ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๓

จาก ตู้หนังสือเรือนไทย

การปรับปรุง เมื่อ 16:13, 2 ตุลาคม 2552 โดย CrazyHOrse (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
(ต่าง) ←รุ่นก่อนหน้า | รุ่นปัจจุบัน (ต่าง) | รุ่นถัดไป→ (ต่าง)
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

เนื้อหา

ข้อมูลเบื้องต้น

บทประพันธ์

คำนำ

ด้วยพระเจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธรฯ (ม.ว.ลพ สุทัศน์) จะทำการปลงศพหม่อมเจ้าหญิงอรชร ในพระเจ้าบรมวงษ์เธอชั้น ๑ กรมหมื่นไกรสรวิชิต ปราถนาจะพิมพ์หนังสือเปนของแจกในงานศพ จึงมาขอให้กรรมการหอพระสมุดวชิรญาณช่วยเลือกเรื่องหนังสือ แลจัดการพิมพ์ให้ตามประสงค์ ซึ่งจะบำเพ็ญการกุศลอุทิศผลทักษิณานุปทานแก่เจ้าครอกอาของท่าน เมื่อกรรมการได้รับฉันทอันนี้แล้วมาพิจารณาดูเห็นว่า หนังสือประชุมพงษาวดารได้พิมพ์เปนของแจกในการบำเพ็ญการกุศลอย่างเดียวกันมาแล้ว ๒ ภาค คือ ภาคที่ ๑ สมเด็จพระนางเจ้าพระมาตุจฉา ได้โปรดให้พิมพ์เปนของแจกในงานศพหม่อมเจ้าดนัยวรนุช ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงษ์ เมื่อปีขาลฉศก พ.ศ.๒๔๕๗ ภาคที่ ๒ สมเด็จพระบรมราชินีนารถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานศพฟักทองราชินีกูลในปีเดียวกัน เมื่อพิมพ์หนังสือ ๒ ภาคนั้นแล้ว มาตรวจดูยังมีหนังสือพงษาวดารเกร็ดอยู่ในหอพระสมุดซึ่งยังไม่ได้พิมพ์อิก ๓ เรื่อง คือ พงษาวดารเมืองปัตตานีเรื่อง ๑ พงษาวดารเมืองสงขลาเรื่อง ๑ ทั้ง ๒ เรื่องนี้ พระยาวิเชียรคิรี (ชม ณะสงขลา) ผู้ว่าราชการเมืองสงขลาได้เรียบเรียงไว้แต่เมื่อยังเปนพระยาสุนทรานุรักษ์ กับเรื่องพงษาวดารเชียงใหม่ พระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น) แต่เมื่อยังเปนพระยาศรีสิงหเทพได้เรียบเรียงทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง ๑ หนังสือทั้ง ๓ เรื่องที่กล่าวมานี้กอปรด้วยประโยชน์สมควรจะรวมพิมพ์เปนหนังสือประชุมพงษาวดารภาคที่ ๓ ได้อิกภาค ๑ กรรมการจึงได้เลือกหนังสือประชุมพงษาวดารภาคที่ ๓ ให้พิมพ์ตามเจตนาของท่านเจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธรฯ


หนังสือพงษาวดารทั้ง ๓ เรื่องที่พิมพ์ไว้ในสมุดเล่มนี้ ข้าพเจ้าได้อ่านตรวจตลอด แต่ไม่ได้สอบแก้ของเดิม ด้วยการตรวจสอบจะกินเวลามากนัก ข้าพเจ้าจะอธิบายแต่ความรู้เห็นของข้าพเจ้าไว้ในคำนำนี้โดยใจความ


หนังสือพงษาวดารเมืองปัตตานี ซึ่งถ้าจะเรียกให้ตรงตามกาลเวลานี้ควรเข้าใจว่าพงษาวดารมณฑลปัตตานี ที่พระยาวิเชียรคิรีเรียงนั้นเรียบเรียงตามความรู้เห็นที่มีอยู่ในเมืองสงขลา แลบางทีจะได้สอบกับหนังสือพระราชพงษาวดารฉบับที่หมอบรัดเลพิมพ์ด้วย ในตอนเบื้องต้นเข้าใจผิดหรือยังไม่ทราบความจริงอยู่บ้าง ที่จริงเมืองปัตตานีเปนเมืองขึ้นของสยามประเทศมาตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระร่วง ครองนครศุโขไทยเปนราชธานี ชาวเมืองปัตตานีเดิมถือพระพุทธสาสนา ภายหลังจึงเข้ารีตถือสาสนาอิสลาม ข้อที่ว่าเจ้าเมืองปัตตานีเปนผู้หญิงนั้น ไม่ใช่เพราะลูกยังเปนเด็กอย่างพระยาวิเชียรคิรีกล่าวไว้ในหนังสือนี้ ข้าพเจ้าได้เห็นจดหมายเหตุเก่าหลายเรื่อง แม้ที่พวกพ่อค้าฝรั่งซึ่งไปมาค้าขายครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมตลอดจนแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์มหาราชได้จดไว้ กล่าวต้องกันว่าประเพณีการปกครองเมืองปัตตานีเลือกผู้หญิงในวงษ์ตระกูลเจ้าเมือง ซึ่งมีอายุมากจนพ้นเขตรที่จะมีบุตรได้ เปนนางพระยาว่าราชการเมืองสืบๆกันมา ประเพณีอย่างนี้ใช้ในบางเมืองในเกาะสุมาตราก่อน แล้วพวกเมืองตานีจึงเอาอย่างมาใช้ พึ่งเลิกประเพณีนี้ในชั้นกรุงศรีอยุทธยาเปนราชธานี ในตอนหลังๆอิกข้อ ๑ ซึ่งกล่าวด้วยการตั้งข้าราชการไทยไปเปนพระยาปัตตานี เมื่อในรัชกาลที่ ๑ ตลอดมาจนเรื่องแยกเมืองปัตตานีออกเปน ๗ หัวเมืองนั้น ความคลาศกับหนังสือพระราชพงษาวดารอยู่เรื่องเมืองปัตตานี ว่าโดยใจความเปนดังนี้ เมื่อกรุงเก่าเสียแก่พม่าข้าศึก บรรดาหัวเมืองแขกมลายูที่เคยขึ้นกรุงศรีอยุทธยาพากันตั้งเปนอิศร ครั้งกรุงธนบุรียังไม่ได้ปราบปรามลงได้ดังแต่ก่อน มาจนในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร เมื่อปีมเสงสัปตศก พ.ศ. ๒๓๒๘ พม่ายกกองทัพใหญ่เข้ามาตีสยามประเทศทุกทิศทุกทาง เมื่อไทยรบชนะพม่าที่เข้ามาทางเมืองกาญจนบุรี แลที่ลงมาทางเหนือตีแตกกลับไปแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีรับสั่งให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เสด็จยกทัพหลวงลงไปปราบปรามพม่าทางหัวเมืองปักษ์ใต้ เมื่อตีกองทัพพม่าแตกกลับไปหมดแล้ว กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จลงไปประทับอยู่ที่เมืองสงขลา มีรับสั่งออกไปถึงบรรดาหัวเมืองแขกมลายูซึ่งเคยขึ้นกรุงศรีอยุทธยาให้มาอ่อนน้อมดังแต่ก่อน พระยาไทรบุรี พระยาตรังกานู ยอมอ่อนน้อมโดยดี แต่พระยาปัตตานีขัดแขงไม่มาอ่อนน้อม กรมพระราชวังบวรฯ จึงมีรับสั่งให้กองทัพยกลงไปตีได้เมืองปัตตานี เมื่อตีได้แล้ว ไม่กล่าวไว้ในหนังสือ พระราชพงษาวดารว่าได้ทรงตั้งให้ผู้ใดว่าราชการเมืองปัตตานีก็จริง แต่เหตุการณ์ที่เกิดภายหลังทำให้เข้าใจว่า ได้ทรงตั้งให้แขกซึ่งเปนเชื้อวงษ์พระยาปัตตานีเดิมเปนผู้ว่าราชการเมืองปัตตานี พระยาปัตตานีคนนี้ไม่ซื่อตรงต่อกรุงเทพฯ เมื่อปีรกาเอกศก พ.ศ.๒๓๓๒ มีหนังสือไปชวนองเชียงสือเจ้าอนัมก๊กให้เปนใจเข้ากันมาตีหัวเมืองในพระราชอาณาจักร องเชียงสือบอกความเข้ามากราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ต้องยกกองทัพลงไปตีเมืองปัตตานีอิกครั้ง ๑ ที่ตั้งไทยเปนผู้ว่าราชการเมืองปัตตานีตามที่กล่าวในหนังสือของพระยาวิเชียรคิรี เห็นจะตั้งเมื่อตีเมืองปัตตานีได้ครั้งที่ ๒ นี้ ต่อมาในรัชกาลที่ ๒ พม่าคิดจะยกกองทัพเข้ามาตีกรุงสยามอิก พม่าเกลี้ยกล่อมพระยาไทรบุรีๆ เอาใจไปเผื่อแก่พม่าข้าศึกเลยยุยงพวกมลายูเมืองปัตตานีให้เปนขบถขึ้นด้วย สาเหตุเนื่องกันดังกล่าวมานี้ จึงได้โปรดให้แยกเมืองปัตตานีเดิมออกเปนแต่เมืองเล็กๆ ๗ หัวเมือง แต่วงษ์วานชื่อเสียงผู้ว่าราชการเมืองทั้ง ๗ ตามที่พระยาวิเชียรคิรีจดไว้ในพงษาวดารนี้ ข้าพเจ้าเข้าใจว่าถูกต้อง ด้วยเมืองสงขลาได้กำกับว่ากล่าวมณฑลปัตตานีตลอดมา จนจัดตั้งมณฑลปัตตานีเปนมณฑลเทศาภิบาล ๑ ต่างหาก ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อปี มเมียอัฐศก พ.ศ.๒๔๔๙


เรื่องพงษาวดารเมืองสงขลานั้น ที่จริงพระยาวิเชียรคิรี (ชม) ตั้งใจจะกล่าวถึงพงษาวดารตระกูล ณะสงขลา ยิ่งกว่าจะแต่งเปนพงษาวดารเมือง พระยาวิเชียรคิรี (ชม) เคยให้ข้าพเจ้าดูหนังสือเรื่องนี้ แลได้เคยพูดกันถึงเรื่องหนังสือนี้มาตั้งแต่แรกแต่ง เนื้อความตามเรื่องราวที่เปนพงษาวดารเมืองสงขลาเอง ไม่ตรงตามที่พระยาวิเชียรคิรีกล่าวอยู่หลายแห่ง ข้อนี้จะแลเห็นได้ในหนังสือพระราชพงษาวดารกรุงรัตนโกสินทรรัชกาลที่ ๑ แลหนังสือจดหมายหลวงอุดมสมบัติ ว่าโดยย่อ หัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตวันตกที่นับว่าเปนเมืองสำคัญแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยามาจนรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทรนี้ ๓ เมืองด้วยกัน ข้างเหนือคือเมืองชุมพร เขตรจรดทั้งทเลนอกทเลใน ต่อลงไปถึงเมืองถลางตั้งอยู่ที่เกาะภูเก็จทุกวันนี้ (ซึ่งที่จริงควรจะเรียกว่าเกาะถลาง) รักษาชายพระราชอาณาจักรข้างทเลตวันตก ต่อลงไปถึงเมืองนครศรีธรรมราชใหญ่กว่าทุกเมืองมีเมืองไชยาอยู่ข้างเหนือ เมืองพัทลุงอยู่ข้างใต้ทั้ง ๒ เมืองนี้ แม้ในทำเนียบว่าขึ้นกรุงเทพฯ ตามการที่เปนจริงอยู่ในอำนาจเจ้าพระยานครมิมากก็น้อย เมืองสงขลาบางทีจะเคยเปนเมืองมาแต่โบราณกาลแต่ไม่มีอไรเปนสำคัญนอกจากชื่อกับที่ฝังศพพระยาแขกแห่ง ๑ ซึ่งเรียกว่า “มรหุ่ม” แต่ทำเลท้องที่ดีในการค้าขายด้วยตั้งอยู่ปากน้ำเมืองพัทลุง สินค้าเข้าออกทางทเลสาบไปมากับเมืองพัทลุงต้องอาไศรยเมืองสงขลาเปนที่ถ่ายลำ พวกจีนจึงมาตั้งค้าขายที่เมืองสงขลา จีนฮกเกี้ยนคน ๑ ในพวกที่มาตั้งค้าขายอยู่เมืองสงขลานั้นที่เปนต้นตระกูลวงษ์ของพวกณะสงขลา โดยสามิภักดิเข้ารับราชการเปนนายกองส่วยก่อน แล้วมีบำเหน็จความชอบ จึงได้เปนผู้ว่าราชการเมืองสงขลา ซึ่งกลับตั้งขึ้นใหม่ ที่เมืองสงขลาเปนเมืองขึ้นเมืองนครศรีธรรมราชนั้นที่จริงเพราะเหตุ ๒ ประการ คือ

ประการที่ ๑ เปนแต่ที่ประชุมการค้าขาย แรกตั้งขึ้นเปนเมืองอย่างเล็กๆ

ประการที่ ๒ ไม่เปนที่มั่นคง ปรากฏในหนังสือพระราชพงษาวดารกรุงรัตนโกสินทรรัชกาลที่ ๑ ว่า แม้แต่แขกสลัดก็เคยมาตีเมืองสงขลาได้ ที่มาตั้งเปนเมืองใหญ่ขึ้นกรุงเทพฯ เปนชั้นหลังมาในปลายรัชกาลที่ ๑ หรือต้นรัชกาลที่ ๒ ภายหลังมาเมื่อเมืองสงขลาเจริญขึ้นประจวบเวลามีราชการเกี่ยวข้องต้องปราบปรามเมืองไทรบุรีแลเมืองปัตตานี ข้าพเจ้าเข้าใจว่าข้างในกรุงเทพฯ จะไม่อยากให้เจ้าพระยานครมีอำนาจมากเกินไป หรือจะเปนด้วยเห็นการลำบากเกินกว่าที่เจ้าพระยานครจะบังคับบัญชาได้เรียบร้อยทั่วไป จึงตั้งเมืองสงขลาให้เปนเมืองใหญ่อิกเมือง ๑ สำหรับตรวจตราดูแลเมืองมลายูข้างฝ่ายตวันออกเมืองนครศรีธรรมราชให้ตรวจตราว่ากล่าวข้างฝ่ายตะวันตก อันติดเนื่องกับเขตรแดนอังกฤษ ลักษณการอันเปนพงษาวดารเมือง ใจความเปนดังกล่าวมานี้


เรื่องพงษาวดารเชียงใหม่ ซึ่งพระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น) แต่งนั้น เปนเรื่องพงษาวดารในตอนกรุงรัตนโกสินทรนี้เอง แต่จะเปนประโยชน์แก่ผู้อ่านให้รู้เรื่องวงษ์ตระกูลของเจ้านายในมณฑลพายัพ ซึ่งรับราชการอยู่ในเมืองนครเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองนครลำพูนทุกวันนี้ ว่าเกี่ยวดองแลสืบวงษ์ตระกูลมาอย่างใด


หนังสือพงษาวดารทั้ง ๓ เรื่องเปนหนังสือควรอ่าน ด้วยอาจจะให้ความรู้พิเศษบางอย่างอันมิได้ปรากฏในหนังสืออื่น ควรสรรเสริญพระยาวิเชียรคิรี (ชม) พระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น) ที่ได้อุสาหะเรียบเรียงขึ้นไว้ แลควรจะอนุโมทนาการกุศลซึ่งท่านเจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธรฯ ได้ให้พิมพ์หนังสือ ๓ เรื่องนี้ขึ้นให้เจริญความรู้แพร่หลาย อันนับว่าได้กระทำสารประโยชน์ให้แก่บรรดาผู้จะได้พบอ่านหนังสือเรื่องนี้ทั่วไป


หอพระสมุดวชิรญาณ

วันที่ ๑๗ เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๗

ไฟล์:ดำรงราชานุภาพ.JPG


สารบาญ

เชิงอรรถ

ที่มา

ขอขอบคุณ คุณ CVTบ้านโป่ง ผู้เอื้อเฟื้อไฟล์เอกสาร

เครื่องมือส่วนตัว