นิราศสุพรรณ
จาก ตู้หนังสือเรือนไทย
(ความแตกต่างระหว่างรุ่นปรับปรุง)
CrazyHOrse (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
(หน้าที่ถูกสร้างด้วย '== ข้อมูลเบื้องต้น == หมวดหมู่:วรรณคดีไทย [[หมวดหมู่…')
(หน้าที่ถูกสร้างด้วย '== ข้อมูลเบื้องต้น == หมวดหมู่:วรรณคดีไทย [[หมวดหมู่…')
รุ่นปัจจุบันของ 16:57, 31 กรกฎาคม 2552
เนื้อหา |
ข้อมูลเบื้องต้น
ผู้แต่ง: นายมี
บทประพันธ์
๏ นิราศร้างห่างไกลใจกระสัน | |||
ปีมะโรงฉศกวิตกครัน | ไปสุพรรณพาราเรียกอากร | ||
ด้วยได้นามตามตราพระราชสีห์ | ตั้งเป็นที่หมื่นพรหมสมพัตสร | ||
เมื่อวันออกนาวาลีลาจร | ให้อาวรณ์หวั่นหวาดอนาถทรวง | ||
เห็นเรือแพแลตลอดตลาดน้ำ | อยู่ประจำแน่นเนื่องทั้งเมืองหลวง | ||
สารพันสินค้าผ้าแพรดวง | ทั้งโหมดม่วงเหลี่ยนหลินและจินเจา | ||
มีเครื่องแก้วเครื่องทองของต่างๆ | มาตั้งวางเรียงรายจะขายเขา | ||
ที่หน้าแพแม่น้ำล้วนสำเภา | เห็นปลายเสาธงริ้วปลิวปลาบตา | ||
บรรทุกของเมืองไทยไปต่างๆ | ไม้แดงฝางสารพัดแกล้งจัดหา | ||
ทั้งเอ็นหนังลูกกระเบาเขานองา | เอาไปค้าเมืองจีนกินกำไร | ||
แลเห็นลำกำปั่นสำคัญคิด | ว่าอังกฤษแขกชวามาแต่ไหน | ||
พิเคราะห์ดูรู้แท้แน่ในใจ | กำปั่นไทยทอดประทับสำหรับเมือง | ||
สง่างามนามเทพโกสิน | คู่กระบิลบัวแก้วเป็นแถวเนื่อง | ||
จินดาดวงรัตนาสง่าเมือง | ย่อมลือเลื่องไปกระทั่งถึงลังกา | ||
ลำที่สามนามแก้วกลางสมุทร | เคียงพระพุทธอำนาจพระศาสนา | ||
ลำหนึ่งชื่อราชฤทธิ์กับวิทยา | อุดมเดชเดชาประทานนาม | ||
กรุงศรีอยุธยาเป็นผาสุก | นิราศทุกข์ราบเตียนสิ้นเสี้ยนหนาม | ||
สารพัดวัดวาพระอาราม | สง่างามพระนครถาวรครัน | ||
บริบูรณ์พูนเกิดประเสริฐศักดิ์ | เป็นเอกอัคราชัยมไหสวรรย์ | ||
ประชาราษฎร์เริงรื่นทุกคืนวัน | เกษมสันต์สาวหนุ่มออกกลุ้มเมือง | ||
เมื่อแรกเริ่มรักกันกระสันสวาท | ไม่สมมาดทุกข์ตรอมจนผอมเหลือง | ||
ที่สมหวังตั้งจิตเป็นนิจเนือง | ไม่ฝืดเคืองเฉิดฉายสบายตัว | ||
ที่เงินทองตวงถังก็ตั้งตึก | อึกกระทึกไม่เบาเป็นเจ้าสัว | ||
มีผู้คนบ่าวไพร่ใช้เหมือนวัว | ให้ลงหัวลงท้ายสบายใจ | ||
แต่ตัวเรายากจนทุพลภาพ | เที่ยวหาลาภเต็มประดาเลือดตาไหล | ||
ได้ร้อยเบี้ยจะบรรจบให้ครบไพ | จนเหงื่อไหลลงเป็นน้ำระกำกาย | ||
สงสารตัวเต็มประดาน่าอนาถ | แรมนิราศร้างไกลน่าใจหาย | ||
จะจากแพแลหาทั้งขวาซ้าย | ก็ผันผายพ้นมาในวารี | ||
๏ ถึงตำหนักแพหลวงทรวงระทด | น้อมประณตนบนิ้วเหนือเกศี | ||
น้ำตาคลอขาลาพระบารมี | บังคมที่เสด็จลงพระคงคา | ||
ครั้นขะเข้าเฝ้าใกล้ใช่ตำแหน่ง | ต้องเบี่ยงแบ่งนบบาทตามวาสนา | ||
ไม่เคยเป็นข้าท้าวบ่าวพระยา | เป็นแต่ข้าแผ่นดินเหมือนริ้นยุง | ||
ได้อาศัยในแผ่นดินทำกินคล่อง | มีเงินทองเฟื้องสลึงไม่ถึงถุง | ||
ถ้ามีมากมั่งคั่งตั้งกระบุง | จะทุกถุงเข้าไปกองในท้องพระคลัง | ||
จะไปทำสมพัตสรอากรตลาด | ถ้าไม่ขาดทุนถวายต่อภายหลัง | ||
ขอพระเดชพระคุณบุญประทัง | ให้ได้ดั่งดวงจิตที่คิดปอง | ||
รำพันพลางทางนบอภิวาท | มิใคร่คลาดคลาไกลฤทัยหมอง | ||
เห็นหน้ามุขสุดสะอาดปราสาททอง | งามผยองเอี่ยมฟ้านภาลัย | ||
ดั่งพิมานอำมรินทร์ในถิ่นฟ้า | ลอยลงมาปัฐพีจะมีไหน | ||
เป็นศรีเมืองเลื่องลือระบือไป | ทุกเวียงชัยสรรเสริญเจริญพร | ||
มีพระแก้วมรกตสดสะอาด | ประชาราษฎร์ชื่นชมบังคมสลอน | ||
เฉลิมกรุงรุ่งเรืองกระเดื่องดอน | สถาพรพูนสวัสดิ์เป็นอัตรา | ||
จะร่ำเรื่องเนื่องไปก็ไม่หมด | พระเกียรติยศยังมากเหลือปากว่า | ||
นึกบังคมอยู่ในใจแล้วไคลคลา | นาวามากระทั่งวังบวร | ||
เห็นวังเปล่าเหงาเงียบเชียบสงัด | ว่างสมบัติบพิตรอดิศร | ||
เหมือนเดือนดับลับฟ้าไม่ถาวร | เสด็จจรสู่สวรรคครรไล | ||
ยังแต่ดวงสุริยาในอากาศ | ดูโอภาสพื้นภพสบสมัย | ||
ไม่มีเพื่อนส่องฟ้านภาลัย | เปลี่ยวพระทัยสุริยาทุกราตรี | ||
ได้แต่ดวงดารามาเป็นเพื่อน | ก็ไม่เหมือนจันทราในราศี | ||
จะพรรณนาว่าไปก็ไม่ดี | มิใช่ที่จะประเทียบเปรียบภิปราย | ||
ค่อยเลื่อนล่องเข้าคลองบางกอกน้อย | ดูเรียบร้อยเรือแพแม่ค้าขาย | ||
ลางคนเล่าเจ้าคารมดูคมคาย | ไม่มีอายอดสูกับผู้ใด | ||
ที่ลางคนได้ระเบียบดูเรียบร้อย | ไม่มากน้อยเจรจาอัชฌาสัย | ||
มีคนซื้ออื้ออึงคนึงไป | ไม่มีใครชิงชังทั้งหญิงชาย | ||
ที่ลางคนมั่งมีเพราะขี้ฉ้อ | มันทั้งขอทั้งริบเอาฉิบหาย | ||
ลางลำเมียแจวหัวผัวแจวท้าย | ดูสบายตามประสาเขาหากิน | ||
พวกแม่ค้ามิได้ขาดตลาดน้ำ | สุดจะร่ำเรือแพกระแสสินธุ์ | ||
ก็รีบเร่งเรือมาในวาริน | ยิ่งลับถิ่นที่เคยเสบยบาน | ||
๏ ถึงวังหลังเห็นวังสงัดเงียบ | เย็นยะเยียบโรยราน่าสงสาร | ||
เสด็จดับลับลิบเข้านิพพาน | ยังยืนนานแต่พระนามทั้งสามกรม | ||
มีพระหน่อเจ้านายทั้งหลายมาก | บ้างตกยากเต็มทีก็มีถม | ||
บ้างทรงทำราชการสำราญรมย์ | รับสั่งชมโปรดปรานประทานพร | ||
มีสำเภาเลากาเป็นผาสุก | บรรเทาทุกข์ห้ามแหนแน่นสลอน | ||
ขอชมบุญบารมีชุลีกร | แล้วเลยจรจากมาพ้นหน้าวัง | ||
๏ ถึงวัดทองทัศนาดูอาวาส | คิดถึงบาทบพิตรเหมือนจิตหวัง | ||
เคยเสด็จมาที่นี่ปีละครั้ง | ทั้งเรือดั้งเรือกันเป็นหลั่นไป | ||
ด้วยทรงพระราชศรัทธาอุตสาหะ | ถวายพระกฐินทิพโกไสย | ||
สร้างกุศลต่างๆทุกอย่างไป | ตั้งพระทัยหมายประโยชน์โพธิญาณ | ||
เมื่อข้าบาทบรรพชารักษากิจ | ที่สถิตเชตุพนวิมลสถาน | ||
ได้เล่าเรียนเพียรภาวนานาน | รับประทานนิจภัตเป็นอัตรา | ||
ครั้นสึกออกจากพระสละวัด | เป็นคฤหัสถ์ลำบากยากหนักหนา | ||
ได้อาศัยในสมเด็จพระน้องยา | ทรงเมตตาโปรดปรานที่บ้านเรือน | ||
ท่านชุบเลี้ยงถึงที่มีเบี้ยหวัด | ไม่เคืองขัดหาพระทัยที่ไหนเหมือน | ||
ทูลลามากว่าจะกลับก็นับเดือน | มิได้เยือนเยี่ยมเฝ้าทุกเช้าเย็น | ||
ใช่จะแหล้งเบือนบากจากพระบาท | จำนิราศไปด้วยการรำคาญเข็ญ | ||
คิดถึงเบื้องบาทาน้ำตากระเด็น | ต้องจำเป็นจำคลาดพระบาทบงส์ | ||
๏ บรรลุถึงบางระมาดอนาถจิต | นิ่งพินิจนึกในน้ำใจประสงค์ | ||
เคยจดจำสำคัญไว้มั่นคง | ด้วยพันธุ์พงศ์พวกพ้องในคลองมี | ||
มาเป็นเพื่อนเจ้าบ่าวคราวขันหมาก | เพื่อนก็มากมาประมวลอยู่สวนศรี | ||
เพราะผู้หญิงตลิ่งชันขยันดี | เขาจึงมีเมียสวนแต่ล้วนงาม | ||
ที่บางกอกกินหมูอยู่ไม่ได้ | มาพอใจจงรักกินผักหนาม | ||
ออกชื่อเพื่อนแต่ในใจอย่าไอจาม | จะแวะถามกลัวจะช้าขอลาเลย | ||
๏ มาถึงวัดไก่เตี้ยละเหี่ยละห้อย | เห็นไก่ต้อยเตี้ยวิ่งแล้วนิ่งเฉย | ||
ไม่ก่งคอขันฟังเล่นบ้างเลย | ฤๅไม่เคยขันขานรำคาญคอ | ||
ฤๅกลัวแร้วรึงจะตรึงรัด | เป็นไก่วัดฤๅว่าไก่ของใครหนอ | ||
ดูสีเหลืองเลิศล้วนนวลละออ | น่าใครต่อไปถวายไว้ในวัง | ||
ด้วยไก่เตี้ยเช่นนี้เห็นทีจะโปรด | คงเป็นโสดสุดสมอารมณ์หวัง | ||
แต่ไม่มีไก่ต่อต้องรอรั้ง | ก็นั่งนิ่งเลยไปครรไลจร | ||
๏ บรรลุถึงวัดพิกุลให้ฉุนชื่น | พิกุลรื่นโรยร่วงพวงเกสร | ||
ถ้าได้พวงพิกุลทองประคองนอน | จะวายร้อนรับขวัญทุกวันคืน | ||
คิดถึงดอกสร้อยฟ้ากับการะเกด | ทับทิมเทศเสาวรสยังสดชื่น | ||
ช่วงหอมหวนทวนลมมากลมกลืน | อุตส่าห์ขืนแข็งกลีบไม่ลีบโรย | ||
รำคาญแต่ดอกสะเดากับเต่าร้าง | มาทิ้งขว้างภุมรินให้บินโหย | ||
ด้วยเพชรหึงตึงพัดระบัดโบย | จนดิ้นโดยดอกเด็จระเห็จไป | ||
ขาดทั้งต้นโค่นทั้งตอไม่หลอเหลือ | ไม่มีเยื่อใยติดพิศมัย | ||
แต่ดอกกลอยสร้อยฟ้าสุมาลัย | ไม่จากไกลกล้ำกลืนทุกคืนวัน | ||
สุดจะคิดครวญคร่ำร่ำสวาท | ใช่นิราศร้างนุชสุดกระสัน | ||
ประดิษฐ์กลอนค่อนคำเป็นสำคัญ | ไปสุพรรณครั้งนี้ไม่มีครวญ | ||
ไม่เหมือนไปพระแท่นแสนเทวษ | ทางประเทศร่วมกันคิดหันหวน | ||
ไม่กล่าวซ้ำร่ำไรอาลัยครวญ | ก็รีบด่วนเรือมาในสาชล | ||
๏ บรรลุถึงวัดชลอก็รอจิต | ใครช่วงคิดชลอวัดไม่ขัดสน | ||
ถ้าไม่ชลอก็จะพังลงวังวน | ชลอพ้นที่จะพังจึงยั่งยืน | ||
แต่ชลอจิตมนุษย์นี้สุดยาก | เอาพรวนลากก็ไม่ไหวอย่าได้ขืน | ||
ใครขัดขวางน้ำใจเหมือนไฟฟืน | ทั้งแผ่นพื้นภพไตรใจเหมือนกัน | ||
ประเดี๋ยวร้ายประเดี๋ยวดีมีต่างต่าง | ประเดี๋ยวร้างประเดี๋ยวเริดระเหิดหัน | ||
ประเดี๋ยวกลัวประเดี๋ยวกล้าสารพัน | เพราะใจนั้นมากมายเป็นหลายใจ | ||
๏ มาถึงหน้าวัดเพลงวังเวงจิต | นั่งพินิจศาลาที่อาศัย | ||
มีตะพานลูกกรงลงบันได | จึงจำได้แน่จิตไม่ผิดเพี้ยน | ||
แต่ก่อนพระวัดนี้ท่านดีมาก | ชื่อขรัวนาคช่างฉลาดข้างวาดเขียน | ||
มีคนจำแบบอย่างมาวางเรียน | จนช่างเขียนประเดี๋ยวนี้ก็ดีจริง | ||
ทุกวันนี้ฝีมือเขาลือมาก | แต่ฝีปากอับชื่อไม่ลือถึง | ||
ไม่มีใครยอยกเหมือนตกบึง | ต้องนอนขึงคิดอ่านสงสารตัว | ||
เสียแรงเรียนวิชาสารพัด | เที่ยวหยิบยัดยกใส่ไว้ในหัว | ||
เหมือนมณีสีอับพยับมัว | จะเอาตัวเห็นไม่รอดตลอดไป | ||
๏ มาถึงบางอ้อยช้างเมื่อปางยาก | รำลึกอยากน้ำอ้อยที่ย้อยไหล | ||
ไอ้อ้อยเข้าปากช้างจะง้างไป | ง้างไม่ไหวช้างกินจนสิ้นกอ | ||
อันอ้อยเข้าปากช้างแล้วง้างยาก | ถึงไม่มากมันก็น้อยคงร่อยหรอ | ||
เหลือแต่เดนชานช้ำระยำพอ | ใครกินต่อไปไม่รู้ก็ดูดี | ||
๏ ถึงบางขนุนเห็นขนุนเป็นพวงห้อย | ทั้งใหญ่น้อยยัดเยียดกันเสียดสี | ||
เจ้าของคอยห้ามหวงเพราะยวงมี | ไม่รู้ทีที่จะสอยนึกน้อยใจ | ||
๏ มาถึงบางขุนกองมองชะแง้ | ตลึงแลตลอดลำแม่น้ำไหล | ||
เห็นกิ่งรักรายเรียงเคียงกันไป | เป็นลูกใบหล่นลงในคงคา | ||
คิดคะนึงถึงรักที่มักมาก | เอาใจหากห่างเหเสน่หา | ||
เป็นรักกัดขัดแค้นแสนระอา | ตัดตำราทิ้งน้ำจำใส่ใจ | ||
๏ ถึงบางม่วงม่วงปรางลูกลางสาด | มีรสชาติเปรี้ยวหวานสถานไหน | ||
ก็ได้กินสิ้นอย่างต่างวิไล | จนเบื่อใจเบื่อปากไม่อยากกิน | ||
๏ มาถึงบางในไกลในใจจิต | นิ่งพินิจคุ้งแควกระแสสินธุ์ | ||
ท่านผู้เฒ่าเล่าไว้เราได้ยิน | ว่าที่ถิ่นเรือนเหย้าเจ้าไกรทอง | ||
แต่โบราณบ้านช่องอยู่คลองนี้ | เพื่อนก็มีเมียงามถึงสามสอง | ||
ตะเภาแก้วโฉมเฉลาตะเภาทอง | เป็นพี่น้องร่วมผัวไม่กลัวอาย | ||
จึงเรียกบางนายไกรเอาไว้ชื่อ | ให้เลื่องลือกว่าจะสิ้นแผ่นดินหาย | ||
ถ้าใครเป็นเช่นว่าอย่าระคาย | เราภิปรายเปรียบเล่นพอเป็นกลอน | ||
๏ ถึงบางระนกบางคูเวียงเรียงกันอยู่ | ดูเหมือนคู่เคยเคียงอยู่เรียงหมอน | ||
คิดคะนึงถึงเขนยที่เคยนอน | เราจากจรทิ้งขว้างไว้ห่างไกล | ||
๏ มาถึงวัดอุทยานสำราญรื่น | ได้ชมชื่นช่อผกาพฤกษาไสว | ||
พระพายชายพัดพามายาใจ | สุมาลัยลอยฟ้ามารินริน | ||
แมลงภู่ชูช่อดอกไม้สด | ครั้นสิ้นรสร้างโรยโหยถวิล | ||
มิได้อยู่ชูชมนิยมยิน | เที่ยวโบยบินหาอื่นมาชื่นชม | ||
เหมือนหญิงร้ายชายร้างให้ห่างห้อง | ไม่หมายปองที่อยู่เป็นคู่สม | ||
เขาหลอกเล่นให้ตายด้วยรายลม | เหมือนอารมณ์ภุมรากับมาลี | ||
๏ รำพันพลางทางมาถึงบางใหญ่ | พิศดูหมู่ไม้ในสวนศรี | ||
ม่วงทุเรียนมังคุดละมุดมี | ทั้งลิ้นจี่ลำไยมะไฟเฟือง | ||
มะปรางปลิงกิ่งแปล้แต่ละต้น | เป็นพวงผลสุกงามอร่ามเหลือง | ||
ลูกไม้สวนสารพัดไม่ขัดเคือง | เป็นผลเนื่องตามฤดูไม่รู้วาย | ||
แต่มะโรงฉศกนี้ตกแล้ง | ข้าวก็แพงถังละบาทพวกราษฎร์ขาย | ||
ระคนผลเผือกมันพอกันตาย | ค่อยสบายเป็นเสบียงเลี้ยงแผ่นดิน | ||
อยุธยาธานีไม่มีอด | ถึงข้าวหมดผลไม้ยังไม่สิ้น | ||
จะร้อนตัวกลัวอะไรกับไพริน | อย่าดูหมิ่นล่วงเลียบเข้าเหยียบแดน | ||
ทั้งเมืองเอกโทตรีที่ประเทศ | ต่างพระเนตรคอยรับอยู่นับแสน | ||
กลัวอะไรไพรีคงบี้แบน | เหมือนตั๊กแตนเต้นตอมเข้าลอมไฟ | ||
รำพันพลางทางเลื่อนมาหลายเคี้ยว | ดูลดเลี้ยวเหลือแล้วแจวไม่ไหว | ||
คลองก็แคบคดเคี้ยวลดเลี้ยวไป | ทั้งกิ่งไม้เกะกะระประทุน | ||
เจ๊กลูกจ้างแจวเรือก็เหลือเล่ห์ | ดูเกเรดูท้ายเที่ยวย้ายหมุน | ||
พอน้ำขึ้นตามน้ำค่อยค้ำจุน | ชุลมุนมาตะบึงจนถึงโยง | ||
ดูเรือแพแออัดกันยัดเยียด | ประทุนเบียดถ่อปักก็หักโผง | ||
บ้างหลีกกันหันหกเข้ารกโกรง | เดินทางโยงแสนยากลำบากใจ | ||
เป็นโคลนตมหล่มถลำน้ำก็แห้ง | ฤดูแล้งคลองเขินเดินไม่ไหว | ||
ต้องจ้างโยงโยงเรือน่าเบื่อใจ | เอาเงินให้แต่พองามตามราคา | ||
เขาก็เอาเชือกหนังมาทั้งขด | ผูกเข้าหมดเรือใหญ่ให้ไปหน้า | ||
ดูเรียงลำลำดับเป็นตับมา | ควายก็พาเชือกหนังรั้งกันไป | ||
เสียงปังปึงดึงเขม็งดูเคร่งเครียด | เรือก็เบียดบดกันเสียงหวั่นไหว | ||
มะหร้าวผูกหว่างกลางข้างละใบ | กันมิให้เรือซบกระทบกัน | ||
พอมาถึงครึ่งทางในกลางทุ่ง | จวนจะรุ่งไรไรเสียงไก่ขัน | ||
โยงมาจวนสวนทางกันกลางคัน | จะหลีกกันก็ไม่มีที่จะไป | ||
เสียงเอะอะเกะกะปะกันเข้า | บ้างก็เอาถ่อค้ำตำไถล | ||
ข้างหนึ่งมาข้างหนึ่งจะดึงไป | โยงไม่ไหวน้ำแห้งสิ้นแรงควาย | ||
จนเชือกรั้งขาดแล้วต้องต่ออีก | กว่าจะหลีกกันพ้นก็จนสาย | ||
พอคล่องลำฉ่ำเฉื่อยเรื่อยสบาย | ทั้งหญิงชายปรีดาดูหน้ากัน | ||
บริโภคโภชนาผลาหาร | ต่างสำราญปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ | ||
บ้างพบเพื่อนรู้จักก็ทักกัน | แล้วให้ปันผักปลาประดามี | ||
เรือลำหนึ่งติดกับเราลูกสาวสวย | ไม่พูดด้วยดูสบก็หลบหนี | ||
ใช้แต่ตาต่างปากฝากไมตรี | แม้นอยู่ที่ชอบกลไม่พ้นมือ | ||
จีนลูกจ้างร้องฮ้อพลอยอ้อแอ้ | ถามว่าแม่จะเจียะเหลาเฮียะฤๅ | ||
ต่างพูดจาตามประสาว่าไล้ขื่อ | เสียงอึงอื้ออวดผู้หญิงเหมือนลิงลน | ||
ครั้นพ้นจากทางโยงชะโลงล่อง | ออกจากคลองเรือแพแลสับสน | ||
บ้างหยุดจอดจอแจกระแสชล | บ้างเลยพ้นออกลำแม่น้ำไป | ||
เจ้าตลาดปากคลองก็ร้องเรียก | จนปากเปียกเถียงกันสนั่นไหว | ||
พวกชาวเรือลูกค้าระอาใจ | ต้องยอมให้เบิกเผยแล้วเลยจร | ||
แต่เรือเราเจ้าตลาดเขาคาดหน้า | ก็รู้ว่าหมื่นพรหมสมพัตสร | ||
ไม่เบิกเผยเลยมาในสาคร | ทุเรศร้อนแรมทางมากลางคืน | ||
เห็นโรงหีบหีบอ้อยอร่อยรส | น้ำอ้อยหยดหยาดหยัดไม่ขัดขืน | ||
กะทะโตเตาใหญ่ใส่ไฟฟืน | ไม่ทำอื่นทำแต่การน้ำตาลทราย | ||
เขารู้ว่าน้ำอ้อยนั้นย้อยหยด | เอาฝูงมดบางกอกมาออกขาย | ||
แต่ล้วนมดตัวเมียน่าเสียดาย | ให้เขาขายแลกลำระยำเยิน | ||
๏ มาถึงบางไก่ซ่อนก็อ่อนจิต | ยังมืดมิดมุ่งมองดูคลองเขิน | ||
พบนาวาคลาเคลื่อนเป็นเพื่อนเดิน | ประมาณเมินมุ่งมาในวารี | ||
พระจันทร์แจ้งแสงสว่างกระจ่างเมฆ | ดูวิเวกอ้างว้างทางวิถี | ||
ดูดวงเดือนเหมือนดวงอะไรดี | ไม่รู้ที่จะประเทียบเปรียบเนื้อความ | ||
สงสารแต่ดวงดาวที่วาววับ | จะเอื้อมจับเอาเองก็เกรงขาม | ||
ชมแต่ดวงช่วงแช่มอยู่แวมวาม | ลอยอยู่ตามท้องฟ้าทุกราตรี | ||
ถ้าแม้นได้ดวงดาวที่วาววับ | จะรองรับด้วยพานมณีศรี | ||
ใส่โอษฐ์อมชมเล่นเพราะเห็นดี | มิให้มีใครต้องถึงสองมือ | ||
ไอ้ยามดึกนึกหวาดอนาถหนาว | จะเอื้อมดาวเดือนได้ดังใจหรือ | ||
เป็นความเปรียบเทียบทัดให้ชัดคือ | เพราะไกลมือก็เหมือนกับเดือนดาว | ||
๏ มาถึงบางปลาดุกสนุกจิต | เห็นปลาสลิดแอบฝั่งมันรังหยาว | ||
ปลาดุกโดดโลดเลี่ยงดูเงี่ยงยาว | ดูเหม็นคาวคิดขึ้นมาไม่น่ากิน | ||
ชังน้ำหน้าปลาซิวเท่านิ้วก้อย | มันมักพลอยตอดอยู่ไม่รู้สิ้น | ||
ประจบประแจงกุมภาเที่ยวหากิน | ทุกฐานถิ่นมีมากปากปลาซิว | ||
ขี้เกียจกล่าวราวเรื่องเปลืองสมุด | ก็รีบรุดเรือเรื่อยมาเฉื่อยฉิว | ||
แลตะคุ่มพุ่มไม้เป็นทิวทิว | ต้นง้าวงิ้วงอกราวชายสาคร | ||
๏ ถึงบางเลนเห็นหลักเขาปักไว้ | นีกเกลียดไม้ปักเลนมันเอนถอน | ||
โยกขยับจับเขยื้อนก็เคลื่อนคลอน | ไม่แน่นอนหนักแน่นน่าแค้นใจ | ||
รักแต่พื้นแผ่นผาอันหนาแน่น | สักหมื่นแสนโยกถอนไม่คลอนไหว | ||
ต่อแผ่นดินเกือบจะสิ้นประลัยไป | ด้วยฤทธิ์ไฟลมน้ำเป็นธรรมดา | ||
จึงไหวหวั่นอันตรายทำลายโลก | เขยื้อนโยกยับเยินกับเนินผา | ||
ไม่เหมือนหลักปักเลนเอนไปมา | ดูเคลื่อนคลาคลอนหันทุกวันไป | ||
๏ ถึงบางระกำคำนึงถึงสละ | ไอ้มาปะบางระกำจะทำไฉน | ||
เหมือนหักเอาหนามระกำมาตำใจ | ไม่เข้าใกล้บางระกำคิดรำคาญ | ||
๏ มาถึงบางไทรป่าเวลาดึก | คำนึงนึกถึงพระไทรในไพรสาณฑ์ | ||
เคยอาศัยใบร่มเมื่อลมพาน | แสนสำราญรื่นเริงในเชิงไทร | ||
เหมือนขุนแผนกับน้องวันทองน้อย | ตะวันคล้อยไคลคลาเข้าอาศัย | ||
เสียงแจ้วแจ้วจักจั่นสนั่นไพร | ทั้งลองไนส่งเสียงสำเนียงนวล | ||
ไอ้สงสารแต่พระไทรที่ในบ้าน | จะหักรานโรยร้างห่างสงวน | ||
มาเห็นแต่ไทรป่าเวลาครวญ | เหมือนจะชวนหยุร่มเมื่อลมชาย | ||
๏ ถึงหินปูนหินมีที่นี่ฤๅ | จึงเรียกชื่อหินปูนไม่สูญหาย | ||
แลไม่เห็นหินผาศิลาลาย | เห็นแต่ปลายพงแขมขึ้นแกมกัน | ||
๏ ถึงบางหลวงบางน้อยก็คอยท่า | ไม่เห็นหน้าน้อยหลวงทรวงกระสัน | ||
ทั้งสองบางนางรวบประจวบกัน | ต้องแบ่งปันคนละครึ่งให้ถึงใจ | ||
จะว่าแต่บางน้อยเขาคอยท้วง | ข้างบางหลวงเขาจะว่าไม่ปราศรัย | ||
ต้องตัดทอนผ่อนผันด้วยกันไป | ให้ชอบใจน้อยหลวงตามท่วงที | ||
๏ ถึงบางหวายหวายอะไรผู้ใดตัด | ฤๅหวายมัดมือไว้มิให้หนี | ||
ฤๅผู้ใดทำผิดคิดไม่ดี | เขาเฆี่ยนตีด้วยหวายให้อายคน | ||
จึงเรียกว่าบางหวายไม่หายชื่อ | ตลอดลือเล่าแจ้งทุกแห่งหน | ||
รำพันพลางทางมาในสาชล | ประจวบจนแสงตะวันพรรณราย | ||
๏ ถึงบางสามบางสองพี่น้องเนื่อง | เข้าเขตเมืองสุพรรณดั่งมั่นหมาย | ||
ตลาดด่านรายรั้งริมฝั่งสบาย | แลเห็นนายด่านเถ่อชะเง้อคอ | ||
ด้วยเคยได้เล็กน้อยนั่งคอยอยู่ | เรียกเรือดูเข้าของแล้วร้องขอ | ||
ร้องเรียกเรือเราไว้ก็ไม่รอ | กลัวขี้ขอซุกซนจะค้นเรือ | ||
๏ มะตะบึงลุถึงที่ท้ายย่าน | เขาเรียกบ้านไอ้เดาะช่างเพราะเหลือ | ||
ไม่รู้จักชาวบ้านและว่านเครือ | จนออกเบื่อสุดจะร่ำด้วยตำบล | ||
๏ ถึงบ้านซอซอสีไม่มีเสียง | ฟังสำเนียงไม่สนัดให้ขัดสน | ||
คิดถึงหีบเพลงไขมีไกกล | เป็นแยบยลย้ายเพลงวังเวงใจ | ||
สงสารแต่ซอสีไม่มีสาย | จะยักย้ายเรื่องร้องทำนองไหน | ||
มโหรีปี่พาทย์นิราศไกล | ต่อกลับไปจึงจะซ้อมให้พร้อมมือ | ||
๏ ครั้นมาถึงบ้านกล้วยระทวยจิต | นั่งพินิจนึกให้ฤทัยหวาม | ||
เห็นบ้านช่องวัดวาพระอาราม | นิคมคามเคียงกันเป็นหลั่นไป | ||
๏ ถึงสุพรรณพาราเวลาเช้า | ก็ตรงเข้าจอดท่าที่อาศัย | ||
ต่างแต่งตัวทั่วไปด้วยทันใด | ประแจไขหีบตราออกมาวาง | ||
เชิญขึ้นใส่หีบทองทั้งสองฉบับ | น้อมคำนับตราบัตรไม่ขัดขวาง | ||
ยกดำเนินเชิญมาศาลากลาง | ตามเยี่ยงอย่างประเพณีเคยมีมา | ||
ทั้งพระหลวงกรมการขึ้นศาลพร้อม | ต่างนอบน้อมเรียงรายทั้งซ้ายขวา | ||
พระปลัดกรมการให้อ่านตรา | ฟังราคาพิกัดตัดประทวน | ||
แล้วบาดหมายรายความตามตำแหน่ง | ใครขัดแขงผิดชอบให้สอบสวน | ||
แล้วมอบให้หมื่นพรหมตามสมควร | ไม่ผิดผวนเรียกร้องตามท้องตรา | ||
ได้บาดหมายเสร็จสรรพแล้วกลับหลัง | ลงมายังเรือพลันด้วยหรรษา | ||
ครั้นเย็นค่ำย่ำแสงพระสุริยา | ทัศนานั่งดูเมืองสุพรรณ | ||
ดูโรยร่วงแรมร้างน่าสังเวช | ดังประเทศแถวป่าพนาสัณฑ์ | ||
พฤกษาชาติแซกแซมขึ้นแกมกัน | อเนกนันต์เล็กใหญ่ไม้นานา | ||
คืนวันนั้นจันทร์เพ็งเปล่งประเทือง | ดาราเรืองเรียงรายพรายเวหา | ||
ไปไหว้เจ้าหลักเมืองเรืองศักดา | ตั้งบูชาบัตรพลีพลีกรรม | ||
น้อมคำนับอภิวาทประกาศว่า | ขอเทวาช่วยชับอุปถัมภ์ | ||
อย่าให้ขาดทุนรอนอากรนำ | ทั้งทางน้ำทางบกอย่าปกบัง | ||
ใครบังไร่ไว้ไหนช่วยไปจับ | เอาค่าปรับให้สมอารมณ์หวัง | ||
ขอให้เรือลูกค้ามาประดัง | จะเก็บทั้งค่าตลาดอย่าขาดทุน | ||
ครั้นไหว้แล้วกลับมานิทราหลับ | จนเดือนลับลำเนาภูเขาขุน | ||
เจ้าหลักเมืองเรืองศักดาช่วยการุณ | มาค้ำจุนจิตนั้นให้ฝันไป | ||
ว่าย่านางนาวานั้นมาบอก | กำไรออกมั่นคงอย่าสงสัย | ||
บอกว่าเรือที่ขี่นั้นมีชัย | ได้กำไรค้าขายมาหลายคราว | ||
ให้แลเห็นรูปร่างของนางไม้ | งามวิไลแลละมุนพึ่งรุ่นสาว | ||
อร่ามเรื่องเครื่องประดับดูวับวาว | พอฟ้าขาวหายวับไปกับตา | ||
ประจักษ์จำความฝันไว้มั่นแม่น | ให้สุดแสนสมมาดปราถนา | ||
สังเกตดูฤกษ์ยามตามเวลา | ต้องตำราความฝันขยันดี | ||
ควรจะให้ชื่อนามตามโฉลก | ชัยโชคชันษาในราษี | ||
ด้วยย่านางนาวาเป็นนารี | ให้ชื่อมณีสาครขจรนาม | ||
จงถาวรพูสวัสดิ์อย่าขัดข้อง | ให้เงินทองมาเองอย่าเกรงขาม | ||
ให้อยู่ดีกินดีอย่ามีความ | จงงดงามพักตรานายอากร | ||
ครั้นเสร็จตั้งชื่อนามตามตำหรับ | ชวนกันจับการระดมสมพัตสร | ||
เอาหมายนำป่าวประกาศราษฎร | ให้แน่นอนแนะนำทุกกำนัน | ||
ต่างอำเภอต่างหาไม้วาวัด | เสมียนจัดจดบาญชีขมีขมัน | ||
เอารุ้งแวงมาประมูลแล้วคูณกัน | คิดผ่อนผันออกได้เป็นไร่งาน | ||
ให้เรียกไร่ละสลึงจนถึงบาท | พิกัดขาดมากมายหลายสถาน | ||
ก็ต่างคนต่างจำได้ชำนาญ | เสมียนอ่านบาญชีเขียนฎีกา | ||
กำนันป่าวชาวบ้านทุกย่านแขวง | ไม่ขัดแข้งชายหญิงวิ่งมาหา | ||
ที่เสียแล้วไปบ้างที่ยังมา | บ้างมีตราคุ้มห้ามตามกระทรวง | ||
ต้องเชิดตรามาดูรู้สำเหนียก | ก็ไม่เรียกค่าไร่กับไพร่หลวง | ||
บ้างเขียนดำทับแดงแปลงในดวง | ครั้นทักท้วงไล่เลียงก็เพลี่ยงพลำ | ||
ไม่รู้จักมุลนายว่าซ้ายขวา | มีแต่ตราพูดปากถลากถลำ | ||
ครั้นไล่จนวนวงไม่คงคำ | ก็จับจำปรับปรุงถลุงเอา | ||
ที่ลางคนบังไร่ไว้ลี้ลับ | เขานำจับเจ็บใจดั่งไฟเผา | ||
ต้องเสียเงินยุบยับนั่งสับเงา | เขาปรับเอาสามต่อต้องงอไป | ||
ที่ไม่มีเงินเสียละเหี่ยละห้อย | มาสำออยอ้อนวอนก็ผ่อนให้ | ||
ข้างขี้ตระหนี่ถี่เหมือนทำเชือนไช | มิใคร่ให้ค่าที่เที่ยวหนีตัว | ||
ที่ลางคนข้างเย็นยังเป็นหม้าย | ค่ำลงกลายกลับหนีไปมีผัว | ||
เห็นเขามีตราภูมิได้คุ้มตัว | พอเป็นรั้วคุ้มไร่ได้สบาย | ||
ที่ลางคนมีตราอาสาเขา | เขาไม่เอาเป็นผัวยิ่งมัวหมาย | ||
เฝ้าเวียนแบกตระบอกตราหน้าไม่อาย | เป็นผู้ชายหญิงชังแล้วยังงม | ||
ที่ลางคนเคืองข้องคอยฟ้องผัว | จะออกตัวมิให้อยู่เป็นคู่สม | ||
หมายจะหาชายอื่นมาชื่นชม | ให้หมื่นพรหมจับตราของสามี | ||
เราไม่จับกลับเก้อเขยอเปล่า | รู้ว่าเราไม่คบก็หลบหนี | ||
เป็นหลายอย่างต่างกันขันเต็มที | เรียกค่าที่ทั่วเมืองรู้เรื่องราว | ||
ที่ลางคนคิดประจบคบเสมียน | ให้วนเวีบยพันผูกกับลูกสาว | ||
จะให้เป็นพันธุ์พืชไปยืดยาว | เพื่อขอกล่าวค่าไร่ให้เบาลง | ||
บ้างก็มีผัวผิดจะคิดใหม่ | ให้ชอบใจน้ำจิตคิดประสงค์ | ||
มันเล่นเอาเจ้าเสมียนเจียนจะงง | แทบจะหลงเลยอยู่เมืองสุพรรณ | ||
ที่ลางคนเฒ่าแก่ก็แต่ร่าง | ใจนั้นอย่างสาวน้อยพลอยกระสัน | ||
เอากะลาดำดำเข้าทำฟัน | พอแก้กันแก้มห่อล่อผู้ชาย | ||
เห็นเนื้อหนังเหี่ยวแห้งเอาแป้งผัด | แล้วนั่งคัดไรจุกให้เฉิดฉาย | ||
กลัวแก้มตอบอมหมากไม่อยากคาย | ไม่เจียมกายเลยว่าแก่ยังแสงอน | ||
ที่ลางคนมีท้องทำป้องปิด | เพราะคิดผิดพาเหม็นเหมือนเป็นหนอน | ||
ที่ลางคนจนจิตคิดยอกย้อน | เข้าโรงบ่อนเบี้ยถั่วเล่นพัวพัน | ||
ลงจำนำทำดิ้นจนสิ้นท่า | กะโลกะลาล่อนเลี่ยนทั้งเชี่ยนขัน | ||
เพราะเมียชั่วผัวหามาไม่ทัน | ทะเลาะกันค่ำเช้าเพราะข้าวแพง | ||
ถ้าเมียดีแล้วที่ไหนจะได้ยาก | ต้องลำบากแต่จะกินสิ้นแสวง | ||
จนยากจนซนดิ้นแทบสิ้นแรง | เงินทองแดงเฟื้องไพก็ไม่มี | ||
กินแต่ผักบุ้งเปล่าจนเศร้าซูบ | ดูผิดรูปผิดร่างเหมือนอย่างผี | ||
จนผักบุ้งทุ่งนาหาเต็มที | แทบชีวีจะไม่รอดตลอดดอน | ||
ที่เงินทองมีบ้างก็ยังชั่ว | ได้เลี้ยงตัวไปตลอดไม่ถอดถอน | ||
ที่ท่านเป็นญาติกานายอากร | ไม่ทุกข์ร้อนข้าวปลาพอหากิน | ||
เป็นผู้ใหญ่ใจดีอารีอารอบ | ก็ชิดชอบชื่นชมสมถวิล | ||
แต่งสำรับคาวหวานให้ทานกิน | ไม่ราคินเปรียบปานกับมารดา | ||
คิดถึงคุณอุ่นเกล้าทุกเช้าค่ำ | ขอให้จำเริญสุขอย่าทุกขา | ||
เคยพร้อมพรั่งนั่งเล่นเจรจา | ตามประสากันเคยไม่เฉยเชือน | ||
ได้อาศัยไปมาเป็นผาสุก | ระงับทุกข์ที่อื่นไม่ชื่นเหมือน | ||
ทั้งบ่าวไพร่ใช้ชอบออกรอบเรือน | ลือสะเทื้อนชื่อดังทั้งสุพรรณ | ||
ใช่จะแกล้งยกยอแต่พอชื่น | ทุกวันคืนคิดถึงคุณไม่หุนหัน | ||
สุดจะรื้อเรื่องราวกล่าวรำพัน | ให้เฟือนฟั่นด้วยธุระปะทะทรวง | ||
ถึงเดือนสิบรีบเร่งให้เร็วรวด | จะส่งงวดไปยังพระคลังหลวง | ||
ก็ชวนกันตักเตือนเพื่อนทั้งปวง | ให้เลยล่วงรีบรุดไปสุดแดน | ||
๏ ถึงเขาพระท่าช้างบ้านนางบวช | จนเจ็บปวดบุกป่าระอาแสน | ||
ไปเก็บเงินบางขวากก็ยากแค้น | เหมือนแคะแค่นขอทานรำคาญใจ | ||
ที่บ้านโน้นดอนกระบื้องเป็นเมืองป่า | ใครแปลกหน้าขึ้นไปมิใครได้ | ||
ต้องตัดตอนแยกย้ายขายเขาไป | ด้วยกลัวภัยเจ็บไข้ที่ร้ายแรง | ||
ข้างสีโลธรรมดาเป็นป่าใต้ | ก็ขายให้พวกจีนพอสิ้นแขวง | ||
เที่ยวเรียกเงินสมทบประจบประแจง | เป็นสองแห่งทั้งตลาดไม่ขาดทุน | ||
ส่งสมทบครบถ้วนจำนวนหนึ่ง | ที่ค้างขึงบาญชีคิดสี่หุน | ||
เฟื้องสลึงถึงชั่งแล้วตั้งคูณ | บาญชีวุ่นวนเวียนเสมียนคราง | ||
จนถึงเดือนสิบเบ็ดหาเสร็จไม่ | จะเร่งให้เร็วรัดก็ขัดขวาง | ||
สมพัตสรตอนบกยังตกค้าง | จะไว้วางใจใครก็ไม่ลง | ||
แต่เที่ยวรัดทุ่งท่าเหมือนหน้าน้ำ | ทั้งสองลำล่องเลื่อนจนเฟือนหลง | ||
ไปถึงบ้านปากไห่เหมือนใจจง | แล้ววกวงออกทุ่งเที่ยวมุ่งมอง | ||
เห็นบัวหลวงบัวขมน่าชมดอก | ช่างงามงอกนับแสนดูแน่นหนอง | ||
เห็นบัวขาวขาวล้วนนวลลออง | เหมือนบัวทองที่กระถางสำอางตา | ||
เห็นสัตบุษผุดำพ้นขึ้นบนน้ำ | เหมือนจะร่ำเรียกชวนให้หวนหา | ||
เห็นบัวเผื่อนบัวผันสันตวา | เอามือคว้าฉวยฉุดก็หลุดลอย | ||
เห็นผักตบตับเต่าเหล่าสาหร่าย | ปลาก็ว่ายเวียนวนปนปูหอย | ||
ผักกะเฉดแพงพวยสลวยลอย | ปลาน้อยน้อยแอบแฝงกับแพงพวย | ||
น้ำก็ใสไหลแลเห็นลึกล้ำ | ปลาก็คล่ำว่ายกระดิบน่าหยิบฉวย | ||
บุษบงส่งกลิ่นมารินรวย | หอมระหวยโหยหาให้อาวรณ์ | ||
แลดูทุ่งทุ่งกว้างว้างวิเวก | เห็นทิวเมฆกลุ่มเกลื่อนเลื่อนสลอน | ||
พระสุริยงลงลับยุคุนธร | พระจันทร์จรเจ็ดค่ำเป็นสำคัญ | ||
เห็นพระจันทร์วงแหว่งตะแคงเหนือ | เหมือนรูปเรือลอยขวางนางสวรรค์ | ||
พระอังคารเข้าเรียงเคียงพระจันทร์ | ตำรานั้นมีอยู่แต่บูราณ | ||
ถูกชตาราศีผู้ดีไพร่ | ว่าจะได้คู่ชมภิรมย์สมาน | ||
เพราะพระจันทร์จะสบพบอังคาร | ไม่ช้านานกำหนดพอหมดเดือน | ||
ถ้าผู้ชายทายว่าคู่อยู่ข้างเหนือ | เป็นว่านเครือมิตรสหายละม้ายเหมือน | ||
ไม่สู้มีมิสู้จนเป็นพลเรือน | จะมีเพื่อนมิตรรักช่วยชักจูง | ||
ถ้าผู้หญิงทายว่าคู่อยู่ทิศใต้ | ท่านผู้ใหญ่อุปถัมภ์ค้ำให้สูง | ||
มีวงแววแพร้วพร่างเหมือนหางยูง | ทั้งเพื่อนฝูงพี่น้องจะต้องใจ | ||
ในตำราว่าช้าสักเดือนครึ่ง | คงเป็นหนึ่งมั่นคงอย่าสงสัย | ||
ตำราหนึ่งทายว่ามาแต่ไกล | มิใช่ไพร่เชื้อวงศ์เป็นพงศ์พราหมณ์ | ||
รู้วิสัยไตรเพทวิเศษสุด | แล้วถือพุทธศาสนาภาษาสยาม | ||
ตำราทายหลายอย่างในทางความ | เห็นจะงามบ้างสักคู่ไม่รู้เลย | ||
แต่ตัวเราเปล่าดายไม่หมายคู่ | เป็นหมอดูรู้แยบคายทายเฉยเฉย | ||
ไม่ประสงค์จงใจที่ไหนเลย | เพราะว่าเคยคิดผิดเหมือนติดตัง | ||
เป็นหมอดูรู้สิ้นทั้งดินฟ้า | ยังไม่พาตัวลอยกลับถอยหลัง | ||
หากพระเดชพระคุณหนุนประทัง | มีรับสั่งโปรดมาให้หากิน | ||
ใครไม่รู้ดูน่าจะผาสุก | แต่ความทุกข์เหมือนไฟอยู่ในหิน | ||
ถ้าเงินทองกองเล่นเหมือนเช่นดิน | ไม่ทำกินเลยให้ยากลำบากกาย | ||
นี่สุดแสนแค้นขัดเที่ยวลัดทุ่ง | ค่ำแล้วรุ่งแรมไปน่าใจหาย | ||
ไม่ได้พบบ้านเรือนเพื่อนสบาย | ทั้งกลิ่นอายก็ไม่มีมาวี่แวว | ||
ที่สุพรรณบุรีก็มีมาก | ทั้งสองฟากฟั่นเฝือล้วนเชื้อแถว | ||
เราชั่วดีมีอยู่เขารู้แกว | ผิดเสียแล้วแลดูแต่หูตา | ||
เที่ยวเรียกเงินรายค้างก็ขวางขัด | จนพระสงฆ์ทุกวัดออกวรรษา | ||
เขาทำบุญสุนทานชวนกันมา | บ้างศรัทธาทอดกฐินด้วยยินดี | ||
มีเรือแห่แลงามตามบ้านนอก | ผู้หญิงออกพายเรือใส่เสื้อสี | ||
แต่ประกวดอวดงามกันตามมี | ดูก็ดีตามเพศประเทศเมือง | ||
แล้วไหว้พระวัดฟ่าน่าสนุก | ที่ความทุกข์รันทดค่อยปลดเปลื้อง | ||
มาประชุมกันทั่วพวกรั้วเมือง | ดูแน่นเนื่องแนวน้ำออกคล่ำไป | ||
เดือนสิบสองขึ้นเจ็ดค่ำเคยสำเหนียก | มาพร้อมเพรียกประทับท่าเคยอาศัย | ||
เป็นพวกพวกหญิงชายสบายใจ | ไม่มีภัยแผ้วพ้นพวกคนพาล | ||
ครั้นพลบค่ำย่ำแสงพระสุริย์ศรี | พวกนารีร้องเพลงวังเวงหวาน | ||
วิเวกโหวยโหยไห้อาลัยลาญ | เสียงประสานเซ็งแซ่ร้องแก้กัน | ||
บ้างร้องส่งปี่พาทย์ระนาดฆ้อง | เสียงหนอดหน่องโหน่งเหน่งเพลงขันขัน | ||
มโหรีรี่เรื่อยเฉื่อยฉ่ำครัน | ทั้งโอดพันไพเราะเสนาะนวล | ||
ได้ฟังเสียงเอียงดูแล้วดูหน้า | สำคัญว่าเสียงนุชที่สุดสงวน | ||
แม่เคยร้องสักวาวิญญายวน | คิดว่าชวนกันร้องเที่ยวมองดู | ||
พบแต่พวกผู้อื่นออกดื่นดาษ | นึกอนาถน้ำจิตคิดอดสู | ||
ถ้าพบพวกเรามั่งจะพรั่งพรู | ไม่ต้องดูปากเขาของเรามี | ||
เคยบอกบทสักวานิจจาเอ๋ย | ทุกคืนเคยปรีดิ์เปรมเกษมศรี | ||
ถ้าเหาะได้จะไปพามาเดี๋ยวนี้ | จะให้มีสักวาที่หน้าจวน | ||
จะบอกบทบูชาวัดป่าบ้าง | ให้สว่างอารมณ์เมื่อลมหวน | ||
โอ้จนใจไม่พบประสบนวล | ใครจะชวนชื่นใจก็ไม่มี | ||
จะดูดาวดาวด็เลื่อนเดือนก็คล้อย | ต่างเลื่อนลอยลับฟ้าในราศี | ||
เหมือนแลลับพักตราทุกราตรี | ไม่รู้ที่ที่จะชื่นสักคืนวัน | ||
๏ ครั้นรุ่งแจ้งแสงทองขึ้นส่องฟ้า | ต่างตื่นตาแต่งอวดกันกวดขัน | ||
เป็นวันพระแปดค่ำที่สำคัญ | บ้างจัดสรรค์เครื่องบูชาบรรดามี | ||
ชวนกันลงนาวาแล้วคลาเคลื่อน | ออกกลุ้มเกลื่อนยัดเยียดกันเสียดสี | ||
อึกกระทึกกึกก้องท้องนที | จำเพาะมีลำคลองล่องเข้าไป | ||
กระทั่งถึงวัดผ่าพระอาวาส | ประชาชาติมีจิตคิดเลื่อมใส | ||
เอาธูปเทียนบุปผาสุมาลัย | ก็ตั้งใจจบหัตถ์นมัสการ | ||
ทั้งหนุ่มสาวเฒ่าแก่ออกแออัด | ครั้นถึงวัดเข้าไปในวิหาร | ||
ต่างเคารพนบประนมแล้วก้มกราน | บ้างอธิษฐานตามในน้ำใจปอง | ||
ที่ศรัทธาจริงจริงก็นิ่งแน่ว | เหมือนดวงแก้วเก้าสีไม่มีหมอง | ||
ที่หนุ่มสาวคราวรุ่นฉุนคะนอง | คอยมุ่งมองปรารถนาจะหากัน | ||
ที่ลางคนปรารถนาจะหาคู่ | ให้ได้อยู่ร่วมห้องประคองขวัญ | ||
ไปเกิดไหนขอให้ประสบกัน | ร่วมสวรรค์ร่วมพิมานร่วมบ้านเมือง | ||
บ้างปรารถนารูปงามทรามสวาท | ให้ผุดผาดผิวผ่องละอองเหลือง | ||
ขอให้ยศศักดิ์สูงขึ้นรุ่งเรือง | ให้ลือเลื่องอำนาจทุกชาติไป | ||
๏ ครั้นไหว้พระเสร็จสรรพคำนับน้อม | สะพรั่งพร้อมรายเรียงเคียงไสว | ||
บ้างเที่ยวชมวัดวาป่าเลไลย | บ้างกราบไหว้เวียนวงชมองค์พระ | ||
สังเกตดูทั่วองค์ทรงสัณฐาน | สูงประมาณเจ็ดวาสาธุสะ | ||
ฝาผนังพังผุดูครุคระ | เอาปูนปะปิดไว้พอได้การ | ||
พระวัดป่าเลไลยนี้ใครสร้าง | ดูรกร้างโรยราน่าสงสาร | ||
เป็นพระปั้นปิดทองของบูราณ | เห็นนานหนักหนากว่าร้อยปี | ||
พระพาหาขวาซ้ายทลายหัก | วงพระพักตรทองหมองไม่ผ่องศรี | ||
ห้อยพระชงฆ์ลงเรียบระเบียบดี | แล้วก็มีลิงช้างข้างละตัว | ||
ช้างหมอบม้วนงวงจ้วงจบอยู่ | ลิงก็ชูรวงผึ้งขึ้นท่วมหัว | ||
พื้นผนังหลังคาก็น่ากลัว | ฝนก็รั่วรดอาบเป็นคราบไคล | ||
พวกข้าพระวัดนี้ก็มีอยู่ | ไม่เหลียวดูพระบ้างไปข้างไหน | ||
จนวันวารกรื้อออกปื้อไป | ไม่มีใครถากถางจึ่งร้างโรย | ||
โคกกระสุนมูลมากเหมือนขวากทิ้ง | ยอกผู้หญิงร้องกรีดเสียงหวีดโหวย | ||
มันน่าเอาเลขวัดมามัดโบย | ไม่เก็บโกยเกียจคร้านในการบุญ | ||
ถ้าเรามีวาสนาจะมาสร้าง | มิให้ร้างรกเรื้อจะเกื้อหนุน | ||
เดี๋ยวนี้จนเต็มทีไม่มีทุน | จะทำบุญก็เสียดายหมายมีเมีย | ||
เป็นศรัทธาตัวเต่าเหมือนเขาว่า | นึกศรัทธาแล้วก็หายละลายเสีย | ||
เป็นศรัทธาแทงถั่วทั้งผัวเมีย | เก็บหัวเบี้ยกันในมุ้งจนรุ่งราง | ||
ไปเบื้องหน้าเห็นว่าอาวาสนี้ | จะเป็นที่ถิ่นอยู่หมู่เสือสาง | ||
ไอ้สงสารวัดป่าจะราร้าง | ใครจะสร้างสืบไปก็ไม่มี | ||
เดชะบุญเราได้มาไหว้นบ | เหมือนได้พบพานองค์พระชินศรี | ||
ด้วยเป็นพระแต่บูราณนานเต็มที | ย่อมเป็นที่นับถือลือมานาน | ||
แต่ก่อนเป็นบ้านเมืองเรื่องเณรแก้ว | อันเลิศแล้วเสภาเขาว่าขาน | ||
เมื่อบวชอยู่วัดป่ากับอาจารย์ | เทศน์กุมารมัทรีมีวิชา | ||
เมื่อครั้งเป็นหนุ่มแน่นแสนกระสัน | ไปติดพันพิมน้อยละห้อยหา | ||
เป็นต้นเรื่องแรกเริ่มเดิมเสภา | ทั้งวัดป่าก็ยังมีที่สำคัญ | ||
แต่ปางก่อนเมืองนี้มีกษัตริย์ | ผ่านสมบัติปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ | ||
คือน้องท้าวอู่ทองครองสุพรรณ | ท่านเล่ากันเนืองเนืองเรื่องก็มี | ||
เห็นเชิงเทินเนินวังยังปรากฏ | ชนบทขอบเขตบ้านเศรษฐี | ||
ภูมิประเทศเขตขัณฑ์ทุกวันนี้ | กลายเป็นที่ท้องนาป่าระกำ | ||
พระเจดีย์วิหารบูราณสร้าง | ก็โรยร้างร่วงหรุบคิดอุปถัมภ์ | ||
ทั้งพาราอาภัพยับระยำ | สุดจะร่ำเรื่องว่าน่าเสียดาย | ||
น่าสงสารเมืองสุพรรณทุกวันนี้ | ที่มั่งมีนั้นก็มากยากก็หลาย | ||
สุดจะร่ำคำเปรียบเทียบภิปราย | กลืนน้ำลายติดคอแล้วพ่อคุณ | ||
เหมือนหนึ่งเล่นหมากรุกสนุกจิต | เดินไม่คิดก็เสียเบี้ยหน้าขุน | ||
กล่าวแต่พอเบียดเสียดละเมียดละมุน | จงการุญถ้อยคำที่รำพัน | ||
ถ้าหยาบคายคำไหนอภัยโทษ | อย่าขึ้งโกรธบทกลอนช่วยผ่อนผัน | ||
จบนิราศร่ำเรื่องเมืองสุพรรณ | คิดไม่ทันก็อย่าว่าฉันบ้าเลย ฯ | ||
๏ เสมียน สมัครสามารถแกล้ง | เกลากลอน กล่าวแฮ | ||
มี แต่จนเจียรจร | จบด้าว | ||
แต่ง ตามทุกข์อาทร | ทนเทวศ ถวิลฤๅ | ||
ถวายพระน้องยาท้าว | ถี่ถ้อยทางแถลง ฯ | ||