เพลงยาวเรื่à¸à¸‡à¸•ีเมืà¸à¸‡à¸žà¸¡à¹ˆà¸²
จาก ตู้หนังสือเรือนไทย
เนื้อหา |
ข้อมูลเบื้องต้น
แม่แบบ:เรียงลำดับ พระบวรราชนิพนธ์: กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท พระราชนิพนธ์เรื่องนี้เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๖ หลังจากไทยตีทวาย มะริด ตะนาวศรี เป็นเมืองขึ้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท มีพระราชดำริว่าควรยกทัพไปตีให้ถึงเมืองหลวงของพม่า จึงโปรดเกล้าฯให้เกณฑ์ทัพออกไปตั้งที่เมืองทวายก่อน ฝ่าย กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท ทรงยกทัพออกไปตั้งที่เมืองชุมพร เกณฑ์หัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันตกให้ต่อเรือรบ แล้วจะเสด็จยกทัพเรือขึ้นไปสมทบกับกองทัพหลวงที่ตั้งอยู่ที่แม่น้ำน้อยใต้ไทรโยคลงมา ครั้นพม่าทราบว่าเมืองมะริด ทวาย ตะนาวศรีมาสวามิภักดิ์กับไทย จึงยกทัพกลับมาตีเมืองทวายกลับคืนไป ฝ่ายมะริดก็แข็งข้อเป็นกบฏต่อไทยขึ้นมาบ้าง ประกอบกับแม่ทัพนายกองไทยไม่มีความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน การเสด็จยกทัพไปตีพม่าจึงไม่เป็นไปตามพระราชประสงค์
บทประพันธ์
ข้อความตอนต้นขาดหายไป ค้นพบเพียงเริ่มต้นว่า
. | |||
. | |||
. | |||
ประกอบด้วยโภชนากระยาหาร | ทุกถิ่นฐานบริบูรณ์เป็นหนักหนา | ||
อยู่เย็นเป็นสุขทุกทิวา | เช้าค่ำอัตราทั้งราตรี | ||
ประหนึ่งว่าจะไม่มีค่ำคืน | รวยรื่นเป็นสุขเกษมศรี | ||
ไม่เห็นเช่นว่าจะเป็นเหมือนเช่นนี้ | มาเยินยับอัปรีย์ศักดิ์ศรีคลาย | ||
ทั้งถนนหนทางอารามราช | มาวินาศสิ้นสุดสูญหาย | ||
สารพัดย่อยยับกลับกลาย | อันตรายไปจนพื้นปัถพี | ||
เมื่อพระกาฬมาผลาญดังทำนาย | แสนเสียดายภูมิพื้นกรุงศรี | ||
บริเวณอื้ออึงด้วยชลธี | ประดุจเกาะอสุรีลงกา | ||
เป็นคันขอบชอบกลถึงเพียงนี้ | มาเสียสูญไพรีอนาถา | ||
ผู้ใดใครเห็นไม่นำพา | อยุธยาอาภัพลับไป | ||
เห็นจะสิ้นอายุพระนคร | ให้อาวรณ์ผู้รักษาหามีไม่ | ||
เป็นป่าหญ้ารกดังพงไพร | แต่จะสาบสูญไปทุกทิวา | ||
คิดมาก็เป็นน่าอนิจจัง | ด้วยกรุงเป็นที่ตั้งพระศาสนา | ||
ทั้งอารามเจดีย์ที่บูชา | ปฏิมาฉลององค์พระทรงญาณ | ||
ก็ทลายยับยุ่ยเป็นผุยผง | เหมือนพระองค์เสด็จดับสังขาร | ||
ยังไม่สิ้นศาสนามาอรธาน | ทั้งเจดีย์วิหารก็สูญไป | ||
เสียดายพระนิเวศน์บุรีวัง | พระที่นั่งทั้งสามงามไสว | ||
ดั้งระเบียบชั้นเป็นหลั่นไป | อำไพวิจิตรรจนา | ||
มุขโถงมุขเด็จมุขกระสัน | เป็นเชิงชั้นลวดลายล้วนเลขา | ||
เพดานในไว้ดวงดารา | ผนังฝาดาดแก้วดังวิมาน | ||
ที่ตั้งบัลลังค์แก้วทุกองค์ | ทวารลงอัฒน์จันทร์หน้าฉาน | ||
ปราบพื้นรื่นราบดังพระลาน | มีโรงคชาธารตระการตา | ||
ทิมดาบคดลดพื้นกำแพงแก้ว | เป็นถ่องแถวยืดยาวกันหนักหนา | ||
เป็นที่แขกเฝ้าเข้าวันทา | ดังเทวานฤมิตประดิษฐ์ไว้ | ||
สืบทรงวงศ์กษัตริย์มาช้านาน | แต่บุราณแล้วไม่นับพระองค์ได้ | ||
พระที่นั่งซึ่งตั้งอยู่ข้างใน | มีสระชลาลัยชลธี | ||
ชื่อที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ | ที่ประพาสมัจฉาในสระศรี | ||
ทางเสด็จเสร็จสิ้นสารพันมี | เป็นที่กษัตริย์สืบมา | ||
ก็สูญสิ้นศรีมลายหายหมด | จะปรากฏสักสิ่งไม่มีว่า | ||
อันถนนหนทางมรรคา | คิดมาก็เสียดายทุกสิ่งอัน | ||
ร้านเรียบเป็นระเบียบด้วยรุกขา | ขายของนานาทุกสิ่งสรรพ์ | ||
ทั้งพิธีปีเดือนทุกคืนวัน | สารพันจะมีอยู่อัตรา | ||
ฤดูใดก็ได้เล่นเกษมสุข | แสนสนุกทั่วเมืองหรรษา | ||
ตั้งแต่นี้แลหนาอกอา | อยุธยาจะสาบสูญไป | ||
จะหาไหนได้เหมือนกรุงแล้ว | ดังดวงแก้วอันสิ้นแสงใส | ||
นับวันแต่จะยับนับไป | ที่ไหนจะคงคืนมา | ||
ไป่ปรากฏเหตุเสียเหมือนครั้งนี้ | มีแต่บรมสุขา | ||
ครั้งนี้มีแต่พื้นพสุธา | อนิจจาสังเวชทนาใจ | ||
ทั้งนี้เป็นต้นด้วยผลเหตุ | จะอาเพศกษัตริย์ผู้เป็นใหญ่ | ||
มิได้พิจารณาข้าไท | เคยใช้ก็เลี้ยงด้วยเมตตา | ||
ไม่รู้รอบประกอบในราชกิจ | ประพฤติการแต่ที่ผิดด้วยอิจฉา | ||
สุภาษิตท่านกล่าวเป็นราวมา | จะตั้งแต่งเสนาธิบดี | ||
ไม่ควรจะให้อัครฐาน | จะเสียการแผ่นดินกรุงศรี | ||
เพราะไม่ฟังตำนานโบราณมี | จึงเสียทีเสียวงศ์กษัตรา | ||
เสียยศเสียศักดิ์นัคเรศ | เสียทั้งพระนิเวศน์วงศา | ||
เสียทั้งตระกูลนานา | เสียทั้งไพร่ฟ้าประชากร | ||
สารพัดจะเสียสิ้นสุด | ทั้งการยุทธก็ไม่เตรียมฝึกสอน | ||
จึงไม่รู้กู้แก้พระนคร | เหมือนหนอนเบียนให้ประจำกรรม | ||
อันจะเป็นเสนาธิบดี | ควรที่จะพิทักษ์อุปถัมภ์ | ||
ประกอบการหว่านปรายไว้หลายชั้น | ป้องกันปัจจาอย่าให้มี | ||
นี่ทำหาเป็นเช่นนั้นไม่ | เหมือนไพร่ชั่วช้ากระทาสี | ||
เหตุภัยใกล้กรายร้ายดี | ไม่มีที่รู้สักประการ | ||
ศึกมาแล้วก็ล่าไปทันที | มิได้มีเหตุจึงแตกฉาน | ||
ตีกวาดผู้คนไม่ทนทาน | เผาบ้านเมืองยับจนกลับไป | ||
ถึงเพียงนี้ไม่มีที่จะกริ่งเลย | ไม่เคยรู้ล่วงลัดจะคิดได้ | ||
ศึกมาชิงล่าเลิกกลับไป | มิได้เห็นจะฝืนคืนมา | ||
จะคิดโบราณอย่างนี้ก็หาไม่ | ชาติไพร่หลงฟุ้งแต่ยศถา | ||
ครั้นทัพเขายกกลับมา | จะองอาจอาสาก็ไม่มี | ||
แต่เลี้ยวลดปดเจ้าทุกเช้าค่ำ | จนเมืองคร่ำเป็นผุยยับยี่ | ||
ฉิบหายตายล้มไม่สมประดี | เมืองยับอัปรีย์จนทุกวันฯ | ||
เหตุเสียกรุงศรีอยุธยา | เหมือนคำที่ว่าไม่เสกสรรค์ | ||
ชะล่าใจเคยได้แต่ครั้งนั้น | จึงประชิดติดพันแต่นั้นมา | ||
แตกยับกลับไปก็หลายหน | คิดกลจะลวงให้หลงหา | ||
แต่งคนให้ถือหนังสือมา | เจรจาความเมืองเป็นไมตรี | ||
ทำไว้แต่พอให้รอรั้ง | ขยับยกเข้ามาตั้งตะนาวศรี | ||
จะเดินมั่นกันติดทางตี | ทำนองทีจะคิดให้ชิดไว้ | ||
เห็นจะผ่อนโยธาอาหาร | มันคิดการมิให้ใครสงสัย | ||
จะนิ่งอยู่ดูเบาเอาใจ | เห็นเหตุเภทภัยจะเกิดการมา | ||
จะเร่งรัดตัดคิดมันเสียก่อน | บั่นรอนอย่าให้ทันแน่นหนา | ||
จำจะคิดให้ผิดแต่ก่อนมา | เป็นทัพหน้านาวายกไป | ||
ตามทางทะเลไปสงขลา | จะขุดพสุธาเป็นคลองใหญ่ | ||
ให้เรือรบออกประจบเอาเมืองไทร | ปากใต้ฝ่ายทะเลให้พร้อมกัน | ||
จึงจะยกไปตีเอามะริด | จะปิดปากน้ำเสียให้มั่น | ||
ทัพเรือมันจะพลอยเข้าช่วยกัน | จะตีบั่นเกยทัพให้ยับไป | ||
รบไหนจะให้ยับลงที่นั่น | แต่กึ่งวันไม่ให้ทนทานได้ | ||
จะทำการครั้งนี้ให้มีชัย | จะไว้เกียรติให้สืบทั้งแผ่นดิน | ||
ทำเมืองเราก่อนเท่าใด | จะทดแทนมันให้หมดสิ้น | ||
มันจิตอาหังการ์ทามิฬ | จะล้างให้สุดสิ้นอย่าสงกา | ||
การเสร็จสำเร็จลงเมื่อใด | ซึ่งคิดไว้ขอให้สมปรารถนา | ||
แม้นมิได้ก็ไม่กลับคืนมา | จะเห็นเมืองพม่าในครั้งนี้ | ||
เกรงกริ่งอยู่แต่ข้างทัพบก | จะไม่ยกหักได้ให้ถึงที่ | ||
เกลือกมันกั้นตัดทางตี | จะตัดที่เสบียงอาหารไว้ | ||
ไม่สมคะเนให้เรรวน | ทำป่วนไม่หักเอามันได้ | ||
เท่านี้ดอกที่วิตกใจ | จะทำให้เสียการเหมือนทะวาย | ||
เมื่อชนะแล้วกลับแพ้ให้แชไป | จึงเสียชัยเสียเชิงไม่สมหมาย | ||
พากันหนีแต่ไม่มีอันตราย | ถ้าเสียหายอย่างอื่นไม่เป็นไร | ||
อันกรุงรัตนะอังวะครั้งนี้ฤา | จะพ้นเนื้อมืออย่าสงสัย | ||
พม่าจะมาเป็นข้าไทย | จะได้ใช้สร้างกรุงอยุธยา | ||
แม้นสมดังจิตไม่ผิดหมาย | จะเสี่ยงทายตามบุพเพวาสนา | ||
จะได้ชูกู้ยกนัครา | สมดังปรารถนาทุกสิ่งอัน | ||
ถ้าเสร็จการอังวะลงตราบใด | จะพาใจเป็นสุขเกษมสันต์ | ||
อ้ายชาติพม่ามันอาธรรม์ | เที่ยวล้างขอบขันฑ์ทุกพารา | ||
แต่ก่อนก็มิให้มีความสุข | รบรุกฆ่าฟันเสียหนักหนา | ||
แต่บ้านร้างเมืองเซทั้งวัดวา | ยับเยินเป็นป่าทุกตำบล | ||
มันไม่คิดบาปกรรมอ้ายลำบาก | แต่พรัดพรากจากกันทุกแห่งหน | ||
มันเหล่าอาสัตย์ทรชน | ครั้งนี้จะป่นเป็นธุลี | ||
เพราะเหตุบาปกรรมมาซ้ำเติม | จะพูนเพิ่มให้ระยำยับยี่ | ||
ด้วยทำนายว่าไว้แต่ก่อนมี | เหมือนครั้งมอญไปตีเอานัครา | ||
คือหงส์ลงมากินน้ำหนอง | เหตุต้องเมืองมอญหงสา | ||
ตัวนายอองไจยคือพรานป่า | คิดฆ่าหงส์ตายจึงได้ดี | ||
คือพม่ามาตีเอามอญได้ | ก็สมในทำนายเป็นถ้วนถี่ | ||
ยังแต่พยัคฆ์เรืองฤทธี | จะกินพรานที่ยิงหงส์ตาย | ||
บัดนี้ก็ถึงแก่กำหนด | จะปรากฏโดยเหตุเป็นกฎหมาย | ||
ทัพเราเข้าต้องคำทำนาย | คือเสือร้ายอันแรงฤทธา | ||
จะไปกินพรานป่าที่ฆ่าหงส์ | ให้ปลดปลงม้วยชีพสังขาร์ | ||
แล้วมีคำทำนายบุราณมา | ว่าพม่าจะสิ้นซึ่งรูปกาย | ||
ถ้าผู้ใดใครเห็นให้เขียนไว้ | จึงจะได้ประจักษ์สืบสาย | ||
เห็นเป็นเหตุต้องเหมือนคำทำนาย | อังวะจะฉิบหายในครั้งนี้ | ||
ถ้าพร้อมใจพร้อมจิตช่วยคิดการ | จะสำราญทั่วโลกเกษมศรี | ||
นี่จนใจสิ่งไรก็ไม่มี | เห็นทีจะตะกายไปตามจน | ||
จะไปได้ฤามิได้ยังไม่รู้ | จะเสือกสู้ไปตามขัดสน | ||
ถ้าสุดคิดผิดหมายที่ผ่อนปรน | ก็จะบนบวงสรวงแก่เทวา | ||
เดชะเทเวศน์ช่วยอวยชัย | ที่คิดไว้ขอให้สมปรารถนา | ||
ตั้งแต่สวรรค์ชั้นกามา | ตลอดจนมหาอัครพรหม | ||
ขอจงมาช่วยอวยพรชัย | ที่มาดไว้ให้ได้ดังประสงค์ | ||
จงดลใจไทยกรุงให้นิยม | ช่วยระดมกันให้สิ้นศึกเอย ฯฯ | ||