พระราชหัตถเลขา เรื่องเสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑

จาก ตู้หนังสือเรือนไทย

การปรับปรุง เมื่อ 12:19, 13 พฤศจิกายน 2552 โดย CrazyHOrse (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
(ต่าง) ←รุ่นก่อนหน้า | รุ่นปัจจุบัน (ต่าง) | รุ่นถัดไป→ (ต่าง)
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

เนื้อหา

ข้อมูลเบื้องต้น

แม่แบบ:เรียงลำดับ พระราชนิพนธ์: พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


บทประพันธ์

จดหมายฉบับที่ ๑

หน้าที่ว่าการมณฑลนครสวรรค์

วันที่ ๑๕ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๗


ใบบอกแจ้งความมายังมกุฎราชกุมาร ให้ทราบ


ระยะทางที่มาโดยรถไฟได้เป็นว่าน้ำมาก แต่ไม่ใช่มากข้าวล่ม แลเห็นน้ำเปล่าน้อย เต็มไปด้วยข้าวตลอดหนทาง ผักชวาในทุ่งนี้ได้ทำลายลงเสียมากจนโปร่งตา แต่ก็ยังเหลือ จะต้องทำลายต่อไปอีกมาก พิเคราะห์ดูแพและเรือค้าขายในแควใหญ่โรยไปมาก นึกสงสัยว่าจะเป็นด้วยรถไฟพิษณุโลกทำให้เมืองนครสวรรค์ไม่เป็นท่าสำคัญ เพราะสินค้าขึ้นไปทางรถได้สะดวกกว่า ครั้นถามคนค้าขาย กล่าวคือยายพลอยที่เป็นคนชอบกัน บอกว่าไม่เชิงจะร่วงโรยด้วยรถไฟ เป็นด้วยราคาเงินบางกอก บรรทุกของลงไปจำหน่ายไม่มีกำไร เวลาเย็นได้มาพักที่แพหน้าที่ว่าการ ตลิ่งน้ำท่วมไปหมดทั้งนั้น เรือพายได้เวลากลางคืนฝนตกหนัก อากาศเย็น ไม่มียุง


วันพฤหัสบดีที่ ๑๕ เวลาเช้าโมง ๑ ได้ลงเรือครุฑเหิรเห็จขึ้นไปทางแควใหญ่ แล้วไปทางลำน้ำเชียงไกร ลำน้ำนี้ยังกว้างน้ำก็ลึก เรือพายม้าเดินได้ในฤดูแล้งตลอดปี สองข้างเป็นป่าไม้กระเบาเป็นพื้น มีเรือขึ้นล่องเนือง ๆ บ้านเรือนรายกันไป ได้ผ่านบ้านขี้ทูด ทีจะเป็นตำบลที่พวกโรคเรื้อนอาศัยอยู่ก่อน มีบ้านเรือนหลายหลัง ต่อไปจนถึงตำบลบ้านพะหลวง มีบ้านเรือนมากขึ้นหน่อย อยู่แพกันเป็นพื้น ได้แวะที่วัดพะหลวง วัดนั้นก็อยู่บนแพ มีแพโบสถ์หลัง ๑ แพการเปรียญหลัง ๑ แพกุฎิ ๓ หลัง ที่นั้นนำลึกกว่าทุกแห่ง เดี๋ยวนี้ถึง ๑๑ ศอกเป็นที่ประชุมปลาอาศัยมาก มีปลาเทโพตัวใหญ่ ๆ ในฤดูนี้ แต่เมื่อถึงฤดูปลาขึ้นเหนือ ปลาเทโพขึ้นไปเหนือปลาบ้าเข้ามาอยู่แทน เพราะเป็นที่พ้นอันตรายไม่มีใครไปทำร้าย มีพระสงฆ์อยู่ ๖ รูป เป็นพวกข้างเหนือ ๕ รูป มาแต่กรุงเทพฯ ๑ แต่อุโบสถไม่ได้ทำเพราะไม่มีผู้สวดปาฏิโมกข์ได้ พระสงฆ์ลงไปรวมทำอุโบสถที่วัดปากน้ำในแควใหญ่ วิธีจองกฐินของเขาชอบกล เขียนลงในกระดาษปิดไว้ที่เสาแพการเปรียญว่าผู้นั้นจองกฐินจะทอดกลางเดือน ๑๒ ไตร ๓ บริขารสำรับ ๑ อันดับองค์ละ ๔ บาท ถ้าผู้ใดจะถวายมากกว่านี้เชิญท่านทอดเถิด ตามัคนายกแกบอกว่า ทำเช่นนี้ไม่เป็นการขัดลาภสงฆ์ มัคนายกผู้นี้คือนายดัด เป็นชาวเมืองอ่างทอง ขึ้นมาตัดฟืนแล้วเลยจอดแพอยู่ที่นี่


การหากินทำปลาเป็นพื้นของท้องที่ เหตุด้วยในลำน้ำนี้มีปลาชุม ส่วนผู้อื่นที่ขึ้นมาหากินในที่นี้ตัดฟืนเป็นพื้น การตัดฟืนใช้จ้างลูกจ้างลาว เหมาปีละชั่ง กินอยู่เป็นของผู้จ้าง แต่ถ้าอยู่ไม่ครบปีไปเสียก่อนไม่ต้องให้อะไรเลยได้ฟืนเปล่า จึงเป็นอันได้ความว่าด้วยเหตุนี้นี่เองเป็นเรื่องให้พวกลาวละทิ้งการรับจ้างทำนาที่คลองรังสิต ด้วยเจ้าของนาหรือนายกองนาคิดอ่านโกงพวกลาว ค่าจ้างไม่ได้จ่ายให้เป็นรายเดือน ๆ ต่อครบปีจึงจ่ายชั่ง ๑ ทีเดียว เมื่องทำงานมาได้หลายเดือนจวนสิ้นปีแล้วกวนให้พวกลาวนั้นได้ความลำบากเบื่อหน่ายละทิ้งงานไปเสีย ก็ไม่ต้องให้ค่าจ้าง หรืออีกอย่างหนึ่งถึงกำหนดแล้วก็ผัดไป เมื่อลาวไม่ได้เงินก็ไปไม่ได้ ครั้นเบื่อหน่ายเข้าต้องละทิ้งไป ผู้จ้างก็ยังได้กำไรมากขึ้น ผู้ที่ทำการโดยซื่อตรงเช่นตาดัด อ้างว่าตัวเป็นคนซื่อตรง ว่าพวกลาวเหล่านี้ทำงานแข็งแรง และอยู่ด้วย ๓ ปี จึงกลับไปบ้านครั้งหนึ่ง อยู่บ้านเดือนเดียวก็กลับมาใหม่ ไม่ยากในการที่จะหาจ้าง ฟืนขายราคาที่ในลำน้ำนั้นพันละ ๗ บาท ๘ บาท ถ้าต้องล่องลงมาส่งข้างนอกขึ้นไปพันละ ๑๐ บาท


ได้เรียกลาวมาพูดด้วย ๔ คน มาจากเขมราฐ ๒ คน อุบล ๑ คน ศรีสะเกษ คน ๑ ถามได้ความว่า หากินอะไรไม่สู้เป็นลูกจ้างทำทางรถไฟได้ถึงเดือนละ ๒๕ บาท ได้เสมอ จึงได้ถามว่าเหตุใดไม่ทำงานทางรถไฟต่อไป บอกว่าได้มากก็จริงแต่มีที่เสียมาก อยู่ด้วยกันมาก ๆ อดเล่นคู่คี่ไม่ได้ เก็บเงินไม่อยู่ ที่หลีกมาหากินเช่นนี้ เมื่อได้เงินคราวเดียวมากก็ได้กลับไปบ้านเจ้านี่อยู่กันมา ๒ ปีแล้ว ปีหน้าจะไปบ้าน การที่ไปบ้านชั่วแต่เอาเงินไปให้บิดามารดาบุตรภรรยา ที่จะไปหากินในเมืองลาวไม่ใคร่ได้อะไร ลำบากมาก รับยืนยันว่านายดัดเป็นคนซื่อตรงให้เงินจริง ๆ ฟืนนั้นโดยมาตัดลงไว้ก่อนน้ำมา เมื่อน้ำมาแล้วจมอยู่ในน้ำต้องดำขึ้นมารอนเป็นขนาดดุ้นฟืน ถ้าหากว่ารอนหมดในฤดูน้ำ ก็ไปตัดได้ทั้งกำลังน้ำ


เวลาที่ไปนี้มีแต่ลาว ๔ คน กับผู้ใหญ่ ๓ คน นอกนั้นลงไปอยู่ที่วัดเขาบวชนาคซึ่งยังเหลือคนอยู่ เพราะเหตุที่กำลังทำธรรมมาสน์จะมีมหาชาติเทศน์ซ้อน แต่ยังมีความปรารถนาเป็นอันมากที่จะเห็นฟ้า และบอกให้อนุโมทนาในเรื่องที่ได้ออกเงินหล่อรูปฟ้า พรรณนาถึงบุญคุณของฟ้าที่มีแก่ราษฎรเป็นอันมาก และการที่ได้ออกเงินหล่อรูปท่านไว้คงจะได้บุญมาก และจะมีความจำเริญแก่ตัว ความปรารถนามีอย่างเดียว แต่จะใคร่เห็นตัวฟ้า กรมหลวงดำรงเห็นบ่นคร่ำครวญนำ จึงชี้ตัวฟ้าให้เป็นที่ชื่นชมยินดีต้องไปหาธูปมาบูชา และรับพาเด็กมารับเสมา คุยเอ็ดว่าดีกว่าพวกที่ลงไปถึงเขาบวชนาค เพราะเหตุที่ตัวมุ่งหมายจะทำบุญ กุศลส่งให้ฟ้าขึ้นมาถึงที่ได้เห็นสมประสงค์ ได้แจกเงินพระแล้ให้เงินสำหรับซื้อไม้ยัดแพต่างหากอีก ๗๐ บาท และล่องกลับมาจอดที่หน้าวัดเขาซึ่งราษฎรมาประชุมกันอยู่ที่นั้น น้ำท่วมสะพานหมด ไม่มีที่จะยืนต้องจอดเรืออยู่ แต่ราษฎรแข่งเรือกันสนุกสนานมาก การแข่งเรือที่นี้มาแต่เช้า แข่งเรือกันทอดหนึ่งแล้วขึ้นไหว้พระ ทักษิณแล้วกลับลงมาแข่งเรืออีกทอดหนึ่ง ค่อย ๆ โรยกันไปตามบ้านไกลบ้านใกล้ พวกที่ทวนน้ำก็ไปก่อน พวกที่ตามน้ำไปทีหลังไม่มีเรืออยู่เกินบ่าย ๓ โมง


แม่น้ำเชียงไกรนี้ เป็นทางซึ่งไปขึ้นแม่ยมไปสุโขทัย สวรรคโลกได้ในพงศาวดารว่าเสด็จไปตีเชียงไกรเชียงกรานคงเป็นทางลำน้ำนี้ แต่เมืองจะอยู่แห่งใดถามยังไม่ได้ความ เพราะผู้ที่อยู่ในที่นี้เป็นคนมาจากอื่นได้ความแต่ว่า ถ้าจะไปบางคลาน อำเภอเมืองพิจิตร คงจะถึงในเวลาพลบค่ำ ได้ทำคำสั่งเรื่องที่จะตรวจสอบแม่น้ำเก่า ซึ่งเธอคงจะได้รับฉบับหนึ่งต่างหาก


เวลาบ่ายได้ขึ้นบกหน้าที่ว่าการ น้ำลดลงไปมากจนเป็นแผ่นดินไป ลงเรือพายหลังที่ว่าการ เพราะเป็นที่ลุ่มลึกมากตัดไปในทุ่งข้าวในเชิงเทินเมือง ในเมืองเป็นที่ดอน แต่มีสายน้ำหักแทงเข้าไปตามหนทาง ไหลเชี่ยวเป็นแก่งเชิงเทินเมืองนี้ตั้งอยู่หลังวัดโพธิ์ ยังมีดินอยู่สูง ๆ มาก ไปออกตลาดทางวัดโพธิ์ในถนนท้องตลาดน้ำท่วม เรือครุฑเดินได้ การขายของใช้ยกพื้นตั้งขึ้นบนพื้นเดิม แต่ที่ยกขึ้นไปไม่ได้ เช่นตู้กระจกสูง ๆ ปล่อยให้แช่อยู่ในน้ำ ตั้งแต่ท่วมมาประมาณสัก ๑๕ วันแล้ว เขาว่าน้ำเหมือนกับศก ๑๒๒ เคยท่วมเท่านี้ ขากลับล่องลงมาทางข้างนอก ฝนตั้งแต่ไม่ตก ไม่สู้ร้อนและไม่มียุงอีกด้วย


(พระบรมนามาภิไธย) สยามินทร์

พระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สำรวจลำน้ำเก่า

วันพฤหัสบดีที่ ๑๕ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๗


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินประพาสลำน้ำมะขามเฒ่า ประทับอยู่หน้าที่ว่าการมณฑลนครสวรรค์ ทรงพระราชดำริว่าจดหมายเหตุการณ์ในพระราชอาณาจักรกรุงสยามนี้ มีข้อความซึ่งกล่าวถึงเมืองและตำบลอันไม่มีปรากฏว่าอยู่แห่งใด เช่นเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปตีเชียงไกรเชียงกรานนั้นอย่างหนึ่ง ตำบลซึ่งแลเห็นปรากฏว่าเป็นมหานครใหญ่แต่ดอนเขินรกร้าง ไม่เห็นมีท่าทางที่จะเป็นเมืองใหญ่ได้ เช่นพระปฐมเจดีย์ เมืองนครชัยศรี เป็นตัวอย่างเมืองซึ่งเมื่อ ๔๓ ปีมานี้ เรือพระที่นั่งกลไฟอรรคราชวรเดชขึ้นไปจอดได้หน้าเมือง ได้เสด็จพระราชดำเนินตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไปในเรือพระที่นั่ง เดี๋ยวนี้ขึ้นไปอยู่ในดอนไม่มีทางเรือที่จะขึ้นไปถึงได้ เช่นนี้เป็นตัวอย่าง


ได้ทรงพระราชดำริเห็นมานานแล้วว่า จดหมายเหตุการณ์ของเราไม่มีแห่งใดได้เอาใจใส่เรื่องน้ำเปลี่ยนสาย จดหมายลงไว้อย่างไร คนภายหลังก็จะคิดค้นหาลู่ทางให้เหมือนอย่างที่ได้จดหมายลงไว้แต่ก่อน เมื่อค้นไปไม่เห็นจริงก็ไม่เชื่อ เรื่องที่เล่านั้นก็ไม่เป็นที่พอใจที่จะพิจารณาต่อไป อีกฝ่ายหนึ่งนั้นย่อมปรากฏรู้อยู่ด้วยกันโดยมาก ว่ามีลำน้ำเก่า ลำน้ำด้วนอยู่เป็นหลายแห่ง แต่ก็ไม่มีผู้ใดพิจารณาให้เป็นหลักฐานว่า ลำน้ำนั้นเดิมอย่างไรจึงเป็นลำน้ำใหญ่ ด้วนเขินไปด้วยเหตุไร เมื่อครั้งใด เพราะเหตุที่ไม่ได้พิจารณาลำน้ำสอบกับท้องเรื่องจดหมายโบราณพงศาวดารหรือจดหมายเหตุจึงได้สาบสูญลืมและเลือนไปเสียเป็นอันมาก ได้รับสั่งเตือนพระยาโบราณบุรานุรักษ์ให้สืบสวนเรื่องนี้มานานแล้ว


บัดนี้ ทรงพระราชดำริว่า แต่ลำพังข้าหลวงเทศาภิบาล หรือผู้ว่าราชการเมืองเฉพาะมณฑลจะสอบสวน คงจะเนิ่นช้าและบางทีจะไม่สำเร็จเป็นประโยชน์ได้ จึงทรงพระราชดำริว่าพระยาศรีสหเทพเป็นผู้เข้าใจชำนาญในการแผนที่ ควรจะให้เป็นผู้ทำแผนที่แม่น้ำเก่าและใหม่ เป็นหน้าที่สำหรับรวมการสอบสวนอยู่แห่งหนึ่ง


ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชมกุฎราชกุมาร ซึ่งปรากฏว่าเคยเอาพระทัยใส่สอบสวนมาแล้วในมณฑลซึ่งเป็นอาณาจักรเฉลียง และพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นมรุพงศ์ศิริพัฒน์ ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลปราจีน พระยาสุนทรบุรี ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครชัยศรี พระยาโบราณบุรานุรักษ์ ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า พระยาอมรินทรฦาชัย ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครสวรรค์ พระยาอุทัยมนตรี ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก พระยาเทพาธิบดี ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลเพชรบูรณ์ พระวิเชียรปราการ ผู้ว่าราชการเมืองกำแพงเพชร ซึ่งเป็นผู้เอาใจใส่สอบสวนอยู่ก่อนแล้ว ให้ต่างมณฑลต่างสอบสวนลำแม่น้ำเก่าและตำบลอันมีชื่อเสียงปรากฏซึ่งตั้งอยู่ในลำน้ำนั้น ได้ความประการใดให้จ้างไปยังพระยาศรีสหเทพ จะได้พิเคราะห์สอบสวนกับสายน้ำซึ่งมีอยู่ในแผนที่ให้เห็นว่าสายน้ำเดิมจะเป็นอย่างไร เปลี่ยนแปลงตื้นตันด้วยน้ำมาร่วมกันและขาดกันอย่างไร จะเป็นประโยชน์แก่ทางความรู้เรื่องราวในพระราชอาณาจักรเป็นอันมาก


การที่จะควรสืบสวนอย่างไร ให้กรมหลวงดำรงราชานุภาพเป็นผู้แนะนำ ข้าหลวงเทศาภิบาลทั้งปวงให้เข้าใจตามความที่คิดเห็น


ตัวอย่างเช่นลำน้ำมะขามเฒ่า ทรงพระราชดำริว่า คงจะติดต่อขึ้นไปถึงลำน้ำสะแกกรัง มีที่ไปบรรจบกับแม่น้ำน้อยในที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ล่องจากเมืองกำแพงเพชรอาจจะลงมาถึงเมืองอุทัยธานี ไม่ถูกนครสวรรค์ จากอุทัยธานีลงมา ไม่ถูกเมืองพยุหะคีรี เมืองมโนรมย์และชัยนาท แต่อาจจะมาถูกเมืองสรรค์ เมืองสิงห์เก่า จนถึงวิเศษชัยชาญทางหนึ่ง ลงมาถูกสุพรรณทางหนึ่ง ดังนี้เป็นต้น หรืออย่างเมืองพิจิตรขึ้นทางปากน้ำเกยชัย ซึ่งพึ่งจะตื้นใหม่ ปรากฏเห็นอยู่ง่าย ๆ เอาตัวอย่างเช่นนี้ตั้งเป็นเกณฑ์ที่จะค้นหาท่าทางต่อไป


พระบรมราชโองการดำรัสสั่งวันที่ ๑๕ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๗

จดหมายฉบับที่ ๒

เมืองสุพรรณบุรี

วันที่ ๒๐ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๗


ถึง มกุฎราชกุมาร

ด้วยได้รับหนังสือเมื่อล่องจากอำเภอศรีประจันต์ลงมาที่นี่เป็นฉบับแรก ได้ร่างจดหมายที่จะบอกระยะทางไว้ จึงเลยตอบรับหนังสือด้วยจดหมายรายทางดังนี้


วันที่ ๑๖ ตุลาคม ร.ศ. ๑๒๗


เมื่อวานนี้เรือครุฑเหิรเห็จเกิดเหตุหมุนไม่ไป เมื่อได้แล่นถึง ๓ ชั่วโมงแล้วหยุดอยู่ชั่วโมงหนึ่ง นึกสงสัยว่าจะเป็นด้วยหยอดน้ำมันในสูบไม่พอร้อนจัดเหล็กจะติดกัน จึงได้ให้รพี ตรวจจับเหตุไม่ได้ รื้อออกดูทั้งหมดก็ไม่มีสิ่งใดเสีย ไปได้ความแต่ว่าชาฟที่ข้างเรือฝืดไป เพราะเหตุที่ต้องรื้อออกหมดและคุมเข้าใหม่จึงกินเวลาตลอดรุ่ง ได้ออกเรือต่อ ๓ โมงเช้า ล่องลงมากลางทางประมาณสักชั่วโมงเศษ จักรติดอีก แต่คราวนี้รู้เค้าเงื่อนเปิดท้องเรือขึ้นหยอดไข พอหายร้อนแล้วก็แล่นได้เป็นปกติ วันนี้โปรแกรมพึ่งเกิดขึ้นใหม่เกี่ยวแก่เรื่องที่จะตรวจแม่น้ำเก่า ได้ความว่ามีอยู่ตอนหนึ่งในย่านมัทรี จึงได้ให้มาถางไม้รก พอเรือเข้าไปได้ หยุดเรือไฟไว้ที่ริมแม่น้ำ มีเรือยาวและเรือต่าง ๆ ราษฎรเป็นอันมากมาคอยรับ เข้าลากเรือเก้ากึ่งพยายามเข้าในคลองน้ำทรง เป็นคลองแคบเล็กพอระครือเข้าไปอยู่ข้างจะคด แต่ครั้นเมื่อเข้าไปถึงที่สุดคลองตกแม่น้ำ เรียกว่าน้ำพระทรงหน้าตาเหมือนกับแม่น้ำใหญ่ไม่ผิดเลย แรกหลุดเข้าไปนึกว่าไปเกินลำแม่น้ำด้วนกลับมา ออกแม่น้ำใหญ่เสียแล้ว แต่ครั้นเมื่อพิจารณาดูก็ไม่ใช่ ไปในลำน้ำนั้นประมาณกึ่งทาง ถึงวัดซึ่งกรรมการไม่ควรจะถามชื่อ แต่หลงถามชื่อก็ได้ความว่าวัดน้ำทรง ไม่มีอุโบสถมีแต่ศาลา กุฏิ และแพ เป็นวัดซึ่งมีวัดเดียวในย่านนั้น มีพระสงฆ์อยู่ ๒ รูป เป็นปีที่มีพระน้อย อย่างมากก็พอรับกฐินได้ ราษฎรในตำบลนั้นหมดด้วยกัน ๔๐๐ เศษ หากินด้วยทำนาเผายาง ค่าน้ำในลำน้ำด้วนี้ปีละ ๑,๐๐๐ บาท ทางออกแม่น้ำใหญ่ เมื่อไปถึงบางหวายแล้วแยกออกทางบางผีทางหนึ่ง แยกลงไปตามลำน้ำตากแดดซึ่งต่อกับลำน้ำสะแกกรังอีกทางหนึ่ง มีเขินเป็นห้วง ๆ และมีไม้รก เรือเป็ดบรรทุกข้าวกล่องลงไปขายสะแกกรังได้ ชาวบ้านนี้ไม่ได้จำหน่ายข้าวออกทางแม่น้ำใหญ่ ล่องข้าวลงไปสะแกกรัง น้ำหน้าแล้งกลางแม่น้ำลึกประมาณ ๕ วา ๖ วา เป็นเลนไม่มีหาด ถ้าฤดูแล้งจระเข้ชุมเสียงร้องมาก ฤดูน้ำก็เข้าป่าไป


มีนิทานเล่าเป็นเรื่องตาม่องไล่บนบกว่า เดิมมีนางคน ๑ ย้านอยู่ดอนคา มีผู้มาสู่ขอบิดาฝ่าย ๑ มารดาฝ่าย ๑ ต่างคนต่างบอกให้ลูกสาวแล้วกำหนดจะไปแต่งงานอภิเษกที่เขาพนมเสพ ที่เมืองนครสวรรค์ ไปหยุดทำของเลี้ยง มีขนมจีนเป็นต้นที่เขาแห่งหนึ่ง ครั้นเมื่อปรากฏว่าบิดาให้ข้างหนึ่งมารดาให้ข้างหนึ่งเกิดวิวาทกันขึ้น เขานั้นจึงได้ชื่อว่าเขาวิวาท ภายหลังจึงกลายเป็นพนมวาด ยังมีหมวกขนมจีนและรอยสุนัขปรากฎอยู่ นางนั้นได้ความคับแค้นรำคาญโกรธขึ้นมา จึงได้ตัดนมขว้างไป กลายเป็นเขานมนาง แล้วนางนั้นก็กลับลงมาเห็นน้ำในลำแม่น้ำนี้ใสสะอาดดีก็ลงอาบจึงเรียกว่าน้ำสรง ภายหลังกลายไปเป็นน้ำทรง แล้วนางก็ลงไปทางตำบลเดิมบางแล้วก็ไปบวชเสีย ที่ซึ่งนางบวชนั้นจึงได้ชื่อว่าตำบลนางบวชแขวงสุพรรณบุรี เพราะดอนคาซึ่งเป็นเมืองเดิมนั้นก็อยู่ที่สุพรรณ นิทานนี้ก็อย่างเดียวกับตาม่องไล่


เป็นอันได้ความว่าลำน้ำนี้เป็นลำน้ำเดิมในเขตสุวรรณภูมิ เห็นจะมาร่วมน้ำลพบุรีที่นครสวรรค์ ซึ่งเป็นที่แอ่งลึก น้ำข้างตะวันออกและข้างตะวันตกถัดเข้ามาร่วมกันเป็นแม่น้ำเดียวกับที่มโนรมย์ก็มาร่วมกันอีกแห่งหนึ่ง ฝั่งตะวันออกเป็นฝั่งสูง ข้างตะวันตกเป็นท้องทุ่งที่น้ำหักออกมา แต่ก่อนคงจะลงมาจากกำแพงเพชรถึงอุทัยธานี จากอุทัยธานีลงไปสุพรรณ ไม่มีนครสวรรค์ ไม่ถูกเมืองพยุหะคีรี มโนรมย์และชัยนาทเป็นคนละลำน้ำ เรื่องค้นแม่น้ำเก่านี้เห็นจะสนุก ได้เค้าเงื่อนแตกออกไปทุกที คงจะได้แผนที่แผ่นดินสยามแต่ก่อนว่าเป็นอย่างไรแน่


หยุดกินเข้าวกลางวันที่วัดน้ำทรง แล้วกลับออกทางบางผี พวกชาวบ้านชื่นชมยินดีรับรองแข็งแรงมาก อย่างเดียวกันกับปลดม้ารถเสียเข้าลาก ดูกล้าหาญไม่ย่นย่อร้องเพลงเรื่อยไปทุกลำ แรกได้ยินร้องก็นึกว่าจะประหลาด แต่ฟังไปฟังมาเป็นลำยี่เก ล่องลงมาจอดที่พลับพลาแพหน้าวัดหัวหาดเมืองมโนรมย์ ชื่อตั้งว่าท่าหาดพิกุลงาม เหตุด้วยมีต้นพิกุลงาม ๆ อยู่หน้าวัด


วันที่ ๑๗ ตุลาคม


เมื่อวานนี้ลืมกล่าวว่า วัดที่จอดเรือนั้นอยู่ฝั่งตะวันออก วันนี้ลงเรือครุฑเหิรเห็จเวลาเข้า ข้ามฟากเยื้องลงมาข้างล่างหน่อยหนึ่ง เข้าปากคลองที่วัดสิงห์ปากคลองน้ำย้อนลงข้างใต้ เข้ายากสักหน่อย พอพ้นลำคลองตกถึงลำน้ำหลังวัด ก็เป็นตลาดเรียกชื่อทับศัพท์ว่าตลาดวัดสิงห์ มีบ้านเรือนฝากระดานหลายหมุ่ มีโรงแถวตลาดข้างเหนือ ๓๐ ห้องเศษ เจ้าของหนึ่งเป็นผู้หญิง ตั้งอยู่บนที่ดอน น้ำไม่ท่วม มีตลาดของสดอยู่หน่อยหนึ่ง ต่อลงไปเป็นตลาดใต้ซึ่งอยู่ติดกัน มีประมาณ ๓๐ ห้องเศษ เป็น ๒ เจ้าของ แต่ตลาดนี้น้ำท่วม ข้อซึ่งตลาดติดที่นี่ได้ถึง ๒ ตลาด เหตุด้วยเป็นท่าเกวียนข้าวในตอนมาลง เป็นที่ประชุมแห่งหนึ่งอย่างเดียวกับสะแกกรัง ผู้คนก็มีมากอยู่ ถัดนั้นเข้ามาเป็นทุ่งแล้วจึงถึงป่า ตั้งแต่พอพ้นตลาดวัดสิงห์เข้ามาหน่อยหนึ่ง จนถึงเขตอำเภอเดิมบาง เป็นระยะที่ต้นไม้ขึ้นในลำน้ำมากเรือเดินไม่สะดวก พึ่งจะได้ลงมือถางใน ๒ ปีนี้ แต่ผักตบชวาเต็ม พึ่งได้ชำระออกในคราวรับเสด็จนี้ มีที่เขาเรียกว่าแก่งอยู่ตำบลหาดทดแห่งหนึ่ง แต่ที่จริงเป็นแต่สายน้ำเชี่ยวด้วยน้ำตื้น คดเคี้ยวอยู่บ้าง เขาเตรียมจะโรยด้วยเชือก แต่ไม่จำเป็นต้องใช้ ถัดนั้นมาเป็นทางที่เรือเดินไปมาอยู่แต่ก่อนแล้ว แต่หากมีไม้ล้มทับขวางทาง ไม้เอนชายและเป็นอยู่ในใต้น้ำมาก ประกอบทั้งผักตบชวาขึ้นเต็มด้วย เรือจึงเดินไม่ได้ทีเดียว ครั้งนี้ได้ตัดไม้ที่กีดขวางและเอนปลายกับตัดตอในน้ำเสียมาก ยังเหลืออยู่บ้าง เมื่อก่อนจะมานี้ ๓ วัน ต้นยางก็ล้มอีกต้น ๑ ทางที่ริมน้ำเป็นที่ดอนโดยมาก มีไม้ใหญ่เป็นดง คือ ยาง กระเบา มะม่วงกะล่อนเป็นพื้น บ้านคนมีราย ๆ มาตลอด วัดก็มีหลายวัด แต่เป็นที่สำนักสงฆ์พึ่งเกิดขึ้นใหม่ ๆ บ้านเรือนก็ใหม่ ๆ โดยมาก ที่ป่านี้ชอบกลดูเหมือนจะใหญ่ทึบมากแต่ไม่หนาเท่าใด ยืนจากลำน้ำขึ้นไป ๕ เส้น ๖ เส้น ก็ถึงทุ่งซึ่งเป็นนาดีตลอดไป มีคลองแยกออกแม่น้ำมากหลายสาย คลองเหล่านี้เองที่ชักให้แม่น้ำเหล่านี้เขิน เขาตั้งพลับพลารับตำบลคลองจันทร์อยู่ฝั่งใต้ ระยะทางสั้นเกินไป ถ้าจะเดินเรือโมเตอร์มาไม่หยุด ๒ ชั่วโมงก็จะถึง เพราะระยะทางตั้งแต่วัดสิงห์มา ๔๒๘ เส้นเท่านั้น ตำบลนี้ยังอยู่ในแขวงชัยนาท


วันที่ ๑๘ ตุลาคม


ทางมากจากคลองจันทร์วันนี้เขาว่า ๕๐๐ เส้น มาไม่มากนักก็ออกทุ่งมีไผ่ริมน้ำอย่างแม่น้ำสุพรรณ แลเห็นนาในไผ่เป็นช่อง ๆ ไม้ใหญ่ก็ยังมีราย ๆ บ้านเรือนค่อยหนาขึ้น เมื่อตอนใกล้เดิมบาง เห็นเขาเดิมบางอยู่ข้างหน้าพลับพลาทำที่วัดคงคาฝั่งใต้ในแขวงชัยนาท มีราษฎรมาหามากขึ้นกว่าแต่ก่อน ตอนล่างนี้ดูมีการตัดไม้ไผ่ป่ามาก


เวลาบ่าย ๔ โมง ลงเรือล่องไปเขาพระในแขวงสุพรรณ พระยาสุนทรบุรีขึ้นมารับอยู่ในที่นั้น เขานี้ไม่สู้สูงแต่แลเห็นภูมิประเทศตลอดทุกทิศ มีพระเจดีย์บนนั้นพังเหลืออยู่บ้าง ใช้ก่อด้วยอิฐแผ่นใหญ่สอดินที่จะเป็นแว่นฟ้า ๓ ชั้น มีทะนานครอบข้างบน เขาว่าเขาในบริเวณนี้มีการก่อสร้างอยู่บนยอดแทบทั่วไปตามลำน้ำนี้ไม่ปรากฏว่ามีเมืองใด นอกจากเมืองสรรค์ซึ่งอยู่ในคลองตัดไปหาลำน้ำสายกลาง ทะลุจนถึงสายนอก เห็นจะเป็นเมืองที่ชิงกันเป็นเจ้าของ เพราะอาจจะบังคับแม่น้ำได้ทั้ง ๓ แม่น้ำ ถ้าเวลาละโว้มีอำนาจคงเป็นของละโว้ สุวรรณภูมิมีอำนาจคงเป็นของสุวรรณภูมิ พื้นเดิมคงเป็นของละโว้ ได้พระพุทธรูป ๒ องค์ ในแขวงชัยนาท เป็นพระเขมรงามมาก ได้หม้อดินใบ ๑ ที่หว่างเขาพระในแขวงสุพรรณ รูปร่างเป็นหม้อปักดอกไม้ซึ่งมีความรำคาญมานานแล้วว่าเครื่องปักดอกไม้อย่างไทยไม่มี หม้อนี้ใช้ได้พอเป็นตัวอย่างแต่สังเกตดูท่าทางเห็นจะเป็นหม้อน้ำน่าจะมีฝา ลักษณะหม้อกรันและรูปสูง รูปแปลกดีมาไม่เคยเห็น


เมื่ออยู่ที่เมืองพยุหะ เขามีแห่ผ้าป่าให้คืนหนึ่ง วันนี้เขาเตรียมแห่ผ้าป่าไว้อีก ทำรูปเป็นเรื่องราวของประเทศนี้ จึงขอให้ถามคำให้การเรียบเรียงเป็นเรื่องมา ข้อความก็ลงกับแต่ก่อน แต่ไม่มีความขึ้นไปถึงน้ำทรง


ได้ความจากหลวงพิบูลย์รัฐคาม เดิมเป็นนายอำเภอเดิมบาง เดี๋ยวนี้ไปรับราชการเป็นนายอำเภอพนมรอก เมืองนครสวรรค์ว่า


แต่ครั้งใดไม่ปรากฏ มีนางคน ๑ ชื่อใดไม่ปรากฏ เป็นชาวบ้านเดิมบางนี้ พระเจ้าแผ่นดินองค์ ๑ ครองเมืองใดไม่ปรากฏ ได้ข่าวนางงามนี้ต้องพระราชประสงค์ นางไม่สมัครจึงหลบหนีไปอยู่บ้างนางลือ แขวงเมืองสรรค์ แล้วมาอยู่ที่เขากี่ บ้านกำมะเชี่ยน แขวงอำเภอเดิมบางนี้


บ้านกำมะเชี่ยนนี้ เดิมชื่อบ้านกำมะเชือด คนภายหลังเรียกเพี้ยนเป็นบ้านกำมะเชี่ยน และบ้านกำมะเชี่ยนนี้อยู่ฝั่งตะวันตกลำน้ำมะขามเฒ่า เดินไปจากที่ตั้งพลับพลาเดิมบางนี้สัก ๔๐ นาทีถึง มีแม่น้ำเก่าอยู่ที่นั่น เรียกว่าแม่น้ำกำมะเชี่ยน กว้างบางแห่ง ๓ เส้นเศษ บางแห่งแคบกว่านั้น ข้างเหนือขึ้นไปทางฉวากละหานพระห้วยทราย ไปบรรจบแม่น้ำมะขามเฒ่าที่ปากคลองสะเดาหักใต้วัดหันคา ข้างใต้ลำน้ำนี้ไปบรรจบลำน้ำกระเสียว ออกลำน้ำมะขามเฒ่าที่ใต้บางบวช


กล่าวเรื่องนิทานต่อไปความว่า เมื่อนางงามมาอยู่ที่เขากี่ บ้านกำมะเชี่ยนนั้น มีชายคน ๑ ชื่อ ศรีนนท์ ออกไปเห็นนางนั้นมีใจรักใคร่เวียนเกี้ยวพาน แต่ฝ่ายนางไม่มีความรักเบื่อหน่ายหนักเข้าจึงเชือดนมทิ้งเสียที่เขานมนาง แล้วจึงไปบวชเป็นชีอยู่ที่เขานางบวช จบเรื่องนิทานเท่านี้


พระเฑียรฆราช ผู้ว่าราชการเมืองชัยนาทเล่านิทานเรื่องนี้ว่า เดิมแต่ครั้งไรไม่ปรากฏ มีนางงามคน ๑ ชื่อนางพิมสุลาลัย ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เขาเดิมบาง เขานี้แต่แรกเรียกว่าเขาเดิมนาง อยู่มามีข่าวว่าพระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จขึ้นมา นางนั้นกลัวจึงหลบไปอยู่บ้านนางลือแขวงเมืองสรรค์ ครั้นได้ข่าวว่าพระเจ้าแผ่นดินไม่เสด็จ นางจึงกลับมาอยู่ที่เขากำมะเชี่ยน แต่เดิมเรียกว่าเขากำมะเชือด นางตั้งหน้ารักษาศีลและทอผ้าด้วยใยบัว ประสงค์แต่ทำบุญ ทำทาน มีชายคน ๑ ชื่อเสนนท์ มีโรคเรื้อน วันหนึ่งออกไปต่อไก่ที่เขากำมะเชี่ยน ยังมีหลักศิลาซึ่งชาวบ้านเรียกว่า หลักไก่ อยู่จนทุกวันนี้ นายเสนนท์ไปเห็นนางเข้ามีความรักใคร่ไปเกี้ยวพานรบกวนจนนางโกรธ นางก็ตัดนมทิ้งเสียที่เขานมนาง แล้วหนีไปบวชที่เขานางบวช จบเรื่องนิทานเท่านี้


ส่วนที่ราษฎรชาวตำบลนี้เล่าว่า บ้านเดิมบาง เดิมเรียกว่า บ้านเดิมนาง แต่นามนางไม่ปรากฏ แล้วนางย้ายไปอยู่บ้านกำมะเชี่ยน นางทอหูกอยู่บนเขา มีนายศรีนนท์คน ๑ ไปต่อไก่เถื่อน พบนางเข้ามีความรักใคร่พูดจาเกี้ยวพาน นางไม่มีความเสน่หาด้วย นางจึงตัดถันของนางออกจากอกทั้ง ๒ ถัน ขว้างไปทั้งซ้ายและขวา จึงบังเกิดเป็นเขาขึ้น มีนามปรากฏทุกวันนี้เรียกว่า เขานมนาง และหลักต่อไก่ของนายศรีนนท์ก็ยังอยู่ (ดูเหมือนจะเป็นหลักเขตวัด) แต่ข้อที่นางได้ตัดถันนั้นเพื่อประสงค์จะให้สิ้นความสะสวย แต่กระนั้นก็ดีนายศรีนนท์ยังไปรบกวนอยู่เสมอ นางต้องจำหนีไปบวชอยู่เขานางบวช แขวงเมืองสุพรรณซึ่งเรียกต่อมาว่า เขานางบวชจนทุกวันนี้ นายศรีนนท์ก็ยังตามไปรบกวนอยู่เสมอ นางต้องจำหนีไปบวชอยู่เขานางบวช แขวงเมืองสุพรรณซึ่งเรียกต่อมาว่า เขานางบวชจนทุกวันนี้ นายศรีนนท์ก็ยังตามไปรบกวนอยู่ นางจึงหนีต่อไปจำศีลอยู่แขวงเมืองอ่างทอง เรียกว่าบ้านไผ่จำศีล ต่อมานายศรีนนท์ก็ยังตามไปอีก นางได้หนีไปอยู่เขาราวเทียนแขวงเมืองนครสวรรค์ นายศรีนนท์ก็ยังตามอยู่ร่ำไป ต่อมานางก็ถึงแก่กรรม นายศรีนนท์ป่วยหนักได้อาราธนาสงฆ์ไปเพื่อจะหาทางภายหน้า แต่สงฆ์มีความรังเกียจไม่ไป เพราะนายศรีนนท์เป็นโรคเรื้อน นายศรีนนท์ตายลง นัยว่านายศรีนนท์ยังมีความอาฆาตสงฆ์ ถ้าสงฆ์รูปใดไปที่เขาราวเทียนแล้วอาจจะมีเหตุถึงแก่ความมรณภาพตามความดังนี้


วันที่ ๑๙ ตุลาคม


เมื่อวานนี้เรือครุฑจักรฟันไม้ลอยน้ำบิ่น จึงต้องยกย้ายขึ้นเปลี่ยนจักรใหม่ยังไม่แล้ว อีกประการหนึ่งทางที่จะไปวันนี้ ต้องเลี้ยวเข้าไปในทุ่ง ไปได้แต่เรือเล็ก จึงได้ลงเรือศรีเทพออกจากเดิมบางไปทางประมาณสักชั่วโมงหนึ่ง จึงถึงทางนางบวชซึ่งมีตำบลบ้านและมีสะพานยาวเข้าไปจนถึงเขา แต่สะพานนั้นน้ำท่วม เรือเข้าไปจอดได้ถึงเชิงเขา ลักษณะเขาสมอคอนในแม่น้ำตอนตั้งแต่เดิมบางลงมาปรากฏว่าเป็นแม่น้ำใหม่ น่าจะเรียกว่าลำคลองมากกว่าแม่น้ำ เพราะไม่มีไม้ใหญ่ มีแต่ไผ่และแคบกว่าลำแม่น้ำตอนข้างบนมาก ลำแม่น้ำเดิมไปทางกำมะเชี่ยน เมื่อถึงนางบวชแล้วเลี้ยวเข้าในคลองหรือในทุ่งเข้าไปถึงเชิงเขา มีกุฏิพระมุงแฝกหลังใหญ่ ๓ หลัง มีพระสงฆ์อยู่ถึง ๗ รูป มีโรงพักสัปปุรุษและสระบัว ทางที่ขึ้นเขาเป็นสองทาง ตรงขึ้นไปเหมือนธรรมามูลทางหนึ่งเลี้ยวอ้อมไปที่ไม่สู้ชันทางหนึ่ง เขาก็เป็นลักษณะเดียวกันกับเขาธรรมามูลหรือโพธิ์ลังกา ไม่ใคร่มีต้นไม้อื่นนอกจากไม้รวกเต็มไปทั้งเขา ฤดูแล้งแห้งใบร่วงเกิดเพลิงบ่อย ๆ เพราะฉะนั้นหลังคาโบสถ์วิหารไม่ใคร่อยู่ได้ ที่ลานบนหลังเขายางประมาณสัก ๓๐ วา เกือบจะเท่ากับวัดราชประดิษฐ์แต่แคบกว่า ดูเป็นลานกว้างขวางสบายดีกว่าธรรมามูล ที่บนนั้นมีพระอุโบสถหลังหนึ่ง ๕ ห้อง ไม่มีหน้าต่าง ก่อเว้นช่องว่างอย่างวัดพุทไธสวรรย์แต่หลังคาไม่มีมุงแฝกคลุมไว้ พระที่ตั้งอยู่บนฐานชุกชีเป็นพระพุทธรูปศิลาปั้นปูนประกอบปิดทอง ฐานทำลายรักปิดทองอย่างดีเต็มไปทั้งฐานชุกชี ผนังโบสถ์ด้านหนึ่งก่อเป็นแท่นเหมือนอาสน์สงฆ์ ตั้งพระพุทธรูปเป็นพระยืนขนาดใหญ่ ๆ เห็นจะเป็นพระเท่าตัวฝีมือดี ๆ อย่างโบราณสวมเทริด หน้าต่าง ๆ แต่ชำรุดทั้งสิ้น ได้สั่งให้เชิญลงมาจะปฏิสังขรณ์ ๔ องค์ ถ้าแล้วเสร็จจะส่งกลับขึ้นไปไว้ที่เขานั้นบ้าง เสมาใช้ศิลาแผ่นใหญ่ ๆ อย่างเสมาวัดกรุงเก่า มีกำแพงแก้วรอบไปจนกระทั่งพระเจดีย์และวิหารด้วย แต่วิหารนั้นเป็นที่น่าสงสัยอยู่ว่าจะทำเป็นสองคราวเพราะกระชั้นพระเจดีย์นัก ไม่ได้ไว้ช่องอีก มีช่องหน้าต่างเล็กสูงสักศอกเดียว กว้างคืบเศษสองช่องเท่านั้น ท้ายวิหารจดฐานพระเจดีย์มีทางเข้าไปในองค์พระเจดีย์ ที่กำแพงแก้วมีพระเจดีย์ประจำมุม เห็นจะมีถึงด้านละ ๘ องค์ พระเจดีย์นั้นก็แว่นฟ้า ๓ ชั้น ข้างบนตั้งรูปพระเจดีย์ปั้นดินเผาสีดำบ้างขาวบ้าง เผาแข็งแกร่งได้นำลงมาเป็นตัวอย่างองค์ ๑ มีศาลายาวก่ออิฐแต่ไม่มีหลังคา เห็นจะเป็นที่จำศีลภาวนาคงจะได้มุงกระเบื้องกะบูทั้งนั้น เหลือหลังคาอยู่แต่วิหารทางที่จะแลจากเขานางบวชนี้สู้เขาพระไม่ได้ เพราะเหตุที่มีต้นไม้บังอยู่เสียข้างหนึ่ง แต่การซึ่งขึ้นไปบนยอดเขาเหล่านี้ มีประโยชน์ที่ได้เห็นภูมิพื้นที่ว่าเป็นอย่างไร ข้อที่เราเห็ฯเมื่อเวลาในดงไม้ใหญ่ แต่ที่จริงขึ้นไปที่สูงแล้วแลเห็นว่าไม่มีดงแห่งใด หลังหมู่ไม้เข้าไปก็เป็นท้องนาทั่วไป มีท้องนากับป่าไผ่จนสุดสายตาทุกทิศ ไม่มีที่ว่างเปล่าในที่แห่งใดเลย ป่าไผ่นี้ก็เป็นลักษณะเดียวกันกับป่าสนของเมืองฝรั่ง ของเขาปลูกเหย้าเรือนด้วยไม้สน ของเราก็สำเร็จด้วยไม้ไผ่ เป็นที่งามบริบูรณ์ดีทุกแห่ง


เขานางบวชนี้เป็ฯที่ราษฎรนับถือมาก มีกำหนดขึ้นไหว้พระกันในกลางเดือน ๔ มาแต่หัวเมือง อื่น ๆ ก็มาก ใช้เดินทางบกทั้งนั้น ได้หยุดทำกับข้าวกินที่เชิงเขา แล้วจึงล่องเรือลงมาจนถึงปากกะเสียวจึงกลับเข้าลำแม่น้ำเดิม ซึ่งมีต้นกระเบาและต้นยาง ๒ ฟากต่อมาอีก ตอนต่ำ ๆ ใต้อำเภอเดิมบางลงมามีตำบลที่ตั้งยุ้งข้างมาก ๆ ตั้งแต่ ๔ หลังขึ้นไปหา ๗ หลังเนือง ๆ ตลอดทาง เขาว่าที่เมืองนี้ไม่เหมือนกรุงเก่า ถ้าไม่เห็นข้าวใหม่ในนาแล้วไม่เปิดยุ้งจำหน่าย เหตุฉะนั้นจึงต้องมียุ้งมาก ๆ หลับพลาที่พักนี้ตั้งที่ตำบลบ้านกร่าง ใกล้ที่ว่าการอำเภอศรีประจันต์ฝั่งตะวันออกตรงกับวัดที่ชื่อเดียวกันข้าม มีพระเจดีย์กลางน้ำองค์ ๑ เป็นพระเจดีย์ไม้สิบสอง อยู่ข้างจะเขื่อง ว่าเป็นที่ราษฎรประชุมกันไหว้พระทุกปี


เรื่องตรวจลำน้ำเก่าตอนล่างนี้ออกจะร่วม ๆ เข้าไปแล้ว ได้ประชุมกันไต่สวนเวลาวันนี้ได้ความว่า แม่น้ำที่ต่อสะแกกรังอยู่ที่วัดท่าในลำน้ำสะแกกรังแล้วมาท่าหลวง กระทงหนองบัวถึงล้ำน้ำมะขามเฒ่า แต่ไม่ลงมาตามทางลำน้ำที่เรือเดิน ครั้งนี้เลี้ยวไปทางบ้านเชี่ยนถึงฉวากแล้วกำมะเชี่ยน มาออกที่กะเสียวแล้วไปทางลาดปลาเค้า ท่าตาจาง ท่าระกำ หนองตับเตี่ยว หนองสาหร่าย สี่สระ เขาดิน บางกุ้ง วัดหน้าพระธาตุ ศาลาราว สวนแตง กระจันยี่แส บุงทลาย หางสลาด ตอตัน รางกะดี สระยายโสม สระกระพังลาน ศรีสำราญ หวายสอ ดอนมะนาว ลำอ้ายเสา หูช้าง กำแพงแสน สามแก้ว ห้วยขวาง ห้วยพระ ตะก้อง อุไทย ดุมหัก ทุ่งน้อย ห้วยจระเข้ พระปฐมเจดีย์ ลำน้ำที่ไปตะวันตกในลำน้ำสุพรรณนี้เข้าไปก็คือทางเมืองเก่าของสุพรรณที่เรียกว่าเมืองอู่ทอง อยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองสุพรรณเดี๋ยวนี้ ลำน้ำเดียวกันกับพระปฐมเจดีย์ สี่สระที่ปรากฏอยู่นี้ คือ สระแก้ว สระเกษ สระคา สระยมนา ซึ่งเป็นน้ำราชาภิเษกอยู่เหนือเมืองสุพรรณเก่า วัดหน้าพระธาตุคือตัวเมืองสุพรรณซึ่งเป็นกรุงเก่ากับกรุงเทพฯ กับปฐมเจดีย์ ได้สั่งไว้ให้ค้นตอนข้างเหนือต่อขึ้นไปอีก ลำน้ำนี้เห็นจะได้ลงในแผนที่ได้เร็ว เพราะตอนที่ต่อน้ำทรงขึ้นไปข้างบนก็ได้เค้าเงื่อนแล้ว


มีความยินดีที่จะกล่าวเรื่องยุง และตัวแมลงนั้นนับว่าไม่สู้มี ดีกว่ากรุงเทพฯ เป็นอันมากทั้งสองอย่าง


วันที่ ๒๐ ตุลาคม


วันนี้พยายามลองจะไปต้น ได้จัดการให้แตรเป่านำกระบวน แล้วตัวก็ลงมาในเรือพระที่นั่งหน่อยหนึ่งจึงลงเรือศรีเทพแวะ ๆ เวียน ๆ ให้ล้าลงไปหมายจะมาท้ายกระบวน แต่ไม่สำเร็จอย่างยิ่ง เพราะพวกในแม่น้ำนี้ไม่รู้จักแตรรู้แต่ว่าเสด็จมาลงเรือเล็กข้างหลัง หรือจะจำเรือศรีเทพได้ แตรเป่าก็เฉย ตาพวกผู้ใหญ่บ้านก็ไม่คำนับ นักเรียนก็ไม่ร้องเพลง เรือที่ผ่านลงมาเท่าไร ๆ ก็เฉย เพราะเรือศรีเทพไปที่ไหนเป็นได้คำนับและร้องเพลงกันที่นั่น พวกคอยรับเสมาก็คอยตอมเรือศรีเทพ แวะเวียนอยู่จนปล่อยเรือแจวลงไปหมดแล้ว คราวนี้ถึงเรือไฟยิ่งร้ายหนักขึ้น ในการที่จะห้ามไม่ให้กะลาสียืนคำนับนั้นเป็นพ้นวิสัย ยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งประกาศให้คนรู้ เลยไม่มีผลสำเร็จอะไรได้เลย จนต้องหยุดทำกับข้าวกันใต้ต้นไม้ดื้อ ๆ ที่ทำนั้นเยื้องจากวัด สักครู่หนึ่งพวกนักเรียนแลพบอุตส่าห์เดินเลียบตลิ่งลงมาจนพ้นเขตวัด พอตรงเรือก็ร้องสรรเสริญบารมีที่จำจะต้องผิดให้เป็นพระเกียรติยศ เลยต้องทนดื้อเอาเฉย ๆ เมื่อเรือผ่านวัดแคที่เคยไปทำกับข้าวครั้งก่อน เป็นที่เรียบร้อยดีมาก คงจะนึกได้นั้น เดี๋ยวนี้ศาลาที่หัวโดนนั้นได้รื้อเสียแล้ว รูปร่างหน้าตาเปลี่ยนแปลกไป ถ้าไม่ถามทีจะจำไม่ใคร่ได้ ลงมาจอดที่บ้านพระยาสุขุม ตามเคย แต่แปลกมากอีกเหมือนกันคราวก่อนจะขึ้นไปบนบ้านต้องเดินปีนตลิ่ง คราวนี้พอเสมอน้ำแฉะ ๆ สุพรรณไม่เปลี่ยนแปลกรูปอะไรนอกจากที่น้ำมากและน้ำน้อย


เวลาบ่ายลงเรือไปเข้าคลองตลาด บวงสรวงที่ศาลเจ้า เงินที่ให้ไว้ก่อนได้ทำให้ศาลเรียบร้อยดีขึ้น แต่เป็นข้างจีนและน้ำท่วมด้วย กลับมาไปทางคอลงวัดป่าเลไลยก์ เมื่อคราวก่อนนี้ไปทางถนน คราวนี้ถนนน้ำท่วม คลองนี้เป็นคลองตัดกลางเมืองไปแต่วัดประตูศาลทางสัก ๒๕ เส้นถึงเชิงเนินเมือง เมืองสุพรรณนี้มีกำแพงเป็นสองฟากเหมือนพิษณุโลก ยืนขึ้นไปจากฝั่งน้ำราว ๒๕ เส้น คูกว้างประมาณ ๖ วานอกเชิงเทิน แต่ยาวนั้นยังไม่สู้แน่ พระสุนทรสงครามว่าราว ๓๗ เส้น วังตั้งอยู่หลังวัดประตูศาล ศาลนี้คงจะเป็นวัดใหม่สร้างขึ้นเมื่อสุพรรณร้าง อย่างเดียวกันกับวัดใหม่ชัยวิชิตที่ท่าวาสุกรีกรุงเก่า เล็กกว่าวัดตะไกรที่อยู่คนละฟากคลอง และวัดผึ้งซึ่งอยู่ในเข้าไป วังจะอยู่ในหว่างพระมหาธาตุและศาลหลักเมือง ตามที่พบโคกเนินดินลึกขึ้นไปกว่าแม่น้ำ บางที่วังจะตั้งอยู่ลึกขนาดวัดพระศรีสรรเพชญกับคลองเมือง คลองไปวัดป่าเลไลยก์นี้เป็นลักษณะคลองหลอด วัดป่าเลไลยก์เองเป็นลักษณะภูเขาทองกรุงเก่าหรือภูเขาทองกรุงเทพ ฯ ซึ่งเอาอย่างกัน เป็นที่ประชุมไหว้พระในเดือน ๑๑ เมืองสุพรรณใหม่นี้คงอายุราว ๖๐๐ ปี ก่อนนั้นขึ้นไปอยู่ตะวันตกเฉียงใต้ในแม่น้ำเก่าห่างแม่น้ำนี้ประมาณ ๗๐๐ เส้นตามระยะทางที่ได้กล่าวแล้วเมื่อวานนี้ เมืองเก่านั้นมีโคกเนินดินอย่างเดียวกับปฐมเจดีย์ จะเป็นรุ่นเดียวกันหรือเลื่อนมาจากปฐมเจดีย์ เมืองหลวงข้างแถบสุวรรณภูมินี้เห็นจะเลื่อนขึ้น เพราะเหตุที่พวกมาไลยประเทศ คือพวกที่อยู่แหลมมลายูขึ้นมารบกวน ตรงกันกับที่ข้างเหนือเลื่อนลงมาตามปลายลำน้ำของเรา แต่เรื่องนี้ถ้าหากว่าได้ค้นลำน้ำได้สำเร็จ คงจะได้ความสว่างไสวออกไปอีก


เมื่อคืนฝนตก วันนี้อากาศเย็นจนตกบ่ายจึงได้ร้อน ยุงไม่ปรากฏแต่ตัวแมลงชุม


วันที่ ๒๑ ตุลาคม


ลงเรือศรีเทพไปเข้าคลองหว่างวัดมหาธาตุและหลักเมืองไปออกหลังเมือง ในท้องทุ่งหลังเมืองมีต้นตาลเป็นอันมาก เป็นคันตลิ่งสูง ดงตาลแลสุดสายเหมือนอย่างขึ้นจากฝั่งน้ำวงไปทั้ง ๒ ข้าง ในหว่างดงตาลนั้นเป็นทุ่งนางามดีเป็นอันมาก พระป่าเลไลยก์อยู่ที่ชายดงตาลจึงมีนิทานกล่าวว่า ชาวเพชรบุรีผู้ ๑ มาเป็นเขยอยู่ที่สุพรรณพูดกันถึงเรื่องต้นตาล ชาวเพชรบุรีว่าต้นตาลเพชรบุรีมากกว่าที่นี่ พวกที่นี่ว่ามากกว่าเพชรบุรี เถียงกันไม่ตกลงจนเกิดมวยขึ้น เจ้าเขยเพชรบุรีเห็นว่าตัวมาต่างเมืองจำจะต้องยอมแพ้ อย่าให้เกิดถึงแตกหัก จึงยอมรับว่าต้นตาลเพชรบุรีน้อยกว่าจริง แต่น้อยกว่าต้นเดียวเท่านั้น ความวิวาทก็เป็นอันระงับกันได้ด้วยยอมแพ้กันเสีย


เมื่อพ้นดงตาลออกไปแล้วเป็นที่ดอนป่าไผ่มีทางเกวียน ทางเกวียนนั้นหน้าน้ำใช้เป็นคลอง ที่เรือไปวันนี้ นาน ๆ ก็ไปตกทุ่งเป็นทุ่งนามีชื่อต่างๆ ทุ่งละใหญ่ ๆ ทางนั้นคดไปคดมาเรียกว่าสามสิบสามคดมีอยู่แห่งหนึ่ง ระยะทางตั้งแต่ลำน้ำนี้ขึ้นไป ๗๐๐ เส้นจึงถึงลำน้ำเก่า เขาเรียกกันว่าลำน้ำเขาดินท่าว้า ที่ได้ชื่อว่าลำน้ำเขาดินนั้น เพราะเหตุว่าสี่สระอยู่เหนือน้ำ วัดหน้าพระธาตุเมืองเก่าอยู่ใต้น้ำ วัดเขาดินนี้อยู่ในย่านกลางเป็นวัดใหญ่อยู่ฝั่งตะวันตก มีพระเจดีย์และโบสถ์ แต่พระสงฆ์ละไปอยู่วัดสารภีเหนือน้ำขึ้นไป เหตุด้วยลำน้ำตอนข้างเหนือลึกมีน้ำตลอดปี ตอนข้างใต้แต่วัดพระธาตุลงไปขาดเป็นห้วงเป็นตอน ลำน้ำเก่านี้ไม่เล็กกว่าลำน้ำสุพรรณ น้ำก็ลึกดอนกว่าสุพรรณ แลเห็นฝั่งมีต้นไม้ใหญ่ ๆ มาก น้ำไหลเชี่ยวตั้งแต่ปากคลองไปจนกระทั่งถึงในลำน้ำ ต้องแจวทวนน้ำขึ้นไปอีกหลายคุ้งจึงถึงที่สี่สระ ระยะทางหมดด้วยกัน ๘๐๐ เส้นเศษ แต่มีราษฎรพากันมาคอยอยู่เป็นอันมากตลอดหนทาง ซึ่งเดินขึ้นจากเรือไปอีกหลายเส้นจึงถึงสระ ที่สระนั้นมีสัณฐานต่าง ๆ อยู่อย่างไม่เป็นระเบียบ ตรงทางที่ขึ้นไปถึงสระคาก่อน สระยมนาอยู่ข้างเหนือ สระแก้วอยู่ตะวันตกเกือบจะตรงกับสระคา สระเกษอยู่ข้างใต้แนวเดียวกับสระแก้ว แลเห็นปรากฏว่าเป็นสระที่ขุด มีเจดีย์ซึ่งว่ามีพระรูป ๑ ไล่เลียงเอาชื่อไม่ได้ ไปก่อเสริมฐานของเก่าที่สระคาแห่งหนึ่ง สระยมนาแห่งหนึ่ง มีสระแก้วเป็นศาลเจ้า ที่ซึ่งสำหรับบวงสรวงก่อนตักน้ำสรง แต่ที่สระเกษนั้นมีคันดินสูงยาวไปมาก ที่บนนั้นมีรากก่อพ้นดินสูง จะเป็นเจดีย์หรือมณฑปซึ่งถูกแก้แต่ไม่สำเร็จ สงสัยว่าที่เหล่านี้น่าจะเป็นเทวสถานมิใช่วัด สระที่ขุดไว้เหล่านี้เป็นสระสำหรับพราหมณ์ลงชุบน้ำให้ผ้าเปียกเสียก่อนที่จะเข้าไปนมัสการตามลัทธิศาสนาพราหมณ์ จึงได้เป็นสระที่ศักดิ์สิทธิ์ คันดินที่กล่าวนี้ว่ามียาวไปมาก น่าจะเป็นถนนถึงเมืองเก่า ที่นี่น่าจะเป็นเทวสถานหรือวัดพราหมณ์ที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งมาแต่สุพรรณเก่า จึงได้ใช้น้ำนี้เป็นน้ำอภิเษกสืบมาแต่โบราณ ก่อนพระพุทธศาสนามาประดิษฐานในประเทศแถบนี้ มีเรื่องที่เกี่ยวถึงหลายเรื่องเช่น พระเจ้าประทุมสุริวงศ์เป็นเจ้าที่เกิดในดอกบัวหรือมาแต่ประเทศอินเดีย อันเป็นเจ้าแผ่นดินที่ ๑ หรือ ที่ ๒ ในวงศ์พระอินทร์ที่ครองกรุงอินทปัถพระนครหลวงเจ้าของพระนครวัดก่อนพุทธศาสนกาล จะราชาภิเษาต้องให้มาตักน้ำสี่สระนี้ไป และในการพระราชพิธีอภิเษกต่าง ๆ ต้องใช้น้ำสี่สระนี้ พระเจ้าสินธพอมรินทร พระยาแกรก ราชาภิเษกกรุงละโว้ ประมาณ ๑,๔๐๐ ปี ก็ว่าใช้น้ำสี่สระนี้ราชาภิเษก พระเจ้าอรุณมหาราช กรุงสุโขทัยจะทำการราชาภิเษกก็ต้องลงมาตีเมืองเหล่านี้ให้อยู่ในอำนาจแล้วจึงตักน้ำไปราชาภิเษก จึงเป็นธรรมเนียมเจ้าแผ่นดินสยามทุกพระองค์สรงมุรธาภิเษกแรกเสวยราชย์และตลอดมาด้วยน้ำสี่สระนี้ มีเลขประจำเฝ้าสระรักษาอย่างกวดขัน เพราะเหตุที่มีเจ้าแผ่นดินเมืองใกล้เคียงมาลักตักน้ำไปกระทำอภิเษก จนกระทั่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ พระเจ้ากาวิโลรสเป็นพระเจ้าขึ้นใหม่ ๆ ได้ให้มาลักน้ำสี่สระนี้ขึ้นไปทำอภิเษก เป็นข้อหนึ่งในคำที่ต้องหาว่าเป็นกบฏ


ลัทธิที่ถือน้ำสระเป็นน้ำอภิเษกนี้ ปรากฏชัดว่าเป็นตำราพราหมณ์เช่นกับมหาภารตะ อรชุนต้องไปเที่ยวปราบปรามเมืองทั้งปวง และสรงน้ำในสระที่เมืองนั้นห้ามหวงตลอดจนถึงสระในป่าหิมพานต์เป็น ๖๔ – ๖๕ สระ จึงได้มาทำอัศวเมธ ซึ่งเป็นพิธีสำหรับเป็นจักรพรรดิ แต่เหตุไฉนที่สี่สระนี้จึงขลังนักไม่ปรากฏ คงจะมีตัวครูบาที่สำคัญเป็นที่นับถือทั่วไป มาขุดสระและมาผูกเวทมนตร์ไว้อย่างหนึ่งอย่างใด ราษฎรในเมืองนี้มีความกลัวเกรงเป็นอันมาก น้ำในสระก็ไม่ใช้ ปลาในสระก็ไม่กิน มีหญ้าขึ้นรกเต็มอยู่ในสระ มีจระเข้อยู่ทั้งสี่สระ ได้ทราบมาแต่แรกที่ทูลกระหม่อมรับสั่งว่าน้ำท่วมถึง แต่เวลานี้ซึ่งเป็นเวลาน้ำมากพอปริ่ม ๆ ไม่ท่วม เห็นจะเป็นบางปีจึงจะท่วมแต่น้ำล้นขอบสระ ทางที่เดินต้องพูนขึ้นหน่อยหนึ่ง แต่กระนั้นก็ชื้น ๆ น่าจะท่วมได้จริง น้ำสระคา สระยมนา ไม่สู้สะอาดมีสีแดง แต่น้ำสระแก้วสระเกษใสสะอาด


ได้หยุดบวงสรวงและตักน้ำขึ้นไปกินข้าว พระยาสุนทรบุรีเลี้ยงที่บนคันดิน ชาวสุพรรณอยู่ข้างจะเป็นคนนับถือเจ้านายจัด นับถือบูชาอธิษฐานได้ จะถวายอะไรเจ้าดูเหมือนจะได้บุญ ที่สุดจนที่เสื่อสานมาสำหรับให้นั่งก็มีคำอธิษฐานติดใกล้ไปข้างเป็นพระพุทธเจ้ามากกว่าอย่างอื่น


เมื่อวานนี้มีผู้หญิงแก่คน ๑ ลงเรือ มีต้นไม้ตั้งมาในเรือพายตามมาแต่ไม่ได้ช่อง พึ่งมาได้ช่องวันนี้ นำต้นไม้นั้นเข้ามาให้ เป็นต้นโพธิ์ ถามว่าเหตุใดจึงได้เอาต้นโพธิ์นี้มาให้ บอกว่าต้นโพธิ์นี้เกิดขึ้นที่ท่าน ไม่เข้าใจถามว่าเหตุไรจึงว่าเช่นนั้น บอกว่าได้ไปซื้อท่านที่อยู่ในกระจกไปติดไว้ที่เรือน ต้นโพธิ์ก็งอกขึ้นบนหลังหีบที่ตรงรูปนั้นเป็น ๗ ต้น จึงได้เอากาบมะพร้าวและดินมาประกอบเข้าไว้ สูงถึง ๒ ศอกเศษ พอเสด็จจึงได้นำมาให้ เห็นว่าเข้าทีดีอยู่จึงได้ให้เอาไปด้วย ได้แยกออกเป็นต้นปลีก ๓ ต้น รวมเป็นกอ ๔ ต้นไว้กอหนึ่ง ปลูกประจำสระทั้งสี่ เป็นที่ระลึกว่าได้ขึ้นไปถึงทั้งสี่นั้น พวกราษฎรที่มาหลายร้อยคนเต็มไปทั้งนั้น ถึงต้องมีข้างห่อมาเลี้ยงกัน กลับลงมาถึงเวลาพลบ ระยะทางขาไปประมาณ ๓ ชั่วโมง อยู่ข้างจะเหนื่อย


วันนี้พอออกเรือไปเสียงฟ้าร้องครั่นครื้น เห็นท่วงทีแล้วว่าฝนคงจะตก แต่ระยะทางที่ไปคงไม่ถูกฝน ต่อกลับมาจึงเห็นที่เปียก และได้ความว่าฝนที่สุพรรณตกมาก


(พระบรมนามาภิไธย ) สยามินทร์

จดหมายฉบับที่ ๓

วันที่ ๓ พฤศจิกายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๗

ถึง มกุฎราชกุมาร

ด้วยระยะทางที่ไปเที่ยวคราวนี้ ซึ่งได้ส่งไปให้ทราบแล้วนั้นยังไม่ตลอด จึงขอส่งต่อมาอีก ดังนี้


วันที่ ๒๒ ตุลาคม


วันนี้กะทางผิดเป็นอันมาก ด้วยเมื่อมาครั้งก่อนเป็นขาขึ้นแล้วแจวขึ้นมา สังเกตดูเทียบกับกำลังฝีเท้าเรือครุฑเหิรเห็จว่าประมาณสักชั่วโมงครึ่งหรือ ๒ ชั่วโมงจึงถึงบางปลาม้า จึงได้นั่งแฉะอยู่เสียจนสาย แต่ครั้นมาจริงชั่วโมงหนึ่งเท่านั้นถึงบางปลาม้า ได้จัดการที่จะเลยลงไปตามลำน้ำไม่เลี้ยวเข้าคลองแต่วุฒิ ไม่เลือกวัดแป๊ะซะที่เคยแวะแต่ก่อน เลือกต่ำลงไปอีก ที่ได้ชื่อว่าแป๊ะซะนี้ เพราะมีผู้นำปลาแป๊ะซะมาให้ เขาเลยลงไปเลือกวัดตะค่า ได้ไปทำกับข้าวกินที่นั้น สมภารวัดตะค่ารูปนี้ชื่อแสง พุทธสร เป็นหมอและเป็นฝ่ายวิปัสสนาธุระ เป็นลูกศิษย์เรียนพระธรรมพร้อมกันกับพระมงคลทิพ ๔๕ พรรษา มีอัชฌาสัยดี ไม่รู้จักว่าใครดูสังเกตได้แต่ว่าเป็นผู้มีบรรดาศักดิ์ ไม่มีการอวดดีอย่างหนึ่งอย่างใดเลย ถามถึงรดน้ำมนต์ก็ว่าได้รด แต่ได้รดด้วยความซื่อตรง ไม่สำแดงว่ามีปาฏิหาริย์อย่างใด พูดถึงเรื่องมีผู้มาขอหวย ได้เคยตอบว่าให้เอาผ้าคฤหัสถ์มาให้นุ่งเสียดีกว่ามาขอหวย ทำการปฏิสังขรณ์พระอุโบสถสำเร็จแล้ว กำลังจะลงมือพระวิหาร ได้ให้เงินช่วยในการปฏิสังขรณ์ ๘๐ บาท ไม่ได้รับโดยอาการที่ไม่งาม และยถาอนุโมทนาอย่างเรียบร้อยดี จนนึกสงสัยว่านี่จะรู้ดอกกระมัง แต่ครั้นเมื่อเวลาลาจะมา ให้พรให้พ่อจำเริญยิ่ง ๆ ขึ้นไปก็เป็นสิ้นสงสัย แล่นกลับขึ้นมาเข้าคลองบางปลาม้า ไปจนถึงที่แยกจระเข้ใหญ่เลี้ยวมาตามลำจระเข้ใหญ่ผ่านลาดชะโดมาจอดที่หน้าบ้านหลวงวารีโยธารักษ์ บ้านผักไห่ซึ่งเคยจอดแต่ก่อน ตอนคลองจระเข้ใหญ่มีผักตบชวามากขึ้นตามลำดับ แต่ที่ลาดชะโดเป็นมากกว่าที่อื่น พระยาโบราณซึ่งกำหนดว่าจะขึ้นไปรับถึงสุพรรณไปไม่ได้ เหตุด้วยมีลมพายุตีผักตบแตกกระจายเต็มปิดปากคลอง ต้องแก้ไขกันอยู่จนวันนี้ยังไม่หมด มาถึงบ้านผักไห่แต่วัน ราษฎรพากันมาเป็นอันมากเต็มแน่นไปทั้งนั้น มีการแข่งเรือสนุกสนานโห่ร้องรำกันครึกครื้น เวลาเย็นได้ลงเรือไปซื้อของตามแพเพราะคิดจะหากฐินตกทอดสักวัดหนึ่ง ได้ลงมือหาผ้ามาแต่สุพรรณแล้ว มาหาของเพิ่มเติมที่นี่ และได้สั่งให้ไปเที่ยวหาวัด แต่ครั้นเมื่อไปวัดชีโพน ซึ่งเรียกว่าวัดชีตาเห็น ที่หลวงญาณ สร้างสมบุญ ไปสร้างวิหารขึ้นไว้ได้ช่วยการปิดทองเขา เขาจึงเชิญไปให้อนุโมทนา ได้พบพระครูอ่ำ เจ้าคณะแขวงเสนาใหญ่ เดิมเป็นฐานาสมเด็จพระวันรัต (แดง) ขึ้นมาอยู่ที่วัดตึกตรงวัดชีโพนข้าม ตั้งแต่ศก ๑๒๑ ได้เรี่ยไรสร้างพระอุโบสถและผูกเสมาแล้วเสร็จเป็นเงินเกือบ ๑๖,๐๐๐ บาท สร้างการเปรียญหลังหนึ่งสิ้นเงินเกือบ ๑๐,๐๐๐ บาท จ้างอาจารย์บอกพระปริยัติธรรม ดูเป็นคนมีความอุตสาหะพอใช้อยู่ และไปได้ความว่าเป็นวัดที่กฐินตกไม่มีใครทอด จึงได้จองจะไปทอดวัดนั้นในมะรืนนี้เพราะพรุ่งนี้ตาช้างมาชวนให้ไปทอดกฐินซึ่งแกได้ตระเตรียมไว้พร้อมแล้ว


ตำบลผักไห่นี้บริบูรณ์ครึกครื้นกว่าเมืองสุพรรณเป็นอันมาก นาที่ว่าเสียนั้นก็เสียในที่ลุ่มมาก ที่ซึ่งไม่ลุ่มข้าวงามบริบูรณ์ดีทั้งนั้น


ได้ถามเรื่องเมืองอู่ทองคือเมืองเก่า เจ้าอธิการแสง ตามที่ได้ไปเห็นและตามที่ได้ฟังเล่า ว่าอู่ทองนั้นอยู่เมืองเก่า หนีห่าได้หนีขึ้นไปข้ามที่ตะพานหินวัดกร่าง ข้ามมาเดินทางฝั่งตะวันออก แล้วจึงลงไปตั้งเมืองกำแพงแสนและเมืองอื่น ๆ ห่าก็ยังตามอยู่เสมอ เพราะห่านั้นเดินทีละย่างนกเขาเท่านั้น อู่ทองจึงได้มีเวลาสร้างบ้านสร้างเมืองได้ แต่ครั้นเมื่อเมืองสำเร็จแล้วห่าก็ตามไปถึง จึงต้องย้ายต่อไป บอกว่าตามที่พูดนั้นเหมือนเป็นคน แต่เธอเข้าใจเองว่าเหมือนอหิวาตกโรค เมืองสุพรรณเดี๋ยวนี้ไม่ทราบว่าผู้ใดสร้าง แต่ไม่ใช่อู่ทองสร้าง อู่ทองที่หนีห่าไม่ใช่อู่ทองที่ไปเป็นเจ้าแผ่นดินที่กรุงเก่า เป็นอู่ทององค์อื่น อู่ทองมีหลายองค์เป็นตำแหน่งเจ้า ผู้ซึ่งสร้างวัดอู่ทองในลำน้ำสุพรรณก็เป็นอู่ทอง องค์หนึ่งต่างหากเหมือนกัน แต่จะมีลำดับและกำหนดเรียกเปลี่ยนกันอย่างไร สมัยเทียบกับครั้งใดคราวใดไม่ทราบไม่ได้ยินใครเล่า


วันที่ ๒๓ ตุลาคม


เวลาเช้าลงเรือครุฑล่องลงไปช่วยนายช้างและอำแดงพลับ ทอดกฐิน ตำบลวัดหัวเวียง เขาจัดการทอดที่การเปรียญ เพราะโบสถ์นั้นน้ำจวนจะท่วมเครื่องบริขารไม่มากสิ่ง แต่เป็นของอย่างที่ถือว่าเป็นของดี คือ ตู้กระจก หมอนปัก กระเช้า ป้านถ้วย เป็นต้น คู่สวดก็ได้เครื่องบริขาร อันดับได้สงบ และหีบกระฆัง หมากพลูธูปเทียน ได้ออกเงินช่วยองค์กฐิน ๒๐ บาท คู่สวดองค์ละ ๖ บาท อันดับองค์ละกึ่งตำลึงแต่อยู่ข้างจะเป็นการนางนอง ด้วยเหตุที่เขากำหนดจะทอดต่อเวลาพรุ่งนี้มาพ้องกับกฐินที่เราจะทอด สมภารก็ไม่อยู่ ผู้อุปโลกน์ก็ไม่อยู่ แต่ก็ไม่ได้บอกขัดข้องอย่างไร วิธีที่จะทอดนั้นคือตั้งไตรและเครื่องบริขาร อ่างของกินไว้กลางศาลา แล้วมีดอกไม้ธูปเทียนตามแต่จะมีมากเท่าใดมาวางมั่วสุมอยู่ที่ไตร สัปปุรุษที่ไปมากน้อยเท่าไรไม่ว่านั่งล้อมกันอยู่ที่นั่น เจ้านายนั่งเก้าอี้ซึ่งตั้งเรียงไว้เป็นแถว พอพระลงนั่งเรียบร้อยแล้ว เอาสายสิญจน์กลุ่มหนึ่งมาคลีออกโยงผ้าไตร แล้วจ่ายกันถือทั่วไปอย่างหล่อพระ จึงมีหัวหน้าสัปปุรุษนำตั้งนโมพร้อมกันก่อน แล้วว่าอรหังสัมมา สัมพุทโธ แล้วถวายกฐิน ผู้นำ นำคนทั้งปวงว่าตามอย่างเดินเทียน แต่การที่จะว่าผ้านั้นอยู่ข้างประดักประเดิดมาก ท่านวัดหัวเวียงนี้ว่าผ้าได้แต่ไม่มีผู้อปโลกน์ ต้องเขียนคำอปโลกน์เดี๋ยวนั้น อ่านก็ไม่ใคร่จะออกประหม่า แต่ครั้นอปโลกน์แล้วเสร็จสวดไม่ได้ ต้องเลยยถาตักบาตรข้าวซึ่งหาไป แล้วย้ายไปวัดใหม่ซึ่งอยู่ไม่ห่างนัก เป็นวัดที่ ๒ พิณพาทย์ไม่ได้ประโคมจนเวลาพระลง ประโคมในเรือเวลาผ้ากฐินไป แล้วยกพิณพาทย์ขึ้นตั้งบนบก พอสัปปุรุษไป ประโคมอีกครั้งหนึ่ง เป็นสัญญาให้พระลง วัดนี้พระสงฆ์ ๑๕ รูป พรักพร้อมกันดี แต่เสียเค้าที่ขึ้นอปโลกน์ก่อนแล้วจึงได้ว่าผ้า เขาว่ากฐินบ้านนอกอยู่ข้างจะเลอะเทอะเช่นนี้ เมื่อได้เห็น ๒ วัดนี่เข้าแล้ว ให้นึกชมท่านเจ้าอธิการแสง วัดตะค่า ซึ่งไปหยุดเมื่อวานนี้ ได้สอบถามวิธีถวายกฐินและทำกฐิน ชี้แจงได้ถูกต้องเรียบร้อยหมด เป็นผู้มีความรู้ความสุจริตอยู่มาก วัดที่นี่ใกล้กรุงมากกว่ายังเลอะเทอะ ได้ช่วยเงินและตักบาตรเหมือนวัดโน้น แจกเสมาด้วยเป็นการครึกครื้นสนุกดี ครั้นทอดกฐินแล้วจึงไปทำกับข้าวเลี้ยงกันที่บ้านตาช้าง ซึ่งได้จัดรับอย่างรับซารวิตช์ตามเคย กลับมาลงเรือแจวที่ปากคลองฦาไชย แจวเข้าไปวัดกุฏิฦาไชยดูก็เป็นวัดใหญ่อยู่ โบสถ์เก่ามาก มีหน้าต่างข้างละช่อง แต่ไม่มืด พระสงฆ์มีถึง ๓๐ รูป พระครูเจ้าวัดจำพรรษาอยู่วัดเบญจมบพิตร จึงมิได้รับในที่นี้


กลับมาพบจิระ มาถึง ดูสบายดีขึ้นมาก


เรื่องกฐินมีคนช่วยมาก ชาวร้านไม่เอาเงินทั้งนั้น ต้องยัดเยียดให้ ยายพลับใจแกเด็ด ที่เราไปช่วยกฐินแก เจ้าอธิการองค์ละห้าตำลึง แกช่วยเราเสีย ๑๐ ตำลึง คู่สวดองค์ละ ๖ บาท อันดับองค์ละกึ่งตำลึงเหมือนกัน สมบุญและญาติของเขาก็ช่วย ยายพลับให้สายสร้อยทองมากอยู่ เป็นของลูกสาวที่ตายช่วยในการกุศล เดิมแกหมายว่าจะหล่อพระพุทธรูปด้วยทองแกจะให้หล่อพระรูป ครั้นรู้เรื่องเข้าเลยอุทิศในการหล่อพระสัมพุทธพรรณี กฐินคิดว่าจะจัดให้เป็นการอย่างข้างนอกเช่นที่ได้ไปเห็นมาวันนี้


วันที่ ๒๔ ตุลาคม

วันนี้เวลาเช้าขึ้นไปเยี่ยมบ้านสมบุญ แล้วจึงลงเรือไปกฐิน ใช้เรือครุฑเล็กเป็นเรือผ้าไตร บริขารลงเรือต้น มีเรือกราบโถงเป็นเรือดั้งคู่หนึ่งเรือกลองอีกลำหนึ่ง ไปเข้าคลองริมวัดตึกนั้นเอง เป็นคลองที่ไปบางอ้อได้ วัดนี้เป็นบ้านจีนช้าง หลวงอภัยอำแดงเงินภรรยาจีนช้างตาย อำแดงเงินถวายเป็นวัดเป็นตึกอย่างจีนสัก ๕-๖ หลัง บ้านใหญ่อยู่หันหน้าลงทางแม่น้ำ ตัวอำแดงเงินนั้นเองก็ยังอยู่ อายุ ๗๔ ปี แต่ลูกเต้าก็มีเป็น ๔ คน ศรัทธาขึ้นมาถวายบ้านเป็นวัด แต่พระซึ่งเป็นผู้รับแต่ก่อนไปทำการไม่สำเร็จ เลยร้างไปคราวหนึ่งจนพระครูวินัยธรรม อ่ำ ฐานาสมเด็จพระวันรัต (แดง) ซึ่งเป็นชาวตำบลนี้ ขึ้นมาอยู่จัดการเรี่ยไรทำพระอุโบสถผูกพัทธสีมา และทำการเปรียญหลังใหญ่ต่ออกไปทางหลังบ้าน หันหน้าลงคลอง จึงให้ชื่อว่าวัดตึก ตึกนั้นคือเก๋งจีน คชนั้นคือช้าง หิรัญ เงิน จึงตกลงเป็นตึกคชหิรัญศรัทธาราม น่าชมความอุตสาหะทำเป็นอย่างใหม่ไม่ใช่เจ๊ก เป็นฝรั่งปนเจ๊กเกลี้ยง ๆ แต่แน่หนาดีพอใช้ พระประธานฝีมือหลวงกลมาบรรจง เป็นแม่ลูกอินซึ่งควรจะดีกว่านี้ เป็นที่น่าเสียใจอยู่บ้าง แต่ก็ไม่สู้เลวทีเดียวนัก การเปรียญทำใหญ่โตดี เห็นจะไม่มีวัดไหนเท่า สัปปุรุษนั่งได้หลายร้อย สะอาดหมดจด ราษฎรพากันไปคอยอยู่มาก มีไตรและของไทยทานไปช่วยจนนับไม่ถ้วน แต่เงินยกส่วนที่ตาช้างกับยายพลับออกเสียแล้ว ยังเป็นเงินถึง ๗๙๘ บาท ส่งเติมย่อยกันอยู่เสมอ จนกฐินแล้ว การทอดกฐินวันนี้จัดเป็นอย่างข้างนอก คือตั้งลับแลเป็นข้างในอยู่ข้างฐานพระอย่างวัดอรุณ แต่ราชอาสน์อยู่ที่หน้าที่บูชาทีเดียว เจ้านายข้าราชการและราษฎรเข้าไปนั่งในโบสถ์เต็ม เว้นว่างอยู่แต่ที่วางของบริขารและไทยทาน ถวายกฐินโยงสายสิญจน์ถือทั่วกัน และว่าพร้อม ๆ กัน อย่างเมื่อวานนี้ เจ้าอธิการว่าผ้าพระกฐินทานเกือบจะถูก แต่คงจะไม่ได้สังเกตไว้ถ้วนถี่ ทั้งประหม่าด้วย จึงไม่เหมือนบางกอก แต่ยังใช้ได้ดี สวดญัตติและกราลก็ถูกต้องเป็นที่เรียบร้อย อนุโมทนาก็สวดดี เกือบจะไม่รู้สึกว่าพระหัวเมือง ถ้าหากว่าเหมือนกฐินเมื่อวานนี้ ๒ วัด จะเป็นที่น่าเสียดายเป็นอันมาก ด้วยเครื่องบริขารและไทยทานกับทั้งเงินไม่มีกฐินไหนเท่า แต่เครื่องบริขารไม่ได้ถวายด้วยมือ เพราะเหลือที่จะขนถวายได้ เต็มไปทั้งนั้นจึงได้ถวายด้วยวาจา ในสิ่งซึ่งแบ่งไม่ได้เป็นของบริขารแห่งองค์กฐิน สิ่งซึ่งแบ่งได้ให้แจกพระสงฆ์มี ๑๑ รูป ได้ครองไตร ๕ แต่ยังได้สบง ๒ ผืน จีวรผืนหนึ่ง กับสิ่งของอื่น ๆ มีกาน้ำ โคม ถ้วยแก้ว หมอน และอื่น ๆ อีกบ้าง เสร็จการกฐินแล้วออกมาตักบาตรเลี้ยงพระที่การเปรียญ ราษฎรพากันหาข้าวแกงและสิ่งของมาคนละเล็กละน้อย แต่มากมายเหลือเกิน ถ้าพระจะมีบาตรองค์ละสัก ๔ บาตรก็เห็นจะรับข้าวไม่พอ ปล่อยให้เขาเข้าไปตักกันเป็นที่สนุกสนานมาก การกฐินเช่นนี้โดยจะเล่นในกรุงเทพฯ คงไม่สนุกได้อย่างนี้ พวกราษฎรเหล่านี้กล้าเข้ามานั่งพูดจาเข้าหมู่กันได้ไม่สะทกสะท้าน


ดูเป็นที่ปีติยินดีกันมาก พระยถาแล้วจึงได้กลับมาลงเรือครุฑเหิรเห็จขึ้นตามลำแม่น้ำน้อยพักกินข้าวที่วัดหน้าโคกออกจากวัดนั้นเป็นที่น้ำท่วมแลเห็นเหมือนทะเล ตามทางลำแม่น้ำนี้มีบ้านเรือนคนติดต่อกันหนาตลอด เหมือนอย่างในกรุงเก่า ตามตลิ่งมักจะมีที่ดอน วัดเก่า ๆ ก็มีหลายวัด เมืองวิเศษชัยชาญที่ย้ายลงไปตั้งบ้านอ่างทองได้ตั้งอยู่ในลำน้ำน้อยนี้เป็นอำเภอ เรียกว่าอำเภอวิเศษชัยชาญ ที่ตั้งพลับพลาสูงขึ้นมาพ้นทางที่จะออกไปเมืองอ่างทองหน่อยหนึ่ง อยู่ฝั่งตะวันออก ตำบลห้วยลิง อำเภอโพธิ์ทอง แขวงอ่างทอง ตามที่ได้กะไว้ ครั้งนี้ขึ้นมาค้างสูงเพียงเท่านี้ ถ้าขึ้นไปตามลำน้ำน้อยนี้จะผ่านแขวงเมืองพรหม ผ่านเมืองสิงห์เก่าไปออกปากน้ำเมืองสวรรค์ ถ้าเลี้ยวไปทางตะวันตกก็ขึ้นไปเหนือสุพรรณ ถ้าเลี้ยวทางตะวันออกก็ออกไปทางชัยนาท ตอนข้างล่างนี้ไม่มีไข้ทั้งลำน้ำน้อยนี้และลำน้ำเขาดินข้างสุพรรณ เฉพาะเป็นไข้อยู่แต่เมืองสรรค์ เพราะเป็นดงขึ้นในเมืองที่ร้าง เมืองสรรค์นี้ครั้งก่อนก็ได้ไปแล้ว ถ้าจะล่องออกไปที่ว่าการเมืองอ่างทองทางชั่วโมงครึ่ง ไปป่าโมก ๓ ชั่วโมง วันนี้ถูกฝนเมื่อจวนจะถึงที่พักจอดเรือ การที่ย้ายเมืองวิเศษชัยชาญไปตั้งเสียอ่างทองและย้ายสิงห์ไปตั้งเสียแม่น้ำโน้น เพราะแม่น้ำน้อยนี้หน้าแล้งน้ำแห้ง มีน้ำอยู่ตั้งแต่หัวเวียงขึ้นมาถึงผักไห่ เหนือน้ำขึ้นมาขาดเป็นห้วงเป็นตอน


วันนี้มาก่อนถึงพลับพลาฝนตก เวลาค่ำมีผ้าป่า เขาทำเป็นรูปต้นโพธิ์ทอง และมีลิงนั่งอยู่ใต้ต้น เป็นเครื่องหมายนามของตำบลนี้


วันที่ ๒๕ ตุลาคม


เมื่อคืนนี้เวลา ๒ ยามเป็นพายุฝนตกฟ้าร้อง อยู่ข้างจะตึงตัวมาก ท้องไม่สู้สบาย วันนี้จึงได้ไปเที่ยวสายไป กรมสมมต ชายเสรฐวงศ์ เจ้าพระยาสุรวงศ์ ไปล่วงหน้ากองหนึ่งแห่งอื่นก่อน เพื่อจะล่อให้คนไปตอม วุฒิไชยแยกล่วงหน้าไปกองหนึ่ง ไปด้วยเรือครุฑเหิรเห็จ ระยะที่ขึ้นไปบ้านเรือคนไปบางที่พรมแดนเมืองอ่างทองกับเมืองพรหมใต้นั้นลงมาบ้านเรือนเต็มตลอดแลเห็นวัดไชโยใกล้มากดูเหมือนถ้าตัดตรงไปจะสัก ๒๕ เส้นหรือ ๓๐ เส้น ขึ้นไปเหนือคลองวัดโพธิประจักษ์ ซึ่งไปออกใต้เมืองพรหม หยุดพักทำกับข้าวกินที่วัดท่าข้าม วัดซึ่งได้ชื่อว่าท่าข้าม เพราะเป็นที่เกวียนข้ามมาแต่ข้างตะวันตก มีน้ำตาลมามาก ที่นี่มีการเปรียญใหญ่ แต่ทำไม่ดี ท่าทางจะไม่ทนอยู่เท่าไร เลี้ยงกันแล้วยืมเรือเป็ดประทุน ๔ แจวพระล่องลงมาหยุดฟังเทศน์มหาชาติที่วัดจำปา กรมขุนสรรพสารทเสด็จในการเปรียญ คนนั่งเต็มแน่นไม่มีที่ว่าง กำลังเทศน์ชูชก มีกระจาด ๓ กระจาดเป็นเครื่องกัณฑ์ ๆ เดียว เงินติดเทียนไม่ตกเป็นของพระ สำหรับรวมไว้ใช้ในการปฏิสังขรณ์ พวกชาวบ้านเหล่านี้ทั้งผักไห่และที่นี่ทั้งสาวทั้งเด็กแต่งตัวมาก มีเครื่องทองหยองเพียบ ๆ ตัว มีผู้หญิงตัดผมคล้าย ๆ ดอกกระทุ่มแต่ยาว ไว้ผมทัดหรือที่เรียกว่าผมหมวกโตและยาวทัดขึ้นไปบนหูหลายคน มีตาแก่คนหนึ่งชื่อจันอายุได้ ๑๐๐ ปี ถ้วนสอบสวนแล้วเดินเหินยังแข็งแรง ตาเห็นอยู่บ้างแต่หูไม่ได้ยินเลย ไปนั่งฟังเทศน์อยู่ด้วย พวกมัคนายกต้อนรับแข็งแรง มีเสื่ออ่อนมาปูให้นั่ง หมอนขวาน หมาก บุหรี่ น้ำชาเลี้ยง ได้ติดกัณฑ์เทศน์ ๓ ตำลึง และ เอาหมกไว้ในหมากในป้านต่าง ๆ ที่เขามารับแหล่งละบาทอีก ๘ บาท แล้วลงเรือกลับมา ขึ้นเรืองครุฑที่ใต้วัดจำปาสัก ๒ เลี้ยว ได้พาลูกศิษย์วัดลงมาด้วย ๔ คน ในเรือไฟแจกเงินให้คนละกึ่งตำลึงให้แจวกลับขึ้นไปน้ำเชี่ยวมาก ขากลับล่องลงมาไม่ช้าเลย ถึงบ่าย ๔ โมง มีเรือราษฎรมาประชุมอยู่แน่นฟากตรงกันข้าม ที่จริงแม่น้ำนี้ตอนตั้งแต่อำเภอโพธิ์ทองลงไปถึงกรุงเก่า บ้านเรือนเต็มติดกันไปหมดไม่มีที่เปลี่ยว วัดก็มีใหญ่ ๆ มาก กำลังก่อสร้างอยู่ก็มี ไม่มีวัดร้าง เขาว่าระยะทางขาขึ้นตั้งแต่บ้านผักไห่ขึ้นไปนอนเมืองสิงห์ ๑๑ ชั่วโมง ออกจากเมืองสิงห์ไปอีกครึ่งวัน ก็ออกจากแม่น้ำเมืองสรรค์ถึงชัยนาท


วันที่ ๒๖ ตุลาคม


ลงเรือครุฑไปเข้าคลอง ไปหยุดลงเรือแจว เรือไฟลากเข้าไปตามลำรางในท้องทุ่งคำหยาด จนถึงตำหนักซึ่งว่าเป็นที่ขุนหลวงหาวัดเสด็จออกมาทรงผนวช ที่นี้พระยาจ่าแสนเป็นผู้ได้พบขึ้นก่อน ได้บอกไว้แต่เมื่อคราวขึ้นไปเมืองเหนือ ไม่มีเวลาที่จะมาดู ตามอรรถาธิบายของพระยาโบราณคิดเห็นว่าชะรอยบ้านในทุ่งคำหยาดนี้จะเป็นบ้านพวกกรมช้าง จึงได้มีชื่อวัดเกี่ยวข้องเป็นช้าง ๆ เช่นกับวัดโขลงข้ามเป็นต้นหลายวัด หลวงทรงบาศครั้งแผ่นดินพระนารายณ์ที่เป็นคู่คิดกับพระเพทราชาเอาราชสมบัติได้เป็นกรมพระราชวังหลัง ภายหลังที่ให้ถามว่าพระเจดีย์สร้างแล้วจะควรรื้อนั่งร้านหรือจะควรเอานั่งร้านไว้ ให้เอาไปประหารชีวิตเสียนั้นชะรอยจะอยู่บ้านนี้หลวงทรงบาศผู้นี้เป็นบิดากรมหลวงอภัยนุชิต กรมหลวงพิพิธมนตรีซึ่งเป็นพระมเหสีขุนหลวงบรมโกศ เจ้าฟ้าเอกทัศ เจ้าฟ้าอุทุมพระเป็นพระโอรสกรมหลวงพิพิธมนตรี เมื่อเจ้าฟ้าอุทุมพรออกจากราชสมบัติครั้งแรก ทรงผนวชอยู่วัดประดู่ทีจะยังไม่มีความบาดหมางมากกับขุนหลวงสุริยามนรินทร์ ครั้นเมื่อทรวงผนวชครั้งหลัง ทีความบาดหมางจะมากขึ้น จึงได้คิดออกมาสร้างตำหนักที่ตำบลคำหยาดนี้ เพื่อจะเอาเป็นที่มั่น เพราะเหตุที่ตำบลคำหยาดเป็นหมู่ไม้อยู่ในกลางท้องทุ่ง ไม่มีลำคลองที่เข้าไปถึง ถ้าจะเข้าทางทิศใดคงแลเห็นเสียก่อนนาน หวังจะเอาไว้เป็นที่มั่นป้องกันตัว ถ้าขุนหลวงสุริยามรินทร์เอะอะขึ้นมาอย่างไรก็จะหนีมาอยู่ที่ในนี้ จะคิดสู้ด้วยคนในท้องที่ก็เป็นพระญาติวงศ์สมัครพรรคพวกอยู่แล้ว


แต่ครั้นเมื่อไปถึงได้เห็นตัวตำหนักเข้า เห็นว่าไม่ใช่ตำหนักที่ทำโดยรีบร้อนเป็นการด่วน อย่างเช่นพระยาโบราณกล่าว เป็นตำหนักที่ทำการโดยมั่นคงประณีต แต่เป็นประณีตชั้นตอนปลายในแผ่นดินพระบรมโกศ ประณีตตอนนั้นคือวัดกุฏิดาวเป็นตัวอย่าง เพราะทำแข่งวังหลวง ประณีตตอนปลายเป็นเวลาแผ่นดินพระบรมโกศเอง ที่ไว้ใจคนอื่นทำ


ข้อซึ่งพระยาโบราณเห็นว่าบ้านหลวงทรงบาศจะอยู่ที่นี่นั้นเห็นจะถูกพระญาติวงศ์เห็นจะมีอยู่มาก แต่ตำหนักนี้คงจะได้สร้างเมื่อขุนหลวงบรมโกศ เสด็จมาเที่ยวประพาสตามแถบเมืองอ่างทองเนือง ๆ จนถึงได้เสด็จพระนอนขุนอินทรประมูลถึง ๒ ครั้ง ทรงปฏิสังขรณ์ทั้งวัดพระนอนจักรศรีและพระนอนอินทรประมูล ที่ตำหนักคำหยาดนี้คงจะได้สร้างขึ้นไว้เป็นที่ประทับเสด็จออกมาเนือง ๆ อย่างเดียวกันกับพระเจ้าปราสาททองสร้างบางปะอินในแผ่นดินพระบรมโกศไม่เสด็จบางปะอิน เสด็จขึ้นมาอ่างทองเนือง ๆ ตำหนักนั้นลักษณะเดียวกันกับตำหนักทุ่งหันตรา คือก่อเป็นตึกสูงพื้นดิน ๕ ศอก ผนังชั้นล่างเป็นช่องคูหาปูพื้นกระดาน ชั้นบนซุ้มหน้าต่างเป็นซุ้มจระนำ หลังคาในประธาน ๓ ห้อง มุขลดหน้าท้าย รวมเป็น ๕ ห้อง มีมุขเด็จทั้งหน้าทั้งหลัง ด้านข้างหน้ามุขเด็จเสาหาร มีอัฒจันทร์ขึ้นข้าง มุขหลังอุดฝาตันเจาะช่องหน้าต่างไว้สูง เห็นจะยกพื้นขึ้นเป็นหอพระที่หว่างผนังด้านหุ่มกลองเจาะเป็นคูหาทั้งข้างหน้าข้างหลังมีช่องคอสอง ในช่องเหล่านี้ทาดินแดงทั้งนั้น ฝีมือเป็นฝีมืออย่างสไตล์ลพบุรี โดยยาวตลอดหน้า ๙ วา ๒ ศอก ขื่อกว้าง ๕ วา ดูเป็นรอยแก้ อุดหน้าต่างมุขลดด้านหลังเสียทั้ง ๒ ด้าน ตำหนักนี้พื้นดินก็ยังต่ำน้ำท่วมแฉะรอบ หันหน้าไปตะวันออก หันหลังไปตะวันตก ตรงด้านข้างใต้วิหารเล็กหรือหอพระหลังหนึ่ง แยกอยู่คนละโคก มีเจดีย์องค์เล็กซึ่งรูปร่างอย่างไรไม่ได้ความพังเสียแล้วองค์หนึ่ง นอกนั้นไม่มีอะไร การที่ขุนหลวงหาวัดออกมาทรงผนวชไม่ได้ทรงผนวชที่ตำหนักนั้น ทรงผนวชที่วัดโพธิ์ทองแล้วไปประทับอยู่ตำหนักคำหยาดอย่างเดียว กับจะไปทรงผนวชวัดชุมพลแล้วไปประทับอยู่ที่พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์หรือวโรภาศพิมานเป็นการชั่วคราวเท่านั้น แล้วก็กลับมาอยู่วัดประดู่ เห็นจะไม่มีความคิดใหญ่โต ถึงที่จะตั้งมั่นสำหรับต่อสู้ ถ้าหากว่าขุนหลวงหาวัดคิดจะไม่ยอมให้สมบัติแก่ขุนหลวงสุริยามรินทร์แล้ว มีช่องที่จะทำได้หลายอย่าง ขุนหลวงสุริยามรินทร์สิปรากฏโด่งดังว่าเป็นคนโง่กักขฬะ จนถึงพระบิดาทำนายว่าถ้าเป็นใหญ่ขึ้น บ้านเมืองจะฉิบหาย บังคับให้ออกบวช ตั้งเจ้าฟ้าพรเป็นวังหน้าขึ้นไว้แล้ว เวลาเมื่อขุนหลวงบรมโกศสวรรคตก็ได้เป็นเจ้าแผ่นดิน ถึงว่าขุนหลวงสุริยามรินทร์จะสึกมานั่งกีดเกะกะอยู่ จะเชิญเสด็จไปเสียข้างไหนก็คงจะทำได้ ไม่จำจะต้องฆ่า นี่ยอมถวายสมบัติกันโดยดีออกไปบวช ถึงว่าเมื่อพม่ามารับสัญญาว่าจะคืนสมบัติให้ขุนหลวงหาวัด ตัวจะกลับออกไปบวชเสีย ครั้นพม่าไปแล้วไม่ทำตามคำที่พูด กลับนั่งพูดกันเอาพระแสงพาดตัก ขุนหลวงหาวัดก็ไม่เห็นว่าจะต้องกลัวอะไร เพราะจะทำอะไรก็ไม่เห็นจะต้องเกรงใจ เช่น เอาปิ่นราชมนตรีพระยาเพชรบุรีไปฆ่าเสีย ก็ไม่เห็นขุนหลวงสุริยามรินทร์ว่าไรได้ การที่กลับออกมาบวชอีกน่าจะเป็นไปได้ด้วยไม่มีความมักใหญ่เห็นควรสมบัติจะได้แก่พี่ชายที่แก่กว่าจริง ๆ อย่างหนึ่ง หรือจะเป็นคนที่อ่อนไม่แข็งแรงและไม่มีใครนิยมนับถือ ใจคอเกียจคร้านคับแคบอย่างหนึ่ง หรือจะทำให้ปรากฏว่าใจดีเห็นพี่อยากครองเมืองก็ให้ครองคงไม่ไปได้ถึงไหน เมื่อเหลวไหลอย่างไรต่อไปก็คงตัวได้เป็นนี้อีกอย่างหนึ่ง


มีข้อที่จะพิจารณาอยู่อย่างหนึ่ง ปรากฏในพงศาวดารว่า กรมเทพพิพิธ เป็นพรรคพวกข้างวังหน้า คือเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อออกไปคบคิดกับเจ้าพระยาอภัยราชาที่วัดกระโจม จะเอาแผ่นดินถวายขุนหลวงหาวัด ขุนหลวงหาวัดเองเป็นผู้เข้าไปทูลขุนหลวงสุริยามรินทร์ จะเป็นด้วยเหตุใดถ้าว่าขุนหลวงหาวัดไม่อยากเป็นเจ้าแผ่นดินด้วยไม่เห็นสมควร ก็ลงกันได้จะว่าเพราะกำลังอ่อนก็ชอบกล บางที่กรมเทพพิพิธคิดการครั้งนี้จะเป็นแต่กลอุบายยืมชื่อขุนหลวงหาวัดไปอ้าง ไม่ได้บอกให้รู้ตัวเพื่อจะให้คนนิยม คนที่นิยมหมายว่าเป็นความจริงมาพูดขึ้นกับขุนหลวงหาวัด เมื่อขุนหลวงหาวัดได้ทราบแล้วจะคิดเห็นว่าถ้ากรมเทพพิพิธทำการได้สมความคิด ฆ่าขุนหลวงสุริยามรินทร์เสียแล้วก็จะมาฆ่าท่านเสียด้วย แล้วก็จะเป็นเจ้าแผ่นดินเอง ขุนหลวงหาวัดคงรู้นิสัยกรมเทพพิพิธ เพราะเคยฝากเนื้อฝากตัวกันมา เหตุฉะนั้นจึงได้นำความไปทูลเจ้าแผ่นดินดังนี้ก็จะเป็นไปได้ข้อที่ว่าจะเป็นการอวดดีลองให้เป็นดู คงจะไม่ไปถึงไหนแล้วตัวก็จะได้เป็นก็เป็นการที่น่าทำอยู่แต่แรก แต่ครั้นเมื่อพม่ามาก็ถูกต้อนเข้าไปอยู่ในกำแพงกับพระราชาคณะทั้งปวง ไม่คิดอ่านสึกหาลาพรตออกมาช่วยการงานอะไรนิ่งทอดธุระเฉยอยู่ได้ น่ากลัวจะไปข้างเป็นคนอ่อนมากกว่าอย่างอื่นเห็นจะทำไปไม่ไหวแล้วก็ทอดธุระตามบุญตามกรรม แต่คงจะเป็นผุ้ที่มีความแค้นความน้อยใจพี่ชายว่าสมบัติก็ยกให้ มีทัพศึกก็สึกออกมาช่วยรักษาบ้านเมือง ครั้นเสร็จศึกแล้ว ท่านพี่ชายกลับหยาบช้าไม่ยกย่องตามการที่ควร เหตุที่ออกมาบวชเพราะความแค้นนั้น เห็นจะเป็นความจริง


ที่นี่ไม่ใช่วัดเลย แต่เดี๋ยวนี้พระได้มาตั้งเรือนจากโกโรโกโรกขึ้นไว้ ทีจะสำคัญว่าเป็นวัด แต่ก็อยู่ตอนหนึ่งต่างหาก ยังไม่ได้มาจับต้องตำหนักของเก่านี้ ได้สั่งห้ามไว้อย่าได้มาทำอะไร ถ้าจะทำวัดวาอารามอะไรก็ให้ทำในที่นอกออกไป กลับออกมา มาแวะทำกับข้าวกินที่วัดโบสถ์ แล้วมาทางคลองศาลาแดงแวะลงเรือแจวเข้าไปพระนอนขุนอินทรประมูล พระนอนองค์นี้ยาวกว่าพระนอนจักรศรี ฝีมือทำอยู่ข้างจะดี เป็นช่างหลวง พระพักตร์งามแต่วิหารไฟไหม้โทรมลงมาหมดช้านานมาแล้ว มีโคกเห็นจะเป็นโบสถ์พูนสูงกว่าโคกพระนอน ก่อเขื่อนอิฐรอบมีโบสถ์ไม่มีหน้าต่างฝีมืออิฐเป็นอิฐถาก เห็นจะปฏิสังขรณ์ ครั้งแผ่นดินพระบรมโกศเหมือนกันเป็นโบสถ์ ๕ ห้อง พระข้างในเป็นพระศิลา แท่นพระเป็นที่ตั้งพระ ๕ องค์ องค์กลางสูง องค์ที่นั่งสี่ด้านหันหน้าเข้าหาพระองค์กลาง มีพระเจดีย์ ๘ เหลี่ยมอยู่หลังโบสถ์ ถูกขุดเป็นโพรง ขนเอาพระพิมพ์ออกมาทิ้งไว้ข้างนอกมาก พระพิมพ์นั้นฝีมือไม่สู้ดี นั่งบ้าง ยืนบ้าง นอนบ้าง องค์โต ๆ ไม่ปรากฏว่ามีปริศนา


พระครูวัดไชโยมารับที่นี้ ราษฎรมาประชุมกันมากทั้ง ๒ แห่งมาจากคลองขุนอินทรประมูลไม่ช้าก็ออกแม่น้ำ ขึ้นมาจอดที่บ้านผู้ว่าราชการเมือง


เรือครุฑเหิรเห็จเดินแล่นทวนน้ำในฤดูนี้ ประมาณว่า ๑๐๐ เส้น ต่อ ๑๕ มินิต ถ้าจะมาจากอำเภอโพธิ์ทองตรงมาประมาณสักชั่วโมงเศษก็จะถึงที่นี้


วันที่ ๒๗ ตุลาคม


ลงเรือล่องลงมาเข้าคลองบางนางร้า หาที่พักทำกับข้าวไม่เหมาะจนมาออกปากคลอง เลยขึ้นไปดูข้างเหนือเห็นว่าจะช้าเสียเวลาไปจึงได้แล่นกลับลงมา ไม่ช้าเท่าใดก็ถึงวัดวรนายกรังสรรค์วัดเขาดิน ที่จริงภูมิฐานดี แลเห็นเด่นแต่ไกล เป็นที่ประชุมไหว้พระใหญ่ไม่มีที่ไหนเท่าสุพรรณ อ่างทอง ลพบุรีก็ลงมาพร้อมกันหมด เสียแต่การก่อสร้างไม่แข็งแรงเลยพูนดินขึ้นไปที่โคกโบสถ์สูงครากแบะจะพัง มาไลยเจดีย์ปูนยังไม่ทันจะดำมีต้นไม้ขึ้นมาก ทำกำมะลอเสียแต่แรกแล้ว ไม่ได้แวะเลยลงมาตามลำน้ำโพธิ์สามต้นไปทางบางขวดถึงปากช่องที่จะเข้าไปวัดตูม วัดศาสดา จอดเรือโมเตอร์ที่นั้นลงเรือสามสิบหกศอกแจวเข้าไป หยุดทำกับข้าวที่วัดศาสดา ซึ่งมีการเปรียญน้ำพอปริ่ม ๆ ที่จริงไม่เห็นท่าทางที่น่าจะอด หน้าวัดก็มีบ้าน การเปรียญก็ดูเป็นที่เทศนาวาการกันอยู่ แต่มีพระองค์เดียวเท่านั้น พระองค์เดียวก็มิใช่อยู่อย่างจน ๆ อยู่กุฏิฝากระดานยังใหม่ มีคฤหัสถ์ที่เป็นพวกพ้องนั่งอยู่เป็นหลายคน เรือท่านเล็กมาแต่ป่าโมกพบกันได้เรียกให้หยุดพักที่นี้ กินข้าวแล้วขึ้นดูพระอุโบสถและวิหาร มีพระเจดีย์กลมองค์หนึ่งอยู่ตรงหลังวิหาร อุโบสถและวิหาร ๔ ห้อง ๒ หน้าต่างเท่ากัน วิหารไม่มีหลังคา มีพระพุทธรูป ๖ องค์ เป็นพระศิลาปั้นปูนเพิ่มเติมชนิดพระลพบุรี แต่ในพระอุโบสถเป็นพระไม่สู้เก่า ผนักครากหลังคาโปร่ง สกปรก ถัดขึ้นไปอีกหน่อยหนึ่งจึงถึงคลองเข้าวัดตูม อยู่คนละฟาก วัดตูมนี้เป็นที่มีผลประโยชน์อยู่บ้าง คือป่าสะแกและที่นากัลปนา จึงได้มีพระอยู่เสมอ ไม่เคยขาดทีเดียวอย่างวัดศาสดา แต่เดี๋ยวนี้ก็มี ๒ องค์เท่านั้น เคยมีถึง ๕ วัดตูมนี้ลานวัดมีต้นไม่ร่มชิด เป็นวัดอย่างสมถะแท้ พระอุโบสถใหญ่ แต่มีหน้าต่างข้างละช่อง จั่นหับหน้าหลังหน้าบันเทพนม ก้านขดโต ๆ ปั้นลมเป็นรูปตุ๊กตา ทำนองเดียวกับวัดกลางเมืองสมุทร มีหลังเดียวแต่พระเจดีย์เป็น ๒ องค์ องค์หนึ่งตรงหลังโบสถ์ องค์หนึ่งไม่ตรง หายกันกับวัดศาสดา วัดศาสดานั้นมีทั้งโบสถ์ทั้งวิหารแต่มีพระเจดีย์องค์เดียว นี่มีแต่โบสถ์แต่มีพระเจดีย์ ๒ องค์ มีพระเจดีย์เล็กอีกองค์หนึ่ง พังหมดทั้งสาม พระพุทธรูปในนั้นมีแถวใน ๓ แถว หน้ามีพระทรงเครื่องที่มีน้ำในพระเศียรองค์หนึ่ง อีกองค์หนึ่งว่าเชิญลงไปวัดเบญจมบพิตร แท่นว่าง จะให้หาพระขึ้นมาตั้งเปลี่ยนพระ ๓ องค์ แถวในปิดทองแต่เฉพาะที่พระองค์ผ้าทาชาด สังเกตดูการพระอุโบสถทั้ง ๒ วัดนี้เป็นวัดเดิมแต่ครั้งกรุงอโยธยา ชั้นเดียวกันกับวัดเดิมที่เรียกว่า วัดศรีอโยธยา วัดเดิมเป็นคามวาสีตั้งอยู่กลางพระนคร วัดตูมเป็นวัดอรัญวาสี ตั้งอยู่ในป่า วัดศาสดาเป็นศิษย์ของวัดตูม ข้อที่วัดเข้ามาอยู่ในดอนลึกเช่นนี้ เป็นเหตุด้วยขุดคลองบางขวด ลัดตัดแม่น้ำทิ้งเสียประมาณสัก ๘๐ เส้น อย่างเดียวกันกับคลองเกร็ดและบางบัวทอง ยังแลเห็นรูปลำแม่น้ำกว้างใหญ่อยู่ตามทิวไม้ แต่แม่น้ำตื้นทำนากินลงมาเสียจึงเหลือแต่เป็นคลองปากช่องข้างบนมาออกใต้โพธิ์สามต้น บ้านเรือนคนยังมีอยู่ตลอดหนทาง การที่แม่น้ำนี้ตื้นเห็นจะได้ตื้นมาเสียช้านาน แผ่นดินพระนเรศวรได้มีจดหมายว่าประชุมทัพที่บางขวด แล้วลำแม่น้ำโพธิ์สามต้นนี้เป็นแม่น้ำเดียวกันกับคลองเมือง ค่ายโปสุพลาตั้งอยู่เหนือวัดเขาดิน ค่ายพระนายกองตั้งที่โพธิ์สามต้นจริง ๆ ยังมีรากอิฐที่ก่อกำแพงปรากฏอยู่ แต่ข้างริมน้ำตลิ่งพังไปกลับงอกเป็นเกาะขึ้นเสียในกลางน้ำ จึงดูแคบไป โพธิ์สามต้นนั้นมีวัด แต่ว่าเหลือต้นโพธิ์อยู่ต้นเดียวเป็นหน่อโพธิ์เดิม วัดนี้ถูกรื้อเอาอิฐไปทำกำแพงปากช่องที่แม่น้ำอ้อมเรียกบางนางลาง เป็นทางซึ่งครอบครัวขุนแผนขึ้นมาส่งทัพ ซึ่งข้ามแม่น้ำที่เหนือพลับพลาวัดม่วงนี้หน่อยหนึ่ง แล้วจึงพากันลงไปปลูกโพธิ์สามต้นที่ใต้พลับพลานี้ลงไป เรื่องขุนช้างขุนแผนนี่เขามั่นคงไม่เหลวงไหลอย่างวงศ์ ๆ จักร ๆ


วัดตูมนี้เป็นที่สำหรับลงเครื่องพิชัยสงครามแต่ดั้งเดิมมา คงเป็นแต่แรกตั้งกรุงอโยธยาตลอดจนถึงทุกวันนี้ ไม่ต่ำกว่า ๑,๐๐๐ ปี แต่การก่อสร้างคงจะได้แก้ไขมาโดยลำดับ อย่างไร ๆ ก็ไม่เป็นวัดใหญ่โต แต่เป็นที่สงัดพระในวัดไม่เคยทำเอง เป็นพระที่อื่นขึ้นมาทำ เช่นเครื่องพิชัยสงครามที่กรุงเทพฯ ก็พระวัดพระเชตุพนขึ้นมาทำ ที่นี่และที่วัดเดิมศรีอโยธยา ทูลกระหม่อมทรงนับถือ เสด็จพระราชดำเนินก็มี พระราชทานให้มาทอดกฐินตั้งแต่เด็ก ๆ มาวันนี้ได้ให้นิมนต์พระเลื่อง ซึ่งเป็นหลานศิษย์พระอาจารย์ม่วง มาลงเครื่องตามแบบพระอาจารย์ม่วง พระญาณไตรโลก พระสุวรรณวิมลศรี พระครูวัดหน้าพระเมรุ พระครูวัดขุนญวณ มานั่งปรกในการลงเครื่องนั้นด้วย ครั้นเสร็จแล้วได้กลับโดยเรือแจวมาออกทางปากช่องข้างเหนือขึ้นมาพลับพลา วันนี้มีคนมามากยิ่งกว่าทุกแห่งเพราะเขามีหนังและมีเพลง และมีผ้าป่า ผ้าป่าที่นี่มากลำแต่งต่าง ๆ เป็นการครึกครื้นกว่าทุกแห่ง นับเป็นการนักขัตฤกษ์ที่ประชุมคนใหญ่ วันนี้มีลมเย็นฟ้าแลบ แต่ไม่มีฝน


วันที่ ๒๘ ตุลาคม


เวลาเช้าล่องทางแม่น้ำโพธิ์สามต้น เลี้ยวเข้าคลองสระบัวมาออก คลองเมืองที่หน้าพระราชวัง คลองสระบัวนี้เป็นคลองที่ขุดลัดไปออกบางแก้ว สำหรับที่จะเดินทางจากพระราชวัง ไม่ต้องอ้อมไปขึ้นทางวัดสามพิหาร ตอนตั้งแต่วังไปตรง ไปโอนต่อเมื่อจะเข้าบรรจบลำแม่น้ำ คลองนี้ก็เหมือนกับคลองมอญที่กรุงเทพฯ เห็นจะเป็นที่ตั้งบ้านเรือนแน่นหนามาก เพราะอยู่ใกล้พระราชวัง มีถนนทั้งสองฟากคลอง แต่ถนนลึกเข้าไปไม่ได้อยู่ริมน้ำ มีวัดรายริมถนนเป็น ๒ แถว วัดที่ออกชื่อบ่อย ๆ ก็อยู่คลองนี้โดยมาก ล่องลงทางหัวแหลม มาเห็นเขากำลังขึ้นตะเกี่ยกันได้ความว่าเห็นจะเป็นออกอิดมีแข่งเรือแล้วลงมาแวะดูที่บางปะอิน น้ำท่วมแล้วยังกำลังขึ้นอยู่วันละนิ้ว นิ้วกึ่งขรัวเมฆมาคอยรับ ได้ให้เงินแทนทอดกฐิน ๑๐๐ บาท มีพวกที่บางปะอินเอาขนมจีนน้ำพริกมาให้ ลงเรือล่องมาหยุดพักกินกลางวันที่วัดเชียงรากน้อยพบพระยาสุขุม พระยารัษฎา เจ้าขจร ไปคอยรับอยู่นั่น ครั้นเลี้ยวกันแล้วล่องเรือลงมาพบมกุฎราชกุมารรับมาลงเรือด้วย ล่องลงมาจอดที่หน้าแพวัดราชาธิวาสที่เจ้านายและข้าราชการไปคอยรับอยู่


พอตกเย็นลง ก็ฝนตั้งและมีตกประปราย ขึ้นมาดูงานไม่ทันทั่วก็ฝนตก บางกอกฝนยังชุกมาก ที่ไหนซึ่งเขาบอกว่ามียุงชุม ยังสู้บางกอกไม่ได้สักแห่งเดียว


(พระบรมนามาภิไธย) สยามินทร์

เชิงอรรถ

ที่มา

เสด็จประพาสต้น กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ พิมพ์ครั้งที่ ๙ พ.ศ. ๒๕๓๕


(ขอขอบคุณ คุณ gignoi สมาชิก kaewkao.com ผู้พิมพ์เป็นวิทยาทาน)

เครื่องมือส่วนตัว