นิราศหนà¸à¸‡à¸„าย
จาก ตู้หนังสือเรือนไทย
การปรับปรุง เมื่อ 13:33, 24 กันยายน 2552 โดย CrazyHOrse (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
เนื้อหา |
ข้อมูลเบื้องต้น
ผู้แต่ง: หลวงพัฒนพงศ์ภักดี (ทิม สุขยางค์)
บทประพันธ์
๏ จะเริ่มเรื่องเมืองหนองคายจดหมายเหตุ | ในแดนเขตเขื่อนคุ้งกรุงสยาม | ||
บังเกิดพวกอ้ายฮ่อมาก่อความ | ทำสงครามกับลาวพวกชาวเวียง | ||
ซึ่งเจ้าเมืองเขตขัณฑ์ตะวันออก | ก็แต่งบอกเขียนหนังสือลงชื่อเสียง | ||
ในเขตแดนหนองคายเมืองรายเรียง | เมืองใกล้เคียงบอกบั่นกระชั้นมา | ||
ว่าล้วนพวกอ้ายฮ่อทรลักษณ์ | ประมาณสักสามพันล้วนกลั่นกล้า | ||
เที่ยวรบปล้นขนทรัพย์จับประชา | ลาวระอามิได้อาจขยาดกลัว ฯ | ||
๏ สมเด็จพระปรมินทร์บดินทร์เดช | ซึ่งปกเกศร่มเกล้าเจ้าอยู่หัว | ||
สดับเรื่องเมืองบนกระมลมัว | ศึกพันพัวราษฎร์ประเทศในเขตคัน | ||
ด้วยไพร่บ้านพลเมืองจะเคืองขุ่น | ทรงการุญราษฎรคิดผ่อนผัน | ||
เชิญสมเด็จเจ้าพระยาปรึกษาพลัน | พร้อมด้วยพันธุพงศ์พระวงศ์วาน | ||
เห็นแต่เจ้าพระยามหินทร์เคาซิลลอ | เป็นเนื้อหน่อพงศ์เผ่าเหล่าทหาร | ||
พอจะเป็นแม่ทัพรับราชการ | ที่รำคาญขุ่นข้องเมืองหนองคาย | ||
แล้วจัดพระยา, พระ, หลวงทั้งปวงอีก | ให้เป็นปีกซ้ายขวาทัพหน้าหลาย | ||
ทั้งเกณฑ์เลขสมฉกรรจ์พันทนาย | ทั้งเลขจ่ายตามกรมระดมกัน | ||
เกณฑ์เลขทาสทั้งที่มีค่าตัว | ดูนุงนัวนายหมวดเร่งกวดขัน | ||
ผู้ที่เป็นมุลนายวุ่นวายครัน | บ้างใช้ปัญญาหลอกบอกอุบาย | ||
ว่าตัวทาสหลบลี้หนีไม่อยู่ | ข้างเจ้าหมู่เกาะตัวจำนำใจหาย | ||
ที่ตัวทาสหนีจริงวิ่งตะกาย | ทำวุ่นวายยับเยินเสียเงินทอง | ||
เกณฑ์ขุนหมื่นขึ้นใหม่ในเบี้ยหวัด | ขุนหมื่นตัดเกณฑ์ตามเอาสามสอง | ||
ท่านนายเวรเกณฑ์กวดเต็มหมวดกอง | เอาข้าวของเงินตราปัญญาดี | ||
เหล่าพวกขุนหมื่นไพร่ต้องไปทัพ | ที่มีทรัพย์พอจะจ่ายไม่หน่ายหนี | ||
สุ้จ้างคนแทนตัวกลัวไพรี | ที่เงินมีเขาไม่อยากจะจากจร ฯ | ||
๏ ฉันจำร้างห่างมิตรขนิษฐ์นาฏ | หวานสวาทด้วยจะร้างห่างสมร | ||
แสนถวิลจินดาด้วยอาวรณ์ | สะท้อนถอนฤทัยอาลัยครวญ | ||
กางกรประคองกอดแม่ยอดรัก | พิศพักตร์สาวน้อยละห้อยหวน | ||
นึกก็น่าใจหายเสียดายนวล | ด้วยจำด่วนจากนางไปห่างเรือน | ||
แสนสงสารแต่พธูจะอยู่เดียว | นึกเฉลียวอาลัยใครจะเหมือน | ||
พึ่งอยู่กินด้วยพี่สักสี่เดือน | จะจากเพื่อนพิศวาสแทบขาดใจ | ||
ครั้นเห็นน้องนองเนตรสังเวชจิต | นึกหวนคิดว่าจะเบือนเชือนไถล | ||
จะบอกป่วยเสียให้มากไม่อยากไป | กลัวจะไม่เป็นธรรม์กตัญญู | ||
นายมีกิจควรคิดเอาตัวรอด | คนจะย้อนค่อนขอดได้อดสู | ||
ต้องจำใจจำร้างห่างพธู | จงเชิญอยู่ให้เป็นสุขสนุกดี | ||
อย่าร้องไห้จะเป็นลางจงสร่างโศก | อย่าวิโยคนักน้องจะหมองศรี | ||
แม้นตั้งใจไว้ท่าไม่ราคี | นั่นแลมีความชอบฉันขอบใจ ฯ | ||
๏ ถึงวันพุธเดือนสิบแรมแปดค่ำ | เป็นวันอำมฤตโชคโฉลกใหญ่ | ||
ณ ปีกุนสัปตกศกจะยกไป | จำครรไลโลมลาสุดาดวง | ||
น้ำตาไหลพรากพรากออกจากห้อง | เหลียวดูน้องใจหายไม่วายห่วง | ||
ค่อยแข็งขืนฝืนอารมณ์ที่ตรมทรวง | แล้วเลยล่วงอำลาแม่อาพลัน | ||
ท่านก็ร่ำอวยชัยให้เป็นสุข | อย่ามีทุกข์อันตรายทางผายผัน | ||
สวัสดีมีชียพ้นภัยยัน | เมื่อกลับนั้นจงเป็นสุขสิ้นทุกข์ร้อน | ||
ลงจากเรือนเบือนดูแม่คู่ชื่น | ถอนสะอื้นโหยไห้ฤทัยถอน | ||
สละรักหักใจอาลัยวรณ์ | ฝืนใจจรรีบเดินเมินไม่มอง | ||
มาครู่หนึ่งถึงสถานบ้านเจ้าคุณ | กำลังวุ่นผู้คนเขาขนของ | ||
ฉันฝืนพักตร์เข้าฝาน้ำตานอง | ใจสยองยิ่งสลดระทดระทม | ||
แสนคะนึงภึงมิตรพิศวาส | ใจจะขาดลงด้วยร้างห่างคู่สม | ||
ค่อยแข็งขืนกลืนน้ำตาหักอารมณ์ | ครั้นวายตรมแล้วมานั่งคอยฟังการ | ||
คนพร้อมพรั่งนั่งรอหน้าหอใหญ่ | ทั้งพวกไพร่เหล่าพหลพลทหาร | ||
บ้างขนเสบียงลงเรือเกลือน้ำตาล | ทั้งข้าวสารข้าวตากและหมากพลู | ||
ของเจ้าคุณขนเนื่องทั้งเครื่องใช้ | คนขนไม่หยุดหย่อนร้องอ่อนหู | ||
เกินจะพรรณนาเหลือตาดู | เครื่องควาหวานมีอยู่ก็มากครัน | ||
เครื่องอาวุธสารพัดท่านจัดซื้อ | ล้วนเครื่องมอรบทัพดูขับขัน | ||
ซื้อเสื้อหมวกแจกจ่ายเป็นหลายพัน | ล้วนแพรพรรณสักหลาดสะอาดตา | ||
ลงทุนซื้อของมีบัญชีเสร็จ | สักร้อยเจ็ดสิบชั่งก็ยังกว่า | ||
เครื่องหน้าไม้เครื่องมือซื้อเอามา | ทั้งมีดพร้าจอบเสียบก็เตรียมการ | ||
และท่านทำแวนเพชรสิบเอ็ดวง | หวังใจจงแจกจ่ายนายทหาร | ||
ที่ไม่คิดย่อหย่อนเข้ารอนราญ | ใครทำการศึกสำเร็จบำเหน็จมือ | ||
ทั้งเสื้อผ้าสารพัดท่านจัดครบ | ถ้าใครรบจริงจริงไม่วิ่งตื๋อ | ||
เข้าตีข้าศึกแยกให้แตกฮือ | จดเอาชื่อแล้วจะได้ให้รางวัล ฯ | ||
๏ ครั้นบ่ายสามโมงถ้วนจวนจะฤกษ์ | เอิกเกริกไพร่นายเตรียมผายผัน | ||
พอสมเด็จเจ้าพระยาท่านมาพลัน | เจ้าคุณนั้นออกมารับคำนับกาย | ||
พร้อมสมณพราหมณาโหราศาสตร์ | นั่งเกลื่อนกลาดเคียงขนานประมาณหลาย | ||
พนักงานตั้งเตียงไว้เรียงราย | ที่อาบสายชลธาร์เบญจางาม | ||
เจ้าคุณแม่ทัพคำนับน้อมสมเด็จ | แล้วก็เสร็จสู่เบญจาหน้าสนาม | ||
สรงพุทธมนต์ชลอาบปราบสงคราม | ขึ้นเหยียบไม้ข่มนามศัตรูพาล | ||
พระสงฆ์องค์สมมุตวงศ์พุทโธ | ชยันโตสำเนียงเสียงประสาน | ||
เสียงฆ้องชัยลั่นต้องก้องกังวาน | โหราจารย์พรามหมณ์เคาะบัณเฑาะว์ดัง | ||
พระครูโหรอวยชัยให้เดชะ | พระหมณะผู้เฒ่าก็เป่าสังข์ | ||
พร้อมด้วยเหล่าเจ้าพระยาดาประดัง | ขุนนางนั่งสลอนอวยพรชัย ฯ | ||
๏ ฝ่ายเจ้าคุณแม่ทัพครั้นสรรพเสร็จ | น้อมสมเด็จเจ้าพระยาอัชฌาสัย | ||
ออกมานั่งคอยฤก์เบิกบานใจ | ผินพักตร์ไปฝ่ายบุรพาทางนาคิน | ||
ท่านสมเด็จเจ้าพระยาคอยหาฤกษ์ | พอเมฆเลิกดูอุดมสมถวิล | ||
สุริยงทรงรถหมดมลทิน | ทางกสิณบริบูรณ์เพิ่มพูนดี | ||
สมเด็จท่านขานไขบอกได้ฤกษ์ | แล้วให้เบิกฆ้องชัยได้ดิถี | ||
ก็โห่ร้องเอาชัยปราบไพรี | ท่านแม่ทัพจรลีลงเรือพลัน | ||
ฝีพายพลโห่ร้องก้องสะเทือน | เสร็จคลาเคลื่อนกองทัพดูคับขัน | ||
เรือกระบวนสวนแซงพายแย่งกัน | เสียงสนั่นเป็นระลอกกระฉอกชล | ||
ทั้งสองฟากเรือตลอดจอดเป็นหมู่ | ล้วนคนดูกองทัพเรือสับสน | ||
กลามตลอดจอดแพออกแจจน | กญิงชายบนตลิ่งดูอยู่สำราญ | ||
ดูเรือแพแออัดสงัดหาย | ไม่อาจพายออกมาตัดหน้าฉาน | ||
กลัวจะกีดกันขวางทางชลธาร | หลบหนีซ่านเข้าจอดตลอดมา ฯ | ||
๏ ครั้นถึงตำหนักแพแลไสว | พวกข้างในนั่งอยู่ดูหนักหนา | ||
ปางพระจอมจักรพรรดิ์กษัตรา | เสด็จมาคอยรับกองทัพเอง | ||
เหล่าขุนนางแวดล้อมอยู่พร้อมพรั่ง | ลงที่นั่งปิกนิกกั้นบดเก๋ง | ||
ทอดพระเนตรเรือแพทรงแลเล็ง | เสียงแซ่เซ็งแตรฝรั่งก้องกังวาน | ||
เรือเจ้าคุณจอดเลียบประเทียบลำ | ถวายคำนับน้อมจอมสถาน | ||
แล้วถวายบังคมราบลงกราบกราน | ตามบูราณประเพณีที่มีมา | ||
กรุงกษัตริย์จิ้มเจิมเฉลิมพักตร์ | ทรงสังข์ทักษิณาวัฏต่อหัตถา | ||
เป็นสังข์เวียนซ้ายเรียกทักษิณา | เป็นภาษาไพร่คิดโดยจิตเดา | ||
ด้วยฉันมาหน้าแคร่ท่านแม่ทัพ | ครั้นได้รับน้ำสังข์ไม่นั่งเหงา | ||
เป็นเหตุให้ทุกข์สร่างลงบางเบา | แต่ยังเมาโศกรักหนักอาวรณ์ | ||
ท่านเจ้าคุณแม่ทัพคำนับน้อม | ฝ่ายพระจอมบพิตรอดิศร | ||
เสด็จทรงสังข์สรรเสริญเจริญพร | แล้วกรายกรหยิบนาฬิกามาประทาน | ||
ทองคำทำตลับระยับย้อย | ทั้งสายสร้อยสามกษัตริย์จัดประสาน | ||
พระจอมนาถมีพระราชโองการ | ว่าของนานทำไว้จะให้เธอ | ||
ฉันลงชื่อเขียนไว้ในตลับ | เจ้าคุณรับได้ของประคองเสนอ | ||
ถวายคำนับซ้ำทำบำเรอ | เสด็จเผยอเรือออกบอกฝีพาย | ||
ครั้นเรือออกประตูฝ่านาวาคล้อย | พระสงฆ์คอยประน้ำมนต์พลทั้งหลาย | ||
คนในเรือรับพลางต่างวางพาย | น้อมถวายบังคมประนมกร ฯ | ||
๏ ครั้นล่วงพ้นโขลนทวารก็ขานโห่ | เสียงก้องโกลาหลพลสลอน | ||
เอิกเกริกเร่งมาในสาคร | เรือกระฉ่อนน้ำกระฉอกละลอกโครม | ||
เหล่าคนดูเรือจอดตลอดทั่ว | ล้วนแต่งตัวอ่าอวดประกวดโฉม | ||
ที่สาวแท้แลแต่ไกลน่าใคร่โลม | ฉันหน่งโน้มหักใจอาลัยวอน | ||
พวกคนดูถึงว่าที่มีสกุล | เห็นเจ้าคุณไหว้คำนับสลับสลอน | ||
บางคนไหว้แล้วช่วยอำนวยพร | ประนมกรหยุดจอดตลอดมา ฯ | ||
๏ ถึงตำหนักแพวังหน้านาวาตรง | มีพระสงฆ์ประน้ำมนต์บ่นคาถา | ||
ชยันโตอวยชัยในนาวา | จอดอยู่หน้าตำหนักแพแซ่สำเนียง | ||
พระวังหน้านั้นก็เสร็จเสด็จรับ | ส่งกองทัพยืนร่าหน้าเฉลียง | ||
พน้อมเสนาขวาซ้ายยืนรายเรียง | บ้างอยู่เคียงพระองค์ผู้ทรงนาม | ||
ท่านเจ้าคุณแม่ทัพคำนับน้อม | รองพระจอมจุลจักรหลักสยาม | ||
พระกายไทยใจทหารชาญสงคราม | พระพักตร์งามสง่าชูสุรพงศ์ | ||
พอกระบวนด่วนล่วงมาเลยลับ | เรือกองทัพเซ็งแซ่แลระหง | ||
สังเกตลมพระพายพัดชายธง | นิมิตมงคลดีเลิศประเสริฐครัน | ||
เรือเขยื้อนเตือนฝีพายทั้งซ้ายขวา | พระสุริยาเบี่ยงบ่ายลงผายผัน | ||
พอเรือไฟพระสุนทราแล่นมาทัน | เห็นตัวท่านยืนโยกแล้วโบกมือ | ||
นึกสงสัยจะเป็นใครที่ไหนหนอ | แต่งตัวป๋อโบกมือผับบอกนับถือ | ||
สังเกตได้แต่ที่มีสี่นิ้วมือ | นี้คงคือเจ้าคุณพระสุนทรา | ||
เพราะนิ้วมือท่านมีสี่นิ้วถ้วน | นิ้วชี้ด้วนเด็ดชัดข้างหัตถ์ขวา | ||
คุมเรือไฟไล่แล่นตามเข้ามา | ฝีพายคว้าเชือกผูกเรือแล่นเหลือใจ | ||
โยงเรือแม่ทัพกับเรือบุตร | เรือไฟฉุดแล่นลิ่วใจหวิวไหว | ||
เรือนายทัพนายกองเนืองนองไป | เรือกลไฟจูงมาในสาคร ฯ | ||
๏ ครั้นถึงวัดเขมาภิรตาราม | ประทับตามฤกษ์กำหนดให้งดก่อน | ||
ด้วยกลางคืนโหรมิให้ครรไลจร | ก็พอผ่อนแรมกระบวนอยู่ถ้วนกัน | ||
พอสมเด็จเจ้าฟ้าจาตุรนต์ | ลงเรือกลไฟเล็กเล็กทั้งนั้น | ||
ขนมาส่งกองทัพด้วยฉับพลัน | มาถึงทันรอจักรหยุดพักคอย | ||
เสด็จลงสู่ยังที่นั่งเก๋ง | ฝีพายเร่งตึงข้อไม่ท้อถอย | ||
พอจวนถึงรอรานาวาคอย | เรือบ่ายคล้อยหันเรียงให้เอียงลำ | ||
เจ้าคุณน้อมบังคมก้มคำนับ | สมเด็จรับยิ้มนิยมดูคมขำ | ||
พระทัยดีมีพระกรุณประจำ | หยิบเปลป่านซองทองคำมาประทาน | ||
เจ้าคุณน้อมคำนับรับสิ่งของ | สมเด็จพร้องอวยชัยทรงไขขาน | ||
แล้วเอื้อนอรรถตรัสเสร็จสำเร็จการ | ไม่ช้านานกลับหลังคืนวังพลัน ฯ | ||
๏ ฝ่ายข้างพวกกองทัพนั้นสับสน | บ้างขึ้นบนบกกรายเที่ยวผายผัน | ||
บ้างหุงข้าวเผาปลาทูกินอยู่กัน | บางคนหันเข้าใต้ร่มไม้นอน | ||
เจ้าคุณท่านอาศัยในศาลา | ฉันรักษาอยู่ในเรืออิงเหนือหมอน | ||
คำนึงถึงขนิษฐาให้อาวรณ์ | อุระร้อนรัญจวนหวนคะนึง | ||
ป่านฉะนี้แก้วพี่จะโหยหวน | จะรัญจวนหรือว่าไม่อาลัยถึง | ||
แต่อกพี่อาวรณ์ดั่งศรตรึง | นอนรำพึงถึงแม่ดวงพวงพะยอม | ||
แสนเสียดายสายสวาทอนาถจิต | โอ้ามเอ๋ยเคยชิดอนบถนอม | ||
ครั้นยิ่งคิดจิตตรมอารมณ์ตรอม | ประหนึ่งจอมเขาทับลงกับกาย | ||
ซึ่งพี่มาจากนางแต่ร่างเปล่า | หัวใจเฝ้าเคียงประโลมแม่โฉมฉาย | ||
คิดหนังหน่วงห่วงสวาทไม่คลาดคลาย | โศกไม่วายเสื่อมเศร้าอกเราอา | ||
แสนอาวรณ์นอนเผลอละเมอม่อย | พอเดือนคล้อยดาวเคลื่อนเลื่อนเวหา | ||
จวนแจ้งแสงศรีสุริยา | ตื่นนิทราโหยไห้ฤทัยตรม | ||
เสร็จเสพโภชนากระยาหาร | ทั้งคาวหวานกล้ำกลืนรสขื่นขม | ||
กินน้ำใสก็เหมือนกินน้ำดินตม | ด้วยอารมณ์หวังรักหนักอุรัง ฯ | ||
๏ ครั้นเช้าสองโมงครึ่งกึ่งนิมิต | สำเร็จกิจเสร็จสมอารมณ์หวัง | ||
ฝีพายเตรียมนาวาประดาดัง | จอดคอยฟังลั่นฆ้องตามองเมียง | ||
ครั้นเจ้าคุณลงเรือนั่งเหนือเบาะ | ฝีพายเกาะโห่ขานประสานเสียง | ||
ตีฆ้องหุ่ยหึ่งพลันลั่นสำเนียง | เรือพร้อมเพรียงออกตามหลั่นหลามมา | ||
คระโครมครึกกึกก้องท้องสมุทร | พายรีบรุดเร็วนักดั่งปักษา | ||
คว้างคว้างมาในกลางชลธาร์ | ดูนาวาเร็วรัดเทียมทัดลม | ||
ครั้นจะร่ำระยะทางชมบางบ้าน | ก็ขี้คร้านหลีกจัดตัดประสม | ||
ด้วยนิราศอื่นมีดีอุดม | ล้วนคารมวิเวกหวานเคยอ่านฟัง | ||
ครั้นเรือมาฉิวฉิวแลลิ่วลับ | ฝีพายขับขบเขี้ยวไม่เหลียวหลัง | ||
ชลกระฉอกละลอกเสียงเพียงจะพัง | กระทบฝั่งกระจายทำลายลง ฯ | ||
๏ ถึงเมืองประทุมธานีบุรีรัตน์ | วายุพัดน้ำกระเด็นขึ้นเป็นผง | ||
พระอาทิตย์เลี้ยวลัดอัสดง | เรือตัดตรงข้ามฟากพายบากมา | ||
รีบรัดมาจอดวัดประทุมทอง | พินิจมองเห็นพระสงฆ์ทรงสิกขา | ||
ล้วนรามัญชยันโตโพธิยา | ตามภาษาพระมอญอวยพรชัย | ||
ท่านเจ้าคุณแม่ทัพคำนับน้อม | มีจิตพร้อมศรัทธาอัชฌาสัย | ||
ก็ขึ้นจากเรือเดินดำเนินไป | ตรงเข้าในศาลาหาสมภาร | ||
ถวายเงินแก่พระสงฆ์องค์ละบาท | ทั้งอาวาสด้วยศรัทธาท่านกล้าหาญ | ||
น้อมจิตคิดตั้งปณิธาน | เจ้าอธิการคำรพจบสัพพี | ||
ก็แรมทัพอยู่ที่นั่นพร้อมกันหมด | พระสุริยงเยื้องรถอับฉวี | ||
ทั้งนายไพร่สุขเกษมจิตเปรมปรีดิ์ | เหล่าโยธีกองทัพบ้างหลับนอน | ||
ด้วยวัดนี้ไม่มีที่อาศัย | เดินไปไหนน้ำท่าเปีกผ้าผ่อน | ||
วัดประทุมลุ่มเต็มทีไร้ที่ดอน | คนต้องซ้อนแซกเสียดยัดเยียดกัน | ||
เหมือนตะรางสัสดีที่แคบคับ | นอนไม่หลับเจียนชีวาแทบอาสัญ | ||
ตาบุนปราบแกขนาบเอาโซ่พัน | เร่งรางวัลข้าทุเลาเอาเงินมา | ||
โอ้พุ่มพวงดวงจิตชีวิตพี่ | ป่านฉะนี้สาวน้อยจะคอยหา | ||
จะโศกเศร้าว้าเหว่อยู่เอกา | อนิจจาแสนสังเวชน้ำเนตรพราว | ||
โอ้อาลัยใจหายไม่วายโศก | บังเกิดโรคร้างงามเมื่อยามหนาว | ||
โอ้ยามรักหนักจิตเหมือนติดกาว | ไม่มีคราวลืมมิตรยลติดตา | ||
ยิ่งหวนหวนห่วงไห้ฤทัยโหย | อุระโรยร่วงหรุบดั่งบุปผา | ||
เมื่อต้องแสงสุริยงส่องลงมา | เกสรสาโรชร่วงเหมือนทรวงเรา | ||
หวนคะนึงถึงมิตรพิศวาส | ใจจะขาดเสียเพราะทรวงงงง่วงเหงา | ||
กำเริบโรคโศกร้างไม่บางเบา | ยุพเยาว์จะมิได้เห็ใจเรียม | ||
ค่อยแข็งขืนฝืนอารมณ์ที่ตรมตรึก | ครั้นนึกนึกแล้วค่อยวายจิตอายเหนียม | ||
คงได้กลับยลโฉมประโลมเลียม | ไม่ทันเตรียมอย่าเพ่อตรอมจะผอมตาย | ||
พอหลับผอยม่อยฟื้นตื่นสว่าง | ลุกลูบล้างหน้าพลันไม่ทันสาย | ||
พออิ่มหนำสำเร็จเสร็จสบาย | เหล่าฝีพายเตรียมตัวพร้อมทั่วกัน | ||
พอได้ฤกษ์แล้วก็บอกออกนาวา | เสียงเฮฮาปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ | ||
ไม่เห็นใครมีทุกข์สนุกครัน | จ้วงกระชั้นตึงข้อไม่รอรา | ||
เรือละลิ่วปลิวเฉื่อยมาเรื่อยรี่ | ชมวิถีชลมารคข้างฟากขวา | ||
แล้วผันชมฟากซ้ายวายน้ำตา | ครั้นนาวาแล่นล่วงครรไลเลย ฯ | ||
๏ มาถึงเกาะบางปะอินทินกร | กำลังร้อนแสงแดดนั้นแผดเผย | ||
เห็นรั้ววังข้างขวาสง่าเงย | น่าชมเชยตึกตั้งเป็นวังเวียง | ||
ท่านเจ้าคุณแม่ทัพบังคับสั่ง | จอดหน้าวังขึ้นบูชาหน้าเฉลียง | ||
ท่าจุดธูปเทียนถวายอยู่รายเรียง | นั่งประเนียงน้อมประนมบังคมคัล | ||
แล้วก็ออกนาวาจากหน้าวัง | ดูคับคั่งด้วยพหลพลขันธ์ | ||
ไม่เลี้ยวลัดถึงวัดชุมพลพลัน | ก็เหหันเรือประทับกับตะพาน | ||
เจ้าคุณก็จำเนียรธูปเทียนจุด | บูชาพุทธรูปใหญ่ในวิหาร | ||
ด้วยวัดชุมพลนี้มีมานาน | แต่ก่อนกาลกรุงเก่ามีเค้าความ | ||
ด้วยเจ้าพระยากลาโหมเล้าโลมไพร่ | ชุมนุมไว้วัดนี้ที่สนาม | ||
แล้วยกพลเกรียวกรูเข้าวู่วาม | ทำสงครามกับกษัตริย์ขัตติยา | ||
จับเจ้าแผ่นดินได้ให้ประหาร | ครั้นสมการมุ่งมาดปรารถนา | ||
ก็ได้ซึ่งสมบัติกษัตรา | จึ่งราชาภิเษกเป็นเอกองค์ | ||
ทรงนามท้าวพระเจ้าปราสาททอง | ได้ครอบครองรั้ววังดั่งประสงค์ | ||
มีพระราชศรัทธาปัญญายง | เสด็จทรงสร้างวิหารริมชานชล | ||
เสร็จพระราชศรัทธาเป็นอาราม | ประทานนามโดยวิเศษตามเหตุผล | ||
เดิมที่นี่ได้ประชุมชุมนุมคน | ชื่อชุมพลนิกายาราม | ||
ครั้นกรุงเก่าย่อยยับอัปรา | ซึ่งวัดวาพังลงเป็นดงหนาม | ||
โบสถ์พังโครมโทรมทรุดชำรุดตาม | ไดแจ้งความเริ่มรู้แต่บูราณ | ||
ครั้นแผ่นดินพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว | มาสร้างรั้ววังนิวาสราชฐาน | ||
แล้วเลยทรงสถาปนาการ | พระวิหารให้คงดำรงดี | ||
แล้วปั้นรูปจอมปราชญ์ปราสาททอง | ดูเรืองรองงามงดสุกสดศรี | ||
ยืนอยู่หน้าอุโบสถปรากฏมี | ทุกวันนี้คนผู้ยังบูชา | ||
ครั้นสำเร็จเสร็จนบเคารพพระ | ก็เลยละผายผันจิตหรรษา | ||
เจ้าคุณให้ร้องบออกออกนาวา | โห่สามลาบอกยาวเสียงกราวเกรียว | ||
เหล่าฝูงชนชาวบ้านละลานหนี | บ้างหลบลี้วิ่งแต้ไม่แลเหลียว | ||
เรื่อไม่พายคลายคล่ำสักลำเดียว | ปะก็เลี้ยวจอดซบหลบแต่ไกล | ||
ฝีพายไม่รอรามาตะบึง | บรรลุถึงหน้าวัดโปรดสัตว์ใหญ่ | ||
แวะเรือเรียงเคียงจอดตลอดไป | เจ้าคุณให้จอดประทับกับตะพาน | ||
ท่านจุดธูปเทียนชูขึ้นบูชา | น้อมศิราหน่วงมนัสหัตถ์ประสาน | ||
พวกไพร่พลเริงรื่นชื่นสำราญ | ใจเบิกบานยินดีที่สบาย | ||
วักน้ำมนต์ใส่บนศีรษะทั่ว | บ้างลูบตัวอาบกินสิ้นทั้งหลาย | ||
ที่โกงเขาย่ำแย่แต่ปีกลาย | ให้ความหายลับลี้อย่าฎีกา | ||
รีบรัดมาถึงวักพะแนงเชิง | พอร่าเริงคึกคักเป็นหนักหนา | ||
เจ้าคุณขึ้นบกพลันไปวันทา | พระปฏิมาองค์ใหญ่ด้วยใจจง | ||
จุดธูปเทียนบุปผาบูชาพระ | คารวะขอความตามประสงค์ | ||
ขออารักษ์ศักดิ์สิทธิ์สถิตทรง | สิงในองค์พระปฏิมากร | ||
จงพิทักษ์รักษาโยธาทัพ | ที่คั่งคับพร้อมหน้ามาสลอน | ||
ซึ่งโพยภัยขออย่าเพียรมาเบียนบอน | จงถาวรสวัสดิ์ทั่วทุกตัวคน | ||
เจ้าคุณเสร็จบูชาลีลากลับ | ผู้คนคับสองข้างหว่างถนน | ||
ท่านเจ้าคุณเมตตาประชาชน | ที่ยากจนผู้ใหญ่เด็กเจ๊กคนโซ | ||
แจกเงินให้คนละเฟื้องนั่งเนื่องนับ | คนที่รับไทยทานประมาณโข | ||
บางคนออกวาจาวราโร | รัตพิโชชนะหมู่ศัตรูพาล | ||
เจ้าคุณลงนาวาเสร็จคลาเคลื่อน | เรือเขยื้อนเป็นละลอกกระฉอกฉาน | ||
ละลิ่วมาในวนชลธาร | บ่ายประมาณห้าโมงเศษสังเกตจำ ฯ | ||
๏ ถึงวังจันทรเกษมจิตเปรมปรา | แวะนาวาพักผ่อนจอดช้อนสำ | ||
เรือเจ้าคุณจอดเลียบประเทียบลำ | เวลาค่ำแรมทัพต่างหลับนอน ฯ | ||
๏ ครั้นรุ่งแสงสุริยาเวลาสาย | เหล่าตัวนายคั่งคับสลับสลอน | ||
ล้วนแต่งตัวเต็มยศบทจร | หมู่นิกรเกลื่อนกล่นต่างคนมา | ||
ชุมนุมที่ศาลาใหญ่หน้าวัง | มาพร้อมพรั่งนั่งรายทั้งซ้ายขวา | ||
คอยเจ้าคุณแม่ทัพรับบัญชา | ที่บรรดาตัวนายนั่งรายเรียง | ||
เจ้าพระยาแม่ทัพประดับกาย | เสร็จผันผายขึ้นมานั่งยังเฉลียง | ||
ลูกทัพคำนับน้อมอยู่พร้อมเพรียง | คอยฟังเสียงท่านอยู่ดูชื่นบาน | ||
ท่านเจ้าคุณแม่ทัพขยับโอษฐ์ | ภิปรายโปรดทักทายนายทหาร | ||
แล้วชักชวนไปวัดมนัสการ | พระวิหารเสนาสน์เยื้องยาตรา | ||
เข้าในวังขึ้นยังพระมนเทียร | แล้วน้อมเศียรอภิวันท์ด้วยหรรษา | ||
จุดธูปเทียนทั้งคู่ขึ้นบูชา | พระมหาที่นั่งในวังจันทร์ | ||
ออกจากวังไปยังพระอาวาส | นามเสนาสน์งามเลิศดูเฉิดฉัน | ||
ท่านเจ้าคุณคำนับอภิวันท์ | ธูปเทียนนั้นจุดถวายธิบายความ | ||
ว่าวัดนี้ของพระยาทปราสาททอง | เป็นเจ้าของสร้างไว้ในสยาม | ||
ครั้งแผ่นดินกรุงเก่าเป็นเค้าความ | แจ้งเหตุตามโดยเรื่องครั้งเมืองกรุง | ||
เมื่อเมืองเสียแก่พม่าพากันขุด | เอาไฟจุดลอกทองแล้วถลุง | ||
วัดสลักหักพังออกนังนุง | แต่ครั้งกรุงร้างรามาช้านาน | ||
ครั้นแผ่นดินจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว | ศรัทธาทั่วบพิตรประดิษฐาน | ||
เสด็จมาบำรุงผดุงการ | พระวิหารเสนาสน์สะอาดงาม | ||
เจ้าคุณเสร็จบูชาลีลากลับ | ขึ้นประทับบนศาลาหน้าสนาม | ||
ลูกทัพนายกองนั่งคอยฟังความ | อยู่ออกหลามศาลาที่หน้าวัง | ||
บ้างร้องทุกข์ขอข้าวต่อเจ้าคุณ | ว่าสิ้นทุนจวนจะอดข้าวหมดถัง | ||
ขอเบิกข้าวสารพอต่อกำลัง | เจ้าคุณฟังข้อคำคิดรำคาญ | ||
จึงผินผันหันหน้าปรึกษาเรื่อง | ด้วยว่าเมืองนี้ต้องเลิกเบิกข้าวสาร | ||
เพราะได้แจ้งกิจจาเวลาวาน | กรมการเขาว่าตราไม่มี | ||
ท่านเจ้าคุณชักทุนซื้อข้าวสาร | แจกทหารกล้วยไข่ให้อีกหวี | ||
ทั้งของคาวเนื้อเค็มก็เต็มดี | แจกโยธีกองทัพรับทุกคน ฯ | ||
๏ ครั้นว่าบ่ายชายแสงพระสุริเยศ | สักโมงเศษเอะอะเตรียมพหล | ||
ต่างลงเรือทุกลำประจำพล | บ้างเตรียมตนคอยฟังระวังตัว | ||
เจ้าคุณลงนาวาที่หน้าวัง | พร้อมสะพรั่งฝีพายซ้ายขวาทั่ว | ||
นายน้อยจับตระบองลั่นฆ้องรัว | ให้รู้ทั่วนัดบอกกันออกเรือ | ||
ฆ้องลั่นเสียงแซ่ซร้องก้องกังวาน | โห่ประสานสามลาสง่าเหลือ | ||
ลูกทัพนายกองนั้นไม่ฟั่นเฟือ | ล้วนสวมเสื้อเต็มยศหมดทุกนาย ฯ | ||
๏ มาประเดี๋ยวเลี้ยวประทะศีรษะรอ | ดูปราดปร๋อน้ำไหลเชี่ยวใจหาย | ||
ฝีพายขึงตึงข้อไม่รอพาย | บ้างเสียท้ายเรือปะประทะแพ | ||
บางฉลาดเลี้ยวพันกระชั้นแหลม | เรือไม่แพลมแพร่งพรายกระสายแส | ||
ที่ตรงศีรษะรอเสียงจอแจ | ช่วยกันแก้หัวเรือน้ำเหลือทน | ||
เรือก็แล่นเฉื่อยฉิวมาลิ่วลับ | แดดพยับมืดกลุ้มชอุ่มฝน | ||
ไม่แรงร้อนอ่อนสีสุริยน | เหล่าไพร่พลค่อยสบายรีบพายพลัน ฯ | ||
๏ พอถึงวัดทองใหญ่อยู่ในย่าน | มีนามบ้านพระนอนพักผ่อนผัน | ||
เรือกองทัพคับคั่งประดังกัน | แรมอยู่นั้นอีกคืนต่างรื่นเริง | ||
ในวัดทองซ่องซ่วมน้ำท่วมหมด | น้ำไม่ลดกำลังล้นขึ้นจนเหลิง | ||
ไม่มีที่หุงข้าวก่อเตาเพลิง | อาศัยเพิงโบสถ์ใหญ่พอได้การ | ||
พลนิกรต้องนอนอยู่ในเรือ | คนที่เหลืออาศัยในวิหาร | ||
อีกศาลาใหญ่กว้างข้างตะพาน | เหล่าทหารซ้อนซับขึ้นหลับนอน | ||
แต่ตัวฉันอยู่ในเรือเหลือเทวศ | นองน้ำเนตรโหยไห้ฤทัยถอน | ||
เป็นทุกข์ถึงขนิษฐายิ่งอาวรณ์ | เพราะพี่จรจากเจ้าจะเนานาน | ||
ไม่รู้ปีเดือนใดจะได้กลับ | ด้วยไปทัพจับศึกที่ฮึกหาญ | ||
กว่าจะสิ้นสรรพเสร็จสำเร็จการ | สุดประมาณเหลือเล่ห์คะเนวัน | ||
ครวญครวญหวนละห้อยพอผอยหลับ | ชักหงับหงับกลับตื่นสุดกลืนกลั้น | ||
กำสรดแสนแหนหวงแม่ดวงจันทร์ | โอ้กี่วันจะได้พบประสบนวล ฯ | ||
๏ ครั้นรุ่งแจ้งแสงทองส่องสว่าง | ค่อยลูบล้างพักตราวิญญาหวน | ||
เจ้าคุณสั่งให้บอกออกกระบวน | เวลาจวนจะรุ่งฟุ้งอัมพร | ||
พอนาวาคลาเคลื่อนเขยื้อนโยก | ธงก็โบกริ้วริ้วปลิวสลอน | ||
นาวาเรื่อยเฉื่อยมาในสาคร | ก็รีบร้อนเร็วมาไม่ราแรม | ||
ถึงน้ำวนวนปะประทะคุ้ง | เรือหันพุ่งข้ามบากไปฟากแหลม | ||
ฝีพายจ้ำน้ำเป็นฟองทั้งสองแคม | ไม่พรอมแพรมพร้อมพรั่งพายตั้งใจ ฯ | ||
๏ ถึงเมืองสระบุรีเรือรี่เรียบ | เห็นทำเนียบรายเรียงเคียงไสว | ||
เขาปลูกตั้งหลังเด่นเห็นแต่ไกล | พลไพร่ยินดีด้วยปรีดา | ||
ต่างมุ่งมาดพอถึงหาดพระยาทศ | บ่ายกำหนดสี่โมงโปร่งเวหา | ||
พระสุริยงจวนจะลับพรรพตา | แลนาวาจอดเรียบประเทียบเรียง | ||
ที่ศาลาท่าน้ำลำกระแส | เรือนเป็นแพจอดชุมนุมบ้างทุ่มเถียง | ||
ชวนกันชิงเรือนที่มีระเบียง | ขอนของเรียงเข้าไปวางต่างประจำ | ||
ต่างคนต่างก็ก็จองปองที่อยู่ | ถึงก่อนดูเลือกได้เมื่อใกล้ค่ำ | ||
พอพักพิงอิงกายวายระกำ | ไม่ต้องทำเรือนร้านป่วยการคน | ||
ที่ลางนายผายผันไม่ทันเพื่อน | ไม่มีเรือนที่พำนักพักพหล | ||
หาไม้ไล่ทำหลังคาประสาจน | พอบังฝนบังฟ้าเป็นท่าลม | ||
ท่านเจ้าคุณใจดีอารีเหลือ | คิดแผ่เผื่อไพร่แท้แต่ประถม | ||
ทำเนียบปลูกไว้มีไม่นิยม | ด้วยอารมณ์เอ็นดูหมู่นิกร | ||
ทำเนียบปลูกไว้ท่าสี่ห้าหลัง | พร้อมหอนั่งหอเคียงเรียงสลอน | ||
สู้อยู่เรือบดเลยตามเคยนอน | ด้วยอาวรณ์เมตตาประชาชน | ||
ถ้าแม้นขึ้นสู่อยู่ทำเนียบ | ตรองการเรียบเรียงเห็นไม่เป็นผล | ||
จะไม่มีที่อาศัยแก้ไพร่พล | ท่านสู้ทนอยู่ในเรือใจเหลือดี | ||
ครั้นพลบค่ำย่ำฆ้องพวกกองทัพ | บ้างนอนหลับกรนอยู่เสียงฝู่ฝี่ | ||
แต่ตัวฉันตรึกตรมระทมทวี | โศกโศกีแสนสวาทไม่ขาดวาย | ||
แสนคะนึงถึงนวลหวนเทวศ | จนดวงเนตรบวมแดงเป็นแสงสาย | ||
อยู่ในเรือกัญญาใหญ่ไม่สบาย | คิดใจหายใจห่างในทรวงครวญ | ||
โอ้เจ้าดวงพวงพุ่มอุทุมพร | เมื่อยามนอนแนบถนอมกลิ่นหอมหวน | ||
เวลาตรมชมชูเรณูนวล | ยามรัญจวนก็วายหายกังวล | ||
ยิ่งนึกยิ่งตรึกตรมระทมทุกข์ | จะต้องบุกเดินป่าไปหน้าฝน | ||
จะข้ามดงพงชัฎระมัดตน | เหล่าฝูงชนคิดกลัวหนังหัวพอง | ||
ฤดูฝนความไข้มิได้หยอก | ผู้ใหญ่บอกเศร้าจิตคิดสยอง | ||
ที่ในดงลึกล้ำล้วนน้ำนอง | จะยกกองทัพไปกลัวไข้ดง | ||
ซึ่งปู่ย่าตาลุงครั้งกรุงเก่า | ฟังเขาเล่าจำไว้ไม่ใหลหลง | ||
ฤดูฝนเป็นไม่ไปณรงค์ | ทำการสงครามแต่ก่อนบ่ห่อนเป็น | ||
แต่เมื่อใดฝนแล้งแห้งสนิท | จึงจะคิดยกทัพไปดับเข็ญ | ||
คิดขึ้นมาน้ำตาตกกระเด็น | ไม่วางเว้นกลัวตายเสียดายตน | ||
โอ้กรรมเราเกิดมาเวลานี้ | พอไพรีมาสู่ฤดูฝน | ||
นึกแค้นอ้ายพวกฮ่อทรชน | จะฆ่าคนเสียด้วยไข้ใช้ปัญญา ฯ | ||
๏ ฉันตรองตรึกนึกพลางพอจ่างแจ้ง | สว่างแสงสุริเยเยี่ยมเวหา | ||
เป็นวันถือน้ำพิพัฒน์สัตยา | เจ้าพระยาแม่ทัพประดับกาย | ||
ก็พร้อมด้วยนายทัพกับนายกอง | ลงเรือล่องน้ำมาเวลาสาย | ||
ล้วนแต่งตัวเต็มยศหมดทุกนาย | ต่างผันผายล้นหลามตามเจ้าคุณ | ||
รีบรัดมาถึงวัดสมุหะ | พร้อมด้วยพระหลวงยืนแลหมื่นขุน | ||
ทั้งหัวเมืองเป็นการวิ่งซานซุน | คอยคำนับรับเจ้าคุณอยู่เรียงราย | ||
เรือเจ้าคุณแม่ทัพจอดกับท่า | เยื้องยาตราพร้อมพรั่งคนทั้งหลาย | ||
ล้วนสวมเสื้อกำซาบดาบสะพาย | ที่ตัวนายคอยสดับรับบัญชา | ||
ต่างคนเข้าไปในวิหาร | ฟังโองการพร้อมกันด้วยหรรษา | ||
แล้วรับน้ำพระพิพัฒน์สัตยา | ตามตำราบุราณสาบานตัว | ||
ท่านเจ้าพระยาแม่ทัพกลับทำเนียบ | เรือประเทียบแก้ท้ายแล้วบ่ายหัว | ||
จอดประทับกับท่าเวลามัว | แดดสลัวจวนค่ำอยู่รำไร | ||
เวลาค่ำย่ำฆ้องครั้นสองทุ่ม | แตรก็รุมเป่าเสียงสำเนียงใส | ||
พวกทหารนั่งยามต้องตามไฟ | เอาฟืนใส่เรียงรายเป็นหลายกอง | ||
ท่านเจ้าคุณแม่ทัพกำชับสั่ง | ให้ประจุปืนประนังนั่งจดจ้อง | ||
เหล่าทหารหอกหลาวแลง้าวพลอง | พวกกองตรวจถือฆ้องกระแตตี | ||
ด้วยเรายกโยธามาจากถิ่น | ประมาทหมิ่นแล้วก็เห็นจะเป็นผี | ||
เผื่อพวกฮ่อต่อเข้ามาสระบุรี | จะเสียทีย่อยยับทั้งทัพชัย ฯ | ||
๏ ครั้นจวนแจ้งแสงสีตีสิบเอ็ด | ออกอึงเอ็ดเป่าแตรเสียงแซ่ใส | ||
ทหารเป่าขลุ่ยนัวรัวกลองชัย | ฟังเสียงไพเราะวังเวงด้วยเพลงแตร | ||
ครั้นรุ่งแสงสุริยาท้องฟ้าฟื้น | เจ้าคุณขึ้นทำเนียบหน้าท่ากระแส | ||
สำหรับขุนนางใช้ต่างแพ | อยู่ริมแม่น้ำวนชลธาร | ||
พวกนายกองนายทัพคำนับน้อม | มาพรั่งพร้อมนั่งเรียงเคียงขนาน | ||
คอยสดับตรับฟังจะสั่งงาน | จะมีการเหตุผลด้วยกลใด | ||
เจ้าพระยาแม่ทัพขยับโอษฐ์ | ภิปรายโปรดไต่ถามความสงสัย | ||
พวกเรามาพร้อมพรั่งหรืออย่างไร | ใครป่วยไข้ที่บรรดามาด้วยกัน | ||
พวกนายทัพนายกองสนองเรียน | น้อมจำเนียรแจ้งจริงทุกสิ่งสรรพ์ | ||
คนกองทัพวิบัติอัศจรรย์ | เกิดปัจจุบันโรคร้ายเป็นหลายคน | ||
ท่านเจ้าคุณแจ้งความตามระบอบ | จึงประกอบยาละลายกระสายฝน | ||
ตามตำราหมอด้วงแก่แก้อับจน | ท่านสู้ทนนั่งปรุงบำรุงยา | ||
แล้วก็ให้อนุญาตประกาศสั่ง | ว่าทีหลังใครป่วยไข้ให้มาหา | ||
เพราะใจท่านอารีมีเมตตา | ตั้งรักษาเป็นธุระไม่ละเลย | ||
ถึงเที่ยงนางกลางคืนคนตื่นหลับ | คนกองทัพป่วยไข้มิได้เฉย | ||
สั่งให้ปลุกทุกครั้งเหมือนดังเคย | ไม่เสบยบอกเราเอาอาการ | ||
ด้วยลงทุนสำรองยากว่าสองชั่ง | ยาฝรั่งมากมายหลายขนาน | ||
ด้วยจงหวังตั้งใจจะให้ทาน | คิดเตรียมการถ้าใครป่วยได้อวยเออ | ||
แล้วสั่งการขุนชำนาญภักดีพุก | เที่ยวตรวจทุกเวลาอย่าได้เผลอ | ||
ใครเป็นโรคร้อนหนาวหรือหาวเรือ | ให้ดอกเตอร์พุกปรุงบำรุงยา | ||
ตั้งแต่นั้นท่านก็นั่งคอยฟังทั่ว | ใครยังชั่วใครจะหนักที่รักษา | ||
นายพุกเที่ยวทุกหมวดคอยตรวจตรา | ตามบัญชามิได้เว้นเช้าเย็นดู | ||
คนมากหายตายน้อยนับตัวถ้วน | นายพุกสวนสอบตรวจทุกหมวดหมู่ | ||
พวกกองทัพหายฟื้นต่างชื่นชู | ล้วนแต่รู้จักบุญคุณทุกคน | ||
เมื่อหยุดพักอยู่ที่ท่าพระยาทศ | ต้องรองดช้าอยู่ฤดูฝน | ||
ครั้นจะยกทัพไปกลัวไพร่พล | จะปี้ป่นเสียเพราะไข้ที่ในดง | ||
เจ้าคุณสืบสวนกะระยะทาง | พระยากลางพระยาไฟไพรระหง | ||
ให้รู้ที่สำคัญโดยมั่นคง | ด้วยจิตจงอยากยกขึ้นบกไป | ||
ให้พระรัตนกาศประภาษถาม | ก็แจ้งความมั่นคงไม่สงสัย | ||
เขาว่ามรคาพระยาไฟ | จะคลาไคลเหลือล้ำด้วยน้ำนอง | ||
ทั้งเป็นโคลนเป็นหล่มตมตลอด | จะมุดลอดหลีกลัดก็ขัดข้อง | ||
ต้องเดินข้ามแม่น้ำลำธารคลอง | ข้ามเป็นสองสามหนล้วนชลลึก | ||
ท่านเจ้าคุณแจ้งเหตุสังเวชไพร่ | ด้วยจะไปรบรากับข้าศึก | ||
จะมาตายเสียในดงที่พงพฤกษ์ | อนาถนึกเศร้าใจด้วยไพร่พล | ||
จึงแต่งบอกกราบทูลตามมูลเหตุ | เป็นไปรเวทเรียงความตามนุสนธิ์ | ||
ขอรอรั้งตั้งพักพำนักพล | แต่พอฝนฟ้าแล้งทางแห้งดี | ||
หนังสือเสร็จแล้วก็ส่งลงบางกอก | ผู้ถือบอกหมายมุ่งไปกรุงศรี | ||
ข้างกองทัพยับยั้งฟังคดี | พร้อมอยู่ที่พระยาทศหมดด้วยกัน | ||
เจ้าพระยาแม่ทัพบังคับการ | ซ้อมทหารกระบวนรบให้ขบขัน | ||
ได้ฝึกสอนเช้าเย็นไม่เว้นวัน | ตั้งแต่นั้นเป็นคนสุขสนุกจริง | ||
พวงหนุ่มหนุ่มกลุ้มเกรียวไปเที่ยวเล่น | ล้วนแต่เป็นเจ้าชู้เกี้ยวผู้หญิง | ||
บ้างโกรธขึ้งหึงหวงเที่ยวช่วงชิง | แล้วค้อนติงพูดกระแทกที่แดกดัน | ||
ด้วยลูกสาวลาวชุมหนุ่มหนุ่มเกี้ยว | บ้างก็เที่ยวหาอวดประกวดประขัน | ||
บ้างสู่ขอเป็นเมียได้เสียกัน | แต่ตัวฉันไม่อยากเที่ยวไปเกี้ยวใคร | ||
ด้วยคิดถึงเนื้อคู่อยู่ที่บ้าน | จึงขี้คร้านยาตรย่างไปข้างไหน | ||
ถึงเห็นสาวสวยสดสู้อดใจ | เพื่อนเขาไปตัวเราอยู่เฝ้าเรือ | ||
วันหนึ่งนางแม่ค้าเรือมาขาย | เฝ้ามาดหมายรักฉันจิตฟั่นเฝือ | ||
อุตส่าห์หาเปรี้ยวหวานมาจานเจือ | ประหลาดเหลือแล้วเราเขาเอาจริง | ||
ฉันขี้คร้านผูกรักคิดจักเบือน | เหล่าพวกเพื่อนเย้ยยั่วว่ากลัวหญิง | ||
ควรจะหาที่พักสำนักพิง | คิดแอบอิงแต่พออุ่นถุนขี้ยา ฯ | ||
๏ ครั้นเดือนสิบเอ็ดเสร็จความขึ้นสามค่ำ | ได้จดจำจงหวังไม่กังขา | ||
บ่ายสามโมงสังเกตเศษเวลา | เรือไฟมาเปิดหลอดเสียงหวอดดัง | ||
เห็นเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ | จำถนัดเรือห่างอยู่ข้างฝั่ง | ||
ลงเรือแหวดแจวร่าเข้ามายัง | ถึงกระทั่งท่าทำเนียบจอดเทียบพลัน | ||
ท่านเจ้าคุณแม่ทัพออกรับรอง | ต่างยิ้มย่องปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ | ||
ขึ้นบนทำเนียบท่าพูดจากัน | แต่โดยฉันราชการในสารตรา | ||
ท่านเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ | ก็หยิบลายราชหัตถเลขา | ||
ท่านเจ้าคุณแม่ทัพก็รับมา | จิตปรีดาเบิกบานสำราญใจ | ||
ท่านเจ้าคุณรับรองของประทาน | ที่เจ้าคุณทหารนำมาให้ | ||
ดาบฝรั่งสองร้อยเล่มที่เต็มใน | หีบใหญ่ใหญ่รับขนขึ้นบนเรือ | ||
อีกกับน้ำมันหอมพระจอมเกล้า | ทรงเสกเป่าไว้เลิศประเสริฐเหลือ | ||
ดอกไม้ร้อยแปดอย่างไม่จางเจือ | กลั่นเอาเหงื่อทำน้ำมันด้วยบรรจง | ||
ไว้บำเรอลูกเธอเสด็จทัพ | เป็นที่นับถือความตามประสงค์ | ||
ได้ป้องกันสรรพภัยที่ในดง | ออกณรงค์ไม่ต้องคิดมีจิตกลัว | ||
ด้วยเจ้าคุณมีชื่อลือทุกเวียง | เป็นบุตรเลี้ยงพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว | ||
จึงประทานน้ำมันมากันตัว | ครั้นอ่านทั่วราชหัตถ์จัดจำเนียร ฯ | ||
๏ ลุวันเดือนสิบเอ็ดขึ้นแปดค่ำ | ได้จดจำแน่จิตประดิษฐ์เขียน | ||
เรีบยเรียงเรื่องเบื้องต้นไม่วนเวียน | พระยาเกียรติ์นั้นจึงมาถึงพลัน | ||
เชิญท้องตราขึ้นมาหนึ่งฉบับ | เจ้าคุณรับตามควรไม่ผวนผัน | ||
พระยาเกียรติ์ก็กลับไปฉับพลัน | ยังหาทันที่จะถามเนื้อความใด | ||
จึงประชุมลูกทัพกับหลานกอง | ฟังอ่านท้องตราแจ้งแถลงไข | ||
มีบังคับรีบให้ยกขึ้นบกไป | แจ้งอยู่ในสารตราที่มาวาง | ||
ถ้าให้ไปตรวจเสบียงให้เพียงพอ | กับอีกข้อหนึ่งให้ปรุงปลูกยุ้งฉาง | ||
ให้ถ้วนทุกจังหวะระยะทาง | กับเร่งส่วยด้วยที่ค้างอยู่นมนาน | ||
แม้นเงินไม่มีสำรองให้กองทัพ | ที่จะจับจ่ายเสบียงเลี้ยงทหาร | ||
เร่งส่วยเสียที่ท้าวเพี้ยกรมการ | มาเจือจานสำหรับกองทัพชัย | ||
ท่านเจ้าคุณแม่ทัพสดับตรา | บังคับมามั่นคงไม่สงสัย | ||
จึงโต้ตอบท้องตราปัญญาไว | ซึ่งจะไปเร่งส่วยเห็นป่วนการ | ||
แล้วจะให้ปลูกปรุงซึ่งยุ้งไว้ | กับจัดให้ซื้อเสบียงเลี้ยงทหาร | ||
ด้วยจะยกนิกรไปรอนราญ | จะละลานหน้าหลังเป็นกังวล | ||
ซึ่งจะให้ยกทัพไปสรรพเสร็จ | แต่ในเดือนสิบเอ็ดฤดูฝน | ||
เป็นที่ลำบากใจแก่ไพร่พล | น้ำยังล้นลงไม่ลดของดที | ||
ครั้นเสร็จสรรพพับผนึกจารึกหลัง | ส่งไปยังบางกอกบอกวิถี | ||
แรมทัพคอยท้องตราหลายราตรี | บ่ห่อนมีเภทภัยสิ่งใดพาล | ||
ท่านเจ้าคุณแม่ทัพพูดปรับทุกข์ | ซึ่งจะบุกไปในป่าน่าสงสาร | ||
กลัวผู้คนทั้งหลายจะวายปราณ | จึงคิดอ่านหาช่องสู่ท้องตรา | ||
ถึงจะมีโทษร้ายกฎหมายทัพ | จะสู้รับเอาผู้เดียวจริงเจียวหนา | ||
ที่ข้อขัดบังคับรับอาญา | ถึงจะฆ่าถือมั่นกตัญญู | ||
ขออย่าให้ไพร่พลไปป่นปี้ | เวลานี้ขืนจรต้องอ่อนหู | ||
จะรับบาปคนทั้งเพเหมือนเยซู | มิให้หมู่ไข้ป่ามันฆ่าคน | ||
มิใช่จะคร้านคลาดราชการ | เพราะสงสารโยธาด้วยหน้าฝน | ||
จะพากันไปตายทำลายชนม์ | แล้วเมืองบนก็ไม่มีไพรีรอน | ||
แม้นข้าศึกนับแสนตีแดนร่วม | ถึงน้ำท่วมให้ตลอดยอดสิงขร | ||
จะสู้ยกพหลพลนิกร | ถึงไฟร้อนต้านหน้าจะกล้าไป ฯ | ||
๏ เดือนสิบเอ็ดขึ้นสามค่ำตามเหตุ | บ่ายสักสามโมงเศษไม่สงสัย | ||
พอสมเด็จเจ้าพระยาท่านมาใน | เรือกลไฟถึงท่าพระยาทศ | ||
บังเอิญเทวดาวลาหก | ก็เร่งตกลงมาให้ปรากฏ | ||
ฝนก็ไม่หายเหือดไม่เงือดงด | ไม่หยาดหยดซู่ซ่าลงมาพอ | ||
ท่านเจ้าคุณไปคำนับรับสมเด็จ | ฝนสาดไม่ขาดเม็ดลงสอสอ | ||
ต้องกางกั้นร่มไปมิได้รอ | ลงนั่งย่อเรือพายม้ารีบคลาไคล | ||
ครั้นถึงเรือสมเด็จจอดเสร็จสรรพ | น้อมคำนับกราบก้มประนมไหว้ | ||
แล้วเรียนเรื่องทางบกจะยกไป | ในดงใหญ่น้ำมากลำบากคน | ||
ขอรั้งรอพอให้แห้งแล้งสักหน่อย | จึงจะค่อยยกไปในไพรสณฑ์ | ||
ถ้าขืนยกเวลานี้เห็นรี้พล | จะปี้ป่นตายลงในดงดาน | ||
ท่านเจ้าคุณจำเนียนกราบเรียนเสร็จ | ฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยาฟังว่าขาน | ||
จึงมีพระประศาสน์ประกาศการ | ให้คิดอ่านรีบยกขึ้นบกไป | ||
เจ้าคุณรับโอวาทประศาสน์สั่ง | โดยข้อบังคับแจ้งแถลงไข | ||
จะให้ยกโยธารีบคลาไคล | รอพอได้ทำบุญเสร็จสักเจ็ดวัน | ||
ท่านเจ้าคุณแม่ทัพกลับทำเนียบ | ฝนไม่เรียบตกตวดเป็นกวดขัน | ||
พอพลบค่ำย่ำแสงพระสุริยัน | มีกำปั่นไฟถึงอีกหนึ่งลำ | ||
ด้วยท่านหลวงยุทธยานาธิกร | ท่านด่วนจรก็เห็นสมดูคมขำ | ||
เชิญท้องตรามากำลังฝนตกพรำ | ขึ้นบนทำเนียบท่าชลาธาร | ||
ส่งท้องตราให้แก่ท่านแม่ทัพ | อีกทั้งกับเงินจำแนกแจกทหาร | ||
ทั้งเงินห้าสิบชั่งสั่งประทาน | เป็นเงินงานเตรียมทัพสำหรับไป | ||
ท่านเจ้าคุณแม่ทัพก็รับรอง | แล้วอ่านท้องตราแจ้งแถลงไข | ||
มีบังคับจะยกขึ้นบกไป | แต่โดยในเดือนสิบเอ็ดจงเสร็จพลัน | ||
เจ้าพระยาแม่ทัพสดับแจ้ง | ตอบแถลงตามกระบนไม่ผวนผัน | ||
ด้วยโคต่างช้างมามาไม่ทัน | การติดตันเหลือเขยื้อนเคลื่นนิกาย | ||
แม้โคต่างช้างมาพร้อมมาถึง | เป็นแน่หนึ่งวันนั้นได้ผันผาย | ||
พอได้พาหนะทั่วเหล่าตัวนาย | จะถวายบังคมลาฝ่าละออง | ||
ครั้ยเสร็จสรรพพับผนึกจารึกบอก | ส่งบางกอกแจ้งความตามสนอง | ||
หลวงยุทธยาคำนับแล้วรับรอง | หนังสือสองสามฉบับแล้วกลับลา ฯ | ||
๏ ครั้นขึ้นสิบสี่ค่ำเดือนสิบเอ็ด | ได้จำเสร็จโดยหวังไม่กังขา | ||
น้ำท่วมถึงกระทั่งเลยหลังคา | นึกก็น่าอัศจรรย์ขันกระไร | ||
เรือต้องขึ้นจอดบกเจียวอกเอ๋ย | มิได้เคยพบเห็นเป็นไฉน | ||
นึ้ขึ้นถึงขนาดประหลาดใจ | แม้นผู้ใดบอกคงจะสงกา | ||
นี่ได้เห็นต่อพักตร์แก่จักขุ | เจอแลจุปากทักน้ำหนักหนา | ||
ขึ้นคืนเดียวเจียวร่วมท่วมหลังคา | เป็นน้ำป่าเช่นผู้เฒ่าเขาเล่ากัน ฯ | ||
๏ เดือนสิบเอ็ดเสร็จวัสสาสิบห้าค่ำ | เจ้าคุณทำบุญใหญ่ใจกระสัน | ||
สนองคุณบพิตรนิจนิรันดร์ | ด้วยเป็นวันพระจอมเกล้าฯเข้านิพพาน | ||
นิมนต์สงฆ์พร้อมเพรียงประเดียงฉัน | ในวันนั้นล้วนเป็นสุขสนุกสนาน | ||
มีมหาชาติใหญ่แล้วให้ทาน | มโหฬารสรวลเสเสียงเฮฮา | ||
ครั้นพลบค่ำย่ำแสงสุริย์ใส | จุดดอกไม้ส่องสว่างกลางเวหา | ||
แสงดอกไม้กระจ่างสำอางตา | จับนวลหน้านางลาวขาวเป็นใย | ||
ครั้นเทศน์ครบจบตามสิบสามกัณฑ์ | ตั้งแต่นั้นน้ำลดค่อยงดหาย | ||
ซึ่งกองทัพเปป็นสุขสนุกสบาย | พอหาดทรายผุดพ้นชลธาร | ||
ท่านเจ้าคุณแม่ทัพหยุดยับยั้ง | ท่านก็ตั้งซ้อมศึกฝึกทหาร | ||
ล้วนเข้าใจไวว่องคล่องชำนาญ | ท่านเห็นการน้ำลดเงือดงดลง | ||
จึงแต่งจัดขุนสัจจวาที | สืบวิถีแน่กำหนดลงจดหมาย | ||
เสร็จสรรพกลับสนองทั้งสองนาย | กราบเรียนรายระยะทางในกลางดง | ||
ก็พอจะไปได้ไม่สู้ยาก | ที่ลำบากน้ำเผื่อยังเหลือหลง | ||
เป็นหล่มลึกตลอดไปในไพรพง | ก็น้อยลงกว่าแต่ก่อนเป็นดอนไป | ||
เจ้าพระยาแม่ทัพสดับแจ้ง | ว่าทางแห้งไม่สู้ยากลำบากไพร่ | ||
คิดจะยกซึ่งพหลพลไกร | แต่ยังไม่มีช้างโคต่างจร | ||
เจ้าพระยาแม่ทัพเฝ้าปรับทุกข์ | ไม่มีสุขเศร้าในฤทัยถอน | ||
เที่ยวหาจ้างช้างอำมาตย์ราษฎร | ก็บ่ห่อนสมคิดจิตรำพึง | ||
. | |||
. | |||
. | |||
ครั้นมาถึงคันยาวขึ้นเขาโขด | สูงเด่นโดดแลเยี่ยมเทียมเวหน | ||
ช้างปีนขึ้นตัวตั้งระวังตน | ขึ้นสุดบนยอดเขาลำเนาเนิน | ||
ข้างทางแลเป็นเปลวล้วนเหวผา | หนทางมาสูงโดดบนโขดเขิน | ||
เป็นคันน้อยริมทางพอช้างเดิน | สะทกสะเทิ้นกลัวจะตกหกคะมำ | ||
ภูเขาเล่าก็ชันเป็นหลั่นลด | ช้างค่อยจดเดินเรียงกลัวเพลี่ยงพล้ำ | ||
ค่อยค่อยคุกขาหน้าอุตส่าห์คลำ | แม้นถลำแล้วเป็นเหลวด้วยเหวลึก | ||
. | |||
. | |||
. | |||
ที่ผืนแผ่นดินบางแห่งบ้างแดงล้ำ | บ้างก็ดำเหมือนแสร้งแกล้งมุสา | ||
บางแห่งเหลืองสีซ้ำดอกจำปา | พื้นสุธาบางแห่งขาวไม่ร้าวราน | ||
ที่ในดงพงพฤกษ์นึกประหลาด | ด้วยอากาศดงร้ายหลายสถาน | ||
บางแห่งร้อนบางแห่งเย็นเป็นวิการ | บ้างสะท้านจับเท้าหนาวขึ้นมา | ||
บ้างครั่นเนื้อตัวร้าวซักหาวนอน | บ้างก็ร้อนวิบัติขัดนาสา | ||
บางแห่งวิงเวียนหัวมืดมัวตา | บ้างจับนาสิกให้ชักไอจาม | ||
บ้างก็เหม็นขื่นเขียวเหม็นเปรี้ยวบูด | ไม่อาจสูดด้วยว่าจิตนั้นคิดขาม | ||
ด้วยอายแร่แต่ดินมักกินลาม | ตลอดตามสองข้างหนทางจร | ||
อีกอายว่านอายยาในป่าชิด | ล้วนมีพิษขึ้นอยู่ดูสลอน | ||
ครั้งต้องแสงสุริยาทิพากร | กำเริบร้อนด้วยพิษฤทธิ์วิกล | ||
อายพื้นดินนำพาให้อาพาธ | วิปลาสแรงกล้าเมื่อหน้าฝน | ||
ตกแล้งหมาดขาดเหงื่อยังเหลือทน | จึงพาคนให้เป็นไข้ได้รำคาญ | ||
คนเดินเท้าก้าวหล่มบ้างล้มลุก | ช้างเดินบุกหล่มล้าน่าสงสาร | ||
เหล่าโคต่างล้าล้มอยู่ซมซาน | บ้างวายปราณกลิ้งตายเป็นหลายโค | ||
ช้างบุกหล่มบ้างล้มด้วยเต็มล้า | ดูก็น่าสมเพชสังเวชโข | ||
เจ้าของช้างเสียใจร้องไห้โฮ | ว่าพุทโธ่ซื้อมาราคาแพง | ||
ที่ช้างใหญ่ไม่สู้ล้ามาติดติด | พระอาทิตย์คล้ายบ่ายลงชายแสง | ||
คนเดินเท้าอ่อนล้าระอาแรง | บ้างย่องแย่งเท้าพุปะทุพอง | ||
. | |||
. | |||
. | |||
ล้วนความจริงไม่แกล้งมาแต่งปด | ได้จำจดผูกพันจนวันกลับ | ||
ถึงความร้ายการดีที่ลี้ลับ | ได้สดับเรื่องหมดจดจำมา | ||
ซึ่งบางพวกไม่ได้ขึ้นไปทัพ | บางคนกลับผูกจิตริษยา | ||
แล้วกล่าวโทษติฉินแกล้งนินทา | ค่อนขอดว่ากองทัพเสียยับเยิน | ||
. | |||
. | |||
. | |||
เชิงอรรถ
ที่มา
นิราศหนองคาย ของ หลวงพัฒนพงศ์ภักดี (ทิม สุขยางค์) พิมพ์ครั้งที่ ๔ ไทยวัฒนาพานิช พ.ศ. ๒๕๔๔