ศึà¸à¸©à¸´à¸•
จาก ตู้หนังสือเรือนไทย
การปรับปรุง เมื่อ 06:32, 17 สิงหาคม 2552 โดย CrazyHOrse (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
เนื้อหา |
ข้อมูลเบื้องต้น
พระนิพนธ์: พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ
บทประพันธ์
ฉันพะวงสงสัยในใจฉัน | ได้บากบั่นเล่าเรียนเพียรหนักหนา | ||
คิดๆ ไปใจละเหี่ยเสียเวลา | เรียนวิชาไม่รู้ประตูจน | ||
อยากจะรู้ให้ตระหนักไม่ยักรู้ | ไม่เชิดชูปัญญาสถาผล | ||
ความรู้ขอข้อเดียวเกี่ยวกับตน | เป็นข้อต้นยิ่งใหญ่ในวิชา ฯ | ||
คือฉันอยากทราบมั่นว่าฉันนี้ | จะเรียกว่าผู้ที่มีศึกษา- | ||
ได้หรือยัง, หรือว่าหย่อนอ่อนวิชา | เบาปัญญาที่ตรงไหน, เหตุไรเบา. | ||
ฉันไม่รู้จึงจะใคร่รู้ให้แม่น | ฉันเป็น educated man ด้วยหรือเปล่า. | ||
ถ้าฉันเป็น, เป็นเพราะว่าวิชาเพรา | มีลาดเลาเป็นไฉนจะใคร่ฟัง. | ||
ถ้าไม่เป็น, คืออะไรทำให้เห็น | ว่าไม่เป็นผู้กล้าวิชาขลัง. | ||
การเคยเรียนเคยไล่ไม่อินัง | ใช่เครื่องสังเกตว่า “ศึกษา” มี. | ||
บางคนเรียนตั้งแต่เล็ก, เด็กจนหนุ่ม | เนาในขุมวิทยามีราศี | ||
อาบสิริแห่งยุนิเวอร์สิตี | บี.เอ็สซี., บี.เอ. เง้เข้าไว้. | ||
แต่ใช่ educated man แสนจะขัน | เขาว่าเป็นเช่นนั้นก็เป็นได้. | ||
นึกน่าแค้นแสนฉงนจนหทัย | จะถามใครก็ไม่บอกออกให้ชัด. | ||
ฉันมีภูมศึกษาหรือหาไม่ | เขาว่าใช่ฉันไม่เชื่อเหลือจะขัด | ||
เกรงว่าเขาพะเน้าพะนอยอตะพัด | เห็นถนัดไฉนว่าศึกษามฤต | ||
เขาคงคิดบิดตะกูดพูดขันๆ | เพื่อให้ฉันหลงนึกว่าศึกษิต | ||
ถ้าฉันมีปัญญาศึกษาธิตย์ | ฉันต้องคิดต้องเป็นคนเช่นใด ฯ | ||
ฉันพะวงสงสัยนัยฉนี้ | ไม่รู้ที่จะเสาะค้นในหนไหน | ||
ความเป็น educated man ใคร่แม่นใจ | ว่าอย่างไรกันแน่ไม่แปรปรวน ฯ | ||
วันหนึ่งฉันนั่งถือหนังสือพลิก | เหมือนกระดิกโปปั่นให้ผันผวน | ||
อาจแทง “สอง” ออก “ครบ” กินทบทวน | ตามขบวนโชคซึ่งสำนึงเคราะห์ | ||
แต่บางทีถูก “อ๋อ” ก็พอได้ | ถ้าโชคให้เคราะห์ดีมีมาเหมาะ | ||
อุปมาพลิกสมุดหยุดเฉพาะ | สิ่งไม่เสาะมาประสบอยู่ครบครัน ฯ | ||
ฉันนั่งพลิกเล่นๆ ใช่เฟ้นหา | เพอินมาพบเรื่องเฟื่องขยัน | ||
ในหนังสือชื่ออะไรไม่สำคัญ | เพราะชื่อมันเศร้าสัมผัสขัดตะแคง | ||
เขาว่า educated man แม้นกันหมด | มีกำหนดที่สังเกตหลายเลศแจ้ง | ||
เป็นหลักหกยกแยกขึ้นแจกแจง | เด่นสำแดงสารพรรณ์วรรณนา ฯ | ||
Tests of an Educated Man.
Language.
หลักที่ ๑ ศึกษิตวิทยาสาร | ย่อมชำนาญแนวนัยใช้ภาษา | ||
พูดก็เนียนเขียนก็แนบแบบวาจา | ไม่บอๆ บ้าๆ ภาษาคน ฯ | ||
Good Manners.
หลักที่ ๒ สทาจาร เป็นญาณยึด | ความประพฤติดีงามอร่ามผล | ||
จำนงมั่นจรรยาสง่าตน | ถ่องถกลความเป็นเย็นตละแมน ฯ | ||
Good Taste.
หลักที่ ๓ good taste มีเลศไข | (ถ้าแปลได้ตรงเผ็งก็เก่งแสน) | ||
กุสุมรส สดสอาดไม่ขาดแคลน | เปรียบเหมือนแว่นส่องสว่างกระจ่างแท้ ฯ | ||
Reflection.
หลักที่ ๔ รู้ตรองให้ถ่องเที่ยง | ทั้งความเอียงความตรงบงให้แน่ | ||
ความหุนหันพลันแล่นใช่แผนแด | มีเบาะแสฉันใดก็ไตร่ตรอง ฯ | ||
Growth.
หลักที่ ๕ งอไม่หยุด, ไม่สุดเติบ | เพียรกระเถิบสารพรรณ์มันสมอง | ||
รู้ไม่พออยู่เป็นนิตย์คิดจะลอง | ดำเนินคลองปัญญาวิชาการ ฯ | ||
Translation of Thought into Concise Action.
หลักที่ ๖ แปลความคิดประดิษฐ์ให้- | เป็นความทำขึ้นได้โดยนัยผสาน- | ||
ทั้งความรู้ความคิดพิสดาร | คิดไม่นานทำได้ดังใจคิด ฯ | ||
เขาว่าลักษณ์ทั้งหกยกเป็นหลัก | เพื่อประจักษ์ใจสำนึกเป็นศึกษิต | ||
educated man แสนโสภิต | ชวลิตปัญญาวิชาชาญ ฯ | ||
จริงฉนี้หรือไฉนฉันไม่แน่ | แต่จะแส่เสริมคารมผสมผสาน | ||
พยายามอธิบายหลายประการ | ให้ท่านอ่านเล่นๆ พอเป็นยา- | ||
นอนไม่หลับจับลองสองบันทัด | สมุดพลัดมือผลอยม่อยเจียวหนา | ||
จะรีบหลับจงรีบอ่านให้ผ่านตา | เป็นนิทรานุเคราะห์เหมาะจริงๆ | ||
ไม่ต้องใช้หยูกยาวิ่งหาหมอ | จะหลับฟ้อกรนฟี้ดีทุกสิ่ง | ||
นิทรารมณ์สมหทัยไม่ไหวติง | ทั้งชายหญิงหลับเถิดเกิดปัญญา ฯ | ||
Correct use of Language.
ที่ว่า educated man แสนประเสริฐ | มีข้อเชิดขึ้นชื่อคือภาษา | ||
ไม่โก๋ไก๋ไถลถลากจากตำรา | ใช้วาจาถูกต้องทำนองดี | ||
อันคำเขียนคำพูดที่ดูดดื่ม | ย่อมปลาบปลื้มใจประจักษ์เป็นศักดิ์ศรี | ||
ส่ำภาษาเส็งเคร็งเก็งให้ดี | คือเก็งที่จะไม่ใช้เมื่อไรเลย. | ||
มีภาษิตคำไทยว่าไว้เที่ยง | ว่า “สำเนียงส่อภาษา” เจ้าข้าเอ๋ย | ||
คำผิดๆ คิดขามเหมือนหนามเตย | อย่าเฉยเมยพึงระวังตั้งหทัย | ||
ภาษาเปรียบเทียบกล้องส่องความคิด | ภาพน้ำจิตอาจเห็นได้เด่นใส | ||
ถ้าเขียนพูดปูดเปื้อนเลอะเลือนไป | ก็น้ำใจฤๅจะแจ่มแอร่มฤทธิ์. | ||
เงาพระปรางวัดอรุณอรุณส่อง | งามผุดผ่องกว่าเงาแห่งเตาอิฐ | ||
ก็คำพูดนั้นเล่าเงาความคิด | เปรียบเหมือนพิศพักตร์ชะโงกกระโหลกทึก | ||
สำนวนเขียนขรุขระเหมือนมะกรูด | สำนวนพูดเครอะคระเหมือนมะอึก | ||
ผู้อ่านฟังทั้งสิ้นยินแล้วนึก | ว่าคนถึงปัญญาผ้าขี้ริ้ว ฯ | ||
Good Manners.
สทาจารดีงามมีความกว้าง | ใช่ท่าทางท่วงทีดีผิวผิว. | ||
มารยาตร์คลาศง่ายเหมือนฟ่ายปลิว | พอลมฉิวมาหน่อยก็ลอยไป | ||
มิใช่จรรยาดีที่เขาว่า | ซึ่งปลูกฝังฝั่งฝาที่อาไศรย. | ||
จรรยาดีมีธรรมค้ำหัวใจ | เกิดเป็นไพร่ฤๅผู้ดีมีสกุล | ||
ไม่สำคัญอันใดที่ในเผ่า | อาจเป็นเจ้าแต่ทว่าจรรยาสถุล | ||
กำเนิดไพร่ใจผู้ดีอาจมีบุญ | ธรรมเป็นทุนเทิดหน้าพาขึ้นไป ฯ | ||
ใครผู้ดีถอยหลังครั้งไหนแน่ | ถ้าย้อนแลนานนักก็มักไพร่ | ||
ท้าวแสนปมบรมบุราณ ณ กาลไกล | คนทำไร่ปลูกมะเขือเหลือจะโซม | ||
กลายเป็นต้นกอสกุลบุญประเสริฐ | ก่อกำเนิดอาธิปัตย์บรรทัดโถมน์ | ||
โรมูลัสขัติยวงศ์ธำรงโรม | หมาเป็นโยมอุปถากฟากนที | ||
ทารกน้อยลอยไปที่ในทึก | อันไหลลึกเร็ววนชลวิถี | ||
ร้องแว้ๆ แพพาลอยวารี | ไปเกยที่ฝั่งชลพ้นมรณา | ||
เพอินมีหมาป่าเวลาพลบ | มาประสบเสียงแว้จึงแม่หมา | ||
ให้กินนมสนมสนิทจิตเมตตา | พอให้ทารกฟื้นคืนกำลัง | ||
ต่อนั้นมามีชายนายฝูงแกะ | พาสัตว์และเล็มติณกินตามฝั่ง | ||
พบทารกฟกช้ำอยู่ลำพัง | ก็พายังที่อยู่เลี้ยงดูไว้ | ||
เกิดเป็นหน่อกอกษัตริย์อุบัติศักดิ์ | ธำรงรักษ์บ้านเมืองรุ่งเรืองได้ | ||
สร้างกรุงโรมโสมนัสดังฉัตรชัย | บำรุงไพร่ฟ้าเฟื่องกระเดื่องแดน ฯ | ||
จรรยางามความประพฤติยึดเป็นหลัก | ธรรมารักษ์ล้ำเลิศประเสริฐแสน | ||
สทาจารบานจิตไม่คิดแคลน | จึ่งจะแม่นมั่นว่าศึกษาลัย ฯ | ||
จรรยาใช่กิริยาทีท่าสวย | แต่ก็กิริยาด้วยที่ช่วยให้- | ||
เป็นผู้ดีโดยประพฤติยึดดีไว้ | แม้เป็นไพร่แต่ทว่าสาธุมาน | ||
ก็ย่อมเป็นผู้ดีที่พึงคบ | โดยเคารพจริยามหาสาร. | ||
เป็นผู้ดีโดยชาติปราศสทาจาร | คำบุราณไม่ว่าสาธุชน ฯ | ||
Good Taste.
อันคำว่า good taste มีเลศกว้าง | หาแบบอย่างเป็นแผนก็แสนขัน | ||
ผู้ไม่มี good taste สังเกตคน | ก็จำจนหฤทัยที่ไม่รู้ | ||
ผู้ bad taste เหตุแวดด้วย bad taste | น่าทุเรศที่มลักพวก “ลักขู” | ||
เพราะ taste ซึ่งสึงในใจดนู | ย่อมค้ำชูชนประเภท taste เดียวกัน ฯ | ||
คนไม่รู้ กุสุมรส ปรากฏจิต | คิดเช่นคิชฌ์กินควายแล้วผายผัน | ||
รสเข้าทิพย์สิปปรสย้อยหยดมัน- | ไม่หมายมั่นมโนรถว่ารถดี. | ||
ชาติปักษินกินศพกระหลบกลิ่น | กลบประทิ่นสุมนาน่าบัดสี | ||
เหมือนงิ้วบู๊ฉาบแตรแซ่เต็มที | ดนตรีมีสำเนียงเสียงกลบซอ ฯ | ||
กุสุมรสพรตประพฤติยึดในจิต | ในทางคิดทางทำนำยี่ห้อ | ||
สถุลรสปลดปลิดจิตชลอ | ให้ชูช่อศึกษิตสนิทเนา ฯ | ||
เราเห็นความงามดีอันมีกรอบ | เพราะใจชอบรู้เช่นเห็นเฉลา | ||
อยากรู้เช่นเห็นชอบระบอบเชาวน์ | ก็ต้องเอาหฤทัยใฝ่ฉนั้น | ||
สิ่งใดที่เราไม่สู้จะรู้จัก | สิ่งนั้นเราไม่รักสลักมั่น | ||
อยาก good taste ต้องแสวงในแหล่งมัน | ไม่ที่นั่นก็ไม่มีที่จะรู้ ฯ | ||
Reflection.
ความรู้สึก ตรึกตรอง ถ่องถนัด | ให้เห็นชัดช่องทางระหว่างผลู | ||
อะไรเหลวเหลวซามหรืองามตรู | จะราหูหรือจันทร์ก็มั่นใจ. | ||
Educated mind ท่านไขว่า | มีจินดาตรึกตรองอันผ่องใส. | ||
จิตผู้ไม่ศึกษิตผิดอย่างไร | ผิดที่ไม่รู้ถวิลจินตนา- | ||
ให้แม่นยำสดำเฉวียงเอียงหรือซื่อ | คมหรือดื้อแคบหรือกว้างบางหรือหนา | ||
จะรูปการสถานไหนก็ไตร่ตรา | จะทีท่าเป็นไฉนก็ไตร่ตรอง. | ||
อัน uneducated mind มิได้ยั้ง | ผิดหรือพลั้งแล่นโลดกระโดดคล่อง | ||
คิดขึ้นมาก็ทำโดยลำพอง | จะบกพร่องทางไหนมิได้นึก. | ||
“Angels fear to thread” เหตุญาณบอก | แม้ภายนอกแลดูไม่รู้สึก- | ||
ว่าพื้นเรียบอาจถล่มจมลงลึก | ใจได้ฝึกจึงระวังไม่พลั้งพลิก. | ||
ผู้ตรึกตรองถ่องแท้ไม่แร่วิ่ง | ไม่แน่จริงในใจไม่กระดิก | ||
ความรู้เก่าเอาสรุปอุปนิกข์ | เจตสิกส่อแถลงให้แจ้งชัด ฯ | ||
นี่เป็นลักษณะหนึ่งซึ่งส่อว่า | ความศึกษาประจำจิตไม่ติดขัด | ||
Growth.
Educated mind ในสันทัด | ปฏิบัติดีงามด้วยความตรอง ฯ | ||
อันความงอกของมนุษยืไม่ยุตติ | จะกล่าวความตามระบิก็ตรึกถอง | ||
ถ้าจะแยกความงอกบอกละบอง | ก็มีสองอยางซึ่งจะพึงปัน ฯ | ||
ทาง ๑ คืองอกกายขยายออก | ทาง ๒ งอกปัญญาปรีชาขยัน | ||
ความงอกกายงอกสมองเป็นสองอัน | ไม่เหมือนกันแตกต่างห่างกันไกล ฯ | ||
เจริญกายโตเติบกระเถิบออก | คือความงอกสริรร่างกว้างแลใหญ่ | ||
ทั้งไส้พุงตับปอดหลอดหัวใจ | พร้อมอวัยวะแผ่ทุกแง่กาย ฯ | ||
แต่ความงอกกายมนุษย์มีสุดยอด | หน่อยก็จอดอยู่กับที่ไม่มีขยาย | ||
แม้สาวหนุ่มกระชุ่มกระชวยสวยกรีดกราย | ก็หยุดผายแผ่งอกทั้งนอกใน ฯ | ||
ส่วนการงอกปัญญาสภาวะ | วัฒนะมันสมองส่องอาไศรย | ||
จะหยุดก่อนหรือหลังได้ดังใจ | บางคนวัยหงำหงอกงอกตะบึง. | ||
นี่พูดคนธรรมดาใช่บ้าใบ้ | หรือคนไม่เต็มบาทขาดสลึง | ||
มันสมองบางผู้ตะปูกรึง | งอกเพียงครึ่งเดียวหยุดสุดจะมึน | ||
แต่นั่นมักเป็นไปเพราะไข้เจ็บ | พยาธิ์เย็บยึดไว้มิให้ขึ้น | ||
โรคมันรั้งหยั่งลึกอย่างบึกบึน | ทื่อจนทึนทึกถมอยู่ซมซาน ฯ | ||
อันมนุษย์ธรรมดาสามัญญะ | สภาวะไม่บัญญัติจำกัดห้าม | ||
มิให้ปัญญางอกนอกโมงยาม | คำนวณตามพรรษาชนมายุส. | ||
ใช่ความงอกในสมองมีร่องคั่น | งอกเพียงนั้นตัดสินว่าสิ้นสุด | ||
อันความงอกปัญญาปาปะมุต | งอกไม่หยุดก็ได้ตามใจรัก. | ||
ถึงกายเก่าเฒ่าชราไม่ว่าดอก | ปัญญางอกงามได้เมื่อใจประจักษ์- | ||
ว่ายังไม่สิ้นสุดหยุดชงัก | ยังเพียรชักฉุดคร่าปัญญาเดิน ฯ | ||
เมื่อใดใครใจพรากความอยากรู้ | ไม่เสาะสู้แสวงหาปัญญาเหิน | ||
แม้ความรู้จะสลัวก็มัวเมิน | เหมือนดำเนินทอดน่องในห้องตัน ฯ | ||
เมื่อนั้นถึงที่สุดคือหยุดงอก | งอกไม่ออกเพราะสมองพร่องความขยัน | ||
พืชปัญญาตราตรองของสำคัญ | คือเยื่อมันแห่งสมองคลองเจริญ ฯ | ||
ผู้ศึกษิตคิดหาปัญญาเพิ่ม | ไม่เห่อเหิมใจโหดเกยโขดเขิน | ||
ปราศศึกษาวิชาพร่องก็หมองเมิน | ไม่เพลิดเพลินทางหาปัญญายง ฯ | ||
Power to Translated Thought into Concise Action.
วิชาแปลภาษาวิชายาก | รู้ไม่มากแปลไปก็ไผ่ผง | ||
ความเข้าใจต้นฉบับปรับไม่ตรง | เพราะหมายมุ่งเพียงแต่จะแปลเดา | ||
ฉันเคยเห็นคำแปลที่แส่คิด | วิปริตเวียนวนไปบนเขา | ||
วกลงห้วยเหวลหานลานลำเนา | แล้วไต่เต้าไปไหนก็ไม่รู้ | ||
เพราะอ่านความตามฉบับจับไม่มั่น | จะขืนคั้นคำแปลให้แฟ่ฟู่ | ||
วิธีเดินข้างๆ เหมือนอย่างปู | หน้าต้องอยู่ติดดินจนสิ้นใจ ฯ | ||
แต่การแปลภาษาแม้ว่ายาก | ยังลำบากน้อยดอกจะบอกให้ | ||
แปลความคิดเป็นความทำไม่พล้ำนัย | นั่นแหละไซร้ยากแท้แน่ทีเดียว. | ||
คนเกิดมาทั้งทีมีชีวิต | บ้างก็คิดเปรื่องปราดฉลาดเฉลียว | ||
บ้างปัญญาพัลวันกันเป็นเกลียว | บ้างก็เพรียวบ้างก็ทู่ประตูจน. | ||
ถ้าคิดแล้วทำได้ดังใจคิด | ไม่พลาดผิดปรวนเปรระเหระหน | ||
รู้จักปั้นรู้จักแต่งรู้แหล่งตน | นั่นคือคนรู้ประจักษ์ใช่หลักลอย. | ||
ชนผู้เขลาเบาวิชาบ้าความคิด | มักมีจิตเวียนวนเหมือนก้นหอย | ||
คิดก็คิดนุงถุงยุ่งเป็นปอย | ไม่ลงรอยเป็นเรื่องเครื่องจะเลอะ ฯ | ||
เขียนเท่านี้พอทีจะดีไหม | ถ้าเขียนไปนานนักชักจะเปรอะ | ||
จะชี้คำนำแนะยังแยะเยอะ | เท่านั้นเถอะเพียงนี้ดีกระมัง ฯ | ||
สรุปความตามนัยไขสังเขป | เหมือนวิเลปให้ลออในข้อหลัง. | ||
จารความรู้สู่ความทำ โดยลำพัง | แห่งกำลังปัญญาที่พาไป | ||
เป็นได้ด้วยผู้ศึกษิตคิดตรงเที่ยง | ไม่เฉลียงเลี้ยวรอบขอบอาไศรย | ||
ผู้ไม่เป็นศึกษิตคิดอะไร | มักไถลเวียนวกเข้ารกพง | ||
คนชนิดคิดรอบๆ ไม่รอบคอบ | จักประกอบการอะไรก็ไหลหลง | ||
เวียนรอบๆ ขอบชามไม่ข้ามวง | ความประสงค์ไม่สมอารมณ์ตน ฯ | ||
นี้หกข้อยอยกว่าหกหลัก | จักประจักษ์หรือยังยังฉงน | ||
ฉันนึกไม่แน่จิตต้องติดจน | ตั้งแต่ต้นจวบปลายเขาหมายความ | ||
จะถูกเที่ยงหรือไฉนฉันไม่ทราบ | เลอียดหยาบตามระบอบตอบคำถาม | ||
ถูกหรือไม่ไม่อุตส่าห์พยายาม | ฉันเวียนวนก้นชามตามปัญญา ฯ | ||
เชิงอรรถ
ที่มา
พระนิพนธ์บางเรื่อง น.ม.ส. จากหนังสือ น.ม.ส.อัจฉริยกวีรัตนโกสินทร์ สถาบันภาษาไทย กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๔๑
( ขอขอบคุณ คุณโอม สมาชิก kaewkao.com ผู้พิมพ์เป็นวิทยาทาน )