จาก ตู้หนังสือเรือนไทย
ข้อมูลเบื้องต้น
แม่แบบ:เรียงลำดับ
พระราชนิพนธ์: พระบาทสมเด็จพระพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
บทประพันธ์
ท้าวสันนุราชหานางผมหอม
|
ช้า
|
๏ มาจะกล่าวบทไป | | ถึงท้าวสันนุราชจอมกษัตริย์
|
เสวยราชย์ธานีบุรีรัตน์ | | กรุงพทธวิสัยสวรรยา
|
ท้าวมีอัคเรศมเหษี | | ชื่อคันธมาลีเสนหา
|
อยู่ด้วยกันแต่หนุ่มคุ้มชรา | | ชันษาหกสิบสี่ปีปลาย
|
หน้าพระทนต์บนล่างห่างหัก | | ดวงพระพักต์เหี่ยวเห็นเส้นสาย
|
เกศาพึ่งจะประปราย | | รูปกายชายจะพีมีเนื้อ
|
พระเสวยมื้อละชามสามเวลา | | ทรงกำลังวังชาประหลาดเหลือ
|
พอใจเกี้ยวผู้หญิงริงเรือ | | ผูกพันฟั่นเฝือไม่เบื่อใจ
|
ราวกับหนุ่มคลุ้มคลั่งนั่งบ่น | | จะหางามเล่นสักคนหนึ่งให้ได้
|
รำพึงคนึงคิดเปนนิจไป | | มิได้ว่างเว้นสักเวลา
|
ฯ ๑๐ คำ ฯ
|
|
|
ร่าย
|
๏ เมื่อจะมีเหตุเภทภัย | | ให้เร่าร้อนฤทัยเปนหนักหนา
|
จึงชวนกำนัลกัลยา | | ลงมายังที่ตำหนักแพ
|
ฯ ๒ คำ ฯ เพลง
|
|
|
๏ ท้าวเสด็จนั่งเหนือเรือบัลลังก์ | | สาวสนมกรมวังเซงแซ่
|
พระเอนอิงพิงพนักผันแปร | | เหลียวแลเห็นผะอบลอยมา
|
หยิบขึ้นเขม้นอยู่เปนครู่ | | เปิดดูก็เห็นเส้นเกศา
|
หอมกลิ่นรวยรื่นชื่นวิญญา | | พระนิ่งนึกตรึกตราในอารมณ์
|
ผมนี้ดีร้ายนางสาวน้อย | | แกล้งลอยหาคู่สู่สม
|
ชะรอยบุญเราเคยได้เชยชม | | จึงพบผะอบผมกัลยา
|
ฉุนคิดเคลิ้มคลั่งขึ้นทั้งแก่ | | กะสันเสียวเหลียวแลชำเลืองหา
|
เห็นนางพนักงานคลานเข้ามา | | ยิ้มแย้มพยักหน้าว่านงลักษณ์
|
ค่อยขยดลดองค์ลงนั่งใกล้ | | เห็นมิใช่ผุดลุกขึ้นกุกกัก
|
ดูนางห้ามแหนยิ่งแค้นนัก | | ให้ละล่ำละลักลืมองค์
|
ท้าวกอดผะอบทองประคองไว้ | | มิได้ชำระสระสรง
|
ขึ้นจากเรือสุวรรณ์บรรจง | | เสด็จตรงมายังวังใน
|
ฯ ๑๒ คำ ฯ เชิด
|
|
|
๏ ครั้นถึงจึงเข้าไปในห้อง | | ขึ้นบนแท่นทองผ่องใส
|
กอดผะอบประทับกับทรวงไว้ | | ถอนฤทัยครวญคร่ำรำพรรณ์
|
ฯ ๒ คำ ฯ
|
|
|
โอ้ช้า
|
๏ โอ้ว่านวลน้องเจ้าของผม | | ถ้าได้ชมจะถนอมเปนจอมขวัญ
|
เกศาหอมฟุ้งดังปรุงจันทน์ | | จะทรงโฉมโนมพรรณ์ฉันใด
|
ทรวดทรงสูงต่ำดำขาว | | ชันษาแก่สาวสักคราวไหน
|
แม้นรู้ว่าอยู่บุรีใด | | พี่จะไปติดตามเจ้าทรามชม
|
ถึงจะเปนกระไรก็ไม่ว่า | | แต่ให้ได้เห็นหน้าเจ้าของผม
|
คิดละห้อยละเหี่ยเสียอารมณ์ | | ร้องไห้ร้องห่มไม่สมประดี
|
ฯ ๖ คำ ฯ โอด
|
|
|
ร่าย
|
๏ เมื่อนั้น | | นางคันธมาลีมเหษี
|
เห็นพระพร่ำกำสรดโศกี | | จึงเข้าไปในที่บรรธม
|
แล้วนางทูลทัดภัศดา | | พระอย่าโศกเศร้าด้วยเผ้าผม
|
จงคิดรั้งรักหักอารมณ์ | | แม้นเคยคู่สู่สมไม่คลาศแคล้ว
|
หยุดยั้งตั้งสติตริตรอง | | ดับความมัวหมองให้ผ่องแผ้ว
|
ทรงพระชราหนักหนาแล้ว | | ทูลกระหม่อมเมียแก้วจงหักใจ
|
ฯ ๖ คำ ฯ
|
|
|
๏ เมื่อนั้น | | ท้าวสันนุราชเคลิ้มองค์หลงไหล
|
เห็นเมียมาเซ้าซี้พิรี้พิไร | | ขัดใจเกรี้ยวกราดตวาดอึง
|
ดูดู๋ทำราวกับสาวแส้ | | ไม่เจียมตัวว่าแก่สักนิดหนึ่ง
|
แกล้งมานั่งเฝ้าพเน้าพนึง | | จะคอยหึงษ์หวงข้าฤๅว่าไร
|
ฉวยพระขรรค์งันงกกะปลกกะเปลี้ย | | พิโรธโกรธเมียดังเพลิงไหม้
|
สดุดโดนสาวสรรค์กำนัลใน | | แล่นไล่ลุกล้มไม่สมประดี
|
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
|
|
|
๏ เมื่อนั้น | | องค์อัครชายามารศรี
|
ความกลัวอาญาพระสามี | | วิ่งหนีไปซ่อนซอนซุก
|
เหล่าพวกสาวสรรค์กำนัลนาง | | วิ่งวางวนเวียนจนเจียนจุก
|
บ้างเข้าแฝงม่านคลานคลุก | | บ้างลุกแอบเตียงเมียงมอง
|
ฯ ๔ คำ ฯ
|
|
|
๏ เมื่อนั้น | | ท้าวสันนุราชยิ่งเศร้าหมอง
|
แสนคนึงถึงเจ้าผะอบทอง | | เสด็จตรงออกท้องพระโรงไชย
|
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
|
|
|
ช้า
|
๏ ลดองค์ลงนั่งเหนืออาศน์ | | พรั่งพร้อมอำมาตย์น้อยใหญ่
|
จึงตรัสสั่งมหาเสนาใน | | เร่งไปร้องป่าวชาวพารา
|
ผู้ใดใครรู้เห็นบ้าง | | ตำแหน่งนางผมหอมเสนหา
|
ถ้าแม้นนำไปได้นางมา | | เงินทองเสื้อผ้าจะรางวัล
|
ท้าเย่าเรือนไร่นาจะหาให้ | | ข้าไทชายหญิงทุกสิ่งสรรพ์
|
จงเร่งรีบรัดจัดกัน | | ไปป่าวร้องให้ทันวันนี้
|
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
|
|
|
ร่าย
|
๏ บัดนั้น | | อำมาตย์รับสั่งใส่เกศี
|
ออกมาเกณฑ์กันทันที | | เสนีตีฆ้องร้องป่าวไป
|
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
|
|
|
๏ บัดนั้น | | ฝ่ายเถ้าทัศประสาทชาติไพร่
|
ฟังเสียงร้องป่าวก็เข้าใจ | | นึกได้ลูกสาวของเจ้านาย
|
ผมหอมปรากฏรสเร้า | | จะนำเขาไปพามาถวาย
|
กูจะได้พึ่งบุญเปนคุณยาย | | คิดแล้วเดินชายมาถามทัก
|
ท่านขามานี่จะบอกเล่า | | นางผมหอมข้าเจ้านี้รู้จัก
|
รูปโฉมโนมพรรณ์ขยันนัก | | จะอาสาทรงศักดิ์ไปพามา
|
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
|
|
|
๏ บัดนั้น | | เสนีถามซักเปนหนักหนา
|
เห็นถ้อยยำคำมั่นสัญญา | | ก็รีบพายายเถ้าเข้าวังใน
|
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
|
|
|
๏ ครั้นถึงจึงคลานเข้าไปเฝ้า | | ก้มเกล้าทูลแจ้งแถลงไข
|
ยายเถ้ารับคำจะนำไป | | ว่าได้รู้จักนางเทวี
|
เปนลูกสาวท่านท้าวพรหมจักร | | ปิ่นปักจันทราบุริศรี
|
แต่เมืองนั้นพลไพร่ไม่มี | | นกอินทรีย์กินตายเสียก่ายกอง
|
ที่ในวังยังแต่นางผมหอม | | งามพร้อมสารพัดไม่ขัดข้อง
|
บิดาซ่อนนางไว้ที่ในกลอง | | จงทราบลอองพระบาทา
|
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
|
| | |
|
๏ เมื่อนั้น | | ท้าวสันนุราชสำรวลร่า
|
ชื่นชมสมถวิลจินดา | | ดังได้เห็นหน้านางนงเยาว์
|
จึงตรัสว่าถ้าสมคะเนนึก | | อึกกระทึกใจหายแล้วยายเถ้า
|
มั่งมีดีกว่าค้าตะเภา | | ทุกข์ร้อนอะไรเล่ากับเงินทอง
|
ยายจะเอาอะไรไปบ้าง | | ท่าทางกันดารบ้านช่อง
|
เร่งรีบคลาไคลดังใจปอง | | ให้ได้นางในกลองกลับมา
|
ฯ ๖ คำ ฯ
|
|
|
๏ บัดนั้น | | ยายเถ้าทูลพลันด้วยหรรษา
|
จะเอาเรือเอกไชยไคลคลา | | ไปรับกัลยามากรุงไกร
|
ฯ ๒ คำ ฯ
|
|
|
๏ เมื่อนั้น | | ท้าวสันนุราชเปนใหญ่
|
ได้ฟังจึงสั่งเสนาใน | | จงจัดเรือเอกไชยฉับพลัน
|
เกณฑ์ยกสำรับใหญ่ใส่ให้เต็ม | | เลือกล้วนแต่เล่มคอนขยัน
|
เรือนำเรือตามจงครามครัน | | ให้ทันแต่ในเวลานี้
|
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
|
|
|
๏ บัดนั้น | | เสนารับสั่งใส่เกศี
|
ออกจากวังวิ่งเปนสิงคลี | | จัดเรือตามมีพระบัญชา
|
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
|
|
|
๏ บัดนั้น | | ยายเถ้าทำประหนึ่งกิ้งก่า
|
ขึ้นขี่แคร่คานหามคนตามมา | | ประตูดินตีนท่าหน้าตะพาน
|
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
|
|
|
๏ ลงนั่งยังเรือเอกไชย | | พลพายนายไพร่อลหม่าน
|
ออกเรือพร้อมกันมิทันนาน | | ร้องขานโยนยาวฉาวมา
|
ฯ ๒ คำ ฯ เห่เรือ เชิด
|
|
|
๏ ผ่อนพักพลพายมาหลายแห่ง | | น้ำเชี่ยวเรี่ยวแรงหนักหนา
|
สิบห้าวันถึงจันทบุรา | | ประทับท่าที่ท้ายเวียงไชย
|
จึงสั่งผู้คนพลพาย | | ทั้งไพร่นายอย่าเที่ยวไปข้างไหน
|
แต่ตัวของเราจะเข้าไป | | สมคะเนเมื่อไรจะกลับมา
|
สั่งแล้วเข้าสู่พระบูรี | | พรั่นตัวกลัวผีเปนหนักหนา
|
เห็นกระดูกเกลื่อนกลาดดาษดา | | รีบเดินภาวนาเข้าในวัง
|
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
|
|
|
๏ ครั้นถึงจึงขึ้นปราสาททอง | | เมียงมองลับล่อแล้วถอยหลัง
|
เสียงคนพูดอยู่เงี่ยหูฟัง | | ทรุดนั่งแอบประตูดูท่วงที
|
ฯ ๒ คำ ฯ
|
|
|
ช้า
|
๏ เมื่อนั้น | | โฉมนางจันท์สุดามารศรี
|
สมสู่อยู่ด้วยพระคาวี | | เปรมปรีดิ์ประดิพัทธ์กำหนัดใน
|
หยอกเย้ายิ้มแย้มแกมกล | | จะระคายผู้คนก็หาไม่
|
สงัดเงียบเซียบเสียงทั้งเวียงไชย | | สำราญใจอยู่ในห้องสองคน
|
ฯ ๔ คำ ฯ
|
|
|
ร่าย
|
๏ บัดนั้น | | ยายเถ้าเพ่งพิศคิดฉงน
|
ชายนี้ทีท่วงชอบกล | | เห็นจะไม่ใช่คนต่ำช้า
|
ใส่เครื่องประดับองค์ทรงพระขรรค์ | | รูปโฉมโนมพรรณ์งามหนักหนา
|
ต่อจะเปนลูกเต้าท้าวพระยา | | จันท์สุดาจึงปลงลงใจ
|
กูคิดไว้ไม่สมอารมณ์คิด | | จะลงล้างชีวิตเสียให้ได้
|
แต่องค์กัลยาจะพาไป | | ทูลถวายท้าวไทเอารางวัล
|
คิดพลางทางคลานเข้าไปหา | | ทำทีกิริยาโศกศัลย์
|
ก้มกราบบาทาสุดาจันท์ | | แล้วตีอกงกงันร่ำไร
|
ฯ ๘ คำ ฯ
|
|
|
๏ เมื่อนั้น | | โฉมตรูดูยายก็จำได้
|
เปนข้าเก่าเจ้าเคยช่วงใช้ | | จึงพูดจาปราไสด้วยเมตตา
|
ยายหนีนกอินทรีย์ไปช้านาน | | ลูกหลานอยู่ไหนไม่เห็นหน้า
|
ฤๅนกมันกินสิ้นชีวา | | เออตาผัวอยู่ดอกฤๅยาย
|
ฯ ๔ คำ ฯ
|
|
|
๏ บัดนั้น | | ยายเถ้ากล่าวเกลี้ยงเบี่ยงบ่าย
|
ลูกหลานกระจัดพลัดพราย | | ท่านตาก็ตายแต่คราวนั้น
|
ข้าไปอยู่เถื่อนถ้ำลำบาก | | จึงพ้นปากปักษาไม่อาสัญ
|
ได้ยินเหล่าชาวป่าพูดจากัน | | ว่าแม่จันท์สุดาได้สามี
|
ข้าสู้ดั้นด้นมาจนถึง | | จะอยู่พึ่งบุญทั้งสองศรี
|
ยังพรั่นตัวกลัวแต่นกอินทรีย์ | | มันมานี่ฤๅไม่เยาวมาลย์
|
ฯ ๖ คำ ฯ
|
|
|
๏ เมื่อนั้น | | โฉมจันท์สุดาจึงว่าขาน
|
ผัวข้ามาล้างมันวายปราณ | | หายมาช้านานจนปานนี้
|
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
|
|
|
๏ บัดนั้น | | ยายเถ้าทำเปนเกษมศรี
|
จึงว่าแม่คุณบุญสิ้นที | | ได้สามีเรืองอิทธิฤทธา
|
งามทั้งรูปโฉมโนมพรรณ์ | | น่าชมสมกันหนักหนา
|
สมคิดของยายที่หมายมา | | จะอยู่กับกัลยาเปนข้าไท
|
แล้วทำท่วงทีกะปรี้กะเปร่า | | ตักน้ำตำเข้าเอาใจใส่
|
ครั้นสองเจ้าเข้าที่บรรธรมใน | | ยายไปปฏิบัติพัดวี
|
ฯ ๖ คำ ฯ ตระ
|
|
|
๏ เห็นพระราชานิทราสนิท | | นั่งพินิจพิศดูถ้วนถี่
|
ผิดกับกษัตราทุกธานี | | ขัดพระขรรค์เข้าที่บรรธมใน
|
คิดพะวงสงสัยอย่างไรอยู่ | | จะล่อลวงถามดูให้จงได้
|
ครั้นรุ่งรางส่างแสงอโณทัย | | ยายเถ้าเข้าไปอยู่ในครัว
|
จันท์สุดามาทำเครื่องเสวย | | ตามเคยจัดแจงแต่งให้ผัว
|
ยายเข้าเมียงหมอบยอบตัว | | แล้วว่าแม่ทูลหัวอย่าไว้ใจ
|
อันองค์ภัศดาสามี | | เห็นทีหาซื่อต่อแม่ไม่
|
เหน็บพระขรรค์บรรธมทุกคืนไป | | น่าจะแหนงแคลงฤทัยเทวี
|
แม่จงถามไถ่ให้ประจักษ์ | | ถ้าท้าวรักก็จะแจ้งถ้วนถี่
|
แม้นมิบอกออกความลับลี้ | | นานไปจะหนีแม่มั่นคง
|
ฯ ๑๐ คำ ฯ
|
|
|
๏ เมื่อนั้น | | จันท์สุดาพาซื่อลุ่มหลง
|
สำคัญมั่นหมายว่ายายตรง | | โฉมยงเห็นชอบก็ตอบไป
|
จริงอยู่ยายว่าข้านึกพรั่น | | ขัดพระขรรค์ติดองค์น่าสงสัย
|
จะทูลถามทรงศักดิ์ซักไซ้ | | ให้ได้ความขำสำคัญ
|
ว่าพลางนางเข้าไปในที่ | | ปรนนิบัติพัดวีให้ผัวขวัญ
|
ทำทีทอดสนิทติดพัน | | นวดฟั้นนั่งแนบแอบอิง
|
สัพยอกหยอกเย้าแย้มสรวล | | ชักชวนพูดจามารยาหญิง
|
ได้ช่องก็ฉะอ้อนวอนวิง | | ทูลถามความจริงภูวไนย
|
น้องนึกกินแหนงแคลงจิตต์ | | พระขรรค์ของทรงฤทธิเปนไฉน
|
มิได้ละวางให้ห่างไกล | | ฤๅว่าไม่ไว้ใจน้อง
|
ฯ ๑๐ คำ ฯ
|
| | |
|
ท้าวสันนุราชชุบตัว
นางคันธมาลีขึ้นเฝ้า
พระคาวีรบกับไวยทัต
เพลงยาวชมพระราชนิพนธ์
เชิงอรรถ
ที่มา
บทละครนอกเรื่อง คาวี สถาบันภาษาไทย กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ๒๕๔๐
( ขอขอบคุณ คุณโอม สมาชิก kaewkao.com ผู้พิมพ์เป็นวิทยาทาน )