นิราศชมตลาดสำเพ็ง
จาก ตู้หนังสือเรือนไทย
การปรับปรุง เมื่อ 15:47, 24 กรกฎาคม 2553 โดย CrazyHOrse (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
เนื้อหา |
ข้อมูลเบื้องต้น
แม่แบบ:เรียงลำดับ ผู้แต่ง: นายบุศย์
แต่งเมื่อต้นสมัยรัชกาลที่ ๖
บทประพันธ์
๏ แสนวิตกอกโอ้พุทโธ่เอ๋ย | |||
ชราร่างร้างรักที่จักเชย | จะทำเฉยใจก็เตือนให้เชือนแช | ||
ตัวไม่คิดจิตมันขืนฝืนไม่หาย | ตนไม่หมายใจมันมาตรประหลาดแหล | ||
คิดถึงตนจนจะตายกายชะแร | ใจไม่แก่กรรมกรรมทำกระไร | ||
นึกสลัดตัดกิเลสถือเพศสงฆ์ | ตัวคิดปลงใจมันเฟือนเชือนไถล | ||
ทางกุศลผลนำเพราะน้ำใจ | จะพาให้ดีชั่วในตัวเรา | ||
ฉันแค้นจิตคิดหมองตรองไม่ตก | ดังกลิ้งครกฝ่าฝืนขึ้นบนเขา | ||
สารพัดขัดขวางไม่บางเบา | ความโศกเศร้าเที่ยวเดินให้เพลินใจ ฯ | ||
๏ ที่ถนนจักรเพชรเป็นเขตย่าน | ออกจากบ้านมัวหมองไม่ผ่องใส | ||
เห็นกระทรวงธรรมการตรงบ้านไป | ท่านตั้งไว้สืบสร้างในทางธรรม | ||
สำหรับสงฆ์ทรงสิกขารักษาพรต | ให้ต้องบทมิให้มีถลีถลำ | ||
ตามแบบอย่างวางกำหนดให้จดจำ | เหมือนแนะนำผิดชอบประกอบการ | ||
น่าภิญโญโมทนาสาธุสะ | ในทางพระหน่วงหนักเป็นหลักฐาน | ||
อยากให้สอนใจฉันดัดสันดาน | มันดื้อด้านอยู่ข้างทางเกเร | ||
จะให้ท่านสอนใจท่านไม่รับ | เหลือบังคับในใจมันไคว่เขว | ||
จะสอนใจไม่เชื่อเหลือคะเน | ใจเป็นเอ้โอหังไม่ฟังใคร ฯ | ||
๏ ถึงออฟฟิศห้างใหญ่ที่ไฟฟ้า | ดูสง่างามตามสมัย | ||
บริษัทจัดตรวจสำรวจใน | เก็บเงินได้มาส่งลงบัญชี | ||
สายรถรางวางระยะกะตลอด | รางรถทอดริมทางข้างวิถี | ||
มีนายหมวดตรวจดูพวกกุลี | ตามหน้าที่ไม่คลาดให้ขาดตอน | ||
พี่นึกพรั่นหวั่นใจด้วยไฟฟ้า | มันแกล้วกล้าแรงฤทธิ์ดังพิษศร | ||
ถ้าสายขาดพาดตนที่ตนจร | ต้องม้วยมรณ์มิได้รอดตลอดวัน | ||
ฉันเดินห่างรางรถไอใจขยาด | กลัวพลั้งพลาดชีวาถึงอาสัญ | ||
ดูผู้คนล้นหลามไปตามกัน | บ้างผายผันบ้างขี่รถจร | ||
ทั้งรถเจ๊กรถม้าที่คลาคลาด | มิได้ขาดซ้อนซับสลับสลอน | ||
ดูกลาดกลุ้มหนุ่มสาวชาวนคร | ครรไลจรควักไขว่กันไปมา | ||
กำแพงเมืองเปลื้องพังสร้างเป็นตึก | ดูครื้นครึกน่าสนุกเป็นสุขา | ||
ออกตั้งห้างวางรายขายสินค้า | เป็นสง่าธานีศรีวิไล | ||
ด้วยบารมีพระองค์ทรงพระเดช | ได้ปกเกศดับเข็ญให้เป็นใส | ||
ไม่มีผู้ดูหมิ่นอรินทร์ภัย | ที่กรุงไกรจึงไม่ต้องจะป้องกัน ฯ | ||
๏ ถึงทางแยกมรรคาพาหุรัด | ดูแออัดหญิงชายที่ผายผัน | ||
ออกสลับซับซ้อนจรจรัล | พัลวัลรถล่องต้องระวัง | ||
แต่เดิมทีมีอยู่ประตูยอด | ทางตลอดสำเพ็งตึกเก๋งตั้ง | ||
เกิดชำรุดทรุดรานทวารพัง | อนิจจังสังขารไม่ทานทน | ||
อนาถจิตคิดดูประตูใหญ่ | ยังพังได้วายวางลงกลางหน | ||
โอ้ตัวเราไม่จิรังกำลังตน | จะวายชนม์วันไรมิได้รู้ | ||
แต่ทวารบ้านเมืองยังเปลื้องปลด | ลงพังหมดสิ้นไปมิได้รู้ | ||
สลดในจิตยิ่งคิดดู | ถึงโฉมตรูคู่ฉันที่บรรลัย | ||
อยู่ด้วยกันมั่นหมายไม่วายรัก | ถึงคราวจักวิบัติต้องตักษัย | ||
ด้วยถึงที่มรณาไม่ว่าใคร | สะกดใจเดินตรงลงสำเพ็ง | ||
มีร้านรายขายสินค้าสารพัด | ออกเยียดยัดครื้นครึกล้วนตึกเก๋ง | ||
พวกแม่ค้าพูดมากฝีปากเร็ง | ออกแซ่เซ้งร้องขานประสานกัน | ||
ร้านจีนแสขายยาพ่อค้าใหญ่ | ยาจีนไทยสารพัดที่จัดสรร | ||
จะซื้อยาแก้โศกวิโยคครัน | ที่ผูกพันหมองไหม้มิได้วาย | ||
เขาบอกว่ายาจีนแสนั่นแก้โรค | จะแก้โศกเช่นนี้ไม่มีขาย | ||
สุดผันแปรแก้โรคที่โศกกาย | เลยผันผายตรมตรองหมองอุรา | ||
ดูแถวย่านร้านรายขายลูกไม้ | ทั้งจีนไทยเหลือล้นผลพฤกษา | ||
มีส้มสุกลูกละมุดแลพุทรา | อีกน้อยหน่าลำใยมะไฟมะเฟือง | ||
กระท้อนห่อเงาะสละสับปะรด | ลูกพลับสดลิ้นจี่สาลี่เหลือง | ||
แม่ค้าสาวขาวขำตาชำเลือง | ทำยักเยื้องเล่ห์ลมดูคมคาย | ||
พี่ลองถามทรามวัยฉันไม่ต่อ | กระท้อนห่อผ้าไว้เท่าไรขาย | ||
นางแม่ค้าตาช้อยชม้อยอาย | ทำชม้ายเมินหน้าไม่พาที | ||
พี่หยอกเย้าเซ้าสรวลสำราญรื่น | เดินชมชื่นตามทางหว่างวิถี | ||
ถึงร้านขายพระดูไม่สู้ดี | เป็นราคีหาลาภด้วยหยาบคาย | ||
พุทธรูปสำหรับที่นับถือ | ควรแล้วหรือลบล้างมาวางขาย | ||
ทำเล่นเช่นตุ๊กตาดูน่าอาย | ให้เสื่อมคลายศาสนาในสามัญ ฯ | ||
๏ ถึงสะพานผันแปรแลดูแปลก | เมื่อแต่แรกนามขนานสะพานหัน | ||
กรมโยธาสามารถฉลาดครัน | คิดจัดสรรแนวถนนให้ผลมี | ||
ทำเปลี่ยนแปลงแต่งสถานสะพานโค้ง | มีร้านโรงสองข้างทางวิถี | ||
พวกแขกเช่าขายผ้าสินค้าดี | เจ๊กก็มีที่ขายลูกไม้จีน | ||
ลงสะพานลาญจิตคิดประหลาด | ตรอกตลาดสะพานหันฉันถวิล | ||
เขาถือเล่ากล่าวไว้ที่ได้ยิน | เดิมเป็นถิ่นพระยาญาติตลาดนี้ | ||
ท่านสิ้นบุญสูญหายถวายหลวง | เจ้ากระทรวงจึงมาเก็บภาษี | ||
สินค้าขายหลายอย่างต่างๆมี | เป็นถิ่นที่แม่ค้ามาประชุม | ||
พี่เดินเฉยเลยไปไกลตลาด | สุดประพาสความทุกข์ไม่สุขุม | ||
อัตคัดขัดสนเหมือนจนมุม | ดังห่วงรุมผูกมัดเข้ารัดรึง | ||
ดูร้านรายขายของทั้งสองแถว | จะลืมแล้วกลับนึกรำลึกถึง | ||
ต้องคลาคลาดขาดนุชสุดคะนึง | เดินรำพึงถึงน้องหมองอารมณ์ | ||
สองข้างทางวางรายขายสินค้า | ล้วนภูษาดีดีก็มีถม | ||
ผ้าญี่ปุ่นรุ่นใหม่ที่ไหมพรม | สะก๊อตห่มแพรบางล้วนอย่างดี | ||
เสื้อกางเกงผ้าดำย่ำมะหวาด | มะไลก๊าดม่วงไหมมีหลายสี | ||
แพรเช็ดหน้าผ้ายั่นกะลันตะนี | ที่อย่างดีใส่ตู้ดูอุดม | ||
สาวแม่ค้าน่าชมไว้ผมโป่ง | ข้างในโปร่งเต็มที่ดีแต่ผม | ||
ทำท่วงทีกิริยานัยน์ตาคม | เรียกให้ชมซื้อของที่ต้องใจ | ||
ฉันแกล้งถามซื้อหาผ้าที่ห่ม | ต้องอารมณ์ดีมากที่อยากได้ | ||
นางชม้ายพรายพริ้มยิ้มละไม | ไม่ว่าไรฉันเลยเดินเฉยมา ฯ | ||
๏ ถึงหน้าร้านนายศรีที่สนิท | ประกอบกิจอย่างเอกอุเบกขา | ||
ไม่โลภหลงกิเลสเจตนา | ถึงสัจจาขันตีที่มีคุณ | ||
ย่อมโอบอ้อมอารีไมตรีจิต | สรรพมิตรขาดเหลือช่วยเกื้อหนุน | ||
มิได้ตัดขัดมาคงการุณ | ช่วยเจือจุนอุปถัมภ์ให้สำราญ | ||
ดูร้านรายขายของทั้งสองแถว | ล้วนเครื่องแล้วกะละมังทั้งหมวกสาน | ||
โคมญี่ปุ่นคนโคขวดโหลพาน | ตะเกียงลานนาฬิกามีตรางู | ||
รูปพรรณเงินทองขอต่างต่าง | เขาจัดวางเอาไว้ที่ในตู้ | ||
ทั้งเพชรนิลจินดาล้วนน่าดู | แหวนต่างหูสร้อยคอทั้งข้อมือ | ||
ดูแพรวพราววางงามระยับ | เพชรประดับน้ำหิ่งห้อยงามน้อยหรือ | ||
เสียดายน้องมิได้มาได้หารือ | ได้เลือกซื้อสิ่งของที่ต้องใจ | ||
โอ้คิดมาอาภัพอัปภาค | ต้องจรจากดวงจิตพิสมัย | ||
เสียอารมณ์ตรมตรองหมองฤทัย | ค่อยคลาไคลไร้รักพะวักพะวง ฯ | ||
๏ ถึงหัวเม็ดเม็ดอะไรก็ไม่รู้ | ยิ่งนึกดูก็ยิ่งคิดพิศวง | ||
หรือน้องเมตตาที่ที่จำนง | ดูโฉมยงที่ไหนก็ไม่มี | ||
ที่หัวเม็ดเข็ดแท้เมื่อแต่ก่อน | นั้นมีบ่อนเจ๊กฮงเป็นกงสี | ||
ฉันหลงเล่นเป็นบ้าทั้งตาปี | จนป่นปี้วิบากได้ยากเย็น | ||
ต้องตัดขาดชาตินี้แล้วดีฉัน | การพนันต่อไปไม่ขอเห็น | ||
พาให้ตัวชั่วช้าน้ำตากระเด็น | ได้ลำเข็ญยากยับอัปรา | ||
ถึงถนนจักรวรรดิที่ตัดใหม่ | ทางรถไอเดินสายข้างฝ่ายขวา | ||
คนโดยสารควักไขว่กันไปมา | ฉันประหม่าอรั้งระวังกาย | ||
แล้วเดินตรงลงสำเพ็งเร่งลีลาศ | ชมตลาดแถวทางที่วางขาย | ||
ทั้งเครื่องแก้วเครื่องขวัญพรรณราย | ดูเหลือหลายที่จะจำทำสารา | ||
คนควักไขว่ไปมาเที่ยวหาของ | บ้างขึ้นล่องอึงอื้อเที่ยวซื้อหา | ||
ที่ต่อตกยกให้ได้ราคา | สาวแม่ค้านวลนางสำอางกาย | ||
นึกรักอยากเกี้ยวเขาเราก็แก่ | ก็ได้แต่แลโลมนางโฉมฉาย | ||
ยืนภิรมย์ชมชื่นกลืนน้ำลาย | น่าแค้นกายไม่ควรด่วนชรา ฯ | ||
๏ ถึงหน้าวัดนามเรียกสามปลื้ม | แทบจะลืมกลับหวนรัญจวนหา | ||
ถึงโฉมตรูคู่ปลื้มดื่มวิญญา | ทุกเวลาปลื้มทรวงด้วยดวงใจ | ||
ปลื้มสิ่งอื่นหมื่นแสนไม่แม้นเหมือน | อย่างแม่เพื่อนปลื้มจิตพิสมัย | ||
จากที่ปลื้มลืมลาเหลืออาลัย | หมองฤทัยจรจรัลเที่ยวผันแปร ฯ | ||
๏ ถึงสะพานหินผินหน้าเที่ยวหาน้อง | แต่มองมองไม่เห็นนางไปห่างแห | ||
อาลัยมิตรขนิษฐาสุดตาแล | ได้แต่ชมหญิงอื่นไม่ชื่นใจ | ||
นามเรียกสะพานหินถวิลคิด | ขอน้ำจิตน้องรักเป็นหลักไหล | ||
อย่าหูเบาเฝ้าแหนงระแวงไป | ถึงผู้ใดยุยงอย่าหลงลม | ||
จงพกหินไว้กับอกอย่าพกนุ่น | ถ้าเฉียวฉุนวู่วามไม่งามสม | ||
จะรวนเรเสน่หาสมาคม | ด้วยอารมณ์นารีไม่จีรัง | ||
คิดถึงรักปักเข็มไว้เต็มแน่น | ยังคลอนแคลนคลาดเคลื่อนไม่เหมือนหวัง | ||
พอเข็มครากรากทรุดก็หลุดพัง | ลงเซซังต้องใส่เอาไม้จุน | ||
ไม่เหมือนอย่างโฉมศรีขอพี่แล้ว | ลงรากแก้วไม่ยะเยื้อนออกเคลื่อนหมุน | ||
หญิงทุกวันฉันระอามักทารุณ | เที่ยวว้าวุ่นแต่ข้างทางเกเร ฯ | ||
๏ มาถึงตรอกจางวางชุ่มยิ่งกลุ่มจิต | กลับหวนคิดพิศมัยไถลเถล | ||
ไม่ชื่นชุ่มนุ่มนวลชักปรวนเปร | สุดคะเนใจนางต้องห่างกัน | ||
เสียดายรักปักกรุยมาลุ่ยหลุด | ลงโทรมทรุดรวนเรออกเหหัน | ||
ด้วยคอเก่าเราคิดที่ติดพัน | แต่เลิกกันนานมาชะตาแรง | ||
เขาจัดเจนเล่นโน่นแล้วโยนนั่น | ไม่นึกพรั่นคั่นขาดขยาดแขยง | ||
เทน้ำพริกพลิกถ้วยไปฉวยแกง | เพราะอยากได้ไก่พะแนงเอาแกงเท | ||
ด้วยสันดานพาลจะโลภละโมบมาก | จึงจืดจากจับใหม่ออกไคว่เขว | ||
น้ำใจกว้างอย่างน้องท้องทะเล | ออกเลเพลึกราวกับอ่าวญวน | ||
สำเภาเล็กเจ๊กจะข้ามขามพายุ | ทั้งปลาดุคลื่นระดมด้วยลมหวน | ||
ทอดสมอไม่ถึงดินด้วยสิ้นพวน | อาโปป่วนพัดพาเภตราโคลง | ||
คลื่นกระแทกแตกปัดฟัดตะโพก | ตะเภาซ้ำตำโสโครกโขยกโขยง | ||
กงกระดานกระดูกงูคดคู้โกง | เสากระโดงเดาะพับยุบยับเยิน | ||
ต้องตั้งสิวสำเภาเอาเข้าอู่ | จนจุ้นจู้เจ็บปวดชวดเดินเหิน | ||
กลับเปลี่ยนลำสำเภาเข้าไปเดิน | ได้เพลิดเพลินเรือใหญ่สมใจเรา | ||
ปลูกมันเทศเจตนาจะหาหัว | มาทิ้งทั่วไปจนยอดตลอดเถา | ||
ด้วยถือดีมีแรงไม่แบ่งเบา | จะหวังเอาไปทั้งสิ้นอยากกินมัน | ||
ฉันว่าเพ้อเจ้อไปเพราะใจหมาง | ไม่พูดบ้างมันก็แค้นแสนกระสัน | ||
สุดจะเชื่อเหลือล้นคนทุกวัน | มักผวนผันล่อลวงด้วยท่วงที ฯ | ||
๏ ถึงปากตรอกอาจมอารมณ์เบื่อ | ให้สุดเชื่อเหลือระอาเมินหน้าหนี | ||
เหมือนรูปงามนามเหม็นเช่นสตรี | โสเภณีรวยรื่นที่ชื่นชู | ||
อย่างนามบอกตรอกเว็จขี้ที่โสโครก | ยามวิโยคออกชื่อยิ่งครือหู | ||
เป็นนิสัยใจจิตฉันคิดดู | เหมือนหนึ่งผู้ชั่วดีมีสำเนียง | ||
ประพฤติกายให้งามทรามถนอม | เขาก็ย่อมนับถือมีชื่อเสียง | ||
ถ้าชื่อเหม็นเห็นใครไม่กล้าเคียง | เขารู้เยี่ยงอย่างตนเป็นมลทิน | ||
ไม่เหมือนน้องของพี่นั้นดีพร้อม | ชื่อก็หอมรูปก็เลิศงามเฉิดฉัน | ||
ใจก็ดีกิริยาไม่ราคิน | เจ้างามสิ้นสรรพางค์สำอางนวล ฯ | ||
๏ ถึงตรอกพระยาไกรใจถวิล | ถึงยุพินโฉมงามทรามสงวน | ||
มาไกลนุชสุดใจให้รัญจวน | มิได้ชวนมิ่งมิตรมาติดตาม | ||
ที่นามบอกตรงแจ้งแถลงไข | พระยาไกรในตำบลมีคนขาม | ||
จึงเรียกตรอกพระยาไกรต้องในนาม | ประกอบความตามชื่อที่ลือชา | ||
เช่นคนดีมีชื่อลือไม่หาย | ถึงตัวตายนามมีดีนักหนา | ||
จะชั่วดีนิยมเพียงสมญา | อาจจะพาอัปยศหรืองดงาม | ||
เดินถนนสำเพ็งคนเก่งเหลือ | ล้วนแต่เสือมีมากเป็นขวากหนาม | ||
เดี๋ยวนี้มีอานุภาพคอยปราบปราม | ลงเสื่อทรามสิ้นไปพวกภัยพาล | ||
ท้องสำเพ็งเล็งแลแต่สะอาด | ร้านตลาดรายเรียงเคียงขนาน | ||
ที่ขายดีมีกำไรหัวใจบาน | ที่ปิดร้านล้มละลายหมายบังคับ | ||
หนังสือปิดติดทวารเป็นการห้าม | มีแขกยามเฝ้าอยู่ดูกำกับ | ||
แสนสงสารแต่เจ้าของลงต้องยับ | ถูกยึดทรัพย์ล้มตึงสิ้นพึ่งพิง | ||
เพราะยามคึกฮึกเหลิงละเลิงจิต | มิได้คิดถึงตัวมัวผู้หญิง | ||
ถึงคราวยากปากอ้าหน้าเป็นลิง | ลงเที่ยววิ่งเสือกสนทุรนทุราย ฯ | ||
๏ ถึงปากตรอกสิบเบี้ยละเหี่ยจิต | คะนึงคิดผิดพลาดที่มาดหมาย | ||
ชื่อสิบเบี้ยตรอกว่าดูน่าอาย | เช่นเสียหายต่ำต้อยน้อยราคา | ||
เพียงสิบเบี้ยเสียยศน่าอดสู | ไม่มีผู้นอบนบจะคบหา | ||
ด้วยต่ำเตี้ยเสียยับอัปรา | สิ้นราคาผู้ใดไม่ใยดี ฯ | ||
๏ ถึงถนนราชวงศ์คิดสงสัย | ที่จะไปในทางหว่างวิถี | ||
เป็นทางแยกแตกทางหนทางมี | ไม่รู้จะย่างไปทางใคร | ||
คิดถึงน้องหมองไหม้กลัวใจแตก | เป็นสี่แยกแล้วก็กรรมทำไฉน | ||
ขอจิตนุชสุดตรงที่จงใจ | อย่าแยกไปอย่างวิถีเป็นสี่ทาง | ||
หญิงทุกวันฉันระอาด้วยมาแขก | ใจมันแตกเสียเช่นเที่ยวเล่นหาง | ||
ออกเจนจัดบัดสีไม่มียาง | ชนิดนางโคมเขียวเที่ยวกลางคืน | ||
ไว้ผมโป่งโปร่งปลอดตลอดไส้ | แต่เข้าใกล้จึงเห็นว่าเหม็นหืน | ||
ผิดนิสัยไม่จิรังที่ยั่งยืน | ใครหลงชื่นเชยชมต้องตรมตรอง | ||
ฉันเดินตรงมาสำเพ็งเร่งลีลาศ | ชมตลาดเรียงรายที่ขายของ | ||
ทั้งเสื้อผ้าเหลือหลายออกก่ายกอง | เครื่องกระป๋องปลาส้มขนมปัง | ||
หีบญี่ปุ่นกุญแจแลหีบเหล็ก | ทั้งใหญ่เล็กต้นเถากระเป๋าหนัง | ||
เครื่องกาแฟมีเลี่ยมเทียนละมัง | ของฝรั่งเหลือจำมาทำกลอน ฯ | ||
๏ ถึงตรอกวัดญวนนอกหรือตรอกเต๊า | พี่กลับเศร้าทรวงคะนึงถึงสมร | ||
เคยเป็นคู่สู่หาพงางอน | เมื่อแต่ก่อนน้องบอกอยู่ตรอกนี้ | ||
แต่เริดร้างห่างเหเสน่หา | ก็เพราะว่าทำให้ได้บัดสี | ||
เสียดายรักหักมาเป็นราคี | ไม่ถึงปีกลายกลับไม่ลับลิบ | ||
ฤดูเปลี่ยนเวียนจักรต้องยักย้าย | เที่ยวเร่ร่ายราดเรี่ยไปเสียฉิบ | ||
ออกเคลื่อนคล้อยลอยรอนจันทรทิพย์ | ดูแลลิบคลาดคลาดไปขาดลอย | ||
อันมนุษย์สุดจะล่วงสรวงสวรรค์ | ไม้ซีกสั้นตะมุดกุดเห็นสุดสอย | ||
ทั้งสิ้นฤทธิ์พิษหมดเหมือนมดตะนอย | เหล็กในน้อยต่อยแสบได้แปลบเดียว | ||
แรกประสบพบพานสมานสมัคร | ประมาณรักรองรางสักอ่างเขียว | ||
ปะรักใหม่ได้ควบรวบสองเกลียว | เข้าแน่นเหนียวกระหนาบรักทำชักแช | ||
โอ้ปลูกรักจักชมไม่สมหมาย | ช่างมากลายกลับร้างไม่ห่างเห | ||
พวกสิงห์สัตว์กัดคอทำตอแย | อีกไก่แจ้ตัวเมียมาเขี่ยโคน | ||
ลอบขุดรักยักกระถางใส่อ่างใหญ่ | ได้ดินใหม่ปลูกเปลี่ยนไม่เกรียนโกร๋น | ||
ทำท่าปนฝนชุ่มหลุมเป็นโคลน | พยุโยนโยกย้ายขยายเอน | ||
ต้องขาดลุกปลุกแปลกแตกแขนง | ถ้าผากแผงเกาะกิ่งจริงได้เห็น | ||
รอยควายสีที่ต้นล้วนโคลนเลย | พิกัดเกณฑ์แจ้งการประจานงาน | ||
บอกบรรดาประชาชนทุกคนผู้ | ให้เขารู้ดูนางกลางสนาม | ||
ว่าหงส์ทองหมองหน้าลงทาคราม | ฉันแจ้งความถามเรื่องที่เคืองใจ ฯ | ||
๏ ถึงตรอกอาเนี่ยเก็งยืนเพ่งพิศ | ล้วนชนิดนางจีนถิ่นอาศัย | ||
แต่งตัวยั่วยวนเป็นนวลใย | ให้จีนใหม่ชอบพอได้ล่อตา | ||
คอยสำหรับรับเจ๊กทั้งเล็กใหญ่ | ไม่คบไทยผิดอย่างต่างภาษา | ||
ช่างไว้ตัวกลัวไทยกระไรมา | ไม่นำพาเห็นผิดสนิทกัน | ||
อยากจะลองเพลงจีนให้สิ้นท่า | คิดไม่น่าจะชมเสียคมสัน | ||
ด้วยนางจีนดีเหม็นขี้ฟัน | ไม่เหมือนขวัญเนตรพี่ที่ยียวน | ||
รูปก็งามนามก็เพราะปากก็หอม | ควรถนอมนุชน้องครองสงวน | ||
โฉมเฉลาเสาวภางค์สำอางนวล | ไม่แปรปรวนเที่ยงธรรมใจมั่นคง | ||
ในอารมณ์ชมอะไรก็ไม่ชื่น | เป็นแต่ฝืนใจชมไม่สมประสงค์ | ||
ไม่เหมือนชมโฉมศรีที่จำนง | พิศวงความสวาทไม่ขาดวัน | ||
รักสิ่งไรใจชมพอสมพักตร์ | ไม่เหมือนรักวรนุชสุดกระสัน | ||
รักไม่หายวายรักยิ่งหนักครัน | รักผูกพันฟั่นเฝือเหลือทวี | ||
จะหักห้ามความรักที่หนักแน่น | ก็ยิ่งแสนที่จะรักออกหนักจี๋ | ||
มาจากน้องวันหนึ่งเหมือนครึ่งปี | ทรวงของพี่ร้อนใจดังไฟลาม ฯ | ||
๏ มาถึงตรอกครามความถวิล | เป็นราคินหมางเมินคิดเกินขาม | ||
เช่นคนที่สีหน้าดังทาคราม | ด้วยมีความขัดข้องยิ่งหมองใจ | ||
เหมือนตัวพี่ที่วิตกอกจะหัก | ด้วยร้างรักจากน้องไม่ผ่องใส | ||
จนพักตร์เหี้ยมเตรียมตรมอารมณ์ใน | ความอาลัยด้วยเจ้าเยาวมาลย์ | ||
สู้ทำเฉยเลยเดินให้เพลินจิต | เที่ยวพินิจดูถิ่นในถิ่นฐาน | ||
ท้องสำเพ็งเก๋งตั้งออกนั่งร้าน | ข้ามสะพานเจ๊กฝ่อนั้นต่อไป | ||
ถนนเล็กเจ๊กไทยออกไขว้เขว | เดินปนเปหลีกกระทบหลบไม่ไหว | ||
สุดสังเกตเหตุผลเจ๊กปนไทย | ใครเป็นใครมิได้แน่ด้วยแปรปรวน | ||
สมัยใหม่ไขว้เขวทำเลเสีย | จีนตัดเปียเป็นไทยเหลือไต่สวน | ||
มาเกิดมีวิปริตผิดกระบวน | กลับผันผวนผิดชาติประหลาดใจ | ||
โลกจะเปลี่ยนเวียนมาราศีจักร | พุทธยักโยกกลายเป็นไสย | ||
พาลจะเปรื่องปราชญ์จะกลับตกอักไป | พี่ร้อนใจถึงน้องหมองกระมล | ||
กลัวน้องรักจักกลายย้ายราศี | เป็นราคีกลอกกลับให้สับสน | ||
ขอใจน้องครองสัตย์ระมัดตน | อย่าเวียนวนความรักให้ยักย้าย ฯ | ||
๏ มาถึงตรอกโรงโคมโทมนัส | คิดประวัติถึงโคมของโฉมฉาย | ||
เคยจุดส่องผ่องศรีฉวีกาย | พรรณรายนวลน้องต้องราคี | ||
มาลับโฉมโคมฉายเสียดายน้อง | เคยประคองแนบข้างสำอางศรี | ||
ดังโคมดับลับหน้ายอดนารี | ทรวงของพี่ร้อนกระวนกระวาย ฯ | ||
๏ ถึงตรอกแตงแจ้งความนามเขาบอก | ที่ชื่อตรอกเป็นไฉนเห็นไม่สม | ||
มีแต่จีนสินค้าไม่น่าชม | เพื่ออารมณ์นางจีนดูสิ้นดี | ||
อยู่ในตรอกออกรายตัวขายของ | คอยเรียกร้องให้ชมขนมอี๋ | ||
หาซื้อแตงแห่งไรก็ไม่มี | ไฉนนี้จึงบอกว่าตรอกแตง | ||
หรือเดิมทีมีแตงที่แห่งนี้ | จึงได้มีนามตรอกบอกแถลง | ||
ไม่แน่จิตผิดอย่างไม่คลางแคลง | สุดจะแจ้งความหลังเป็นอย่างไร | ||
ลูกสาวจีนผินพบนางหลบพักตร์ | ช่างน่ารักน่าชิดสมัย | ||
ดังแตงอ่อนน่าชมที่ร่มใบ | เป็นนวลใยโสภายิ่งนารี | ||
ให้นึกรักหนักอารมณ์ไม่สมหมาย | คิดถึงกายชราน่าบัดสี | ||
ที่ไหนเจ้าเยาว์ยุพินจะยินดี | ไม่สมที่จะอยู่เป็นคู่ครอง | ||
ถึงนามบอกตรอกมูลฝอยชะน้อยหรือ | ได้ยินชื่อคิดมาก็น่าสรวล | ||
ช่างให้นามตามแต่จะแปรปรวน | เล่นสำนวนพาทีไม่มีรอย | ||
คนพูดมากปากจัดสะบัดสบถ | เหลือกำหนดพาทีมีแต่ฝอย | ||
ใครหลงงมลมลิ้นแล้วกินลอย | พูดพล่อยพล่อยพอสมอารมณ์ปอง | ||
ไม่เหมือนนุชพูดจาสารพัด | ล้วนซื่อสัตย์พาทีไม่มีสอง | ||
คนโสโครกโยกย้ายหลายทำนอง | เหมือนกับกองมูลฝอยที่ถ้อยคำ ฯ | ||
๏ ถึงปากตรอกโรงกะทะหวนถวิล | ถึงยุพินคู่ชมที่คมขำ | ||
กระทะทองผ่องศรีไม่มีดำ | น้อยเคยทำของดีให้พี่กิน | ||
มาจากเจ้าคราวยากถึงอยากหวาน | มิได้พานพบรสอดถวิล | ||
อนาถจิตนิจจาเป็นราคิน | สุดจะผินพักตราไปหาใคร | ||
กำเนิดแรกแตกดับสำหรับโลก | ทุกข์กะโศกโรคกะสุขทุกสมัย | ||
เป็นคู่ปรับกับกันเช่นนั้นไป | ต้องสอนใจตัวเองเร่งระวัง | ||
อยากสบายกายทนต้องทนยาก | ได้ลำบากจึงสบายเมื่อภายหลัง | ||
ถ้าขี้คร้านนานจะล้มโทมนัง | จะต้องนั่งกัดเกลือด้วยเหลือทน | ||
ให้คิดเห็นเช่นฉันทุกวันนี้ | ก็เดิมทีอัตคัดความขัดสน | ||
สุดผันแปรแก่หง่อมต้องยอมตน | จะดิ้นรนแทะเล็มก็เต็มตึง ฯ | ||
๏ มาถึงตรอกข้าวสารละลานจิต | จะหายคิดกลับนึกรำลึกถึง | ||
แรมนิราศคลาดนุชสุดรำพึง | ยืนตลึงตรอกดูอยู่เป็นนาน | ||
พิศวงสงสัยไฉนหรือ | จึงเรียกชื่อนามบอกตรอกข้าวสาร | ||
หวนคนึงถึงข้าวเยาวมาลย์ | หุงใส่จานขาวปลั่งน้องชั่งปรุง | ||
ละมุนละไมพอดีทั้งรสมี | รู้กำหนดเหลือดีวิธีหุง | ||
ชั่งประกอบชอบตามความผดุง | จัดบำรุงปรนนิบัติภัสดา | ||
จะหาไหนไม่เหมือนเจ้าเพื่อนยาก | ถ้าผิดจากมิ่งมิตรไม่คิดหา | ||
ถึงนงเยาว์สาวน้อยที่ลอยฟ้า | มาล่อตาพี่ก็ไม่พอใจแล | ||
ความคนึงถึงนุชสุดสวาท | แรมนิราศนวลนางไห่ห่างแห | ||
จิตผูกพันฟั่นเฟือนให้เชือนแช | คิดถึงแต่น้องรักหนักอุรา | ||
เหลียวเห็นตรอกสะพานญวนหวนถวิล | ถึงยุพินมิ่งมิตรขนิษฐา | ||
เจ้าเชื้อญวนนวลนางสำอางตา | จะพูดจาก็ขัดไม่ชัดไทย | ||
สะพานญวนนามบอกที่ตรอกนี้ | ไม่เห็นมีญวนมาอาศัย | ||
อยากพบญวนนวลนางเป็นอย่างไร | หรือแกล้งให้ชื่อตรอกพูดหลอกกัน | ||
เกือบจะลืมปลื้มใจกลับได้ชื่อ | มายกรื้อเรื้องใหม่ให้ใฝ่ฝัน | ||
ในทรวงโสมนัสสู้กัดฟัน | ค่อยผายผันก้มหน้าอุราตรม | ||
จะแลดูสิ่งไรมิได้ชื่น | คอยสุดฝืนความรักนั้นหมักหมม | ||
สิ่งของขายละเลยไม่เชยชม | ในอารมณ์โหยหายุพาพิน ฯ | ||
๏ ถึงหน้าร้านนายขายหนังสือ | ย่อมมีชื่อมากมายท่านนายสิน | ||
ไม่โลภหลงวงวนเป็นมลทิน | ประเสริฐสิ้นสืบสร้างทางเมตตา | ||
ผู้ใดจนคนยากออกปากพึ่ง | ไม่มึนตึงตามมาดปรารถนา | ||
อุปถัมภ์ค้ำจุนกรุณา | ใจศรัทธาศีลทานช่วยจานเจือ | ||
ถึงทุกวันฉันนี้เป็นที่พึ่ง | แม้นเต็มตึงอนุญาตตามขาดเหลือ | ||
ถ้าหาไม่ตายดิ้นต้องกินเกลือ | ท่านเผื่อแผ่จึงได้ตั้งกำลังโคลง | ||
ไม่แกล้งยอข้อคำที่ร่ำว่า | เป็นสัจจาหนานายให้ตายโหง | ||
จงประเสริฐเลิศล้ำดังน้ำโพง | ทรัพย์เข้าโรงพิมพ์นั้นพันทวี | ||
เจริญวัยชันษาโรคาหาย | ให้เฉิดฉายพูนเพิ่มเฉลิมศรี | ||
อัคคีภัยโจรภัยอย่างได้มี | เป็นสุขีโภคาสถาพร | ||
ประกอบกันท่านผู้ชายนายผู้หญิง | ให้ยิ่งๆ ภิญโญสโมสร | ||
นึกสิ่งไรให้ได้เหมือนให้พร | มีเงินนอกนับถังมังคลา | ||
ฉันผู้ใดใครรับสนับสนุน | ไม่ลืมคุณกตัญญูอยู่นักหนา | ||
ที่ใครคดกดคอจนมรณา | เป็นสัจจาความซื่อด้วยถือตรง ฯ | ||
๏ ถึงวัดเกาะเกาะมีอยู่ที่ไหน | ประหลาดใจยืนคิดพิศวง | ||
ไม่เห็นมีเกาะเกียนเฉวียนวง | เห็นแต่ทรงอารามอร่ามตา | ||
หรือใครเกาะน้องไว้ที่ในวัด | จิตอุทัจหวาดเสียวเที่ยวเหลียวหา | ||
พอรู้สึกนึกชัดชื่อวัดวา | โมทนาน้อมหัตถ์มัสการ | ||
มีร้านรายขายสินค้ามาแต่แรก | แต่ล้วนแขกพ่อค้ามหาศาล | ||
จะชมเล่นเห็นผิดคิดรำคาญ | เพราะก่อนกาลนิพนธ์เป็นมลทิน | ||
ด้วยเรื่องชมตลาดนิราศเก่า | ในสำเนาเป็นตำหนิที่ติฉิน | ||
แขกเขาร้องฟ้องหาเป็นราคิน | ว่าดูหมิ่นประมาทชาติอินเดีย | ||
นึกจะชมร้านแขกที่แปลกชาติ | กลัวพลั้งพลาดสักหน่อยจะพลอยเสีย | ||
ออกเดินทางห่างตัวไม่ปัวเปีย | ใจละเหี่ยร้อนรักหนักอุรัง | ||
ร้อนสิ่งไรใจร้อนพอผ่อนพัก | แต่ร้อนรักมิได้ขาดสวาทหวัง | ||
ถึงร้อนแดดร้อนไฟพอได้บัง | เอาน้ำหลั่งลูบไล้ก็ได้คลาย | ||
อันร้อนจิตพิษรักนี้หนักล้ำ | ถึงจะทำอย่างไรก็ไม่หาย | ||
เอาน้ำรดบดยามาทากาย | ก็ไม่วายร้อนรักยิ่งหนักครัน | ||
ท่านผู้ใดใครคิดพิศวง | ก็จะลงแลเห็นเหมือนเช่นฉัน | ||
ทุกข์เพราะรักหนักเพราะรสหมดด้วยกัน | คนทุกวันใครจะขาดสวาทลง | ||
ให้ชแรแก่ชราตาน้ำข้าว | ก็มัวเมาพิสมัยย่อมไหลหลง | ||
เว้นสำเร็จมรรคผลไม่วนวง | จึงจะปลงตัดขาดสวาทอาย ฯ | ||
๏ ถึงถนนตัดตรงชื่อทรงวาด | นึกประหลาดใจอยู่ไม่รู้หาย | ||
นามทรงวาดวาสนาชะตาคลาย | ที่ไหนนายช่างวาดฉลาดดี | ||
จะจ้างวาดรูปไว้เอาไปฝาก | ด้วยจรจากแรมรามารศรี | ||
หาช่างวาดที่ไหนก็ไม่มี | เป็นวิถีที่แจ้งแสดงนาม | ||
ชื่อทรงวาดตัดทางข้างวัดเกาะ | แลดูเหมาะผู้คนออกล้มหลาม | ||
บ้างเลี้ยวลัดตัดมาเข้าอาราม | บ้างเดินตามมรรคเที่ยวคลาไคล | ||
สี่แพนกแยกทางหว่างวิถี | ตามแต่ที่จะย่างไปทางไหน | ||
แต่ฉันนั้นคงเดินตรงไป | เหลืออาลัยน้องยาที่หารือ | ||
ถึงตรอกศาลเจ้าทับทิมริมวิถี | ศาลนั้นมีเจ้าประทับเจ็บนับถือ | ||
ว่าศักดิ์สิทธิ์เหลือล้ำด้วยคำลือ | จริงจริงหรือถ้าเช่นนั้นขยันดี | ||
ขนบนบานท่านด้วยช่วยรักษา | ให้น้องยาผุดผ่องอย่างหมองศรี | ||
อย่าหวนเหเสน่หาแต่สามี | ตั้งภักดีซื่อสัตย์ต่อภัสดา | ||
ให้มั่นคงจงจิตพิสมัย | ถึงชายใดไปเกี่ยวอย่าเหลียวหา | ||
ผู้หารือสื่อรักจะชักพา | ก็ขออย่าให้น้องเป็นสองใจ ฯ | ||
๏ ข้ามสะพานวัดสำเพ็งยืนเพ่งพิศ | ประหลาดจิตจีนมาอาศัย | ||
แต่ก่อนเป็นมรรคาที่คลาไคล | พวกจีนใหม่มาตั้งออกนั่งร้าน | ||
ปลูกโรงรายขายของทั้งสองข้าง | ที่ริมทางพวกจีนเป็นถิ่นฐาน | ||
ค่อยหายเปลี่ยวเที่ยวถนนสิ้นคนพาล | เมื่อก่อนกาลพาลาคอยหากิน | ||
อันวัดนี้ที่พระยายี่สารสร้าง | จารึกร่างเอาไว้ในแผ่นหิน | ||
บำเพ็ญผลล้นเหลือเป็นเชื้อจีน | ฉันได้ยินผู้เฒ่านั้นเล่ามา | ||
เลยเดินแวะเข้ามาที่หน้าโบสถ์ | ก้มศิโรตม์น้อมหัตถ์มนัสสา | ||
ไหว้พระพุทธสุดสวัสดิ์ตั้งสัจจา | ปรารถนาให้พ้นที่มลทิน | ||
อันหญิงชั่วผัวสามที่เสียชาติ | ชายอุบาทว์สามโบสถ์ชาติโหดหิน | ||
อย่าขอพบขอเห็นเป็นราคิน | จนสุดสิ้นอวสานกาลนาน | ||
ถ้ารักใครให้ได้คนนั้นด้วย | บุญจงช่วยดังจิตพิษฐาน | ||
แล้วก้มราบกราบลาสมาทาน | ออกจากลานวัดลาเที่ยวคลาไคล | ||
ลงสะพานที่ข้ามนามเขาบอก | ว่าปากตรอกเซี่ยงกงคิดสงสัย | ||
เป็นชื่อจีนยากแท้แปลเป็นไทย | ไม่เข้าใจที่จะแจ้งแสดงการ | ||
ถึงปากตรอกเขียวซือก๋งพะวงคิด | แห่งสถิตเจ้ามีอยู่ที่ศาล | ||
องค์อารักษ์ศักดิ์สิทธิ์พิสดาร | ใครบนบานสมมาดไม่คลาดคลาย | ||
ท่านศักดิ์สิทธิ์นักหนาจีนว่าเฮี้ยน | เจ๊กฮกเกี้ยนนับถือการซื้อขาย | ||
ย่อมบนบานศาลกล่าวกับเจ้านาย | มิได้วายไหว้เจ้าเหล่าอาเฮีย | ||
ที่ปากตรอกบอกแน่เมื่อแต่ก่อน | มีโรงบ่อนฉันเป็นตัวทำหัวเบี้ย | ||
จักแหล่นเกือบไปจะได้เมีย | ลุกเจ๊กเหนียชื่อแม่หนูเป็นชู้กัน | ||
เตี่ยเขารู้ขู่ขับจะจับเลียะ | ฉันเลยเฮียะละชมภิรมย์ขวัญ | ||
ยุงนึกไปไม่หายเสียดายครัน | มาถึงนั่นแล้วยังมองดูน้องนาง | ||
ไม่เห็นหายกลายกลับไปลับหน้า | จะถามหาไม่ถนัดให้ขัดขวาง | ||
สู้ทำเฉยเลยไปที่ในทาง | ต้องเห็นห่างร้างนุชสุดเสียดาย ฯ | ||
๏ ถึงปากตรอกวัดญวนกลับหวนคิด | ให้ร้อนจิตเคืองใจมิได้หาย | ||
เฝ้าออกชื่อญวนอยู่ไม่รู้วาย | แกล้งภิปรายเยาะกันเป็นฉันใด | ||
สะพานญวนแล้วมิหนำมาซ้ำบอก | ว่าชื่อตรอกวัดญวนควรหาไม่ | ||
เห็นน้องฉันเชื้อญวนเฝ้ากวนใจ | แกล้งร่ำไรยกรื้อแต่ชื่อญวน | ||
เป็นแต่ตรอกหรือมาบอกว่าอันหนำ | มาชักนำให้จิตฉันคิดหวน | ||
คะนึงถึงมิ่งขวัญให้รัญจวน | โง่ไม่ควรรื้อเรื่องให้เคืองใจ | ||
แรมนิราศคลาดนุชสุดสวาท | มิได้ขาดความคิดพิสมัย | ||
เฝ้าคร่ำครวญหวนหาด้วยอาลัย | ให้ร้อนในใจคอจรลี ฯ | ||
๏ ถึงปากตรอกเจ้าสัวสอนแต่ก่อนเก่า | เขาลือเล่าพงศ์เพศเศรษฐี | ||
ประกอบทรัพย์นับถังด้วยมั่งมี | แต่เดี๋ยวนี้สิ้นบุญสูญบันดาล | ||
ในสำนักหลักแหล่งที่แต่งตั้ง | ก็สิ้นหวังหมดสิ้นที่ถิ่นฐาน | ||
โอ้คิดไปไม่ตั้งจิรังกาล | แต่เป็นท่านเจ้าสัวยังชั่วไป | ||
เหมือนตัวเราคราวก่อนถาวรสวัสดิ์ | ทรัพย์สมบัติมีอยู่แต่ผู้ใหญ่ | ||
ยอมมั่งคั่งตั้งตัวไม่กลัวใคร | ทั้งข้าไทหญิงชายก็หลายครัว | ||
ได้มีชื่อลือชาอันปรากฏ | ประกอบยศเทียบเท่ากับเจ้าสัว | ||
ครั้นเดี๋ยวนี้เต็มทีมีแต่ตัว | ให้หมองมัวขัดสนพันกันดาร | ||
จะพึ่งญาติขาดเหลือสิ้นเกื้อหนุน | ได้ค้ำจุนเอาปัญญาเป็นอาหาร | ||
กับสหายใต้เหนือช่วยเจือจาน | ได้พึ่งท่านอุดหนุนกรุณา | ||
ถึงปากตรอกตลาดน้อยละห้อยจิต | กลับหวนคิดถึงชาติวาสนา | ||
เช่นต่ำต้อยน้อยทรัพย์อับปัญญา | สิ้นเมตตาผู้ใดไม่อินัง | ||
ทุกวันนี้มีทรัพย์เขานับหน้า | เสน่หามิได้ขาดสวาทหวัง | ||
จะพาทีดีเหลือคนเชื่อฟัง | เป็นกำลังก็เพราะทรัพย์ประดับกาย | ||
ถึงน้อยศักดิ์น้อยทรัพย์ที่ยับย่อย | ไม่เท่าน้อยใจอยู่ไม่รู้หาย | ||
ความน้อยจิตพิศวาทมาคลาดคลาย | มิได้วายน้อยใจกระไรเลย | ||
น้อยอารมณ์คมคำที่คนข้อน | ให้เจ็บร้อนทรวงช้ำสู้ทำเฉย | ||
แต่น้อยใจไกลนางหาห่างเชย | ต้องละเลยน้องน้อยเที่ยวลอยชาย | ||
จะแลชมในย่านร้านตลาด | ก็สิ้นขาดของดีไม่มีขาย | ||
ที่โรงร้านเบาบางตามทางราย | ด้วยเว้นวายใครไม่ได้ไปมา ฯ | ||
๏ ถึงศาลเจ้าโรงเกือกเป็นชื่อตรอก | ถามเขาบอกให้ฟังคิดกังขา | ||
ไหนองค์อารักษ์อันศักดา | มีสมญารองเท้าเป็นเจ้านาย | ||
พอนึกได้เขาบอกว่าตรอกนี้ | เดิมโรงมีแถวเทือกเย็บเกือกขาย | ||
จึงตั้งชื่อลืออยู่ไม่รู้วาย | ถึงหยาบคายเป็นนามตามตำบล | ||
องค์ไทยด้าวอารักษ์ที่ศักดิ์สิทธิ์ | ฉันอุทิศขอถวายฝ่ายกุศล | ||
ช่วยคุ้มครองป้องกันพาลประจญ | อย่าให้คนลอบรักภักคินี | ||
ตั้งอุทิศคิดพลางแล้วย่างเยื้อง | ตาชำเลืองหานางข้างวิถี | ||
เป็นห่วงเจ้าเยาวมาลย์โอ้ปานนี้ | จะคอยพี่เห็นมานั้นช้าไป | ||
มิได้ซื้อสิ่งไรเอาไปฝาก | เมื่อยามยากขัดสนพ้นวิสัย | ||
ต้องทำเฉยเลยจรด้วยร้อนใจ | เหลืออาลัยนึกจะกลับขยับขยั้ง ฯ | ||
๏ ถึงถนนโยธาเวลาเที่ยง | เสียงปืนเปรี้ยงร้อนทรวงเป็นห่วงหลัง | ||
กลัวน้องรักจักประหม่าละล้าละลัง | ที่เคยนั่งเคียงน้องไม่หมองมล | ||
แต่เดิมที่นี่มีแต่ตรอก | ขยายออกทางใหญ่ไขถนน | ||
ให้กว้างขวางวิถีที่มณฑล | เจริญผลให้กรุงศรีรุ่งเรือง | ||
นามถนนโยธาก็น่าสม | ที่อบรมบำรุงให้ฟุ้งเฟื่อง | ||
ได้เป็นที่จรดพลเมือง | ไม่ขัดเคืองสุโขมโหฬาร | ||
มรรคาคลาไคลใกล้จะหมด | พ้นกำหนดสุดสิ้นในถิ่นฐาน | ||
ก็เดินตรงลงมาชลธาร | จนถึงลานโบสถ์ฝรั่งที่สร้างไว้ | ||
สะอาดเลี่ยนเตียนรื่นที่พื้นหิน | ไม่ราคินหมดจดดูสดใส | ||
มีลวดลายพรายพริ้งทุกสิ่งไป | แลวิไลแต่งตั้งเขาชั่งทำ | ||
เครือกระหนกยกเกี่ยวดูเลี้ยวลด | ลายก้านขดรจนาเลขาขำ | ||
มีผู้คอยเฝ้าอยู่ดูประจำ | ดูน่าสำราญรื่นชื่นฤทัย | ||
เมื่อถึงวันอาทิตย์ประสิทธิ์ | เตือนสติมีเทศน์ตามเพศไสย | ||
แต่ฉันถือโอวาทเป็นชาติไทย | ไม่ปลงใจผิดเพศเจตนา | ||
รำคาญจิตคิดหมองถึงน้องรัก | ออกเมินพักตร์ผินผันเที่ยวหันหา | ||
จวนจะใกล้สุริยนสนธยา | ก็กลับมาที่อยู่สู่สำราญ | ||
นามนายบุศย์สุจริตคิดนิราศ | ชมตลาดออกโชว์ด้วยโวหาร | ||
ตามดำรินิสัยใจรำคาญ | จึงคิดอ่านข้อคำออกสำแดง | ||
ไว้ให้ท่านทั้งหลายจะได้เห็น | พออ่านเล่นทราบสิ้นที่กินแหนง | ||
ดังนามบอกตรอกวิถีที่ชี้แจง | ให้จะแจ้งในจิตที่ปิดบัง | ||
อย่าติฉินนินทาว่าฉันเพ้อ | พูดไหลเล่อเช่นว่ากับบ้าหลัง | ||
ตามสำนวนครวญหาว่าให้ฟัง | กับยับยั้งจบกันเท่านั้นเอย ฯ | ||
เชิงอรรถ
พ.ศ.๒๔๕๒–๒๔๘๓ - กระทรวงธรรมการ- ได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านเจ้าพระยารัตนธิเบศ ริมปากคลองโอ่งอ่าง