หมวดหมู่:เสด็จประพาสต้น
จาก ตู้หนังสือเรือนไทย
(หน้าที่ถูกสร้างด้วย ''''คำชี้แจง''' เรื่องเสด็จประพาสต้นนี้ สมเด็จพระเจ้…')
รุ่นปัจจุบันของ 07:06, 19 กันยายน 2552
คำชี้แจง
เรื่องเสด็จประพาสต้นนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงพระนิพนธ์คำอธิบายไว้เมื่อพิมพ์ครั้งก่อน มีความว่า
พระบาทสมเด็จฯพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชอัธยาศัยโปรดในการเสด็จประพาส ตั้งแต่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติมา เสด็จประพาสแทบทุกปี เสด็จไปตามหัวเมืองน้อยใหญ่ ในพระราชอาณาเขตบ้าง เสด็จไปถึงต่างประเทศบ้าง ได้เคยเสด็จตามมณฑลหัวเมืองในพระราชอาณาเขตทั่วทุกมณฑล เว้นแต่มณฑลภาคพายัพ มณฑลเพชรบูรณ์ มณฑลอุดร และมณฑลอีสานเท่านั้น ด้วยเมื่อในรัชกาลที่ ๕ ทางคมนาคมถึงมณฑลเหล่านั้นจะไปมายังกันดารนัก เปลืองเวลาและลำบากแก่ผู้อื่น จึงรออยู่มิได้เสด็จจนตลอดรัชกาล
ในการเสด็จประพาสหัวเมืองใหญ่น้อยในพระราชอาณาเขตนั้น บางคราวเสด็จไปเพื่อทรงตรวจจัดการปกครอง จัดการรับเสด็จเป็นทางราชการ บางคราวไปเพื่อสำราญพระราชอิริยาบถ ไม่โปรดให้จัดการรับเสด็จเป็นทางราชการที่เรียกว่า "เสด็จประพาสต้น" อยู่ในการเสด็จเพื่อสำราญพระราชอิริยาบถ แต่โปรดให้จัดการที่เสด็จไปให้ง่ายยิ่งกว่าเสด็จไปประพาสเพื่อสำราญพระราชอิริยาบถอย่างสามัญ คือไม่ให้มีท้องตราสั่งหัวเมืองให้จัดทำที่ประทับแรม ณ ที่ใด ๆ สุดแต่พอพระราชหฤทัยที่จะประทับที่ไหนก็ประทับที่นั่น บางทีก็ทรงเรือเล็กหรือเสด็จโดยสารรถไฟไป มิให้ใครรู้จักพระองค์ การเสด็จประพาสต้นเริ่มมีครั้งแรกเมื่อรัตนโกสินทรศก ๑๒๓ (พ.ศ. ๒๔๔๗) รายการเสด็จประพาสต้นครั้งนี้นายทรงอานุภาพได้เขียนจดหมายเล่าเรื่องประพาสต้นไว้โดยพิสดาร ดังที่พิมพ์ไว้ในตอนต้นสมุดเล่มนี้
เหตุที่จะเรียกว่าประพาสต้นนั้น เกิดเมื่อเสด็จในคราวนี้ เวลาจะประพาสมิให้มีใครรู้ว่าเสด็จไป ทรงเรือมาดเก๋ง ๔ แจว ลำ ๑ เรือนั้นลำเดียวไม่พอบรรทุกเครื่องครัว จึงทรงซื้อเรือมาดประทุน ๔ แจวที่แม่น้ำอ้อมแขวงจังหวัดราชบุรีลำ ๑ โปรดให้เจ้าหมื่นเสมอใจราชเป็นผู้คุมเครื่องครัวไปในเรือนั้น เจ้าหมื่นเสมอใจราชชื่ออ้น จึงทรงดำรัสเรียกเรือลำนั้นว่า "เรือตาอ้น" เรียกเร็ว ๆ เสียงเป็น "เรือต้น" เหมือนในบทเห่ซึ่งว่า
"พระเสด็จโดยแดนชล ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย" ฟังดูก็เพราะดี แต่เรือมาดประทุนลำนั้นใช้ อยู่ได้หน่อยหนึ่ง เปลี่ยนเป็นเรือมาดเก๋ง ๔ แจวอีกลำ ๑ จึงโปรดให้เอาชื่อเรือต้นมาใช้เรียกเรือมาดเก๋งลำที่เป็นเรือพระที่นั่งทรง อาศัยเหตุนี้ ถ้าเสด็จประพาสโดยกระบวนเรือพระที่นั่งมาดเก๋ง ๔ แจว โดยพระราชประสงค์จะมิให้ผู้ใดทราบว่าเสด็จไป จึงเรียกการเสด็จประพาสเช่นนี้ว่า "ประพาสต้น" คำว่า "ต้น " ยังมีที่ใช้อนุโลมต่อมา จนถึงเครื่องแต่งพระองค์ในเวลาทรงเครื่องอย่างคนสามัญเสด็จประพาส มิให้ผู้ใดเห็นแปลกประหลาดผิดกับคนสามัญ ดำรัสเรียกว่า "ทรงเครื่องต้น" ต่อมาโปรดให้ปลูกเรือนฝากระดานอย่างไทย เช่นพลเรือนอยู่กันเป็นสามัญขึ้นที่ในพระราชวังดุสิต ก็พระราชทานนามเรือนนั้นว่า "เรือนต้น" ดังนี้
การเสด็จประพาสต้นเมื่อราว ร.ศ. ๑๒๓ เป็นการสนุกยิ่งกว่าที่เคยเสด็จไปสำราญพระราชอิริยาบถแต่ก่อนมา ที่จริงอาจกล่าวว่า เป็นประโยชน์แก่ราชการบ้านเมืองได้อีกสถาน ๑ เพราะเสด็จเที่ยวประพาสปะปนไปกับหมู่ราษฎรเช่นนั้น ได้ทรงทราบคำราษฎรกราบทูลปรารภกิจสุขทุกข์ ซึ่งไม่สามารถจะทรงทราบได้โยทางอื่นก็มาก ด้วยเหตุทั้งปวงนี้ต่อมาอีก ๒ ปี ถึง ร.ศ. ๑๒๕ (พ.ศ. ๒๔๔๙) จึงเสด็จประพาสต้นอีกคราว ๑ เสด็จประพาสต้นคราวนี้หาปรากฏมาแต่ก่อนว่า มีผู้หนึ่งผู้ใดได้เขียนจดหมายเหตุไว้เหมือนเมื่อคราวเสด็จประพาสต้นครั้งแรกไม่ จนถึง พ.ศ. ๒๔๖๗ พระวิมาดาเธอกรมพระสุทธาสินีนาถทรงพระปรารภจะใคร่พิมพ์หนังสือประทานตอบแทนผู้ถวายรดน้ำสงกรานต์ ตรัสปรึกษาสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี-สมเด็จหญิงน้อยพระธิดา ทรงค้นหาหนังสือเก่าซึ่งได้ทรงเก็บรวบรวมไว้ พบสำเนาจดหมายเหตุเสด็จประพาสต้นครั้งที่สอง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์โดยดำรัสให้องค์หญิงน้อยทรงเขียนไว้ในเวลาสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระบรมชนกนาถเป็นตำแหน่งราชเลขาธิการฝ่ายในอยู่ในเวลาเมื่อเสด็จประพาสคราวนั้น จึงประทานสำเนามายังหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร และมีรับสั่งมาว่าหนังสือเรื่องนี้สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ถึง ๑๗ ปีแล้ว ผู้ซึ่งยังไม่ทราบเรื่องเสด็จครั้งนั้นมีมากด้วยกัน ถ้าแห่งใดควรจะทำคำอธิบายหมายเลขให้เข้าใจความยิ่งขึ้นได้ ก็ให้กรรมการช่วยทำคำอธิบายหมายเลขด้วย จึงได้จัดการทำถวายตามพระประสงค์ทุกประการ
กรมศิลปากร
วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๙
เนื้อหาในหมวดหมู่ "เสด็จประพาสต้น"
มีบทความ 2 หน้าในหมวดหมู่นี้จากทั้งหมด 2 หน้า