เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 12
  พิมพ์  
อ่าน: 23489 ทหารอาสาแห่งกรุงสยาม
superboy
สุครีพ
******
ตอบ: 818


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 75  เมื่อ 20 ส.ค. 24, 09:49


อยู่สิงคโปร์เพียงสามวันทหารอาสาออกเดินทางอีกครั้ง วันที่ 25 มิถุนายน 2461 เรือเอ็มไปร์ติดเครื่องยนต์มุ่งตรงมาที่โคลัมโบ ระหว่างแล่นเรือเข้าสู่ช่องแคบมะละกาเกิดคลื่นลมแรง ทหารส่วนใหญ่ซึ่งเป็นลูกชาวนาพร้อมใจกันเมาคลื่น ทั้งอาเจียนทั้งมีอาการเวียนหัวทรงตัวไม่อยู่ บางคนไข้จับลุกจากที่นอนซึ่งทหารอาสาเรียกว่ารังไก่ไม่ไหว หลายคนเบื่ออาหารเห็นฟักทองต้มเนื้อก็พาลส่ายหัวกลับมานอนตามเดิม

การเดินทางมาโคลัมโบหรือศรีลังกาใช้เวลาเจ็ดวัน ระหว่างเดินทางพันเอกพระเฉลิมอากาศกำชับให้จัดยามรักษาการณ์อย่างเข้มแข็ง เป็นการระวังภัยร้ายจากเรือฝ่ายตรงข้ามซึ่งอาจแล่นเข้าใกล้ ต่อมาไม่นานได้เรือปืนอังกฤษชื่อน๊อตบรูคทำหน้าที่คุ้มกันจนกระทั่งเรือเดินทางถึงโคลัมโบ

เนื่องจากโคลัมโบไม่มีท่าเรือขนาดใหญ่เฉกเช่นสิงคโปร์ เรือเอ็มไปร์ต้องจอดทอดสมอริมเขื่อนก่อนติดต่อเช่าเรือเล็กลำเลียงทหารขึ้นฝั่ง ทหารอังกฤษประจำโคลัมโบให้การต้อนรับขับสู้ทหารไทยอย่างเต็มที่

เพิ่มกับจรูญเกาะติดผู้บังคับบัญชาตัวเองอีกครั้ง สองทหารกล้าเห็นความแตกต่างระหว่างสิงคโปร์กับโคลัมโบอย่างชัดเจน

“ทั้งถนนมีแต่รถแขก” จรูญบ่นขึ้นมารายแรก

“คนโคลัมโบน่าสงสารมาก” เพิ่มเห็นชาวพื้นเมืองแต่งกายสกปรกจำนวนพอสมควร ประกอบอาชีพขอทานอยู่ที่ริมถนนไม่อายสายตาผู้ใด

“ของกินของใช้แพงทุกอย่าง”

“แล้วจะอยู่กันยังไง”

สองทหารกล้ามองหน้ากันและกันพร้อมถอนหายใจ

นพให้ข้อมูลตามข้อเท็จจริง “ทางการอังกฤษเก็บภาษีแพงกว่าเดิม ช่วงนี้กำลังทำสงครามกับฝ่ายเยอรมันต้องการเงิน ไม่ใช่เฉพาะโคลัมโบแต่หมายถึงทุกชาติในเครือจักรภพ”

หลังพูดออกไปนพไม่แน่ใจลูกน้องรู้จักเครือจักรภพหรือไม่ เขาตั้งใจอธิบายเพิ่มบังเอิญเดินมาเจอเพื่อนตัวเองยืนอยู่หน้าร้านขายผ้า

ร้อยตรีนิจโบกมือทักทาย “ไอ้นพ! มานี่หน่อย”

“เดี๋ยวผมมา…พวกคุณไปรอที่ท่าเรือก็ได้” นพสั่งเสียลูกน้อง

เมื่อผู้บังคับบัญชาหายตัวไปเพิ่มกับจรูญเดินสำรวจตลาด กระทั่งมาเจอร้อยตรีชุ่ม จิตต์เมตตากำลังแจกเงินรูปีให้กับขอทานหลายคน

“หมวดชุ่มใจดีจังเลย” เพิ่มแสดงความชื่นชมจากใจ

“ผมสงสารพวกเขา” นายทหารหนุ่มตอบกลับสั้นๆ

ร้อยตรีชุ่มคือผู้บังคับการหมวดพยาบาล เพิ่มกับจรูญรู้จักทหารนายนี้ตั้งแต่ประจำการเดือนแรก เคยช่วยงานหลายครั้งเรียกว่าสนิทกันในระดับหนึ่ง และพลอยได้รับความรู้เรื่องการรักษาพยาบาลไม่มากก็น้อย

“คุณสองคนเก่งมากรู้ไหม” ชุ่มเป็นฝ่ายชวนคุย

“ยังไงครับ” จรูญสอบถามสีหน้างุนงงสงสัย

“พวกคุณไม่เมาคลื่นเหมือนลูกน้องหมวดนิจ”

“โธ่หมวด…ใครบอกผมไม่เมา ผมเมาจนลุกไม่ไหว ดีกว่าไอ้เพิ่มช่วยหายาแก้เมามากินกันตาย ไม่อย่างนั้นผมคงซี้แหงแก๋นานแล้ว”

ใบหน้าจรูญแสดงอาการท้อแท้หดหู่อย่างถึงที่สุด

กว่าจะถึงยุโรปเขาอาจนอนซมบนรังไก่ตลอดเส้นทาง

บันทึกการเข้า
superboy
สุครีพ
******
ตอบ: 818


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 76  เมื่อ 20 ส.ค. 24, 11:37

วันที่ 4 กรกฎาคม 2461 เรือเอ็มไปร์แล่นออกจากโคลัมโบพร้อมของกินจำนวนมาก อาทิเช่น สับปะรด ฟักทอง มะพร้าว แตงโม มะม่วง ส้มโอ มะละกอ กล้วยไข่ เดินทางฝ่าคลื่นลมหลายวันผลไม้จากโคลัมโบได้พลันหมดสิ้น ถึงทะเลแดงทหารทุกนายต้องเผชิญหน้าปัญหาใหม่ สภาพอากาศค่อนข้างร้อนจัดสองข้างทางเห็นแต่ทะเลทรายสุดลูกหูลูกตา

“หมวดครับ…ผมไม่ไหวแล้ว” จรูญเอาผ้าชุบน้ำโปะช่วยหน้าระบายความร้อน เวลาผ่านพ้นไม่กี่นาทีผ้าผืนนั้นก็กลับมาแห้งสนิทดังเดิม

ร้อยตรีชุ่มช่วยตรวจสอบอาการ “คุณไม่เป็นอะไรมาก”

“นี่ผมจะสุกอยู่แล้ว ผมยังไม่เป็นอะไรอีกเหรอ”

“พี่หมู่อย่าบ่นนักเลย ไอ้เชิดอาการหนักกว่าตั้งเยอะ” เพิ่มพูดขัดคอขณะใช้ผ้าพัดโบกไปมา ใบหน้าพลทหารวัยสิบเก้าเต็มไปด้วยเม็ดเหงื่อ

“เพื่อนเอ็งเป็นอะไรอีกล่ะ?”

“มันร้อนจนอึดอัดทั่วท้องหายใจไม่ออก มันแอบปีนราวกันตกท้ายเรือตั้งใจกระโดดน้ำ ดีว่าหมูเฉลิมกับหมวดชื่นช่วยกันจับตัวได้ทัน”

“ไอ้เชิดนะไอ้เชิด” สิบโทจรูญถอนหายใจด้วยความโล่งอก

ฝ่าลมแรงกลางทะเลลึกสำเร็จยังต้องเผชิญอากาศร้อนจัด

ด่านทดสอบสภาพร่างกายกับจิตใจทำไมเยอะเหลือเกิน

ใช้เวลารอนแรมกลางทะเลสิบห้าวันทุกคนมาถึงคลองสุเอซ อันเต็มไปด้วยค่ายทหาร สนามเพลาะ และสิ่งกีดขวางแลดูน่ากลัว ทหารส่วนมากเป็นทหารแขกผิวคล้ำกว่าคนไทยแต่งกายประหลาด ในทะเลทรายเห็นเพียงอูฐคอยาวกับต้นอินทผาลัม ความร้อนของแดดเปลี่ยนความเวิ้งว้างว่างเปล่ามีแต่เม็ดทราย ให้แลดูคล้ายคลึงแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์เต็มไปด้วยทองคำ

เรือเอ็มไปร์ผ่านเมืองอิสไมเลียมาจอดดับเครื่องยนต์ที่เมืองปอร์เสด ที่นี่คือเมืองท่าอันดับหนึ่งของอียิปต์และเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ จึงมีเรือรบฝ่ายสัมพันธมิตรจำนวนมากจอดเรียงรายเต็มท่าเรือ
ธงชาติไทยได้โบกสะบัดเคียงคู่ธงชาติมหาอำนาจเป็นครั้งแรก

เรือเอ็มไปร์ต้องหยุดพักเมืองปอร์เสดนานกว่าที่อื่น เหตุผลที่ใช้เวลาหลายวันเนื่องจากการเดินทางจากปอร์เสดถึงฝรั่งเศส เป็นเส้นทางอันตรายอาจถูกเรือฝ่ายเยอรมันดักโจมตีกลางทาง ต้องใช้เรือรบที่คุ้มกันและบนเรือต้องมีอาวุธป้องกันตัว เสบียงอาหารกับเชื้อเพลิงต้องมากเพียงพอกระทั่งถึงจุดหมายปลายทาง นี่คือการเดินทางที่ไม่อาจกำหนดวันเวลาและโชคชะตา

จอบตอนที่ 10


ภาพประกอบคือท่าเรือเมืองปอร์เสดในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง



บันทึกการเข้า
superboy
สุครีพ
******
ตอบ: 818


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 77  เมื่อ 21 ส.ค. 24, 09:14

ตอนที่ 11 เหยียบเมืองน้ำหอม

   วันที่ 22 กรกฎาคม 2461 ขบวนเรือจำนวน 16 ลำเดินทางออกจากท่าเรือเมืองปอร์เสด เรือกวาดทุ่นระเบิดจำนวนสองลำแล่นนำหัวขบวน ตามติดด้วยเรือปืน เรือพิฆาต และเรือปราบเรือดำน้ำ เรือเอ็มไปร์ถูกจัดให้อยู่กลางขบวนบนหัวมีเครื่องบินลาดตระเวนเฝ้าตรวจการณ์

   ระหว่างเส้นทางทหารอาสาทุกนายต้องพบเจอความกดดัน เพราะมีคำสั่งให้อยู่ในห้องห้ามออกมาเดินรับลมบริเวณกราบเรือ ห้ามสูบบุหรี่ ห้ามพูดเสียงดัง มีพวงชูชีพติดตัวตลอดเวลา มีการจัดเวรยามทำหน้าที่ตรวจสอบบนเสากระโดงเรือในเวลากลางวัน ทหารบางส่วนรับตำแหน่งพลปืนประจำเรือเคียงข้างทหารฝ่ายสัมพันธมิตร

   อาหารบนเรือรับผิดชอบโดยพ่อครัวชาวจีน ส่วนใหญ่เป็นอาหารฝรั่งคนไทยกินหลายมื้อชักเริ่มเอียน เห็นเนื้อแพะเนื้อแกะพากันส่ายหัวกินได้ไม่มาก โดยเฉพาะคนเมาคลื่นนอนเอาแต่ซมอยู่ในห้องถึงกับกินไม่ลง

วันหนึ่งอาหารมื้อเย็นคือข้าวสวยกับแกงวุ้นเส้น ทหารอาสาทุกนายกินอาหารหมดเรียบ ก่อนเดินกลับห้องพักเพื่อพักผ่อนนอนหลับตามปรกติ สิ่งที่ไม่ปรกติก็คือนพขอมานอนกับลูกน้องตัวเอง นายทหารหนุ่มให้เหตุผลว่าอยากทำความสนิทสนมกับทุกคนมากกว่าเดิม

“รอดตายเหมือนควายขวิด” จรูญใบหน้าเปี่ยมล้นความสุข

“ดูเหมือนหมู่จรูญชอบแกงวุ้นเส้น” นพสอบถามลูกน้อง

“จริงๆ ผมไม่ชอบเท่าไร แต่ดีกว่ากินเนื้อแพะเนื้อแกะ”

“ทำไมล่ะ”

“เหม็นสาบจนกินไม่ได้ หมวดไม่ได้กลิ่นบ้างเหรอ”

“ไม่ได้กลิ่นนะ…บางทีผมอาจคุ้นเคยอาหารพวกนี้”

“หมวดเคยเรียนต่างประเทศใช่ไหมครับ” เพิ่มอยากรู้อยากเห็น

ก่อนร้อยตรีนพตอบคำถามเสี้ยววินาที ทุกคนได้ยินเสียงปืนใหญ่ดังมาจากท้ายเรือ ทหารอาสาชาวไทยพากันตื่นตระหนกตกใจ หลายคนคว้าพวงชูชีพวิ่งหนีตายมาที่กราบเรือ ปากตะโกนเสียงดังเราถูกเรือสับมารีนฝ่ายเยอรมันโจมตี

นพ จรูญ และเพิ่มกลับทำในสิ่งตรงกันข้าม

พวกเขาทั้งสามรีบวิ่งมาที่ท้ายเรือเพื่อตรวจสอบ อันตรายของเรือสับมารีนหรือเรือดำน้ำคือดำน้ำได้ โผล่ขึ้นมากลางกองเรือเพื่อยิงถล่มเรือผิวน้ำได้ อาวุธประจำเรือได้แก่ตอร์ปิโด ปืนใหญ่ และทุ่นระเบิด เป้าหมายหลักคือเรือสินค้าบรรทุกอาวุธยุทธปัจจัยจากสหรัฐอเมริกา

เรือเอ็มไปร์ถูกเรือสับมารีนโจมตีถือเป็นเรื่องเหลือเกินไป

เรือเยอรมันฝ่าด่านเรือพิฆาตกับเรือปราบเรือดำน้ำได้อย่างไร?

ถึงปืนใหญ่ท้ายเรือทุกคนพากันงุนงงสงสัย ในป้อมปืนมีพลประจำปืนตาน้ำข้าวกับทหารอาสาสามนาย ประกอบไปด้วยร้อยตรีชื่น สิบโทเฉลิม และพลทหารเชิดจากกองทหารบกรถยนต์กองร้อยย่อยที่ 8 แต่ในทะเลกลับไม่มีเรือสับมารีนกองทัพเรือเยอรมันอันน่าเกรงขาม

“ไอ้เฉลิม…เกิดอะไรขึ้น!” จรูญสอบถามคู่แค้นแต่ปางก่อน

“เอ่อ…คือว่า…หมวดครับ” เฉลิมหันมาขอความช่วยเหลือ

“ทุกคนไม่ต้องตกใจ” ชื่นพยายามฝืนยิ้มขณะอธิบายเหตุการณ์

เรื่องของเรื่องเกิดจากทหารไทยเข้ามาทักทายพลประจำปืน มีการสาธิตวิธีบรรจุกระสุนและการใช้งานปืน บังเอิญพลประจำปืนขาดความระมัดระวังทำกระสุนลั่น ผู้ไม่รู้อีโหน่อีเหน่คิดว่าเรือถูกยิงหรือแล่นมาชนทุ่นระเบิด พาลตื่นตระหนกตกใจเตรียมตัวกระโดดน้ำลงไปลอยคอในทะเล

บันทึกการเข้า
superboy
สุครีพ
******
ตอบ: 818


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 78  เมื่อ 21 ส.ค. 24, 09:30

เรือสับมารีนหรือเรือดำน้ำเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งขนาดค่อนข้างเล็ก ดำน้ำไม่นานเท่าไรออกทะเลลึกไม่ไกลเท่าไร เทคโนโลยีต่างๆ ใกล้เคียงเรือดำน้ำไทยชั้นมัจฉานุซึ่งซื้อมาจากญี่ปุ่น แต่ผลงานน่าประทับใจมากยกตัวอย่างเช่นเรือดำน้ำ UB-21 ระวางขับน้ำเพียง 231 ตัน จมเรือสินค้าได้ถึง 33 ลำ เสียหายหนัก 1 ลำ และยึดเรือได้อีก 4 ลำ สมควรแล้วที่ทหารอาสาชาวไทยจะหวาดกลัว


บันทึกการเข้า
superboy
สุครีพ
******
ตอบ: 818


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 79  เมื่อ 22 ส.ค. 24, 09:15

วันที่ 30 กรกฎาคม 2461 กองเรือเฉพาะกิจแล่นเข้าจอดท่าเรือเมืองมาร์แซย์ พลตรี ลา.เรือกรังซ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 15 พร้อมนายทหารฝรั่งเศสจำนวนหนึ่งให้การต้อนรับ มีคณะทูตทหารพิเศษนำโดยพลตรีพระยาพิไชยชาญฤทธิ์กับพันโทพระทรงสุรเดชเข้าร่วมในพิธี

พันเอกพระเฉลิมอากาศรายงานการเดินทางต่อผู้บังคับบัญชา หลังเยี่ยมชมกำลังพลคณะทูตทหารพิเศษพาทุกคนเข้าสู่ที่พัก กองบินทหารบกพักในโบสถ์คาร์เธอร์รัลห่างท่าเรือประมาณสี่กิโลเมตร กองทหารบกรถยนต์พักในค่ายทหารซังต์ชาร์ลส์ห่างท่าเรือประมาณเจ็ดกิโลเมตร



ภาพประกอบคือท่าเรือเมืองมาร์แซย์ในปี 2461

สี่สิบสองวันที่ต้องแออัดอยู่ในห้องพักค่อนข้างคับแคบ นอนกรงไก่มีหน้าต่างบานเดียวเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ ถึงแผ่นดินฝรั่งเศสเหล่าผู้กล้ายังต้องเดินเท้าเข้าที่พัก ทหารกองทหารบกรถยนต์เดินค่อนข้างไกลกว่าจะถึงจุดหมาย ยังนับว่าโชคดีค่ายทหารซังต์ชาร์ลส์ค่อนข้างกว้างขวาง สร้างโรงนอนแบ่งแยกเป็นแผนกๆ แยกห่างจากกันเหมือนประเทศไทย

ทหารทุกนายหมดเรี่ยวแรงพากันนอนพักบนเตียงตัวเอง

อยู่ในค่ายทหารสามวันเป็นวันจ่ายเงินเดือนควบสองเดือน เพิ่มกับจรูญฉีกยิ้มหน้าบานกลับมามีเรี่ยวแรงดังเดิม ผู้บังคับบัญชามีคำสั่งให้ทหารพักผ่อนงดเว้นการฝึก สองหนุ่มสยามออกไปเปิดหูเปิดตาเดินชมสาวๆ เมืองน้ำหอม สุขสมอารมณ์หมายจึงกลับมารับประทานอาหารเย็นในค่ายทหาร

“ขนมปังอีกแล้ว” จรูญมองของกินในจานสีหน้าท้อแท้สิ้นหวัง

“จากนี้ไปคงไม่มีข้าวสวย” เพิ่มก็เบื่อเช่นกันแต่เขาปรับตัวง่ายกว่า

“คิดถึงแกงวุ้นเส้นบนเรือเหลือเกิน”

“ไหนหมู่บอกว่าไม่อร่อย คนจีนทำอาหารไทยไม่ได้เรื่อง”

“เอ็งก็รู้ข้ามันปากไม่มีหูรูด”

กินอาหารเสร็จเพิ่มกับจรูญออกมานั่งรับลมบนสนามหญ้า สายตาเพ่งมองโรงนอนติดกันซึ่งมีคนเอเชียพักอาศัย ทั้งคู่พากันสงสัยผู้คนเหล่านั้นเชื้อชาติอะไร ตอนนั้นเองนพเสร็จจากการประชุมและบังเอิญเดินผ่านมา

“หมวดครับ…พวกนั้นเป็นใคร” จรูญสอบถาม

“คนญวน” นพอธิบาย “อินโดจีนอยู่ภายใต้การปกครองฝรั่งเศส ตอนนี้เกิดสงครามทางการฝรั่งเศสให้คนญวนอยู่รวมกันที่นี่”

“พวกเขาจะไปรบหรือเปล่าครับ” เพิ่มตั้งคำถามบ้าง

“คุณอยากรู้เดินไปถามสิ”

ทหารหนุ่มวัยสิบเก้าส่ายหัวทันที “ไม่ไหวครับหมวด”

“ภาษาอังกฤษต้องพูดบ่อยๆ ถึงจะคล่อง” นพส่งยิ้มให้กับพลทหารในสังกัด รู้จักกันมาหลายเดือนเพิ่มเป็นเด็กหนุ่มหัวก้าวหน้า ฉลาดเรียนรู้เร็วโดยเฉพาะการใช้ภาษา ติดปัญหาแค่เพียงกลัวฝรั่งเสียจนไม่กล้าสื่อสาร

“ใครจะเก่งเหมือนหมวดนพ พูดได้ทั้งอังกฤษทั้งฝรั่งเศส วันไหนกลับเมืองไทยหมวดเนื้อหอมแน่นอน” จรูญถือโอกาสเยินยอผู้บังคับบัญชา

คำเยินยอไม่ส่งผลต่อชายหนุ่มผู้มั่นคงในความรัก เขาสมัครมารบที่ฝรั่งเศสเพราะอยากแต่งงานกับลูกสาวเศรษฐีล้วน ไม่คาดฝันว่าตัวเองจะถูกผู้บังคับบัญชาใช้งานแทบไม่หยุดพัก โชคดีเมื่อลงจากเรือได้ร้อยตรีวัน ชูถิ่นให้ความช่วยเหลือ จึงมีโอกาสพักผ่อนหลายวันก่อนเดินทางไปเข้ารับการฝึก

การพักผ่อนของนพสิ้นสุดลงโดยไม่บอกกล่าว กลางดึกทหารอาสาจำนวนมากเกิดอาการท้องร่วงพร้อมกัน เหตุผลก็คืออาหารเปลี่ยนกระเพาะปรับตัวไม่ทัน ทหารเวรวิ่งมาปลุกเขาเขารีบวิ่งไปตามนายแพทย์เวร
 
คืนนั้นทหารอาสาชาวไทยได้ลิ้มลองเหล้าสะระแหน่เมดอินฝรั่งเศส


บันทึกการเข้า
superboy
สุครีพ
******
ตอบ: 818


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 80  เมื่อ 22 ส.ค. 24, 10:20

การปกครองกองทหารไปราชการสงครามนอกประเทศ มีการออกข้อบังคับพิเศษมีผลใช้งานทันทีที่ทหารอาสาถึงฝรั่งเศส ลงนามโดยสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ เสนาธิการทหารบก รายละเอียดข้อบังคับพิเศษมากถึง 5 มาตรา 36 หัวข้อ ทหารอาสาทุกนายต้องอุทิศเวลาว่างส่วนใหญ่ในการท่องจำ

จรูญก็เป็นอีกคนที่ต้องท่องจำกฎเหล็กทั้ง 36 ข้อ

“หนึ่ง…หัวหน้าทูตทหารเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดนอกพระราชอาณาเขต มีอำนาจในการปกครองเสมอผู้บัญชาการกองพล ขึ้นตรงต่อเสนาธิการทหารบก สอง…ผู้บังคับบัญชารองลงไปตามลำดับชั้นมีดังนี้”

เพิ่มทนดูไม่ไหวรีบพูดขัดคอ “ท่องแบบนี้เดี๋ยวก็ลืม”

“แล้วเอ็งจะให้ข้าทำยังไง” จรูญถามกลับ

“พี่หมู่ต้องอ่านจับใจความไม่ใช่ท่องจำ เฉพาะส่วนที่เราต้องทำตามก็พอ ยกตัวอย่างเช่นถ้าพี่หมู่อยากส่งจดหมายให้เมีย พี่หมู่ต้องจ่าหน้าซองภาษาไทยส่งให้หมวดนพ ถ้าพี่หมู่เงินเดือนเหลือควรฝากกับสมุห์บัญชี”

“เอ็งพูดอย่างกับข้าเขียนภาษาอังกฤษได้”

“ถ้าเรื่องนี้พี่หมู่ได้ใช้แน่นอน”

“อะไรวะเพิ่ม”

“กฎข้อที่ 11 การลงอาญาแก่ทหารให้เป็นไปตามกฎยุทธวินัย แต่การโบยและจำตรวนให้ยกเลิกไม่ใช้ในฝรั่งเศส”

“โธ่…ไอ้เด็กเวร เอ็งคิดว่าข้าจะถูกลงโทษเช่นนั้นรึ”

“ไปกันใหญ่แล้ว…ผมหมายถึงพี่หมู่ลงโทษพวกผม”

ช่วงเวลาที่สองทหารกล้าสนทนาโต้ตอบอย่างออกรสชาติ ร้อยตรีนิจสังกัดกองบินทหารบกก้าวเท้าเข้ามาสมทบเคียงข้างร้อยตรีนพ

ว่าที่นักบินเอ่ยปากทักทาย “ไง…เราสองคนกำลังนินทาใคร”

“คุยเรื่องข้อบังคับพิเศษครับหมวด ไอ้เพิ่มมันขี้ลืมผมเลยช่วยสอนวิธีท่องจำ” จรูญถือโอกาสคุยข่มพลทหารภายใต้การปกครอง

“หมวดมาประชุมใช่ไหมครับ” เพิ่มเข้าร่วมการสนทนา

“ใช่…พรุ่งนี้กองบินทหารบกจะไปโรงเรียนการบิน ถ้ามีเวลาฉันจะเขียนจดหมายมาคุยกับนพ พวกนายอยากรู้อะไรถามผ่านนายคนนี้ได้”

จบตอนที่ 11  ขยิบตา ผมเร่งความเร็วจนเครื่องยนต์ความร้อนขึ้นแล้ว


ปล.เรื่องราวในกองบินทหารบกผมต้องใช้งานร้อยตรีนิจเป็นหลัก พอมีหนังสือเยอะขึ้นเรื่องราวเลยพลอยมากขึ้นตามกัน



บันทึกการเข้า
ภศุสรร อมร
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 81  เมื่อ 22 ส.ค. 24, 19:02

เรื่องสนุกมากครับ บรรยายเป็นฉากๆจนเสมือนได้ย้อนอดีตจริง
บันทึกการเข้า
superboy
สุครีพ
******
ตอบ: 818


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 82  เมื่อ 23 ส.ค. 24, 10:14

เรื่องสนุกมากครับ บรรยายเป็นฉากๆจนเสมือนได้ย้อนอดีตจริง

เขียนช้าหน่อยนะครับเพราะแต่งสดไม่มีสต๊อก

บันทึกการเข้า
superboy
สุครีพ
******
ตอบ: 818


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 83  เมื่อ 23 ส.ค. 24, 10:15

ตอนที่ 12 ปักหลักที่ดูร์ดอง


กองทหารบกรถยนต์ออกเดินทางอีกครั้งวันที่ 6 สิงหาคม 2461 จุดหมายปลายทางแบ่งเป็นสองจุดประกอบไปด้วย หนึ่งโรงเรียนการรถยนต์ตำบลดูร์ดองพันตรีหลวงรามฤทธิรงค์เป็นผู้บังคับบัญชา สองโรงเรียนการรถยนต์ตำบลลียองร้อยโทแม้น เหมะจุฑาเป็นผู้บังคับบัญชา

เหตุผลที่แบ่งกำลังพลเป็นสองส่วนแยกกันฝึกซ้อม เนื่องจากทหารกองทหารบกรถยนต์มีมากถึงแปดร้อยห้าสิบนาย ไม่สามารถฝึกซ้อมร่วมกันในสถานที่แห่งเดียว ในโรงเรียนยังมีทหารฝ่ายสัมพันธมิตรหลายชาติเข้ารับการฝึก ผู้บังคับบัญชามีความเห็นตรงกันให้กองร้อยย่อยที่ 5 และ 6 แยกตัวไปฝึกซ้อมที่โรงเรียนการรถยนต์ตำบลลียอง

กองร้อยย่อยที่ 4 ภายใต้การนำร้อยโทศรี ศุขะวาที ผู้บังคับกองร้อย ขึ้นรถไฟสถานีซังต์ชาร์ลส์ในเมืองมาร์แซย์ มุ่งตรงมาที่ตำบลดูร์ดอง ร้อยตรีนพผู้ช่วยผู้บังคับกองร้อยทำหน้าที่ดูแลทหารภายใต้การบังคับบัญชา ได้สิบโทจรูญกับพลทหารเพิ่มช่วยเป็นมือเป็นเท้าตลอดเส้นทาง

ขณะเดินตรวจนพเห็นลูกน้องสีหน้าไม่ค่อยสู้ดี มีเวลาว่างนายทหารหนุ่มรีบเดินเข้ามาสอบถาม “หมู่จรูญไม่สบายหรือเปล่า”

 จรูญบอกปัดทันที “เปล่าครับหมวด…ผมเหม็นขี้ม้า”

“รถไฟขนม้าต้องมีขี้ม้าเป็นเรื่องปรกติ”

“ไม่ใช่ขี้ม้าอย่างเดียวนะครับหมวด” คนพูดมากเริ่มพร่ำบ่น “รถไฟวิ่งช้ามากหยุดทุกสถานี เสียงหัวจักรทำทุกคนหูอื้อไปหมด คนขับออกรถทีกระชากเสียจนผมหกล้ม สมแล้วกับที่เป็นรถไฟขบวนพิเศษ”

คำพร่ำบ่นลูกน้องคนสนิทค่อนข้างตรงกับข้อเท็จจริง นพเพิ่งสั่งการให้เพิ่มดูแลเพื่อนซึ่งมีอาการท้องร่วง การรับประทานอาหารในพื้นที่สกปรกเริ่มส่งผลกระทบ ทหารบางนายเปลี่ยนจากเมาเรือเป็นเมารถไฟต้องนอนซม แต่ถึงกระนั้นการเดินทางด้วยรถไฟคือทางเลือกเหมาะสมมากที่สุด

“บอกให้ทุกคนทนหน่อยอีกไม่นานก็ถึง”

คำว่าอีกไม่นานก็ถึงของนพมีค่าเท่ากับสองวัน

เช้าวันรุ่งขึ้นขบวนรถไฟเดินทางถึงสถานีลียองแปร์ราช ทหารที่จะไปฝึกซ้อมในลียองลงรถไฟสถานีนี้ เพื่อต่อรถยนต์เข้าโรงเรียนห่างออกไปประมาณ 12 กิโลเมตร ทหารอาสาอีก 6 กองร้อยย่อยเดินทางต่อด้วยรถไฟขบวนพิเศษ อันเต็มไปด้วยขี้ม้า ฟางข้าว และกลิ่นไม่พึงประสงค์

กองทหารบกรถยนต์ใช้เวลาอีกหนึ่งวันเดินทางถึงดูร์ดอง มีการจัดแถวตั้งขบวนเดินเท้าเข้าสู่โรงเรียนห่างออกไป 3 กิโลเมตร โชคดีไม่ต้องแบกสัมภาระเจ้าหน้าที่ชาวฝรั่งเศสนำรถยนต์มาช่วยลำเลียง ระหว่างเดินทางทุกคนคิดถึงเพื่อนทหารอาสาซึ่งแยกย้ายจากไปตามคำสั่ง ไม่มีใครทราบพวกเขาเหล่านั้นจะได้กลับมารวมกลุ่มอีกครั้งหรือไม่

เพิ่มดีใจมากที่ทุกคนเดินทางถึงที่หมายโดยปลอดภัย เขาแอบเสียใจเล็กน้อยทำไมกองร้อยย่อยที่ 8 ไม่แยกไปฝึกที่ลียอง เพราะกลัวคู่แค้นแสนรักหาเรื่องปวดหัวครั้งใหม่ ร้อยตรีชื่น สิบโทเฉลิม และพลทหารเชิดเปรียบได้กับตัวอันตราย อาจนำความวอดวายมอบให้แด่ทหารไทยโดยไม่ตั้งใจ


บันทึกการเข้า
superboy
สุครีพ
******
ตอบ: 818


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 84  เมื่อ 23 ส.ค. 24, 10:26

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย

ร้อยโทแม้น เหมะจุฑาผู้บังคับบัญชาทหารอาสาที่โรงเรียนการรถยนต์ตำบลลียอง ได้รับยศร้อยเอกระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งในประเทศฝรั่งเศส ส่วนจะได้รางวัลอะไรเพิ่มเติมหรือมีเรื่องราวมากน้อยแค่ไหน โปรดติดตามตอนต่อไปผมเองซึ่งเป็นผู้เขียนยังไม่กล้ายืนยัน

ปี 2479 ร้อยโทแม้น เหมะจุฑาได้รับแต่งตั้งเป็นพันเอก ปีถัดไปได้รับแต่งตั้งเป็นพระสงครามภักดี และออกจากประจำการในปีถัดไปหรือปี 2481 อายุเพียง 48 ปี ฉะนั้นคนรุ่นหลังจะรู้จักท่านในชื่อพันเอกพระสงครามภักดี



บันทึกการเข้า
superboy
สุครีพ
******
ตอบ: 818


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 85  เมื่อ 24 ส.ค. 24, 08:43

ที่พักในโรงเรียนเป็นเรือนไม้ยกพื้นสร้างเรียงกันสิบหลัง แต่ละหลังรองรับนักเรียนประมาณห้าสิบนาย ของใช้ส่วนตัวที่โรงเรียนจัดเตรียมให้ประกอบไปด้วย เตียงไม้หนึ่งหลัง ที่นอนบรรจุฟาง หมอนบรรจุฟาง ผ้าห่มหนาๆ สามผืน และถุงผ้าดิบสวมแทนผ้าปูที่นอนอีกหนึ่งผืน

พลทหารและสิบตรีพักอยู่ในเรือนไม้ยกพื้น สิบโทถึงนายดาบพักในตึกสองชั้น ของใช้ส่วนตัวดีกว่ากันอย่างเห็นได้ชัด มีน้ำร้อนน้ำเย็นให้เลือกอาบตามใจชอบ ส่วนนายทหารชั้นสัญญาบัตรแยกไปพักตึกสามชั้น มีเตียงเหล็ก ที่นอน ผ้าขาวปูที่นอน หมอน ผ้าคลุมหมอน ผ้าห่มหนานุ่ม มีอ่างล้างหน้าและตู้เก็บของส่วนตัว ชั้นสองให้ทหารรับใช้พักอาศัย ส่วนชั้นหนึ่งเป็นห้องรับแขกกับห้องรับประทานอาหาร

แต่ละวันกรมเสบียงทหารฝรั่งเศสจะจ่ายอาหารให้กับนักเรียนจากแดนไกล เบี้ยเลี้ยงนายสิบและพลทหารที่ทางการไทยจ่ายให้ฝรั่งเศสวันละ 1.75 ฟรังค์ต่อคน อาหารเช้าจ่ายเวลา 05.30 น.ประกอบไปด้วยกาแฟกับขนมปัง 250 กรัมสำหรับกินทั้งวัน อาหารกลางวันจ่ายเวลา 11.00 น.มีซุปแช่ขนมปัง เนื้อวัวหรือเนื้อหมูต้มหรือทอด 125 กรัม มีผัก มัน หรือข้าวตามสมควร อาหารเย็นจ่ายเวลา 17.00 น.ทุกอย่างเหมือนอาหารกลางวัน

เรื่องอาหารการกินทำให้จรูญอารมณ์เสียใบหน้าบูดบึ้ง

เจ้าตัวมางอแงกับลูกน้อง “ข้าอยากเป็นพลทหารเหมือนเอ็ง”

“ทำไมล่ะพี่หมู่” เพิ่มไม่เข้าใจความคิดทหารชั้นประทวน จ่าจรูญมีห้องรับประทานอาหารแยกจากพลทหาร จาน ช้อน ส้อมไม่ต้องนำมาเอง มีกาแฟให้ดื่มทุกมื้อ รวมทั้งได้นั่งร่วมโต๊ะทหารชั้นประทวนของฝรั่งเศส
“เอ็งไม่เข้าใจ” จรูญอธิบาย “ข้าต้องจ่ายค่าใช้ห้องอาหาร แม่ครัวฝีมืองั้นๆ แต่ค่าตัวแพง กลายเป็นว่าข้ากินเหมือนเอ็งแต่เสียเงินเพิ่ม”

ค่าอาหารสิบโทถึงนายดาบตกวันละ 2.5 ฟรังค์ต่อคน จรูญต้องควักกระเป๋าวันละ 0.75 ฟรังค์เป็นค่าอาหาร คนพูดมากอย่างเขาจึงอดไม่ได้ที่จะระบายความรู้สึก เงินเก็บตั้งใจส่งให้เมียกับลูกพลอยหดหายตามกัน
“พี่หมู่อย่าบ่นนักเลย” เพิ่มแย้งกลับด้วยข้อเท็จจริง “อาหารพี่หมู่เยอะกว่าผมมีข้าวสวยด้วย มื้อกลางวันกับมื้อเย็นมีของหวานให้กิน”

“อีกสักพักคงไม่มีข้าวสวย ข้าเสียดายเงินนี่นา”

“งกจังเลย…คนเสียเงินมากกว่าพี่เดินมาทางโน้นแล้ว”

เพิ่มพยักหน้ามาที่ร้อยตรีนพผู้บังคับบัญชา เขาเพิ่งกลับจากสโมสรโรงเรียนการรถยนต์ในเมืองพร้อมร้อยตรีชุ่ม ค่าอาหารนายทหารชั้นสัญญาบัตรสูงถึงวันละ 6.75 ฟรังค์ต่อคน อาหารเช้าเวลา 6.00 น.ประกอบไปด้วย กาแฟ นมวัว น้ำตาล ขนมปัง และเนย อาหารกลางวันเวลา 12.00 น.มีออร์เดอวส์ เนื้อวัวหรือเนื้อหมูต้มหรือทอด ผัก ขนมปัง เนยแข็ง ผลไม้ และกาแฟ ส่วนอาหารเย็นเวลา 19.00 น.มีซุป เนื้อวัวหรือเนื้อหมูต้มหรือทอด ผัก ขนมปัง เนยแข็ง ผลไม้ และกาแฟเหมือนอาหารกลางวัน

ทั้งเพิ่มและจรูญไม่แน่ใจหมวดนพต้องจ่ายเพิ่มวันละเท่าไร

ทั้งคู่อยากรู้แต่ไม่กล้าถามกลัวผู้บังคับกองร้อยลงโทษ ตั้งแต่เดินทางถึงดูร์ดองร้อยโทศรีดูแลลูกน้องอย่างเข้มข้นมากกว่าเดิม เพราะไม่ต้องการให้ทหารอาสาชาวไทยสร้างเรื่องน่าอับอายต่อหน้าทหารชาติอื่น


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 41307

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 86  เมื่อ 24 ส.ค. 24, 09:04

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย

ร้อยโทแม้น เหมะจุฑาผู้บังคับบัญชาทหารอาสาที่โรงเรียนการรถยนต์ตำบลลียอง ได้รับยศร้อยเอกระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งในประเทศฝรั่งเศส ส่วนจะได้รางวัลอะไรเพิ่มเติมหรือมีเรื่องราวมากน้อยแค่ไหน โปรดติดตามตอนต่อไปผมเองซึ่งเป็นผู้เขียนยังไม่กล้ายืนยัน

ปี 2479 ร้อยโทแม้น เหมะจุฑาได้รับแต่งตั้งเป็นพันเอก ปีถัดไปได้รับแต่งตั้งเป็นพระสงครามภักดี และออกจากประจำการในปีถัดไปหรือปี 2481 อายุเพียง 48 ปี ฉะนั้นคนรุ่นหลังจะรู้จักท่านในชื่อพันเอกพระสงครามภักดี

ไปค้นประวัติท่านเพิ่มเติม   ได้มาอีกนิดหน่อยค่ะ

พันเอกพระสงครามภักดี ( แม้น  เหมะจุฑา )  เกิดที่ปากครองบางป่า  อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี  เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2433 เป็นบุตร นายตุย  นางสมโอ       ได้สมรสกับ นางสาวเลื่อน  กัลยาณมิตร เมื่อ พ.ศ. 2463 มีบุตรและธิดารวม  5  คน คือ
1      นายแพทย์จิตต์  เหมะจุฑา
2      นายแพทย์ยุคนธ์  เหมะจุฑา
3      นางสาวมยุรี  เหมะจุฑา   
4      นายอัมพร  เหมะจุฑา   
5      นายมิลินท์  เหมะจุฑา   
            พันเอกพระสงครามภักดี  ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2508 เวลาประมาณ 05.00 น. ณ โรงพยาบาลศิริราช ด้วยโรคหัวใจวาย หลังการผ่าตัดกระเพาะอาหาร 11 วัน  อายุ 76
    พระราชทานเพลิงศพ ณ ฌาปนสถานกองทัพบก วัดโสมนัสวิหาร วันที่  17 มกราคม พ.ศ. 2509
               
พันเอกพระสงครามภักดี  ได้เข้าศึกษาวิชาที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่อายุยังเยาว์ อาศํยอยู่กับ พันตำรวจเอก พระยาเทพผลู ( ผาด เหมะจุฑา ) ผู้เป็นพี่ ( ญาติเรียงพี่เรียงน้อง ) ครั้งแรกได้เข้าศึกษาอยู่ที่โรงเรียนเคริสเตียนไฮสกูล ถนนประมวล ซึ่งเป็นโรงเรียนกรุงเทพ ฯ คริสเตียนวิทยาลัยในปัจจุบันนี้ ภายหลังได้ย้ายมาเข้าโรงเรียนนายร้อยทหารบกเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2450 ตั้งแต่บัดนั้นก็ดำเนินชีวิตเกี่ยวกับราชการทหารตลอดมา
     พันเอกพระสงครามภักดี  ได้ศึกษาวิชาอยู่ที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกเป็นเวลา 4 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2450 จนถึง พ.ศ. 2453 (  เลขประจำตัว 1554 ) แล้วได้เรียนสำเร็จออกรับราชการมีตำแหน่งและยศดังกล่าวเป็นลำดับดังต่อไปนี้
    3 เมษายน 2454           เป็นนักเรียนนายร้อยสำรอง สังกัดกรมทหารปืนใหญ่ที่ 2  ตั้งอยู่ที่บางซื่อ
    1 ตุลาคม 2454            เป็นว่าที่ร้อยตรี
   11 เมษายน 2455            เป็นร้อยตรี
        ตุลาคม   2456           ย้ายมาเป็นนายทหารฝึกราชการกรมเสนาธิการทหารบก
    1 เมษายน 2458           เป็นร้อยโท
       กันยายน 2458          เป็นสำรองราชการกรมยุทธศาสตร์ทหารบก
      กรกฎาคม 2459        เป็นประจำกรมยุทธศาสตร์ทหารบก
    1 พฤศจิกายน 2461     เป็นผู้บังคับกองย่อยในกองใหญ่รถยนต์ไปในราชการสงครามในยุโรป และได้รับยศเป็นร้อยเอกในระหว่างนั้น
   22 กันยายน 2462        เป็นประจำแผนกที่ 1  กรมยุทธศาสตร์ทหารบก
        ธันวาคม  2462       เป็นผู้ช่วยหัวหน้าแผนกที่ 3  กรมยุทธศาสตร์ทหารบก
   1  เมษายน  2465             เป็นพันตรี
   7  กรกฎาคม  2466          เป็นผู้ช่วยเจ้ากรมกรมยุทธศาสตร์ทหารบก
   1  พฤษภาคม  2470         เป็นปลัดกรมยุทธศาสตร์ทหารบก
   1 เมษายน  2471             เป็นเสนาธิการกองพลที่ 4  นครสวรรค์
   1 เมษายน  2472             เป็นพันโท
      สิงหาคม  2474            เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกฝ่ายจังหวัดทหารบก
  22  พฤษภาคม 2476         เป็นรองเสนาธิการทหารบกและเจ้ากรมยุทธศาสตร์ทหารบก
  25  สิงหาคม  2477           เป็นรองจเรทหารบก
   1 เมษายน  2479            เป็นพันเอก
   1 กรกฎาคม 2481          ออกจากประจำการ     

     พันเอกพระสงครามภักดี  ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์  ทั้งตราและเหรียญดังต่อไปนี้
              7  พฤศจิกายน  2454  เหรียญบรมราชาภิเษก
            21  เมษายน  2462       เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีชั้น 4 อ.ร.
            21  กันยายน  2462      เหรียญที่ระลึกในงานพระราชสงคราม
            26  ตุลาคม  2466        เหรียญชัย
            30  ธันวาคม  2466      เบญจมาภรณ์ช้างเผือก
            25  กุมภาพันธ์  2468   เหรียญบรมราชาภิเษก
              6  ธันวาคม  2469      เหรียญจักรมาลา
              2  ธันวาคม  2473      จตุรถาภรณ์มงกฏ
            21  พฤศจิกายน  2474   เหรียญที่ระลึกในงานฉลองพระนคร
            21  กันยายน  2477      เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ
            20  กันยายน  2480      ตติมงกฏ

ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ

ประเทศฝรังเศสให้ตรา  ครัว เดอะ แกร์  ( Croix  de  Guerre )
ประเทศเบลเยี่ยม  ให้  เลโอโปลด์ที่ 4     ( Leopold IV )

ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์
         7 พฤษภาคม  2463     เป็นหลวงสงครามภักดี
         13  พฤษภาคม  2470      เป็นพระสงครามภักดี
ได้รับตำแหน่งพิเศษ
      12  สิงหาคม  2475      เป็นเลขานุการคณะกรรมการกลางกลาโหม
        9  ธันวาคม  2476      เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2
     30  ธันวาคม  2476      เป็นกรรมการกลางกลาโหม

     15  มกราคม  2476      เป็นกรรมการศาลพิเศษ  พิจารณาคดีขบถ
      22  พฤษภาคม 2477    เป็นตุลาการศาลทหารบกกลาง
      16  พฤศจิกายน  2477  เป็นตุลาการสำรองศาลทหารกลาง

พันเอกพระสงครามภักดี  ได้สมัครไปรับราชการทัพในงานพระราชสงครามในยุโรป  ซึ่งเป็นมหาสงครามโลกครั้งแรก  พ.ศ. 2457 -  61  ออกจากกรุงเทพฯ วันที่ 19  มิถุนายน 2461  กลับถึงกรุงเทพฯ วันที่  21 กันยายน  พ.ศ. 2462  รวมเป็นเวลา 1 ปี 3 เดือน กับ 3 วัน 


บันทึกการเข้า
superboy
สุครีพ
******
ตอบ: 818


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 87  เมื่อ 24 ส.ค. 24, 09:49

ขอบคุณครับอาจารย์ สมัยก่อนเป็นว่าที่ร้อยตรีครึ่งปีถึงได้เป็นร้อยตรี
บันทึกการเข้า
superboy
สุครีพ
******
ตอบ: 818


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 88  เมื่อ 24 ส.ค. 24, 09:50

ตั้งแต่มาอยู่ดูร์ดองเพิ่มให้ความสนิทกับพลทหารชั้วมากกว่าเดิม ทหารหนุ่มวัยยี่สิบสี่จากสิงห์บุรีนิสัยง่ายๆ ไม่เคยมีปัญหากับใคร ประหยัดคำพูดค่อนข้างเก็บตัวผลงานการเรียนอยู่ในลำดับต้นๆ อายุมากกว่าเพิ่มห้าปีแต่ไม่เคยวางอำนาจบาตรใหญ่ เวลาว่างของชั้วคือการศึกษาหาความรู้

“พี่ชั้วขยันมาก” เพิ่มอดไม่ได้ที่จะเอ่ยชม

“พี่แค่ไม่อยากสอบตก” ชั้วให้เหตุผล

“ทุกวันนี้ผมยังสงสัยอยู่เลย พี่ทำได้ทุกอย่าง เรื่องเครื่องยนต์เก่งไม่แพ้ใคร อายุก็กำลังเหมาะสม ทำไมพี่ไม่ติดยศสิบตรีเหมือนคนอื่น”

ชายหนุ่มจากสิงห์บุรีถอนหายใจ “เพิ่มก็รู้พี่เรียนมาน้อย ทำงานในกรุงเทพถนัดแต่ใช้กำลัง เขาให้เป็นทหารอาสาบุญถือว่าท่วมหัว”

“สิบตรีที่นอนกับพวกเราไม่มีใครเก่งเท่าพี่สักคน” ชายหนุ่มวัยสิบเก้าสีหน้าไม่เห็นด้วย พี่ชั้วมีความสามารถแต่ค่อนข้างถ่อมตัว กลัวฝรั่งหนักกว่าเขาซึ่งจัดว่าย่ำแย่เต็มที ผู้บังคับบัญชาพากันมองข้ามไม่เห็นความสำคัญ

“เพิ่มฟังพี่” ชั้วส่งยิ้มให้กับคนนอนเตียงติดกัน “พี่สมัครทหารอาสาเพราะอยากปกป้องประเทศ เรื่องยศตำแหน่งสำหรับพี่ยังไงก็ได้”

“ถ้าพี่เป็นสิบตรีแล้วมีผลงานดีๆ กลับเมืองไทยพี่อาจได้เป็นทหารประจำการ ผมว่าดีกว่าอาชีพรับจ้างที่พี่เคยทำตั้งเยอะ”

“พี่เบื่อกรุงเทพแล้วเพิ่ม มีเงินเก็บสักก้อนจะกลับไปอยู่ต่างจังหวัด อยากดูแลพ่อแม่ยามแก่เฒ่า อยากอยู่กับพี่น้องเหมือนสมัยเด็กน้อย”

“แต่พี่ยังมีโอกาสเจริญก้าวหน้า”

“โอกาสของพี่หมดนานแล้ว โอกาสของเพิ่มยังมี”

ชายหนุ่มวัยยี่สิบสี่ให้คำแนะนำต่อชายหนุ่มวัยสิบเก้า

“เพิ่มหัวไว ฉลาดทันคน เรียนรู้เร็ว มีโอกาสมาอยู่เมืองนอกอย่าได้ลังเล ความรู้ช่วยให้เพิ่มประสบความสำเร็จ ความรู้ยังช่วยพัฒนาประเทศไทย ฝรั่งเศสที่พวกเราเกลียดเจริญก้าวหน้าเพราะความรู้ ประเทศไทยขาดคนมีความรู้สู้เขาไม่ได้ พี่ขอฝากความหวังไว้กับเด็กหนุ่มอย่างเพิ่ม”

จบตอนที่ 12 พรุ่งนี้ผมขออู้นะครับ



บันทึกการเข้า
superboy
สุครีพ
******
ตอบ: 818


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 89  เมื่อ 26 ส.ค. 24, 09:15

ตอนที่ 13 โรงเรียนการรถยนต์

ร้อยโทแปร์ โรนังค์คือผู้อำนวยการฝึกโรงเรียนการรถยนต์ดูร์ดอง มีหน้าที่ดูแลการกินอยู่หลับนอนนักเรียนมากกว่าหนึ่งพันชีวิต ผู้รับผิดชอบการฝึกสอนคือทหารฝรั่งเศสยศจ่านายสิบ นายสิบกับพลทหารจะมีจ่านายสิบชาวฝรั่งเศสเป็นครูกองร้อยละหนึ่งนาย แต่ละหมวดมีสิบตรีหรือสิบโทเป็นครูผู้ช่วยจำนวนสองนาย และมีรถยนต์สำหรับฝึกสอนจำนวน 5 คัน

การเรียนการสอนแบ่งเป็นสองส่วนทฤษฎีกับปฏิบัติ นายทหารชั้นสัญญาบัตรเรียนทฤษฎีเวลา 7.00-10.30 น. กับฝึกภาคปฏิบัติเวลา 13.00-17.00 น.นายสิบกับพลทหารเริ่มเรียนตั้งแต่เวลา 6.00 น. แบ่งเป็นสองกลุ่มสลับกันเรียนทฤษฎีกับปฏิบัติเนื่องจากจำนวนกำลังพลมากเกินไป

สองวันแรกของการฝึกเพิ่มกับจรูญหัดเข้าเกียร์รถยนต์เรอะโนลต์ วันที่สามครูฝึกพาออกนอกค่ายไปทดสอบของจริง ทหารอาสาชาวไทยต้องขับรถขึ้นเขาลงเขาเป็นครั้งแรก แต่ถึงกระนั้นทุกคนบังคับพวงมาลัยได้ดี เปลี่ยนเกียร์ได้อย่างคล่องแคล่ว ควบคุมรถตามเส้นทางโดยไม่ตื่นตระหนก สร้างความประทับใจต่อครูฝึกจนต้องออกปากสรรเสริญเยินยอ

หลังรับประทานอาหารเย็นสองทหารกล้านั่งคุยกันตามปรกติ

“วันนี้ครูพูดว่าอะไร” จรูญฟังภาษาฝรั่งเศสไม่ออก

“ครูคงชมว่าพวกเราขับรถดี” เพิ่มคาดเดาไปเรื่อยจากสีหน้าแววตา

“จะไม่ดีได้ยังไง…อยู่เมืองไทยข้าซ้อมตั้งหลายเดือน”

“พี่หมู่เตรียมตัวไว้เลย พรุ่งนี้พวกเราต้องเดินทางไกล”

“เอ็งรู้ได้ยังไงวะ”

“ผมเห็นครูกางแผนที่ให้นายทหารสัญญาบัตรดู”

“อ้อ…ทำไมครูไม่ให้พวกเราดูแผนที่”

“พี่หมู่อ่านภาษาฝรั่งเศสออกเหรอ”

“ถึงอ่านไม่ออกแค่เห็นก็ยังดี”

อุปสรรคสำคัญของชั้นเรียนคือการสื่อสาร ครูฝึกพูดภาษาไทยไม่ได้ส่วนนักเรียนพูดภาษาฝรั่งเศสไม่ได้ ภาษาหลักที่ใช้ติดต่อกันจึงเป็นภาษามือ โชคดีทหารอาสาทุกนายได้รับการฝึกอย่างเข้มข้นจากเมืองไทย มาอยู่ต่างแดนจึงเรียนรู้การขับรถยนต์ฝรั่งเศสได้โดยไม่ขัดเขิน

การเรียนการสอนที่โรงเรียนการรถยนต์ดูร์ดองประกอบไปด้วย การขับรถทั้งในที่ราบ บนภูเขา และทางทุรกันดาร การขับรถทางไกลเป็นขบวน การขับรถในเวลากลางคืนขณะพรางแสงไฟ เรียนรู้ส่วนประกอบสำคัญของรถยนต์ การบำรุงรักษาเครื่องยนต์ การแก้ไขเครื่องยนต์เมื่อเกิดเหตุขัดข้อง ผ่านพ้นไปประมาณสองสัปดาห์มีการสอบไล่ตัดสินชะตากรรม

ผู้สอบผ่านจะได้รับประกาศนียบัตรรองรับคุณวุฒิความสามารถ คนไหนสอบตกถูกส่งไปทำหน้าที่เสมียน สูทกรรม และทหารรับใช้ ผลการสอบทหารอาสาส่วนใหญ่รวมทั้งเพิ่มและจรูญสอบผ่านได้รับใบเขียว

“ข้าได้สิบเอ็ดแต้ม…เอ็งล่ะ” ในบรรดานักเรียนชาวไทยจรูญหน้าตื่นมากที่สุด เจ้าตัวดีใจมากที่สอบผ่านเพราะไม่อยากเป็นคนครัวหรือคนใช้

“สิบสาม” เพิ่มมั่นใจว่าตัวเองสอบผ่านแน่นอน

“เอ็งขี้โกงหรือเปล่า ทำไมคะแนนดีกว่าข้า”

“ก็พี่หมู่ไม่อ่านหนังสือ”

บทสนทนาระหว่างเพิ่มกับจรูญสิ้นสุดลงแบบปุบปับ หลังได้ยินเสียงคุยโวโอ้อวดจากเชิดกับเฉลิมลอยเข้าหู เพราะความหมั่นไส้จรูญอยากเดินเข้าไปตอกกลับแรงๆ ให้สาแก่ใจ บังเอิญร้อยโทแปร์ โรนังค์นำรายชื่อทหารอาสาจำนวนหนึ่งมาปิดประกาศ พร้อมอธิบายบุคคลผู้มีชื่อในประกาศให้มาต่อแถวรวมตัววันพรุ่ง โรงเรียนจะพาทุกคนไปฝึกหัดเพิ่มเติมในโรงงาน เพื่อเป็นช่างเครื่องยนต์ซึ่งต้องใช้ความรู้ความสามารถสูงกว่าตำแหน่งพลขับ

เพิ่มกับจรูญมีรายชื่อได้ไปโรงงานซ่อมสร้างรถยนต์

ส่วนเชิดกับเฉลิมไม่มีแม้แต่รายชื่อตัวสำรอง

เสียงคุยโวโอ้อวดจากทหารอาสากองร้อยย่อยที่ 8 หายไปทันที

บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 12
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.065 วินาที กับ 19 คำสั่ง