เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4
  พิมพ์  
อ่าน: 1514 คุยกันเรื่องวิลเลียม ซอมเมอเซท มอห์ม (William Somerset Maugham)
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 41305

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 27 มิ.ย. 25, 13:43

     5  ด้วยเหตุนี้ เคานเตสจึงตอบโฮเซ่ว่า
      “ฉันเกรงว่าแกจะต้องเลือกเอาระหว่างฉันกับคนรักของแกเสียแล้วละ”
      ฟังเผินๆก็เป็นคำพูดธรรมดา ได้ความหมายว่า "จะทำงานต่อไปหรือจะลาออกก็เลือกเอา"   แต่ ฉัน กับ คนรักของแก  กลับเป็นคำที่ถูกนำมาวางคู่กัน ให้เลือก  ทั้งๆมองจากภายนอกผู้หญิงทั้งสองคนอยู่คนละสถานะ  ไม่ได้อยู่ในสภาพที่จะต้องรับการเลือกใดๆ   
     แต่โฮเซ่ก็เข้าใจรอยยิ้ม และคำพูดธรรมดาๆ นั้นอย่างแจ่มแจ้ง
     6  มอห์มอธิบายคำตอบของโฮเซ่ ตามนี้
     เขาเหลือบมองเคาน์เตส   และรอยยิ้มคมเค็มก็ปรากฏขึ้นบนใบหน้า เป็นรอยยิ้มประเภทชาวอันดาลูเซียด้วยกันต่างเข้าใจดี
     ชาวอันดาลูเชียในสเปนได้ชื่อว่าเป็นคนเจ้าคารม  ไม่ชอบบอกอะไรตรงๆทื่อๆ   ถ้าพวกเขาตั้งใจจะหมายความอย่างหนึ่ง เขาจะใช้คำพูดอีกอย่างหนึ่ง แต่ก็เป็นที่เข้าใจกันถึงความหมายเบื้องหลังคำ
    เช่นถ้าหนุ่มชวนสาวไปออกเดทตอนค่ำกัน   สาวจะไม่ปฏิเสธตรงๆ แต่จะตอบว่า " ฉันว่าเย็นนี้ฝนตกนะคะ" ก็เป็นอันเข้าใจว่านางปฏิเสธอย่างนุ่มนวล
   ( ถ้าคนอ่านจะบ่นว่า...เรามันคนต่างชาติ จะไปรู้ได้ยังไงว่าพวกอันดาลูเชียคิดอะไร    มอห์มก็ช่วยไขปริศนาให้ด้วยการบรรยายรอยยิ้มของโฮเซ่ว่า "คมเค็ม"  ภาษาอังกฤษใช้คำว่า shrewd  ดิกชันนารีแปลคำนี้ว่า เจ้าเล่ห์   แต่ถ้าจะแปลว่าเจ้าเล่ห์ ก็จะแรงเกินไป  เพราะจะกลายเป็นว่าโฮเซ่เป็นคนแปดเหลี่ยมสิบสองคม ซึ่งไม่ใช่ความหมายที่มอห์มต้องการนำเสนอเมื่อดูจากองค์รวม   
     ด้วยคำนี้  คนอ่านจะได้ดูออกว่า โฮเซ่ไม่ได้ตอบนายสาวอย่างซื่อๆตรงไปตรงมา แน่นอน)
    โฮเซ่จึงตอบเคานเตสว่า
    “ ถ้าอย่างนั้น กระผมก็ไม่อาจลังเลได้อีกขอรับ    ปิลาร์ต้องเข้าใจว่าถ้าเราแต่งงานกัน  กระผมต้องเปลี่ยนสถานภาพตนเองโดยสิ้นเชิง      เมียนั้นเราจะหาเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ความเป็นอยู่อย่างกระผมมีเพียงครั้งเดียวในชีวิต  กระผมคงจะโง่มากถ้าปล่อยให้หลุดมือไป"
    ผู้หญิงอย่างปิลาร์ คือหญิงสาวสวยที่ยากจนพอกับเขา   ผู้หญิงแบบนี้มีมากมาย   หนุ่มรูปหล่ออย่างโฮเซ่ยังไงก็หาได้อยู่แล้ว
    แต่ความเป็นอยู่ที่มั่นคงตามอัตภาพ มีรายได้ประจำ มีนายสาวเศรษฐีนีคนงาม ที่'อาจจะ' ให้โอกาสแก่เขาบ้างตามวาระอันควร  เป็นสิ่งที่โฮเซ่เรียกว่า 
    ความเป็นอยู่อย่างกระผมมีเพียงครั้งเดียวในชีวิต  กระผมคงจะโง่มากถ้าปล่อยให้หลุดมือไป
    นี่คือการมองชั้นที่ 2  ที่มอห์มบอกใบ้ตรงนั้นนิด ตรงนี้หน่อย ได้คนช่างสังเกตได้สังเกตเอาเองค่ะ    ถ้าใครไม่สังเกตก็เข้าใจแบบที่อ่านตอนต้นกระทู้น่ะละ
    (ยังมีต่อ)

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 41305

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 27 มิ.ย. 25, 19:24

    ดูจากบทสนทนา  เราอาจตีความลึกลงไปได้ว่า ก่อนหน้านี้ เคานเตสและโฮเซ่ยังไม่ได้เป็นอะไรกันมากกว่านายหญิงกับคนรับใช้   เขาเองก็ไม่มีท่าทีว่าจะมักใหญ่ใฝ่สูง    แต่เมื่อเคานเตสเปิดทางให้  โฮเซ่ก็ไม่โง่พอจะมองไม่ออก   เมื่อมองออก เขาย่อมไม่ปฏิเสธโชคที่ลอยมาถึงมือ
    มันดีกว่าเขาจะต้องออกจากงาน  ถูกสังคมตราหน้าว่าบังอาจไปพาลูกสาวท่านดยุคหนี  ถูกประณาม ถูกสมน้ำหน้า  อาจต้องร่อนเร่ไปตายเอาดาบหน้า   ตกระกำลำบากกันจนตายทั้งสองฝ่าย
    เขารู้ว่าคนอย่างเขาไม่มีทางเป็นอย่างอื่นมากกว่าสารถี    แต่แค่มีรายได้ประจำ  มีนายที่โปรดปรานเขา  มีงานที่ชอบ  แค่นั้นก็พอแล้ว   ถ้าหากว่านายเกิดเมตตาเขาเป็นพิเศษ   เขาก็ยินดีรับ  แต่เขาจะไม่มีวันทำลายตัวเองและตัวเธอด้วยการปากโป้งเกินควร
    ข้อนี้ เคานเตสรู้ดีว่า เรื่องระหว่างเธอกับเขาย่อมจะเป็นความลับตลอดไป    รู้ว่าเขาไม่ใช่คนทะเยอทะยานมากไปกว่านั้น    เธอจะเดินหน้าต่อ หรือจะหยุดก็ได้ทั้งสิ้น   ทั้งสองต่างรู้ใจว่าควรทำอะไรแบบไหน  เหมือนเขากับเจ้าล่อที่เขาขับขี่ต่างรู้ใจกัน
   แล้วอย่างนี้ เราจะเรียกโฮเซ่ว่าเป็นคนโง่ คนกระจอก คนเลว   หรือคนที่รู้จักประมาณตัวและยอมรับชีวิตอย่างที่มันเป็น   ไม่ใช่ควรเป็นอย่างที่เขียนกันไว้ในนิยายรักทั้งหลาย
    
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 41305

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 28 มิ.ย. 25, 10:18

  แต่มอห์มไม่ได้วางความลึกไว้แค่ 2 ชั้น   ยังมีอีกชั้นหนึ่ง ลึกลงไปกว่านี้อีก
  เคานเตสเป็นผู้หญิงฉลาด   เห็นได้จากเธอดูออกทะลุปรุโปร่งว่าจะผลักดันปิลาร์กลับไปหาพ่อแม่ได้อย่างไร   เรื่องนี้พ่อแม่พี่น้องของปิลาร์ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีเกียรติสูงส่ง ไม่มีปัญญาจะทำได้    เมื่อดัชเชสจำต้องมาวิงวอนงอนง้อเคานเตสอย่างหมดประตูสู้ เธอก็ถือเป็นชัยชนะที่จะต้องทำให้สำเร็จ
   เธอวางเบ็ดให้โฮเซ่งับ  เขาก็งับสมใจเธอ   ปิลาร์จำต้องกลับไปหาพ่อแม่
   จากนั้น  เคานเตสจะทำ-หรือไม่ทำ-อะไรกับสารถีรูปหล่อ  ก็ขึ้นอยู่กับเธอละค่ะ    คนอย่างโฮเซ่ไม่มีปัญญาจะต่อกรกับชั้นเชิงเธอแน่ๆ
   ไม่ว่าเธอจะเป็นภรรยาของท่านเคานต์คนใดคนหนึ่งอยู่  หรือว่าเป็นแม่ม่ายก็ตาม    เธอเลือกได้ว่าจะมี 'ของเล่น' ในยามว่าง หรือจะไม่ทำเพราะเห็นว่าไม่คุ้มกับความเสี่ยง  ก็ได้ทั้งสองทาง     ถึงอย่างไร โฮเซ่ก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเป็นสารถีตลอดไปอยู่แล้ว 
    มอห์มทิ้งท้ายไว้ให้คนอ่านขบคิดกันเองต่อไป
    วรรณกรรมชั้นเยี่ยมมักไม่จบแบบคนอ่านอ่านจบแล้วก็ปิดหนังสือ บอกตัวเองว่า เอาละ หมดไปอีกเล่ม  แต่จะจุดประกายจินตนาการให้คนอ่านได้คิด ได้สงสัย ได้วาดภาพต่อไปตามใจ  เป็นการฝึกสมองและฝึกจินตนาการจากวรรณศิลป์ของผู้ประพันธ์
    แต่ถ้าจะอ่านแบบอ่านเอาเนื้อเรื่อง ไม่คิดอะไรต่อ  คิดแล้วปวดหัว จะเอาอะไรกันนักกันหนา ฯลฯ  มอห์มก็ไม่ว่าอะไร    หน้าที่เขาคือปรุงอาหารวรรณกรรมใส่จานมาให้บริโภค  จะกินให้หมดทุกอย่างในจาน หรือจะเลือกกินเฉพาะเนื้อ เฉพาะผัก หรือเฉพาะน้ำแกง  ก็เป็นสิทธิ์ของคนเสพวรรณกรรม  ไม่ใช่สิทธิ์ของนักประพันธ์

รอเรื่องต่อไปนะคะ
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 8428


ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 28 มิ.ย. 25, 10:27

           หากเรื่องนี้เล่าแต่เพียงเรื่องรักต่างชนชั้น ที่จบลงด้วยว่าพ่อเทพบุตรชาวดินเลือกล่อสองตัวมากกว่าดอกฟ้าที่มาแต่ตัว
          ก็จะอยากเรียกว่าเป็นเรื่อง rom-com แต่เป็นโรมานซ์ขำขื่นตลกร้ายสำหรับฝ่ายหญิง
          แต่ท่านมอห์มแต่งเติมเงื่อนปมให้อ่านจบแล้วชวนขบคิดต่อ  ดัชเชสกับเคานเตสไม่ถูกกันแต่เคานเตส(ยินดี?)ช่วยเพราะ
เป็นโอกาสที่จะได้วางเงื่อนไขให้โฮเซ่เลือก"ระหว่างฉันกับคนรักของแก" เพื่อเธอจะได้รู้เรื่องไปเลยว่าจะหยุดหรือรุกคืบไปต่อกับโฮเซ่
เพราะความสัมพันธ์เดิมระหว่างโฮเซ่กับเคานเตสนั้นน่าจะมีอะไรๆ อยู่บ้างมากกว่านายกับบ่าว ทำให้โฮเซ่"ไม่มีวี่แววนอบน้อม
กลัวเกรงอย่างคนรับใช้พึงแสดงต่อนาย" และเมื่อโฮเซ่เลือก"ฉัน" แล้วคนอ่านก็คาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรต่อไป
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 41305

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 28 มิ.ย. 25, 11:28

  ถูกของคุณหมอค่ะ
 ในภาษาที่เรียบง่าย และบทสนทนาที่ธรรมดาๆ  มอห์มซ่อนชั้นเชิงเอาไว้ให้คนอ่านเถียงกันได้ไม่รู้จบ
  แม้แต่ในการวางท่าทีของโฮเซ่ต่อหน้านายหญิง ที่ปราศจากความนอบน้อมกลัวเกรง  แม้ว่าวาจาสุภาพ และไม่มีความคิดจะโต้แย้งคำสั่ง  ก็ตีความได้หลายแบบ
  1   บุคลิกเขาสง่างามในเนื้อแท้  สมเป็นผู้ดีตกยาก
  2   ก็ความสง่าในตัวเองแบบนี้แหละที่ต้องตาเคานเตสมาก่อนหน้านี้แล้ว
  3   ยังไม่มีจังหวะที่เธอจะเปิดหนทางให้ จนถึงวันนี้
   หรือ
  4   ต่างคนต่างก็ส่ง 'ซิก' เป็นนัยๆ ว่าถูกชะตากันมาก่อนหน้านี้แล้ว    เพียงแต่ยังไม่มีโอกาสจะเริ่มสักที
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 2056



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 28 มิ.ย. 25, 13:42

เคยรู้จักแต่ชื่อมอห์ม แต่ไม่เคยอ่านงานของเขาครับ

ได้อ่านที่ อ. เอามาเล่าแล้วก็รู้สึกสนุกดีครับ ผมชอบโจ๊กฝรั่ง โดยเฉพาะแบบที่อ่านจบแล้วต้องคิดสักพักถึงจะหัวเราะออกมาดังๆ ได้บรรยากาศคล้ายๆกับอ่านเรื่องนี้ครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
superboy
สุครีพ
******
ตอบ: 818


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 28 มิ.ย. 25, 14:03

ให้ผมสรุปความแบบวัยรุ่นสร้างตัวก็คือ...เคานเตสกินรวบสองเด้ง ได้หนี้บุญคุณจากศัตรูตัวฉกาจ รวมทั้งได้ผู้เป็นชายหนุ่มรูปงามโดดเด่น ส่วนปิลาร์สาวน้อยคนสวยเปิดก่อนได้ปูด ถูกผู้ชายทอดทิ้งเนื่องจากตัวเองไม่มีทรัพย์ (รักแท้กินไม่ได้) แต่ยังนับว่าโชคดีได้แต่งงานกับมาควิสแห่งเอสเตบันถือว่าไม่เลว

รักแรกพบอันเกิดจากการจ้องตาได้พลันสิ้นสุดเพราะท่านเคานเตส ส่วนอนาคตจะเป็นเช่นไรรบกวนผู้อ่านจินตนาการต่อเอง (ตามแบบฉบับนิยายปลายเปิด)




บันทึกการเข้า
superboy
สุครีพ
******
ตอบ: 818


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 28 มิ.ย. 25, 14:07

ผมพอมีเรื่องสั้นของมอห์มอยู่เหมือนกันครับ ต้องหาเวลาว่างอ่านสร้างเสริมประสบการณ์ตัวเองบ้าง  ยิ้มกว้างๆ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 41305

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 28 มิ.ย. 25, 15:03

     นี่ก็คือจุดจบของเรื่อง   โฮเซ เลออนยังคงขับรถม้าของเคานเตสเดอมาร์เบลลาต่อไป     แต่เธอสังเกตเห็นว่าเมื่อรถม้าวิ่งขึ้นลงตามถนนสายที่เธอไปประจำ   สายตาของผู้หญิงจำนวนมากล้วนชะเง้อมองคนขับรถม้ารูปหล่อของเธอพอๆ กับที่มองหมวกทันสมัยใบล่าสุดที่เธอสวมอยู่
     มอห์มเล่าเรื่องตอนจบยังไงบ้าง
     -โฮเซ่ยังคงอยู่ในตำแหน่งสารถีเหมือนเดิม เธอก็เป็นนายเขาเหมือนเดิม
     - เคานเตสมองเห็นว่าสายตาผู้หญิงตามถนนหนทาง มองสารถีรูปหล่อของเธออย่างทึ่งพอๆกับมองหมวกใบใหม่ที่เธอสวมโชว์ชาวบ้าน
     ส่วนเราอาจคิดต่อได้ว่า
     ถ้าเคานเตสนั่งชมวิวเรื่อยๆเปื่อยๆ    ก็คงเฉยๆ เคยชินกับว่าผ่านไปทางไหน ก็มีชาวบ้านชะเง้อมองเซเลบอย่างเธออยู่แล้ว ไม่ได้สนใจมากนัก
     แต่นี่  ถ้าไม่จับตามองอยู่ทุกกระดิก จะเห็นได้ยังไงว่าใครมองพ่อรูปหล่อของเธอบ้าง  โดยเฉพาะเหล่าผู้หญิงด้วยกัน

     ความสัมพันธ์ของเธอกับเขาก็คงจะเป็นไปด้วยดีอย่างบทสนทนาวันนั้นละค่ะ
     
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 8428


ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 30 มิ.ย. 25, 09:39

        คั่นรายการด้วยกระทู้จาก reddit ไม่นานมานี้ - 6 เดือนก่อน

Why is Somerset Maugham… rarely mentioned nowadays?

https://www.reddit.com/r/literature/comments/1hquguk/why_is_somerset_maugham_rarely_mentioned_nowadays/?show=original

         Great author in my opinion. He’s that writer that got me into reading....
         I remember asking my English teacher who apparently majored in Literature in her undergrad
what she thought of Maugham, to which she said she didn’t know who that was.*
         Are there some reasons why he is not as celebrated today? Other sources I have looked into online
touch on him being too popular and his writing style being outdated(?)

* ตรงนี้น่าแปลกใจยิ่งกว่า ที่อ.เคยเล่าว่า อ. วรรณคดีอ. บางคนไม่รู้จัก มารี คอเรลลี
อ้างถึง
เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1    ระยะเวลาหลังจากนั้นมาจนถึงปลายทศวรรษที่ 20  เป็นหลุมดำสำหรับคอเรลลี่   
นักวิชาการอังกฤษ ครูบาอาจารย์และนักศึกษาวิชาวรรณคดีไม่มีใครรู้จักเธอ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 41305

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 30 มิ.ย. 25, 14:12

     ดิฉันพอจะอธิบายได้ค่ะ    ปัญหาไม่ได้อยู่ที่คำตอบ แต่อยู่ท่ีจะตอบยังไงไม่ให้ท่านผู้อ่านเรือนไทยง่วงหลับไปเสียก่อน
     เริ่มแบบนี้แล้วกัน
     โลกของวรรณกรรมมี 2 โลกคู่ขนานกันไป คือโลกที่นักวิจารณ์(หมายถึงนักวิจารณ์เชิงวิชาการ ไม่ใช่นักรีวิวหนังสือ) มีบทบาทสูงในการกำหนดว่าเรื่องไหนควรอ่าน เรื่องไหนควรข้ามไป   กับโลกที่สองคือคนอ่านทั่วไปทุกระดับทุกฐานะ ตั้งแต่ประมุขของประเทศไปจนนักหัดอ่านหน้าใหม่
    โลกใบแรกนี้ ผูกขาดการประเมินคุณค่าของวรรณกรรม พวกนี้จะเน้นที่ความคิดสร้างสรรค์ของนักเขียน  ความแปลกใหม่ในลีลาการเขียน  ความคิดอ่านที่ไม่ซ้ำกับความคิดก่อนๆ   หรือคิดไม่เหมือนใคร    การสะท้อนยุคสมัยใหม่ๆของสังคมที่อาจกลับตาลปัตรกับยุคที่ผ่านมาโดยสิ้นเชิง   นำสิ่งเหล่านี้มาเชิดชูว่า..นี่แหละ คือวรรณกรรมสำคัญควรอ่าน  แล้วมันก็จะถ่ายทอดสู่ปัญญาชน  ผู้ต่อมาจะกลายเป็นครูบาอาจารย์ไปถ่ายทอดสู่นักเรียนนักศึกษาอีกทีหนึ่ง
    นักวิจารณ์เชิงวิชาการเหล่านี้จะไม่หยุดนิ่งกับวรรณกรรมแบบใดแบบหนึ่ง    เขาทำงานคล้ายๆนักวิทยาศาสตร์ที่จะต้องเข้าแล็บทดลองหาสิ่งใหม่ๆ ไม่รู้จักจบ   จะต้องก้าวไปกับยุคสมัย ไม่ใช่หยุดนิ่งอยู่กับที่   เหมือนสมัยนี้ วิทยาศาสตร์การแพทย์จะมุ่งไปค้นคว้าหาวัคซีนป้องกันมะเร็ง  หรือยาหยุดยั้งเซลล์ของคนไม่ให้แก่ตัว   มากกว่าจะไปทดลองหายาป้องกันการปวดหัว   ทั้งๆในโลก คนไข้ที่ปวดหัวมีจำนวนมากกว่าคนไข้มะเร็งหรือคนไข้ชราเป็นไหนๆ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 41305

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 30 มิ.ย. 25, 14:28

    มอห์มในแง่หนึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ในวงวรรณกรรมที่มีผู้อ่านชื่นชอบเขาทั่วโลก   เป็นงานขายดี  เป็นงานที่ไม่ว่าชาติไหนภาษาไหนก็อ่านเข้าใจได้ทั้งนั้น   แต่ความเคราะห์ร้ายอยู่ที่ว่างานประเภทนี้มักถูกมองจากนักวิจารณ์ที่เป็นนักวิชาการว่า ไม่มีความแปลกใหม่    นักวิชาการกระหายความแปลกใหม่ ว่านั่นคืองานสร้างสรรค์
   เพราะฉะนั้นพอเจมส์ จอยซ์  เวอร์จิเนีย วูลฟ์  เสนองานแบบใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1  ด้วยภาษาที่ออกมาจาก "กระแสสำนึก" คือคิดเรื่อยเป่่ือยฟุ้งซ่านยังไงก็ถ่ายทอดออกมายังงั้น   ไม่ใช่ภาษาที่เรียงร้อยได้กระจ่างชัดเจน อย่างของมอห์ม   นักวิจารณ์ทั้งหลายก็หันไปทุ่มเทให้งานชนิดใหม่ ว่า...นี่ไง ยักษ์ตนใหม่เกิดขึ้นแล้ว ชื่อ Modernism   ตัวเก่าก็ล้าสมัยตกเวทีไป ไม่น่าสนใจอีก
   ศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยเปิดรับหลักสูตรใหม่  เอางานแบบใหม่มาสอน แทนงานแบบเก่า       ของใหม่ก็เลื่อนไหลเข้ามาไม่ขาดระยะ   เบียดของเก่าตกเวทีไปจากชั้นเรียน
   เวลาผ่านไป  กระแสสำนึกกลายเป็นของเก่า  ของใหม่อย่าง Post-Modernism ก็เข้ามาแทน   
   สมัยดิฉันเรียนวิชาปรัชญา ซึ่งรวมทั้งปรัชญาวรรณกรรม  ทฤษฎีอัตถิภาวนิยม Existentialism รุ่งเรืองเฟื่องหูมาก มาถึงตอนนี้ไม่เห็นใครเอ่ยถึงอีก  แต่ไปเอ่ยถึงอะไรไม่ทราบ  เพราะไม่ได้ติดตาม
   รู้แต่ว่าตอนนี้ Woke กลายเป็นกระแสตื่นตัวขึ้นมา  มีอย่างอื่นอีกด้วย ตามกระแสสังคมปัจจุบันว่าไปทางไหน ก็สนใจกันทางนั้น
   ดังนั้น ก็ไม่แปลกที่ครูสอนวรรณกรรมในชั้นมัธยม ไม่รู้จักมอห์ม   เพราะเธอหรือเขาเกิดในยุคหลังมอห์มมากๆแน่นอน  อาจารย์ในมหาวิทยาลัยหันไปสอนถึงนักเขียนใหม่ๆยุคหลังกันแล้ว   
   ดิฉันเองก็ไม่ได้เรียน  จนเรียนจบ หาความรู้เพิ่มเติมด้วยตัวเองก็เลยมาตกหลุมรักมอห์มในภายหลัง เท่านั้นละค่ะ 
   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 41305

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 30 มิ.ย. 25, 15:10

  สมัยเรียน   มีคำอยู่คำหนึ่งที่ไม่อยู่ในวิชาสอนของอาจารย์   แต่พวกเราที่เรียนแอบเรียกกันลับหลัง คือ Literary snob  แปลว่าพวกหัวสูงทางวรรณกรรม
   อาจารย์คนไหนสอนอะไรยากๆ  เอาหนังสือเล่มที่อ่านเท่าไหร่ก็น่าเบื่อและน่าเวียนหัวที่สุดมาสอนด้วยอาการชื่นชมบูชา  พร้อมกันนั้นก็มีอาการดูแคลนหนังสือที่อ่านง่าย เข้าใจง่ายและสนุก    คำนี้ก็จะถูกประทับอยู่บนแผ่นหลัง ให้พวกเราแอบพยักหน้าให้กันอย่างรู้กัน
  กลับมาที่มอห์ม
  Maugham เกิดในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ระหว่างยุควิคตอเรียนที่เคร่งครัดในระเบียบแบบแผน  กับยุคสมัยใหม่ความคิดแนวกบฏผุดขึ้นมาต่อต้านสังคมเก่า  เขาไม่ใช่นักฝันแนวโรแมนติก และก็ไม่ใช่นักพังกรอบเดิมอย่างพวกหัวก้าวหน้า แต่เลือกวิธีเล่าเรื่อง เจาะเข้าสู่ความจริง (truth)ของมนุษย์ ด้วยภาษาง่ายตรงไปตรงมา  
  มอห์มไม่เคยเล่นภาษาแบบให้นักอ่านต้องพะวงกับคำนี้คำนั้นว่าหมายถึงอะไรกันแน่  ไม่ดึงความสนใจมาที่ตัวเอง แต่กลับพาผู้อ่านมองตรงเข้าไปในจิตวิญญาณของมนุษย์อย่างลึกซึ้ง   ทีนี้ ในยุคปัจจุบันที่ชอบรับอะไรแปลกๆใหม่ๆ ปฏิวัติความคิดดังเดิม   วิธีเขียนที่ง่าย เรียบ คลาสสิคกลับกลายเป็นจุดอ่อนในสายตานักวิชาการ  เพราะถือว่า ไม่มีอะไรแปลกใหม่  
      ชะตากรรมนี้ มารี คอเรลลีเคยประสบมาแล้ว  งานวรรณกรรมที่ผู้อ่านทุกชนชั้นชื่นชอบ จำหน่ายได้กว้างขวาง   เป็นนักเขียนที่ประสบผลสำเร็จในอาชีพอย่างดีเยี่ยม   เธอถูกตราหน้าว่า
      " ประสบความสำเร็จมากเกินกว่าจะยิ่งใหญ่?"    
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 8428


ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 30 มิ.ย. 25, 15:32

กำลังจะส่งคห. เจอข้อความนี้พอดี

    ชะตากรรมนี้ มารี คอเรลลีเคยประสบมาแล้ว  งานวรรณกรรมที่ผู้อ่านทุกชนชั้นชื่นชอบ จำหน่ายได้กว้างขวาง  
เป็นนักเขียนที่ประสบผลสำเร็จในอาชีพอย่างดีเยี่ยม   เธอถูกตราหน้าว่า
      " ประสบความสำเร็จมากเกินกว่าจะยิ่งใหญ่?"  

       เพราะที่ว่ากระแสสังคมค่านิยมเปลี่ยน, แนวทางการเขียนที่แหวกแปลกใหม่, แนวเรื่องใหม่ๆ(ไซ ไฟ, สิ่งแวดล้อม) หรือ
เพราะงานของเขาขายดี ได้รับความนิยมมากไปจนถูกมองว่าเป็นงาน "too popular" ยังไม่ถึงระดับคลาสสิค อย่างรุ่น
Dickens, Bronte ที่สมัยก่อนโน้นไปเดินร้านหนังสือฝรั่งบ้านเรา บนชั้นหนังสือพบเห็น Great Expectations และ
Wuthering Heights วางอยู่เสมอ ครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 41305

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 30 มิ.ย. 25, 15:50

     ก็มีนักเขียนบางคนที่ถูกล็อตเตอรี่ซ้อน 2 ใบ คือนักวิชาการชอบด้วย และมหาชนก็ชอบด้วย  อย่างดิกเกนส์และบรอนเต้  
    พี่น้องบรอนเต มี 2 สาวด้วยกันคือเอมิลี่ บรอนเต้ผู้เขียน Wuthering Heights และชาล็อตต์ บรอนเต้ ผู้เขียน Jane Eyre  พูดถึงความนิยมที่ยั่งยืนมาจนวันนี้ ชาล็อตต์น่าจะได้มากกว่า  เพราะเรื่องนี้ทำหนังและละครมามากกว่างานของเอมิลี่  
    คนไทยรู้จักเรื่องนี้จากละครเรื่อง "รักเดียวของเจนจิรา"
    แต่ในชั้นเรียน   Wuthering Heights  ยึดครองกระดานดำมากกว่า  Jane Eyre

    เพิ่งนึกได้ว่าควรสรุปแบบนี้ ให้เข้าใจกันง่ายๆค่ะ
    วรรณกรรมบางเรื่องเหมาะจะเอาไว้เรียน   บางเรื่องเหมาะจะเอาไว้อ่าน
    แต่ก็มีบางเรื่องที่มีส่วนผสมของทั้งสองอย่างค่ะ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.078 วินาที กับ 19 คำสั่ง