พระพุทธทำนายทายพระสุบินพระเจ้าปเสนทิโกศล ๑๖ ข้อ

จาก ตู้หนังสือเรือนไทย

การปรับปรุง เมื่อ 08:57, 4 พฤศจิกายน 2553 โดย CrazyHOrse (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
(ต่าง) ←รุ่นก่อนหน้า | รุ่นปัจจุบัน (ต่าง) | รุ่นถัดไป→ (ต่าง)
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

เนื้อหา

ข้อมูลเบื้องต้น

ผู้แต่ง: []

บทประพันธ์

พระพุทธทำนาย ทายพระสุบินพระเจ้าปเสนทิโกศล ๑๖ ข้อ
เล่าเรื่องพุทธทำนาย
ก็แลเรื่องพุทธทำนายทายพระสุบินพระเจ้าปเสนทิโกศลนี้ คนโบราณรู้กันดีแพร่หลาย ใครรจนาเป็นภาษาไทยไม่ทราบ แต่ได้ถือเอาเค้าความมาจากมหาสุบินชาดก ในนิบาตชาดก เรียกชื่อเพี้ยนไปว่า ทำนายฝันพญาปัตเถวน ในมหาสุบินชาดกนั้นเล่าว่า คืนหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงพระสุบินประหลาด ๑๖ ข้อ ก็ทรงหวาดหวั่นพระหฤทัย ดำรัสถามพวกพราหมณ์ให้พยากรณ์ พวกพราหมณ์กราบทูลว่าพระสุบินนั้นร้ายนัก ทูลแนะนำให้ท้าวเธอทรงทำพิธีบูชายัญแก้ แต่พระนางมัลลิกา พระมเหษีทูลขอให้พระสวามีเสด็จไปทูลถามพระพุทธองค์ให้ทรงพยากรณ์ พระพุทธองค์จึงได้ทรงพยากรณ์เป็นข้อๆ ไป เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาก็มีผู้ถือเอาเค้าความจากมหาสุบินชาดกนี้มาแต่งเป็นเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยาไว้เหมือนกัน สำนวนเก่ากว่าเรื่องทำนายฝันนี้มาก เพลงยาวนั้นเรียกกันว่า เพลงยาวพุทธทำนาย ทายว่าจะเกิดยุคเข็ญเป็นมหัศจรรย์ ๑๖ ประการ คนโบราณจำกันได้โดยมากจนพูดติดปากเป็นคำพังเพยว่า
กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย
น้ำเต้าอันลอยจะถอยจม
ลางชนบทว่า น้ำเต้าน้อยจะถอยจม น้ำเต้าในที่นี้คือน้ำเต้าแห้งที่รวงเอาเยื่อในออก เหลือแต่เปลือกสำหรับใช้ตักน้ำ ผู้ต้องการทราบความพิศดาร โปรดอ่านเรื่องวิจารณ์เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์ไว้ พระสุบิน ๑๖ ข้อนี้ดูออกจะถือๆ กันอยู่ เพราะมีปรากฎทั้งในคัมภีร์อรรถกถาทั้งในคัมภีร์ฎีกาอ้างถึง คนไทยโบราณจึงได้เชื่อเอาเป็นหลักฐาน เพราะคนไทยโบราณเรานั้นมักจะหันเข้าหาพระบาลีเป็นหลักสำคัญ ถึงกับกล่าวในเรื่องลางอย่างว่า ข้อนี้บาลีมิได้แก้ไข เป็นแต่ผู้ใหญ่ผู้เฒ่าเล่ามา หรือลางครั้งก็มักจะถามขึ้นว่า ข้อนี้ๆ พระตรัสไว้ที่ไหนบ้าง เราจะกล่าวหาท่านว่า แก่พระแก่เจ้าเต็มทีดังนี้ก็มิชอบ เพราะอย่างนี้เป็นศีลธรรม อย่างนี้แลเป็นวัฒนธรรมของตระกูลไทยโบราณเราแลฯ
             
พระพุทธทำนาย
พระสุบินพญาปัตเถวน
ปางองค์ชินวงศ์พระจอมไตรอันอาศัยสาวัตถีบุรีสถาน
ภิกษุสงฆ์สองหมื่นเป็นบริวารพระสำราญอยู่ในเขตต์พระเชตุพน
กรุงกษัตริ์ปัตเถวนไปทูลถามด้วยข้อความนิมิตต์คิดฉงน
อภิวาทเบื้องบาทพระยุคลแล้วทูลฝันแต่ต้นไปจนปลาย
สมเด็จพระชินสีห์โมลีโลกจึงดับโศกกรุงกษัตริย์ให้เสื่อมหาย
แย้มพระโอษฐ์โชติช่อวิเชียรพรายสว่างฉายพระเขี้ยวแก้วดูแวววาว
สว่างวับจับคันธกุฎีพระรังษีช่วงเป็นเกลียวสีเขียวขาว
อีกนิลแนมแซมหงส์เป็นวงวาวทั้งแดงขาวเหลืองเบ็ญจรงค์พราย
ข่มขี่รัศมีพระสุริยงค์จากโอษฐ์องค์งามละออเป็นช่อฉาย
เผยพุทธบรรหารประทานทายว่าอันตรายนี้ไม่มีแก่บพิตร
จะได้แก่ศาสนาตถาคตโดยกำหนดสองพันเศษสังเกตกิจ
ราษฎรจะร้อนใจดังไฟพิษจะวิปริตทุกอย่างต่างๆ เป็น
๑. ฝันว่าโคทั้งสี่มีกำลังแล่นประดังมาโดยทิศนิมิตต์เห็น
จะชนกันแล้วหันห่างกระเด็นต่างหลีกลี้หนีเร้นไปหายตัว
ทรงภิปรายทายว่าฤดูฝนเมฆหมอกมนมืดมิดทุกทิศทั่ว
ดังจะปรายสายพิรุณขุ่นเขียวมัววายุพัดกลัดกลั้วละลายไป
จะลำบากยากเย็นกับไพร่พลด้วยฟ้าฝนไม่ตกมาในนาไร่
ทั้งต้นข้าวเต้าแตงเหี่ยวแห้งไปผลไม้ม่วงปรางจะบางเบา
เกิดข้าวยากหมากจะแพงทุกแหล่งหล้าฝูงประชาแค้นคับจะอับเฉา
ด้วยมนตรีโมหาปัญญาเยาว์ลำเอียงเอาอามิสไม่คิดธรรม์
๒. ฝันว่าไม้รุ่นเจริญผลดูพิกลไม่เหมือนไม้ในไพรสัณฑ์
พระทรงสัตย์ตรัสทายทำนายพลันภายหน้านั้นชายหญิงจะทิ้งเหล่า
จะคบชู้สู่หาสมาคมจะเสพย์สมกันแต่แรกพึ่งรุ่นสาว
กุมารีจะมีบุตรแต่รุ่นราวไม่ยืนยาวยากเย็นด้วยเข็ญมี
๓. ฝันว่าแม่โคคาวินวอนขอนมลูกกินน่าบัดสี
ทรงพิปรายทายว่านิมิตต์นี้ไปภายหน้าจะมีเป็นแน่นอน
พ่อแม่แก่ชรามาหาบุตรทั้งที่สุดข้าวปลาและผ้าผ่อน
ต้องมายอบปลอบขอเฝ้าง้องอนมันขอดข้อนสำทับให้อับอาย
พูดหยาบช้าต่อบิดาชนนีกล่าวพาทีให้ช้ำทำฉลาย
มิได้มีหิริโอตตัปปะละอายพูดหยาบคายขี่ข่มคารมพาล
๔. ฝันว่าโคใหญ่เคยไถนาไม่นำพาปล่อยประจากสถาน
เอาลูกโคเทียมไถเข้าใช้การไม่เคยงานเสียรอยย่อยยับไป
เดินดินแตกแยกข้ามคันนาหนีไม่รู้ในท่วงทีทำนองไถ
มีพุทธบรรหารว่านานไปนเรศไท้ท้าวพระยาทุกธานี
จะคบคนพาลปัญญาหยาบใจบ้าบาปหนุ่มคะนองให้ครองที่
นับถือว่าสุจริตความคิดดีได้ท่วงทีพวกอุททามก็ลามลวน
ถึงได้เป็นเสนาปรึกษาความทำวู่วามตามศักดิ์แล้วหักหวน
ความชอบผิดมิได้คิดที่ข้อควรเอาแต่ส่วนสินบลคนเข็ญใจ
๕. ฝันว่ามีม้านั้นสองปากเห็นหญ้าอยากปากอ้าน้ำลายไหล
บุรุษสองปองป้อนจนอ่อนใจหยิบหญ้าหย่อนยื่นให้ไม่เว้นวาย
มีพุทธฎีกาพยากรณ์ผู้ตัดรอนความราษฏร์สิ้นทั้งหลาย
จะรวบรวมกันกินทั้งสองฝ่ายจะให้ท้ายแนะนำโจทก์จำเลย
กันกินพลางทางข่มด้วยลมลวงเหนี่ยวหน่วงถามถึงแล้วนิ่งเฉย
บ้างอาศัยใช้การจนนานเลยความก็เคยแห้งร้างอยู่ค้างปี
๖. ฝันว่าสุวรรณภาชน์ทองสุนัขปองขึ้นนั่งน่าบัดสี
เอื้อนพระโอษฐ์โปรดพุทธวาทีว่าพาลาจะได้ที่เสนีนาย
จะหยิ่งยศมาสำทับไม่นับปราชญ์เสพย์สังวาสคบพาลประมาณหมาย
เหมือนขมิ้นขยำน้ำปูนละลายทั้งไพร่นายจะคะนองลำพองพาล
๗. ฝันว่ามีผู้ฟั่นเชือกหนังอยู่เคหังเพิงพะในสถาน
ปลายเชือกเสือกห้อยลงย้อยยานสุนัขนอนใต้ร้านกัดกินไป
ยิ่งฟั่นก็ยิ่งสั้นไปหมดสิ้นหายืดลงถึงดินนั้นได้ไม่
พระโลกุตตมาจารย์บรรหารไว้ว่านานไปจึงจะเห็นขุกเข็ญมี
ชายมาหาลาภสักการที่บ้านเรือนหญิงก็เบือนบากบ่ายจำหน่ายหนี
ทำแสนงอนซ่อนทรัพย์คิดอัปรีย์ข่มขี่หยาบคายให้ชายกลัว
ทำยอกยักลักทรัพย์ส่งให้ชู้ตะแคงค่อนข่มขู่ข่มเหงผัว
ชายก็เขลาเมารักสมัครมัวเห็นผัวกลัวกลับข่มให้สมใจ
๘. ฝันว่าประชาชนคนตักน้ำช่วยกันปล้ำเทส่งลงตุ่มใหญ่
ตุ่มลูกน้อยร้อยพันเรียงกันไปหามีใครเทใส่แต่สักคน
พระวรญาณโปรดประทานประกาศิตแนะนิมิตต์ทายเข็ญให้เห็นผล
ว่าภายหลังเสนาเป็นนายพลราษฏร์จะปล้นทรัพย์ทรัพย์ใส่ในตุ่มโต
ยิ่งได้มากจานเจือจนเหลือล้นยิ่งยากจนยับนักลงอักโข
เฝ้าระวังตั้งหน้าแต่พาโลที่ซื่อโซกลุ้มรุมดังตุ่มน้อย
๙. ฝันว่าเห็นสระปทุมามีหมู่กุ้งกุมภามัจฉาหอย
วารีรอบขอบใสมิใช่น้อยกลางกลับถอยข้นขุ่นสนุ่นมี
พระทรงญาณบรรหารให้เห็นเหตุว่าประเทศทสุขเกษมศรี
กษัตริย์ทรงสืบวงศ์ประเพณีเป็นบุรีที่ประชุมประชากร
จะแรมร้างว่างราเป็นป่าแขมทั้งคาแฝกแทรกแซมขึ้นสลอน
ทางชลวิกลกลายเป็นชายดอนราษฏร์จะร้อนแรมสุขทุกเดือนปี
ด้วยกรรมแรงแห่งสัตว์วิบัติเป็นไม่เคยเห็นก็ได้เห็นเป็นถ้วนถี่
น้ำที่กลางขุ่นข้นคือมนตรีจะย่ำยีบีฑาประชาชน
จะรุกรานแก่ไพร่ใส่ระดมคิดขี่ข่มเอาทรัพย์อยู่สับสน
เดือนนอกเดือนในใช้อยู่เปื้อนปนสุดจะทนที่จะทานด้วยการรุม
การหลวงแล้วไม่นานทำการนายพวกไพร่ราษฏร์พลัดพรายไปส้องสุม
จะกลับลี้หนีหน้าเข้าป่าชุมประคองคุมพวกเข็ญได้เย็นใจ
๑๐. ฝันว่าเห็นคนนั่งหุงเข้าหม้อเดียวซาวหลากล้นพ้นวิสัย
บ้างดิบสุกระคนปนกันไปบ้างก็เปียกบ้างไหม้ไม่มีดี
พระแย้มโอษฐ์โปรดพุทธฎีกาว่าเทพาที่รักษาบุรีศรี
พระเสื้อเมืองทรงเมืองเรืองฤทธีประเพณีพลาดเพลี่ยงไม่เที่ยงทรรศน์
เทวันอันอารักษ์ศาสนาจะรักษาแต่คนที่อาสัจจ์
ไม่ถือศีลสิกขาศีลาวัตรมิตที่รักจักตัดความรักตน
ฝูงราษฏร์จะอาพาธเจ็บไข้เกิดมรณภัยทุกแห่งหน
ประเพณีปีเดือนก็เปื้อนปนฤดูฝนหนาวร้อนก็ผ่อนไป
๑๑ ฝันว่อันแก่นจันทร์แดงราคาแพงเลิศล้ำในต่ำใต้
ชายเขลาเอาพอแรงไม่แจ้งใจก็เอาไปแลกนมโคเสียง่ายดาย
ทรงพระพุทธทำนายภิปรายโปรดภายหน้าโสดหมู่สงฆ์สิ้นทั้งหลาย
จะแนะนำพระธรรมอันเพริศพรายเที่ยวเร่ขายแลกทรัพย์มาซิ้อกิน
ไม่อดสูดูร้ายละอายบาปนิยมหยาบเอื้อมอาจประมาทหมิ่น
ก่อกรรมกระทำตนให้มลทินเหมือนอย่างกินยาตายไม่หมายเป็น
๑๒. ฝันเห็นน้ำเต้านั้นจมชลดูพิกลไม่เคยพบประสพเห็น
จะเกิดความยากล้ำเหลือลำเค็ญสิ่งที่เย็นกลับจะร้อนทั่วธานี
คือนักปราชญ์ผู้รู้ธรรมจะต่ำต้อยพาลาลอยเฟื่องฟูชูศักดิ์ศรี
ผู้พงศาตระกูลประยูรมีจะลับลี้เสื่อมสูญประยูรยศ
คนพาลจะราญเริงบันเทิงหนาเจรจาผิดธรรมไม่กำหนด
ใครปอกปลิ้นลิ้นลมเป็นคมคดรู้โป้ปดกลอกกลับจึงนับกัน
๑๓. ฝันว่าคีรีน้อยนั้นลอยน้ำประหลาดล้ำหลากใจที่ในฝัน
พระทรงบรรหารให้เห็นพลันภายหน้านั้นผู้มีศักดิ์จะรักพาล
จะยกย่องหมู่ชาติอันต่ำช้าเป็นเสนาผู้ใหญ่ในสถาน
ให้ยศศักดิ์สืบสายเป็นนายการได้ท่วงทีพวกพาลสำราญใจ
๑๔. ฝันว่าเห็นกบขบงูร้ายแล้วกัดตายล้วงกินจนสิ้นไส้
พระแย้มโอษฐ์โปรดทายภิปรายไปภายหน้าไซร้หญิงพาลจะรานชาย
ประมาทหมิ่นลิ้นลมข่มให้กลัว จะใช้ผัวต่างทาสดังมาดหมาย
ผัวสมานน้ำใจมิให้ระคายอีหญิงร้ายยิ่งลามคำรามรณ
๑๕. ฝันว่าพญาเหมราเข้าปนฝูงปักษาน่าฉงน
น้อมเคารพบนอบแล้วยอบตนเข้าระคนคบค้าด้วยกาพาล
องค์สมเด็จอิสสโรพระโมลีจึงเผยพุทธวาทีมีบรรหาร
ว่าผู้มีตระกูลนั้นจะบันดาลว่าคนพาลจะย่ำยีคนปรีชา
สันดานทาสชาติร้ายจะได้ดีจะข่มขี่ผู้มีวงศ์และพงศา
คนปราชญ์จะหลีกตัวกลัววาจาพวกพาลาได้ดีไม่มีอาย
๑๖. ฝันว่าเห็นเนื้อสมันนั้นไล่เสือพยัคฆ์เบื่อเบือนหน้าเข้าป่าหาย
มีพระพุทธบรรหารประทานทายว่าสานุศิษย์ทั้งหลายจะสู้ครู
จะหักหาญผู้ใหญ่ให้เป็นน้อยสำทับถ้อยขี่ข่มคารมสู้
ยกย่องกายหมายประกวดอ้างอวดรู้จะลบหลู่ขู่ซ้ำด้วยคำพาล
สงฆ์ทรงศีลบริสุทธิ์จะทรุดเศร้าผู้เป็นเจ้าหลีกจากถิ่นสถาน
ซึ่งบพิตร์นิมิตต์ ๑๖ ประการไม่มีเหตุเภทพานในพระองค์
จะได้แก่โลกทั้งหลายไปภายหน้าจำไว้พิจารณาอย่าลืมหลง
จะเสื่อมสูญเมธีกวีวงศ์และฝูงหงส์พงศ์ประยูรตระกูลพราหมณ์
จะเฟื่องฟูเชยชมนิยมหยาบแบกแต่บาปหาบนรกยกขึ้นหาม
กองกรรมก็จะนำสนองตามจะลงหนังสุนัขถามเมื่อยามตาย
พระไตรรัตน์จะวิบัติหม่นมัวหมองไม่ผุดผ่องแผ้วผาดสะอาดฉาย
ศักราชคำรบนั้นสองพันปลายจะต้องพุทธทำนายไว้แน่เอย ฯ.
             

เชิงอรรถ

ที่มา

ต้นฉบับจาก หนังสือพระพุทธทำนายทายพระสุบินพระเจ้าปเสนทิโกศล ๑๖ ข้อ

พระมหาสงัด สุวิเทโก พิมพ์เป็นอนุสรณ์เมื่อบำเพ็ญกุศลฉลองอายุคุณโยมชายครบ ๘๐ ทัศ

วันที่ ๙ ตุลาคม ๒๔๙๘

พิมพ์ที่โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย หน้าวัดบวรนิเวศวหาร ถนนพระสุเมรุ จังหวัดพระนคร

นายพินิจ อู่สำราญ ผู้พิมพ์โฆษณา พ.ศ. ๒๔๙๘

เครื่องมือส่วนตัว