อุปกรณ์รามเกียรติ์

จาก ตู้หนังสือเรือนไทย

(ความแตกต่างระหว่างรุ่นปรับปรุง)
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น
(ลักษณะกาพย์รามายณะ)
(รามายณะแบ่งเป็นเจ็ดกัณฑ์)
แถว 135: แถว 135:
==== รามายณะแบ่งเป็นเจ็ดกัณฑ์ ====
==== รามายณะแบ่งเป็นเจ็ดกัณฑ์ ====
 +
รามายณะวาลมีกิ  แบ่งเป็นภาคเรียกว่า กัณฑ์ เป็น ๗ กัณฑ์  คือ –
 +
* พาลกัณฑ์  เริ่มต้นด้วยฤษีวาลมีกิ  อาราธนาฤษีนารทให้แสดงรามายณะ  ดั่งที่กล่าวในตอนอุบัติเรื่องรามายณะข้างต้น  จนถึงพระรามยกศร  ได้นางสีดา กลับอโยธยา
 +
* อโยธยากัณฑ์  จับแต่ท้าวทศรถปรารภจะให้อภิเษกพระรามเป็นยุพราช  จนถึงพระรามเดิรดง.
 +
* อรัณยกะกัณฑ์  สามกษัตริย์ (พระราม  นางสีดา  พระลักษณ์)  เข้าป่าทัณฑก  พระรามรบกับอสูรดุร้ายตนหนึ่ง  ชื่อ วิราธ  (ในรามเกียรติ์ของเราออกชื่อเป็น พิราพ)  จนถึงทศกัณฐ์ลักนางสีดา  สองกษัตริย์ติดตามไปถึงเขาฤษยมูก
 +
* กีษกินธากัณฑ์  สองกษัตริย์พบหนุมาน  ได้สุครีพเป็นฝากฝ่าย  ฆ่าพาลี  จนถึงหนุมานอาสาไปถวายแหวน
 +
* สุนทรกัณฑ์  หนุมานถวายแหวน  จนถึงเผาลงกา
 +
* ยุทธกัณฑ์  พระรามยกพลไปพักที่เชิงเขามเหนทร (ที่ของเราเรียกว่า เหมติรัน)  จองถนนข้ามไปลงกา  จนถึงทศกัณฐ์ล้ม  พานางสีดากลับอโยธยา
 +
* อุตตรกัณฑ์  (กัณฑ์แถม)  ว่าด้วย อสุรพงศ์  วานรพงศ์  เนรเทศนางสีดา ฯลฯ
 +
 +
 +
(เก็บนัยจากพระราชนิพนธ์บ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์)
 +
 +
 +
ในทั้งเจ็ดกัณฑ์นี้  นักปราชญ์เห็นว่าของเดิมแท้ มีห้ากัณฑ์  คือตั้งแต่กัณฑ์ที่สองถึงกัณฑ์ที่หก  ส่วนกัณฑ์ที่เจ็ดเป็นของแถมขึ้นภายหลัง.  และกัณฑ์ที่หนึ่งก็มีข้อความแย้งต่อกัณฑ์อื่นอยู่หลายแห่ง  เช่นกล่าวไว้ข้างต้นถึงข้อที่ ฤษีวาลมีกิไม่เคยได้ยินเรื่องพระราม,  ทั้งหัวข้อต่อเชื่อมเรื่องก็ไม่สนิท  แสดงว่ามีการต่อเติมเพิ่มกันมาหลายทอด
 +
==== รามายณะปรากฏแก่มหาชน ====
==== รามายณะปรากฏแก่มหาชน ====
==== ความนิยมรามายณะเป็นลัทธิศักดิ์สิทธิ์ ====
==== ความนิยมรามายณะเป็นลัทธิศักดิ์สิทธิ์ ====

การปรับปรุง เมื่อ 08:20, 7 มิถุนายน 2553

เนื้อหา

ข้อมูลเบื้องต้น

แม่แบบ:เรียงลำดับ ผู้แต่ง: เสถียรโกเศศ และ นาคะประทีป

บทประพันธ์

ภาคหนึ่ง ตอนต้น

คำปรารภ

ในพระราชนิพนธ์บ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์ มีพระราชปรารภไว้ตอนหนึ่งว่า “เรื่องรามเกียรติ์เป็นเรื่องราวสำคัญที่ชาวไทยเรารู้จักกันดีอย่างซึมซาบก็จริงอยู่ แต่มีน้อยตัวนัก ที่จะทราบว่ามีมูลมาจากไหน”


ข้อนี้เป็นความจริงแท้ เพราะเรื่องละครต่าง ๆ เช่นเรื่อง จันทโครบ พระรถเมรี ย่อมเข้าใจกันทั้วไปเป็นสามัญว่า เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นในเมืองไทยนี้เอง พระราชนิพนธ์รามเกียรติ์อยู่ในประเภทเรื่องละคร ก็คงเข้าใจรวม ๆ ว่าท่านประดิษฐ์ขึ้น บางพวกเห็นเอาว่าเป็นเรื่องราวป้วนเปี้ยนอยู่ในสยามนี้ เพราะมีบึงพระราม ด่านหนุมาน ห้วยสุครีพ ตำบลพรหมาสตร์ ทะเลชุบศร หนองสีดา เป็นต้น อย่างดีขึ้นไปกว่านี้ ก็คะเนเพียงว่าคงเป็นเรื่องมาจากอินเดีย เพราะกล่าวถึงพระอิศวร และพระนารายณ์อวตารในลัทธิพราหมณ์ แล้วลงเอาว่าคงเหมือนกับของอินเดียตลอดเรื่อง เลยไม่มีใครเอาใจใส่ที่จะค้นคว้าหาความจริงยิ่งกว่านี้ ด้วยเหตุที่ท่านผู้รู้ของเราที่สามารถก็ไม่นิยมลัทธิไสยศาสตร์ เห็นว่ารามเกียรติ์แสดงมหิทธานุภาพ เหาะเหิร เดิรอากาศ ตายแล้วกลับเป็นขึ้นมาอีก ฤษีชีไพรออกบวชบำเพ็ญพรตจนมีตบะเดชะแก่กล้าแล้ว ก็ใช้ตบะเดชะนั้นเอง ชุบสตรีขึ้นเป็นเมีย เหลวใหลหาชิ้นดีอะไรมิได้ เสียเวลาที่จะไปหาเลือดกะปู


ต่อเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระธีรราชเจ้าของวรรณคดี ทรงพระราชนิพนธ์บ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์ขึ้น จึ่งได้เกิดความรู้ความสว่างในเรื่องรามเกียรติ์เปิดหูเปิดตาออกไปให้กว้างขวาง เห็นแนวรามเกียรติ์ว่ามีมูลมาจากไหน และด้วยอำนาจพระบรมราชาธิบายนั้นเอง ยังได้เกิดความรู้ต่างๆ ในพากย์สํสกฤต นอกจาก


รามเกียรติ์เพิ่มขึ้นอีกมากประการ เรื่องที่ไม่เคยนึกฝันว่าจะรู้ก็ได้รู้ขึ้น สามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากว่า ความรู้ในวรรณคดีพากย์ สํสกฤตซึ่งเป็นส่วนสำคัญประการหนึ่ง แห่งวรรณคดีของเรา ที่มารู้กันแพร่หลายในปัจจุบันนี้มากกว่าแต่ก่อนเป็นอันมากก็ด้วย พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระปริณายกาจารย์ นำช่องทางให้เห็นมูลที่มาแห่งเรื่องรามเกียรติ์เป็นปฐม ทั้งนี้ย่อมเป็นพระมหากรุณาธิคุณซึ่งผู้ใฝ่ใจในเรื่องหนังสือชั้นวรรณคดี จะลืมระลึกเสียมิได้เลย


ในท้ายพระราชนิพนธ์เรื่องนั้น ทรงพระราชปรารภว่ามีพระราชประสงค์อยู่แต่จะทรงนำหัวข้อหรือตั้งโครงไว้สำหรับผู้ที่พอใจในทางหนังสือ จะได้พิจารณาต่อไปอีกเท่านั้น


ข้าพเจ้าได้รับความรู้ในเรื่องรามเกียรติ์เป็นอันมาก เพราะพระราชนิพนธ์นี้เป็นครู เห็นว่าน่าจะสนองพระเดชพระคุณตามสติปัญญาสามารถ ค้นคว้าหามูลรามเกียรติ์ของเราให้ได้สมพระราชประสงค์ที่สุดที่จะหาได้ ดูเหมือนจะทรงทราบด้วยพระญาณวิถีทางไดทางหนึ่ง ทรงพระเมตตาดลบันดาลให้ได้หลักฐานคืบออกไปทีละนิดละหน่อย ทำให้มีความเพลิดเพลินที่จะสืบสาวก้าวหน้าออกไปเสมอ แต่ทว่าความรู้ความสามารถของตนยังน้อยนัก แม้ทรงบันดาบให้พบลู่ทางที่เชื่อว่าคงมีอะไร ๆ ดีในนั้น ก็ยังไม่มีความรู้พอจะสนองพระเดชพระคุณให้เต็มใจรักของตน จนสมพระราชประสงค์ได้ กระนั้นการที่มาทำเรื่องนี้ จะว่า “หาญ” ก็ไม่เชิง ใคร ๆ ก็ทำได้ถ้าขยันค้น เพราะมีหัวข้อหรือโครงทรงตั้งนำไว้ดีแล้ว ดำเนิรไปตามนั้นสำเร็จ อันจะได้ผลแค่ไหนสุดแต่สติปัญญาจะอำนวย แม้จะไม่สำเร็จถึงที่สุดในชั่วชีวิตนี้ ก็คงเกิดมีนักปราชญ์สักคนหนึ่งในภายหน้า สามารถสนองพระเดชพระคุณสมพระราชประสงค์ได้โดยบริบูรณ์.


เมื่อเห็นพระราชดำรัสว่า “ข้าพเจ้าเองก็ได้เคยรู้สึกเช่นนี้มาแล้วแต่ก่อน ๆ จึ่งได้ตั้งใจเที่ยวค้นคว้าหาความรู้ในเรื่องนี้ ตั้งความพยายามมาแล้วหลายปีกว่าจะหาหนังสือได้เท่าที่พอใจ “ อันแสดงว่า สมเด็จพระธีรราชเจ้ายังทรงพยายามถึงเพียงนั้น. ลำพังข้าพเจ้า ถ้านับเวลาตั้งแต่พระราชนิพนธ์บ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์นั้น พิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ จนบัดนี้ร่วม ๒๐ ปี ก็ได้เรื่องราวเพียงที่จะได้อ่านกันต่อไปนี้. ถ้าท่านผู้อื่นจะพิจารณาเพิ่มเติมต่อไปได้อีกเพียงใด, ก็จะเป็นการช่วยให้สมกับที่ได้ตั้งพระราชหฤทัยหวังไว้.


ข้อยากลำบากสำหรับเรื่องนี้ คือ รามเกียรติ์ของเราแม้แน่ใจว่า มีรามายณะเป็นบ่อเกิดก็จริง แต่รามายณะมิใช่มีเพียงในอินเดีย ประเทศต่างๆ อันอยู่ถัดอินเดียออกมา ก็ได้รับอารยธรรมจากนั้น มีลัทธิศาสนาเป็นต้น ย่อมมีรามายณะอยู่ด้วยกันทุกประเทศ. จึ่งฉบับรามายณะต่างสำนวนที่มีอยู่ในนานารัฐอินเดีย ตลอดมาจนประเทศทางบูรพทิศ ได้ความว่ามีจำนวนมากมายก่ายกองนัก ถ้ารวมกันเข้าเห็นจะมากกว่า “หนึ่งเล่มเกวียน” จริง ๆ รามายณะในอินเดียเอง ที่ว่าเป็นฉบับแท้มีอยู่ ๓ ฉะบับ ไม่มีใครบังอาจแก้ไขดัดแปลงได้ เพราะถือเป็นบาปหนัก แต่เมื่อนักปราชญ์สอบสวนดู ก็พบว่ามีข้อความผิดแผกแตกต่างกันทุกฉะบับ ครั้นเมื่อไปจากอินเดีย ตกถึงประเทศใด ก็ต้องกลายรูปห่างจากของเดิมออกไปทีละน้อย ๆ ตามลัทธิธรรมเนียมแห่งประเทศชาติ บางฉบับไกลลิบแทบจำไม่ได้ว่า มีมูลมาจากแห่งเดียวกัน


บางประเทศ เช่น ชะวา มลายู มีรามายณะ อย่างฟุ่มเฟือย หลายฉบับหลายสำนวน เรื่องก็ต่างกันคนละรูปสุดแต่ผู้เรียงจะถนัดทางไหน เช่นสมทบเอานาปีอาดัมในคัมภีร์เยเนสิส เป็นเทวทูตของพระอิศวรมาแนะนำพิธีบำเพ็ญตบะแก่ทศกัณฐ์ หนุมานของอินเดียหรือของทมิฬ เป็นพรหมจารีผู้หนึ่ง ซึ่งไม่สัมผัสสตรีเพศด้วยความกำหนัด มาถึงมลายูปรากฏหนหนึ่งว่าเป็นชู้กับขายาพระลักษมณ์ ครั้นตกมาในเรา กลายเป็นเจ้าชู้สบช่องเหมาะทุกขณะ เพราะนิสสัยของเราชอบเช่นนั้น ตกไปถึงญวน มีเพียงเค้าให้ทราบว่ารามายณะแต่ชื่อเสียงเรียงนามเป็นสำเนียงญวนไปหมด. เลยไปถึงลาวอีกทีกลายเป็นพระรามชาดก เนื้อเรื่องกาหลอลหม่านไปทางหนึ่ง แต่ชื่อพระราม ทศกัณฐ์ นางสีดา ยังคงอยู่


บางคำกลายมาจากอื่นทีหนึ่งแล้ว เรายังบิดผันไปเสียอีก เช่นชื่อเขามเหนทร, ผ่านทมิฬเป็น มเหนติรัน, เรากลายเป็นเหมติรัน. คำ ลักษมณ ชื่อน้องพระราม ผ่านมลายู ซึ่งใช้เป็นความหมายถึง แม่ทัพเรือ, เราเอามาใข้บ้าง เป็นนามเจ้ากรมอาสาจาม มีหน้าที่จัดเรือ แต่กลายเป็น ขุนรักษณามา, ที่ร้ายยิ่งกว่านี้ เราเองระบายสีของเราอย่างสนิทสนม เช่น ดงพระราม, พูดเร็วเข้าว่า ดงพราม, เขียนเสียเรียบร้อยเป็น ดงพราหมณ์ เลยหมดความระแวง.


ดังนี้ การจะหาหลักฐานรามเกียรติ์ของเราว่า จะมาจากรามายณะฉะบับไหนโดยฉะเพาะ เป็นอันว่าไม่ได้. จะต้องสืบเพียงตอน ๆ ว่า ตอนไหน จะตรงกับตอนไร ในรามายณะของใคร เท่านี้พอมีทาง, แต่ก็ไม่ปลอดโปร่ง เพราะ


รามายณะฉบับต่าง ๆ ที่พอหามาได้ก็เป็นภาษาเดิม เช่น ทมิฬ ลังกา ชะวา มลายู ที่แปลเป็นอังกฤษพอจะคลำอ่านได้เรื่องบ้าง ก็หาไม่ได้หรือไม่มี จะมีก็แปลเป็นภาษาเยอรมันเสีย. เผอิญได้อาศัยเพื่อนฝูงที่รู้ภาษาทมิฬบ้าง เยอรมันบ้าง ขอไต่ถามตามแต่โอกาสของเขา พอได้เค้าราง ๆ ไม่แร้นแค้นเสียทีเดียว. แต่ก็เหมือนเดิรจะไปให้ถึงที่แห่งหนึ่ง ฝ่าเข้าไปในป่าชัฏ สุ่มหาทางสัญจร ไม่ทราบว่าจะไปทิศไหน. บางคราวออกมาถึงที่ราบรื่นหายรกแล้ว เข้าใจว่าเป็นทางคนเดิรได้ละ, ก็เกิดมีทางแยกให้รวนเรใจ. บางแห่งเดาว่า เข้าทางถูกแล้ว แต่รกเรี้ยวมาก ขาดเครื่องมือสำหรับถางทาง หากจะได้เครื่องมือก็ใช้ไม่เป็น เช่นมีฉบับภาษาลังกา ก็หมดปัญญาที่จะหยิบใช้ด้วยตนเอง


ครั้นมาเห็นว่า ไหน ๆ ได้บุกป่าฝ่าดงเข้าไปบ้างแล้ว จะถูกทางหรือผิดทางก็ตามที ควรบันทึกระยะทางะราง ๆ เท่าที่พบเห็นไว้ที. เพราะฉะนั้น หนังสือนี้เท่ากับคู่มือบันทึกหมายเหตุ สำหรับสอบสวนกับทางที่จะพบต่อไป, เป็นโครงเรื่อง, รวบรวมข้อความที่ผ่านพบมาไว้พลางก่อน ; มิฉะนั้น ข้อความต่าง ๆ จะเลื่อนเปื้อนเลือนหายเสีย. จึ่งยังไม่ใข่ตกลงเป็นยุตติ : ถ้าไปพบทางไหนที่เข้าทีกว่า, ก็อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ทุกเมื่อ. แต่ผู้อ่านต้องมีพื้นทราบเรื่องรามเกียรติ์พร้อมด้วยพระราชนิพนธ์บ่อเกิด จึ่งจะได้รสดี เพราะเป็นหนังสือชนิดเครื่องมือช่วยให้รู้อะไรบางอย่างในรามเกียรติ์ แต่ไม่ถึงขั้นวิจารณ์, สมเพียงจะให้ชื่อว่า อุปกรณ์รามเกียรติ์.


หลักฐานที่ว่าพบในระวางทาง ล้วนแต่เก็บเอาจากหนังสือต่าง ๆ บางแห่งถ้าจะพูดเพียงที่ได้มา เนื้อความจะไม่แจ่มแจ้ง ต้องเพิ่มเติมอัตตโนมัติขยายออกไป บางแห่งดูเหมือนจะมีเกี่ยวข้องน้อยเต็มที จะไม่นำมากล่าวก็ได้ แต่น่าเสียดายก็รวมเข้าไว้ด้วย บางทีความคิดเดิรเพลินไป ชวนให้อดไม่ได้ที่จะมีการสันนิษฐาน ที่ล่อแหลมไปในวิธีเดาประสมเหตุ. และตอนไหนได้มาจากหนังสืออะไร ได้บอกไว้ให้ทราบในบันทึกได้ด้วยอักษรชื่อเดิม เพื่อผู้สนใจจะได้มีโอกาสตรวจสอบดูได้เอง ซึ่งส่วนมากมีอยู่ในหอพระสมุดวชิราวุธ.


เรื่องในอุปกรณ์รามเกียรติ์ ได้แก้ไขเพิ่มเติมเสมอมาไม่ค่อยรู้จักจบ จะแบ่งเป็นภาค ๆ ที่พิมพ์นี้เป็นตอนต้นในภาคหนึ่ง เป็นอันยุตติการแก้ไขได้สำหรับคราวนี้.


ข้าพเจ้าขอขอบคุณ สุพรหมัณย ศาสตรี ศาสตราจารย์ภาษาสํสกฤตแห่งราชบัณฑิตยสภา และศาสตราจารย์ รือเน นิโกลาส แห่งมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ ที่แนะนำและชี้แจงข้อความที่ควรรู้หรือ ที่ต้องการรู้ต่างๆ เป็นโอกาสให้ได้อาศัยสาวเรื่องกว้างขวางออกไปได้สะดวก กับขอขอบคุณมิตรสหายอื่น ๆ ที่ได้กรุณาช่วยเหลือเรื่องนี้ ด้วยความเอื้อเฟื้ออันดีโดยประการทั้งปวง.

ความนิยมรามเกียรติ์

บรรดาหนังสือกวีนิพนธ์ รามเกียรติเป็นเรื่องหนึ่งซึ่งรู้จักกนมาก เพราะเมื่อในสมัยเป็นเด็ก มักเคยดูโขนดูหนังเล่น และบางทีได้ดูภาพที่ผนังระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม. รามเกียรติ์เป็นเรื่องเต็มไปด้วยมหิทธานุภาพ มีเทวดายักษ์มาร มีการเหาะเหิรเดิรอากาศ ดั้นแผ่นดิน เรื่องอย่างนี้มักถูกอัธยาศัยของเด็กในวัยทรามคะนอง เมื่อได้ดูได้เห็น ก็ชอบใจจำได้ง่าย ซึมซาบดีกว่าเรื่องที่เป็นไปตามธรรมดาเนือย ๆ. แม้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ มีความรู้ความเข้าใจกว้างขวางออกไป ถึงจะรู้อยู่แก่ใจว่าเรื่องอย่างรามเกียรติ์ผิดวิษัยธรรมดาเหลือเกิน แต่แต่ในความนิยมชมชอบก็ยังติดนิสสัยต่อมา ไม่คืนคลายไปง่าย ๆ นัก. อุปนิสสัยอย่างนี้ นักปราชญ์ชาวตะวันตกลงมติว่าเหลือสืบเป็นทายาทมาจากบรรพบุรุษครั้งป่าเถื่อนดึกดำบรรพ์ ; เราเองไม่รู้สึก, และจะตัดขาดหมดสิ้นไปด้วยยากอย่างยิ่ง. อาจเป็นด้วยเหตุนี้ประการหนึ่ง ชาวตะวันตกจึ่งมักจะใช้เรื่องราวที่ประหลาดอัศจรรย์อย่างรามเกียรติ์เป็นหนังสือสอนเด็กอ่าน อนุโลมตามอุปนิสสัยอันนั้น เรียกว่า Fairy Tales หรือ เทพปกรณัม.


ต่อจากดูโขน ดูภาพในสมัยเป็นเด็กนั้น มาได้อ่านพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์. เมื่อแรกอ่าน จะทำให้ความนิยมที่ดองสันดานมาแต่เด็ก กลับฟื้นขึ้น เกิดอยากรู้เรื่องที่เคยผ่านมาให้พิสดารตลอดต้นจนปลาย. แล้วก็ติดใจ อ่านซ้ำอ่านซากจนจำขึ้นใจได้เอง. เพราะพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์เป็นหนังสือกาพย์กลอนที่เลือกสรรถ้อยคำสำนวน และกลั่นกรองให้สละสลวยเหมาะเจาะแล้ว ย่อมถูกอารมณ์ดูดดื่มเพลิดเพลินชวนอ่านไม่รู้เบื่อ. ข้าพเจ้าเองต้องการจะค้นอะไรบางอย่างในรามเกียรติ์ ตรงไปหาตอนที่ต้องการ บางทีอ่านเพลินเลยไปต้องย้อนกลับมาใหม่, บางทีทั้งรู้ว่าถึงตอนที่ต้องการแล้ว ยังขออ่านต่ออีกสักหน่อย.


หนังสืออย่างนี้ ย่อมปลูกความนิยมให้ถือเป็นแบบฉะบับในถ้อยคำภาษาสำนวนขึ้นได้ง่ายกว่าหนังสืออย่างอื่น. ฉะนี้แล ศาสตราจารย์ มักษมืลเลอร จึ่งตีความแห่งคำวรรณคดีว่า เป็นหนังสือชนิดที่รักษาภาษากลางของชาติไว้ได้. เพราะคนเรา ถึงจะเป็นเชื้อชาติเดียวกัน, เมื่ออยู่ห่างต่างถิ่นกันออกไป, ภาษาสำเนียงหางเสียงที่พูดจา ย่อมค่อยแปร่งกลายแผกเพี้ยนจากกัน ในที่สุดฟังกันไม่สู้เข้าใจ. เหตุนี้ภาษาวรรณคดีหรือภาษาหนังสือจึ่งเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งไม่ให้ชาติเหิรห่างไปจนขาดจากกัน เพราะเป็นภาษากลางสำหรับให้สมาชิกของชาติเข้าใจร่วมกันได้ดี.


นอกจากที่อ่านพระราชนิพนธ์, รามเกียรติ์ยังคอยเตือนตาเตือนหูอยู่เสมอ เราจะได้ยินพูดว่าเหาะเกินลงกา ชีก็เฉาเราก็โฉด กระเช้าสีดา, หรือในกวีนิพนธ์ขั้นสูง เช่น ตะเลงพ่าย ทวาทศมาส และมหาชาติร่ายยาว, หรือในบรรดาวิชชาศิลป เช่นการช่างและการร้องรำที่ดกดื่นมากก็คือตำราหมอดู.


เป็นอันรวมความกล่าวได้ไม่ผิด ว่ารามเกียรติ์เป็นเรื่องสำคัญ มีพระราชนิพนธ์ขึ้นถึงชั้นวรรณคดีแห่งภาษาไทยเรา ทั้งอ่านฟังกันเข้าใจได้ดีทั่วไป จึ่งเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย.

ที่มาแห่งรามเกียรติ์

อันบ่อเกิดแห่งเรื่องรามเกียรติ์นั้น ย่อมทราบในขณะนี้แล้วว่า ทีแรกออกจากคัมภีร์รามายณะ ภาษาสํสกฤต. คำ “รามายณะ” แปลความว่าเรื่องพระรามและกล่าวกันว่า ฤษีชื่อ วาลมีกิ เป็นผู้แต่งไว้ช้านานประมาณตั้งสองพันปีกว่าแล้ว.

ปฐมเหตุผูกเรื่องชะนิดรามายณะ

ครั้งโบราณสมัยดึกดำบรรพ์ มนุษย์ที่รวมกันเป็นหมู่เหล่าชุมนุมชน และการปกครองควบคุมกันเป็นชาติประเทศขึ้นแล้ว ย่อมมีเรื่องราวกล่าวด้วยกิจการสำคัญของวีรบุรุษผู้เป็นบุรพชนชาติตน ซึ่งได้กระทำไปแล้วเป็นพิเศษแต่ปางบรรพ์ มีเรื่องแข่งขันชิงชัย หรือเป็นไปในการรบทัพจับศึก ได้ชัยชนะไว้เพื่อชาติอย่างงดงาม ( ส่วนตอนไหนที่เสียที จะเป็นการขายหน้า ก็ทำลืมเสียไม่กล่าวถึง หรือตอนที่ผิดธรรมจรรยา อันเป็นธรรมดาของบุถุชน จะเสื่อมเสียเยี่ยงอย่างทางศาสนาลัทธิประเพณี. หากจะปิดไม่มิด เพราะแพร่หลายเสียแล้ว ก็ช่วยแก้ไขกล่าวเกลื่อนปรุงแต่งให้บริสุทธิ์.) เรื่องชนิดนี้ย่อมนับถือกันว่าเป็นตำนานสำคัญของชาติส่วนหนึ่ง เล่าเสียต่อกันมาด้วยความพอใจ เพราะเป็นเกียรติยศและเตือนใจผู้ร่วมชาติให้ระลึกถึงกิจประวัติการณ์ที่บรรพบุรุษได้บากบั่นอันตรายอย่างองอาจ นำเกียรติคุณความดีงามมาสู่ชาติ.


ตามธรรมดา เรื่องชนิดนี้ย่อมเป็นตำนานปาก คือเล่าสืบฟังกันมาตามความที่ทรงจำได้ ทำนองนิทาน ยายกะตาของเรา. การฟังเล่าเรื่องตามปกติ ไม่ทำให้ติดใจเพลิดเพลินเหมือนฟังเรื่องที่แต่งขึ้นเป็นกาพย์กลอนอันมีรสไพเราะในตัว เลยจำกันได้ง่ายทั้งผู้เล่าและผู้ฟัง. วิธีเช่นนี้ในศาสนาก็นิยมใช้ เช่น พระสูตรเป็นอันมากที่ว่าเป็นพุทธภาษิต เมื่อตรัสเนื้อความเป็นไวยกรณ์ (ร้อยแก้ว) แล้วตรัสนิคม (สรุปรวมความ) เป็นฉันทคาถาว่าเพื่อให้จำง่าย. การเล่าเรื่องจึ่งสมควรตกเป็นหน้าที่กวีเป็นผู้แต่งผู้เล่า. ครั้นเรื่องดีๆ เป็นคำประพันธ์แล้ว ก็ชวนให้ว่าทำนองโหยหวนเกิดเป็นเสียงดนตรี. และในการเล่านั้น ถ้ามีเสียงดนตรีเข้าประสานด้วย ย่อมทำให้จับใจซาบซึ้ง.

อุบัติรามายณะ

เพราะฉะนั้น ฤษีวาลมีกิจึ่งได้แต่งรามายณะไว้เป็นบทกาพย์. ในนั้นแสดงต้นนิทานเป็นตำนานว่า พระวาลมีกิพรหมฤษีไปสู่สำนักพระนารทพรหมฤษี สนทนาไต่ถามถึงบุทคลสำคัญในโลกนี้ ว่าใครเป็นผู้แกล้วกล้าสามารถและมีคุณสมบัติดีเลิศ. ฤษีนารทจึ่งเล่าประวัติพระรามจนตลอด เพราะฤษีวาลมีกิยังไม่เคยได้ยินได้ฟังเรื่องพระรามมาเลย. ครั้นกลับจากสำนักฤษีนารท พระวาลมีกิเดิรไปตามทาง เห็นพรานยิงนกกะเรียนซึ่งกำลังยินดีกับคู่ของตน พลัดตามาตายตัวหนึ่ง เป็นตัวผู้ฤษีวาลมีกิเกิดเหี่ยวใจสมเพชนกนักหนา ถึงกับทนนิ่งอยู่ไม่ได้, จึ่งกล่าวศาปพรานนั้นว่า—


“มา นิษาท ปฺรติษฺฐาํ ตฺวมฺ

อคมา ศาศฺวตะ สมาะ

ยตฺ เกฺราญฺจมิถุนาทฺ เอกมฺ

อวธิะ กามโมหิตมฺ “


“นิษาท พรานเอย เจ้าอย่าได้ถึงความมั่นคงแล้วเป็นเวลานานปี เพราะได้พรากคู่นกกะเรียนลงตัวหนึ่ง ซึ่งหลงเพลินในกาม.”

(หมายเหตุ เกฺราณฺจ ในตอนนี้แปลว่านกกะเรียน)


ครั้นเดิรทางต่อมา หวนระลึกถึงเหตุการณ์ ก็เสียใจที่ได้ศาปพรานนั้น ด้วยมิใช่กิจอะไรของตน. เมื่อไม่สามารถบันเทาควาทโทรมนัสย์นั้นให้สงบด้วยตนเองได้ ซ้ำยิ่งกลุ้มกลัดขึ้นทุกที, ท้าวมหาพรหมทรงพระกรุณามาปรากฏพระกายให้เห็น ช่วยปลอบโยนเอาใจว่าไม่ควรเสียใจในการที่กล่าวคำศาปนั้น. เพราะแท้จริงคำที่ว่าศาปพรานนั้น กลายเป็นความหมายในทางสรรเสริญ พระนารายณ์เป็นเจ้าทรงปราบยักษ์ คือ –


“มานิษาท ป.รติษฺฐาํ ตฺวมฺ

อคมา ศาศฺวตีะ สมาะ

ยตฺ เกฺราญ.จมิถุนาทฺ เอกมฺ

อวธิะ กามโมหิตมฺ “


“มานิษาท ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นที่ประทับแห่งพระลักษมี, พระองค์ได้ทรงถึงความมั่นคงแล้วเป็นเวลานานปี เพราะได้พรากคู่ยักษ์ตนหนึ่ง ซึ่งหลงเพลินในกาม.”

(หมายเหตุ เกฺราณฺจ แปลได้อีกนัยหนึ่งว่า ยักษ์)


ท้าวมหาพรหมกล่าวต่อไปว่า ถ้อยคำของพระวาลมีกินั้น เมื่อกล่าวด้วยความโศกสมเพช. จึ่งให้เรียกว่าโศลก และให้เป็นบทแรกของรามายณะซึ่งจะรจนาต่อไป.


เนื่องด้วยเหตุนี้ ฤษีวาลมีกิจึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้ก่อกำเนิดกาพย์รุ่นใหม่ คู่กับกาพย์รุ่นเก่าในคัมภีร์พระเวท ซึ่งถือว่าท้าวมหาพรหมเอง เป็นผู้ให้กำเนิด.


เมื่อโศลกนี้เป็นบทต้นของรามายณะ ฤษีวาลมีกิจึ่งรจนาต่อไปจนจบเรื่อง รวมเป็นโศลกถึงสองหมื่นสี่พันบทสำหรับให้มนุษย์ได้อ่าน.


(มูลเหตุที่เล่ามาข้างต้นนี้ ศาสตราจารย์ เสอร มอร์เนียร์ วิลเลียมส์ กล่าวไว้ในหนังสือ The Indian Epic Poetry ว่าเป็นของเติมขึ้นภายหลัง. แต่จะเติมขึ้นใหม่หรือเดิมมีอยู่แล้วก็ตามที, ที่แสดงต้นเหตุแห่งคำว่าโศลกในที่นี้ ตรงกับที่นักปราชญ์ชาวตะวันตกสันนิษฐานเหตุกำเนิดกาพย์กลอน ว่ามีเค้าสืบมาจากความรู้สึกแห่งมนุษย์ เมื่อประสพสิ่งที่เสียใจมาก หรือดีใจมากเกินไป ก็เปล่งอุทานออกมาเป็นเสียงโอดครวญ เฮฮาสูงต่ำสั้นยาว ตามกำลังความรู้สึก. ผู้ช่างคิดเห็นเข้าที จับเอามาใช้เป็นเสียงโหยหวน ปรุงเป็นกาพย์กลอนขึ้น.


ข้อที่ท่านเสอร มอร์เนียร์ วิลเลียมส์ ว่ามูลเหตุเป็นตอนที่เติมขึ้นภายหลังนั้น ก็เพราะเป็นเรื่องที่ประหลาดมาก. เมื่อครั้งนางสีดาถูกพระรามขับ ได้ไปอาศัยอยู่กับฤษีวาลมีกิ. ฝ่ายพระฤษีก็เป็นผู้สั่งสอนศิลปวิทยาให้แก่พระกุศและ


พระลพโอรสนางสีดา ตลอนคนสอนสองกุมารให้รู้จักขับร้องรามายณะ ซ้ำได้คุยแก่นางสีดาว่า แกเองรู้จักท้าวทศรถและท้าวชนกดี อ้างว่าเป็นสหายกัน. แต่เหตุไฉนฤษีวาลมีกิ จึ่งไม่เคยได้ยินได้ฟังเรื่องพระรามบ้าง กลับต้องทนนั่งฟังประวัติพระรามที่ฤษีนารทอีก.)

ลักษณะกาพย์รามายณะ

อาศัยที่รามายณะวาลมีกิ เป็นกาพย์เรื่องใหญ่ในสํสกฤต คู่กับมหาภารตะ บางทีจึ่งยกย่องหนังสือสองเรื่องนี้ว่า มหากาพย์. เพราะตามหลักกวีนิพนธ์ภาษาสํสกฤตนั้น มหากาพย์ควรมีลักษณะพรรณนาถึงฤดูกาล สันธยากาล บ้านเมือง แนวป่า การเดิรทัพและการรบ ฯลฯ เรื่องรามเกียรติ์ของเราก็มีลักษณะอย่างนี้อยู่พร้อม ควรจะเรียกว่ามหากาพย์ได้บ้างกะมัง ?

รามายณะแบ่งเป็นเจ็ดกัณฑ์

รามายณะวาลมีกิ แบ่งเป็นภาคเรียกว่า กัณฑ์ เป็น ๗ กัณฑ์ คือ –

  • พาลกัณฑ์ เริ่มต้นด้วยฤษีวาลมีกิ อาราธนาฤษีนารทให้แสดงรามายณะ ดั่งที่กล่าวในตอนอุบัติเรื่องรามายณะข้างต้น จนถึงพระรามยกศร ได้นางสีดา กลับอโยธยา
  • อโยธยากัณฑ์ จับแต่ท้าวทศรถปรารภจะให้อภิเษกพระรามเป็นยุพราช จนถึงพระรามเดิรดง.
  • อรัณยกะกัณฑ์ สามกษัตริย์ (พระราม นางสีดา พระลักษณ์) เข้าป่าทัณฑก พระรามรบกับอสูรดุร้ายตนหนึ่ง ชื่อ วิราธ (ในรามเกียรติ์ของเราออกชื่อเป็น พิราพ) จนถึงทศกัณฐ์ลักนางสีดา สองกษัตริย์ติดตามไปถึงเขาฤษยมูก
  • กีษกินธากัณฑ์ สองกษัตริย์พบหนุมาน ได้สุครีพเป็นฝากฝ่าย ฆ่าพาลี จนถึงหนุมานอาสาไปถวายแหวน
  • สุนทรกัณฑ์ หนุมานถวายแหวน จนถึงเผาลงกา
  • ยุทธกัณฑ์ พระรามยกพลไปพักที่เชิงเขามเหนทร (ที่ของเราเรียกว่า เหมติรัน) จองถนนข้ามไปลงกา จนถึงทศกัณฐ์ล้ม พานางสีดากลับอโยธยา
  • อุตตรกัณฑ์ (กัณฑ์แถม) ว่าด้วย อสุรพงศ์ วานรพงศ์ เนรเทศนางสีดา ฯลฯ


(เก็บนัยจากพระราชนิพนธ์บ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์)


ในทั้งเจ็ดกัณฑ์นี้ นักปราชญ์เห็นว่าของเดิมแท้ มีห้ากัณฑ์ คือตั้งแต่กัณฑ์ที่สองถึงกัณฑ์ที่หก ส่วนกัณฑ์ที่เจ็ดเป็นของแถมขึ้นภายหลัง. และกัณฑ์ที่หนึ่งก็มีข้อความแย้งต่อกัณฑ์อื่นอยู่หลายแห่ง เช่นกล่าวไว้ข้างต้นถึงข้อที่ ฤษีวาลมีกิไม่เคยได้ยินเรื่องพระราม, ทั้งหัวข้อต่อเชื่อมเรื่องก็ไม่สนิท แสดงว่ามีการต่อเติมเพิ่มกันมาหลายทอด

รามายณะปรากฏแก่มหาชน

ความนิยมรามายณะเป็นลัทธิศักดิ์สิทธิ์

สมัยรจนารามายณะ

ฉบับรามายณะ

สันนิษฐานเนื้อเรื่องรามายณะ

รูปเรื่องรามายณะ

เค้าเงื่อนรามายณะ

สรูปหัวข้อรามายณะ

หนังสือประเภทรามายณะ

รามเกียรติ์ของเรา

เชิงอรรถ

ที่มา

  • อุปกรณ์รามเกียรติ์ ภาคหนึ่ง ตอนต้น ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศุภโยคเกษม ณ พระเมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ โรงพิมพ์ไทยเขษม
เครื่องมือส่วนตัว