พงษาวดารเมืà¸à¸‡à¸ªà¸‡à¸‚ลา
จาก ตู้หนังสือเรือนไทย
(หน้าที่ถูกสร้างด้วย '== ข้อมูลเบื้องต้น == หมวดหมู่:ประวัติศาสตร์ [[หมวดห…')
รุ่นปัจจุบันของ 11:10, 2 ตุลาคม 2552
เนื้อหา |
ข้อมูลเบื้องต้น
พระยาวิเชียรคิรี (ชม) เมื่อยังเปนพระยาสุนทรานุรักษ์ เรียบเรียง
เป็นส่วนหนึ่งของประชุมพงศาวดารภาคที่ ๓
บทประพันธ์
ข้าพเจ้า พระยาสุนทรานุรักษ์ (ชม) ผู้ว่าราชการเมืองสงขลา ได้คิดเรียบเรียงเรื่องราวตระกูลเมืองสงขลาขึ้นไว้ เพื่อจะได้ทราบทั่วกัน เดิมครั้ง ๑ เมืองสงขลาเปนเมืองแขก ตั้งอยู่ริมเขาแดง เจ้าเมืองชื่อสุลต่านสุเลมัน ๆ ได้สร้างป้อมขุดคูเมืองแลจัดแจงสร้างบ้านเมืองเสร็จแล้ว ยอมขึ้นกับกรุงศรีอยุธยาโบราณ ครั้นสุลต่านสุเลมันถึงแก่อนิจกรรมแล้ว บุตรแลหลานคนหนึ่งคนใดก็ไม่ได้เปนผู้ครองเมืองสืบตระกูลต่อไป เมื่อสุลต่านสุเลมันสร้างบ้านเมืองขึ้นนั้นไม่ปรากฏว่าศักราชเท่าใด ตั้งแต่สุลต่านสุเลมันถึงอนิจกรรมแล้ว เมืองก็รกร้างว่างเปล่าอยู่ช้านาน แต่ป้อมที่ฝังศพสุลต่านนั้นราษฎรเรียกกันว่ามรหุมต่อมาจนทุกวันนี้ เมื่อปีมเมีย โทศก ศักราช ๑๑๑๒ จีนคนหนึ่งแซ่เฮ่า ชื่อเหยี่ยง ชาวเมืองเจี่ยงจิ้วหู ตำบลบ้านเส้หิ้นเหนือเมืองแอมุ่ย มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองเก่าของสุลต่านริมเขาแดง ราษฎรชาวบ้านชวนกันเรียกจีนเหยี่ยงว่าตั้วแปะ ๆ ทำสวนปลูกผักกาดขายอยู่ปีหนึ่ง ครั้นณ ปีมแม ตรีศก ตั้วแปะรื้อเรือนขึ้นไปอยู่ตำบลบ้านทุ่งอาหวังแขวงเมืองจะนะ สร้างสวนปลูกพลูขายอยู่ ๓ ปี ครั้น ณ ปีรกา เบญจศก ตั้วแปะกลับลงมาตั้งเรือนอยู่ตำบลบ้านบ่อยางที่บ้านหลวงบริรักษ์ภูเบนทร์ในเมืองสงขลา ช่วยทาษ ๔ ครัวให้ดักโพงพาง ครั้น ณ ปีขาล สัมฤทธิศก ตั้วแปะรื้อเรือนไปตั้งค้าขายอยู่ฟากแหลมสน ตั้วแปะมีภรรยากับชาวเมืองพัทลุงมีบุตร ๕ คน บุตรที่ ๑ ชื่อบุญหุ้ย บุตรที่ ๒ ชื่อบุญเฮี้ยว บุตรที่ ๓ ชื่อบุญซิ้น บุตรที่ ๔ ชื่อเถี้ยนเส้ง บุตรที่ ๕ ชื่อยกเส้ง
เมื่อ ณ ปีชวด สัมฤทธิศก ศักราช ๑๑๓๐ หลวงนายสิทธิ์เปนที่พระปลัดเมืองนครศรีธรรมราช เจ้าพระยานครถึงแก่อสัญญกรรมพระปลัดตั้งตัวขึ้นเปนเจ้า ให้นายวิเถียนกรมการชาวเมืองนครศรีธรรมราชมาเปนผู้ว่าราชการเมืองสงขลา ตั้งบ้านเรือนอยู่ฟากแหลมสน ราษฎรเรียกกันว่าหลวงสงขลาวิเถียน
เมื่อศักราช ๑๑๓๑ ปีฉลู เอกศก เจ้าตากยกกองทัพหลวงมาตีเมืองนครศรีธรรมราชแตกแล้ว ยกกองทัพเลยมาตั้งอยู่ณเมืองสงขลา หลวงสงขลาวิเถียนหนีเจ้าตากไปกับเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช เจ้าตากตั้งให้นายโยมคนชาวเมืองสงขลาเปนพระสงขลา ให้ขึ้นอยู่กับเมืองนครศรีธรรมราชตามเดิม ครั้งนั้นตั้วแปะทำบาญชีทรัพย์สิ่งของบุตรภรรยาข้าทาษกับยาแดง ๕๐ หีบของตั้วแปะ ถวายกับเจ้าตากทั้งสิ้น ตั้วแปะขอรับทำอากรรังนกเกาะสี่เกาะห้า ถวายเงินปีละ ๕๐ ชั่ง เจ้าตากก็คืนทรัพย์สิ่งของทั้งนั้นให้แก่ตั้วแปะ ทรงรับไว้แต่ยาแดง ๕๐ หีบ แล้วตั้งตั้วแปะเปนที่หลวงอินทคิรีสมบัติ นายอากรทำอากรรังนกเกาะสี่เกาะห้า แล้วเจ้าตากขอเอาบุตรที่สามของหลวงอินทคิรีสมบัติ ชื่อบุญซิ้น พาไปเปนมหาดเล็กคนหนึ่งอยู่ณกรุงเทพ ฯ ตั้งแต่นั้นมาราษฎรจึ่งเรียกตั้วแปะซึ่งเปนที่หลวงอินทคิรีสมบัติว่า จอมแหลมสนบ้าง ขรัวแปะบ้าง หลวงอินทคิรีก็ได้ทำอากรรังนกส่งเข้าไปกรุงเทพ ฯ ทุกปีต่อมามิได้ขาด
ครั้นปีมเสง เบญจศก ศักราช ๑๑๓๕ เจ้าตากรับสั่งให้ข้าหลวงเปนแม่กองออกมาสักเลขเมืองสงขลา ข้าหลวงแม่กองสักเลขออกมาอยู่สองปี ครั้นเสร็จราชการแล้วกลับเข้าไปกรุงเทพ ฯ
ครั้นปีมแม สัปตศก ศักราช ๑๑๓๗ หลวงอินทคิรีสมบัติ (เหยี่ยง) คุมเงินอากรรังนกกับสิ่งของต่าง ๆ เข้าไปถวายเจ้าตาก ณ กรุงเทพ ฯ เจ้าตากรับสั่งกับข้าราชการว่า หลวงอินทคิรีสมบัติ (เหยี่ยง) คนนี้ เปนข้าหลวงเดิมสามิภักดิ์มาช้านาน ควรที่จะชุบเลี้ยงให้เปนเจ้าบ้านเจ้าเมืองผู้ใหญ่ได้ มีรับสั่งว่าพระสงขลาโยมเปนคนไม่ได้ราชการ ไม่ควรจะให้เปนผู้ว่าราชการเมืองสืบต่อไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้หลวงอินทคิรีสมบัติ (เหยี่ยง) เปนหลวงสุวรรณคิรีสมบัติ ผู้ว่าราชการเมืองสงขลา ให้ขึ้นอยู่กับเมืองนครศรีธรรมราช แล้วมีตราโปรดเกล้าฯ หาตัวพระสงขลาโยมเข้าไป ณ กรุงเทพฯ ถอดออกเสียจากราชการ หลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (เหยี่ยง) กลับออกมาถึงเมืองสงขลา ตั้งให้นายฉิมบุตรพระสงขลาโยมเปนขุนรองราชมนตรี คุมไพร่ส่วยดีบุกจะนะเก้าหมวดทำราชการอยู่ในหลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (เหยี่ยง)
เมื่อศักราช ๑๑๓๙ ปีรกา นพศก เจ้าพระยานครศรีธรรมราช มีหนังสือให้กรมการออกมาเก็บเอาผู้หญิงช่างทอหูก แลบุตรสาวกรมการบุตรสาวราษฎรชาวเมืองสงขลา พาไปเมืองนครศรีธรรมราชหลายสิบคน ครั้งนั้นหลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (เหยี่ยง) ผู้ว่าราชการเมืองสงขลา เข้าไปเฝ้ากราบบังคมทูลพระกรุณาว่า เจ้าพระยานครศรีธรรมราชแต่งกรมการให้ไปเก็บเอาผู้หญิงช่างทอหูก แลบุตรสาวกรมการ บุตรสาวราษฎร ชาวเมืองสงขลาพาไปเมืองนครศรีธรรมราชเสียหลายสิบคน ราษฎรได้ความเดือดร้อนยิ่งนัก ขอพระบารมีปกเกล้า ฯ เปนที่พึ่ง รับสั่งว่าเมืองนครศรีธรรมราชกับเมืองสงขลาวิวาทกันไม่รู้แล้ว โปรดเกล้า ฯ ให้มีตราออกมาถึงเมืองนครศรีธรรมราช ให้ยกเมืองสงขลาขึ้นกับกรุงเทพ ฯ หลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (เหยี่ยง) กราบถวายบังคมลาออกมาเมืองสงขลา
ครั้น ณ ปีขาล จัตวาศก ศักราช ๑๑๔๔ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ปราบดาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติ ในปีนั้นเจ้าพระยานครศรีธรรมราชถึงแก่อสัญญกรรม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้บุตรเขยเจ้าพระยานคร เปนเจ้าพระยานครศรีธรรมราช ครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรสถานมงคล กราบบังคมทูลพระกรุณาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า เจ้าพระยานครศรีธรรมราชคนนี้กับหลวงสุวรรณคิรีสมบัติผู้ว่าราชการเมืองสงขลา เปนคนรักใคร่สนิทกัน ขอรับพระราชทานให้เมืองสงขลาขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราชตามเดิม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีตราออกมาถึงหลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (เหยี่ยง) ให้ยกเมืองสงขลาขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราชเหมือนอย่างแต่ก่อนสืบต่อไป เมืองสงขลาจึ่งได้กลับไปขึ้นอยู่กับเมืองนครศรีธรรมราชอิก
ครั้น ณ ปีมโรง ฉศก ศักราช ๑๑๔๖ หลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (เหยี่ยง) ป่วยเปนไข้หมอพยาบาลอาการหาคลายไม่ ครั้น ณ วัน ๕๑๑ ค่ำ หลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (เหยี่ยง) ถึงแก่กรรม เปนหลวงอินทคิรีสมบัติคุมเลขทำอากรรังนกอยู่ ๖ ปี เลื่อนเปนหลวงสุวรรณคิรีสมบัติ ผู้ว่าราชการเมืองสงขลา ๙ ปี เมื่อถึงแก่กรรมอายุได้ ๖๘ ปี บุตรแลหลานได้ฝังศพไว้ริมเขาแหลมสน จาฤกอักษรจีนไว้ในป้ายศิลาตามอย่างธรรมเนียมจีนแล้ว
ในปีมโรง ฉศกนั้น นายบุญหุ้ยบุตรที่หนึ่งหลวงสุวรรณคิรีสมบัติ เข้าไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ณกรุงเทพ ฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้นายบุญหุ้ยเปนที่หลวงสุวรรณคิรีสมบัติ ผู้ว่าราชการเมืองสงขลา หลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (บุญหุ้ย) กราบถวายบังคมลาออกมาเมืองสงขลา
เมื่อปีมเสง สัปตศก ศักราช ๑๑๔๗ โปรดเกล้า ฯ ให้ข้าหลวงเปนแม่กองออกไปสักเลขเมืองสงขลา สักแขนขวาได้เลข ๗๖๗๒ คน เมื่อปีมเสง สัปตศก มีตราโปรดเกล้า ฯ ออกมาเมืองสงขลา ให้ต่อเรือหูช้าง ๓๐ ลำ ปากกว้างแปดศอกยาวเก้าวาสำหรับรักษาพระนครหลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (บุญหุ้ย) เกณฑ์ไพร่ตัดไม้ต่อเรือยังไม่เสร็จ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงจักรเจษฎาเสด็จออกมาเร่งให้ต่อเรือ ตั้งพลับพลาประทับอยู่ณบ้านบ่อเตยประทับแรมอยู่เดือนหนึ่ง เรือที่ต่อยังไม่สำเร็จ เสด็จกลับเข้าไปกรุงเทพฯ
ครั้น ณ ปีมเมีย อัฐศก ศักราช ๑๑๔๘ พม่าข้าศึกยกกองทัพมาตีเมืองนครศรีธรรมราชแตก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ยกกองทัพหลวงเสด็จออกมาตีเอาเมืองนครคืนได้ ยังประทับอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช ครั้งนั้นขุนรองราชมนตรีเปนบุตรพระสงขลาโยมนอกราชการ ขัดเคืองกับหลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (บุญหุ้ย) ผู้ว่าราชการเมืองสงขลา ขุนรองราชมนตรีทราบว่าเมืองนครศรีธรรมราชเสียแก่พม่าข้าศึกแล้ว ขุนรองราชมนตรีมีใจกำเริบ ซ่องสุมผู้คนบ่าวไพร่ในกองขุนรองราชมนตรีตำดินดำที่บ้านศีศะเขา จะเข้าตีเอาค่ายตำบลบ้านบ่อยางฟากน้ำตวันออก หลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (บุญหุ้ย) ทราบว่าขุนรองราชมนตรีคิดขบถ จึ่งแต่งให้กรมการขึ้นไปกวาดต้อนคนในแขวงเมืองสงขลามาทางบกทางเรือ ขุนรองราชมนตรีให้คนไปสกัดทางชิงเอาคนทางบกทางเรือเสียทั้งสิ้น ได้คนแลเรือมากแล้วตั้งรวมกันอยู่ที่บ้านศีศะเขา หลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (บุญหุ้ย) เห็นว่าคนในค่ายน้อยตัว จึ่งจัดแจงผ่อนบุตรภรรยาขนเข้าของลงเรือใหญ่ถอยไปทอดอยู่ที่เกาะหนูสองลำ แต่ตัวหลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (บุญหุ้ย) อยู่ในค่ายตำบลบ้านบ่อยาง ขุนรองราชมนตรีให้นายทิดเพ็ชรคุมไพร่พันเศษ ขุนรองราชมนตรีคุมไพร่พันเศษ เวลาเช้าเข้าตีค่ายตำบลบ้านบ่อยาง นายทิดเพ็ชรเข้าตีด้านทักษิณ ขุนรองราชมนตรีเข้าตีค่ายด้านตวันตกริมน้ำ หลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (บุญหุ้ย) อยู่ในค่ายให้ยิงปืนคาบศิลาถูกขุนรองราชมนตรีแต่ไม่บาดเจ็บ ถูกไพร่ในลำเรือของขุนรองราชมนตรีบาดเจ็บตกน้ำตายเปนอันมาก ขุนรองราชมนตรีล่าทัพไปอยู่แหลมฝาด คนรักษาค่ายด้านทักษิณเปนใจเข้าด้วยขุนรองราชมนตรี เปิดประตูให้นายทิดเพ็ชรเข้าในค่ายได้ หลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (บุญหุ้ย) เห็นการจะต่อสู้ขุนรองราชมนตรีนายทิดเพ็ชรไม่ได้ จึ่งลงเรือเล็กหนีไปขึ้นเรือใหญ่ที่เกาะหนูใช้ใบเข้าไปกรุงเทพฯ ขณะนั้นขุนรองราชมนตรีรั้งเมืองสงขลาอยู่ ๔ เดือน หลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (บุยหุ้ย) เข้าไปถึงกรุงเทพ ฯ เข้าเฝ้ากราบบังคมทูลพระกรุณาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า ขุนรองราชมนตรีบุตรพระสงขลาโยมนอกราชการ กับนายทิดเพ็ชรเปนขบถตีเอาเมืองสงขลาได้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ รับสั่งว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ยกกองทัพหลวงไปประทับอยู่ที่เมืองนครแล้ว ให้หลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (บุญหุ้ย) ตามไปกราบบังคมทูลที่เมืองนครศรีธรรมราชเถิด ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระสงขลาโยมนอกราชบิดาขุนรองราชมนตรีออกมาด้วยหลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (บุญหุ้ย) ๆ ให้บุตรภรรยาอยู่ที่กรุงเทพฯ พระสงขลาโยมนอกราชการกับหลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (บุญหุ้ย) ออกมาเรือลำเดียวกัน มาถึงเมืองนครศรีธรรมราช พระสงขลาโยมนอกราชการ กับหลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (บุญหุ้ย) ขึ้นเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรสถานมงคล กราบบังคมทูลว่าขุนรองราชมนตรีกับนายทิดเพ็ชรเปนขบถตีเอาเมืองสงขลาได้ รับสั่งว่าให้พระสงขลาโยมนอกราชการ กับหลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (บุญหุ้ย) ออกมาทำพลับพลาไว้ที่เมืองสงขลาก่อน เสร็จราชการเมืองนคร ฯ แล้วจะเสด็จมาเมืองสงขลา พระสงขลาโยมนอกราชการ กับหลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (บุญหุ้ย) กราบถวายบังคมลามาเมืองสงขลาให้นายหมวดนายกองเกณฑ์ไพร่ทำพลับพลาที่ตำบลบ้านบ่อพลับ ขุนรองราชมนตรีก็มาทำพลับพลาอยู่ด้วย ทำพลับพลาอยู่ ๑๘ วัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ยกกองทัพหลวงเสด็จมาถึงเมืองสงขลา ขึ้นประทับพลับพลาตำบลบ้านบ่อพลับ หลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (บุญหุ้ย) พระสงขลา (โยม)นอกราชการ ขุนรองราชมนตรีกับนายทิดเพ็ชรเข้าเฝ้าพร้อมกัน ทรงพระกรุณารับสั่งถามตามธรรมเนียมแล้ว ทรงพระกรุณาให้มีตราไปหาตัวพระยาไทร พระยาตรังกานู พระยากลันตัน พระยาปัตตานี เข้ามาเฝ้าให้พร้อมกันที่เมืองสงขลา จะได้ทรงจัดแจงบ้านเมืองให้เรียบร้อย พระยาไทร พระยาตรังกานู พระยากลันตัน แต่งให้บุตรหลานศรีตวันกรมการ นำพาสิ่งของเข้ามาทูลเกล้า ฯ ถวาย แต่พระยาตานีแขงตัวอยู่ ทรงขัดเคืองพระยาตานี ทรงพระกรุณารับสั่งว่า ให้กองทัพหลวงออกไปเหยียบเมืองตานีเสียให้ยับเยิน ขณะนั้นแขกเมืองตานีพาเรือมาค้าขายอยู่ที่เมืองสงขลาลำหนึ่ง รับสั่งให้ยุดเอาคนแลเรือไว้ มอบให้ขุนรองราชมนตรีเปนผู้คุม ครั้งนั้นนายจันทองเพื่อน ๑๐ ครัว เปนไทยเดิมเมืองนครศรีธรรมราช ตกไปอยู่เมืองตานีเสียช้านาน พาบุตรภรรยาหนีเข้ามาเมืองสงขลา นายจันทองแจ้งความกับหลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (บุญหุ้ย) ผู้ว่าราชการเมืองสงขลาว่า พระยาตานีทราบความว่ากองทัพหลวงจะยกไปตีเมืองตานี พระยาตานีให้เกณฑ์ไพร่ทำค่ายที่ปากน้ำเมืองตานีค่ายหนึ่ง ที่บ้านพระยาตานีค่ายหนึ่ง กวาดเอาผู้คนเข้าไว้ในค่ายเปนอันมาก นายจันทองเห็นเรือกองทัพใหญ่ทอดอยู่ปากน้ำเมืองตานี ๗ ลำ แขกเมืองตานีเห็นเรือกองทัพไทยน่าเมืองตกใจกลัว ประชุมพูดกันว่า ตายายแขกสั่งไว้ว่าศึกมาแต่ทักษิณให้สู้ ศึกมาแต่อุดรอย่าให้สู้เลย บัดนี้กองทัพหลวงมาทอดอยู่น่าเมืองตานีแล้ว ให้คิดอ่านพาอพยพหนีแต่ยาว พวกแขกเมืองตานีพูดกันดังนี้ นายจันทองกลัวว่าพระยาตานีจะฆ่าบุตรภรรยาของนายจันทองเสีย นายจันทองคิดอ่านสอดแนมเข้าไปฟังการในบ้านพระยาตานี ได้ยินพระยาตานีปฤกษากับศรีตวันกรมการผู้ใหญ่ผู้น้อยว่า กองทัพไทยยกมาทอดอยู่ที่ปากน้ำเมืองตานีแล้วจะคิดอย่างไร นายจันทองรับอาสากับพระยาตานีว่า นายจันทองจะขอเปนแม่กองคุมพวกนายจันทองแลพวกแขกลงไปรักษาค่ายปากน้ำเมืองตานีไว้ ไม่ให้กองทัพไทยเข้ามาในเมืองตานีได้ จะขอปืนใหญ่ปืนน้อยกระสุนดินดำเสบียงอาหารกับเรือปากกว้าง ๕ ศอกสักลำ ถ้านายจันทองยิงเรือกองทัพไทยจมลง นายจันทองจะได้ลงเรือไปจับเอาพวกกองทัพไทยโดยง่าย พระยาตานีก็เห็นด้วย จึ่งจัดเสบียงอาหารกระสุนดินดำกับเรือลำหนึ่ง ให้นายจันทองไปรักษาค่ายปากน้ำ นายจันทองกับเพื่อนนายจันทองจัดแจงเรือพร้อมแล้ว เวลากลางคืนนายจันทองกับพวกเพื่อนพาเรือเล็ดลอดเข้าไปในเมืองตานี ขึ้นไปเรือนขนข้าวของแลบุตรภรรยาลงเรือ มาทอดอยู่ที่ค่ายปากน้ำ เวลาเข้านายจันทองเพื่อนนายจันทองแต่งตัวเปนภาษาไทยออกเรือยกธงขาวมาใกล้เรือกองทัพไทย นายจันทองร้องบอกพวกเรือกองทัพไทยว่าให้ยิงปืนเถิด พวกแขกในเมืองตานีจัดแจงจะพาบุตรภรรยาหนีอยู่แล้ว พวกญวนกองทัพไทยเรียกให้นายจันทองแอบเรือเข้าไปใกล้จะได้สืบข่าวราชการ นายจันทองบอกความว่า หลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (บุญหุ้ย) แต่งให้มาสืบราชการเมืองตานีได้ความแล้วช้าอยู่ไม่ได้จะเร่งรีบกลับไป นายจันทองก็แจวเรือมาเมืองสงขลา มาสักครู่หนึ่งพวกเรือกองทัพไทยยิงปืนใหญ่ พวกแขกในค่ายปากน้ำยิงปืนใหญ่รับนัดหนึ่ง แล้วพวกแขกออกจากค่ายปากน้ำเข้าในเมืองตานี แขกในเมืองตานีแตกตื่นพาอพยพออกจากเมืองไปเปนอันมาก พวกญวนกองทัพไทยเห็นแขกทิ้งค่ายปากน้ำเสีย กองทัพไทยลงเรือสำปั้นขึ้นบนตลิ่งเข้าอยู่ในค่ายปากน้ำ นายจันทองมาพบเรือกองทัพไทยที่น่าเมืองเทพา ๓ ลำ นายจันทองบอกว่ากองทัพไทยตีค่ายปากน้ำเมืองตานีได้แล้ว ให้เร่งรีบไปเถิด นายจันทองก็เลยมาถึงบ้านแหลมทรายปากน้ำเมืองสงขลา พวกข้าหลวงกองตระเวนซึ่งรักษาปากน้ำเมืองสงขลา เรียกให้นายจันทองหยุดเรือ นายจันทองบอกว่าเรือสืบราชการร้อนเร็วจะหยุดช้าอยู่ไม่ได้ นายจันทองแจวเรือเลยเข้ามาในเมืองสงขลา หลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (บุญหุ้ย) ได้ทราบความดังนั้นแล้ว พาตัวนายจันทองเข้าเฝ้ากราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรสถานมงคลว่า หลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (บุญหุ้ย) แต่งเรือเล็กให้นายจันทองเพื่อน ๔ คนเล็ดลอดเข้าไปสืบราชการเมืองตานี ทราบความว่าแขกเมืองตานีไม่คิดจะสู้ คิดจะหนีทั้งสิ้น นายจันทองได้บอกเรือกองทัพน่าซึ่งไปทอดอยู่ปากน้ำ เมืองตานีให้ยิงปืนใหญ่ พวกแขกได้ยินเสียงปืนหนีออกจากคายปากน้ำเข้าในเมือง กองทัพน่าขึ้นชิงเอาค่ายปากน้ำเมืองตานีได้แล้ว แขกในเมืองตานีพาอพยพหนีไปเปนอันมาก รับสั่งว่าหลวงสุวรรณคิรี (บุญหุ้ย) อุส่าห์แต่งให้คนไปสืบราชการเมืองตานีได้ความชัดแจ้งดังนี้สิ้นวิตก รับสั่งให้เร่งจัดแจงกองทัพลงไประดมตีเมืองตานี จับเอาตัวพระยาตานีให้จงได้ หลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (บุญหุ้ย) กราบบังคมทูลว่า แขกเรือเมืองตานีซึ่งให้ขุนรองราชมนตรีคุมไว้นั้นพาเรือหนีไปได้ กับพระยาจะนะน้องพระยาพัทลุงคิดขบถมีหนังสือลับไปถึงพม่าข้าศึกให้ยกมาตีเมืองสงขลา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาพัทลุงพี่ชายพระยาจะนะเปนตระลาการชำระ พระยาจะนะรับเปนสัตย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับสั่งให้ประหารชีวิตรเสียพร้อมด้วยขุนรองราชมนตรี แต่นายทิดเพ็ชรนั้นเข้าหาพระยากลาโหมราชเสนา ๆ กราบบังคมทูลขอรับพระราชทานโทษนายทิดเพ็ชรไว้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จยกทัพหลวงลงไปประทับอยู่เมืองตานี พวกกองทัพจับตัวพระยาตานีได้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จำตัวพระยาตานีไว้ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พวกกองทัพเข็นปืนทองเหลืองใหญ่ในเมืองตานี ๒ บอกลงเรือรบ แต่ปืนกระบอกหนึ่งตกน้ำเสียที่ท่าน่าเมืองตานี ได้ไปแต่กระบอกเดียว คือปืนนางพระยาตานีเดี๋ยวนี้ ประทับอยู่เมืองตานีเดือนเศษ เสร็จราชการแล้วยกทัพหลวงเสด็จกลับเข้าไปกรุงเทพ ฯ ครั้งนั้นหลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (บุญหุ้ย) กับนายบุญเฮี้ยว นายบุญซิ้น ผู้น้องตามเสด็จเข้าไปณกรุงเทพฯ นายทิดเพ็ชรก็เข้าไปกับพระยากลาโหมราชเสนา ครั้นถึงกรุงเทพ ฯ หลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (บุญหุ้ย) กับนายบุญเฮี้ยว นายบุญซิ้นผู้น้อง ขึ้นเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๆ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ เลื่อนให้หลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (บุญหุ้ย) เปนพระยาสุวรรณคิรีสมบัติ ผู้ว่าราชการเมืองสงขลาให้นายบุญเฮี้ยวเปน พระอนันตสมบัติ ให้นายบุญซิ้นเปนพระพิเรนทรภักดี ให้นายเถี้ยนเส้งเปนพระสุนทรนุรักษ์ เปนผู้ช่วยราชการทั้ง ๓ คน แต่พระอนันตสมบัติ (บุญเฮี้ยว ) นั้นโปรดเกล้าฯ ให้เปนผู้ว่าราชการเมืองจะนะด้วย แต่เมืองสงขลาให้ขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราชตามเดิม พระยาสุวรรณคิรีสมบัติ (บุญหุ้ย) กับพระอนันตสมบัติ พระพิเรนทร์ พระสุนทรนุรักษ์ กราบถวายบังคมลาพาบุตรภรรยากลับออกมาเมืองสงขลา ในปีวอก สัมฤทธิศก ศักราช ๑๑๕๐
ครั้น ณ ปีจอโทศก พระอนันตสมบัติ (บุญเฮี้ยว) ถึงแก่กรรมที่เมืองจะนะ ได้ทำการเผาศพแลเชิญอัฐิมาฝังไว้ที่ริมเขาแหลมสน ทำเปนฮ่องสุยตามธรรมเนียมเสร็จแล้ว พระยาสงขลา (บุญหุ้ย) มีใบบอกให้นายเถี้ยนจ๋งบุตรพระอนันตสมบัติ ถือเข้าไปกราบบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า พระอนันตสมบัติ (บุญเฮี้ยว) ถึงแก่กรรม พระ อนันตสมบัติมีบุตรชาย ๓ คน บุตรที่ ๑ ชื่อเถี้ยนเจ๋ง บุตรที่ ๒ ชื่อเถี้ยนเส้ง บุตรที่ ๓ ชื่อเถี้ยนไล่ต่างมารดา พระยาสงขลา (บุญหุ้ย) ขอพระราชทานถวายนายเถี้ยนจ๋งเปนมหาดเล็กทำราชการฉลองพระเดชพระคุณอยู่ในกรุงเทพฯ นายเถี้ยนจ๋งบุตรพระอนันต์ (บุญเฮี้ยว) ก็ทำราชการเปนมหาดเล็กอยู่ณกรุงเทพฯ สืบต่อมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ปฤกษากับข้าราชการว่า จะได้ผู้ใดเปนผู้ว่าราชการเมืองจะนะ พระยากลาโหมราชเสนากราบบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอรับพระราชทานให้นายทิดเพ็ชรเปนผู้ว่าราชการเมืองจะนะ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้นายทิดเพ็ชรเปนพระมหานุภาพปราบสงคราม ผู้ว่าราชการเมืองจะนะคุมเลขส่วยดีบุกเก้าหมวดขึ้นกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรสถานมงคล แต่เมืองจะนะให้อยู่ในบังคับเมืองสงขลาตามเดิม พระมหานุภาพปราบสงครามทิดเพ็ชร กราบถวายบังคมลาออกมาทำราชการฉลองพระเดชพระคุณอยู่ณเมืองจะนะ
ครั้น ณ ปีกุญตรีศก ศักราช ๑๑๕๓ โต๊ะสาเหยดมาแต่ประเทศอินเดียเปนคนรู้เวทมนต์วิชาการต่าง ๆ ไปคบคิดกับพระยาตานีให้ยกทัพมาตีเมืองสงขลา ทัพพระยาตานียกมาตั้งอยู่ที่ริมเขาสะโมรง หลังเขาลูกช้าง พระยาสงขลา (บุญหุ้ย) เกณฑ์ไพร่ไปตั้งค่ายรับอยู่ริมคลองสะโมรง แล้วมีใบบอกเข้าไปกราบบังคมทูลพระกรุณาขอกองทัพหลวงมาช่วยฉบับหนึ่ง มีหนังสือไปขอกองทัพเมืองนครศรีธรรมราชมาช่วยฉบับหนึ่ง เจ้าพระยานครศรีธรรมราชยกกองทัพมาตั้งค่ายอยู่ ณ บ้านบ่อเตยค่ายหนึ่ง ให้มาตั้งอยู่ตำบลบ้านบ่อยางค่ายหนึ่ง เจ้า พระยานครศรีธรรมราช กับพระยาสงขลา (บุญหุ้ย) ปฤกษากำหนดวันจะเข้าตีค่ายโต๊ะสาเหยดให้พร้อมกันในวันนั้น พวกอ้ายโต๊ะสาเหยดยกอ้อมมาทางบางกะดาน ถึงน่าค่ายตำบลบ้านบ่อยาง พวกทัพเมืองนครศรีธรรมราชยิงปืนถูกพวก อ้ายโต๊ะสาเหยดตายประมาณสามร้อยคน พวกอ้ายโต๊ะสาเหยดก็ล่าทัพกลับไป กองทัพเมืองนครศรีธรรมราชเมืองสงขลา ไล่ตามไปทันได้รบกับพวกแขกถึงตลุมบอน พวกแขกแตกเข้าค่ายหลังเขาลูกช้าง อ้ายโต๊ะสาเหยดเศกน้ำมนต์โปรยอยู่ประตูค่ายกองทัพเมืองนครศรีธรรมราช เมืองสงขลา หักเข้าค่ายได้ ยิงอ้ายโต๊ะสาเหยดตายอยู่กับที่ พวกแขกก็ตายเปนอันมาก ที่เหลือตายก็แตกหนีไปสิ้น เจ้าพระยานครศรีธรรมราช พระยาสงขลา (บุญหุ้ย) ให้กองทัพยกตามไปตีเอาเมืองตานีกลับคืนได้ กองทัพเมืองนครศรีธรรมราช เมืองสงขลา ยกกลับมาถึงเมืองสงขลา ๔ วัน ๕ วัน กองทัพหลวงจึ่งยกออกมาถึง หาทันได้สู้รบกับแขกเมืองตานีไม่ พักกองทัพอยู่ในเรือน่าค่ายตำบลบ้านบ่อยางอยู่หลายเวลา พวกญวนในกองทัพวิวาททุบตีกันกับพวกกองทัพเมืองนครศรีธรรมราช พระสุนทรนุรักษ์ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลาไปห้ามปรามก็ไม่ทัน พวกกองทัพเมืองนครศรีธรรมราช ไปกราบเรียนเจ้าพระยานครว่า พวกญวนกองทัพเรือกระทำข่มเหงทุบตีพวกกองทัพเมืองนครเจ็บป่วยเปนหลายคน พระสุนทรนุรักษ์ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลาดูอยู่ด้วยก็ไม่ห้ามปราม เจ้า พระยานครขัดเคืองกับพระยาสงขลาแลพระสุนทรนุรักษ์แต่นั้นมา กองทัพกรุงเทพ ฯ แลกองทัพเมืองนคร พักอยู่เมืองสงขลา ๗ เดือน จึ่งยกกองทัพกลับไป หลวงปลัด (อ้าย) เมืองสงขลาก็ตามเจ้าพระยานครไปเสียด้วย ในปีนั้นพระยาสงขลา (บุญหุ้ย) กับเจ้าพระยานครเข้าไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวณกรุงเทพ ฯ เจ้าพระยานครกราบบังคมทูลกล่าวโทษพระยาสงขลา (บุญหุ้ย) ว่าทำข่มเหงกับเมืองไทรบุรี ยกเอาตำบลบ้านพะตงกับตำบลบ้านการำแขวงเมืองไทรบุรีเสีย แลยุให้พวกญวนกองทัพวิวาททุบตีพวกกองทัพเมืองนครศรีธรรมราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ รับสั่งถามพระยาสงขลา (บุญหุ้ย) ตามคำเจ้าพระยานครศรีธรรมราชกราบทูลกล่าวโทษพระยาสงขลา (บุญหุ้ย) กราบบังคมทูลว่า ที่ตำบลบ้านพะตงการำเปนที่เขตรแดนเมืองสงขลามาแต่เดิม พระยาสงขลา (บุญหุ้ย) หาได้ทำข่มเหงกับเมืองไทรบุรีไม่ แลพวกญวนกองทัพหลวงทุบตีกับพวกเมืองนครศรีธรรมราชนั้นวิวาทกันขึ้นเอง พระยาสงขลาแลพระสุนทรนุรักษ์ผู้ช่วยราชการ เหลือสติกำลังที่จะห้ามปรามพวกกองทัพหลวง แลพวกกองทัพเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งพระยาสงขลา (บุญหุ้ย) แลพระสุนทรนุรักษ์จะได้ยุให้พวกกองทัพวิวาทกันนั้นหามิได้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ รับสั่งว่า พวกกองทัพทั้งสองทัพไม่อยู่ใต้บังคับพระยาสงขลา (บุญหุ้ย) วิวาทกันขึ้นเอง จะปรับโทษพระยาสงขลา (บุญหุ้ย) พระสุนทรนุรักษ์ผู้ช่วยราชการนั้นไม่ชอบ ที่ตำบลบ้านพะตงการำนั้นถึงจะเปนเขตรเมืองไทรบุรีก็จริง แต่เมืองสงขลาตีเมืองไทรบุรีแลเมืองตานีได้ เมืองสงขลามีความชอบมาก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานยกที่ตำบลบ้านพะตง ตำบลบ้านการำให้เปนเขตรแดนเมืองสงขลา ที่ตำบลบ้านพะตงการำจึ่งได้เปนแขวงเมืองสงขลาแต่ครั้งนั้นสืบต่อมา แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาสงขลา (บุญหุ้ย) เปนเจ้าพระยาอินทคิรี ศรีสมุทรสงครามรามภักดี อภัยพิริยบรากรมพาหุ ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลายกเมืองสงขลาเปนเมืองเอกให้ขึ้นกับกรุงเทพ ฯ โปรดเกล้า ฯ พระราชทานยกเมืองไทรบุรี เมืองตานี เมืองตรังกานู ให้ขึ้นกับเมืองสงขลา เจ้าพระยาสงขลาอยู่ในกรุงเทพ ฯ ได้เก้าเดือน กราบถวายบังคมลากลับออกมาเมืองสงขลา
ครั้น ณ ปีฉลู เบญจศก ศักราช ๑๑๕๕ พระจะนะทิดเพ็ชรถึงแก่กรรม เจ้าพระยาสงขลา (บุญหุ้ย) มีใบบอกให้จีนเค่งซึ่งมาแต่เมืองชีจิวหู้เปนเพื่อนร่วมศุขทุกข์กับหลวงสุวรรณคิรีสมบัติ (เหยี่ยง) ถือเข้าไปกราบบังคมทูลพระกรุณา ณ กรุงเทพ ฯ ขอรับพระราชทานให้จีนเค่งเปนพระจะนะสืบต่อไป ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้จีนเค่งเปนพระมหานุภาพปราบสงคราม ผู้ว่าราชการเมืองจะนะ พระจะนะ (เค่ง) ถวายจีนขวัญซ้ายบุตรที่หนึ่ง ให้ทำราชการ เปนมหาดเล็ก อยู่ ณ กรุงเทพฯ นายบัวแก้วบุตรพระจะนะ (ทิดเพ็ชร) เข้าไปทำราชการเปนมหาดเล็กอยู่ ณ กรุงเทพฯ พร้อมกับจีนขวัญซ้าย พระจะนะ (เค่ง) กลับออกมาว่าราชการเมืองจะนะ
ครั้น ณ ปีเถาะสัปตศก ศักราช ๑๑๕๗ อ้ายพม่าข้าศึกยกกองทัพเรือมาตีเมืองถลางแตก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาพลเทพ (บุนนาก) กับพระยาวิเศษโกษาเปนแม่ทัพ โปรดเกล้าฯ ให้นายเถี้ยนจ๋งมหาดเล็กบุตรพระอนันตสมบัติเปนหลวงนายฤทธิ์ ออกมาในกองทัพเจ้าพระยาพลเทพ (บุนนาก) ด้วย เจ้าพระยาพลเทพยกกองทัพเรือออกมาขึ้นเดินกองทัพที่เมืองชุมพรไปเมืองถลาง เจ้า พระยาพลเทพให้หลวงนายฤทธิ์ (เถี้ยนจ๋ง) เชิญท้องตราออกมาเมืองสงขลา ในท้องตราโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาสงขลา (บุญหุ้ย) ยกกองทัพไปถ่วงเมืองไทรบุรีไว้ แล้วให้เกณฑ์ไพร่เมืองสงขลา เมืองจะนะ ให้หลวงนายฤทธิ์ยกไปช่วยตีเมืองถลาง เจ้าพระยาสงขลา (บุญหุ้ย) เกณฑ์ไพร่เมืองสงขลาได้เจ็ดร้อยคน ให้หลวงพลเปนนายทัพ เกณฑ์ไพร่เมืองจะนะได้สองร้อยคน ให้จีนขวัญซ้ายมหาดเล็กบุตรพระจะนะ (เค่ง) เปนนายทัพ รวมไพร่เมืองสงขลา เมืองจะนะเก้าร้อยคน มอบให้หลวงนายฤทธิ์ยกไปทางเมืองพัทลุงไปสมทบทัพเจ้าพระยาพลเทพที่เมืองตรัง แล้วเจ้าพระยาสงขลา (บุญหุ้ย) เกณฑ์ไพร่สองร้อยคน ให้หลวงจ่ามหาดไทยยกไปตั้งถ่วงเมืองไทรบุรีไว้ กองทัพเจ้าพระยาพลเทพกับพระยาวิเศษโกษา หลวงนายฤทธิ์ ยกไปถึงเมืองถลาง ได้ยกเข้าตีพวกพม่าข้าศึกแตกหนีกลับไป เจ้าพระยาพลเทพจัดราชการเมืองถลางอยู่ปี ๑ เสร็จราชการแล้วยกกองทัพมาเมืองสงขลาทางเมืองตรัง ครั้งนั้นด่าตูปักหลันเจ้าเมืองยิริงคิดขบถ เจ้าพระยาพลเทพจัดให้กองทัพเมืองพัทลุง เมืองสงขลา สมทบกับกองทัพหลวง ให้หลวงนายฤทธิ์เปนแม่ทัพยกออกไปตีเมืองยิริง หลวงนายฤทธิ์ยกกองทัพออกไปตีทัพด่าตูปักหลันเมืองยิริงถึง ตลุมบอน จับตัวด่าตูได้ จึ่งได้แยกเมืองตานีออกเปน ๗ เมืองตามพระบรมราชานุญาต เหตุด้วยเมืองตานีเมืองเดียวมีกำลังมาก เมืองสงขลามีกำลังน้อย แล้วตั้งให้นายพ่ายทหารเอกเมืองสงขลาเปนผู้ว่าราชการเมืองยิริง จัดราชการแยกเมืองตานีอยู่ ๖ เดือน เสร็จราชการแล้ว ยกกองทัพพาตัวด่าตูกลับเข้ามาเมืองสงขลา เจ้า พระยาพลเทพ พระยาวิเศษโกษา หลวงนายฤทธิ์ ก็ยกกองทัพกลับเข้าไปกรุงเทพ ฯ เมืองสงขลาเปนปรกติไม่มีทัพศึกอยู่ ๒ ปี ในระหว่างเมืองสงขลาเปนปรกติอยู่ ๒ ปีนั้น เจ้าพระยาอินทคิรี ได้สร้างพระอุโบสถวัดยางทองขึ้นอาราม ๑ โรง พระอุโบสถวัดมัชฌิมาวาศอาราม ๑ รวม ๒ อาราม แลเจ้าพระยาสงขลา (บุญหุ้ย) ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ฟากแหลมสน.
ศักราช ๑๑๗๑ ปีมเสง เอกศก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกสวรรคต พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยได้เถลิงถวัลยราชสมบัติ ในจุลศักราช ๑๑๗๑ พม่ายกกองทัพเรือรวม ๒๐๐ ลำ มาตีเอาเมืองถลางได้อิก จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้า พระยายมราชยกกองทัพหลวงออกมาขึ้นเดินบกทางเมืองชุมพร แลโปรดเกล้า ฯ ให้หลวงนายฤทธิ์เชิญท้องตราออกมาถึงเจ้าพระยาสงขลา ให้เจ้าพระยาสงขลายกกองทัพไปถ่วงเมืองไทรบุรีไว้ แลให้เกณฑ์ไพร่เมืองไทรยกไปสมทบทัพเจ้าพระยายมราชด้วย แลให้หลวงนายฤทธิ์คุมไพร่เมืองสงขลา เมืองพัทลุง ยกไปสมทบทัพเจ้าพระยายมราชที่เมืองตรัง เจ้าพระยาสงขลาเกณฑ์ไพร่พลเมืองให้หลวงนายฤทธิ์พันคน ยกไปเมืองตรังทางเมืองพัทลุง แลเกณฑ์ไพร่เมืองพัทลุงไป ๕๐๐ คนด้วย แล้วเจ้าพระยาสงขลาคุมไพร่ ๔๐๐ คนยกไปตั้งอยู่ที่เมืองไทรบุรี แล้วเกณฑ์ไพร่เมืองไทร ๑๐๐๐ คน เรือ ๓๐ ลำ แต่งให้พระยาปลัดเมืองไทรเปนนายทัพ รีบยกไปสมทบกับเจ้าพระยายมราชที่เมืองตรัง เจ้าพระยายมราชรวมกองทัพเมืองนครศรีธรรมราช เมืองพัทลุง เมืองสงขลา เมืองไทร ได้พร้อมแล้วยกกองทัพไปตีเมืองถลาง อ้ายพม่าข้าศึกแตกหนีไป เจ้าพระยายมราชตีได้เมืองถลางคืน แล้วเกณฑ์ไพร่เมืองนคร เมืองสงขลา เมืองพัทลุง ให้อยู่รักษาเมืองถลาง จัดราชการอยู่ ๓ ปี ราชการเรียบร้อยแล้วจึ่งได้ยกกองทัพกลับกรุงเทพ ฯ เมืองสงขลาไม่มีทัพศึกเปนปรกติอยู่ ๓ ปี เจ้าพระยาอินทคิรี ศรีสมุทสงครามรามภักดี อภัยพิริยบรากรมพาหุ ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา (บุญหุ้ย) ป่วยโรคชราถึงแก่ อสัญญกรรม ได้เปนผู้สำเร็จราชการเมืองมา ๓๔ ปี เจ้าพระยาอินทคิรีไม่มีบุตร จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้หลวงนายฤทธิ์ (เถี้ยนจ๋ง) บุตรพระอนันต์ (บุญเฮี้ยว) ซึ่งเปนหลานเจ้าพระยาอินทคิรี เปนพระยาวิเศษภักดี ศรีสุรสงคราม พระยาสงขลา แลโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้พระยาวิเศษภักดี เชิญตราตั้งออกมาพระราชทานให้พระภิรมย์สมบัติ (บุญซิ้น) ซึ่งเปนน้องต่างมารดาของเจ้าพระยาอินทคิรี เปนพระยาศรีสมบัติจางวาง พระราชทานให้นายเถี้ยนเส้ง น้องร่วมมารดากับพระยาวิเศษภักดีเปนพระสุนทรนุรักษ์ ครั้นณวันเดือนหกปีวอกจัตวาศก ศักราช ๑๑๗๔ ปี พระยาวิเศษภักดี พร้อมด้วยญาติพี่น้อง ได้จัดแจงเผาศพเจ้าพระยาอินทคิรีเสร็จแล้ว ได้เชิญอัฐไปทำฮ่องสุยตามธรรมเนียมจีนที่ริมเขาแหลมสน เคียงกับฮ่องสุยหลวงสงขลา (เหยี่ยง)
ศักราช ๑๑๗๕ ปีรกา เบญจศก โปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีสุริยพาหจางวางกรมม้า เปนแม่กองออกมาสักเลขเมืองสงขลา ตั้งโรงสักที่ทุ่งบ่อเตย พระยาศรีสุริยพาห สักเลขอยู่ ๒ ปี เสร็จการสักเลขแล้วกลับเข้าไปณกรุงเทพ ฯ ครั้งนั้นพระยาไทรเกิดขัดเคืองกับเมืองสงขลา จึ่งไปขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราช เจ้าพระยานครศรีธรรมราช นำความขึ้นกราบบังคมทูลทรงทราบใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทแล้ว โปรดเกล้า ฯ ให้เมืองไทรขึ้นกับเมืองนครตามสมัค ในปีนั้นพระยาตรังกานูวิวาทขึ้นกับพระยากลันตัน ๆ จึ่งเข้ามาขอขึ้นอยู่กับเมืองสงขลาไม่สมัคจะขึ้นกับเมืองตรังกานูสืบไป พระยาวิเศษภักดี ตอบกับพระยา กลันตันว่ารับไว้ไม่ได้ ด้วยแต่ก่อนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวร ฯ โปรดเกล้า ฯ ให้เมืองกลันตันขึ้นอยู่กับเมืองตรังกานู พระยากลันตันจึ่งเลยไปขอขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราช เจ้าพระยานครนำความขึ้นกราบบังคมทูลตามที่พระยาตรังกานู กับพระยา กลันตันวิวาทกัน โปรดเกล้า ฯ ให้เมืองกลันตันขึ้นกับเมืองนครตามสมัค เมืองกลันตันจึ่งได้ขึ้นกับเมืองนครสืบต่อมา.
ครั้น ณ ปีฉลู นพศก ศักราช ๑๑๗๙ พระยาวิเศษภักดี พระยาสงขลา เข้าไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพ ฯ ให้พระยาศรีสมบัติจางวาง กับพระสุนทรนุรักษ์อยู่รักษาเมือง ครั้น ณ เดือน ๖ ปีฉลู นพศก พระยาศรีสมบัติจางวางป่วยเปนไข้พิศม์ถึงแก่กรรม ครั้นพระยาวิเศษภักดีกลับออกมาถึงเมืองสงขลาป่วยเปนโบราณโรค ครั้น ณ วันเดือน ๓ ปีฉลูนพศก พระยาวิเศษภักดี พระยาสงขลาถึงแก่กรรม เปนผู้ว่าราชการเมืองอยู่ ๗ ปี พระสุนทร (เถี้ยนเส้ง) ให้หลวงพิทักษ์ราชาอยู่รักษาเมือง พระสุนทรนุรักษ์รีบเข้าไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวณกรุงเทพฯ จึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้พระสุนทรนุรักษ์เปนผู้ว่าราชการเมืองสงขลา แลพระราชทานศิลาน่าเพลิงออกมาเผาศพพระยาศรีสมบัติจางวาง พระยาวิเศษภักดี พระยาสงขลาด้วย พระสุนทร (เถี้ยนเส้ง) นายพลพ่าย (บุญสัง) บุตรพระยาศรีสมบัติจางวาง กราบถวายบังคมลากลับออกมาเมืองสงขลาพร้อมกัน
ครั้น ณ เดือน ๗ ปีขาล สัมฤทธิศก ศักราช ๑๑๘๐ พระสุนทรนุรักษ์ผู้ว่าราชการเมืองสงขลา พร้อมกับหมู่ญาติได้จัดการเผาศพพระยาศรีสมบัติจางวาง พระยาวิเศษภักดี พระยาสงขลาพร้อมกันเสร็จแล้ว ได้เชิญอัฐิพระยาศรีสมบัติจางวาง พระยาวิเศษภักดีพระยาสงขลา ไปทำฮ่องสุยไว้ณที่อันเดียวกันริมเขาแหลมสน พระยาวิเศษภักดี พระยาสงขลา (เถี้ยนจ๋ง) ได้เปนผู้สำเร็จราชการเมืองอยู่ ๗ ปี ได้สร้างโรงพระอุโบสถวัดสุวรรณคิรีอาราม ๑ ยังไม่ทันเสร็จ ในปีนั้นพระสุนทรนุรักษ์ กับนายพลพ่าย หลวงพิทักษ์ราชา นายแพะบุตรพระสุนทรนุรักษ์ พากันเข้าไปเฝ้าใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทถวายพระราชกุศล จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้พระสุนทรเปนพระยาวิเชียรคิรี ศรีสมุท วิสุทธิศักดา มหาพิไชยสงคราม รามภักดี อภัยพิริยบรากรมพาหุ ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา โปรดเกล้า ฯ ให้นายพลพ่าย (บุญสัง) เปน หลวงสุนทรนุรักษ์ ผู้ช่วยราชการ โปรดเกล้า ฯ ให้หลวงพิทักษ์ราชาเปนพระพิเรนทรภักดี ผู้ช่วยราชการ โปรดเกล้า ฯ ให้นายแพะเปนหลวงสมบัติภิรมย์ ผู้ช่วยราชการ กลับออกมารับราชการอยู่ที่เมืองสงขลา ภายหลังจึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้นายเหมเปนหลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ ผู้ช่วยราชการ โปรดเกล้า ฯ ให้นายยกเส่งเปนหลวงอุดมบริรักษ์ ผู้ช่วยราชการ โปรดเกล้า ฯ ให้นายหมีเปนหลวงพิทักษ์สุนทร ผู้ช่วยราชการ
ในปีขาล สัมฤทธิศก ศักราช ๑๑๘๐ นั้น พระยาถลางมีใบบอกเข้าไปณกรุงเทพ ฯ ว่า พม่ายกกองทัพมาตั้งต่อเรือที่เมืองมฤทเมืองตะนาวศรี แต่ไม่ทราบว่าจะไปตีเมืองใด จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาศรสำแดงคุมไพร่ ๒๐๐ คนยกออกมาตั้งอยู่ที่เมืองสงขลา ให้พระยาพิไชยสงครามคุมไพร่ ๒๐๐ คนออกมาตั้งอยู่ที่เมืองพัทลุง ให้พระยาวิชิตณรงค์คุมไพร่ ๒๐๐ คนออกมาตั้งอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช ให้พระยากลาโหมราชเสนาคุมไพร่ ๕๐๐ คนออกมาตั้งอยู่ที่เมืองถลาง โปรดเกล้า ฯ ให้เกณฑ์ไพร่เมืองสงขลา เมืองพัทลุง ให้ข้าหลวงคุมไปตั้งต่อเรือรบอยู่ที่เมืองสตูลอิกกองหนึ่ง พระยาศรสำแดงข้าหลวงออกมาตั้งอยู่ที่เมืองสงขลาปีหนึ่ง จึ่งเลิกกองทัพกลับเข้าไป ณ กรุงเทพ ฯ ในปีเถาะ เอกศก ศักราช ๑๑๘๑
ครั้นปิมโรง โทศก ศักราช ๑๑๘๒ บังเกิดความไข้อหิวาตกะโรค ราษฎรพลเมืองล้มตายเปนอันมาก ความไข้ตลอดมาจนถึงปีมเสงตรีศกจึ่งได้สงบ
ในปีมเสงนี้เจ้าพระยานครศรีธรรมราชเข้าไปณกรุงเทพ ฯ กราบบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า เจ้าพระยาไทรเปนคนดื้อดึง จะเอากิจราชการสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ไม่ได้ แลไม่ฟังบังคับบัญชาเมืองนครศรีธรรมราช ขอรับพระราชทานยกกองทัพไปตีเมืองไทรบุรี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยานครเปนแม่ทัพแลมีท้องตราออกมาเกณฑ์ไพร่เมืองนคร เมืองไชยา เมืองสงขลา เมืองพัทลุง ให้ยกไปตีเมืองไทรบุรี เจ้าพระยานครเชิญท้องตราเปนแม่ทัพออกมาเกณฑ์ไพร่ได้พร้อมแล้วยกกองทัพไปตีเมืองไทรบุรี เจ้า พระยาไทรบุรีไม่ต่อสู้ ยกอพยพครอบครัวหนีไปอยู่เมืองเกาะหมาก กองทัพเจ้าพระยานครเข้าตั้งอยู่ในกลางเมืองไทรบุรี แล้วกวาดต้อนเอาครอบครัวราษฎรเมืองไทรส่งเข้าไปถวายณกรุงเทพ ฯ หลายร้อยครัว แล้วเจ้าพระยานครมีใบบอกเข้าไปกราบบังคมทูลพระกรุณาขอรับพระราชทานให้นายแสงบุตรเจ้าพระยานคร เปนพระยาไทรบุรีด้วยทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้มีท้องตราออกมาตั้งนายแสงบุตรเจ้า พระยานคร ให้เปนตำแหน่งที่พระยาอภัยธิเบศร์ มหาประเทศราชธิบดินทร์ อินทรไอสวรรย์ ขัณฑเสมา มาตยานุชิต สิทธิสงครามรามภักดี พิริยพาห พระยาไทรบุรี
ครั้น ณ ปีกุญ นพศก ศักราช ๑๑๘๙ อ้ายอนุเวียงจันทร์เปนขบถ โปรดเกล้า ฯ มีท้องตราออกมาเกณฑ์กองทัพเมืองนครศรีธรรมราช เมืองสงขลา เมืองพัทลุง พระยาสงขลาเกณฑ์ไพร่ได้ ๑๐๐๐ เศษ รีบยกกองทัพเข้าไปถึงกรุงเทพ ฯ แต่ไม่ทันจะได้เข้ารบกับอ้ายอนุขบถ เพราะการสงบเรียบร้อยแล้ว จึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาสงขลาทำป้อมที่เมือง สมุทปราการ พระยาสงขลาคุมไพร่ ๑๐๐๐ เศษ ทำป้อมอยู่ที่เมืองสมุทปราการปีหนึ่งจึ่งเสร็จราชการ แล้วกราบถวายบังคมลาออกมาเมืองสงขลา
ครั้น ณ ปีชวด สัมฤทธิศก ศักราช ๑๑๙๐ โปรดเกล้า ฯ มีท้องตราออกมาให้พระยาสงขลาต่อเรือศีศะง้าว ๓๐ ลำ พระยาสงขลาให้หลวงสุนทรนุรักษ์ผู้ช่วยราชการคุมไพร่ ๑๐๐๐ คนไปตั้งต่อเรืออยู่ที่เมืองเทพา แลในปีฉลูเอกศกนั้นฝนตกน้อย ราษฎรทำนาไม่ได้รับผล ราษฎรเกิดระส่ำระสายด้วยเข้าแพง พระยาสงขลาจึ่งให้เลิกการต่อเรือเสีย แลในปีขาล โทศก กำลังเข้าแพงอยู่นั้น โปรดเกล้า ฯ ให้หมื่นสมันพันธูรเชิญท้องตราออกมาสักเลขเมืองสงขลา โปรดเกล้า ฯ ให้พระยาสงขลาเปนแม่กองตั้งโรงสักเลขที่ศาลากลาง ภายหลังโปรดเกล้า ฯ ให้ข้าหลวงเสนา ๘ นายแต่ไม่ปรากฏนาม เชิญท้องตราออกมาประเมิลนา แลออกตราแดงให้แก่ราษฎรเปนครั้งแรก ในปีขาลโทศกนี้พระยาสงขลาเกณฑ์ไพร่ ๑๐๐๐ คน ไปต่อเรือที่เมืองเทพาอิก การต่อเรือยังไม่ทันเสร็จ ครั้น ณ วันเดือนหก ปีเถาะ ตรีศก ตนกูเดนบุตรเจ้าพระยาไทร ซึ่งยกอพยพครอบครัวหนีไปอยู่เมืองเกาะหมาก คิดอ่านซ่องสุมผู้คนบ่าวไพร่ได้มากแล้วยกเข้าตีชิงเอาเมืองไทรบุรีคืนได้ แล้วรวบรวมคบคิดกับพระยาตานี พระยายิริง พระยายะลา ยกกองทัพมาตีเมืองสงขลา ตั้งค่ายอยู่ที่เขาลูกช้างแลบางกระดาน กองทัพเมืองสงขลาออกต่อสู้ต้านทานไว้เปนสามารถ ครั้น ณ วันเดือนห้า ขึ้นค่ำหนึ่ง ศักราช ๑๑๙๔ ปีมโรง จัตวาศก โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาพระคลังที่สมุหพระกลาโหมเปนแม่ทัพ ยกกองทัพเรือออกมาถึงเมืองสงขลา ตั้งค่ายมั่นอยู่ที่ตำบลบ้านบ่อพลับ พระยาตานี พระยายะลา พระยายิริง เห็นว่ากองทัพหลวงยกออกมาถึงเมืองสงขลา ก็พาอพยพครอบครัวหนีไปเมืองกลันตัน แต่พระยารามันห์ พระยาหนองจิก ยกครอบครัวหนีไปทางบก ไปอยู่ที่ตำบลบ้านนาที่บาโรมแขวงเมืองแประ เจ้าพระยาพระคลังแม่ทัพใหญ่มีบัญชาสั่งให้พระยาสงขลายกกองทัพออกไปตีเมืองตานี เมืองหนองจิก แลให้พระสุนทรนุรักษ์ ผู้ช่วยราชการคุมไพร่ตามออกไปรวบรวมเสบียงอาหารไว้ที่เมืองตานี แล้วเจ้าพระยาพระคลังกับพระยานครศรีธรรมราชยกกองทัพหลวงออกไปตั้งอยู่ที่เมืองตานี โปรดให้หลวงสุนทรนุรักษ์ ผู้ช่วยราชการคุมไพร่ ๓๐๐๐ คนตามไปจับตัวพระยารามันห์ หลวงสุนทรนุรักษ์ คุมไพร่ตามไปจับตัวพระยารามันห์ได้ที่บ้านนาตำบลบาโรมแขวงเมืองแประได้สิ้นทั้งครอบครัว แต่พระยาหนองจิกออก ต่อสู้กับพวกทหารไทยตายเสียในที่รบ จับได้แต่บุตรภรรยาสมัคพรรคพวก แล้วตัดเอาศีศะพระยาหนองจิกมาส่งเจ้าพระยาพระคลังแม่ทัพใหญ่ที่เมืองตานี เจ้าพระยาพระคลังแม่ทัพใหญ่ให้จำตัวพระยารามันห์เข้าไป ณ กรุงเทพ ฯ แต่บุตรภรรยาสมัคพรรคพวกพระยารามันห์นั้นให้กลับไปอยู่เมืองรามันห์ตามเดิม แต่สมัคพรรคพวกแลบุตรภรรยาครอบครัวพระยาหนองจิก พระยาตานีนั้น ให้ส่งเข้าไป ณ กรุงเทพ ฯ ทั้งสิ้น จัดราชการเมืองตานี เมืองหนองจิก เมืองยะลา เมืองรามันห์ เปนปรกติเรียบร้อยแล้ว เจ้าพระยาพระคลังแม่ทัพใหญ่ยกกองทัพกลับเข้ามาพักอยู่ที่เมืองสงขลา แลได้สถาปนาพระเจดีย์ไว้บนยอดเขาเมืองแห่งหนึ่งเสร็จแล้ว จึ่งยกกองทัพกลับเข้าไป ณกรุงเทพ ฯ
ในปีเถาะ นพศก ฝนตกน้ำท่วมจนท้องนาของราษฎรทำนามิได้ผลรับประทานเลย ราษฎรได้ความเดือดร้อนในการที่ไม่มีอาหารรับประทานถึงแก่ล้มตายกลางถนน ที่ยกอพยพครอบครัวไปอยู่บ้านเมืองอื่นเสียโดยมาก เวลานั้นเข้าสารราคาเกวียนละ ๕๐๐ เหรียญก็ยังไม่มีที่จะซื้อ พระยาสงขลารีบเข้าไปกรุงเทพ ฯ นำความที่ราษฎรได้รับความเดือดร้อนไม่มีอาหารรับประทาน ขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๓ ทรงทราบฝ่าลอองธุลีพระบาทแล้ว ขอรับพระราชทานซื้อเข้าสารออกมาเจือจานราษฎรในเมืองสงขลา ๑๐๐๐ เกวียน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานยกภาษีเข้าสาร ให้แก่พระยาสงขลา ๆ กราบถวายบังคมลาออกมาถึงเมืองสงขลาในเดือนยี่ปีมโรงจัตวาศก
ครั้น ณ ปีมเสง เบญจศก ศักราช ๑๑๙๕ พระยาสงขลาให้หลวงสุนทรนุรักษ์ผู้ช่วยราชการ คุมต้นไม้ทองเงินเครื่องราชบรรณาการแลเงินส่วยต่าง ๆ เข้าไปทูลกล้า ฯ ถวาย พณหัวเจ้าท่านสมุหพระกลาโหม เจ้าพระยาพระคลังแม่ทัพใหญ่ นำหลวงสุนทรนุรักษ์เข้าเฝ้าทูลเกล้า ฯ ถวายต้นไม้ทองเงิน แล้วกราบบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า หลวงสุนทรนุรักษ์ ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลามีความชอบมาก ด้วยได้ยกทัพติดตามจับตัวพระยารามันห์ แลครอบครัวพระยาหนองจิกได้ในแขวงเมืองแประ จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้หลวงสุนทรนุรักษ์ เปนพระสุนทรนุรักษ์ ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา พระสุนทรนุรักษ์กราบถวายบังคมลากลับออกมาเมืองสงขลา
ครั้น ณ ปีวอก อัฐศก ศักราช ๑๑๙๘ โปรดเกล้า ฯ มีท้องตรา ออกมาให้พระยาสงขลาก่อป้อมกำแพงเมืองสงขลา โปรดเกล้า ฯ พระราชทานยกเงินภาษีอากรเมืองสงขลาให้ ๑๐๐ ชั่ง พระยาสงขลาก็กะเกณฑ์ไพร่ลงมือก่อป้อมแลกำแพงเมืองยังไม่ทันเสร็จ ในปีนั้นพระยาสงขลาพาพระยาตานี พระยายิริง พระยาสายบุรี พระยายะลา พระยาระแงะ พระยารามันห์ เข้าไปเฝ้าในงานถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระพันปีหลวง เจ้าพระยานครศรีธรรมราชก็เข้าไปเฝ้าพร้อมกัน
ในศักราช ๑๒๐๐ ปีนั้น ตนกูหมัดสะวะหลานเจ้าพระยาไทรบุรี ซึ่งหนีไปอยู่เมืองเกาะหมากแต่ครั้งก่อน ซ่องสุมสมัคพรรคพวกได้แล้วยกเข้ามาตีชิงเอาเมืองไทรบุรีได้อิก พระยาอภัยธิเบศร์ พระยาไทรบุรี บุตรเจ้าพระยานครทานกำลังตนกูหมัดสะวะไม่ได้ ก็ยกครอบครัวล่าถอยเข้ามาตั้งอยู่ที่ตำบลท่าหาดใหญ่แขวงเมืองสงขลา พระสุนทรนุรักษ์ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลาแต่งให้ขุนต่างตาคุมไพร่ ๕๐๐ คน ไปตั้งค่ายมั่นรักษาอยู่ที่พะตงที่การำริมเขตรแดนเมืองไทรบุรี แล้วรีบแต่งให้เรือศีศะฉลอมถือใบบอกเข้าไปกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า ตนกูหมัดสะวะหลานเจ้าพระยาไทรบุรี ซึ่งหนีออกไปอยู่เมืองเกาะหมากแต่ก่อน คิดขบถยกกองทัพมาตีชิงเอาเมืองไทรบุรีคืนได้ พระยาอภัยธิเบศร์ พระยาไทรบุรี ล่าทัพถอยมาตั้งมั่นอยู่ที่ตำบลท่าหาดใหญ่แขวงเมืองสงขลา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบประพฤดิเหตุแล้ว โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยานคร กับพระยาสงขลารีบกลับออกมาเมืองสงขลา แล้วให้เกณฑ์กองทัพออกไปปราบข้าศึกให้จงได้ พระยาสงขลากราบถวายบังคมลากลับออกมาถึงเมืองสงขลาในเดือนสิบสอง ไม่ปรากฏว่าขึ้นแรมกี่ค่ำ พระยาสงขลาเกณฑ์ไพร่ได้เสร็จแล้วรีบยกขึ้นไปตั้งอยู่ที่ท่าหาดใหญ่ ให้พระสุนทรนุรักษ์อยู่รักษาเมือง แล้วพระยาสงขลามีหนังสือให้กรมการถือออกไปเมืองแขกทั้ง ๗ เมืองให้ยกกองทัพมาช่วยระดมรบเมืองไทรบุรี พระยาตานี (ทองอยู่) พระยายิริง (พ่าย) พระยาสาย (ระดะ) พระจะนะ (บัวแก้ว) ยกกองทัพไปรวมกันกับทัพพระยาสงขลา ๆ แต่งให้พระยายิริง พระยาตานี พระยาสาย พระจะนะ หลวงนา หลวงพล ขุนต่างตา คุมไพร่ ๑๐๐๐ คนขึ้นไปรบกับตนกูหมัดสะวะที่ค่ายทุ่งโพในแขวงเมืองไทรบุรี ตนกูหมัดสะวะมีกำลังมากแต่งกองทัพตัดหลังเข้ามาทางสบ้าเพน เผาเรือนราษฎรในแขวงเมืองจะนะจนกระทั่งถึงบ้านพระจะนะ พวกแขกในเมืองจะนะก็กลับเข้าสมัคอยู่ด้วยตนกูหมัดสะวะทั้งสิ้น พวกไทยในเมืองจะนะมีน้อยก็พาครอบครัวหนีเข้ามาอยู่ในแขวงเมืองสงขลาทั้งสิ้น พวกแขกในแขวงเทพา เมืองหนองจิก เมืองตานี เมืองยิริง ก็กลับกำเริบขึ้น พระยาสงขลาจึ่งจัดให้พระยาตานี พระยายิริง พระยาสาย พระจะนะ คุมไพร่ ๑๐๐๐ คนไปตั้งรักษาทางตำบลบ้านพะตง บ้านการำไว้ ให้หลวงพลสงคราม หลวงไชยสุรินทร์คุมไพร่ ๕๐๐ คนรีบยกไปตั้งรักษาทางเมืองจะนะไว้ แลให้หลวงบริรักษ์ภูเบศร์ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา เปนกองส่งเสบียงอาหารอยู่ที่ตำบลท่าหาดใหญ่ แล้วพระยาสงขลารีบกลับลงมาจัดการในกลางเมืองสงขลา แต่งให้หลวงยกรบัตรคุมไพร่ ๓๐๐ คนไปตั้งค่ายมั่นอยู่ที่ตำบลปลักแรดในระหว่างเขาสำโรงแลเขาลูกช้าง ซึ่งเดี๋ยวนี้เรียกว่า ทเววิเชียรรัถยา นั้นค่ายหนึ่ง แลที่ตำบลวัดเกาะถ้ำค่ายหนึ่ง ที่ตำบลเขาเก้าเส่งริมทเลค่ายหนึ่งเสร็จแล้ว พอพวกแขกขบถเมืองไทรยกเข้ามาตีตำบลที่พะตงที่การำแตก พระยาตานี พระยายิริง พระยาสาย ล่าทัพเข้ามาตั้งมั่นอยู่ที่ตำบลบ้านน้ำกระจาย กองทัพเมืองไทรบุรีรุกตามเข้ามาทันกองพระยาสายที่ทุ่งนา น่าบ้านน้ำกระจาย ได้รบพุ่งกันถึงตลุมบอน พวกแขกเมืองไทรบุรีเสียทีล่าถอยไป กองทัพพระยาสายตั้งค่ายมั่นลงได้ที่ริมเขาลูกช้าง พระยาตานีตั้งค่ายมั่นลงที่เขาเก้าเส่ง แต่กองทัพหลวงไชยสุรินทร์ หลวงพลสงคราม ทานกำลังแขกเมืองไทรบุรีไม่ได้ ก็ถอยทัพลงมาตั้งมั่นอยู่ที่ตำบลปลักแรดพร้อมกันกับกองทัพเมืองสงขลา พวกแขกเมืองไทร เมืองจะนะ ยกตามมาตั้งค่ายลงที่น่าค่ายปลักแรด พวกแขกขบถยังตั้งค่ายไม่ทันเสร็จ พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) ยกกองทัพพวกจีนสี่กองพร้อมกับกองทัพหลวงพลสงคราม หลวงไชยสุรินทร์ เข้าระดมตีค่ายพวกแขกเปนสามารถถึงตลุมบอน พวกแขกขบถทานกำลังไม่ได้ก็ล่าถอยหนีไป พวกจีนตัดศีศะพวกแขกขบถมาได้หลายสิบศีศะ พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) รางวัลให้พวกจีนที่ตัดศีศะแขกขบถมาได้ ศีศะละ ๕๐ เหรียญ แล้วพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ให้ตั้งค่ายมั่นลงไว้ที่ตำบลปลักแรด รีบมีใบบอกให้หลวงพัฒนสมบัติ (ก้งโป้ย) ถือเข้าไป ณ กรุงเทพ ฯ ด้วยเรือศีศะฉลอม ในใบบอกมีความว่า แขกเมืองจะนะ เมืองเทพา เมืองหนองจิก คิดขบถสมทบกับแขกเมืองไทรบุรียกกองทัพเข้าตีเมืองสงขลา พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ได้เกณฑ์กองทัพจีนแลไทยออกไปต่อสู้กับพวกแขกขบถที่ตำบลปลักแรด ในระหว่างเขาสำโรงแลเขาลูกช้าง ใกล้กับเมืองสงขลาระยะทางประมาณ ๙๐ เส้น กองทัพเมืองสงขลารบประทะตั้งมั่นกันอยู่ ราษฎรเมืองสงขลาก็มีน้อยตัว พวกแขกขบถมีกำลังมาก ขอรับพระราชทานกองทัพหลวงออกไปช่วย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบประพฤติเหตุแล้ว โปรดเกล้า ฯ ให้พระยาวิชิตณรงค์กับพระราชวรินทร์กรมพระตำรวจ คุมไพร่ ๕๐๐ คนเปนกองทัพน่ารีบยกออกมาก่อน ให้พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา จางวางพระคลังสินค้า เปนแม่ทัพใหญ่ กับเจ้า พระยายมราช พระยาเพ็ชรบุรี คุมไพร่ ๓๐๐๐ คนยกตามออกมากองทัพพระยาวิชิตณรงค์ พระราชวรินทร์ ยกออกมาถึงเกาะหนูน่าเมืองสงขลา ยังไม่ทันยกกองทัพขึ้นบนบก พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) เห็นกองทัพหลวงยกออกมาถึงเกาะหนูแล้ว จึ่งให้พวกทหารในค่ายปลักแรดยกปืนจ่ารงขึ้นตั้งบนค่ายเขาเกาะถ้ำ แล้วให้บวงสรวงกระทำสักการบูชาโดยพิศดารหลายอย่าง และกระทำพิณพาทย์ย่ำฆ้องไชยตั้งโห่ ๓ ลาเสร็จแล้ว จึ่งให้ยิงปืนจ่ารงตรงเข้าไปในค่ายแขกขบถ เดชะพระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเปนมหามหัศจรรย์ กระสุนปืนจ่ารงที่บรรจุสองสัดสองนัดไปตกลงในกลางค่ายพวกแขกขบถ แขกขบถก็แตกทัพหนีกลับไปในเวลาพลบค่ำวันนั้น ปืนจ่ารงกระบอกนั้นก็ร้าวแตกมาจนทุกวันนี้ แลปืนจ่ารงนั้นเปนปืนเหล็กรางเกวียนยาว ๕ ศอก กระสุน ๔ นิ้ว ครั้นพวกแขกขบถแตกไปแล้ว พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) กับพระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) ก็ลงไปรับพระยาวิชิตณรงค์ พระราชวรินทร์ขึ้นจากเรือรบมาพักอยู่ที่จวนพระยาสงขลา พระยาวิชิตณรงค์ พระราชวรินทร์ จึ่งปฤกษากับพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ว่า พวกแขกขบถก็แตกไปหมดแล้ว ตัวพระยาตานี พระยายิริง พระยาสาย ก็ยังติดอยู่ที่เมืองสงขลา ในแขวงเมืองตาควรให้ พระยายิริง พระยาตานี พระยาสาย รีบล่วงน่าไปรักษาราชการเมืองเสียก่อนจึ่งจะชอบ ปฤกษาเห็นพร้อมกันแล้ว จึ่งให้พระยาตานี พระยายิริง พระยาสาย รีบพาพวกแขกลงไปรักษาราชการเมืองตานี เมืองยิริง เมืองสายเสียก่อน อยู่สองวันสามวัน พระยาวิชิตณรงค์ พระราชวรินทร์ กับพระยาสงขลาก็ยกกองทัพบกทัพเรือตามออกไปเมืองตานี ให้พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) อยู่รักษาราชการเมืองสงขลา ส่วนกองทัพบุตรเจ้าพระยานครยกเข้าไปตั้งอยู่ในเมืองไทรบุรีได้ แขกเมืองไทรบุรีซึ่งขบถก็ยกหนีลงเรือไปอยู่เมืองเกาะหมาก พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) พระยาวิชิตณรงค์ พระราชวรินทร์ จัดราชการอยู่เมืองตานีเดือนเศษ ต่อกองทัพ พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา เจ้าพระยายมราช พระยาเพ็ชรบุรี ออกมาถึงเมืองสงขลา ณ เดือนหก ขึ้นแปดค่ำ ปีกุญ เอกศก ศักราช ๑๒๐๑ ยกกองทัพขึ้นตั้งค่ายอยู่ที่ตำบลบ้านบ่อพลับ พระยาศรีพิพัฒน์แม่ทัพ มีหนังสือออกไปหาตัวพระยาไทรบุรีบุตรเจ้าพระยานคร กับพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ซึ่งตั้งรักษาราชการอยู่ที่เมืองตานีให้รีบเข้าไปเมืองสงขลา พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ได้ทราบความตามหนังสือแม่ทัพแล้ว จึ่งจัดแจงให้พระยาวิชิตณรงค์ กับนายเม่นมหาดเล็กบุตรพระยาสงขลา (เถี้ยนจ๋ง) อยู่รักษาราชการเมืองตานี พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) กับพระราชวรินทร์ก็รีบกลับเข้ามาเมืองสงขลา พระยาไทรบุรีบุตรเจ้าพระยานคร ก็ยกเข้ามาเมืองสงขลาพร้อมกัน พระยาไทรบุตรเจ้าพระยานคร ตั้งค่ายพักอยู่ที่ตำบลท่าว้าน ในขณะนั้นพระยากลันตัน กับพระยาจางวาง ชื่อตนกูปะสา วิวาทกันขึ้น พระยากลันตันมีหนังสือบอกเข้ามาให้นำกราบเรียนพระยาศรีพิพัฒน์แม่ทัพ แลขอให้ยกทัพไทยลงไประงับเหตุที่วิวาท พระยาศรีพิพัฒน์แม่ทัพ จึ่งแต่งให้หลวงศรเสนีปลัดกรมอาสาจามรีบลงไปห้ามปรามพระยากลันตันกับพระยาจางวาง หลวงศรเสนีลงไปถึงเมืองกลันตันได้ห้ามปรามทั้งสองฝ่ายก็หาฟังไม่ หลวงศรเสนีบอกหนังสือกราบเรียนมายังพระยาศรีพิพัฒน์แม่ทัพ ๆ จึ่งจัดให้พระยาราช บุรี พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) คุมไพร่ ๒๐๐๐ คนเศษ รีบยกไปตั้งค่ายมั่นอยู่ที่ตำบลยากังแขวงเมืองสายบุรี ริมเขตรแดนเมือง กลันตัน แล้วมีหนังสือให้หลวงโกชาอิศหากล่ามรีบถือหนังสือลงไปหาตัวพระยากลันตันกับตนกูปะสาให้รีบเข้ามาเมืองสงขลา หลวงโกชาอิศหากล่ามถือหนังสือลงไปเมืองกลันตัน แลพาตัวพระยา กลันตันกับตนกูปะสาเข้ามาเมืองสงขลาได้ พระยาศรีพิพัฒน์แม่ทัพว่ากล่าวระงับการวิวาท ให้พระยากลันตันกับตนกูปะสาเลิกการวิวาทโดยเรียบร้อยแล้ว พระยากลันตันกับตนกูปะสาก็ลาพระยาศรีพิพัฒน์แม่ทัพกลับออกไปรักษาราชการเมืองกลันตันตามเดิม ส่วนเมืองไทรบุรี พระยาศรีพิพัฒน์แม่ทัพให้พระยาไทรบุรีบุตรเจ้าพระยานคร กลับไปรักษาราชการอยู่ตามเดิม ให้ตนกูเดหลาเปนผู้ว่าราชการเมืองสตูล แต่ให้ขึ้นอยู่กับเมืองสงขลา ให้พระปลัดเมืองพัทลุงไปว่าราชการเมืองพัทลุง แลยกที่พะโคะแขวงเมืองพัทลุงให้เปนแขวงเมืองสงขลา พระยาศรีพิพัฒน์แม่ทัพจัดราชการสงบเรียบร้อยแล้ว จึ่งมีหนังสือออกไปหาพระยาเพ็ชรบุรี พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) ซึ่งรักษาราชการอยู่ที่เมืองสายให้กลับเข้ามาเมืองสงขลา พระยาศรีพิพัฒน์แม่ทัพจัดราชการอยู่ที่เมืองสงขลาสองปี แลได้สถาปนาพระเจดีย์ไว้บนเขาเมืองสงขลาองค์หนึ่งเสร็จแล้ว จึ่งได้ยกกองทัพกลับเข้าไป ณ กรุงเทพ ฯ นำข้อราชการขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า เมืองไทรบุรีนั้นครั้นจะให้คนไทยเปนผู้ว่าราชการเมืองสืบต่อไปคงจะไม่เปนการเรียบร้อย ควรแบ่งเมืองไทรบุรีออกเปนสามเมืองเหมือนอย่างเมืองตานี จึ่งจะเปนปรกติเรียบร้อยได้ ขอรับพระราชทานให้ยมตวันซึ่งเปนพระยาไทรบุรีมาแต่ก่อน เปนพระยาไทรบุรีสืบต่อไป ให้ตนกูอานมเปนพระยาบังปะสู ให้ตนกูเสศอะเส็มเปนพระยาปิด ให้ตนกูเดหวาเปนพระยาสตูล แต่ให้ขึ้นอยู่กับเมืองสงขลา ให้พระปลัดเมืองพัทลุงเปนพระยาพัทลุง ส่วนพระยาพัทลุงบุตรเจ้าพระยานครนั้น ควรพาตัวเข้ามาทำราชการเสียในกรุงเทพ ฯ แต่เมืองพังงานั้นเจ้าเมืองถึงแก่กรรม ขอรับพระราชทานให้พระยาไทรบุรีบุตรเจ้าพระยานคร ไปเปนที่ พระยาบริรักษ์ภูธร พระยาพังงา ให้พระนุชิตเปนที่พระยาตะกั่วป่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้มีตราตั้งเจ้าเมืองแลผู้ว่าราชการเมืองออกมาตามความเห็นพระยาศรีพิพัฒน์แม่ทัพราชการบ้านเมืองก็เปน ปรกติไม่มีขบถสืบต่อมาจนทุกวันนี้
ครั้งนั้นพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ให้พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) คุมต้นไม้ทองเงินเครื่องราชบรรณาการเข้าไปทูลเกล้า ฯ ถวาย เสร็จราชการแล้วก็กลับออกมาเมืองสงขลา ๆ เปนปรกติ ไม่มีการทัพศึกอยู่ ๓ ปี
ครั้นปีฉลู ตรีศก โปรดเกล้า ฯ มีท้องตราออกมาเมืองสงขลาว่า พระยากลันตันกับพระยาจางวาง ตนกูปะสา พี่น้องวิวาทกันขึ้นอิก ให้พระเสน่หามนตรีบุตรเจ้าพระยานครศรีธรรมราช กับพระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา กับพระยาท้ายน้ำข้าหลวง รีบลงไประงับว่ากล่าวอย่าให้พระยากลันตันกับตนกูปะสาอริวิวาทแก่กัน ถ้าเห็นว่าจะระงับการวิวาทไม่ได้แล้ว ให้พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) พาตัวตนกูปะสามาไว้เสียที่เมืองแจก ๗ เมือง ซึ่งขึ้นกับเมืองสงขลา ให้พระเสน่หามนตรีพาตัวพระยาจางวางไปไว้ที่เมืองนครเสีย พระยาท้ายน้ำ พระเสน่หามนตรี พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) ยกกองทัพมาประชุมอยู่พร้อมกันที่เมืองสงขลา แล้วยกกองทัพเลยลงไปเมืองกลันตัน พระยาท้ายน้ำ พระเสน่หามนตรี พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) ได้ว่ากล่าวกับพระยากลันตัน พระยาจางวาง ให้เลิกการวิวาทซึ่งกันแลกัน พระยากลันตันกับพระยาจางวางก็หาฟังคำห้ามปรามไม่ พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) จึ่งได้พูดจาเกลี้ยกล่อมพาตัวตนกูปะสา กับสมัคพรรคพวกบุตรภรรยาเข้ามาไว้ที่เมืองตานี พระเสน่หามนตรีก็พาตัวพระยาจางวางกับบุตรภรรยาข้าทาษสมัคพรรคพวกไปไว้ที่เมืองนคร พระยาท้ายน้ำก็กลับเข้าไป ณ กรุงเทพ ฯ พระเสน่หามนตรีก็กลับไปเมืองนคร พระสุนทรนุรักษ์ก็กลับเข้ามาเมืองสงขลา เมืองกลันตันก็เปนปรกติเรียบร้อยมาจนทุกวันนี้
ครั้น ณ ปีขาล จัตวาศก ศักราช ๑๒๐๔ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดการฝังหลักไชยเมืองสงขลา พระราชทานไม้ไชยฤกษ์หลักไชยต้นหนึ่ง กับเทียนไชยหนึ่งเล่ม พร้อมด้วยเครื่องไทยทานต่าง ๆ แลโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระอุดมปิฎกเปนประธานสงฆ์ถานานุกรมเปรียญ ๘ รูปออกมาเปนประธาน กับพระราชครูอัษฎาจารย์พราหมณ์ กับพราหมณ์แปดนายออกมาเปนประธานในการฝังหลักไชย พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ได้กะเกณฑ์กรมการแลไพร่จัดการทำเปนโรงพิธีใหญ่ขึ้นในกลางเมือง คือที่น่าศาลเจ้าหลักเมืองเดี๋ยวนี้ แลตั้งโรงพิธีสี่ทิศ คือที่ป้อมเสร็จแล้ว ครั้นเดือนสี่ขึ้น ๗ ค่ำ ปีขาล จัตวาศก พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ให้จัดการตั้งกระบวนแห่หลักไม้ไชยพฤษ์กับเทียนไชยเปนการใหญ่ คือจัดกระบวนแห่ทั้งพวกจีนแลพวกไทยเปนที่ครึกครื้นเอิกเกริกมาก ตั้งกระบวนแห่หลักไม้ไชยพฤกษ์กับเทียนไชยไปเข้าโรงพิธี แล้วพระสงฆ์ราชาคณะถานานุกรมเจริญพระปริต พระครูพราหมณ์ก็สวดตามไสยเวท ครั้น ณ วันเดือนสี่ขึ้นสิบค่ำเวลาเช้าโมงหนึ่งกับสิบนาทีได้อุดมฤกษ์ พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) กับพระครูอัษฎาจารย์พราหมณ์เชิญหลักไม้ไชยพฤกษ์ลงฝังไว้ที่กลางเมืองสงขลา มีปรากฎอยู่จนทุกวันนี้ แล้วพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ได้จัดการสมโภชหลักเมืองเปนการเอิกเกริกอิก ๕ วัน ๕ คืน คือลครหรือโขนร้อง ๑ โรง หุ่น ๑ โรง งิ้ว ๑ โรง ลครชาตรี ๔ โรง แลพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ได้ถวายอาหารบิณฑบาตแก่พระสงฆ์ ๒๒ รูป กับเครื่องบริขารภัณฑ์ต่าง ๆ แก่พระราชาคณะถานานุกรมเปรียญ แลพระครูอัษฎาจารย์พราหมณ์เปนอันมากเสร็จแล้ว ครั้นเสร็จการฝังหลักเมือง พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) จัดเรือสำเภาลำหนึ่งส่งพระราชาคณะกับพระครูอัษฎาจารย์พราหมณ์เข้าไป ณ กรุงเทพ ฯ แล้วพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ได้ให้ช่างก่อตึกคร่อมหลักเมืองไว้สามหลักเปนตึกจีน กับศาลเจ้าเสื้อเมืองไว้หลังหนึ่งด้วย
ครั้นปีมโรง ฉศก ศักราช ๑๒๐๖ ถึงกำหนดงวดส่งต้นไม้ทองเงิน เมืองสตูลหาส่งต้นไม้ทองเงินมาไม่ พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ต้องทำต้นไม้ทองเงินแทนเมืองสตูล แล้วแต่งให้ตนกูเดหวานำต้นไม้ทองเงินเครื่องราชบรรณาการเข้าไปทูลเกล้า ฯ ถวาย โปรดเกล้า ฯ ให้ตนกูเดหวาเปนพระยาสตูล พระยาสตูล (เดหวา) กราบถวายบังคมลากลับออกมาเมืองสตูล ในปีนั้นพระยาสตูลกับพระยาปลิดวิวาทกันด้วยเรื่องเขตรแดน จึ่งโปรดเกล้า ฯ มีตราออกมาให้เมืองนครกับเมืองสงขลา พร้อมกันออกไปชำระสะสางให้เปนที่ตกลงเรียบร้อยแก่กัน แล้วให้ปักหลักแดนไว้ให้มั่นคง อย่าให้เกิดวิวาทกันต่อไป ครั้งนั้นพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) จึ่งได้มีใบบอกเข้าไปกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอยกเมืองสตูลให้ขึ้นอยู่กับเมืองนคร เหตุด้วยเมืองสงขลาบังคับบัญชาเมืองแขก ๗ เมืองโดยเต็มกำลังแล้ว จึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้เมืองสตูลขึ้นอยู่กับเมืองนครตั้งแต่นั้นมา
ครั้น ณ ปีมเมีย อัฐศก พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ป่วยโรคชราจึ่งได้มีบอกเข้าไปกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าลอองธุลีพระบาทแล้ว โปรดเกล้า ฯ พระราชทานให้ขุนภักดีโอสถหมอยา พันเมือง หมอนวด ออกมาพยาบาล อาการทรงบ้างทรุดลงบ้าง แลอาการป่วยให้เคลิบเคลิ้มสติเปนโบราณชวน ครั้น ณ วันอังคาร เดือนสี่ ขึ้นสิบค่ำ ปีมแม นพศก ศักราช ๑๒๐๙ เวลา ๓ โมงเช้า พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ถึงอนิจกรรม พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) หลวงวิเศษภักดี (นาก) หลวงบริรักษ์ภูเบศร์ (แสง) แลญาติพี่น้องพร้อมกัน ได้จัดแจงศพตั้งไว้ณหอนั่งเสร็จแล้ว พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) หลวงวิเศษภักดี (นาก) หลวงบริรักษ์ภูเบศร์ (แสง) แต่งให้หลวงไชยสุรินทร์กรมการถือใบบอกกับเงิน ๑๐๐๐๐ เหรียญ เข้าไปทูลเกล้า ฯ ถวาย เงิน ๑๐๐๐๐ เหรียญนั้น คือเปนพัทยาตามกฎหมายเดิม ภายหลังพระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) รีบตามเข้าไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) เปนผู้รักษาว่าราชการเมืองสงขลา แลโปรดเกล้า ฯ ให้รีบกลับออกมาจัดการศพพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) กับพระราชทานศิลาน่าเพลิงแลผ้าไตร ๓๐ ไตร พร้อมด้วยเครื่องไทยทานต่าง ๆ กับโปรดเกล้า ฯ พระราชทานหมื่นตะมังนายช่างทหารในออกมาเปนช่างทำศพคนหนึ่ง พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) กราบถวายบังคมลากลับออกมาถึงเมืองสงขลา ได้จัดแจงทำการศพยังไม่ทันจะเสร็จ
ในปีนั้นโปรดเกล้าฯ ให้พระยาวิชิตณรงค์เปนแม่กองออกมาสักเลข ตั้งทำเนียบโรงสักอยู่ที่ตำบลบ้านบ่อพลับ ได้ลงมือสักเลขอยู่หลายเดือน
ครั้น ณ วันเดือนเจ็ด ปีรกา เอกศก ศักราช ๑๒๑๑ พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ (แสง) หลวงวิเศษภักดี (นาก) พร้อมด้วยญาติพี่น้องได้จัดแจงเผาศพพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ที่ทุ่งนอกกำแพงเมืองสงขลา ซึ่งเรียกกันว่าทุ่งเมรุตลอดมาจนทุกวันนี้ แล้วได้เชิญอัฐิไปฝังไว้ที่ริมเขาแหลมสนทำ เปนฮ่องสุยตามธรรมเนียมจีนเสร็จแล้วอยู่ ๒ วัน พณหัวเจ้าท่านที่สมุหพระกลาโหมออกมาถึงเมืองสงขลา ขึ้นพักอยู่ที่ทำเนียบตำบลบ้านบ่อพลับ ตรวจการสักเลขอยู่สามเดือน เสร็จการสักเลขแล้ว พณหัวเจ้าท่านที่สมุหพระกลาโหมกับพระยาวิชิตณรงค์ก็กลับเข้าไปณกรุงเทพ ฯ
ประวัติพระยาวิเชียรคิรี (เถี้ยนเส้ง)
พระยาวิเชียรคิรี (เถี้ยนเส้ง) เปนบุตรที่ ๒ ของพระอนันตสมบัติ (บุญเฮี้ยว) เปนน้องร่วมมารดากับพระยาวิเศษภักดีศรีสุรสงครามพระยาสงขลา (เถี้ยนจ๋ง) เดิมเมื่อพระยาวิเศษภักดี พระยาสงขลา (เถี้ยนจ๋ง) เปนผู้ว่าราชการเมืองสงขลา โปรดเกล้า ฯ ให้พระยาวิเชียรคิรี (เถี้ยนเส้ง) เปนหลวงสุนทรนุรักษ์ผู้ช่วยราชการ ภายหลังโปรดเกล้า ฯ ให้เปนพระสุนทรนุรักษ์ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เปนพระยาวิเชียรคิรีศรีสมุทสงคราม ผู้ว่าราชการเมืองสงขลา พระยาวิเชียรคิรี (เถี้ยนเส้ง) มีบุตรกับท่านผู้หญิงทองสุก คือ ท่านผู้หญิงที่ ๑ แล้วมีบุตรกับท่านผู้หญิงแก้วชาวเมืองพัทลุงซึ่งนับเปนท่านผู้หญิงที่ ๒ บุตรที่ ๑ ชื่อลูกจันทน์ บุตรที่ ๒ ชื่อลูกอิน เปนผู้หญิงทั้ง ๒ คน ลูกจันทน์ได้ถวายเปนเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ลูกอินนั้นเปนท่านผู้หญิงที่ ๓ ของเจ้าพระยาวิเชียรคิรี (เม่น) แต่ไม่มีบุตร พระยาวิเชียรคิรี (เถี้ยนเส้ง) ได้สร้างบ้านเรือนไว้ในกรุงเทพ ฯ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาน่าวัดสามปลื้มตำบลหนึ่ง ปลูกเปนเรือนมุงกระเบื้องพื้นกระดาน ฝากระดาน ๘ หลัง แลมีท่านผู้หญิงชื่อปรางอยู่ในกรุงเทพ ฯ คนหนึ่งนับว่าเปนท่านผู้หญิงที่ ๔ แต่ไม่มีบุตร แลพระยาวิเชียรคิรี (เถี้ยนเส้ง) ได้เปนแม่ทัพต่อสู้กับแขกขบถถึง ๒ ครั้ง แลได้ก่อกำแพงเมืองกับฝังหลักเมืองเสร็จบริบูรณ์ กับได้ก่อตึกจีนทำเปนจวนผู้ว่าราชการเมืองไว้ ๕ หลัง ซึ่งเรียกกันว่าในจวนตลอดมาจนเดี๋ยวนี้ พระยาวิเชียรคิรี (เถี้ยนเส้ง) อัธยาไศรยดุร้าย จนราษฎรร้องเรียกกันว่า เจ้าคุณสงขลาเสือ เหตุด้วยท่านเกณฑ์ราษฎรไปล้อมจับเสือที่ตำบลบ้านศีศะเขา เพราะที่นั้นเปนที่เสือป่าอยู่ชุกชุม วิธีที่ล้อมจับเสือนั้นพิศดารหลายอย่าง คือเกณฑ์ให้ราษฎรทำแผงไม้ไผ่กว้าง ๖ ศอก ยาว ๖ ศอก ๔ เหลี่ยมไว้เสมอทุกกำนัน ๆ ละ ๑๐ แผงบ้าง ๑๒ แผงบ้าง ๑๕ แผงบ้าง เมื่อเสือเข้ามากัดสุกรหรือโคของราษฎรที่ตำบลบ้านศีศะเขาแล้ว พระยาวิเชียรคิรี (เถี้ยนเส้ง) มีคำสั่งเรียกราษฎรแลแผงได้ในทันทีให้มาล้อมจับเสือ ถ้าราษฎรมาไม่พร้อมในระหว่าง ๒๔ ชั่วโมง ก็ต้องรับอาญาเฆี่ยนหลังคนละ ๓๐ ทีแลต้องจำคุกด้วย เมื่อราษฎรพาแผงมาพร้อมแล้วก็ชวนกันเอาแผงล้อมเสือเข้าโดยรอบ ด้านนอกแผงนั้นให้ราษฎรกองเพลิงตีเกราะนั่งยามโดยรอบแผง พระยาวิเชียรคิรี (เถี้ยนเส้ง) ถือปืนคาบศิลาชื่อว่าอีเฟืองไปนอนเฝ้าเสืออยู่พร้อมด้วยราษฎร พระยาวิเชียรคิริ (เถี้ยนเส้ง) มีอาญาสิทธิเต็มอำนาจเหมือนกับอาญาสิทธิแม่ทัพใหญ่ ครั้นเวลาเช้าพระยาวิเชียรคิริ (เถี้ยนเส้ง) จัดให้ราษฎรพวกหนึ่งถือหอกแลง้าวพร้าขวานเข้าไปอยู่ในแผง ราษฎรพวกหนึ่งคอยขยับแผงตาม พวกราษฎรที่เข้าไปอยู่ในแผงก็จัดกันเปนสามชั้น ชั้นที่หนึ่งถือหอกง้าวเดินเข้าไปข้างน่า ชั้นที่สองถือพร้าขวานถางป่า เดินตามเข้าไปข้างหลัง ชั้นที่สามขยับแผงตามหลังเข้าไปให้วงแผงที่ล้อมนั้นเลื่อนน้อยเข้าทุกครั้ง เมื่อถางป่าขยับแผงล้อมรอบวงน้อยเข้าไปทุกวัน ๆ เสือซึ่งอยู่ในที่ล้อมก็กระโดดกัดเอาคนซึ่งอยู่ในแผงสามชั้นวันละ ๒ คน ๓ คน ถึงแก่กรรมบ้าง เจ็บป่วยลำบากบ้าง พระยาวิเชียรคิรี (เถี้ยนเส้ง) ก็ยังรีบเร่งให้ราษฎรล้อมเสืออยู่เสมอ ในเวลานั้นปรากฏว่าเสือกัดราษฎรตายในที่ล้อมเสียหลายสิบคน เมื่อล้อมแผงเข้าไปใกล้ชิดกับตัวเสือแล้ว เสือก็ตกใจกระโดดขึ้นอยู่บนต้นมะปริงใหญ่ริมโบถแขกตำบลบ้านศีศะเขาเดี๋ยวนี้ เพื่อจะกระโดดข้ามแผงหนีออกไป พระยาวิเชียรคิรี (เถี้ยนเส้ง) ยิงเสือด้วยปืนคาบศิลาชื่ออีเฟืองถูกที่ขมองศีศะ เสือพลัดตกลงจากต้นมะปริงตายในทันที พระยาวิเชียรคิรี (เถี้ยนเส้ง) ผู้นี้เปนผู้ชำนาญในการยิงปืน เพราะเปนศิษย์ท่านพระยาอภัยสรเพลิง กรุงเทพ ฯ แลพระยาวิเชียรคิรี (เถี้ยนเส้ง) ผู้นี้อัธยาไศรยชอบเล่น ลครแลศักรวา ทั้งเปนผู้ศรัทธาในพระพุทธสาสนา ได้สร้างพระวินัยไว้ ๖๖ คัมภีร์ พระสูตร ๒๒๙ คัมภีร์ พระอภิธรรม ๙๗ คัมภีร์ แลได้สร้างเรือสำเภาไว้สำหรับค้าขาย ๓ ลำ แลได้จัดราชการบ้านเมืองให้เรียบร้อยลงหลายอย่าง แต่พระยาวิเชียรคิรี (เถี้ยนเส้ง) ผู้นี้เปนผู้ถือธรรมเนียมจีนอย่างกวดขัน แลเปนผู้ชำนาญในภาษาจีนเขียนอ่านหนังสือจีนคิดเลขอย่างจีนได้คล่องแคล่ว ทั้งเปนผู้ที่ดุร้ายมีอำนาจโดยเต็มกำลัง จึ่งได้รักษาราชการเมืองสงขลาไว้ได้โดยเรียบร้อย เพราะเวลานั้นแขกเมืองทั้ง ๗ เมืองก็คิดขบถอยู่เสมอ ราษฎรในพื้นเมืองสงขลาก็เปนพวกบาแบเรียนคิดแต่จะปล้นสดมฉกชิงวิ่งราวอยู่มิได้ขาด แลธรรมเนียมราชการก็ฟั่นเฝือเหลือจะประมาณ เมืองสงขลาเวลานั้นก็แรกจะตั้งขึ้น ราษฎรพลเมืองก็มีตัวอยู่แต่น้อย พวกแขก ๗ เมือง มีกำลังมาก ถึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาวิเศษภักดี พระยาสงขลา (เถี้ยนจ๋ง) แบ่งเมืองตานีออกเปน ๗ เมืองเสียแล้วก็จริง เมืองสงขลาอำนาจยังไม่พอที่จะปกครอง เพราะเหตุนี้พระยาวิเชียรคิรี (เถี้ยนเส้ง) จึ่งได้กระทำอำนาจโดยแขงแรง ถึงแก่บังคับให้ราษฎรจับเสือป่าได้คล้าย ๆ กับจับวิลาหรือกระจง ราษฎรในเมืองสงขลาเวลานั้นกลัวอำนาจพระยาวิเชียรคิรี (เถี้ยนเส้ง) ยิ่งกว่ากลัวอำนาจเสือป่า ความพิศดารในการเรื่องนี้ยังมีวิถารมาก ข้าพเจ้าผู้เรียงหนังสือฉบับนี้ไม่สามารถที่จะกล่าวให้เกินไป แลพระยาวิเชียรคิรี (เถี้ยนเส้ง) ผู้นี้ถือลัทธิธรรมเนียมจีนโดยกวดขัน ในวงษ์ญาติซึ่งเนื่องว่าเปนพวกแซ่เง่าด้วยกันแล้วห้ามไม่ให้ร่วมประเวณีต่อกัน ด้วยธรรมเนียมจีนถือกันอย่างนี้
พระยาวิเชียรคิรี (เถี้ยนเส้ง) เปนผู้โอบอ้อมยกย่องญาติพี่น้องในตระกูลโดยแขงแรง คือเจือจานให้ปันเลี้ยงดูในหมู่ญาติทั่วตลอดกัน ไม่ได้เลือกที่รักมักที่ชัง แลรวบรวมหมู่ญาติในตระกูลให้ตั้งอยู่ในความสามัคคีต่อกันโดยเรียบร้อย แลเปนผู้ชำนาญหาผลประโยชน์ในการค้าขาย
ครั้น ณ วันเดือนหก ปีจอโทศก ศักราช ๑๒๑๒ พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) มอบราชการเมืองให้หลวงวิเศษภักดี (นาก) หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ ( แสง ) กับกรมการอยู่รักษาราชการเมืองสงขลา พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) ก็เข้าไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อจะได้รับสัญญาบัตรตำแหน่งผู้ว่าราชการเมือง พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) เข้าไปติดค้างอยู่ในกรุงเทพ ฯ ปีเศษ ด้วยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต ในปีจอโทศก นั้นหลวงวิเศษภักดี (นาก) ผู้ช่วยราชการซึ่งอยู่รักษาราชการเมืองสงขลาป่วยถึงแก่กรรม ยังอยู่แต่หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ (แสง) กับกรมการผู้ใหญ่ผู้น้อยอยู่รักษาราชการเมือง ครั้น ณ วันพุฒ เดือนหก แรมสิบสามค่ำ ปีกุญตรีศก ศักราช ๑๒๑๓ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสัง) เปนพระยาวิเชียรคิรี ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา แลโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้นายจ่าเรศ (เม่น) บุตรพระยาวิเศษภักดี ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา (เถี้ยนจ๋ง) เปนหลวงสุนทรนุรักษ์ผู้ช่วยราชการ พระยาวิเชียรคิรี(บุญสัง) หลวงสุนทรนุรักษ์ (เม่น) กราบถวายบังคมลากลับออกมารับราชการอยู่ณเมืองสงขลา ภายหลังหลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ (แสง) เข้าไปเยี่ยมญาติในกรุงเทพ ฯ ก็ป่วยถึงแก่กรรมเสียในกรุงเทพ ฯ หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ (แสง) คนนี้เปนบุตรพระยาวิเศษภักดี (เถี้ยนจ๋ง) มารดาเปนคนในกรุงเทพ ฯ เมื่อพระยาวิเศษภักดี (เถี้ยนจ๋ง) เข้าไปทำราชการเปนที่หลวงนายฤทธิ์อยู่ในกรุงเทพ ฯ ได้สร้างบ้านเรือนเคหสถานที่ริมแม่น้ำ คือที่สุนันทาลัยเดี๋ยวนี้ แลมีภรรยาในกรุงเทพ ฯ มีบุตรผู้หญิงหนึ่ง ผู้ชายหนึ่ง บุตรผู้หญิงชื่อวัน เข้าทำราชการ เปนพนักงานอยู่ในพระบรมมหาราชวังในรัชกาลที่ ๒ บุตรผู้ชายชื่อแสงเปนนายขันมหาดเล็ก ภายหลังโปรดเกล้า ฯ ให้เปนหลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ (แสง) เปนผู้ชำนาญในการยิงปืนแม่นยำ แลชำนาญในการแพทย์ด้วย เมื่อออกมารับราชการเปนที่หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ ผู้ช่วยราชการอยู่ที่เมืองสงขลา มีภรรยาอิกคนหนึ่งชื่อนิ่ม มีบุตรผู้ชายหนึ่ง ผู้หญิงหนึ่ง บุตรผู้ชายชื่อเวียง บุตรผู้หญิงชื่อทับ แต่เมื่อถึงแก่กรรมนั้นในวันเดือนปีใดไม่ปรากฎ
เชิงอรรถ
ที่มา
ขอขอบคุณ คุณ CVTบ้านโป่ง ผู้เอื้อเฟื้อไฟล์เอกสาร