นิราศพระปà¸à¸¡
จาก ตู้หนังสือเรือนไทย
(ความแตกต่างระหว่างรุ่นปรับปรุง)
CrazyHOrse (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
(หน้าที่ถูกสร้างด้วย '== ข้อมูลเบื้องต้น == หมวดหมู่:วรรณคดีไทย [[หมวดหมู่…')
(หน้าที่ถูกสร้างด้วย '== ข้อมูลเบื้องต้น == หมวดหมู่:วรรณคดีไทย [[หมวดหมู่…')
รุ่นปัจจุบันของ 10:13, 16 กันยายน 2552
เนื้อหา |
ข้อมูลเบื้องต้น
ผู้แต่ง: หลวงจักรปาณี (ฤกษ์)
บทประพันธ์
๏ มหาฤกษ์จะนิราศสวาทศรี | |||
ไปบังคมพระปฐมเจดีย์ | จะร้างที่ถิ่นเรือนเพื่อนที่นอน | ||
เหลืออาลัยใจหายไม่วายห่วง | เสียดายดวงสุมาลีศรีสมร | ||
เคยรวยรื่นชื่นอุราสถาวร | จะจำจรจากไปเสียไกลกัน | ||
ดูเหย้าเรือนเหมือนจะพาน้ำตาตก | ให้เย็นอกอ่อนฤดีไม่มีขวัญ | ||
โอ้แต่นี้ที่ถนอมเคยหอมจันทน์ | จะนับวันว่างเว้นสวาทเชย | ||
โอ้ยามเห็นมิได้เห็นเมื่อเย็นเช้า | จะแลเปล่าเปลี่ยวอุรานิจจาเอ๋ย | ||
ถึงตัวไปใจหวังเหมือนยังเคย | ไม่ละเลยเสนหาสุมาลัย | ||
ทุกนารีที่มาดสวาทหวัง | อยู่ลับหลังมิได้ลาน้ำตาไหล | ||
เจ้ารู้เรื่องเคืองคอยจะน้อยใจ | เพราะมิได้เยือนหากันช้านาน | ||
จึงคิดคำร่ำสั่งเป็นสังวาส | แรมนิราศเรื่องอนงค์ให้สงสาร | ||
จนจวนย่ำจำลาสุดามาลย์ | จากสถานสู่ท่าน้ำตากรัง ฯ | ||
๏ แสนวิบากจากงามเมื่อยามดึก | อนาถนึกหนาวทรวงเป็นห่วงหลัง | ||
จนเรือคล้อยถอยมาละล้าละลัง | เฝ้าแลสั่งสายใจอาลัยลา | ||
เห็นหมอกมัวมืดตกยิ่งอกช้ำ | เห็นฟ้าคล้ำก็ยิ่งครวญรัญจวนหา | ||
ดูดาวเคลื่อนเดือนดับไปลับฟ้า | เหมือนลับหน้าน้องน้อยลอยโพยม | ||
หนาวน้ำค้างพร่างพรมเมื่อลมตก | สงสารอกอภิรมย์เคยชมโฉม | ||
มานิราศคลาดเคล้าประเล้าประโลม | ทรวงจะโทรมเสียจะช้ำระกำตรอม | ||
โอ้หน้าหนาวแล้วหนาเจ้าข้าเอ๋ย | เมื่อไรเลยเทวดาจะพาถนอม | ||
เฝ้าชักเชือนเหมือนกับมดให้อดออม | แต่หวนหอมโหยหามาช้านาน ฯ | ||
๏ นาวาว่องล่องมาถึงหน้าวัด | นามสุทัศน์เทพธามหาวิหาร | ||
จึงรั้งรอยอหัตถ์นมัสการ | นึกสงสารคราวครั้งยังเป็นเณร | ||
พระครูบาพาพรากจากกรุงเก่า | มาฝากเราศึกษามหาเถร | ||
อยู่วัดนี้มีธุระท่านกะเกณฑ์ | ให้เข้าเวรแปลประโยควิโยคใจ | ||
ด้วยคิดเห็นเป็นชีถึงมีศักดิ์ | ใจไม่รักแท้แท้มาแต่ไหน | ||
เห็นผิดกิจสมณะพระวินัย | ท่านขืนใจก็ต้องตามเพราะความกลัว | ||
จึงเป็นไปในแผ่นดินปิ่นสยาม | ทรงพระนามพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว | ||
จนสมบทบวชสนองไม่หมองมัว | พอครองตัวตามประสาวิชาคุณ | ||
สิ้นแผ่นดินสิ้นชะตาอำลาพรต | แสนกำสรดสิ้นทรัพย์สนับสนุน | ||
ขอถวายพระกุศลผลบุญ | ให้เจือจุนบารมีทวีไป | ||
โอ้ตัวเรายังอยู่เหมือนสู้โศก | แสนวิโยคยากเย็นเป็นไฉน | ||
ใครว่าโง่ก็ต้องรับเพราะคับใจ | เหมือนบ้าใบ้นอนฝันต้องกลั้นกลืน | ||
ฤดูฟ้าฝนพร่ำน้ำจึงมาก | ขึ้นท่วมปากเหลือปัญญาจะฝ่าฝืน | ||
เหมือนหลับตามาทางในกลางคืน | ถูกติดตื้นตกค้างปิ้มปางตาย | ||
โอ้ไม่เหมือนเพื่อนเขาแล้วเรานี้ | เพราะไม่มีเครื่องปลูกผูกเหล็กหลาย | ||
ถือสวดมนต์เหมือนแต่ก่อนบห่อนคลาย | สงสารกายเกิดมาเวลาเลย | ||
ต้องก้มหน้าหามองแต่ช่องน้อย | พอตัวคล้อยเคลื่อนคลานิจจาเอ๋ย | ||
โอ้คะนึงถึงครั้งยังเสบย | มีคนเคยปฏิบัติไม่ขัดเคือง | ||
ได้จองจบกระจาดใหญ่ไข่ขนม | ทั้งได้ดมดอกดรุณยี่สุ่นเหลือง | ||
พี่ปลูกไว้ในกระถางที่กลางเมือง | เปรียบเหมือนเครื่องบูชาเวลาเดิน | ||
เมื่อลมเชยเคยถนอมหอมระรื่น | ทุกค่ำคืนเคียงข้างไม่ห่างเหิน | ||
สุมาลัยในสวนก็ชวนเชิญ | ได้เพลิดเพลินพร้อมใจเวียนไปมา | ||
ทั้งสองชื่นสองชมประสมสอง | ไม่หมางหมองมาดหมายเหมือนซ้ายขวา | ||
แต่สาหร่ายสายทองเจ้าหมองรา | ว่าพี่ยามิใครรักมักระแวง | ||
จึงยุยงย่ายายหมายขจัด | จนต่างพลัดต่างพรายถึงหน่ายแหนง | ||
เป็นบุณนำกรรมแปลกมาแทรกแซง | โอ้เสียแรงรักใคร่ถึงใหญ่โต | ||
อันใจพี่นี้ก็โหดเหมือนโฉดเฉา | น้ำใจเจ้าก็เหมือนใบไม้โสน | ||
เคยเก็บไม้ร่วมชมแต่ร่มโพธิ์ | จะโอ้โอ๋เอาใครเพราะใจเร็ว ฯ | ||
๏ โอ้อนาถคลาดคู่ชูเฉลิม | เสียประเดิมก็มาซ้ำถลำเหลว | ||
ล้วนชั่วช้าพาตนเหมือนคนเลว | ดังหนึ่งเปลวเขม่าปลิวติดผิวกาย | ||
ที่จริงใจใช่ตัวจะชั่วช้า | แต่พวกหม่ามุ้ยปากมันมากหลาย | ||
เห็นใครดีอยู่มิได้ไม่สบาย | คอยปองร้ายครหาอิจฉาคน | ||
โอ้เกิดมาด้วยเขาชาติอนาถนัก | จะปลูกรักก็ไม่เห็นว่าเป็นผล | ||
ที่รักยิ่งสิ่งรักมักวิกล | แต่ต้องทนทุกข์รักมาหนักครัน | ||
น่าน้อยใจเจ้าดรุณยี่สุ่นแสน | ไม่ควรแค้นฤๅมาขุ่นทำหุนหัน | ||
ยังขอบใจในสวนนวลอำพัน | จนทุกวันนี้ยังทักทั้งรักเรียม | ||
เรือมาตามลำคลองทั้งสองฝั่ง | พี่แลตั้งตาชม้ายนึกอายเหนียม | ||
เสียดายโฉมสร้อยฟ้ามณฑาเทียม | ไม่เห็นเยี่ยมเยือนบ้างสักครั้งเลย ฯ | ||
๏ โอ้หน้าหนาวดาวกระจายพระพายพัด | เหมือนเมื่อนัดหมายมานิจจาเอ๋ย | ||
คิดถึงครั้งรุ่นหนุ่มได้ชุ่มเชย | ปานเสวยยาทิพย์หยิบดาวเดือน | ||
แต่ละคำดุจอำมฤติรส | มาย้อยหยดยาใจไหนจะเหมือน | ||
พี่หลงใหลใฝ่ฝันจนฟั่นเฟือน | แต่เวียนเยือนเยี่ยมเจ้าทุกเช้าเย็น | ||
ถ้าวันไรไม่พบประสบพักตร์ | กำเริบรักโรคเบียนสักเกวียนเข็น | ||
ถ้าเห็นหน่อยค่อยฟื้นเหมือนคืนเป็น | เคยไปเล่นสงกรานต์ที่บ้านโน้น | ||
ควรเป็นหม่อมจอมพระยาน่าสวาท | มารยาทยศอย่างเหมือนนางโขน | ||
ทั้งสาระแนแง่งามทั้งอ่อนโยน | สะเอวโอนอ้องแอ้งเหมือนแกล้งกลืน | ||
จะพูดจาเหน็บแนมแหลมฉลาด | ถึงนักปราชญ์ยิ่งกว่าเราไม่เท่าถึง | ||
ยังมิทันรู้ตัวมัวรำพึง | คิดว่าดึงหยวกปลียังมีใย | ||
พอลมฉิวปลิวชื่นไปอื่นเฉย | เรียมเสวยเวทนาน้ำตาไหล | ||
จะคิดถึงความหวังบ้างเป็นไร | ให้เรียมได้ลำบากยากเสียพอ | ||
เมื่อค่ำคืนดื่นดึกไม่นึกขาม | คนนั่งยามระวังดูอยู่ออกสอ | ||
บ้านขุนนางบุญหนักล้วนหลักตอ | สู้ลอยคอล่องน้ำตามลำคลอง | ||
เห็นผู้คนกล่อนกลาดไม่อาจใกล้ | เขาจับได้แล้วก็ยับทั้งทุบถอง | ||
สงสารแต่หม่อมพี่ปรานีน้อง | มาด้อมมองคอยรับกลัวจับกุม | ||
แล้วโดดน้ำดำผุดมายุดแขน | พอลอยแล่นแฝงฝั่งไม่ดั่งปุ๋ม | ||
สู้ทนหนาวอยู่กับน้องประคองคุม | จนสี่ทุ่มเศษเซียบค่อยเงียบคน | ||
พาหลีกลัดกองตระเวนลุยเลนเปื้อน | ฤดูเดือนมืดเขม้นไม่เห็นหน | ||
ประตูปิดติดกุญแจเที่ยวแลจน | ปีนขึ้นบนทวารได้จึงไคลคลา | ||
หม่อมพี่จูงกรส่งที่ตรงห้อง | นวลละอองเห็นฉันก็หรรษา | ||
ให้อาบน้ำหอมระรินประทิ่นทา | แล้วพักพาสู่ห้องประคองนอน | ||
ถ้าใครเห็นก็บรรลับยังไม่คิด | เอาชีวิตแลกกายสายสมร | ||
ต่อจวนแสงสุริยาจึงลาจร | สู้ปลิ้นปล้อนบุญปลอดจึงรอดมา | ||
ถึงอย่างนี้ศรีสวัสดิ์ยังตัดได้ | ไม่มีใยเยื่อเสน่ห์เท่าเกศา | ||
ควรจำนงปลงจิตอนิจจา | สังขาราหลีกเลี่ยงไม่เที่ยงจริง | ||
มาถึงบ้านพระยาศรีที่สนิท | เคยนิมิตมากมายทั้งชายหญิง | ||
ฉันฝากกายไว้หวังไม่ชังชิง | หมายพึ่งพิงพาสนาบารมี | ||
แต่ปางหลังครั้งท่านยังบุญน้อย | หมายจะคอยบุญมากได้ฝากผี | ||
เคยพูดเล่นเจรจาทุกราตรี | ที่ลางทีเจ็บไข้ท่านใช้วาน | ||
ไปไม่ทันท่านก็มักจะควักค้อน | สู้อดนอนนั่งยามความสงสาร | ||
ที่ใจรักอักษรกาพย์กลอนกานท์ | มาเขียนอ่านศึกษาจินดามณี | ||
แล้วให้สัตย์สัญญาว่าตรงฉัน | จะผูกพันไปจนตายไม่หน่ายหนี | ||
ข้อบาดหมางสิ่งไรก็ไม่มี | ใครได้ดีฉันก็ช่วยอำนวยชัย | ||
บัดเดี๋ยวนี้ท่านก็มีบุญตบะ | ล้วนหลวงพระเพลินจิตพิสมัย | ||
ครั้นพบหน้าตาฝาดประหลาดใจ | เหมือนเป็นใบ้บ้าเบือนไม่เหมือนเคย | ||
ถึงจะทักซังกะตายเหมือนขายหน้า | อนัตตาสูญเปล่าแล้วเราเอ๋ย | ||
ที่ความหลังหวังนิยมจะชมเชย | เห็นจะเลยเสียแล้วเราเฝ้าละเมอ | ||
ไม่ไปหาฤๅก็ว่าหยิ่งจองหอง | ครั้นไปลองดูเปล่าเราก็เก้อ | ||
ต้องหลีกทางห่างไกลมิใช่เกลอ | จะว่าเผลอเฉียดชิดชีวิตยูง | ||
จะตั้งวอนไปใหม่ไม่จองหอง | แต่แสบท้องแล้วจะได้อะไรหุง | ||
ท่านกินหมูขนมกงจนลงพุง | ฉันผักบุ้งน้ำปลาร้าตาจึงฟาง | ||
ถ้าแม้นท่านโอภาฤๅปราศรัย | จะได้ไปปฏิบัติไม่ขัดขวาง | ||
นี่ท่านหับปากมิดปิดหนทาง | ไม่มีนางนายหน้าจะพาจูง | ||
แม้นปะคราวออกแขกฉวยแปลกหน้า | ก็จะพาพักตร์เฝื่อนใช่เพื่อนฝูง | ||
ไม่เจียมตนจนกาไปฝ่ายูง | เหมือนใฝ่สูงเกินศักดิ์จะหักราน | ||
ถ้าที่อื่นเช่นนี้แล้วที่ไหน | คงจะได้พึ่งพักสมัครสมาน | ||
ถึงคบฉันใช่จะชักให้รักพาล | เห็นมานานน้ำเนื้อที่เกื้อกูล | ||
ยามประดาษพาสนานิจจาเอ๋ย | กระไรเลยมิตรญาติมาขาดสูญ | ||
วาสนาอาภัพลับเหมือนปูน | มาอาดูรจมดิ่งเสียจริงเจียว | ||
จะเหลียวซ้ายแลขวาไม่ผาสุก | เมื่อยามทุกข์ยามไข้ใครไม่เหลียว | ||
เมื่อบรรลัยใครจะมาช่วยยาเยียว | ฟืนดุ้นเดียวฤๅจะได้ใส่อัคคี | ||
ควรสอนจิตคิดถึงตนให้มากมาก | ถึงจนยากก็อุตส่าห์ประสาประสี | ||
หาใส่ท้องมิใคร่ทันทุกวันนี้ | กลัวเป็นหนี้สินเขาเฝ้ารำพึง | ||
ถึงกระนั้นท่านอย่าคิดตะขวิดตะเขวียน | ไม่ไปเบียนดอกให้เปลืองเฟื้องสลึง | ||
ถ้ามีจิตคิดถึงฉันนั่นแลจึง | ไม่ให้พึ่งฉันจะนอนกัดก้อนเกลือ | ||
ไม่ไปรบกวนใครให้ลำบาก | ถึงอดอยากก็ยังรักซึ่งศักดิ์เสือ | ||
โอ้เสียแรงรักสนิทถึงชิดเชื้อ | จะคอยเผื่อก็พอกายจะวายวาง | ||
ถ้าจริงใจได้ฟังอย่านั่งแช่ง | ว่ามันแกล้งลับปากมาถากถาง | ||
ไม่คุมแค้นขอสมาอย่าระคาง | พอเสื่อมสร่างทุกข์ระทดตามบทเพลง | ||
ยังขอบคุณขอบคำน้ำขุ่นขุ่น | ถึงมีบุญท่านก็ไม่ได้ข่มเหง | ||
ฉันไม่ถือดอกว่าฉันเป็นกันเอง | ทั้งกลัวเกรงอาญาทั้งอาลัย | ||
ทุกวันหวังยังคิดพระคุณท่าน | ด้วยเป็นบ้านไปมาเคยอาศัย | ||
แต่เดี๋ยวนี้มีกรรมจึงจำไกล | เพราะความในข้องขัดเข้าฟัดครือ | ||
เมื่อเมตตาการุณมาก่อนกี้ | บัดเดี๋ยวนี้นะจะให้ยังไงหรือ | ||
ไม่จองหองหมองปากกระดากมือ | แม้จะถือโทษาก็ถ้าจน | ||
ถึงกระนั้นฉันก็ไม่ได้โกรธตอบ | จะไปนอบไม่ถนัดจึงขัดสน | ||
แม้ให้พึ่งบุญบ้างกำลังจน | ได้น้อมตนนอบนบประจบตาม | ||
อย่าพยาบาทไปเลยจะใช่ที่ | เวรจะมีพันผูกเหมือนปลูกหนาม | ||
ถ้าใจบุญกรุณาจึงพางาม | ถึงสามง่ามเลี้ยวเรือข้างเหนือจร ฯ | ||
๏ ทัศนาอาวาสราชบพิธ | งามวิจิตรแจ่มจรัสประภัสสร | ||
พระจอมพงศ์ทรงสร้างกลางนคร | ให้ถาวรเพิ่มพระยศรจนา | ||
ขอเดชะบุญญาอานิสงส์ | ให้เทพทรงสิทธิศักดิ์ช่วยรักษา | ||
ให้พระองค์ยงยืนพระชนมา | ผ่านมหามไหศววรย์เหมือนจันทน์เจิม | ||
ขอพระยศรุ่งเรืองกระเดื่องเดช | ทุกขอบเขตข้าศึกไม่ฮึกเหิม | ||
ทั้งโภไคยไอศูรย์ประมูลเติม | ให้พูนเพิ่มบารมีทวีไป | ||
ได้ดับเข็ญเย็นอุราประชาราษฎร์ | ทั้งข้าบาททูลละอองให้ผ่องใส | ||
นึกภิญโญโมทนาแล้วคลาไคล | หวนอาลัยถึงสุดาจะลาลิบ | ||
ดูดาวเคื่อนเหมือนกะพลอยที่คล้อยจาก | เมื่อเป็นนาคแสนสนุกวันสุกดิบ | ||
เสียดายเอ๋ยเลยล่องเป็นของทิพย์ | สุดจะหยิบยกชมให้สมใจ | ||
มาแถวทางวังหน้าสาธุสะ | ถวายพระพรฉลองให้ผ่องใส | ||
จนออกช่องคลองหลอดทอดฤทัย | นับจะไกลลอยสวาทประพาสทาง | ||
เห็นหมอกมัวทั่วหล้าท้องฟ้าเหลือง | ระเรื่อเรืองแสงอุไรขึ้นใสสาง | ||
เขาแจวจัดตัดข้ามไปท่ามกลาง | ให้อ้างว้างโงงเงงวังเวงทรวง | ||
เฝ้าเหลียวหลังสั่งลาน้ำตาไหล | เหลืออาลัยน้องนุชที่ปองหวง | ||
เสียดายทั้งธานินทร์ถิ่นทั้งปวง | ให้งงง่วงเงียบเหงาซึมเศร้าเซ็ง | ||
เสียดายเอ๋ยเคยรักสมัครสมาน | ทุกถิ่นฐานที่พำนักสำนักเก๋ง | ||
ได้พบกันผันแปรมาแลเล็ง | ที่ตัวเต็งต้องใจมิได้ลืม | ||
เคยตอบรสพจมานหวานเสนาะ | เคยฉอเลาะทอดทิ้งให้ดิ่งดื่ม | ||
เคยแลกเปลี่ยนเวียนง้อเคยขอยืม | ล้วนปลอบปลื้มปลุงในน้ำใจจง | ||
เพราะตกอับดับเข็ญไม่เป็นสุข | จึงต้องทุกข์ทิ้งมิตรพิศวง | ||
ไปชมนกชมไม้ในไพรพง | พอลืมหลงโศกเศร้าเบาอุรา | ||
อรุณรุ่งเรืองแสงแจ้งกระจ่าง | เข้าคลองบางกอกน้อยละห้อยหา | ||
ฉันเจ็บใจไข้จิตนั้นติดมา | จะหายาหมอกรอกช้ำชอกกาย | ||
ฉันอยู่บางกอกใหญ่ยังไม่ถอย | บางกอกน้อยฤๅจะให้ไข้ใจหาย | ||
แม้เอวบางนางกอกดอกจะคลาย | บางไม่คล้ายเอวบางไม่สร่างครวญ ฯ | ||
๏ ดูชาวแพแซ่ซ้องขนของขาย | ที่เรือพายขึ้นล่องนั้นของสวน | ||
ทั้งเรือทุ่นเรือทอดจอดเป็นพวน | ตลาดล้วนจ่ายจัดออกอัดแอ | ||
ทั้งสองแถวแจวไปมิใคร่ตลอด | ต้องเลี้ยวลอดหลีกลัดฉวัดแฉว | ||
ทั้งทไยเจ๊กจีนแขกแปลกแปลกแล | พวกชาวแพสารพันจะบรรจง | ||
ขายเครื่องแก้วเครื่องทองของทั้งหลาย | ทั้งผ้าลายม่วงแพรแลระหง | ||
เสื้อกระเป๋าข้าวม้าผ้าสบง | ที่รูปทรงสำอางเป็นช่างเย็บ | ||
ล้วนสาวสาวน้อยน้อยนั่งร้อยเข็ม | ฝีมือเม้มมิดเม้นไม่เห็นตะเข็บ | ||
ไม่เจ็บหลังนั่งเพียรทั้งเจียรเล็บ | ประกอบเก็บไรจุกเหมือนตุ๊กตา | ||
พอเรือฉากปากหวานทำขานไข | ซื้ออะไรดูก่อนสิหล่อนจ๋า | ||
ฉันหวนฮึกนึกคะนองลองวาจา | จะหาผ้าอย่างนอกที่ดอกลอย | ||
เขายิ้มเยื้อนเบือนหน้าทำตาค้อน | โอ้ยามร้อนใจคอก็ท้อถอย | ||
จะก้มพักตร์ไปป่าหาดอกกลอย | ไม่ขอคอยดอกขจรเหมือนก่อนไร ฯ | ||
๏ ที่ลางแพผู้ดีมั่งมีทรัพย์ | เพชรประดับตุ้มหูดูไหวไหว | ||
แหวนสายสร้อยทองปลั่งทั้งวลัย | น่าชื่นใจห่มนุ่งสอดถุงตีน | ||
เหมือนเมื่อเรารุ่นเปลี่ยวมันเคี่ยวเข็ญ | พบแต่เช่นนี้หนาจึงลาศีล | ||
หมายได้อยู่คู่เคียงบนเตียงจีน | จนเลยปีนตลิ่งล้มไม่สมคะเน ฯ | ||
๏ ถึงบางหว้าว้าใจอาลัยสมร | เหมือนเรียมจรจากนางมาห่างเห | ||
ให้ว้าทรวงห่วงหลังอยู่ลังเล | มาว้าเหว่อ้างว้างอยู่วังเวง | ||
ถึงบ้านบุบุขันเขารันค้อน | เหมือนพี่ข้อนทรวงคะนึงดังผึงเผง | ||
เขาหลอมทองเทถ่ายละลายเลง | พี่ร้อนเร่งในอุรายิ่งกว่าทอง | ||
ถึงทองร้อนร้อนเพลิงเถกิงก่ำ | พอถูกน้ำเย็นทั่วไม่มัวหมอง | ||
อันร้อนพี่นี้ถึงน้ำทั้งลำคลอง | อย่ามาลองลูบชโลมไม่โสมนัส ฯ | ||
๏ ถึงวัดทองหมองคล้ำสลำสลาย | ไม่เหมือนสายสร้อยทองผ่องจำรัส | ||
จากแม่ผิวทองคำเพราะกรรมซัด | ชมแต่วัดทองสร้างเถิดต่างทอง | ||
ดูแม่ค้ามาขายก็หลายเหลือ | ทั้งบกเรือเรีงยรายล้วนขายของ | ||
น้ำเต้าแตงแฟงฟักแลผักดอง | เที่ยวเร่ร้องตามตลาดไม่ขาดคราว | ||
ข้าวเหนียวเหลืองเครื่องขนมดูถมฐาน | กินไม่หวานสักว่าหน้าขาวขาว | ||
ไม่เหมือนเทียบโต๊ะพานทั้งหวานคาว | ของเจ้าสาวน้อยนางที่ช่างทำ | ||
วัดชีปะขาวชีก็มีเหลือ | ไม่เหมือนเนื้อนวลสาวที่ขาวขำ | ||
จะแลไหนก็วิไลวิลาสล้ำ | ดังหนึ่งน้ำทิพย์สุรามายาทรวง | ||
โอ้พูเอกเมขลาจะหาไหน | แต่จากไปมิได้คืนมาหื่นหวง | ||
ที่ริมน้ำทำรอเหมือนล่อลวง | รอให้ง่วงตำตอสิรอตาย | ||
โอ้ที่ยุบบุบไถลนั้นไม่หัก | เช่นที่รักมิได้ชมเหมือนสมหมาย | ||
บางผักหนามยามยากหากเสียดาย | ได้ตั้งกายมาเพราะปามหนามผักดอง | ||
บางบำหรุเรียมบำเรอเสนอพักตร์ | โอ้ทรามรักเจ้าก็มุ่งบำรุงสนอง | ||
เพราะต่างศักดิ์มิได้สมนิยมปอง | แต่ลอบลองแลเหลียวไม่เปรี้ยวเค็ม | ||
ต่างระกำลำบากด้วยขวากหนาม | พยายามยอกระบมเหมือนคมเข็ม | ||
แต่พากเพียรเวียนแวะเข้าและเล็ม | ก็เห็นเต็มที่จะสมยิ่งตรมตรอง | ||
โอ้มณฑายาหยีของพี่เอ๋ย | เมื่อไรเลยจะได้ชมประสมสอง | ||
แม้ดอกฟ้าคลาเคลื่อนลงเหมือนปอง | ก็ไม่ต้องขวายขวนเที่ยวซนซุก | ||
เมื่อเข้าที่ปฏิพัทธ์ปัจฐรณ์ | จะกล่าวกลอนกล่อมเล่นให้เป็นสุข | ||
บางขุนนนท์พี่ต้องทนเหมือนนนทุกข์ | สุดจะปลุกปล้ำใจให้สบาย ฯ | ||
๏ บางระมาดเหมือนพี่มาดสวาทหวัง | ไม่สมดังพิศวาสเหมือนมาดหมาย | ||
ที่ได้ชมสมมาดยังคลาดคลาย | เพราะหลายรายหลายรักหนักอารมณ์ | ||
เหมือนแม่น้ำลำคลองเป็นสองแยก | สุดจะแจกจักใจออกให้สม | ||
สงสารสาลิกานางที่บางพรม | ฤดูลมล่องหาวจะหนาวใจ | ||
ไม่เห็นมาเยี่ยมเยือนเหมือนก่อนกี้ | โอ้ป่านนี้ขวัญอ่อนจะนอนไหน | ||
เมื่อมืดค่ำคล้ำคลุ้มที่พุ่มไม้ | เคยอาศัยจับบ้างเป็นครั้งคราว | ||
ลมพระพายชายพัดมาย่อนย่อน | เจ้าจะร่อนตามลมไปชมหาว | ||
ได้เพื่อนรักชักเชือนชมเดือนดาว | แต่เพื่อนหนาวนี้เจ้าไม่อาลัยเลย | ||
วัดไก่เตี้ยไก่ใครก็ไม่รู้ | คิดถึงอยู่เคหานิจจาเอ๋ย | ||
เมื่อไก่ขันพลันตื่นชื่นเสบย | โอ้ไก่เคยขันกู่เหมือนรู้คอ ฯ | ||
๏ ถึงสวนหลวงดวงงามให้ขามอก | ต้องขอยกไว้เป็นหลวงไม่ล่วงขอ | ||
แต่ของสาวชาวสวนนวลละออ | จะของ้อขอรักขอชักชวน | ||
ด้วยบางกอกถึงจะอยู่กินหมูหัน | ไม่หวานมันเหมือนมะพร้าวของชาวสวน | ||
ยิ่งเจือไข่ใส่หวานน้ำตาลกวน | ยิ่งน้ำนวลเนื้อหมูไม่สู้เลย | ||
วัดพิกุลฉุนชื่นระรื่นรส | เหมือนไม้สดหอมกรุ่นพิกุลเอ๋ย | ||
เจ้าร้อยพวงมาลีให้พี่เชย | ได้เสียดเสยสวมกรแล้วช้อนชม | ||
โอ้พระพายชายกลิ่นมารินรื่น | เมื่อยามชื่นมิได้เชยเหมือนเคยสม | ||
แสนรัญจวนหวนหาในอารมณ์ | มาได้ดมแต่ดอกมไที่ในบาง | ||
หอมบุหงาการะเกดวิเศษสม | เหมือนเกศผมทรามเชยเจ้าเคยสาง | ||
นมสวรรค์นั้นไม่สมเหมือนนมนาง | ผลมะปรางไม่เหมือนปรางสำอางนวล | ||
ดูลิ้นจี่สีปลั่งก็ยังแหนง | ไม่เหมือนแสงโอษฐ์แฉล้มเมื่อแย้มสรวล | ||
หอมสุคนธ์ผลจันทร์ที่รัญจวน | ไม่หอมหวนเหมือนเนื้อที่เจือจันทน์ | ||
หอมลำเจียกจับฤดีแต่มีหนาม | เหมือนเจ้างามงอนคารมทั้งคมสัน | ||
เถาสวาทเหมือนสวาทที่พาดพัน | กาหลงนั้นเหมือนพี่หลงทรงพะงา | ||
โอ้เต่าร้างเหมือนพี่ร้างมาห่างเคล้า | สงสารเต่าร้างโรยให้โหยหา | ||
ถึงสวนแดนแสนเสียดายสายสุดา | พสุธาเดียวจะห่างไปต่างแดน | ||
มาเหล่าเปลี่ยวเที่ยวทุเรศอยู่เขตสวน | ให้โหยหวนห่วงนุชนี้สุดแสน | ||
ได้ชมแต่แพรบางไว้ต่างแทน | ไม่เหมือนแม้นนอนแอบได้แนบแนม | ||
เห็นรักต้นปนเตยเลยไม่ทัก | เกลือกว่ารักเจ้าจะเลยเป็นเตยแหลม | ||
จากสละระกำขึ้นซ้ำแกม | ทั้งโศกแซมซ้อนซ้ำช้ำฤทัย | ||
โอ้จากกอก็ไม่ยากเหมือนจากเจ้า | สละเท่าเรียมสละฤๅไฉน | ||
ระกำต้นไม่ระกำเหมือนช้ำใจ | ถึงโศกไม้ไม่วิโยคเหมือนโศกมา | ||
เห็นซ่อนกลิ่นซ่อนชู้อดสูจิต | คิดถึงมิตรมักมากยากหนักหนา | ||
ทำซ่อนชู้รู้ชัดตัดตำรา | ไม่คบค้าสืบสายจนวายวาง ฯ | ||
๏ ถึงบางขวางขวางอะไรที่ไหนนี่ | บ้างไม่มีขัดข้องมาหมองหมาง | ||
อันตัวพี่นี้วิตกกว่าอกบาง | ด้วยขัดขวางในอุราอยู่อาจิณ | ||
จนเข้าช่องคลองลัดวัดไชยพฤกษ์ | แลพิลึกถิ่นฐานลานถวิล | ||
พฤกษาร่มลมโชยมาโรยริน | หอมกระฐินอีกทั้งกระดังงา | ||
มะลิซ้อนสารภีมาลีตรลบ | เหมือนน้ำอบเจือกุหลาบซาบนาสา | ||
รื่นรื่นเสาวคนธ์สุมณฑา | เหมือนกลิ่นผ้าแพรหอมย้อมมะเกลือ | ||
เห็นจำปีโอ้แต่นี้จะนานเห็น | ต้องจำเป็นจำไปอาลัยเหลือ | ||
จนเลยวัดทัศนาแม่ค้าเรือ | มีข้าวเกลือแลกล้ำตามลำคลอง | ||
พวกชาวสวนสองฝั่งเขาตั้งบ้าน | มีโรงร้านเรียงรายนั่งขายของ | ||
มาถึงด่านขันด่านประหารฆ้อง | เฝ้าแต่ร้องเรียกเรือเหลือระอา | ||
ฉันหลบพักตร์ลักลอบตอบสนอง | ไม่มีของสิ่งขายดอกนายจ๋า | ||
เป็นเรือรักรึงโศกวิโยคมา | มีแต่อาดูรดองอยู่ท้องเรือ ฯ | ||
๏ ขุนด่านฟังนั่งเฉยเลยหัวเราะ | ฉันแก้เปลาะมาได้ดีใจเหลือ | ||
เห็นกล้วยกล้ายรายงามอร่ามเครือ | เหลืองระเรื่อต้นลำดูสำรวย | ||
เมื่อลมพัดลัดโยนดูโอนอ่อน | คิดถึงวรวรวงศ์ที่ทรงสวย | ||
เป็นเชื้อช่ออรชรอ่อนระทวย | เหมือนต้นกล้วยต้องลมไม่สมประดี | ||
เสียดายโฉมโลมตาหาไม่เหมือน | จนฟั่นเฟือนเฟื่องฟุ้งทั้งกรุงศรี | ||
ไฉนหงส์จึงไม่สรงโบกขรณี | มาเกลือกที่ตมเลนระเนนนอน | ||
สิ้นผิวทองผ่องพักตร์ไม่รักศรี | แต่ตัวพี่เท่าใช้ยังไถ่ถอน | ||
ขี้คร้านกล่าวมากมายเสียดายกลอน | เขาแจวจรโดยด่วนพ้นสวนมา | ||
ลุถึงศาลากระทรวงในหลวงสร้าง | ะยะทางทำไว้ไกลนักหนา | ||
ถึงร้อยเส้นแล้วจึงมีที่ศาลา | ให้ประชาจำมั่นสำคัญจร | ||
ทั้งไปมาล้าเลื่อยเมื่อเหนื่อยนัก | ได้หยุดพักภิญโญสโมสร | ||
โอ้ตัวเราเศร้าอุราให้อาวรณ์ | ถึงหยุดนอนก็ไม่หายวายรำคาญ | ||
ถึงวัดร้างร้างชีร้างที่ไว้ | ไม่มีใครสร้างสถิตประดิษฐาน | ||
ทั้งเจดีย์ทีปรกก็รกราน | นึกสงสารจริงจริงต้องนิ่งทน | ||
ถึงศรัทธาสารพัดจะขัดขวาง | สุดจะสร้างเสริมต่ออกุศล | ||
โอ้อารามยามยับยังอับจน | เราก็คนยามขัดเหมือนวัดวา | ||
ไม่แจ้งนามถามดูจึงรู้ชัด | เขาเรียกวัดไผ่จันทร์น่าหรรษา | ||
เห็นแต่ไผ่ไม่เห็นจันทน์เป็นขวัญตา | โอ้พฤกษามีสิ้นทั้งดินแดน | ||
จะหาจันทน์กฤษณานั้นหายาก | เหมือนคนมากมีดื่นนับหมื่นแสน | ||
จะประสงค์องค์ปราชญ์ก็ขาดแคลน | เสมอแม้นจันทน์แดงแรงราคา | ||
แต่จันทน์แดงเดี๋ยวนี้ไม่มีขวัญ | จะอัศจรรย์อะไรที่ไหนหนา | ||
ด้วยมีถมทั่วเมืองตามเครื่องยา | เขาซื้อหาใช้กันสนั่นลือ | ||
ลักจั่นปลอมได้ไม่เฉลียว | แต่ปากเดียวจะสู้ปากมากหรือ | ||
จนจันทน์แท้แพ้กลิ่นสิ้นระบือ | เป็นสิ้นชื่อสูญไปใครไม่รู้ | ||
ดูทองคำน้ำเม็ดเพชรรัตน์ | พอรู้ชัดไม่ลำบากยากตาหู | ||
อันปัญญานี้ไม่แน่ด้วยแลดู | แม้จะรู้ปรากฏเพราะทดลอง | ||
แต่เดี๋ยวนี้มิได้มีผู้ตราสิน | ก็สุดสิ้นที่ผู้จะชูสนอง | ||
เหมือนมณีมิได้มีอุไรรอง | ก็มัวหมองหมดวิชาพยายาม | ||
คลองมหาสวัสดีนี้มีใหม่ | แต่ตามในลำคลองได้ร้องถาม | ||
ไม่มีใครร้องเรียกสำเนียกนาม | จะหาความที่ประกอบไม่ชอบกล | ||
จนเลยศาลาสองยิ่งหมองไหม้ | ระกำใจอ้างว้างมาแต่หน | ||
กับบ่าวไพร่ศิษย์หาสี่ห้าคน | มักซุกซนสารพัดจะขัดเชิง | ||
ที่สองฝั่งข้างคลองล้วนท้องทุ่ง | ดูเวิ้งวุ้งแลหวิวละลิ่วเหลิง | ||
เห็นทิวไผ่ไม้พุ่มเป็นซุ้มเซิง | ที่สูงเทิ่งลมโยนโกร๋นกริงกริว | ||
เห็นเมฆหมอกออกรอบตามขอบป่า | เหมือนตีนฟ้าตกไกลใจหวิวหวิว | ||
ลมพระพายชายพาพฤกษาปลิว | เห็นแต่ทิวเขาไม้รำไรราย | ||
ดูทุ่งกว้างทางเปลี่ยวให้เสียวจิต | ทั้งจากมิตรมาไกลยิ่งใจหาย | ||
เห็นวิหคนกเอี้ยงมันเลี้ยงควาย | จับสบายบนคอดูคลอเคลีย | ||
ฝูงกระจาบถาบบินลงกินข้าว | เจ้าของเขาคอยไล่ให้ไปเสีย | ||
ที่ซุ้มรกนกกระเต็นเต้นยั้วเยี้ย | ทั้งตัวเมียตัวผู้ดูเจริญ ฯ | ||
๏ ฝูงวิหคนกกาเที่ยวว้าว่อน | ระเร่ร่อนหากินแล้วบินเหิน | ||
นกกระสามาเป็นหมู่พิศดูเพลิน | นกยางเดินซ่องซ่องเที่ยวมองปลา | ||
ดูคลองตรงโล่งลิ่วเป็นทิวบ้าน | ระยะย่านห่างไกลกระไรหนา | ||
ไม่มีเรือนโอ่โถงล้วนโรงนา | มุงแฝกคาเขียวขำดูรำไร | ||
บ้างปลูกผักดักแร้วแพ้วกังหัน | ลมพัดผันหมุนติ้วหวิวหวิวไหว | ||
ครั้นลมหวนทวนทับก็กลับไป | เปรียบเหมือนใจคนเราเท่าทุกวัน | ||
พวกรุกรุยรุงรังที่บางกอก | พูดกลับกลอกดังดังเหมือนกังหัน | ||
ลมพัดหนักทางไหนไปทางนั้น | พูดไม่ทันเขาพร้อมต้องยอมกลัว | ||
พอชายแสงสุริยันตะวันแผ้ว | พวกคนแจวหิวกระหายทั้งท้ายหัว | ||
เห็นอ้อยขายรายวางตามข้างรั้ว | เหมือนกับวัวเห็นหญ้าทำตาปรือ | ||
จึงจอดเข้าซื้อให้สองไพกึ่ง | พอยื่นถึงกัดพลางไม่วางถือ | ||
เรือก็หนักราวกะหินสิ้นฝีมือ | คนก็ดื้อคร้านใจมิใคร่แจว | ||
เรือกับคนสมกันขยันเหลือ | จนเพื่อนเรือเลยไกลไปเป็นแถว | ||
ทั้งไทยมอญหนุ่มสาวแลลาวแกว | ที่ไปแล้วอยู่หลังก็ยังมา | ||
ที่จอดพักหน้าท่าศาลาสาม | ล้วนงามงามดีดีห่มสีจ้า | ||
เห็นแต่ของเขาอื่นไม่ชื่นตา | พอนาวาเลยไปยิ่งใจตรม ฯ | ||
๏ เห็นเรือโกลนลำหนึ่งดูขึงขัง | ทั้งเนื้อหนังก็ดีอยู่มีถม | ||
เจ้าของเข็นขึ้นคานอยู่นานนม | เจียนจะจมดินเปล่าไม่เข้าการ | ||
ถ้าลงทุนทำใหม่ไว้ใช้เล่า | ไม่เปลืองเปล่าคงจะจ่ายได้หลายสถาน | ||
เปรียบเหมือนคนอักดกยกขึ้นคาน | นึกสงสารวาสนาผู้อาภัพ | ||
ที่ดีชั่วกลั้วเกลือกไม่เลือกสรร | สารพันพิทยาจึงพาดับ | ||
ที่ผู้ทำของดีนั้นลี้ลับ | เสร็ทธิศกยกสำรับได้หน้าตา | ||
ฝีประจบเดี๋ยวนี้ดอกดีมาก | แต่ฝีปากนั้นมิได้มีใครหา | ||
การหนังสือลือกระฉ่อนเหมือนก่อนมา | ย่อมได้หน้าได้ยศปรากฏนาม | ||
แต่เดี๋ยวนี้เป็นไฉนมิได้ผล | มีแต่คนคอยเอ่ยมาเย้ยหยาม | ||
รู้ก็ชามไม่รู้ดูก็ชาม | ก็เหมือนความว่าเล่นเห็นกับตา | ||
สารพัดที่จะใส่ลงในหัว | ยังเอาตัวมิใคร่รอดตลอดหนา | ||
โอ้เสียแรงพากเพียรเล่าเรียนมา | เหมือนจะพายุบยับช่างกลับกลาย | ||
จนถึงศาลากลางไม่สร่างร้อน | เด็กเด็กอ่อนหน้านิ่วหิวกระหาย | ||
ให้จอดพักหยุดร่มพอลมชาย | ตะวันบ่ายคล้อยงามสักสามโมง ฯ | ||
๏ พวกเรือจอดทอดอยู่แลดูถม | บ้างหุงต้มตามกันควันโขมง | ||
ที่พึ่งจอดทอดเสือกผูกเชือกโยง | โดดน้ำโพล่งดำว่ายเป็นก่ายกอง | ||
นางสาวมอญหนึ่งนั้นดูขันเหลือ | ยุดแคมเรือนอนหงายว่ายตุ๊บป่อง | ||
แต่ผ้าถุงนุ่งถกขึ้นปกท้อง | เด็กมันร้องนั่นแน่แลทมึน | ||
น้ำก็ใสไม่ระวังบ้างเลยหนา | เขาเฮฮาสักเท่าไรก็ไม่ขึ้น | ||
ชาติใจดีมิใช่ไก่ใจบึกบึน | ถึงติดครึนก็ไม่ดิ้นสิ้นตำรา | ||
พวกเด็กเรารุ่นหนุ่มได้ชุ่มชื่น | ก็แตกตื่นพูดกันโดยหรรษา | ||
ว่ามอญขวางอย่างเขาที่เล่ามา | เห็นกับตามันจะขวางไปอย่างไร | ||
เด็กอาบน้ำสำเร็จก็เสร็จโศก | ให้บริโภคโภชนาอัชฌาสัย | ||
เสร็จแล้วออกนาวารีบคลาไคล | แจวไม่ไหวไม่ติงนิ่งเนือยเนือย | ||
ถูกลมหวนทวนซ้ำน้ำก็เชี่ยว | คนแจวเหนี่ยวสามเล่มจนเต็มเมื่อย | ||
ดูอิเหละเปะปะสวะเฟือย | น่าเหน็ดเหนื่อยหนักเหลือเรือโป้งโล้ง | ||
ถึงตลิ่งเลี่ยนโล่งพอโยงได้ | เด็กดีใจแลเห็นออกเต้นโหยง | ||
ผูกเชือกแล้วขึ้นตลิ่งวิ่งตะโพง | พอเชือกโยงตึงเลื้อยแล่นเฉื่อยไป | ||
ถึงที่รกวกลัดฉวัดเฉวียน | ถึงที่เลี่ยนก็ชะโลงโยงไปใหม่ | ||
ประเดี๋ยวรกประเดี๋ยวบ้านรำคาญใจ | มันพิไรบ่นร่ำไม่สำรวม | ||
จนสุนัขเห่าโฮกกระโชกไล่ | ต่างตกใจโจนถลำตกน้ำป๋วม | ||
ขึ้นไม่ไหวป่ายปีนจนตีนบวม | ดูเนื้อน่วมนั่งนวดปวดระบม | ||
จนล่วงเลยศาลาที่ห้าแล้ว | ให้เร่งแจวรีบไปยังไกลถม | ||
ดูสาวสาวชาวนาไม่น่าชม | กรำแดดลมเหลือดำด้วยทำนา | ||
ตะแบงมานขัดเขมรแทบเห็นทั่ว | ไม่แต่งตัวสารพัดไม่ผัดหน้า | ||
ไม่สู้สาวชาวกรุงจรุงตา | แต่ชั้นว่าเพื่อนสนุกพวกรุกรุย | ||
เมื่ออยู่ในท่านก็ใช้เหมือนเช่นครอก | เมื่อออกนอกราวกระหม่อมดูหอมฉุย | ||
ล้วนห่มสีนุ่งลายเที่ยวกรายกรุย | ดูปุกปุยไว้วางเหมือนนางระบำ | ||
ขมิ้นแต่งแป้งปรุงจรุงเครื่อง | ล้วนขาวเหลืองแลไหนวิไลขำ | ||
แต่นอกใสใจมิตรนั้นติดดำ | มักจะทำถ่ายเทเจ้าเล่ห์กล ฯ | ||
๏ แต่ชาวนานั้นฤๅเขาซื่อดอก | ถึงดำนอกน้ำรักยังพักผล | ||
ฉันอยากได้บ้านนอกดอกสักคน | แต่ขัดสนสุดแสวงไปแห่งใด | ||
แต่นักเลงเหล่านิยมข้างสมพาส | ที่รสชาติเขาจะเห็นว่าเป็นไฉน | ||
ขาวจะชื่นฤๅว่าดำจะฉ่ำใจ | ที่ภายในท่วงทีเหมือนมีเคล็ด | ||
เขาว่าสาวขาวโศกโพรกปูนา | ดำมะละกาเหลือแสนแน่นตับเป็ด | ||
เนื้อสองสีนั้นมีกลเม็ด | จริงฤๅเท็จเป็นไฉนมิได้ลอง | ||
พอเรือแล่นเลยแลชะแง้ทั่ว | เห็นแต่บัวหลวงงามที่ตามหนอง | ||
เป็นดวงดอกออกเต่งเปล่งละออง | เหมือนบัวทองตูทตั้งอลั่งดี ฯ | ||
๏ แมลงภู่หมู่ภมรก็ร่อนร้อง | อาบละอองเกสรแล้วจรหนี | ||
เหมือนหญิงร้ายชายลวงเสียท่วงที | เป็นราคีอายเขานั้นเท่าไร | ||
แต่เดี๋ยวนี้ดูใจเขาไม่ทุกข์ | กลับสนุกเพลินจิตพิสมัย | ||
หนึ่งแล้วสองปองสามไม่ขามใคร | จะหาไปกว่าจะเห็นว่าเป็นตัว | ||
ศาสนาดูก็เรียวแล้วเดี๋ยวนี้ | กุมารีพอจะพรากจุกจากหัว | ||
ดูคายคมหัวนมเท่าลูกบัว | พูดถึงผัวชอบใจกระไรเลย ฯ | ||
๏ จนถึงศาลาหกวิตกนัก | ไม่ยลพักตร์ขวัญตานิจจาเอ๋ย | ||
หวนสะอื้นฝืนใจไม่เสบย | ลมรำเพยเพลาก็สายัณห์ | ||
สุริยาเย็นรอนดูอ่อนร่ม | พินิจชมหมู่นกบินผกผัน | ||
โจนจิกจับจอแจเซ็งแซ่กัน | บ้างแบ่งปันเหยื่อป้อนประอรเอียง | ||
กางเขนพลอดนกกรอดกระเรียนร้อง | เหมือนเสียงน้องพลอดเพราะเสนาะเสียง | ||
นกผู้เข้าเคล้าเคลียตัวเมียเมียง | จับจำเรียงร่วมรังประนังนอน | ||
น่าอายพักตร์ปักษานิจจาเอ๋ย | มาขาดเคยคู่เคียงร่วมเรียงหมอน | ||
แม่กกข้างอย่างนกที่กกคอน | จะอุ่นอ่อนอิ่มกมลเมื่อสนธยา | ||
เห็นฟ้าแดงแสงอับพยับเผือด | เหมือนแสงเลือดตาห้อยด้วยคอยหา | ||
ไม่เห็นวลหวนสะอื้นกลืนน้ำตา | พระสุริยายังระย่อเหมือนรอคอย | ||
พอลับดวงดังทรวงจะโทรมหัก | เหมือนร้างรักแรมนิราศเด็ดขาดผ็อย | ||
ขึ้นสิบสามค่ำเดือนไม่เคลื่อนคล้อย | บุหลันลอยเลื่อนมหานภาลัย | ||
แหงนชะแง้แลดูพระจันทร์แจ่ม | เหมือนพวงแก้มนุชน้องอันผ่องใส | ||
ที่วงกลางหว่างดำดูรำไร | เหมือนฝีไฝแต้มดำยิ่งขำคม | ||
ดูดาราดาดาษอนาถนัก | นึกถึงรักรักกันนั้นก็ถม | ||
โอ้ยามค่ำน้ำค้างลงพร่างพรม | ทั้งหนาวลมลมหวนให้รวนเร | ||
เห็นเรือจอดทอดท่าโรงนาหนึ่ง | เขาอื้ออึงชักชวนกันสรวลเส | ||
บ้างถนอมกล่อมลูกที่ผูกเปล | ฟังเขาเห่โหยกระแสงไม่แห้งเครือ | ||
เป็นหลายบทจดจำได้คำหนึ่ง | จะกล่าวถึงลูกสาวชาวเรือเหนือ | ||
ทำมิดีนั่งขี้ที่แคมเรือ | อ้ายปลาเสือเจ้ากรรมพ่นน้ำรด | ||
น่าเสียใจไม่ระวังนั่งละห้อย | ให้แสนโศกโคกน้อยนั้นเปียกหมด | ||
เขาร้องเล่นเห็นความไม่งามงด | แต่ต้องจดจำไว้เพราะได้ฟัง | ||
มาถึงศาลาเจ็ดไม่เสร็จโศก | ยิ่งวิโยคโหยไห้อาลัยหลัง | ||
ถึงโรงเจ้าภาษีฆ้องตีดัง | ตั้วโผนั่งแจ่มแจ้งด้วยแสงเทียน | ||
ไว้หางเปียเมียขาวสาวสล้าง | เป็นจีนต่างเมืองมาแต่พาเหียร | ||
ที่ควมรู้สิ่งไรก็ไม่เรียน | ยังพากเพียรมาได้ถึงใหญ่โต | ||
เห็นดีแลแต่วิชาขาหมูใหญ่ | เราเป็นไทยนึกมาน่าโมโห | ||
มิได้ทำอากรแลบ่อนโป | มาอดโซสู้กรรมจะทำกระไร | ||
ด้วยเขียนวงจำตีที่จำเพาะ | มิรู้จะเสาะหากินที่ถิ่นไหน | ||
ดูหน้าชื่นอกตรมระทมใจ | หามิใคร่ทินกินพูดสิ้นอาย | ||
ซึ่งอุตส่าห์คิดกลอนอักษรแถลง | ใครไม่แจ้งก็ว่าผาสุกหลาย | ||
ที่จริงไซร้ไม่มีที่สบาย | ซังกะตายคิดความไปตามแกน | ||
ไม่มีดีฝีปากก็ผากเผิน | คิดไม่เพลินน้ำใจเพราะไส้แขวน | ||
ทั้งธุระกังวลก็ข้นแค้น | เป็นสุดแสนอัประมาณสงสารตน ฯ | ||
๏ พอออกจากปากคลองได้ล่องน้ำ | เห็นฟ้าคล้ำคลุ้มอับพยับฝน | ||
สุดสังเกตเทศสถานบ้านตำบล | ให้มืดมนมุ่งมาในวารี | ||
ถึงงิ้วรายหมายงิ้วที่งอกหนาม | ไม่ลือนามฟุ้งเฟื่องเหมือนเมืองผี | ||
งิ้วนรกสิบหกองคุลี | คมเหมือนตรีกรดกริบระริบริ้ว | ||
ใครสร้างกรรมทำชู้ด้วยคู่เขา | ให้ร้อนเร่าร้างโรยอยู่โหยหิว | ||
ครั้นชีวันบรรลัยก็ไปล่ปลิว | ไปขึ้นงิ้วยมบาลประหารแทง | ||
น่าพึงกลัวตัวฉันให้พรั่นจิต | แต่นั่งชิดเมียใครยังใจแสยง | ||
ทุกวันนี้ดูใครเขาไม่ระแวง | กลับพลิกแพลงพูดเล่นเย็นเย็นใจ | ||
ว่าเมียเขาเรารักทำควักค้อน | ขึ้นงิ้วอ่อนมือตีนปีนไม่ไหว | ||
แม้สมัครรักเราไม่เป็นไร | จะปีนได้ทุกวันไม่ครั่นคร้าม | ||
ด้วยหนามงิ้วเดี๋ยวนี้ไม่มีมาก | เขาคอยถากอยู่ทุกวันอย่าหวั่นหวาม | ||
จะทำบุญเสียด้วยขวานตระหง่านงาม | ไปถากหนามงิ้วบาดให้ขาดระยำ | ||
ยลบาลนั้นเหนอเกลอกับพี่ | เธอปรานีว่าจะชุบอุปถัมภ์ | ||
ถ้าแม้นหญิงยินยอมให้คร่อมทำ | ที่บาปกรรมนั้นไม่มีดีสุดใจ | ||
ยิ่งเมียเจ๊กแล้วยิ่งดียิ่งมีผล | ขึ้นแต่ต้นผักกาดไม่หวาดไหว | ||
บาลีท่านเถนเท็จมีเม็ดไพร | ฉันไม่ใช้บาลีเช่นนี้เลย ฯ | ||
๏ ถึงโรงหวดตรวจตรึกให้นึกถึง | หม้อหวดนึ่งสังขยานิจจาเอ๋ย | ||
กะทะทองของชื่นกลางคืนเคย | ได้ชดเชยไข่หวานสำราญแรง | ||
ถึงสำประทวนหวนหาให้ปรารภ | จะทวนทบกลับหลังก็ยังแหนง | ||
ข้างหลังหน่วงห่วงหน้าถ้าระแวง | เป็นเขตแขวงบ้านลาวเสียงกราวเรียว ฯ | ||
๏ ยินเขาแอ่วแจ้วจ้าก็น่าเล่น | แต่ต่างเช่นข้าวเจ้ากับข้าวเหนียว | ||
โอ้เราเคยได้ประสมก็กลมเกลียว | ดูเหนียวเตียวแน่นตับสนับใน | ||
ที่รสชาติโอชาประสาเขา | ถึงข้าวเจ้าก็จะดีกว่าที่ไหน | ||
แต่ข้าวเจ้าเบาท้องดูว่องไว | เหมือนพาใจให้ขยันหมั่นทำการ | ||
อันข้าวเหนียวกินดีแต่ขี้เกียจ | ลงนอนเหยียดแบหลาไม่ว่าขาน | ||
เมื่อยามอยากหากประสบได้พบพาน | ก็มันหวานล่อคอพอเสบย | ||
พอนาวาคลาคล่องเข้าคลองที่ | ชื่อเจดีย์บูชานิจจาเอ๋ย | ||
ค่อยมีใจหมายมาบูชาเชย | ด้วยไม่เคยยลพระปรางค์จะอย่างไร | ||
หวังจะถึงให้ทันตะวันรุ่ง | พอออกทุ่งเกิดกรรมจะทำไฉน | ||
เมฆพยับอับมิดทุกทิศไป | พายุใหญ่พัดโหมมาโครมครืน | ||
ถูกเรือปั่นหวั่นยวบเสียงสวบสาบ | พาขยาบขึ้นฝั่งไปทั้งผืน | ||
จนเรือเสยเกยฝั่งอยู่ยั่งยืน | สุดจะฝืนฟ้าฝนต้องจนมุม | ||
ฉันนิ่งนึกภาวนานิจจาเอ๋ย | กระไรเลยเมขลาไม่มาอุ้ม | ||
ให้ต้องฝนทนฟ้าน้ำตาฟูม | เสียงฟ้าตูมตึงลั่นหวั่นวิญญาณ์ | ||
เด็กเด็กตกใจจริงออกวิ่งวุ่น | เข้าประทุนคลุมหัวกลัวหนักหนา | ||
ได้หยุดร่มสมถวิลที่จินดา | เขาก็พากันหลับกลับสบาย | ||
เราผู้เดียวเปลี่ยวใจมิได้ม่อย | เผ้านั่งคอยบ้าบ่นให้ฝนหาย | ||
จนล่วงสองยามพ้นฝนจึงคลาย | เด็กทั้งหลายหลับไหลไม่สะเทื้อม | ||
แต่ปลุกสั่นงันงกหัวตกหมอน | ยังมัวนอนขดคู้เหมือนงูเหลือม | ||
ที่ฟื้นบ้างนั่งโยกดูโงกเงื้อม | ทำเซื่อมเซื่อมซ่องแซ่งเรี่ยวแรงโรย | ||
ต่ออื้ออึงจึงค่อยฟื้นครั้นตื่นแล้ว | ออกเรือแจวหน้านิ่วทำหิวโหย | ||
ช่างเกียจคร้านนักหนานึกน่าโบย | แต่หากโดยเวทนาเมตตาคุณ | ||
ด้วยขันตีมีมั่นจึงผันผ่อน | ให้เข้านอนเสียทั้งนั้นไม่หันหุน | ||
ฉันลุกขึ้นแจวบ้างหวังเอาบุญ | ได้อุดหนุนในกุศลผลอนันต์ ฯ | ||
๏ สองคนกับตาด้วงไม่ง่วงเหงา | ร่วมใจเราศรัทธาอุตส่าห์ขยัน | ||
ทั้งมืดค่ำน้ำเชี่ยวเปล่าเปลี่ยวครัน | แจวไม่ทันเพื่อนเรือเหลือระอา | ||
ทั้งสองฝั่งทางเลี่ยนดูเตียนโล่ง | เป็นที่โยงย่านใหญ่ไกลหนักหนา | ||
ถ้าแม้นขึ้นโยงได้แล้วไม่ช้า | ผิดเวลาเสียแล้วต้องแจวไป | ||
จนเกือบสุดโยงย่านรำคาญนัก | ต้องหยุดพักเหนื่อยแล้วแจวไม่ไหว | ||
แวะเข้าที่สุมทุมใต้พุ่มไม้ | ตาด้วงได้เหนื่อยนักขอพักนอน | ||
ฉันผู้เดียวเปลี่ยวใจมิได้หลับ | ให้รำสับรำส่ายถึงสายสมร | ||
เมฆพยับอับแสงศศิธร | ยิ่งอาวรณ์หวั่นทรวงให้ง่วงงึม ฯ | ||
๏ ดึกสงัดเงียบงอมทุกหย่อมหญ้า | โขมดป่าโหยหวนครวญกระหึม | ||
เห็นเงาไม้ดำดำดูครำครึม | เสียงพึมพึมน่ากลัวขนหัวชัน | ||
นกทึดทือทิ้งทูดมันพูดผิด | เสียงพิทิดกี่ทีไม่มีขวัญ | ||
ทั้งเค้ากู่กู่โก่นตะโกนกัน | ให้ไหวหวั่นหวาดกมลให้ขนพอง | ||
นิจจาเอ๋ยเคยสำราญอยู่ฐานถิ่น | มาได้ยินสัตว์ป่าน่าสยอง | ||
แจ้วแจ้วจักจั่นสนั่นร้อง | เหมือนเสียงฆ้องแตรสังข์ดังบรรเลง | ||
ทั้งแม่ม่ายลองไนเรไรหริ่ง | เหมือนกรับฉิ่งฉาบเพราะดูเหมาะเหมง | ||
ประสายากหากฟังให้วังเวง | นึกว่าเพลงกล่อมอกเมื่อตกไร้ | ||
แจ้วแจ้วแว่วเสียงจังหรีดกรีด | เหมือนน้องหวีดวาบวับไม่หลับไหล | ||
ดูดาวเคลื่อนเดือนดับลับครรไล | สกุณไก่ขันกราวหนาวอุรา | ||
จวนจะรุ่งรางรางน้ำค้างตก | คณานกเกริ่นร้องก้องเวหา | ||
พฤกษาชาติชื่นแช่มแย้มผกา | พระพายพาเกสรขจรขจาย ฯ | ||
๏ แซ่สำเนียงเสียงดุเหว่าก็เร่าร้อง | ดูแสงทองทิศบูรพ์จำรูญฉาย | ||
สุริยาแย้มดวงโชติช่วงพราย | เด็กทั้งหลายตื่นชำระสระกายา | ||
ให้หุงต้มรับประทานอาหารแล้ว | ออกเรือแจวไปพลันค่อยหรรษา | ||
ถึงสถานบ้านธรรมศาลา | ที่ริมท่าโรงธรรมอยู่อำไพ | ||
คิดถึงเพียรเรียนร่ำพระธรรมเจ้า | ได้บอกเล่าผันแปรแก้สงสัย | ||
ยังไม่พ้นตกอับแคบคับใจ | เทพไทจงเห็นเป็นพยาน | ||
ที่ตรองตรึกนึกผลกุศลไว้ | ยังมิได้สมจิตอธิษฐาน | ||
อย่าให้ถึงยากยับอัประมาณ | ขอบันดาลดูสักครั้งให้จังจริง | ||
พอเรือแล่นลมชวยระทวยอ่อน | ด้วยอดนอนยังรุ่งไม่สุงสิง | ||
ให้ง่วงงมลมใส่ใจวิงวิง | ลงเอนหมอนนอนนิ่งไม่ติงกาย | ||
หลับสนิทถึงไหนก็ไม่รู้ | ตื่นขึ้นดูสุริยาเวลาสาย | ||
ถึงห้วยจระเข้คิดนามขามระคาย | กุมถีล์ร้ายฤๅไฉนถึงได้ลือ ฯ | ||
๏ โอ้ยามจนข้นขอดไม่ปลอดโปร่ง | จระเข้จระโขงฮุบไปเถิดไม่ถือ | ||
แค้นแต่อ้ายปลาซิวเท่านิ้วมือ | มันร่ำรื้อตอดตับหนุบหนับไป | ||
เที่ยวประจบสบแยบแล้วแอบแฝง | มีทุกแห่งทุกหนทนไม่ไหว | ||
มีคนเลี้ยงคนรักมักให้ใจ | มันจึงได้หน้าตาออกซ่าซ้อง | ||
เรือมาตามคามนิคมชมสถาน | ดูเรือนบ้านแน่นหนาสินค้าของ | ||
พอถึงพระปฐมด้วยสมปอง | เรือทั้งสองฝั่งฟากดูมากมี | ||
จะหลีกัดเข้าใกล้ไม่ตลอด | ต้องแวะจอดที่ท่าหน้ากงสี | ||
ขุนพัฒน์ใหญ่ใส่บ่อนละคอนมี | เสียงเขาตีพิณพาทย์ระนาดรัว | ||
เห็นเกลื่อนกล่นคนผู้ออกพรูพรั่ง | เรือประดังจอดก่ายทั้งท้ายหัว | ||
พบนางหนูชู้กันเคยพันพัว | มาได้ผัวผู้ดีมั่งมีเงิน | ||
พอเรือเคียงเลี่ยงหน้าไม่ปราศรัย | ครั้นถามไถ่ต่อว่าทำหน้าเจิ่น | ||
ให้สบถก็ไม่รับกลับว่าเอิน | ใช้ให้เลินเล่อไยใครจะคอย | ||
เจ้าสำนวนปรวนแปรต้องแพ้เขา | โอ้ใจเราก็ไม่คิดจะติดสอย | ||
จะรีบไปไหว้พระไม่ตะบอย | เรียกเด็กน้อยจัดแจงตกแต่งกาย ฯ | ||
๏ จัดธูปเทียนคนธ์ธารสุมาลย์มิ่ง | ขึ้นตลิ่งพากันรีบผันผาย | ||
ตามสถลยลสถานร้านโรงราย | แม่ค้าขายมาคล่ำทุกตำบล | ||
นั่งเรียบร้อยคอยรับสัปปุรุษ | อุตลุดจ่ายจับกันสับสน | ||
สนุกสนานลานดูล้วนผู้คน | เหมือนถนนธานีน่าปรีดิ์เปรม | ||
พวกสัปปุรุษสุดใจไปไหว้พระ | ที่สาวสระทรวดทรงดังหงส์เหม | ||
พักตร์แฉล้มแย้มยิ้มดูอิ่มเอม | แสนเกษมเบียดเสียดได้เฉียดชิม | ||
ที่เจนจัดดัดจริตไม่ราบคาบ | ที่สุภาพก็เจียมเสงี่ยมหงิม | ||
นึกเอ็นดูอยู่แต่ที่สีทับทิม | ดูจิ้มลิ้มนวลละอองเหมือนทองทา | ||
เข้าในลานชานที่เจดียฐาน | งามตระหง่านสูงเยี่ยมเปี่ยมเวหา | ||
เป็นเชิงชั้นหลั่นลดรจนา | มีศาลารายรอยเป็นขอบคัน | ||
มีพระพุทธไสยาสน์ศิลาอ่อน | เป็นอย่างก่อนเก่าสร้างช่างขยัน | ||
มาแต่เมืองหงสาคือรามัญ | อยู่เบื้องบันบูรพาศาลายง | ||
ที่ชั้นสองมีระเบียงดูเรียงเรียบ | ทั้งระเบียบโบสถ์รามงามระหง | ||
มีเจดีย์ที่สองจำลองทรง | อีกทั้งองค์ปรางค์สนองจำลองไว้ | ||
ด้วยเดิมเห็นเป็นที่เจดียฐาน | พระยาพานเสริมสร้างเป็นปรางค์ใหญ่ | ||
เดี๋ยวนี้ถมเป็นที่เจดีย์ไป | หวังจะให้คนเห็นอย่างเช่นเดิม | ||
ที่พระปฐมทำต่อก่อด้วยอิฐ | สวมสนิทใหญ่ประมูลโบกปูนเสริม | ||
กระเบื้องลายพรายระยับประดับเติม | เป็นที่เฉลิมศรัทธาสาธุชน | ||
แต่ยังสวมยอดปรางค์อยู่อย่างนั้น | แสงสุวรรณแวววาวห้องหาวหน | ||
ที่บนฐานลานระเบียงเสียงสวดมนต์ | ทั้งเสียงคนตีระฆังประดังกัน | ||
ทั้งคฤหัสถ์พระสงฆ์ทรงสิกขา | ต่างบูชาปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ | ||
ด้วยบารมีไตรรัตน์มหัศจรรย์ | เป็นมหันต์สักการโอฬารตา | ||
ฉันเกิดความปรีดีเป็นที่สุด | ประจงจุดเทียนธูปทั้งบุปผา | ||
ถวายพระบรมธาตุศาสดา | ด้วยศรัทธาเลื่อมใสในสันดาน | ||
ศิโรราบกราบลงด้วยองค์ห้า | พร้อมวาจากายจิตอธิษฐาน | ||
ถึงคุณพระพุทธองค์ผู้ทรงญาณ | ซึ่งนิพพานสุขดับลับล่วงไป | ||
ยังประทานบรมธาตุศาสนา | โปรดประชาบำเพ็ญเป็นนิสัย | ||
ข้าเกิดกายภายหลังขอตั้งใจ | เหมือนได้ไหว้บัวบาทพระศาสดา | ||
แล้ววันทาสมาทานการกุศล | ทั้งสวดมนต์อภิวาทปรารถนา | ||
พอยามเย็นยินดีชุลีลา | ไปหาพระยาสุธรรมไมตรี | ||
หยิบเงินบาทน้อมนบจบเกศา | ขอบูชาคุณพระชินศรี | ||
เป็นส่วนสร้างปรางค์ปฐมเจดีย์ | ท่าสุธรรมซ้ำมีกรุณา | ||
ครั้นไต่ถามนามฉันท่านรู้จัก | เลยชวนชักพูดกันด้วยหรรษา | ||
ท่านเล่าความให้ฟังแต่หลังมา | พระธาตุปาฎิหาริย์บันดาลเป็น | ||
พระรัศมีสีอร่ามงามหนักหนา | ยิ่งศรัทธาเลื่อมใสใคร่อยากเห็น | ||
แล้วอำลามาเรือด้วยเหลือเย็น | จนพวกบ่อนละคอนเล่นเขาเลิกนาน | ||
ฉันหาเขาว่าพรุ่งนี้จะมีประโยชน์ | เล่นสมโภชในที่เจดียฐาน | ||
เขาบอกว่าจะรีบกลับไปรับงาน | ด้วยราชการลอยกระทงประสงค์มา | ||
ก็จนจิตคิดน่าน้ำตาไหล | แต่เลื่อมใสแล้วยังคลาดวาสนา | ||
ครั้นพลบค่ำจุดดอกไม้ไฟบูชา | ยังลานมหาพุทธรูปสถูปทรง | ||
ครั้ยรุ่งขึ้นเป็นวันปัณรสี | แสนยินดีตักบาตรอังคาสสงฆ์ | ||
จัดผ้าเหลืองน้ำหอมพร้อมทองธง | ไปยังองค์พระปฐมด้วยสมปอง | ||
บังคมคัลวันทามหาสถูป | จุดเทียนธูปปักธงจำนงสนอง | ||
โปรยน้ำอบสรงพระประละออง | แล้วถือทองเที่ยวปิดทุกทิศไป ฯ | ||
๏ ขมาโทษโบสถ์รามตามวิหาร | พระประธานปางก่อนพระนอนใหญ่ | ||
ปิดทองพระสระสรงทุกองค์ไป | แล้วกราบไหว้อุทิศพิสดาร | ||
แล้วอำลามาไหว้พระลายลักษณ์ | มีกงจักรประดับมุกสุกแสงฉาน | ||
ไหว้พระพุทธสิลาไสยาการ | แล้วขึ้นฐานเจดีย์ที่ชุมชน | ||
จึงหยิบสามผืนผ้ากาสาวพัสตร์ | น้อมนมัสพุทธคุณวิรุฬผล | ||
จ้างเขาขึ้นไปพลันบนชั้นบน | ห่มถึงจนคอระฆังตั้งชุลี | ||
จึงจ้างพวกพิณพาทย์พิฆาตโหม | เสียงประโคมครื้นครั่นสนั่นมี่ | ||
แล้วทำประทักษิณด้วยยินดี | ครบสามรอบชอบที่นิยมชม | ||
แล้วน้อมนบอภิวาทปรารถนา | เดชะข้าคารวะพระปฐม | ||
ด้วยกุศลล้นลบที่อบรม | ขอให้สมเสร็จประโยชน์โพธิญาณ | ||
แม้วาสนาข้านี้ยังบกพร่อง | ยังเที่ยวท่องอยู่ในวัฏสงสาร | ||
ขอเกิดในมงคลจักรวาฬ | ขอพบพานสมเด็จพระพุทธองค์ | ||
พบทั้งพระปัจเจกโพธิล้ำ | พบพระธรรมพบพระอริยสงฆ์ | ||
ขอพบปราชญ์ปรีชาปัญญายง | ขอซื่อตรงสัตยาบารมี | ||
หนึ่งบิดามารดาสาโลหิต | ทั้งเมียมิตรบุตรญาติทาสทาสี | ||
ให้ใจธรรมสัมมาทฤษฎี | ร่วมไมตรีร่วมใจได้ทุกคน | ||
ขออย่าให้วิปลาสเหมือนชาตินี้ | ได้เป็นที่อุปถัมภ์ทำกุศล | ||
อันหญิงร้ายชายชาติทรชน | ให้หลีกพ้นอย่าได้มาสมาคม | ||
ที่สิ่งไรทุจริตอย่าคิดสมัคร | ขอให้รักสุจริตสนิทสนม | ||
อย่าให้หลงโลกีย์ที่นิยม | ให้อบรมไตรลักษณญาณ | ||
ทุกทุกชาติปรารถนากว่าสำเร็จ | สรรเพชญ์พ้นหลงในสงสาร | ||
แล้วแผ่ส่วนพระกุศลวิมลมาลย์ | แก่สัตว์ทั่วทุกสถานทุกธาตรี | ||
ปรารถนาเสร็จสบายแล้วผายผัน | ขึ้นสู่ชั้นทักษิณพระชินศรี | ||
ไต่ตามแถวแนวสะพานนั่งร้านมี | ถึงเจดีย์สูงเดี่ยวเสียวเสียวใจ | ||
พลางนั่งทรุดหยุดดูแผ่นดินล่าง | ยิ่งเวิ้งว้างแลลิ่วหวิวหวิวไหว | ||
เห็นริ้วริ้วทิวทุ่งถึงกรุงไกร | ทั้งทิวไม้ทิวเขาลำเนาดง | ||
ต้นยางสูงยูงพะยอมค้อมเรี่ยเรี่ย | ดูต่ำเตี้ยกุฎีที่พระสงฆ์ | ||
ลมพัดพานปานจะตกให้งกงง | ต้องรีบลงเร็วพลันมิทันช้า | ||
พาเด็กเด็กลดเลี้ยวเที่ยวออกนอก | ตามเซาะซอกศีขรชะง่อนผา | ||
เป็นลดหลั่นชั้นช่องปล่องศิลา | มีคูหาห้องระหงเที่ยววงเวียน | ||
รูปอาศรมสิทธาอยู่อาศัย | รูปวิไลหลากหลากเหมือนฉากเขียน | ||
ท่านสร้างสรรค์โสภาดูอาเกียรณ์ | รูปมณเฑียรกษัตราพระยาภาณ | ||
เธอทรงช้างยกพหลพลพิฆาต | พระบิตุราชพระยากงปลงสังขาร | ||
ฆ่ายายหอมมารดาเลี้ยงมานาน | ด้วยแจ้งการปกปิดซึ่งกิจจา | ||
อันเรื่องราวพระยาภาณนี้นานนัก | คนรู้จักเล่ากันนั้นนักหนา | ||
ผิดกับพงศาวดารฉันอ่านมา | สุดจะว่าให้ละเมียดละเอียดลออ | ||
ความไกลตาต่างกันกระนั้นกระนี้ | จะเป็นที่สงสัยอย่างไรหนอ | ||
สมุดสามสิบใส่ก็ไม่พอ | ไม่มีข้อสำคัญนั้นอย่างไร | ||
แต่ที่นี้บัณฑิตเขาคิดเห็น | เดิมจะเป็นรามคามพระหมณ์วิสัย | ||
จึงขุดได้ศิวลึงค์ที่พึงใจ | ในต่ำใต้พระสุธาทั้งบาลี | ||
เป็นอักษรพราหมณ์เก่าเมื่อเขาเห็น | แปลออกเป็นคำพระชินศรี | ||
ซึ่งพระธาตุปาฏิหาริย์บันดาลมี | ที่ข้อนี้สำคัญมั่นแก่ใจ | ||
ด้วยผู้ญาณรู้เห็นเป็นมหันต์ | ควรอัศจรรย์ศรัทธาน่าเลื่อมใส | ||
อย่ากังขาพาบุญนั้นน้อยไป | ควรกราบไหว้ปฏิบัติด้วยศรัทธา | ||
ค่ำวันนั้นฉันจุดดอกไม้เพลิงถวาย | แล้วน้อมกายอภิวาทปรารถนา | ||
จนยามเศษราตรีชุลีลา | ลงนาวารีบกลับมาฉับพลัน | ||
ฉันไปไหว้พระปฐมบรมธาตุ | แต่งนิราศไว้เป็นกลอนอักษรสรรค์ | ||
ใครอ่านยลยินคำข้อสำคัญ | ขอให้ปันส่วนกุศลทุกคนไป | ||
จงโมทนาแต่ที่จะมีผล | แต่ข้างต้นอย่างพะวงคิดหลงใหล | ||
ซึ่งร่ำรักร่ำร้างมาอย่างไร | ตามนิสัยนักกลอนแต่ก่อนกาล | ||
ไม่ติดสังวาสไว้ก็ไม่เพราะ | เหมือนทองหยิบก็ต้องเหยาะน้ำตาลหวาน | ||
อ่านเล่นแต่พอหายวายรำคาญ | อย่าประมาณหลงใหลในใจจง | ||
เป็นเดียรัจฉานกถาวาจาเท็จ | เบ็ดเตล็ดโลกีย์ที่ลุ่มหลง | ||
แม้โมหาก็จะพาให้ว่ายวง | อยู่ในสงสารนานเหลือทานทน | ||
จะเกิดบาปแก่ฉันผู้พรรณนา | จงเลือกหาแต่สว่างทางมรรคผล | ||
ธรรมดาเกิดมาเป็นตัวตน | มิได้พ้นทุกข์อำนาจชาติชรา | ||
เมื่อเจ็บตายกายก็เหม็นเป็นประจักษ์ | พระไตรลักษณ์นั้นแลจริงทุกสิ่งสา | ||
เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา | เพราะตัณหาก่อทุกข์ให้ลุกลาม | ||
ด้วยรูปรสกลิ่นเกลี้ยงเสียงสัมผัส | เครื่องกำหนัดพบาปล้วนหยาบหยาม | ||
ตัดตัณหาอย่างหลงพะวงกาม | พยายามปฎิบัติตามอัษฎางค์ | ||
อาทิธรรมคือสัมมาทิฐิ | จนสัมมาสมาธิเร่งเาสะสาง | ||
จงทำตามคำพระอย่าละวาง | เป็นหนทางสู่สถานนิพพาน เอย. | ||
เชิงอรรถ
ที่มา
นิราศพระปฐม หลวงจักรปาณี (มหาฤกษ์) พิมพ์ครั้งที่ห้า งานฌาปนกิจศพ นางสาวเฉลียว วิไลรัตน์ พ.ศ.๒๕๑๓