เพลงยาวสรรเสริà¸à¸žà¸£à¸°à¹€à¸à¸µà¸¢à¸£à¸•ิพระบาทสมเด็จพระนั่งเà¸à¸¥à¹‰à¸²à¹€à¸ˆà¹‰à¸²à¸à¸¢à¸¹à¹ˆà¸«à¸±à¸§
จาก ตู้หนังสือเรือนไทย
การปรับปรุง เมื่อ 09:04, 25 เมษายน 2554 โดย CrazyHOrse (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
เนื้อหา |
ข้อมูลเบื้องต้น
แม่แบบ:เรียงลำดับ ผู้แต่ง: นายมี บุตรพระโหรา
บทประพันธ์
๏ บังคมบรมนาถนาถา | |||
อันเป็นปิ่นมงกุฎอยุธยา | บำรุงราษฎร์ศาสนาให้ถาวร | ||
ขอเฉลิมเพิ่มพูนพระเกียรติยศ | ยุคลบทบพิตรอดิศร | ||
ถวัลยราชราชัยในนคร | ดังทินกรแจ่มฟ้าทั่วธาตรี | ||
ลอยสว่างกลางสวรรค์ชั้นทวีป | ได้ชื่นชีพทั่วจังหวัดพึ่งรัศมี | ||
ด้วยพระเดชเกศโลกโบกราคี | ไม่หมองมัวทั่วศรีอยุธยา | ||
บุญฤทธิ์กิตติยศระบือลือ | พระทัยถือทางเที่ยงไม่เดียงสา | ||
แผ่ไปรอบขอบขัณฑเสมา | พระกรุณาชุบเลี้ยงโดยเที่ยงธรรม์ | ||
สุริยวงศ์พงศ์ประยูรก็พูนยศ | ให้ปรากฏพร้อมพริ้งทุกสิ่งสรรพ์ | ||
ทั้งสุรางค์นางสนมกรมกำนัล | ได้รางวัลยศถาสง่างาม ฯ | ||
๏ หนึ่งเสนาข้าหลวงทั้งปวงหมด | พยุงยศเป็นสง่ากล้าสนาม | ||
ทั้งไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินสิ้นทุกนาม | ก็มีความกรุณาทั้งธานี | ||
มิให้ใครอุกอาจราชศักดิ์ | ข่มเหงหักไพร่ฟ้าประชาหนี | ||
พระอัยการบัญญัติสังกัดมี | ไว้ตามที่พระกำหนดทศพิธ | ||
ทั้งถานาบาเรียนที่เพียรเพิ่ม | ก็แต่งเติมเสริมศักดิ์ให้อักนิษฐ | ||
นิจภัตรปัจจัยให้เป็นนิตย์ | ทรงอุทิศศรัทธาทั้งตาปี ฯ | ||
๏ หนึ่งนักโทษโปรดปล่อยทั้งน้อยใหญ่ | ที่โทษใหม่ภัยถึงตัดเกศี | ||
ก็งดไว้ไม่ฆ่าด้วยปรานี | ไว้เพียงที่จำจองไม่ต้องตาย | ||
แล้วโปรดสัตว์จัตุบาททวิบาท | สั่งประกาศทั่วหมดตั้งกฎหมาย | ||
ห้ามฆ่าเนื้อเบื่อปลาชีวาวาย | ให้ลดคลายค่าน้ำนั้นต่ำลง | ||
เฝือกกะบังขังรั้วตัวปลาเราะ | ทรงสงเคราะห์ห้ามสิ้นทุกสิ่งประสงค์ | ||
ฝูงเนื้อป่าปลาชื่นได้ยืนยง | ชีพคงชันษาเพราะบารมี | ||
ห้ามปลากัดตัดทุเรียนเอาเพียนไก่ | พระมิให้เฟื่องฟุ้งทั้งกรุงศรี | ||
เครื่องตัดลาภบาปหนาเป็นราคี | มักฆ่าตีฉกชิงแลวิ่งราว | ||
ด้วยทรงพระกรุณาประชาราษฎร์ | จึงห้ามขาดมิให้มีขึ้นมี่ฉาว | ||
บำรุงหล้าผาสุกทุกแดนดาว | ถ้าข่าวคราวราษฎร์ดีก็ปรีดา ฯ | ||
๏ ถ้าราษฎร์ทุกข์ขุกเข็ญเป็นวิบาก | เกิดน้ำมากไฟไหม้ในเคหา | ||
ทั้งข้าวยากหมากแพงฝนแล้งมา | ที่ตกกล้าแห้งไปไม่สำราญ | ||
ให้อาวรณ์ร้อนในพระทัยเทวษ | ไปทั่วเขตไพร่ฟ้าสุธาสถาน | ||
จะอดอยากยากจนทนทรมาน | ให้เกณฑ์การทดน้ำปิดทำนบ | ||
ให้ตั้งราชพิธีพิรุณศาสตร์ | ทั้งอังคาสวัดหลวงทั้งปวงจบ | ||
นิมนต์สวดพุทธมนต์ไปจนครบ | ฝนสงบน้อยไปมิใคร่มี | ||
สู้ลำบากยากพระองค์ทรงที่นั่ง | เสด็จยังพระอาวาสพิธีศรี | ||
อุดมด้วยทวยมาตย์ราชกวี | พระสังคีติกาถานานุกรม | ||
ทรงเคารพจบพระหัตถ์อธิษฐาน | สมาทานศีลวัตรเป็นปฐม | ||
พระสังฆราชถานาตั้งอารมณ์ | ก็ระดมกันสวดพระพุทธมนต์ | ||
ด้วยบุญญาบารมีภินิหาร | โพธิญาณแก่กล้าสถาผล | ||
ให้ร้อนอาสน์จตุโลกบาลบน | ไม่ทานทนบุญฤทธิ์ทรงพิธี | ||
บันดาลห่างพลาหกให้ตกฟุ้ง | ลงทั่วทุ่งทุกประเทศเกษมศรี | ||
ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินก็ยินดี | ได้ทำที่ไร่นาสถาวร ฯ | ||
๏ พระคุณสุดดังสมุทรน้ำนมสวรรค์ | มาเจือปันเลี้ยงโลกให้โศกถอน | ||
ได้แช่มชื่นกลืนทิพปิโยธร | ราษฎรได้พึ่งไม่ถึงกาล | ||
ถ้าน้ำมากฟากเฝื่อเหลือขนาด | ก็กัมปนาทพระทัยด้วยภัยสนาน | ||
กลัวสาลีวิกลด้วยชลธาร | ทรงสงสารราษฎรจะร้อนรน | ||
ให้ตั้งกิจพิธีวารีปลาศ | พระสังฆราชถานาโกลาหล | ||
ชุมนุมตั้งสวดพระพุทธมนต์ | ในมณฑลนาวาโยธาพาย | ||
ครั้นเสร็จกิจพิธีแล้วตีน้ำ | ยิงปืนซ้ำโห่ร้องคะนองสาย | ||
เสียงสนั่นครั่นครื้นคลื่นกระจาย | พลพายพระสวดรวดลงมา | ||
ด้วยบารมีภิเษกทรงเอกฉัตร | ช่วยบำบัดภัยราษฎร์ยกศาสนา | ||
ให้กัมปนาทอาจองพระคงคา | ก็ลดลาลำข้าวขึ้นเพรารวง | ||
ดงนารายณ์เฟื่องฟื้นกลืนสมุทร | ให้ข้าวผุดรุ่งเรืองทั้งเมืองหลวง | ||
หมู่ไพร่ฟ้าหน้าขุนก็อุ่นทรวง | ได้เด่นดวงปรีดาด้วยบารมี ฯ | ||
๏ ถ้าเกิดไฟไหม้บ้านชานเรือนราษฎร์ | เรือนอำมาตย์สุริยวงศ์ในกรุงศรี | ||
ระทดในพระทัยแทนแสนทวี | ก็กรูกรีพยุหะสละวัง | ||
ขึ้นทรงพระที่นั่งบัลลังก์อาสน์ | พร้อมอำมาตย์ซ้ายขวาทั้งหน้าหลัง | ||
พวกหอกแห่แลทวนล้วนกำลัง | แห่สะพรั่งคั่งคับไปดับเพลิง | ||
กำลังไฟได้ลมระดมไหม้ | เสด็จไปลมสงัดไม่พัดเถลิง | ||
ไฟก็เหือดเผือดแสงไม่แรงเริง | ก็สบเชิงคว้าขอตะกร้อน้ำ | ||
เข้าฉุดชักตักสาดอยู่ฉาดฉ่า | โยทกาแย่งยุบอุปถัมภ์ | ||
พระเพลิงร้ายพระพายรื้อกระพือทำ | ก็แพ้อำนาจองค์พระทรงบุญ | ||
ดังฝนฟ้าห่าแก้วแผ้วระงับ | มาเด็ดดับเพลิงร้ายให้หายหุน | ||
เห็นถนัดอัศจรรย์อนันตคุณ | พระการุญรักษ์ราษฎร์บำบัดภัย ฯ | ||
๏ ถึงฤดูพวกหมู่สมพัตสร | เก็บอากรขุ่นข้องไม่ผ่องใส | ||
ทั้งค่านาค่าน้ำเหลือล้ำไป | โปรดมิให้พลเมืองเคืองรำคาญ | ||
ให้นายระวางทั้งหมดสบถสิ้น | มิให้กินเนื้อราษฎร์ทำอาจหาญ | ||
ให้เก็บแต่พองามตามบุราณ | พระโปรดปรานทั่วเขตประเทศคาม | ||
หนึ่งขุนหมื่นทั้งหลายทั้งนายไพร่ | ไม่เคยได้ตราภูมิที่คุ้มห้าม | ||
ก็โปรดให้ได้ตราสง่างาม | เที่ยวค้าขายได้ตามสบายใจ ฯ | ||
๏ พระทัยใส่รอบคอบทั่วขอบเขต | ทอดพระเนตรเมืองหมองไม่ผ่องใส | ||
อุปถัมภ์บำรุงซึ่งกรุงไกร | ชำรุดไหนใส่สอบประกอบแปลง | ||
ประตูยอดถอดไว้ทำใหม่ตั้ง | ล้วนขึงขังแน่นครบจบตำแหน่ง | ||
ที่สูงปราบฉาบป้อมซ่อมกำแพง | ทั้งตกแต่งใบบานทวารตรึง | ||
ที่ไหนบางทางศึกจะฮึกหัก | ก็คิดดักทางทำให้ขำขึง | ||
ล้วนหน้าแน่นแผ่นปึกดูลึกซึ้ง | ให้ทั่วถึงทนปืนแต่พื้นงาม | ||
ข้างฝ่ายนอกพระนิเวศน์ประเทศลัด | ให้ถางตัดทางไปในสนาม | ||
สำหรับเมืองเคืองเข็ญเป็นสงคราม | จะได้ตามต้านตัดสกัดตี | ||
ที่ปากน้ำท่ามกลางที่สร้างป้อม | เป็นอ่าวอ้อมกว้างขวางทางศึกหนี | ||
ยิงปืนไปไม่ถึงซึ่งไพรี | ให้ถมที่ออกมาข้างท่ายิง | ||
เป็นสง่าข้าศึกไม่ฮึกหาญ | กลัวสะท้านทุกกรุงไม่สุงสิง | ||
ดังรามสูรต้องสาปไม่ฉาบชิง | นารายณ์ยิงศรตัดสกัดแขน | ||
ทางปากลักจัดถนนตะพานช้าง | ทั้งสองข้างปากน้ำมาตามแผน | ||
ถนนกว้างทางทัพไม่คับแค้น | ถึงหมื่นแสนเดินได้ไปจากกรุง ฯ | ||
๏ แล้วขุดทางบางบอนที่ดอนตื้น | ตลอดรื่นตามแนวทางแถวทุ่ง | ||
ทั้งลึกกว้างทางใหญ่ไปหลายคุ้ง | ตลอดวุ้งเวิ้งท่ามหาไชย | ||
ที่ปากน้ำทำป้อมพร้อมเครื่องรบ | ทั่วพิภพไปมาได้อาศัย | ||
ทั้งเรือแพฝางเสาค่อยเบาใจ | ถวายไชยอวยผลมงคลพร | ||
ฝ่ายประจิมพาราทวาเรศ | ไปประเทศทางเรือเหลือถ่อถอน | ||
ล้วนตมตื้นขึ้นเฝือติดเรือจร | ต้องจ้างออนฉุดลากยังยากเย็น | ||
หวังประโยชน์โปรดราษฎร์ที่ขัดข้อง | ให้ขุดคลองลัดล่ามทางสามเสน | ||
ออกปากน้ำโยทกาเสนาเกณฑ์ | พวกจีนเจนขุดขนไปจนลุ | ||
พอแล้วคลองนองลั่นอรรณพ | ลือตลบทั่วเมืองกระเดื่องปรุ | ||
ทั้งมนุษย์เทวาก็สาธุ | ออกระบุพระนามตามกันมา | ||
พวกชาวเรือเหนือใต้ดีใจสิ้น | ไปทั่วถิ่นทุกทิศคิดหรรษา | ||
เคยติดทางบางพลีก็ปรีดา | มาเดินท่าคลองประทานสำราญใจ | ||
ทั้งวันคืนขึ้นล่องไม่ต้องลาก | ก็ออกปากสาธุการสะท้านไหว | ||
ถวายกรพรผลมงคลไชย | เสียงครุ่นไปค่ำเช้าทุกคราวเรือ ฯ | ||
๏ ด้วยพระทรงปรีชาอานุภาพ | ดำริทราบเหตุผลนั้นล้นเหลือ | ||
ทั้งดับภัยได้ผลกุศลเจือ | ทั้งศึกเสือก็ระอาพระบารมี | ||
ข้างฝ่ายในพระนิเวศน์เขตสถาน | ก็เสร็จการบำรุงซึ่งกรุงศรี | ||
ล้วนยักอย่างสร้างใหม่สดใสดี | ไปทั่วที่ใหญ่น้อยนับร้อยพัน | ||
พวกชาวจีนสินจ้างรางวัลเพิ่ม | ช่างไทยเติมเบี้ยหวัดล้วนจัดสรร | ||
บ้างเลื่อนที่มีนามขึ้นตามกัน | ทั้งช่างปั้นเขียนถากสลักกลึง | ||
พิศดูเมืองเรืองปลั่งไปทั้งนั้น | สารพันไม่มีที่เทียมถึง | ||
จะแลเก๋งเล็งตึกล้วนลึกซึ้ง | น่าตะลึงลานใจวิไลตา | ||
ตำหนักในซ้ายขวามหาปราสาท | พระโรงราชอาสน์แก้วแววเวหา | ||
ล้วนใหม่ใหม่ใสสดรจนา | ดูช่อฟ้าก่ายกันเป็นหลั่นลด | ||
ทั้งโรงแสงแขวงคลังสิ้นทั้งแถว | ตลอดแนวนอกในล้วนใสสด | ||
จะแลผ่านด้านไหนไม่ระทด | ล้วนหมดจดสร้างใหม่ไปทั่วเมือง | ||
แลดูน่าผาสุกสนุกสนาน | รโหฐานจริงจริงทุกสิ่งเครื่อง | ||
ยิ่งแลยิ่งละลานสำราญเรือง | ดังหนึ่งเมืองอินทรามานิมิต | ||
น่าลดเลี้ยวเที่ยวเล่นเห็นต่างต่าง | ล้วนยักอย่างยิ่งยงทรงประดิษฐ์ | ||
ผู้ใดใครได้เห็นเขม้นพิศ | ให้ต้องติดตาชมนิยมยล | ||
พระวงศ์วังทั้งหลายมาถ่ายอย่าง | เลียนไปสร้างตั้งแต่งทุกแห่งหน | ||
ทั้งขุนนางสร้างเลียนเจียนทุกคน | ทั่วตำบลหน้าหลังสิ้นทั้งปวง | ||
ออกอัดแอแซ่เซ็งทั้งเก๋งตึก | อึกกะทึกรอบทั้งพระวังหลวง | ||
ดังดาวรอบขอบคันพระจันทร์ดวง | ขึ้นโชติช่วงอยู่ในชั้นพิมานรถ | ||
เป็นปิ่นปักนัคเรศทั่วเขตทวีป | มาสรวมชีพใต้บาทขยาดหมด | ||
ใครคิดร้ายตายเองเกรงพระยศ | สยองสยดพระเดชทั่วเขตคัน ฯ | ||
๏ ด้วยทรงมั่นขันติภินิหาร | บำเพ็ญทานอาจิณทรงศีลขันธ์ | ||
ให้ผลในทิฎฐประจุบัน | สารพันไพบูลย์มาปูนปอง | ||
ประชาชนพลเมืองไม่เคืองเข็ญ | จำเริญเป็นสุขทั่วไม่มัวหมอง | ||
ทั้งหญิงชายหลายสกูลออกมูลมอง | อยู่ทั่วท้องตำบลพ้นประมาณ | ||
ทั้งสิบสองภาษามาอาศัย | ก็เพลินใจผาสุกสนุกสนาน | ||
จะไปมาค้าขายไม่กันดาร | บำราศพาลการศึกไม่นึกระแวง | ||
เรือไหหลำสำเภาเหล่ากำปั่น | สมอทอดจอดเป็นหลั่นจีนฝรั่ง | ||
แต่งบรรณามาถวายไม่วายครั้ง | สิ่งของคั่งกันเข้าก็เยาลง | ||
แพรผ้าลายขายถูกไปทุกสิ่ง | พวกชายหญิงนิยมสมประสงค์ | ||
นุ่งลายอย่างกางเพลาะเที่ยวเหยาะยง | จนนุ่งลงทำงานการนิคม | ||
ด้วยบารมีภิเษกสมโพธิ | ระงับโทษภัยสิ้นมลทินถม | ||
ทั้งปากใต้ฝ่ายเหนือเหลืออุดม | เป็นบรมสุขทุกเพลา ฯ | ||
๏ ยิ่งพูนเพิ่มก็ยิ่งเติมพระกุศล | บำเพ็ญผลมิได้ขาดในศาสนา | ||
ไม่เสื่อมสูญพูนพระราชศรัทธา | ดังมหาเวสสันดรไม่ร้อนรน | ||
โรงทานให้ไม่ขาดพระราชทรัพย์ | ออกจ่ายจับเจือจานหว่านกุศล | ||
ทั้งหวานคาวเช้าเย็นไม่เว้นคน | ออกสับสนแซ่ซ้องมากองกิน | ||
วิเสทผลัดจัดของสำรองเลี้ยง | ออกเรียบเรียงรายอยู่ไม่รู้สิ้น | ||
ไม่เลือกหน้าว่าใครให้อาจิณ | มาก่อนกินแล้วไปพวกใหม่มา | ||
ออกจอแจแซ่เสียงเลี้ยงกันวุ่น | ชุลมุนไม่วายทั้งซ้ายขวา | ||
พวกผ่ายผอมพิกลคนชรา | ชวนกันมาคั่งคับเข้ารับประทาน | ||
พระสงฆ์เณรเถรลาวพอเช้าถึง | ออกอัดอึงเบียดบาตรอยู่ฉาดฉาน | ||
เข้ายืนรอบขอบขันมิทันนาน | ก็เป็นการข้าวแกงพอแรงครอง | ||
ที่ลางองค์ตรงเข้าไปที่นั่ง | นายบัญชีถามวัดให้จัดของ | ||
นักงานคนปรนนิบัติจัดสำรอง | แล้วประคองสำรับจับประเคน | ||
ล้วนของดีมีรสอันสดสวย | สำราญรวยเหลือพระมหาเถร | ||
ทั้งศิษย์น้อยพลอยซ้ำกับสามเณร | ทั้งเช้าเพลอิ่มใจไปทุกองค์ | ||
ฉันเช้าแล้วให้ธรรมกถึกเทศน์ | เป็นประเภทมิได้ขาดธรรมาสน์สงฆ์ | ||
ข้างในข้างหน้ามาฟังนั่งเป็นวง | ล้วนบรรจงเครื่องมาบูชาธรรม | ||
ถวายจตุปัจจัยมิได้ขาด | ทั้งกัณฑ์ราษฎร์ธารณะอุปถัมภ์ | ||
ที่ใจกระด้างฟังเทศน์สังเกตจำ | ก็ค่อยน้ำใจดีมีศรัทธา | ||
ละของรักหักจิตปลิดจำหน่าย | ออกถวายพระธรรมเทศนา | ||
ด้วยพระเดชพระคุณการุณา | โปรดประชาให้อยู่ชั้นพิมานทอง | ||
ครั้นถึงวันอัฐบัณณรสี | พูนทวีบริจาคฉลากของ | ||
เครื่องบูชากากระโถนมีดโกนซอง | ธูปเทียนรองเท้าพัดยานัตถุ์ชาม | ||
จิบเจี๋ยวทั้งอั้งโล่เสื่อโอหมอน | สบงจีวรไม้เท้ากระเป๋าย่าม | ||
เครื่องชาร่มโคมขวดน้ำมันตาม | ยาแก้ไข้ไอจามทำประทาน | ||
ถวายพระสงฆ์องค์อันดับจับฉลาก | ประมาณมากหลายวัดจัดของขนาน | ||
เป็นเวรเวียนเปลี่ยนอาวาสอังคาสกาล | ฉลากทานถวายไปได้ทุกองค์ | ||
แล้วยถาวารีสัพพีผล | เป็นมงคลพระนครด้วยพรสงฆ์ | ||
จำเริญฤทธิ์อิสโรภิญโญยง | ก็ยิ่งทรงพระศรัทธานั้นถาวร | ||
อันโรงทานปานต้นกัลปพฤกษ์ | ได้สมนึกคนโซสโมสร | ||
หมู่ยาจกตกยากวิบากจร | ได้ดับร้อนรื่นรวยด้วยโรงทาน | ||
ทวีปอื่นหมื่นเมืองไม่เฟื่องฟุ้ง | ว่าเจ้ากรุงไหนกล้าศรัทธาหาญ | ||
ห่อนสามารถอาจสร้างโรงทานนาน | ไม่ปูนปานเหมือนพระราชศรัทธา | ||
ทั้งสัตว์จัตุบททวิบาท | พระราชทานทั่วกันด้วยหรรษา | ||
นักงานเช้าเอาข้าวให้ทานกา | วันหนึ่งกว่าสามหาบมาฉาบกิน | ||
เอาข้าวกองไว้ที่ช่องเชิงเทินป้อม | กาเข้าล้อมเลี้ยงชีวิตเป็นนิจสิน | ||
ข้าวเหลือหกตกบ่าลงมาดิน | แพะแกะกินชื่นบานสำราญใจ | ||
เสียงกาก้องแพะร้องประสานเสียง | ส่งสำเนียงดังจะร้องสนองไข | ||
โมทนาพระกุศลมงคลไชย | ประสาใจได้กินก็ยินดี ฯ | ||
๏ ที่โรงหล่อต่อแต่งพระพุทธรูป | ที่เศร้าซูบมัวหมองไม่ผ่องใส | ||
พระบุราณบ้านเก่าคราวกลี | ตกอยู่ที่เมืองร้างวัดดั้งเดิม | ||
ถูกแดดลมจมน้ำล้วนชำรุด | ไปขนขุดมาบุรณะเฉลิมเสริม | ||
ที่ด่างพร้อยร่อยหรอก็ต่อเติม | พระพักตร์เจิมจุนพระศอต่อพระกร | ||
พระนาภีพระนลาฎพระบาทหัตถ์ | ที่วิบัติมาบุรณะปฏิสังขรณ์ | ||
พระประธานพระไสยาสน์ลีลาศจร | ออกซับซ้อนน้อยใหญ่อยู่ในโรง | ||
ล้วนสูงศักดิ์หน้าตักนับวาหลวง | ขึ้นเด่นดวงพระพักตร์ชักโอ่โถง | ||
ที่องค์ยืนสูงใหญ่ต้องใส่ชะโลง | เอาเชือกโยงไม้ยันขึ้นปั้นเจิม | ||
เตรียมหล่อหลอมพร้อมพรั่งพวกช่างเสร็จ | ก็เสด็จมายังที่นั่งเฉลิม | ||
พร้อมอำมาตย์ราชวงศ์ลงมาเติม | ก็เร่งเริ่มกูณฑ์กองหลอมทองพร้อม | ||
เสด็จทรงหยิบสุวรรณหิรัญนาก | ใส่ในปากเบ้าเปลวที่เหลวหลอม | ||
แล้วทรงคีบหนีบคีมเข้ารัดรอบ | เทถนอมทองรินประคิ่นกาญจน์ | ||
สู้ทนเพลิงเริงแสงที่แรงร้อน | ไม่ย่อหย่อนพระศรัทธานั้นกล้าหาญ | ||
แล้ววงศาข้าหลวงกระทรวงงาน | ก็อลหม่านเทเติมเพิ่มทวี | ||
ด้วยศรัทธาภินิหารไม่ฉานซ้ำ | ชนวนน้ำทองทั่วไม่มัวสี | ||
พอเย็นทำสำเร็จก็เสร็จดี | มิได้มีร้าวรั่วทั่วพระองค์ | ||
แล้วตะไบไขขัดจำรัสรูป | ให้เลียนลูบเกลี้ยงเกลาเพราระหง | ||
แล้วแห่ไปใส่โบสถ์ที่โสรดทรง | ในวัดวงแว่นแคว้นแดนนคร | ||
องค์เก่าไปใหม่เพิ่มมาเติมตั้ง | ปฏิสังขรณะสโมสร | ||
องค์นี้แล้วองค์นั้นนิรันดร | ไม่หยุดหย่อนพระศรัทธาพยายาม ฯ | ||
๏ ที่ทิมกรมวังเป็นคลังกุศล | บำเพ็ญผลมิได้ขาดกระจาดหาม | ||
ถวายพระปาติโมกข์สวดรวดอาราม | ธูปเทียนย่ามรองเท้าตามคราวมี | ||
บางทีสบงเสื่อลางเมื่อร่ม | ตามนุกรมทุกวันบัณณรสี | ||
ทรงถวายอัตราทั้งตาปี | กระจาดมีของงามตามฤดู | ||
ประกอบด้วยกล้วยขนมส้มข้าวสาร | เครื่องคาวหวานเปรี้ยวเค็มล้วนเต็มอยู่ | ||
เณรศิษย์วัดอัตนังมาพรั่งพรู | เป็นหมู่หมู่รับกระจาดอยู่กลาดทิม | ||
อลวนขนกระจาดไม่หวาดไหว | บ้างแบ่งให้ทานคนที่จนหงิม | ||
พวกขันปืน[1]ยืนสอมาขอชิม | ทั้งพวกริมเหล่านั้นขอทานกิน | ||
ที่ขนไปไม่ไหวก็ให้มั่ง | ที่มีกำลังแบกขนไปจนสิ้น | ||
พระสงฆ์ฉันชื่นชมนิยมยิน | เล่าเรียนภิญโญกล้าด้วยบารมี ฯ | ||
๏ ที่โรงนางกรินีศรีเศวต | เป็นปริเฉทข้าวบาตรสะอาดศรี | ||
มิได้ขาดอัตราทั้งตาปี | ใส่ลงทีหนึ่งอิ่มพระกริ่มใจ | ||
ทั้งกับด้วยกล้วยส้มขนมห่อ | เวลาพอรุ่งพระมาไสว | ||
ออกเรียงรายหลายวัดมาอัดไป | ข้าวขันใหญ่รับหยุดจนสุดองค์ ฯ | ||
๏ บัณณรัสอัฐมีนิมนต์ฉัน | เป็นนิรันตระเลี้ยงพระสงฆ์ | ||
ทั้งพระโรงแลปราสาทไม่ขาดคง | แต่ล้วนองค์ถานาราชาคณะ | ||
บาเรียนขรัวทั่วทั้งอันดับฉัน | ไม่เว้นวันอัฐบัณณรสะ | ||
เป็นเวรเวียนเปลี่ยนกันนิรันตระ | ตามคณะอาวุโสเอกโทตรี | ||
ถวายเครื่องสุทธากระยาหาร | ทั้งคาวหวานอุชารสอันสดศรี | ||
วันละร้อยถอยบ้างลางทวี | ยามดิถีสารทสุดตรุษสงกรานต์ | ||
นักขัตฤกษ์สูรย์จันทร์วันวัสสา | นิมนต์มาเกลื่อนกลาดพระราชฐาน | ||
ทวีคูณพูนเพศตามเทศกาล | กระยาหารเนยนมระดมทวี | ||
ทั้งยาคูข้าวแช่แลปายาส | กระยาสารทข้าวทิพเกษมศรี | ||
ทั้งเครื่องเทียบเรียบเรียงผะเดียงดี | พูนทวีเภสัชแลอัฐบาน | ||
มีเทศนาตาปีมิได้ขาด | มหาชาติธรรมวัตรจำรัสสาร | ||
จนจบในพระไตรปิฎกกาล | ไทยทานเครื่องกัณฑ์อนันตัง | ||
ของต่างต่างอย่างดีล้วนวิเศษ | พระนักเทศน์ใครดีมีหลายชั่ง | ||
ก็ยิ่งเรียนเพียรจัดวัฒนัง | ด้วยกำลังศรัทธาพระบารมี ฯ | ||
๏ พระที่นั่งเฉลิมหล้ามหาปราสาท | ก็พระราชศรัทธาเป็นราศี | ||
ตั้งนักปราชญ์พวกราชบัณฑิตดี | บอกบาลีสุริยวงศ์พระสงฆ์เณร | ||
พระราชทานเงินเดือนบ้างเลื่อนยศ | ด้วยสอนรสธรรมามหาเถร | ||
กระยาหารหวานคาวทั้งเช้าเพล | ถวายเณรพระสงฆ์ที่องค์เรียน | ||
ทั้งเภสัชอัฐบานสำราญรื่น | ให้แช่มชื่นชูจิตพินิจเสถียร | ||
วันละสามสิบเศษในเพศเพียร | เข้ามาเรียนอัตถ์แปลแซ่สำเนียง | ||
บ้างเรียนมูลเรียนคัมภีร์อยู่มี่ฉาว | ตั้งแต่เช้าจนบ่ายไม่วายเสียง | ||
ที่แม่นยำจำได้ออกไล่เลียง | แล้วชุบเลี้ยงเป็นมหาแลบาเรียน | ||
ถวายปัจจัยไตรปีมิได้ขาด | ที่เณรราชบัณฑิตพินิจเสถียร | ||
ให้บิณฑบาตในพระราชวังเวียน | บำรุงเพียรปัญญาวิชาธรรม | ||
ที่เรียนน้อยพลอยเพียรเล่าเรียนกล้า | ด้วยพระศรัทธาเลี้ยงชุบอุปถัมภ์ | ||
เพราะพระราชกุศลเป็นต้นนำ | พระสัทธรรมจึงฟุ้งอยู่รุ่งเรือง ฯ | ||
๏ ที่ทรงบาตรมิได้ขาดอังคาสพระ | ราชาคณะแลอันดับสลับเหลือง | ||
เป็นเวรเวียนเปลี่ยนวัดจังหวัดเมือง | อเนกเนืองบิณฑบาตไม่ขาดวัน | ||
ทั้งข้าวกับสรรพสรรพรรณรส | ล้วนสวยสดมีครบเครื่องขบฉัน | ||
แต่ละองค์ทรงใส่ลงให้พลัน | จนพูนขันข้าวขาวพอเช้าเพล | ||
วันละร้อยไม่ถอยพระกุศล | ไม่ประดลเลือกหน้ามหาเถร | ||
เสมอกันขันหนึ่งถึงสามเณร | จนสิ้นเกณฑ์บิณฑบาตทรงอัตรา | ||
ไม่เว้นวันจนชั้นประชวรพระยอด | ก็ไม่ทอดข้าวบาตรที่ปรารถนา | ||
สู้ดำรงทรงทนเวทนา | เช้าอุตส่าห์มิให้ขาดทรงบาตรทาน ฯ | ||
๏ ที่ห้องคลังศุภรัตไม่ขัดสน | บำเพ็ญผลภิญโญรโหฐาน | ||
เตรียมผ้าไตรมิได้ขาดในราชการ | บริขารนานาสถาพร | ||
เตรียมสำรองกองบุญไปครุ่นครบ | ถึงงานศพสุริยวงศ์อดิศร | ||
ทั้งผ้าตราผ้าพับสดับปกรณ์ | เครื่องศพท่อนจันทร์ทองฉลององค์ | ||
กลองชนะพระสวดฉันหน้าศพ | ทั้งเครื่องอบหอมหวานประทานส่ง | ||
ทั่วทุกศพครบครันจนวันปลง | ไตรสบงไม่น้อยสักร้อยไตร | ||
ที่กรมใหญ่ไตรดีทวีเพิ่ม | พูนเฉลิมตามยศล้วนสดใส | ||
ทั้งบริขารสังเค็ดพร้อมเสร็จไป | หนังดอกไม้เครื่องเล่นเกณฑ์ประทาน | ||
ทั้งพระเมรุเกณฑ์แห่แลแตรสังข์ | สมกำลังยศศักดิ์อัครฐาน | ||
ทั้งศพในฝ่ายหน้าพระอธิการ | ก็ประทานตามยศล้วนงดงาม | ||
ทั้งผ้าตราผ้าพับนับไม่ถ้วน | ทั้งจำนวนผ้าไตรนั้นหลายหาม | ||
ทั้งไตรปีที่ถานาทุกอาราม | ทั้งไตรงามพระกฐินสิ้นทุกปี | ||
ยังเครื่องบริขารทานกฐิน | ทอดทั่วสิ้นวัดใหญ่ในกรุงศรี | ||
ทั้งไตรเทศน์ไตรฉันพันทวี | ทั้งไตรที่เพลิงไหม้ในอาราม | ||
ที่พระสงฆ์องค์ไหนไตรครองหาย | ก็ถวายทั่วสิ้นถิ่นสนาม | ||
ไตรพระช่างตั้งเพียรปั้นเขียนงาม | สร้างอารามมาช่วยรวยทุกองค์ | ||
ทั้งไตรแพรแลผ้าศรัทธาถวาย | ให้เพริศพรายในเกณฑ์เณรพระสงฆ์ | ||
ตลกบาตรย่ามโอภิญโญยง | ได้ทั่วองค์ที่มาสถาวร | ||
พวกผ้าไตรในคลังตั้งแต่เพิ่ม | พร่องแล้วเติมแต่งต่อไม่ท้อถอน | ||
ดังมหาวารีสีทันดร | ไม่หยุดหย่อนไหลมาทั้งตาปี ฯ | ||
๏ จะตวงตักเท่าไรก็ไม่พร่อง | เกิดด้วยกองบุญญาพระราศี | ||
ก็ยิ่งเพิ่มเติมผลกุศลทวี | สร้างกุฎีอารามอร่ามเรือง | ||
ที่ชำรุดทรุดพังปฏิสังขรณ์ | ให้ถาวรแจ่มจัดจำรัสเหลือง | ||
ตั้งแต่เดิมเริ่มการได้ผ่านเมือง | ก็เปลี่ยนเครื่องพุทธบาทพระศาสดา | ||
มณฑปสบสมัยทั้งใหญ่น้อย | ที่เศร้าสร้อยแซมใหม่ให้แน่นหนา | ||
เสาเพดานบานผนังทั้งหลังคา | ยอดช่อฟ้าฝาซุ้มทองแดง | ||
แล้วด้วยเหล็กชันดีบุกขมุกรัก | ปั้นสลักลายลวดรวดตำแหน่ง | ||
แล้วปิดทองล่องชาดกระจกแซง | กระจ่างแสงจับสีรวีวรรณ | ||
กระดึงรายชายคาระย้าย้อย | โพธิ์ทองห้อยคอยลมระดมผัน | ||
เสียงเสนาะเพราะขานประสานกัน | ทั้งคืนวันบรรเลงดังเพลงดี | ||
ที่บัวหงายปลายเสาก็เพราพริ้ง | ผนังกิ่งก้านแย่งเป็นแสงสี | ||
พื้นเงาเก่าเบาบางก็สร้างทวี | แล่นบัดกรีผลัดเปลี่ยนให้เลี่ยนงาม | ||
พระมณฑปน้อยในก็ใหม่อ่อง | แล้วด้วยทองแกมแก้วแววอร่าม | ||
ล้วนลวดลายพายพราวดูวาววาม | แต่ฐานงามถึงยอดตลอดปลี | ||
ที่บัวทองรองรอบขอบพระบาท | ก็โอภาสแจ่มจรัสด้วยรัศมี | ||
ดูสวยสดด้วยสุวรรณหิรัญมณี | ล้วนผ่องศรีใสสดรจนา | ||
ดูปูนปานดังวิมานอมเรศ | อยู่ในเขตแดนดาวดึงสา | ||
ขึ้นลอยปลั่งตั้งประทับบนบรรพตา | ดูโอฬาร์เลิศพร้อมด้วยซ่อมแปลง | ||
พระเจดีย์วิหารที่ฉานฉ่ำ | ก็แต่งบำรุงจัดจำรัสแสง | ||
ศาลาบ่อหอระฆังทั้งกำแพง | ที่ร้าวแล่งแต่งใหม่ให้ไพบูลย์ | ||
แล้วมอบเวนเกณฑ์คนให้ปรนนิบัติ | เป็นเลขวัดพุทธบาทไม่ขาดสูญ | ||
ปะขาวนายไพร่บ่าวเป็นเค้ามูล | ให้เพิ่มพูนปรนนิบัติอยู่อัตรา | ||
แล้วทรงเปลื้องเครื่องต้นวิมลมาศ | อันโอภาสสูงศักดิ์นั้นหนักหนา | ||
ออกบูชาพุทธบาทพระศาสดา | เพิ่มมหาบารมีด้วยปรีดิ์เปรม | ||
ไว้ทั้งสามสำรับสำหรับเปลี่ยน | ถวายเวียนตามเทศกาลเกษม | ||
เครื่องลูบไล้ไพโรจน์อันโอชเอม | ทั้งหงส์เหมฉัตรธงอลงกรณ์ | ||
ทั้งเครื่องทองรองเรืองทั้งเครื่องแก้ว | ประทีปแถวโคมยามตามสลอน | ||
ทั้งธูปเทียนมาลาสถาพร | ไตรจีวรเทียนวสาหน้าฤดู | ||
บริขารถมปัดจัดถวาย | เครื่องฉัตรฉายสูงศักดิ์มีอักขู | ||
แล้วแผ้วถางทางเดินตัดเนินคู | ถึงฤดูสัปรุษอยุธยา | ||
ชวนกันไปสักการสำราญชื่น | หนทางรื่นสบายทั้งซ้ายขวา | ||
ตลอดถึงพุทธบาทพระศาสดา | ได้ทัศนามณฑปมีครบครัน | ||
ก็โมทนาสาธุพระกุศล | อวยพรผลมาให้ในไอศวรรย์ | ||
เสียงอื้อฉาวคราวปีเป็นนิรันดร์ | ทั้งช่อชั้นเทวาสาธุการ ฯ | ||
๏ ครั้นเสร็จสรรพจบสร้างพระอาวาส | ทั่วพระราชนิเวศน์เขตสถาน | ||
ที่เศร้าหมองทองมัวแลรั่วราน | โบสถ์เจดีย์วิหารแลการเปรียญ | ||
ทั้งกุฎีที่ฐานสะพานเขื่อน | ที่หลุดเลื่อนสร้างใหม่ให้เสถียร | ||
ทั้งพระปรางค์พระระเบียงเฉวียงเวียน | ที่หักเหี้ยนเปลี่ยนใหม่ไปใส่เติม | ||
ทั้งหอไตรหอระฆังทั้งโรงกรัก | ที่ปรักหักพังก็สร้างเสริม | ||
ที่ขาดค้างสร้างเก่าแต่เค้าเดิม | ก็สร้างเพิ่มลงใหม่ให้ไพบูลย์ | ||
ทั้งศาลาหน้าหลังก็สร้างแทรก | ทำแปลงแปลกปลูกใหม่มิให้สูญ | ||
ที่ลานลุ่มภูมิวัดก็จัดพูน | ที่เนินนูนเกลี่ยปราบให้ราบเรียง | ||
คลองถนนหนทางที่ขวางวัด | ก็ถมตัดลัดหลีกฉีกเฉลียง | ||
กุฎีไหนไกลน้ำขัดลำเลียง | ขุดคูเคียงเข้าไปได้วารี | ||
ได้ตักหาบอาบสงฆ์ลงเรือง่าย | แต่งถวายปรีดิ์เปรมเกษมศรี | ||
ทั้งสระบ่อท่อน้ำนำทวี | แต่งภูมิที่โอ่โถงทั้งโรงควง | ||
ไม่เลือกว่าวัดไหนให้ก่อสร้าง | เห็นโรยร้างแล้วก็จัดเป็นวัดหลวง | ||
เที่ยวซ่อมแปลงแต่งตั้งสิ้นทั้งปวง | ร่ำแต่ตวงทรัพย์สร้างไม่ว่างวัน ฯ | ||
๏ ให้นายช่างร่างแผนที่ถวาย | ไม่แยบคายเขินขัดให้จัดสรร | ||
ทรงประดิษฐ์คิดสร้างละอย่างกัน | ล้วนเหมาะมั่นอิฐไม้มิใคร่เปลือง | ||
ใบระกาหน้าบันสุวรรณปิด | ไม่ทนฤทธิ์ฝนรดก็ปลดเปลื้อง | ||
กระจกเจียนเปลี่ยนผลัดจำรัสเรือง | ทั้งขาวเหลืองเขียวแดงแลแสงคราม | ||
ที่สีเหลืองเรืองรองเหมือนทองสุก | แลเลื่อมลุกล้ำทองผ่องอร่าม | ||
จับแสงแดดแผดเอาเป็นเงางาม | ดูสุกวามวาบวับเข้าจับตา | ||
ทั้งขาวแดงแสงระยับสลับสี | รัศมีรุ่งโรจน์รุ่งพุ่งเวหา | ||
น้ำค้างลมถมทับไม่อัปรา | ทั้งฝนฟ้าตกต้องไม่หมองมัว | ||
ทั้งงามทนล้นเหลือดังเนื้อแก้ว | ดูผ่องแผ้วท่วงทีไม่มีชั่ว | ||
ซุ้มคูหาหน้าบันชั้นฐานบัว | ตลอดทั่วทุกวัดที่ดัดแปลง | ||
ช่างสลักถากกลึงแลปั้นเขียน | ก็พากเพียรทำถวายไม่หน่ายแหนง | ||
ให้เบี้ยหวัดจัดสรรรางวัลแรง | ทั่วตำแหน่งเบิกเผยที่เคยการ | ||
พวกรายงานการตรวจก็กวดเก่ง | เที่ยวเร้าเร่งทั่ววัดที่จัดสมาน | ||
ไล่กำหนดจดหมายไว้รายงาน | เข้ามาอ่านทูลถวายไม่วายวัน | ||
ทูลเรื่องอื่นมิได้ชื่นเหมือนเรื่องวัด | เวียนแต่ตรัสถามไต่ให้ใฝ่ฝัน | ||
ถึงวัดนั้นวัดนี้เป็นนิรันดร์ | ถึงเรื่องปั้นเขียนถากสลักสลึง | ||
วัดโน้นแล้ววัดนี้ยังรับสั่งเร่ง | เตือนตำเบ็งทำไปให้ขำขึง | ||
พวกนายด้านนายงานเร่งการตะบึง | ให้ทั่วถึงถ้วนวัดจังหวัดราย | ||
โบสถ์วิหารการเปรียญก็เขียนวาด | เพดานดาดชาดทองอันผ่องฉาย | ||
โบสถ์ผนังอย่างเก่าเสาทำลาย | บุบสลายมัวมอมก็ซ่อมแปลง | ||
เครื่องเขียนหลวงตวงเติมเพิ่มจำหน่าย | น้ำกระสายกาวนวลกวนเป็นแสง | ||
ช่างประสมกลมเกลียวทั้งเขียวแดง | ละลายแบ่งเขียนวาดสะอาดดี | ||
ล้วนหมดจดสดใสไปทั่วแห่ง | ทั้งพลิกแพลงภาพหาญประสานสี | ||
ดูไม้เขาเหล่าสัตว์พื้นปัถพี | ทั้งท่วงทีเส้นสายแลลายทอง | ||
ล้วนประเสริฐเพริศพริ้งทุกสิ่งเสร็จ | งามสำเร็จทั่วที่ไม่มีหมอง | ||
วัดละอย่างต่างกันเป็นชั้นรอง | ตามทำนองเรื่องลายหลายกระทรวง | ||
ที่ลางโบสถ์โปรดระบายเป็นลายแย่ง | วัดลางแห่งเขียนลายเป็นไม้ร่วง | ||
บ้างเขียนเป็นลายชั้วเข้าพัวพวง | ลายฮ่อหน่วงเหนี่ยวรัดเครื่องศัสตรา | ||
บ้างเขียนเรื่องเบื้องบททศชาติ | เรื่องนิบาตน้อยใหญ่ในคาถา | ||
เรื่องปฐมสมโพธิรจนา | เรื่องเทวดาขับรำประจำงาม | ||
บ้างเขียนเรื่องปิดตาหารักเร้น | บ้างเขียนเป็นเรื่องโลกสัณฐาน | ||
ทั้งเรื่องเทพชุมนุมประชุมการ | เรื่องสระสนานบ้างจัดเรื่องอัฐธุดงค์ | ||
ครั้นแล้วช่างข้างคฤหัสถ์เบี้ยหวัดให้ | พระเณรได้ไตรย่ามงามระหง | ||
เขียนถวายหลายวัดจัดบรรจง | ได้ทั่วองค์พระเถรจนเจนการ ฯ | ||
๏ วัดทั้งหลายคล้ายกันเป็นอันมาก | ไม่หนีจากอย่างเก่าเป็นอวสาน | ||
แต่วัดเครือวัลย์ใหม่อำไพพาน | หนีบุราณแปลกเพื่อนไม่เหมือนใคร | ||
เขียนชาดกยกเรื่องโพธิสัตว์ | ทอดประทัดตีตารางสว่างไสว | ||
เป็นห้องห้องช่องละชาติออกดาษไป | นับชาติได้ห้าร้อยสิบชาติตรา | ||
ด้วยทรงพระศรัทธาเมตตาช่าง | ให้สินจ้างช่องละบาทดังปรารถนา | ||
ด้วยบุญญาอานิสงส์ทรงศรัทธา | ไม่ต้องหาช่างเขียนเวียนมาเอง | ||
เอาเงินล่อพอใจไม่เจ็บหลัง | อุตส่าห์นั่งพิเคราะห์ให้เหมาะเหม็ง | ||
ที่เที่ยวหามาพบก็สบเพลง | อลเวงชิงกันประชันมือ | ||
ทั้งลายปั้นบรรจงก็ทรงจ้าง | งามสำอางพร้อมมูลชั้นปูนถือ | ||
ล้วนเกลี้ยงเกลาเพราตาพากันลือ | ออกระบือพระนามถามขจร | ||
เหมือนครั้งคราวท้าวไทอภัยทศ | อันปรากฏบุญฤทธิ์อดิสร | ||
สร้างพระนาคเจดีย์ศรีนคร | ราษฎรช่วยบ้างก็รางวัล | ||
อันทรงสร้างครั้งนี้เป็นที่ล้น | พระกุศลพ้นที่จะเสกสรร | ||
อุโบสถรจนาสารพัน | ทั้งซุ้มบันคูหาจารณำ | ||
พระประธานฐานองค์ก็ทรงซ่อม | ที่มัวมอมกลับงามอร่ามขำ | ||
ทั้งน้อยใหญ่ใสผ่องด้วยทองคำ | ล้วนเก้าน้ำเนื้อกษัตริย์จำรัสเรือง | ||
แล้วหุ้มห่มภูษาล้วนผ้าสี | รัศมีจับพระพักตร์จำหลักเหลือง | ||
เศวตฉัตรกั้นบังมลังเรือง | แล้วด้วยเครื่องตาดโหมดดูโลดลอย | ||
ที่ลางวัดฉัตรแดงแลแสงขาว | แขวนติดดาวเพดานตระหง่านห้อย | ||
ระย้าแก้วแววฉายดูพรายพร้อย | ทั้งใหญ่น้อยห้อยแขวนล้วนแสนงาม | ||
ขึ้นลอยเด่นเป็นระนาวติดดาวดาษ | แสงชาดฉลุทองผ่องอร่าม | ||
ดูวับแวมแจ่มวาวเป็นเงางาม | ห้องละสามสายห้อยดูพรอยพราย | ||
กระจกซุ้มรุมเรียงขึ้นเคียงตั้ง | อยู่เหนือหลังทวารบัญชรฉาย | ||
ช่องละสามตามชั้นอันดับราย | มีลวดลายกรอบซุ้มบ้วนหุ้มทอง | ||
สว่างเงาเข้าจับระย้าแก้ว | ดูเพริศแพร้วเพราทั่วไม่มัวหมอง | ||
มีม่านกว้างกางกั้นกันละออง | ทั้งอาสน์รองขวดตั้งทั้งราวเทียน | ||
กระถางธูปรูปงามตามทุกโบสถ์ | ที่วัดโปรดก็วิจิตรพินิจเสถียร | ||
ล้วนเครื่องทองของแก้วแวววิเชียร | การเปรียญแลวิหารตระการตา | ||
ทั้งเลขวัดจัดจ่ายถวายขาด | ทั่วอาวาสมากมายทั้งซ้ายขวา | ||
แล้วรื้อเก๋งอย่างดีมีราคา | ขนออกมาจากวังที่ข้างใน | ||
เที่ยวปลูกฝังสร้างถวายรายอาวาส | แล้วด้วยชาดแลทองอันผ่องใส | ||
แล้วให้เทศนาอัตราไป | สำหรับในวัดนั้นสามวันยก | ||
เครื่องบูชาผ้าขาวรองเท้าร่ม | ตามนุกรมทำนองไม่พร่องบก | ||
ทั้งเครื่องราษฎร์ศรัทธามาสาธก | มิให้ตกหล่นได้ในอาราม | ||
พระสงฆ์เณรเวรเวียนเปลี่ยนกันเทศน์ | ที่จิตเจนไม่ชำนาญก็ชาญสนาม | ||
เคยอุทธัจจ์ขัดข้องก็คล่องความ | พระสูตรตามวินัยต่อพระปรมัตถ์ | ||
จนจบในพระไตรปิฎกสิ้น | เป็นที่ถิ่นดับโทษให้โปรดสัตว์ | ||
ทรงให้ธรรมเป็นทานทั้งบ้านวัด | รู้บำบัดบาปกรรมกระทำบุญ | ||
ข้างฝ่ายวัดก็จัดของเทศนา | ที่อุตส่าห์พากเพียรเล่าเรียนหนุน | ||
ไม่มีใครอุปถัมภ์ช่วยค้ำจุน | ได้ทุ่นทุนรับประทานแต่งานเดือน | ||
ได้เทศน์ธรรมกัณฑ์หลวงกระทรวงวัด | ได้เจนจัดจนดีไม่มีเหมือน | ||
สัปบุรุษปุถุชนนิมนต์เตือน | ไปเทศน์เรือนโรงธรรมค่อยฉ่ำใจ | ||
ได้เครื่องกัณฑ์ฉันบ่อยอร่อยจิต | เปรื่องความคิดเทศน์คล่องด้วยผ่องใส | ||
บ้างถึงเวรเกณฑ์การท่านชาญชัย | รับเทศน์ไว้หลายแห่งต้องแบ่งทุน | ||
ให้พระเณรเกณฑ์เรียนนั้นเปลี่ยนผลัด | เทศน์ที่วัดสัปบุรุษก็อุดหนุน | ||
ได้เครื่องกัณฑ์ฉันฉ่ำเขาทำบุญ | ก็เรียนครุ่นร่ำไปจนได้ดี | ||
ด้วยพระราชกุศลเป็นต้นก่อน | จึงถาวรเรืองรุ่งทั้งกรุงศรี | ||
ประกอบก่อบ่อบุญพูนทวี | ไปทั่วที่พระนิเวศน์ทุกเขตคาม ฯ | ||
๏ แล้วเปลี่ยนขนานนามวัดที่จัดสร้าง | ให้คงอย่างภูมิฐานที่เรียกถาม | ||
วัดทองนั้นชื่อสุวรรณทาราม | วัดนาคนามชื่อว่าพระยาทำ | ||
วัดแจ้งแปลงสมญาตามอาวาส | อรุณราชธารามอันงามขำ | ||
วัดเลียบราชบุรณะเรียกประจำ | วัดบางลำพูล่างเรียกต่างกัน | ||
ขนานนามงามวิเศษเศวตฉัตร | วัดหมูผลัดชื่อว่าอัปสรสวรรค์ | ||
วัดประโคนโอนชื่อดุสิตพลัน | วัดพลับนั้นชื่อราชสิทธี | ||
วัดบางจากชื่อภัคินีนาฏ | ท้ายตลาดโมลีโลกเฉลิมศรี | ||
วัดนครเขื่อนขัณฑ์พันทวี | ลงบัญชีชื่อวัดโปรดเกศงาม | ||
แต่วัดกลางวัดระฆังทั้งวัดกุฎ | ไม่สมมุติชื่อเสียงเรียงสนาม | ||
ทั้งวัดเกาะก็จำเพาะอยู่คงนาม | ทั้งอารามวัดสระเกศก็เพศกัน | ||
ทั้งวัดสมอรายไม่กลายชื่อ | วัดคอกกระบือคงเดิมไม่เจิมขวัญ | ||
ถ้วนสิบเก้าเข้าทั้งวัดเครือวัลย์[1] | สารพันจำรัสสวัสดี ฯ | ||
๏ ยังไม่เปรมเอมอิ่มพระกุศล | บำเพ็ญผลต่อไปไม่หน่ายหนี | ||
ดำริการหว่านผลกับมนตรี | จะให้มีศรัทธาสร้างอาราม | ||
หวังจะให้ได้ผลกุศลมาก | บริจาคทรัพย์หลวงออกตวงหาม | ||
ให้มนตรีสุริยวงศ์ผู้ทรงนาม | ได้มีความบริพัตรพูนศรัทธา | ||
เอาทรัพย์หลวงตวงจ่ายไปหลายวัด | ไม่สังกัดนับชั่งในสังขยา | ||
สุริยวงศ์ทรงรับกับพระยา | ก็ปรีดาปราโมทย์ด้วยโปรดปราน | ||
คิดเลื่อมใสไปสร้างเริ่มร่างวัด | บ้างเปลี่ยนผลัดสร้างใหม่หลายสถาน | ||
ด้วยทรัพย์หลวงตวงล่อลงพอการ | ก็พลอยจานเจือลงประจงเจิม | ||
เป็นวิสาธารณะพระกุศล | ก็เกิดผลเพิ่มพูนประมูลเสริม | ||
ทรงปราโมทย์โปรดปรานประทานเติม | พูนเฉลิมชาดรักกระจกทอง | ||
กาวเครื่องเขียนเวียนตั้งเบิกคลังหลวง | ไปเติมตวงจนถ้วนจำนวนฉลอง | ||
ครั้นเสร็จการขนานนามตามทำนอง | วัดในคลองบางยี่เรือทั้งสามนาม | ||
อินทารามจันทารามนามบัญญัติ | อีกทั้งวัดราชคฤห์เข้าเป็นสาม | ||
วัดท่านราชมนตรีที่อาราม | ขนานนามชื่อวัดคหบดี | ||
วัดท่านโชฎึกสร้างกลางสนาม | ชื่อนพคุณทารามอร่ามศรี | ||
คุณพระคลังสร้างใหม่ท้ายบุรี | ลงบัญชีชื่อวัดประยูรวงศ์ | ||
วัดพระยาศรีพิพัฒน์บัญญัตินาม | พระยาญาติการามงามระหง | ||
สามปลื้มชื่อจักรวรรดิอันหยัดยง | เจ๊สัวหงคงงามอยู่ตามเดิม | ||
วัดศาลาสี่หน้าชื่อคูหาสวรรค์ | เชิงเลนนั้นชื่อบพิตรพิมุขเฉลิม | ||
อีกสองวัดกรุงร้างไปสร้างเติม | ชื่อคงเดิมโลกสุธาศาลาปูน | ||
สิบสามวัดด้วยกันเป็นอันดับ | พระราชทรัพย์เจือไปมิให้สูญ | ||
วัดพระยาน้อยใหญ่จึงไพบูลย์ | ได้เพิ่มพูนสร้างงามตามทำนอง | ||
ประทานวัดละพระยาวงศาสร้าง | ที่เริ่มร่างสร้างใหม่จนได้ฉลอง | ||
ที่ได้สร้างต่างนิยมด้วยสมปอง | พาพวกพ้องบ่าวไพร่ไปทำบุญ | ||
เลี้ยงพระสงฆ์สบงจีวรถวาย | ของทั้งหลายต่างต่างก็สร้างหนุน | ||
ออกจำแนกแจกทานคิดหว่านทุน | ในการบุญเบ็ดเสร็จทั้งเทศน์ธรรม์ | ||
ทั้งเครื่องเล่นเต้นรำทำฉลอง | ทั้งขับร้องดีดสีทุกสิ่งสรรพ์ | ||
จำเริญศรีมีสง่าสารพัน | ด้วยพระปัญญายอดที่ทอดทุน | ||
ด้วยทรัพย์หลวงตวงก้อนทรงผ่อนผัน | จึงชวนกันศรัทธาขึ้นหนาหนุน | ||
ได้กำไรหลายส่วนจำนวนบุญ | ประทานทุนทรัพย์หลวงที่ตวงไป | ||
เหลือล้นคณนาหนักหนานัก | เวียนเติมตักพระราชทรัพย์ไม่นับได้ | ||
ทองเครื่องเขียนเวียนตั้งเบิกคลังใน | แต่จดไว้ก็หลายสมุดตรา | ||
พระวงศาและพระยาที่สร้างวัด | ก็แจ่มจัดปรากฏลือยศถา | ||
ทูลถวายพระกุศลผลผลา | ทรงโมทนาปราโมทย์โปรดภิปราย | ||
ที่ได้สร้างฟังชื่นดังกลืนแก้ว | มีใจแผ้วผ่องเหมือนหนึ่งเดือนหงาย | ||
ที่ใครไม่ได้สร้างระคางอาย | ไม่สบายหมอบก้มลงตรมตรอง | ||
พิเคราะห์ความตามกระแสพระกุศล | เห็นเป็นผลยอดยิ่งกว่าสิ่งของ | ||
โสมนัสศรัทธาทูลฝ่าละออง | ตามทำนองที่ทางสร้างอาราม | ||
เอื้อนพระโอษฐ์โปรดปรานประทานให้ | ได้ขนไขราชทรัพย์ออกนับหาม | ||
ประทานไปสร้างวัดจำรัสงาม | แล้วเดินตามอย่างกันเป็นหลั่นไป | ||
บ้างเริ่มตั้งฝังรากแล้วถากที่ | ยังไม่มีชี้แจงแถลงไข | ||
สุดแต่ใครศรัทธาไม่ว่าใคร | ประทานให้ทุกวัดทรงศรัทธา ฯ | ||
๏ แต่วัดระฆังสร้างซ้ำทำสองครั้ง | ด้วยวัดบังเกิดเพลิงเริงหนักหนา | ||
ไหม้กฏิแถบคลองของนานา | แล้วลามมาการเปรียญจนเลี่ยนลง | ||
พระประธานฉายช้ำระยำยับ | ด้วยขื่อทับหักแตกแหลกเป็นผง | ||
พระสงฆ์เถรเณรตื่นยืนไม่ตรง | เสียสบงจีวรสะท้อนใจ | ||
บ้างคว้าได้ไม้มั่งทั้งหนังสือ | ออกวิ่งฮือตามกันสนั่นไหว | ||
ทุกสิ่งของกองเหลวด้วยเปลวไฟ | รับสั่งให้ไปดับระงับเพลิง | ||
ทั้งมนตรีสุริยวงศ์องค์น้อยใหญ่ | เสด็จไปไฟยังกำลังเหลิง | ||
ให้พร้าขอตะกร้อน้ำเข้าร่ำเปิง | เข้าตัดเชิงไฟมอดลงวอดวาย | ||
ครั้นรุ่งแจ้งให้แต่งกระยาหาร | ทั้งคาวหวานน้อยใหญ่ไปถวาย | ||
พระสงฆ์ที่หนีไฟไม่สบาย | ไม่ทันสายเลี้ยงเสร็จสำเร็จการ | ||
กระบะงามชามใหม่ถวายทั่ว | เป็นเครื่องครัวสืบต่อบริขาร | ||
ถวายไม้ไผ่หลายลูกปลูกรองงาน | ทำโรงร้านอยู่พลางพอบังกาย | ||
แล้วถวายไตรตรองที่พร่องบก | องค์ใดตกตื่นเพลิงกระเจิงหาย | ||
แต่บรรดาผ้าพลัดกระจัดกระจาย | ก็ถวายให้ถ้วนล้วนสำอาง | ||
แล้วให้ปลูกกฏิพ้นที่ไหม้ | ไปปลูกไว้ท้ายวัดถัดของขวาง | ||
ระดมกรมน้อยใหญ่ไพร่ขุนนาง | ให้ปลูกสร้างคนละหลังอยู่พรั่งพรู | ||
เสาไม้แก่นแล่นฝากระแชงอ่อน | เต้าตงกลอนเรียงเรียบทั้งเสียบหนู | ||
จั่วต้านลมคมหลบแลกบทู | กะไดประตูหน้าต่างสำอางตา | ||
หมายรับสั่งสร้างถ้วนจำนวนร้อย | ที่วัดน้อยแคบไปทั้งซ้ายขวา | ||
ได้เก้าสิบเศษทั่วขรัวถานา | พระราชาคณะแลพระครู | ||
ทั้งอันดับสรรพเสร็จทั้งบริขาร | เสื่อมุ้งม่านหมอนผ้าได้อะขู | ||
กฏิใครได้สร้างต่างเลี้ยงดู | ทั้งหมากพลูสิ่งของฉลองทาน | ||
แล้วขุดร่องคลองขวางถึงทางถนน | ให้ขังชลฉันง่ายในสถาน | ||
ที่กลางคลองช่องข้ามทำตะพาน | สูงตระหง่านมุงกระเบื้องล้วนเครื่องปรุง | ||
แล้วปลูกกฏิลงที่ไฟไหม้ใหม่ | ทั้งน้อยใหญ่พร้อมทั่วทั้งครัวหุง | ||
ล้วนฝากระดานมั่นคงทรงบำรุง | แต่ล้วนมุงกระเบื้องเครื่องสำอาง | ||
กะไดอิฐติดต่อก่อล่องถุน | กฏิเจ้าคุณทั้งสามงามสล้าง | ||
คณะละห้าหลังทั้งหอกลาง | ทั้งหอขวางหอรีมีพาไล | ||
กฏีเจ้าคุณใหญ่นั้นใส่เก๋ง | ดูปลั่งเปล่งด้วยทองอันผ่องใส | ||
แถวถานาบาเรียนเวียนออกไป | นับหลังได้สามสิบทั้งเก๋งทอง | ||
หอสวดมนต์บนล่างสำอางเกลี้ยง | ซี่กรงเรียงเรียบทั่วไม่มัวหมอง | ||
ถนนแนวแถวงามตามทำนอง | ไปตามช่องแถวข้างหว่างกฏี | ||
การเปรียญเปลี่ยนผลัดจัดเป็นตึก | ปั้นผนึกกันเพลิงที่เริงศรี | ||
นายแจ้งสร้างพระทองต้องอัคคี | มีภักดีภิปรายถวายมา | ||
จึงโปรดให้ใส่แทนที่แท่นเก่า | แต่งเฉลาเพริศพรายทั้งซ้ายขวา | ||
แล้วพูนเพิ่มเติมกำแพงแต่งศาลา | ทั้งซ้ายขวาหน้าชานการเปรียญ | ||
ดูเพริศพริ้งยิ่งกว่าเก่าไม่เท่าถึง | เป็นที่พึ่งทั่ววัดจังหวัดเฉวียน | ||
ไม่เลือกว่าวัดไหนที่ไฟเบียน | เห็นไม่เตียนสร้างเติมเพิ่มทวี | ||
ยิ่งไหม้ก็ยิ่งสร้างไม่ค้างเขิน | จึงจำเริญทั่ววัดรัศมี | ||
จะแลดูวัดไหนในบุรี | ล้วนผ่องศรีเรียบเรียงทั้งเวียงชัย ฯ | ||
๏ วัดไหนไหนไม่ลือระบือยศ | เหมือนวัดราชโอรสอันสดใส | ||
เป็นวัดเดิมเริ่มสร้างไม่อย่างใคร | ล้วนอย่างใหม่ทรงคิดประดิษฐ์ทำ | ||
ทรงสร้างด้วยมหาวิริยาธึก | โอฬารึกพร้อมพริ้งทุกสิ่งขำ | ||
ล้วนเกลี้ยงเกลาเพราเพริศดูเลิศล้ำ | ฟังข่าวคำลอสุดอยุธยา | ||
จะรำพันสรรเสริญก็เกินสมุด | ขอยกหยุดพองามตามเลขา | ||
กำหนดสร้างพระอาวาสโดยมาตรา | ประมาณช้านับได้สิบสี่ปี | ||
จึงเสร็จการอาวาสราชโอรส | อันลือยศเฟื่องฟุ้งทั้งกรุงศรี | ||
แล้วสมโภชโปรดปรานการทวี | การที่มีเหลือล้นคณนา | ||
สมโภชรวบควบกันเป็นอันดับ | กำหนดนับเก้าวัดโดยสังขยา | ||
ยังไม่เปรมเอมอิ่มพระศรัทธา | ในมหากุศลนิพนธ์ทวี | ||
มาปฏิสังขรณะพระอาวาส | พระศรีศาสดารามอร่ามศรี | ||
ดูเลิศล้ำโลกาในธาตรี | ใครไม่มีเทียมโทมโหฬาร์ | ||
แต่ทรงสร้างพระอาวาสทั่วราชฐาน | ตั้งแต่กาลวัดราชโอรสสา | ||
จนเสร็จวัดทั้งปวงที่ล่วงมา | สิ้นอิฐผาปูนกระเบื้องขนเปลืองเดิม | ||
แม้นรวมรวบควบเข้าทั้งเก่าใหม่ | ประมาณใหญ่สักเท่าภูเขาเฉลิม | ||
ทั้งน้ำเชื้อเนื้อรักที่ตักเติม | สิริเพิ่มกันเข้าเท่านที | ||
ทั้งเสาสักจากหวายไม้ร่างร้าน | มากกว่าบ้านเรือนแพในกรุงศรี | ||
เครื่องเขียนกาวราวสิบลำสำเภาพี | กระจกที่เคลือบขลิบสักสิบเกวียน | ||
คำเปลวทองสักสองสามสิบหาบ | เที่ยวทาทาบทั่ววัดจังหวัดเฉวียน | ||
ปรางค์เจดีย์วิหารการเปรียญ | สิ้นทองเขียนปิดพระอนันต์ครัน ฯ | ||
๏ ขออนุโมทนาอานิสงส์ | ที่พระองค์ทรงสร้างสว่างสรรค์ | ||
ให้ภิญโญยศยิ่งทุกสิ่งอัน | อุปัทวันตรายอย่าได้มี | ||
บรมสุขทุกพระอิริยาบถ | ใครคิดคดให้พ่ายกระจายหนี | ||
ให้พระชนม์ยาวยืนอยู่หมื่นปี | ให้เปรื่องปรีชาฤทธิมหิทธิญาณ | ||
พระโรคาอย่าแผ้วให้แคล้วคลาด | จงผุดผาดผ่องศรีเพียงสุริยฉาน | ||
พระเกียรติยศปรากฏทั่วจักรวาล | ดังอวตารผ่านโลกเป็นโจกจอม | ||
ให้ท้าวพระยาสามนต์มงคลทวีป | มาสวมชีพใต้บาทภิวาทถนอม | ||
ให้ซื่อต่อบพิตรคิดประนอม | ให้นำน้อมเครื่องคำนับมาอภิบาล | ||
สิ่งใดพระทัยรักพะวักหวัง | ให้สมดังพระประสงค์ดำรงสถาน | ||
ให้ล่วงลามข้ามเขตกิเลสมาร | ให้ศีลทานผ่องใสในมโน | ||
ให้พระราชศรัทธานั้นกล้าหาญ | บำราศพาลเป็นบรมสุโข | ||
ให้สำเร็จเสร็จกิจอิศโร | เป็นสัมมาสัมพุทโธมโหฬาร | ||
มาราขออย่ามาประจญได้ | ตั้งพระทัยอุดมพรหมวิหาร | ||
เหมือนพระเมตไตรยในอนาคตกาล | พระนฤพานจงลุโหตุเต | ||
สุขิโตโหตุภวันติ | ให้สิทธิสมพระทัยไม่ห่างเห | ||
อิจฉิตังปัตถิตังวะรังวะเร | ด้วยเดชเดชะพุทธวรพร ฯ | ||
๏ สรวมชีพรจนาสามิภักดิ์ | เฉลิมศักดิ์บพิตรอดิศร | ||
ไว้สำหรับกัปกัลป์นิรันดร | ให้ถาวรพิพัฒน์สวัสดี | ||
ขอคุณพระไตรรัตน์เป็นฉัตรแก้ว | มาปักแผ้วกันภัยในเกศี | ||
ให้พระจอมโลกาทรงปรานี | พอพ้นที่ช่างเขียนเปลี่ยนวิชา | ||
ขอฉลองพระคุณไปในอาลักษณ์ | ด้วยจิตรักจงสมปรารถนา | ||
ควรมิควรโปรดทรงพระเมตตา | ชีวิตไว้ใต้ฝ่าธุลีเอย ฯ | ||
๏ สรรเสริญพระเกียรติเรื้อง | กรุงศรี | ||
ข้าพเจ้านายมี | สืบสร้าง | ||
ด้วยจิตคิดภักดี | จอมราช | ||
เฉลิมลักษณ์ไวอ้าง | โลกเหลื้องลือบุญ ฯ | ||
๏ ข้าพระพุทธเจ้า นายมี บุตรพระโหรา แต่งมาทูลเกล้าฯ ถวายไว้ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ณ วันประหัศ จตุรเกณฑ์ กาฬปักษ์ เดือนแปด จุลศักราช ๑๑๙๕ ปีมะเส็งเบญจศกเสร็จ ขอเดชะ ฯ
เชิงอรรถ
ที่มา
หนังสือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฎกุลินี โปรดให้พิมพ์เป็นมิตรพลีขึ้นปีใหม่ พ.ศ. ๒๔๗๔ โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร
ขอขอบคุณ นายสะอาด บ้านปทุม ผู้พิมพ์เป็นวิทยาทาน