à¸à¸²à¸£à¸›à¸à¸´à¸§à¸±à¸•ิครั้งใหà¸à¹ƒà¸™à¹à¸„ว้นà¸à¸£à¸¸à¸‡à¸¨à¸£à¸µà¸à¸¢à¸˜à¸¢à¸²à¸à¸±à¸™à¹€à¸›à¸™à¹€à¸«à¸•ุให้ชาวà¸à¸£à¸±à¹ˆà¸‡à¹€à¸¨à¸ªà¸–ูà¸à¸‚ับไล่
จาก ตู้หนังสือเรือนไทย
การปรับปรุง เมื่อ 15:58, 23 ตุลาคม 2553 โดย CrazyHOrse (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
ข้อมูลเบื้องต้น
การปฏิวัติครั้งใหญ่ในแคว้นกรุงศรีอยุธยาอันเปนเหตุให้ชาวฝรั่งเศสถูกขับไล่ | |||
การจำเริญทางพระราชไมตรี การทูต การสื่อสาส์น และการเดินเรือเข้ามาสู่พระราชสำนักกรุงศรีอยุธยา กอร์ปด้วยเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งมีผู้พิมพ์ขึ้นในระหว่าง ๔ ปีที่ล่วงมาแล้วนั้น โลกได้ประจักษ์แจ้งเพียงพอในคุยระหัสของพวกเยซูอิสส์ที่ทำการสั่งสอนคริสตศาสนาอยู่ในพระราชอาณาจักร์สยาม ซื่งมองสิเออร์คอนสตันติน ฟอลคัน (เจ้าพระยาวิชเยนทร) ชนชาติกรีกคนสำคัญได้เป็นผู้ริเริ่มและจัดการให้เป็นไปตามความประสงค์ของชนชาวฝรั่งเศส ได้พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น (Lord) มองสิเออร์ คอนสตันติน ฟอลคัน เกิดที่เกาะซีฟาโลเนีย (Gephalonia) เกาะนี้อยู่ในความปกครองของชาติกรีกชาวเวนิเชียน (Venetian) บิดาเขาเป็นคนมีตระกูล มารดาเป็นเทือกเขาเหล่ากอคหบดีเก่าแก่ที่สุดในเมืองนั้น. | |||
ในราวปีคริสตศักราช ๑๖๖๐ คอนตันติน ฟอลคัน แม้จะมีอายุเพียง ๑๐ ขวบ ก็มีสติปัญญาสามารถรู้สึกผิดและชอบในหลักการทั้งปวง อันปราศจากธรรมซึ่งเกี่ยวกับการานในบ้าน เป็นต้นว่าบิดามารดาไม่เอาธุระในตัวเขา และในวิธีจัดการบ้านเรือน ซึ่งทำให้เขาปลงใจว่าจะต้องไปเสะแสวงหาโชคลาภณะต่างประเทศ เมื่อเขาไม่สามารถทนทานปฏิบัติงานอยู่กับบ้านได้ เขาจึงออกเดินทางไปประเทศอังกฤษเป็นครั้งแรก เขาอยู่ในประเทศอังกฤษหลายปี แล้วจึงเดินทางต่อไปยังภาคอินเดียตะวันออก (East Indies) ณะที่นั้นพ่อค้าอังกฤษได้ว่าจ้างเขาและให้เขามีส่วนในกิจการค้าขายที่ประเทศสยาม ขณะที่เขาทำการค้าขายอยู่นั้น เขามีโอกาสดีได้รู้จักกับอัครมหาเสนาบดีผู้ใหญ่ซึ่งคนทั้งหลายเรียกว่าเจ้าพระยาพระคลัง เจ้าพระยาพระคลังคนนี้เห็นว่ามองสิเออร์ คอนสตันติน ฟอลคัน เป็นคนขยันขันแข็งเอาการเอางานและสามารถประกอบกิจการทั้งปวง จึชักชวนมองสิเออ์ร์ คอสตันติน ฟอลคัน ให้อยู่ทำราชการในบังคับบัญชาของเจ้าพระยาพระคลัง (เจ้าพระยาโกษา เหล็ก) ผลแห่งการปฏิบัติงานของมองสิเออร์ คอนสตันิน ฟอลคัน ไม่ฉะพาะแต่เพียงเป็นที่พอใจของเจ้าพระยาพระคลังคนเดียวเท่านั้น ยังเป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระเจ้ากรุงสยามในราชการสำคัญอีกเป็นอันมากด้วย ผลของการศึกษาอย่างแบบยุโรปที่มองสิเออร์ คอนสตันติน ฟอลคัน ได้รับ และวิทยาการในแผนกการค้าและสินค้า ตลอดจนกระทั่งการงานในบริษัทอินเดียตะวันออกที่เขารอบรู้นั้น ทำให้เขาเป็นคนรอบคอบช่วยฟื้นฟูฐานะของเขาให้เฟื่องฟูขึ้นจนเป็นที่นิยมและเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของพระเจ้ากรุงสยาม ในที่สุดเมื่อเจ้าพระยาพระคลังถึงแก่อสัญญกรรมลง มองสิเออร์ คอนสตันติน ฟอลคัน ก็ได้ทำการในตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีผู้ใหญ่ มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินกับต่างประเทศเป็นพิเศษ. | |||
ภายในพระราชวังได้มีการประชุมกันเป็นความลับเพื่อดำเนินกุศโลบาย ป้องกันอ่าวสยามให้พ้นจากการกดขี่ของชนชาติวิลันดา ผู้ซึ่งเมื่อได้มีป้อมมั่นคงขึ้นที่ปากอ่าวเกาะมะละกาอยู่ในเงื้อมมือแล้ว ได้ตั้งพิกัดเก็บภาษีอากรเรือกำปั่นจากอินเดียที่ไปทำการค้าขายหรือเข้าไปในอ่าวนั้น แต่ได้วางนโยบาย (ตามที่เชื่อกันว่าจริง) ไว้ชัดแจ้งว่า ก่อนอื่นจะได้มอบประทศสยามให้อยู่ภายใต้ความคุ้มครองของประเทศฝรั่งเศส แล้วต่อไปจะได้เปลี่ยนแปลงศาสนาที่นับถือกันอยู่ในประเทศ เพื่อให้เรื่องทั้งสองนี้ดำเนินไปสู่จุดประสงค์โดยทางใดทางหนึ่ง ชนชาติกรีกซึ่งได้กล่าวนานมาแล้วนั้น จึงได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตต่อพระเจ้ากรุงสยาม ผู้ซึ่งไม่มีพระราชโอรสที่จะสืบสันตติวงศ์ นอกจากพระอนุชาสองพระองค์ ให้ทรงแต่งตั้งขุนนางหนุ่มคนหนึ่งซึ่งได้เคยศึกษาเล่าเรียนอยูในสำนักคริสตอารามมาแต่เด็ก แลพวกเยซูอิตส์ที่ทำการเผยแผ่ศาสนาในอินเดียตะวันออกเป็นผู้สอนขึ้นเป็นพระราชบุตรบุญธรรมและเป็นรัชชทายาท การตั้งรัชชทยาทนี้แหละเป็นเหตุให้เกิดการกบฏ. | |||
ชนชาวฝรั่งเศสมีอำนาจครอบงำอยู่แล้วในสถานที่สำคัญสองแห่งซึ่งเปิดทางให้เข้าถึงกรุงศรีอยุธยาได้โดยง่าย ที่สำคัญแห่งหนึ่งเรียกว่าบางกอก (ธนบุรี) มีป้อมใหญ่และเข็งแรงมั่นคงอยู่สองฟากแม่น้ำ ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งเรียกว่าเมืองมะริด ตั้งอยู่ที่ชายแดนพระราชอาณาเขตต์ และมาตรว่าการนี้ยังไม่เป็นที่พอใจของชนชาติฝรั่งเศสแล้ว พระเจ้ากรุงสยามจะได้โปรดพระราชานุญาตให้มีกองทหารประจำไว้เพื่อความปลอดภัยอีกชั้นหนึ่ง. | |||
ด้วยกรณีย์นี้จึงเป็นเหตุให้บรรดาขุนนางทั้งฝ่ายทหารพลเรือนต่างมีความเคียดแค้นในแผนอุบายนี้ยิ่งนัก แต่มิรู้ที่จะทำประการใด ได้แต่คอยดูเหตุการณ์ที่จะอุบัติขึ้นในภายหน้าเท่านั้น กองทหารฝรั่งเศสอันสรรพไปด้วยอาวุธยุทธภัณฑ์ก็ยิ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นเป็นลำดับและจะทำสงครามเวลาใดก็ได้ทุกขณะ การกระทำทั้งนี้ไม่ใช่แต่จะระวังสินค้าและการค้าขายของบริษัทฝรั่งเศสอย่างเดียวเท่านั้น ย่อมมีความมุ่งหมายคิดทำการอย่างอื่นด้วย สินค้าทั้งหมดที่เอาขึ้นไว้ในบริษัทก็ไม่เป็นสิ่งสำคัญเลย สิ่งสำคัญก็คืออาศัยบริษัทเป็นที่พักกองทหาร. | |||
เหตุนี้จึงทำให้บรรดาขุนนางผู้ใหญ่ในกรุงศรีอยุธยามีความเคืองแค้นยิ่งนัก แต่ขุนนางเหล่านั้นก็ยังจัดการทำอะไรให้เด็ดขาดลงไปไม่ได้เพราะพระเจ้ากรุงสยามยังเป็นหลักอยู่ ถึงกระนั้นก็ดีก็ได้คิดกันไว้ว่า เมื่อพระเจ้ากรุงสยามสินพระชนม์ลงแล้วจึงจะลงมือทำการปลดแอกจากชนต่างด้าวนี้ให้หลุดไป. | |||
ครั้นถึงเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๖๘๘ (พ.ศ. ๒๒๓๑) พระเจ้ากรุงสยามก็ทรงพระประชวรอยู่ณะพระราชวังเมืองลพบุรี ข่าวประชวรนี้ยังมิทันจะรู้ไปถึงชาวต่างประเทศ ข่าวกบฏก็ได้กระจายอกไปเสียก่อนว่า ผู้ต้นคิดนั้นเป็นขุนนางผู้ใหญ่คนหนึ่งแห่งพระราชอาณจักร์สยามซึ่งคนทั้งหลายเรียกว่าออกพระเพทราชา(ก) ท่านผู้นี้ไม่ใช่ว่าจะมีเกียรติยศเป็นขุนนางผู้ใหญ่อย่างเดียวเท่านั้น ยังเป็นสมุหพระราชมนเทียรแห่งพระราชวังกรุงศรีอยุธยาและลพบุรี และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นออกพระอันเป็นตำแหน่งสำคัญของประเทศ และเป็นที่เชิดหน้าชูตาแก่ผู้ที่ได้รับเกียรติยศในตำแหน่งนี้ แผนอุบายและวิธีดำเนินการตลอดจนผลแห่งการกระทำครั้งนี้ปรากฎในจดหมายซึ่งส่งไปจากกรุงศรีอยุธยาหลายฉะบับ เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๖๘๘ (พ.ศ. ๒๒๓๑) ดังต่อไปนี้ | |||
ณะวันที่ ๒๖ พฤษภาคม เพลากลางคืนออกพระเพทราชาได้คุมทหารจำนวนมากเข้าไปในพระราชวังเมืองลพบุรี เข้าไปจนถึงพระองค์พระเจ้าแผ่นดิน จับพระราชบุตรบุญธรรมไว้ และยังมิได้ทำอันตรายอย่างใดแก่พระอนุชาทั้งสองพระองค์ เป็นแต่ชี้แจงให้พระอนุชาทั้งสองพระองค์เข้าพระทัยว่า การที่ยกกองทหารเข้ามาในพระราชวังนี้ก็เพื่อจะป้องกันพระเจ้าแผ่นดินให้พ้นจากเงื้อมมือพวกกบฏอย่างเดียวเท่านั้น นอกจากนี้แล้วออกพระเพทราชาได้เข้าไปทูลชี้แจงต่อเจ้าชายน้อยๆ ๓ พระองค์ทีละองค์ๆ ว่าพระเจ้ากรุงสยามทรงพระประชวรหนักจนไม่มีหวังที่จะดำรงพระชนม์ชีพอยู่ได้แล้ว ออกพระเพทราชาจะช่วยเหลือให้เจ้าชายน้อยๆ ๓ พระองค์นั้นได้ขึ้นครองราชสมบัติต่อไป ทั้งนี้ก็เพื่อมิให้เจ้าทั้ง ๓ องค์แคลงพระทัย และจะได้ปล่อยให้ออกพระเพทราชากระทำการตามแผนอุบายที่คิดไว้ต่อไปได้โดยสะดวก และในที่สุดก็สำเร็จตามความหวังและความปรารถนาของออกพระเพทราชาทุกประการ. | |||
มองสิเออร์ คอนสตันติน ฟอลคัน ไม่ช้าก็ได้ตระหนักในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว และที่กำลังจัดทำกันอยู่ภายในพระราชวัง แต่ก็ยังขืนรีบไปทำการติดต่อใกล้ชิดพวกกบฏพร้อมด้วยสหายสนิทหลายคน และโดยมากเป็นชาวฝรั่งเศส ปรากฎในบันทึกคือ มองสิเออร์เดอโบชองป์, เดอแฟร์เดอวิลล์, เชอวาเลียร์ เดส ฟัวแบง, มองสิเออร์ วังตรีย์ และ เดอ แลสซ์ ขณะมองสิเออร์ คอนสตันติน ฟอลคัน จะเข้าไปภายในพระราชวัง ได้ร้องบอกทหารที่ประจำยามอยู่รอบพระราชวังนั้นว่าตัวเขาจะเข้าไปเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน แต่ยังมิทันย่างเข้าไปภายในพระทวารพระราชวัง ทหารเหล่านั้นก็เข้ากลุ้มรุมกันจับมองสิเออร์ คอนสตันติน ฟอลคัน และนายทหารฝรั่งเศสไว้ แล้วนำไปขังที่ห้องๆ หนึ่งในพระราชวัง. | |||
วันรุ่งขึ้นออกพระเพทราชาให้นำตัวมองสิเออร์ คอนสตันติน ฟอลคัน มา แล้วสั่งให้ไปบอกพวกนายทหารฝรั่งเศสทั้งหมดนั้นว่า ออกพระเพทราชาไม่มีความประสงค์จะกักตัวคนเหล่านั้นไว้เป็นนักโทษ ที่ทำไปแล้วนั้นก็เนื่องจากอุบายอันร้ายแรงของพวกกบฏที่พวกของออกพระเพทราชา สืบได้ว่าคิดจะปลงพระชนม์พระเจ้าแผ่นดิน แต่ใครจะเป็นกบฏบ้างนั้น เวลานี้ยังสืบไม่ได้ความตลอด จึงจำเป็นต้องคุมตัวผู้มีชื่อในบัญชีไว้ก่อนจนกว่าจะไต่สวนได้ความจริง ออกพระเพทราชาพูดอย่างไว้ตัวว่า "นี่แน่ มองสิเออร์ คอนสตันติน ฟอลคัน ฉะเพาะตัวเจ้าข้าบังคับให้พูดกับนายทหารฝรั่งเศสแต่เพียงเท่านี้ ไม่ให้พูดอะไรอีกต่อไป และเจ้าต้องรู้ดีว่าจะต้องมีคนแอบดูแอบฟังเจ้าพูด" ออกพระเพทราชาใช้ให้มองสิเออร์ คอนสตันติน ฟอลคัน ไปพูดเช่นนั้น เป็นอุบายอันพึงจะทำให้ชาวฝรั่งเศสคลายความโกรธแค้น และระงับชาวฝรั่งเศสมิให้คิดต่อสู้ป้องกันเพื่อความปลอดภัยของออกพระเพทราชา มองสิเออร์ คอนสตันติน ฟอลคัน ได้ไปส่งข่าวนี้แก่บรรดานายทหารฝรั่งเศสตามที่ตนได้รับบัญชามานั้นทุกประการ. | |||
พระเจ้ากรุงสยามมีทหารรักษาพระองค์อยู่หลายกองซึ่งเป็นชาวยุโรปชาติต่างๆ แต่โดยมากเป็นชาวฝรั่งเศส ทหารไทยกองหนึ่งซึ่งมีจำนวน ๑๕๐ คนอยู่ในบังคับบัญชาของนายทหารฝรั่งเศสได้ถูกส่งไปรักษาการอยู่ที่ทะเลชุบศร (Thalapson) ซึ่งเป็นที่ประทับแปรพระราชฐานของพระเจ้ากรุงสยามและอยู่นอกเมืองลพบุรี ณะที่นี้ออกพระเพทราชาได้ส่งกองทหารใหญ่กองหนึ่งไปคุมไว้และเตรียมพร้อมอยู่ทุกขณะที่จะทำการปราบปรามในเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้น ต่อมาอีกสองวันก็ได้ส่งนายทหารฝรั่งเศสที่คุมตัวไว้แล้วพร้อมทั้งมองสิเออร์ คอนสตันติน ฟอลคัน ไปอยู่ในความควบคุมของกองทหารหาญกองหนึ่งณะที่นั้น. | |||
เมื่อเหตุการณ์ได้ล่วงไปจนเพียงนี้แล้ว ออกพระเพทราชาก็สั่งให้นำตัวมองสิเออร์ คอนสตันติน ฟอลคัน มาอีกครั้งหนึ่ง และกล่าวบริภาษณ์อย่างรุนแรงว่ามองสิเออร์ คอนสตันติน ฟอลคัน คิดคดทรยศเป็นกบฏต่อพระเจ้าแผ่นดินและรัฐบาลสยาม จึงให้จองจำด้วยเครื่องพันธนาการอย่างธรรมดาและพิเศษเพื่อบังคับให้รับสารภาพ และระบุนามว่าใครบ้างที่ร่วมคิดกันด้วยอุบายที่จะให้พระเจ้าแผ่นดินนับถือคริสตศาสนาและจะให้พระราชอาณาจักร์สยามตกไปอยู่ในอำนาจของฝรั่งเศส เมื่อได้ทรมานมองสิเออร์ คอนสตันติน ฟอลคัน อยู่เป็นเวลาหลายชั่วโมงแล้ว ออกพระเพทราชาจึงสั่งให้นำตัวพระราชบุตรบุญธรรมเข้ามาณะที่นั้น และให้ตัดศีร์ษะเสียในทันใดนั้น แล้วให้เอาเชือกร้อยศีร์ษะผูกแขวนคอมองสิเออร์ คอนสตันติน ฟอลคัน ไว้ต่างผ้าผูกคออย่างแบบการแต่งกายของชาวยุโรป. | |||
เหตุการณ์ทารุณโหดร้ายน่าสลดสังเวชนี้ได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม และต่อมาในวันที่ ๒๙, ๓๐ มองสิเออร์ คอนสันติน ฟอลคัน ได้ถูกนำตัวไปทรมานอีกอย่างทารุณโหดร้ายแสนสาหัสสุดที่จะพรรณา และศีร์ษะพระราชบุตรบุญธรรมก็ยังคงห้อยอยู่กับอกเขาตลอดวันตลอดคืน มองสิเออร์ คอนสตันติน ฟอลคัน ได้ถูกทรมานด้วยอาการเช่นนี้จนกระทั่งถึงวันที่ ๔ มิถุนายน จึงสิ้นลมปราณด้วยการทรมานอย่างแสนสาหัสนั้นเอง. | |||
บรรดาสินค้าต่างๆ และทรัพย์สินทั้งปวงทั่วทุกหนทุกแห่งก็ถูกริบหมดสิ้น ครอบครัวก็ถูกจับและส่งไปขังไว้ณะคุก ภรรยาของมองสิเออร์ คอนสแตนติน ฟอลคันนั้น เมื่อได้พิจารณาและตั้งกระทู้ถามหลายครั้งหลายหนแล้ว ก็มิได้รับเป็นสัตย์ตามความประสงค์ของออกพระเพทราชา ในที่สุดจึงให้พ้นพันธนาการทรมานไว้หลายเวลา แล้วต่อมาก็ส่งไปขังไว้ณะคุก ภรรยามองสิเออร์ คอนสตันติน ฟอลคันถูกจองจำด้วยโซ่ตรวนทั้งมือและเท้าอยู่ในคุกเป็นเวลา ๓ เดือน และครอบครัวของมองสิเออร์ คอสตันติน ฟอลคันในเวลานันก็ได้ตกเป็นทาส เมื่อได้ประจานให้เป็นที่อับอายขายหน้าแล้ว จึงได้ถอดโซ่ตรวนออกจากตัวภรรยาของมองสิเออร์ คอนสตันติน ฟอลคัน แล้วก็เปิดประตูคุกปล่อยตัวไป. | |||
ออกพระเพทราชาผู้ซึ่งมีความปรารถนาจะขึ้นครองราชสมบัติเสียเอง เมื่อได้กำจัดพระราชบุตรบุญธรรมของพระเจ้าแผ่นดิน และมองสิเออร์ คอนสตันติน ฟอลคัน เสร็จสิ้นกังวลไปแล้ว ก็หาทางที่จะกำจัดพระอนุชาทั้งสองของพระเจ้ากรุงสยามต่อไปอีก เพราะพระอนุชาทั้งสองยังกีดขวางทางดำเนินอยู่ อุบายที่ใช้กำจดพระอนุชาทั้งสองนั้นคือชี้แจงให้เจ้าชายทั้งสองทราบทีละองค์ ว่าพฤติการณ์ทั้งหลายแหล่ที่ปฏิบัติมาแล้วในการจลาจลครั้งนี้ก็เพื่อช่วยเหลือให้เจ้าชายทั้งสองได้ขึ้นครองราชสมบัติ และเนื่องจากเหตการณ์ยังไม่สงบเรียบร้อย จึงจำเป็นที่จะต้องเชิญเสด็จเจ้าทั้งสองพระองค์ไปประทับที่ทะเลชุบศรชั่วคราวก่อน จนกว่าเรื่องราวเรียบร้อยแล้วจึงจะเชิญเสด็จกลับ เจ้าชายผู้น่าสมเพชทั้งสองพระองค์ก็ได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของพระเพทราชาโดยมิได้แคลงพระทัยว่าจะเป็นกลอุบาย แต่ยังมิทันจะเสด็จไปถึงที่ประทับ ก็ถูกพรรคพวกของออกพระเพทราชาที่จัดสรรมากระทำการฆาตกรรมปงพระชนม์เสียในระหว่างทางทั้งสององค์ แล้วจึงจับคนสำคัญที่เป็นคนสนิทและฝักใฝ่อยู่กับเจ้าสององค์นั้นมาฆ่าเสียบ้างและเอาตัวไปขังไว้ณะคุกบ้าง. | |||
ต่อมาออกพระเพทราชาก็คิดการจะเนรเทศพวกคริสเตียนไปเสียให้พ้นพระราชอาณาจักร์สยามอีก และเพื่อจะสะดวกแก่การกระทำยิ่งขึ้น จึงได้บังคับให้พวกคริสเตียนโปรตุเกตทั้งหมดไปรวมอยู่ที่หนึ่ง แล้วให้อพยพไปอยู่บนเกาะเล็กๆ เกาะหนึ่งใกล้กับกรุงศรีอยุธยา และประกาศว่าถ้าผู้ใดพยายามจะหนีไปจากเกาะนั้นก็จะฆ่าเสียทันที. | |||
เนื่องจากความอาฆาตมาตรร้ายของออกพระเพทราชา ชนชาติอังกฤษจึงได้รับเคราะห์เช่นเดียวกัน ในชั้นแรกถูกริบทรัพย์สมบัติหมดสิ้นแล้วก็ส่งตัวไปยังคุก ส่วนชนชาติฝรั่งเศสที่อยู่ในกรุงศรีอยุธยาและเมืองลพบุรีนั้น ทีแรกไม่หาญพอที่จะทำการอย่างใดให้เป็นที่เดือดร้อนรำคาญเลย ทั้งนี้เพราะชาวฝรั่งเศสมีจำนวนมากมาย ไม่สามารถจะทำร้ายได้อย่างพวกอื่น และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ออกพระเพทราชามีความจำนงให้บรรดาชาวฝรั่งเศสที่ตั้งภูมิลำเนาอยู่ณะเมืองธนบุรีและเมืองมะริดเกิดพว้าพะวังขึ้นก่อนแล้วจึงจะส่งกำลังทหารไปรุกรานอย่างซึ่งหน้าในภายหลัง ชาวฝรั่งเศสคนสำคัญๆ ในเวลานี้อยู่ที่ทะเลชุบศรหลายคน เช่น เชอวาเลียร์ เดอ การ์ยีส์ และเตอ แฟรเตอวิลล์, มองสิเออร์ เดอ วังตรีย์, มองสิเออร์ เดอ แลสซ์, มองสิเออร์ เดอ เบรสเลย์ นายช่างกล กับนายช่างกลอีกคนหนึ่ง แต่หาโอกาสหนีออกไปจากเมืองลพบุรีไม่ได้ ในที่สุดต่างก็ได้แต่สดุ้งหวาดกลัวภัยและคิดเกรงว่าการกบฏคงจะลุกลามมาถึงพวกเขามิวันใดก็วันหนึ่ง และเขาคงต้องประสพทุกขภัยเช่นเดียวกับพวกคริสเตียนที่ขึ้นล่องอยู่ในประเทศสยาม ฉะนั้นจึงได้พากันหลบหนีมุ่งไปทางกรุงศรีอยุธยาเพื่อไปอาศัยอยู่ที่บริษัทฝรั่งเศสก่อน และตกลงกันว่าไปถึงที่นั่นแล้วก็จะพากันลงเรือหนีไปหาทหารฝรั่งเศสที่บางกอก ซึ่งนายพลเดฟาซ์เป็นผู้บัญชาการอยู่ที่นั่น และจะได้แถลงเหตุการณ์ทั้งมวลที่แล้วๆ มาให้มองสิเออร์ เดฟาซ์ ทราบไว้ด้วย แต่ออกพระเพทราชาได้ทราบว่าพวกนายทหารฝรั่งเศสนี้คิดการหนีเสียก่อนแล้ว จึงได้คิดป้องกันสิ่งทั้งปวงที่จะเป็นการชั่วร้ายมิให้เกิดขึ้น จึงรีบส่งกองทหารประมาณหกเจ็ดพันคนพร้อมสรรพด้วยอาวธยุทธภัณฑ์ที่จะเข้าทำสงครามได้ทุกขณะ นายทหารฝรั่งเศส ๔-๕ คน แม้จะมีความกล้าหาญและความสามารถสักเพียงไร ก็ยังมีความหวาดกลัวอยู่มากที่ได้เห็นทหารไทยจำนวนมากมาตั้งสกัดหน้าและหลังอยู่ใเวลาเช้าตรู่ห่างจากกรุงศรีอยุธยา ๒ หลีก เพื่อขัดขวางไว้มิให้นายทหารฝรั่งเศสไปถึงบางกอกได้ เมื่อถึงคราวจำเป็นแล้วเช่นนี้ นายทหารฝรั่งเศสก็เตรียมป้องกันตัวอย่างเต็มที่ ตกลงกันว่าจะยอมสละชีวิตอย่างลูกผู้ชาย แต่ในขณะนั้นมีข้าราชการไทย ๒-๓ คนเดินตรงไปหานายทหารฝรั่งเศส แล้วบอกว่าบรรดานายทหารฝรั่งเศสเหล่านี้มิได้ตกอยู่ในอันตรายเลย แต่กลับจะมาป้องกันมิให้นายทหารฝรั่งเศสได้รับอันตรายจากผู้อื่น หน้าที่ของทหารไทยเหล่านี้ก็มีแต่เพียงว่าจะต้องนำบรรดาชาวฝรั่งเศสกลับไปยังเมืองลพบุรีตามพระบรมราชโองการของพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น นายทหารฝรั่งเศสหลงเชื่อในอุบายที่สำแดงความเมตตากรุณาต่อพวกเขาก็ยอมตัวมากับข้าราชการไทย โดยประการฉะนี้ ถ้านายทหารฝรั่งเศสจะอุบายหลีกเลี่ยงประการใดก็คงไม่สำเร็จประโยชน์ไปได้ เพราะว่าจำนวนชาวฝรั่งเศสที่หนีมานั้นน้อยกว่าจำนวนทหารไทยที่ยกติดตามมานั้นมากมายหลายเท่า ความจริงฉะเพาะในวันแรกเท่านั้นที่ได้มีการต้อนรับชาวฝรั่งเศสด้วยความเมตตากรุณาและสุภาพอ่อนโยน แต่ในวันรุ่งขึ้นหาเป็นเช่นนั้นอีกไม่ ชาวฝรั่งเศสทุกคนได้ถูกเปลื้องผ้าออก แล้วมัดติดกับหางม้าไวดูหน้าสังเวชยิ่ง ซ้ำยังถูกผลักไสให้เดินเข้าขบวนแห่ในงานพระราชพิธีอีก ครั้นแล้วก็นำตัวกลับมาคุมขังไว้ที่เมืองลพบุรี บรรดาชาวฝรั่งเศสทั้งหลายได้รับความโหดร้ายทารุณแสนสาหัสในขณะที่เดินไปในขบวนตลอดทาง พอกลับมาถึงเมืองลพบุรีได้สักครู่หนึ่ง เบรสเลย์ นายช่างกล ก็ขาดใจตายด้วยการทรมานนี้ และพวกที่เหลืออยู่ก็ได้รับความชอกช้ำ และมีชีวิตอยู่ในห้วงแห่งความทุกข์และการทรมานยิ่งนัก เมื่อพวกนั้นมาถึงเมืองลพบุรีแล้วก็ได้ถูกล่ามคอด้วยโซ่ ๒ คนติดกัน แล้วก็ส่งไปขังไว้ณะคุก ครอบคัวของคนเหล่านั้นทั้งหมดได้รับความทุกข์ทรมานเช่นเดียวกับชาวฝรั่งเศสอื่นๆ ที่ตั้งภูมิลำเนาอยู่ในเมืองลพบุรี. | |||
การนี้ได้ปลี่ยนแปลงไปเสียสิ้น และได้จัดการประหารชีวิตคนเหล่านั้นเสียแล้วด้วยอุบายลับซึ่งน่าจะเกิดสนเท่ห์ขึ้นแก่ผู้ที่ได้ยินได้ฟัง แก่ก็หาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะว่าชาวฝรั่งเศสที่อยู่บางกอกและเมืองมะริดมิได้ทราบเรื่องราวที่เกิดขึ้นในพระนครทั้งสองประการใดเลย จึงดูเหมือนว่าชาวฝรั่งเศสเหล่านั้นสูญหายไปเฉยๆ. | |||
เชิงอรรถ
(ก) ออกพระเพทราชา นอกจากเป็นสมุหพระราชมนเทียรแล้ว ยังเป็นจางวางกรมช้างอีกตำแหน่งหนึ่ง ผู้ที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ตำแหน่งนี้ในสมัยนั้นมีอำนาจยิ่งใหญ่กว่าอัครมหาเสนาบดี