โคบุตร
จาก ตู้หนังสือเรือนไทย
การปรับปรุง เมื่อ 08:56, 25 มิถุนายน 2553 โดย CrazyHOrse (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
ข้อมูลเบื้องต้น
แม่แบบ:เรียงลำดับ ผู้แต่ง: สุนทรภู่
บทประพันธ์
ตอนที่ ๑ กำเนิดโคบุตร
๏ แต่ปางหลังครั้งว่างพระศาสนา | ||||
เป็นปฐมสมมตินิทานมา | ด้วยปัญญายังประวิงทั้งหญิงชาย | |||
ฉันชื่อภู่รู้เรื่องประจักษ์แจ้ง | จึงแสดงคำคิดประดิษฐ์ถวาย | |||
ตามสติริเริ่มเรื่องนิยาย | ให้เพริศพรายพริ้งเพราะเสนาะกลอนฯ | |||
๏ จะร่ำปางนางสวรรค์เสวยสุข | อยู่ปรางค์มุขพิมานสโมสร | |||
เผยพระแกลแลดูแผ่นดินดอน | เห็นไกรสรคลอดลูกในหิมวา | |||
ผลกรรมนำจิตให้พิศวาส | นุชนาฏจะใคร่มีโอรสา | |||
เห็นพระสุริโยทัยเธอไคลคลา | กัลยานึกไปดังใจปอง | |||
แม้นสามีมิได้เหมือนพระอาทิตย์ | ไม่ขอคิดสมสู่เป็นคู่สอง | |||
ผลกรรมจำจากวิมานทอง | นางก็ต้องจุติด้วยใจตน | |||
เห็นสระศรีมีบัวระดาดาษ | สุดสวาทจิตประหวัดเข้าปฏิสนธิ์ | |||
เกิดเป็นรูปนารีนิรมล | กลีบอุบลหุ้มไว้ในสาคร | |||
อยู่ประมาณนานมาในบัวหลวง | สุดาดวงกำดัดชมสมสมร | |||
จะกล่าวถึงสุริยาทิพากร | เสด็จจรเลี้ยวเหลี่ยมพระเมรุมา | |||
อรุณโรจน์โชติช่วงดวงจรัส | ส่องจังหวัดภาคพื้นพระเวหา | |||
พิศเพ่งเล็งแลในโลกา | เห็นนางฟ้าอยู่ในพุ่มปทุมมาลย์ | |||
เพราะรักเราเจ้าต้องมาสิ้นชีพ | เกิดในกลีบบุษบงน่าสงสาร | |||
จำจะช่วยให้อนงค์คงวิมาน | พระสุริยกาลโสมนัสสวัสดี | |||
จึ่งแบ่งภาคจากรถระเห็จเหาะ | ลงเฉพาะสระใหญ่ในไพรศรี | |||
พระหัตถ์หักปทุมาจากวารี | มานั่งที่ร่มไทรในไพรวัน | |||
คลี่ปทุมอุ้มนางขึ้นวางตัก | แม่ยอดรักปิ่นสุรางค์นางสวรรค์ | |||
กุศลเราเคยสมภิรมย์กัน | บุญจึ่งบันดาลใจให้เจาะจง | |||
พี่พึ่งรู้ว่าเจ้าอยู่ในโกเมศ | จึ่งประเวศติดตามด้วยความประสงค์ | |||
จะช่วยเจ้าเยาวลักษณ์วิไลทรง | ให้คืนคงเมืองฟ้าสุราลัยฯ | |||
๏ ปางยุพินปิ่นเทพอัปสร | ฟังสุนทรสุริยงคิดสงสัย | |||
นางผลักพลางทางแลชำเลืองไป | งามวิไลพูนสวัสดิ์ชัชวาล | |||
ถึงเทพบุตรสุดสิ้นในอากาศ | ไม่ผุดผาดผิวพรรณเทียมสัณฐาน | |||
นางค้อนคมก้มพักตร์แล้วพจมาน | ไม่ควรการช่างไม่เกรงข่มเหงกัน | |||
เทพบุตรภุชงค์หรือวงศ์ยักษ์ | มาหาญหักปทุมมาศขาดสะบั้น | |||
เขาอาศัยได้สบายในบุษบัน | ทำเช่นนั้นช่างไม่คิดอนิจจังฯ | |||
๏ โอ้เจ้าพี่ศรีสวัสดิ์กำดัดสวาท | นุชนาฏแม่อย่าลืมเนื้อความหลัง | |||
หรือชอบใจอยู่ที่ในอุบลบัง | สมบัติทั้งเมืองฟ้าไม่อาวรณ์ | |||
พี่หรือคือสุริยงดำรงทวีป | ทุเรศรีบมาด้วยการสงสารสมร | |||
จะชูช่วยนางฟ้าสถาวร | พะงางอนนุชน้องอย่าหมองนวล | |||
มานั่งนี่เถิดพี่จะเล่าเรื่อง | แม่เนื้อเหลืองนพรัตน์กำดัดสงวน | |||
พลางประโลมโฉมนางไม่ห่างนวล | หอมรัญจวนเกสรขจรจายฯ | |||
๏ สาวสวรรค์ครั้นสดับอภิวาท | สุดสวาทแสนรักพระสุริย์ฉาย | |||
แต่มารยาทกษัตรีทำทีอาย | ค้อนชม้ายตอบสนองทำนองใน | |||
ถึงดินฟ้าสาครภูเขาขุน | เมื่อสิ้นบุญถึงกรรมทำไฉน | |||
แต่ชาติก่อนใครห่อนประจักษ์ใจ | ระลึกได้หรือจะรู้ในเรื่องราว | |||
ซึ่งโปรดน้องจะให้ครองวิมานสวรรค์ | พระคุณนั้นล้ำฟ้าเวหาหาว | |||
มิได้สนองครองคุณให้สิ้นคราว | ด้วยเปลี่ยวเปล่าเอ้องค์ในดงแดนฯ | |||
๏ แสนเสนาะเพราะล้ำหนอน้ำเสียง | ช่างกล่าวเกลี้ยงเชิงฉลาดนั้นเหลือแสน | |||
พี่เมตตาจะช่วยพาไปเมืองแมน | ถึงมิแทนคุณได้เป็นไรมี | |||
เหมือนมัจฉาสาครเป็นที่พึ่ง | บุญแล้วจึ่งได้พบประสบศรี | |||
ต้องประสงค์อยู่ตรงไมตรีดี | ถึงแม้นมีสิ่งของไม่ต้องการ | |||
นี่แน่เจ้าเยาวลักษณ์วิไลศรี | เสียแรงพี่จงรักสมัครสมาน | |||
อย่าพูดนักชักเยิ่นให้เนิ่นนาน | จะเสียการไมตรีที่เรียมวอน | |||
จงแย้มเยื้อนเบือนพักตร์รับรักบ้าง | ประโลมนางแนบกายสายสมร | |||
แสนสำราญอยู่ในร่มนิโครธร | พระกางกรประดิพัทธ์วัจนา | |||
อัศจรรย์บรรดาสาคเรศ | อรัญเวศหวั่นไหวไพรพฤกษา | |||
เทพทั้งตั้งโห่เป็นโกลา | สนั่นป่าลั่นเสียงสำเนียงดัง | |||
บรรดาฝูงเทพาวลาหก | ก็ตื่นตกใจวิ่งไม่เหลียวหลัง | |||
อึกทึกกึกก้องฆ้องระฆัง | ด้วยกำลังพระอาทิตย์ฤทธิรงค์ | |||
สมสนิทพิศวาสนางสวรรค์ | เกษมสันต์สบเชิงละเลิงหลง | |||
แบ่งกำลังตั้งครรภ์ให้โฉมยง | แล้วเอื้อนโองการตรัสกับกัลยา | |||
อีกเจ็ดวันขวัญเข้าเจ้าคลอดบุตร | เจ้าจะจุติไปสวรรค์ด้วยหรรษา | |||
พี่อยู่ด้วยเจ้าไม่ได้ต้องไคลคลา | ถึงเวลาเลี้ยวเหลี่ยมพระเมรุทอง | |||
จะเร่งรีบไปทวีปข้างโน้นแล้ว | แม่ดวงแก้วนพเก้าอย่าเศร้าหมอง | |||
กลับชมพูจะมาอยู่ด้วยนวลละออง | แม่อย่าหมองอารมณ์อยู่ร่มไทร | |||
ประโลมลูบจูบสั่งสายสวาท | จะนิราศแรมมิตรพิสมัย | |||
ด้วยร้างรักหักจิตไปจำไกล | คืนเวไชยันต์ถาวรเหมือนก่อนมา | |||
เลี้ยวพระเมรุเผ่นเยี่ยมอุดรทวีป | ดังประทีปส่องทั่วทุกทิศา | |||
สาวสวรรค์สร้อยเศร้าเปล่าอุรา | พระสุริยาเลี้ยวเหลี่ยมพระเมรุธร | |||
สันโดษเดียวเปลี่ยวร่างอยู่กลางเถื่อน | ไม่มีเพื่อนสาวสุรางค์นางอัปสร | |||
ยินสำเนียงปักษาทิชากร | ดวงสมรวังเวงวิเวกใจฯ | |||
๏ ฝ่ายพระสุริยงผู้ทรงรถ | เที่ยวเลี้ยวรถส่องสัตว์จำรัสไข | |||
ส่องตรีภพจบทวีปแล้วรีบไป | สว่างในภพโลกชมพูพลัน | |||
ระลึกถึงโฉมงามทรามสวาท | ออกจากราชรถชัยลงไพรสัณฑ์ | |||
ถนอมแนบแอบนางไม่ห่างกัน | เกษมสันต์พิศวาสไม่คลาดคลาย | |||
แต่เช้ามาสายัณห์แล้วคืนกลับ | กำหนดนับเจ็ดวันเหมือนมั่นหมาย | |||
ยุพาพินสิ้นกรรมประจำกาย | จะคลอดสายสุดที่รักโอรสนาง | |||
พอรุ่งแสงสุริยาพระอาทิตย์ | มานั่งชิดโลมน้องอย่าหมองหมาง | |||
สงสารนวลป่วนปั่นพระครรภ์คราง | นาภีนางเพียงจะพังประทังทน | |||
บรรดาเทพธิดาลงมาพร้อม | เข้าแวดล้อมอรไทในไพรสณฑ์ | |||
บ้างนวดครรภ์ผันแปรให้นิรมล | พระสุริยนเคียงน้องประคององค์ | |||
ถึงยามปลอดนางคลอดโอรสราช | เสียงพิณพาทย์ก้องฟ้าป่าระหง | |||
เป็นชายเหมือนพระอาทิตย์ไม่ผิดทรง | สำอางค์องค์นวลละอองดังทองทา | |||
สาวสวรรค์รับขวัญโอรสรัก | พิศพักตร์ลูกน้อยละห้อยหา | |||
นางกางกรช้อนอุ้มกุมารา | เจ้าเกิดมามิได้อยู่ด้วยแม่แล้ว | |||
ไม่เห็นใครที่จะให้นมเสวย | เจ้าแม่เอ๋ยสุดอาลัยนะลูกแก้ว | |||
เจ้าอยู่เถิดมารดาจะลาแล้ว | กอดลูกแก้วโศกาด้วยอาลัย | |||
แล้วก้มกราบสุริยันรำพันสั่ง | พระระวังลูกยาในป่าใหญ่ | |||
พอสิ้นสั่งสุดสวาทก็ขาดใจ | กลับคืนไปสู่สวรรค์ชั้นวิมานฯ | |||
๏ ปางพระสุริย์ใสวิไลลบ | ให้ปรารภด้วยบุตรสุดสงสาร | |||
ไม่เห็นใครที่จะได้พยาบาล | พระสุริยกาลกอดบุตรเข้าโศกา | |||
แล้วผันแปรแลไปเห็นไกรสร | แม่ลูกอ่อนสถิตอยู่ในคูหา | |||
พระอุ้มโอรสราชแล้วยาตรา | ถึงพญาสิงหราชประกาศพลัน | |||
ว่าดูราราชสีห์อันมีศักดิ์ | โอรสรักเราเกิดในไพรสัณฑ์ | |||
กำพร้าแม่แต่คลอดออกจากครรภ์ | จะให้ท่านเลี้ยงไว้ดังใจจง | |||
เป็นบิดามารดาของทารก | เราจะยกให้ตามความประสงค์ | |||
เวลาจวนเราจะด่วนไปอัสดง | ต่อนานนานจึงจะลงมาเชยชมฯ | |||
๏ ราชสีห์ปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ | บังคมคัลพระอาทิตย์อิศยม | |||
ไว้ธุระสิงหราอย่าปรารมภ์ | จะส่งนมเลี้ยงดูให้อยู่เย็น | |||
แม้นโตใหญ่ได้พึ่งซึ่งพระเดช | ช่วยปกเกศราชสีห์ไม่มีเข็ญ | |||
อันลูกข้าทารกแม้นอยู่เย็น | จะได้เป็นข้าไทเหมือนใจปอง | |||
พระสุริยงทรงฟังไกรสรสัตว์ | โสมนัสยินดีไม่มีสอง | |||
ส่งลูกให้สิงหราน้ำตานอง | อวยพรสองราชสีห์อย่ามีภัย | |||
พระกอดจูบลูกยาน้ำตาหยด | อุ้มโอรสเศร้าสร้อยละห้อยไห้ | |||
พระสงสารราชบุตรสุดอาลัย | แล้วลาไกรสรไปเวไชยันต์ฯ | |||
๏ ราชสีห์มีจิตพิศวาส | ด้วยองค์ราชโอรสพระสุริย์ฉัน | |||
รักเสมอลูกยาไม่อาธรรม์ | เกษมสันต์อยู่ในถ้ำอันอำไพ | |||
กุมาราชันษาได้สิบทัศ | งามจำรัสเหมือนองค์พระสุริย์ใส | |||
กำลังเจ็ดช้างสารอันชาญชัย | เพราะว่าได้กินนมนางสิงหราฯ | |||
๏ จะกล่าวถึงพระอาทิตย์บิตุเรศ | พูนเทวษคิดถึงโอรสา | |||
เสด็จจากรถชัยแล้วไคลคลา | ถึงคูหาถ้ำแก้วอันแพรวพราย | |||
เห็นโอรสลดองค์ลงโอบอุ้ม | ประจงจุมพิตพักตร์พระโฉมฉาย | |||
พระโลมลูบรับขวัญบรรยาย | โอ้พ่อสายสุดที่รักของบิดร | |||
พ่อมิได้อยู่เลี้ยงไว้เคียงพักตร์ | เอาลูกรักฝากไว้กับไกรสร | |||
ชนนีนางฟ้าสถาวร | นั้นม้วยมรณ์แต่เจ้าคลอดออกจากครรภ์ | |||
พระกุมารฟังสารให้สงสัย | จึงถามไถ่ราชสีห์ขมีขมัน | |||
ไกรสรเล่าความหลังให้ฟังพลัน | แจ้งสำคัญพระอาทิตย์เป็นบิดา | |||
ศิโรราบกราบบาทบิตุเรศ | ชลเนตรพรั่งพรายทั้งซ้ายขวา | |||
พระสุริยันกันแสงด้วยลูกยา | ทั้งสามสัตว์สิงหราก็โศกี | |||
ครั้นเคลื่อนคลายวายโศกกันแสงศัลย์ | พระสุริยันตรัสประภาษกับราชสีห์ | |||
จะให้นามตามวงศ์สวัสดี | แทรกชนกชนนีเข้าในนาม | |||
ชื่อโคบุตรสุริยาวราฤทธิ์ | จงประสิทธิ์แก่กุมารชาญสนาม | |||
ทั้งตรีโลกโลกาสง่างาม | เจริญความเกียรติยศปรากฏครันฯ | |||
๏ พระอาทิตย์นิรมิตเครื่องประดับ | ให้เสร็จสรรพล้วนเทพรังสรรค์ | |||
เป็นเครื่องทิพสาตราสารพัน | ให้ป้องกันอยู่ในกายกุมารา | |||
รณรงค์คงทนด้วยกายสิทธิ์ | พระอาทิตย์จึ่งสั่งโอรสา | |||
อันเครื่องทรงที่ในองค์พระลูกยา | ล้วนเทพสาตราอันเกรียงไกร | |||
จะรบราญรณรงค์เข้ายงยุทธ์ | ไม่พักหาอาวุธอย่าสงสัย | |||
เครื่องประดับรับรบอรินทร์ภัย | เหาะเหินได้รุ่งเรืองด้วยเครื่องทรง | |||
จงคิดอ่านไปผ่านพิภพโลก | มาวิโยคอยู่ไยในไพรระหง | |||
สิงหราชชาติเชื้อเขาชาวดง | เจ้าเป็นพงศ์จักรพรรดิสวัสดี | |||
พ่อจะบอกมรคาไปหาคู่ | นางนั้นอยู่บูรพาพาราณสี | |||
จงลาแม่ลาพ่อจรลี | ถ้าได้ดีแล้วจงกลับมารับกัน | |||
แม้นเคืองเข็ญจงคิดถึงบิตุเรศ | ถ้าแจ้งเหตุจะมาช่วยอย่าโศกศัลย์ | |||
พระกอดจูบลูกยาเฝ้าจาบัลย์ | พระรำพันร่ำไรแล้วให้พร | |||
พ่อจะลาแก้วตาไปส่องโลก | อย่าแสนโศกจงสุขสโมสร | |||
ครั้นเสร็จสั่งสิงหราสถาวร | พระทินกรเหาะไปเวไชยันต์ฯ | |||
๏ พระโคบุตรสุริยาน้ำตาไหล | ด้วยอาลัยสุริย์ฉายนั้นผายผัน | |||
ยิ่งแลลับพระบิดายิ่งจาบัลย์ | สะอื้นอั้นกำสรดระทดกายฯ | |||
๏ สิงหราว่ากล่าวเล้าโลมปลอบ | ตามระบอบโศกเศร้าบรรเทาหาย | |||
พระโคบุตรสุดจิตคิดเสียดาย | ค่อยน้อมกายเกศก้มประนมกร | |||
ลูกขอลาชนนีอย่ามีเหตุ | เที่ยวประเวศตามคำพระร่ำสอน | |||
ว่าคู่สร้างนางอยู่ในสาคร | พเนจรไปในป่าพนาวัน | |||
แม้นบุญช่วยได้สมอารมณ์คิด | ให้ต้องจิตดังคำพระสุริย์ฉัน | |||
กุศลส่งคงพบประสบกัน | ครองเขตขัณฑ์ได้คู่อยู่สำราญ | |||
ถึงลูกไปใช่จะลืมพระคุณแม่ | ถ้าเว้นแต่ชีวังสิ้นสังขาร | |||
แม้นบุญส่งคงสบายไม่วายปราณ | จะเวียนมามัสการพระมารดาฯ | |||
๏ ราชสีห์สุดที่จะทานทัด | กลัวจะขัดเคืองลูกเสน่หา | |||
จึงอวยพรสั่งสอนกุมารา | แล้วให้ยาล้ำเลิศประเสริฐครัน | |||
ถ้าเคี้ยวพ่นคนตายแล้วคลายรอด | ไม่ม้วยมอดมรณาชีวาสัญ | |||
พระรับยาอาลัยใจผูกพัน | กันแสงศัลย์กราบบาทสิงหราฯ | |||
๏ โอ้แม่เจ้าคราวนี้จะนานแล้ว | จงอยู่ครองห้องแก้วถ้ำคูหา | |||
ไม่ปลดปลงลูกคงจะกลับมา | แล้วอำลาราชสีห์ผู้พี่ชาย | |||
ตั้งอารมณ์ข่มใจอาลัยรัก | ค่อยหาญหักอาดูรให้สูญหาย | |||
เสด็จจากห้องแก้วอันแพรวพราย | พระทัยหายกลับมาโศกาลัย | |||
เป็นหลายครั้งตั้งร่ำรำพันรัก | แล้วหวนหักเสน่หาน้ำตาไหล | |||
พระชุบเช็ดชลนาด้วยอาลัย | แล้วหักใจจำทิศพระบิดา | |||
เหาะละลิ่วปลิวคว้างมากลางเมฆ | ลอยวิเวกมาในท้องพระเวหา | |||
พระลอยลมแลชมอรัญวา | ประมาณมาหลายคืนชื่นอารมณ์ฯ | |||
ตอนที่ ๒ ราชปุโรหิตชิงบัลลังก์เมืองพาราณสี นางมณีสาครและพระอรุณไปพบยักษ์ ๔ ตน
๏ จะกล่าวถึงขัตติย์วงศ์พงศ์กษัตริย์ | พรหมทัตธิบดินทร์ปิ่นสนม | ||
ครองพาราณสีบุรีรมย์ | มีเมืองขึ้นมาบังคมไม่ขาดปี | ||
มีเอกองค์ทรงนามประทุมทัศ | เสวยราชสมบัติเกษมศรี | ||
มีพระราชธิดาล้ำนารี | ชื่อมณีสาครฉะอ้อนองค์ | ||
มีพระราชกุมารเสน่หา | อนุชาน้องถัดนวลหง | ||
ชื่ออรุณกุมารชาญณรงค์ | ทั้งสององค์ลูกเจ้ายังเยาว์ครัน | ||
พระพี่ยาชันษาได้สิบทัศ | กุมารถัดเจ็ดขวบเกษมสันต์ | ||
บิตุรงค์ทรงรักดังชีวัน | สารพันมิได้ขัดเคืองระคาย | ||
ครั้นอยู่มาตาพราหมณ์ประโรหิต | ครองโลภจิตนึกเจตนาหมาย | ||
เฒ่าชรามีบุตรบุรุษชาย | เมียนั้นตายจากอกไปหลายปี | ||
คิดการศึกนึกจะเป็นกษัตริย์ | ผ่านสมบัติบ้านเมืองให้เรืองศรี | ||
ทั้งลูกจะครองนุชพระบุตรี | ได้แทนที่พรหมทัตกษัตรา | ||
จึงมั่วสุมซุ่มคนไว้คับคั่ง | ได้พร้อมพรั่งหลายพันก็หรรษา | ||
ธนูง้าวหลาวโล่แลปืนยา | เครื่องสาตราครบถ้วนแลทวนแทง | ||
ถึงวันดีเตรียมทัพเวลาดึก | อึกทึกฮึกหาญชาญกำแหง | ||
เอาปืนใหญ่ยิงประดังพังกำแพง | จุดคบแดงให้ประดังเข้าวังใน | ||
จับกษัตริย์ตัดเศียรสิ้น ชีวิต | ทวารปิดมิให้คนลอบหนีได้ | ||
จับพวกเหล่าสาวสรรค์ กำนัลใน | มาคุมไว้กลางชาลาหน้าพระลาน | ||
แสน สังเวชนางในใจจะขาด | ร้องกรีดกราดแซ่เสียงสำเนียงขาน | ||
ผ้านุ่งห่มลุ่ยหลุดกระเซอซาน | บ้างคลำคลานออกมาทุกหน้านาง ฯ | ||
๏ สงสารองค์อัคเรศเกศกษัตริย์ | สองพระหัตถ์ข้อนทรวงเข้าผางผาง | ||
เขาไล่จับสับสนอยู่บนปรางค์ | นุชนางอุ้มสองกุมารา | ||
แล้ววิ่งวงลงจากปราสาททิพ | ค่อยกระซิบสั่งสองโอรสา | ||
อย่าร้องดังฟังแม่นะแก้วตา | แล้วก็พาลูกเลี้ยว เที่ยวเวียนวง | ||
ชำเลืองดูที่ทวารบานก็ปิด | ดังชีวิตนางจะม้วยเป็นผุยผง | ||
เห็นไม้พุ่มอุ้มลูกเข้าแอบ องค์ | กระซิบทรงเศร้ากำสรดระทดใจ | ||
สายสมรสอนสั่งพระลูก แก้ว | พอรุ่งแล้วถ้าเขาจับแม่ไปได้ | ||
ทั้ง พี่น้องสองราอย่าอาลัย | พากันไปเถิดนะลูกอย่าอยู่เลย | ||
ตามกุศลผลบุญของลูกแก้ว | แม่นี้ไม่อยู่แล้วหนาลูกเอ๋ย | ||
พากันไปอย่าอาลัยถึงแม่เลย | แล้วทรามเชยกอดลูกเข้าโศกี | ||
สามพระองค์ทรงโศกกันแสงไห้ | จนอุทัยจวนรุ่งจำรัสศรี | ||
นางชาววังวุ่นวิ่งเป็นสิงคลี | พระชนนีกอดลูกเข้าร่ำไร | ||
เอาทรายฝุ่นมุนมอมพระลูกรัก | ให้ผิวพักตร์มัวหมองไม่ผ่องใส | ||
รุ่งแล้วสองแก้วตาจงคลาไคล | เขาจับได้ก็จะม้วยด้วยชนนี | ||
แล้วผันแปรมิได้แลดูลูกรัก | นางตั้งพักตร์วิ่งวางขึ้นปรางค์ศรี | ||
เข้าสวมสอดกอดศพพระสามี | นางเทวีกลั้นใจบรรลัยลาญ | ||
น่าสงสารสองกุมารมาลับแม่ | สุดชะแง้แล้วโศกาน่าสงสาร | ||
กลั้นสะอื้นขืนใจอาลัยลาน | สองกุมารเดินเรียงมาเคียงกัน | ||
นางมณีสาครจูงกรน้อง | สงสารสองบุตรีไม่มีขวัญ | ||
เห็นผู้คนปนปลอมไปพร้อมกัน | ใครไม่ทันแจ้งจิตว่าธิดา | ||
พ้นทวารบ้านเมืองชำเลือง เหลียว | ยิ่งเปล่าเปลี่ยวเศร้าสร้อยละห้อยหา | ||
เจ้า รีบรัดตัดเนินดำเนินมา | ไม่รู้ว่าจะไปหนตำบลใด | ||
กันแสงพลางเหลียวพลางดูปรางค์รัตน์ | หน่อกษัตริย์สองราน้ำตาไหล | ||
ทุกเทวาช่วยรักษาทั้งสองไป | ดลพระทัยให้เข้าป่าพนาวัน ฯ | ||
๏ ประโรหิตสมคิดขึ้นปรางค์มาศ | สิงหนาทตั้งปึ่งทำขึงขัน | ||
ท้าวพระยาหาตัวมาพร้อมกัน | ใครแข็งขันสั่งซ้ำให้จำจอง | ||
ที่ยินยอมพร้อมใจให้สมบัติ | เอาความสัตย์อย่าให้หมายเป็นฝ่ายสอง | ||
แล้วแต่งตั้งที่ขุนนางตามทำนอง | ทั้งพวกพ้องพร้อมจิตก็คิดการ | ||
ให้ค้นหาธิดากรุงกษัตริย์ | จบจังหวัดพระนิเวศน์เขตสถาน | ||
มิได้พบพี่น้องสองกุมาร | ตาพราหมณ์พาลจับยามตามตำรา | ||
ก็รู้ว่าไม่อยู่ในนิเวศน์ | สุดสังเกตที่จะเสาะแสวงหา | ||
ก็นิ่งไว้ในใจไม่เจรจา | สั่งให้หาช่างสุวรรณมาทันใด | ||
ทำโกศทองรองศพสองกษัตริย์ | ประจงจัดไว้ปรางค์ทองอันผ่องใส | ||
เที่ยวเลือกชมนางสนมกำนัลใน | สำราญใจพ่อลูกทุกคืนวัน ฯ | ||
๏ แสนสงสารพระกุมารสองสมร | ลับนครเข้าป่าพนาสัณฑ์ | ||
กันแสงส่งสุรเสียงมาเคียงกัน | ได้สามวันเดินไพรไปไกลวัง | ||
อดเสวยเนยนมยิ่งตรมอก | แสนวิตกคิดคะนึงถึงความหลัง | ||
สงสารสองทรงศักดิ์ในนครัง | บรรลัยแล้วหรือยังไม่รู้เลย | ||
เมื่อครั้งบุญทูลกระหม่อมยังครองภพ | เธอเวียนรบตักเตือนให้สรงเสวย | ||
ยามวิบากจากสบายไม่วายเลย | ที่การเคยผาสุกมาทุกข์ทน | ||
เพราะสิ้นบุญทูลกระหม่อมจึงตรอมจิต | เอาชีวิตออกไว้อยู่ไพรสณฑ์ | ||
เอาเสือสางกวางเถื่อนเป็นเพื่อนตน | ทั้งผู้คนเงียบสงัดล้วนสัตว์พาล | ||
พระพี่น้องสององค์ทรงกันแสง | จนสุดแรงที่จะไปในไพรสาณฑ์ | ||
สิ้นกำลังล้มลงในดงดาน | สองกุมารนิ่งซบสลบลง ฯ | ||
๏ เทพไททุกวิมานบันดาลเงียบ | เย็นยะเยียบทุกหย่อมหญ้าป่าระหง | ||
ทุกก้านกอช่อไม้ในไพรพง | สงสารองค์อรุณราชเพียงขาดใจ | ||
ลมรำพายชายพัดมารึ่นรื่น | ทั้งสองฟื้นสมประดีขึ้นโหยไห้ | ||
พระพี่ชวนอนุชาลีลาไป | โศกาลัยเลียบเดินเนินคีริน | ||
บรรลุถึงสระหนึ่งน้ำสะอาด | เดียรดาษด้วยอุบลชลสินธุ์ | ||
ทั้งฝักดอกจอกกระจับในวาริน | ระรื่นกลิ่นเกสรขจรจาย | ||
ทั้งสององค์นั่งลงกำลังหอบ | พระกรกอบดื่มกินกระสินธุ์สาย | ||
แล้วชวนน้องลงในสระชำระกาย | เที่ยวแหวกว่ายเลือกหักฝักอุบล | ||
พี่แหวกจอกปอกเสวยกระจับสด | น้องว่ารสโอชาผลาผล | ||
จะกล่าวถึงยักษ์ร้ายในสายชล | ทั้งสี่ตนฤทธิไกรดังไฟกาฬ | ||
พระเวสสุวัณสาปสรรให้เฝ้าสระ | ด้วยโมหะฤทธิ์แรงกำแหงหาญ | ||
ได้ยินเสียงพี่ น้องสองกุมาร | ลงลอยเล่นชลธารสะเทื้อนไป | ||
แสนพิโรธโดดทะลึ่งเสียงอึงอัด | ไล่สกัดเรียกกันอยู่หวั่นไหว | ||
แสนสงสารสุดสวาทเพียงขาดใจ | เห็นยักษ์ไล่ติดพันกระชั้นมา | ||
สองพี่น้องร้องหวีดกราดกรีดเสียง | ชีวิตเพียงจะพินาศด้วยยักษา | ||
เจ้าแหวกว่ายเวียนวงในคงคา | อสุรากั้นกางไว้กลางชล ฯ | ||
ตอนที่ ๓ โคบุตรมาช่วยชุบชีวิตท้าวพรหมทัตและพระมเหสี
๏ พอโคบุตรสุริยาเหาะมาถึง | ได้ยินอึงหวั่นไหวทั้งไพรสณฑ์ | ||
พระลอยแลมาแต่โพยมบน | เห็นสายชลฟุ้งสายกระจายฟอง | ||
สี่ยักษาไล่ทารกอยู่หมกมุ่น | นึกการุญสงสารเจ้าทั้งสอง | ||
พระโถมลงตรงสระปทุมทอง | อุ้มเอาสองกุมารทะยานมา | ||
ยักษ์พิโรธโกรธไล่กระชั้นชิด | พระทรงฤทธิ์หยุดยืนบนยอดผา | ||
โบกพระหัตถ์ตรัสห้ามแล้วถามมา | อสุราโกรธกันด้วยอันใด | ||
ยักษ์ทมิฬยินถามคำรามร้อง | มันจองหองลงชำระในสระใหญ่ | ||
เก็บโกมินกินฝักแล้วหักใบ | เราขัดใจจึ่งจะล้างให้วางวาย ฯ | ||
๏ พระพี่น้องสองเจ้าเล่าความหลัง | เป็นสัจจังข้าพเจ้าเล่าถวาย | ||
ทินกรร้อนรนกระวนกระวาย | มาเห็นสายชลธีก็ดีใจ | ||
ทั้งพี่น้องสององค์ลงกินอาบ | ก็เย็นซาบสรรพางค์ไม่ตักษัย | ||
คิดว่าน้ำสำหรับอยู่กับไพร | ไม่แจ้งใจว่าเจ้าของเขาป้องกัน | ||
จงเอาบุญเจ้าประคุณเอ็นดูด้วย | เหมือนโปรดช่วยลูกกำพร้าจะอาสัญ | ||
พระทรงฟังสังเวชพระทัยครัน | จึงว่ากับกุมภัณฑ์ไปทันความ | ||
นี่แน่นายฝ่ายเด็กไม่รู้แจ้ง | ใช่จะแกล้งมาข่มเหงไม่เกรงขาม | ||
ถึงจะฆ่าทารกไม่ลือนาม | จะถือความไปทำไมไม่ต้องการ ฯ | ||
๏ พวกรากษสโกรธร้องอยู่ก้องกึก | จองหองฮึกเหิมนักทำหักหาญ | ||
มิส่งมามึงจะพากันวายปราณ | มิใช่การของเอ็งไม่เกรงกัน ฯ | ||
๏ พระฟังสารมารร้ายหมายชีวิต | ไม่หวาดจิตปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ | ||
จึ่งว่าเหวยอสุราใจอาธรรม์ | เราไม่พรั่นดอกที่ข้อจะต่อตี | ||
พระถอดเทพสังวาลโองการสั่ง | สังวาลระวังพี่น้องทั้งสองศรี | ||
ยักษ์พิโรธโลดไล่เป็นสิงคลี | กระโดดตีตึงตังประดังมา ฯ | ||
๏ พระลองแรงแผลงฤทธิ์เข้ารบรับ | พระหัตถ์จับข้างละสองสี่ยักษา | ||
เผ่นผงาดฟาดผางกลางศิลา | อสุราดิ้นกระเดือกลงเสือกกาย | ||
จึงโอมอ่านอาคมพรหมประสิทธิ์ | ก็เปลื้องปลิดเจ็บปวดนั้นสูญหาย | ||
เข้ากลาดกลุ้มรุมรบอยู่รอบกาย | ดังเสียงสายสุนีลั่นสนั่นดัง | ||
ด้วยเดชะเครื่องประดับสำหรับศึก | แล่นพิลึกโลดไล่ไม่ถอยหลัง | ||
ได้กินนมราชสีห์มีกำลัง | ไม่พลาดพลั้งติดพันประจัญบาน | ||
ต่างกำแหงแรงเริงในเชิงรบ | ไม่หลีกหลบโลดไล่ด้วยใจหาญ | ||
ยักษ์จะจับพี่น้องสองกุมาร | เพราะสังวาลป้องกันไม่อันตราย ฯ | ||
๏ พระโคบุตรสุริยาวราเดช | เอาธำมรงค์บิตุเรศอันเรืองฉาย | ||
พระหัตถ์ขว้างเป็นแสงประกายพราย | ประหารกายยักษ์ขาดลงดาษดิน | ||
ด้วยฤทธิ์เทพอาวุํธสุดจะแก้ | ไม่หายแผลม้วยมุดสุดถวิล | ||
ราพณ์ร้ายตายกลาดลงดาษดิน | พระนรินทร์เหาะลงเนินคิรี | ||
จึงเรียกสองกุมาราเข้ามาชิด | พลางพินิจพี่น้องทั้งสองศรี | ||
งามเจริญกิริยากุมารี | ดังมณีเมขลาวิไลทรง | ||
ชมกุมารน้องชายก็เฉิดโฉม | งามประโลมดังเทพครรไลหงส์ | ||
ชะรอยเป็นจักรพรรดิขัตติย์วงศ์ | จึงเอื้อนโองการถามเนื้อความไป | ||
นี่แน่น้องสองเจ้าจงเล่าเรื่อง | อยู่บ้านเมืองแห่งหนตำบลไหน | ||
ยังเด็กนักหักหาญมาเดินไพร | บุญเจ้าไม่มรณาพี่มาทัน ฯ | ||
๏ สองกันแสงเล่าความไปตามเรื่อง | ฉันเสียเมืองยากไร้มาไพรสัณฑ์ | ||
มาประสบพบมารชาญฉกรรจ์ | แล้วโศกศัลย์ร่ำไรอยู่ไปมา | ||
พระโปรดช่วยจึงไม่ม้วยชีวาวาตม์ | ขอรองบาทยุคลจนสังขาร์ | ||
ข้าชื่อมณีสาครแต่ก่อนมา | อนุชาชื่ออรุณร่วมท้องกัน ฯ | ||
๏ พระโคบุตรสุริย์วงศ์ใ้ห้สงสาร | ปลอบกุมารว่าอย่าทรงกันแสงศัลย์ | ||
เจ้ายังเด็กพี่็ก็เล็กอยู่ด้วยกัน | ไม่หมายมั่นจะเอามาเป็นข้าไท | ||
จะช่วยน้องให้ได้ครองคืนสถาน | จงสำราญเถิดนะน้องอย่าหมองไหม้ | ||
พี่จะชุบกุมภัณฑ์ที่บรรลัย | จึ่งจะไม่เป็นกรรมประจำกาย | ||
พระหยิบยามาเคี้ยวแล้วเที่ยวพ่น | กุมภัณฑ์พลได้กลิ่นก็กลับหาย | ||
หมอบประนมก้มตัวด้วยกลัวตาย | ต่างถวายอภิวันท์รำพันความ | ||
ขอบพระคุณการุญชุบชีวิต | ได้พูดผิดข้าน้อยนี้หยาบหยาม | ||
ขอรองบาทมุลิกาพยายาม | ไปติดตามกว่าจะสูญสิ้นชีวา | ||
แล้วยักษีสี่นายถวายแก้ว | อันเลิศแล้วเหาะได้ในเวหา | ||
ทั้งสองดวงแต่ล้วนดีมีศักดา | ปรารถนานึกได้ดังใจจง ฯ | ||
๏ พระรับแก้วแล้วตรัสกับขุนยักษ์ | ท่านจงรักสุจริตจิตประสงค์ | ||
เราสงสารพี่น้องทั้งสององค์ | เจ้าเชื้อพงศ์จักรพรรดิสวัสดี | ||
เที่ยวทนทุกข์บุกป่าพนาเวศ | น่าสมเพชใจนักนะยักษี | ||
จะแก้ไขให้สองราคืนธานี | อสุรีจงไปช่วยเราด้วยกัน ฯ | ||
๏ พนาสูรทูลความไปตามเรื่อง | มิให้เคืองบาทมูลทูลผ่อนผัน | ||
ให้สององค์พระกุมารสำราญครัน | เหมือนทรงธรรม์อนุกูลกุมารา ฯ | ||
๏ ได้ฟังสารแสนสำราญอารมณ์รื่น | พระชมชื่นแสนสนิทเสน่หา | ||
พระยื่นแก้วแล้วตรัสจำนรรจา | ถือจินดาเถิดน้องทั้งสองคน | ||
เจ้ากุมแก้วแล้วเหาะไปตามพี่ | ถึงบุรีเรืองรัตน์ไม่ขัดสน | ||
สองกุมารกรานกราบจอมสากล | แล้วกุมแก้วฤทธิรณไว้กับกร ฯ | ||
๏ พระโคบุตรสุริยาก็พาเหาะ | ข้ามละเมาะเขาเขินเนินสิงขร | ||
สามกษัตริย์อสุราพากันจร | หมายนครลอยฟ้ามาบุรี | ||
ครั้นภาณุมาศผาดแผดแดดร้อนจัด | สามกษัตริย์ต้องแสงนรังสี | ||
พระเคลื่อนคล้อยลอยลงในพงพี | จรลีร่มรื่นชื่นพระทัย | ||
พระโคบุตรชวนน้องสองกษัตริย์ | ชมพนัสหิมวาพฤกษาไสว | ||
ที่ผลิดอกออกผลระคนไป | วายุไกวกิ่งกวดเป็นวงกง | ||
ชมพู่เทศเกดแก้วตะโกโกฐ | ชะลูดโลดตุมกามหาหงส์ | ||
หันเหียนตะเคียนคางยางประยงค์ | วัลย์เปรียงปรงปรูปรางตะลิงปลิง | ||
ฝูงอีลุ้มแอบพุ่มอุโลกลับ | กระสาจับไซ้ขนบนต้นสิง | ||
กาลิงเลี้ยวไล่หานางกาลิง | อัญชันชิงคู่เคียงอยู่เรียงกัน | ||
นกกระเหว่าเฝ้าแฝงฝรั่งร้อง | ฝูงยูงทองย่องเหยียบพะยุงขัน | ||
สามกุมารเพลิดเพลินเจริญครัน | แล้วพากันชมนกไม้ไพรพนม | ||
ตามประสาทารกรักสนิท | ไม่นึกคิดเคืองระคายเท่าปลายผม | ||
สัพยอกหยอกเอินเพลินอารมณ์ | จนแดดร่มเบี่ยงบ่ายลงชายไพร | ||
พระชวนน้องสององค์ขึ้นเหาะเหิน | งานเจริญรีบมาในป่าใหญ่ | ||
ลอยละลิ่วปลิวเมฆมาไรไร | ประมาณได้ยามหนึ่งถึงธานี | ||
สองกุมารทูลความไปตามเรื่อง | นี่แลเมืองข้าน้อยทั้งสองศรี | ||
โน่นปรางค์ทองของพระชนนี | แต่เดี๋ยวนี้ใครจะอยู่ไม่รู้ความ | ||
ได้ทรงฟังทั้งสองพระน้องนาฏ | ลงปราสาทเถิดนะน้องอย่าเกรงขาม | ||
แม้นมิใช่บิดาพะงางาม | จงแจ้งความพี่จะทำให้หนำใจ ฯ | ||
๏ กุมาราพาองค์พระทรงเดช | เข้านิเวศน์ปรางค์ทองอันผ่องใส | ||
สามกษัตริย์อสุราก็คลาไคล | เข้าห้องในปรางค์รัตน์ชัชวาล ฯ | ||
๏ นางชาววังนั่งยามอยู่แออัด | เห็นกษัตริย์สองราน่าสงสาร | ||
ให้ระลึกถึงนายที่วายปราณ | วิ่งเข้ากอดกุมารแล้วโศกา | ||
สิ้นบุญทูลกระหม่อมทั้งสองแล้ว | ดังดวงแก้วมืดมิดทุกทิศา | ||
แม่เป็นไรไปแล้วจึ่งกลับมา | พราหมณ์ชราพ่อลูกมันครองวัง ฯ | ||
๏ ได้ฟังฝูงกัลยาน้ำตาไหล | แข็งพระทัยตรัสถามเนื้อความหลัง | ||
สองพระองค์ปลดปลงชีวาวัง | พระศพยังอยู่หรือสูญไปแห่งใด ฯ | ||
๏ สาวสนมก้มกราบแล้วทูลสนอง | อันศพสองปิ่นกษัตริย์ที่ตัดษัย | ||
เขาใส่พระโกศทองไว้ห้องใน | แล้วร้องไห้ห้ามปรามพระทรามชม | ||
นางมณีสาครกับน้องน้อย | ก็เศร้าสร้อยโลมเล้าสาวสนม | ||
แต่ก่อนปางสร้างกรรมจำนิยม | อย่าปรารมภ์เราจะคืนเอาพารา | ||
แล้วนำองค์ทรงศักดิ์กับยักษ์ร้าย | ค่อยแฝงกายมาถึงแท่นอันเลขา | ||
เห็นพราหมณ์เฒ่าขึ้นสถิตแท่นบิดา | กับลูกยาบนเตียงอยู่เคียงกัน ฯ | ||
๏ พระพี่น้องร้องเรียกให้ยักษ์จับ | สั่งกำชับอย่าเพ่อฆ่าให้อาสัญ | ||
ยักษ์กระโจมโถมจับตาพราหมณ์พลัน | เชือกมัดมั่นสองแขนอยู่แอ่นกาย | ||
ทั้งพ่อลูกถูกมัดอยู่นอนกลิ้ง | พวกผู้หญิงเห็นยักษ์ก็ใจหาย | ||
บ้างหวีดหวาดผาดแลเห็นเจ้านาย | จึงค่อยคลายความกลัวทุกตัวคน ฯ | ||
๏ พระพี่น้องร้องห้ามพวกสาวใช้ | อย่าตกใจใช่ศึกมากลางหน | ||
ต่างรู้ชัดค่อยสงัดสงบตน | พระสุริยนเยี่ยมยอดเมรุไกร | ||
พระพี่น้องร้องเชิญพระโฉมศรี | มาสู่ที่โกศทองอันผ่องใส | ||
ให้เปิดโกศเชิญศพออกทันใด | ภูวไนยพ่นด้วยโอสถพลัน | ||
จอมกษัตริย์สององค์คงชีวิต | ค่อยเคลิ้มจิตคลับคล้ายเหมือนใฝ่ฝัน | ||
เห็นลูกรักยักษ์ร้ายอยู่เคียงกัน | พระโศกศัลย์สวมกอดเอาลูกยา | ||
พ่อบรรลัยใครช่วยจึงรอดเล่า | ไฉนเจ้ารู้จักกับยักษา | ||
พระโฉมยงองค์นั้นนะกัลยา | เสด็จมาแต่หนตำบลใด ฯ | ||
๏ พระโอรสยศยงทรงสดับ | จึงกล่าวกลับความหลังแถลงไข | ||
พระชนกชนนีก็ดีใจ | ราวกับได้ทิพสถานพิมานอินทร์ | ||
เข้าอุ้มองค์บุตราพระอาทิตย์ | พลางจุมพิตเชยชมสมถวิล | ||
สมบัติของบิดาในธานินทร์ | ทั้งม้ารถคชริินทร์อันเพริศพราย | ||
จะมอบให้ทรามชมเสวยราชย์ | ชนชาติจะได้พึ่งพระโฉมฉาย | ||
พระบิดรมารดาชรากาย | จะเบี่ยงบ่ายบรรพชาไม่ราคี | ||
ฝากแต่น้องสององค์ไว้ด้วยเถิด | นึกว่าเกิดร่วมครรภ์พระโฉมศรี | ||
พ่อขอถามนามชนกชนนี | ผ่านบุรีแห่งหนตำบลใด ฯ | ||
๏ พระโคบุตรทรงฟังรับสั่งถาม | ไม่บอกความออกแจ้งแถลงไข | ||
หม่อมฉันชาวหิมวาพนาลัย | ทุเรศไร้สุริย์วงศ์อยู่ดงดอน | ||
พระมารดาอาสัญแต่วันคลอด | ชีวิตรอดด้วยราชไกรสร | ||
ลูกรักเคยอยู่ป่าพนาดร | มาเที่ยวจรเล่นตามความสบาย | ||
มาพบน้องนวลนางที่กลางเถื่อน | เห็นเด็กเหมือนกันก็รักไม่รู้หาย | ||
ฉันชุบช่วยภูวดลให้พ้นตาย | เสร็จแล้วจะถวายบังคมลา | ||
ซึ่งโปรดปรานบ้านเมืองให้ลูกรัก | มิใช่ศักดิ์เชื้อวงศ์เผ่าพงศา | ||
ลูกยกให้แก่พระน้องทั้งสองรา | จะกราบลาเที่ยวให้เพลินเจริญใจ | ||
พระโศกาอาลัยใจจะขาด | ภูวนาถว่าวอนด้วยรักใคร่ | ||
สารพัดพ่อมาตัดอาลัยไป | ทั้งเวียงชัยก็ไม่รักจะหักจร | ||
ทำกระไรจะได้แทนคุณสนอง | ที่ช่วยสองสุดสวาทสโมสร | ||
จงเอ็นดูบิดาที่ว่าวอน | อยู่นครด้วยน้องทั้งสององค์ ฯ | ||
๏ พระฟังห้ามตามมีไมตรีจิต | บุตรอาทิตย์ทูลความตามประสงค์ | ||
ถึงลูกไปใช่จะลืมบาทบงสุ์ | เมื่อนานนานแล้วก็คงจะกลับมา ฯ | ||
๏ พรหมทัตครั้นจะขัดก็สุดคิด | รัญจวนจิตเศร้าสร้อยละห้อยหา | ||
แลดูองค์ทรงฤทธิ์กับธิดา | อุปมาเหมือนแก้วแกมกับทอง | ||
แต่ทรงฤทธิ์จิตยังเด็กไม่รู้จัก | ด้วยเ็ด็กนักยังไม่ควรภิเษกสอง | ||
จะโลมเล้าเอาใจในทำนอง | พระตรึกตรองตรัสไปด้วยไมตรี | ||
ถึงจะไปอาลัยแก่พ่อมั่ง | จงรอรั้งอยู่เมืองให้เรืองศรี | ||
พออุ่นใจไพร่ฟ้าประชาชี | ชาวบุรีหญิงชายกระจายจร | ||
ว่าพ่อได้สายสวาทเป็นโอรส | เฉลิมยศภิญโญสโมสร | ||
พ่อเอ็นดูบิดาให้อาวรณ์ | อย่าเพ่อจรให้พ่อช้ำระกำใจ ฯ | ||
๏ พระโคบุตรสงสารท้าวพรหมทัต | สุดจะขัดแล้วจึ่งทูลสนองไข | ||
พระตรัสห้ามสามหนแล้วจนใจ | จะอยู่ไปมิให้เคืองเรื่องราคี | ||
เมื่อนานนานลูกจะลาไปเล่นมั่ง | จิตลูกยังอาลัยถึงไพรศรี | ||
จะเที่ยวดูเสียให้ทั่วทั้งธรณี | ชมบุรีจักรพรรดิกษัตรา | ||
กรุงกษัตริย์ฟังสารสำราญรื่น | ประคองชื่นรับขวัญด้วยหรรษา | ||
แล้วเชิญโอรสราชเร่งยาตรา | เสด็จมาพระโรงรัตน์ชัชวาล | ||
ให้ยักษาพาพราหมณ์มาถามซัก | เอาเพื่อนพรรคพี่น้องจองหองหาญ | ||
ทั้งพ่อลูกผูกมัดฝีมือมาร | ก็ให้การซัดเพื่อนออกเปื้อนคำ | ||
เขาจดหมายไล่จับมาคับคั่ง | มีรับสั่งให้ลงโทษแต่คนขำ | ||
บีบขมับขับเฆี่ยนเจียนระยำ | ให้ตรากตรำตรึงตราไว้ตรุใน | ||
แล้วยกข้อพ่อลูกประโรหิต | กระทำผิดสาหัสถึงตัดษัย | ||
ให้ตีฆ้องร้องป่าวตระเวนไป | อย่าฆ่าในธานีเป็นชีพราหมณ์ | ||
ใส่นาวาไปมหาทะเลหลวง | เอาหินถ่วงเสียให้จมสมหยาบหยาม | ||
พระตรัสสั่งสิ้นเสร็จสำเร็จความ | แล้วชวนสามโอรสเข้าสู่วัง | ||
เสวกาพาพราหมณ์ทั้งพ่อลูก | ไปมัดผูกเฆี่ยนขับตามรับสั่ง | ||
ตะโหงกคอข้อมือขื่อประดัง | ข้างหน้าหลังตีฆ้องมาสองคน | ||
พวกดาบแดงแซงเดินกระหนาบข้าง | ขยับย่างจูงพราหมณ์มาตามถนน | ||
ตีฆ้องแล้วให้ร้องประจานตน | ทั้งสองคนพ่อลูกเหมือนอย่างลิง | ||
เสียงหม่องหม่องร้องว่าเจ้าข้าเอ๋ย | อย่าดูเยี่ยงข้าเลยทั้งชายหญิง | ||
ข้าพ่อลูกทุจริตทำผิดจริง | กบฏชิงสมบัติกษัตรา | ||
ทั้งชาวบ้านร้านตลาดก็กลาดเกลื่อน | ร้องเรียกเพื่อนวิ่งกรูมาดูหน้า | ||
ทั้งธานีมิได้มีใครเวทนา | มันอยากชิงวาสนาสาแก่ใจ | ||
ตระเวนรอบขอบเมืองทุกบ้านช่อง | ลงเรือล่องไปในกลางทะเลใหญ่ | ||
เอาพ่อลูกผูกแผ่นศิลาลัย | โยนลงในสาชลก็วายปราณ | ||
กลับมาทูลมูลเหตุเกศกษัตริย์ | พรหมทัตปรีดิ์เปรมเกษมศานต์ | ||
จิตระรื่นชื่นอารมณ์ชมกุมาร | จำเนียรกาลนานมาอยู่ธานี ฯ | ||
๏ พระโคบุตรสุริย์วงศ์ทรงสวัสดิ์ | บังคมทูลพรหมทัตเจ้ากรุงศรี | ||
ลูกอยู่กับบิดามากว่าปี | ระลึกถึงพงพีพ้นกำลัง | ||
ลูกจะขอลาองค์พระทรงเดช | ไปเที่ยวชมหิมเวศเหมือนใจหวัง | ||
พรหมทัตขัตติย์วงศ์ได้ทรงฟัง | ท้าวเธอหลั่งชลนาโศกาลัย | ||
ครั้นจะตรัสหักหาญพูดทานทัด | กลัวจะขัดเคืองวิญญาณ์อัชฌาสัย | ||
จึ่งตรัสว่าแก้วตาจะคลาไคล | สำราญใจกลับมายังธานี ฯ | ||
๏ พระโคบุตรรับรสพจนารถ | กราบเบื้องบาทบงกชบทศรี | ||
ลูกไปลับคงจะกลับมาบุรี | ไม่ถึงปีอย่าอาลัยพระทัยปอง | ||
แล้วผินหน้ามาสั่งพระน้องรัก | อยู่ตำหนัีกเถิดเจ้าอย่าเศร้าหมอง | ||
พี่ไปแล้วคงจะกลับมารับน้อง | นวลละอองจงสุโขอย่าโศกา | ||
ทั้งพี่น้องร้องไห้วิ่งไปกอด | รำพันพลอดวิงวอนฉะอ้อนว่า | ||
จะไปไหนฉันจะไปด้วยพี่ยา | อย่าพักว่าเลยไม่อยู่ในบูรี ฯ | ||
๏ พระรับขวัญจูบน้องประคองชิด | ตามจริตทารกทั้งสามศรี | ||
อย่าไปเลยลำบากองค์ในพงพี | ล้วนเสือสีห์ผีสางกลางอารัญ | ||
มันเห็นใครใจอ่่อนมันหลอนหลอก | ไม่ดีดอกเจ้าอย่าไปในไพรสัณฑ์ | ||
ทำไมกับพี่มีมนต์ไม่กลัวมัน | จงครองกันอยู่เมืองอย่าเคืองระคาย ฯ | ||
๏ อย่าพักปดให้เหนื่อยปากไม่อยากเชื่อ | ถึงช้างเสือก็ไม่พรั่นเหมือนมั่นหมาย | ||
มิพาไปแล้วไม่ออกไปนอกกาย | จะกอดคอไว้จนตายไม่ปล่อยเลย ฯ | ||
๏ ดูดู๋ว่าแล้วยังไม่ฟังว่า | ทั้งข้าวปลาก็จะได้ที่ไหนเสวย | ||
ดวงมณีที่พี่ให้เอาไว้เชย | อย่าไปเลยโฉมตรูอยู่พารา | ||
ทั้งพี่น้องร้องไห้ไม่ฟังห้าม | ขืนจะตามไปหิมเวศด้วยเชษฐา | ||
พระโคบุตรสุดจนพ้นปัญญา | ทูลบิดาให้ห้ามเจ้าทรามวัย | ||
บิตุรงค์ทรงพระสรวลสำรวลร่า | ตามแต่เจ้าจะว่าอัชฌาสัย | ||
เมื่อพ่อแม่เขาไม่รักจะหักไป | แล้วภูวไนยเล้าโลมนางโฉมงาม | ||
อนุชาพ่อจงพาไปฝึกสอน | นางมณีสาครจะช่วยห้าม | ||
แล้วตรัสปลอบพระธิดาพะงางาม | แม่อย่าตามไปให้ยากลำบากกาย | ||
แม้นขุกเข็ญเป็นหญิงนี้ยากนัก | พระลูกรักพ่อว่าอย่าผันผาย | ||
พระอนุชาเขาเชื้อเนื้อว่าชาย | อันตรายโพยภัยเขาไม่มี ฯ | ||
๏ นางทรงฟังแค้นจิตบิตุเรศ | ชลเนตรไหลนองหม่นหมองศรี | ||
เจ้าหยิกข่วนเชษฐาไม่ปรานี | แล้วเข้าที่ไสยาโศกาลัย ฯ | ||
๏ พระโคบุตรสุริยาผวาวิ่ง | มาปลอบมิ่งสมรมิตรพิสมัย | ||
พี่เมตตาจึ่งไม่พาเจ้าเดินไพร | แม่ยังไม่เห็นดีเข้าตีรัน | ||
แต่น้องน้อยยังหน่วงเป็นห่วงนัก | พระทรงศักดิ์เธอจะให้ไปกับฉัน | ||
แม่จงฟังพี่ยาอย่าจาบัลย์ | จะเก็บพรรณบุปผาอัมพาพวง | ||
ที่หอมหวนงามหลากมาฝากแม่ | ห้อยพระแกลเล่นสะพรั่งในวังหลวง | ||
พงศ์กษัตริย์ตรัสล้อแล้วล่อลวง | สุดาดวงค่อยชื่นกลืนน้ำตา ฯ | ||
๏ พระจูงกรยุพยงอนงค์นาฏ | ยุรยาตรจากแท่นอันเลขา | ||
มาฝากองค์ทรงฤทธิ์พระบิดา | แล้วชวนพระอนุชามาสรงชล | ||
ในอ่างทองรองฝักปทุมมาศ | ดูสะอาดชลปรอยเป็นฝอยฝน | ||
น้ำกุหลาบอาบองค์สรงสุคนธ์ | ทรงเครื่่องต้นดูงามอร่ามพราย ฯ | ||
๏ สององค์ออกหน้าโถงพระโรงรัตน์ | หน่อกษัตริย์ทรงแท่นอันเรืองฉาย | ||
โองการสั่งอสุรีทั้งสี่นาย | จงผันผายไปสถานสำราญใจ | ||
แต่จงช่วยกรุณังระวังนิเวศน์ | ทั่วขอบเขตนครังทั้งน้อยใหญ่ | ||
พนาสูรทูลสนองให้ต้องใจ | ในกรุงไกรมิให้มีราคีพาน | ||
สิบห้าวันจะผลัดกันมาสืบข่าว | ให้สองท้าวปรีดิ์เปรมเกษมศานต์ | ||
แล้วกราบลาพี่น้องสองกุมาร | เหาะทะยานหมายมาพนาลี ฯ | ||
๏ พระโคบุตรสุริยาวราฤทธิ์ | สำราญจิตจากพระโรงอันเรืองศรี | ||
เจ้าอรุณสุริยวงศ์ทรงมณี | จรลีลอยลิ่วปลิวเมฆา | ||
ออกจากรุงมุ่งหมายเข้าไพรระหง | ทั้งสององค์ชมไม้ไพรพฤกษา | ||
พระเหาะเรียงเคียงชมยมนา | ลอยละลิ่วปลิวฟ้ารีบคลาไคล ฯ | ||
๏ พระสุริยงลงลับเหลี่ยมภูผา | พระจันทราส่องสว่างกระจ่างไข | ||
ทั้งสองชมจันทรานภาลัย | มาตามในแถวทางกลางอารัญ | ||
พระเหาะเรียงเคียงชมดาราราย | แสนสบายคลายทุกข์เกษมสันต์ | ||
ศิลาลายพรายเลื่อมด้วยแสงจันทร์ | ชี้ชวนกันทัศนาศิลาลัย ฯ | ||
๏ พระสุริยาฟ้าสางสว่างภพ | กระจ่างจบในป่าพฤกษาไสว | ||
ทั้งพี่น้องสองเหาะระเห็จไป | ถึงเขาใหญ่สูงเงื้อมตระหง่านครัน | ||
เป็นสี่เหลี่ยมสูงวิเวกเทียมเมฆมืด | ดูโยงยืดยาวใหญ่ในไพรสัณฑ์ | ||
เหมือนเมฆมืดเมฆาเมื่อสายัณห์ | พระชวนกันสององค์เดินตรงมา | ||
ครั้นถึงที่เขาใหญ่ในไพรสณฑ์ | แลเห็นต้นนารีผลบนเนินผา | ||
ล้วนคนธรรพ์นักสิทธ์วิทยา | เฝ้ารักษาแลล้อมอยู่พร้อมกัน | ||
ทั้งสององค์่ทรงแลไม่เคยเห็น | มุ่งเขม้นแล้วทรงพระสรวลสันต์ | ||
พระโคบุตรนึกอนาถประหลาดครัน | ต้นไม้นั้นแต่ล้วนนางสล้างไป | ||
ที่ใต้ต้นคนธรรพ์สะพรั่งอยู่ | พระน้องดูให้เห็นเล่นใกล้ใกล้ | ||
ว่าพลางทางชวนกันเหาะไป | สำราญใจชื่นจิตด้วยฤทธิรณ ฯ | ||
ตอนที่ ๔ โคบุตรรบวิชาธร ฆ่าทัศกัณฐมัจฉาตาย
๏ | |||
ตอนที่ ๕ ยักขินีพาโคบุตรเข้าเมืองเนรมิต
๏ | |||
ตอนที่ ๖ โคบุตรได้นกขุนทองแล้วเข้าเมืองกาหลง
๏ | |||
ตอนที่ ๗ นกขุนทองถือหนังสือถวายนางอำพันมาลา ธิดาท้าววิหลราช
๏ | |||
ตอนที่ ๘ โคบุตรได้นางอำพันมาลาเป็นชายา
๏ | |||
ตอนที่ ๙ โคบุตรพานางอำพันมาลาหนีไปเมืองพาราณสี
๏ | |||
ตอนที่ ๑๐ อภิเษกโคบุตรกับนางมณีสาครและนางอำพันมาลา
๏ | |||
ตอนที่ ๑๑ นางอำพันมาลาให้เถรกระอำทำเสน่ห์
๏ | |||
ตอนที่ ๑๒ พระอรุณมาเมืองปราการบรรพต จับเสน่ห์เถรกระอำ
๏ | |||
ตอนที่ ๑๓ โคบุตรปรึกษาโทษนางอำพันมาลา
๏ | |||
ตอนที่ ๑๔ ขับนางอำพันมาลาออกจากเมือง
๏ | |||