อุปกรณ์รามเกียรติ์

จาก ตู้หนังสือเรือนไทย

การปรับปรุง เมื่อ 10:12, 8 กรกฎาคม 2553 โดย CrazyHOrse (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
(ต่าง) ←รุ่นก่อนหน้า | รุ่นปัจจุบัน (ต่าง) | รุ่นถัดไป→ (ต่าง)
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

เนื้อหา

ข้อมูลเบื้องต้น

แม่แบบ:เรียงลำดับ ผู้แต่ง: เสฐียรโกเศศ และ นาคะประทีป

บทประพันธ์

ภาคหนึ่ง ตอนต้น

คำปรารภ

ในพระราชนิพนธ์บ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์ มีพระราชปรารภไว้ตอนหนึ่งว่า “เรื่องรามเกียรติ์เป็นเรื่องราวสำคัญที่ชาวไทยเรารู้จักกันดีอย่างซึมซาบก็จริงอยู่ แต่มีน้อยตัวนัก ที่จะทราบว่ามีมูลมาจากไหน”

ข้อนี้เป็นความจริงแท้ เพราะเรื่องละครต่าง ๆ เช่นเรื่อง จันทโครบ พระรถเมรี ย่อมเข้าใจกันทั้วไปเป็นสามัญว่า เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นในเมืองไทยนี้เอง พระราชนิพนธ์รามเกียรติ์อยู่ในประเภทเรื่องละคร ก็คงเข้าใจรวม ๆ ว่าท่านประดิษฐ์ขึ้น บางพวกเห็นเอาว่าเป็นเรื่องราวป้วนเปี้ยนอยู่ในสยามนี้ เพราะมีบึงพระราม ด่านหนุมาน ห้วยสุครีพ ตำบลพรหมาสตร์ ทะเลชุบศร หนองสีดา เป็นต้น อย่างดีขึ้นไปกว่านี้ ก็คะเนเพียงว่าคงเป็นเรื่องมาจากอินเดีย เพราะกล่าวถึงพระอิศวร และพระนารายณ์อวตารในลัทธิพราหมณ์ แล้วลงเอาว่าคงเหมือนกับของอินเดียตลอดเรื่อง เลยไม่มีใครเอาใจใส่ที่จะค้นคว้าหาความจริงยิ่งกว่านี้ ด้วยเหตุที่ท่านผู้รู้ของเราที่สามารถก็ไม่นิยมลัทธิไสยศาสตร์ เห็นว่ารามเกียรติ์แสดงมหิทธานุภาพ เหาะเหิร เดิรอากาศ ตายแล้วกลับเป็นขึ้นมาอีก ฤษีชีไพรออกบวชบำเพ็ญพรตจนมีตบะเดชะแก่กล้าแล้ว ก็ใช้ตบะเดชะนั้นเอง ชุบสตรีขึ้นเป็นเมีย เหลวใหลหาชิ้นดีอะไรมิได้ เสียเวลาที่จะไปหาเลือดกะปู

ต่อเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระธีรราชเจ้าของวรรณคดี ทรงพระราชนิพนธ์บ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์ขึ้น จึ่งได้เกิดความรู้ความสว่างในเรื่องรามเกียรติ์เปิดหูเปิดตาออกไปให้กว้างขวาง เห็นแนวรามเกียรติ์ว่ามีมูลมาจากไหน และด้วยอำนาจพระบรมราชาธิบายนั้นเอง ยังได้เกิดความรู้ต่างๆ ในพากย์สํสกฤต นอกจาก

รามเกียรติ์เพิ่มขึ้นอีกมากประการ เรื่องที่ไม่เคยนึกฝันว่าจะรู้ก็ได้รู้ขึ้น สามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากว่า ความรู้ในวรรณคดีพากย์ สํสกฤตซึ่งเป็นส่วนสำคัญประการหนึ่ง แห่งวรรณคดีของเรา ที่มารู้กันแพร่หลายในปัจจุบันนี้มากกว่าแต่ก่อนเป็นอันมากก็ด้วย พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระปริณายกาจารย์ นำช่องทางให้เห็นมูลที่มาแห่งเรื่องรามเกียรติ์เป็นปฐม ทั้งนี้ย่อมเป็นพระมหากรุณาธิคุณซึ่งผู้ใฝ่ใจในเรื่องหนังสือชั้นวรรณคดี จะลืมระลึกเสียมิได้เลย

ในท้ายพระราชนิพนธ์เรื่องนั้น ทรงพระราชปรารภว่ามีพระราชประสงค์อยู่แต่จะทรงนำหัวข้อหรือตั้งโครงไว้สำหรับผู้ที่พอใจในทางหนังสือ จะได้พิจารณาต่อไปอีกเท่านั้น

ข้าพเจ้าได้รับความรู้ในเรื่องรามเกียรติ์เป็นอันมาก เพราะพระราชนิพนธ์นี้เป็นครู เห็นว่าน่าจะสนองพระเดชพระคุณตามสติปัญญาสามารถ ค้นคว้าหามูลรามเกียรติ์ของเราให้ได้สมพระราชประสงค์ที่สุดที่จะหาได้ ดูเหมือนจะทรงทราบด้วยพระญาณวิถีทางไดทางหนึ่ง ทรงพระเมตตาดลบันดาลให้ได้หลักฐานคืบออกไปทีละนิดละหน่อย ทำให้มีความเพลิดเพลินที่จะสืบสาวก้าวหน้าออกไปเสมอ แต่ทว่าความรู้ความสามารถของตนยังน้อยนัก แม้ทรงบันดาบให้พบลู่ทางที่เชื่อว่าคงมีอะไร ๆ ดีในนั้น ก็ยังไม่มีความรู้พอจะสนองพระเดชพระคุณให้เต็มใจรักของตน จนสมพระราชประสงค์ได้ กระนั้นการที่มาทำเรื่องนี้ จะว่า “หาญ” ก็ไม่เชิง ใคร ๆ ก็ทำได้ถ้าขยันค้น เพราะมีหัวข้อหรือโครงทรงตั้งนำไว้ดีแล้ว ดำเนิรไปตามนั้นสำเร็จ อันจะได้ผลแค่ไหนสุดแต่สติปัญญาจะอำนวย แม้จะไม่สำเร็จถึงที่สุดในชั่วชีวิตนี้ ก็คงเกิดมีนักปราชญ์สักคนหนึ่งในภายหน้า สามารถสนองพระเดชพระคุณสมพระราชประสงค์ได้โดยบริบูรณ์.

เมื่อเห็นพระราชดำรัสว่า “ข้าพเจ้าเองก็ได้เคยรู้สึกเช่นนี้มาแล้วแต่ก่อน ๆ จึ่งได้ตั้งใจเที่ยวค้นคว้าหาความรู้ในเรื่องนี้ ตั้งความพยายามมาแล้วหลายปีกว่าจะหาหนังสือได้เท่าที่พอใจ “ อันแสดงว่า สมเด็จพระธีรราชเจ้ายังทรงพยายามถึงเพียงนั้น. ลำพังข้าพเจ้า ถ้านับเวลาตั้งแต่พระราชนิพนธ์บ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์นั้น พิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ จนบัดนี้ร่วม ๒๐ ปี ก็ได้เรื่องราวเพียงที่จะได้อ่านกันต่อไปนี้. ถ้าท่านผู้อื่นจะพิจารณาเพิ่มเติมต่อไปได้อีกเพียงใด, ก็จะเป็นการช่วยให้สมกับที่ได้ตั้งพระราชหฤทัยหวังไว้.

ข้อยากลำบากสำหรับเรื่องนี้ คือ รามเกียรติ์ของเราแม้แน่ใจว่า มีรามายณะเป็นบ่อเกิดก็จริง แต่รามายณะมิใช่มีเพียงในอินเดีย ประเทศต่างๆ อันอยู่ถัดอินเดียออกมา ก็ได้รับอารยธรรมจากนั้น มีลัทธิศาสนาเป็นต้น ย่อมมีรามายณะอยู่ด้วยกันทุกประเทศ. จึ่งฉบับรามายณะต่างสำนวนที่มีอยู่ในนานารัฐอินเดีย ตลอดมาจนประเทศทางบูรพทิศ ได้ความว่ามีจำนวนมากมายก่ายกองนัก ถ้ารวมกันเข้าเห็นจะมากกว่า “หนึ่งเล่มเกวียน” จริง ๆ รามายณะในอินเดียเอง ที่ว่าเป็นฉบับแท้มีอยู่ ๓ ฉะบับ ไม่มีใครบังอาจแก้ไขดัดแปลงได้ เพราะถือเป็นบาปหนัก แต่เมื่อนักปราชญ์สอบสวนดู ก็พบว่ามีข้อความผิดแผกแตกต่างกันทุกฉะบับ ครั้นเมื่อไปจากอินเดีย ตกถึงประเทศใด ก็ต้องกลายรูปห่างจากของเดิมออกไปทีละน้อย ๆ ตามลัทธิธรรมเนียมแห่งประเทศชาติ บางฉบับไกลลิบแทบจำไม่ได้ว่า มีมูลมาจากแห่งเดียวกัน

บางประเทศ เช่น ชะวา มลายู มีรามายณะ อย่างฟุ่มเฟือย หลายฉบับหลายสำนวน เรื่องก็ต่างกันคนละรูปสุดแต่ผู้เรียงจะถนัดทางไหน เช่นสมทบเอานาปีอาดัมในคัมภีร์เยเนสิส เป็นเทวทูตของพระอิศวรมาแนะนำพิธีบำเพ็ญตบะแก่ทศกัณฐ์ หนุมานของอินเดียหรือของทมิฬ เป็นพรหมจารีผู้หนึ่ง ซึ่งไม่สัมผัสสตรีเพศด้วยความกำหนัด มาถึงมลายูปรากฏหนหนึ่งว่าเป็นชู้กับขายาพระลักษมณ์ ครั้นตกมาในเรา กลายเป็นเจ้าชู้สบช่องเหมาะทุกขณะ เพราะนิสสัยของเราชอบเช่นนั้น ตกไปถึงญวน มีเพียงเค้าให้ทราบว่ารามายณะแต่ชื่อเสียงเรียงนามเป็นสำเนียงญวนไปหมด. เลยไปถึงลาวอีกทีกลายเป็นพระรามชาดก เนื้อเรื่องกาหลอลหม่านไปทางหนึ่ง แต่ชื่อพระราม ทศกัณฐ์ นางสีดา ยังคงอยู่

บางคำกลายมาจากอื่นทีหนึ่งแล้ว เรายังบิดผันไปเสียอีก เช่นชื่อเขามเหนทร, ผ่านทมิฬเป็น มเหนติรัน, เรากลายเป็นเหมติรัน. คำ ลักษมณ ชื่อน้องพระราม ผ่านมลายู ซึ่งใช้เป็นความหมายถึง แม่ทัพเรือ, เราเอามาใข้บ้าง เป็นนามเจ้ากรมอาสาจาม มีหน้าที่จัดเรือ แต่กลายเป็น ขุนรักษณามา, ที่ร้ายยิ่งกว่านี้ เราเองระบายสีของเราอย่างสนิทสนม เช่น ดงพระราม, พูดเร็วเข้าว่า ดงพราม, เขียนเสียเรียบร้อยเป็น ดงพราหมณ์ เลยหมดความระแวง.

ดังนี้ การจะหาหลักฐานรามเกียรติ์ของเราว่า จะมาจากรามายณะฉะบับไหนโดยฉะเพาะ เป็นอันว่าไม่ได้. จะต้องสืบเพียงตอน ๆ ว่า ตอนไหน จะตรงกับตอนไร ในรามายณะของใคร เท่านี้พอมีทาง, แต่ก็ไม่ปลอดโปร่ง เพราะ

รามายณะฉบับต่าง ๆ ที่พอหามาได้ก็เป็นภาษาเดิม เช่น ทมิฬ ลังกา ชะวา มลายู ที่แปลเป็นอังกฤษพอจะคลำอ่านได้เรื่องบ้าง ก็หาไม่ได้หรือไม่มี จะมีก็แปลเป็นภาษาเยอรมันเสีย. เผอิญได้อาศัยเพื่อนฝูงที่รู้ภาษาทมิฬบ้าง เยอรมันบ้าง ขอไต่ถามตามแต่โอกาสของเขา พอได้เค้าราง ๆ ไม่แร้นแค้นเสียทีเดียว. แต่ก็เหมือนเดิรจะไปให้ถึงที่แห่งหนึ่ง ฝ่าเข้าไปในป่าชัฏ สุ่มหาทางสัญจร ไม่ทราบว่าจะไปทิศไหน. บางคราวออกมาถึงที่ราบรื่นหายรกแล้ว เข้าใจว่าเป็นทางคนเดิรได้ละ, ก็เกิดมีทางแยกให้รวนเรใจ. บางแห่งเดาว่า เข้าทางถูกแล้ว แต่รกเรี้ยวมาก ขาดเครื่องมือสำหรับถางทาง หากจะได้เครื่องมือก็ใช้ไม่เป็น เช่นมีฉบับภาษาลังกา ก็หมดปัญญาที่จะหยิบใช้ด้วยตนเอง

ครั้นมาเห็นว่า ไหน ๆ ได้บุกป่าฝ่าดงเข้าไปบ้างแล้ว จะถูกทางหรือผิดทางก็ตามที ควรบันทึกระยะทางะราง ๆ เท่าที่พบเห็นไว้ที. เพราะฉะนั้น หนังสือนี้เท่ากับคู่มือบันทึกหมายเหตุ สำหรับสอบสวนกับทางที่จะพบต่อไป, เป็นโครงเรื่อง, รวบรวมข้อความที่ผ่านพบมาไว้พลางก่อน ; มิฉะนั้น ข้อความต่าง ๆ จะเลื่อนเปื้อนเลือนหายเสีย. จึ่งยังไม่ใข่ตกลงเป็นยุตติ : ถ้าไปพบทางไหนที่เข้าทีกว่า, ก็อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ทุกเมื่อ. แต่ผู้อ่านต้องมีพื้นทราบเรื่องรามเกียรติ์พร้อมด้วยพระราชนิพนธ์บ่อเกิด จึ่งจะได้รสดี เพราะเป็นหนังสือชนิดเครื่องมือช่วยให้รู้อะไรบางอย่างในรามเกียรติ์ แต่ไม่ถึงขั้นวิจารณ์, สมเพียงจะให้ชื่อว่า อุปกรณ์รามเกียรติ์.

หลักฐานที่ว่าพบในระวางทาง ล้วนแต่เก็บเอาจากหนังสือต่าง ๆ บางแห่งถ้าจะพูดเพียงที่ได้มา เนื้อความจะไม่แจ่มแจ้ง ต้องเพิ่มเติมอัตตโนมัติขยายออกไป บางแห่งดูเหมือนจะมีเกี่ยวข้องน้อยเต็มที จะไม่นำมากล่าวก็ได้ แต่น่าเสียดายก็รวมเข้าไว้ด้วย บางทีความคิดเดิรเพลินไป ชวนให้อดไม่ได้ที่จะมีการสันนิษฐาน ที่ล่อแหลมไปในวิธีเดาประสมเหตุ. และตอนไหนได้มาจากหนังสืออะไร ได้บอกไว้ให้ทราบในบันทึกได้ด้วยอักษรชื่อเดิม เพื่อผู้สนใจจะได้มีโอกาสตรวจสอบดูได้เอง ซึ่งส่วนมากมีอยู่ในหอพระสมุดวชิราวุธ.

เรื่องในอุปกรณ์รามเกียรติ์ ได้แก้ไขเพิ่มเติมเสมอมาไม่ค่อยรู้จักจบ จะแบ่งเป็นภาค ๆ ที่พิมพ์นี้เป็นตอนต้นในภาคหนึ่ง เป็นอันยุตติการแก้ไขได้สำหรับคราวนี้.

ข้าพเจ้าขอขอบคุณ สุพรหมัณย ศาสตรี ศาสตราจารย์ภาษาสํสกฤตแห่งราชบัณฑิตยสภา และศาสตราจารย์ รือเน นิโกลาส แห่งมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ ที่แนะนำและชี้แจงข้อความที่ควรรู้หรือ ที่ต้องการรู้ต่างๆ เป็นโอกาสให้ได้อาศัยสาวเรื่องกว้างขวางออกไปได้สะดวก กับขอขอบคุณมิตรสหายอื่น ๆ ที่ได้กรุณาช่วยเหลือเรื่องนี้ ด้วยความเอื้อเฟื้ออันดีโดยประการทั้งปวง.

ความนิยมรามเกียรติ์

บรรดาหนังสือกวีนิพนธ์ รามเกียรติเป็นเรื่องหนึ่งซึ่งรู้จักกันมาก เพราะเมื่อในสมัยเป็นเด็ก มักเคยดูโขนดูหนังเล่น และบางทีได้ดูภาพที่ผนังระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม. รามเกียรติ์เป็นเรื่องเต็มไปด้วยมหิทธานุภาพ มีเทวดายักษ์มาร มีการเหาะเหิรเดิรอากาศ ดั้นแผ่นดิน เรื่องอย่างนี้มักถูกอัธยาศัยของเด็กในวัยทรามคะนอง เมื่อได้ดูได้เห็น ก็ชอบใจจำได้ง่าย ซึมซาบดีกว่าเรื่องที่เป็นไปตามธรรมดาเนือย ๆ. แม้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ มีความรู้ความเข้าใจกว้างขวางออกไป ถึงจะรู้อยู่แก่ใจว่าเรื่องอย่างรามเกียรติ์ผิดวิษัยธรรมดาเหลือเกิน แต่แต่ในความนิยมชมชอบก็ยังติดนิสสัยต่อมา ไม่คืนคลายไปง่าย ๆ นัก. อุปนิสสัยอย่างนี้ นักปราชญ์ชาวตะวันตกลงมติว่าเหลือสืบเป็นทายาทมาจากบรรพบุรุษครั้งป่าเถื่อนดึกดำบรรพ์ ; เราเองไม่รู้สึก, และจะตัดขาดหมดสิ้นไปด้วยยากอย่างยิ่ง. อาจเป็นด้วยเหตุนี้ประการหนึ่ง ชาวตะวันตกจึ่งมักจะใช้เรื่องราวที่ประหลาดอัศจรรย์อย่างรามเกียรติ์เป็นหนังสือสอนเด็กอ่าน อนุโลมตามอุปนิสสัยอันนั้น เรียกว่า Fairy Tales หรือ เทพปกรณัม.

ต่อจากดูโขน ดูภาพในสมัยเป็นเด็กนั้น มาได้อ่านพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์. เมื่อแรกอ่าน จะทำให้ความนิยมที่ดองสันดานมาแต่เด็ก กลับฟื้นขึ้น เกิดอยากรู้เรื่องที่เคยผ่านมาให้พิสดารตลอดต้นจนปลาย. แล้วก็ติดใจ อ่านซ้ำอ่านซากจนจำขึ้นใจได้เอง. เพราะพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์เป็นหนังสือกาพย์กลอนที่เลือกสรรถ้อยคำสำนวน และกลั่นกรองให้สละสลวยเหมาะเจาะแล้ว ย่อมถูกอารมณ์ดูดดื่มเพลิดเพลินชวนอ่านไม่รู้เบื่อ. ข้าพเจ้าเองต้องการจะค้นอะไรบางอย่างในรามเกียรติ์ ตรงไปหาตอนที่ต้องการ บางทีอ่านเพลินเลยไปต้องย้อนกลับมาใหม่, บางทีทั้งรู้ว่าถึงตอนที่ต้องการแล้ว ยังขออ่านต่ออีกสักหน่อย.

หนังสืออย่างนี้ ย่อมปลูกความนิยมให้ถือเป็นแบบฉะบับในถ้อยคำภาษาสำนวนขึ้นได้ง่ายกว่าหนังสืออย่างอื่น. ฉะนี้แล ศาสตราจารย์ มักษมืลเลอร จึ่งตีความแห่งคำวรรณคดีว่า เป็นหนังสือชนิดที่รักษาภาษากลางของชาติไว้ได้. เพราะคนเรา ถึงจะเป็นเชื้อชาติเดียวกัน, เมื่ออยู่ห่างต่างถิ่นกันออกไป, ภาษาสำเนียงหางเสียงที่พูดจา ย่อมค่อยแปร่งกลายแผกเพี้ยนจากกัน ในที่สุดฟังกันไม่สู้เข้าใจ. เหตุนี้ภาษาวรรณคดีหรือภาษาหนังสือจึ่งเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งไม่ให้ชาติเหิรห่างไปจนขาดจากกัน เพราะเป็นภาษากลางสำหรับให้สมาชิกของชาติเข้าใจร่วมกันได้ดี.

นอกจากที่อ่านพระราชนิพนธ์, รามเกียรติ์ยังคอยเตือนตาเตือนหูอยู่เสมอ เราจะได้ยินพูดว่าเหาะเกินลงกา ชีก็เฉาเราก็โฉด กระเช้าสีดา, หรือในกวีนิพนธ์ขั้นสูง เช่น ตะเลงพ่าย ทวาทศมาส และมหาชาติร่ายยาว, หรือในบรรดาวิชชาศิลป เช่นการช่างและการร้องรำที่ดกดื่นมากก็คือตำราหมอดู.

เป็นอันรวมความกล่าวได้ไม่ผิด ว่ารามเกียรติ์เป็นเรื่องสำคัญ มีพระราชนิพนธ์ขึ้นถึงชั้นวรรณคดีแห่งภาษาไทยเรา ทั้งอ่านฟังกันเข้าใจได้ดีทั่วไป จึ่งเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย.

ที่มาแห่งรามเกียรติ์

อันบ่อเกิดแห่งเรื่องรามเกียรติ์นั้น ย่อมทราบในขณะนี้แล้วว่า ทีแรกออกจากคัมภีร์รามายณะ ภาษาสํสกฤต. คำ “รามายณะ” แปลความว่าเรื่องพระรามและกล่าวกันว่า ฤษีชื่อ วาลมีกิ เป็นผู้แต่งไว้ช้านานประมาณตั้งสองพันปีกว่าแล้ว.

ปฐมเหตุผูกเรื่องชะนิดรามายณะ

ครั้งโบราณสมัยดึกดำบรรพ์ มนุษย์ที่รวมกันเป็นหมู่เหล่าชุมนุมชน และการปกครองควบคุมกันเป็นชาติประเทศขึ้นแล้ว ย่อมมีเรื่องราวกล่าวด้วยกิจการสำคัญของวีรบุรุษผู้เป็นบุรพชนชาติตน ซึ่งได้กระทำไปแล้วเป็นพิเศษแต่ปางบรรพ์ มีเรื่องแข่งขันชิงชัย หรือเป็นไปในการรบทัพจับศึก ได้ชัยชนะไว้เพื่อชาติอย่างงดงาม ( ส่วนตอนไหนที่เสียที จะเป็นการขายหน้า ก็ทำลืมเสียไม่กล่าวถึง หรือตอนที่ผิดธรรมจรรยา อันเป็นธรรมดาของบุถุชน จะเสื่อมเสียเยี่ยงอย่างทางศาสนาลัทธิประเพณี. หากจะปิดไม่มิด เพราะแพร่หลายเสียแล้ว ก็ช่วยแก้ไขกล่าวเกลื่อนปรุงแต่งให้บริสุทธิ์.) เรื่องชนิดนี้ย่อมนับถือกันว่าเป็นตำนานสำคัญของชาติส่วนหนึ่ง เล่าเสียต่อกันมาด้วยความพอใจ เพราะเป็นเกียรติยศและเตือนใจผู้ร่วมชาติให้ระลึกถึงกิจประวัติการณ์ที่บรรพบุรุษได้บากบั่นอันตรายอย่างองอาจ นำเกียรติคุณความดีงามมาสู่ชาติ.

ตามธรรมดา เรื่องชนิดนี้ย่อมเป็นตำนานปาก คือเล่าสืบฟังกันมาตามความที่ทรงจำได้ ทำนองนิทาน ยายกะตาของเรา. การฟังเล่าเรื่องตามปกติ ไม่ทำให้ติดใจเพลิดเพลินเหมือนฟังเรื่องที่แต่งขึ้นเป็นกาพย์กลอนอันมีรสไพเราะในตัว เลยจำกันได้ง่ายทั้งผู้เล่าและผู้ฟัง. วิธีเช่นนี้ในศาสนาก็นิยมใช้ เช่น พระสูตรเป็นอันมากที่ว่าเป็นพุทธภาษิต เมื่อตรัสเนื้อความเป็นไวยกรณ์ (ร้อยแก้ว) แล้วตรัสนิคม (สรุปรวมความ) เป็นฉันทคาถาว่าเพื่อให้จำง่าย. การเล่าเรื่องจึ่งสมควรตกเป็นหน้าที่กวีเป็นผู้แต่งผู้เล่า. ครั้นเรื่องดีๆ เป็นคำประพันธ์แล้ว ก็ชวนให้ว่าทำนองโหยหวนเกิดเป็นเสียงดนตรี. และในการเล่านั้น ถ้ามีเสียงดนตรีเข้าประสานด้วย ย่อมทำให้จับใจซาบซึ้ง.

อุบัติรามายณะ

เพราะฉะนั้น ฤษีวาลมีกิจึ่งได้แต่งรามายณะไว้เป็นบทกาพย์. ในนั้นแสดงต้นนิทานเป็นตำนานว่า พระวาลมีกิพรหมฤษีไปสู่สำนักพระนารทพรหมฤษี สนทนาไต่ถามถึงบุทคลสำคัญในโลกนี้ ว่าใครเป็นผู้แกล้วกล้าสามารถและมีคุณสมบัติดีเลิศ. ฤษีนารทจึ่งเล่าประวัติพระรามจนตลอด เพราะฤษีวาลมีกิยังไม่เคยได้ยินได้ฟังเรื่องพระรามมาเลย. ครั้นกลับจากสำนักฤษีนารท พระวาลมีกิเดิรไปตามทาง เห็นพรานยิงนกกะเรียนซึ่งกำลังยินดีกับคู่ของตน พลัดตามาตายตัวหนึ่ง เป็นตัวผู้ฤษีวาลมีกิเกิดเหี่ยวใจสมเพชนกนักหนา ถึงกับทนนิ่งอยู่ไม่ได้, จึ่งกล่าวศาปพรานนั้นว่า—


“มา นิษาท ปฺรติษฺฐำ ตฺวมฺ

อคมา ศาศฺวตะ สมาะ

ยตฺ เกฺราญฺจมิถุนาทฺ เอกมฺ

อวธิะ กามโมหิตมฺ “


“นิษาท พรานเอย เจ้าอย่าได้ถึงความมั่นคงแล้วเป็นเวลานานปี เพราะได้พรากคู่นกกะเรียนลงตัวหนึ่ง ซึ่งหลงเพลินในกาม.”

(หมายเหตุ เกฺราณฺจ ในตอนนี้แปลว่านกกะเรียน)


ครั้นเดิรทางต่อมา หวนระลึกถึงเหตุการณ์ ก็เสียใจที่ได้ศาปพรานนั้น ด้วยมิใช่กิจอะไรของตน. เมื่อไม่สามารถบันเทาควาทโทรมนัสย์นั้นให้สงบด้วยตนเองได้ ซ้ำยิ่งกลุ้มกลัดขึ้นทุกที, ท้าวมหาพรหมทรงพระกรุณามาปรากฏพระกายให้เห็น ช่วยปลอบโยนเอาใจว่าไม่ควรเสียใจในการที่กล่าวคำศาปนั้น. เพราะแท้จริงคำที่ว่าศาปพรานนั้น กลายเป็นความหมายในทางสรรเสริญ พระนารายณ์เป็นเจ้าทรงปราบยักษ์ คือ –


“มานิษาท ปฺรติษฺฐำ ตฺวมฺ

อคมา ศาศฺวตีะ สมาะ

ยตฺ เกฺราญ.จมิถุนาทฺ เอกมฺ

อวธิะ กามโมหิตมฺ “


“มานิษาท ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นที่ประทับแห่งพระลักษมี, พระองค์ได้ทรงถึงความมั่นคงแล้วเป็นเวลานานปี เพราะได้พรากคู่ยักษ์ตนหนึ่ง ซึ่งหลงเพลินในกาม.”

(หมายเหตุ เกฺราณฺจ แปลได้อีกนัยหนึ่งว่า ยักษ์)


ท้าวมหาพรหมกล่าวต่อไปว่า ถ้อยคำของพระวาลมีกินั้น เมื่อกล่าวด้วยความโศกสมเพช. จึ่งให้เรียกว่าโศลก และให้เป็นบทแรกของรามายณะซึ่งจะรจนาต่อไป.

เนื่องด้วยเหตุนี้ ฤษีวาลมีกิจึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้ก่อกำเนิดกาพย์รุ่นใหม่ คู่กับกาพย์รุ่นเก่าในคัมภีร์พระเวท ซึ่งถือว่าท้าวมหาพรหมเอง เป็นผู้ให้กำเนิด.

เมื่อโศลกนี้เป็นบทต้นของรามายณะ ฤษีวาลมีกิจึ่งรจนาต่อไปจนจบเรื่อง รวมเป็นโศลกถึงสองหมื่นสี่พันบทสำหรับให้มนุษย์ได้อ่าน.

(มูลเหตุที่เล่ามาข้างต้นนี้ ศาสตราจารย์ เสอร มอร์เนียร์ วิลเลียมส์ กล่าวไว้ในหนังสือ The Indian Epic Poetry ว่าเป็นของเติมขึ้นภายหลัง. แต่จะเติมขึ้นใหม่หรือเดิมมีอยู่แล้วก็ตามที, ที่แสดงต้นเหตุแห่งคำว่าโศลกในที่นี้ ตรงกับที่นักปราชญ์ชาวตะวันตกสันนิษฐานเหตุกำเนิดกาพย์กลอน ว่ามีเค้าสืบมาจากความรู้สึกแห่งมนุษย์ เมื่อประสพสิ่งที่เสียใจมาก หรือดีใจมากเกินไป ก็เปล่งอุทานออกมาเป็นเสียงโอดครวญ เฮฮาสูงต่ำสั้นยาว ตามกำลังความรู้สึก. ผู้ช่างคิดเห็นเข้าที จับเอามาใช้เป็นเสียงโหยหวน ปรุงเป็นกาพย์กลอนขึ้น.

ข้อที่ท่านเสอร มอร์เนียร์ วิลเลียมส์ ว่ามูลเหตุเป็นตอนที่เติมขึ้นภายหลังนั้น ก็เพราะเป็นเรื่องที่ประหลาดมาก. เมื่อครั้งนางสีดาถูกพระรามขับ ได้ไปอาศัยอยู่กับฤษีวาลมีกิ. ฝ่ายพระฤษีก็เป็นผู้สั่งสอนศิลปวิทยาให้แก่พระกุศและ

พระลพโอรสนางสีดา ตลอนคนสอนสองกุมารให้รู้จักขับร้องรามายณะ ซ้ำได้คุยแก่นางสีดาว่า แกเองรู้จักท้าวทศรถและท้าวชนกดี อ้างว่าเป็นสหายกัน. แต่เหตุไฉนฤษีวาลมีกิ จึ่งไม่เคยได้ยินได้ฟังเรื่องพระรามบ้าง กลับต้องทนนั่งฟังประวัติพระรามที่ฤษีนารทอีก.)

ลักษณะกาพย์รามายณะ

อาศัยที่รามายณะวาลมีกิ เป็นกาพย์เรื่องใหญ่ในสํสกฤต คู่กับมหาภารตะ บางทีจึ่งยกย่องหนังสือสองเรื่องนี้ว่า มหากาพย์. เพราะตามหลักกวีนิพนธ์ภาษาสํสกฤตนั้น มหากาพย์ควรมีลักษณะพรรณนาถึงฤดูกาล สันธยากาล บ้านเมือง แนวป่า การเดิรทัพและการรบ ฯลฯ เรื่องรามเกียรติ์ของเราก็มีลักษณะอย่างนี้อยู่พร้อม ควรจะเรียกว่ามหากาพย์ได้บ้างกะมัง ?

รามายณะแบ่งเป็นเจ็ดกัณฑ์

รามายณะวาลมีกิ แบ่งเป็นภาคเรียกว่า กัณฑ์ เป็น ๗ กัณฑ์ คือ –

  • พาลกัณฑ์ เริ่มต้นด้วยฤษีวาลมีกิ อาราธนาฤษีนารทให้แสดงรามายณะ ดั่งที่กล่าวในตอนอุบัติเรื่องรามายณะข้างต้น จนถึงพระรามยกศร ได้นางสีดา กลับอโยธยา
  • อโยธยากัณฑ์ จับแต่ท้าวทศรถปรารภจะให้อภิเษกพระรามเป็นยุพราช จนถึงพระรามเดิรดง.
  • อรัณยกะกัณฑ์ สามกษัตริย์ (พระราม นางสีดา พระลักษณ์) เข้าป่าทัณฑก พระรามรบกับอสูรดุร้ายตนหนึ่ง ชื่อ วิราธ (ในรามเกียรติ์ของเราออกชื่อเป็น พิราพ) จนถึงทศกัณฐ์ลักนางสีดา สองกษัตริย์ติดตามไปถึงเขาฤษยมูก
  • กีษกินธากัณฑ์ สองกษัตริย์พบหนุมาน ได้สุครีพเป็นฝากฝ่าย ฆ่าพาลี จนถึงหนุมานอาสาไปถวายแหวน
  • สุนทรกัณฑ์ หนุมานถวายแหวน จนถึงเผาลงกา
  • ยุทธกัณฑ์ พระรามยกพลไปพักที่เชิงเขามเหนทร (ที่ของเราเรียกว่า เหมติรัน) จองถนนข้ามไปลงกา จนถึงทศกัณฐ์ล้ม พานางสีดากลับอโยธยา
  • อุตตรกัณฑ์ (กัณฑ์แถม) ว่าด้วย อสุรพงศ์ วานรพงศ์ เนรเทศนางสีดา ฯลฯ

(เก็บนัยจากพระราชนิพนธ์บ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์)

ในทั้งเจ็ดกัณฑ์นี้ นักปราชญ์เห็นว่าของเดิมแท้ มีห้ากัณฑ์ คือตั้งแต่กัณฑ์ที่สองถึงกัณฑ์ที่หก ส่วนกัณฑ์ที่เจ็ดเป็นของแถมขึ้นภายหลัง. และกัณฑ์ที่หนึ่งก็มีข้อความแย้งต่อกัณฑ์อื่นอยู่หลายแห่ง เช่นกล่าวไว้ข้างต้นถึงข้อที่ ฤษีวาลมีกิไม่เคยได้ยินเรื่องพระราม, ทั้งหัวข้อต่อเชื่อมเรื่องก็ไม่สนิท แสดงว่ามีการต่อเติมเพิ่มกันมาหลายทอด

รามายณะปรากฏแก่มหาชน

เมื่อฤษีวาลมีกิ รจนารามายณะสำเร็จแล้ว ได้สอนพระกุศ และพระลพสองกุมาร ซึ่งเป็นโอรสพระราม นางสีดา ให้ท่องรามายระจนจำได้ขึ้นใจ และสวดเข้าทำนอง ถูกต้อง เรียบร้อย ตามลักษณะทางดนตรีดีแล้ว, สั่งให้สองกุมารไปเที่ยวสวดร้องในที่ชุมนุมพราหมณ์ (เห็นจะอย่างเดียวกับร้องเพลงขอทานในที่ชุมนุมชน).

ด้วยเหตุดั่งนี้ คำบัญญัติเรียกนักขับร้องเรื่องราวในภาษาสํสกฤต จึ่งใช้ว่า กุศีลวะ คือเอาคำ กุศ กับคำ ลว มารวมกันเป็นคำเดียว

ความนิยมรามายณะเป็นลัทธิศักดิ์สิทธิ์

รามายณะเป็นเรื่องจับใจประชาชนอินเดียที่นับถือลัทธิฮินดู สืบมาแต่โบราณกาลจนทุกวันนี้ ประเทศใดได้รับอารยธรรมจากอินเดีย เช่นประเทศถัดอินเดียทางตะวันออก ก็ขาดรามายณะไม่ได้.

เหตุที่พวกชาวฮินดูนิยมนับถือ มีหลายประการเป็นต้นว่า –

  • “คัมภีร์รามายณะ มีคุณวิเศษต่าง ๆ ใครได้ฟังแล้วก็ล้างบาปได้ และปรารถนาสิ่งใด ก็จะได้สมปรารถนา จะเจริญอายุ วรรณ สุข พล ; และเมื่อละโลกนี้ไปแล้ว ก็จะได้ไปสู่พรหมโลก. มีกำหนดว่ารามายณะนี้ ให้ใช้พิธีสวดศราทธพรต เพื่อล้างบาปผู้ตาย. ผู้ใดอ่านแม้แต่โศลกเดียว, ถ้าไม่มีลูกก็จะได้ลูก ถ้าไม่มีทรัพย์ก็จะได้ทรัพย์, และพ้นบาปกรรมบรรดาที่ได้ทำมาแล้วทุก ๆ วัน. ผู้ได้อ่านนั้น จะมีอายุยืนเป็นที่นับถือในโลกนี้และโลกหน้า ตลอดถึงลูกหลาน. ผู้ใดอ่านในเวลาเช้าก็ดี เย็นก็ดี จะหาความเหน็จเหนื่อยมิได้ “
    (พระราชนิพนธ์บ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์)
  • ประชาชนพวกฮินดู นับถือพระรามซึ่งเป็นนายก หรือนายโรงของเรื่อง เพียงว่าเป็นวีรบุรุษ และเป็นมหากษัตริย์ครองอโยธยา เท่านั้นหามิได้ ยังยกย่องว่า คือองค์พระวิษณุนารายณ์เป็นเจ้า อวตารลงมาปราบอธรรมได้แก่พวก รากษส มีท้าวราพณาสูร เป็นหัวหน้า เพื่อถนอมโลกไว้ให้บังเกิดความร่มเย็นเป็นศานติสุขแก่ทวยเทพและมนุษยนิกร. พระรามจึ่งเป็นผู้มีอุปการคุณใหญ่หลวง และเป็นสหายของผู้ได้ทุกข์. แม้ผู้ตายไปแล้ว ตามประเพณีลัทธิแห่งพวกฮินดู มักนำศพไปเผาเสียที่ริมฝั่งแม่น้ำ ถ้าเป็นฝั่งแม่คงคายยิ่งประสิทธิ์นัก. ผู้ตามศพต้องพร่ำบ่นว่า “ราม ราม สัตยราม” ตลอดทางที่นำศพไป เพื่อผู้ตายจะได้รับส่วนบุญไปสู่สุข (เทียบคติที่พระภิกษุพร่ำบ่นพระอภิธรรมนำศพ) ทั้งนี้ เพราะเชื่ออย่างแน่นแฟ้นว่า พระรามเมื่อทรงพระชนม์อยู่ สามารถช่วยผู้ตายไปแล้ว ให้พ้นทุคคติได้, ทั้งมีเมตตากรุณา ปกปักรักษาไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ให้ได้รับความร่มเย็นตลอดไปด้วย. ในที่สุดยังกล่าวยืนยันกันว่า พระรามได้พาชาวอโยธยาทั้งหมดไปสู่สวรรค์ชั้นพรหมโลกทั้งเป็น.
  • พรรณนาถึงจริยาวัตรแห่งพระราม เป็นแบบฉะบับความดี ความงามเลิศทุกประการ อันสาธุชนควรถือเป็นเยี่ยงอย่าง เพราะมีความประพฤติในฐานะที่อวตารมาเป็นมนุษย์ หาตำหนิด่างพร้อยมิได้เลย เป็นโอรสที่ซื่อสัตย์กตัญญูกตเวทีในพระราชบิดา มีเมตตาปราณีในญาติพี่น้อง ชอบด้วยทำนองคลองธรรม เป็นสามีที่ซื่อตรงปลงความรักใคร่ภริยาจริง ๆ ทั้งสมเป็นกษัตริย์ชาตินักรบที่แกล้วกล้าสามารถแท้

    ส่วนสีดานั้นเล่า เป็นตัวอย่างกุลสตรีที่บริบูรณ์ด้วยลักษณะกัลยาณี ซื่อตรงมั่นคงฉะเพาะพระสามี กิริยา วาจาแช่มช้อย อดทนต่อความลำบากตรากตรำ ส่วนผู้อื่นที่ไม่เลื่องชื่อในเรื่องราว เช่น พระลักษมณ์ พระพรต พระศัตรุฆน์ ก็เป็นภาดาที่เคารพรักภักดีในพระรามตามกุลจรรยา พิภีษณ์ (พิเภก) ยั่งยืนอยู่ในธรรมาธิปไตย สู้สละญาติวงศ์เสียได้ เพื่อเห็นแก่ธรรมเป็นที่ตั้ง.
    เพราะฉะนั้น ถ้าพูดตามความคิดเห็นแห่งพวกฮินดูทั่วไป รามายณะเป็นเรื่องที่มีเสน่ห์แรง เป็นที่นิยมนับถือแห่งประชาชนอินเดีย มาตราบเท่าทุกวันนี้ จนมีการแสดงเรื่องพระราม เป็นงานเทศกาลประจำปี ในภาคเหนือของอินเดีย จับแต่ทศกัณฐ์ลักสีดาจนทศกัณฐ์ล้ม เรียกว่า รามลีลา ตกในเดือนตุลาคม ซึ่งกำหนดเป็นอภิลักขิตสมัย ที่ทศกัณฐ์ล้ม พิธีนี้มีการสร้างรูปทศกัณฐ์ แล้วนำไปเผา. ในอินเดียวภาคใต้ก็มีการแสดงเรื่องพระรามเหมือนกัน เรียกว่า กถักกะฬิ และวันพระรามประสูติซึ่งตกอยู่ในราวเดือนเมษายน ก็มีพิธีสมโภชด้วย เรียกว่า รามนวมี ดั่งนี้ เห็นจะกล่าวได้ว่าเป็นอันสมความมุ่งหมายแห่ง ฤษีวาลมีกิ ที่กล่าวไว้ในตอนต้นรามายณะ ว่าพระพรหมได้ทรงประกาศิตไว้ว่า –

    “ ยาวตฺ สฺถาสฺยนฺติ คิรยะ
    สริตศฺจ มหีตเล
    ตาวทฺ รามายณกถา
    โลเก สฺมิน ปฺรจริษฺยติ”

    “ตราบใดในโลกนี้ มีพื้นดิน ซึ่งภูเชายังตั้งเป็นทิว และยังมีกระแส (ในแม่น้ำ) ไหลเจื้อย . ตราบนั้นรามายณะจะคงดำเนิรทั่วไป (ตามปากนิกรชน)
  • คณาจารย์เจ้าลัทธิฮินดู นิกายต่าง ๆ ผู้เป็นกวียกเอารามายณะมารจนาใหม่ ปรับเรื่องให้สมานเข้ากับหลักลัทธิในนิกายขอตน และโดยเหตุที่รามารยณะวาลมีกิ เป็นภาษาสํสกฤต อันเป็นภาษาที่ต้องพยายามศึกษากันอย่างพิสดาร. ครั้นภาษาสํสกฤต เสื่อมลงเพราะยุ่งยากมาก ไม่มีใครสามารถใช้พูดได้โดยปกติ คงอยู่แต่ภาษาที่ใช้พูดกันเป็นสามัญตามเพศพื้นเดิมแห่งแคว้นต่าง ๆ ในอินเดีย (และก่อนที่จะกลายมาจนเป็นภาษาต่าง ๆ ที่ใช้พูดอยู่เวลานี้ ภาษาระวางนั้น) รวมเรียกว่า ภาษาปรากฤต. จึ่งมีกวีบางคนแปลงรามายณะจากภาษาเดิม เพื่อผู้ไม่รู้ภาษา สํสกฤต จะได้มีโอกาสรับส่วนกุศลผลนาบุณย์อันพึงมีด้วย การอ่าน การฟังบ้าง ดังปรากฏในประการต้น ที่นับถือว่าอ่านฟังเรื่องพระรามได้กุศลแรง. ก็เห็นจะอย่างเดียวกับที่เรานิยมฟังมหาชาติ ว่าเป็นเหตุเกิดสวัสดิมงคล จนปรากฏว่ามีมากสำนวนด้วยกัน. เพราะฉะนั้น รามายณะที่มีมากสำนวน ก็น่าจะเพราะเหตุนี้ด้วยประการหนึ่ง.
  • และได้มีกวีเป็นอันมาก ตอนเอารามายณะมารจนาใหม่ในภาษาสํสกฤตบ้าง ภาษาปรากฤตบ้างไว้สำหรับอ่านและขับร้อง สำหรับเล่นละครและเล่นหนัง ก็การนำเอาเรื่องมารจนาใหม่สำหรับเล่นละคอนเป็นต้น จำต้องปรับปรุงให้สมควรแก่ความนิยม จะให้เหมือนของเดิมตรงไปตรงมานั้นไม่มีรสสนุกเลย เพราะรามายณะวาลมีกิ ประสงค์จะให้ทราบเรื่องราวต่าง ๆ อันมีมาแต่โบราณกาล เก็บเข้าเป็นตำนานปรัมปรารวมไว้ กวีจึ่งต้องตัดเอาเรื่องปลีกแทรกเหล่านั้นออกเสีย เพื่อให้รัดกุมแก่การเล่นละคร หากจะเทียบก็คือ ฉะบับวาลมีกิ อย่างรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑, ฉบับที่ปรับปรุงใหม่ จะเป็นอย่างในรัชกาลที่ ๒

    แม้ในรามเกียรติ์ในรัชกาลที่ ๑ ของเรา ก็ยังไม่มีเรื่องแทรกวิจิตรพิสดาร เหมือนที่มีอยู่ในฉบับวาลมีกิ เห็นจะเตรียมท่าไว้เพื่อเล่นละคอน แต่การตัดข้อความแทรกออก จนเหลือแต่เนื้อหาเป็นรามเกียรติ์มาถึงเรา คงเพราะที่อื่นตัดมาก่อน มิใช่เราเป็นผู้ตัดเอาเอง
  • กวีที่นำเรื่องมารจนาใหม่ ย่อมประดับประดาด้วยเชิงโวหารของกวี ให้เหมาะสมกับความคิดเห็นและความนิยมแห่งประชาชนตามยุคสมัยนั้น ๆ อย่างเดียวกับแหล่เทศน์มหาชาติ เพราะเหตุนี้ รามายณะวาลมีกิ แม้แต่งไว้นานกว่าสองพันปีมาแล้ว ก็เป็นเรื่องไม่ตาย เพราะได้อาศัยกวีต่ออายุไว้ให้ เท่ากับสืบประวัติการณ์และวรรณคดีของชาติให้ดำรงอยู่
  • รามายณะ เป็นเรื่องรวมวิชชาความรู้ อันว่าด้วยลัทธิศาสนา พงศวดาร วรรณคดี นิยายคดี ภูมิศาสตร์ และอื่น ๆ ซึ่งมีในอินเดียสมัยโบราณและต่อมา เพราะกวีผู้รจนา แม้จะนำเอาเรื่องที่ไม่จริงมาแต่ง แต่ข้อความที่กล่าว อาจถือเป็นส่วนหนึ่งให้หมายรู้ประวัติการณ์หรือพงศวดารได้ เพราะกวีย่อมแสดงความเป็นไปและความคิดความนิยมแห่งโลกในสมัยที่ตนมีชีวิตอยู่ ซึ่งตนเองก็ไม่ได้ตั้งใจจะเขียนภาพในสมัยนั้น แต่ก็เป็นของจริงตามนั้นเอง ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ทราบว่าสำหรับส่วนรามายณะ มีภาษิตติดปากชาวอินเดียอยู่บทหนึ่งว่า “สิ่งใดไม่มีใน (มหา) ภารตะ, ก็ย่อมไม่มีในภารตะ (วรรษ คือ ประเทศอินเดีย) “ ซึ่งกินความหมายถึงรามายณะด้วย. แม้ในวรรณคดีของเรายกเว้นหนังสือในคัมภีร์พระพุทธศาสนาแล้ว ก็มักได้เค้าหลักดำเนิรความคิด มาจากรามายณะและมหาภารตะ เป็นพื้น หนังสือสองเรื่องนี้ จึ่งเปรียบดั่งคลังวรรณคดีอย่างใหญ่หลวงของอินเดีย สำหรับกวีรุ่นหลังเบิกเอาออกมาใช้สอย.

สมัยรจนารามายณะ

ในรามายณะเอง มีข้อความอ้างไว้ว่าฤษีวาลมีกิแต่งไว้ ในสมัยพระรามยังมีพระชนม์อยู่ ซึ่งเป็นเวลาตามที่กล่าวในนั้น ว่าล่วงมานมนานนับได้หลายหมื่นปี ข้อเท็จจริงนี้เป็นอันระงับได้ นักปราชญ์ผู้สนใจในอายะรามายณะ พยายามค้นหาหลักฐานประกอบการพิจารณา แล้วลงความเห็นตามที่คิดว่ายุติด้วยเหตุผล แต่ต่างคนต่างยุติความเห็นจึ่งต่างกันเป็นสองพวก

(ก) รามายณะแต่งก่อนพุทธกาล
พวกหนึ่ง เห็นว่าเนื้อเรื่องของรามายณะที่แท้จริงคงจะได้รจนาสำเร็จรูปแล้ว เป็นเวลาก่อนพุทธกาล อ้างหลักฐานว่า
๑ . กรุงปาฏลิบุตร ตั้งเป็นราชธานีขึ้นในราวพุทธศก ๑๔๓ สมัยพระเจ้ากาลาโศก ในรามายณะ วาลมีกิ กล่าวถึงเมืองต่าง ๆ ทางภาคตะวันออกมัธยมประเทศ ว่ามีเมืองโกสัมพี เมืองกานยกุพชะ และเมืองกามบิลย์ เป็นต้น เพื่อจะแสดงเกียรติคุณแห่งรามายณะให้เห็นว่า ได้แผ่ไพศาลไปแดนไกลจากแคว้นโกศลอันเป็นที่กำเหนิด, แต่ไม่กล่าวถึงกรุงปาฏลิบุตร ซึ่งเป็นเมืองสำคัญในสมัยต่อพุทธกาลมาเสียเลย, จึ่งต้องสันนิษฐานว่า เมื่อวาลมีกิรจนารามายณะ คงเป็นสมัยก่อนสร้างกรุงปาฎลิบุตร เพราะถ้ามีกรุงปาฎลิบุตรอยู่แล้ว เหตุไฉนจะขาดชื่อกรุงสำคัญไป.
๒ . ราชธานีแคว้นโกศล ในรามายณะวาลมีกิ เป็นกรุงอโยธยาตลอดไป ส่วนที่ปรากฎในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ชินะศาสนา และในหนังสือชาติกรีก แต่งไว้ ว่าราชธานีแห่งแคว้นโกศล ชื่อ กรุงสาเกต อีกประการหนึ่ง ในรามายณะวาลมีกิ ตอนท้ายเรื่องกล่าวว่า พระลพ โอรสพระราม ตั้งราชธานีที่กรุงสาวัตถี เพราะฉะนั้น ในชั้นเดิม เมื่อวาลมีกิรจนารามายณะขึ้นนั้น กรุงอโยธยา ครั้งโบราณคงเป็นเมืองสำคัญแห่งหนึ่งในแควันโกศล ยังไม่ทันเป็นเมืองร้างอย่างที่เป็นอยู่ในกาลต่อมา และชื่อใหม่ของอโยธยาที่เรียกว่าสาเกตเล่าไม่ปรากฏ เหตุฉะนี้ กรุงอโยธยาคงมีชื่ออยู่ก่อนสมัยที่ย้ายราชธานีแห่งแคว้นโกศล ไปตั้งที่กรุงสาวัตถี.
(แคว้นโกศล สมัยพุทธกาลแบ่งเป็นสองแคว้นเหนือเรียกว่า อุตตระโกศล ตั้งราชธานีที่กรุงสาวัตถี ปัจจุบันเรียกว่า สะเหต มะเหต Sahet Mahet นัยว่าเพี้ยนมาจากคำ มหาเสฏฐี คือ อนาถบิณฑิก แคว้นใต้ เรียกว่า ทักษิณโกศล มีราชธานี คือ อโยธยา หรือสาเกต ปัจจุบันเรียกว่า โออุธ หรือ อะอุธ (Oudh, Oude หรือ Audh ) ซึ่งเพี้ยนมาจากอโยธยานั่นเอง แคว้นใต้นี้พระกุศโอรสพระรามได้ครอบครองต่อมา ตั้งราชธานีที่เมือง กุศาวดี – เรื่องชื่อเมืองในอินเดีย สมัยโบราณยุตติให้แน่นอนไม่สู้จะได้นัก)
๓ . ในรามายณะวาลมีกิ ฉบับเก่าเล่มต้น กล่าวว่า เมืองมิถิลา และเมืองวิศาลา เป็นเมืองแฝด แต่มีผู้ปกครองกันต่างหาก สองเมืองนี้ สมัยพุทธกาลรวมเป็นเมืองเดียวกัน เรียกว่าไพศาลี ซึ่งในสมัยนั้นปกครองกันเอง ทั้งปรากฏว่า ลักษณะการปกครองตามที่แสดงไว้ในรามายณะ ก็เป็นชะนิดอย่าง “พ่อปกครองลูก” เพราะพระราชาธิบดีองค์หนึ่ง ก็มีอาณาเขตต์เพียงเล็กน้อย ไม่ปรากฏว่ากว้างใหญ่ไพศาลหรือว่ามีเมืองออก อย่างชนิด ร้อยเอ็ดเจ็ดพระนคร เหมือนในสมัยรุ่นหลัง
๔ . สมัยต้นพุทธกาล พระวิชัยไปตีเกาะลังกา (เรื่องในหนังสือมหาวงศ์เล่ม ๑ วิชยาภิเษกบริจเฉท ๗) ซึ่งในสมัยนั้นหรือเหนือขึ้นไป ประชาชนในมัธยมประเทศเข้าใจกันว่า เกาะลงกา เป็นที่อยู่ของพวกยักษ์รากษส รามายณะมิได้กล่าวถึงเรื่องพระวิชัยไปตีเกาะลงกา, ก็แสดงอยู่ว่า เป็นเรื่องแต่งขึ้นในสมัยก่อนพุทธกาล
๕ . ประเทศอินเดียตอนใต้ ถัดเทือกเขาวินธัย คือ ตอนที่ต่อกับมัธยมประเทศลงไปได้ เป็นป่าดงพงทึบติดต่อกันเป็นพืด ย่อมเป็นที่อยู่อาศัยของชนชาติชาวป่า ชาวเขา ซึ่งเป็นเจ้าถิ่นพื้นเมืองเดิม และถือกันว่าชนชาติเหล่านั้น มีลักษณะเป็นลิงเป็นหมี. ราวต้นพุทธกาลชาติอริยกะยกไปตั้งภูมิลำเนาทางภาคใต้ของอินเดีย อยู่บนฝั่งแม่น้ำโคทาวรี และแม่น้ำกิสนา (เพี้ยนมาจากกฤษณา) อยู่แล้ว จนมีอาณาเขตต์ขนาดใหญ่ เช่น ราชอาณาจักร อันธระ ซึ่งตั้งอยู่บนระวางแม่น้ำทั้งสองนี้) เป็นต้น นี่ก็แสดงว่า รามายณะตามรูปของเดิม กล่าวถึงความเป็นไปในดินแดนภาคใต้นี้ สมัยที่ชาติอริยกะ ยังไม่ได้แผ่อำนาจลงไปถึง. นอกจากนี้ ภาษาและลักษณะวิธีราจนาตามที่มีอยู่ในรามายณะวลามีกิก็เป็นชนิดเก่าแก่มาก ส่อให้เห็นว่ารามายณะเป็นเรื่องที่รจนาไว้ก่อนพุทธกาล. แต่ยอมว่า มีบางตอนแต่งเติมขึ้นใหม่ภายหลัง ในสมัยพุทธศก ราวสองร้อยปี
(ข) รามายณะแต่งภายหลังพุทธกาล
ตามความเห็นดั่งประมวลมาไว้ข้างต้นนี้ ดูก็มีเหตุผลน่าฟังอยู่ หากจะมีความเห็นสอดเข้ามาว่า ถ้าจะเอาเรื่องที่มีมาแล้วแต่ปรัมปรา รวบรวมร้อยกรองขึ้นในสมัยภายหลังพุทธกาล ก็ไม่มีเหตุจำเป็นอย่างไรจะต้องเอาชื่อเมืองใหม่ ๆ สมัยพุทธกาลมาเป็นเมืองในเรื่อง จะหยิบเอาชื่อเมืองซึ่งเก่ากว่านั้นมาใช้จะมิดีกว่าหรือ จะได้ทำให้เห็นเป็นเรื่องเก่าจริงจังขึ้น ที่รามายณะไม่กล่าวถึงกรุงปาฏลิบุตร เป็นราชธานีที่สถิตของพระเจ้าอโศกผู้เป็นจักรพรรดิราชาชธิราช เกี่ยวเป็นองค์อุปถัมภกในพระพุทธศาสนา, ดูก็ยิ่งไม่จำเป็นแท้ ที่ผู้แต่งเรื่องรามายณะซึ่งถือลัทธิพราหมณ์ จะเอามากล่าวอ้าง ให้เป็นการไม่ถูกอัธยาศัยแก่ประชาชนในลัทธินั้น.
อย่างไรก็ดี นักปราชญ์อีกพวกหนึ่ง มีความเห็นแย้งต่อเหตุผลข้างต้นนี้ ว่ารามายณะน่าจะได้แต่งขึ้น ในระยะยุคเดียวกันกับในรัชชสมัยพระเจ้ากาลาโศก ผู้เป็นราชูปถัมภกในพระพุทธศาสนา คราวชุมนุมยกทุติยสังคายนา คือเมื่อพุทธศกล่วงแล้วราวร้อยปีเศษ ศาสตราจารย์ กีถ (ในหนังสือว่าด้วยเรื่องอายุของรามายณะ) กล่าวว่า มหากาพย์อย่างรามายณะ กวีคงจะได้ร้อยกรองขึ้นแล้ว ก่อนรัชชสมัย พระเจ้าอโศกมหาราชราวร้อยปี ใช้ภาษาวรรณคดีของชนชาตินักรบ, มีเหตุผลที่ปาณินิ (นักปราชญ์อักษรศาสตร์ผู้แต่งตำราไวยากรณ์ภาษาส°สกฤต เป็นตำราฉบับเก่าที่สุด มีอายุอยู่ในสมัยพุทธศกสองร้อยปีเศษ) ไม่กล่าวถึงชื่อบุทคลต่าง ๆ ที่มีอยู่ในรามายณะ, แต่ว่าอ้างชื่อบุทคล ที่มีอยู่ในมหาภารตะ ถ้ารามายณะซึ่งเป็นคัมภีร์สำคัญมีอยู่แล้วในสมัยนั้นไซร้, ที่ปาณินิจะผ่านไปเสียไม่อ้างถึงบ้างดูกระไรอยู่ นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ กีถ ยังอ้างเหตุผลทางอักษรศาสตร์แย้งอีกหลายประการ.

เพราะฉะนั้น พอจะประมวลข้อสันนิษฐานอายุของรามายณะ ลงยุตติความเห็นในข้อที่แต่งขึ้นเมื่อไรได้ว่า “ราวปลายพุทธกาล ฤษีวาลมีกิรจนารามายณะขึ้นไว้ มีหมดด้วยกันห้ากัณฑ์. ส่วนอีกสองกัณฑ์ คือกัณฑ์ต้นกับกัณฑ์แถม เป็นของแต่งขึ้นภายหลัง. รามายณะของเดิม ตัวพระรามเพียงเป็นวีรบุรุษมนุษย์สามัญ ยังไม่เป็นทิพยมนุษย์ ที่ว่าพระวิษณุอวตารมา ............. หนังสือรามายณะกัณฑ์ต้น (ซึ่งกล่าวเรื่องพระรามยังเยาว์วัย) และกัณฑ์แถม ดูเหมือนจะได้เพิ่มขึ้นในยุคระวาง พ.ศ. ๒๒๐ – ๘๖๐ จึ่งเลยเกิดมีเรื่องขึ้นว่า “พระวิษณุอวตารมา” (ลัทธิของเพื่อนภาค ๒).

ฉบับรามายณะ

ต้นฉบับรามายณะวาลมีกิที่เก็บรักษาไว้สืบมาถึงทุกวันนี้ มีอยู่สามสำนวน คือ (๑) ฉบับตะวันตกเฉียงเหนือ, (๒) ฉะบับเบงคอล หรือองคนิกาย, และ (๓) ฉบับบอมเบ, (บางทีก็เติมฉบับภาคใต้เข้าเป็นฉะบับที่สี่). ทั้งสามฉะบับนี้ มีโศลกต่างกันราวหนึ่งในสาม เพราะฉะนั้น ข้อความในบางแห่งจึ่งผิดกัน. แต่นับว่าฉบับบอมเบ มีลักษณะเก่ากว่าเพื่อน, ส่วนอีกสองฉบับ ถึงจะใหม่กว่า ก็เป็นอันหนึ่งต่างหาก ไม่ใช่ชำระจากฉบับบอมเบ. ต่างฝ่ายจะแต่งหรือได้เรื่องมาคนละทาง.

เหตุที่รามายณะวาลมีกิ มีข้อความแตกต่างกันทั้งสามฉบับนั้น เพราะของเดิมเป็นเรื่องเล่า หรือสวดขับสืบต่อกันมาทางปาก ต่างคนต่างจำ ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น.

ธรรมดาว่าตำนานปาก ถ้าเรื่องใดเป็นที่ชอบใจของผู้ฟัง ทั้งกวีผู้รจนาเรื่องขึ้นว้าใช้สำนวนโวหารไพเราะเหมาะเจาะ ผู้ฟังรู้สึกจับใจดูดดื่ม, เรื่องนั้นย่อมมีผู้นิยมและต้องเกิดขึ้นมาเป็นสำนวน เห็นจะพอเทียบได้อย่างเรื่องขุนช้างขุนแผน. อีกอย่างหนึ่ง อินเดียเป็นประเทศกว้างใหญ่ไพศาล เพียงมัธยมประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย ก็ไปมาถึงกันไม่ใช่เวลาวันสองวันในสมัยโบราณ เมื่อผู้ขับเรื่องอยู่ห่างต่างถิ่นกันไกล จึ่งจะขัยหรือเล่าเรื่องให้ถูกต้องตรงกันทั้งหมดไม่ได้อยู่เอง เป็นธรรมดา แต่ดูละครเรื่องเดียวกัน ต่างคนต่างเล่ายังเป็นคนละอย่าง เมื่อรามายณะแม้ในฉะบับของวาลมีกิเอง ยังมีข้อความแปลกกันไปได้แล้ว, รามเกียรติ์ของเรา จึ่งจะปรับให้เหมือนกับรามายณะวาลมีกิฉะบับไหนไม่ได้อยู่เอง.

จริงอยู่ รามายณะเป็นคัมภีร์ที่พวกฮินดูนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์ ถ้าใครสู่รู้ทำตกเดิมแก้ไขจะได้รับบาปหนัก สหายอินเดียของข้าพเจ้าผู้หนึ่ง ยืนยันแข็งแรงว่าผิดกันไม่ได้เป็นอันขาด เพราะเวลาคัดลอกถ่ายเอาออกมาต้องระวังโดยกวดขันมิให้ขาดตกบกพร่องได้. ข้อนี้ก็จริงเพราะถ้านับถือว่าเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์แล้ว ไม่ควรจะทำให้ขาดตกบกพร่องเลย. แต่จะทำอย่างไรได้ เพราะปรากฏอยู่ชัดว่า รามายณะวาลมีกิ ทั้งสามฉบับนั้น มีที่ผิดกันจริง ๆ ซึ่งเคยพบที่นักปราชญ์ชาวตะวันตกยกเอามาเทียบให้ดู

สันนิษฐานเนื้อเรื่องรามายณะ

เรื่องในรามายณะวาลมีกิ ตั้งแต่กัณฑ์ที่สองตลอดไปถึงกัณฑ์ที่ห้า ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องเดิม แยกออกได้เป็นสองตอน ไม่เกี่ยวข้องกัน.

ตอนหนึ่ง ตั้งแต่กัณฑ์ที่สอง กล่าวถึงเหตุการณ์ในกรุงอโยธยา สมัยท้าวทศรถ ตอนนี้เป็นเรื่องตามธรรมดาที่เป็นจริงได้. ถ้าเรื่องเป็นอันว่าพระรามถูกเนรเทศไปจากอโยธยา ครบกำหนดปฏิญญาสิบสี่ปีแล้ว หรือจนถึงเวลาที่ท้าวทศรถสิ้นพระชนม์ กลับเข้าเสวยราชย์ในกรุงอโยธยา จบเรื่องกันดั่งนี้ ก็พอจะเชื่อลงว่า รามายณะอาจมีความจริงใน พงศวดารบ้าง.

แต่ตอนสอง ซึ่งเป็นเรื่องแทรกกลาง กล่าวถึงทศกัณฐ์ลักสีดา แล้วพระรามได้ทหารลิง ทหารหมี ติดตามไปทำศึกกับทศกัณฐ์ จนได้สีดากลับคืนมา, ล้วนแสดงฤทธานุภาพ อัศจรรย์เลิศล้น จนเกินอำนาจที่ธรรมชาติจะอำนวย. นับว่าเรื่องตอนนี้ มีลักษณะตรงกันข้ามจากตอนต้น. น่าจะทำให้เข้าใจว่าเป็นเรื่องหนึ่งต่างหาก ซึ่งกวีมุ่งหมายจะแสดงการแผ่อำนาจแห่งชาติอริยกะ ที่ยกลงไปในภาคใต้อินเดีย คือ ถัดมัธยมประเทศลงไป, แต่จับเอาเรื่องราวปรัมปรา อย่างที่มีในคัมภีร์ปุราณะ อันเป็นเรื่องที่นับถือกันอยู่ เข้าไปผนวกแล้วปรุงเรื่องทางลัทธิศาสนาเข้าด้วยอีกต่อหนึ่ง

(เรื่องราวโบราณอันเป็นตำนานปรัมปรา ของอินเดียมีอยู่สองอย่าง อย่างหนึ่งกล่าวด้วยกิจการของวีรบุรุษโดยปกติ ถึงว่าวีรบุรุษนั้น ภายหลังจะยกกันขึ้น ว่าเป็นพระเจ้าหรือเทพองค์ใดองค์หนึ่งอวตารมาก็ดี ก็ย่อมเรียกเรื่องชนิดนี้ว่า อิติหาส. เพราะฉะนั้น เรื่องอย่างรามายณะและเรื่องมหาภารตะ บางทีก็เรียกว่า อิติหาส. เรื่องอีกอย่างหนึ่ง กล่าวด้วยกิจการของพระเป็นเจ้า หรือ ของทวยเทพเป็นหลัก เรื่องอย่างนี้เรียกว่า ปุราณะ อันเป็นเรื่องรุ่นหลังกว่าเรื่องรามายณะ และเรื่องมหาภารตะ และในสมัยที่รจนาเรื่องปุราณะนี้ จึ่งได้ชื่อว่า สมัยปุราณะ – ดู พระราชนิพนธ์บ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์ ประกอบด้วย)

รูปเรื่องรามายณะ

รามายณะเป็นเรื่องเปรียบเทียบ
ศาสตราจารย์ ปิกฟอร์ถ ผู้แปลเรื่องมหาวีรจริตของภวภูติเป็นอังกฤษ กล่าวไว้ในคำนำหนังสือนั้นว่า เรื่องพระราม ตั้งแต่ทศกัณฐ์ลักพาสีดาไป เป็นเรื่องเปรียบเทียบ ถอดเอาใจความมาแสดงความเป็ฯไปของธรรมชาติ กล่าวคือความสว่างกับความมืด หรือกลางวันกับกลางคืน ซึ่งเป็นของคู่กัน. มนุษย์ในสมัยโบราณที่เจริญบ้างแล้ว ย่อมประกอบกสิกรรมเป็นหลักอาชีพ. ถ้าธรรมชาติ คือ ดินฟ้าอากาศ ไม่อำนวนความสว่าง อบอุ่นและความชุ่มชื้นให้, ก็ย่อมประกอบกสิกรรมไม่เกิดผล เพื่อให้เห็นความจริงในเรื่องเหล่านี้ได้ง่าย กวีจึ่งผูกเป็นเรื่องขึ้น สมมุตเอาธรรมชาติเป็นตัวตนให้ความมืด คือ กลางคืน หรือฤดูหนาว เป็นพวกรากษส มีทศกัณฐ์ เป็น หัวหน้า เพราะฉะนั้น คำว่า นิสาจร ซึ่งแปลว่า ผู้ด้อมไปในที่มืด จึ่งใช้เรียกพวกรากษส. ความสว่าง คือ กลางวันหรือฤดูร้อน ได้แก่พระรามซึ่งสืบเชื้อสายมาจาก สุริยะ (สุริยวงศ์). กสิกรรมได้แก่ สีดา ซึ่งตามรูปศัพท์แปลว่า รอยไถ ในรามายณะก็แสดงเค้าว่า สีดาเกิดจากดิน คือ ท้าวชนกไถได้มา. ที่ทศกัณฐ์ลักสีดาไป คือความมืดเข้าครอบงำ กระทำให้การไถ หว่านพืชพันธุ์ ธันยชาติ ต้องหยุดชะงักไป. ต่อเมื่ออาทิตย์อุทัยในวันรุ่งขึ้น หรือสิ้นฤดูหนาว เปลี่ยนเป็นฤดูร้อน ขับความมืดไปแล้ว จึ่งจะประกอบกสิกรรมต่อไปได้ อันเปรียบด้วยพระรามสังหารทศกัณฐ์ ได้สีดากลับคืนมา.
ตามสันนิษฐานนี้ นักปราชญ์ชาวอินเดียผู้หนึ่งแย้งว่า ตามที่อธิบายเป็นแปลความหมายมานี้ ก็น่าฟัง, แต่ยังไม่สมเหตุผลนัก. เพราะเหตุการณ์ดั่งแจ้งอยู่ในรามายณะนั้น ปรากฏว่าแสดงเรื่องราวเกี่ยวข้องกับตำนานการรุกของชาติอริยกะ ที่ยกไปภาคใต้ อินเดีย คือทักษิณาบถ อันมีเค้าความจริงอยู่, ที่ว่ากวียกเอาความมืด กับความสว่าง หรือฤดูหนาว กับฤดูร้อน ขึ้นสมมติเป็นตัวตนเปรียบเทียบนั้น จะต้องระลึกว่าอินเดียมีลักษณะความเป็นไป ไม่เหมือนกับที่เป็นอยู่ในทวีปยุโรป ซึ่งเป็นประเทศหนาว. เวลากลางคืนในอินเดีย ประชาชนถือว่าเป็นเวลาพักผ่อนร่างกาย หาความสำราญใจ เพราะในเวลากลางวัน ต้องกรากแดดกรำฝนทนทำการไถหว่าน มาตั้งแต่เช้ากระทั่งเย็น. กวีคงไม่มีความเห็นวิปริตที่จะสมมุติกลางคืน อันน่ารื่นรมย์ ให้เป็นยักษ์มาร ซึ่งไม่พึงปรารถนา จะเห็นได้จากคำในส°สกฤตบางศัพท์ เช่นใช้คำ รัชนี ว่า กลางคืน, นิทาฆะ ว่า ฤดูร้อน, ตปนะ (เผา) และ ติคมางศุ (มีแฉกรัศมีเป็นดั่งน้ำอมฤต) ว่า พระจันทร์, มุทิระ (เบิกบาน) ว่า เมฆ. ดั่งนี้ คำว่า มืด หรือคำที่เกี่ยวข้องกับเวลากลางคืน เช่น พระจันทร์ และเมฆ เป็นต้น ล้วนใช้คำซึ่งมีความหมายว่าเป็นที่สำราญบานใจ. พระอาทิตย์ผู้ทำเวลากลางวันเสียอีก ท่านใช้คำมีความหมายอันน่าย่อท้อสยองชน.
นักปราชญ์อินเดียอีกผู้หนึ่ง ออกความเห็นว่าความมืดกับความสว่างเป็นของคู่กัน ย่อมมีความหมายได้อีกอย่างหนึ่ง คือในโลกนี้ มีสิ่งที่ตรงกันข้ามขับเคี่ยวลบล้างกันอยู่ เช่น ธรรม กับอธรรม บางคราวอธรรมชนะธรรม, บางครั้งอธรรมก็แพ้ธรรม. แต่ในที่สุดถือกันว่า ธรรมย่อมชนะอธรรมเสมอไป อธรรม คือความมืด ได้แก่พวกยักษ์มารอนารยชน, ธรรมคือความสว่าง ได้แก่ผู้ต่อสู้ และปราบปรามอธรรม. เพราะฉะนั้น เรื่องพระรามปราบทศกัณฐ์ ก็คือ พระเป็นเจ้า ทรงพระมหากรุณา อุตส่าห์อวตารลงมาเป็นมนุษย์ เพื่อปราบอธรรม ให้บังเกิดความเกษมสำราญ ร่มเย็นเป็นสุข แก่มนุษยโลกนั่นเอง
รามายณะจำลองมาจากพระเวท
ตามความเห็นของนักปราชญ์อินเดีย ข้อหลังนี้นั้น เป็นการสันนิษฐานถอดใจความ ที่เกือบเหมือนกับของ ศาสตราจารย์ ปิกฟอร์ถ ซึ่งกล่าวแล้ว, แต่แก้ให้มีความหมายหนักไปในทางลัทธิศาสนา ยังมีความเห็นอีกทางหนึ่ง ดูแนบเนียนกว่า และอาจมีเค้าความจริงอยู่บ้าง คือความเห็นของศาสตราจารย์ ยะโกบี นักปราชญ์เยอรมัน ผู้กล่าวว่า รามายณะ เห็นจะไม่มีเค้าตั้งใจให้เป็นเรื่องเปรียบเทียบ น่าจะจำลองออกจากเรื่องทวยเทพปรัมปราของอินเดียเอง ซึ่งมีในคัมภีร์พระเวท โดยชักเอามาเป็นเรื่องของมนุษย์, เป็นชนิดที่มีทั่วไปในชาติต่าง ๆ ซึ่งเล่าว่าทวยเทพลงมาเกี่ยวข้องกับมนุษยโลก.
(๑)
ก. ถ้าจะสาวเรื่องย้อนขึ้นไป ถึงที่มีอยู่ในคัมภีร์ฤคเวท จะพบคำว่า สีดา (รอยไถ) ซึ่งสมมติให้มีตัวเป็นเทวี หรือเทวดาผู้หญิง สำหรับประชาชนบูชา (จะเค้านี้กระมัง ที่เราพลอยเรียกข้าว่า แม่พระสพ). ในคัมภีร์ คฤหยสูตร มีเรื่องกล่าวถึงสีดาไว้หลายแห่ง ว่าเป็นเทวีประจำไร่นา อันได้ไถหว่านแล้ว มีลักษณะชื่นตา งามเลิศ, เป็นชายาพระปรรชันย์ (พระอินทร์สมัยพระเวท) ผู้เทพประจำฝน (ไทยเราเรียกว่า เทพอรชุน มาในรัชกาลที่ ๔ ทรงแปลเป็น พราะประชุน ให้ตรงกับนามปัชชุนนะเทพบุตร ผู้เป็นเจ้าของฝน)
ข. ในรามายณะ เรื่องสีดายังไม่ทิ้งเค้าการไถนา เพราะแสดงว่ามีกำเนิดมาจากการไถของท้าวชนก และในที่สุดก็คืนหายไปในธรณี. อันพระรามผู้เป็นสามี ก็มีสีเขียวอย่างพระอินทร์
(๒)
ก. ในคัมภีร์ฤคเวท เล่าเรื่องวฤตาสร (ผู้ให้เกิดความแห้งแล้ง) อันพระอินทร์ทำสงครามขับเคี่ยวด้วย
ข. ในรามายณะ ทศกัณฐ์ผู้เป็นเจ้าแห่งรากษส ก็ทำสงครามกับพระอินทร์ จนลูกได้ชื่อว่า อินทรชิต (ผู้ชะนะพระอินทร์)
(๓)
ก. ในฤคเวท มีเรื่อง วฤตาสูร ลักโค พระอินทร์ จนพระอินทร์ต้องติดตามไปเอาคืน.
ข. ในรามายณะ ว่าทศกัณฐ์ลักสีดา
(๔)
ก. ในคัมภีร์พระเวท ว่า พระอินทร์ เป็นสัมพันธมิตรกับพวกมรุต (ลม) ช่วยกันสู้รบกับวฤตาสูร
ข. ในรามเกียรติ์ ว่าหนุมาน เป็นลูกลม (มารุติ) ช่วยพระรามรบทศกัณฐ์.
(๕)
ก. พระอินทร์มีนางศุนัก ชื่อ สรมา ซึ่งใช้ให้ข้ามแม่น้ำรสา ติดตามโคที่วฤตาสูร ลักไป
ข. ในรามายณะ สรมาเป็นยักษิณีที่มีความเมตตาอารี คอยเล้าโลมเอาใจสีดา เมื่อครั้งตกอยู่ในลงกา
(นางสรมา ในรามายะณว่าเป็นเมียพิเภษณ์. นางตรีชดา ว่าเป็นสาวใช้. ในรามเกียรติ์ว่า เมียพิเภกชื่อตรีชดา จะเอามารวมเป็นตัวเดียวกันเสียกระมัง – ดูพระราชนิพนธ์บ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์)
รามายณะเป็นเรื่องประดิษฐ์
นาย ร. จ. ทัตต์ นักปราชญ์อินเดียอีกคนหนึ่ง มีความเห็นสอดคล้องกับข้างต้นนี้ และซ้ำกล้าลบเสียหมดว่า รามายณะเป็นเรื่องไม่มีค่าทางเหตุการณ์ในพงศวดารเลย เรื่องต่าง ๆ ที่มีอยู่ในนั้น ก็เป็นตำนานปรัมปราเล่าสืบกันมา หาความจริงไม่ได้ สีดา ก็คือ รอยไถ (ซ้ำคำว่า ลวะ หรือ ลพ ซึ่งเป็นโอรสสีดา ก็แปลว่า การเก็บเกี่ยว ออกจากลุธาตุ) มีผู้บูชากันมาตั้งแต่สมัย ฤคเวท ว่าเป็นเทวดาผู้หญิง ครั้นการหักร้างถางพงแห่งชาติอริยกะ ค่อยเลื่อนลงไปทางภาคใต้อินเดีย ก็ไม่เป็นการยากที่จะประดิษฐ์เรื่องขึ้นว่า สีดาถูกลักไปทางใต้ ครั้นสีดาเทวีที่ถูกลักไปนี้ มีกวีผู้ฉลาด วาดรูปด้วยวิธีรจนาเป็นกาพย์กลอน ให้กลายเป็นนางมนุษย์ มีลักษณะเป็นนางแก้ว, ก็เป็นธรรมดาอยู่เอง ที่จะเลยจัดให้เป็นธิดาท้าวชนก แห่งแคว้นวิเทห์. เพราะท้าวชนกเป็นกษัตริย์ มีตัวจริงตามทางพงศวดาร ดั่งมีนามปรากฏในคัมภีร์พราหมณะหมวดยัชุรเวท ว่าเป็นพระราชาเหนือจากท้าวชนก ในรามายณะขึ้นไปยี่สิบสี่ชั่ว ท้าวชนกที่กล่าวนี้ เป็นพระราชาที่ยอดเยี่ยมในภูมิรู้ และทรงความบริสุทธิ์ศักดิ์สิทธิ์ แนบแน่นสนุทในการบุณย์ ส่วนพระราม ท้าวพญาแห่งแคว้นโกศล และสสามีสีดานั้น เป็นใคร ในคัมภีร์ปุราณะ รุ่นหลังบอกว่า พระวิษณุ เป็นเจ้าอวตารมา ก็และพระวิษณุนี้พึ่งจะมานิยมนับถือกัน ว่าเป็นพระเป็นเจ้าในสมัยรุ่นหลัง สมัยรามายณะ พระอินทร์ต่างหาก ที่เป็นเทพบดี เป็นใหญ่กว่าเทพทั้งหลาย เด่นอยู่ในโลกสวรรค์ (อย่างในคัมภีร์พุทธศาสนา) ในคัมภีร์พราหมณะจำพวกสูตร ว่าสีดาเทวี ประจำรอยไถ เป็นชายาพระอินทร์ ถ้าจะสันนิษฐานว่า พระอินทร์ในสมัยฤคเวท มากลายเป็นพระรามในรุ่นหลัง จะไม่ได้บ้างหรือ ?

เค้าเงื่อนรามายณะ

เค้าจากทศรถชาดก
ศาสตราจารย์เวเบอร์ นักปราชญ์เยอรมันอีกผู้หนึ่ง มีความเห็นแปลกจากข้างต้นนี้ ว่ารามายณะได้เค้าเรื่องมาจากทศรถชาดก ซึ่งมีมาในคัมภีร์ชาดกเอกาทศนิบาต. ในนั้นมีใจความว่า
ท้าวทศรถผ่านกรุงพาราณสี มีโอรสธิดา กับอัครมเหสี สามองค์ คือ พระรามบัณฑิต พระลักขณ์ และนางสีดา เมื่ออัครมเหสีสิ้นพระชนม์แล้ว, ท้าวทศรถ มีมเหสีใหม่ สัญญาว่าจะประทานพรให้ตามแต่จะขอ เมื่อพระภรตกุมารมีชนมายุได้หกขวบ, มเหสีองค์ใหม่เห็นได้ช่อง ก็ทูลขอท้าวทศรถ ให้ทรงตั้งพระภรตกุมารเป็นผู้สืบราชสมบัติ. ท้าวทศรถกริ้วมาก แต่ว่าจำต้องประทาน, ครั้นแล้วให้หาพระรามบัณฑิต และพระลักขณ์เข้าไปเฝ้า ตรัสให้โอรสทั้งสอง ออกจากนครไปเสีย จนกว่าควันไฟจะขึ้นจากจิตกาธาน (คือ เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ไปแล้ว) จึ่งค่อยมาชิงเอาราชสมบัติ, เพราะระวางนี้ ถ้าขืนอยู่ในนครก็จะถูกมารดาเลี้ยงประทุษร้าย แล้วตรัสให้โหรคำนวณพระชันษาว่าจะอยู่ในโลกได้อีกสักกี่ปี โหรถวายคำทำนายว่า สิบสองปี พระองค์จึ่งกำหนดให้โอรสทั้งสอง กลับมาตามเวลานี้ โอรสก็ดำเนิรการตามรับสั่ง และสีดาผู้เป็นกนิษฐภคินีขอตามไปด้วย สามกษัตริย์เสด็จดออกจากนครไปถึงแดนหิมพานต์ สร้างอาศรมเป็นสำนัก ณ ที่นั้น ล่วงเวลาได้เก้าปี ท้าวทศรถตรอมหฤทัยสิ้นพระชนม์ มเหสีจะยกพระภรตกุมาร ขึ้นครองราชย์สมบัติ, แต่อมาตย์ไม่เห็นพ้อง แย้งว่าราชมสมบัตินี้ควรแก่เชษฐโอรส คือ พระรามบัณฑิต ทั้งพระภรตกุมารก็เห็นด้วย จึ่งยกทัพออกไปเชิญพระรามบัณฑิตถึงอาศรม พระรามบัณฑิตไม่ยอมกลับ อ้างว่ายังไม่ครบกำหนดเวลาสิบสองปี พระภรตกุมาร ทูลถามว่าระวางนี้จะให้ผู้ใดรักษาราชสมบัติ พระรามบัณฑิตแนะนำให้เชิญฉลองพระบาทฟาง ของพระองค์ไปประดิษฐานไว้บนราชอาสน์แทน. พระภรตกุมารก็ปฏิบัติตาม ล่วงต่อมาอีกสามปี ครบกำหนดเวลาแล้ว พระรามบัณฑิตก็เสด็จกลับกรุงพาราณสี ขึ้นเสวยราชย์ อภิเษกสีดาขึ้นไว้ในตำแหน่งอัครมเหสี.
ตามเรื่องที่เล่านี้ ไม่มีเรื่องทศกัณฐ์ลักสีดา จึ่งไม่มีเรื่องพระรามยกกองทัพไปตีลงกา ก็การออกไปอยู่ป่าย่อมเป็นคติประเพณีมีอยู่ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาไม่น้อยแห่ง เช่นในเวสสันดรชาดก และเรื่องซึ่งมีในอรรถกถาแก้ธรรมบทของ พระพุทธโฆษ ที่ว่าท้าวพรหมทัตตรัสให้ มหิงสาสก์ และจันท์ โอรสทั้งสองออกไปอยู่ป่าเพื่อให้พ้นภัยจากมารดาเลี้ยง แต่สุริยะผู้โอรสของมารดาเลี้ยง ขอติดตามไปอยู่ป่าด้วย เรื่องต้นวงศ์ศากยราช (ในหนังสือปฐมสมโพธิ) ก็มีเค้าคล้ายคลึงกันด้วยอีกเรื่องหนึ่ง.
กวีผู้รจนารามายณะ คงได้เค้าจากเรื่องต่าง ๆ ข้างต้นนี้ เปลี่ยนความที่พระรามและสีดาซึ่งเป็นพี่น้องกัน ให้กลายเป็นคู่รักเสีย แต่เรื่องสำคัญที่สุด คือเดิม เรื่องลักสีดา และเรื่องไปตีลงกา, กับย้ายป่าในแดนหิมพานต์ทิศเหนือ เปลี่ยนเป็นป่าในแดนทักษิณาบถทิศใต้
เมื่อพิจารณาถึงที่เปลี่ยนสถานที่จากเหนือไปใต้ ก็พอเดาได้ว่า ต้องการจะให้เรื่องรับกับการไปตีลงกา ซึ่งบางคนมีความเห็นว่า กวีผู้รจนา ประสงค์จะแสดงเรื่องการแผ่อำนาจของชาติอริยกะไปทางใต้ของอินเดีย จนถึงเกาะลังกา
เค้าจากอิเลียดมหากาพย์กรีก
การอ้างเกาะลังกา นายวิลเลอร์ มีความเห็นว่าเพราะพวกพราหมณ์ มีความเกลียดชังชาวลังกา ถึงกับเรียกเหยียดว่า รากษส เหตุด้วยชาวลังกาเปลี่ยนใจไปนับถือพระพุทธศาสนา. ในรามายณะกล่าวว่า ทศกัณฐ์และพวกพี่น้องเป็นเชื้อวงศ์พรหม เคยบำเพ็ญตบะบูชาพรหม อัคนี และเทพอื่น ๆ พิจารณาตามเรื่อง ก็น่าจะเห็นว่าราชวงศ์ที่เป็นใหญ่ในลังกา มีเค้าเป็นเชื้อสายชาติอริยกะปนอยู่ด้วย, ส่วนพวกลิงในรามายณะ กวีผู้รจนา เห็นจะมุ่งหมาย ถึงชนชาติพื้นเมืองใน ทักษิณาบถ ซึ่งมีอารยธรรมความเจริญอยู่บ้างแล้ว. ถึง คุหะ (ขุขัน) กับบริวารพวกนิษาท (พวกเงาะ) ก็เป็นชาวพื้นเมืองอีกชาติหนึ่ง ทีนี้ มีปัญหาว่า เมื่อรามายณะมีเค้าเรื่องมาจากทศรถชาดกแล้ว เรื่องตอนกลาง คือ ทศกัณฐ์ ลักสีดา ซึ่งในทศรถชาดกไม่มี วาลมีกิได้เค้ามาจากไหน : คิดขึ้นเองเพื่อให้เข้าเรื่องไปตีลังกา หรือว่าได้เรื่องมาจากที่อื่น ? ตามรูปก็ต้องเข้าใจว่าคงเอามาจากอื่น. ถ้าเอามาจากอื่น เอามาจากเรื่องอะไร ? ถ้าให้เดา ก็ต้องว่าเอามาจากเรื่องในมหากาพย์ของกรีก คือ เรื่อง อิเลียด ของ กวีโหเมอร์. ในนั้นมีเรื่องว่า ปารีส ผู้โอรสพระเจ้ากรุงตรอย ลักนางเหเลน ชายาของกษัตริย์กรีกแคว้นหนึ่งไป จนเป็นเหตุให้เกิดสงครามขึ้น ระวางกรีกกับกรุงตรอย ชาติกรีกยกไปล้อมกรุงตรอย เป็นเวลานานตั้งสิบปีจึ่งตีแตก (ดูเรื่องในพงศวดารดึกดำบรรพ์ ฉบับโรงพิมพ์ไทย หมวด ๔๑) เหตุที่วาลมีกิจะทราบเรื่องนี้ ก็คงเป็นเพราะชาติกรีกเคยติดต่อกับอินเดีย มาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอาเล็กษานเดอร์มหาราชแล้ว.

สรูปหัวข้อรามายณะ

เพื่อสนับสนุนการสันนิษฐานของนักปราชญ์ต่าง ๆ ข้างต้นนี้ให้เห็นเด่นชัดขึ้นอีก ไรสเหพ ทิเนศ จันทรเสน นักปราชญ์ชาวเบงคอล ได้วินิจฉัยปัญหาไว้ ในหนังสือรามายณะเบงคอลว่า เรื่องที่จะไปเป็นรามายณะ ของโบราณคงแยกกันอยู่เป็นสามตอน ต่างฝ่ายไม่เกี่ยวข้องติดต่อกัน ดั่งนี้ :-

ตอนหนึ่ง เรื่อง พระราม ถูกผู้ริษยาต้องออกจากนครไปหลายปี มีลักษมณ์ และสีดาผู้น้องยา และน้องนาง ติดตามไปด้วย เรื่องตอนนี้เหมือนทศรถชาดก.

ตอนสอง เรื่อง ราพณ์ บำเพ็ญตบะแก่กล้าจนได้รับพรให้มีฤทธิเดชยิ่งใหญ่

ตอนสาม เรื่อง หนุมาน มีเค้ามาจากการนับถือบูชาลิง อันเป็นลัทธิที่มีอยู่ในอินเดียและประเทศอื่น ๆ ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์และเหลือสืบมา.

เรื่องทั้งสามตอนนี้ ไม่เกี่ยวข้องกัน ที่เอามาติดต่อให้เป็นเรื่องเดียวตลอด เหมือนที่มีอยู่ในรามายณะ คงตั้งโครงเชื่อมเรื่อง ดั่งนี้  :-

๑ – พระราม รัชทายาทแห่งกรุงอโยธยา มีผู้ริษยาคิดร้าย ต้องหนีออกไปอยู่ป่า มีชายาชื่อสีดา ตามไปด้วย
๒ – ขณะพเนจรร่อนแร่ ถูกพญารากษส ชื่อ ราพณ์ ลักสีดาไป.
๓ – พระรามออกติดตาม ได้สุครีพ พญาวานร ซึ่งมีแม่ทัพแกล้วกล้าสามารถชื่อ หนุมาน ช่วยเหลือ จึ่งได้สีดาคืนมา

เมื่อจะเอาเรื่องทั้งสามตอน มาต่อกันให้เป็นเรื่องเดียว กวีผู้รจนา จะต้องหาเรื่องอื่นมาแทรก เพื่อเชื่อมหัวต่อให้เข้ากัน ผู้รจนาคงมีหลายคน น่าจะไม่ใช่วาลมีกิคนเดียว, เรื่องที่หามาเชื่อมหัวต่อ จึ่งต่าง ๆ กัน แล้วแต่ความเห็นชอบของผู้ปรุง เหตุนี้ รามายณะฉบับทั้งหลาย จึ่งเล่าเรื่องแตกต่างกัน โดยมากก็ที่ตรงเรื่องเป็นหัวต่อ ข้อวินิจฉัย ของ ไรสเหพ พิเนศ จันทราเสน จะได้กล่าวให้พิสดารในบทต่อไป.

หนังสือประเภทรามายณะ

จำนวนหนังสือประเภทนี้ ที่มีอยู่ในอินเดียเวลานี้ นอกจากฉบับของวาลมีกิ รวมทั้งที่จบตลอดเรื่องและที่เป็นเรื่องปลีกย่อย หรือแทรกในหนังสือเรื่องอื่น ๆ เช่น ในหนังสือ มหาภารตะ และในคัมภีร์ปุราณะ เป็นต้น ก็เห็นจะนับด้วยร้อย. (ได้ให้ชื่อและเนื้อเรื่องไว้บางเรื่อง ในตอนต่อไป).

ประเทศอันอยู่ถัดอินเดียออกมาทางตะวันออก ซึ่งเคยรับความเจริญติดต่อมาจากอินเดียแต่โบราณ คือ ลังกา ชะวา มลายู พะม่า มอญ ลาว เขมร ก็ปรากฏว่ามีรามายณะ หรือเรื่องที่ได้เค้าจากรามายณะอยู่ในวรรณคดีของชาติเหล่านั้นด้วย เช่น ชะวา มลายู มีรามายณะอยู่หลายสำนวน บางฉบับ คงเรียกตามชื่อเดิมว่า รามายณะ, บางฉะบับเปลี่ยนชื่อเป็นอื่น เช่น ของมลายู เรียกชื่อว่า ศรีราม เป็นต้น.

รามเกียรติ์ของเรา

เมื่อชาติอื่นซึ่งใกล้เคียงกับเรา มีรามายณะเป็นสมบัติ อารยธรรมประการหนึ่งแล้ว, อาศัยการติดต่อกันนั้น รามายณะจึ่งเข้าอยู่ในวรรณคดี ของเราด้วย. แต่จะมิใข่เข้ามาโดยตรงจากรามายณะของวาลมีกิ, คงตกทอดกันมาหลายชั้นหลายทาง เป็นการประกัน กว่าจะสำเร็จรูปเป็นวรรณคดีเรื่องหนึ่ง อันเรียกว่า รามเกียรติ์ อยู่ในเวลานี้ เหตุที่ไม่เรียกว่า รามายณะ เหมือนของเดิม ก็ส่อให้เห็นว่าคงไม่ได้จากฉบับของ วาลมีกิ มาโดยตรง, ซ้ำคำว่า รามายณะ ก็เพิ่งจะมารู้จักกันแพร่หลาย เมื่อมีพระราชนิพนธ์เรื่องบ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์ขึ้นในเร็ว ๆ นี้เอง.

เพราะฉะนั้น รามายณะ ของ วาลมีกิ กับ รามเกียรติ์ จึ่งมีข้อความตรงกันเพียงเนื้อเรื่อง นอกนั้นผิดกันอยู่มากมาย หลายประการ, เช่น :-

(๑)

ก. รามายณะ แบ่งเป็นเจ็ดกัณฑ์ ดั่งกล่าวแล้ว
ข. รามเกียรติ์เดิรเรื่องเรื่อยไปจนจบ จะมีแบ่งบ้างก็สำหรับคัดลอกมาเล่นโขน เช่น ชุดนางลอย หรือ สำหรับเป็นหนังสือสอนอ่าน เช่นตอนศึกกุมภกรรณ.

(๒)

ก. รามายณะ ตอนต้นในพาลกัณฑ์ มีฤษีวิศวามิตรเล่าเรื่องบรมโบราณหลายเรื่องแก่พระราม เช่น เรื่องแม่น้ำคงคา ที่จะมาจากสวรรค์, เรื่องกวนน้ำอมฤต, ตำนาน รัตนธนู คือ ศร ที่พระราม จะไปก่งชิงชัย เพื่อได้นางสีดา
ข. รามเกียรติ์ ตอนต้น ไม่กล่าวถึงเรื่องเหล่านี้เลย แต่กล่าวถึงนารายณ์อวตารปางก่อน ๆ เหนือสมัยพระรามขึ้นไป จากนั้น กล่าวถึง อสุรพงศ์ และวานรพงศ์ ซึ่งมีในกัณฑ์ท้ายของรามายณะ

(๓) เรื่องบางตอนในรามายณะ ไม่มีในรามเกียรติ์, หรือที่มีในรามเกียรติ์ เช่น นางลอย ไม่มีในรามายณะ บางตอนมีด้วยกันพอจะตรงกันได้ ก็สับตอนกันเสีย บางที่สาเหตุของเรื่องผิดกันเป็นอย่างอื่น

ข้อผิดกันเหล่านี้ มีแจ้งพิสดารในพระราชนิพนธ์บ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์โน้นแล้ว

เชิงอรรถ

ที่มา

  • อุปกรณ์รามเกียรติ์ ภาคหนึ่ง ตอนต้น ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศุภโยคเกษม ณ พระเมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ โรงพิมพ์ไทยเขษม

[ขอขอบคุณคุณ gignoi สมาชิก kaewkao.com ผู้พิมพ์เป็นวิทยาทาน]

เครื่องมือส่วนตัว