บทละครนà¸à¸à¹€à¸£à¸·à¹ˆà¸à¸‡à¸ªà¸±à¸‡à¸‚์ศิลป์ชัย
จาก ตู้หนังสือเรือนไทย
การปรับปรุง เมื่อ 09:26, 16 สิงหาคม 2552 โดย CrazyHOrse (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
เนื้อหา |
ข้อมูลเบื้องต้น
แม่แบบ:เรียงลำดับ พระราชนิพนธ์: พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
บทประพันธ์
ตอนที่ ๑ สังข์ศิลป์ชัยตกเหว
ช้า | |||
๏ เมื่อนั้น | ทั้งหกให้คิดริษยา | ||
ต่างซุบซิบกันจำนรรจา | ใครมีปัญญาจงเร่งคิด | ||
แม้นสังข์ศิลป์ชัยได้ไปเฝ้า | เห็นเราหกคนไม่พ้นผิด | ||
ขนมทำมาให้ใส่ยาพิษ | มันไม่กินเหมือนจิตที่คิดไว้ | ||
ฯ ๔ คำฯ | |||
ร่าย | |||
๏ ศรีสันท์จึงว่าไปทันที | วันนี้สิงหราหาอยู่ไม่ | ||
ไปเที่ยวหาอาหารที่ในไพร | ทิ้งสังข์ศิลป์ชัยไว้พลับพลา | ||
เราจะยียวนชักชวนมัน | ไปเก็บพรรณผลไม้บนภูผา | ||
ผลักให้ตกเหวมรณา | จึงกลับมาพาพระอาไป | ||
อันนางสุพรรเทวี | จะพันมือพี่ไปที่ไหน | ||
ต่างเห็นชอบชวนกันดีใจ | มาหาสังข์ศิลป์ชัยฉับพลัน | ||
ฯ ๖ คำฯ เพลง | |||
๏ ลูบหลังลูบหน้าแล้วพาที | เรานี้จะพากันผายผัน | ||
เก็บผลพฤกษาที่เขานั้น | มาให้สุพรรณกับพระอา | ||
ฯ ๒ คำฯ | |||
๏ เมื่อนั้น | พระสังข์ได้ฟังไม่กังขา | ||
รับคำทั้งหกพี่ยา | กราบบาทพระอาแล้วว่าไป | ||
ตัวหลานทั้งเจ็ดจะจรดล | ไปเก็บผลพฤกษาที่ใกล้ใกล้ | ||
ทั้งสององค์จงอยู่พลับพลาชัย | ประเดี๋ยวใจจะมาให้พร้อมกัน | ||
ว่าแล้วจัดแจงแต่งองค์ | พระหัตถ์ทรงสังข์ศรพระแสงขรรค์ | ||
ทั้งเจ็ดองค์ลงจากพลับพลาพลัน | เจ้าศรีสันท์นำหน้าคลาไคล | ||
ฯ ๖ คำฯ เชิด | |||
ชมดง | |||
๏ ชี้ชมรุกขชาติดาษเดียร | เต็งตะเคียนยางยูงสูงไสว | ||
มูกม่วงพวงผลแกว่งไกว | เฟื่องไฟไกรกร่างมะปรางปริง | ||
พระสังข์ศิลป์ชัยหาไม้ง่าม | สอยผลสุกห่ามทุกก้านกิ่ง | ||
ศรีสันท์ก้มเก็บก้อนดินทิ้ง | หล่นร่วงช่วงชิงกันไปมา | ||
บ้างชักเชือกเขาเถาวัลย์ | ขึ้นผูกพันกิ่งไทรสาขา | ||
ผลัดกันไกวเล่นเป็นชิงช้า | สรวลสันต์หรรษาสำราญใจ | ||
พากันท่องเที่ยวเลี้ยวลอด | เลียบขึ้นบนยอดเขาใหญ่ | ||
ต่างชวนพระสังข์ศิลป์ชัย | เล่นไล่ปิดตาหากัน | ||
ฯ ๘ คำฯ เพลงฉิ่ง | |||
ร่าย | |||
๏ เมื่อนั้น | ศรีสันท์แสนกลคนขยัน | ||
ทำมารยาว่าแก่พระสังข์พลัน | เจ้าถือศรพระขรรค์ไว้ทำไม | ||
เราจะวิ่งเต้นเล่นสนุก | ฉวยล้มลุกพลาดพลั้งไม่ยั้งได้ | ||
จะถูกเนื้อถูกตัวพี่กลัวไป | วางไว้เล่นแล้วจึงมาเอา | ||
ฯ ๔ คำฯ | |||
๏ เมื่อนั้น | พระสังข์ศิลป์ชัยไม่รู้เท่า | ||
วางพระขรรค์ศรไว้ด้วยใจเบา | ที่ริมเงื้อมเขาสำคัญตา | ||
แล้วจึงตามพี่ศรีสันท์ | ลดเลี้ยวไล่กันบนภูผา | ||
หยิกหยอกหลอกล้อกันไปมา | เกษมสันต์หรรษาทั้งเจ็ดองค์ | ||
ฯ ๔ คำฯ เพลงฉิ่ง | |||
๏ เมื่อนั้น | พระศรีสันท์ครั้นเห็นพระสังข์หลง | ||
พาเที่ยวเลี้ยวเลียบเวียนวง | พบเหวดังประสงค์จำนงนึก | ||
หยิบศิลามาทิ้งลงไปดู | เอียงหูคอยฟังไม่ดังกึก | ||
ชะโงกตามลงไปใจทึกทึก | แลลึกเป็นหมอกมืดมัว | ||
จึงร้องเรียกพระสังข์ศิลป์ชัย | มาดูเหวใหญ่มิใช่ชั่ว | ||
ว่าพลางพรั่งพร้อมเข้าล้อมตัว | อย่ากลัวเลยพี่อยู่นี่แล้ว | ||
ทำชี้โว้ชี้เว้ด้วยเล่ห์กล | ลางคนหลอกลวงว่าดวงแก้ว | ||
ตรงมือนั่นแน่แลแววแวว | เห็นแล้วหรือยังถอยหลังไย | ||
ต่างเข้ายืนเคียงเมียงเขม้น | ครั้งเห็นงวยงงหลงใหล | ||
จึงผลักพระสังข์ศิลป์ชัย | ตกลอยลงไปในเหวนั้น | ||
ฯ ๑๐ คำฯ เชิดฉิ่ง โอด | |||
๏ ต่างคนชื่นชมสมคะเน | หัวเราะร่าวฮาเฮเกษมสันต์ | ||
พากันวิ่งกลับมาฉับพลัน | หาศรพระขรรค์ที่วางไว้ | ||
ไม่พบเห็นเป็นอัศจรรย์จิต | ต่างคนต่างคิดสงสัย | ||
เถียงกันอื้ออึงคะนึงไป | เมื่อที่ทางจำได้แน่นอน | ||
หาพลางต่างโมโหพาโลกัน | คนนี้ว่าคนนั้นลักซ่อน | ||
ค้นทั้งสองข้างหนทางจร | ไม่ได้ศรพระขรรค์ก็เสียใจ | ||
ศรีสันท์จึงว่าแก่น้องยา | เรากลับไปพระอาจะถามไถ่ | ||
ใครอย่าบอกออกความทั้งนี้ไซร้ | ซักซ้อมพร้อมใจแล้วไคลคลา | ||
ฯ ๘ คำฯ เชิด | |||
๏ ครั้นถึงพระอาทำหน้าเศร้า | ก้มเกล้ากราบลงตรงหน้า | ||
มิได้แถลงแจ้งกิจจา | ทำก้มพักตร์โศกาสะอื้นไป | ||
ฯ ๒ คำฯ โอด | |||
๏ เมื่อนั้น | นางเกสรสุมณฑาศรีใส | ||
เห็นหกนัดดาโศกาลัย | หลากใจไต่ถามมิทันช้า | ||
เหตุผลอย่างไรไม่บอกแจ้ง | มาโศกศัลย์กันแสงไยนักหนา | ||
พระสังข์ไปไหนจึงไม่มา | จงแจ้งกิจจาอย่าโศกี | ||
ฯ ๔ คำฯ | |||
๏ เมื่อนั้น | ทั้งหกพี่น้องทำหมองศรี | ||
เช็ดน้ำตาพลางทางพาที | เมื่อตะกี้หลานพากันเที่ยวไป | ||
พระสังข์น้องรักเฝ้าชักชวน | รบกวนให้พาขึ้นเขาใหญ่ | ||
แล้ววิ่งเต้นเล่นแข็งสุดใจ | ห้ามไม่ฟังเลยนะพระอา | ||
ล้วนห้วยเหวเปลวปล่องทั้งสองข้าง | ข้าเดินนำทางไปข้างหน้า | ||
พระสังข์ตามหลังหลานมา | ประเดี๋ยวเหลียวหาก็หายไป | ||
ข้าทั้งหกคนเที่ยวค้นทั่ว | จะพบตัวน้องยาก็หาไม่ | ||
แม้ตกเหวเหล่านั้นเห็นบรรลัย | หรือจะเป็นกระไรไม่แจ้งการณ์ | ||
ฯ ๘ คำฯ เจรจา | |||
๏ เมื่อนั้น | นางเกสรสุมณฑาฟังว่าขาน | ||
ทั้งนางสุพรรณนงคราญ | ปิ้มปานชีวันจะบรรลัย | ||
ต่างตระหนกอกสั่นขวัญหาย | ฟูมฟายชลเนตรหลั่งไหล | ||
จึงว่าแก่นัดดายาใจ | ไปเล่นถึงไหนอย่างอำพราง | ||
จงพาอาไปเที่ยวค้นดู | เกลือกจะหลงอยู่ในป่ากว้าง | ||
แล้วลงจากพลับพลาทั้งสองนาง | ศรีสันท์นำทางจรจรัส | ||
ฯ ๖ฯ เพลง | |||
๏ เมื่อนั้น | ทั้งหกแสนกลคนขยัน | ||
ครั้นถึงคีรีที่สำคัญ | ทำโศกศัลย์ทูลองค์พระเจ้าอา | ||
พระสังข์ศิลป์ชัยมาสูญหาย | ที่ทางแคบเหวรายทั้งซ้ายขวา | ||
หลานทั้งหกทุกคนเที่ยวค้นหา | ที่เหล่านี้หนักหนาไม่พบพาน | ||
ฯ ๔ คำฯ เจรจา | |||
โอ้ร่าย | |||
๏ เมื่อนั้น | นางเกสรสุมณฑายิ่งสงสาร | ||
รุ่มร้อนหฤทัยดังไฟกาฬ | เยาวมาลย์ลดเลี้ยวเที่ยวมา | ||
ค่อยย่องเหยียบเลียบลัดไปนอกทาง | สองนางเรียกร้องแล้วมองหา | ||
ไม่ประสบพบองค์พระนัดดา | กัลยาครวญคร่ำร่ำไร | ||
โอ้ว่าพระสังข์ศิลป์ชัยเอ๋ย | ไม่มาหาอาเลยไปอยู่ไหน | ||
หรือว่าผีสางที่กลางไพร | ซ่อนพระสังข์ไว้กระมังนา | ||
ขอให้พบพานพระหลานรัก | จะบวงสรวงเซ่นวักให้หนักหนา | ||
ร่ำพลางนางทรงโศกา | ปิ้มว่าโฉมฉายจะวายปราณ | ||
ฯ ๘ คำฯ โอด | |||
ร่าย | |||
๏ เมื่อนั้น | เจ้าศรีสันทาจึงว่าขาน | ||
จะโศกศัลย์อยู่เห็นไม่เป็นการ | เราคิดอ่านแยกย้ายรายกัน | ||
เจ้าชาติจงไปด้วยพระอา | นางสุพรรณกับข้ามาผายผัน | ||
เจ้าทั้งสี่นี้แยกไปทางนั้น | ช่วยกันดั้นด้นคว้า | ||
และทำชะเง้อดูเงี่ยหูฟัง | เอ๊ะเสียงพระสังข์ร้องเรียกหา | ||
ออกชื่อเจ้าสุพรรณกัลยา | เร็วเถิดอย่าช้ามาจะไป | ||
ฯ ๖ คำฯ เจรจา | |||
๏ เมื่อนั้น | นางสุพรรณยินดีจะมีไหน | ||
จะใคร่พบพระสังข์ศิลป์ชัย | ก็เดินตามไปไม่คิดแคลง | ||
ฯ ๒ คำฯ เพลง | |||
๏ เมื่อนั้น | ศรีสันท์ทำเที่ยวเสาะแสวง | ||
นำนางดำเนินคว้างแคว้ง | พาลัดแลงไปให้ไกลอา | ||
เห็นที่สุมทุมพุ่มไม้ | ก็เข้าไปนั่งลงแล้วร้องว่า | ||
หยุดนั่งนี่ก่อนเถิดกัลยา | จะได้ปรึกษาหารีอกัน | ||
ฯ ๔ คำฯ | |||
๏ เมื่อนั้น | นางสุพรรณไม่รังเกียจเดียดฉันท์ | ||
คิดว่าเป็นวงศ์พงศ์พันธุ์ | ก็ไปนั่งลงพลันทันที | ||
จึงว่าหยุดไยให้เนิ่นช้า | เหน็ดเหนื่อยหนักหนาเจียวหรือพี่ | ||
รีบไปให้พบเสียเดี๋ยวนี้ | ช้านักชนนีจะคอยเรา | ||
ฯ ๔ คำฯ | |||
๏ เมื่อนั้น | ศรีสันท์แสนกลร่ายมนต์เป่า | ||
ยิ้มแย้มพูดจาคิ้วตาเพรา | นี่แน่เจ้าจะว่าให้ดีเจียว | ||
ฯ ๒ คำฯ | |||
ชาตรี | |||
๏ ปลื้มเอยปลื้มจิต | แม่อย่าคิดเคืองขุ่นฉุนเฉียว | ||
พี่ยังเกรงกริ่งอยู่สิ่งเดียว | จะให้เที่ยวเหนื่อยเปล่าไม่เข้ายา | ||
อันพระสังข์แม้นว่าข้าหาได้ | สินจ้างจะให้อะไรข้า | ||
ถ้าพี่ได้สมจิตที่คิดมา | จะอุตส่าห์เที่ยวค้นจนสิ้นแรง | ||
อันความที่พี่รักเจ้าหนักหนา | จริงจริงนะน้องอย่ากินแหนง | ||
เรามานี่ที่ทางก็ลับแลง | พอเป็นพักเป็นแรงจึงค่อยไป | ||
พลางขยดเข้าชิดสะกิดหลัง | จะปรานีพี่มั่งหรือหาไม่ | ||
ทำและเลียมถูกต้องลองใจ | เจ้าถอยหนีพี่ใยกัลยา | ||
ฯ ๘ คำฯ | |||
ร่าย | |||
๏ เมื่อนั้น | นางสุพรรณเคืองแค้นเป็นหนักหนา | ||
ลุกยืนขึ้นเสียงมิได้ช้า | แล้วว่าดูดู๋พี่เช่นนี้เจียว | ||
ว่าจะพาเที่ยวหาสังข์ศิลป์ชัย | ลวงให้ตามมาถึงป่าเปลี่ยว | ||
ช่างสับปลับอย่างนี้ทีเดียว | ด้านหน้ามาเกี้ยวไม่อายใจ | ||
พาซื่อลือจิตคิดว่าพี่ | ธรรมเนียมมันมีอยู่ที่ไหน | ||
ได้เห็นกันสินะไม่ละใคร | กลับไปจะทูลพระมารดา | ||
ฯ ๖ คำฯ | |||
โอ้โลม | |||
๏ น้องเอยน้องรัก | สุดที่พี่จะหักเสน่หา | ||
เมื่อมาแต่หนุ่มสาวสองรา | ในกลางป่าค่าไม้เช่นนี้ | ||
ถ้าเจ้ามิหย่อนผ่อนปรน | ใช่ว่านฤมลจะพ้นพี่ | ||
จงคิดชั่งใจดูให้ดี | ไม่พอที่จะโกรธขึ้งตึงตัง | ||
ถึงเจ้าจะว่าให้อารู้ | จะโบยตีพี่สู้เสียหลัง | ||
ตายไหนตายไปคงไม่ฟัง | เอ็นดูพี่มั่งเถิดแก้วตา | ||
อันพี่น้องครองกันแลยั่งยืน | ไม่เสียเรือนผู้อื่นดีหนักหนา | ||
ว่าพลางเข้าใกล้ไขว่คว้า | อุ่ยหน้าอย่าหยิกจะป่วยไป | ||
ฯ ๘ คำฯ | |||
โอ้โลม | |||
๏ แสนเอยแสนแขนง | อย่าพักก่นกรรแสงเสียงแจ้ว | ||
อันเจ้าจะพ้นมือพี่ไม่มีแวว | เม้นคลาดแคล้วไปได้มิใช่มือ | ||
พี่ง้องอนวอนว่าแต่โดยดี | ไม่พอที่โกรธขึ้งอึงอื้อ | ||
เพราะรักเจ้าหนักหนาจึงคร่ายื้อ | ควรหรือแก้วตาไม่ปรานี | ||
จะมิให้ยืดไว้อย่างไรเล่า | เมื่อเจ้าคอยแต่จะวิ่งหนี | ||
น่าชังดูเอาเฝ้าหยิกตี | จะถูกนิดก็มีแต่ฮึดฮัด | ||
เป็นไรเป็นไปไม่ฟังกัน | จะประชันเรี่ยวแรงที่แข็งขัด | ||
ว่าพลางสวมสอดกอดรัด | นางสะบัดหนีได้ไล่ตามมา | ||
ฯ ๘ คำฯ เชิด | |||
ร่าย | |||
๏ เมื่อนั้น | นางเกสรสุมณฑาจึงร้องว่า | ||
เป็นเจ้าสุพรรณกัลยา | จึงร้องอึมาด้วยอันใด | ||
ฯ ๒ คำฯ เจรจา | |||
๏ เมื่อนั้น | นางสุพรรณทูลแข้งแถลงไข | ||
อ้ายศรีสันท์มันพาข้าไป | ถึงพุ่มไม้ที่เปลี่ยวก็เกี้ยวพาน | ||
ลูกแค้นขัดใจจะกลับมา | มันกั้นหน้าคร่ายื้อหักหาญ | ||
ข้าสะบัดวิ่งหนีตะลีตะลาน | อ้ายหน้าด้านจัญไรมันไล่มา | ||
ฯ ๔ คำฯ | |||
๏ เมื่อนั้น | ศรีสันท์ขึ้นเสียงเถียงต่อหน้า | ||
ดูเถิดเจ้าสุพรรณช่างพูดจา | แกล้งพาโลข้าว่าคร่ายื้อ | ||
เมื่อไรข้าได้ทำเช่นนั้น | มาล้วงตะกั่วกันเดี๋ยวนี้หรือ | ||
เจ้าสิสันทัดได้หัดปรีอ | ข้าคนซื่อเช่นนี้ยังมิเคย | ||
ไม่ได้เกี้ยวสักคำทำสักนิด | พาลผิดเปล่าเปล่าแม่เจ้าเอ๋ย | ||
รู้กระนี้ไม่ไปด้วยใครเลย | จะนั่งเฉยอยู่นี่มิดีเจียว | ||
ว่าข้าไล่มาใครอย่าเชื่อ | เพราะเห็นเสือตกใจวิ่งไม่เหลียว | ||
เอออะไรช่างปดลดเลี้ยว | อย่าเชื่อนางข้างเดียววพระเจ้าอา | ||
ฯ ๘ คำฯ | |||
๏ เมื่อนั้น | นางสุพรรณตอบพลางทางชี้หน้า | ||
ชะเจ้าคนดีศรีสันทา | ยังว่าไม่รับสับปลับจริง | ||
พูดเลียบเปรียบเปรยถึงลูกผัว | ด้านหน้าแก้ตัวไปทุกสิ่ง | ||
แต่แรกเจ้าง้องอนวอนวิง | อ้อยอิ่งเซ้าซี้พิรี้พิไร | ||
ไม่คิดอายผีสางที่กลางดง | แทบจะก้มหัวลงกราบไหว้ | ||
ครั้นเขาไม่ลุ่มหลงปลงใจ | เข้าไล่ฉวยฉุดยุดยื้อ | ||
จะหยิกข่วนเท่าไรก็ไม่เจ็บ | นั่นมิใช่รอยเล็บของกูหรือ | ||
ดูเถิดที่ต้นคอกับข้อมือ | ยังจะดื้อเถียงได้ไม่อายเลย | ||
ฯ ๘ คำฯ | |||
๏ เมื่อนั้น | เจ้าศรีสันทาทำหน้าเฉย | ||
เมียงเมินหัวเราะเยาะเย้ย | เจ้าข้าเอ๋ยนางนี้ขี้พาโล | ||
ค้าคารมลมเติบสุดใจ | เห็นเขาเกรงผู้ใหญ่ไม่ตอบโต้ | ||
ครั้นว่าบ้างขัดใจร้องไห้โฮ | มีแต่โมโหไปข้างเดียว | ||
เมื่อข้าสาละวนจะด้นป่า | ค้นคว้าหาน้องท่องเที่ยว | ||
อุตส่าห์บุกเข้าไปในรกเรี้ยว | หนามเกี่ยวเป็นแผลไปทั้งตัว | ||
ชะช่างว่าข่วนล้วนรอยเล็บ | เลือกเก็บเอามาว่าพอหน้าชั่ว | ||
แต่เช่าเจ้ากระนี้มิอยากกลัว | ถ้าตัวต่อตัวมิพ้นไป | ||
ยังกลับมาประกวดอวดแรง | ว่าข้าฉุดยุดแย่งเจ้าไม่ไหว | ||
มาลองดูเดี๋ยวนี้ก็เป็นไร | ใครจะแรงกว่าใครให้เอาดู | ||
จะถุ้งเถียงกันไปไม่ได้ข้อ | เขาจะหัวร่อน่าอดสู | ||
คำบุรานท่านว่าไว้เป็นครู | ใครไขหูอดได้ก็ได้บุญ | ||
ฯ ๑๒ คำฯ เจรจา | |||
๏ เมื่อนั้น | นางเกสรสุมณฑาก็เคืองขุ่น | ||
จึงว่าไอ้เจ้าเล่ห์เนรคุณ | ทุจริตคิดวุ่นไปโดยพาล | ||
มิใช่ว่ากูไม่รู้เท่า | พูดแก้เปล่าเปล่าอ้ายหน้าด้าน | ||
มึงเถียงได้ด้วยไม่มีพยาน | ทำหักหาญเห็นว่าข้ากลัวเกรง | ||
เหตุเพราะนัดดากูสูญหาย | จึงจ้วงจาบหยาบคายข่มเหง | ||
ชวนทะเลาะเกาะแกะครื้นเครง | ฝากไว้เถิดเอ็งเป็นไรมี | ||
ฯ ๖ คำฯ | |||
๏ เมื่อนั้น | ศรีสันท์บ่นเถียงเสียงอู้อี้ | ||
ส่วนนางสุพรรณกระนั้นดี | คนอื่นแล้วมีแต่ไม่จริง | ||
เอออะไรนี่พอทีหรือ | เป็นเคราะห์เพราะซื่อต่อผู้หญิง | ||
ท่านลงโทษโกรธขึ้งชังชิง | ถ้าเป็นจริงเหมือนว่าน่าเกิดความ | ||
แม้นสังข์ศิลป์ชัยไม่สูญหาย | เห็นจะขายเราแน่ไม่พักถาม | ||
แกล้งพูดเปรยเย้ยเยาะลวนลาม | บ่นบ้าไปตามอำเภอใจ | ||
ฯ ๖ คำฯ | |||
๏ เมื่อนั้น | เจ้าทั้งห้าคนคิดแก้ไข | ||
กราบบาทพระอาแล้วว่าไป | พี่ศรีสันท์นี้ใจมุทะลุ | ||
เป็นคนมักได้ใคร่มี | หนายช้าพาทีดึงดุ | ||
เสียจริตกิริยาเป็นบ้ายุ | พูดกุกะไปไม่เกรงกลัว | ||
อันใจข้าห้าคนนี้ซื่อแท้ | รักอาเหมือนแม่บังเกิดหัว | ||
เจ้าสุพรรณนั้นนึกว่าน้องตัว | ศรีสันท์ทำชั่วไม่ชอบใจ | ||
พระองค์จงอดโทษสักครั้งหนึ่ง | เรารีบไปให้ถึงกรุงใหญ่ | ||
จะรัญจวนครวญคร่ำอยู่ทำไม | อันสังข์ศิลป์ชัยเห็นไม่มา | ||
ฯ ๘ คำฯ | |||
ธรณีร้องไห้ | |||
๏ เมื่อนั้น | นางเกสรสุมณฑาละห้อยหา | ||
จึงปรึกษาสุพรรณกัลยา | อยู่ช้าก็สำหรับจะอับอาย | ||
สไบแม่กับช้องของโฉมยง | จะทำธงสำคัญมั่นหมาย | ||
แม้นสังข์ศิลป์ชัยยังไม่ตาย | กลับมาดีร้ายจะพบพาน | ||
แล้วหยิบช้องกับผ้ามาทำธง | ปักลงตั้งจิตพิษฐาน | ||
ขอเทวาอารักษ์ทั้งจักรวาล | ช่วยบันดาลให้แจ้งกิจจา | ||
แม้นว่าพระสังข์ยังอยู่ | จงมีผู้เอาของไปให้ข้า | ||
ถ้าเจ้ามอดม้วยมรณา | ช้องกับภูษาจงสูญไป | ||
สิ้นคำที่ร่ำพิษฐาน | เยาวมาลย์เศร้าสร้อยละห้อยไห้ | ||
คิดถึงนัดดายิ่งอาลัย | ครวญคร่ำร่ำไรโศกา | ||
ฯ ๑๐ คำฯ โอด | |||
ร่าย | |||
๏ ครั้นค่อยคลายวิโยคโศกศัลย์ | ก็ชวนกันลงจากภูผา | ||
ศรีสันท์นั้นนำมรคา | ดั้นดัดลัดมาในดงดาน | ||
ฯ ๑ คำฯ เชิด | |||
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายเจ้าสิงหรากล้าหาญ | ||
เที่ยวไล่สัตว์สิงห์วิ่งทะยาน | เป็นลางบันดาลบอกเหตุภัย | ||
ให้มึนตึงกายาตาเขม่น | จิตใจเยือกเย็นดังเป็นไข้ | ||
คิดถึงพระสังข์ศิลป์ชัย | ก็แผลงฤทธิ์ฤทธิไกรกลับมา | ||
ฯ ๔ คำฯ เชิด | |||
๏ ครั้นถึงเชิงเขาลำเนาเพลิน | จึงลงเดินลดเลี้ยวเที่ยวหา | ||
ไม่เห็นที่ประทับพลับพลา | ทั้งพระอาน้องชายก็หายไป | ||
นั่งนึกตรึกไตรให้รำคาญ | จะเกิดเหตุเภทพาลเป็นไฉน | ||
หรือจะพากันรีบไปเวียงชัย | ที่จะหนีพี่ไปก็ใช่เชิง | ||
คิดพลางทางเที่ยวสัญจรหา | บุกป่ากู้ก้องร้องเปิ่ง | ||
แล้วขึ้นเขาเข้าค้นในวุ้งเวิ้ง | ทุกซุ้มเชิงรกเรี้ยวเที่ยวมองดู | ||
เทวัญบันดาลให้ผายผัน | มาเห็นศรพระขรรค์ที่วางอยู่ | ||
เอ๊ะเกิดเหตุแท้แล้วอกกู | จะมีผู้ทำร้ายแก่น้องยา | ||
เป็นตายอย่างไรไม่แจ้งจิต | สุดคิดที่จะเที่ยวแสวงหา | ||
ยิ่งคิดสร้อยเศร้าเปล่าอุรา | ก็โศกาครวญคร่ำร่ำไร | ||
ฯ ๑๐ คำฯ โอด | |||
๏ แล้วฝืนจิตดำริตริตรองดู | จะนิ่งอยู่กระนี้ก็มิได้ | ||
เมื่อไม่พบน้องน้อยกลอยใจ | จำจะไปทูลสองพระมารดร | ||
คิดพลางทางทำอานุภาพ | ปากคาบพระขรรค์กับสังข์ศร | ||
เผ่นโผนโจนเหาะขึ้นอัมพร | ตรงไปนครบรรพต | ||
ฯ ๔ คำฯ เชิด | |||
๏ ครั้นถึงจึงลงจากอากาศ | ขึ้นปราสาทแก้วมรกต | ||
กราบบาทสองนางพลางรันทด | พิไรร่ำกำสรดโศกี | ||
ฯ ๒ คำฯ โอด | |||
๏ เมื่อนั้น | องค์พระมารดาทั้งสองศรี | ||
เห็นมาร้องไห้ไม่สมประดี | เทวีคิดอัศจรรย์ใจ | ||
ปลอบพลางทางถามมิทันช้า | เป็นไรมาโศกศัลย์กันแสงไห้ | ||
มีเหตุเภทพาลประการใด | น้องรักอยู่ไหนจึงไม่มา | ||
ฯ ๔ คำฯ | |||
๏ เมื่อนั้น | สิงหราโศกศัลย์เป็นหนักหนา | ||
จึงเล่าความตามเรื่องไปรับอา | แต่ต้นมาจนถึงกลางไพร | ||
ทั้งหกเชษฐากับน้องรัก | ชวนกันหยุดพักในป่าใหญ่ | ||
ลูกนี้โฉดเขลาเบาใจ | ลาสังข์ศิลป์ชัยไปหากิน | ||
ครั้นกลับมาไม่เห็นพระน้องชาย | พากันสูญหายไปหมดสิ้น | ||
ข้าค้นบนเขาเขินเดินดิน | พบแต่สังข์ศิลป์พระขรรค์ชัย | ||
สุดที่จะคิดติดตามหา | ไม่รู้ว่าเกิดเข็ญเป็นไฉน | ||
จึงรีบมาทูลแถลงให้แจ้งใจ | อันโทษตัวลูกไซร้ผิดนัก | ||
ฯ ๘ คำฯ | |||
๏ เมื่อนั้น | สองนางพ่างเพียงอกหัก | ||
ชลเนตรฟูมฟองนองพักตร์ | นงลักษณ์ครวญคร่ำร่ำไร | ||
ฯ ๒ คำฯ โอด | |||
โอ้ | |||
๏ โอ้ว่าลูกรักของแม่เอ๋ย | แม่เคยเชยชิดพิสมัย | ||
หรือมาพลัดพรากจากไป | เพราะเชื่อไอ้กระยาจกทั้งหกคน | ||
อันความคิดของมันแม่รู้เท่า | ได้ห้ามปรามเจ้าเป็นหลายหน | ||
ช่างไว้เนื้อเชื่อใจไอ้แสนกล | มันคนริษยาอาธรรม์ | ||
เห็นว่ารับอามาได้แล้ว | จึงคิดฆ่าลูกแก้วให้อาสัญ | ||
จะได้หน้าได้ตาแต่พวกมัน | ควรหรือจอมขวัญไปหลงรัก | ||
อนิจจาลูกน้อยมาสูญหาย | จะเป็นตายฉันใดไม่ประจักษ์ | ||
สองกรข้อนทรวงเข้าฮักฮัก | ซบพักตร์กันแสงโศกี | ||
ฯ ๘ คำฯ โอด | |||
ร่าย | |||
๏ ครั้นค่อยคลายวิโยคโศกศัลย์ | จึงปรึกษากันทั้งสองศรี | ||
อันปราสาทราชฐานของเรานี้ | บังเกิดมีเพราะบุญพระโอรส | ||
แม้นว่าขวัญข้าวเจ้าม้วยมรณ์ | เห็นบ้านเมืองสังข์ศรจะสูญหมด | ||
ต่อจะยังไม่ทิวงคต | ก็ค่อยคลายกำสรดโศกา | ||
ฯ ๔ คำฯ เจรจา | |||
ลำจีน | |||
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงจีนนายสำเภาล้าต้า | ||
ใช้ใบจากกวางตุ้งมุ่งมา | จะเข้าเมืองปัญจาล์เวียงชัย | ||
ต้นหนวางเข็มไม่สันทัด | ตกคุ้งลมขัดไม่ออกได้ | ||
น้ำท่ากินกินก็สิ้นไป | จึงให้ทอดสมอรอรั้ง | ||
ลูกเรือขันช่อสำปั้นลง | โล้ฝืนคลื่นตรงเข้าถึงฝั่ง | ||
ต่างขึ้นบกไปมิได้ยั้ง | เอาถึงตักน้ำแล้วแบกมา | ||
บ้างพากันเที่ยวไปในดง | เห็นธงปักอยู่บนภูผา | ||
ชะรอยว่าใครเสียนาวา | จึงขึ้นปลดเอาผ้ากับช้อง | ||
แล้วแยกย้ายรายค้นจนทั่ว | มิได้พบตัวคนเจ้าของ | ||
ต่างกลับลงมาสัดจอง | โล้ล่องออกไปเภตราพลัน | ||
ฯ ๑๐ คำฯ เชิด | |||
ร่าย | |||
๏ ครั้งถึงจึงขึ้นบนสำเภา | ตรงเข้าบาหลีขมีขมัน | ||
เอาผ้ากับช้องของสำคัญ | ส่งให้นายนั้นทันใด | ||
ต่างคนบนบานอยู่เซ็งแซ่ | ที่ลมขัดพัดแปรมาให้ | ||
คนงานกว้านสมอช่อใบ | แล่นไปในทะเลสะดวกดี | ||
ฯ ๔ คำฯ โล้ | |||
ช้า | |||
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายท้าวเสนากุฎเรื่องศรี | ||
สถิตแท่นไสยาในราตรี | ภูมีเร่าร้อนอาวรณ์ใจ | ||
คิดถึงลูกรักทั้งหกองค์ | จะเดินดงยากเย็นเป็นไฉน | ||
นับได้หลายเดือนแต่จากไป | หรือจะไม่พบอาจึงช้าวัน | ||
คิดคะนึงถึงลูกยิ่งละห้อย | เคลื้มม่อยหลับไปเมื่อไก่ขัน | ||
ทรงสุบินนิมิตอัศจรรย์ | พอรุ่งสุริย์ฉันก็ฟื้นองค์ | ||
ฯ ๖ คำฯ | |||
ร่าย | |||
๏ พระลุกจากแท่นที่ตะลีตะลาน | ภูบาลชำระสระสรง | ||
ทรงเครื่องกกุธภัณฑ์บรรจง | เสด็จตรงออกพระโรงรจนา | ||
ฯ ๒ คำฯ เสมอ | |||
สิงโต | |||
๏ นั่งเหนือบัลลังก์รัตน์รูจี | พรั่งพร้อมเสนีทั้งซ้ายขวา | ||
จึงตรัสเรียกโหรเฒ่าเข้ามา | แล้วบัญชาแจ้งความตามนิมิต | ||
คืนนี้เราฝันประหลาดนัก | ว่าแก้วของเรารักดังดวงจิต | ||
มีผู้เดชาศักดาฤทธิ์ | มาปลดปลิดชิงเอาของเราไป | ||
นานมีชายหนึ่งแปลกหน้า | ไปนำดวงจินดามาคืนให้ | ||
กลับได้หลายดวงล้วนชอบใจ | จงทายไปให้รู้ว่าร้ายดี | ||
ฯ ๖ คำฯ | |||
ร่าย | |||
๏ บัดนั้น | ขุนโหรรับสั่งใส่เกศี | ||
ดูตามตำราในคัมภีร์ | เห็นว่าดีมั่นคงไม่สงกา | ||
จึงประณตบทมาลย์แล้วทูลพลัน | ซึ่งทรงสุบินนั้นดีหนักหนา | ||
ทั้งหกพระโอรสจะกลับมา | เห็นได้ดังจินดาอาสาไป | ||
แต่ฝันวันอังคารนี้พาลร้าย | ตำราทายว่ามักให้หม่นไหม้ | ||
จะเกิดเหตุสักอย่างในกลางไพร | เพียงแต่ตกใจไม่อันตราย | ||
คงจะได้มาสองเสียหนึ่ง | อีกเจ็ดวันจะถึงพระฤาสาย | ||
แม้นผิดจากถ้อยคำที่ทำนาย | ขอถวายชีวิตแก่ภูมี | ||
ฯ ๘ คำฯ เจรจา | |||
๏ เมื่อนั้น | ท้าวเสนากุฏเกษมศรี | ||
จึงตรัสสั่งทั้งสองเสนี | จงจัดแจงแต่งที่ปราสาทชัย | ||
มโหรีปี่พาทย์ฆ้องกลอง | ทั้งบายศรีทองที่ทำใหม่ | ||
งิ้วหุ่นโขนหนังจงสั่งไป | เตรียมไว้ให้เสร็จในเจ็ดวัน | ||
แม้ว่าพระน้องกับลูกยา | มาถึงพาราจะทำขวัญ | ||
ให้เล่นการมหรสพครบครัน | แต่ในวันนั้นเป็นฤกษ์ดี | ||
ฯ ๖ คำฯ | |||
๏ บัดนั้น | เสนาประณตบทศรี | ||
มาบัตรหมายบอกกันทันที | ตามมีพระราชบัญชา | ||
ฯ ๒ คำฯ เจรจา | |||
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหกกุมารโอรสา | ||
พาอามาในอรัญวา | แรมค้างกลางป่าหลายราตรี | ||
ศรีสันท์นั้นเฝ้าแต่เลียมและ | เห็นอาเมินเดินแซะเสียดสี | ||
ทำเลียบเคียงพูดจาพาที | เสชมโน่นนี่มาตามทาง | ||
ฯ ๔ คำฯ เพลง | |||
๏ ครั้นสุริยาเย็นลงรอนรอน | ชวนกันหยุดนอนในป่ากว้าง | ||
สีไฟก่อนกองให้สองนาง | คอยระวังเสือสางที่กลางไพร | ||
ฯ ๒ คำฯ เจรจา | |||
๏ เมื่อนั้น | นางเกสรสุมณฑาศรีใส | ||
ปัดกวาดผงไผ่ใต้ต้นไทร | แล้วหักใบไม้มารองนอน | ||
สองนางเอนองค์ลงนิทรา | กลัวภัยภาวนาไม่หยุดหย่อน | ||
คิดถึงนัดดายิ่งอาวรณ์ | เจ้าเคยแผลงศรเป็นพลับพลา | ||
สิ้นบุญหลานน้อยกลอยใจ | ได้ลำบากอยากไร้หนักหนา | ||
คิดพลางนางทรงโศกา | จนนิทราเคลิ้มหลับกับสุพรรณ | ||
ฯ ๖ คำฯ ตระ | |||
ลีลากระทุ่ม | |||
๏ เมื่อนั้น | ศรีสันท์แสนกลคนขยัน | ||
นั่งคิดนอนคิดทุกคืนวัน | จะเข้าหาสุพรรณกัลยา | ||
ยังหวาดหวั่นพรั่นจิตอิดเอื้อน | ความรักตักเตือนให้ใจกล้า | ||
ชะเง้อดูสุพรรณกับพระอา | เห็นนิทราหลับไหลได้ท่วงที | ||
จึงกระซิบบอกใบ้ให้น้องรู้ | จงหลับนอนนิ่งอยู่อย่าอึงมี่ | ||
ว่าแล้วค่อยย่องมองหมาย | วันนี้คงสมคะเนนึก | ||
หยุดยืนแอบรกอกเต้นทึก | แล้วสะอึกแฝงเงาเข้าไป | ||
ฯ ๘ คำฯ เชิงฉิ่ง | |||
ร่าย | |||
๏ นั่งลงเคียงข้างนางสุพรรณ | จะถูกถือมือสั่นไม่ต้องได้ | ||
ความรักกลัดกลุ้มคลุ้มใจ | ค่อยชักสายสไบเทวี | ||
ฯ ๒ คำฯ | |||
๏ เมื่อนั้น | นางสุพรรณรู้สึกนึกว่าผี | ||
ตกใจลืมเนตรขึ้นทันที | เห็นอ้ายอัปรีย์ศรีสันทา | ||
นางเคืองขัดวัดเหวี่ยงเอาล้มหงาย | ลุกขึ้นถ่มน้ำลายแล้วบ่นด่า | ||
อันคนสัญชาติมันชั่วช้า | สุดแต่ว่าเอาด้านเข้าเป็นพื้น | ||
เห็นเขาหลับไหลแล้วได้ที | กล้าดีมึงมาเมื่อตื่นตื่น | ||
จะทำให้สาใจที่ไม่ลื้น | อย่าพักหนีไปยืนแอบไม้ | ||
ฯ ๖ คำฯ | |||
๏ เมื่อนั้น | นางเกสรสุมณฑาศรีใส | ||
ผวาตื่นตระหนกตกใจ | จึงถามไถ่สุพรรณทันที | ||
ครั้นรู้ว่าศรีสันท์มันลอบมา | นางโกรธาด่าทออึงมี่ | ||
ทำลอบลักหักหาญถึงเพียงนี้ | อ้ายโจรป่ากล้าดีแล้วหนีไย | ||
มึงช่างตั้งใจแต่ข่มเหง | จะคิดเกรงน้ำหน้าก็หาไม่ | ||
เพี้ยงเอ๋ยผีสางที่กลางไพร | จะหักคอมันให้ขาดใจตาย | ||
ฯ ๖ คำฯ เจรจา | |||
๏ เมื่อนั้น | ศรีสันท์ถุ้งเถียงเบี่ยงบ่าย | ||
พระอาอย่างเคืองขุ่นวุ่นวาย | มาลงร้ายเอาข้าร่ำด่ายับ | ||
หลานนอนอยู่ถึงโน่นทั้งหกคน | ประมาทลืมสวดมนต์ม่อยหลับ | ||
ปีศาจมากวนปล้ำอำทับ | ให้ตะคล้ายตะคลับยังหลับดี | ||
พึ่งรู้สึกตื่นขึ้นประเดี๋ยวนี้ | ไม่แกล้งว่าฟ้าผี่เถิดพระอา | ||
นางสุพรรณนั้นละเมอว่าคนหยอก | เนื้อแท้ผีมันหลอกเหมือนเช่นข้า | ||
จงนิ่งนอนสวดมนต์ภาวนา | อย่าโกรธาด่าทออื้ออึง | ||
ฯ ๘ คำฯ เจรจา | |||
๏ เมื่อนั้น | นางเกสรสุมณฑาโกรธขึ้ง | ||
จึงว่าอย่างเสกสรรดันดึง | ไม่เชื่อน้ำหน้ามึงอ้ายสันทา | ||
ดีแต่แก้ตัวไปทุกอย่าง | ใส่โทษผีสางช่างมุสา | ||
เมื่อเขาเห็นมึงแน่อยู่แก่ตา | ยังด้านหน้าถุ้งเถียงขึ้นเสียงดัง | ||
จะสู้อดไปกว่าจะสิ้นเคราะห์ | กูขี้คร้านทะเลาะกับบ้าหลัง | ||
แล้วนางตั้งใจระไวระวัง | ผลัดกันนอนกันนั่งกับธิดา | ||
ฯ ๖ คำฯ | |||
๏ เมื่อนั้น | ศรีสันท์ไม่สมปรารถนา | ||
เดินยิ้มแก้เก้อเร่อมา | ปดน้องทั้งห้าเป็นคลอกไป | ||
เมื่อกี้พี่เข้าหานางสุพรรณ | ได้พูดจากันเป็นไหนไหน | ||
นางว่ารักพี่นี้สุดใจ | แต่ทรามวัยหากกลัวพระชนนี | ||
ยังกำลังชุลมุนมุ่นหมก | พออาตกใจตื่นขึ้นเห็นพี่ | ||
ฉวยข้อมือได้หาไม้ตี | เราเป่ามนต์สองทีลงง่วงงุย | ||
แต่เงื้อเงื้อขยับแล้วกลับหยุด | พี่สะบัดมือหลุดออกวิ่งฉุย | ||
กลิ่นสุพรรณนั้นยังติดหอมกรุย | ฮุ่ยหุยเจียวเจ้าอย่าบอกใคร | ||
ฯ ๘ คำฯ | |||
๏ เมื่อนั้น | ทั้งห้ากลั้นยิ้มมิใคร่ได้ | ||
หัวเราะพลางทางว่าอย่าปดไป | ข้ายังไม่หลับม่อยนั่งคอยฟัง | ||
สารพัดได้ยินสิ้นสุด | จนนางด่าพึ่งหยุดเพราะมนต์ขลัง | ||
ที่ว่าได้แอบอิงนั้นจริงจัง | หรือปดดอกกระมังพี่สันทา | ||
ฯ ๔ คำฯ | |||
๏ เมื่อนั้น | ศรีสันท์พูดแชแก้หน้า | ||
นางว่าให้มั่งชั่งเถิดหนา | ธรรมดาผู้หญิงกับผู้ชาย | ||
ชวนหัวเราะคิกคักชักพูดอื่น | ไม่หลับนอนตึกดื่นจะตื่นสาย | ||
ว่าพลางทางชวนกันเอนกาย | ศรีสันท์เล่านิยายจนหลับไป | ||
ฯ ๔ คำฯ เจรจา ตระ | |||
๏ เสียงดุเหว่าเร่าร้องก้องป่า | สุริยาเลี้ยวเยี่ยมเหลี่ยมไศล | ||
ต่างตื่นฟื้นกายสบายใจ | พาอาดั้นไพรไปธานี | ||
ฯ ๒ คำฯ เชิด | |||
๏ รอนแรมมาได้หลายทิวา | ก็ลุถึงปัญจาล์กรุงศรี | ||
พบพวกพหลมนตรี | ทั้งกำนัลขันทีมาคอยรับ | ||
แต่บรรดาข้าหลวงแลขอเฝ้า | ก้มเกล้าอภิวันท์เป็นอันดับ | ||
ชายหญิงแน่นนั่นคั่งคับ | เห็นเจ้ากลับมาได้ก็ยินดี | ||
แล้วทูลเชิญทั้งสองกัลยา | ขึ้นทรงวอช่อฟ้าหลังคาสี | ||
ทั้งหกองค์ทรงม้าพาชี | เสนีแห่แหนเข้าพารา | ||
ฯ ๖ คำฯ กลอนโยน | |||
๏ บัดนั้น | พนักงานการเล่นทุกภาษา | ||
ต่างโห่ฉาวกราวเชิดเป็นโกลา | ออกเต้นรำทำท่าทุกโรงงาน | ||
ประชาชนพารามาเกลื่อนกล่น | นั่งแน่นริมถนนอลหม่าน | ||
อวยชัยให้พรพระกุมาร | ชมบุญสมภาพออกแซ่ซ้อง | ||
บ้างชะแง้แลดูวอสุพรรณ | เห็นม่านกั้นกำบังมาทั้งสอง | ||
ต่างคิดสงสัยตั้งใจมอง | องค์หน้านั้นน้องเจ้าธานี | ||
อันองค์นี้ที่เราไม่รู้จัก | ผิวพักตร์นวลละอองผ่องศรี | ||
ต่อจะเป็นพระราชบุตรี | ชาวบุรีอวยพรกระฉ่อนไป | ||
ฯ ๘ คำฯ เจรจา | |||
๏ เมื่อนั้น | ทั้งหกโอรสาศรีใส | ||
แลดูเต้นรำสำราญใจ | ขับอาชาไนยไปตามทาง | ||
ถึงประตูหูช้างข้างหน้า | ลงจากอาชาแล้วเยื้องย่าง | ||
ชาวประโคมก็ประโคมดุริยางค์ | ประทับวอสองนางกับเกยลา | ||
ฯ ๔ คำฯ เสมอ | |||
ช้า | |||
๏ เมื่อนั้น | พระผู้ผ่านเขตขัณฑ์หรรษา | ||
ลุกจากแท่นสุวรรณมิทันช้า | ไปรับองค์ขนิษฐายาใจ | ||
ฯ ๒ คำฯ | |||
ร่าย | |||
๏ จูงกรมานั่งยั่งแท่นทอง | สวมกอดพระน้องเข้าร้องไห้ | ||
ฝูงนางสาวสรรค์กำนัลใน | ต่างซบพักตร์พิไรโศกี | ||
ฯ ๒ คำฯ โอด | |||
๏ ครั้นรู้สึกสมประดีกาย | ค่อยคลายเศร้าหมองทั้งสองศรี | ||
จึงปราศรัยน้องรักร่วมชีวี | เป็นบุญเราครั้งนี้ได้พบกัน | ||
แต่วันยักษ์มันมาพาเจ้าไป | พี่เศร้าใจคิดว่าจะอาสัญ | ||
แสนโศกโศกาไม่ราวัน | ทั้งพงศ์พันธุ์เงียบเหงาเศร้าใจ | ||
อยู่จำเนียรกาลนานมา | พี่ฝันว่าน้องรักไม่ตักษัย | ||
มันเลี้ยงเป็นมเหสีอยู่ในไพร | แม้นมีผู้ตามไปจะได้มา | ||
พี่คิดจะติดตามนางโฉมยง | ทั้งหกองค์โอรสรับอาสา | ||
ด้วยหลานของน้องรักทรงศักดา | จึงรับอามาได้ถึงบุรี | ||
ความพี่มีจิตเกษมศานต์ | ดังได้ผ่านเมืองฟ้าราศี | ||
เจ้าจากไปได้ถึงสิบแปดปี | นิจจาพี่เพียงแปลกพักตรา | ||
จนเป็นเทื้อเนื้อหนังเหนียว | อยู่ไพรสณฑ์คนเดียวอนาถา | ||
ยังค่อยผาสุกทุกทิวา | หรือโรคายายีพระน้องรัก | ||
อันนางนฤมลคนนั้น | เป็นพงศ์พันธุ์ของใครไม่รู้จัก | ||
รูปร่างละม้ายคล้ายเจ้านัก | นงลักษณ์จงเล่าให้เข้าใจ | ||
ฯ ๑๔ คำฯ | |||
๏ เมื่อนั้น | ศรีสันท์ชิงทูลแถลงไข | ||
นั่นชื่อสุพรรณทรามวัย | อรไทเป็นลูกพระเจ้าอา | ||
บิตุเรศไปเล่นสกาพนัน | กับภุชงค์เดิมพันตามปรารถนา | ||
พระยายักษ์นั้นกลับอัปรา | จึงยอมยกธิดาให้นาคี | ||
อันองค์พระอากับขุนมาร | อยู่ถึงหิมพานต์เป็นถิ่นที่ | ||
เนาในปราสาทรัตน์รูจี | อสุรีเรื่องอิทธิฤทธา | ||
ได้รบกันกับลูกทั้งหกคน | มันยกรี้กรีพลมาหนักหนา | ||
ข้าแผลงศรตายกลาดดาษดา | ทั้งกุมภัณฑ์ผัวอาก็วอดวาย | ||
แล้วลูกลงไปเมืองนาคี | จะรับศรีสุพรรณผันผาย | ||
ต้องรบกันกับนาคอีกมากมาย | ภุชงค์แพ้พ่ายถวายนาง | ||
จึงได้องค์พระอากับสุพรรณ | พากันเดินมาในป่ากว้าง | ||
เหลือกำลังดังชีวิตจะวายวาง | ทูลพลางทางดูพระเจ้าอา | ||
ฯ ๑๒ คำฯ เจรจา | |||
๏ เมื่อนั้น | พระบิตุเรศได้ฟังไม่กังขา | ||
สั่นหัวกลัวฤทธิ์พระลูกยา | จึงว่ามิเสียแรงที่พ่อรัก | ||
ทุกวันนี้บิดาก็แก่เฒ่า | จะเสกเจ้าให้ครองอาณาจักร | ||
ว่าพลางทางเยื้อนเบือนพักตร์ | ตรัสทักหลานน้อยกลอยใจ | ||
มาหาลุงถึงนี่ศรีสุพรรณ | อย่ารังเกียจเดียดฉันท์หาควรไม่ | ||
ลุงพี่งรู้จักอรไท | อายุเจ้าเท่าใดนะหลานรัก | ||
ฯ ๖ คำฯ | |||
๏ เมื่อนั้น | นางสุพรรณนารีมีศักดิ์ | ||
จึงคลานขึ้นไปด้วยใจภักดิ์ | นงลักษณ์ก้มกราบกับบาทา | ||
แค้นด้วยศรีสันท์มันชิงทูล | ปดเป็นเค้ามูลได้ต่อหน้า | ||
จะเถียงมั่งยังเกรงบิตุลา | นั่งก้มพักตราไม่พาที | ||
ฯ ๔ คำฯ | |||
๏ เมื่อนั้น | ท้าวเสนากุฏเรืองศรี | ||
ลูบหลังพระนัดดานารี | ภูมีพิศโฉมประโลมใจ | ||
ผิวพรรณนรลักษณ์พักตรา | เหมือนพระมารดาดังเถือใส่ | ||
จึงว่าชะรอยกรรมได้ทำไว้ | แต่เกิดมาก็ไม่เห็นพงศ์พันธุ์ | ||
แล้วผินหน้ามาตรัสแก่พระน้อง | พี่จัดแจงข้าวของไว้ทำขวัญ | ||
เราได้พานพบประสบกัน | ในวันนี้ไซร้เป็นฤกษ์ดี | ||
เจ้าจงพาบุตรีกับหลานชาย | ไปชำระกายให้ผ่องศรี | ||
แต่งองค์ทรงเครื่องเรืองรูจี | จะสมโภชเดี๋ยวนี้ทั้งแปดองค์ | ||
ฯ ๘ คำฯ | |||
๏ เมื่อนั้น | นางเกสรสุมณฑานวลหง | ||
ให้ขัดเคืองหฤทัยนางโฉมยง | ด้วยศรีสันท์มันทะนงไม่เกรงใจ | ||
ชิงพูดชิงจาน่าแค้นเหลือ | พระเชษฐษช่างเชื่อหลงใหล | ||
ครั้นจะบอกความบัดนี้ไซร้ | พระพี่ที่ไหนจะเห็นจริง | ||
มันจะรุมกันเถียงทะเลาะเล่น | จะกลับเป็นพูดเท็จไปทุกสิ่ง | ||
ความไกลไม่มีที่อ้างอิง | นางนั่งนิ่งถอนใจไม่ไคลคลา | ||
ฯ ๖ คำฯ | |||
๏ เมื่อนั้น | พระปิ่นปักนัคเรศเชษฐา | ||
ซ้ำตรัสเตือนองค์พระน้องยา | ปลอบโยนหนักหนาก็ไม่ไป | ||
พระนั่งนิ่งนึกตรึกคะนึง | เป็นไรจึงเคืองขัดอัชฌาสัย | ||
เห็นทีจะละห้อยน้อยใจ | ด้วยทรามวัยยังรักยักษ์สามี | ||
ต่อนานไปให้ลืมเสียสักหน่อย | จึงจะค่อยเล้าโลมนางโฉมศรี | ||
จะทำมิ่งสิ่งขวัญเสียวันนี้ | ให้ทันฤกษ์ดีดังใจปอง | ||
คิดพลางทางมีบัญชาสั่ง | เสนากรมวังทั้งสอง | ||
เร่งยกบายศรีแก้วบายศรีทอง | มาสมโภชพระน้องกับลูกรัก | ||
ฯ ๘ คำฯ | |||
๏ บัดนั้น | จึงมหาเสนีมีศักดิ์ | ||
รับสั่งภูวไนยด้วยใจภักดิ์ | ต่างวิ่งคึกคักออกมาพลัน | ||
พนักงานของใครก็จัดแจง | ยกมาตั้งแต่งเป็นลดหลั่น | ||
มโหรีปี่พากย์ครบครัน | เสร็จพร้อมสารพันดังบัญชา | ||
ฯ ๔ คำฯ | |||
๏ บัดนั้น | ราชครูผู้มียศถา | ||
ครั้นได้ฤกษ์ยามตามตำรา | ก็เข้ามาจุดเทียนแล้วกราบกราน | ||
จึงส่งแว่นเวียนขวามาซ้าย | เจ้าขรัวนายคอยรับอยู่ริมม่าน | ||
ให้ประโคมแตรสังข์กังสดาล | เสียงโห่สะท้านทั้งวังใน | ||
ฯ ๔ คำฯ | |||
๏ ครบเจ็ดรอบคะแนนเวียนแว่นเวียน | เอาใบพลูดับเทียนโบกควันให้ | ||
แล้วจุณเจิมเฉลิมขวัญเป็นหลั่นไป | ต่างอำนวยอวยชัยด้วยปรีดา | ||
ฯ ๒ คำฯ เจรจา | |||
๏ บัดนั้น | ฝ่ายนายสำเภาที่ได้ผ้า | ||
ใช้ใบมาถึงเมืองปัญจาล์ | ก็ทอดท่าท้ายคูพระบูรี | ||
เห็นนาวาขึ้นล่องออกเซ็งแซ่ | จึงถามเหล่าชาวแพเจ้าภาษี | ||
รู้ว่าพระองค์ทรงธรณี | ภูมีสมโภชพระน้องยา | ||
พาณิชคิดจะถวายของ | จึงเปิดหีบหยิบช้องกับภูษา | ||
จัดสรรพทุกสิ่งสินค้า | แต่บรรดาข้าวของที่ต้องการ | ||
ขนลงสำปั้นน้อยค่อยพายไป | ขึ้นแพใหญ่กรมท่าหน้าบ้าน | ||
มอบของให้เจ้าพนักงาน | พากันลนลานเข้าวังใน | ||
ฯ ๘ คำฯ เชิด | |||
๏ ครั้นถึงจึงยกขึ้นไปพลัน | ตั้งไว้เรียงรันแล้วกราบไหว้ | ||
พนักงานทูลถวายทันใด | ตามในจดหมายรายของนั้น | ||
ฯ ๒ คำฯ | |||
๏ เมื่อนั้น | ทั้งหกแสนกลคนขยัน | ||
เห็นผ้ากับช้องของสำคัญ | อ้ายนี่มันจะก่อให้เกิดความ | ||
จึงวิ่งไปชิงช้องกับภูษา | ซ่อนใส่ในผ้าแล้วซักถาม | ||
มึงเอาของจัญไรไม่งดงาม | มาถวายแต่ตามอำเภอใจ | ||
จะเสียฤกษ์เสียพากูน่าถอง | อ้ายจองหองชั่วชาติอุบาทว์ใหญ่ | ||
ชอบแต่ฆ่าฟันให้บรรลัย | ไสหัวออกไปเสียให้พ้น | ||
ฯ ๖ คำฯ เจรจา | |||
๏ เมื่อนั้น | พระบิดาหลากจิตคิดฉงน | ||
จึงว่าแก่โอรสทั้งหกคน | เอาของเขาซ่อนซนเสียทำไม | ||
ถึงมิงดมิงามก็ตามที | เขาจงรักภักดีเอามาให้ | ||
เป็นเงินหรือทองของอะไร | อยู่ไหนเอามาพ่อจะดู | ||
ฯ ๔ คำฯ | |||
๏ เมื่อนั้น | ทั้งหกอิดเอื้อนเยื้อนอยู่ | ||
จึงว่าของจัญไรอะไรมิรู้ | พระบิดาอย่าดูให้เสียตา | ||
ไม่เคยพบเคยเห็นเช่นนี้ | ผ้าผีผมพรายตายห่า | ||
ชอบแต่ทิ้งเสียที่ป่าช้า | แล้วเฆี่ยนผู้เอามาให้สาใจ | ||
ฯ ๔ คำฯ | |||
๏ เมื่อนั้น | องค์พระบิตุรงค์ยิ่งสงสัย | ||
ตรัสว่าเขามาแต่เมืองไกล | เคยให้ของข้าวเราทุกปี | ||
ย่อมจะเห็นงามตามใจรัก | ผิดนักเจ้าว่าเป็นผ้าผี | ||
ไปด่าทอเขานั้นมันไม่ดี | เอาผมผ้ามานี่นะลูกยา | ||
ฯ ๔ คำฯ | |||
๏ เมื่อนั้น | ทั้งหกบิดพลิ้งนิ่วหน้า | ||
จะขืนขัดกลัวพระจะโกรธา | ทั้งจริตกิริยาวุ่นวาย | ||
ครั้นบิดรเตือนซ้ำต้องจำใจ | เอาช้องกับสไบเข้าไปถวาย | ||
แล้วว่าของชั่วชาติอุบาทว์ร้าย | จงคืนให้ไปขายเสียเมืองไกล | ||
ฯ ๔ คำฯ | |||
๏ เมื่อนั้น | ท้าวเสนากุฏเป็นใหญ่ | ||
เห็นผ้ากับช้องต้องฤทัย | ภูวไนยแลเล็งเพ่งพิศ | ||
สีสดงดงามหนักหนา | ใครเป็นเป็นน่าเจริญจิต | ||
เนื้อหนังดังหนึ่งจะกำมิด | งามผิดผ้ามนุษย์ในแดนไต | ||
กระนี้แล้วลูกยายังว่าชั่ว | บุญตัวได้เห็นเป็นลาภใหญ่ | ||
ดูผ้าต้นผ้าทรงเราเสียไป | ราคาได้สักแสนตำลึงทอง | ||
ประเสริฐกว่าเพชรนิลจินดา | จะทำขวํญกัลยาทั้งสอง | ||
ว่าพลางส่งสไปให้พระน้อง | ยื่นช้องให้นัดดายาใจ | ||
ฯ ๘ คำฯ | |||
๏ เมื่อนั้น | ทั้งสองนางต่างจำของตัวได้ | ||
เห็นพระสังข์จะไม่บรรลัย | ช้องกับสไบจึงได้มา | ||
นางเกสรสุมณฑายิ่งละห้อย | คิดถึงหลานน้อยเสน่หา | ||
ชลนัยน์ซึมซาบอาบพักตรา | ต่างทรงโศกาไม่สมประดี | ||
ฯ ๔ คำฯ โอด | |||
๏ เมื่อนั้น | พระเชษฐาธิราชเรืองศรี | ||
ปลอบพลางทางถามนางเทวี | เจ้ากันแสงโศกีด้วยอันใด | ||
พี่ให้ของสองสิ่งนี้ดีแท้ | ไม่ชอบใจหรือแม่จึงร้องไห้ | ||
เจ้าเศร้าสร้อยน้อยฤทัย | จะประสงค์สิ่งไรจงบอกมา | ||
ฯ ๔ คำฯ | |||
๏ เมื่อนั้น | นางเกสรสุมณฑาเสน่หา | ||
จึงทูลคดีพระพี่ยา | ใช่จะน้อยใจข้าด้วยผ้านี้ | ||
อันสุพรรณกับน้องร่ำร้องไห้ | เพราะดิดถึงสังข์ศิลป์ชัยเรืองศรี | ||
อุตส่าห์ไปรับข้ากับบุตรี | ได้รบอสุรีแลนาคา | ||
ครั้นเสร็จแล้วพากันคลาไคล | บุกป่ามาในแดนยักษา | ||
ท่านท้าววัณณุราชอสุรา | ช่วยพาเหาะข้ามชลาลัย | ||
พบทั้งหกนี้ที่ฝั่งน้ำ | เขาทำซื่อตรงให้หลงใหล | ||
ชักชวนพระสังข์ศิลป์ชัย | เที่ยวเก็บผลไม้ในแดนดง | ||
แล้วกลับมาว่าเจ้าสังข์นั้นสูญหาย | ไม่รู้ว่าจะตายหรือจะหลง | ||
จึงเอาของสองสิ่งนี้ทำธง | ข้าจำนงเสี่ยงทายเป็นเค้ามูล | ||
เขาได้ผ้ากับช้องของน้องมา | เห็นแท้ว่าพระสังข์ยังไม่สูญ | ||
จึงกันแสงโศกาอาดูร | น้องทูลทั้งนี้เป็นสัจจา | ||
ฯ ๑๒ คำฯ | |||
๏ ได้เอยได้ฟัง | ออกชื่อพระสังข์ให้กังขา | ||
จึงว่าประหลาดแล้วนะแก้วตา | เมื่อทั้งหกลูกยาอาสาไป | ||
ใครเล่าเจ้าว่ายั่งยืน | อันคนอื่นนอกนี้หามิได้ | ||
จะหาผู้เรืองอิทธิ์ฤทธิไกร | เหมือนเขาเหล่านี้ไซร้ไม่มีแล้ว | ||
จึงผินหน้ามาถามั้งหกพลัน | ผู้ใดนั่นที่อาว่ากล้าแกล้ว | ||
พ่อฟังมืดไปไม่ว่องแวว | ใครไปด้วยลูกแก้วจงบอกมา | ||
ฯ ๖ คำฯ | |||
๏ เมื่อนั้น | ศรีสันท์แสร้งทำเป็นเมินหน้า | ||
หัวเราะพลางทางทูลพระบิดา | นี่แลลูกยาเป็นจนใจ | ||
ท่านว่าแล้วมิเชื่อก็จำเชื่อ | คือใครนั่นตัวเนื้ออยู่ที่ไหน | ||
วาสนาอาภัพจึงลับไป | อย่าถามไถ่ข้าเลยพระบิดา | ||
ฯ ๔ คำฯ | |||
๏ ลูกเอยลูกแก้ว | พ่อลงเนื้อเห็นแล้วที่เจ้าว่า | ||
อันคนอื่นหมื่นแสนในโลกา | จะแกล้วกล้าเหมือนเจ้านั้นไม่มี | ||
แล้วตรัสแก่ขนิษฐายาใจ | เจ้าลืมหลานไปหรือเมื่อกี้ | ||
จึงแชเชือนเลื่อนไหลพาที | ทำให้พี่ลังเลสนเท่ห์ใจ | ||
อันเจ้าว่าไม่น่าจะเชื่อฟัง | พระศิลป์พระสังข์อยู่ที่ไหน | ||
หลานทั้งหกนี้แลที่ไป | รับเจ้ามาได้ถึงวังเวียง | ||
ฯ ๖ คำฯ เจรจา | |||
๏ เมื่อนั้น | นางเกสรสุมณฑาก็ทูลเถียง | ||
เออช่างกระไรไม่ไล่เลียง | เมื่อความจริงแท้เที่ยงอยู่เช่นนี้ | ||
น้องขอถามเนื้อความหลัง | แต่ข้ายังไปอยู่ด้วยยักษี | ||
ที่ชื่อนางประทุมนารี | กับไกรสรเทวีทั้งสองนั้น | ||
พระพี่รู้จักนางบ้างหรือไม่ | เขาว่าอรไทอยู่ไพรสัณฑ์ | ||
อันลูกนางประทุมแจ่มจันทร์ | นามนั้นชื่อว่าสังข์ศิลป์ชัย | ||
อีกเจ้าสิงหราลูกไกรสร | ทั้งสองทรงฤทธิรอนจะหาไหน | ||
บอกว่าบิดาบัญชาใช้ | ให้ไปรับข้ามาธานี | ||
เจ้าชักวงศ์พงศ์พันธุ์ให้รู้จัก | จึงแจ้งว่าหลานรักทั้งสองศรี | ||
อันโอรสหมดแล้วหรือยังมี | พระพี่จงรำลึกตรึกตรา | ||
ฯ ๑๐ คำฯ | |||
๏ ฟังเอยฟังความ | เอ๊ะงามจะจริงเหมือนเจ้าว่า | ||
อันประทุมนั้นเมียของพี่ยา | อยู่ด้วยกันมาจนมีครรภ์ | ||
ลูกคลอดผิดคนทั้งแผ่นดิน | มือถือสังข์ศิลป์แลพระขรรค์ | ||
อีจัญไรไกรสรทาสีนั้น | ลูกมันชั่วจริงเป็นสิงหรา | ||
โหรเฒ่าเขาว่าอุบาทว์เมือง | พี่แค้นเคืองขับไล่ไปเสียป่า | ||
อ่ออ้ายลูกอีประทุมา | มันไปรับขนิษฐาไม่รู้เลย | ||
แล้วถามโอรสเล่าตามเค้าเงื่อน | จริงเหมือนอาว่าหรือลูกเอ๋ย | ||
พ่อหลับตาว่าเจ้าเฝ้าชมเชย | ไม่บอกให้รู้เลยแต่เดิมที | ||
ฯ ๘ คำฯ | |||
๏ เมื่อนั้น | ศรีสันท์ขึ้นเสียงออกอึงมี่ | ||
พระอามาเป็นได้เช่นนี้ | พาลรีพาลขวางทุกอย่างไป | ||
เมื่อเดินป่าอาถามถึงความหลัง | ลูกเล่าให้ฟังจนสิ้นไส้ | ||
จึงรู้จักชื่อเสียงสังข์ศิลป์ชัย | ช่างเอามาได้เป็นเนื้อตัว | ||
แกล้งพูดเลี้ยวลดจะทดแทน | ที่เคืองแค้นลูกยาว่าฆ่าผัว | ||
เอออะไรบาปกรรมก็ไม่กลัว | จะให้โทษแก่ตัวนี้ไม่แคล้ว | ||
ฯ ๖ คำฯ | |||
๏ จอมเอยจอมขวัญ | อ่อกระนั้นดอกหรือนะลูกแก้ว | ||
ได้รู้เพราะเจ้าเล่าจริงแล้ว | จึงชักเรื่องชักแถวเอาถูกความ | ||
แล้วพระยิ้มเยื้อนเบือนพักตร์ | มาตรัสแก่น้องรักชักถาม | ||
ศรีสันท์มันว่าพี่เห็นงาม | เขาบอกความหรือเจ้าจึงได้รู้ | ||
อ้ายคนชั่วชาติอุบาทว์บ้าน | มานับเป็นลูกหลานรำคาญหู | ||
พี่ขอเถิดอย่าเชิดชู | ชางเมืองเลื่องรู้จะเย้ยเยาะ | ||
ฯ ๖ คำฯ | |||
๏ น่าเอยน่าแค้นเหลือ | เอออะไรช่างเชื่อเป็นมั่นเหมาะ | ||
เลื่อนไหลไปด้วยอ้ายพูดเพราะ | นี่เนื้อเคราะห์เนื้อกรรมได้ทำไว้ | ||
แน่เจ้าคนดีศรีสันทา | ช่างด้านหน้าขึ้นเสียงเถียงได้ | ||
มึงเล่าให้กูฟังเมื่อครั้งไร | ยังกลับว่าผู้ใหญ่นี้พูดโกง | ||
อวดกล้าว่าได้ไปรบยักษ์ | เอ็งอย่างพักมาดหมายคงตายโหง | ||
กลัวแต่จะชิงวิ่งตะโกรง | โป้งโหยงพาทีไม่มีจริง | ||
พวกมึงพึ่งบุญสังข์ศิลป์ชัย | พลอยไปซ่อนตัวอยู่หัวตลิ่ง | ||
เห็นยักษ์มาผ้าผ่อนลงกองทิ้ง | พากันมุดหัววิ่งเข้าซุ้มรก | ||
แล้วซ้ำคิดอ่านฆ่าหลานกู | เล่ห์กลก็รู้อยู่เต็มอก | ||
กลับมาพูดอวดพ่อยอยก | พวกอ้ายโกหกเขาเห็นตัว | ||
ฯ ๑๐ คำฯ | |||
๏ ฟังเอยฟังอาว่า | เจ้าศรีสันทาทำยิ้มหัว | ||
มาใส่ถ้อยร้อยความเอาพันพัว | ออกเห็นตัวเห็นตนว่าคนเท็จ | ||
เออมิใช่ฝีมือหรือวันนั้น | จนกุมภัณฑ์ผัวหัวขาดเด็ด | ||
ลงนั่งกอดยักษาน้ำตาเล็ด | ออกขามเข็ดฤทธิ์ข้าจึงมาตาม | ||
ลูกหลานที่ไหนเล่าเอามาว่า | พระบิดาฟังได้ไม่ซักถาม | ||
สับปะติดสับปะต่อแต่พองาม | เป็นความแต้มแต่งจะแกล้งพาล | ||
ฯ ๖ คำฯ | |||
๏ เจ็บเอยเจ็บจิต | กูไม่คิดแล้วว่ามึงเป็นหลาน | ||
ลมลิ้นหยาบช้าสามานย์ | จะร้าวฉานพงศ์พันธุ์เพราะมันนี้ | ||
จะตบมึงให้ได้ไอ้สุงสิง | แม้นฤทธิ์เดชดีจริงอย่าวิ่งหนี | ||
ว่าพลางนางลุกขึ้นทันที | เข้าไล่ตบตีพัลวัน | ||
ฯ ๔ คำฯ เชิด | |||
ตอนที่ ๒ ท้าวเสนากุฎเข้าเมือง
๏ | |||
เชิงอรรถ
ที่มา
บทละครนอกเรื่อง สังข์ศิลป์ชัย สถาบันภาษาไทย กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๔๐ ( ขอขอบคุณ คุณพิกุลแก้ว สมาชิก kaewkao.com ผู้พิมพ์เป็นวิทยาทาน )