ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖

จาก ตู้หนังสือเรือนไทย

(ความแตกต่างระหว่างรุ่นปรับปรุง)
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น
CrazyHOrse (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
(หน้าที่ถูกสร้างด้วย '== ข้อมูลเบื้องต้น == หมวดหมู่:ประวัติศาสตร์ [[หมวดห…')

รุ่นปัจจุบันของ 08:03, 23 กันยายน 2552

เนื้อหา

ข้อมูลเบื้องต้น

บทประพันธ์

คำนำ


นายพลโท พระยาสีหเดชฤทธิไกร มสม, ทจว, ภช, รรป๓, รจม. จะบำเพ็ญการกุศลปลงศพสนองคุณมารดา คือ ปริก ปาณิกบุตร์ ภรรยานายร้อยเอก พระพิทักษ์ยุทธภัณฑ์ (เทศ) ผู้เปนบุตรพระยามหาเทพ (ทองปาน) ต้นสกุลปาณิกบุตร พระยาสีหราชฤทธิไกร มีความศรัทธาจะรับสร้างหอพระสมุดสำหรับพระนครเปนของแจกในงานศพสักเรื่อง ๑ จึงมาแจ้งความต่อกรรมการ แลขอให้กรรมการช่วยเลือกเรื่องหนังสือให้ ข้าพเจ้าเห็นว่า พระยาสีหราชฤทธิไกรรับราชการตำแหน่งแม่ทัพ หนังสือที่พิมพ์คงจะนำแจกจ่ายไบในหมู่ทหารมาก ถ้าได้เปนเรื่องข้างทางทหารเห็นจะสมควรดี ข้าพเจ้าเคยนึกอยู่ว่า เรื่องที่ไทยเราทำสงครามกับพม่า ทั้งที่พม่ามาตีเมืองไทย แลไทยไปตีเมืองพม่า มีปรากฎอยู่ในหนังสือพระราชพงษาวดารแลหนังสือพงษาวดารพม่าหลายครั้งหลายคราว ถ้าคัดเฉภาะเรื่องสงครามมาเรียบเรียงขึ้นเปนหนังสือเรื่อง ๑ ต่างหาก จะน่าอ่านอยู่ การที่คัดก็ไม่สู้ยากปานใดนัก ข้าพเจ้าจึงชักชวนพระยาสีหราชฤทธิไกร ให้พิมพ์ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๖ เฉพาะเรื่องที่ไทยรบกับพม่า พระยาสีหราชฤทธิไกรเห็นชอบด้วยจึงได้พิมพ์หนังสือเรื่องนี้


หนังสือเรื่องนี้ข้าพเจ้าตรวจสอบแลเรียบเรียง ได้อาไศรยหนังสือเก่า ๕ เรื่อง คือพระราชพงษาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ซึ่งสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช โปรดให้พิมพ์เมื่อ ปีชวด พ,ศ, ๒๔๕๕ เรื่อง ๑ หนังสืออธิบายพระราชพงษาวดาร ข้าพเจ้าได้เรียบเรียงไว้เอง พิมพ์เมื่อปี ขาล พ.ศ. ๒๔๕๗ เรื่อง ๑ หนังสือพงษาวดารพม่า หลวงไพรสณฑ์สาลารักษ์ (เทียน สุพินทุ) แปลจากภาษาพม่าเปนภาษาอังกฤษ พิมพ์ไว้ในหนังสือสยามสมาคมเรื่อง ๑ คำให้การชาวกรุงเก่า แปลจากภาษาพม่า พระยาโชฎึกราชเศรษฐ์ (มิ้น เลาหเศรษฐี) พิมพ์เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๔๕๗ เรื่อง ๑ หนังสือพงษาวดารกรุงสยาม ฝรั่งเศสชื่อเตอแปง เก็บความจากจดหมายเหตุของบาตหลวงครั้งกรุงเก่าแต่งไว้เรื่อง ๑ การเรียบเรียงหนังสือนี้ข้าพเจ้ามิได้ตั้งใจจะให้เปนตำราอย่างไร ประสงค์จะให้ผู้อ่านทราบว่า ไทยได้เคยรบกับพม่ากี่ครั้ง รบกันเมื่อไรบ้าง รบกันที่ไหน รบกันด้วยเหตุไร ผลการรบในครั้งนั้นเปนอย่างไร เท่านี้เอง จะให้ได้ความเพียงเท่าที่ว่านี้ก็ลำบากอยู่บ้าง ด้วยหนังสือที่สอบทุก ๆ เรื่องความไม่ตรงกัน มีเรื่องราวหลายแห่งที่จำต้องตัดสิน ด้วยความสันนิษฐานของข้าพเจ้าเอง โดยเชื่อว่าความจริงเปนอย่างไรก็เอาอย่างนั้น ความสันนิษฐานของข้าพเจ้าอาจผิดได้ เพราะฉนั้นขอให้ท่านผู้อ่านเข้าใจว่า บรรดาข้อสันนิษฐานทั้งปวงเปนสันนิษฐานของข้าพเจ้าทั้งนั้น ไม่จำเปนต้องถือว่าเปนถูกต้องเว้นแต่เห็นชอบด้วย ชาวเราที่อ่านหนังสือพงษาวดารจะมีอยู่ไม่น้อย ที่เข้าใจว่าสงครามคราวใหญ่ครั้ง สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ตลอดจนสิ้นแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนั้น ไทยรบกับมอญ ด้วยพระเจ้าหงษาวดีเปนผู้มาทำสงคราม แต่ความจริงไม่เช่นนั้น ถ้าจะว่าไทยไม่เคยรบกับมอญโดยลำภังเลยก็ว่าได้ พระเจ้าหงษาวดีนั้นเปนพม่าทุกองค์ ชั่วแต่มาจตั้งเมืองหงษาวดีเปนราชธานีในเวลาเมื่อรวมประเทศพม่ารามัญไว้ได้ในอำนาจ จึงเรียกว่าพระเจ้าหงษาวดี มอญที่รบกับไทยไม่ว่าคราวใด ๆ ต้องมารบด้วยอยู่ในบังคับพม่า ถ้ามอญมีกำลังพอตั้งเปนอิสระได้ ก็เปนหันกลับไปรบพม่า หรือถ้าพม่ากดขี่ทนไม่ไหวก็มาพึ่งไทย เปนดังนี้แต่โบราณมาจนชั้นกรุงรัตนโกสินทร์ สงครามที่ไทยได้ทำมา ที่จริงรบกับพม่ามิใช่มอญ ข้าพเจ้าจึ่งเรียกชื่อเรื่องหนังสือว่า “ เรื่องไทยรบพม่า”


ข้าพเจ้าอยากจะเรียบเรียงหนังสือเรื่องนี้ต่อลงมาให้ตลอดจนถึงขั้นกรุงธนบุรีแลกรุงรัตนโกสินทร์ แต่จนใจจะทำให้ทันกำหนดงานของพระยาสีหฤทธิไกรไม่ได้ ที่ทำเพียงเท่านี้ พระยาสีหราชฤทธิไกรก็ต้องเลื่อนกำหนดมาให้ครั้ง ๑ แล้ว จึงจำเปนจบเพียงสิ้นสมัยกรุงไว้ชั้น ๑ ข้าพเจ้ายังตั้งใจจะเรียบเรียงต่อไปให้จบ ในวันน่าถ้ามีผู้ใดศรัทธารับจะพิมพ์หนังสือเรื่องนี้ต่อไป ท่านทั้งหลายคงจะได้อ่านทราบเรื่องต่อไป จนไทยสิ้นการรบกับพม่า


กรรมการขออนุโมทนา กุศลบุญราษีทักษิณานุประทาน ซึ่งบุตรธิดา ปริก ปาณิกบุตร มีพระยาสีหราชฤทธิไกรเปนต้นได้บำเพ็ญ ในการปลงศพสนองคุณมารดาช่วยความกตัญญูกตเวที แลได้พิมพ์หนังสือเรื่องนี้ให้แพร่หลายเปนครั้งแรก แลเชื่อว่าท่านทั้งหลายผู้ที่ได้อ่านสมุดเล่มนี้จะพอใจแลอนุโมทนาด้วยทั่วกัน

ไฟล์:ดำรงราชานุภาพ.JPG

สภานายก

หอพระสมุดวชิรญาณ

วันที่ ๒๗ เมษายน พระพุทธศักราช ๒๔๖๐

เชิงอรรถ

ที่มา

เครื่องมือส่วนตัว