ ๓

(๖) ฝรั่งเรียกว่า เสดปาซา ที่อนุญาตให้ขุดคลองสุเอศ

(๗) ตรงนี้ใช้ว่า “รับอาหารอีก” เห็นจะเปนเพราะคำที่พูดกับผู้ดีมักพูดว่า รับพระราชทานหรือรับประทาน เมื่อมิใช่ของพระราชทานหรือของประทานตัดตอนนี้ออกเสีย จึงคงแต่คำ “รับ”

ตอนที่ ๓ ว่าด้วยราชทูตออกจากไกโร ไปถึงเกาะมอลตา แลเมืองยิบรอลตา เมืองไวโคแลปอร์ดสมัท

วันอาทิตย์ เดือน ๑๑ แรมค่ำ ๑ บ่าย ๒ โมง ทูตานุทูตพร้อมกันมาลงกำปั่น ขณะนั้นกัปตันโอแกแลแฮนมาส่งราชทูตถึงท่าแล้ว ก็ลาคืนหลังยังเรือกลไฟเอนกวนเตอ กลับมาทางทะเลแดงอ้อมแหลมคุดโฮบไปเมืองอิงแคลนด์ คือเมืองอังกฤษ แต่กำปั่นที่มาคอยรับ ราชทูตมี ๒ ลำ ลำ ๑ เปนกำปั่นรบ ชื่อเดศเปอเรต ลำ ๑ เปนเรือเร็วสำหรับเจ้าแลขุนนางผู้ใหญ่ (๑) ชื่อกาเรดอก ต่อด้วยเหล็กเดินเร็วถึงชั่วโมงละ ๑๒ นอด คือ ๕๔๐ เส้น ห้องที่อยู่ก็งดงาม ราชทูตเลือกเอาเรือกาเรดอก เรือนั้นจักรข้างยาว ๑๒๐ ฟิต คือ ๑๘ วา ศอกคืบ ๖ นิ้ว ปากกว้าง ๒๕ ฟิต คือ ๓ วา ๓ ศอก ๘ นิ้วกับ ๓ กระเบียด กินน้ำลึก ๘ ฟิต คือ ๔ ศอกคืบ ๑๐ นิ้ว กำลัง ๓๕๐ แรงม้า มีขุนนางอยู่ในเรือ ๑๐ นายทั้งกัปตัน คนเลว ๕๕ คน รวม ๖๕ คน ราชทูตแลคนใช้ลงในเรือกาเรดอกพร้อมแล กัปตันเกลเวอริง (๒) ก็ให้ใส่ไฟใช้จักรออกจากท่าเมืองอาเล็กซันเดอ ไปตามทะเลชื่อเมตดิเตอราเนียน


วันพฤหัสบดีเดือน ๑๑ แรม ๑๕ ค่ำ เวลา ๘ ทุ่มครึ่ง ถึงเมืองเกาะมอลตาขึ้นแก่อังกฤษ รุ่งขึ้นเวลาเช้า ๔ โมงอังกฤษเจ้าเมืองชื่อเซอวิลเลียมริด ให้เอาเรือโบต ๓ ลำมารับพวกราชทูตขึ้นไปบนตลิ่งแล้วที่ป้อมหน้าเมืองก็ยิงสลูตรับ ๑๙ นัด พวกราชทูตก็ขึ้นรถไปที่บ้านเจ้าเมือง พูดจาไต่ถามทุกข์สุขกันแล้ว เจ้าเมืองจึงพาให้พวกข้าหลวงเที่ยวดูในเรือนทุก ๆ ห้อง แล้วจัดแจงเชิญราชทูตไปสำนักอยู่ที่โฮเต็ล


วันศุกร เดือน ๑๑ แรม ๖ ค่ำ เวลาเช้า ๕ โมง เจ้าเมืองให้ มาเชิญพวกราชทูตไปดูหัดทหาร ๆ ที่หัดวันนั้น ๒๐๐๐ คน ดูทหารแล้ว เลยไปดูอู่ จนบ่าย ๕ โมงเจ้าเมืองให้มาเชิญพวกราชทูต ๖ คนไปกินโต๊ะกับขุนนางอังกฤษ ๑๕ คน


วันจันทร์ เดือน ๑๑ แรม ๙ ค่ำ เวลาเที่ยง พวกข้าหลวงพร้อมกันไปลงเรือกาเรดอก บนป้อมหน้าเมืองจึงให้ยิงสลูตส่งราชทูต ๑๙ นัดกัปตันเกลเวอริงก็ให้ใส่ไฟใช้จักรไปจากเกาะมอลตา


วันศุกร เดือน ๑๑ แรม ๑๓ ค่ำ เวลา ๔ ทุ่มถึงเมืองยิบรอเตอ รุ่งขึ้นเช้า ๔ โมง กัปตันเกลเวอริงให้ชักธงพระจอมเกล้าขึ้นเสากลาง ธงพระปิ่นเกล้าขึ้นเสาหน้า บนป้อมหน้าเมืองก็ยิงปืนสลูตคำนับ ๒๑ นัดอยู่ประมาณ ๑๕ นาฑี อังกฤษเจ้าเมืองชื่อเซอแยมส์เฟอรคัดซอน ให้รถ ๓ รถมารับพวกราชทูตขึ้นบนบก พวกราชทูตแต่งตัวนุ่งห่มเหมือนขึ้นที่เมืองสิงคโปร์แล้วลงจากกำปั่นไปขึ้นรถ เมื่อราชทูตจะขึ้นรถมีทหารปืนปลายหอกยืนคำนับ ๒ แถว ๆ ละ ๕๐ คน ปี่พาทย์สำหรับทหาร ๔๐ คน ครั้นขึ้นรถพร้อมกันแล้วคนขับรถก็ขับรถไปถึงบ้านเจ้าเมือง เจ้าเมืองจัดแจงต้อนรับตามธรรมเนียม พูดจากันเสร็จแล้วราชทูตก็ลามาโฮเต็ลที่พัก บ่าย ๒ โมง เจ้าเมืองให้เอารถมา ๓ รถเชิญพวกราชทูตไปดูป้อม ป้อมนั้นมั่นคงแน่นหนานักด้วยเปนภูเขา ข้างใน ภูเขาเจาะรวงเปนอุโมงค์รอบไป ที่ในอุโมงค์กว้างประมาณ ๗ ศอก สูงประมาณ ๖ ศอก แล้วเจาะช่องปืนเปนระยะห่างกันประมาณ ๓ วาถึงข้าศึกจะยิงบ้างก็ไม่ถูกทหารบนป้อมด้วยภูเขานั้นสูง ยิงก็จะเตลิด ขึ้นไปข้างบน ฝ่ายข้างบนยิงปักปลายปืนลงมาได้ถนัด ราชทูตดูป้อมแล้วไปดูหัดทหาร ๆ ที่หัดนั้น ๒๐๐๐ คน ที่ยิบรอเตออยู่ข้างแผ่นดินสะเปน แต่เปนเมืองขึ้นแก่อังกฤษ ตั้งอยู่ปากช่องทะเลแขงแรงคับขัน มีทหารอยู่รักษาทุกถนนพร้อมด้วยศัสตราวุธ


วันอาทิตย์ เดือน ๑๒ ขึ้นค่ำ ๑ เวลาเช้า เจ้าเมืองมาเยียนราชทูตที่โฮเต็ล ไต่ถามสุขทุกข์แล้วก็ลากลับไป รุ่งขึ้นเช้า ๔ โมงครึ่ง เจ้าเมืองให้รถ ๕ รถมารับพวกราชทูตไปส่งถึงท่าที่กำปั่นจอด เมื่อไปถึงท่าเมืองมีทหารยืนคำนับคอยส่งอยู่ ๒ แถวประมาณ ๑๐๐ คน มีปี่พาทย์วงหนึ่ง นายทหารใหญ่กับขุนนางลงมาส่งถึงกำปั่นหลายคน ครั้นราชทูตลงในกำปั่นแล้ว ทหารบนป้อมก็ยิงสลูต ๑๙ นัด กัปตันเกลเวอริงจึงให้ถอนสมอออกจากเมืองยิบรอเตอไป รุ่งขึ้นเช้าบังเกิดลมใหญ่พัดแรงจัดไปจนดึก เหลือกำลัง จักรข้อเสือเครื่องไฟหักออกไป กัปตันให้เอาโซ่ขันเข้าไว้มั่นคง แล้วก็ใช้ไฟต่อไป


วันพฤหัสบดี เดือน ๑๒ ขึ้น ๕ ค่ำ เวลาบ่ายโมงเศษถึงเมืองไวโค (๓) อยู่ฟากฝรั่งเศสแต่ขึ้นแก่เมืองโปตุกัล กัปตันเห็นลมพัดกล้า อยู่จึงให้แวะเข้าทอดสมอพักอยู่ที่หน้าเมือง แล้วจะได้เอาถ่านศิลาเติมด้วย เมื่อกำปั่นเข้าพักอยู่เจ้าเมืองแลขุนนางฝ่ายทหารพลเรือนก็ลงมาเยี่ยมราชทูต ถึงในกำปั่น


วันเสาร์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๗ ค่ำ เวลา ๔ โมงเช้าออกจากเมืองไวโค


วันอังคาร เดือน ๑๒ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เวลายามหนึ่งถึงท่าเมืองปอร์ดสมัท เปนท่าขึ้นที่จะไปลอนดอน แต่เรือยังไม่ได้เข้าประทับท่า ด้วยเปนเวลากลางคืน กัปตันให้ทอดสมอลงห่างตลิ่งประมาณ ๑๕ เส้น รุ่งขึ้นเวลาเช้ากัปตันเกลเวอริงให้ชักธงพระจอมเกล้าขึ้นเสากลาง ธงพระปิ่นเกล้าขึ้นเสาหน้า ธงอังกฤษอยู่ข้างท้าย ประมาณครึ่งชั่วโมงแอดมิรัลแม่ทัพเรือ (๔) จึงลงมาเยี่ยมถามข่าวราชทูตที่ในกำปั่น แล้ว แจ้งความว่ากวีนมีรับสั่งมาว่า ถ้าราชทูตไทยมาถึงเมื่อไรก็ให้จัดแจงรับโดยอย่างยิ่ง จะได้เปนพระเกียรติยศแก่พระเจ้ากรุงสยาม ด้วย พระเจ้ากรุงสยามกับพระเจ้ากรุงลอนดอนนี้ มีพระทัยรักกันเหมือน พระญาติพระวงศ์อันสนิท แต่จะรับให้เหมือนไทยนั้นไม่ได้ ด้วยของที่ใช้แลเครื่องแห่แหนไม่เหมือนกัน จะต้องรับตามธรรมเนียมข้างยุโรป แล้วแอดมิรัลเล่าความว่า กวีนรับสั่งให้ประกาศว่า ที่ทางแห่งใด ๆ ซึ่งเปนที่ต้องห้ามแลเปนที่ต้องเสียเงินจึงจะดูได้ ถ้าพวกราชทูตไทย ปราร์ถนาจะดูก็ให้ดูได้โดยสดวก อย่าให้ห้ามปรามขัดขวางเลย แล้ว แอดมิรัลก็ลากลับไป กัปตันเกลเวอริงจึงให้ถอยกำปั่นเข้าไปเทียบท่าทหารบนป้อมก็ยิงปืนใหญ่สลูต ๑๙ นัด เวลาเช้า ๔ โมง แอดมิรัลจึง พาอังกฤษคนหนึ่งลงมาหาราชทูตแล้วบอกว่า เลอรด์กลาเรนดอน ให้ข้าพเจ้านำคนนี้ ชอมิศเตอร์เฟาล์ (๕) มาอยู่ด้วยท่าน จะได้ปรนิบัติรับ กิจการธุระทั้งปวง ด้วยคนนี้รู้ธรรมเนียมข้างอินเดีย ได้เคยไปอยู่ เมืองพม่าถึง ๑๘ ปี บอกเท่านั้นแล้วแอดมิรัลก็ลากลับ สั่งให้ ทอดตะพานปูผ้าแดงมีราวสองข้างลงมาจนถึงกำปั่น เวลาเช้า ๔ โมงเศษ ราชทูตได้เชิญพระราชสาส์นขึ้นจากกำปั่นกาเรดอก แอดมิรัลให้ยิง สลูตคำนับธงพระจอมเกล้า ๒๑ นัด มีทหารถือปืนยืน ๒ แถว ๆ ละ ๖๐ คน ปี่พาทย์วงหนึ่ง ๒๐ คน พวกราชทูตพร้อมกันทั้ง ๖ คน ขึ้นรถไปบ้านแอดมิรัล ๆ จึงเชิญพวกราชทูตกินโต๊ะกับขุนนางอังกฤษ ๑๗ คน แล้วให้พวกราชทูตไปอยู่ที่โฮเต็ลคืนหนึ่ง (๖)


(๑) เรืออย่างนี้เรียว่าเดสแปดชโบต

(๒) นายนาวาตรี เกลเวอริง รับทูตไปคราวนี้เปนเหตให้คุ้นเคยชอบพอกันมากเมื่อไปถึงเมืองอังกฤษ ทูตขอต่อรัฐบาลให้มาเปนผู้อยู่กับทูตอีกคนหนึ่ง

(๓) เมืองไวโค เปนเมืองท่าแห่งหนึ่งในโปรตุกอล อยู่ห่างฝรั่งเศส

(๔) นายพลเรือเอก เซอยอชสีมัว เปนผู้บัญชาการทหารที่เมืองปอรด์สมัท

(๕) มิศเตอร์ เอดวาดเฟาล์คนนี้ เดิมเคยอยู่ทางประเทศพม่า รัฐบาลอังกฤษหาคนสันทัดธรรมเนียมไทยให้มาอยู่กับทูตไม่ได้ จึงเลือกมิศเตอร์เฟาล์ ซึ่งเข้าใจขนบธรรม เนียมพม่า ด้วยเข้าใจว่าธรรมเนียมพม่าก็จะคล้าย ๆ กับไทย ด้วยเปนประเทศใกล้ชิดกัน มิศเตอร์เฟาล์นี้ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ ได้เปนหลวงสยามนุเคราะห์ ตำแหน่งกงสุล สยามณเมืองร่างกุ้ง อยู่มาจนรัชกาลที่ ๕

(๖) ในหนังสือพิมพ์อังกฤษว่า เมื่อแอดมิรัลเลี้ยงกลางวันแล้ว พาทูตไปดูอู่กำปั่นหลวงแล้วจึงไปส่งที่โฮเต็ลชื่อยอช เวลาค่ำวันนั้นจัดให้ทูตไปดูละคอนพูดที่โรงชื่อว่า ทิเอเตอรอแยล เล่นเรื่องยิวเวส

ตอนที่ ๔ ว่าด้วยราชทูตไปจากเมืองปอร์ดสมัท ถึงเมืองลอนดอน แลดูการเล่นต่าง ๆ

วันพฤหัสบดี เดือน ๑๒ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เวลาเช้า ๕ โมง มิศเตอร์เฟาล์จึงเชิญพวกราชทูตขึ้นรถเทียมม้าไปที่รถไฟ แล้วเชิญพระราชสาส์นแลทูตานุทูตกับสิ่งของเครื่องราชบรรณาการทั้งปวงขึ้นรถไฟต่อไป หนทางแต่เมืองปอรด์สมัทเปนท่าขึ้นจนถึงเมืองลอนดอน เปนทาง ๙๔ ไมล์ครึ่ง คือ ๔๒๕๒ เส้น เวลาบ่าย ๒ โมงถึงเมืองลอนดอน (๑) มีทหารขี่ม้าถือดาบมาคอยรับอยู่ ๓๒ คู่ เจ้าพนักงานจัดรถมาคอย รับ ๕ รถ เทียมม้ารถละคู่ แต่เปนรถอย่างดี ๒ รถ รถที่ ๑ ราชทูตอุปทูตนั้น มีสักหลาดคลุมหน้ารถ ปักไหมทองเปนตรา พระจอมเกล้า ที่ประตูรถเขียนเปนธงช้างเผือก มีคนแต่งตัวใส่หมวก ติดสายแถบทองยืนท้ายรถคนหนึ่ง รถที่ ๒ ตรีทูตกับหม่อมราโชไทย มีสักหลาดคลุมหน้ารถปักไหมเงินเปนตราพระจอมเกล้าที่ประตูเขียนธงช้างเผือก มีคนแต่งตัวยืนท้ายรถคนหนึ่งเหมือนกัน (๒) แต่รถนอกนั้นเปนรถธรรมดา พวกราชทูตขึ้นรถพร้อมกันแล้ว คนขับรถก็ขับม้า พาไปส่งถึงโฮเต็ล ๆ ที่ราชทูตอยู่นั้น ชื่อกลาริชโฮเต็ล เปนที่ดีอยู่ในเมืองลอนดอน ไม่มีโฮเต็ลอื่นดีขึ้นไปกว่านี้


รุ่งขึ้นวันศุกร เดือน ๑๒ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เวลาเช้า ๔ โมง เลอรด์แชงบัน เปนที่ ๒ รองเลอรด์กลาเรนดอนมาเยียนราชทูต ไถ่ถามทุกข์สุขแล้วก็กลับไป บ่ายโมงหนึ่งราชทูตทั้ง ๓ หม่อมราโชไทย จมื่นราชามาตย์ นายพิจารณ์สรรพกิจ พร้อมกันขึ้นรถ ๓ รถไปหาเลอรด์กลาเรนดอน ซึ่งเปนผู้สำเร็จราชการข้างฝ่ายต่างประเทศ พูดจา ปราไสกันตามธรรมเนียมแล้ว ราชทูตก็ลามาโฮเต็ล พอบ่าย ๕ โมง เลอรด์กลาเรนดอนมาเยียนราชทูตแล้วบอกว่า ถ้าท่านจะไปเที่ยวดู บ้านเมืองแลขอสิ่งใด ๆ ข้าพเจ้ามิศเตอร์เฟาล์ไว้ว่า ให้พาไปเที่ยวดูตามชอบใจ (๓)


ครั้นเวลาค่ำ มิศเตอร์เฟาล์เชิญให้พวกราชทูตไปดูละคอน (๔) ละคอนเหล่านั้นเล่นเรื่องอังกฤษรบกับพวกแขก แล้วมีผู้หญิงคนหนึ่งออกมาขี่ม้า แต่แรกนั่งขี่ก่อน แล้วก็ขับให้ม้าห้อวิ่งวงไปในสังเวียน พอม้าห้อเต็มฝีเท้าหญิงนั้นจึงลุกยืนขึ้นเมื่อกำลังม้าห้อมิได้หยุด แล้วยืนแต่งตัวเปลี่ยนเสื้อเก่าออกทิ้งเสียใส่เสื้อใหม่ บางทีก็ยืนบนหลังม้าเท้าเดียว แล้วเต้นเปนฝรั่งรำเท้า เปลี่ยนท่าทางยักเยื้องต่าง ๆ บนหลังม้าเมื่อกำลังห้อ บางทียืนเอนตัวลงมาข้างม้าดูเหมือนจะตกแต่ว่าไม่ตก อาน ที่ขี่ทำเหมือนแผ่นกระดาษแล้วจึงหุ้มผ้า ครั้นหญิงนั้นขี่สิ้นกระบวนแล้ว ก็คืนเข้าโรง ชายคนหนึ่งจึงเปลี่ยนม้าตัวอื่นขี่ออกมา ให้ม้ารำเท้าก้าวข้างละ ๒ ทีเหมือนอย่างท่าคนที่รำเท้า ถ้าคนขี่เงยหน้า ม้าก็เงยหน้าขึ้นด้วย คนก้มลงม้าก็ก้มตาม คนเอนตัวไปซ้ายแลขวาม้า ก็เอนตัวไปตาม แต่ทำท่าทางยักย้ายหลายอย่างแล้วจึงลงจากหลังม้าม้าก็วิ่งกลับไปจะเข้าโรง เมื่อม้าจะเข้าโรงมีชาย ๒ คนยกไม้คนละข้างสูงพ้นดินประมาณ ๒ ศอกคืบขวางหน้าม้าไว้ ม้าก็กระโดดข้ามไม้เข้าในโรง แล้วมีหญิงคนหนึ่งขี่ม้าตัวอื่นออกมาทำท่าทางนั่งบ้างยืนบ้าง ผิดกันกับหญิงคนก่อนหลายอย่าง แล้วก็กลับเข้าโรง ยังมีชายอีก ๒ คนขี่ม้าคู่เคียงกันออกมา แล้วขับม้าให้ห้อขนานหน้าเสมอกันไปแล้วเอามือเกี่ยวกันลุกขึ้นยืนรำเท้าบนหลังม้า บางทีคนหนึ่งขี่ทั้ง ๒ ตัว เท้าซ้ายยืนบนหลังม้าตัวนี้ เท้าขวายืนบนหลังม้าตัวโน้น อีกคนหนึ่งขึ้นไปหกคเมนบนศีร์ษะ บางทีคนหนึ่งยืนเหยียบเข่าคนหนึ่งไว้แล้วทำเอนตัวออกไปข้างม้า บางทีกระโดดเปลี่ยนท่าไปมาต่าง ๆ แต่ม้า นั้นห้ออยู่เสมอมิได้หยุดจนสิ้นกระบวนแล้วก็กลับเข้าโรง ยังมีชาย คนหนึ่งขี่ม้าหลังเปล่าออกมาขับม้าให้ห้อไป แล้วจึงลุกขึ้นยืนบ้าง นั่ง ลงบ้าง หันหลังขี่บ้าง บางทีเท้าซ้ายเหยียบศีร์ษะม้า เท้าขวาเหยียบไหล่ บางทีห้อไปแล้วมีคนถือห่วงขวางหน้าอยู่ คนที่ขี่ม้าก็โดดลอดห่วง แล้ว กลับไปยืนบนหลังม้าได้ดังเก่า บางทีก็ทำพลัดตก แต่ลงมายืนอยู่ หาได้เจ็บช้ำไม่ แล้วกระโดดขึ้นขี่อีกในขณะม้ายังกำลังห้อมิได้หยุด บางทีเอาผ้าแพรให้คนยืนถืออยู่ ๒ ข้างเปน ๓ ระยะ เมื่อม้าห้อไปถึงแพรที่ขวางอยู่คนนั้นก็กระโดดข้ามได้ทุกระยะ ทำต่าง ๆ เปนน่าอัศจรรย์นัก แล้วก็คืนเข้าโรง ยังมีชายอิกคนหนึ่ง ชื่อมิศเตอกุ๊ก เปนคนชำนาญในการหัดม้า แต่อายุยังไม่ถึง ๓๐ ปี มือถือแส้อันหนึ่ง เดินนำหน้า ม้าเดินตามหลังออกมา แล้วว่าให้ม้าเดิน ๒ เท้า ม้าก็เดิน ตามคำ ว่าให้ม้านั่งลง ม้าก็นั่งตามสั่ง ว่าให้ม้านอน ม้าก็ ลงนอนตะแคงนิ่งอยู่ ชายตลกคนหนึ่งวิ่งเข้าไปนอนในหว่างอกม้า แล้วยกเท้าม้าให้กอดตัวไว้ ม้าก็ทำตามทุกอย่าง คนตลกนั้นจึงลุกขึ้น แต่ม้ายังนอนอยู่ มิสเตอกุ๊กจึงสั่งม้าว่า ลุกขึ้นเถิด ม้าก็ลุกยืนขึ้น ชายตลกจึงพูดกับมิศเตอกุ๊กว่า ถ้าท่านดีแล้วจงว่าม้ากลับเข้าโรง ให้ได้เถิด เราจะห้ามไว้ให้หยุด มิศเตอกุ๊กจึงว่าดีแล้ว ๆ จึงร้องสั่ง ม้าว่ากลับไปโรงเถิด ม้าก็วิ่งไปตามสั่ง เมื่อม้าวิ่งไปถึงประตูโรง ชายตลกจึงร้องว่าอย่าเข้าไป ม้าก็หยุดชงักอยู่ มิศเตอกุ๊กจึงเรียก ม้าให้กลับมาลูบหน้าลูบหลังแล้วว่ากลับไปโรงเถิด ม้าก็วิ่งกลับไปอิก คนตลกก็ห้ามไว้ถึง ๓ ครั้ง แล้วจึงว่ากับมิศเตอกุ๊กว่า ท่านให้ไป เถิดคราวนี้เราไม่ห้ามแล้ว มิศเตอกุ๊กก็สั่งให้ม้ากลับไป ม้าก็วิ่งเข้าโรง พวกคนชายหญิงไปดูอยู่ที่นั้นประมาณ ๕๐๐ เศษ ก็ชอบใจตบมือขึ้น พร้อมกัน (๕)


ที่ในเมืองอิงแคลนด์มีละคอนอยู่หลายแห่ง ล้วนวิเศษต่าง ๆ กันบางเรื่องมีหญิงรูปงามแต่งเปนเทวดาฝรั่งเหาะเลื่อนลอยมา แต่ไม่เห็น สิ่งใดเปนสายใยยนต์ที่คนจะอาศรัยได้ ดูเลื่อนลอยมาแต่กาย บางที ก็ออกมาจากภูเขา บางทีผุดขึ้นมาจากดิน บรรดาคนที่แต่งเปนเทวดาล้วนมีรัศมีออกจากกายสิ้นทั้งนั้น พวกราชทูตดูอยู่ประมาณ ๒ ยาม ละคอนเลิกก็พากันกลับมาที่สำนัก


รุ่งขึ้น ( ณวันเสาร์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ) มิศเตอร์เฟาล์จัดรถ ๕ รถให้ราชทูตทั้งนายแลไพร่รวม ๒๗ คน ไปเที่ยวดูสัตว์ที่ขังเลี้ยงไว้ในสวน คือสัตว์ ๔ เท้า สัตว์ ๒ เท้า งูแลปลาหอยต่าง ๆ หลายพันอย่าง บางอย่างก็เหมือนสัตว์ที่มีอยู่ในประเทศไทย บางอย่างก็ ผิดกันไม่เคยได้พบเห็น เปนต้นว่าราชสีห์แลสัตว์อื่นใหญ่บ้างเล็กบ้าง ถ้าสัตว์มีกำลังดุร้ายก็ขังไว้ในคอกทำด้วยเหล็ก เปนสัตว์เชื่องก็ขังไว้ไนคอกทำด้วยไม้ เปรจรเข้แลสัตว์น้ำอย่างอื่นที่ใหญ่ก็ใส่ไว้ในสระเปนปลาเปนหอยก็ใส่ไว้ในอ่างแก้ว เปนงูหรือสัตว์เล็ก ๆ ที่คล้ายกับ กิ้งก่าก็ใส่ไว้ในตู้กระจก เปนนกก็ใส่กรง ถ้านกใหญ่เหมือนนกตะกรุม นกเรียนแลนกอื่น ๆ อิก ที่ใหญ่ก็ตัดขนปีกเสียไม่ให้บินได้ แล้ว ปล่อยเที่ยวเดินอยู่ในคอก เปนวานรเปนค่างบ่างชนี ก็ใส่ไว้ในกรง เหล็ก ราชทูตเที่ยวดูจนอยู่จนค่ำ แล้วกลับมาโฮเต็ล (๖)


วันอังคาร เดือน ๑๒ แรม ๒ ค่ำ พวกราชทูตไปดูเรือกลไฟต่อด้วยเหล็กพึ่งจะแล้ว เรือลำนี้ใหญ่โตนัก (๗) ยาว ๖๙๑ ฟิต คือ ๕ เส้น ๖ วาคืบ ๓ นิ้วกับ ๓ กระเบียด กว้าง ๑๑๘ ฟิต คือ ๑๘ วาคืบกับ ๒ กระเบียด สูง ๕๔ ฟิต คือ ๘ วาศอก ๔ นิ้ว กับ ๒ กระเบียด มีท่อ ( ปล่อง ) ไฟ ๕ ท่อ เสากระโดง ๖ เสามีทั้งจักรท้ายจักรข้าง ในลำนั้นกั้นเปนห้องเล็กห้องใหญ่มีอุโมงค์เดินไปแต่ท้ายตลอดศีร์ษะ ดาดฟ้า ๔ ชั้นทำด้วยเหล็ก แล้วเอา ไม้ทาบข้างบน เจ้าของเรือบอกว่าจะบรรทุกคนได้สัก ๑๐,๐๐๐ พร้อมทั้งสเบียงอาหารด้วย แต่กำปั่นลำนี้มิใช่กำปั่นรบ ต่อไว้รับจ้างคนที่ จะไปธุระแลเที่ยวเล่นต่างบ้านต่างเมือง เปนกำปั่นกุมปนี ราชทูตดูกำปั่นแล้ว มิศเตอร์เฟาล์ก็นำไปดูอุโมงค์ใต้น้ำ(เทมส์)ในอุโมงค์นั้นยาว ๒,๐๐๐ ฟิต คือ ๑๕ เส้น ๗ วาศอกกับ ๔ นิ้ว กว้าง ๔๐ ฟิต คือ ๖ วากับ ๑๔ นิ้ว ลึกแต่ปากอุโมงค์จนถึงพื้นล่าง ๗๖ ฟิต คือ ๑๑ วา ๒ ศอกกับ ๕ นิ้ว ทำเปน ๒ ทาง ๆ หนึ่งเปนทางรถ อิกทางหนึ่งเปนทางคนเดิน ตามริมทางขายของเล่น ของกินต่าง ๆ ดูสนุก สว่างแจ้งด้วยแสงไฟก๊าด คนเดินไปมามิได้ขาด อนึ่งเรือกลไฟที่ขึ้นล่องอยู่ในแม่น้ำ ถ้ามาถึงตรงนั้นคนที่อยู่ในอุโมงค์ก็รู้ ด้วยจักรพัดน้ำดังได้ยินถนัด พวกราชทูตเที่ยวซื้อของ เล่นอยู่ในอุโมงค์ จนเย็นแล้วกลับมาที่สำนัก


รุ่งขึ้น (วันพุธเดือน ๑๒ แรม ๓ ค่ำ) เวลายามหนึ่ง เลอรด์ มายอร์ ผู้สำเร็จราชการฝ่ายกรมเมืองเชิญราชทูตทั้ง ๓ ไปกินโต๊ะ มีขุนนางแลเศรษฐีกินโต๊ะด้วยกันประมาณ ๓๐๐ คน


วันพฤหัสบดี เดือน ๑๒ แรม ๔ ค่ำ มิศเตอร์เฟาล์มาแจ้งกับราชทูตว่า เลอรด์กลาเรนดอนให้หนังสือกำหนดมาว่า ราชทูตจะได้ เฝ้ากวีนณวันพุธ เดือน ๑๒ แรม ๑๐ ค่ำเวลาบ่ายโมงหนึ่ง ที่วังชื่อ วินด์เซอกาศตล์


วันจันทร์ เดือน ๑๒ แรม ๘ ค่ำเวลาเช้า เจ้าพนักงานชื่อมิศเตอร์ นอมันแมกโดแนลด์ มาทำบาญชีแล้วรับเครื่องราชบรรณาการไปจากโฮเต็ล


รุ่งขึ้นราชทูต อุปทูต หม่อมราโชทัย ไปหาเลอรด์กลาเรน ดอนแลเลอรด์แชลบัน ไถ่ถามด้วยการที่จะเฝ้ากวีนนั้นจะทำประการใด เลอรด์กลาเรนดอนบอกว่า กวีนรับสั่งว่า แต่ก่อนราชทูตไทยยังไม่เคย มีมาถึงเมืองอังกฤษเลย ด้วยเปนเมืองไกลกัน ครั้งนี้มีราชทูตมาถึงกวีนยินดีนัก อยากจะได้เห็นธรรมเนียมไทยที่เฝ้าแลคำนับในพระเจ้าแผ่นดินนั้นทำประการใด ขอให้พวกราชทูตเฝ้าแลคำนับตามธรรมเนียมไทยเถิด พูดจาไถ่ถามได้ความเสร็จแล้วราชทูตก็ลากลับมาโฮเต็ล


ครั้นเวลาค่ำเลอรด์กลาเรนดอนมีหนังสือมาแจ้งแก่ราชทูตว่า เมื่อเวลาบ่ายพระญาติของกวีนคนหนึ่ง เปนเจ้าหญิงชื่อดัชเชสดินิมัส(๘)บังเกิดโรคเปนปัจจุบันขึ้น ถึงแก่กรรมในทันใด เดี๋ยวนี้กวีนมีความเศร้าโศกนัก การที่จะเสด็จออกรับราชทูตในวันพุธยังไม่ได้ ขอเลื่อน ไปอิกสัก ๘ วัน


วันศุกร เดือน ๑๒ แรม ๑๒ ค่ำ มิศเตอร์เฟาล์เชิญราชทูตไปที่โกโลเซียม (๙) เปนที่สำแดงให้เห็นว่า เย่าเรือนแม่น้ำแลถนนทั่วทั้ง เมืองลอนดอนนั้นเปนอย่างไร เมื่อพวกราชทูตไปถึงแล้ว เจ้าของที่จึง เชิญให้เข้านั่งในที่แห่งหนึ่ง นั่งได้ประมาณ ๑๖ คน แล้วหันจักรที่ นั้นก็ลอยขึ้นไปสูงประมาณ ๑๐ วา ครั้นถึงชั้นบนจึงให้ออกเดินดูตาม เฉลียงรอบโดยกลม แลเห็นเปนภูมิฐานเมืองลอนดอนกว้างใหญ่สุด สายตา มีถนนแลตึกบ้านร้านตลาดลำแม่น้ำเรือขึ้นล่อง ในเวลา กลางคืนจุดโคมสว่างไปทั้งทางบกทางเรือ ฝ่ายอากาศเบื้องบนก็มีดวง จันทร์รัศมีสว่างกระจ่างแจ้งเหมือนจริง ถ้าไม่มีคนบอกคนที่ดูก็จะสำคัญ ว่าจริง ด้วยแลดูเหมือนฟ้าแลดินที่ได้เห็นอยู่กับจักษุของตัว ไม่มี สำคัญสิ่งใดจะให้รู้ว่า เปนของทำด้วยฝีมือแลปัญญามนุษย์ ครั้นดู ทั่วแล้วก็เข้าในที่พร้อมกัน ใช้จักรกลับคืนลงมาดังเก่า มิศเตอร์เฟาล์จึงพาไปดูหนัง หนังนั้นวิเศษนัก ทำเปนบ้านเมืองข้างอินเดีย ดูบ้านเรือนป้อม ดูผู้คนถนนแม่น้ำภูเขาต้นไม้ใหญ่โต เหมือนจริง เมื่อเปลี่ยนตัวหนังก็ไม่ทันเห็นว่าเปลี่ยนกันอย่างไร ดู เปนน่าอัศจรรย์นัก ราชทูตอยู่จน ๔ ทุ่มเศษ หนังเลิกก็พากันกลับมา


ครั้นรุ่ง ( วันเสาร์เดือน ๑๒ แรม ๑๓ ค่ำ) เช้า ๓ โมง มิศเตอร์เฟาล์พาพวกราชทูตไปดูวังแก้ว ชื่อกฤษเตลแปเลศ ไปจากโฮเต็ลด้วยรถเทียมม้า ทาง ๒ ชั่วโมงเศษ ที่นั้นทำเปนเรือนแก้ว ๔ ชั้น ฝาแลหลังคาล้วนแล้วไปด้วยแก้ว แต่เสากับเครื่องบนทำด้วยเหล็ก สูง ๖๖ ฟิต คือ ๑๐ วากับ ๑๓ นิ้วกึ่ง กว้าง ๔๕๖ ฟิตคือ ๓ เส้น ๑๔ วาศอกกับ ๘ นิ้วกึ่ง ยาว ๑๘๔๘ ฟิต คือ ๑๕ เส้นกับ ๗ ศอก ๑๐ นิ้ว ข้างในทำเปนสวนปลูกต้นไม้ต่าง ๆ แล้วทำเปน รูปคนรูปสัตว์ไว้เปนอันมาก แลมีเครื่องกลไฟต่าง ๆ ไว้ดูเปนตัวอย่าง ราชทูตเที่ยวดูอยู่จนเวลาเย็น มิศเตอร์เฟาล์จึงให้จัดแจงอาหารเลี้ยงดู สำเร็จแล้วก็กลับมา


วันอังคาร เดือนอ้ายขึ้นค่ำ ๑ มิศเตอร์เฟาล์พาราชทูตไปที่โป ลิติกนิก ที่นั้นมีรูปกวีนแลปรินส์อาลเบิตกับลูกเธอ ทั้งชายทั้งหญิง ๙ องค์ มีรูปคนชาติอื่นก็หลายชาติ มีคนดำน้ำอด เดินในน้ำ หายใจในน้ำก็ได้ แต่ความข้อนี้ท่านผู้ฟังคงสงสัยว่าเปนความเท็จหาจริงไม่ ต่อเมื่อใดข้าพเจ้าผู้จดหมายเรื่องราวนี้ได้อธิบายให้ท่านแล้วจึงจะเห็นจริง ครั้นจะกล่าวไว้ในหนังสือนี้ก็ยืดยาวนัก ราชทูตของปลาด ทั่วแล้วก็กลับมาโฮเต็ล


(๑) ไปรถไฟพิเศษ รถสายตวันตกเฉียงใต้ ลงที่สถานีวอเตอลูเมืองลอนดอน

(๒) ทหารม้าฮุลซาที่ ๑๑ แห่ รถนั้นรัฐบาลให้ห้างแอลเดเบิตทำขึ้นใหม่

(๓) ในหนังสือพิมพ์อังกฤษว่า ในวันนี้ลอร์ดแมเมืองลอนดอนมาหาราชทูต ขอ เชิญไปในการเลี้ยงที่แมนซันเฮาส์ ในการถวายพระแสงดาบแก่เจ้าดุ๊กออฟเคมบริดช์

(๔) ละคอนโรงนี้ชื่อ แอสตลี แอมฟีทีเอเตอ จัดให้ทูตนั่ดูในบอกส์หลวง

(๕) ผู้อ่านในสมัยนี้จะเข้าใจได้ว่าลักษณเล่นละคอนที่พรรณานี้คือเซอคัสละคอนม้า นั้นเอง บางคนจะเห็นว่าตื่น พรรณาของจืด ๆ แต่ที่จริงสมัยนั้นเซอคัสยังไม่เคยมีมา ทางประเทศนี้ เปนแรกที่ไทยจะได้เห็น ควรชมว่าพรรณาดี อ่านเข้าใจซึมซาบเหมือน กับตาเห็น

(๖) ในหนังสือพิมพ์อังกฤษว่า วันนี้เวลาเช้าราชทูตไปห้างคาราด ช่างเครื่องเพ็ชร์พลอย บ่ายไปดูสวนเลี้ยงสัตว์ ค่ำไปดูละคอนโรงชื่อว่า ปรินซิสทิเอเตอ (ที่เจ้าพระยามหินทร ฯ เอาชื่อมาเรียกละคอนของท่าน) วันจันทร์ เดือน ๑๒ แรมค่ำ ๑ เช้าไปห้างเฮนค็อกช่างเครื่องเพ็ชร์พลอย ค่ำไปดูละคอนโรงชื่อโอลิมปิค

(๗) คือเรือลำชื่อ เครตอีสเติน

(๘) ดัชเชส เดอ นิมัว

(๙) วันนี้มีในหนังสือพิมพ์อังกฤษว่า ตอนเช้าไปห้างแมบปินบราเทอ ช่างทำเครองเงิน

ตอนที่ ๕ ว่าด้วยราชทูตนำพระราชสาส์นขึ้นไปเฝ้ากวีน

วันพฤหัสบดี เดือนอ้ายขึ้น ๓ ค่ำเวลาเช้า ๕ โมงเศษ มิศเตอร์เฟาล์ กัปตันเกลเวอริง ๒ นายมาเชิญราชทูตทั้ง ๓ หม่อม ราโชไทย จมื่นราชามาตย์ นายพิจารณ์สรรพกิจ ขุนจรเจนทเล ขุนปรีชาชาญสมุท ๘ คนพร้อมกัน ราชทูตก็เชิญพระราชสาส์น ขึ้นรถเทียมม้า ๓ รถไปจากโฮเต็ลทางไมล์หนึ่ง คือ ๔๕ เส้นถึงที่ รถไฟ เยนเนอรัลกัศต์เปนนายทหารใหญ่รักษาพระองค์ (๑) กับขุนนาง ฝ่ายทหารอิก ๒ คนมาคอยรับอยู่ที่นั้นด้วย จึงเชิญพวกราชทูตเข้าหยุดพักในตึก เปนที่ประทับของกวีนสักครู่หนึ่ง (๒) แล้วเชิญให้ขึ้นรถไฟ ไปทาง ๒๓ ไมล์ คือ ๑,๐๓๕ เส้นถึงที่พักใกล้วังวินด์เซอ ราชทูตลงจากรถไฟหยุดพักอยู่ที่นั้นครู่หนึ่ง แล้วเชิญพระราชสาส์นขึ้นรถ เทียมม้า มีทหารขัดกระบี่ขี่ม้านำหน้าคู่ ๑ คนขี่ม้าชักรถ ๆ ละ ๒ คน เทียมม้า ๔ ม้าทุกรถ ไปประมาณ ๕ นาฑีถึงวังวินด์เซอเปนวังสำหรับกวีนอยู่ในฤดูหนาว


เมื่อราชทูตเข้าไปถึงในวัง มีทหารปืนปลายหอกยืนคำนับอยู่ ๒ แถว ประมาณ ๓๐๐ คน พวกปี่พาทย์ ๒๒ คน (๓) แล้วเยนเนอรัลกัศต์เชิญพวกราชทูตลงจากรถขึ้นไปพักอยู่ในห้องแห่งหนึ่งบน ตึกที่กวีนเสด็จอยู่ ตึกนั้นใหญ่โตกว้างขวาง มีห้องหลายสิบห้อง กั้นลดเลี้ยวไปมาเดินถึงกันได้ตลอด เยนเนอรัลกัศต์ชวนราชทูตพูดจา อยู่จนบ่ายโมงหนึ่ง (๔) ได้ยินเสียงปี่พาทย์ประโคมขึ้น แล้วมีขุนนาง มาบอกว่า กวีนเสด็จออกแล้ว ให้เชิญราชทูตเข้าเฝ้าเถิด


เยนเนอรัลกัศต์ก็กำกับนำทูตานุทูตไปสู่ห้องที่เฝ้า เมื่อถึงประตู มีทหารแต่งตัวใส่เสื้อปักทอง ถือขวานด้ามยาวปลายเปกฤช ยืนรักษา อยู่ทั้งสองข้างประตู ราชทูตจึงเชิญพระราชสาส์นแลพระบวรราช สาส์นรวมลงพานเดียวกัน แล้วเชิญเดินเข้าไปในที่เฝ้า เมื่อถึงประตู ชั้นใน อุปทูต ตรีทูต หม่อมราโชทัย จมื่นราชมาตย์ นายพิจารณ์ สรรพกิจ ขุนจรเจนทเล ขุนปรีชาชาญสมุท ๗ คนพร้อมกันถวาย บังคม แล้วคลานตามเข้าไปจนถึงที่เฝ้า ราชทูตจึงเชิญพานพระราช สาส์นขึ้นวางบนโต๊ะที่ตั้งอยู่ตรงหน้าพระที่นั่งโธรน ห่างประมาณ ๘ ศอกแล้วคลานถอยออกมาถึงที่เฝ้าไกลกวีนประมาณ ๑๐ ศอก พร้อมกันถวายบังคม แล้วราชทูตก็อ่านคำทูลเบิกตามภาษาไทย ใจความว่า คือ คนนั้นเปนที่นั้น ๆ ได้รับพระราชโองการแลพระบวรราชโองการเชิญ พระราชสาส์นนำเครื่องมงคลราชบรรณาการ แต่พระเจ้ากรุงสยาม ทั้งสองพระองค์ ออกมาจำเริญทางพระราชไมตรีในพระเจ้ากรุงลอนดอน ครั้นจบ มิศเตอร์เฟาล์จึงอ่านคำที่แปลออกจากไทยเปนภาษาอังกฤษถวายจนจบสิ้นข้อความ แล้วพวกราชทูตพร้อมกันถวายบังคมอีกครั้งหนึ่งราชทูตจึงคลานไปเชิญพานพระราชสาส์นซึ่งตั้งไว้บนโต๊ะ เดินเข้าไป ถึงหน้าพระที่นั่งโธรน แล้วคุกเข่าชูพานพระราชสาส์นขึ้นถวาย กวีน ก็รับเอาด้วยพระหัตถ์วางไว้ริมพระองค์ ราชทูตก็คลานถอยออกมา พร้อมกันถวายบังคมอีกครั้งหนึ่ง


กวีนจึงทรงอ่านคำตอบ ใจความว่าเรามีความยินดีในการที่รับราชทูตซึ่งมาแต่พระเจ้ากรุงสยามทั้งสองพระองค์ เราหมายใจว่าพระองค์ จะเป็นที่ยั่งยืน ด้วยเราเห็นราชทูตนั้นเหมือนเปนของสำคัญแห่งไมตรี ของพระเจ้ากรุงสยามทั้งสองพระองค์ แลหมายว่าพระองค์ท่านทั้งสอง จะเปนญาติสัมพันธมิตรรักษาอาณาจักรแลราษฏรให้ดียิ่งขึ้นไป จึงได้เปลี่ยนทำหนังสือสัญญาแก่เรา เราก็เอาใจใส่มาก ด้วยหมายว่า หนังสือสัญญาที่ทำใหม่นี้จะให้เปนที่มั่นคงในทางพระราชไมตรี แลมี คุณยิ่งขึ้นไปทั้งสองพระนคร แลลูกค้าวานิชได้ค้าขายต่อกันทั้งสองฝ่าย อนึ่งเรายินดีนัก ด้วยรู้ว่าพวกขุนนางที่ให้ไปรับท่านทั้งปวง ได้เอาใจ ใส่ในพวกราชทูตให้มีความสุขจนตลอดถึงเมืองอังกฤษ โดยความ ชอบธรรม


ครั้นทรงอ่านจบแล้วส่งให้เลอรด์กลาเรนดอนเอามาประทานราชทูตแล้วรับสั่งให้บอกว่า กวีนมีพระทัยยินดีที่ได้รับเครื่องราชบรรณาการ แลพระราชสาส์นของพระเจ้ากรุงสยามทั้งสองพระองค์นั้น ขอบพระทัย นัก ราชทูตยังไม่ทันทูลตอบประการใด เลอรด์กลาเรนดอนจึงบอกว่า เวลานี้เสด็จออกรับแขกเมืองเปนการยศ ซึ่งพูดจาพิดทูลสิ่งใดของด ไว้ก่อน ยังจะโปรดให้เฝ้าอิก จึงค่อยพิดทูลต่อภายหลัง วันนี้เชิญ กลับไปก่อนเถิด พวกราชทูตพร้อมกันถวายบังคมแล้วคลานถอยหลัง ออกมาจากที่เฝ้า


แลเมื่อกวีนเสด็จออกรับราชทูตนั้น ทรงเครื่องประดับแล้วไป ด้วยเพ็ชร แต่เพ็ชรใหญ่ที่เลื่องฦๅ (๕) ทำเปนเครื่องห้อยพระสอ ริมพระกรรณซ้ายขวาเสียบดอกไม้เพ็ชร มีระย้าห้อยลงมาถึงพระอังษา ทรงฉลองพระองค์ดำ ด้วยเปนการเศร้าโศกถึงพระญาติที่ถึงแก่กรรม เมื่อเสด็จออกมีขุนนางผู้ใหญ่แลหญิงที่เปนผู้ดียืนเฝ้าอยู่ประมาณ ๓๐ คน แต่ปรินส์อาลเบิต ซึ่งเปนเจ้าราชสามี แต่งพระองค์ทรงเครื่องพร้อม อย่างนายทหาร ทรงกางเกงแดง ทรงเสื้อสักหลาดดำ (๖) ขัด พระแสงกระบี่ยืนอยู่ริมพระที่นั่งโธรนข้างซ้าย เครื่องราชบรรณาการนั้น เจ้าพนักงานจัดแจงมาตั้งเรียงถวายพร้อมทุกสิ่ง


เมื่อพวกราชทูตออกจากที่เฝ้าแล้ว เจ้าพนักงานพาไปให้กินโต๊ะที่ห้องสำหรับเลี้ยงขุนนาง</sup>(๗)</sup> โต๊ะที่เลี้ยงประมาณยาว ๗ วากว้าง ๔ ศอกเครื่องที่ใช้บนโต๊ะเปนเครื่องทองบ้างเงินบ้าง ขุนนางอังกฤษที่กินโต๊ะด้วยราชทูต ๒๗ คน ครั้นกินโต๊ะแล้วเจ้าพนักงานจึงพาราชทูตไปดู เครื่องอาวุธใหญ่น้อยต่าง ๆ ที่จัดแจงเรียบเรียงไว้ตามผนัง แล้ว กลับมาพักอยู่ในห้องที่พักเดิม เยนเนอรัลกัศต์จึงให้พวกมโหรีมาทำให้ ราชทูตฟังอยู่ประมาณ ๑๐ นาที ถึงเวลาบ่าย ๓ โมง ราชทูตก็พากันขึ้นรถไฟกลับมากลาริชโฮเต็ล


วันศุกร เดือนอ้าย ขึ้น ๔ ค่ำ ราชทูตไปหาเลอรด์กลาเรนดอน ถามไถ่การซึ่งจะไปเยี่ยมเยียนใครบ้าง เลอรด์กลาเรนดอนว่าควรจะไป หาแต่เจ้าน้าของกวีน ซึ่งเปนมารดาดุกแกมบริช กับตัวดุกแกมบริช ขุนนางนอกจากนั้นถ้ามาเยียนท่านก่อน ท่านจึงไปเยียนตอบบ้างจึงจะควรด้วย (เอกอรรค) ราชทูตเปนใหญ่ ได้เชิญพระราชสาส์นแลถือรับสั่ง มาด้วย


วันเสาร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๕ ค่ำ พวกราชทูตพากันไปหาดัชเชส แกมบริช น้าของกวีน กับดุกแกมบริช พูดจาไถ่ถามกันตามธรรมเนียม แล้วก็ลากลับมา


(ความแทรก) เมื่อตรวจสอบระยะทางราชทูตที่หม่อมราโชไทย แต่งกับหนังสือพิมพ์อังกฤษซึ่งออกในครั้งนั้น ในตอนทูตไทยเข้าเฝ้ากวีน มีเรื่องแปลกปรากฎในหนังสือพิมพ์อังกฤษ ๒ ข้อ เห็นควรจะคัดเนื้อความ มาลงไว้ในหนังสือนี้ ไม่เห็นที่จะเอาเข้าตรงไหนเหมาะกว่า ข้าพเจ้าจึง แทรกลงตรงนี้ ความ ๒ ข้อนั้น คือว่าด้วยกิริยาที่หมอบคลานเข้าเฝ้า อย่าง ๑ กับเรื่องเลี้ยงราชทูตในห้องวอเตอรลู แคลเลอรีอิกเรื่อง ๑

เรื่องกิริยาที่ไทยหมอบคลานเข้าเฝ้ากวีน หนังสือพิมพ์อังกฤษ พากันสรรเสริญทุกฉบับ ว่าราชทูตไทยมีอัธยาศรัยซื่อตรง เคยเคารพนบนอบเจ้านายของตนอย่างไร เมื่อมาเฝ้ากวีนก็เคารพนบนอบต่อกวีนเหมือนกับเจ้านายของตน ไม่เย่อหยิ่งเหมือนกับพวกแขกอินเดียที่ไป เมืองอังกฤษ เวลาเข้าเฝ้าแหน พวกนั้นกิริยากระด้างกระเดื่อง จะ เอาอย่างฝรั่งก็ใช่ จะเอาอย่างเพศภาษาของตนก็ไม่เอา ดูไม่เปนการ เคารพนบนอบโดยเต็มใจ

เรื่องเลี้ยงทูตที่ห้องวอเตอร์ลู แคลเลอรี เมื่อเฝ้าแล้วนั้น มี หนังสือพิมพ์ในเมืองไอร์แลนด์ลงว่า กวีนเสด็จมาประทับเสวยด้วย ราชทูตไทยเอาบุหรี่ออกสูบต่อหน้าพระที่นั่ง รัฐบาลอังกฤษให้ลงพิมพ์ แก้โดยทันทีว่า ที่หนังสือพิมพ์ลงนั้นหาจริงไม่ วันนั้นกวีนไม่ได้ ประทับเสวยที่นั้น ราชทูตไทยก็ไม่ได้เอาบุหรี่ออกสูบอย่างว่า


(๑) นายพลตรี เซอ เอดวาดคัสต์ เจ้าพนักงานการพระราชพิธี.

(๒) คือ ห้องที่ประทับที่สถานีรถไฟ.

(๓) ทหารราบรักษาพระองค์กรมสก๊อตฟสเลีย เปนกองเกียรติยศ.

(๔) ทูตพักคอยที่ในห้อง เตเปสตรี

(๕) เพ็ชรเม็ดนี้ชื่อว่า “ โกอินัวร์”

(๖) เข้าใจว่าแต่งพระองค์เครื่องยศนายพลอังกฤษ เสื้อแดงกางเกงดำ เจ้านายที่ออกแขกเมืองวันนั้น นอกจากปรินส์อาลเบิต ยังมีปรินส์เซสรอแยล พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ กับปรินส์เฟรดเดอริกวิลเลียม กรุงปรุสเซีย ที่ภายหลังเปน เอมเปอเรอเฟรเดอริก เวลานั้นจะไปทำงานวิวาหะกับราชธิดาพระองค์ใหญ่

(๗) ห้องที่เลี้ยง เรียก “ วอเตอลู แคลเลอรี “

ตอนที่ ๖ ว่าด้วยพระนางเจ้าเชิญราชทูตไปเลี้ยงโต๊ะ

วันจันทร์เดือนอ้าย ขึ้น ๗ ค่ำ เลอรด์ชันบันให้หนังสือมาว่าสมเด็จพระนางเจ้ารับสั่งว่า จะเลี้ยงโต๊ะแล้วจะเสวยร่วมโต๊ะเดียวกันด้วย ให้ เชิญราชทูตทั้ง ๓ หม่อมราโชทัย ไปกินโต๊ะที่วังวินด์เซอณวันพุธ เวลา ๒ ทุ่ม


ครั้นถึงวันพุธ เดือนอ้ายขึ้น ๙ ค่ำ บ่าย ๕ โมงเจ้าพนักงานจัดรถเทียมม้า ๓ รถมารับราชทูตไปถึงที่รถไฟ ก็ขึ้นรถไฟไปตามทาง ๓๒ ไมล์ คือ ๑๐๓๕ เส้นถึงที่พัก เจ้าพนักงานจึงเชิญขึ้นรถม้าต่อไป เวลาย่ำค่ำ กับ ๓๖ นาฑีถึงวังวินด์เซอมิศเตอร์เฟาล์จึงเชิญราชทูตไปอยู่ห้อง ที่พัก ครั้นเวลาเกือบ ๒ ทุ่มจึงนำราชทูตทั้ง ๓ หม่อมราโชทัย ขุนจรเจนทเลล่าม ไปคอยอยู่ในห้องแห่งหนึ่ง เปนทางที่กวีนจะเสด็จ มิศเตอร์เฟาล์จึงบอกราชทูตว่า ถ้ากวีนเสด็จมาถึงที่แล้วก็จะก้ม พระเศียรลง ให้พวกราชทูตก้มลงทุก ๆ คน ถึงเวลา ๒ ทุ่ม กวีนกับ ปรินสอาลเบิต เจ้าหญิงลูกเธอองค์ใหญ่ชื่อปรินสเสศรอยัล เจ้าชายลูก เธอที่สองชื่อปรินสเวลส์ แลเจ้าซึ่งจะมาเปนบุตรเขย ชื่อปรินสเฟรดดริก วิลเลียม กับดัชเชสเก็นต์มารดาของกวีน อีกพระญาติพระวงศ์ประมาณ ๙ คน ๑๐ คนตามเสด็จด้วย ครั้นถึงห้องที่พวกราชทูตยืนอยู่กวีนก็ก้มพระเศียรลง พวกราชทูตแลขุนนางอังกฤษก็ก้มลงตามทุกคน กวีนจึงเลยเสด็จไปที่ห้องเลี้ยงโต๊ะ ราชทูตกับขุนนางทั้งปวงก็ตามเสด็จ ไป กวีนจึงเสด็จนั่งลงที่เก้าอี้กลาง ตรงกับพระยามนตรีสุริยวงศ์ ราชทูต ต่อไปข้างซ้ายเลอรด์กลาเรนดอนนั่งตรงกับปรินสเฟรนดดริก วิลเลียม ถัดไปเจ้าหมื่นสรรเพธภักดีอุปทูต นั่งตรงกับปรินสเสศรอยัล ฝ่ายขวาจมื่นมณเฑียรพิทักษ์ตรีทูต นั่งตรงกับปรินสอาลเบิต ต่อมา หม่อมราโชทัย นั่งตรงกับดัชเชสเก็นต์มารดาของกวีน แต่ขุนจรเจนทเลเลอรด์กลาเรนดอนให้นั่งอยู่ข้างหลังคอยเปนล่าม เมื่อกินโต๊ะอยู่นั้นกวีน หาได้ตรัสประการใดด้วยราชทูตไม่ จนเสวยแล้วก็เสด็จจากเก้าอี้ก ลับไป พวกราชทูตแลขุนนางอังกฤษต้องยืนขึ้นก้มศีร์ษะคำนับทุกคน


กวีนจึงเสด็จไปประทับอยู่ห้องแห่งหนึ่ง แล้วรับสั่งให้ขุนนางมาเชิญราชทูตไปเฝ้าในที่นั้น เมื่อพวกราชทูตไปถึง จึงพร้อมกันก้มศีร์ษะ ลงคำนับ กวีนก็เสด็จมายืนตรงหน้าราชทูตตรัสถามว่า ท่านมาตามทาง มีความสบายอยู่ฤๅ ราชทูตทูลว่ามีความสุขสบายมาก กวีนจึงรับสั่งว่า เราได้ยินคำว่าสบายนั้นเรามีความยินดีนัก แล้วเสด็จไปยืนตรงหน้า อุปทูตตรัสถามว่า พระเจ้าอยู่หัวที่หนึ่งในกรุงสยามทรงสบายอยู่ฤๅ อุปทูตทูลว่าทรงสบายอยู่ แล้วตรัสถามว่า ท่านไม่ใช่เชื้อพระวงศ์ เปนแต่ได้ทรงเลี้ยงมาฤๅ อุปทูตก็รับสั่ง แล้วเสด็จไปยืนตรงหน้าตรีทูต ตรัสถามว่า พระเจ้าอยู่หัวที่สองในกรุงสยามทรงสบายอยู่ฤๅ ตรีทูต ทูลว่า ทรงสบายอยู่ แล้วเสด็จไปยืนตรงหน้าหม่อมราโชไทยตรัสถามว่าท่านพูดอังกฤษได้ฤๅ หม่อมราโชไทยทูลว่าพูดได้เล็กน้อย แล้ว รับสั่งถามว่า ท่านเรียนในเมืองไทยฤๅไปเรียนที่อื่น หม่อมราโชไทย ทูลว่าเรียนในเมืองไทย แล้วผันพระพักตร์ไปรับสั่งด้วยมิศเตอร์เฟาล์แลกัปตันเวอริงแล้วก็เสด็จกลับไป ปรินสอาลเบิตจึงเสด็จมาจับมือราชทูต ทั้ง ๓ กับหม่อมราโชไทย แล้วตรัสไถ่ถามถึงทุกข์สุขเสร็จแล้วก็เสด็จกลับไป ลูกเธอเจ้าหญิงใหญ่ เจ้าชายรอง เจ้าหญิงที่ ๓ จึงเข้ามา พูดจาแล้วก็หลีกออกไป เจ้าเฟรดดริกวิลเลียมจึงเข้ามาพูดต่อภายหลัง


ครั้นเสร็จแล้วกวีนจึงเสด็จไปอยู่ในห้องอีกแห่งหนึ่ง รับสั่งให้หาราชทูตที่ ๓ หม่อมราโชไทยไปเฝ้า กวีนโปรดให้นั่งบนเก้าอี้พระ ราชทานน้ำชากาแฟ ให้นั่งกินร่วมโต๊ะเดียวกัน พูดจาถามไถ่กัน ไปมาตามธรรมเนียม แล้วรับสั่งให้มีมโหรีอังกฤษให้ทูตานุทูตฟัง


ถึงเวลา ๕ ทุ่ม กวีนเสด็จขึ้น ราชทูตก็พากันกลับมาห้องที่พัก นอนค้างอยู่ที่วังวินด์เซอคืนหนึ่ง รุ่งขึ้นเช้า ๓ โมงปรินสอาลเบิตจึงพา เจ้าลูกเธอ ๙ องค์มารับของซึ่งพระราชทานออกไปแต่กรุงเทพ ฯ แต่ กวีนหาได้เสด็จมาด้วยไม่ ปริสอาลเบิตกับเจ้าราชบุตรรับของ แลตรัส ด้วยราชทูตแล้วก็ลากลับไป เวลาเช้า ๔ โมงเศษ พวกราชทูตกินอาหาร เสร็จแล้วก็กลับมาจากวังวินด์เซอ ถึงโฮเต็ลที่พักในเมืองลอนดอน


วันจันทร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๑๔ ค่ำ พวกราชทูตไปดูโรงหมอใหญ่ ชื่อกัลเลชออฟซาเยนส์ (๑) ที่ในโรงหมอสูงประมาณ ๑๐ วา กว้าง ๒ เส้น ทำเปน ๔ ชั้น มีกระดูกคนทั้งชายทั้งหญิงแลเด็ก แลกระดูกคนโบราณสูง ๘ ศอก (๒) กระดูกสัตว์ต่าง ๆ ก็มีมาก กระดูก เหล่านั้นเอามาลำดับ แล้วผูกด้วยลวดให้เปนรูปยืนอยู่ บางทีเอารูป ทารกที่คลอดจากครรภ์มารดาแล้วก็ตาย รูปร่างวิปลาศผิดกับมนุษย์ ธรรมดาไม่เคยมี หมอเห็นว่าทารกนั้นสิ้นชีวิตแล้ว จึงเอามาใส่ในขวด แช่เหล้าไว้ บางทีก็เอาสัตว์ที่ประหลาดมาแช่ บางทีเปนของที่เกิดในตัวมนุษย์บ้าง แต่ขวดที่แช่ของเหล่านั้นเหลือที่จะประมาณ มากมายนัก


ดูในโรงหมอแล้วจึงไปดูที่ทำเงิน ตึกที่ทำเงินชื่อ รอยัลมิน (๓) ในนั้นใช้เครื่องกลไฟทำเร็วยิ่งกว่าคนทำด้วยมือหลายเท่า การที่ทำ ครั้นจะพรรณาก็จะมากมายยืดยาวนัก


ดูที่ทำเงินแล้ว จึงไปดูที่แห่งหนึ่งชื่อเตาเวอ เปนตึกใหญ่มีรูปทหารขี่ม้าใส่เกราะเหล็กถืออาวุธต่าง ๆ มีเครื่องสำหรับฆ่าคนอย่างเก่า แต่โบราณ แลเครื่องสำหรับพันธนาการจำจอง มีห้องที่ขังเจ้านาย ซึ่งทำความผิด แล้วเจ้าพนักงานนำขึ้นไปดูชั้นบนที่ไว้เกราน์ สมมุติว่า มงกุฎของกวีน กับเครื่องทรงอิกหลายอย่าง แลเพ็ชรเม็ดใหญ่ประมาณ เท่าฟองนกพิราบ ครั้นดูทั่วแล้วก็กลับมาโฮเต็ล

วันอังคารเดือนอ้ายขึ้น ๑๕ ค่ำ เจ้าพนักงานนำราชทูตไปดูวัง ชื่อบักกิงฮัม เปนที่กวีนเสด็จอยู่(ในเมืองลอนดอน)เมื่อฤดูร้อน ทำ เปนตึกหลังเดียว ประมาณยาว ๓ เส้น กว้าง ๒ เส้น สูง ๑๐ วา ทำ เปน ๔ ชั้น มีรั้วเหล็กล้อมรอบ เมื่อไปถึงวังมีผู้หญิงคนหนึ่งออกมานำ ราชทูตเที่ยวดูทุกห้อง เว้นแต่ห้องที่บรรธมห้องเดียว ในที่นั้นมีห้อง มากกว่าร้อยห้อง ชื่อต่าง ๆ กันทั้ง ๔ ชั้น กั้นเปนห้องใหญ่ห้องเล็ก ลดเลี้ยวสนุก งามด้วยลวดลายระบายเขียนแลลายปั้น แล้วเอาศิลา อ่อนมาทำเปนรูปมนุษย์แลรูปสัตว์ต่าง ๆ วางตั้งไว้เปนอันมาก เครื่อง แต่งห้องก็ต่างกัน พื้นทำด้วยไม้ลายบ้าง ปูพรมบ้าง ฝาปิดกระดาษ ทำเปนลายศิลาบ้าง ลายทองบ้าง เก้าอี้แลโต๊ะเครื่องใช้ก็ต่างกันทุกห้อง ห้องที่เรียกว่าแพรเขียว เบาะหมอนก็ล้วนไปด้วยแพรเขียว ที่เรียก ห้องแพรเหลือง ก็ล้วนแต่แพรเหลืองสิ้นทั้งนั้น ที่เรียกแพรอันใด เบาะ แลหมอนก็ทำด้วยแพรอันนั้น มีเครื่องใช้ประจำอยู่ทุกห้อง ถ้าเสด็จอยู่ ห้องไหนก็ใช้ของห้องนั้น ไม่ได้เอาของห้องนี้ไปใช้ห้องโน้น ของทั้งปวง ล้วนต่าง ๆ หลายอย่างหลายชนิด สุดที่จะพรรณาให้ถ้วนถี่ ราชทูต ดูรอบแล้วก็กลับมาโฮเต็ล


(๑) วิทยาลัยสอนวิชาแพทย์

(๒) จะเปน ๘ ฟิตมิใช่ศอก

(๓) คือดูโรงกระสาปน์ ด้วยทูตไปคราวนั้น โปรดให้ไปว่าซื้อเครื่องจักรเข้ามา ตั้งโรงกระสาปน์ในกรุงเทพ ฯ ด้วย ปรากฎว่าได้เครื่องพิมพ์เงินเหรียญเปนของรัฐบาล อังกฤษจัดถวายมาส่วน ๑ นอกนั้นว่าซื้อเครื่องจักรที่ห้างชื่อ เตเลอ เมืองเบอมิงฮัม เครื่องจักรนั้นที่มาตั้งโรงกระสาปน์แรก

ตอนที่ ๗ ว่าด้วยที่ว่าราชการ ชื่อปาลิเมนต์แลเมืองเบอมิงฮัม เมืองแมนเชสเตอ เมืองลิเวอปูล แลเมืองชิฟิลว์

วันพฤหัสบดี เดือนอ้าย แรม ๒ ค่ำ เวลาเช้า ๕ โมง มิศเตอร์เฟาล์ให้จัดรถมารับพวกราชทูตไปเฝ้ากวีนที่ปาลิเมนต์ (๑) ที่นั้นเปนตึก ใหญ่โตกว้างขวาง ก่อด้วยศิลาสูงประมาณ ๓๐ วาเศษมียอดแหลม สำหรับประชุมขุนนาง ครั้นไปถึงแล้วเจ้าพนักงานจัดแจงให้นั่งอยู่ตาม ที่อันควร จนเวลาบ่าย ๒ โมงกวีนจึงเสด็จมาเปนกระบวนแห่อย่างหลวง มีรถเจ้าเทียมม้ารถละ ๓ คู่ ๕ รถนำมาก่อน ถัดมาถึงทหารแต่งตัวใส่เกราะเงินขี่ม้าตะพายปืน ๒ แถว ๆ ละ ๒๕ คน รวม ๒ แถว ๕๐ คน ต่อมาทหารใส่เกราะเหล็ก ขี่ม้าถือดาบ ๒ แถว ๖๐ คน ทหารแต่งตัว อย่างสกอดลันด์ ถือหวายเทศซ่นเงิน ๒ แถว ๖๐ คน ถือตระบอง หุ้มเงิน ๒ แถว ๖๐ คน ถือขวานปลายเปนกฤช ๒ แถว ๔๐ คน แล้ว ถึงรถกวีนทรง สลักเปนลวดลายปิดทอง เทียมม้า ๔ คู่ บนหลัง คารถทำเปนอย่างตราสำหรับเมือง บนท้ายรถมีทหารขัดกระบี่ยืนอยู่ ๔ คน ต่อไปหลังรถมีม้าแต่งเครื่องที่พระราชทานออกไปแต่กรุงเทพ ฯ ม้าหนึ่ง (๒) แล้วทหารแต่งตัวใส่เกราะตะพายปืนถือดาบขี่ม้าดำ ๔ แถว ๑๐๐ ม้า เมื่อกวีนเสด็จถึงที่ปาลิเมนต์ มีทหารแต่งตัวอย่างสกอดลันด์ ถือขวานปลายเปนกฤช ยืนคอยรับเสด็จ ๒ แถว ๒๐ คน ถือปืน ปลายหอก ๒ แถว ๖๐ คน ขุนนางเดินนำเสด็จ ๒ แถว ๓๐ คน ขุนนาง เชิญพระมาลากำมะหยี่คนหนึ่งเชิญเกราน์ประดับเพ็ชรคนหนึ่ง เดินนำ เสด็จไปก่อน เมื่อกวีนเสด็จลงจากรถ เจ้าซึ่งเปนสามีชื่อปรินสอาลเบิต จึงรับพระกรข้างซ้ายเดินไปด้วยกัน เจ้าเฟรดดริกวิลเลี่ยมก็ตามเสด็จ ด้วย เมื่อกวีนเสด็จดำเนินไปนั้น มีกำมะหยี่แดงประมาณยาว ๑๐ ศอก กว้าง ๒ ศอก ริมปักทองผูกกับบั้นพระองค์ แล้วมีผู้หญิงชาย กำมะหยี่นั้นคู่ ๑ ถัดออกไปขุนนางถืออิก ๒ คู่ แล้วมีทหารถือตระบอง หุ้มเงินอิก ๔ คู่ ก่อนกวีนยังไม่เสด็จเข้าไปนั้น เจ้าหญิงลูกเธอ องค์ใหญ่กับเจ้าหญิงน้องดุกแกมบริชเดินเข้าไปก่อน ไปนั่งอยู่บนที่ แห่งหนึ่งตรงหน้าพระที่นั่งโธรน แล้วกวีนจึงเสด็จไปขึ้นบนพระที่นั่งโธรน ปรินสอาลเบิตจึงนั่งลงบนที่ข้างซ้าย แต่ลดต่ำลงกว่าพระที่นั่งของกวีน หน่อยหนึ่ง เจ้าชายลูกเธอที่ ๒ ชื่อปรินสเวลส์ นั่งบนที่ข้างขวา สูงเท่ากับบิดา มีขุนนางคนหนึ่งเชิญพระแสงดาบยาว อิกคนหนึ่ง เชิญกราน์ประดับเพ็ชรสำหรับกษัตริย์ยืนอยู่ริมพระที่นั่งข้างขวา ฝ่ายซ้าย มีขุนนางยืนถือแส้หวายเทศอีก ๔ คน


กวีนนั้นทรงฉลองพระองค์ขาว กระจังที่ใส่พระเศียร สร้อยระย้าใส่พระศอ กำไลใส่พระกร แลธำมรงค์ ล้วนประดับเพ็ชรสิ้นทั้งนั้น เมื่อเสด็จขึ้นบนพระที่นั่งโธรนแล้ว จึงทรงอ่านหนังสือประมาณ ๖ นาที ทรงอ่านแล้วก็เสด็จลงจากพระที่นั่งจะกลับคืนไปวังบักกิงฮำ เยนเนอรัล กัศต์จึงพาพวกราชทูตไปดูกระบวนแห่เสด็จอยู่ที่หน้าห้องแห่งหนึ่ง เมื่อ รถทรงมาถึงที่นั้นพวกราชทูตพร้อมกันถอดหมวกก้มศีร์ษะลงคำนับกวีนแลปรินสอาลเบิต ก็ก้มพระเศียรลงรับ แล้วเสด็จเลยไป ราชทูตก็ ขึ้นรถกลับมาที่อยู่ (๓)


วันจันทร เดือนอ้าย แรม ๖ค่ำ เวลาบ่าย ๓ โมง ราชทูตไป หาเลอรด์กลาเรนดอน แล้วบอกว่าจะลาไปเที่ยวดูที่ทางที่ทำสิ่งของประหลาดที่เมืองเบอมิงฮัม เมืองแมนเชสเตอ แลเมืองลิเวอปูล เลอรด์ กลาเรนดอนจึงตอบว่า ท่านจะไปดูการทั้งปวงนั้นชอบแล้ว เชิญไปเถิด


วันอังคาร เดือนอ้าย แรม ๗ ค่ำ เวลาเที่ยง ราชทูต อุปทูต หม่อมราโชไทย จมื่นราชมาตย์ นายพิจารณ์สรรพกิจ ๕ นายกับล่ามเสมียนคนใช้รวม ๑๐ คน แต่จมื่นมณเฑียรพิทักษ์ตรีทูตป่วยอยู่หาได้ ไปไม่ พวกราชทูตขึ้นรถไฟไปเมืองเบอมิงฮัมก่อน ตามทางที่ไปจาก เมืองลอนดอนนั้นมีนา เข้าโพด เข้าสาลี นาหญ้า ไร่ผัก แลเปนสวนบ้างบ้านบ้าง หนทางที่รถไฟไปบางทีต้องเข้าในภูเขา เจาะเปนอุโมงค์ยาว ๑๐๐ เส้นบ้าง ๒๐๐ เส้นบ้าง บางแห่ง ๖๐ เส้นบ้าง ๗๐ เส้นบ้าง ในอุโมงค์นั้นมืดไม่เห็นสิ่งใดเลย บางแห่งทำเปนตะพานข้าม แล้วมีคลองน้ำไหล เรือเดินได้บนตะพาน ใต้ตะพานเปนทางคนเดิน บางแห่งบนตะพานก็มีคลองใต้ตะพานก็มีคลอง เปนคลองเรือเดินได้ทั้ง ๒ ชั้น ตั้งแต่ เมืองลอนดอนถึงเมืองเบอมิงฮัมทาง ๑๑๒ ไมล์ คือ ๕,๐๔๐ เส้น เมื่อ ไปถึงแล้ว เจ้าเมือง (๔) จึงมาหาราชทูต เชิญไปให้พักอยู่ที่โฮเต็ล โฮเต็ลนั้นชื่อกวีนส์โฮเต็ล รุ่งขึ้นเจ้าเมืองจึงจัดรถ ๓ รถมารับราชทูต แลข้าหลวงไปดูที่ทำเครื่องทองเหลือง ที่ทำเบี้ยทองแดง ที่ทำแก้วทำ กระจก ที่ทำเครื่องเหล็ก ที่ทำถาดกระดาษ หีบกระดาษของต่าง ๆ ทำด้วยกระดาษแล้วทาน้ำมันเขียนลายทอง (๕) ราชทูตพักอยู่ในเมือง เบอมิงฮัม ๔ วัน


วันอาทิตย์ เดือนอ้าย แรม ๑๒ ค่ำ เวลาเที่ยงแล้ว จึงพร้อมกัน ขึ้นรถไฟไปถึงเมืองแมนเชสเตอ ทาง ๑๑๐ ไมล์ คือ ๔,๙๕๐ เส้น เจ้าเมืองก็มาคอยรับ (๖) เชิญให้ทูตานุทูตไปพักอยู่ที่โฮเต็ลกวีนเหมือน อย่างเมืองเบอมิงฮัม ราชทูตพักอยู่ ๗ วัน ได้ไปเที่ยวดูหลายตำบล คือที่ทำฝ้าย ที่ทอผ้า ที่ทำปืน ที่ทำของอื่นอีกหลายอย่าง (๗)


ณวันอาทิตย์ เดือน ๒ ขึ้น ๕ ค่ำ เวลาเช้า ๒ โมงครึ่ง จึงขึ้น รถไฟออกจากเมืองแมนเชสเตอไปเมืองลิเวอปูล ทาง ๔๐ ไมล์ คือ ๑,๘๐๐ เส้น เจ้าเมืองก็มาคอยรับเหมือนเมืองที่ว่ามาแล้วนั้น แต่ท่านผู้อ่านผู้ฟังจะสงสัยว่าเหตุใดเจ้าเมืองจึงจะรู้จะได้มาคอยรับ ข้าพเจ้าจะบอกให้ท่านทราบ ด้วยเมื่อราชทูตจะออกจากเมืองนี้ไปเมืองโน้น ฝ่าย เจ้าเมืองข้างนี้บอกไฟฟ้า ที่อังกฤษเรียกว่าเตลคราฟไปถึงเมืองข้างโน้น ว่าราชทูตจะไปเวลานั้น และจะถึงเวลานั้น เพราะฉนี้เจ้าเมืองข้างโน้นรู้ จึงได้มาคอยรับ


เมื่อราชทูตไปถึงเมืองแล้ว รุ่งขึ้นวันหนึ่งเจ้าเมืองจัดรถมารับ ๓ รถพาไปดูอู่สำหรับตั้วสิวกำปั้น อู่นั้นบางทีมีหลังคา บางทีก็ไม่มี หลังคาทำด้วยแก้วเพราะจะให้สว่าง เสาแลขื่อเครื่องทั้งปวงทำด้วยเหล็ก พื้นล่างข้างอู่ก่อด้วยศิลา เมื่อกำปั่นเข้าในอู่แล้วจึงปิดประตูเสีย สูบน้ำ ออกจนหมด ในอู่ก็แห้งดี คนเดินยืนนั่งทำการได้ ที่เมืองลิเวอปูลมี อู่มากเรียง ๆ กันไปตามลำแม่น้ำ กำปั่นเข้าอู่ไว้ดูเสากระโดงสพรั่งดัง ต้นหมาก จะนับจะประมาณมิได้


เวลาค่ำเจ้าพนักงานนำไปดูละคอน ละคอนเมืองนั้นเล่นม้าคล้ายละคอนในเมืองลอนดอน แต่ม้าดีกว่าม้าที่เมืองลอนดอน ใช้ให้ยิงปืน ก็ได้ แล้วให้รำเท้า ให้กินโต๊ะ ให้ก้มศีร์ษะหมอบลงคำนับราชทูตแล คนอื่น ๆ ม้าก็ทำตาม เจ้าของเห็นม้าเมิน จึงเอาผ้าเช็ดหน้าม้วน ให้เล็กทิ้งไปแล้วใช้ให้ม้าไปเที่ยวหา ม้าก็เที่ยวดมเอากลิ่นหาผ้าได้ คาบเอากลับมาให้ เจ้าของทำเปนไม่เห็นแกล้งเดินหนีเสีย ม้าก็เดิน ตามไปจนเจ้าของรับเอา แต่ทำดังนั้นถึง ๒ ครั้ง ๓ ครั้งม้าก็หาผ้าได้ ทุกที แล้วบอกม้าว่าเราจะเอาผ้านี้โยนขึ้นไป จงคอยรับเอา อย่าให้ตกถึงพื้นได้ แล้วม้วนผ้าโยนขึ้นไป ม้าก็เอาปากรับเอาไม่ตกเลย บางที เล่นหกคะเมนไต่ลวดต่าง ๆ จะรำพรรณเรื่องละคอนให้สิ้นเห็นยืดยาวนัก ว่าแต่พอเปนสังเขป ยังวิเศษมากอยู่ พวกราชทูตพักอยู่ในเมืองลิเวอปูล ๔ วัน (๘)


ณวันพฤหัสบดี เดือน ๒ ขึ้น ๙ ค่ำ เวลาเช้า ๕ โมงครึ่ง พร้อม กันไปขึ้นรถไฟกลับมาเมืองแมนเชสเตอ รุ่งขึ้นเปนวันตรุษข้างอังกฤษ ชาวบ้านชาวเมืองเลิกการไม่ได้ค้าขาย แล้วเอากิ่งไม้ดอกมาปักในเรือน ทุกบ้านทุกเมือง เวลาค่ำเลี้ยงโต๊ะชวนมิตรสหายญาติกามากิน แล้ว ร้องเล่นเต้ารำเปนการสนุกต่าง ๆ (๙)


วันอาทิตย์ เดือน ๒ ขึ้น ๑๒ ค่ำ บ่าย ๕ โมง ราชทูตขึ้นรถไฟออกจากเมืองแมนเชสเตอ ไปทาง ๕๐ ไมล์ คือ ๒,๔๗๕ เส้น ถึงเมืองชิฟิลด์ (๑๐) เมืองนั้นทำเครื่องมือต่าง ๆ ที่ทำด้วยเหล็ก ราชทูตพักอยู่ ๒ วัน เที่ยวดูการงานเสร็จแล้ว ณวันอังคารเดือน ๒ ขึ้น ๑๔ ค่ำ บ่าย โมงครึ่งออกจากเมืองชิฟิลด์ ขึ้นรถไฟมาเมืองเบอมิงฮัม ทาง ๖๐ ไมล์ คือ ๒,๗๐๐ เส้น อยู่ในเมืองนั้น ๒ วัน ณวันพฤหัสบดี เดือน ๒ แรมค่ำ ๑ บ่าย ๕ โมงครึ่งออกจากเมืองเบอมิงฮัม กลับมาเวลา๔ ทุ่มครึ่งถึงโฮเต็ล ในเมืองลอนดอน เมื่อพวกราชทูตไปพักอยู่ที่เมืองใด ๆ เจ้าเมืองก็เอา ใจใส่ให้เลี้ยงดูเปนสุขทุกแห่งทุกตำบล


วันอังคาร เดือน ๒ แรม ๖ ค่ำ หนาว ปรอทลงถึงที่ ๒๘ น้ำแขงวันพฤหัสบดีเดือน ๒ แรม ๑๔ ค่ำ มิศเตอร์กริศติ เปนบุตรเศรษฐี อยู่ในเมืองลอนดอน มาเชิญพวกราชทูตไปดูรำเท้าที่บ้าน วันเสาร์ เดือน ๓ ขึ้น ๒ ค่ำ กวีนรับสั่งให้มาเชิญพวกราชทูตทั้ง ๖ คนไปที่ตึกสำหรับชักรูปให้ช่างชักรูปถวาย (๑๑) ราชทูตทั้ง ๓ จมื่นราชามาตย์ นายพิจารณ์สรรพกิจ ๕ คนพร้อมกันขึ้นรถไปที่ตึกนั้นแต่หม่อมราโชไทย จับไข้อยู่ไปหาได้ไม่ นายช่างได้ชักรูปถวายแต่ ๕ รูป


(๑) คือ ในพิธีเสด็จเปิดปาเลียเมนต์

(๒) ที่มีม้าจูงนี้ ควรสังเกตว่าจัดเปนการพิเศษสำหรับทูตไทย

(๓) แต่งพรรณาพิธีเปิดปาเลียเมนต์อังกฤษในหนังสือนี้ถูกต้องน่าชม

(๔) ที่ว่าเจ้าเมืองตรงนี้ คือ อธิบดีประชาภิบาล ชื่อนายยอน เรดคลิฟ

(๕) ในหนังสือพิมพ์อังกฤษว่า วันพุธตรงกับเดือนอ้ายแรม ๘ ค่ำ ทูตไปดู ที่เหล่านี้ คือ

๑ ห้างวันฟิลด์ (ทำเครื่องแก้ว )

๒ ห้างฮีตันแอนสัน ทำเบี้ยทองแดง

๓ ห้างฮีตันบริษัท ทำของทองเหลือง ทองแดง

๔ ห้างเยนเนอแอนด์เบตตริช ทำเครื่องกระดาษ

ค่ำไปดูโอปรา เล่นที่โรงแคลเลอรี อิลลัสเตรชัน รุ่งขึ้นวันพฤหัสบดีไปดูที่ทำการ ต่าง ๆ คือ

๑ ห้างเตเลอ ทำเครื่องจักรต่าง ๆ ทูตสั่งให้ทำเครื่องโรงกระสาปน์.

๒ ห้างรีฟทำเครื่องอาวุธ

๓ ห้างเอลกิงตัล แอนเมสัน ทำเครื่องเงิน

วันเสาร์ไปดูห้างคอลลิส ช่างพิมพ์เงิน ค่ำไปดูโอปราอิกครั้ง ๑.

(๖) แมย์ประชาภิบาลเมืองแมนเชสเตอ ชื่อ นายแมกกี.

(๗) หนังสือพิมพ์อังกฤษว่า วันจันทร์ตรงกับเดือนอ้ายแรม ๑๓ ค่ำ ทูตไปดู ที่ต่าง ๆ ในเมืองแมนเชสเตอ ดังนี้

๑ โรงจักรปั่นฝ้ายแลทอผ้าของเซอเอลกะนา อามิเตช

๒ ไปดูศาลากลาง

๓ โรงไว้สินค้าของนายวัตส

๔ โรงทำปืนของนายวิดเวอท

รุ่งขึ้นวันอังคาร ไปดูที่ต่าง ๆ ในเมืองแมนเชลเตอ คือ

๑ โรงทำเครื่องจักร ของห้าง ชาบแอนด์ สต๊วต

๒ โรงจักร (ทอผ้า) ของห้าง แฟเบน

วันพุธ ไปแต่ราชทูต ไปดูที่ต่าง ๆ คือ

๑ โรงทำรถพ่วงรถไฟ ของนายแอชบุรี

๒ โรงทำตะปูเกลียว ของนายแคลสโค

๓ ห้างทำเครื่องเพ็ชรพลอย ของนายเฟอนิส

(๘) รายการทูตไปเมืองลิเวอปูล ตามที่ปรากฎในหนังสือพิมพ์อังกฤษนั้นแมย์ ชื่อนายโฮล์ม มารับไปพักที่โฮเต็ล ชื่อ อเดลฟี ในวันนั้นเซอเอดวาดคัซต์ ที่ เปนพนักงานกรมพระราชพิธีได้คุ้นเคยกับทูตแล้วเชิญทูตไปเลี้ยงกลางวันที่ลิโซ คาสเตล บ้านสำหรับสกุล แล้วพาไปดูอู่เรือที่ตำบล เบอเกนเหด รุ่งขึ้นไปดูอู่เหนือ แล้วดูอู่ ต่าง ๆ ลงมาจนที่สุดอู่ชื่อปรินส์ ดูท่าขึ้นที่ทำใหม่ แล้วไปดูโรงต่อเรือกำปั่นของนาย ยอนแลด ค่ำไปดูละคอนโรง ชื่อ รอแยล แอมฟีทีเอเตอ วันอังคารไปดูตึกเซนต์ยอช เปนตึกที่ประชุมสำหรับเมือง แล้วไปห้างขายของของนายเฮาสเบิค แล้วไปดูโรงหล่อ ของห้างฮอสฟอล แล้วไปดูโรงจักรเลื่อยไม้ของนายนิโคลสัน แล้วไปดูโรงหล่อของ ห้างฟอเซตแอนด์เปรสตัน เวลาค่ำไปดูละคอนม้าโรงชื่อ เฮงเลอวะไรเอตีเซอคัส วันพุธ แมย์เชิญไปเลี้ยงแบงเควตที่ศาลากลาง เชิญกงสุลต่างประเทศกับผู้มีบันดาศักดิมาพบทูต

(๙) คือ คฤศต์มัส.

(๑๐) รายการต่างๆที่ทูตไทยไปดูที่เมืองเชฟฟิลด์ ตามที่ปรากฎในหนังสือพิมพ์ อังกฤษ ดังนี้

ทูตพักที่โฮเต็ลรอแยล นายแยกสัน แมย์เมืองเชฟฟิลด์มาต้อนรับ วันจันทร์ พาไปดู

๑ โรงถลุงเหล็กกล้า ชื่อเอตนา

๒ โรงทำมีด ชื่อหาตฟอด

๓ โรงถลุงเหล็ก ชื่อวิกเกอ

๔ โรงทำมีด ของนายโยเสฟ รอเยอ ช่างหลวง

เวลาค่ำไปดูละคอนแปนโตไมม์ ที่โรงทิเอเตอรอแยล วันอังคารไปห้างยอนเฉบเปิด

(๑๑) ถ่ายรูปที่นายเมยัล ถนนรีเยนต์ แต่หนังสือพิมพ์อังกฤษว่า ถ่ายก่อนไป หัวเมือง ที่ว่าตรงนี้เห็นจะถ่ายใหม่อีก ในตอนกลับจากหัวเมือง ปรากฎว่า นายปาเกอ์ แฮมมอนด์ จะเปนเศรษฐีฤๅพ่อค้าไม่ปรากฎ เชิญทูตไปเลี้ยงกลางวัน เปนการ ประชุมใหญ่

ตอนที่ ๘ ว่าด้วยเฝ้ากวีนที่วังบักกิงฮัม แลดูการรำเท้า การซ้อมทหาร แลการอาวาหเจ้าลูกเธอหญิงใหญ่

วันจันทร์ เดือน ๓ ขึ้น ๔ ค่ำ เวลายาม ๑ กวีนรับสั่งให้เชิญราชทูตทั้ง ๓ หม่อมราโชไทย ไปดูรำเท้าที่วังบักกิงฮัม (๑) ขณะนั้น หม่อมราโชไทยกำลังป่วยอยู่ยังไปไม่ได้ เวลา ๒ ทุ่มเศษราชทูตทั้ง ๓ กับขุนจรเจนทเลล่าม มิศเตอเฟาล์ พร้อมกันไปที่วังบักกิงฮัม เจ้า พนักงานนำไปพักอยู่ในห้องต่อกันกับห้องที่รำเท้าประมาณ ๒๐ นาที กวีนจึงเสด็จมาตรงประตูห้องที่ราชทูตอยู่ ราชทูตกับขุนนางอังกฤษยืนขึ้น พร้อมกันก้มศีร์ษะลงคำนับ กวีนก็ก้มลงรับ แล้วเสด็จเลยไป ประมาณอีก ๑๐ นาฑี ปรินสอาลเบิตจึงออกมาที่ราชทูตทั้ง ๓ พูดจาไถ่ถามทักทาย แล้วก็กลับไป เจ้าชายลูกเธอปรินสเวลส์จึงถามราชทูตว่า ท่านมาอยู่ ในเมืองลอนดอนนี้สนุกสบายอยู่หรือ ราชทูตตอบว่าสบายอยู่ ปรินสเวลส์ จึงถามว่า ได้ไปดูละคอนแลของต่าง ๆ ทั่วแล้วหรือ ราชทูตว่าไปดูยัง ไม่ทั่ว ปรินสเวลส์จึงถามว่า เมื่อไรท่านจะกลับไปเมืองไทย ราชทูต ตอบว่าอีก ๓ ขวบอาทิตย์ ๔ ขวบอาทิตย์ ปรินสเวลส์ว่าท่านจะไปแวะเมืองฝรั่งเศสด้วยหรือ ราชทูตว่าอยากจะใคร่แวะ แล้วปรินสเวลส์ก็กลับไป ในห้องที่รำเท้า เจ้าพนักงานจึงเชิญราชทูตทั้ง ๓ ไปกินน้ำชาแลขนม ในห้องที่สำหรับเลี้ยง ครั้นกินแล้วราชทูตจึงพากันมาดูรำเท้าอยู่ครู่หนึ่ง กวีนก็เสด็จขึ้น แล้วรับสั่งให้ขุนนางมาเชิญราชทูตทั้ง ๓ ไปเฝ้าที่ข้างใน จึงตรัสถามว่าสบายอยู่หรือ ราชทูตทูลตอบว่าสบายอยู่ จึงรับสั่งว่าป่วย หายแล้วหรือ ราชทูตทูลว่าข้าพเจ้าไม่ได้ป่วย ป่วยแต่ตรีทูต เดี๋ยวนี้ หายแล้ว กวีนรับสั่งเท่านั้นแล้วเสด็จขึ้น ราชทูตก็กลับมาโฮเต็ล


วันพุธ เดือน ๓ ขึ้น ๖ ค่ำ เวลา ๔ ทุ่ม กวีนให้เชิญราชทูต ทั้ง ๓ หม่อมราโชไทย จมื่นราชามาตย์ นายพิจารณ์สรรพกิจ ไปดู รำเท้าอิกครั้งหนึ่ง ถึงเวลาพวกราชทูตพร้อมกันขึ้นรถไปที่วังบักกิงฮัม แล้วไปนั่งอยู่บนที่แห่งหนึ่ง ไกลจากที่รำเท้าประมาณ ๑๐ วา เยนเนอ รัลกัศต์จึงถามราชทูตว่า ท่านดูรำเท้าชอบใจอยู่หรือ ราชทูตตอบว่า ชอบใจ แต่ดูหาถนัดไม่ เยนเนอรัลกัศต์จึงนำพวกราชทูตเข้าไปดูใน ที่ใกล้ เปนที่สำหรับกวีนหยุดพัก พวกราชทูตยืนดูกวีนทรงรำเท้า กับเจ้าน้องปรินสอาลเบิต บางทีก็เปลี่ยนทรงรำกับบิดาของปรินส เฟรดดริกวิลเลี่ยม (๑) ที่จะมาเปนเขย ราชทูตอยู่ประมาณครึ่งทุ่ม แล้วพากันกลับออกมานั่งอยู่ห้องนอก ครั้นกวีนรำเท้าสิ้นเพลงแล้ว ก็ พาพระญาติพระวงศ์ออกไปเสวยที่ห้องนอกสำหรับเลี้ยง


พวกราชทูตจึงพากันไปคอยเฝ้าอยู่ที่ประตูเมื่อกวีนจะเสด็จกลับ ครั้นกวีนเสวยแล้วเสด็จออกมานอก ราชทูตก้มศีร์ษะคำนับพร้อมกัน กวีนก็ก้มพระเศียรลงรับ แล้วเสด็จเลยไปที่ห้องรำเท้า ราชทูตจึงพากัน มานั่งอยู่บนที่ตามเดิม อยู่ประมาณ ๑๐ นาฑี เจ้าพนักงานจึงมาเชิญ พวกราชทูตไปกินโต๊ะ ครั้นแล้วก็กลับมานั่งดูอยู่อีกประมาณครึ่งชั่วทุ่ม กวีนจึงเสด็จขึ้น ราชทูตก็กลับมาโฮเต็ล


รุ่งขึ้นเปนวันกำหนดซ้อมทหารที่สนามวื่อวูลวิชคำมอน มิศเตอร์ เฟาล์จึงพาพวกราชทูตไปดู ที่สนามนั้นยาวประมาณ ๔๐๐ เส้น กว้างประมาณ ๓๐๐ เส้น มีทหารปืนใหญ่ปืนน้อย ทหารม้า ๓ พวก ม้าขาว หมู่ ๑ ม้าดำหมู่ ๑ ม้าแดงหมู่ ๑ พวกทหารเดินเท้าแต่งตัวต่าง ๆ ตามหมวดตามกอง เปนหลายพวก มีปี่พาทย์ทุก ๆ หมวด พวก ทหารม้าก็มีแตรมีกลองทุกหมวด เมื่อเดินกระบวนดูเปนระเบียบ เรียบร้อยงามสง่า ทหารม้าเดินเปนตับเสมอกันไม่ได้ลักลั่น เมื่อห้อ ก็ห้อเสมอกันไปไม่มีตัวใดขึ้นหน้าล้าหลัง เมื่อทำทีจะเข้ารบ ก็ดู เคล่าคล่องว่องไวรวดเร็วแขงแรงนัก ทำเปลี่ยนแปลงท่าทางต่าง ๆ เปนหลายอย่างหลายกระบวน ดูอยู่จนเลิกแล้วราชทูตก็พากันกลับ มาโฮเต็ล


วันจันทร์ เดือน ๓ ขึ้น ๑๑ ค่ำ กวีนรับสั่งให้เชิญราชทูตทั้ง ๓ หม่อมราโชไทย ไปดูแต่งงานอาวาหเจ้าลูกเธอหญิงใหญ่กับเจ้าเฟรดดริก วิลเลี่ยม ที่วัดชื่อ ชาเปลรอยัล ถึงเวลา ๔ โมงเช้าราชทูตทั้ง ๓ หม่อมราโชไทย พร้อมกันขึ้นรถไปคอยอยู่ที่วัด ประมาณ ๒๐ นาฑี เจ้าหญิงมารดาเจ้าเฟรดดริกวิลเลียมมาถึงเข้าโบสถ์ เวลา ๕ โมงเช้ากวีนจึงเสด็จมา อิกประมาณ ๕ นาฑีเจ้าเฟรดดริกวิลเลียมจึง ตามมา อิกครู่หนึ่งปรินสอาลเบิตจึงพาเจ้าลูกเธอหญิงใหญ่มา เจ้าหญิง นั้นทรงแต่งองค์ล้วนเครื่องเพ็ชร แต่เสื้อทรงเปนเสื้อขาว แล้วมีชายออก ไปข้างหลังยาวประมาณ ๑๐ ศอก มีหญิงสาวรูปงามอายุรุ่นราวคราวเดียวแต่งตัวเหมือนกันถือชายผ้านั้น ๔ คู่ แต่เจ้าเฟรดดริกวิลเลียมแต่งอย่าง นายทหาร


ที่นี้ข้าพเจ้าจะแจ้งความไว้แต่ย่อ ๆ พอเปนสังเขปว่า เมื่อแต่งงานเจ้า ๒ องค์นั้นทำอย่างไรบ้าง ครั้นถึงพร้อมกันแล้ว เจ้า ๒ องค์จึง พากันเข้าไปคุกเข่าซบหน้าลงไหว้พระ ฝ่ายมินิสเตอ ซึ่งสมมุติว่าเปน พระครูผู้ใหญ่นั้น จึงประกาศว่า ถ้าใครรู้ความประการใดที่ไม่ควรจะ ให้เจ้าทั้ง ๒ นี้เปนสามีภรรยากัน ก็ให้ผู้นั้นว่ากล่าวขึ้นในขณะนี้ ถ้า ไม่ว่าแล้วก็ให้นิ่งเสียทีเดียวเถิดอย่าว่าอะไรเลย ครั้นไม่มีใครว่ากล่าว สิ่งใดแล้ว พระครูจึงถามเจ้าทั้ง ๒ องค์ว่า ถ้าใครได้ทำความในข้อ ที่ห้าม ก็ต้องให้การตามสัตย์ตามจริงในเวลานี้ อย่าปิดไว้ จะต้อง ให้การเมื่อวันพระเจ้าพิพากษาโทษ เจ้าทั้ง ๒ องค์นิ่งอยู่ แล้วพระครู ผู้ใหญ่จึงถามเจ้าเฟรดดริกวิลเลียมว่า ท่านจะรับเจ้าหญิงนี้เปนภรรยา แล้วจะอยู่ด้วยกันตามบัญญัติของพระเจ้า จะรักกันจะร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน แลจะไม่ทำสมัคสังวาสด้วยหญิงอื่นต่อไปสิ้นชีวิตจากกันหรือ เจ้าเฟรด ดริกวิลเลียมก็รับคำ แล้วพระครูนั้นจึงถามเจ้าหญิงรอยัลว่า ท่าน จะรับเจ้าชายนี้เปนสามีแล้วจะอยู่ด้วยกันตามบัญญัติของพระเจ้า จะรักกันจะฟังคำแลปรนิบัติกันให้เปนเกียรติยศ จะร่วมสุขร่วมทุกข์กัน ไม่ไป สมัคสังวาสด้วยชายอื่นต่อไปจนตราบเท่าสิ้นชีวิตจากกันหรือ เจ้าหญิง รอยัลก็รับคำ แล้วพระครูจึงถามว่าใครจะยกเจ้าหญิงนี้ให้แต่งงานกับ เจ้าชาย เจ้าอาลเบิตผู้บิดาของเจ้าหญิงรอยัลก็พาเจ้าหญิงไปมอบให้ แก่พระครูผู้ใหญ่ ฝ่ายพระครูจึงรับมือเจ้าหญิงนั้นมาจากบิดา แล้ว จับมือขวาของเจ้าเฟรดดริกวิลเลียม ให้มาจับมือขวาเจ้าหญิงรอยัล แล้วพระครูจึงอ่านคำสัญญา ให้เจ้าเฟรดดริกวิลเลียมว่าตาม ใจความว่า ข้าพเจ้าชื่อปรินสเฟรดดริกวิลเลียมจะขอรับ ปรินสเสศรอยัลเปนภรรยา ได้แต่งการอาวาหมงคลตั้งแต่วันนี้ไป จะดีจะชั่วจะมีจะจนจะทุกข์จะสุข ด้วยกัน จะรักกันจนวันตายตามโอวาทของพระเจ้า แล้วเจ้าเฟรดดริก วิลเลียมก็วางมือเจ้าหญิงรอยัล พระครูจึงให้เจ้าหญิงรอยัลเอามือขวา จับมือขวาเจ้าเฟรดดริกวิลเลียมไว้บ้าง พระครูจึงอ่านคำสัญญานั้น ให้เจ้าหญิงนั้นว่าตาม ความที่ว่าก็คล้ายกันกับความก่อนที่เจ้าเฟรดดริก วิลเลียมว่า แต่ผิดกันเล็กน้อยที่ว่าจะฟังถ้อยคำแลปรนิบัติตาม แล้ว เจ้า ๒ องค์ก็วางมือออกจากัน เจ้าเฟรดดริกวิลเลียมจึงเอาแหวนที่ เรียกว่าแหวนกล่าววางลงบนหลังสมุดให้แก่พระครู พระครูก็หยิบเอาแหวนนั้นกลับคืนให้แก่เจ้าเฟรดดริกวิลเลียม เจ้าเฟรดดริกวิลเลียมรับแหวนนั้นมา แล้วจึงสวมใส่นิ้วนางมือข้างซ้ายของเจ้าหญิงรอยัล แล้วเจ้าเฟรดดริกวิลเลียมก็จับแหวนถือไว้ จึงกล่าวคำว่า เราจะรับท่าน เปนภรรยาของเราด้วยแหวนวงนี้ เราคำนับท่านด้วยกายของเรา แล ทรัพย์สมบัติของเราที่มีอยู่ในโลกนี้ แล้วก็วางมือออกจากแหวนคุกเข่าลงทั้ง ๒ องค์ พระครูกับพวกศิษย์ก็สวดขึ้นพร้อมกัน เมื่อสวด จบลงแล้วจึงให้เจ้า ๒ องค์จับมือกันไว้แล้วพระครูจึงว่า พระเจ้าได้ โปรดให้เจ้าทั้ง ๒ นี้เปนสามีภรรยากันแล้ว ตั้งแต่นี้ไปอย่าให้ผู้ใด ผู้หนึ่งทำให้พลัดพรากจากกันเลย จนตราบเท่าสิ้นชีวิตจากกัน แล้ว พระครูก็อวยพรให้ แต่บรรดาพวกศิษย์ทั้งปวงก็ร้องเพลงอวยพรขึ้น พร้อมกัน แล้วประโคมมะโหรีปี่พาทย์เสียงสนั่นกึกก้องไปทั้งโบสถ์ เมื่อสวดจบการเสร็จกันแล้ว เวลาบ่ายโมง ๑ กวีนจึงเสด็จกลับไปวัง บักกิงฮัมพร้อมด้วยพระวงศานุวงศ์ทั้งสองฝ่าย ในเวลาทำการอาวาหที่ ในโบสถ์นั้น ผู้ซึ่งเข้าไปทั้งชายหญิงประมาณ ๒๐๐ คน เข้าไปได้แต่ พระญาติพระวงศ์กับเจ้าพนักงานแลพวกมโหรี อีกขุนนางผู้ใหญ่ทั้ง ภรรยาล้วนคนที่โปรดปรานมากจึงได้เข้าไป มิศเตอเฟาล์บอกราชทูต ว่า ขุนนางแลเศรษฐีปราร์ถนาจะใคร่เห็นการนี้มากนัก แต่ว่าถึงจะเสีย เงินคนหนึ่งสัก ๒๐๐๐ ปอนด์ คิดเปนเงินบาท ๒๐๐ ชั่ง ก็เข้ามาไม่ได้


ในค่ำวันนั้นกวีนให้เชิญราชทูตทั้ง ๓ หม่อมราโชไทย จมื่น ราชามาตย์ นายพิจารณ์สรรพกิจ ไปฟังมโหรีสำรับใหญ่ที่วังบักกิงฮัม มีชายพวกหนึ่งหญิงพวกหนึ่งร้องขับกล่อมตามภาษาอังกฤษ กวีนแล ปรินสอาลเบิตกับลูกเธอชายหญิง ปรินสเฟรดดริกวิลเลียม พระ วงศานุวงศ์ของกวีน แลขุนนางฝ่ายในฝ่ายหน้าไปประชุมกันหลายร้อยคน ถึงเวลา ๔ ทุ่มกวีนโปรดให้พวกราชทูตไปกินน้ำชากาแฟขนมผลไม้ เจ้าพนักงานก็นำไปที่ห้องเลี้ยง ครั้นกินเสร็จจึงกลับมานั่งฟังอยู่ตามที่ จน ๒ ยามเศษกวีนเสด็จขึ้น ราชทูตก็กลับมาโฮเต็ล


(๑) เปนการมีตามฤดูประจำปี

(๒) คือ ที่ภายหลัง เปนไกเซอวิลเลียมที่ ๑ เวลานั้นเปนน้องยาเธอ ยังไม่ได้ครองราชสมบัติ.

ตอนที่ ๙ ว่าด้วยกวีนให้เจ้าหญิงลูกเธอ ปรินเซสกับปรินซเฟรดดริกวิลเลียมลาไปเมืองปรูเซีย แลราชทูตไปดูคุก ดูคลัง แลดูแม่น้ำเทมส์

วันเสาร์ เดือน ๓ แรมค่ำ ๑ กวีนให้เชิญพวกราชทูตไปที่วังชื่อ เซนต์เยมส์ เปนราชวังเก่า เดี๋ยวนี้กวีนไม่ได้เสด็จอยู่ โปรดให้ ดุ๊กแกมบริชอยู่วังนั้น กวีนจะให้เจ้าหญิงลูกเธอปรินเสศรอยัลกีบปรินส์ เฟรดดริกวิลเลียมซึ่งเปนสามีลาไปอยู่ด้วยกันที่เมืองปรูชา คือเมืองของ เจ้าเฟรดดริกวิลเลียม ถึงเวลาบ่ายโมงเศษมิศเตอร์เฟาล์ กัปตันเกล เวอริง ก็พาพวกราชทูตขึ้นรถไปถึงวัง เจ้าพนักงานจึงให้พวกราชทูต คอยอยู่ที่ห้องใหญ่กับด้วยพวกขุนนางอังกฤษทั้งภรรยาพร้อมกัน จนบ่าย ๒ โมงกวีนเสด็จออก เจ้าพนักงานเปิดประตู พวกเลอดร์แลพวก ขุนนาง กับพวกราชทูต ก็เดินตามกันเข้าไปเปนแถว กวีนเสด็จยืน อยู่ตรงหน้าพระที่นั่งโธรน ถัดไปข้างซ้ายปรินส์อาลเบิต ต่อไปปรินเสศ รอยัล แล้วปรินส์เฟรดดริกวิลเลียมแลดัชเชสเกนต์มารดากวีนยืนเรียง กันไป แต่พวกพระญาติพระวงศ์นอกนั้น ยืนเรียงกันอยู่ข้างหลังกวีน อิกแถวหนึ่งประมาณ ๒๑ คน ๒๒ คน เมื่อขุนนางเดินเข้าไปใกล้ที่ กวีนทรงยืนอยู่นั้น ขุนนางผู้เข้าไปจึงส่งก๊าด คือกระดาษที่เขียนชื่อแลตำแหน่งของตัวให้กับขุนนางผู้หนึ่ง ซึ่งยืนอยู่ริมกวีน อ่านถวาย ว่าคนนั้นเปนขุนนางตำแหน่งนั้น แล้วจึงเดินเข้าไปตรงกวีนก้มศีร์ษะลงคำนับ กวีนก็ก้มพระเศียรย่อพระองค์ลงรับ แล้วต่อไปปรินส์อาลเบิต แลเจ้าซึ่งยืนเรียงกันอยู่ทุก ๆ องค์ แล้วก็เลยมาออกประตูข้างหนึ่งไป คอยอยู่ข้างนอก แต่พวกราชทูต กวีนโปรดให้ดูอยู่ข้างในจนสำเร็จ พวกขุนนางกับภรรยาซึ่งเข้าไปนั้นประมาณ ๑,๐๐๐ คน กวีนเสด็จมา ยืนรับคำนับกับปรินส์อาลเบิต ปรินเสศรอยัล ปนิรส์เฟรดดริกวิลเลียม ดัชเชสเกนต์แลพระวงศานุวงศ์ แต่เวลาบ่าย ๑ โมงจนถึงบ่าย ๔ โมงเศษจึงเสด็จขึ้น (๑)


วันอังคาร เดือน ๓ แรม ๔ ค่ำเวลาเที่ยง ปรินส์เฟรดดริก วิลเลียมพาปรินเสศรอยัลกลับไปเมืองปรูชา ทางที่เจ้าทั้งสองจะลงไป เรือนั้น แต่บรรดาราษฎรทุกบ้านทุกเรือนจัดแจงตกแต่งปักดอกไม้กิ่งไม้ ยกธงทั้งสองฟากถนนจนตลอดถึงท่าที่จะลงเรือ แต่พวกราชทูตหาได้ ไปดูไม่ ด้วยมีธุระไปเยี่ยมญาติฮารีปากษ์เอศแควร์ (๒) ในวันนั้นน้ำค้าง แขงตกยังค่ำ ที่บนถนนหนาประมาณ ๕ นิ้ว ๖ นิ้ว แลดูขาวสอาด เหมือนนาเกลือ


วันจันทร์ เดือน ๓ แรม ๑๐ ค่ำ เวลาเช้า ๒ โมง ราชทูต ไปดู (คุกขังนักโทษ แลวันที่ไปดูนั้นมี ) คนโทษถึงสิ้นชีวิต เขาผูก ฅอแขวนที่หน้าคุก คนนั้นเปนโทษเพราะยิงคนตาย

วันศุกร์ เดือน ๓ แรม ๔ ค่ำ มิศเตอร์เฟาล์พาพวกราชทูตไปดู คลังเงินคลังทอง (๓) ที่คลังนั้นทำแน่นหนา ก่อด้วยศิลาแผ่นใหญ่ ๆ มีผู้รักษากวดขันมั่นคง ทองแลเงินซึ่งเก็บไว้ในคลังทำเปนลิ่ม ๆ ประมาณ ยาวศอกคืบ หน้าใหญ่ ๒ นิ้ว หน้าน้อยนิ้วกึ่ง วางลำดับซ้อนกันขึ้นไปเหมือนกองอิฐ เปนหลายกอง.


วันเสาร์ เดือน ๔ ขึ้นค่ำ ๑ พวกราชทูตไปหาเลอรด์ปามิศ ตอน (๔) ซึ่งเปนที่ผู้สำเร็จราชการทั่วทั้งเมือง แลเลอรด์กลาเรนดอน เปนผู้สำเร็จราชการฝ่ายกรมท่า บอกว่าจะขอลากลับคืนเข้ามากรุงเทพ ฯ เลอรด์กลาเรนดอนก็รับคำว่า แล้วจะกำหนดวันให้


วันพุธ เดือน ๔ ขึ้น ๕ ค่ำ มิศเตอร์เฟาล์พาพวกราชทูตไปลงเรือกลไฟเที่ยวดูตามลำแม่น้ำเทมส์ แม่น้ำนี้อยู่ในกลางเมืองลอนดอน เหมือนอย่างแม่น้ำเจ้าพระยาที่อยู่ในกรุงเทพ ฯ นี้ แม่น้ำนั้นมีตะพาน ข้าม ๘ แห่ง บางตะพานทำด้วยเหล็ก บางตะพานก่อด้วยศิลา ในจังหวัดที่ทำตะพาน เมื่อน้ำขึ้นลึก ๑๑ ศอก ลงลึก ๗ ศอกเศษ พ้นตะพานลงไปน้ำลึกมาก กำปั่นใหญ่เข้าออกได้ แม่น้ำนั้นบางแห่ง กว้าง บางแห่งเท่ากันกับแม่น้ำในกรุงเทพ ฯ บางแห่งก็แคบกว่า ตามริม ตลิ่งทั้ง ๒ ฟากลงเขื่อนเหล็กบ้าง เขื่อนศิลาบ้าง เขื่อนไม่บ้าง มีตึก แลอู่ตลอดไปตามลำน้ำ แต่กำปั่นที่อยู่ในอู่ แลกำปั่นขึ้นล่องไปมาทั้งใหญ่ทั้งเล็ก เปนเรือกลไฟบ้าง เรือใบบ้าง มากกว่า ๑๐,๐๐๐ ลำ ราชทูตดู ลงไปตามลำแม่น้ำทางประมาณ ๖๐๐ เส้น แล้วจึงกลับขึ้นมาแวะดู กำปั่นเหล็กลำใหญ่ที่ต่อใหม่ เจ้าของเรือเห็นพวกราชทูตขึ้นไปบนกำปั่น ก็มีความยินดีมาต้อนรับ นำไปเที่ยวดูบอกกล่าวชี้แจงจนตลอดลำ แล้ว ราชทูตก็ลงเรือกลไฟกลับมาโฮเต็ล.


(๑) เสด็จออกอย่างนี้เปนงานปีตามฤดู มิใช่การพิเศษ

(๒) ฮารีปากษ์นี้ เคยเปนทูตนำสัญญาไทยทำกับอังกฤษมาแลก ภายหลังได้เปน เซอร์ แฮรีปากษ์ เปนผู้มีชื่อเสียงทางเมืองจีน

(๓) ที่ว่าคลังนี้ คือ แบงก์ออฟอิงแคลนด์ ธนาคารเมืองอังกฤษ

(๔) เปนอรรคมหาเสนาบดี

ตอนที่ ๑๐ ว่าด้วยกวีนตั้งขุนนาง แลราชทูตเข้าเฝ้าทูลลา ราชทูตไปดูที่ขังคนบ้า แลบริติชมิวเซียม

รุ่งขึ้นวันพฤหัสบดี เดือน ๔ ขึ้น ๖ ค่ำ กวีนรับสั่งให้เยนเนอรัลกัศต์ มาเชิญพวกราชทูตไปเฝ้าที่วังเซนต์เยมส์ เปนวันกำหนดพวกขุนนาง เข้าเฝ้า แล้วจะโปรดตั้งขุนนางด้วย เวลาบ่าย ๒ โมงเศษ พวกราชทูตก็ขึ้นรถไปคอยอยู่ที่วัง ถึงเวลาบ่าย ๓ โมงกวีนเสด็จมา ให้เปิดประตู ขุนนางก็เข้าไปคำนับทุกคน แต่ขุนนางซึ่งจะรับเปนที่ เซอร์นั้น เข้าไปนั่งคุกเข่าอยู่ตรงพระพักตร์ กวีนจึงเอาพระแสงดาบ วางลงบนบ่าซ้าย แล้วยกมาวางลงบนบ่าขวา แล้วยื่นพระหัตถ์ออกมา ขุนนางคนนั้นจึงเอามือของตัวรองลงใต้ฝ่าพระหัตถ์ เอาปากจุบธำมรงค์ ทีหนึ่ง แล้วลุกขึ้นเดินถอยหลังออกไป ไกลประมาณ ๓ วาแล้วจึง กลับหน้าเดินออกไป แต่ฝ่ายขุนนางหัวเมืองเข้าไปถึงคุกเข่าลง ข้างหนึ่งส่งหนังสือถวาย กวีนทรงรับเอา แล้วยื่นพระหัตถ์ให้ ทำเหมือน เช่นว่ามาแล้วทุก ๆ คน จนบ่าย ๔ โมงเศษกวีนจึงเสด็จขึ้น เลอรด์กลา เรนดอนจึงบอกราชทูตว่า กวีนกำหนดให้พวกราชทูตเข้าเฝ้าทูลลาใน วันพรุ่งนี้


วันศุกร เดือน ๔ ขน ๗ ค่ำ เวลาบ่าย ๓ โมง ราชทูต ทั้ง ๓ หม่อมราโชทัย จมื่นราชามาตย์ นายพิจารณ์สรรพกิจ ขุนปรีชาชาญสมุทล่าม ๗ คนพร้อมกันขึ้นรถไปเฝ้าที่วังบักกิงฮัม กวีน โปรดให้พวกราชทูตเข้าไปเฝ้าในห้องเรียกว่าห้องจีน ห้องนั้นตกแต่งล้วนแต่ของจีน เครื่องประดับประดา แลเครื่องใช้โต๊ะเก้าอี้เปนของจีน ทั้งสิ้น กวีนกับปรินส์อาลเบิตยืนเคียงกันอยู่ ครั้นพวกราชทูตคำนับ พร้อมกันแล้ว กวีนจึงตรัสเรียกหม่อมราโชทัยเข้าไปแล้วตรัสว่า พวก ราชทูตมาอยู่ในเมืองลอนดอนเราได้ยินว่ามีความสุขอยู่ แต่เสียดายนัก ที่ต้องมากถูกฤดูหนาว ราชทูตให้ทูลว่า ความหนาวนั้นไม่สู้เปนไรนัก ด้วยมาอยู่นานก็เคยไป กวีนจึงรับสั่งว่า เราปราร์ถนาให้พวกท่านทั้งปวง ไปจงดีมีความสุขตลอดถึงบ้านถึงเมืองเถิด เมื่อท่านทั้งปวงไปถึงแล้วจงกราบทูลพระเจ้ากรุงสยามด้วย ว่าเราขอให้ทรงพระชนมายุยืนยาวอยู่ ในราชสมบัติทั้งสองพระองค์ อนึ่งกิจกรรมอันใดที่ท่านได้เห็นได้ยิน จง กราบทูลถวายชี้แจงให้ทรงทราบด้วย หม่อมราโชไทยก็บอกราชทูต ตามรับสั่งแล้วจึงทูลว่า ถ้าพวกข้าพเจ้าได้กลับไปถึงกรุงเทพ ฯ แล้ว จะกราบทูลให้ถี่ถ้วน ว่าพระองค์ทรงพระเมตตาโปรดปรานรับรองให้มี ความสุขสบายอย่างไร แลการอันใดที่พวกข้าพเจ้าได้เห็นได้ยิน ก็ จะกราบทูลให้เสร็จสิ้นทุกประการ กวีนจึงรับสั่งว่าดีแล้ว ปรินส์อาลเบิต จึงตรัสบ้าง ความก็คล้ายก็คล้ายกับกวีนรับสั่ง แล้วพวกราชทูตก็ทูลลา ออกมาขึ้นรถกลับไปโฮเต็ล


วันเสาร์ เดือน ๔ ขึ้น ๗ ค่ำ พวกเลอรด์ ที่เปนขุนนางผู้ใหญ่ เอาตราสำหรับที่ไปคืนถวายแก่กวีน (๑) ทูลลาออกนอกราชการ ด้วย เกิดความขึ้นเพราะรับธุระฝ่ายฝรั่งเศส


วันจันทร์ เดือน ๔ ขึ้น ๑๐ ค่ำ พวกราชทูตไปดูที่ขังคนบ้า ทำเปนตึกใหญ่กว้างขวาง ในนั้นมีที่สำหรับสั่งสอนสาสนา เทศน์ให้คนบ้าฟัง ทุกวันอาทิตย์ ที่ในตึกเปนห้องใหญ่บ้าง ห้องเล็กบ้าง แต่บ้าที่คลั่งมาก ไม่ได้สติ ดิ้นโดดโลดโผนโดนเสาโดนไม้ทำร้ายแก่คนอื่นดังนั้น ขังไว้ ในห้องมีเบาะมีนวมตามพื้นแลฝา ถึงจะดิ้นรนประการใดเนื้อตัวก็ไม่ เจ็บช้ำ ในตึกนั้นทำสอาดหมดจดงดงามประหนึ่งว่าเรือนเศรษฐี มีหมอ แลคนคอยปรนิบัติรักษาประจำอยู่มิได้ขาด บ้าผู้ชายก็เอาไว้ส่วนผู้ชาย บ้าผู้หญิงก็เอาไว้ตามผู้หญิง มิให้ปนปะคละกัน ผู้ปรนิบัตินั้นพูดจาสิ่งใดล้วนอ่อนหวานปลอบโยน มิให้คนบ้าเคืองใจเลย


วันพุธ เดือน ๔ ขึ้น ๑๒ ค่ำ มิศเตอร์เฟาล์เชิญพระราชสาส์นของกวีนกับสำเนาฉบับหนึ่งมาส่งให้ราชทูต


วันพฤหัสบดี เดือน ๔ ขึ้น ๑๓ ค่ำ พวกเลอรด์คนใหม่เข้ารับตรา สำหรับที่ว่าราชการแทนเลอรด์คนเก่า


วันศุกร เดือน ๔ ขึ้น ๑๔ ค่ำ พวกราชทูตไปดูที่บริตอิชมิวเซียม เปนที่ไว้รูปสัตว์ต่าง ๆ คือสัตว์บก สัตว์น้ำ แต่เปนรูปสัตว์ตายแล้ว ผ่าท้องเอายาใส่ไม่เน่าเปื่อยเสียไป ดูเหมือนยังมีชีวิตอยู่ เวลาค่ำไปดูอิกแห่งหนึ่ง ที่นั่นเรียกมาดำตุศซอรด์ ชั้นล่างเปนที่ขายของ ชั้น ๒ ชั้น ๓ ทำเปนรูปปั้นด้วยขี้ผึ้งประสม มีรูปกวีน รูปปรินส์อาลเบิต แล เจ้าลูกเธอทั้ง ๙ องค์ กับพระวงศานุวงศ์ แลรูปกษัตริย์ต่างเมือง ต่างชาติก็มีมาก รูปดุ๊ก รูปเลอรด์ รูปคนอื่น ๆ ยืนบ้าง นั่งบ้าง บางรูปก็กลอกหน้ากลอกตาได้ รูปผู้หญิงคนหนึ่งนอนหายใจดูเหมือนคนนอนหลับ รูปทั้งปวงแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าแลของอื่นตามยศ ล้วนของ จริง ๆ ทั้งสิ้น ดูผิวพรรณสัณฐานเหมือนคนเปน นั่งพูดจาปราไสตาม มิตรสหายไปมาเยี่ยมเยียนซึ่งกันแลกัน


วันเสาร์ เดือน ๔ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เวลายาม ๑ กับ ๑๐ นาฑี มีจันทรอุปราคา จับข้างทิศอาคเณย์


(๑) คือการเปลี่ยนรัฐบาล พวกลิเบอรัลออกจากตำแหน่ง พวกคอนเซอเวติฟเข้าเปนรัฐบาล

ตอนที่ ๑๑ ว่าด้วยราชทูตออกจากเมืองลอนดอน ไปถึงท่าโดเวอ แลว่าด้วยประเทศเครดบริเตน

วันจันทร์ เดือน ๔ แรม ๒ ค่ำ มิสเตอร์เฟาล์มาแจ้งแก่ราชทูตว่า ได้รับหนังสือกำหนดมาว่า อิก ๓ วันพวกราชทูตจะได้ออกจากเมือง ลอนดอน (๑) รุ่งขึ้นราชทูตไปลาเลอรด์มาลเมศเบอรี ผู้สำเร็จราชการ ฝ่ายเมืองต่างประเทศ แทนเลอรด์กลาเรนดอน


วันพฤหัสบดี เดือน ๔ แรม ๕ ค่ำ เวลาเช้า ๒ โมง มิศเตอร์เฟาล์ เชิญราชทูตกับขุนนาง แลผู้มีชื่อพร้อมกัน ๒๗ คนขึ้นรถไฟออกจาก เมืองลอนดอน (๒) ทาง ๗๒ ไมล์ คือ ๓๒๓๐ เส้น ถึงท่าโดเวอ มิศ เตอร์เฟาล์จัดแจงให้ขึ้นไปกินอาหารบนโฮเต็ล พักอยู่จนเกือบบ่ายโมง ๑ จึงได้ลงเรือกลไฟออกจากท่าโดเวอ ข้ามทเลไปท่ากาลิศฟากข้างฝรั่งเศส แต่ท่าโดเวอถึงท่ากาลิศทาง ๒๐ ไมล์ คือ ๙๐๐ เส้น เมื่อไปถึงกลางทาง แลดูเห็นฝั่งทั้ง ๒ ข้าง คือฝั่งอิงแคลนด์ ฝั่งฝรั่งเศส


ที่นี้จะกลับว่าด้วยภูมิประเทศ เกาะเมืองอังกฤษที่เรียกเครด บริดติน ถ้าจะวัดโดยยาว ๕๘๐ ไมล์ คิดอย่างไทยเปน ๖๕ โยชน์กับ ๑๐๐ เส้น แต่โดยกว้างนั้น บางแห่งแคบ บางแห่งกว้าง จะกำหนดแน่ ไม่ได้ เกาะนั้นอยู่ในมหาสมุทอัตลันติก ทิศตวันตกเฉียงเหนือแห่ง เมืองไทย ที่ในเกาะเครดบริดบริดตินมีภูเขามากต้นไม้น้อย มีหัวเมืองใหญ่อยู่ในเกาะ ๘๕ เมือง มีกำปั่นไปเที่ยวค้าขายแก่นานาประเทศประมาณ ๓๐,๐๐๐ ลำ ที่ในเกาะเครดบริดติน เมืองลอนดอนเปนเมืองหลวง ตั้งอยู่ฝ่ายทิศอาคเณย์แห่งเกาะนั้น ที่ในเมืองทำงดงามนัก แต่ไม่มี กำแพงล้อม มีแต่ป้อมใหญ่อยู่แห่งหนึ่ง มีวัดประมาณ ๑๐๐ วัด ที่เปนวัดใหญ่ชื่อ ซันต์เปาโล ๑ แลเวศล์มินสเตอแอบเบ ๑


มีโรงละคอนใหญ่อย่างดีกว่า ๑๐ แห่ง แต่ละคอนนั้นไม่ได้ไปเล่น ที่อื่น ๆ เหมือนละคอนในเมืองนี้ เล่นอยู่แต่ในตึกที่ทำไว้สำหรับเล่นจน ๒ ยามจึงเลิก ถ้าคนจะเข้าไปดูก็ต้องเสียเงินให้มากบ้างน้อยบ้างตาม ที่ดีแลไม่ดี ในตึกโรงละคอนนั้นทำเปน ๔ ชั้นบ้าง ๕ ชั้นบ้าง ถ้าคนมั่งมี ก็อยู่ชั้นต่ำ ต้องเสียเงินมาก ด้วยเห็นตัวละคอนใกล้ สูงขึ้นไปเสียเงิน น้อยลง แต่เห็นไกลออกไปทุกชั้น ด้วยที่สูง


มีตึกเลี้ยงคนป่วยไข้ประมาณ ๑๕๐ ตึก มีที่สอนหนังสือเด็กประมาณ ๓๐๐ ตึกเศษ ที่แจกยาคนยากจนประมาณ ๒,๐๐๐ แห่ง คุกใส่คนโทษมีอย่ ๑๔ คุก คนที่ติดคุกไม่ได้ใส่ตรวนจำจองเลย เปนแต่ ขังไว้ไม่ให้ไปไหน ผู้คุมรักษากวดขัน ใช้ทำการอยู่ในนั้นไม่จ่ายให้ ออกไปทำการข้างนอก คุกนั้นก่อด้วยศิลาหนาแน่นมั่นคงมาก มีทหาร คอยระวังรักษาอยู่เปนนิจ พร้อมด้วยเครื่องศัสตราอาวุธลูกกระสุนดินดำ ในคุกทำสอาด มีที่สอนสาสนาให้คนฟังทุกวันอาทิตย์ มีหมอยาอยู่ สำหรับรักษาโรค มีที่นั่งที่นอนเสื้อกางเกงผ้าห่มนอนพร้อมทุกคน แต่ อาหารการกินพานจะขัดสน จ่ายแจกให้แต่พอเลี้ยงชีวิต ถึงใครมีมิตร สหายญาติกา หามาส่งก็ไม่ได้ ด้วยผู้คุมไม่เปิดประตูให้เข้าไป เหตุ ฉนี้คนที่ติดคุกจึงต้องอดหยากลำบากมาก


ในเมืองลอนดอนมีถนนหลายร้อยถนน ๆ ที่เปนถนนใหญ่ประมาณ กว้าง ๘ วา ที่เปนถนนเล็กกว้าง ๕ วาบ้าง ๔ วาบ้างถนนทั้งนั้นปูด้วยศิลาทำเหมือนแผ่นอิฐ แลปูตะแคงสำหรับรถแลม้าเดินริมถนนทั้ง ๒ข้างยกขึ้นสูง ๖ นิ้ว กว้างประมาณ ๕ ศอก ปูด้วยศิลาใหญ่ หน้าศอกคืบ ๔ เหลี่ยมเปนทางคนเดิน แล้วมีพวกอำเภอ (๓) คอยดูเหตุการณ์เดินประจำรักษาอยู่ทุกถนนทั้งกลางวันแลกลางคืน ตาม ๒ ข้างถนนมี เสาเหล็กสูงประมาณ ๕ ศอก ปักห่างกันประมาณ ๑๐ วา แต่ปัก เยื้องกันเปนฟันปลา ไม่ปักเปนคู่ บนปลายเสาใสโคมแก้วตามไฟใน เวลากลางคืน ไฟที่ตามอังกฤษเรียกแคศ เปนของปลาด ไม่ต้อง ใช้น้ำมันแลไส้เหมือนตะเกียงธรรมดา เปนแต่หลอดขึ้นไป เอาแต่ไฟจุดที่ปลายหลอดก็ติดสว่างดี เมื่อจะให้ดับก็บิดควงเสียอย่าให้ลมเดินได้ ไฟก็ดับ อันไฟแคศนั้นอังกฤษใช้ทั่วไปทุกบ้านทุกเรือน เรือนทั้งปวง ที่ในเมืองล้วนแต่ตึกทั้งนั้น ก่อด้วยศิลาบ้าง ด้วยอิฐบ้าง ทำเปน ๓ ชั้นบ้าง ๔ ชั้นบ้าง ๕ ชั้นบ้าง ๖ ชั้นบ้าง แต่หลังคาทำแบน ๆ บานหน้าต่างทำเปน ๒ ชั้น บานไม้อยู่ชั้นนอกกระจกอยู่ชั้นใน แล้วมีม่าน อีกชั้นหนึ่ง เปนแพรบ้าง เปนผ้าบ้าง ฝาผนังข้างในปิดกระดาษลาย พื้นเรือนนั้นปูพรม ไม่ได้ปูเสื่อเลยทุกบ้านทุกเรือน ที่ฝาผนังมีเตา ทำด้วยเหล็กสำหรับใส่ไฟให้อุ่น แล้วมีปล่องตลอดขึ้นไปจนพ้นหลังคา ให้ควันขึ้นได้ไม่ให้อบอยู่ในเรือน คนในเมืองลอนดอนนั้นต่อมั่งมีเงินมากจึงจะมีเรือนอยู่ ด้วยที่ดินแพง ค่าจ้างคนทำเรือนก็ต้องเสียเงินมาก ถ้ามีเงิน ๒๐๐ หรือ ๓๐๐ ชั่งแล้วไม่พอจะทำเรือนได้ ต้องเช่าเรือนอยู่ คนที่ มีเงินเพียง ๒๐ ชั่ง ๓๐ ชั่งยังว่าเปนคนจน บางทีต้องเปนลูกจ้างทำการ ของนายกินของนาย อยู่ในเรือนของนาย ตัวจะออกหากินต่างหากไม่ได้ ด้วยเข้าของสารพัดแพงนัก ทุนน้อยเท่านั้นจะทำอันใดก็ขัดสน ตามตึก ชั้นล่าง ๒ ข้างถนนในพื้นเมืองเปนห้างร้านขายเครื่องทองเครื่องเงินเครื่องแก้ว เครื่องเหล็ก เครื่องทองเหลืองทองแดง เครื่องศิลา เครื่องกระเบื้อง เครื่องไม้แลแพรผ้า เครื่องอื่น ๆ ก็มากมายหลายอย่าง ต่าง ๆ ตามแต่ผู้ซื้อจะปราร์ถนาสิ่งใดก็เที่ยวเลือกดูซื้อได้ตามประสงค์


ในเมืองลอนดอนมีแม่น้ำอยู่กลางเมืองแม่น้ำหนึ่ง ชื่อเทมส์ ไหลมาแต่ภูเขาข้างทิศตวันตกเฉียงเหนือ มาลงทเลข้างตวันออกใน แม่น้ำเทมส์ มีเรือกลไฟหลายร้อยลำ เปนเรือจ้าง ตกแต่งห้องที่นอนที่นั่งงดงามวิจิตร์บรรจง คอยรับส่งคนขึ้นล่องเทียวเล่นในลำน้ำตามสบายฝ่ายบนบกก็มีรถเทียมด้วยม้า ๆ เดี่ยวบ้าง คู่ ๑ บ้าง ๒ คู่บ้าง คอย รับจ้างคนไปมาตามถนน รถเหล่านั้นทำต่าง ๆ กัน มีฝากระจกบ้าง ไม่มีฝาบ้าง บางรถข้างในนั่งได้ ๒ คน บางรถนั่งได้ ๔ คน มีเบาะนั่ง ข้างหลัง ที่พิงก็ใส่นวมน่วมนุ่มอ่อนอุ่นเปนรถอย่างดี ยังรถอย่างอื่นเปน รถใหญ่ไม่สู้ดีนั้น นั่งข้างในได้ถึง ๑๒ คน บนหลังคาก็นั่งได้อีก หลายคน แต่รถอย่างนั้นราคาถูก ผู้ดีไม่ชอบใจไป ด้วยคนมากมาย หลายชนิด


ยังรถวิเศษอิกอย่างหนึ่ง คือรถไฟสำหรับใช้ทางไกล ไปได้ ตลอดทุกหัวเมืองที่อยู่ในเกาะเครดบริดติน ทางรถไฟนั้นทำด้วยเหล็ก เปนทางตรง ถ้าถึงภูเขาก็เจาะเปนอุโมงค์ตลอดไปจนข้างโน้น ที่เปน เนินตำ ๆ ก็ตัดเนินลงเปนทางราบเสมอดิน ถ้าถึงแม่น้ำหรือคลอง ก็ก่อตะพานศิลาข้าม ถ้าเปนที่ลุ่มก็ถมขึ้นให้ดอนเสมอ แล้วทำเปน ๒ ทางบ้าง ๔ ทางบ้างเคียงกัน ทางรถไปทาง ๑ ทางรถมาทาง ๑ ไม่ให้ร่วมทางด้วยกลัวจะโดนกัน ที่เรียกว่ารถไฟนั้นใช่จะเปนรถไฟ ทุกรถหามิได้ เปนรถไฟอยู่รถเดียวแต่รถหน้า แล้วลากรถอื่นไปได้ ถึง ๒๐ รถเศษ บางทีถ้าจะไปเร็วก็ลากแต่น้อยเพียง ๗ รถ ๘ รถ รถที่เดินเร็วเดินได้โมงละ ๖๐ ไมล์ คือ ๒๗๐๐ เส้นเปนกำหนด รถ เหล่านั้นมีขอเหล็กเกี่ยวต่อ ๆ กันไป แต่จัดเปน ๔ ชนิด ชนิดที่ ๑ นั้น รถคัน ๑ กั้นเปน ๓ ห้อง ๆ นั่งได้ ๔ คน รวม ๓ ห้อง ๑๒ คน พร้อมด้วยฟูกเบาะเมาะหมอน ทำด้วยแพรบ้าง บางทีทำด้วยสักหลาดแลหนังฟอกอย่างดี ตามฝาใส่กระจกมิดชิดไม่ให้ลมเข้าได้ ข้างใน มีมุลี่แพรสำหรับบังแดด รถที่ ๒ ก็ทำเปน ๓ ห้องเหมือนกัน แต่ห้อง หนึ่งนั่งได้ ๖ คน ที่ทางไม่สู้งามเหมือนรถที่ ๑ ยังมีรถที่ ๓ เปนรถเร็ว ไม่ได้กั้นห้อง รถคันหนึ่งมีอยู่แต่ห้องเดียว คนนั่งได้กว่า ๒๐ คน ปนปะคละกันไป เก้าอี้ข้างในก็ไม่มีเบาะหมอน แลไม่สู้สอาดงดงาม อีก รถที่ ๔ นั้นสำหรับบรรทุกของแลสัตว์มีม้าแลวัวเปนต้น ในขณะรถไฟ เดินอยู่นั้นจะมีคนมายืนอยู่หรือต้นไม้อันใดที่อยู่ริมทางก็ดี คนที่อยู่บนรถ จะดูว่าคนผู้ใดต้นอะไรก็ดูไม่ทันรู้จักชัด ด้วยรถไฟเร็วนัก


ตามข้างทางที่รถไฟไปมีเสายาว ๖ ศอก ปักห่างกันประมาณ ๓๐ วา บนปลายเสาใส่ลวดไฟฟ้าล่ามตลอดไปทุกหัวเมืองที่อยู่ใน ประเทศเกาะเครดบริดติน ไฟฟ้าอย่างนั้นภาษาอังกฤษเรียกว่าเตลคราฟสำหรับบอกเหตุการณ์กิจธุระสิ่งใดได้โดยรวดเร็ว แต่ต้องเสียเงินให้ แก่เจ้าของ ถ้าผู้ซึ่งอยู่ต่างบ้านต่างเมืองทางไกลกัน เหมือนกรุงเทพ ฯ ขึ้นไปเมืองนครราชสิมา แม้จะบอกความข้อใดข้อหนึ่งไปให้คนที่อยู่ เมืองโน้นรู้แล้ว คนข้างโน้นจะบอกตอบมาได้โดยเร็ว เหมือนเรานั่งพูด กันเล่นในที่ใกล้ แต่เราจะบอกเองไม่ได้ ต้องบอกความแก่ผู้รักษา อยู่ที่ต้นลวด ผู้รักษานั้นก็ทำตามลัทธิที่เคยทำ ถ้าคนอยู่ข้างโน้นจะ ตอบมาประการใด ก็ต้องบอกแก่ผู้รักษาข้างโน้นเหมือนกัน ข้างโน้นตอบมาแล้ว ผู้รักษาข้างนี้จึงบอกแก่เราให้แจ้ง การที่บอกกันไปมา ดังนั้น ถึงใครจะดูก็ไม่เข้าใจ ด้วยไม่รู้ลัทธิ ต่อคนที่ได้เรียนจึงจะรู้


ที่ในเมืองลอนดอนมีที่หลายแห่งทำเปนป่าปลูกต้นไม้ใหญ่ ใต้ต้น ตามพื้นแผ่นดินปลูกหญ้าคล้ายกับหญ้าแพรก ขึ้นเขียวสดงดงามสม่ำเสมอเหมือนปูพรม ไม่มีใครเข้าไปทำรกเรี้ยวในที่นั้นได้ แต่บรรดา ป่าทั้งนี้มีชอหมดทุกป่า คือไฮด์ปาร์กป่า ๑ ครินปาร์กป่า๑ ครินวิชปาร์ก ป่า ๑ รีเยนต์สปาร์กป่า ๑ เซนต์เยมส์ปาร์กป่า ๑ วิกโตเรียปาร์กป่า ๑ ยัง อีกที่เปนป่าเล็ก ๆ หลายแห่ง แต่ไฮด์ปาร์กนั้นเปนที่ใหญ่โต มีแม่น้ำ ด้วนอยู่ในกลางแม่น้ำ ๑ ตามริมน้ำทำเปนหาดทราย แลเลี่ยนเตียนดีดู น่าสนุกนัก น้ำในแม่น้ำนั้นขึ้นเรี่ยเปี่ยมชายหาดอยู่เปนนิจ ที่ริมตลิ่ง มีตึกอยู่แห่ง ๑ หน้าตึกมีเรือใบเรือกรรเชียงจอดไว้สำหรับให้คนเช่าไป แล่นใบ แลตีกระเชียงเที่ยวเล่นในแม่น้ำนั้น ที่ไฮด์ปาร์กเปนที่ประชุม ชายหญิงทั้งผู้ดีแลคนจน เมื่อถึงเวลาเย็นแล้วบางคนก็ขี่ม้าแลรถ บางคน ก็เดินเท้า ไปเที่ยวตากลมอากาศในป่านั้นเปนพวก ๆ บางคนเปน ชายหนุ่มก็ชักชวนผู้หญิงสาวแต่งตัวสอาดโอ่โถง ขึ้นขี่ม้าคนละม้าแล้ว ขับแข่งเปนคู่เคียงเรียงกันไป แต่ผู้หญิงอังกฤษขี่ม้าไม่คร่อมเหมือนอย่าง ผู้ชาย ขี่ไพล่ขาคล้ายกันกับผู้หญิงไทยชาวบ้านนอกขี่กระบือ แต่ขี่ดี ไม่ใคร่จะตก ถึงม้าจะห้อหกทำพยศต่าง ๆ ก็ขี่ได้


คนที่เปนขุนนางแลเศรษฐีอยู่ในประเทศนั้น บางคนก็ชอบใจเที่ยวยิงสัตว์ จึงซื้อที่ปลูกต้นไม้ทำเปนป่าแล้วล้อมรั้วเอาสัตว์ที่ไม่ดุร้าย เหมือนอย่างเนื้อแลกระต่ายปล่อยไว้ในนั้น แล้วไปเที่ยวยิงเล่นตาม สบาย บางทีก็ไปขี่ม้ายิงนกตามท้องนาบ้าง พวกที่เปนผู้ดีเหล่านั้น ถ้ายิงสัตว์ได้มาแล้ว ก็เอาไว้กินบ้างแจกจ่ายให้ปันตามพวกพ้องมิตร สหายที่รักกันบ้าง บางคนที่ยากจน ได้มาแล้วก็เอาไปขายที่ตลาด


ในตลาดนั้นมีเนื้อสัตว์หลายอย่าง คือเนื้อวัว เนื้อสมัน เนื้อแกะ เนื้อหมู เนื้อกระต่าย เนื้อนก เนื้อห่าน เนื้อเป็ด เนื้อไก่ เนื้อเต่า แลกุ้งปลา ของทั้งนี้มีเสมอทุกวันที่ในท้องตลาด ถ้าหยากกินเมื่อไร ก็ซื้อได้ แต่ผลไม้มีน้อยอย่าง ไม่มากเหมือนเมืองไทย บรรดา ของกินทุกสิ่งราคาแพงนัก ถ้าจะเลี้ยงโต๊ะสักครั้งหนึ่งก็เสียเงินหลาย ชั่งจึงจะพอ


(๑) ตั้งแต่ทูตไทยไปถึง รัฐบาลอังกฤษให้หมอคน ๑ ชื่อตวีดี เปนผู้คอยดูแล รักษาไข้เจ็บของพวกทูต หมอคนนี้ทำความเห็นยื่นรัฐบาลว่า ตั้งแต่เข้าฤดูหนาวพวกไทย ไม่ใคร่สบาย อยู่ช้าไปเกรงจะทนหนาวไม่ได้ จึงกำหนดวันให้กลับ เรื่องนี้มีพวกที่ไป ในกองทูตคราวนั้นเล่าว่า ใครไปเจ็บลงคน ๑ หมอฝรั่งมาตรวจว่าเพราะทนหนาวไม่ได้ เกรงจะเปนอันตราย พอหมอไปแล้วไทยที่เปนคนใช้คน ๑ ลุกขึ้นเปลื้องเสอผ้า นุ่งแต่ กังเกงชั้นใน ว่าไม่เห็นหนาวอะไร อยู่ในเมืองไทยหนาวกว่านั้นอิก อนึ่งปรากฎว่า เมื่อก่อนทูตจะออกจากลอนดอน ได้ไปส่งก๊าดเยี่ยมเอกอรรค ราชทูตฝรั่งเศส แลเอกอรรคราชทูตเตอรกีด้วย

(๒) ขาทูตกลับมีทหารแห่เหมือนขาไป

(๓) ที่เรียกว่าพวกอำเภอตรงนี้ คือโปลิศ เวลานั้นในกรุงเทพ ฯ ยังไม่ได้จัดตั้ง โปลิศ จึงไม่เรียกในที่นี้

ตอนที่ ๑๒ ว่าด้วยผู้รับใช้ปรนิบัติราชทูตที่โฮเต็ล แลราชทูตออกจากลอนดอนจะกลับมาเมืองไทย มาแวะที่เมืองฝรั่งเศส

เมื่อพวกราชทูตไปอยู่ที่เมืองลอนดอนนั้น กวีนโปรดให้ไปอยู่ที่โฮเต็ลชื่อกลาริช มีที่กินอยู่นั่งนอนเปนสุขยิ่งกว่าอยู่ในบ้านเรือนของตัว เวลาเช้าตื่นนอนล้างหน้าแต่งกายใส่เสื้อเสร็จแล้วจึงเปิดประตูห้องออกไว้ พวกผู้หญิงสาว ๆ ก็เอาถ่านศิลาเข้าไปไส่ให้แล้วเช็ดถูตู้เตียงสิ่งของ ทั้งปวงให้หมดจด ทั้งที่นั่งที่นอนก็ปูปัดจัดแจงน้ำกินน้ำใช้ใส่ที่พร้อมแล้ว ก็ลากลับไป ถึงเวลาเย็นก็มากระทำเหมือนเวลาเช้า แล้วเอาเทียน ปักไว้ที่เชิงเทียนสองเล่มพอจุดตลอดรุ่ง เปลี่ยนผ้าเช็ดหน้าใหม่ไว้ เอา ผืนเก่าไปซักเสีย ทำดังนั้นเสมอทุกวันมิได้ขาด แล้วมีหมอคนหนึ่ง มาตรวจตราดูแลทุกวัน ถ้าพวกราชทูตคนใดป่วยไข้ หมอก็ให้ยา รักษาจนหาย


เมื่อเวลาเช้าก่อนกินเข้า คนที่คอยรับใช้ก็ยกถาดเงินใหญ่ใส่ น้ำชา มีน้ำตาลทรายนมโคขนมปังอ่อนเนยเหลวมาให้ถึงในห้อง เวลา สาย ๔ โมงจึงเลี้ยงเข้า เวลาเที่ยงเลี้ยงน้ำชา มีผลไม้แลขนมอีก หลายสิ่ง บ่าย ๓ โมงเลี้ยงเข้าเย็น เวลาค่ำเลี้ยงน้ำชาเหมือนกลางวัน อีกครั้งหนึ่ง ในเวลาที่เลี้ยงหรือเวลาอื่นก็ดีพวกราชทูตจะปราร์ถนากินสิ่งใด ผู้รับใช้ก็ไปหาซื้อมาให้มิได้คิดราคาถูกแลแพง ถ้าของไม่มี ในเมืองหลวง จะมีอยู่หัวเมืองทางไกลกันเหมือนกรุงเทพ ฯ ไปพระ พิศณุโลก ผู้รับใช้นั้นก็บอกไปโดยสายเตลคราฟ ฝ่ายคนที่อยู่ในเมือง โน้นรู้แล้วก็จัดแจงของนั้นฝากมากับรถไฟโดยเร็วไม่ทันข้ามวัน ก็ได้กิน สมความปราร์ถนา เมื่อพวกราชทูตอยู่ในเมืองลอนดอนนั้น ถ้าปราร์ถนา จะไปเที่ยวแห่งใด ๆ ทางใกล้ก็ดี ทางไกลก็ดี จะไปด้วยรถเทียมม้า หรือรถไฟ หรือจะดูการงานแลของวิเศษสิ่งไรที่จะต้องเสียเงิน ก็ไม่ต้อง เสียเลย ด้วยกวีนโปรดให้ใช้เงินหลวงแทนสิ้นทั้งนั้น


ตั้งแต่วันราชทูตไปถึงลอนดอน ถ้าจะนับถึง ๔ เดือนกับ ๘ วัน จึงได้กลับออกจากเมืองลอนดอนมาลงเรือที่ท่าโดเวอ แล้วลง เรือกลไฟข้ามทเลไปขึ้นที่ท่ากาลิศ (๑) ครั้นถึงท่ากาลิศฟากข้างฝรั่งเศส มิศเตอร์เฟาล์จึงนำพวกราชทูตขึ้นพักอยู่บนโฮเต็ลคืนหนึ่ง รุ่งขึ้นกิน อาหารพร้อมแล้ว เวลาเช้า ๓ โมงจึงขึ้นรถไฟไปเมืองปารีศ เปนเมือง หลวงของฝรั่งเศส ไปทางประมาณ ๒ ชั่วโมง มีป้อมแห่ง ๑ บ่ายโมง ครั้นถึงโฮเต็ลกลางทางหยุดรถกินของหวานน้ำชา บ่าย ๕ โมงเศษถึง เมืองปารีศ ทาง ๒๐๐ ไมล์ คือ ๙๐๐๐ เส้น มิสเตอร์เฟาล์ให้พวก ราชทูตพักอยู่ที่โฮเต็ล ชื่อแครนด์โฮเต็ลดูลูฟรี


วันเสาร์ เดือน ๔ แรม ๗ ค่ำ เจ้าพนักงานฝ่ายฝรั่งเศสมานำพวกราชทูตไปที่ลิมิวสิดูลูฟรี เปนตึกใหญ่ ในนั้นมีรูปเขียน รูปศิลา ต่าง ๆ ทั้งผู้ชายแลผู้หญิง แลของต่างประเทศ คือของจีนของเมือง อื่น ๆ ก็มีมาก ดูแล้วจึงเลยไปหาเลอรด์เกาเล เปนกงสุล (๒) อังกฤษ พูดจาปราไสกันแล้วลากลับมาที่อยู่


วันอาทิตย์ เดือน ๔ แรม ๘ ค่ำ เวลาบ่ายโมงเศษ เอมเปอเรอคือพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสให้รถมารับพวกราชทูต ๓ รถ มีคนแต่งตัวใส่ หมวกติดสายแถบทองเปนคนขับรถคน ๑ ยืนท้ายรถ ๒ คน ไปที่วังชื่อ ลิปาลิศเดศตูวิลิริศ ราชทูตคอยอยู่จนบ่าย ๒ โมง เอมเปอเรอ กับเอมเปเรศ ซึ่งเปนพระมเหษีเกี่ยวพระกรเสด็จมาด้วยกัน (๓) มีขุนนาง นำ ๔ คู่ เอมเปอเรอแต่งพระองค์อย่างนายทหาร ทรงฉลองพระองค์ดำกางเกงแดง แต่เอมเปรศนั้นแต่งตามธรรมเนียม พวกราชทูตพร้อม กันยืนขึ้นคำนับ เอมเปอเรอแลเอมเปรศเสด็จมายืนตรัสด้วยพวกราชทูต อยู่ประมาณ ๕ นาฑี แล้วเสด็จกลับไป ราชทูตก็กลับมาโฮเต็ลที่พัก


รุ่งขึ้นพวกราชทูตไปดูที่ฝังศพแนบโปเลียนบูนะปาต อยู่ในวัดใหญ่แนบโปเลียนบูนะปาตคนนี้ได้เปนกษัตริย์ครองกรุงฝรั่งเศส เปนลุงของ พระเจ้าฝรั่งเศสองค์นี้ แต่ศพยังหาได้ฝังไม่ ใส่หีบตั้งไว้ในห้องแห่ง ๑ หลุมที่จะฝังนั้นขุดลงไปลึกได้ประมาณ ๓ วา กว้างประมาณ ๔ วา ตามข้างหลุมก่อด้วยศิลาขาว ที่สำหรับใส่ศพตั้งอยู่กลาง ประดับด้วย โมราดำ แต่การที่ทำยังหาสำเร็จไม่ (๔)


วันอังคาร เดือน ๔ แรม ๑๐ ค่ำ มิศเตอร์เฟาล์พาจมื่นมณเฑียรพิทักษ์ หม่อมราโชไทย นายพิจารณ์สรรพกิจ ไปเยี่ยมเจ้าแลขุนนาง ผู้ใหญ่ในเมืองปารีศแทนราชทูต อุปทูต (๕)


วันพฤหัสบดี เดือน ๔ แรม ๑๒ ค่ำ เวลาเช้า ๕ โมง มิศเตอร์ เฟาล์นำพวกราชทูตไปขึ้นรถไฟออกจากเมืองปารีศ ครั้นถึงเวลาบ่าย เวลาค่ำหยุดพักกินอาหารที่โฮเต็ลตามระยะทาง รุ่งขึ้นวันศุกรเดือน ๔ แรม ๑๓ ค่ำ เวลาเช้าโมง ๑ ถึงท่าเมืองมาเซล์ เปนเมืองขึ้นแก่ ฝรั่งเศส ทาง ๘๐๐ ไมล์ คือ ๓๖๐๐๐ เส้น มิศเตอร์เฟาล์จงให้พวก ราชทูตขึ้นพักอยู่บนโฮเต็ล ชื่อเดศโกโลนิศ แล้วจึงเชิญให้ไปเยี่ยม เจ้าเมือง แลแอดมิรัล จนเวลาเย็นจึงกลับมาที่สำนัก กินอาหารเสร็จ แล้วก็พร้อมกันมาลงเรือกลไฟชื่อกาเรดอก ซึ่งเคยรับราชทูตไปส่ง เมืองปอรด์สมัท เมื่อมานั้นมิศเตอร์เฟาล์ก็ตามลงมาส่งถึงกำปั่นด้วย แล้วจึงลากลับไป


วันเสาร์ เดือน ๔ แรม ๑๔ ค่ำ เวลาเช้า ๕ โมงเศษ กำปั่น กาเรดอกได้ใส่ไฟใช้จักรออกจากท่าเมืองมาเซล์ วันจันทร์เดือน ๕ ขึ้นค่ำ ๑ บ่ายโมง ๑ ถึงสิกสิลี เปนชื่อฝั่ง ขณะนั้นสุริยอุปราคาจับข้าง ทิศพายัพ เวลา ๘ ทุ่มถึงเมืองมอลตา รุ่งขึ้นเวลาเช้า ๔ โมงเศษ เจ้าเมืองให้จัดเรือโบต ๓ ลำมารับพวกราชทูต เมื่อราชทูตลงจากกำปั่น แล้วที่บนป้อมหน้าเมืองยิงปืนใหญ่สลูตรับ ๑๙ นัด ครั้นถึงฝั่งมีรถมา คอยรับอยู่ ๓ รถ พวกราชทูตก็ขึ้นรถไปหาเจ้าเมือง พูดจาไถ่ถาม สุขทุกข์กันแล้ว เจ้าเมืองจึงว่า ค่ำวันนี้ทุ่ม ๑ ขอเชิญท่านทั้ง ๖ คน มากินโต๊ะกับข้าพเจ้า ราชทูตรับคำแล้วลามาโฮเต็ล บ่าย ๒ โมงจึงพา กันไปบ้าน เลอรด์ไลออนส์เปนที่แอดมิรัล (ผู้บัญชาการทหารเรือ) ถึง เวลาทุ่ม ๑ ก็พร้อมกันขึ้นรถไปกินโต๊ะที่บ้านเจ้าเมือง สำเร็จแล้วก็ลากลับ มาโฮเต็ล รุ่งขึ้นเช้า ๔ โมง เจ้าเมืองกับแอดมิรัลแลขุนนางฝ่ายทหาร อีก ๕ คนมาเยี่ยมราชทูตที่โฮเต็ล


วันศุกร เดือน ๕ ขึ้น ๕ ค่ำ แอดมิรัลกับขุนนางรองมาหาราชทูตแล้วมอบล่ามคน ๑ ให้มาส่งราชทูตด้วยจนถึงท่าเมืองสุเอศ ครั้นแอดมิรัลลากลับไปแล้ว พวกราชทูตพร้อมกันมาลงเรือโบตที่ท่า เมอเรือจะออก จากท่านั้นบนป้อมให้ยิงสลูตส่ง ๑๙ นัด เวลา ๕ โมงเช้า กำปั่นกาเรดอก ได้ออกจากที่ทอดสมอเมืองมอลตา


วันอังคาร เดือน ๕ ขึ้น ๙ ค่ำ เวลาเช้าโมงเศษ ถึงเมือง อาเล็กซันเดอ เจ้าเมืองให้จัดเรือโบตมารับพวกราชทูต ๓ ลำ แล้วเชิญ ให้ขึ้นพักอยู่ในวัง ชื่อมูแซเฟียฮอเนอ อาเล็กซันเดรีย แลขุนนาง ผู้ใหญ่ในเจ้าไกโรคน ๑ มาต้อนรับราชทูต แล้วแจ้งความว่าเจ้าไกโร ไม่อยู่ ขึ้นไปธุระข้างปลายน้ำ เห็นจะช้าอยู่สัก ๔-๕ วันจึงจะกลับมา เมื่อเจ้าไกโรจะไปได้สั่งไว้ว่า ถ้าพวกราชทูตไทยมาถึงแล้วให้รับรอง เหมือนอย่างแต่ก่อน แล้วให้ขุนนางมารับใช้อยู่คน ๑ ถ้าพวกราชทูต จะปราร์ถนาสิ่งใด ก็ให้ดูจัดแจงให้ แล้วสั่งว่า ถ้าพวกราชทูตจะใคร่ พบกันกับเจ้าไกโร ขอเชิญคอยสัก ๔-๕ วัน ราชทูตตอบว่า หยาก จะพบกับเจ้าไกโรอยู่ แต่จะรอช้าวันนั้นไม่ได้ ด้วยกลัวกำปั่นรบจะมา คอย ขุนนางในเจ้าไกโรจึงว่า ถ้าท่านจะไปเมื่อไร เจ้าไกโรสั่ง ไว้กับขุนนางล่ามคน ๑ ให้ตามไปส่งจนถึงกำปั่นรบด้วย พูดกัน เท่านั้นแล้วก็ลาไป ราชทูตพักอยู่ที่วัง ๓ คืน


วันศุกร เดือน ๕ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เวลาเช้า ๕ โมงพร้อมกันขึ้นรถ ไฟไปจนบ่าย ๔ โมงเศษถึงเมืองไกโร เจ้าพนักงานจัดรถมารับมีทหาร ขัดกระบี่ขี่ม้านำหน้าคู่ ๑ ตำรวจเดินถือหวายคู่ ๑ นำไปส่งถึงโฮเต็ล ชื่อโอเรียนเตล ราชทูตพักอยู่ที่นั้น ถึงวันจันทร์เดือน ๕ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ขุนนางล่ามที่เจ้าไกโรให้มาอยู่ด้วยนั้นมาแจ้งความว่า ที่เมือง สุเอศบอกเตลคราฟมาว่า กำปั่นรบซึ่งมารับราชทูตนั้น บัดนี้ถึงเมืองสุเอศแล้ว


รุ่งขึ้นเวลาเช้า ๔ โมงครึ่ง พวกราชทูตทั้งนายแลไพร่พร้อมกันขึ้นรถไฟออกจากเมืองไกโร ไปจนบ่าย ๔ โมงครึ่ง สิ้นทางรถไฟ ๘๐ ไมล์ คือ ๓๖๐๐ เส้น ถึงที่รถเทียมม้า เจ้าพนักงานจัดให้ พวกราชทูตขึ้นรถม้าต่อไป จนเวลายาม ๑ ถึงเมืองสุเอศ ครั้น เวลาเช้ากงสุลอังกฤษอยู่ที่เมืองสุเอศมาบอกว่า กำปั่นที่มานี้มิใช่มารับ ราชทูต เปนกำปั่นที่มาเที่ยวหยั่งน้ำในทเล ว่าที่ไหนลึกที่ไหนตื้น พวกตุรเกส่องกล้องดูเห็นเปนเรือกลไฟก็สำคัญว่าจะมารับราชทูต จึง ได้บอกเตลคราฟขึ้นไปถึงกงสุลที่เมืองไกโร ไม่รอรั้งฟังให้แน่ก่อน การอย่างนี้เปนผิดอยู่ อนึ่งเมืองนี้เปนเมืองเล็กน้อย โฮเต็ลก็คับแคบ ทั้งอาหารก็กันดาร ที่เมืองไกโรนั้นเปนเมืองใหญ่ อาหารจะบริโภค ก็บริบูรณ์ ที่อยู่ที่กินก็เปนสุข ท่านจะกลับไปอยู่ที่เมืองไกโรหรือจะคอย อยู่ที่นี่ก็ตามแต่ใจ พวกราชทูตจึงปรึกษาเห็นพร้อมกันว่า ซึ่งจะ กลับไปกลับมานั้นจะเปนที่รำคาญใจแก่เจ้าพนักงาน ด้วยต้องรับต้องส่งบ่อย ๆ จึงบอกกับกงสุลว่าถึงจะลำบากอดหยากบ้าง ได้มาแล้วจะคอย อยู่ที่นี่กว่ากำปั่นจะมารับ กงสุลจึงว่าถ้าท่านมีธุระอย่างไร จะประสงค์ สิ่งใด ขอจงใช้คนมาบอกข้าพเจ้าให้ทราบด้วย พูดกันแล้วกงสุลก็ลาไป.


(๑) การที่ราชทูตกลับทางประเทศฝรั่งเศสนั้น ปรากฎในจดหมายเหตุของ รัฐบาลอังกฤษว่า แต่เดิมรัฐบาลจะจัดให้กลับมาเรือจากเมืองอังกฤษเหมือนเมื่อขาไปราชทูตว่าเมื่อขาไปถูกคลื่นใหญ่ที่อ่าวบิศเคลำบากเต็มที่ ขากลับเปนฤดูหนาว เขาว่าคลื่นใหญ่ยิ่งกว่าขาไป ขอกลับทางประเทศฝรั่งเศส รัฐบาลอังกฤษจึงจัดให้มาทางนั้น

(๒) ลอร์ดเคาเล เปนเอกอรรคราชทูตอังกฤษ มิใช่กงสุล

(๓) พระเจ้านะโปเลียนที่ ๓ กับพระราชินี ยือยินี

(๔) ที่ตึก แอนเวอริด

(๕) ได้ความในรายงานมิศเตอร์เฟาล์ ว่าไปส่งก๊าศที่เจ้านะโปเลียน พระญาติ ของเอมเปอเรอ อรรคมหาเสนาบดี เสนาบดีว่าการต่างประเทศ แลเสนาบดีกระทรวงวัง

ตอนที่ ๑๓ ว่าด้วยราชทูตอยู่เมืองสุเอศ แล้วกลับมาถึงเมืองคาลี แลเมืองสิงคโปร์ จนถึงกรุงเทพฯ

ณวันศุกร เดือน ๕ แรม ๔ ค่ำ กำปั่นเมล์มาถึงลำ ๑ กงสุล ที่เมืองสุเอสได้รับหนังสือฉบับ ๑ มาแต่กัปตันกำปั่นรบที่จะมารับพวก ราชทูต ในหนังสือนั้นว่า กำปั่นได้ออกจากเมืองกาลกัตตาแล้ว แลจะรีบมาให้ถึงเมืองสุเอศในวันแรม ๗ ค่ำ ๘ ค่ำ


ราชทูตต้องพักอยู่ที่โฮเต็ลเมืองสุเอศจนถึงวันจันทร์ เดือน ๕ แรม ๗ ค่ำ เวลากลางคืนเรือกลไฟชื่อ ไปเลเดศ เปนกำปั่นรบมาถึงท่า เมืองสุเอศ รุ่งขึ้นกัปตันจึงมาหาราชทูตแล้วบอกว่า ข้าพเจ้าได้คำสั่ง ให้มารับพวกราชทูตไปส่งให้ถึงกรุงสยาม แต่บัดนี้การที่ในเรือยังหา เรียบร้อยไม่ จะต้องจัดแจงชำระขัดสีให้ดีก่อน วันพฤหัสบดี เวลาเช้าข้าพเจ้าจะขอลาท่านไปซื้อเสบียงอาหารที่เมืองไกโร ต่อวันเสาร์เวลา เย็นจึงจะกลับมา วันอาทิตย์จึงจะได้เชิญท่านไปลงเรือ ถึงวันเสาร์ เดือน ๕ แรม ๑๒ ค่ำ เวลาเช้ากัปตันบอกเตลคราฟมาแต่เมืองไกโรว่า ซึ่งสัญญาไว้ว่าจะกลับมาในเวลาเย็นวันนี้นั้น ยังมาหาได้ไม่ ด้วย รถไฟยังไม่ไป จะต้องคอยอยู่จนพรุ่งนี้ วันอาทิตย์เวลากลางคืนกัปตัน จึงจะกลับมาถึงท่า

วันจันทร์ เดือน ๕ แรม ๑๔ ค่ำ เวลาบ่าย ๔ โมง กัปตัน ดิกอเซ จึงเชิญพวกราชทูตลงเรือกลไฟเล็กออกจากท่าเมืองสุเอศ ถึง กำปั่นรบชื่อ ไปเลเดศ จักรท้าย ยาว ๒๒๐ ฟิต คือ ๑ เส้น ๑๓ วา ๓ ศอกกับ ๕ นิ้ว ปากกว้าง ๓๙ ฟิต คือ ๕ วา ๓ ศอกคืบ ๑๑ นิ้วกับกระเบียด ๑ กินน้ำลึก ๒๓ ฟิต คือ ๓ วา ๒ ศอก ๓ นิ้ว กับกระเบียด ๑ กำลัง ๓๕๐ แรงม้า คนในเรือ กัปตัน ๑ ออฟฟิเซอ ๓๓ ทหารลูกเรือคนใช้ ๒๒๖ รวม ๒๖๐ คน เมื่อราชทูตจะขึ้นบนกำปั่น มีทหารปืนปลายหอกยืนคำนับ ๒ แถว ๆ ละ ๑๒ คน แล้วกัปตัน ให้ยิงปืนใหญ่สลูตรับราชทูต ๑๙ นัด พวกออฟฟิเซอมายืนรับพร้อม ทุกตำแหน่ง ลุตเตนนันต์ให้จัดแจงรับของ ๆ พวกราชทูตขึ้นเสร็จแล้ว เวลาทุ่มเศษได้ใส่ไฟใช้จักรออกจากที่ทอดสมอหน้าเมืองสุเอศ


วันจันทร์ เดือน ๖ ขึ้น ๗ ค่ำ เวลาบ่าย ๒ โมงครึ่งถึงท่าหน้าเมืองมักหะ เปนเมืองแขกชาติอาหรับ ถ่านศิลาหมดลง กัปตัน จึงให้แวะเข้าทอดสมออยู่ห่างตลิ่งประมาณ ๒๐๐ เส้น แล้วกัปตันลง เรือโบตขึ้นไปบนเมืองเที่ยวซื้อถ่านศิลาก็ไม่ได้ ซื้อได้แต่ฟืนเล็กน้อย แล้วกลับมาให้รับฟืนขึ้นเรือเสร็จ เวลายามเศษจึงให้ใช้จักรออกจาก หน้าเมืองมักหะ


วันอังคาร เดือน ๖ ขึ้น ๘ ค่ำ เวลา ๔ ทุ่มเศษถึงเมืองเอเดน รุ่งขึ้นเช้า ๔ โมงกัปตันมาบอกราชทูตว่า จะรับถ่านลงเรือ ลอองจะปลิวเปื้อนนัก ถ้าท่านพากันขึ้นไปอยู่บนโฮเต็ลเห็นว่าจะเปนสุขกว่าอยู่ใน กำปั่น ราชทูตก็รับคำ กัปตันจึงให้มิศเตอร์โฮป เปนขุนนางนายทหารในเรือรบขึ้นไปอยู่ด้วยพวกราชทูต แล้วจึงจัดเรือโบตให้ไปส่งพวกราชทูต ที่โฮเต็ล ชื่อปรินส์ ออฟ เวลส์


วันพฤหัสบดี เดือน ๖ ขึ้น ๑๐ ค่ำ บ่าย ๒ โมง กัปตันมาแจ้ง ว่า ที่กำปั่นจัดแจงเครื่องจักรกล แลรับถ่านลงเสร็จแล้ว พวก ราชทูตก็พร้อมกันกลับมาลงในกำปั่น แต่ลมยังพัดทวนหน้าแรงนัก ต้อง รออยู่จนรุ่งขึ้นเวลาเช้าโมงเศษกัปตันให้ใส่ไฟใช้จักรออกจากหน้าเมือง เอเดน ลมเปนพัทยาทวนหน้าจัดนัก เรือเดินได้แต่โมงละ ๕ นอด ๖ นอด ถึงวันอังคารเดือน ๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำลมจึงแปรเยื้องไปสักหน่อย พอใช้ใบได้ แต่ไม่สู้เต็มใบดี


วันศุกร เดือน ๖ แรม ๓ ค่ำ ได้ลมสลาตันเปนปัดตะโพก ๕ โมงเย็นกัปตันให้พวกเด็ก ๆ ขึ้นหัดริบใบ เมื่อจะลงมาเด็กคน ๑ พลัดตกจากร้านเสากระโดงกลางชั้นล่างมากระทบกระดานที่ผูกรอกข้าง แล้วตกน้ำลงไป กัปตันกับพวกลูกเรือวิ่งไปข้างท้ายปล่อยทุ่นลอยไป เด็กที่ตกน้ำก็ว่ายเข้ายึดทุ่นไว้ แล้วกัปตันให้เอาเรือลงโดยเร็วรีบตี กระเชียงไปรับเด็กนั้นมาได้ เมื่อมาถึงหมอตรวจดูเห็นซี่โครงหัก ๒ ซี่ หมอก็เอาผ้ารัดตัวเข้าไว้ แล้วให้นอนอยู่บนเปล ให้กินยามาประมาณ ๑๕ วันก็หายดี


วันอังคาร เดือน ๖ แรม ๗ ค่ำ เวลาบ่าย ๓ โมงเกิดฝนตก ลมสลาตันพัดหนัก เสากระโดงหน้าชั้นบนหักสบั้นลงมา ใบเสาหน้า เสากลางเสาท้ายขาดฉีกเปนริ้วแร่งยับย่อยหมดทุกใบ คลื่นใหญ่ซัดเข้า ในเรือน้ำบนดาดฟ้าชั้นล่างลึกเพียงเข่า หีบใส่ของพวกอังกฤษพวกไทยลอยเข้าของเปียกน้ำเสียมาก ประมาณครึ่งโมงพายุจึงสงบ กัปตันให้ เปลี่ยนเสาแลใบใหม่แล้วเสร็จในเวลาเดียว


วันพฤหัสบดี เดือน ๖ แรม ๘ ค่ำ บ่ายโมงเศษถึงเมืองคาลี (๑) อยู่ที่แหลมเกาะลังกาข้างทิศตวันตกเฉียงใต้ เปนที่ไว้ถ่านศิลาสำหรับ ใช้ในการเรือกลไฟ ฝ่ายอังกฤษ ชื่อมิศเตอร์เฮนรีโอเครดีเปนผู้สำเร็จ ราชการที่เมืองคาลี แจ้งว่าราชทูตไทยไปถึงก็ลงมาทักถาม แล้วเชิญ ให้ขึ้นพักอยู่บนเมือง เวลาบ่าย ๔ โมงพวกราชทูตพร้อมกันลงเรือโบต ไปถึงท่า ที่บนป้อมหน้าเมืองให้ยิงสลูตคำนับ ๑๙ นัด แล้วเชิญราชทูต ไปที่พัก ตามทางสองข้างตั้งแต่ท่าขึ้น มีทหารคนดำถือปืนปลายหอก ยืนรายไป ๑๐๐ คน แล้วทหารอังกฤษเรียงต่อไปอีก ๕๐ คน รวม ๑๕๐ คน ถึงตึกใหญ่เปนที่สำหรับเจ้าเมืองมาพัก เจ้าพนักงาน เชิญให้ราชทูตขึ้นอยู่ที่นั้น แล้วจัดโปลิศแมน คือคนรักษาถนน มาคอยระวังรักษาอยู่ ๒ คน เวลาค่ำผู้สำเร็จราชการมาเชิญว่า พรุ่งนี้ เวลา ๔ โมงเช้าขอเชิญท่านทั้ง ๖ คนไปกินโต๊ะที่บ้านข้าพเจ้า ราชทูต ก็รับว่าจะไป รุ่งขึ้นเวลาเช้า ๓ โมงเศษ เจ้าพนักงานจัดรถมารับ ๓ รถ พวกราชทูต ๖ คน กัปตันดิกอเซ ๑ มิศเตอร์โฮป เปนนายทหาร ในกำปั่นรบ ไปเลเดศ ๑ พร้อมกันขึ้นรถไปกินโต๊ะที่บ้านผู้สำเร็จ ราชการ ครั้นกินโต๊ะเสร็จแล้วก็ลาไปดูโรงทำน้ำมันมะพร้าว ทำด้วยเครื่องจักร ขูดคั้นแล้วไปด้วยจักรทั้งนั้น ทำเร็วกว่าทำด้วยคน หลายเท่า แล้วเลยไปนมัสการพระที่วัดบนเนินเขา ที่วัดมีพระปฏิมากรเหมือนวัดไทย แต่พระสงฆ์ไม่ได้ปลงผมในวัน ๑๔ ค่ำ ตามแต่ จะปลงวันไรก็ได้ สุดแต่อย่าให้ผมยาว บ่าย ๓ โมงก็กลับมาที่พัก จึงปรึกษากันว่า เราจำจะไปถวายนมัสการพระทันตธาตุจึงจะชอบ ด้วย เราได้มาถึงนี่แล้ว ครั้นปรึกษาเห็นพร้อมกัน พระยามนตรีสุริยวงศ์ จึงให้ล่ามบอกกัปตันดิกอเซ ๆ จึงตอบว่า การซึ่งท่านจะไปนั้น ข้าพเจ้า ไม่ขัดขวางตามแต่ใจ แต่ข้าพเจ้าทราบว่าพระทันตธาตุอยู่ถึงเมืองแกนดีถ้าจะไปด้วยรถเทียมม้าแต่เมืองคาลี ไปจนถึงเมืองแกนดีที่พระทันตธาตุทางถึง ๒ วัน แล้วจะต้องหยุดพักที่นั้นสักวัน ๑ หรือ ๒ วัน ทั้งไป ทั้งมาเปน ๕ วัน ๖ วัน ในฤดูนี้เปนฤดูลมร้ายมักเกิดพายุใหญ่เนือง ๆ ถ้าเปนดังนั้นบรรดากำปั่นที่ทอดอยู่ในอ่าวนี้ ลมก็ตีฟัดกระทบโดนกันแตกเสียหลายลำแล้ว พวกกัปตันมีความกลัวไม่อาจเข้าทอดสมออยู่ช้าจน ๓ วันได้ ถ้าท่านจะไปเมืองแกนดีแล้วข้าพเจ้าจะเอากำปั่นออกไปแล่นอยู่ในทเลใหญ่ ถึงจะเกิดพายุพัดจัดแรงประการใด พอจะแก้ไขได้ ไม่ขัดสน ด้วยท้องทเลเปนที่กว้าง ต่อถึงกำหนด ๖ วันข้าพเจ้าจึงจะ กลับมารับท่านมิให้ผิดสัญญา ราชทูตมีความสงสัยว่า กัปตันเปน คนอังกฤษไม่นับถือพุทธสาสนาก็แกล้งพูดบิดพลิ้ว ด้วยไม่หยากจะให้ไป ในขณะนั้นพระสงฆ์เปนเจ้าอธิการอยู่วัดในเมืองคาลี ชื่อศิริสมณะ (๒) กับนายคน ๑ เปนชาวเมืองลังกาชื่อกรุณารัตน์ ทั้ง ๒ คนพากันมาเยี่ยม ราชทูตยังนั่งอยู่ที่นั้นด้วย เจ้าหมื่นสรรพ์เพ็ธภักดี จึงถามเปนภาษา มคธ คนทั้ง ๒ ก็รับว่าจริงเหมือนคำกัปตันดิกอเซว่า พวกราชทูต จึงปรึกษากันว่า เราจะไปเมืองแกนดี เปนแต่เรามีความศรัทธา อุสาห์จะไปนมัสการพระทันตธาตุมิใช่ไปด้วยราชการ ซึ่งเราจะให้กำปั่น ต้องไปแล่นอยู่ในทเล เสียถ่านใส่ไฟใช้เงินคอเวินแมนต์ลงมากนั้น หาชอบไม่ ครั้นเห็นพร้อมกันดังนั้น จึงว่าแก่กัปตันดิกอเซว่า ท่านจะ ต้องถอยกำปั่นเข้าออกลำบากดังนั้น เราก็จะไม่ไปเมืองแกนดีแล้ว กัปตันดิกอเซก็มีความยินดีเปนอันมาก


วันศุกร เดือน ๖ แรม ๑๐ ค่ำเวลา ๔ โมงพวกราชทูตจะกลับ มาลงกำปั่น ผู้สำเร็จราชการกับกำมโดร์แลขุนนางฝ่ายทหารอีกหลายคน มาส่ง แล้วลากลับไป แต่ผู้สำเร็จราชการตามลงมาส่งจนถึงกำปั่น เมื่อราชทูตจะมาลงเรือมีทหารยืนแลยิงสลูตเหมือนเมื่อแรกมาถึงเมืองเวลาเช้า ๕ โมงเศษกัปตันดิกอเซใช้จักรออกจากท่าหน้าเมืองคาลี มาใน ทางทเล ๗ วัน คลื่นลมก็เรียบเปนปรกติดี จนวันศุกร เดือน ๗ ขึ้น ๔ ค่ำ บ่าย ๒ โมงครึ่งถึงเมืองสิงคโปร์ เมื่อราชทูตถึงเมืองนั้นเจ้าเมืองไม่อยู่ ลงกำปั่นรบไปเที่ยวจับพวกอ้ายจีนสลัด รุ่งขึ้นเวลาเช้า ๔ โมง รองเจ้าเมืองจัดแจงเรือโบต ๓ ลำ มาเชิญพวกราชทูตขึ้นบนเมือง เมื่อราชทูต ไปถึงท่าขึ้นทหารปืนใหญ่หน้าป้อมก็ยิงสลูต ๑๙ นัด แต่ทหารปืนปลายหอกที่จะยืนคำนับจัดแจงหาทันไม่ แลโฮเต็ลที่เคยพักแต่ก่อนคนก็เช่าอยู่ เต็มหมด พระพิเทศพานิชจงเชิญให้พวกราชทูตไปพักอยู่ที่ตึกของพระพิเทศพานิชทำไว้บนยอดภูเขา แต่การเลี้ยงดูนั้นรองเจ้าเมืองจัดแจง ส่งมาทุกเวลา แล้วให้ทหารมาประจำผลัดเปลี่ยนรักษาอยู่ ๑๔ คน ตัวรองเจ้าเมืองก็ไปมาเยี่ยมเยียนราชทูตอยู่เนือง ๆ เวลาบ่าย ๔ โมง จีนจงฮวดเชิญพวกราชทูตไปกินโต๊ะ เลี้ยงตามอย่างจีน


วันอาทิตย์เดือน ๗ ขึ้น ๔ ค่ำ บ่าย ๕ โมง เซอแมกกอศแลนด์เชิญพวกราชทูตไปกินโต๊ะ เวลา ๔ ทุ่มพระพิเทศพานิชเชิญไปกินอีก ครั้งหนึ่ง


วันจันทร์เดือน ๗ ขึ้น ๕ ค่ำ เวลาเช้าโมง ๑ พวกราชทูตพร้อมกันขึ้นรถมาลงกำปั่น รองเจ้าเมืองจัดทหารปืนยืนคำนับ ๒ แถวประมาณ ๑๐๐ เศษ แล้วให้ยิงสลูตส่ง ๑๙ นัด รองเจ้าเมือง ๑ เซอแมก กอศแลนด์ ๑ พระพิเทศพานิช ๑ จีนจงฮวด ๑ ลงมาส่งถึงท่าแล้ว ลากลับไป ราชทูตก็ลงเรือมากำปั่น


พวกราชทูตกราบถวายบังคมลาออกไปกรุงเทพ ฯ จนถึงเมืองลอนดอน ได้แวะหยุดพักตามหัวเมืองรายทางเปนหลายหัวเมือง แลได้ ไปเที่ยวตามหัวเมืองที่อยู่ในประเทศอิงแคลนด์ก็หลายเมือง เจ้าเมือง ทั้งนั้นก็รับรองให้เปนเกียรติยศทุก ๆ เมือง การที่เจ้าเมืองคำนับรับรอง ทั้งนี้ ก็เพราะพระบารมีพระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๒ พระองค์ปกเกล้าปกกระ หม่อมไป กวีนแลคอเวินแมนต์จึงมีคำสั่งให้จัดแจงรับรอง พวกข้าหลวง ได้มีความสุขเปนอันมาก


เวลา ๓ โมงเศษ กัปตันดิกอเซให้ใส่ไฟใช้จักรออกจากเมือง สิงคโปร์ วันศุกร เดือน ๗ ขึ้น ๙ ค่ำ เวลาเช้า ๕ โมงเศษถึงที่ทอดสมอชายชำแระนอกสันดอนปากน้ำเจ้าพระยา กัปตันดิกอเซให้เอาเรือโบต ลง ๓ ลำ พร้อมด้วยเชือกเสาเพลาใบ มีออฟฟิเซอกำกับเรือลำละคน แลคนตีกระเชียงลำละ ๑๐ คน เข้ามาส่งพวกราชทูตกับผู้มีชื่อรวม ๒๗ คนบ่ายโมง ๑ พวกราชทูตก็ลากัปตันลงจากกำปั่นรบไปเลเดศ กัปตันให้ยิง สลูตส่งราชทูต ๑๙ นัด บ่าย ๓ โมงถึงเมืองสมุทปราการ แวะขึ้น หยุดพักที่ศาลากลาง พระยาสมุทบุรานุรักษ์ผู้สำเร็จราชการเมืองสมุทปราการได้เลี้ยงพวกราชทูตแลอังกฤษที่มาส่งเสร็จแล้ว จัดแจงผลไม้ ต่าง ๆ กับสุราแลบุหรี่ให้แก่อังกฤษ ๆ ก็ลากลับออกไปกำปั่น พระยา สมุทบุรานุรักษ์ พระยามหาอรรคนิกรจัดเรือสำปั้นเก๋งทั้ง ๒ ลำ เรือเป็ด ลำ ๑ ให้ขึ้นมาส่งพวกราชทูต เวลา ๒ ทุ่มเศษได้ออกจากเมืองสมุท ปราการ ๒ ยามถึงกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรา ยุทธยานี้ รุ่งขึ้นเวลาเช้าพร้อมกันเข้าเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท ตรงหน้า พระสิงหบัญชร ข้างพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยฝ่ายทิศตวันตก ในพระบรม มหาราชวัง สิ้นความแต่เท่านี้ ขอเดชะ

จดหมายเหตุของหม่อมราโชไทย จบเพียงเท่านี้


(๑) ชื่อที่เรียกนี้ เปนภาษาโปรตุเกศ เล่ากันว่า แต่โบราณ โปรตุเกศแล่นเรือมา ถึงที่นั้นขึ้นไปได้ยินเสียงไก่ขัน ไม่รู้จักชื่อเมือง จึงเรียกว่า คอลี แปลว่า ไก่

(๒) พระศิริสมณะติสสะ เปนสังฆนายกฝ่ายมรัมวงศ์ที่เมืองคาลี นับถือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาแต่ทรงผนวช ได้เข้ามากรุงเทพ ฯ เมื่อในรัชกาลที่ ๕

ตอนที่ ๑๔ ต่อจดหมายเหตุของหม่อมราโชทัย ว่าด้วยแขกเมืองที่มาส่งราชทูตเข้าเฝ้า

ได้เนื้อความตามใบบอกของ เซอร์รอเบิต จอมเบิค กงสุลอังกฤษในกรุงเทพ ฯ มีไปยังกระทรวงต่างประเทศที่กรุงลอนดอน เรื่องราชทูตไทยกลับมาถึงกรุงเทพ ฯ แล้ว ว่ายังมีการรับพระราชสาส์น แลเสด็จออก รับแขกเมืองนายเรือรบที่มาส่งทูต มีเนื้อความดังนี้


ราชทูตไทยกลับมาถึงกรุงเทพ ฯ ณวันศุกรเดือน ๗ ขึ้น ๙ ค่ำ รุ่งขึ้นกรมหลวงวงศาธิราชสนิท เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ แลเจ้าพระยา รวิวงศ์มหาโกษาธิบดี แจ้งความแก่เซอร์รอเบิตจอมเบิด ว่าจะโปรดให้ เรือไฟหลวงลงไปรับพระราชสาส์น ซึ่งสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียมีตอบ แต่เรือรบอังกฤษเข้ามาจนเมืองสมุทปราการ แล้วจะจัดเรือพระที่นั่ง เอกไชย กับเรือกระบวนลงไปรับพระราชสาส์น แห่ขึ้นมาจากเมือง สมุทปราการจนถึงกรุงเทพฯ (๑) พวกขุนนางนายเรือรบนั้นก็จะจัดเรือไฟหลวงลงไปรับขึ้นมา ด้วยจะโปรดให้เข้าเฝ้าเปนการเต็มยศ อนึ่งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จลงไปเยี่ยมถึงเรือรบที่มาส่งราชทูต นั้นด้วย


ครั้นณวันจันทร์ เดือน ๗ ขึ้น ๑๒ ค่ำเวลาเช้า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จโดยเรือกลไฟจักรท้ายซึ่งเจ้าพระยาศรีสุริยวงศต่อแล้วใหม่ ออกจากกรุงเทพ ฯ ไปถึงเรือรบอังกฤษ ชื่อโปเลดิศ ซึ่งทอดสมออยู่ที่สันดอน กัปตันดิกอเซจัดการรับเสด็จตามสมควรแก่ พระเกียรติยศ เชิญเสด็จตรวจเรือ แล้วฝึกหัดยิงปืนใหญ่น้อยถวาย ทอดพระเนตร จนเวลาบ่าย ๓ โมงจึงเสด็จกลับ มีรับสั่งให้กัปตัน ดิกอเซ กับนายเรือรบที่เปนผู้ใหญ่ตามเสด็จมาในเรือพระที่นั่ง พวก ขุนนางนายเรือรบอังกฤษนอกจากนั้นมาในเรือไฟหลวงที่ออกไปรับ


ณวันอังคารเดือน ๗ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เรือกระบวนแห่พระราชสาส์น สมเด็จพระราชินีวิกตอเรียขึ้นมาถึงกรุงเทพ ฯ


ณวันพุธ เดือน ๗ ขึ้น ๑๓ ค่ำ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยเปนการเต็มยศ โปรดให้ เซอร์รอเบิตจอมเบิค พากัปตันดิกอเซแลพวกขุนนางนายเรือรบ กับทั้ง พวกอังกฤษในสถานกงสุลเข้าเฝ้า มีพระราชปฏิสัณฐารแลทรงขอบใจ นายเรือรบที่รับราชทูตมาส่งถึงกรุงโดยสวัสดิภาพ ครั้นเฝ้าเต็มยศแล้ว เสด็จออกที่เก๋งกรงนก โปรดให้พวกนายเรือรบเข้าเฝ้าที่รโหฐาน ทรง ทักทายรายตัวทั่วกันแล้ว จึงโปรดให้จัดเลี้ยงอาหารเวลากลางวันใน ที่นั้น แล้วจึงได้กลับไป


ในเวลาที่พวกนายเรือรบเข้ามาพักอยู่กรุงเทพ ฯ นั้น ปรากฏว่าเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์มีการเลี้ยงเวลาค่ำ แล้วมีละคอนให้ดูคืน ๑ เจ้าพระยารวิวงศ์มหาโกษาธิบดีมีการเลี้ยงเวลาค่ำ แล้วมีมโหรีให้ฟัง คืน ๑ พวกนายเรือรบกลับไปณวันพฤหัสบดี เดือน ๗ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ปีมะเมีย สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๒๐ พ.ศ.๒๔๐๑


(๑) จะเห็นได้ตรงนี้ว่า ประเพณีฝรั่งกับประเพณีไทย ถือในเรื่องพระราชสาส์นผิดกันอย่างไรในสมัยนั้น ที่จริงพระราชสาส์นที่กวีนวิกตอเรียตอบ เขามอบให้ราชทูต ไทยแต่ที่เมืองลอนดอน แต่ประเพณีไทยเราถือว่า ต้องแห่แหนรับพระราชสาส์นเปน พระเกียรติยศ ทูตจึงมอบพระราชสาส์นไว้ในเรือรบอังกฤษที่มาส่ง เพราะจะต้องลง ไปแห่แหนพระราชสาส์นตามประเพณีไทย

ใบเพิ่มที่ ๑ บาญชีคนที่ไปในกองทูต

(๑) ราชทูต พระยามนตรีสุริยวงศ์ ( ชุ่ม บุนนาค ) เปนบุตรสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยรูวงศ์ ร่วมมารดากับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ต่อมาได้เปนที่สมุหกลาโหมฝ่ายเหนือ

(๒) อุปทูต เจ้าหมื่นสรรพ์เพ็ธภักดี ( เพ็ญ ต้นสกุลเพ็ญกุล ) เปนข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาได้เปน พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ จางวางมหาดเล็ก ถึงรัชกาลที่ ๕ เปนพระยา ราชสุภาวดี แล้วเลื่อนเปนเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง บัญชาการ กรมพระสุรัสวดี

(๓) ตรีทูต (เดิมกะว่าหลวงชาญภูเบศร์ แล้วเปลี่ยนเปน) จมื่นมณเฑียรพิทักษ์ (ด้วง) เปนข้าหลวงเดิม ร่วมพระนมในพระบาท สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมามีความผิดต้องออกจากราชการ

(๔) ล่ามหลวง หม่อมราโชไทย ชื่อหม่อมราชวงศ์กระต่าย(อิศรางกูร ณอยุธยา) บุตรกรมหมื่นเทวานุรักษ์ ในเจ้าฟ้ากรมขุน อิศรานุรักษ์

(๕) ผู้กำกับเครื่องราชบรรณาการ จมื่นราชามาตย์ (ท้วม บุนนาค) เปนบุตรสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยรูวงศ์ กลับมา ได้เปนที่พระเพ็ชรพิสัยศรีสวัสดิ ปลัดเมืองเพ็ชรบุรี แล้วเลื่อนเปนพระยาเทพประชุน ปลัดทูลฉลองกระทรวงกลาโหม ในรัชกาล ท ๕ เปนเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี

(๖) ผู้กำกับเครื่องราชบรรณาการ นายพิจารณ์สรรพกิจ (ทองอยู่ กัลยาณมิตร) เปนบุตรเจ้าพระยานิกรบดินทร ต่อมา ได้เปนหลวงเดชนายเวร

(๗) ล่ามของราชทูต ขุนจรเจนทเล ชื่อฉุน ได้ไปเรียนวิชาเดินเรือในยุโรป ในรัชกาลที่ ๕ ได้เปนหลวงชลธารพินิจจัย แล้วเลื่อน เปนพระชลธารพินิจจัย เจ้ากรมคลอง

(๘) ล่ามของอุปทูต ชื่อนายโนรี

(๙) ล่ามของตรีทูต ขุนปรีชาชาญสมุท ชื่อดิศ เปนนายรือในพระบวรราชวัง ภายหลังได้เปนหลวงสุรวิเศษ นายทหารหน้าในกรม พระราชวังบวร ฯ เปนครูสอนภาษาอังกฤษเจ้านายวังหน้าจนรัชกาลที่๕

(๑๐) นายเทศ บุนนาค (คือเจ้าพระยาสุรพันธ์พันธุ์พิสุทธ) บุตรสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยรูวงศ์ อายุ ๑๗ ปี เปนนักเรียส่งไป เรียนวิชา

(๑๑) นายทด บุนนาค บุตรพระยามนตรี ฯ ราชทูต อายุ ๑๖ ปีเปนนักเรียนส่งไปเรียนวิชา นักเรียน ๒ คนนี้ เมื่อถึงเมืองอังกฤษราชทูตได้ขอให้รัฐบาลอังกฤษช่วยหาที่เล่าเรียน กระทรวงต่างประเทศอังกฤษสืบหาที่เล่าเรียน เดิมกะว่าจะให้ไปเรียนที่ราชวิทยาลัยในลอนดอน แต่จะเปนด้วยเหตุใด ไม่ปรากฎ เมื่อทูตกลับมา นักเรียนก็กลับมา หาได้อยู่เล่าเรียนไม่

(๑๒) เสมียนของราชทูต นายบริบาลบรรยงก์

(๑๓) เสมียนของอุปทูต ขุนบุรินทามาตย์

(๑๔) เสมียนของตรีทูต ไม่ปรากฎชื่อ

(๑๕) หมอยา จะเปนใครหาทราบไม่

(๑๖) เข้าใจว่าหมอนวด

คนใช้ ๑๑ คน

รวมทั้งสิ้น ๒๗ คน

ใบเพิ่มที่ ๒ บาญชีเครื่องราชบรรณาการ แลสิ่งของส่งไปพระราชทาน

ที่ ๑ พระราชสาส์นจาฤกในพระสุพรรณบัตร ห่อในแผ่นทองคำ แล้วใส่ในฝักทองคำลงยา

ที่ ๒ พระราชสาทิศฉายาลักษณ ๒ แผ่น แผ่น ๑ มีรูปพระราชฉายาของสมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าแผ่นดินสยาม ทรงเครื่องต้นสำหรับพระเจ้าแผ่นดินพร้อมทุกสิ่ง เสด็จทรงนั่งเหนือพระบรมราชอาศน์ ถ่ายไว้ในเครื่องถ่ายฉายบนแผ่นโลหะ แผ่น ๑ มีรูปพระราชฉายาของสมเด็จพระปรเรนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าแผ่นดินสยาม ทรงเครื่องปรกติ เสด็จทรงนั่งเหนือราชอาศน์ปรกติ กับพระนางเธอฝ่ายใน แลพระเจ้าลูกเธอ ๒ พระองค์บนพระเพลา ถ่ายไว้ในเครื่องถ่ายฉายบนแผ่นโลหะ

ที่ ๓ พระมหามงกุฎลงยาประดับเพ็ชรบ้าง ประดับทับทิมบ้าง

ที่ ๔ พระสังวาลลายกุดั่นประดับทัมทิม ทับบนแผ่นแพรเฉวียงซ้าย

ที่ ๕ พระธำมรงนพรัตน

ที่ ๖ ฉลองพระองค์พระกรน้อยมีดุมเพ็ชร ๗

ที่ ๗ ฉลองพระองค์ครุยกรองทอง

ที่ ๘ รัดพระองค์กุดั่นประดับเพ็ชรบ้าง ทับทิมบ้าง มรกดบ้าง สายทองมีประจำยามประดับทับทิม

ที่ ๙ รัดพระองค์จรบาทตาดปักเลื่อม

ที่ ๑๐ ประคดรัดพระองค์กรองทอง

ที่ ๑๑ สนับเพลาเข้มขาบเชิงงอนลายทองคำลงยาราชาวดี

ที่ ๑๒ ผ้าทรงยกทองผืน ๑

ที่ ๑๓ ผ้าทรงกรวยเกี้ยวเขียนทองผืน ๑

ที่ ๑๔ ผ้าทรงปูมอย่างดี ๓ ผืน

ที่ ๑๕ สังข์อุตราวัฎเครื่องทองคำลงยาราชาวดีมีดอกนพรัตน มังสีทองคำจำหลักลงยาเปนเครื่องรอง

ที่ ๑๖ ขันน้ำกับพานรองทองคำลงยาราชาวดีสำรับ ๑

ที่ ๑๗ เครื่องชา ป้านเลี่ยมทองคำ จานทองคำลงยารองป้าน ถ้วยหยกมีฝา เรือทองคำรองถ้วย ถาดทองคำจำหลักรองสำรับ ๑

ที่ ๑๘ ถ้วยฝาทองคำลงยา ถ้วยฝาเงินถมยาดำตะทองรวมเปน ๒

ที่ ๑๙ ซองบุหรี่ทองคำลงยา

ที่ ๒๐ กันไกรเครื่องตัดผมอย่างไทย ซ่นประดับเพ็ชร ประดับทับทิม รวมเปน ๒ พระสางเจียดงา กรอบแลด้ามทองคำลงยา ประดับพลอยมรกดคู่ ๑

ที่ ๒๑ เครื่อง ซ่อม,ช้อน,มีด,ทองคำประสม ด้ามประดับเพ็ชรสำรับ ๑

ที่ ๒๒ โต๊ะเงินใหญ่ ปากกาไหล่ทอง คู่ ๑

ที่ ๒๓ ดาบเหล็กลายฝักทองคำลงยา

ที่ ๒๔ ดาบเหล็กลายฝักทองคำจำหลัก

ที่ ๒๕ กฤชฝักนาก

ที่ ๒๖ หอกอย่างสยาม ฝักเงินถมยาด้ามตะทอง

ที่ ๒๗ ง้าวฝักเงินถมยาด้ามตะทอง

ที่ ๒๘ ทวนด้ามกาไหล่ทอง คู่ ๑

ที่ ๒๙ พระกลด ๑ บังพระสูรย์ ๑ ฉัตร ๕ ชั้นคู่ ๑ ฉัตร ๓ ชั้นคู่ ๑ ชุมสายคู่ ๑ เครื่องพื้นแพรปักทองแผ่ลวด

ที่ ๓๐ พระราชยานกง

ที่ ๓๑ กลองมโหระทึกกับปี่งาสำรับ ๑

ที่ ๓๒ เครื่องม้าทองคำประดับพลอยสำรับ ๑

ที่ ๓๓ ฉากรูปพระแก้วมรกด ซึ่งเปนที่นมัสการในพระบรมมหาราชวัง เขียน ๓ รูป ตามอย่างทรงเครื่องในฤดูทั้ง ๓ ซึ่งมีหนังสือชี้แจงมาเปนนิทานด้วยนั้น

ที่ ๓๔ ฉากเรื่องบรมราชาภิเษก ๔ แผ่น


บาญชีนี้ได้มาจากห้องอาลักษณ เข้าใจว่าเปนพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๔


นอกจากสิ่งของเครื่องราชบรรณาการที่พรรณาในบาญชี ยังมีตัวอย่างสินค้าต่าง ๆ ซึ่งมีชื่อในหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี รวม ๖๗ สิ่ง ส่งไปในเครื่องราชบรรณาการด้วย สิ่งของเครื่องราชบรรณา การส่งไปครั้งนั้น ที่เปนเครื่องทองคำ เพ็ชร พลอย รักษาไว้ในห้องเครื่องราชสมบัติ ที่พระราชวังวินด์เซอ ไทยที่ออกไปประเทศอังกฤษในชั้นหลัง ๆ ที่ได้รับอนุญาตไปดูพระราชวังวินด์เซอ เจ้าพนักงานเขายังพาไปดูเครื่องราชบรรณาการเหล่านี้ เข้าใจว่ายังอยู่ประจำที่จนทุกวันนี้ สิ่งของส่งไปพระราชทาน พระมารดา พระภัศดา แลพระราชบุตร พระราชธิดา ของสมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย จะกะอย่างไรหาทราบไม่ พบแต่บาญชีสิ่งของดังนี้

จี้มรกดประดับเพ็ชร ๑

แหวนครึ่งซีกเพ็ชร ๔

แหวนครึ่งซีกมรกด ๔

หีบทองคำลงยาใบใหญ่ ๑

หีบทองคำลงยาในเล็กมีลิ้นชัก ๕

ตลับยานัดถุ์ทองคำลงยา ๑๐

ซองบุหรี่ทองคำลงยา ๓

กล้องไม้ราชวัง เครื่องทองคำลงยา ๒

ตลับทองคำลงยา ใส่ยาสูบสำหรับใช้กับกล้อง ๒

ป้านใหญ่เลี่ยมทองคำ ๒

หีบปักทองคำ ๓


ของพระราชทานลอร์ดคลาเรนดอน เสนาบดีว่าการต่างประเทศ

ซองบุหรี่ทองคำลงยา ๑

ตลับยานัดถุ์ทองคำลงยา ๔ เหลี่ยม ๑

ตลับยานัดถุ์ทองคำลงยากลม ๑

ที่ชาถมตะทองสำรับ ๑


สิ่งของพระราชทานให้ราชทูตไปสำหรับแจกผู้มีบันดาศักดิ์ แต่ไม่มีชื่อปรากฎ มีแต่บาญชีสิ่งของคือ

กฤชฝักทองคำ ๓

ดาบฝักถมตะทอง ๒

กาถมตะทอง ๒

หีบถมตะทอง ๒๐

ซองบุหรี่ถมตะทอง ๒๐

ตลับถมตะทอง ๒๐

แพรลาย ๑๐ ม้วน


ของพระราชทานโปรเฟศเซอวิลสัน คือ

ฉากรูปพระแก้ว ๑

ฉากรูปพระเบญจา ๑

พระคัมภีร์ ๑

เชิงอรรถ

อ้างอิง

เครื่องมือส่วนตัว