นางนพมาศ

จาก ตู้หนังสือเรือนไทย

การปรับปรุง เมื่อ 09:39, 25 เมษายน 2554 โดย CrazyHOrse (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
(ต่าง) ←รุ่นก่อนหน้า | รุ่นปัจจุบัน (ต่าง) | รุ่นถัดไป→ (ต่าง)
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

เนื้อหา

ข้อมูลเบื้องต้น

แม่แบบ:เรียงลำดับ ผู้แต่ง: ท้าวศรีจุฬาลักษณ์

บทประพันธ์

บานแพนก

๏ นพมาศนามแม่นี้เดิมมา
โปรดเปลี่ยนศรีจุฬา-ลักษณ์ล้ำ
อุดมรูปปรีชาชาญยิ่ง นะแม่
หญิงภพใดจักก้ำกว่านี้ฤามี ฯ
             

ตำหรับโปราณาจารย์ พระศรีจุฬาลักษณ์ท่านกล่าวความสวัสดิ์เจริญของสตรีภาพ ผู้ประพฤติตามโอวาทแห่งท่านไว้ แต่สมัยจุลศักราชแรกตั้ง ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระร่วงเจ้าโดยนิยมดังนี้

ว่าด้วยชาติและภาษาต่างๆ

จักกล่าวเรื่องต้น จับเดิมแต่ตั้งภัทรกัลปขึ้น มีมนุษย์ชายหญิงด้วยอำนาจพรหมให้บังเกิด กาลครั้งนั้นมนุษย์ชาติเจรจาภาษามคธพากย์อย่างเดียวกันสิ้นด้วยกัน จะได้นับว่าต่างภาษานั้นหามิได้ ครั้นล่วงเดือนปีอัตรากัลปมาเป็นอันมาก จนถึงพุทธอัตรากัลปอันนี้ สมัยเมื่อมนุษย์มีอายุต่ำน้อยกว่าร้อยปีแล้วนั้น ข้าน้อยผู้ได้นามบัญญัติชื่อว่าศรีจุฬาลักษณ์ อันมีอุปนิสัยสมบัติกล่าวคือปัญญา จักจำแนกชาติภาษามนุษย์ตามโปราณาจารย์ ท่านสมมติเรียกชาติภาษาต่างๆ ให้พิสดารตามสติปัญญา ซึ่งได้สดับฟังไตรเพทและคดีโลก คำโปราณาจารย์สืบๆ กันมา บรรดาบ้านเมืองมนุษย์ซึ่งตั้งอยู่ภายนอกมัชฌิมประเทศสิ้นทั้งสกลชมพูทวีปนั้น ก็มีชาติและภาษาต่างกันเป็นอันมาก โปราณาจารย์ท่านก็รวมเข้าบัญญัติเรียกว่าประจันตะประเทศเป็นสยามภาษาทั้งสิ้น และบรรดาบ้านเมืองตั้งอยู่ในเกาะลังกาทวีป และเกาะซึ่งเป็นบริวารแห่งเกาะลังกาก็ดี มนุษย์ก็ต่างชาติต่างภาษา โปราณาจารย์ท่านก็รวมเข้าบัญญัติ เรียกว่าสิงหฬประเทศสิ้นด้วยกัน จึ่งเป็นประเทศสามประเทศ ภาษาก็แตกสามภาษาดังนี้แท้จริง


หนึ่งโสตนักปราชญ์ผู้มีปัญญา ซึ่งเรียนรู้คณะฉันท์ มีอินทรวิเชียรฉันท์เป็นต้น ท่านพึงใจจะนิพนธ์ตกแต่งกาพย์โคลงฉันท์ลิลิตเป็นบททำนุกทำเนียบ คำสังวาสคำนิราศคำสรรเสริญคำสุภาษิต ท่านมักใช้ภาษาต่างๆ เป็นถ้อยคำโดยคณะพากย์ฉันท์ เหตุดังนี้ท่านจึ่งจัดพากย์ภาษาแยกออกโดยต่างกัน อันมคธพากย์นั้นคือคำบาลีภาษาแขกซึ่งในมัชฌิมประเทศเจรจากัน ถูกต้องกับมคธพากย์โดยมาก และสยามพากย์นั้นท่านว่าเป็นคำไทย สิงหฬพากย์นั้นท่านว่าเป็นคำชาวสิงหฬลังกาทวีป และคำพราหมณชาตินั้น ท่านว่าสันกฤตพากย์ ตะเลงพากย์นั้นท่านว่าเป็นคำฝรั่ง ภุกามะพากย์นั้นท่านว่าเป็นคำพม่า ตะลุมะพากย์นั้นท่านว่าเป็นคำรามัญ หริภุญไชยพากย์นั้นท่านว่าเป็นคำลาวน้ำหมึก กัมพุชพากย์นั้นท่านว่าเป็นคำเขมร


แต่ข้านี้ผู้น้อยชื่อศรีจุฬาลักษณ์ จะพึงจำแนกชาติภาษาต่างๆ ต่อออกไป คือภาษาไทย ๑ ลาวภาษา ๑ ลาวน้ำหมึกภาษา ๑ ลาวลื้อภาษา ๑ ลาวเงี้ยวภาษา ๑ ลาวทรงดำภาษา ๑ ลาวทรงขาวภาษา ๑ เขมรกัมพุชภาษา ๑ เขมรดงภาษา ๑ เขมรละมาตภาษา ๑ เขมรซวยภาษา ๑ พม่าภาษา ๑ รามัญภาษา ๑ ทวายภาษา ๑ กระแซภาษา ๑ ยะไข่ภาษา ๑ ไทยใหญ่ภาษา ๑ ตองซู่ภาษา ๑ พราหมณ์วัยธึกภาษา ๑ พราหมณ์เวรำมะเหศวรภาษา ๑ พราหมณ์อวตารภาษา ๑ พราหมณ์บรมเทสัตรีภาษา ๑ พราหมณ์พญารีภาษา ๑ พราหมณ์พฤฒิบาศภาษา ๑พราหมณ์พาราณสีภาษา ๑ พราหมณ์อรรคีคณเวศภาษา ๑ แขกอาหรับภาษา ๑ แขกมห่นภาษา ๑ แขกสุหนี่ภาษา ๑ แขกมั่งกะลี้ภาษา ๑ แขกมะเลลาภาษา ๑ แขกขุร่าภาษา ๑ แขกฮุยหุยภาษา ๑ แขกมลายูภาษา ๑ แขกมุหงิดภาษา ๑ แขกชวาภาษา ๑ แขกจามภาษา ๑ แขกพฤกษภาษา ๑ ฝรั่งเศสภาษา ๑ ฝรั่งวิลันดาภาษา ๑ ฝรั่งอังกฤษภาษา ๑ ฝรั่งพุทธะเกตภาษา ๑ ฝรั่งมะริกันภาษา ๑ ฝรั่งอิศบันหยอดภาษา ๑ ฝรั่งการะหนีภาษา ๑ ฝรั่งสีส้องภาษา ๑ หรูดภาษา ๑ สิงหฬภาษา ๑ ญี่ปุ่นภาษา ๑ ลิขิ่วภาษา ๑ เกาหลีภาษา ๑ คิชะส่านภาษา ๑ จีนห้อภาษา ๑ จีนตาดภาษา ๑ แกวญวนภาษา ๑ ม้อยภาษา ๑ ยางแดงภาษา ๑ กะเหรี่ยงภาษา ๑ ละว้าภาษา ๑ ข่าบกภาษา ๑ ข่าน้ำภาษา ๑ เงาะภาษา ๑ และมนุษย์ภาษาเล็กน้อยมีบ้านเมืองบ้าง อยู่ป่าอยู่เขาอยู่เกาะบ้าง ยังมีมากกว่ามากเป็นแต่สมมุติเรียกกันว่าชาติภาษา นอกจากคัมภีร์ไตรเพทหาพึงจะกล่าวพิสดารไว้ในที่นี้ไม่

ว่าด้วยการแบ่งอาณาเขตในชมพูทวีป

อันว่าสกลชมพูทวีปนอกจากป่าพระหิมพานต์ และพระมหาสมุทร อันเป็นที่อยู่แห่งมนุษย์นั้น ประเทศใดที่ควรจะตั้งเป็นบ้านเมืองหมู่มนุษย์ชาติภาษาต่างๆ มีพระมหากษัตริย์เป็นต้น ก็ตกแต่งตั้งเป็นพระนครและราชธานี ประดับด้วยนิคมคามแว่นแคว้นเป็นเมืองใหญ่บ้างเมืองน้อยบ้าง มีเขตแดนกว้างยาวประมาณได้ ๕๐ โยชน์ก็มี ๑๐๐ โยชน์ก็มี ๒๐๐ โยชน์ก็มีบ้าง เป็นเมืองดอนบ้างเป็นเมืองชายทะเลบ้างเกาะบ้าง ต่างประดับด้วยจตุรงคเสนาไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินลูกค้าพานิชมีสมบัติอันเป็นแก่นสาร และศฤงคารบริวารยศ เป็นขัตติยมหาศาล พราหมณมหาศาล คหบดีมหาศาล บริบูรณ์ด้วยสุวรรณหิรัญรัตน์ต่างๆ ตามประเทศเมืองใหญ่และเมืองน้อย


และพระนครใดสมเด็จพระมหากษัตราธิราชเจ้าซึ่งมีพระเดชเดชานุภาพมาก สพรั่งพร้อมไปด้วยนิกรโยธาทแกล้วทหารอันเข้มแข็งในการณรงค์สงคราม ทั้งเสนางคนายกพลก็รอบรู้ตำรับพิชัยยุทธ สามารถอาจล้างข้าศึกศัตรูได้ทุกทิศแล้ว ก็สร้างสมสรรพศัสตราวุธเรือรบเรือไล่ช้างม้าโคกระบือล้อเกวียนไว้สำหรับพระนครเป็นอันมาก เที่ยวปราบปรามบ้านน้อยเมืองใหญ่อันมีกำลังไพร่พลและสติปัญญาไม่เทียบเทียม ให้อยู่ในอำนาจเป็นเมืองขึ้นเมืองออกแผ่ผ่านพระราชอาชญาอาณาเขตกว้างขวางออกไปดังกล่าวนี้ เหตุดังนั้นไซร้ ประเทศภาษา ๒ ภาษา ๓ ภาษาบ้าง ๔ ภาษา ๕ ภาษาบ้าง รวบรวมกันเข้าจึ่งเรียกว่าเป็นพระมหานคร ประเทศเอกราชมีในสกลชมพูทวีปหลานพระนคร หนึ่งโสดอันว่าพระนครประเทศเอกราชดังกล่าวนี้ แม้ตั้งอยู่ในที่ไกลกันก็ดี แต่เมืองขึ้นเมืองออกปลายเขตแดนตั้งติดต่อกัน ในระหว่างมีป่าใหญ่ภูเขาลำห้วยธารกั้นทางไกล ๒๐-๓๐ วันคืนก็ดี ถ้ามนุษย์ ๒ ฝ่ายฟ้าสัญจรไปมาถึงกันได้โดยทางบกและทางน้ำ สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทั้ง ๒ ฝ่ายฟ้า ต่างมีพระเดชานุภาพและบุญบารมีเป็นอันมาก ทั้งเสนาบดีทแกล้วทหารก็เข้มแข็งในการศึกสงครามอย่างกัน ถึงมาตรว่ากำลังพาหนะรี้พลศัสตราอาวุธเสบียงอาหารจะยิ่งหย่อนกว่ากันก็ดี เจ้าพระนครใหญ่ทั้งสองฝ่ายฟ้าต่างปรารถนาสมบัติ และบ้านเมืองเขตแดนซึ่งกันและกัน จึ่งกระทำการสงครามตอบโต้ขับเขี้ยวกันไปจนหลายชั่วอายุมนุษย์ ลูกค้าพานิชทั้งสองฝ่ายก็มิได้ไปมาค้าขายถึงกัน นานาประเทศทั้งปวงก็รู้ว่าเมืองนั้นๆ เป็นข้าศึกแก่กัน


ประการหนึ่ง พระนครประเทศเอกราช ๒-๓ พระนครก็มีบ้าง มากกว่า ๑๐ ราชธานีก็มีบ้าง อาณาเขตใกล้และไกลกันก็ดี สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินต่างประพฤติตามราชประเพณี ย่อมนับถือว่าเป็นราชสัมพันธไมตรีและมิตรไมตรีซึ่งกันและกัน ต่างแต่งทูตานุทูตจำทูลพระราชสาร ส่งเครื่องราชบรรณาการไปมาจำเริญทางพระราชไมตรี เยี่ยมเยียนกันตามกำหนดมิได้ขาดทั้ง ๒ ฝ่ายฟ้า โดยน้ำพระทัยมิได้มีความรังเกียจว่าต่างชาติต่างภาษา ความสวัสดีจำเริญก็บังเกิดแก่พระมหานครบรรดาซึ่งเป็นทางไมตรีกันนั้น อันว่าสมณชีพราหมณ์ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินก็อยู่เย็นเป็นสุข ลูกค้าพานิชก็ได้ไปมาซื้อขายถึงกันโดยสะดวก หาความวิบัติอันตรายสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ บ้านเมืองก็บริบูรณ์ไปด้วยสรรพสิ่งของเครื่องใช้สอยต่างๆ มีเงินและทองเป็นต้น นรชนชาติภาษานานาประเทศทั้งปวงก็เล่าลือสรรเสริญพระเกียรติยศ มีความนิยมยินดีชักชวนกันมาสู่พระบรมโพธิสมภารสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทุกปีเดือนมิได้ขาดโดยนิยมดังนี้


และพระนครราชธานีใหญ่น้อยบรรดามีในสกลชมพูทวีปทั่วไปนั้น กาละบัดนี้พระบวรพุทธศาสนาพระสัมมาสัมพุทธสัพพัญญูเจ้า ยังประดิษฐานตั้งอยู่เป็นอันดีนั้นน้อย ซึ่งเสื่อมสูญอันตรธานเสียแล้วนั้นมีโดยมาก เหตุด้วยพระเจ้าแผ่นดินและประชาชนชาวชนบทประเทศทั้งปวง ยังนับถือพระรัตนัตตยาธิคุณเป็นสัมมาทิฐินั้นประมาณสักส่วนหนึ่งสองส่วน เป็นมฤจฉาทิฐิเชื่อถือลัทธิครูต่างๆ นั้น คณนานับได้สัก ๙ ส่วน ๑๐ ส่วนโดยประมาณ

สรรเสริญพระเกียรติสมเด็จพระร่วงเจ้า

แต่นี้พึงจะกล่าวสรรเสริญพระเกียรติยศสมเด็จพระร่วงเจ้า อันถวัลยราชไอศูรย์สมบัติ เป็นบรมกษัตริย์อันประเสริฐปราบดาภิเษกเสวยราชย์ ณ กรุงพระมหานครสุโขทัยราชธานีบุรีรมย์สถาน เป็นปิ่นอาณาประชาราษฎรชาวชนบทนิคมคามสยามประเทศทั้งมวญ มีเมืองขึ้นออกเอกโทตรีจัตวาช่วงเมืองกิ่งเมือง แผ่ผ่านพระราชอาชญาอาณาเขตขอบขัณฑสีมากว้างขวางนับด้วยโยชน์ยิ่งกว่า ๑๐๐ มั่งคั่งไปด้วยสมณชีพราหมณ์ ชนประชาชายหญิงอยู่เป็นภูมิลำเนาติดต่อกันไปโดยระยะย่านบ้านเมือง สร้างสมสวนผลไม้ไร่นาและที่ทำกินต่างๆ เป็นผาสุกสบายทุกทั่วหน้าปราศจากพาลภัยอันตรายมีโจรเป็นต้น แล้วก็งามไปด้วยหมู่ลูกค้าพานิชจีนจามแขกฝรั่ง อเนกนานาประเทศภาษาต่างๆ ตั้งตึกเตี้ยมบ้านเรือนโรงร้านพ่วงแพเป็นถ่องแถวตามวิถีสถลมารค ซื้อขายสรรพสิ่งของเครื่องทองเงินแก้วเนาวรัตน์อลังการาภรณ์ ทั้งพรรณผ้านุ่งห่มควรแก่บุรุษสตรีมีหลายอย่าง ผ้าสุพรรณพัสตร์ ผ้าลิขิตพัสตร์ ผ้าจินะกะพัสตร์ ผ้าตะเลงพัสตร์ ผ้าเทวะครี ผ้ารัตครี ผ้าเจตครี และพรรณภาชนะเครื่องใช้สอยต่างๆ อันควรกับตระกูลทั้ง ๑๐ ตระกูล ก็มีซื้อขายแก่กันเป็นอันมากกว่ามาก บริบูรณ์ไปด้วยโภชนามัจฉะมังสาผลาหารของพุงจะบริโภคโอชารสอันมีมาแต่ประเทศต่างๆ ก็ซื้อขายเต็มไปในท้องตลาดพศาลทุกแห่งทุกตำบล บรรดาลูกค้าพานิชในประเทศก็ดี นอกประเทศก็ดี ที่ไปมาค้าขาย ณ จังหวัดแว่นแคว้นกรุงเทพพระมหานครสุโขทัยราชธานีนั้น ย่อมบรรทุกสินค้าไปมาด้วยสลุบกำปั่นเภตราสัดจองเกวียนโคเกวียนกระบืออานช้างอานอูฐ ต่างม้าต่างล่อต่างลา เรือถ่อเรือพายเรือแจวเรือกรรเชียงเรือแล่นเรือโล้ บ้างก็ไปบ้างก็มาทุกฤดูเดือนมิได้ขาด

ว่าด้วยตระกูลต่างๆ

อันไพร่ฟ้าประชาชาวนิคมคามทั่วแว่นแคว้นเมืองขึ้นออกก็ดี และในราชธานีก็ดี ย่อมนับกันเป็นตระกูลประพฤติตามโปราณาจารย์สืบๆ ต่อมา อันตระกูลฝ่ายทหารนั้นมี ๔ ตระกูล คือทหาร บกตระกูล ๑ ทหารเรือตระกูล ๑ ทหารช้างตระกูล ๑ ทหารม้าตระกูล ๑ ฝ่ายพ่อเรือนก็มี ๔ ตระกูลเหมือนกัน คือ ตระกูลพราหมณ์ ๑ ตระกูลเศรษฐี ๑ ตระกูลพ่อค้า ๑ ตระกูลชาวนา ๑ แต่คหบดีตระ กูลนั้นมีทั้งฝ่ายทหารฝ่ายพ่อเรือน บรรดาตระกูลซึ่งกล่าวนี้ แม้จะแต่งการอาวาหะวิวาหะมงคล ก็ตกแต่งกันแต่ตามตระกูล จะได้กระทำมงคลการให้ต่างชาติตระกูลไปนั้นหามิได้ แต่ฝ่ายบุรุษซึ่งเป็นคนมีทรัพย์สมบัตินั้น ย่อมหาอนุภริยาด้วยสินจ้างสินถ่ายไว้เป็นบริวารยศ แม้มีบุตรธิดาก็นับเป็นตระกูลบิดาฝ่ายเดียว อันว่าฝ่ายสตรีภาพนั้น แม้เป็นคนบริบูรณ์ด้วยทรัพย์ ผู้ใดน้ำจิตเลโลลุอำนาจแก่กามคุณไปร่วมสังวาสด้วยบุรุษสินจ้างสินถ่าย ซึ่งใช้สอยการงานในบ้านเรือนก็ดี และเป็นหญิงงามเมืองก็ดี อันบุตรธิดาของหญิง ๒ จำพวกนี้ มหาชนมีความรังเกียจนัก เรียกว่าคนอนาจารย่อมจ้างถ่ายไปใช้เป็นคนเลี้ยงช้างม้าโคกระบือซักตากผ้าผ่อนเก่าเสียโดยมาก


หนึ่งโสดอันว่าขัตติยตระกูลนั้น เป็นตระกูลสูงศักดิ์ประเสริฐกว่าตระกูลทั้งปวง ถ้าจะแต่งการอาวาหะวิวาหะมงคลกับตระกูลใดๆ ก็ได้ มหาชนไม่มีความรังเกียจ ย่อมนับถือขัตติยะตระกูลสิ้นด้วยกัน เหตุดังนั้นขัตติยะชาติจึ่งเจือไปในตระกูลทั้งเก้าตระกูล แต่ทว่าบุตรธิดาก็นับเป็นตระกูลบิดาฝ่ายเดียวดุจกัน


ในสมัยนั้นนรชาติชายหญิงสิ้นทั้งมวล ย่อมมีความผาสุกสบายด้วยอำนาจฤดูโลกธรรมดา เป็นไปโดยเสมอมิได้ยิ่งมิได้หย่อน พยาธิโรคาก็เบาบาง หมู่มนุษย์ก็ประกอบไปด้วยสติปัญญาโดย มาก ต่างร่ำเรียนสรรพวิชาต่างๆ ฝ่ายทหารก็เรียนรู้ศิลปะศาสตร์เพลงอาวุธ คือวิชาช้างม้ากระบี่กระบองโล่ดั้งดาบสั้นดาบยาวกฤชกั้นหยั่นโตมรศรกำทราบปืนไฟใหญ่น้อยมวยปล้ำ ตำรับตำราพิชัยยุทธเวทมนต์คงกระพันชำนิชำนาญเป็นอันดี บรรดาพวกพ่อค้าเรือนก็ต่างเล่าเรียนคัมภีร์ไตรเพทไตรวิชา คือบทกลอนกลกลอนทำนุกทำเนียบอักขระอักษรครุลหุสูตรกรณฑ์สูตรฉวางค์ ตำรับโหราศาสตร์ทักษาพยากรณ์สมผุษอินทพาฬบาทจันทร์สารำ อาจรู้จักราศีดาราฤกษ์นพเคราะห์สุริยคราธจันทรคราธโดยพิสดาร บ้างก็เรียนรู้เวชกรรม คือโอสถแพทย์สำพันธแพทย์เนตรแพทย์วรรณโรคแพทย์อาคมะแพทย์อุรุคะแพทย์ บางพวกก็เรียนวิชาเป็นช่างสุวรรณหิรัญรัตน์วัฒกีวาดเขียนแกะจำหลักปั้นกลึงหล่อหลอม สรรพวิชาช่างต่างๆ ชำนิชำนาญโดยมาก ฝ่ายสตรีก็ต่างร่ำเรียนวิชาช่างสุวรรณลายแล่นเลขาแกะปั้นปักทอร้อยกรองเย็บย้อยเป็นที่ทำกิน เกษมสุขทุกทั่วหน้า


นรชาติชายหญิงบ้างก็เล่นพนันทายบุตรในครรภ์ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย เล่นโคชนโคเกวียนคนแล่นรอบแล่นธงคลีช้างคลีม้าคลีคนเป็นตามนักขัตฤกษ์ บ้างก็เล่นระเบงปี่ระเบงกลองฟ้อนแพนขับพิณดุริยางค์บรรเลงเพลงร้องหนังรำระบำโคมทุกวันคืนมิได้ขาด เอกเกริกไปด้วยสำเนียงนิกรประชาเสสรวลสำรวลเล่นและซื้อขายจ่ายแจก จนราษราตรีมัชฌิมยามจึ่งค่อยสงัดเสียง

ว่าด้วยวัถตุในพุทธศาสนา

แล้วก็รุ่งเรืองไปด้วยพระบวรพุทธศาสนา รัตนัตตยาธิคุณอันเป็นนิยานิกธรรม อาจนำสัตว์ให้พ้นจากวัฏทุกข์ ถึงซึ่งสวรรค์นิพพานด้วยเนื้อนาบุญ และในจังหวัดพระนครก็ดี แขวงเมืองขึ้นออกทั่วนิคมคามก็ดี พื้นภูมิภาคปถพีย่อมแน่นเนื่องไปด้วยมหาอาวาสสังฆารามใหญ่น้อยนับบ่มิถ้วน เป็นราชอารามก็มี ขัตติยารามก็มี คหบดีรามก็มี กูลประชารามก็มี มีวัดหน้าพระธาตุราชบุรณะเป็นต้น และพระราชอารามหลวง และพระอารามต่างๆ ซึ่งไพศาลกว้างใหญ่นั้น ย่อมประดับไปด้วยไม้พระมหาโพธิและพระวิหารการเปรียญ พระมหาสถูปเจดีย์สูงใหญ่ยิ่งกว่าร้อยศอก แล้วก็ล้อมด้วยพระวิหารยาว มณฑปทิศสถูปรายแวดวงด้วยเสาไต้ไพทีซุ้มทวาร มีศาลารายเป็นระยะตามขอบกำแพงชั้นนอก เป็นที่ประชุมบรรพษัท ซึ่งไปกระทำสักการบูชาดูเดียรดาษเยียดยัดไปด้วยเสนาสนะกุฎิสงฆ์ ล้วนกระทำด้วยอิฐปูนเป็นหมู่เป็นแถว มีทั้งที่จงกรมที่สบายกลางคืนกลางวัน หอฉันหอปริตหอสัทธรรมมนเทียรโรงควงโรงกรักโรงน้ำร้อนน้ำเย็น ซุ้มน้ำสรงน้ำชำระเท้า ส้วมสระบ่อตะพานข้ามคูคันคณะปักเสาหงส์ขงปฏาก ปลูกพรรณไม้ดอกผลร่มรื่นพื้นลานลาดด้วยแผ่นศิลาเลี่ยนสะอาดตา มีพระอุโบสถสังฆกรรมผูกพัทธสีมาไว้ในระวางบริเวณคณะสงฆ์ กว้างยาวยี่สิบห้าห้องวิจิตรไปด้วยซุ้มทวารบานประตูหน้าต่าง ฝาพนังพิดานดอกอัจกลับวาดเขียนล้วนลายสุวรรณ เป็นรูปเทพอินทรพรหมหมอสุรครุฑนาค และเครื่องพญาศักะมันธาตุราชพญามหาสุทัศน์จักรพรรดิ ราชาธิราชเป็นต้น อันว่าเจดียฐานและเครื่องประดับพระอารามทั้งมวลเป็นที่สุดจนศาลาและตะพาน ก็อร่ามไปด้วยแสงสุวรรณเลขาลวดลายจิตรกรรมลดากรรม ห้อยย้อยพนมพวงแก้วประทีปแก้วแสงประภัสสร ควรจะทอดทัศนายิ่งนัก และเชิงอัฒจันท์บันไดนั้น ก็กระทำด้วยศิลารายมีรูปไกรสร คชสีห์คชินทรพาชีโตสิงห์อสุรเสี้ยวกางกินนรล้วนหล่อด้วยทองประสม บ้างก็ทำด้วยศิลาวางไว้เป็นคู่ๆ ทุกๆ ทวารเข้าออก หนึ่งโสดควรจะอัศจรรย์ด้วยพระพุทธปฏิมากร ซึ่งประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถและพระวิหารใหญ่น้อย อันเป็นที่สักการบูชาทั่วไปทุกพระอาราม ย่อมหล่อด้วยตามพะโลหะ พระพุทธรูปเป็นประธานนั้น หน้าสมาธิกว้างยี่สิบศอกก็มี สิบหกศอกก็มี สิบสองศอกก็มี ยิ่งหย่อนอยู่ในระวางนี้ก็มี และพระพุทธสถารศสูงสี่สิบแปดศอกก็มี หย่อนลงมาในระวางจนสิบสองศอกก็มี อันพระพุทธปฏิมากรใหญ่ๆ ดั่งกล่าวนี้มีเป็นหลายพระองค์ และพระพุทธรูปน้อยๆ กับพระอรหันตรูปนั้น ย่อมมีเป็นอันมากกว่ามากเหลือที่จะนับจะประมาณ บางพระองค์ก็หล่อด้วยตามพะโลหะ บางพระองค์ก็กระทำด้วยศิลาทั้งแท่ง ล้วนแต่งามด้วยพระพุทธลักษณะ แล้วก็ย้อมไปด้วยสุวรรณแปดน้ำ รัศมีรุ่งเรืองสถิตบัลลังก์ทอง ควรจะเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาแก่ผู้ได้นมัสการ


อนึ่งอันว่าพระกุลบุตรพุทธชิโนรสสังฆรัตนะ คามวาสี อรัญญาวสี สิ้นทั้งมวล ล้วนแต่ปฏิบัติตามพระวินัยบัญญัติประเสริฐด้วยศีลคุณ ธุดคคุณ กิจจะสมคุณ ต่างเล่าเรียนคันถธุระ วิปัสนาธุระ ที่มีพระวรรษาอายุเป็นพระมหาเถรท่านรอบรู้ในข้อวัตรปฏิบัติ ก็ได้เป็นพระอุปัชฌาย์อาจารย์สั่งสอนภิกษุสามเณร มีอันเตวาสิกสัทธิงวิหาริกนับด้วยสิบด้วยร้อยเป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ พระภิกษุบางพระองค์ก็ทรงจำไว้ได้ ซึ่งพระองค์คัมภีร์พระวินัยปิฏกคัมภีร์หนึ่งบ้าง สองคัมภีร์บ้าง สี่ห้าคัมภีร์ก็มีบ้าง บางพระองค์ก็ทรงไว้ซึ่งพระสุตันตปิฏกสี่สิบห้าสิบพระสูตร ร้อยพระสูตร ยิ่งกว่าร้อยพระสูตรก็มีบ้าง บ้างก็ทรงไว้ได้ซึ่งพระอภิธรรมปิฏกนับด้วยสิบภาณวารบ้าง ยิ่งกว่าร้อยภาณวารบ้าง บางพระภิกษุก็เป็นพระวินัยธร บางพระภิกษุก็เป็นพระธรรมกถึก สำแดงพระสัทธรรมเทศนาไพเราะ อาจยังน้ำจิตบรรษัทให้มีประสาทโสมนัสศรัทธายิ่งขึ้นไปได้ร้อยเท่าพันทวี บรรดากุลบุตรในตระกูลทั้งปวง ก็ออกบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนาเป็นอันมากทุกเดือนปีมิได้ขาด ชนมฤจฉาทิษฐิบ้างก็เลื่อมใสมานับถือพระรัตนัตยยาธิคุณเป็นที่พึ่ง ให้บุตรนัดดาออกบวชเป็นภิกษุสามเณรก็โดยมาก อันพระบวรพุทธศาสนานั้นรุ่งเรือง พระรัตนตรัยก็บริบูรณ์ด้วยเครื่องสักกาบูชา และจตุปัจจัยซึ่งทานทายก มีพระมหากษัตริย์เป็นต้น บริจาคทรัพย์กัลปนาถวายไว้ในพระอารามใหญ่น้อยทั่วไป มิได้พระภิกษุสามเณรได้ความลำบากขัดสนด้วยกับปิยของฉันไตรจีวรและบริขารต่างๆ ว่าด้วยลัทธิของพราหมณ์


ประการหนึ่งพราหมณาจารย์อันทรงประวิตรกุณฑลธุรำ ซึ่งมีชาติและตระกูลมิได้เจือ ก็ย่อมวิเศษด้วยไตรเพทเวทมนต์ รู้ลักษณผูกพรตกระทำการพระราชพิธีทั้งสิบสองเดือน เพื่อให้สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงพระจำเริญในราชสมบัติปราศจากภยันตราย อันว่าพระมหากษัตริย์ขัตติยะราชตระกูลก็ดี และนรชาติชายหญิงตระกูลทั้งหลายก็ดี และนรชาติประชาชายหญิงตระกูลทั้งหลายก็ดี ย่อมเชื้อเชิญพราหมณ์หมู่นี้ไปในกาลมงคลต่างๆ มีการทำอวาหะมงคลเป็นต้น พราหมณ์ก็บันลือเสียงสังข์รดน้ำอ่านอิศวรเวทวิษณุมนต์อวยชัยให้พรโดยคัมภีร์ไสยศาสตร์ แล้วก็รับเอาเครื่องสักการะ คือทรัพย์อันเป็นแก่นสารควรแก่พราหมณ์จะพึงบริโภคใช้สอย หนึ่งโสดสมเด็จพระมหากษัตราธิราชเจ้า กับหมู่พราหมณ์ชาติทั้งปวงย่อมสร้างสถานที่เทวรูปไว้ในราชธานี และนิคมคามเมืองขึ้นออกเป็นหลายแห่งหลายตำบล อันพระเทวสถานนั้นมีสามอย่าง คือสถานพระสยมภูวนาถนั้นหนึ่ง สถานพระนารายณ์นั้นหนึ่ง สองเทวสถานนี้พราหมณ์พิธีทั้งห้าชาติ มีชาติไวย ธึกเป็นต้น ย่อมนับถือกระทำสักการบูชา และสถานพระเทวกรรมอีกสถานหนึ่งนั้น เป็นที่นับถือแห่งพราหมณ์ชาติพฤฒิบาศ ย่อมกระทำสังเวยบวงสรวงตามตำรับพระคชกรรม อันสถานเทวรูปทั้งสามสถานดังกล่าวนี้ ก็ย่อมวิจิตรไปด้วยเลขาเขียนวาดเป็นลวดลายต่างๆ มีศาลารายเป็นที่อาศัยและโรงมานพ สำหรับพราหมณ์ทั้งหลายนั่งสาธยายมนต์ แล้วก็แวดวงไปด้วยกำแพงแก้วเป็นบริเวณวัดพื้นลานราบรื่นโรยทรายพรรณอันขาว ปลูกต้นพฤกษ์เวฬูเป็นพญาไม้ ปลูกต้นชุมแสงต้นระงับเป็นไม้บริวาร ปลูกทั้งพรรณไม้ดอกเจ็ดอย่างไว้บูชาในการพิธีทุกๆ แห่ง และพระเทวสถานแห่งใดที่กว้างขวางเป็นสถานใหญ่ ก็มีศิลากระทำเป็นไกรลาศบรรพต มีรูปศิวลึงค์ตั้งอยู่บนยอดภูผา ล้วนหล่อด้วยทองสัตตะโลหะสูงแปดศอกบ้าง สิบศอกบ้าง ในเชิงบรรพตนั้นก็ล้อมด้วยเขื่อนเสาศิลามีลายและสีต่างๆ แล้วก็มีปัญจมหาสระน้ำใสสะอาด ปลูกบัวสัตตบุษสระหนึ่ง บัวสัตตบรรณสระหนึ่ง บัวเผื่อนสระหนึ่ง บัวลินจงสระหนึ่ง บัวจงกลนีสระหนึ่ง สำหรับพราหมณ์เชิญปัญจมหานทีมีเบญจประทุมลอย มาสรงพระเป็นเจ้าแล้วและรินน้ำลงสู่สังข์นำไปรดมหาชนซึ่งกระทำมงคลต่างๆ และพระเทวรูปซึ่งพราหมณ์ทั้งหลายนับถือนั้น คือพระปรเมศวร พระพิฆเณศวร พระวิษณุจักร พระอุมาภควดี พระลักษมี พระมเหศวรี พระเทวกรรม พระศรัทธาสิทธิ์ พระอิษีสิงค์ พระไพศพ พระพลเทพ และเทวรูป มีพระนามนอกจากนี้ก็ยังมากโดยคัมภีร์ปางต่างๆ มีปางพระปรเมศวรเหยียบมงกุฎพรหมและมูลาคนีเป็นต้น ล้วนแต่หล่อด้วยทองเนาวะโลหะ สัตตะโลหะ ที่ใหญ่นั้นสูง ๕ ศอก ๖ ศอก ที่เล็กนั้นประมาณเท่าผลสะบ้าวานร ในระวางใหญ่และเล็กนั้น ก็มีโดยมาก จะกำหนดศอกนิ้วนั้นมิได้ อันพระเทวรูปนี้ มหาชนชาติสยามภาษาสัมมาทฤษฐิเรียกว่าพระไสยศาสตร์ บางคนก็นับถือ บางคนก็มิได้นับถือ

ว่าด้วยลัทธิศาสนาอื่นๆ

หนึ่งโสดของพวกมฤจฉาทฤษฐิชาติภาษาต่างๆ ก็กระทำที่สักการบูชาอันควรแก่นับถือของตนไว้ในเขตแคว้นพระนครก็เป็นหลายแห่งหลายตำบล บรรดาพวกจีนห้อ จีนตาดก็ชุมนุมกันสร้างศาลเทพารักษ์ใหญ่บ้างเล็กบ้าง ย่อมตกแต่งผนังหลังคาเขียนลวดลายต่างๆ ตามภาษาของตน แล้วก็ทำรูปจังเหว็ดวางไว้ในศาลทุกๆ ศาล ถึงเดือนปีก็เอาออกแห่แหนเป็นการเอิกเกริกตามชาติภาษา และพวกแขกฝรั่งก็ก่อสร้างปั้นหยาสุเหร่ากะฏี เป็นปริพาชการามวงล้อมด้วยกำแพงรอบบริเวณ มีศาลาและที่อาศรัยให้ยี่หว่านไส้หยัดบาทหลวงอยู่ บอกกล่าวตำรับตำราเล่าเรียนกันตามลัทธิภาษาของตนๆ ถึงฤดูเดือนปีก็เอาชำระ ขัดปั้นหยาซ่าด่าฝ้าระฝ้ากาดก้นคนออกแห่แหน เต้นรำตีกลองระฆัง อื้ออึงทั้งกลางวันกลางคืน ตามโคมประทีปเทียนสว่าง เป็นเครื่องประดับพระนครควรจะยังน้ำจิตประชาราษฎรให้รื่นเริงเป็นผาสุขสิ้นกาลทุกเมื่อ

ว่าด้วยสถานที่ต่างๆ ที่เมืองสุโขทัย

อันกรุงพระมหานครสุโขทัยราชธานีบุรีรัตนนั้น กว้างใหญ่ไพศาลมีแม่น้ำรอบเมือง ป้อมกำแพงเชิงเทินซุ้มทวารบานประตู แน่นหนาสูงตระหง่าน อาจกันเสียซึ่งข้าศึกศัตรู มีปืนใหญ่วางประจำช่องสีมาทหารรักษาอยู่โดยรอบ มีคลองน้ำลำหลอดก็หลายสาย ทำตะพานช้าง ช่องเรือเดินสามช่องบ้างสี่ช่องบ้าง ตามคลองกว้างและแคบ ประดับด้วยตึกกว้านบ้านเรือนราชบุรุษคหบดี และรั้ววังลูกหลวงหลานหลวงราชตระกูลติดเนื่องกันไปเต็มทั้งฝ่ายในพระนคร มีโรงช้างโรงม้าโรงรถโรงเรือรบ ฉางข้าวฉางเกลือ คลังลูก คลังดิน คลังส่วย คลังการเรือนตรุเรือนตะราง เรือนไชยเภรี จวนกลาง จวนประจำกอง จวนทวารเวียงสถานพระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระหลักเมือง มีศาลหลวงกระทรวงความ ศาลหน้าพระกาล ลานสนามหลวงสำหรับประลองช้างม้า ซ้อมหัดนิกรทวยหาญให้ชำนิชำนาญในการศึกสงคราม


อันพระราชนิเวศน์วังสถานนั้น มีปราการป้อมประตูชั้นในชั้นนอก ประดับด้วยสิบสองพระคลัง มีพระคลังเงินทองแก้วเก้านวรัตน พระคลังสรรพพรรณผ้า เครื่องอุปโภคบริโภคเป็นต้น มีจวนสนามมาตยา จวนประจำเวร จวนประจำซอง ทิมแถวทิมท้องฉนวน ทิมองครักษ์ ตึกตำแหน่งพระเครื่องต้น เครื่องพระอภิรมย์ เครื่องราชูปโภค ตึกตำแหน่งช้างต้นม้าต้น ราชยานราเชนทร์ โรงปืนใหญ่ปืนยาว มีตำแหน่งชื่อเสียง หนักร้อยหาบ สองร้อยหาบ ห้าร้อยหาบ พันหาบก็มี อันปรางค์ปราสาทราชมนเทียรสถานเป็นที่สมเด็จพระร่วงเจ้าเสด็จทรงสถิตอยู่นั้น มีจัตุรมุขสี่ด้านๆ หน้านั้นมีพระที่นั่งมุขกระสัน ติดเนื่องกันกับสนามมาตยาหน้ามุขเด็จ ขนานนามเรียกว่าพระที่นั่งอินทรา- ภิเษก มีโรงระบำอยู่กลางชลาหน้าพระลาน วงด้วยไพทีบริสุทธิ์ ย้อมน้ำมันทองคู ประดับด้วยของทรงประพาสต่างๆ มีไม้ดีดปลูกกระถางทองเป็นต้น ฝ่ายขวาพระที่นั่งอินทราภิเษกมีมณฑปปริตอาคม ฝ่ายซ้ายมณฑปอิศวรอาคม และหน้ามุขปรางค์ปราสาทซ้ายขวาสองด้านนั้นเป็นที่ข้างใน เบื้องขวามีมนเทียรปฏิมามณฑป ฝ่ายซ้ายมีมนเทียรเทพบิดรมณฑป มุขหลังปรางค์ปราสาทนั้น มีมุขกระสันติดเนื่องกันกับพระราชมนเทียรทั้งสองสถาน จึ่งขนานนามเรียกว่าพระที่นั่งอดิเรกภิรมย์ พระที่นั่งอุดมราชศักดิ์ เบื้องขวามีหอพระนารายณ์ เบื้องซ้ายมีหอพระเทวกรรม แล้วก็มีพระปรัศว์ทั้งสองเป็นลำดับพระที่นั่งพระปรัศว์ขวา ขนานนามเรียกว่ารัตนนารีมนเทียร พระปรัศว์ซ้ายเรียกว่าศรีอัปสรมนเทียร มีจวนเครื่อง จวนคลัง จวนชาวแม่ ประจำเวรตึกตำแหน่งพระสนมเอก ลูกหลวง หลานหลวง ราชตระกูล นักสนม กำนัล นางบำเรอ เป็นหมู่เป็นแถวตามท้องสถลมารคร้อยยี่สิบสาย หน้าตึกมีจวนเย็นสำหรับนั่งร้อยกรองวาดเขียนขับร้องเล่นเป็นที่สบายทุกตำแหน่งนางใน มีทิมรายทิมรอบ จ่าชาประจำซองรักษา ด้านทางกระท่อมไพร่ใช้งานขาดการกวาดถนนหนทางเป็นต้น มีเรือนจำสำหรับพระสนมกำนัล ต้องพระไอยการมิควรจะส่งราชมัน และมีทางท้องพระฉนวนอยู่สี่พระฉนวนๆ ๑ ออกวัดหน้าพระธาตุ ฉนวน ๑ ออกพระเทวสถาน ฉนวน ๑ ออกพระที่นั่งไชยชุมพล เป็นที่ทอดพระเนตรการพระราชพิธีและแห่แหน ฉนวน ๑ ลงพระที่นั่งชลพิมาน เป็นที่สบายเมื่อเทศกาลฤดูน้ำ แล้วมีราชอุทยานอยู่ในพระนิเวศน์แห่งหนึ่ง ปลูกแต่พรรณไม้ดอกผล อันวิเศษด้วยกลิ่นและรส ควรจะนำมาซึ่งความโสมนัสน้ำจิตพระสนมกำนัลทั้งปวง และมีพระที่นั่งพิศาลเสาวรสอยู่ปากสระแก้ว เป็นที่ทอดพระเนตรพรรณมัจฉาชาติต่างๆ คือ ปลาหน้าคน เป็นต้น มีศาลาธาระกำนัล ๔ ศาลา สำหรับนางในนั่งร้อยกรองบุบผชาติบูชาพระรัตนตรัยและพระเทวรูปเป็นนิจ อันว่าปรางค์ปราสาทราชมนเทียรสถาน คือพระที่นั่งอินทราภิเษก อดิเรกภิรมย์ อุดมราชศักดิ์ และพระที่นั่งไชยชุมพล ชลพิมาน พิศาลเสาวรสก็ดี พระปรัศว์ทั้ง ๒ คือ รัตนนารี ศรีอัปสร ก็ดี มณฑปพระพุทธรูปและพระเทวรูปก็ดี ตำตำแหน่งเรือนหลวงเรือนพระสนมกำนัลก็ดี แต่ล้วนวิจิตรไปด้วยลายปูนปั้น ลายจำหลักวาดเขียน ลงรักปิดทองแลอร่ามตา มีพระแท่นที่ฉากกั้นเครื่องปูลาดอาสนบัลลังก์กั้นเศวตฉัตร ห้อยย้อยด้วยระย้าประทีปชวาลาเครื่องราชูปโภคงามยิ่งนัก เรือนหลวงเรือนสนมก็ตกแต่งเตียงตั่งที่นั่งนอนเครื่องใช้สอยตามฐานาศักดิ์โดยตำแหน่งยศทุกๆ นางใน ดังกล่าวนี้แท้จริง


ข้าพระองค์ผู้ชื่อศรีจุฬาลักษณ์ น้อมเศียรศิโรตม์กราบถวายบังคมพระบาทบรมนาถบพิตรสมเด็จพระร่วงเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณแก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเหลือที่จะบรรยาย พระองค์ย่อมทรงซึ่งทศพิธราชธรรมมีน้ำพระทัยเมตตากรุณา กอบไปด้วยพระปัญญาสอดส่องในราชกิจการบ้านเมือง หยั่งเห็นสุขทุกข์ของอาณาประชาราษฎรทั่วทั้งขอบขัณฑสีมา มิได้เรียกร้องส่วยสาอากรให้เหลือ เกิน ชุบเลี้ยงท้าวพระยาข้าเฝ้าฝ่ายทหารพลเรือน และผู้รั้งเมือง ครองเมืองเอกโทตรีจัตวา บรรดาข้าราชบุรุษทุกกระทรวงพนักงานโดยฝีมือและความคิด ถ้าผู้ใดมีความชอบก็สักการะรางวัลให้ถึงขนาด แม้กระทำความผิดก็ลดหย่อนผ่อนโทษให้เบาลง บำรุงรักษาพระราชบุตรธิดาพระบรมราชวงศานุวงศ์ให้บริบูรณ์ด้วยศฤงคารบริวารยศ ทั้งพระอัครมเหสีพระสนมกำนัลก็พระราชทาน เครื่องอลังกาภรณ์ และเครื่องอุปโภคบริโภคตามยศฐาศักดิ์มิให้อนาทร เป็นที่สุดจนจ่าชาคนใช้ประจำการ ก็ได้ผ้านุ่งห่มเงินประจำขวบปีทั่วทุกตัวคนตามสมควร แล้วก็ทรงพระมหากรุณามีพระราชโอวาทสั่งสอนพระบรมวงศาข้าเฝ้าฝ่ายนอกและฝ่ายใน มิให้ผู้ใดเกียจคร้านกระทำทุจริตประพฤติน้ำใจพาลสันดาลโลภเบียดเบียนไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินให้ได้ความเดือดร้อน

ว่าด้วยพระราชจรรยาของสมเด็จพระร่วงเจ้า

อนึ่งโสดสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชศรัทธาทำนุบำรุงพระบวรพุทธศาสนาให้ถาวรวัฒนารุ่งเรือง ด้วยเอาน้ำพระทัยใส่ในการพระราชกุศลต่างๆ บริจาคพระราชทรัพย์แจกจ่ายสักการ บูชาพระรัตนตรัยเป็นอาวาสทาน เป็นธรรมทาน เป็นนิจจภัตรทาน เป็นสังฆทาน บุคลิกทาน เป็นนิจนิรันดร์ทุกวันคืนเดือนปีมิได้ขาด ทรงสถาปนาพระมหาเถรเจ้าผู้รู้ธรรมโดยยิ่ง ขึ้นสู่ที่สมเด็จพระสังฆราชามหาคณิศร เป็นประธานคามวาสีอรัญวาสีอธิบดีสงฆ์ ทั้งเจ้ามหาคณะโดยลำดับ สถาปนานามบัญญัติเถรมุนี มีฝ่ายคันถธุระ วิปัสสนาธุระ ถวายจตุปัจจัยเป็นไวยาวัจกร และทรงขอโอกาสเผดียงแก่พระภิกษุสามเณรทั่วไปให้บอกกล่าวเล่าเรียนธุระทั้งสอง อันเป็นอายุพระพุทธศาสนามิให้เสื่อมทราม แล้วก็ชี้ชวนราชบริษัทชายหญิงให้ยินดีในศีลทานการกุศล ซึ่งเป็นผลประโยชน์ในชั่วนี้ชั่วหน้า อนึ่งพระองค์ทรงสักการะแก่พราหมณ์ผู้ประพฤติพรหมพรตพิธี ด้วยพระราชทานรางวัลและการคารวะมิได้ลบหลู่ดูแคลน ย่อมดำรัสไต่ถามซึ่งเหตุและใช่เหตุอันจะพึงมีกับบ้านเมืองโดยนิมิตต่างๆ และมีพระกมลสันดานกอบไปด้วยอนิจลักษณะ ทรงสงเคราะห์แก่คนชราพยาธิอนาถาหาญาติมิได้ด้วยพระราชทรัพย์ ให้มีอาหารบริโภคและผ้านุ่งห่มทั่วทั้งพระราชอาณาเขต กับโปรดพระราชทานอภัยแก่ชีวิตสัตว์ ห้ามมิให้ผู้ใดฆ่าช้างม้าโคกระบืออันเป็นของมีคุณกับมนุษย์เป็นอันขาดทีเดียว เดชะผลอานิสงส์ซึ่งทรงสร้างสมกองการพระราชกุศลต่างๆ เป็นทฤษฐธรรมเวทนีย์ บันดาลให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระจำเริญสุขสวัสดิ์ เสวยสิริสมบัติบริบูรณ์ด้วยพระโชคลาภต่างๆ มีกุญชรเศวตและสุวรรณหิรัญรัตน์ แล้วก็รุ่งเรืองพระเกียรติยศ มีพระเดชเดชานุภาพแผ่ผ่านไปในเอนกนานาประเทศทั้งปวง มีแต่พระนครเป็นมหามิตรไมตรี จะได้มีเมืองเป็นข้าศึกศัตรูนั้นหามิได้ กรุงพระมหานครสุโขทัยราชธานีก็มีแต่ความเกษมสุข ประดุจเทพนครก็ปานกัน อันว่าพระบรมวงศาภิมุขมาตยาข้าทูลธุลีพระบาทฝ่ายหน้าฝ่ายใน และสมณชีพราหมณ์ลูกค้าพานิชราษฎรประชาชายหญิงไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินสิ้นทั้งมวล ต่างมีกมลจิตสวามิภักดิ์ซ้องสาธุการสรรเสริญพระเดชพระคุณอวยชัยถวายพรสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ทรงพระจำเริญสุขสิ้นกาลทุกเมื่อ และข้าพระองค์ชื่อศรีจุฬาลักษณ์ มิได้กล่าวความบรรยายว่า สมเด็จพระร่วงเจ้าจะเป็นสมมุติวงศ์และราชอสัม- ภินนวงศ์ดังฤา พระอัครมเหสีทั้งสองพระองค์นั้นจะเป็นประยูรวงศ์ดังฤา จะมีพระราชโอรสชายหญิงมากและน้อยเป็นดังฤา และพระบารมีบุญฤทธิศักดาเดชย่อมอัศจรรย์ในโลกเป็นดังฤานั้น ด้วยเหตุเห็นว่านักปราชญ์ผู้มีปัญญาท่านกล่าวพิสดารไว้แล้ว ถ้าผู้ใดจะใคร่รู้ใคร่ฟังจงไปเสาวนาในตำหรับจามเทวีวงศ์โน้นเทอญ ข้าพระองค์พึงใจจะกล่าวแต่ที่เป็นความสวัสดิจำเริญ แก่สตรีภาพทั้งปวงโดยเอกเทศให้พิสดาร

ประวัตินางนพมาศก่อนเป็นพระสนม

เบื้องหน้าแต่นี้จะพึงพรรณนาโดยอุปนิสัยสมบัติ ซึ่งข้าน้อยได้สร้างสมกองการกุศลมาแต่อดีตชาติ จึงตกแต่งรูปสิริวิลาศให้เป็นที่จำเริญตา ทั้งได้กำเนิดในตระกูลวงศ์อันสูงศักดิ์ บริบูรณ์ด้วยสมบัติและศฤงคารบริวารยศ กอบไปด้วยสติปัญญา ว่าจะกล่าวคำสุภาษิตตั้งตำรับ สหายเทวีวงศ์ไว้ในสยามประเทศ ให้จฤฐิติกาลอยู่ในโลกได้ชั่วฟ้าและดิน อันว่าบิดามารดาข้าน้อยนี้เป็นตระกูลพราหมณ์มหาศาลชาติเวลามเหศร์ ทั้งวงศาคณาญาติก็มีเป็นอันมาก นามบิดาชื่อ โชติรัตน์ นามมารดาชื่อ เรวดี สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินชุบย้อยบิดาข้าน้อยนี้เป็นพระมหาปโรหิต ตำแหน่งนามนั้นออกพระศรีมโหสถ ยศกมเลศครรไลหงส์ พงศ์มหาพฤฒาจารย์ มีเกียรติยศยิ่งกว่านักปราชญ์ราชบัณฑิตทั้งปวง ได้บังคับบัญชากิจการตกแต่งพระนคร มีทำการพระราชพิธี ๑๒ เดือนเป็นต้น และเมื่อข้าน้อยนี้ปฏิสนธิในครรภ์มารดาๆ นิมิตฝันว่า ได้เยี่ยมบัญชรพระเจ้าแผ่นดินชมแสงพระจันทร์อยู่จนตื่น บิดาฝันว่าพรรณดอกไม้ต่างๆ แย้มบานเกสรใช่ฤดูกาล หอมกลิ่นรวยรื่นไปทั่วทั้งจังหวัดพระนคร เหตุนิมิตดังนี้ท่านทั้งสองก็ได้ทำนายไว้ ว่าจะได้บุตรเป็นธิดา จะมีบุญวาสนาพร้อมด้วยสติปัญญาและเกียรติยศเป็นที่พึ่งแก่วงศ์ญาติได้เป็นแท้ วันข้าคลอดจากครรภ์มารดา พื้นอากาศก็ปราศจากเมฆ พระจันทร์ก็ทรงกลดแสงประภัสสรรัศมีขาวเจือสีเหลืองอ่อน เสวยฤกษ์บุษยวันเพ็ญเดือน ๓ ปีชวดสัปตศก จันทวาระดฤถี ซึ่งมีในกำหนดศักราชไว้ในที่นี้ ด้วยปีนั้นยังใช้โบราณศักราช สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินยังหาได้ลบศักราชตั้งจุลศักราชขึ้นใหม่ไม่ประการ ๑ หมู่ญาติสัมพันธ มิตรต่างมีน้ำใจเบิกบาน บ้างก็นำมาซึ่งดอกไม้ทอง สนอบเกล้าทอง จุฑาทอง ประวิตรทอง กุณฑลทอง ธุรำทอง วลัยทอง ของ ๗ สิ่งเฉลิมขวัญข้าน้อยนี้โดยมากกว่าของทั้งปวง พระศรีมโหสถผู้บิดาเห็นเป็นมงคลนิมิตประกอบกับลักษณะข้าน้อยอันมีฉวีวรรณเรื่อเหลือง ประดุจชโลมลูบด้วยแป้งสารภีทั่วทั้งกรัชกาย จึ่งให้นามกรข้าน้อยนี้ชื่อนพมาศ แล้วหยิบยกเอาสุวรรณ ๘ น้ำ ๑๐๐ ตำลึงออกให้เป็นของโลมขวัญ ทั้งท่านให้อาราธนาพะมหาเถรานุเถระ ๘๐ พระองค์ เชิญพระพุทธปฏิมากรมาประดิษฐานเป็นประธาน นิมนต์พระมหาเถรเจ้าจำเริญพระมงคลสูตร พระรัตนสูตร พระมหาสมัยสูตร ถ้วนคำรบ ๗ วัน ๗ ครั้ง เพื่อจะให้เป็นสวัสดิมงคลแก่ข้าน้อยนี้ แล้วท่านให้อัญเชิญพระครูพรหมพรตพิธีกับหมู่พราหมณาจารย์ ๖๐ คน ล้วนแต่ชำนาญในไตรเพทมาประชุมกันตั้งพระเทวรูป ประจำทิศ ทำการพิธีระงับสรพภัย พิธีชัยมงคล สิ้น ๓ ทิวาราตรีถ้วน ๓ ครั้ง ท่านถวายไทยธรรมแก่พระมหาเถรเจ้าให้บริบูรณ์ด้วยไตรจีวรสมณบริขารกับปิยะการก สิ้นๆ ทุกพระองค์ สักการะหมู่พราหมณ์ด้วยทรัพย์อันเป็นแก่นสารก็พอเพียง แล้วท่านอุทิศส่วนกุศลให้อุปถัมภ์บำรุงข้าน้อยผู้เป็นบุตร ให้เจริญชนมายุมีความสุขปราศจากโรคันตรายต่างๆ สิ้นกาลทุกเมื่อ อันผู้สำหรับอภิบาลบำเรอเลี้ยงข้าน้อยนี้ บิดามารดาท่านเลือกสรรเอาแต่คนดีมีศีลาจารวัตต์ ทั้งฉลาดในการวิชาช่างต่างๆ ให้พิทักษ์รักษาอยู่เป็นนิตย์จนข้าน้อยค่อยจำเริญรู้พูดรู้เล่น หมู่ชนซึ่งเป็นผู้เลี้ยง จะได้ให้เล่นสิ่งนั้นๆ เหมือนเด็กทั้งหลายหามิได้ สอนให้เล่นแต่ร้อยกรองวาดเขียน และชวนพูดเป็นกลบทกลกลอนเจือด้วยคำสุภาษิตทุกวันคืน จนข้าน้อยมีชนมายุได้ ๗ ขวบ พระศรีมโหสถผู้บิดาก็ให้เล่าเรียนอักษรสยามพากย์และอักษรสันสกฤตได้ชำนิชำนาญ แล้วจึ่งให้เรียนพระพุทธวัจนพอรู้ศัพท์รู้แปลตามกลประโยคที่ตื้นๆ แล้วท่านก็ให้เรียนคัมภีร์ไตรเพท ให้รู้ลักษณะเอกโทตรีจัตวา กากบาท ทัณฑฆาต ไต่คู้ ศษส ไม้ม้วน ไม้มะลาย ประวิสรรชะนี ฝนทอง ฟองดัน นฤคนิต ทีฆะรัสสะ สิถิลธนิต ครุลหุอักขระสระพยัญชระ เห็นรู้จะแจ้งเจนใจเป็นอันดี แล้วจึ่งสอนให้ตกแต่งกลบทกลกลอนพากย์โคลงฉันท์ลิขิต ไว้วางถ้อยคำสำนวนตามคตินักปราชญ์ ทั้งท่านให้เรียนคัมภีร์ไตรวิชาตามตำรับโหรา ศาสตร์ สอนให้ดูดาวนพเคราะห์นักขัตฤกษ์จนรู้ลักษณะทายร้ายและดี


แต่ข้าน้อยร่ำเรียนสรรพวิชาการทั้งมวล ตั้งแต่ ๗ ขวบจนจำเริญชนมายุได้ ๑๕ ปี ก็ถึงซึ่งชำนิชำนาญสิ้นเสร็จนับว่าเป็นสตรีนักปราชญ์ฉลาดรู้คดีโลกคดีธรรมในแผ่นดินได้คนหนึ่ง แท้จริงเบื้องหน้าแต่นั้น ท่านบิดามารดาก็มอบทรัพย์แสนตำลึงให้เพื่อประโยชน์จะได้เป็นสินสำหรับใช้สอยซื้อจ่ายเครื่องแต่งกาย และข้าน้อยนี้มีกมลจิตกอปร์ด้วยศรัทธาอุตสาหะบำเพ็ญทานการกุศล บริจาคทรัพย์ออกปฏิสังขรณ์เจดียฐานต่างๆ มีพระวิหารทานและสถานพระเทวรูปเป็นต้น อันว่าความเคืองเข็ญสิ่งหนึ่งสิ่งใดจะบังเกิดมีแก่ข้าน้อยนี้ก็หามิได้ อยู่ในตระกูลบิดามารดาเป็นผาสุขสบายสิ้นกาลเป็นนิจ


ฝ่ายว่าหมู่คณาญาติทั้งหลาย ซึ่งได้เห็นข้าน้อยนี้บริบูรณ์ไปด้วยสมบัติทั้ง ๓ คือรูปสมบัติ ปัญญาสมบัติ ทรัพย์สมบัติ ก็ชวนกันพูดจาสรรเสริญทุกเช้าค่ำ จนประชาชนชาวพระนครรู้กิตติ ศัพท์แพร่หลายเล่าลือต่อๆ กันไป มีทิศาปาโมกข์นักเลงขับผู้หนึ่ง คิดนิพนธ์ผูกป็นกลอนเพลงขับสรรเสริญข้าน้อยนี้ไว้ว่า

เพลงขับยอเกียรตินางนพมาศ

๏ พระศรีมโหสถยศกมเลศครรไลหงส์
มีธิดาประเสริฐเฉิดโฉมยงชื่ออนงค์นพมาศวิลาศลักษณ์
ละไมละม่อมพร้อมพริ้งยิ่งนารีจำเริญศรีสมบูรณ์ประยูรศักดิ์
เนื้อเหลืองเล่ห์ทองผ่องผิวพักตร์เป็นที่รักดังดวงจิตบิดรเอย ฯ
             
๏ โฉมนวลนพมาศเป็นนักปราชญ์ฉลาดด้วยบิดาสอน
ช่างกล่าวถ้อยมธุรสบทกลอนถวายพรพรรณนาพระพุทธคุณ
สารพัดจะพึงใจไปครบสิ่งเป็นยอดหญิงยิ่งธิดาทุกหมื่นขุน
แต่ก่อนปางสร้างกุศลผลบุญมาเกื้อหนุนให้งามวิไลเอย ฯ
             
๏ ดวงดอกอุทุมพรทั่วนครหายากฉันใดไฉน
จะหาสารศรีเศวตในแดนไพรยากจะได้ดังประสงค์ที่จงจินต์
จะหานางกัลยาณีนารีปราชญ์ประหนึ่งอนงค์นพมาศอย่าหมายถวิล
จะหาได้ในท้องพระธรณินทร์ก็ด้วยบุญเจ้าแผ่นดินอย่างเดียวเอย ฯ
             

เหตุที่นางนพมาศได้เป็นพระสนม

บรรดาหญิงชายนักเลงขับทั้งหลาย ต่างก็ขับพิณด้วยกลกลอนเรื่องสรรเสริญข้าน้อยดั่งนี้ทั่วไปทุกแห่งทุกตำบล ครั้นนานมาหมู่นางพนักงานบำเรอสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน ได้ฟังเพลงขับก็จำได้ เวลาวันหนึ่งนางบำเรอขับเพลงพิณขึ้นบำเรอโดยกลบทกลอนดั่งนี้ ขณะนั้นสมเด็จพระร่วงเจ้าได้ทรงสดับ จึ่งดำรัสถามนางบำเรอทั้งปวงว่าเพลงขับเรื่องนี้ผู้ใดตบแต่งให้ ได้มาแต่ที่ใดหรือ นาง บำเรอก็กราบทูลว่า ข้าพระองค์จะได้ทราบว่าผู้ใดนิพนธ์ผูกเพลงขับเรื่องนี้นั้นหามิได้ แต่ข้าพระ องค์ได้ฟังหญิงขับนอกพระราชฐานเข้ามาขับก็จำได้ จึ่งขับถวายด้วยสำคัญใจว่าไพเราะ สมเด็จพระร่วงเจ้าก็ทรงดุษฎีภาพนิ่งอยู่ แล้วก็พระราชทานรางวัลเป็นต้น ว่าเครื่องแต่งกายให้นางพนักงานบำเรอทั้งปวงตามสมควร


อยู่มาวันหนึ่งเป็นเวลาราตรีพระจันทร์ส่องแสงสว่าง สมเด็จพระร่วงเจ้าเสด็จยังพระที่นั่งพิศาวเสาวรสในพระราชอุทยาน ทรงประพาสพรรณดอกไม้อันมีกลิ่นรวยรื่นด้วยพระพายรำเพยพัดสำราญราชหฤทัย จึงดำรัสสั่งให้นางพนักงานบำเรอขับเพลงพิณเรื่องสรรเสริญรูปศรีวิลาศธิดาพระศรีมโหสถถวายจนสิ้นบท แล้วจึงมีพระราชบัญชาตรัสถามนางท้าวชาวชะแม่ทั้งปวง ว่าเพลงขับดังนี้ผู้ใดจะยังรู้บ้างว่าพระศรีมโหสถมีธิดาประกอบไปด้วยรูปลักษณะ และฉลาดรู้สรรพวิชาต่างๆ ดังนี้จริงและหรือๆ จะเป็นผู้ซึ่งผูกเพลงขับแสร้งประดิษฐ์สรรเสริญให้แต่พอไพเราะแก่โสตมหาชน


ขณะนั้นท้าวจันทรนาถภักดี ผู้เป็นใหญ่ในชะแม่จ่าชาจึงกราบบังคมทูลว่า ข้าพระองค์ทราบอยู่ว่าพระศรีมโหสถมีธิดารูปงามคนหนึ่งฉวีวรรณเรื่อเหลือง บิดาจึ่งให้นามชื่อนพมาศ มีอายุได้ ๑๕ ปีปลาย เรียนรู้ไตรเพทไตรวิชาเฉลียวฉลาด มีมารยาทเป็นอันดีพร้อมด้วยศีลาจาวัตต์ ควรจะเป็นพระสนมกำนัลอยู่ในพระราชฐาน ผู้นิพนธ์ขับเพลงจะได้แสร้งสรรเสริญแต่พอเพราะเหมือนเพลงขับต่างๆ นั้นหามิได้


สมเด็จพระร่วงเจ้าครั้นได้ทรงสดับทราบดังนั้น จึ่งดำรัสสั่งท้าวจันทรนาถภักดี ว่าจงนำธิดาโชติรัตน์ผู้เป็นพระศรีมโหสถ มาไว้เป็นนางพระสนมอยู่ในพระราชวังให้เป็นเกียรติยศแก่บิดาเถิด


ท้าวจันทรนาถภักดีก็รับพระราชบัญชา ไปสั่งออกญามณเฑียรบาลวัง ให้มาแจ้งความแก่พระศรีมโหสถผู้บิดาข้าน้อยนี้โดยพระราชบริหาร

พระศรีมโหสถสมโภชนางนพมาศ

ครั้นพระศรีมโหสถได้ทราบประพฤติเหตุดังนั้น ก็มีความอาลัยในข้าน้อยผู้ธิดานี้ยิ่งนัก แต่ทว่าได้เห็นนิมิตแต่หลังรู้อยู่ว่าธิดาคนนี้เกิดสำหรับบุญบารมีเป็นบาทบริจาพระมหากษัตริย์ จึงมิได้คิดที่จะแก้ไขเกียดกัน ท่านจึงกำหนดวันอันเป็นมงคล ต้องด้วยชะตาราศีข้าน้อยนี้กับราชบุรุษ ว่าจะนำนางนพมาศผู้ธิดา ขึ้นทูลถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยพระราชหฤทัยประสงค์ แล้วท่านบิดามารดาก็จัดแจงการซึ่งจะให้เป็นสวัสดิ์จำเริญแก่ข้าน้อยผู้เป็นธิดาโดยความรัก เป็นต้นว่าให้ตั้งน้ำวงด้ายอาราธนาพระภิกษุสงฆ์ มาจำเริญพระปริตรรดน้ำพระพุทธมนต์ เพลาเช้าก็อังคาสพระภิกษุสงฆ์ด้วยโภชนิยะขาทะนิยะ แล้วให้ข้าน้อยถวายชัยทานอันประณีตแก่พระสงฆ์เจ้าเป็นอันมาก อนึ่งโสตท่านให้อัญเชิญหมู่พราหมณาจารย์ มาบันลือเสียงสังข์อ่านอิศวรเวทวิษณุเวทให้ข้าน้อยนั่งเหนือตั่งไม้ชัยพฤกษ์ ผันหน้าต่อบูรพทิศเสียดแซมซ้องผมด้วยใบชุมแสง ทัดทรงใบพฤกษ์เวฬู สองเท้าเหยียบไม้ระงับ หมู่พราหมณ์ก็นำปัญจมหานทีอันลอยด้วยเบญจอุบล โสรจสรงพระเทวรูปแล้วและเชิญขึ้นสู่สังข์ มารินรดกรัชกายข้าน้อยนี้ เพื่อจะให้เป็นสวัสดิมงคล ครั้นแล้วท่านบิดาก็ให้เงินและทองของต่างๆ แก่พราหมณ์ทั้งหลายเป็นเครื่องบูชาสักการะ อนึ่งท่านบิดามารดาให้เชื้อเชิญหมู่ญาติและมิตรมาประชุมกันในเคหะสถานพรักพร้อมแล้ว ท่านจึงให้ข้าน้อยนี้กระทำเคารพนบไหว้ บรรดาหมู่ญาติและมิตรของบิดาก็อวยชัยให้พรแก่ข้าน้อย ว่าแม่จะไปอยู่ในพระราชนิเวศน์วังสถานเป็นบาทบริจาริกสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน ให้มีแต่ความผาสุกสบายๆ อิริยาบถ ปราศจากทุกข์ภัยไข้เจ็บและอันตรายต่างๆ จงมีบุญวาสนาภิญโญยิ่ง ให้ได้เป็นที่พึ่งแก่ฝูงญาติ เป็นเกียรติยศปรากฏชื่อเสียงไปทั่วกัลปาวสาน ข้าน้อยก็น้อมเศียรเกล้าลงคำนับรับพรด้วยน้ำจิตโสมนัสยินดี

พระศรีมโหสถลองปัญญานางนพมาศ

ขณะนั้นพระศรีมโหสถผู้บิดาปรารถนาจะลองปัญญาข้าน้อยนี้ ในที่ประชุมแห่งญาติและมิตรทั้งปวง จึงว่าดูกรนางนพมาศ อันสกุณชาติชื่อว่านกเบญจวรรณนั้นย่อมประดับด้วยขน มีสีห้าสีอยู่ยังป่าใหญ่ ครั้นมนุษย์ได้มาเลี้ยงไว้ในนิคมคาม หมู่มหาชนก็ชวนกันรักใคร่นกเบญจวรรณว่างามด้วยสีห้าสี ซึ่งเจ้าจะจากเคหาเหย้าเรือนไปอยู่ในพระราชนิเวศน์ ยังจะประพฤติตนให้นางท้าวชาวชะแม่พระสนมกำนัลสิ้นทั้งพระราชฐานรักใคร่ตัวได้และหรือ


ข้าน้อยก็สนองคำบิดา ว่านกเบญจวรรณปราศจากป่ามาอยู่ด้วยหมู่มนุษย์ หมู่มนุษย์ทั้งหลายย่อมเป็นที่จำเริญใจจำเริญตาในนกเบญจวรรณอันงามด้วยสีห้าสี อันตัวข้าน้อยนี้จากญาติพงศ์พันธุ์ไปอยู่ในพระนิเวศน์เรือนหลวง ก็จะประพฤติตนให้ต้องด้วยสุภาษิตท่านกล่าวไว้ทั้งห้าอย่าง คือจะประพฤติวาจาให้อ่อนหวานมิได้เกินเลยแก่ท่านผู้ใดผู้หนึ่ง ที่จะควรเรียกแม่ก็จะเรียกว่าแม่ ควรจะเรียกว่าพี่ว่าป้าว่าน้าว่าอาก็จะเรียกว่าพี่ว่าป้าว่าน้าว่าอา มิให้ท่านผู้ใดรำคาญเคืองโสต ด้วยวาจากำเริบดังนี้อย่างหนึ่ง อนึ่งข้าน้อยจะประพฤติกายให้ละมุนละม่อมมิได้เย่อหยิ่งกรุยกรายผ้านุ่งห่มให้เสียดสีท่านผู้ใด และจะมิได้ดัดจริตเล่นตัวให้เคืองระคายนัยนาท่านทั้งหลาย ด้วยกำเริบกายดังนี้อย่างหนึ่ง ประการหนึ่งข้าน้อยจะประพฤติน้ำจิตมิได้มีความอิจฉาริษยาพยาบาทปองร้อยหมายมาทหมิ่นแคลนท่านผู้ใด ให้น้ำจิตเป็นเวรแก่กันเลยดังนี้อย่างหนึ่ง ประการหนึ่งถ้าท่านผู้ใดมีน้ำใจเมตตากรุณาข้าน้อยนี้โดยฉันสุจริต ข้าน้อยก็จะผูกพันรักใคร่มิไห้กินแหนง ประพฤติตามคดีโบราณ ท่านย่อมว่าถ้าใครรักให้รักตอบดังนี้อย่างหนึ่ง ประการหนึ่งถ้าข้าน้อยเห็นท่านผู้ใดทำความดีความชอบในราชกิจก็ดี และทำถูกต้องด้วยขนบธรรมเนียมคดีโลกคดีธรรมก็ดี ข้าน้อยก็จะถือเอาเป็นเยี่ยงอย่าง กระทำสิ่งที่ดีตามท่าน ให้สมด้วยคำโบราณ ว่าถ้าใครทำชอบให้ทำตาม จะประพฤติดังนี้อย่างหนึ่ง และนกเบญจวรรณย่อมประดับด้วยขนมีสีห้าสี จึงเป็นที่รักแก่หมู่คนทั้งหลายฉันใด อันตัวข้าน้อยนี้จะประพฤติแต่ความดีให้ต้องตามสุภาษิตทั้งห้าอย่าง ก็ย่อมจะเป็นที่รักแก่นางท้าวชาวพระสนมทั่วทั้งพระนิเวศน์ เช่นนกเบญจวรรณฉันนั้น ขอท่านอย่าได้มีความวิตกด้วยเหตุอันนี้เลย


ครั้นหมู่ญาติและมิตรของบิดา ได้สดับฟังคำข้าน้อยก็ยินดีปรีดาชวนกันสรรเสริญ ว่าแม้นแม่ประพฤติตนได้ดังนี้แล้ว ก็จะมีแต่ความจำเริญดียิ่งนัก

ว่าด้วยขนบธรรมเนียมนางสนมในราชสำนัก

ลำดับนั้นท่านบิดาจึงถามข้าน้อยนี้ต่อไป ว่านี่แน่ะนางนพมาศ บัดนี้ตัวเจ้าจะไปเป็นข้าบาทพระเจ้าแผ่นดินเหมือนด้วยบุตรนัดดาตระกูลทั้งปวง มีตระกูลขัตติยะและคหบดีเป็นต้น อันธรรมดาพระมหากษัตริย์ย่อมมีพระราชอาชญาเหมือนด้วยกองเพลิง มีพระเดชเดชานุภาพเหมือนด้วยอสรพิษ มิได้สนิทสนมคุ้นเคยด้วยตระกูลทั้งหลายเลย ถ้าผู้ใดมีความประมาทและหาปัญญามิได้ ประดุจตั๊กแตนแมลงเม่าบินเข้าไปในกองเพลิงๆ ก็สังหารให้ถึงซึ่งมรณาสิ้น บางทีเพลิงนั้นลุกลามไหม้เผาบ้านเรือนทรัพย์สิ่งสินให้พินาศฉิบหายสิ้นทั้งเจ็ดตระกูล อนึ่งบุคคลอันอยู่ใกล้เคียงด้วยอสรพิษนั้นเล่า ถ้าลืมความกลัวทำบังอาจหมิ่นแคลนเมื่อใด อสรพิษก็จะพิโรธขบเอาให้ถึงกาลมรณะเป็นแท้ ดูกรนางนพมาศ อันสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเสวยสิริราชสมบัติบริบูรณ์ด้วยบาทบริจาริก มีพระอัครมเหสีก็สองพระองค์ พระสนมนางกำนัลบำเรอก็มีเป็นอันมาก ล้วนแต่ทรงลักษณะรูปสิริวิลาศ เป็นที่จำเริญพระหฤทัย ตัวเจ้ายังจะประพฤติในราชกิจให้ทรงพระเมตตาแก่ตัวได้ หรือจะมิได้เป็นดังฤา


ครั้นข้าน้อยได้สดับดังนั้น จึงสนองคำท่านบิดาว่า มนุษย์ในโลกนี้ พระมหากษัตริย์ถึงซึ่งเป็นใหญ่ ทรงอิศรภาพมีพระราชอาชญาเป็นที่ยำเยงเกรงขามแห่งหมู่มหาชนทั่วทั้งพระราชอาณาเขต บุคคลผู้ใดจะเข้าเป็นข้าท้าวบ่าวพญา ยากที่จะหยั่งใจตนได้ว่าพระมหากษัตริย์จะทรงพระเมตตาและไม่เมตตามิควรจะพึงคิด แม้ผู้ใดมีอุปนิสัยวาสนากุศลหนหลังช่วยอุดหนุน ทั้งประกอบด้วยความพากเพียร มีสติปัญญารู้จักสิ่งผิดและสิ่งชอบ อย่าเกียจคร้านในราชกิจราชการทั้งปวง ย่อมสอดส่องปัญญาหยั่งดูพระราชอัชฌาสัย แล้วจงประพฤติตามน้ำพระทัยให้ทุกสิ่ง อย่าเอาแต่ใจตัวเป็นประมาณ พึงมีอุตสาหะทุกเช้าค่ำทำราชการจงสม่ำเสมอ อย่าทำบ้างไม่ทำบ้างเป็นหมู่ๆ วับๆ แวบๆ เหมือนแมลงหิ่งห้อย อย่ารักผู้อื่นมากกว่ารักตัว อย่ากลัวคนมีบุญมากกว่าเกรงเจ้า อย่าเข้าด้วยผู้กระทำความผิด จะพิดทูลสิ่งใดอย่าได้กล่าวเท็จแกมจริง อย่านำพระราชดำริอันเป็นความลับฝ่ายในออกไปไขฝ่ายนอก อย่าพึงทำน้ำใจโลเลริแรแชเชือน เช่นตั๊กตะแตนแล่นไปแล่นมา ราชกิจหลวงและประโยชน์ตนก็จะขาด ลาภสักการะของราษฎร์ก็จะพลอยศูนย์ จงมีใจสวามิภักดิ์รักใคร่ในพระเดชพระคุณสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอันเป็นที่พึ่งที่พำนักแก่สรรพสัตว์ทุกหย่อมหญ้าและใบไม้ ถ้านรชนชายหญิงจำพวกใดซึ่งเป็นข้าเฝ้าท้าวพญาประพฤติได้ ดุจคำสุภาษิตซึ่งข้าน้อยกล่าวนี้แล้ว ก็ย่อม จะเป็นที่ชอบพระอัชฌาสัยในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คงจะทรงพระกรุณาเมตตาชุบย้อมด้วยยศถาศักดิ์แท้จริง อันตัวข้าน้อยนี้ก็พึ่งจะไปเป็นข้าบาทยังหารู้ขนบธรรมเนียมสิ่งใดไม่ มีแต่จะตั้งใจรักษาตัวด้วยกลัวความผิด อนึ่งจะคอยสังเกตดูแบบแผนเยี่ยงอย่างท่านที่เป็นคนคุ้นเคยชอบพระอัชฌาสัยมาแต่ก่อน จะประพฤติในราชกิจทั้งมวลเป็นดังฤา ครั้นอยู่นานไปพอเห็นเช่นได้รู้เงื่อนกระแสทราบในกิจราชการบ้างแล้ว ก็จะตั้งใจพากเพียรเพียงแต่เฝ้าแหนมิได้ขาด เมื่อใดพระเจ้าแผ่นดินได้ทรงดำรัสใช้การงานสักเล็กน้อย มิมากแต่เพียงร้อยกรองบุปผชาติและวาดเขียนอันควรกับวิชาซึ่งข้าน้อยได้ศึกษาไว้ ก็จะมีความอุตสาหะกระทำให้ถูกต้องตามพระราชหฤทัยประสงค์จงทุกสิ่ง แม้เห็นว่าค่อยทรงพระกรุณาเมตตาอยู่บ้างแล้ว ในราชกิจสิ่งใดถึงจะมิได้ดำรัสสั่งการควรพึงจะกระทำ ข้า น้อยก็จะกระทำ มิให้ขาดแคลนโดยใจภักดีให้เป็นนิจ จะได้คิดแก่ลำบากยากเหนื่อยนั้นหามิได้ พอสอดส่องปัญญาหยั่งน้ำพระทัยได้ ว่าทำดังนี้และชอบดังนี้มิได้ชอบถนัดแน่แก่ใจแล้ว ก็จะชักชวนพวกพ้องช่วยกันกระทำให้ชอบพระอัชฌาสัยไปทุกอย่าง แม้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงพระเมตตา ก็เมื่อว่ากรรมของข้าน้อยนพมาศได้ทำไว้แต่ชาติหลัง ซึ่งจะประพฤติน้ำใจโลเลริแรแชเชือน แล่นไปแล่นมาให้ขาดผลประโยชน์ทั้งพวกพ้อง เช่นนิทานนางนกกระต้อยติวิด อันนักปราชญ์ท่านกล่าวไว้ในสุภาษิตนั้น หาควรกับชาติมนุษย์ไม่ อนึ่งเล่าซึ่งจะทำแง่งอนเป็นชั้นเชิงเล่นตัวไปต่างๆ ให้ต้องนิรเทศจนได้แต่ความโทมนัสเป็นนิจ เช่นนิทานสองคชสารสองตัว อันมีในตำรับกลสตรีนั้น ก็ไม่ควรกับชาติมนุษย์พึงกระทำ อันนิทานนางนกกระต้อยติวิดนั้น ว่า

นิทานเรื่องนางนกกระต้อยติวิดโลเล

ยังมีต้นไทรใหญ่อยู่ริมฝั่งคงคาต้นหนึ่ง มีกิ่งร่มปรกลงไปในแม่น้ำหมู่มัจฉาชาติตัวน้อยๆ เข้าอาศัยว่ายวนอยู่เป็นอันมาก ภายใต้ร่มไทรนั้นมีสุมทุมอ้อแขม เป็นที่อาศัยแห่งฝูงนกกระต้อยติวิด มีรุกขเทวดาองค์หนึ่งสิงสถิตอยู่บนต้นไทร อันว่านกกระต้อยติวิดทั้งหลายนั้น ถึงเพลาแสบท้องก็ลงไปหาปลาบริโภคตามชายเฟือยริมฝั่งน้ำใต้ต้นไม้ไทรเป็นนิจ และนางนกกระต้อยติวิดตัวหนึ่งนั้น มีดำริจิตคิดเห็นว่า ต้นพระไทรใหญ่ต้นนี้มีพระคุณกับเรายิ่งนัก ได้อาศัยร่มกิ่งใบเป็นที่หลับนอน และเที่ยวหาอาหารเป็นผาสุก ด้วยมิได้ต้องแสงพระอาทิตย์ให้ได้ความร้อนรน นางนกกระต้อยติวิดจึงประสานปีกทั้งสองยกขึ้นกระทำอัญชลีแล้ว ก็ส่งเสียงอันไพเราะร้องสรรเสริญคุณต้นพระไทรตามภาษาของตนวันละสามเพลา และเมื่อนางนกลงไปหาอาหารที่ริมฝั่งน้ำครั้งใด ครั้นได้อาหารบริโภคอิ่มแล้ว เมื่อจะกลับขึ้นมายังที่สุมทุมเคยอาศัย ก็อมน้ำขึ้นมารดลงที่ใต้ต้นไทรใหญ่ทุกครั้ง ด้วยนางนกปรารถนาว่าจะให้ต้นพระไทรงามบริบูรณ์ขึ้นกว่าเก่า เดชะผลซึ่งนางนกกระทำเคารพต้นพระไทรนั้น ก็บันดาลให้ขนข้างหางปีกงดงามบริบูรณ์ด้วยสีสรรพวรรณ และมีกำลังกายยิ่งกว่านกกระต้อยติวิดทั้งหลาย ก็ถึงซึ่งสมมุติว่าเป็นใหญ่กว่าฝูงนกนั้นอันเป็นบริวาร


ดับนั้นพฤกษเทเวศร์ซึ่งสถิตอยู่ต้นพระไทรใหญ่ ครั้นเห็นนางนกกระต้อยติวิดประพฤติเคารพต้นพระไทรดังนั้นก็มีจิตเมตตากรุณา เมื่อนางนกลงไปแสวงหาอาหารตามชายเฟือยริมฝั่งน้ำเพลาใด เทวดาก็บันดาลให้มัฉจาอันถึงแก่มรณะ มาลอยวนอยู่จำเพาะหน้านางนกเป็นอันมาก มิให้นางนกด้วยความลำบากด้วยต้องเที่ยวแสวงหาอาหาร แต่นางนกนั้นน้ำใจโลเล มักรีแรแชเชือน ได้บริโภคอาหารจนอิ่มท้องบ้าง ครึ่งท้องค่อนท้องบ้าง ครั้นได้เห็นและได้ฟังฝูงนกอันเป็นบริวารตัวใดตัวหนึ่งลงเล่นน้ำก็ดี และนอนแผ่หางกางปีกผึ่งแดดเล่นก็ดี และวิ่งไปวิ่งมาร้องหยอกกันเล่นก็ดี นางนกก็ละอาหารเสีย แล่นไปดูไปเล่นไปนอนไปทำต่างๆ ตามนกทั้งหลายในฝูงของตนประพฤติ อันว่านกตัวอื่นครั้นเห็นนางนกนางฝูงละอาหารเสียแล้ว ก็ชวนกันบริโภคมัจฉาเป็นประโยชน์แห่งตนๆ เสียสิ้น แต่กาลก่อนนางนกเคยกระทำเคารพต้นพระไทรมิได้ขาด ครั้นนางนกสำคัญใจว่าตัวประเสริฐกว่านกทั้งปวงซึ่งเป็นบริวาร ทั้งได้อาหารบริโภคก็โดยง่าย จิตนางนกก็สูงขึ้นข้างการกำเริบร่าเริง ได้เคารพพระไทรบ้างลืมเสียบ้าง พวกบริวารจะชักเชือนแชก็แร่รี่ไปตามใจ จนนกในฝูงของตัวก็รู้อัชฌาสัย ว่าน้ำจิตนางนกนั้นโลเล เมื่อถึงเพลาไปหาอาหารบริโภคก็แสร้งกระทำต่างๆ ให้นางนกละอาหารเสียประดุจกล่าวแล้ว


กาลนั้นรุกเทพดา เห็นนางนกกระต้อยติวิดมีสันดานกำเริบกลับประพฤติน้ำจิตโลเลไปดัง นั้น จึ่งคิดว่านางนกตัวนี้ได้กระทำความดีไว้แต่หลังมาเป็นอันมาก จำเราจะไปให้โอวาทสั่งสอนดูสักครั้งหนึ่งจึ่งจะควร เทพยเจ้าจึ่งดำริแล้วก็แปลงเพศเป็นนกกระต้อยติวิดตัวผู้ มีรูปร่างงามพึงใจ มาเจรจาประโลมนางนกให้ยินดีในการสังวาส แล้วก็กล่าวคำชี้แจงสั่งสอนนางนกว่า ดูกรเจ้าผู้เป็นที่รัก แต่ก่อนเราเห็นว่า เจ้ากระทำอัญชลีเคารพนบน้อมต้นพระไทรเป็นนิจกาล อันความจำเริญก็บังเกิดมีแก่ตัวเจ้าจนรุกขเทวดาซึ่งสถิตอยู่บนต้นพระไทรนี้ มีแต่ความเมตตากรุณาหวังจะมิให้เจ้าได้รับความลำบากยากเหนื่อย ช่วยบันดาลอาหารให้บริโภคทุกเพลาไม่รู้ขาด บัดนี้เจ้ามาละเลยการคารวะอันเป็นความจำเริญของเจ้าเสีย มาประพฤติขาดบ้างเหลือบ้าง ทำจิตใจเงื่อยโคลงประดุจขอนไม้อันลอยละลอกกลอกกลิ้งอยู่กลางน้ำ ไม่ควรที่จะดูเช่นเห็นอย่างกลับเอาสิ่งชั่วมาเป็นดี ช่างไต่ตามหมู่นกอันธพาลสันดานสิ้นคิด แต่ละตัวมีลูกตาเหมือนด้วยนกฮูกนกเค้า และเหมือนด้วยนัยน์ตาหุ่นยนต์ คนเขาชักไขว่ขวักทำร่างกายจริตกิริยาเหมือนด้วยนกตัวผู้และมีเหนียงแห้ง พอใจรับ ประทานอาหารจะบริโภคมิได้ดูก็น่านิรเทศจากฝูง ควรหรือเจ้ามานิยมยินดีช้างรีแรแชเชือน ถือเยี่ยงอย่างนกเหล่านี้หาชอบไม่


ฝ่ายนางนกก็ผินหน้าตอบคำเทววิหค ว่าข้าน้อยก็กระทำเคารพอยู่ แต่ขาดบ้างเหลือบ้างด้วยเคลิ้มสติหลงลืมไป นางนกว่าเท่าดังนั้นแล้วก็นิ่งเสีย


เทพวิหคจึ่งว่าแต่นี้ไป เจ้าอย่าได้มีความประมาท ซึ่งเจ้าได้ร่วมรสฤาดีด้วยเราครั้งนี้คงจะเกิดบุตร อันดรุณโปฏกนั้นจะมีบุญวาสนาประเสริฐกว่านกกระต้อยติวิดทั้งสกลชมพูทวีป จะได้เป็นพญานกมีบริวารนับด้วยร้อยและพันเป็นอันมาก เจ้าจงอุตส่าห์ฟักฟองอย่าให้มีอันตรายสิ่งใดได้ เทววิหคสั่งเท่านั้นแล้วก็อันตรธานหายไป


ขณะนั้นนางนกครั้งได้เห็นก็คิดอัศจรรย์ใจนัก จึงคะนึงนึกหมายมั่นว่าชะรอยรุกขเทวดา แสร้งแปลงเพศมาสั่งสอนเราเป็นทางกระทบกระเทียบ นางนกจะได้เชื่อถ้อยถือคำไว้มั่นใจนั้นหามิได้ แต่ว่าค่อยได้สติสู้ทรมานจิตให้ยั่งยืนแน่นอนประพฤติตามโอวาทวิหคเทเวศร์ได้สักสี่ห้าวัน ครั้นได้เห็นนกบริวารลางตัวก็เต้นตามกันไปข้างโน้นมาข้างนี้ เป็นที่สบายใจเริงรื่น นางนกก็กลับใจโลเลกระทำตามหมู่นกอันธพาลไปประดุจหนหลัง อยู่มาไม่นานนางนกก็ตกฟองของตนใบหนึ่งมีสีดุจแสงแก้วไพฑูรย์ นางนกก็ฟักฟองตามประเพณีนกกระต้อยติวิด ธรรมดานกกระต้อยติวิดนั้นจะนอนก็ดี จะฟักฟองก็ดี ย่อมนอนหงายเอาเท้าทั้งสองข้างขึ้นชี้ฟ้า ด้วยสำคัญใจกลัวว่าฟ้าจะทุ่มทับลงมาจะได้เอาเท้าทั้งสองนั้นรับไว้ และเมื่อนางนกนอนหงายฟักฟองอยู่ได้เจ็ดแปดวัน เพลาวันหนึ่งเป็นเพลาชายแสงพระอาทิตย์ นกในหมู่บริวารตัวหนึ่งนั้นมาร้องบอกพวกกันอื้ออึงว่า พญาหงส์สีกรัชกายเหลืองงามประดุจทองมาจับอยู่ที่กิ่งพฤกษาริมสุมทุบตรงนี้ นกทั้งหลายต่างตนก็ตลีตะลานพากันไปดูพญาราชหงส์ทอง นางนกครั้นได้ฟังดั่งนั้นก็มีจิตเสียวกระสันจนลืมสติ หาทันที่จะกลับตัวเอาเท้าลงเหยียบแผ่นดินไม่ ด้วยใจจะใคร่ไปให้ทันพวกพ้อง ก็แผ่หางกางปีกผกเผ่นขึ้นโดยกำลังเร็ว ฟองก็กลิ้งตกแตกเสียในขณะนั้น นางนกหาทันรู้ไม่ลนลานรีบแร่ไปเชยชมรูปโฉมพญาหงส์ อันเหลืองงามดังพรรณแห่งทอง ครั้นพญาหงส์บินไปจากสถานที่นั้นแล้ว นางนกก็ยังเจรจาสรรเสริญรูปทรงพญาหงส์อยู่กับพวกพ้องอีกช้านาน จะได้คิดระลึกถึงฟองที่ตนฟักอยู่นั้นสักขณะจิตหนึ่งก็หามิได้ ครั้นกลับมาที่อยู่เห็นฟองแตกทำลายก็ตกใจ ยืนเหลียวซ้ายแลขวาพอเห็นนกตัวหนึ่งอยู่ที่นั้นหาได้ไปดูพญาหงส์ทองไม่ นางนพโทมนัสพลางโกรธพลางๆ ร้องว่ากับนกตัวนั้นว่าทำไมอยู่กับที่นี่จึ่งไม่ช่วยระวังไข่ของเรา หารู้ไม่หรือว่าเราจะไปดูพญาหงส์ทอง นกตัวนั้นหาปัญญามิได้ก็ไม่เถียงทะเลาะ หลีกไปเสียจากที่นั้นพอพ้นปาก ในเพลานั้นนางนกคิดเสียใจนัก ก็เที่ยวกระสับกระส่ายเสือกสนอยู่ตัวเดียว


ขณะนั้นเทพยดารุกขพระไทร เห็นความชั่วของนางนกกระต้อยติวิด จึ่งร้องลงมาว่าดูกรนางนก ตัวเจ้ามีรูปก็งดงามทั้งสำเนียงเสียงร้องก็ไพเราะ แต่น้ำใจนั้นลามกดูประดุจใบไม้อันต้องลม มีแต่หวั่นไหวอยู่เป็นนิจนิรันดร์ อันสันทัศปาปะมิตรย่อมอัปมงคล หาควรจะอยู่ใต้ต้นพระไทรใกล้เคียงกับเราไม่ เทพเจ้าร้องว่าเท่านั้นแล้วก็บันดาลให้เพลิงป่ามาไหม้สุมทุบและให้น้ำพัดชายเฟือย ซึ่งนกกระต้อยติวิดทั้งฝูงเคยอาศัยหลับนอนและหาอาหารให้อันตรธานสาบสูญเสียสิ้น อันว่านกกระต้อยติวิดฝูงนั้น ก็ถึงอัประภาคยากแค้น ได้ความเดือดร้อนด้วยอาหารการกิน เที่ยวระเห ระหนทนเทวษอยู่สิ้นทั้งฝูง ต่างติเตียนนางนกผู้เป็นนายว่าสันดานโลเลเร่ร่อน ทำให้เราพลอยอนาถาหาที่อยู่ที่กินมิได้ แต่นางนกกระต้อยติวิดตัวต้นเหตุนั้น ครั้นสิ้นคิดเข้าแล้วก็ได้แต่โทมนัส นึกในใจขอให้รุกขเทวดาองค์นี้จุติไปเสียจากต้นพระไทร เราจะได้กลับคืนเข้าอยู่ยังถิ่นฐาน เป็นผาสุกสบายใจเช่นกาลก่อน


และนิทานนางนกกระต้อยติวิดซึ่งข้าน้อยบริยายนี้ ไม่ควรจะถือเช่นเอาเป็นอย่าง ถ้ามนุษย ชาติหญิงชายจำพวกใดประพฤติน้ำจิตเป็นพาลสันดานโลเลแล่นไปแล่นมา เช่นนางนกกระต้อยติวิดตัวนั้นแล้ว ชื่อชั่วก็จะปรากฏเป็นนิยายอยู่สิ้นกัลปาวสาน


อนึ่งโสดอันว่านิทานนางคชสารสองตัว ซึ่งมากไปด้วยมารยาสาไถย และเล่นตัวไปต่างๆ นั้น ข้าน้อยก็พึงจะกล่าวให้ท่านทั้งหลายฟังโดยพิสดาร

นิทานเรื่องนางช้างแสนงอน

แต่กาลก่อนโพ้น ยังมีพญากุญชรชาติสุประดิษฐ์ช้างหนึ่ง มีสีกายงามดั่งสีเมฆสนธยา ทรงพาหลกำลังอาจประจญพญาไกรสรราชสีห์ ให้ถึงซึ่งอัปราชัยพ่ายแพ้ฤทธิ์ ทั้งดำเนินมรรคาก็รวดเร็วได้วันละร้อยโยชน์โดยกำหนด เป็นคเชนทรชาติอาชาไนยตัวประเสริฐ จะได้รู้สะดุ้งตกใจเกรงกลัวภัยอันตรายสิ่งหนึ่งสิ่งใดนั้นหามิได้ ประกอบไปด้วยสติปัญญาสามารถจะหยั่งรู้วาระน้ำจิตคชพังพลายซึ่งเป็นบริวาร ว่ามีหมู่นี้เป็นมิตรหมู่นี้เป็นศัตรู ทั้งฉลาดรู้ในคชธรรมสี่ประการ ให้โอวาทสั่งสอนช้างบริษัท ว่าท่านจะเจรจาสิ่งใดอย่าได้มุสาประการหนึ่ง ท่านอย่ารู้ถือโทษโกรธขึ้งทะเลาะวิวาทกันประการหนึ่ง ท่านจงมีจิตเมตตากรุณา รู้รักใคร่กันประการหนึ่ง ท่านจงประพฤติสิ่งที่ดีดูเยี่ยงอย่างกันประการหนึ่ง เป็นธรรมสี่ประการดังนี้ และพญาคชสุประดิษฐ์นั้นมีสิ่งพิเศษในกายสามประการ คือหาโรคโรคามิได้นั้น ด้วยได้เสพโอสถอันเป็นทิพย์ที่เขาคันธมาทน์ และมีพหลกำลังมากนั้น ด้วยได้บริโภคผลไม้หว้าประจำทวีป ซึ่งมีสีสรรพ์วรรณแดงงาม ประดุจแสงพระอาทิตย์เมื่อสนธยานั้น ด้วยได้ลงอาบน้ำชำระกายในสระอโนดาต และมีสิ่งซึ่งสำราญหฤทัยพญาช้างนั้นก็สามประการ คือเร่ร่ายชายชมสมพาสนางกุญชรชาติตระกูลต่างๆ ซึ่งเป็นบริวารนั้นประการหนึ่ง คือนางคชสารอันเป็นอากาศจารี ซึ่งสัญจรอยู่ยังนภดลเวหาลงมาร่วมสังวาสด้วยพญาช้างนั้นประการหนึ่ง คือพญาช้างมาเที่ยวร่วมรสฤดีด้วยนางกิริณีอันอยู่ในแดนมนุษย์นั้นประการหนึ่ง และพญาคเชนทรชาติสุประดิษฐ์นี้ สถิตอยู่ยังแดนพระหิมพานต์อันบริบูรณ์ด้วยโป่งป่าโตรกเตริ่นเนินบรรพตเถื่อนถ้ำห้วยละหานธารท่านที อันประกอบด้วยดรุณคณานางไม้ทั้งติณะชาติต่างๆ เขียวขจิตพึงใจ และพญาช้างนั้นมีบริวารคชพังพลายหลายตระกูล คณนานับมากกว่าหมื่น ล้วนประกอบไปด้วยรูปร่างต้องลักษณะนามตามพระกมุทบุษประทันต์ปัณฑะเสาวโภมเผือกเนียม ซึ่งจะมีช้างโทษเข้าระคนปนอยู่แต่สักตัวหนึ่งนั้นหามิได้ อันว่าโอวาทของพญาช้างทั้งสี่ประการ หมู่คชบริพารก็ประพฤติสามัคคีรสสโมสรพร้อมเพรียงกันเป็นอันดี และพญาสุประดิษฐ์นั้นจะได้มีความลำบากด้วยต้องแสวงหาภักษ์หญ้าอาหารหามิได้ ด้วยช้างโคตรพลายเพรียวอันเป็นบริวารปันเวรกันไปเที่ยวหักกิ่งโพบายไตรตร่างรวกรังแขมข่อยอ้อยช้าง กล้วยหญ้าป่าละมานมากองไว้ในที่อันสมควรเป็นนิจนิรันดรมิได้ขาด จึ่งมีนางกิริณีอันเป็นที่พึงใจพญาคชสาร เปลี่ยนเวรกันวันละสองช้าง สำหรับนำพฤกษาหารเข้ามาให้พญาช้างบริโภค ถ้าและนางคชสารตัวใดได้เป็นเวรบำเรอพญาช้างแล้ว ก็ถึงซึ่งบริบูรณ์ด้วยลาภสักการะ คือได้บริโภคกิ่งไม้และใบหญ้า ในส่วนอันเป็นอาหารพญาช้างนั้นด้วย อนึ่งเล่าแม้นพญาช้างสารไปเสพโอสถทิพย์ก็ดี ไปบริโภคผลหว้าประจำทวีปและน้ำในสระอโนดาตก็ดี พญาช้างบริโภคแล้วย่อมนำของวิเศษมาด้วยปากด้วยงวงให้กับนางกิริณีซึ่งเป็นเวรปฏิบัติด้วยทุกครั้ง เหตุดังนั้นนางคชคชินทร์อันเป็นผู้บำเรอ จึ่งจำเริญรูปสิริและศรีสรรพ์วรรณประเสริฐยิ่งกว่าคชบริวารทั้งมวล อันว่าพญาหัสดินสุประดิษฐ์ สถิตยังแดนป่าพระหิมพานต์ ย่อมบริบูรณ์ด้วยน้ำหญ้าพฤกษาหารมิได้ขัดสน สะพรั่งพร้อมด้วยคชาชาติพลายพังทั้งหลายซึ่งเป็นยศบริพาร ก็ปราศจากภัยอันตราย มีแต่ความเกษมสุขบันเทิงเริงรื่นสิ้นกาลเป็นนิจ


สมัยหนึ่งปลายฤดูคิมหันต์ วัสสวลาหกพึ่งจะตกประปราย เป็นเทศกาลพันธุ์หมู่ไม้ระดับใบอ่อนทั้งผลิดอกออกผล มัคคะมรรคาก็ดาดาษด้วยติณชาติต่างๆ มีพรรณอันเขียว จึ่งพญาคชลักษณะสุประดิษฐ์คิดจะไปบริโภคผลไม้หว้าประจำทวีป ก็สัญจรออกจากฝูงไต่เต้าไปแต่ผู้เดียว เหตุว่าพญาช้างทรงพหลกำลังมาก แม้จะไปทางไกลยิ่งด้วยร้อยโยชน์โดยด่วน คชบริวารพลายพังทั้งหลายไม่สามารถจะติดตามไปได้ ด้วยว่ามีกำลังน้อย พญานาเคนทร์สุประดิษฐ์จึ่งต้องดำเนินไปแต่ผู้เดียวเป็นธรรมดาดังนี้ทุกเมื่อ ครั้นพญาช้างไปถึงสถานที่ต้นไม้หว้าประจำทวีป ก็บริโภคผลสุกห่ามตามปรารถนาพอควรกับประโยชน์แล้ว ก็นำมาซึ่งผลหว้าขอนหนึ่งอันใหญ่ประมาณสามอ้อมบุรุษ เพื่อจะให้กับนางคชสารอันเป็นเวรบำเรอนั้นบริโภค พญาช้างชาติสุประดิษฐ์เมื่อกลับมาถึงที่อยู่พอพระสุริยบ่ายชายแสง


ในเพลาวันนั้นเป็นเวรนางพัง อันมีนามชื่อว่าทันตะกุมภะ กับนางพังชื่อว่ามารมุขี ทั้งสองช้างนี้จะได้บำเรอพญาสุประดิษฐ์ และนางพังซึ่งชื่อทันตะกุมภะเหตุว่ามีขนายใหญ่เหมือนด้วยรูปหวด สมกับโฉมจึ่งได้ชื่อทันตะกุมภะ อนึ่งนางพังอันชื่อมารมุขีนั้นเล่า เหตุว่ามีโทสะหน้าบึ้งเหมือนดังโกรธอยู่ตาปี จึ่งได้ชื่อว่ามารมุขีโดยลักษณะ และนางคชสารทั้งสองนี้ไม่ประพฤติตามโอวาทพญาช้าง มีน้ำใจอิจฉาริษยาซึ่งกันและกันด้วยการบำเรอ อันนางทันตะกุมภะนั้นมีสันดานมากไปด้วยมารยา พึงใจที่จะทำเล่นตัวอวดช้างข้างนอกให้รู้ว่าพญาช้างต้องอ่อนง้อขอรักด้วยเหตุเรียกหาพาใจ เพลานั้นนางทันตะกุมภะทำนิ่งเฉยเสีย มิได้นำพฤกษาหารไปบำเรอพญาช้าง ด้วยใจคิดว่าพญาช้างไปประพาสทางไกล แรมค้างอยู่หลายทิวาราตรี เห็นจะมีฤทัยนึกคะนึงถึงเราเป็นอันมาก เราจะนิ่งเสียให้นางพังมารมุขีเข้าไปบำเรอก่อนเรา พญาช้างก็มิได้พึงใจ คงจะให้นางพังมารมุขีมาเรียกเรา ช้างข้างนอกก็จะเห็นว่าเราดีกว่านางพังมารมุขี ฝ่ายช้างนางพังมารมุขีนั้นเล่าก็เป็นใจเจ้าแง่เจ้างอน คิดว่าเวลานี้พญาช้างได้ผลหว้ามาก็คงจะให้กับนางทันตะกุมภะ ถ้าเราจะเข้าไปบำเรอบัดนี้ก็เห็นประหนึ่งว่าเราทะยานอยากของวิเศษยิ่งนัก อนึ่งเล่าถ้าพญาช้างจะกลับใช้ให้เรามาเรียกนางทันตะกุมภะเข้าไปให้ผลหว้ากับเขา ตัวเราจะมิได้ความอัประยศแก่ฝูงช้างข้างนอกเป็นสองซ้ำสามซ้ำและหรือ อันว่านางพังทั้งสองต่างทำมารยาแง่งอนถือชั้นเชิงกันอยู่อย่างนี้ จนขาดการซึ่งจะนำพฤกษาหารเข้าไปบำเรอพญาช้างในเพลานั้น


ฝ่ายพญาหัสดินสุประดิษฐ์เมื่อได้เห็นนางพังทันตะกุมภะและนางพังมารมุขี หานำพฤกษาหารมาให้บริโภคไม่ก็คิดอัศจรรย์ใจ จึงใช้นางพังตัวหนึ่งให้ไปถามนางคชสารทั้งสอง ว่าเหตุไรจึงไม่นำพฤกษาหารมาให้เราบริโภค นางพังผู้รับใช้ก็ให้ไปถามสองนางกริณีดุจคำพญาช้างสั่ง นางทันตะกุมภะก็บอกว่าเพลานี้แป็นไข้สารสนิศ คือเป็นไข้ประจำตัวช้างให้หาวเป็นลมกำเริบ ข้างนางพังมารมุขีนั้นบอกว่า ครั้นเราจะไปรับการบำเรอเล่า ก็กลัวนางทันตะกุมภะจะว่าเราไปชิงของวิเศษซึ่งจะได้กับเขา ด้วยเขาเคยว่ากล่าวกระทบกระเทียบเปรียบปรายเรามาหลายครั้งแล้ว นางพังผู้รับใช้ก็กลับมาแถลงความดุจถ้อยคำนางคชสารทั้งสองให้พระยาช้างทราบ


ขณะนั้นพระยาคเชนทรชาติสุประดิษฐ์ได้สดับ ก็สอดส่องปัญญาหยั่งทราบโดยถ้อยคำนางพังทั้งสองกล่าวเห็นเป็นชั้นเชิง ถือเปรียบแก่งแย่งกันดังนั้น พระยาช้างมีความโกรธยิ่งนัก จึงร้องก้องโกญจนาทด้วยสุรเสียงเป็นอันดัง ว่าช้างชาติชั่วสันดานลามก ดีแต่จะเล่นตัวหาชั้นเชิงไปทุกอย่าง ตั้งใจอิจฉาพยาบาทกันเหมือนดังช้างหาชาติหาตระกูลมิได้ เมื่อไม่ประพฤติสามัคคีรสตามโอวาทเราแล้ว ก็อย่าอยู่ในหมู่ในฝูงให้เป็นอัประมงคลกับกุญชรชาติพลายพังทั้งหลายเลย พระยาช้างจึงสั่งนางพังแม่หนัก ให้กัดหางนางพังทันตะกุมภะ กับนางพังมารมุขี เสียเพียงเข่าให้เสียโฉม แล้วก็ให้ช้างพลายโคตรที่พลายเพรียวไล่แทงนางคชสารทั้งสอง นิรเทศเสียจากฝูงในขณะนั้น


อันว่านางพังทันตะกุมภะ และนางมารมุขี ทั้งสองคชกิริณีนั้น ก็ได้ความอายอัปยศแก่นางพังทั้งหลายผู้เพื่อนฝูง ทั้งต้องออกจากหมู่เที่ยวทนทุกขเวทนาอยู่แต่สองช้าง จะได้บริโภคน้ำหญ้าพฤกษาหารก็ยากแค้นด้วยต้องอยู่ที่ชายป่าอันกันดาร ครั้นได้คิดก็เสียใจ คิดขึ้นมาทีไรก็ให้ครางครวญอยู่เป็นนิจ


ในลำดับนั้น อันว่านางกุญชรชาติอากาศจารี เคยมาสู่สำนักพระยาช้างแต่กาลก่อน วันหนึ่งนางอากาศจารีเหาะมายังที่อยู่พระยาคชาชาติสุประดิษฐ์ เมื่อมิได้เห็นนางพังทันตะกุมภะ และนางมารมุขี ในที่ใกล้เคียงพระยาช้าง เหมือนด้วยนางพังผู้บำเรอทั้งปวงเช่นกาลก่อน จึ่งเที่ยวไต่ถามนางกริณีทั้งหลาย ก็ทราบความว่าต้องนิรเทศ เหตุด้วยการมิควรจะพึงประพฤติ นางอากาศจารีจึงคิดแต่ในใจว่า แต่ก่อนนางคชสารทั้งสองนี้ ถ้าเห็นเรามาสู่ที่พระยาช้างครั้งใดแล้วก็มักทำลูบขนายส่ายงวง ทำตะปัดตะป้องแสร้งเล่นตัวอวดเรานี้ต่างๆ บัดนี้ต้องนิรเทศเสียจากฝูง เราจะไปว่ากล่าวถากถางให้สาใจ ครั้นคิดดังนั้นแล้วนางอากาศจารี ก็ดำเนินเที่ยวแสวงหามาจนพบนางทันตะกุมภะ กับนางมารมุขี ยืนปรบหูอยู่ที่ใต้ต้นตะเคียนใหญ่ จึ่งเดินเข้าไปใกล้เราทำถามว่า เหตุไรท่านทั้งสองมาอยู่ในที่นี้ นางพังทันตะกุมภะมีความละอายใจ ก็เมินหน้าเสียหาตอบประการใดไม่ แต่นางพังมารมุขีนั้น ผินหน้าตอบว่ากรรมมาถึงเราแล้ว ใช่การท่านๆ อย่าได้ถามเราเลย นางอากาศจารีจึ่งว่า นี่แน่ะเจ้า ชะช่างคิดชอบถูกชั้นเชิงกันนี่กระไร ข้างโน้นก็อวดดีข้างนี้ก็ไม่รับแพ้ ดีแต่จะเล่นตัวไปอย่างเดียว ยิ่งเห็นว่ารักก็ยิ่งหนักขึ้นเจียวจนต้องนิรเทศ ดูกรท่านทั้งสองผู้เป็นชาติคชสารเหมือนด้วยตัวเรา เออจะหยั่งปัญญาคิดบ้างก็เป็นไร อันพระยาหัสดินชาติสุประดิษฐ์นี้ มีบุญญาธิการมากประดุจเทพยดาในชั้นสวรรค์ ทั้งทรงพหลกำลังและเดชานุภาพ ก็เหมือนด้วยพระยาไกรสรสีหราช มีสีกายแดงงามปานดังแสงพระอาทิตย์เมื่ออัสดงคต งาทั้งสองสลวยงามเปรียบประหนึ่งท่อนแก้วมณี แล้วก็ทรงซึ่งปัญญาอาจหยั่งรู้น้ำจิตคชสารอันเป็นบริษัทมากกว่าหมื่น ทั้งประดับด้วยนางกริณีอันมีตระกูลต่างๆ เป็นบริพารยิ่งด้วยร้อย นี่แน่ะท่านทั้งสอง อันพระยาช้างมีบุญประเสริฐเลิศล้ำถึงเพียงนี้ หรือจะให้เฝ้าวอนง้อขอรักเรียกหาพาใจไปทั้งตาชาติตาปี ช่างไม่เหลียวดูร่างกายและตระกูลของท่านบ้างว่ามีบุญวาสนาเป็นดังฤา เราก็รู้อยู่ว่าท่านผู้มีนามทันตะกุมภะนี้เกิดในตระกูลคังไคยคชสาร คือช้างสถิตอยู่ริมฝั่งน้ำ มีสีขาวขาวแลเลื่อมประดุจสีน้ำไหล มีขนายใหญ่สมด้วยโฉมหน้า อันท่านผู้ปรากฏนามชื่อว่ามารมุขีนั้นเล่า ก็กำเนิดในตระกูลกาฬหัสดี คือชาติช้างดำ แต่ทว่าบุญอำนวยจึงมีสีกายขาวหลัวโฉมหน้าดูบึ้งบั้นเมื่อวาสนาอาภัพก็เพียงนี้ แต่ได้ดีเพียงนั้นก็เกินตัว ขออภัยเสียเถิดเราว่าเป็นความจริง ใช่จะแกล้งกล่าวให้เจ็บช้ำน้ำใจท่านนั้นหามิได้ อันธรรมดาเกิดมาเป็นชาติคชสาร ดังตัวเราตัวท่านทั้งสองนี้ก็ดี และเกิดมาเป็นสัตว์จัตุบาทมีตระกูลต่างๆ ก็ดี ครั้นเติบใหญ่หากินได้เองแล้ว ก็ย่อมลืมบิดามารดาคณาญาติ ถึงผู้ใดจะทำทุจริตผิดผันจนถึงต้องตัดหางนิรเทศเสียจากฝูงให้เที่ยวโซเซโอ้เทวศอยู่อย่างท่านทั้งสองดังนี้ ก็คงได้อัปยศอดอายก็แต่ตัวของผู้นั้น แม้เกิดเป็นชาติมนุษย์แล้ว ข้างบิดามารดาญาติวงศ์พงศ์พันธุ์ก็จะพลอยได้อับอายขายหน้าทุกเช้าค่ำคืนวันเดือนปีจนกายตายแล้วก็ไม่สูญชื่อ ดูกรท่านทั้งสองซึ่งเกิดเหตุเภทภัยขึ้นทั้งนี้ อย่าได้เอาโทษผู้หนึ่งผู้ใดมีพระยาช้าง เป็นต้น ท่านจงโทษเอาที่พึงใจจะเล่นตัวทำชั้นเชิงแง่งอนไปต่างๆ นั้นและจึงจะชอบ เออก็เมื่อรักอย่างนั้นแล้ว มันก็ต้องเตรียมกรมก้มหน้าน้ำตาตกตลอดปลายงวงสู้เสวยกรรมไปชาติหนึ่งเถิด ท่านค่อยอยู่จงดีเราจะขอลาไปแล้ว นางอากาศจารีก็เหาะไปยังสถานที่อยู่ของตน


และนิทานนางคชสารทั้งสองนี้ ข้าน้อยบรรยายให้ท่านผู้เป็นวงศาคณาญาติและมิตรของบิดาฟัง ด้วยหวังจะให้วายวิตกอย่าได้คิดกริ่งเกรงเลย ว่าข้าน้อยจะประพฤติสันดานลามกทำทุจริตไปต่างๆ เหมือนหนึ่งนางคชสารจนบิดามารดาญาติวงศ์พงศ์พันธุ์พลอยได้ความอับอายขายหน้าด้วยนั้นหามิได้ ถึงคำบุราณท่านว่าคชสารสี่ตีนยังรู้พลาดนักปราชญ์ยังรู้ล้ม ใครอย่าได้ประมาท คำอันนี้ก็เป็นจริง แต่ทว่าข้าน้อยไม่พึงใจที่จะทำชั้นเชิงแง่งอนเที่ยวค้าคารมข่มผู้อื่นทำหน้าเป็นเล่นตัวดีดดิ้นด้วยกำเริบยศถาบรรดาศักดิ์แล้ว มาทว่าพลั้งผิดสิ่งใดบ้าง ก็ไม่ถึงตัดหางปล่อยให้ชื่อชั่วปรากฏอยู่ในแผ่นดิน โดยใจข้าน้อยคิดเห็นดังนี้ อันว่าหมู่มิตรของบิดาและบรรดาคณาญาติบรรดาได้สดับคำข้าน้อยบรรยาย นิทานนางนกกระต้อยติวิดและนางคชสาร ก็สรรเสริญว่าแม่มีปัญญาเป็นนักปราชญ์ฉลาดรู้รอบคอบในสิ่งชั่วสิ่งดี ควรจะเป็นที่พึ่งแก่หมู่ญาติได้เที่ยงแท้แล้ว

ขนบธรรมเนียมนางสนม (ต่อ)

ลำดับนั้น พระศรีมโหสถผู้บิดา จึงว่าดูกรนางนพมาศ ซึ่งเจ้าจะประพฤติแต่สิ่งที่ดี สิ่งใดชั่วจะละเสียดังกล่าวนั้น ก็ต้องตามสุภาษิตเป็นอันดียิ่งนัก บิดาก็เห็นว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็จะทรงเมตตาเจ้าอยู่บ้างเหมือนท่านทั้งหลาย อันธรรมดาผู้มีกตัญญูย่อมรู้พระคุณท่านผู้มีพระคุณ และตัวเจ้านี้แม้สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงพระกรุณาชุบยอมด้วยยศถาศักดิ์ พองามหน้าบิดามารดาคณาญาติแล้ว ตัวเจ้ายังจะกระทำราชการฉลองพระเดชพระคุณสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยสติปัญญาให้จนถึงมีชื่อเสียงปรากฏอยู่ในแผ่นดิน จะได้หรือมิได้เป็นประการดังไร


ลำดับนั้นข้าน้อยก็สนองคำบิดาว่า ประเพณีนรชาติชายหญิงทั้งหลายใด ถ้ามีสติปัญญาฉลาดรู้บาปบุญคุณโทษแล้ว ก็ย่อมคิดอยู่แต่ที่จะฉลองคุณบิดามารดาและท่านผู้มีพระคุณแก่ตน เป็นต้น คือพระมหากษัตริย์สิ้นกาลทุกเมื่อ อันเป็นสตรีเช่นข้าน้อยนี้ซึ่งจะทำราชกิจสิ่งใดในพระเจ้าอยู่หัวให้จนถึงมีชื่อเสียงอยู่ในแผ่นดินได้นั้นเป็นอันยากยิ่งนัก ด้วยว่ากิจราชการสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งจะเป็นการใหญ่เหมือนด้วยราชกิจฝ่ายบุรุษจะพึงกระทำนั้นหามีไม่ อันเกิดมาเป็นชายได้เป็นราชบุรุษแล้วนั้น ถ้าท่านผู้ใดได้ทำการณรงค์สงครามมีชัยชนะแก่ข้าศึกก็ดี และทำการพระนครสิ่งซึ่งยากให้สำเร็จได้โดยเร็วก็ดี และวินิจฉัยถ้อยความให้เป็นยุติธรรม มีปัญญาสอดส่องจับสิ่งเท็จออกสำแดง ให้เห็นจริงด้วยกันทั่วโลกได้ก็ดี เป็นที่สุดจนชั้นแต่ได้ของวิเศษอันควรจะเป็นอัศจรรย์ มีช้างเผือกเป็นต้นมาถวายก็ดี และความชอบต่างๆ ถ้าราชบุรุษผู้ใดทำฉลองพระคุณได้ดั่งข้าน้อยพรรณนามานี้ ก็ควรจะมีชื่อเสียงอยู่ในแผ่นดินได้ทุกสิ่ง อันราชกิจฝ่ายสตรีจะพึงกระทำเป็นการใหญ่ยิ่งนั้น ก็เห็นแต่สิ่งราชการเบ็ดเสร็จสิ้นทั้งพระราชวัง ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ของพระราชมเหสีทั้งสอง จะทรงกระทำฉลองพระคุณแท้จริง และตัวข้าน้อยนี้ มาทว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงพระเมตตาชุบย้อมให้มียศถาบรรดาศักดิ์ก็ดี และจะเลี้ยงพอสมควรแก่วาสนาคุณานุรูปก็ดี อันน้ำใจข้าน้อยนี้ก็จะมีแต่สามิภักดิ์ ตั้งจิตฉลองพระคุณโดยสุจริต แม้ราชการสิ่งใดเป็นอันควรกับข้าน้อยจะพึงกระทำแล้ว ถึงว่าราชการสิ่งนั้นจะสำเร็จด้วยต้องเสียทรัพย์สิ่งสินมากน้อยเท่าใดก็ดี หรือจะต้องเสียเลือดเสียเนื้อและเสียชีวิตจิตใจฉันใดก็ดี คงจะสู้เสียฉลองพระคุณให้สำเร็จราชกิจของพระเจ้าแผ่นดินให้จงได้ ซึ่งพระพุทธฎีกาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเทศนาจันทกินรีชาดกและพระเวสสันดรชาดกไว้นั้น ข้าน้อยก็ได้สดับตรับฟังจำได้เจนใจอยู่แล้ว คงจะประพฤติตามเยี่ยงอย่างท่านผู้มีกตัญญูรู้ฉลองคุณให้มีชื่อเสียงไว้ ในแผ่นดินสิ้นกาลช้านานให้จงได้ อันซึ่งจะได้ดีมียศถาศักดิ์จนฝูงคนเลื่องลือนามทั่วทั้งพระนคร ด้วยการอันนักปราชญ์มิได้สรรเสริญ คือประพฤติจริตกิริยาวาจาเหลาะแหละ กล่าวแต่ให้ถูกต้องด้วยพระราชอัธยาศัยอย่างเดียวนั้น ถึงจะได้ดีประเสริฐเลิศลอยฟ้าสักปานใด ข้าน้อยก็ไม่มีน้ำใจปรารถนาเลย ด้วยกลัวคำคนจะครหา ว่ามีวาสนาเพราะเวทมนต์และกลมารยาต่างๆ ประการหนึ่ง อันว่าความจงรักภักดี มีอุตสาหะพากเพียรในกิจราชการพระเจ้าอยู่หัวนั้น ข้าน้อยจะประพฤติให้เสมอต้นเสมอปลาย ใช่จะทำแต่พอได้ดีมียศถาบรรดาศักดิ์แล้วและจะละเมินเสีย จนกลับได้ความอัประภาคยากใจไว้หน้าไม่ถูก เช่นนิทานนางนกกระเรียนซึ่งนักปราชญ์ท่านกล่าวไว้ ในตำรับลามกสตรีนั้นหามิได้ อันตำนานนิทานฝ่ายข้างความเจริญดี โดยพระพุทธฎีกาสำแดงเทศนา มีพระเวสสันดรชาดกและจันทกินรีชาดกนั้น ท่านทั้งหลายก็ได้สดับฟังมามากแล้ว ข้าน้อยจะบรรยายแต่นิทานนางนกกระเรียน อันเป็นข้างฝ่ายอัปมงคลบ่มิควรนรชาติชายหญิงจะพึงประพฤติให้พิสดาร

นิทานเรื่องนางนกกระเรียนคบนางนกไส้ช่างยุ

ในกาลก่อนยังมีราชธานีเมืองหนึ่ง ชื่อเมืองวัฒนานคร สมเด็จพระมหากษัตริย์อันเสวยราชสมบัติ ทรงพระนามพระเจ้าวัฒนราช มีพระอัครมเหสีชื่อนางตรุณี ประดับด้วยพระสนมกำนัล และเสนางคนิกรช้างม้าสมณชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎรเพียบพื้นภูมิมณฑล มีราชปโรหิตผู้หนึ่งรู้พระเวทผูกน้ำใจสกุณวิหคอันเป็นของเลี้ยง แม้ได้ร่ายมนต์เสกอาหารเป็นต้นว่า ข้าว น้ำ ให้ทิชาชาติทั้งหลายซึ่งเลี้ยงไว้บริโภคแล้ว ก็เชื่องสนิท อาจให้ขันให้ร้องเมื่อใดก็ได้ดังปรารถนา และพระเจ้าวัฒนราชนั้น พึงพระทัยทอดพระเนตรนกกระเรียน และทรงฟังซึ่งสำเนียงนางนกกระเรียนร้องยิ่งกว่าการขับรำและดุริยางค์ดนตรี อันเป็นพนักงานนางในจะพึงบำเรอต่างๆ จึงดำรัสสั่งราชบุรุษให้กระทำสระใหญ่ไว้ตรงหน้าสิงหบัญชรแห่งหนึ่ง แล้วให้นำนกกระเรียนทั้งหลายมาเลี้ยงไว้ในราชอุทยานเป็นอันมาก ปุโรหิตก็เสกอาหารให้นกกระเรียนบริโภคจนเชื่องสนิทสิ้นทุกตัวทุกตัว ครั้นถึงเพลาเช้าและกลางวันเพลาเย็นและเที่ยงคืนในยามสงัด พระเจ้าวัฒนราชเสด็จสถิตสำราญพระทัยอยู่ในปรางค์ปราสาท ฝูงนกกระเรียนก็พากันมาร้องด้วยศัพท์สำเนียงอันไพเราะ ให้เป็นที่สบายพระหฤทัยมิได้ขาด บางทีก็เผยสิงหบัญชรออกทอดพระเนตรนกกระเรียนซึ่งลงเล่นน้ำอยู่ในสระ และพระเจ้าวัฒนราชนั้นมีพระกมลหฤทัยผูกพัน ตั้งแต่ทอดพระเนตรและทรงฟังเสียงนกกระเรียนอยู่เป็นนิจนิรันดร จนทราบสนัดในชาติธรรมดาสกุณโกญจนาทถ่องแท้ อาจตั้งเป็นตำรับไว้ได้ในแผ่นดิน อันนกกระเรียนตัวผู้นั้นมีสำเนียงมิได้ไพเราะ สั่งให้ราชบุรุษกำจัดเสียจากที่ อันจะร้องถวายเสียงคงให้มีอยู่แต่นางนกเป็นอันมาก


และสกุณโกญจนาทนั้นมีประเภทเป็นสองพรรณๆ หนึ่งนั้นมีขนสีแดงอยู่ห้าแห่ง คือที่สร้อยคอริมศีรษะนั้นแห่งหนึ่ง ที่กลางอกตรงเหนียงนั้นแห่งหนึ่ง ที่หัวปีกทั้งสองข้างนั้นข้างละแห่ง ที่สนับหางนั้นแห่งหนึ่ง โลกสมมุติว่าเป็นนกศักดิ์สูงดีกว่านกที่ไม่มีขนสีแดง เหตุว่าจะบินราร่อนเล่นลมบนกลางอากาศ ชาตินกที่มีสีแดงนั้น บินร่อนได้สูงกว่านกที่หาขนสีแดงมิได้ และนางนกกระเรียนบรรดาซึ่งมาเปล่งศัพท์สำเนียงถวายเสียงร้องบำเรออยู่นั้น พระเจ้าวัฒนราชบรมกษัตริย์ ทรงจำรูปจำเสียงได้แจ้งประจักษ์ทุกๆ ตัวนางนก แม้ว่านางสกุณโกญจนาทตัวใดเป็นนกชาติสูงศักดิ์ ด้วยมีขนสีแดงห้าแห่ง ถึงจะมิหมั่นมาร้องถวายเสียงก็ทรงไว้พระอารมณ์ ว่าเป็นนกมีชาติมีตระกูล ก็จำจะเลี้ยงดูให้ดีสักหน่อย อนึ่งเล่านางนกตัวใดถึงเป็นนกต่ำชาติต่ำตระกูล ด้วยหาขนสีแดงมิได้ แต่ทว่าหมั่นมาบำเรอเสียงร้องทุกเพลา พระมหากษัตริย์ก็ทรงพระเมตตา ว่ามีอุตสาหะไม่เกียจคร้าน นางนกทั้งสองจำพวกนี้โปรดประทานสร้อยทองวลัยทองให้สวมคอใส่เท้า ให้บริโภคน้ำท่าอาหารด้วยภาชนะเงินทองทุกๆ ตัว และนางนกตัวใดมีชาติตระกูลก็สูงศักดิ์ แล้วก็มีอุตสาหะหมั่นมาร้องถวายเสียงมิได้ขาด กรุงกษัตริย์ก็โปรดปรานประทานเครื่องตกแต่งให้ยิ่งขึ้นไปโดยมีพระทัยกรุณา อนึ่งเล่านางนกจำพวกที่มีชาติตระกูลอันต่ำ ทั้งเกียจคร้านมักป่วยเจ็บแชๆ เชือนๆ นานๆ มาร้องถวายเสียงบ้างแต่สักครั้งสักคราวแล้วก็หายสูญไป พระเจ้าวัฒนราชก็วางพระอารมณ์เสีย ว่าเป็นธรรมดาเลี้ยงสัตว์เดียรัจฉานแล้ว ก็ต้องให้ทานกินพออิ่มท้อง อันว่าความจำเริญและมิจำเริญก็บังเกิดมีแก่นางสกุณโกญจนาทั้งหลาย บรรดามาบำเรอร้องถวายศัพท์สำเนียง ดุจกล่าวมาดังนี้แท้จริง


ครั้นนานมานางนกกระเรียนตัวหนึ่งนั้น อันอยู่ในพวกหมู่หมั่นร้องหาขนสีแดงมิได้มิได้เป็นชาตินกต่ำตระกูล แต่ทว่าได้รับพระราชทานสร้อยทองวลัยทอง และภาชนะทองรองอาหารบริโภค และนางนกกระเรียนตัวนั้นไซร้ ชาวชะแม่พระสนมกำนัลทั้งปวง ชวนกันให้นามเรียกว่านางระย้าย้อย เหตุว่านายช่างทองทำสายสร้อยสวมคอให้นั้นยานย้อยลงไปถึงกลางอก วันหนึ่งนางระย้าย้อยคิดสบายใจ จึงขึ้นบินร่อนราปีกหางในกลางอากาศ เล่นลมบนพอเหนื่อยแล้ว ก็ลงอาบน้ำในหนองแห่งหนึ่งอันมีอยู่ภายนอกพระนคร จึงเหลือบแลไปเห็นนางนกไส้ตัวหนึ่งจับอยู่ที่กอสามหาวมีตัวอันน้อยเท่านกกระจาบ สีกายหม่นๆ เหมือนหนึ่งสีผลหว้าแก่ จะงอยปากแดงดังสีดอกเซ่ง นางนกกระเรียนให้มีน้ำใจรักนางนกไส้เป็นกำลัง จึงร้องถามไปว่าดูกรนางนกไส้ ถิ่นฐานรวงรังของเจ้าอยู่ที่แห่งใด เจ้ามาบริโภคสิ่งไรเป็นอาหารอยู่ที่นี้ เราได้เห็นเจ้าก็มีจิตคิดรัก จะใคร่เข้าไปจับให้ใกล้เคียง สั่งสนทนาด้วยกับเจ้าตามวิสัยนก แต่หากกลัวว่าเจ้าจะมิรักก็จะบินหนี นางนกไส้จึงตอบไปว่าอันตัวข้าน้อยนี้ ทำรังอยู่ยังต้นเต่าร้างริมขอบหนอง บัดนี้มาเที่ยวหาเกสรดอกสามหาวบริโภคเป็นอาหาร ซึ่งท่านว่าให้มีใจรักตัวข้านี้ฟังดูก็มิบังควรยิ่งนัก ด้วยตัวท่านเป็นชาตินกใหญ่ อาจถาบถาราร่อนขึ้นไปได้ถึงกลางอากาศ อันข้านี้เป็นแต่ชาตินกน้อย ได้แต่บินไปจับพฤกษาต้นโน้นแล้วมาต้นนี้ จะมักใหญ่ใฝ่สูงเข้าใกล้เคียงกับท่านนั้นเห็นไม่สมควร ข้าจะขอถามท่านบ้าง อันสถานที่รวงรังของท่านนั้นอยู่ยังด้าวแดนใด ท่านมาถึงหนองน้ำตำบลนี้ด้วยประสงค์สิ่งไรหรือๆ จะแกล้งมาพูดล้อล่อลวงใจข้าผู้เป็นนกน้อยเล่นแล้วก็จะกลับไป นางนกกระเรียนได้ฟังถ้อยคำนางนกไส้กล่าวดังนั้นก็ยิ่งมีจิตคิดรัก จึงตอบว่าดูกรนางนกไส้ อันตัวเรานี้อยู่ในพระราชอุทยานของสมเด็จพระเจ้าวัฒนาราช เราสำหรับได้ถวายเสียงร้องบำเรอพระทัยกรุงกษัตริย์ทุกทิวาวันคืนมิรู้ขาด จนได้รับพระราชทานสร้อยทองวลัยทอง ซึ่งเรามาถึงหนองน้ำในวันนี้ ใช่จะมาด้วยธุระอื่นนั้นหามิได้ เรามาด้วยมีความปรารถนาจะใคร่พบเจ้า หวังจะชวนพูดเล่นเจรจาให้สบายใจ อันธรรมดาเป็นสกุณวิหคด้วยกัน ถึงจะเป็นชาตินกใหญ่นกน้อยต่างภาษากันก็ดี สุดแต่ว่าน้ำจิตคิดรักกันแล้วก็อยู่ร่วมรวมรังด้วยกันได้ เราว่านี้เป็นความจริงใจมิใช่จะแกล้งพูดล่อลวงให้เจ้าลุ่มหลง อย่ามีความรังเกียจเลย เจ้าจงมาจับไม้กิ่งนี้ให้เราเชยชมรูปร่างให้อิ่มรัก จะได้เป็นไมตรีกันไปในวันหน้า นางนกไส้ได้สดับถ้อยคำดังนั้น ก็ให้กระสันเสียวจิตคิดรักนางนกกระเรียนยิ่งนัก จึงนิ่งนึกในใจว่านางนกกระเรียนมาพูดจาอ่อนหวานเห็นปานดังนี้ น่าจะมีน้ำใจรักเราจริง อันตัวเราก็เป็นชาตินกน้อย แม้ได้เป็นมิตรไมตรีด้วยนางนกกระเรียนชาตินกใหญ่ อันมีวาสนาได้ใส่สร้อยทองวลัยทอง เห็นทิชาชาติทั้งหลายก็จะนับถือเกรงกลัว สรรเสริญเราว่านางนกไส้ตัวนั้นได้เป็นมิตรกับนางนกกระเรียนดูน่าอัศจรรย์นัก คิดแล้วนางนกไส้ก็สนองวาจานางนกกระเรียนว่า อันตัวข้าน้อยนี้เป็นนกน้อยก็ต้องเจียมตัว กลัวแต่ท่านจะล่อลวงอย่างเดียว แม้ข้าจะเข้าใกล้เคียงพูดเล่นเจรจา เป็นมิตรไมตรีด้วยดั่งถ้อยคำของท่านว่า เห็นก็จะไม่ได้นานช้าสักเพียงใด ประเดี๋ยวหนึ่งท่านก็จะกลับเข้าไปยังราชอุทยาน ตัวข้านี้อยู่ภายหลังก็จะตั้งแต่รัญจวนจิต คิดถึงท่านทุกคืนวันมิรู้วาย เพราะเหตุดังนี้จึงสู้ขัดแข็งถ้อยคำท่าน ขอท่านอย่าได้ถือโทษเลย นางนกกระเรียนจึงตอบว่านี่แน่ะนางนกไส้ ซึ่งเจ้ามีความวิตกว่าเราจะทิ้งเจ้าเสียนั้นไม่ควรคิด อันความที่เรารักเจ้าแม้จะเปรียบก็เหมือนด้วยดวงจิตใครหรือจะให้จากร่าง แม้เจ้ากับเราได้เป็นมิตรไมตรีกันแล้ว เราก็จะพาเจ้าเข้าไปอยู่ยังราชอุทยานด้วยกันให้เป็นผาสุกสนุกสนานสำราญใจ แม้เจ้าปรารถนาบริโภคอาหารสิ่งใดก็สารพัดจะมีบริบูรณ์ทุกสิ่ง ครั้นว่าเท่านั้นแล้ว นางสกุณโกญจนาทก็ขึ้นจากน้ำสลัดขนแผ่หางกางปีกออกผึ่งแดดพลาง ทางเรียกนางนกไส้ให้มาไซร้ขน ต่างพูดจาตามวิสัยโดยชั้นภาษาวิหคเพลิดเพลินใจ ไปจนพระสุริฉายบ่ายแสงจวนจะย่ำสนธยา นางนกกระเรียนคิดจะกลับมาคืนยังรวงรัง จึงให้นางนกไส้ขึ้นเกาะหลังแล้วก็พาบินมายังราชอุทยาน


ตั้งแต่นั้นมานางนกกระเรียนกับนางนกไส้ก็อยู่หลับนอนร่วมรังเดียวกัน อันว่าความบันเทิงเริงรื่นก็บังเกิดมีแก่นางนกทั้งสองทุกทิวาราตรี นางนกกระเรียนนั้นก็ลืมเพลาที่จะร้องถวายเสียงแก่กรุงกษัตริย์ ลางเวลาระลึกได้ก็มา ลางเวลาก็มาทันแต่ครึ่งแต่กลาง มิได้เป็นใจที่จะเปล่งศัพท์สำเนียงส่งเสียงร้องบำเรอให้ไพเราะ ด้วยน้ำจิตคิดแต่จะใคร่กลับคืนไปรวงรังอยู่กับนางนกไส้ จนพระสนมกำนัลทั้งหลายต่างติเตียนว่านางระย้าย้อยเดียวนี้ร้องไม่ไพเราะ สุ้งเสียงเราฟังดังกะตะๆ เรียกตามภาษามนุษย์ว่าให้ไอให้จาม อันว่านางระย้าย้อยนั้นครั้นสิ้นเพลาบำเรอแล้ว ก็รีบกลับไปรั้งมิได้ยั้งหยุด พึงใจแต่จะให้นางนกไส้เข้าซอกไซ้ตีปีกใต้หางไม่ว่างเว้น กับฝูงนางสกุณาโกญจาทั้งหลายซึ่งเป็นชาติภาษาเดียวกัน เคยพูดเล่นเจรจามาแต่ก่อนก็ละเลยลืมเสียสิ้น ฝ่ายว่านางนกไส้ก็อุตส่าห์ประพฤติตามน้ำใจนางนกกระเรียนไปทุกอย่างมิให้ขัดเคือง ครั้นถึงเพลาแสบท้องก็ไปบริโภคดอกเต่าร้าง และยางบัวยาวเป็นอาหารทุกๆ วัน


อยู่มานางนกไส้ให้มีจิตกำเริบขึ้น ด้วยถือตัวว่าได้เป็นที่รักของนางระย้าย้อย จึ่งออกเที่ยวพูดพลอดฉอดฉ่อยป้อยปากถากถางกระทบกระเทียบเปรียบปรายร่ายเร่ยุแยงแสร้งใส่ความ อ้างให้ถามนางระย้าย้อยก็พลอยรับ กลับเอาความข้างนี้ไปชี้ข้างนั้น จนเกิดทะเลาะวิวาทกันอื้อๆ ฉาวๆ แตกร้าวปราศจากสามัคคีรสกันไปสิ้นทั้งฝูงนางสกุณโกญจา ใครเห็นหน้านางนกไส้ก็ให้รังเกียจเกียดกลัวไม่พ้องพาน ตั้งแต่นั้นมานางนกกระเรียนทั้งหลายก็มิได้มีความผาสุกสนุกสบายเหมือนเช่นหลัง ใช่แต่เท่านั้นอันว่าความวิบัติอุบาทว์บ้านอุบาทว์เมือง ก็บังเกิดมีแก่กรุงกษัตริย์วัฒนานคร เป็นต้นว่าน้ำมากท่วมสวนผลไม้ไร่นาประชาราษฎรให้สูญเสียจนข้าวยากหมากแพง ทั้งมงคลคชสารและสินธพชาติ อันเป็นที่นั่งต้นก็ล้มเสียมากหลาย จนชั้นมยุราปลาเต่าเป็นของเลี้ยงสำหรับทรงประพาสก็พลอยฉิบหายตายสิ้น


ครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้าวัฒนราชบรมกษัตริย์ เห็นภัยอันตรายก็หลากพระทัยนัก จึ่งดำรัสถามราชปุโรหิต ว่าอาณาประชาราษฎรได้ความยากแค้นด้วยบ้านเมืองวิบัติคือน้ำมาก ท่านอาจหยั่งปัญญาพิเคราะห์เห็นว่าจะเป็นด้วยเหตุดังไร ราชปุโรหิตจึงกราบทูลว่า ข้าพระองค์ก็ได้คำนวณสวนสอบชะตาพระนครกับนพเคราะห์ฤกษ์บนและเหตุลางต่างๆ จะเห็นวิบัติสักสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็หาไม่ แต่มาสงสัยใจอยู่ด้วยฝูงสกุณาโกญจาในราชอุทยานนั้น เห็นหาเป็นปกติเหมือนแต่ก่อนไม่ ข้าพระองค์เคยเศกอาหารไปให้บริโภคครั้งใด ก็ย่อมมารับพระราชทานพร้อมมูลกันทุกครั้ง กาลบัดนี้นางนกกระเรียนซึ่งเรียกชื่อว่าระย้าย้อยนั้น เห็นแตกร้าวกับนางนกทั้งหลาย ถ้านางนกทั้งหลายมาบริโภคอาหารอยู่ก่อนแล้ว แต่พอเห็นนางระย้าย้อยมาก็พากันไปเสียสิ้น บางทีแม้นางระย้าย้อยมาบริโภคอาหารอยู่ก่อน นางนกทั้งหลายจะได้มาบริโภคด้วยนั้นหามิได้ ข้าพระองค์พิเคราะห์ดูเห็นว่าเหตุจะมีสักสิ่งเป็นแม่นมั่น แต่ยังหาได้ขึ้นค้นคว้าดูที่รวงรังให้เห็นเหตุไม่ ด้วยกลัวว่าฝูงสกุณาโกญจาจะตกใจแตกตื่นไปเสียสิ้น พระเจ้าวัฒนราชได้ทรงสดับดังนั้น จึงสั่งราชปุโรหิตว่าท่านเร่งไปคิดอ่านจับเอาเหตุวิบัติให้จงได้ในกาลบัดนี้ ราชปุโรหิตรับราชบรรหารแล้วก็ไปยังราชอุทยาน เรียกยายมาลาการไต่ถามว่า ดูกรยาย บัดนี้เราเห็นฝูงนางนกกระเรียนทั้งหลาย หามาบริโภคอาหารเป็นนิจ ยังจะเห็นเหตุเพศผลเป็นประการใดบ้างแลหรือ ยายมาลาการก็สนองคำราชปุโรหิต ว่าข้าแต่ท่าน ในสองสามเดือนนี้ ข้าพเจ้าเห็นนกน้อยตัวหนึ่ง มาอยู่ด้วยนางระย้าย้อยที่ในรัง เข้าไซ้ปีกไซ้หางให้วันละสองเพลาสามเพลา ถ้านางระย้าย้อยจะบินไปเข้าฝูงนางนกกระเรียนตัวใดแล้ว นกน้อยตัวนั้นก็บินตามไปด้วยทุกครั้ง แล้วก็เห็นนกน้อยตัวนั้นพูดพลอดด้วยเสียงเป็นอันดัง นางนกกระเรียนทั้งหลายต่างตัวก็บินหนีไปสิ้น และนกน้อยตัวนั้นสีกายม่วงหม่นๆ ขนข้างยานยุ่งหยอง มีจะงอยปากแดงดังแต้มชาด เที่ยวจิกกินดอกเต่าร้าง ยางใบบัวยาว เกสรสามหาว ในสระนี้ทุกเพลาเช้าเย็น ข้าพเจ้าได้เห็นสิ่งประหลาดในราชอุทยานแต่เท่าที่แถลง นอกจากนี้จะได้เห็นสิ่งใดแปลกสังเกตตา กว่าแต่ก่อนนั้นหามิได้ ราชปุโรหิตครั้นได้ฟังคำยายมาลาการแจ้งดังนั้น ก็นิ่งนึกตรึกตรองเห็นว่าชะรอยนางระย้าย้อยจะบินไปเที่ยวถึงป่า ชักพาเอานกไส้อันเป็นของอุบาทว์ใหญ่เข้ามาไว้ในราชอุทยาน จึงให้เกิดอุบัติเหตุต่างๆ ดังนี้ ครั้นเพลาพลบค่ำ ราชปุโรหิตก็ให้บุรุษอันมีกำลังปีนต้นพฤกษาขึ้นไปค้นดูในรังนางระย้าย้อย ก็จับได้นางนกไส้ตัวนั้นลงมาส่งให้ปุโรหิต ราชปุโรหิตก็ให้เอานางนกไส้ใส่กระโปรงขังไว้จนเพลารุ่งเช้า แล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระเจ้าวัฒนราช ทูลแถลงแจ้งประพฤติเหตุซึ่งจับตัวนางนกไส้อันเป็นอุบาทว์เมืองนั้นได้ ให้บรมกษัตริย์ทรงทราบทุกประการ พระเจ้าวัฒนราชก็สิ้นสิ่งวิตก จึงดำรัสถามราชปุโรหิตว่า บัดนี้เราก็จับตัวอุบาทว์ได้แล้ว ท่านจะให้ทำเป็นประการใดหรือ บ้านเมืองจึงจะพ้นภัยอันตรายให้มีความจำเริญสวัสดิมงคล ทั่วทั้งไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินได้ความสุขเป็นปกติเหมือนแต่หลัง ราชปุโรหิตก็กราบทูลว่า ขอพระองค์จงโปรดให้กระทำการพระราชพิธีเสียเคราะห์พระนคร แล้วให้ทำแพด้วยไม้สะเดาปักกิ่งชบา เอานางนกไส้ใส่กระโปรงให้มีน้ำท่าอาหารบริโภค แล้วแขวนประจานลอยไปตามกระแสน้ำไหล กับขอให้เขียนอักษรเป็นพระราชบัญญัติ ห้ามอย่าให้นรชนชายหญิงเอานางนกไส้ตัวนี้ขึ้นเลี้ยงไว้ในบ้านในนิคมเป็นอันขาด แม้แพจะเข้าติดเข้าเกยอยู่แห่งใดตำบลใด ใครเห็นก็ให้เสือกไสลอยไปเสีย จนตกท้องพระมหาสมุทร กับขอให้เนรเทศนางนกระย้าย้อยเสียจากพระราชอุทยานด้วย แม้ได้กระทำการเสียเคราะห์เมืองดังนี้แล้ว อันวาอุบาทว์จัญไรก็จะอันตรธานสูญหาย กรุงวัฒนราชมหานครคงจะคืนไพบูลย์พูนสุขเหมือนเช่นหลัง ทั้งพระองค์ก็จะทรงพระจำเริญ ด้วยพระโชคลาภบริบูรณ์ยิ่งกว่าแต่ก่อน สมเด็จพระเจ้าวัฒนราชได้ทรงฟังจึ่งสั่งราชบุรุษอันเป็นเจ้าพนักงานให้จัดแจงการทั้งปวงกระทำตามราชปุโรหิตกราบทูลทุกประการ แล้วบรมกษัตริย์จึงตรัสถามราชปุโรหิตสืบต่อไปว่า อันนกไส้นี้ไซ้ก็นับเข้าในหมู่ทิชาชาติ เหตุใดจึ่งได้เป็นตัวอุบาทว์แรงร้ายเห็นปานดังนี้ อนึ่งเล่า สรรพสัตว์จำพวกดังนี้ ก็จัดเป็นอุบาทว์ร้ายแรงอีกบ้าง ท่านจงบรรยายไปตามตำหรับไตรเพทให้เราสิ้น วิมุติสงสัยจงพิสดาร ราชปุโรหิตจึงกราบทูลว่า สัตว์จตุบาทวิบาทอันเป็นตัวอุบาทว์บ้านเมืองนั้นมีอยู่ ๒ จำพวก คือนกไส้นี้จำพวก ๑ เป็นสัตว์ ๒ เท้า คือเหี้ยจะกวดอีกจำพวก ๑ เป็นสัตว์ ๔ เท้า ควรจะอยู่แต่ในป่าในท่าน้ำ แม้เข้ามาในราชธานีได้แล้ว ก็เป็นอุบาทว์ให้บังเกิดวิบัติต่างๆ ทั่วทั้งราชอาณาเขตพระนครนั้น ถ้าเข้าบ้านและนิคมใดๆ บ้านนั้นนิคมนั้นก็ย่อมจะเกิดภัยอันตรายมีไฟไหม้เรือนเป็นต้น และลักษณะนางนกไส้นั้นมีร่างกายผอม สีหม่นขนดกกระด้างหยาบยาวยุ่งหยุกหยุย ถ้าถูกเนื้อมนุษย์เข้าแล้ว ก็เจ็บแสบไปสิ้นวันยังค่ำ อันน้ำใจก็มักกำเริบโทโสร้าย มีแต่จะชักแช่งสาบานจนคชสารก็ไม่ลดละ แม้วิหคจำพวกใดไปคบหาอยู่ร่วมรังเช่นนางนกระย้าย้อยฉะนี้แล้ว นกไส้ก็มีจิตกำเริบหยิ่งเย่อขึ้นเทียว พูดพลอดฉอดฉ่อยไปต่างๆ ด้วยว่าบริโภคดอกเต่าร้าง ยางบัวใบยาว เกสรสามหาว เป็นอาหาร จึ่งให้คันปากอยากพูดพล่อยอยู่เป็นนิจ อนึ่ง เหี้ยจะกวดนั้นเล่ามีลิ้นเป็น ๒ ลิ้น สันดานง่วงงุนน้ำใจไม่ยั่งยืน ถึงมาตรว่าจะมีผู้เอามาเลี้ยงให้ประเสริฐเลิศล้ำสักปานใดก็ดี สัญชาติว่าเหี้ยจะกวดแล้ว ที่จะเจรจาสัจจริงนั้นหาได้ไม่ ด้วยว่าลิ้นเป็น ๒ ลิ้นมีแต่จะกล่าวเท็จเป็นธรรมดา แล้วก็พึงใจแต่ที่จะซุกซ่อนนอนหลับ จนลืมเวลาแสวงหาอาหารบริโภค ทั้งประเวณีการสังวาสก็ไม่เป็นคู่ๆ กันยั่งยืน เหมือนสัตว์บกสัตว์น้ำทั้งหลาย ย่อมปนละวนกันไปโดยน้ำใจมักมาก เพราะเหตุดังนั้นอันสัตว์ ๒ จำพวก คือนกไส้และเหี้ยจะกวดนี้จึงได้เป็นอัปมงคล แม้เข้าบ้าน เมืองใดก็เกิดอุบาทว์ ให้วิบัติด้วยภัยอันตรายต่างๆ ขอจงทราบเบื้องบาทดังข้าพระองค์กราบทูล เหตุลามกสัตว์ ๒ จำพวกโดยคัมภีร์ไตรเพท สมเด็จพระเจ้าวัฒนราชได้ทรงสดับก็สิ้นวิมุติกังขา จึ่งออกพระโอษฐ์ตรัสสรรเสริญราชปุโรหิตว่าท่านมีปัญญารู้เหตุการณ์รอบคอบประเสริฐนัก สมควรที่เป็นราชปุโรหิต สำหรับแก้กันภยันตรายอันเกิดกับบ้านเมือง ให้สมณชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎรได้อยู่เย็นเป็นสุข ด้วยอำนาจปัญญาของท่าน แล้วบรมกษัตริย์ก็พระราชทานรางวัลให้แก่ราชปุโรหิตเป็นอันมาก ตั้งแต่นั้นมากรุงวัฒนานัคเรศก็เป็นปกติ บริบูรณ์ด้วยธัญญาหาร ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินก็พ้นจากทุกข์ภัยคือไข้เจ็บ สมเด็จพระมหากษัตราธิราชเจ้าก็ทรงพระจำเริญด้วยโชคลาภต่างๆ มีนรชาติชายหญิงอันอยู่ภายนอกพระราชอาณาเขต สามิภักดิ์พาครอบครัวมาสู่พระบรมโพธิสมภารมากกว่าแสน ทั้งได้พระยาคชสารศรีเศวตอันเป็นมงคล เฉลิมพระเกียรติกรุงกษัตริย์ สารพัดจะบริบูรณ์พูนเกิดทุกสิ่งทุกประการ


และนิทานนางนกกระเรียนซึ่งข้าน้อยกล่าวนี้ ก็ควรบุคคลได้สดับตรับฟังจะพึงจำไว้สั่งสอนใจ อย่าได้ประพฤติต้นตรงปลายคด ประหนึ่งนางสกุณโกญจาระย้าย้อย เสียแรงอุตสาหะพากเพียรจนมีวาสนาได้ใส่สร้อยทองวลัยทอง แล้วและกลับทำทุจริตไปคบมิตรอันเป็นบาปมิตร นักปราชญ์ท่านย่อมติเตียน อันธรรมดาเกิดมาเป็นสัตว์ก็ดี เป็นบุคคลก็ดี ก็ควรจะมีมิตรสหายสิ้นด้วยกัน ถ้าผู้ใดคบมิตรซึ่งเป็นกัลยาณมิตรแล้ว นักปราชญ์ท่านก็พึงสรรเสริญว่าผู้นั้นกระทำชอบ อันว่าคิดถูกและคิดผิด พูดจริงและพูดเท็จ ใจซื่อและใจคด ยั่งยืนและโลเล เรียบร้อยและเล่นตัว สุภาพและดีดดิ้น ปกติและมารยา มักตื่นและมักหลับ มีสติและลืมหลง อุตสาหะและเกียจคร้าน ทำดีและทำชั่ว กัลยาณมิตรและบาปมิตร คำสุภาษิตสองประการนี้ข้าน้อยก็จะพึงประพฤติอย่างหนึ่ง จะละเสียอย่างหนึ่ง อันจะทำโลเลแล่นไปแล่นมา เช่นนิทานนางนกกระต้อยติวิด และจะทำชั้นเชิงมารยาเล่นตัวเหมือนอย่างนิทานนางคชสารทั้งสอง แลจะทำทุจริตลุอำนาจแก่ความรักดังนิทานนางสกุณโกญจาระย้าย้อย ไม่ถือตัวว่าเป็นชาตินกใหญ่ ไปคบนางนกไส้อันเป็นนกตัวน้อย จนได้ความอัประภาคยากที่จะไว้หน้า อย่าว่าแต่ชาตินี้เลย ข้าน้อยจะพึงกระทำได้สร้างกุศลครั้งใดก็ตั้งใจกรวดน้ำ ไม่ขอพบขอเห็นเช่นสัตว์สามจำพวกนี้เลย ตราบเท่าเข้านิพพาน และข้าน้อยผู้ชื่อว่านพมาศ จะตั้งใจทำกิจราชการให้มีชื่อเสียงปรากฏอยู่ในแผ่นดินให้จงได้

นางเรวดีให้โอวาทนางนพมาศ

ขณะนั้นพระศรีมโหสถผู้เป็นบิดาก็ออกวาจาว่าดีแล้วๆ เจ้าจงประพฤติให้ได้คงถ้อยคำของเจ้าให้จงทุกสิ่ง ครั้นเพลาบังควร หมู่ญาติและมิตรของบิดาต่างก็กลับไปยังบ้านเรือน ในราษราตรีวันนั้น มารดาข้าน้อยผู้มีนามชื่อเรวดี จึ่งให้โอวาทสั่งสอนว่า แม่ผู้เป็นที่รักของมารดาเจ้าจะไปอยู่ในพระราชนิเวศน์แต่ผู้เดียวไกลบิดามารดา เจ้าจงอุตส่าห์รักษาตัวทุกเช้าค่ำอย่าได้ประมาท ควรจะคารวะยำเกรงท่านผู้ใดจงนบนอบ แม่จะทำกิจราชการเฝ้าแหนจงประพฤติจริตกิริยาหมอบคลานให้เรียบร้อยต้องที่ต้องทางอย่าทำรีๆ ขวางๆ ให้เขาว่า อย่าทำเซ่อๆ ซ่าๆ ให้ท่านหัว อย่าประพฤติตัวเก้อๆ ขวยๆ ให้คนล้อ อย่าทำลับๆ ล่อๆ ให้เขาถาก อย่าทำโปกๆ ปากๆ ให้ท่านว่ากิริยาชั่ว จงแต่งตัวให้งามต้องตาคน จงประพฤติตนให้ต้องใจท่านทั้งหลาย จงฝากตัวมูลนายให้กรุณา คอยระวังเวลาราชการอย่าเมินประมาท ให้พระเจ้าแผ่นดินต้องเรียกหาคอยท่าตัวหาควรไม่ อันธรรมดาพระมหา กษัตริย์ย่อมมีพระราชธุระมากด้วยกิจการบ้านเมือง ถ้าผู้ใดทำใจเฉื่อยช้าจะไปมารับราชกิจมิได้ทันเพลานาที ก็มักขุ่นเคืองจะรังเกียจพระทัยเสียว่า คนๆ นี้จะแกล้งให้เสียงานเสียการก็หาใช้สอยต่อไปไม่ อนึ่งเล่าถ้าจะรับราชบรรหาร หูก็ให้ไวฟัง จงเข้าใจให้ทุกคำ จำก็ให้มั่น อย่าเอาสิ่งนั้นไปเป็นสิ่งนี้ อย่าแร่รี่ไปให้เกินพระราชบัญญัติ อันน้ำพระทัยพระมหากษัตริย์แล้วมากไปด้วยขัตติยะมานะ มิได้รู้อ่อนง้อขอรักบุคคลผู้ใดเป็นธรรมดา ถ้าใครจงรักภักดีมีปัญญาหยั่งรู้พระอัธยาศัย จะตรัสใช้สิ่งใดก็ได้ราชการ ก็ย่อมจะชุบเลี้ยงให้มียศถาบรรดาศักดิ์ ทั้งพึงพระทัยที่จะใช้สอย ถึงมาทว่าจะพลั้งผิดด้วยจิตประมาทขาดหน่อยเหลือหน่อยหนึ่งก็ดี แม้น้ำพระทัยยังเห็นว่าเป็นด้วยเคลิ้มสติไปบ้าง แต่อย่างนี้แล้วถึงจะผิดมากจนโทษควรจะขุ่นเคืองเป็นสาหัส พระมหากษัตริย์ก็จะยังทรงคิดถึงความดีซึ่งมีมาแต่หลัง เห็นพอจะหยุดยั้งพระทัยได้โดยทรงพระเมตตา ถ้าแม้ทำขาดๆ เหลือๆ เป็น ไปเนืองๆ แล้ว ก็คงจะเฉลียวพระทัยระแวงว่าแกล้งให้อ่อนง้อขอรัก ด้วยเชื่อรูป เชื่อวาสนา เชื่อทรัพย์สมบัติ เชื่อเวทมนต์ และเชื่อดี แม้จะมีสิ่งผิดแต่สักน้อยความก่อนเก่าก็จะพลอยเกิดขึ้นด้วยมานะกษัตริย์ อาจจะตัดความรักความอาลัยความเกรงใจความดีให้เด็ดขาดได้เป็นสิ้น ดังตัดหยวกตัดปลี เจ้าอย่ามีความประมาทนะแม่ผู้เป็นที่รักของมารดา ประการหนึ่ง อันพระมหาราชเทพีก็ควรหมู่พระสนมกำนัลจะฝากตัวกลัวเกรง ด้วยว่าเป็นใหญ่อยู่ในพระราชนิเวศน์วังสถาน ได้บัญชากิจราชการสิ้นเสร็จ เจ้าจงดูถ้าเห็นว่ามากไปด้วยริษยาพยาบาทเคียดขึ้งหึงหวงมักเก็บถ้อยมาร้อยเป็นความแล้ว เจ้าอย่าได้เอาตัวเข้าพัวพัน ให้เกิดกลียุคขุ่นเคืองเบื้องบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นอันขาดทีเดียว ซึ่งมารดาให้โอวาทสั่งสอนแต่สิ่งละอันพันละน้อยนี้ ด้วยเห็นว่าเจ้ามีปัญญาเฉลียวฉลาดรอบคอบรู้ชอบผิดชั่วดีอยู่กับใจเจ้าแล้ว ข้าน้อยได้สดับก็มีความยินดี จึ่งคำนับรับคำสอนจำใส่ใจไว้มั่นคง

นางเรวดีนำนางนพมาศเข้าถวายตัว

ครั้นเพลารุ่งเช้า เป็นวันศุกร์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๑๐ ค่ำ จุลศักราช ๖ ปีมะโรงฉศก ถึงวาระกำหนดข้าน้อยจะจากเคหะสถานไปอยู่ในพระราชนิเวศน์เป็นข้าบาทสมเด็จพระร่วงเจ้า และข้าน้อยมีอายุนับตามปีได้ ๑๗ ตามเดือนได้ ๑๕ ปี กับ ๘ เดือน ๒๔ วัน ในขณะเพลาเช้าวันนั้นเป็นวาระมหาสิทธิโชคฤกษ์ดี จึ่งท่านมารดาและหมู่ญาติทั้งหลายก็ตกแต่งกรัชกายให้ข้าน้อยตามตระกูลคหบดี เจือด้วยเพศพราหมณ์ คือให้ใส่ประวิตรสอดสายธุหร่ำ สร้อยอ่อนสามสาย ทัดจันทรจุฑามาศ แล้วข้าน้อยก็มาคำนับลาบิดรกับวงศาคณาญาติโดยสัจเคารพ พระศรีมโหสถผู้เป็นบิดาก็อวยชัยให้พรว่าเจ้าจงไปอยู่เป็นข้าบาทให้ปราศจากภยันตราย ทุกข์ โศก โรคร้อน สรรพสิ่งมิดี อย่าได้บังเกิดมีแก่เจ้าสักขณะจิตหนึ่งเลย จงมีความจำเริญสุขทุกๆ อิริยาบถให้ยิ่งด้วยเกียรติยศไปชั่วกัลปาวสาน อันว่าญาติพงศ์พันธุ์ก็อวยพรต่างๆ ตามปรารถนาของตนจะให้เป็นไปโดยความรัก ข้าน้อยก็มีจิตโสมนัสยินดีรับพรใส่เศียรเกล้าแล้วก็คำนับลา มาขึ้นยานระแทะประเทียบกับมารดาเล่มเดียวกัน บ่าวไพร่ก็ติดตามมาพอสมควร ครั้นถึงทวารพระราชนิเวศน์ข้าน้อยก็นบนิ้ววันทนาสังเวยเทพยดาซึ่งรักษาพระทวารว่า ข้าแต่เทพเจ้าผู้มีทิพโสตทิพจักษุจงเป็นสักขีพยาน แต่บรรดาสตรีภาพทั้งหลายซึ่งอยู่ในพระราชนิเวศน์วังสถาน ข้าพระองค์มิได้มีจิตคิดเป็นเวรชิงชังบุคคลผู้ใดเลย ขอให้ชนทั้งหลายจงอย่าได้เป็นเวรชิงชังข้าพระองค์ ด้วยอำนาจเทพเจ้าอภิบาลรักษา แล้วข้าน้อยก็ลงจากยานระแทะดำเนินตามมารดาเข้าในพระราชวัง ไปยังจวนตำแหน่งนั่งแห่งท้าวจันทรนาถภักดีและท้าวศรีราชศักดิโสภา อันเป็นใหญ่ในชะแม่พระกำนัล ท่านก็เรียกหาให้นั่งยังที่สมควร แล้วก็โอภาปราศรัยโดยฉันน้ำจิตเมตตากรุณา ข้าน้อยก็เคารพนบไหว้เป็นอันดี ครั้นเพลาขึ้นเฝ้าสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน ท่านก็ถือเอาพานข้าวตอกกับดอกมะลิ ให้ท่านมารดาถือพานข้าวสารให้ข้าน้อยถือพานเมล็ดพรรณผักกาด ให้ชาวชะแม่ผู้หนึ่งถือพานดอกหญ้าแพรก ของห้าสิ่งนี้โลกสมมุติว่าเป็นมงคล ท่านจึ่งพามารดากับข้าน้อยขึ้นสู่มุขกระสันอันเป็นที่เฝ้า ดูเดียรดาษไปด้วยหมู่พระสนมกำนัล เฝ้าทูลธุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามตำแหน่งผู้ใหญ่ผู้น้อย งามประดุจดาวล้อมเดือน ขณะนั้นท้าวจันทรนาถภักดีก็น้อมเศียรเกล้ากราบทูลเบิกว่า ข้าสรวมชีพ ข้าพระบาทออกพระศรีมโหสถ ยศกมเลศครรลัยหงส์ พงศ์มหาพฤฒาจารย์ ให้เรวดีอัครภรรยานำนพมาศผู้ธิดามาถวายเป็นข้าบาทบงกช โดยใจสวามิภักดี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดำรัสด้วยมารดาข้าน้อยตามพระอัชฌาสัย แล้วก็ให้พระราชทานรางวัลพอเป็นเกียรติยศ ดำรัสสั่งให้ข้าน้อยนี้รับราชการอยู่ในตำแหน่งนางพระสนม


ตั้งแต่วันนั้นมาข้าน้อยก็ได้เฝ้าแหนคอยสังเกตดูแบบแผนเยี่ยงอย่างท่านทั้งหลาย ซึ่งเคยกระทำราชกิจต่างๆ ที่ถูกต้องตามพระอัชฌาสัยอยู่ได้ห้าวัน

ว่าด้วยพิธีจองเปรียง

พอถึงการพระราชพิธีจองเปรียงในวันเพ็ญเดือน ๑๒ เป็นนักขัตฤกษ์ชักโคมลอยโคม บรรดาประชาชนชายหญิงต่างตกแต่งโคมชักโคมแขวนโคมลอยทุกตระกูลทั่วทั้งพระนคร แล้วก็ชวนกันเล่นมหรสพสิ้นสามราตรีเป็นเยี่ยงอย่าง แต่บรรดาข้าเฝ้าฝ่ายราชบุรุษนั้นต่างทำโคมประ-เทียบบริวารวิจิตรด้วยลวดลายวาดเขียนเป็นรูปและสัณฐานต่างๆ ประกวดกัน มาชักมาแขวนเป็นระเบียบเรียบรายตามแนวโคมชัยเสาระหงตรงหน้าพระที่นั่งชลพิมาน ถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงพระราชอุทิศสักการบูชาพระมหาเกศธาตุจุฬามณีในชั้นดาวดึงส์ ฝ่ายพระสนมกำนัลก็ทำโคมลอยร้อยด้วยบุบผชาติเป็นรูปต่างๆ ประกวดกันถวายให้ทรงอุทิศบูชาพระบวรพุทธบาทซึ่งประดิษ-ฐานยังนัมมทานที และข้าน้อยก็กระทำโคมลอยคิดตกแต่งให้งามประหลาดกว่าโคมพระสนมกำนัลทั้งปวง จึ่งเลือกผกาเกสรศรีต่างๆ ประดับเป็นรูปดอกกระมุทบานกลีบรับแสงพระจันทร์ใหญ่ ประมาณเท่ากงระแทะล้วนแต่พรรณดอกไม้ซ้อนสีสลับให้เป็นลวดลาย แล้วก็เอาผลพฤกษาลดาชาติมาแกะจำหลักเป็นรูปมยุรคณานกวิหคหงส์ ให้จับจิกเกสรบุปผชาติอยู่ตามกลีบดอกกระมุทเป็นระเบียบเรียบเรียง วิจิตรไปด้วยสีย้อมสดส่างควรจะทอดทัศนายิ่งนัก ทั้งเสียบแซมเทียนธูปและประทีปน้ำมันเปรียงเจือด้วยไขข้อพระโค ครั้นเพลาพลบค่ำสมเด็จพระร่วงเจ้าเสด็จลงพระที่นั่งชลพิมาน พร้อมด้วยพระอัครชายา พระบรมวงศ์และพระสนมกำนัลนางท้าวชาวชะแม่ทั้งปวง พราหมณ์ก็ถวายเสียงสังข์อันเป็นมงคล ชาวพนักงานก็ชักสายโคมชัยโคมประเทียบบริวารขึ้นพร้อมกัน เพื่อจะให้ทรงพระราชอุทิศสักการบูชาพระจุฬามณี ฝ่ายนางท้าวชาวชะแม่ก็ลอยโคมพระราชเทพีพระวงศานุวงศ์โคมพระสนมกำนัลเป็นลำดับกันลงมา ถวายให้ทอดพระเนตรและทรงพระราชอุทิศ ครั้นถึงโคมรูปดอกกระมุทของข้าน้อย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทอดพระเนตรพลางทางตรัสชมว่าโคมลอยอย่างนี้งามประหลาดยังหาเคยมีไม่ เป็นโคมของผู้ใดคิดกระทำ ท้าวศรีราชศักดิ์โสภาก็กราบบังคมทูลว่าโคมของนพมาศธิดาพระศรีมโหสถ ครั้นได้ทรงทราบก็ดำรัสถามข้าน้อยว่า ทำโคมลอยให้แปลกประหลาดจากเยี่ยงอย่างด้วยเห็นเหตุเป็นดังไร ข้าน้อยก็กราบบังคมทูลว่า ข้าพระองค์สำคัญใจคิดเห็นว่าเป็นนักขัตฤกษ์วันเพ็ญเดือน ๑๒ พระจันทร์แจ่มแจ้งปราศจากเมฆมลทิน อันว่าดวงดอกชาติโกสุมประทุมมาลย์มีแต่จะแบ่งบานกลีบรับแสงพระอาทิตย์ ถ้าชาติอุบลเหล่าใดบานผกาเกสรรับแสงพระจันทร์แล้ว ก็ได้ชื่อว่าดอกกระมุท ข้าพระองค์จึ่งทำโคมลอยเป็นรูปดอกกระมุท ซึ่งบังเกิดมีอยู่ยังนันมทานที อันเป็นที่พระบวรพุทธบาทประดิษฐาน กับแกะรูปมยุราคณานกวิหคหงส์ประดับ และมีประเทียบเปรียงเจือด้วยไขข้อพระโค ถวายในการทรงพระราชอุทิศครั้งนี้ ด้วยจะให้ถูกต้องสมกับนักขัตฤกษ์วันเพ็ญเดือน ๑๒ พระราชพิธีจองเปรียง โดยพุทธสาสน์ไสยศาสตร์ ครั้นสมเด็จพระร่วงเจ้าได้ทรงสดับ ก็ดำรัสว่าข้าน้อยนี้มีปัญญาฉลาดสมที่เกิดในตระกูลนักปราชญ์ กระทำถูกต้องควรจะถือเอาเป็นเยี่ยงอย่างได้ จึ่งมีพระราชบริหารบัญญัติสาปสรรค์ว่า แต่นี้สืบไปเบื้องหน้า โดยลำดับกษัตริย์ในสยามประเทศ ถึงกาลกำหนดนักขัตฤกษ์วันเพ็ญเดือน ๑๒ พระราชพิธีจองเปรียงแล้ว ก็ให้กระทำโคมลอยเป็นรูปดอกกระมุท อุทิศสักการะบูชาพระพุทธบาทนัมมทานที ตราบเท่ากัลปาวสาน อันว่าโคมลอยรูปดอกกระมุทก็ปรากฏมาจนเท่าทุกวันนี้ แต่คำโลกสมมุติเปลี่ยนชื่อเรียกว่าลอยกระทงทรงประทีป เหตุดังนี้ข้าน้อยผู้ชื่อว่านพมาศ ก็ถึงซึ่งมีชื่อเสียงปรากฏอยู่ในแผ่นดินได้อย่างหนึ่ง


อันราชประเพณีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยทรงประพฤติมาแต่ก่อน ถ้าทอดพระเนตรชักโคมลอยโคมแล้ว ก็เสด็จทรงเรือพระที่นั่งไปถวายดอกไม้เพลิง บูชาพระรัตนตรัยทุกพระอารามหลวง บรรดาที่อยู่ริมฝั่งนทีจนรอบกรุง ทั้งทรงทอดบังสุกุลจีวร ทรงพระราชอุทิศถวายพระภิกษุสงฆ์อันพึงปรารถนานั้นด้วย แล้วก็ทรงทอดพระเนตรทรงฟังประชาชนชายหญิงร้องรำเล่นนักขัตฤกษ์เป็นการมหรศพต่างๆ สำราญราชหฤทัยทั้งสามราตรี และเมื่อจะเสด็จนั้น ลางทีก็ดำรัสเรียกพระอัครชายา พระบรมวงศ์ลงเรือพระที่นั่งไปด้วย บางทีก็สั่งให้นางบำเรอสำหรับขับร้อง และนางพระสนมผู้สนิทไปลงเรือที่นั่งตามเสด็จ และในราตรีขึ้น ๑๔ ค่ำวันนั้น สมเด็จพระร่วงเจ้าทรงลอยโคมแก้ว ก็ลงเรือพระที่นั่งชื่อประพาสแสงจันทร์ เสด็จด้วยนางบำเรอ จึงมีพระราชบรรหารดำรัสเรียกให้ข้าน้อยลงเรือพระที่นั่งไปด้วย ครั้นเสด็จไปถึงหน้าพระอารามแห่งใดชาวพนักงานก็จุดดอกไม้เพลิง พุ่มพะเนียงพลุระทากระถาง แสงสว่างกระจ่างจับผนังหลังคาพระพิหารการบุเรียน อร่ามงามชวนน้ำจิตให้มีประสาทศรัทธาเลื่อมใสโสมนัส ทั้งน่าชมเรือนร้านม้าผ้ายังสุกุลประดับด้วยโคมปักโคมห้อยสว่างไสวจอดเรียงรายถวายให้ทรงจบพระหัตถ์ มีทุกท่าพระอารามหลวง และหน้าบ้านร้านแพเหล่าตระกูลทั้งหลาย ก็ตกแต่งห้อยแขวนโคมประทีปพวงบุบผามาลัยผูกระใบศรีต่างๆ ตั้งโต๊ะแต่งเครื่องสักการบูชาประกวดกันทั้งสองฟากฝั่งนที แสงสว่างดุจทิวาวันเดียรดาษด้วยนาวาประชาราษฎรตีฆ้องกลองขับร้องเพลงเกริ่นเพลงกรายโชยชายเห่ช้าชมเดือน ทั้งดนตรีดีดสีสังคีต อันเหล่เรือประเทียบท้าวพระยาพระหลวงก็แห่ผ้าบังสุกุล ไปเที่ยวทอดถวายพระสงฆ์เจ้าในพระอารามต่างๆ ล้วนแต่แต่งกรัชกายนุ่งผ้ารัดครีห่มสีแดงสุกแดงแสดแซมซ้องผมด้วยพวงผกาเกสร แสงพระจันทร์จับนวลหน้าลออเอี่ยม บ้างก็ขับเพลงพิณเพลงแพนเพลงดุริยางค์โหยหวนสำเนียงเสียงเสนาะน่าพึงฟัง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทอดทัศนามหาชนเล่นนักขัตฤกษ์สำราญราชหฤทัย จึ่งดำรัสให้ข้าน้อยนิพนธ์ผูกกลอน เป็นเพลงขับให้นางบำเรอร้องถวายในขณะนั้น ข้าน้อยคิดเกรงพระราชอาญายิ่งนัก แต่อุตส่าห์แข็งใจนิพนธ์กลอนว่า

๏ ข้าน้อยนพมาศอภิวาทบาทบงสุ์ด้วยจงจิตต์
ยังนิพนธ์กลกลอนอ่อนความคิดอันชอบผิดขอจงโปรดซึ่งโทษกรณ์
เป็นบุญตัวได้ตามเสด็จประพาสนักขัตฤกษ์ประชาราษฎร์สโมสร
สว่างไสวไปทั่วทั้งนครทิฆัมพรก็แจ่มแจ้งแสงจันทร์เอย ฯ
             
๏ น่าแสนสำราญจิตต์ทั้งสิบทิศรุ่งเรืองดังเมืองสวรรค์
สงสารแต่พระสนมกำนัลมิได้เห็นเป็นขวัญนัยนา
แม้เสด็จด้วยที่นั่งบัลลังก์ขนานเวรอยู่งานและเจ้าจอมมาพร้อมหน้า
จะชวนกันเกษมเปรมปรีดาขอประทานโทษาข้าน้อยเอย ฯ
             

สมเด็จพระร่วงเจ้าได้ทรงสดับกลกลอนดังนั้น ก็แย้มพระโอษฐ์ทรงพระสรวล แล้วดำรัสว่าข้าน้อยกล้ากล่าว จะให้พาพวกพ้องมาเที่ยวดูการนักขัตฤกษ์เล่น โดยน้ำใจคิดเห็นว่าจะได้ผลได้ประโยชน์ดังไร ข้าน้อยก็ทูลสนองพระราชบัญชาว่า ข้าพระองค์ได้เห็นเรือประเทียบท้าวพระยา ล้วนแต่ตกแต่งเนื้อตัวนุ่งห่มสีสันต่างๆ ประกวดกันดูก็งดงาม อันพระสนมกำนัลทั้งปวง ย่อมได้รับพระราชทานสรรพเครื่องอลังการาภรณ์ทั่วกัน และเมื่อมิได้ตกแต่งกรัชกายในการนักขัตฤกษ์แล้ว ก็จะทอดทิ้งให้เศร้าหมองเสียสีอันตรธานเสียด้วยสิ้นรัก ขึ้นชื่อว่าเป็นสตรีมีอิสริยยศแล้ว ย่อมรักใคร่ในการที่จะตกแต่งกายาสิ้นทุกตัวคน ถึงจะตกแต่งอยู่ในพระราชฐานสักร้อยครั้ง ก็ไม่สบายใจเท่าได้แต่งในการออกหน้าแต่ครั้งหนึ่ง และนักขัตฤกษ์จะมีก็ปีละครั้งคราว ข้าน้อยอยากจะใคร่ได้เห็นทั่วๆ กัน จึ่งกล้ากราบทูลดังนี้ สมเด็จพระร่วงเจ้าก็ทรงดุษณีภาพในความเรื่องนี้ ดำรัสกิจอันอื่นโดยพระราชอัชฌาสัย ครั้นบังควรกับเพลาแล้ว ก็เสด็จกลับยังพระราชนิเวศน์ จึ่งมีพระบัญชาสั่งชาวพนักงานทั้งหลายว่า ยังนักขัตฤกษ์อีกสองราตรี เราจะไปเที่ยวประพาสเล่นด้วยนาวาขนาน ท่านจงเตรียมการไว้ให้พร้อม ฝ่ายพระสนมกำนัลครั้นได้ทราบว่าจะได้โดยเสด็จก็ยินดีปรีดา ไม่ว่าเป็นเวรอยู่งานของผู้ใด แต่เพลาเย็นต่างก็จัดแจงแต่งกรัชกาย นุ่งห่มผ้าลิขิตพัสตร์ผ้าสุวรรณพัสตร์ปกปิดด้วยเครื่องอลังการาภรณ์ เสียบแซมผกามาสผกาเกสรในช้องผม ผัดผิวหน้านวลงามดังนางเขียนแต่งคิ้วให้ค้อมดุจเส้นวาด อันพระสนมกำนัลจำพวกหนึ่งเป็นคนรู้มากมักบอกแต่เจ็บไข้ พึงใจจะทำราชกิจแต่เมื่อคราวจวนๆ จะแจกจ่าย ก็ได้รับพระราชทานสรรพสิ่งที่อย่างเลวพอสมกับเกียจคร้าน ครั้นถึงที่จะมีการออกหน้าต้องตกแต่งก็คิดอายด้วยไม่เทียมเพื่อน จะนั่งอยู่ก็ไม่ได้ด้วยอยากจะใคร่เห็น ต้องเสือกสนขวนขวายจนสิ้นฤทธิ์ ไม่สมความปรารถนาแล้วก็ต้องจนใจ กลับได้คิดโทมนัสติเตียนตัว ว่ากูเอ๋ยรูปร่างหน้าตาก็เทียมท่าน แต่ประพฤติสันดานเป็นคนแชเชือนจะได้สิ่งใดก็ไม่เหมือนเขา จนต้องนอนนิ่งอยู่กับวัง น่าอัปยศอดสูแก่ผู้คนบ่าวไพร่ ตั้งแต่นี้ไปเบื้องหน้าจะอุตส่าห์พากเพียรให้เสมอพวกพ้องเป็นคนดีให้จงได้ ถ้าท่านผู้ใดกลับใจได้คิดเมื่อครั้งนั้น ก็นับว่ากลับตัวได้ด้วยเหตุคือปัญญาของข้าน้อยนพมาศ และในเพลาราตรีอันเป็นคำรบสองคำรบสามนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทรงประพาสการนักขัตฤกษ์ด้วยเรือพระที่นั่งบัลลังก์ขนาน พร้อมด้วยพระอัครชายา พระราชประยูรวงศา พระสนมกำนัล ซึ่งสนิทและประจำเวรอยู่งาน ทั้งนางบำเรอสำหรับขับร้องสำราญราชหฤทัยด้วยสโมสรพร้อมเพรียง จึ่งดำรัสให้ข้าน้อยนิพนธ์กลกลอนเป็นเพลงขับ ให้นางบำเรอร้องเชยชมพระนครบ้าง และชมแสงพระจันทร์ดวงดาวนักขัตฤกษ์ยี่ ๒๗ อันเดินประจำจักรราศีคือ อัสสนี ภรณี กัตติกา โรหิณี มิคเศียร อัทระ บุนพสุ บุษยะ อสิเลส มาฆะ บุพผล อุตรผล หัตถะ จิตระ สวัสดิ วิสาขะ อนุราธะเชฎฐะ มูละบุรพาสาธ อุตรา สาวนะ ธนิษฎฐะ สัตภิสชะ บุพภัทะอุตราภัทะ เรวดี โดยตำรับข้าน้อยได้เล่าเรียน บรรดาพระบรมวงศาและพระสนมกำนัลต่างบันเทิงเริงรื่น ด้วยได้เห็นได้ฟังหมู่มหาชนชาวพระนครเล่นการนักขัตฤกษ์ ทั้งได้ตกแต่งกรัชกายประกวดกัน ครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทอดพระเนตรลูกหลวงหลานหลวงนางสนมกำนัล แต่งกายงามกว่าแต่งตามธรรมดา ก็พึงพอพระราชหฤทัย จึ่งพระราชทานเครื่องอลงการาภรณ์พรรณผ้านุ่งห่มล้วนแต่อย่างดีมีค่า เพิ่มเติมให้ทุกหน้าคณานาง ข้าน้อยก็ได้รับพระราชทานสองเท่า พระสนมกำนัลทั้งปวงต้องเป็นคนใหม่ ตั้งแต่นั้นมาถึงพระราชพิธีจองเปรียงแล้ว สมเด็จพระร่วงเจ้าก็เสด็จทรงประพาสการนักขัตฤกษ์ พร้อมด้วยนางในทุกครั้ง จนได้เป็นตำราว่าเกิดขึ้นด้วยปัญญาข้าน้อยนพมาศ อันว่าหมู่พระสนมกำนัลทั้งหลายก็มีน้ำจิตรักใคร่ข้าน้อยด้วยเหตุสองประการ คือพระเจ้าแผ่นดินชุบเลี้ยงเสมอกันนั้นประการหนึ่ง คือเห็นความดีของข้าน้อยนั้นประการหนึ่ง แต่นั้นมาข้าน้อยก็ได้ทำกิจราชการรับใช้สอยในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งวิสาสะคุ้นเคยกับพระสนมกำนัลสิ้นทั้งพระราชนิเวศน์

ว่าด้วยพิธีตรียำปวายและพิธีตรีปวาย

ครั้นล่วงมาถึงเดือนอ้าย กาลกำหนดพระราชพิธีตรียำปวายและตรีปวาย เป็นการนักขัตฤกษ์ประชุมหมู่ประชาชนชายหญิงยังหน้าพระเทวสถานหลวง บรรดาหมู่ชะแม่นางในทั้งหลายก็ตกแต่งกรัชกายไปตามเสด็จสมเด็จพระร่วงเจ้า ดูไกวนางกระดานสาดน้ำรำเสนง และทัศนาชีพ่อพราหมณ์แห่พระอิศวร พระนารายณ์ ในเพลาราตรี ณ พระที่นั่งไชยชุมพล เกษมสานต์สำราญใจถ้วนทุกหน้า เป็นธรรมเนียมพระนคร

ว่าด้วยพิธีบุษยาภิเษก

เดือนยี่ถึงการพระราชพิธีบุษยาภิเษกเถลิงพระโคกินเลี้ยงเป็นนักขัตฤกษ์ หมู่นางในก็ได้ดูชุดชักว่าวหง่าว ฟังสำเนียงเสียงว่าวร้องเสนาะลั่นฟ้าไปทั้งทิวาราตรี

ว่าด้วยพิธีธานย์เทาะห์

เดือน ๓ ประชุมชาวพระนครเล่นเป็นนักขัตฤกษ์พระราชพิธีธานย์เทาะห์ขนข้าวเข้าลาน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จ ณ พระพลาชัย ให้พระสนมกำนัลนางระบำนางบำเรอ ที่มีรูปศิริวิลาศเป็นอันงาม แต่งตัวใส่เสื้ออย่างเทศอย่างมลายู ออกชักระแทะทองระแทะเงินระแทะสีต่างๆ เป็นคู่ๆ กัน ๑๐ คู่ ลากฟ่อนข้าวเข้าสู่ลานอันแวดวงด้วยราชวัติฉัตรธง มีพิดานห้อยย้อยด้วยพวงบุบผามาลัย และการมหรสพก็เล่นระเบง ระบำ จิริแทงเขน นางกะอั้ว ผัวแทงควาย หกขะเมน ไต่ลวด ลอดบ่วง รำแพน เสียงฆ้องกลองนี่สนั่นน่าบันเทิงใจ แล้วชาวพนักงานก็นำพระโคอุสุภราช โคกระวิน เข้ามาเทียมเกวียน พราหมณาจารย์ถือประตักเงินอ่านมนต์ขับพระโคให้บ่ายบาทเวียนนวดข้าว ครั้นสำเร็จเป็นสังเขปแล้ว นายนักการพระสุรัสวดีก็สงฟางขนไปกองไว้ในยัญกะลากูณฑ์ จึ่งพระครูพรหมพรตพิธีบูชาสมิทธิพระเพลิงด้วยด้วยสุคันธของหอม อ่านอิศวรเวทโหมกุณฑ์บันลือเสียงสังข์สามวาระแล้ว จึ่งเชิญพระเพลิงออกจุดเผาฟางและซังข้าว สมมุติว่าคลอกทุ่งเผาป่ากันอุปัทวจัญไร

ว่าด้วยพิธีสัมพัจฉรฉินท์

ครั้นเดือน ๔ ถึงการพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ โลกสมมุติเรียกว่าตรุษฝ่ายพุทธสาสน์ ชาวพนักงานก็ตั้งบาตรน้ำบาตรทรายจับด้ายมงคลสูตรใส่ลุ้งไว้ในโรงราชพิธีทั้ง ๔ ทิศพระนครและในพระราชนิเวศน์ จึ่งอัญเชิญพระพุทธปฏิมากรมาประดิษฐาน อาราธนาพระมหาเถรานุเถระ ผลัด เปลี่ยนกันมาจำเริญพระปริตรในโรงราชพิธีทุกตำบล สิ้นทั้งทิวาราตรีสามวาร และด้ายมงคลสูตรนั้นชาวพนักงานแจกให้พระบรมวงศานุวงศ์ทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน เมื่อวันพระมหาเถรเจ้าจำเริญพระอาฎานาฎิยสูตรในราตรี หมู่ทหารยิงปืนใหญ่รอบพระนคร ฝ่ายพราหมณาจารย์ประชุมกันผูกพรตกระทำการพระราชพิธีในพระเทวสถานหลวง ตั้งเครื่องพลีกรรมสังเวยบวงสรวงพระเทวรูปทั้งมวล มีพระปรเมศรเป็นต้น แล้วก็เปลี่ยนเวรกันอ่านอาคมในทิวาราตรีทั้งสาม ครั้นถึงวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เพลาบ่ายชายแสง พระครูพรหมพรตพิธีกับชีพ่อพราหมณ์ทั้งหลายก็เชิญจตุโลกบาลเทวรูปขึ้นเสลี่ยงงาแห่เข้ามายังโรงราชพิธีในพระราชนิเวศน์ กระทำปทักษิณสิ้นวาระสามรอบแล้ว พราหมณาจารย์ทั้งหลายก็สมาทานบัญจางคิกศีลในสำนักสมเด็จพระสังฆราชา เสร็จแล้วก็แห่พระเทวรูปทั้ง ๔ ออกไปประดิษฐานไว้บนเกย อันกระทำไว้หน้าโรงราชพิธีทั้ง ๔ ทิศพระนคร ครั้นเพลาพลบค่ำสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จพร้อมด้วยพระราชเทพีและพระบรมวงศานางท้าวชะแม่จ่าชา ยังหน้าพระลานด้านประจิมทิศโรงพระราชพิธีในอันมีม่านกั้งกำบัง สว่างไปด้วยแสงโคมประทีปชวาลา ทรงสถิตในมาฬกดาดเพดานผ้าขาวเป็นพระที่นั่ง แล้วก็ทรงสมาทานบัญจางศิกศีลพร้อมด้วยหมู่ข้าเฝ้าฝ่ายหน้าฝ่ายใน ต่างสดับฟังพระมหาเถรเจ้าจำเริญพระรัตนสูตรและพระอาฎานาฎิยสูตรโดยสัจเคารพ ชาวพนักงานฝ่ายทหารก็ยิงปืนน้อยใหญ่รอบราชธานี สำหรับขับภูตปีศาลจนสิ้นราษราตรี นับได้ ๑๐๘ คราวปืน ครั้นรุ่งขึ้นเป็นวันสิ้นปี ก็ทรงปรนนิบัติพระมหาเถรเจ้าด้วยของคาวหวานอันประณีต ถวายไตรจีวรบริขารสมณสิ้นทุกพระองค์ แล้วก็ตั้งกระบวนแห่เป็นปัญจะพยุหะ หมู่ทหารแต่งกายใส่เสื้อหมวกสีต่างๆ ถือธงฉานธงชายสรรพศัสตราวุธครบมือ ประดับด้วยเครื่องพระอภิรมย์และกลองอินทเภรี แตรสังข์ มโหระทึก กังสดาล ฉาบแฉ่ง จึ่งเชิญพระพุทธปฏิมากรขึ้นทรงพระราชยาน มีฉัตรกั้นบังพระสูรย์ อาราธนาพระมหาเถรเจ้าทั้งหลาย ขึ้นสถิตยานราชรถและรถประเทียบเรียบเรียงกระบวนแห่นั้นเป็น ๕ กระบวน ประน้ำพระพุทธมนต์และโรยทรายรอบพระราชนิเวศน์นั้นกระบวนหนึ่ง รอบพระนครตามท้องสถลมารคนั้น ๔ กระบวน ดูเป็นสง่างามยิ่งนัก เหล่านักเลงก็เล่นมหรสพเอกเกริกสมโภชบ้านเมืองเป็นการนักขัตฤกษ์ บรรดานิกรประชาราษฎรชายหญิงก็แต่งตัวนุ่งห่มประดับกายอ่าโถง พากันมาเที่ยวดูแห่ดูงาน นมัสการพระในวันสิ้นปีและขึ้นปีใหม่เป็นอันมาก และหมู่พระสนมกำนัลนางในทั้งหลายก็ประดับกายาด้วยเครื่องสรรพาภรณ์ ตามเสด็จสมเด็จพระร่วงเจ้าออกทางท้องฉนวนวัดหน้าพระธาตุ ถวายข้าวบิณฑ์บูชาพระรัตนตรัย แล้วประโคมดุริยางคดนตรีขับร้องฟ้อนรำสมโภชพระพุทธปฏิมากรโดยนิยมดังนี้

ว่าด้วยพิธีคเชนทรัศวสนาน

เดือน ๕ ถึงการพระราชพิธีสนานใหญ่ ประชุมหมู่มุขมาตยาฝ่ายทหารพ่อเรือนน้าวพระยาพระหลวง ผู้รั้งเมืองคอรงเมืองเอกโทตรีจัตวาและช่วงเมืองกิ่งเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือ บรรดาเป็นเมืองขึ้นออก และเศรษฐีมีหน้ามีทรัพย์ในตระกูลต่างๆ มากราบถวายบังคมสมเด็จพระร่วงเจ้าพร้อมกัน ต่างถวายเครื่องราชบรรณาการเป็นต้นว่าดอกไม้ทองเงินสรรพสิ่งของอันประณีตและเป็นแก่นสาร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เสด็จออก ณ มุขเด็จพระที่นั่งอินทราภิเษก ชาวพนักงานก็ประโคมแตรสังข์กลองมโหระทึก จึ่งพระศรีมโหสถบิดาข้าน้อยนี้ท่านแต่งกรัชกายตามตำแหน่งยศบรมหงส์ ขึ้นสถิตนั่งเหนือตั่งอันหุ้มด้วยแผ่นเงิน น้อมเศียรศิโรตม์กราบบังคมสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทูลเบิกนามท้าวพระยาพระหลวงในกรุงนอกกรุงและเศรษฐีมีชื่อบรรดาถวายเครื่องราชบรรณาการ ให้สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงทราบใต้พระบาทบงกช แล้วก็รับพระราชปฏิญาณฉลองพระโอษฐ์โดยข้อพระราชปฏิสันถารปราศรัยเสาวกามาตย์ทั้งมวลสิ้นวาระสามคาบ ครั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินขึ้นแล้ว ขณะนั้นชาวพนักงานระเบงก็รำขับร้องให้ท้าวพระยาทั้งหลายทอดทัศนาจนสิ้นเพลาเลี้ยง เป็นประเพณีพิธีสนานใหญ่ ชาวพระสนมกำนัลต้องร้อยกรองร้อยบุปผชาติเป็นรูปสัณฐานต่างๆ ใส่เมี่ยงหมากถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงพระราช ทานลูกขุนซึ่งมาประชุมกัน การอันนี้ก็เป็นการนางในทั้งปวงกระทำประกวดฝีมือกันทุกๆ ครั้ง แต่ก่อนข้าน้อยก็ยังหาเคยกระทำไม่ แต่ทว่าเคยได้เห็นได้ฟังว่าท่านทั้งหลายร้อยกรองดอกไม้ เป็นรูปสิงห์สัตว์จตุบาททวิบาทชาติมัจฉาผลาผล ข้าน้อยจึ่งเลือกพรรณบุปผชาติที่มีสีอันเหลือง มีดอกการะเกดและดอกกรรณิกาเป็นต้น มาคิดกรองร้อยเป็นรูปพานสองชั้นรองขัน แล้วก็ซ้อนสลับประดับดอกไม้สีแดงสีขาวและสีต่างๆ แก่อ่อนประสานกันเป็นระย้าระบาย จึ่งแต่งเมี่ยงหมากอบรมด้วยเครื่องหอม ใส่ลงในขันมีตาข่ายดอกไม้ปกคลุม ครั้นแล้วก็นำขึ้นถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมกันกับพวงมาลาพระสนมกำนัลทั้งปวง สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงทอดทัศนาทั่วไป ครั้นทรงเห็นพวงดอกไม้รูปพานขันหมากของข้าน้อยนี้ ก็ชอบพระราชอัธยาศัย จึ่งดำรัสว่า อันคนมีปัญญาแล้วจะกระทำการสิ่งใดก็ถูกต้อง เป็นที่จำเริญใจจำเริญตาหมู่ชนชายหญิง อันดอกไม้ร้อยรูปพานขันหมากนี้ ควรจะเป็นแบบอย่างไว้ในแผ่นดินได้ จึ่งดำรัสสั่งชาวพนักงานให้ยกพานขันหมากไปตั้งให้พระยามหาอุปราชบริโภค และดอกไม้ร้อยรูปต่างๆ ของนางในทั้งหลายนั้น โปรดให้พระราช ทานหมู่มุขมนตรีทั้งสองฝ่าย แล้วสมเด็จพระร่วงเจ้าทรงประกาศิตสาปสรรค์ว่า แต่นี้สืบไปเบื้องหน้า กษัตริย์ก็ดี คหบดีเศรษฐีและตระกูลทั้งหลายก็ดี ทั่วทุกราชธานีนิคมคามสยามภาษา แม้นผู้ใดจะทำการรับแขกเป็นการสนานใหญ่มีการอวาหะวิวาหะมงคลเป็นต้น จะร้อยกรองบุปผชาติใส่เมี่ยงหมากสู่แขก ก็ให้ร้อยกรองเป็นรูปพานขันหมากดังนี้ หรือจะเอาสิ่งใดๆ กระทำใส่เมี่ยงหมากก็ดี ก็จงกระทำเป็นพานมีชั้นรองสองขัน ให้เรียกนามว่าพานขันหมากตราบเท่ากัลปาวสาน เหตุดังนี้พระมหากษัตราธิราชเจ้าสืบๆ กันมา จึ่งได้มีพานพระขันหมากเป็นพระเครื่องต้น และมีพานขันหมากสำหรับรับแขกต่างเมือง ฝ่ายตระกูลนรชนชาติประชาชายหญิงทั้งหลาย มีคหบดีและเศรษฐี พราหมณาจารย์เป็นต้น ผู้ใดกระทำการอวาหะวิวาหะมงคล ก็ย่อมตกแต่งเมี่ยงหมากและของบริโภคต่างๆ ใส่พานใส่เตียบนับด้วยสิบด้วยร้อยไปประชุมรับแขกและบวงสรวงเลี้ยงดูกัน ก็เรียกนามตามราชบริหารสาปสรรค์ว่ากระทำขันหมาก จนเท่าถึงกาลทุกวันนี้ อันว่าข้าน้อยนพมาศคิดกรองร้อยพวงผลาเกสรเป็นรูปพานขันหมาก ต้องพระราชอัธยาศัยสมเด็จพระร่วงเจ้า ก็ได้รับพระราชทานสักการะรางวัลเป็นอันมาก แล้วก็ถึงซึ่งมีชื่อเสียงปรากฏอยู่ในแผ่นดิน


ครั้นเพลาบ่ายชายแสงในวันนั้น พระมหาราชครูพราหมณ์พฤฒิบาศราชบรมหงส์ ก็ประชุมหมู่พราหมณ์พฤฒิบาศในสถานพระเทวกรรม บันลือเสียงสังข์บูชาธนัญชัยบาศบวงสรวงพร้อมด้วยพระยาพระหลวงนายทหารช้างทหารม้า ต่างโปรยปรายข้าวตอกดอกไม้สมิทธิสังเวย พระเทวกรรมอังกุษาวุธและบ่วงบาศ โดยตำหรับพระคชกรรมคเชนทรสนาน ครั้นเพลารุ่งเช้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออก ณ พระที่นั่งไชยชุมพล พร้อมด้วยพระอัครชายาพระราชบรมวงศาและพระสนมกำนัลนางท้าวชาวชะแม่ อันงามด้วยตกแต่งกรัชกายนุ่งห่มประกวดกันหน้าพระที่นั่งก็สะพรั่งพร้อมมาตยาข้าเฝ้านั่งบนร้านม้าห้าชั้น เป็นหลั่นลดตามผู้ใหญ่ผู้น้อย อันว่าประเทียบท้าวพระยาทั้งหลายฝ่ายทหารพ่อเรือน ต่างแต่งตัวมานั่งเป็นพวกเป็นเหล่ากันตามระวางช่องสีมาหน้าพระกาลศาลหลวง ดาดเพดานผ้าขาวร่มแสงพระอาทิตย์ และวิถีทางท้องสนามในนางเรียงนั้น ก็แน่นนันต์ไปด้วยหมู่ราษฎรประชาชายหญิงนุ่งห่มแพรม้วนตกแต่งตามตระกูลของตน ต่างคอยทอดทัศนาขบวนแห่คเชนทรสนาน ฝ่ายพระครูพราหมณ์พฤฒิบาศก็เบิกโขลนทวาร เดินขบวนแห่ช้างอันทรงพระเทวกรรมนำริ้วมาตามวิถีท้องสนามหญ้าหน้าพระที่นั่ง งามทหารเดินแห่ล้วนแต่ใส่เสื้อหมวกสีต่างๆ ถือธงฉานธงชายไม้เส้าส้อมธนูศร เสียงกลองอินทเภรีแตรสังข์ดังเสนาะสนั่น เดียรดาษด้วยกระชิงกลิ้งกลดเครื่องคชาเฉลิมเกียรติ พระยาช้างระวางต้นเดินสนานงามด้วยลักษณะรูป มีเผือกสามตระกูลเนียมสามตระกูล สมพงศ์สุประดิษฐ์ดามพะจุมปราสาทอำนวยกมุทบุษยประทันต์ไอยราทั้งสาร ทรงพระคชาธารที่นั่งเคนตะพัด ล้วนประดับด้วยเครื่องคชาภรณ์สุพรรณพิจิตร อันนายจำนำประจำขี่คชพลายพังทั้งมวล ห่มเสื้อสีแดงแต่งตัวสง่างามอ่าโถงถือขอเกราะง้าวขอไม้เท้าขอกละเม็ด ขบวนสารซบมันมีช้างนำ ช้างแทรก ช้างผะชดชาย ให้บำรูสู้งาผัดพานล่อแพนถวายหน้าพระที่นั่ง แล้วก็เดินขบวนแห่ม้าระวางต้นมาเป็นขนัดล้วนประดับด้วยเครื่องอาชาสุวรรณวิไล มีจำนำประจำจูงประจำขี่แต่งตัวสะใส่เสื้อสีแดงโพกผ้าขลิบถือทวนทองเกาทัณฑ์แส้หอกซัด บ้างก็ขี่ให้พยศย่าง บ้างก็ขี่ขับควบ อันว่าคชสารและอัสดรแต่ละตัวย่อมงามรูปและงามเครื่องแต่งจำเริญตายิ่งนัก สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทอดพระเนตรขบวนคเชนทรสนานสำราญราชหฤทัย ทั้งพระอัครชายาบรมวงศาพระสนมกำนัล ท้าวพระยาข้าเฝ้าชาวประชาราษฎรทั้งหลายต่างเริงรื่นชื่นชมพระบรมโพธิสมภารเป็นการนักขัตฤกษ์ คเชนทรสนานสามทิวาวัน และวันเป็นประถมนั้น เดินพระยาช้างและม้าระวางต้นวันเป็นคำรบสอง เดินช้างม้าระวางวิเศษ วันเป็นคำรบสาม เดินช้างม้าระวางเพรียว


ครั้นเพลาตะวันบ่ายชายแสงและราษราตรี ชาวพนักงานก็เล่นเพลงไก่ป่า ช้าหงส์ และหนังรำ จุดดอกไม้พุ่มพะเนียงพลุระทากระถาง เป็นการมหรสพสมโภชพระเทวกรรมที่หน้าพระเทว สถานหลวงเป็นธรรมเนียม ถ้วนคำรบสามราตรีตามตำหรับ


ครั้นถึง ณ วันพระบรมทินกรจรจากมินราศรีประเวศขึ้นสู่เมษราศีเถลิงศกขึ้นปีใหม่ แต่บรรดาข้าเฝ้าพระบาททั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน ก็ประชุมพร้อมกันรับพระราชทานน้ำพระพัฒน์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดำรัสสั่งเจ้าพนักงานโปรดให้พระราชทานเงินประจำปีและพัสตราภรณ์ แก่พระราชวงศาท้าวพระยาข้าเฝ้าทั้งสองฝ่ายในกรุงนอกกรุงตลอดลงไปจนไพร่ประจำซอง ทั้งพระสนมกำนัลท้าวนางชาวชะแม่จ่าชาตามตำแหน่งฐานาศักดิ์ถ้วนทุกหน้า เสร็จการพระราชพิธีสนานใหญ่ดังนี้

ว่าด้วยพิธีแรกนา

ครั้นถึงเดือน ๖ เป็นการนักขัตฤกษ์ในพระราชพิธีไพศาขจรดพระนังคัล จึ่งพระครูพรหมพรตพิธีศรีบรมหงส์ก็ประชุมพราหมณ์ผูกพรตอัญเชิญพระเทวรูปเข้าสู่โรงราชพิธี อันแวดวงด้วยราชวัติฉัตรธง ณ ท้องทุ่งละหานหลวงหน้าพระตำหนักห้าง ครั้นถึงกำหนดวันอุดมฤกษ์ วันอาทิตย์เป็นวันสำหรับกระทำการมงคลการแรกนาขวัญ จึ่งพระเจ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระเครื่องต้นอย่างขัดพระแสงกั้นหยั่น เสด็จทรงพระอัศวราชเป็นพาหนะยานพร้อมด้วยพระขุนหลวงหมื่นนาย ทหารม้าประจำขี่อัศดร โดยเสด็จพยุหยาตราขบวนเพชรพวง และพระอัครชายาพระราชวงศาพระสนมกำนัล เลือกแต่ที่ต้องพระราชหฤทัยให้โดยเสด็จ ล้วนแต่ตกแต่งกรัชกายอย่างนางเขียน ขึ้นรถประเทียบตามไปในขบวนหลัง ครั้นเสด็จถึงพระพลาประทับ ณ ตำหนักห้าง จึ่งดำรัสสั่งออกญาพหลเทพธิบดีให้เข้าสู่โรงราชพิธีถือเอาพัสตราภรณ์เพศกษัตริย์ แต่งกายอย่างลูกหลวงเอกยิ่งด้วยอิศริยยศวันเดียวนั้น มีชีพ่อพราหมณ์บันลือเสียงสังข์และโปรยข้าวตอกนำหน้า และเมื่ออกจากโรงราชพิธีนั้นก็แห่ด้วยกรรชิงบังสูรย์ ครั้นเข้าสู่มณฑลท้องละหานที่จะจรดพระนังคัล ชาวพระโคก็นำพระโคอุสุภราชมาเทียมไถทอง พระครูพรหมพรตพิธีก็มอบยามไถและประตักทองให้ออกญาพหลเทพออกญาพหลเทพกาบถวายบังคมสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน แล้วก็รับยามไถไม้ประตัก อันว่าออกพระศรีมโหสถยศกมเลศครรไลยหงส์ผู้เป็นบิดาข้าน้อยนี้ ท่านแต่งกรัชกายบริสุทธิ์สุทธิเศวตพัสตราภรณ์ พร้อมเครื่องอัษฎาพรตเป็นพราหมณามหาศาลประเสริฐศักดิ์ ถือเอาไถเงินอันเทียมด้วยพระโคเศวตพระพร จึ่งออกพระวัฒนเศรษฐีอันบริบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัตินับเข้าในมหาศาล ท่านแต่งกายอย่างคหบดีถือเอาไถอันหุ้มด้วยผ้ารัตกัมพลแดง เทียมด้วยโคกระวินกับทั้งไม้ประตัก พระโหราก็ลั่นฆ้องชัยประโคมดุริยางค์ดนตรี นายจำนำก็จับจูงพระโคอุสุภราชอันเทียมไถเอก ซึ่งออกญาพหลเทพธิบดีถือนั้น บ่ายบาทดำเนินจรดพระนังคัลเวียนซ้ายไปขวา ไถโทออกพระศรีมโหสถดำเนินที่สอง ไถตรีพระวัฒนเศรษฐีดำเนินที่สาม ตามกันเป็นลำดับ พร้อมด้วยชีพ่อพราหมณ์ปรายข้าวตอกดอกไม้บันลือเสียงสังข์ตีไม้บัณเฑาะว์นำหน้าไถ ขุนบริบูรณ์ธัญญานายนักการนาหลวง แต่งตัวนุ่งเพลาคาดประคดใส่หมวกสาน ถือกระเช้าโปรยปรายหว่านพรรณพืชธัญญาหารตามทางไถจรดพระนังคัลถ้วนคำรบสามรอบ อันวาชาวพนักงานก็เล่นการมหรสพระเบงระบำโมงครุ่มหกคะเมนไต่ลวดบ่วงรำแพนแทงวิสัยไก่ป่าช้าหงส์ รายรอบที่ปริมณฑลกระทำการแรกนาขวัญ เอิกเกริกไปด้วยหมู่มหาชนชายหญิงพาบุตรนัดดามาทอดทัศนาเล่นสำราญใจ ครั้นเสร็จการไถหว่านแล้วก็ปลด ปล่อยพระโคอุสุภราช โคเศวตพระพร โคกระวินออก ให้กินเลี้ยงเสี่ยงทายของห้าสิ่ง ถ้าพระโคบริโภคข้าวและถั่วงาหญ้าสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ดี และมิได้บริโภคก็ดี โหราพราหมณาจารย์ก็ทำนายทายทักว่าธัญญาหารจะได้ผลมิได้ผล น้ำมากและน้อยตามตำรับไตรเพท ขณะนั้นพระอัครชายาดำรัสสั่งนางพระสนม ให้เชิญเครื่องพระสุพรรณภาชนะมธุปายาสขึ้นถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงเสวย แล้วก็ให้ชาวราชมัลเลี้ยงลูกขุนทั้งหลายด้วยข้าวมธุปายาสและของคาวหวานตามลำดับ เสร็จการพระราชพิธีจรดพระนังคัลดังนี้

ว่าด้วยพิธีวิสาขบูชา

ครั้นถึงวันวิสาขบูชาพุทธสาสน์ สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินและราชบริรักษ์ฝ่ายหน้าฝ่ายใน ทั้งอาณาประชาราษฎรทั่วทุกนิคมคามชนบท ก็ประดับพระนครและพระราชวังข้างหน้าข้างใน จวนตำแหน่งท้าวพระยาพระหลวงและเศรษฐีชีพราหมณ์บ้านเรือนโรงร้านพ่วงแพ ชนประชาชายหญิงล้วนแต่แขวนโคมประทีปชวาลาสว่างไสว ห้อยย้อยพวงบุปผาชาติประพรมเครื่องสุคนธรส อุทิศบูชาพระรัตนตรัยสิ้นสามทิวาราตรี มหาชนชวนกันรักษาพระอุโบสถศีลสดับฟังพระสัทธรรมเทศนาบูชาธรรม บ้างก็ถวายสลากภัตตาหารสังฆทานข้าวบิณฑ์ บ้างก็ยกขึ้นซึ่งธงผ้าบูชาพระสถูปเจดีย์ บ้างก็บริจาคทรัพย์จำแนกแจกทานแก่ยาจกทลิททกคนกำพร้าอนาถาชราพิการ บ้างก็ซื้อไถ่ชีวิตสัตว์จัตุบาทวิบาทชาติต่างๆ ปลดปล่อยให้ได้ความสุขสบาย อันว่าสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินและราชตระกูลก็ทรงศีลบำเพ็ญการพระราชกุศลต่างๆ ในวันวิสาขบูชาพุทธสาสน์เป็นอันมาก เพลาตะวันชายแสงก็เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยราชสุริยวงศ์นางใน ออกวัดหน้าพระธาตุราชอารามหลวงวันหนึ่ง ออกวัดราษฎร์บุรณพระวิหารหลวงวันหนึ่ง ออกวัดโลกสุทธราชาวาสวัดหนึ่ง ต่างนมัสการพระรัตนัตตยาธิคุณ โปรยปรายผกาเกสรสุคนธรสสักการบูชาถวายประทีปธูปเทียนเวียนแว่นรอบรัตนบัลลังก์ ประโคมดุริยางคดนตรีดีดสีตีเป่า สมโภชพระชินศรีพระชินราชพระโลกนาถสัฎฐารส โดยมีกมลโสมนัสศรัทธาทุกตัวคน อันพระมหานครสุโขทัยราชธานีถึงวันวิสาขะนักขัตฤกษ์ครั้งใด ก็สว่างไปด้วยแสงประทีปเทียนดอกไม้เพลิง แลสล้างสลอนด้วยธงชายธงประดาก ไสวไปด้วยพู่พวงดอกไม้กรองร้อยห้อยแขวน หอมตลบไปด้วยกลิ่นสุคนธรสรวยรื่น เสนาะสำเนียงพิณพาทย์ฆ้องกลองทั้งทิวาราตรี มหาชนชายหญิงพากันกระทำกองการกุศล เสมือนจะเผยซึ่งทวารพิมานฟ้าทุกฉ้อชั้น

ว่าด้วยพิธีเคณฑะ

ครั้นถึงเดือน ๗ นักขัตฤกษ์พระราชพิธีเคณฑะ ชาวพนักงานก็ตกแต่งสถานพระสยมภูว-นารถ อันเป็นพระเทวสถานหลวงให้สะอาดสะอ้าน ชาวพระนครก็มาสันนิบาตประชุมคอยกันดู พราหมณาจารย์จะทิ้งข่างเสี่ยงทาย จึงพระครูเพทางคศาสต์ราชไตรเพทกับหมู่พราหมณ์ก็ผูกพรตบูชาสมิทธิพระเป็นเจ้าเป่าสังข์ถวายเสียง แล้วสังเวยบวงสรวงข่างอันกระทำด้วยทองเนาวโลหะใหญ่ประมาณเท่าผลแตงอุลิด สมมติว่าพรพระสยม สามกำลังบุรุษจึงชักสายทิ้งข่างให้หมุนได้ อันข่างนั้นเป็นที่เสี่ยงทายตามตำรับไตรเพท ถ้าข่างดังเสียงเสนาะหมุนนอนวันได้บาทนาฬิกามีแต่ยิ่งมิได้หย่อน ก็กล่าวว่าเป็นมงคลประเสริฐนัก พระมหากษัตราธิราชเจ้าจะทรงสุรภาพและพระเกียรติยศปรากฏไปในนานาประเทศทั้งปวง สมณชีพราหมณ์คฤหบดีเศรษฐีไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินสิ้นทั้งพระนครขอบขัณฑสีมาอาณาเขตอันกว้างใหญ่ไพศาล จะอยู่เย็นเป็นสุขปราศจากภัยอันตรายต่างๆ อนึ่งหนึ่งโสดแม้ว่าข่างหมุนมิได้นอนวัน ทั้งสำเนียงก็ไม่เสนาะสนั่น อันตรายด้วยเหตุต่างๆ พราหมณาจารย์ทำนายว่าบ้านเมืองจะมิสบายในขวบปีนั้น โดยนิยมดั่งข้าน้อยกล่าวนี้ ครั้นได้เพลา ฤกษ์ พระครูเพทางคศาสตร์ราชไตรเพท ก็ให้นาลิวันนายพนักงานเชิญข่างขึ้นภัทรบิฐ แล้วหมู่พราหมณ์ทั้งมวลก็ดำเนินแห่ห้อมออกจากเทวสถานไปยังหน้าพระลานชัย อันแวดวงด้วยรั้วราชวัติเป็นที่ทิ้งข่าง จึงเอาสายไหมเบญจพรรณยาวสิบศอกพันคันข่างร้อยช่องผัง ตั้งเท้าลงกับนางกระดาน อันวางเหนือหลังภูมิภาคปถพี พระครูพรหมพรตพิธีศรีบรมหงส์ ก็อ่านอิศวรมนต์กำเนิดข่างสิ้นวาระสามคาบ นาลิวันสามนายชำนาญข่างก็ประจำข่างคอยทิ้ง ครั้นได้ฤกษ์โหราลั่นฆ้องชัย นาลิวันก็ทิ้งข่างวางสาย เสียงข่างดังกังวานเสนาะสนั่นดุจเสียงสังข์ หมุนนอนวันคันไม่สะบัดได้บาทนาฬิกาเศษ ข่างสำแดงความเจริญให้เห็นประจักษ์ถ้วนคำรบสามครั้ง ชีพ่อพราหมณ์และท้าวพระยาบรรดาราษฎรซึ่งประชุมกันทอดทัศนาข่างหมุนดังนั้น ก็ยินดีปรีดาโห่ร้องเต้นรำบอกเล่ากันต่อๆ ไปว่าในปีนี้บ้านเมืองจะอยู่เย็นเป็นสุข หมู่พราหมณ์ก็เชิญข่างคืนเข้าสู่พระเทวสถาน อันว่าการพระราชพิธีเคณฑะทิ้งข่างนี้ สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินมิได้เสด็จไปทอดพระเนตร แต่กาลก่อนก็มิได้โปรดให้นางในไปทอดทัศนา ครั้นเมื่อข้าน้อยนี้เข้าไปรับราชการเป็นข้าพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชบรรหารดำรัสว่า ข้าน้อยเป็นชาติเชื้อตระกูลพราหมณ์ จึ่งโปรดให้ไปทอดทัศนาการพระราชพิธีเคณฑะ กับพระสนมกำนัลซึ่งเป็นเชื้อพราหมณ์ด้วยกัน และที่นางในไปสถิตดูทิ้งข่างนั้นเรียกชื่อโรงมานพที่พราหมณ์สวดมนต์ เสร็จการพระราชพิธีเคณฑะทิ้งข่างดังนี้

ว่าด้วยพิธีเข้าพรรษา

ครั้นถึงเดือน ๘ ถึงนักขัตฤกษ์บูชาใหญ่การพระราชพิธีอาสาธมาส พระวรบุตรพุทธิชิโนรสในพระศาสนาจะจำพระวรรษาเป็นมหาสันติบาตทุกพระอาราม ฝ่ายพราหมณาจารย์ก็จะเข้าพรตสมาทานศีลบริโภคกระยาบวชบูชากุณฑ์พิธีกึ่งเดือน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงดำรัสสั่งนายนักการให้ตกแต่งเสนาสนะทุกพระอารามหลวง แล้วก็ทรงถวายบริขารสมณะเป็นต้นว่าเตียงตั่งที่นั่งนอนเสื่อสาดลาดปูเป็นสังฆทาน และผ้าวรรษาวาสิกพัสตร์ฉลากภัตรคิลานภัตร ทั้งประทีปเทียนจำนำพระวรรษาบูชาพระบรมธาตุพระพุทธปฏิมากรพระปริยัติธรรมสิ้นไตรมาส ถวายธูปเทียนชวาลาน้ำมันตามไส้ประทีป แก่พระภิกษุสงฆ์บรรดาจำพระวรรษาในพระอารามหลวง ทั้งในกรุงนอกกรุงทั่วถึงกันตามลำดับ ประการหนึ่งทรงพระราชอุทิศเครื่องกระยาสังเวยพลีกรรมพระเทวรูปในพระเทว สถานหลวงทุกสถาน ทั้งสักการะหมู่พราหมณาจารย์ซึ่งจำพรต อ่านอิศวรเวทเพทางคศาสตร์บูชาพระเป็นเจ้าด้วยเศวตพัสตราภรณ์และเครื่องกระยาบวช ทั้งประทีปธูปเทียนวิเลปนะให้บูชากุณฑ์โดยทรงพระราชศรัทธาในพุทธสาสน์ไสยศาสตร์เจือกัน อันว่ามหาชนชายหญิงในตระกูลทั้งหลายมีตระกูลกษัตริย์และพราหมณ์และคหบดีเป็นต้น ก็ชักชวนกันกระทำกองการกุศลต่างๆ บรรดาผู้ใดได้สถาปนาพระอารามไว้ในพระศาสนา ก็บอกกล่าวป่าวบุญในหมู่ญาติและมิตร ช่วยกันตกแต่งเสนาสนะถวายพระภิกษุสงฆ์ ทั้งถวายอาคันตุกะภัตรวรรษาวาสิกภัตรคิลานภัตร ทั่วทุกพระอาราม ราษฎรทั้งในกรุงนอกกรุงและมีนิคมเมืองขึ้นออกสิ้นพระราชอาณาเขต ถ้าและผู้ใดนับถือไสย ศาสตร์ด้วยก็บูชาพระเทวรูปในเทวสถานใหญ่น้อยทุกตำบล ทั้งสักการะพราหมณ์อันจำพรตด้วยผ้าและประทีปเทียน ครั้นถึง ณ วันจาตุททสีศุกลปักษ์เป็นธรรมเนียมฤกษ์ นายนักการทหารบกทหาร เรือก็ตั้งกระบวนแห่เชิญเทียนประทีปจำนำพระวรรษาขึ้นตั้งบนคานหาม และลงเรือเอกชัยใส่บุษบกบัลลังก์ทอง ประโคมกลองอินทเภรีแตรสังข์ธงทิวไสวแห่ไปตามท้องสถลมารคและชลมารค ประชาราษฎร์ก็ซ้องสาธุการอนุโมทนาพระราชกุศล ครั้นประทับถึงพระราชอารามหลวงตำบลใด ชาวพนักงานก็เชิญประทีปเข้าในพระพิหารหอพระสธรรมมนเทียรโรงอุโบสถ จุดตามไว้ในที่นั้นๆ ทุกพระอาราม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระราชอุทิศสักการบูชาพระรัตนตรัยสิ้นไตรมาสสามเดือน ฝ่ายมหาชนชายหญิงในตระกูลต่างๆ ทั่วทั้งพระราชอาณาเขตขอบขัณฑสีมา ประชุมกันเป็นพวกเป็นเหล่าตามวงศ์ญาติและมิตร ต่างตกแต่งกรัชกายประกวดกัน แห่เทียนจำนำพระวรรษาของตนๆ ไปทางบกบ้างเรือบ้าง เสียงพิณพาทย์ฆ้องกลองสนั่นไปทุกแห่งทุกตำบลเอิกเกริกด้วยประชา ชนคนแห่คนดูทั้งทางบกทางน้ำเป็นมหานักขัตฤกษ์ในวันพระราชพิธีอาธมาสบูชาใหญ่ ครั้นถึงอาวาสอารามของผู้ใดก็เลี้ยงดูกัน แล้วเชิญเทียนประทีปจำนำพระวรรษาเข้าตั้งในอุโบสถพิหาร จุดตามบูชาพระรัตนตรัยสิ้นไตรมาสสามเดือนทุกๆ อารามราษฎร ครั้น ณ วันกาฬปักษ์เอกดิถีเวลาตะวันชายแสง พระพุทธชิโนรสก็สันนิบาตประชุมกันเข้าพระวรรษา ณ พระอุโบสถทั่วทุกพระอาราม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินออกวัดหน้าพระธาตุ พร้อมด้วยพระอัครชายาและพระบรมวงศาพระสนมกำนัล บรรดาชนทั้งหลายในตระกูลต่างๆ มีขัตติยะตระกูลและพราหมณ์ตระกูลคหบดีตระกูลเป็นต้น ซึ่งมีประสาทศรัทธาเชื่อถือพระพุทธศาสนา ต่างชักนำประทีปบริวาร ทั้งบุตรหลานญาติและมิตรออกไปสโมสรสันนิบาตพร้อมเพรียงกัน ณ อารามใหญ่น้อยทั่วทุกแห่งทุกตำบล อุทิศอุทกสาฎกและปัจจัยการถวายแก่พระภิกษุสงฆ์สามเณรทั่วถึงกัน แล้วมหาชนชายหญิงต่างตั้งเบญจางคประดิษฐ์สมาทานอุโบสถศีลอันมีองค์แปด ในสำนักพระมหาเถระเจ้าทั้งหลาย บ้างก็ออกวจีเภทว่าข้าพเจ้าจะรักษาอุโบสถเป็นปฏิหาริยะปักขอุโบสถสิ้นวสัตรฤดูสี่เดือน บ้างก็สมาทานเป็นเตมาสิกนิพัทธอุโบสถ คือรักษาศีลในพระวรรษาสิ้นไตรมาสสามเดือน บ้างก็สมาทานเป็นเอกมาสิกนิพัทธอุโบสถ คือรักษาศีลตั้งแต่เพ็ญเดือน ๑๑ ไปจนถึงเพ็ญเดือน ๑๒ เสมอทุกวัน บ้างก็สมาทานเป็นอัฑมาสิกนิพัทธอุโบสถ คือรักษาศีลเสมอทุกวันในศุกลปักษ์กาฬปักษ์กึ่งเดือน บ้างก็รักษาแต่ปกติอุโบสถเดือนละแปดครั้ง บ้างก็สมาทานเป็นปฏิชาครอุโบสถ มีวันรับวันส่งเดือนหนึ่ง รักษาศีลสิบเก้าวัน ทั้งสดับฟังพระธรรมกถึกสำแดงธรรมเทศนา และพระภิกษุสงฆ์สาธยายพระปริตรในที่นั้นๆ เสมอเป็นนิตย์ทุกวันมิได้ขาด ตราบเท่าสิ้นไตรมาสสามเดือน โดยนิยมดังนี้ อันว่าพิธีอาสาธมาสบูชาใหญ่ ข้าน้อยได้คิดกระทำพนมดอกไม้ทอง และกอโกสุมปทุมทองอันวิจิตรด้วยวาดเขียน นำขึ้นถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงสักการะบูชาพระรัตนตรัยบ้าง พระเทวรูปบ้าง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็พึงพอพระอัชฌาสัย จึงดำรัสชมข้าน้อยว่าเป็นคนฉลาดคิด โปรดพระราชทานสักการะรางวัลเป็นอันมาก แต่นั้นมามหาชนชายหญิงทั่วทั้งพระนคร ก็ถือเอาเป็นอย่างต่างกระทำพนมดอกไม้และกอปทุมชาติมีพรรณต่างๆ บูชาพระรัตนตรัยในพระราชพิธีอาสาธมาสมากขึ้นทุกปี ฝ่ายนางในทั้งหลายก็ถืออย่างกระทำพนมดอกไม้ถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้รับพระราชทานรางวัลตามฝีมือและปัญญาด้วยกันเป็นอันมาก จึ่งพระบาทสมเด็จพระร่วงเจ้าแผ่นดินมีพระราชบริหารสาปสรรว่า เบื้องหน้าแต่นี้ไปชนชายหญิงในพระราชอาณาเขตประเทศสยามภาษา บรรดาเป็นสัมมาทิฐิ ให้กระทำพนมดอกไม้กอบัวบูชาพระรัตนตรัยในพระราชพิธีอาสาธมาส ให้เรียกนามพนมดอกไม้ พนมพระวรรษา อย่ารู้สาบสูญตราบเท่ากัลปาวสาน ข้าน้อยนพมาศก็ถึงซึ่งมีชื่อเสียงว่าเป็นคนฉลาดปรากฏนามอยู่ในแผ่นดินได้อีกอย่างหนึ่ง เสร็จการพระราชพิธีอาสาธมาสบูชาใหญ่ ดังนี้

ว่าด้วยพิธีพรุณศาสตร์

ครั้นถึงเดือน ๙ พราหมณาจารย์ก็พร้อมกันกระทำการพระราชพิธีพรุณศาสตร์ ตั้งเกยสี่เกยที่ลานหน้าพระเทวสถานหลวง ประดับด้วยฉัตรธงอันกระทำด้วยหญ้าคาหญ้าตีนนก อ่างทองสัตโลหะสี่อ่างๆ หนึ่งเต็มไปด้วยเปลือกปลูกชาติสาลีมีพรรณสอง คือข้าวเจ้า ข้าวเหนียว สามอ่างนั้นใส่มูลดินอันเจือด้วยโคมัย ปลูกถั่วงาอ่างหนึ่ง ปลูกม่วงพร้าวอย่างหนึ่ง ปลูกหญ้าแพรกหญ้าละมานอ่างหนึ่ง ลงยันต์พรุณศาสตร์ปักกลางอ่างๆ ละคนตั้งไว้บนนางกระดานแป้นปักตรงหน้าเกย ครั้นถึงวันกำหนดฤกษ์ หมู่พราหมณ์ทั้งหลายมีพระครูพรหมพรตพิธีศรีบรมหงส์เป็นประธาน ต่างน้อมเบญจางค์บวงสรวงสังเวยพระเจ้าตั้งสัตยาธิษฐาน ขอฝนให้ตกชุกชุมทั่วทุกนิคมอาณาเขตขอบขัณฑสีมากรุงเทพพระมหานครสุโขทัยราชธานีบุรีรัตน์ ให้ชุ่มแช่ชาติสาลีอันมีพรรณต่างๆ ซึ่งเป็นของเลี้ยงชีพประชาชายหญิงสมณพราหมณาจารย์ทั่วทั้งแผ่นดิน จงบริบูรณ์ด้วยเม็ดรวงปราศจากด้วงแมลง ด้วยอำนาจวัสวลาหกและพรพระสยม อนึ่งโสดอันว่าลดาชาติทั้งหลายมีถั่วงาเป็นต้น ขอจงบริบูรณ์ด้วยพืชผลให้ล้นเหลือ จะได้เป็นเครื่องกระยาบวชบำบวงสรวง อนึ่งเล่าพรรณรุกขชาติต่างๆ มีม่วงพร้าวเป็นต้น ขอจงบริบูรณ์ด้วยดอกดวงพวงผล จะได้เป็นอาหารแห่งหมู่มนุษย์นิกรทั้งผอง ประการหนึ่งติณชาติต่างพรรณอันเขียวขจิตงามด้วยยอดและใบ มีหญ้าแพรกหญ้าละมานเป็นต้น สำหรับเป็นภักษาหารช้างม้าโคกระบือ ขอจงงอกงามตามชายหนองคลองน้ำไหล ด้วยอำนาจวัสวลาหกให้บริบูรณ์ ครั้นกล่าวคำอธิษฐานแล้วจึงพราหมณาจารย์ทั้งสี่ผู้ทรงไว้ซึ่งพระเวทเพทางคศาสตร์ แต่งกายสยายมวยผมนุ่งอุทกสาฏก ถือเอาธงประฏากสีมอดุจเมฆมืดฝนอันรายยันต์พรุณศาสตร์ตามขอบข้างละสี่คู่ ซึ่งปักบูชาไว้คนละคันโดยสัจเคารพ พระครูพรหมพรตพิธีเป่าสังข์ดำเนินนำหน้า หมู่พราหมณ์ทั้งหลายก็แห่ห้อมออกจากพระเทวสถานไปยังเกย ขึ้นสถิตยืนอยู่บนเกยๆ ละคน ต่างอ่านโองการประกาศแก่วัสวลาหกตามตำหรับอิศวรเวทขอฝนสิ้นวาระสามคาบ โบกธงธวัชกวัดแกว่งบริกรรมอิศรเวทขอฝน ตามตำรับไตรเพทสิ้นวาระสามคาบ แล้วก็ลงจากเกยคืนเข้าสู่พระเทวสถาน พราหมณ์ทั้งหลายผู้รู้พระมนต์พรุณศาสตร์ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นยืนบนเกย โบกธงร่ายเวทขอฝนวันละสองเวลา คือเช้าและเย็น ถ้วนคำรบสามทิวาในวันนักขัตฤกษ์ อันว่าการพระราชพิธีพรุณศาสตร์นี้ เมื่อข้าน้อยมีอายุ ๗ ขวบปลาย ได้ตามพระศรีมโหสถผู้เป็นบิดาไปทอดทัศนาครั้งหนึ่ง จึ่งจำไว้ได้

ว่าด้วยพิธีกวนข้าวทิพย์

ครั้นเดือน ๑๐ ถึงการพระราชพิธีภัทรบทเป็นนักขัตฤกษ์มหาชนกระทำมธุปายาศทาน และจะเด็ดรวงข้าวสาลีเป็นปฐมเก็บเกี่ยว ชีพ่อพราหมณ์ทั้งปวงก็เริ่มการพลีกรรมสรวงสังเวยบูชาพระไพศพ ตั้งปัญจมหาสาครเต็มด้วยน้ำในพระเทวสถาน อบรมน้ำด้วยเครื่องสุคนธชาติและบุปผชาติให้มีกลิ่นหอมเป็นอันดี แล้วจึงเชิญพระเทวรูป ๑๖ ปาง ลงโสรจสรง อ่านพระเวทเผยศิวาลัย เพื่อจะให้บำบัดอุปัทวะจัญไรภัยพยาธิทุกข์โทษต่างๆ อันว่าหมู่พราหมณ์บรรดาซึ่งได้เล่าเรียนไตรเพทย่อมถือลัทธิว่าเดือน ๑๐ เป็นปฐมครรภ์สาลี มหาชนจะเก็บเกี่ยวมากระทำมธุปายาสยาคูเลี้ยงพราหมณ์เพื่อจะให้เป็นมงคลแก่ข้าวในนา อันเมล็ดรวงข้าวนี้เป็นปางพระไพศพ แม้ชาติพราหมณ์ผู้ใดยังมิได้ลอยบาป จะพึงบริโภคมธุปายาสและยาคูอันบุคคลกระทำด้วยปฐมครรภ์ชาติสาลี ก็บังเกิดทุกข์โทษอุปัทวะจัญไรแก่ตน ทั้งปราศจากความสวัสดิ์มงคลแก่นรชาติทั้งหลาย เหตุดังนั้นพราหมณาจารย์ผู้รู้เพทางคศาสตร์จึงกระทำพิธีภัทรบทลอยบาป ฝ่ายข้างพุทธสาสน์พระราชพิธีภัทรบทนี้เป็นสมัยหมู่มหาชนกระทำมธุปายาสยาคูอังคาสพระภิกษุสงฆ์และเลี้ยงพราหมณ์ ทั้งบูชาพระรัตนตรัยด้วยพรรณผ้ากระทำเป็นธง แล้วและอุทิศส่วนกุศลผลบุญให้แก่ญาติอันไปสู่ปรโลกเป็นปรทัตูปชีวีเปรต และนักขัตฤกษ์พระราชพิธีภัทรบทนี้ พุทธสาสน์ไสศาสตร์เจือกันโดยโบราณราช ครั้นถึง ณ วันขึ้น ๑๕-๑๕ ค่ำ แรมค่ำหนึ่ง หมู่พราหมณาจารย์ผู้ซึ่งจะลอยบาป มีพระศรีมโหสถบิดาข้าน้อยนี้เป็นต้น ต่างถือสังข์บ้างกรดสัมฤทธิ์บ้าง มายังพระเทวสถานบูชาพระเป็นเจ้าแล้ว จึงเชิญปัญจมหานทีในขันสาคร ซึ่งสมมุติว่าเป็นน้ำล้างบาปใส่สังข์ใส่กลด แล้วก็นำลงไปยังท่าน้ำพร้อมด้วยบริวารยศ แหงนหน้าดูดวงพระอาทิตย์อันส่องแสง แม้เห็นบริสุทธิ์ปราศจากเมฆหมอก จึงเอาเป็นฤกษ์ต้องที่จะล้างลอยบาป บางคนก็กระทำในเพลาราตรี เอาบริสุทธิ์แห่งดวงพระจันทร์เป็นฤกษ์ พราหมณ์ทั้งหลายนั่งห้อยเท้าเหยียบสายน้ำไหลอ่านอิศวรอาคมสิ้นวาระสามคาบแล้ว จึงให้รินวารีในสังข์ในกรดลงในลำคงคา แล้วก็จุ่มกายสยายมวยผมอาบน้ำดำเกล้าชำระขัดสีกรัชกายาให้ปราศจากเหงื่อไคล บริสุทธิ์สบายทั้งกายและจิตเป็นอันดีแล้วจึงยืนยังฝั่งน้ำ ผลัดอุทกสากฎทั้งนุ่งห่มออกจากกาย วางเหนือแพหยวกบ้าง วางเหนือเฟือยสวะบ้าง ขอนไม้บ้าง ไสเสือกให้ลอยไปตามกระแสน้ำไหล ซ้ำร่ายพระเวทลอยบาปบอกบริสุทธิ์ต่อพระคงคา แล้วก็กลับคืนยังเคหฐานแห่งตนและตน อันพิธีลอยบาปนี้ทำได้แต่ในสามวัน วันเป็นประถมนั้น พราหมณ์มหาศาลตระกูลยิ่งด้วยทรัพย์สมบัติศฤงคารบริวารยศลอย วันเป็นคำรบสองนั้น หมู่พราหมณาจารย์ผู้ชำนาญเพทางคศาสตร์อาคมลงลอย วันเป็นคำรบสามนั้น พราหมณ์ภิกขาจารย์ซึ่งประพฤติวัตรปรนนิบัติต่างๆ ลงลอย ฝ่ายพุทธสาสน์ราชบุรุษชาวพนักงาน ก็ตกแต่งโรงราชพิธีในพระราชนิเวศน์ ตั้งก้อนเส้าเตาเพลิงและสัมภาระเครื่องใช้เบ็ดเสร็จ นายนักการละหานหลวงก็เก็บเกี่ยวครรภ์สาลีและรวงข้าว มาตากตำเป็นข้าวเม่าข้าวตากส่งต่อมณเทียรบาลวังเวรเครื่อง นายพระโคก็รีดน้ำขีรารสมาส่งดุจเดียวกัน ครั้นถึงวันรับพระราชพิธีภัทรบท คือวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เพลาเช้าเป็นธรรมดาฤกษ์ จึงสมเด็จพระอัครชายาทั้งสองพระองค์ ทรงประดับพระบวรอินทรีย์ด้วยเครื่องขัตติยอาภรณ์ เสด็จยังโรงราชพิธีพร้อมด้วยประเทียบลูกขุน ทรงสถิตสุวรรณบัลลังก์กั้นเศวตฉัตรเจ็ดชั้น ดำรัสสั่งให้จ่าชาชาวเวรเครื่องทั้งมวลตกแต่งมธุรปายาสปรุงปนระคนเจือล้วนแต่ของโอชารส มีขัณฑสุกรและน้ำผึ้งน้ำอ้อยน้ำตาลทธินมสดเป็นต้น ใส่ลงในภาชนะซึ่งตั้งบนเตาเพลิง จึ่งให้สาวสำอางกวนมธุปายาสเป็นฤกษ์โดยสังเขป ชาวดุริยางค์ดนตรีก็ประโคมพิณพาทย์ฆ้องกลองเป่าเล่นการมหรสพระเบงระบำล้วนแต่นารี ครั้นกวนมธุปายาสสำเร็จแล้วก็กวนข้าวยาคู เอาถั่วงาระคนเป็นครรภ์สาลีที่แย้มยอดเจือด้วยขีรารสขัณฑสกรน้ำตาลกรวด ให้โอชารสสำเร็จเป็นอันดีในเพลาเช้าวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เป็นประถมภัทรบทนี้ จึงพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินออกวัดหน้าพระธาตุ พร้อมด้วยราชสุริยวงศ์และพระสนมกำนัลนางท้าวชาวชะแม่ โดยเสด็จทรงอังคาสพระมหาเถรานุเถระด้วยมธุปายาศยาคู ขาทนียโภชนียาหารอันประณีตสำเร็จแล้ว จึงบูชาพระรัตนตรัยด้วยธงพรรณพัสตร์สีต่างๆ อันชาวช่างฉลุฉลักเป็นรูปจิตร กรรมลดากรรม ถวายทั้งสมณบริขารและคิลานเภสัชเป็นบิวารทานทั่วไปแก่พระภิกษุสามเณร แล้วก็ทรงสิโนทกอุทิศส่วนพระราชกุศลส่งไปยังพระบรมญาติทั้งหลายในปรโลก อันว่านางในทั้งปวงต่างคนต่างถวายทานด้วยมธุปายาศยาคูธงปฎาก พวงบุบผามาลัย ตั้งจิตแผ่ส่วนบุญไปให้แก่หมู่ญาติซึ่งมรณะ และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในนักขัตฤกษ์พระราชพิธีภัทรบท ถ้วนสามทิวาวันโดยนิยมดังกล่าวนี้แล้ว จึงโปรดให้ประชุมพราหมณาจารย์มากกว่าร้อย ณ พระเทว สถานหลวง ดำรัสสั่งชาวพนักงานให้เลี้ยงพราหมณ์ด้วยมธุปายาสยาคูต่อไปสิ้นคำรบสามวัน ทั้งพระราชทานคู่ผ้าสาฎกทั่วทุกตัวพราหมณ์ อันหมู่พระสนมกำนัลซึ่งถือไสยศาสตร์ด้วยนั้น ก็สักการะหมู่พราหมณ์ด้วยมธุปายาศยาคู และผ้านุ่งห่มเพื่อจะให้เป็นมงคลแก่ตัว อนึ่งโสดนั้น มหาชายหญิงมีขัตติยะตระกูลเป็นต้น บรรดาซึ่งเป็นสัมมาทฤษฐินับถือพระรัตนตรัยนั้น ที่มีไร่ละหานต่างก็เก็บเกี่ยวรวงข้าวมาตากตำกระทำเป็นมุปายาศยาคู เจือด้วยน้ำนมสดอังคาสพระภิกษุสงฆ์ เอิกเกริกไปทุกบ้านทุกเรือน บ้างก็ยกธงผ้าธงแพรขึ้นบูชาพระสถูปเจดีย์ บ้างก็อัญเชิญพราหมณ์มาเลี้ยงด้วยปายาศ ถึงว่าชาติตระกูลพราหมณ์ถ้าผู้ใดถือพุทธสาสน์ด้วย ก็ตกแต่งมธุปายาศยาคูอังคาสพระภิกษุสงฆ์ ทั้งยกธงบูชาพระรัตนตรัยและเลี้ยงพราหมณ์ตั้งแต่วันภัทรบทจนบรรจบสิ้นเดือน ชนประชาชายหญิงชาวพระนครทุกตะกูล กระทำกองการกุศลด้วยมธุปายาศยาคูติดต่อกันไปมิได้ขาดวัน เป็นที่บันเทิงรื่นเริง ต่างคนต่างอุทิสส่วนกุศลผลบุญของตนซึ่งได้กระทำด้วยน้ำจิตโสมนัสศรัทธา ไปให้แก่โบราณญาติกาทั้งหลายอันจุติไปกำเนิดในภพต่างๆ มีปรทัตตูปชีวีเปรตเป็นต้น

ว่าด้วยพิธีอาศยุช

ครั้นฤดูเดือน ๑๑ ชลาลดชายฝั่งถึงการพระราชพิธีอาศยุชนักขัตฤกษ์ ชีพ่อพราหมณ์ก็สังเวยพระนารายณ์ปางเกษียรสมุทร และพระลักษมี พระมเหศวดีตามตำรับ ชนประชาชาวพระนครต่างบอกกล่าวป่าวกันพาบุตรนัดดาลงนาวาเป็นพวกเป็นเหล่า ตกแต่งกรัชกายงามตามชาติตามตระกูล พายเนื่องแน่นกันมาจอดเรียงลอย คอยดูแข่งเรือพระที่นั่งเอกชัยทั้งสองฝากฝั่งตลอดเฉียบ จึงออกพระณรงค์ฤทธิ์รำบาลชาญชลาสินธุ์ ผู้ได้บังคับบัญชาเหล่าจำนำทหารเรือ ก็เบิกบายศรีสมโภชขวัญเรือพระที่นั่งเอกชัยอันงามงอนระหงทั้งสองลำสรรพเสร็จ พร้อมด้วยพลพายและเครื่องดนตรีสังคีตพระกันภิรมย์ชุมสายตั้งลายตลอดลำ มีหมู่สิทธิชัยถือธงทองประจำหน้าท้ายเรือรูปตราตำแหน่งนายทหาร แห่ห้อมล้อมพายเห่ช้ามาสู่มณฑลทุ่นทอดท้องสนาม พระครูพราหมณ์พิธีศรีบรมหงส์ก็อัญเชิญพระนารายณ์ปางเกษียรสมุทรลงทรงสถิตบุษบกเรือพระที่นั่งชัยเฉลิมธรณินทร์ อันโลกสมมุติว่าเป็นเรือพระยามีมาแต่โบราณ จึงพระครูเพทางคศาสตร์ก็อัญเชิญพระลักษมี พระมเหศวดี ลงทรงสถิตบุษบกเรือพระที่นั่งชัยสินธุ์พิมาน อันสมมุติว่าเป็นเรือพระอัครชายาราชมเหสี และคำกล่าวโดยตำรับพระราชพิธีอาศยุชว่าเรือพระที่นั่งชัยเฉลิมธรณินทร์ ชัยสินธุ์พิมาน ทั้งสองลำนี้ เป็นที่เสี่ยงทางแสดงความจำเริญและมิจำเริญแก่บ้านเมือง พลทหารชำนาญพายๆ แข่งกันมิได้ละลด ถ้าเรือทรงพระนารายณ์คือเรือพระยามีชัยชนะ ก็ทำนายว่าสมเด็จพระมหากษัตราธิราชเจ้าจะแผ่ผ่านพระเดชเดชานุภาพไปทั่วทิศานุทิศ ลูกค้าพาณิชย์นานาประเทศจะแตกตื่นกันมาเชยชมบรมโพธิสมภารพระเจ้าแผ่นดิน บ้านเมืองจะบริบูรณ์ด้วยสรรพสิ่งของต่างประเทศ ราคาซื้อขายจะย่อมเยาเบาค่าทุกสิ่งสินค้า ธัญญาหาร มัจฉมังสาหาร ผลาหาร พานจะเสื่อมทรามฝืดเคืองไม่สู้อุดมสมบูรณ์ เศษทำนายว่าสตรีจะมีบุตรเป็นชายโดยมาก อนึ่งโสด แม้ว่าเรือทรงพระลักษมี คือเรือพระอัครชายามีชัยชนะ ในตำรับทำนายทายว่าบ้านเมืองจะบริบูรณ์ด้วย ธัญญาหาร มัจฉมังสาหาร ผลาหาร น้ำ อ้อย น้ำตาล สารพัดของบริโภค อันลูกค้าพาณิชย์ซึ่งจะมาค้าขายชายจะเบาบาง สิ่งของต่างประเทศมิได้อุดมมัธยม เศษทำนายว่าสตรีจะมีบุตรเป็นธิดาโดยมาก ผิว่าเรือพระที่นั่งทั้งสองแข่งเสมอลำกันก็ทำนายว่าบ้านเมืองจะมิได้บริบูรณ์ทุกสิ่ง มีอาหารการกินเป็นต้นในขวบปีนั้น และธรรมเนียมทหารจำนำประจำพายนาวาคู่แข่ง ถ้าเรือพระที่นั่งลำใดได้ชัยชนะ ทหารพลพายประจำลำก็ได้รับพระราชทานขนอนในกรุงเช้าชั่วค่ำในวันนั้น เป็นรางวัลไปแบ่งปันกันตามบานแพนกนายและไพร่ ครั้นเพลาตะวันชายแสง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออก ณ พระที่นั่งชลพิมานชานชาลา พระอัครชายาและราชประยูรวงศานุวงศ์พระสนมกำนัลโดยเสด็จสะพรั่งพร้อม หมู่มุขมาตยาขี่เรือตาริ้วล้อมวงจอดลอยคอยรับราชบริหารอยู่รายเรียง เรือเที่ยวข่าวก็พายขยุมสุม บอกให้ยกธงเรือทุ่นทุกๆ ลำเป็นสำคัญสัญญา ให้วางเรือพระที่นั่งคู่แข่งลงมาถวายทอดพระเนตร พระครูพรหมพรตพิธีบรมหงส์ แลพระครูเพทางคศาสตร์ราชไตรเพทก็อ่านวิษณุมนต์บันลือเสียงสังข์ปรายข้าวตอกดอกไม้ ทหารเรือแห่ก็โห่เอาชัยขึ้นสามลา ชาวดุริยางค์ในพระที่นั่งลำแข่ง ก็ประโคมสังคีตประสานเสียงเสนาะเพราะบรรเลงเพลงล่องเรือ โหราลั่นฆ้องฤกษ์ สิทธิชัยก็โบกธงหน้าท้าย พลพายออกเรือพระที่นั่งทั้งคู่พร้อมกัน เสียงคนแห่คนดูโห่ร้องอวยชัยให้พรเอิกเกริกก้องโกลาหลทั้งสองฟากฝั่ง เรือพระที่นั่งเอกชัยคู่แข่งงอนระหงงามอร่ามด้วยแสงสุวรรณวิลัยเลขา บุษบกบัลลังก์แลระยับจับสาย น้ำไหล เครื่องสูงสล้างรายเรียงหน้าท้ายธงทองธวัช พลพายใส่เสื้อแดงหมวดแดงดูงามสง่า กรายพายทองดังจะบินฟ้าพาเรือแล่น ดูผาดโผนมากลางสายชลชลาทั้งคู่แข่งกันขึ้นกันลดล่วงลงมาถึงหน้าฉาน เรือพระที่นั่งเอกชัยเฉลิมธรณินทร์ ก็เหลื่อมลำแล่นเลยพระที่นั่งชลสินธุ์พิมาน บรรดาคหบดีเศรษฐีพวกพ่อค้าก็ยินดีต่างตบมือโห่ร้องรำฟ้อนไปทั้งท้องน้ำ พลพายลำข่มมีน้ำใจพายหนีมาถึงเฉียบขาด พระที่นั่งเอกชัยเฉลิมธรณินทร์มีชัยชนะ ทหารแห่และพลพายก็เฮฮาบ่ายหน้าเรือพายกรายเห่ช้ามาลอยถวายลำอยู่ตรงหน้าฉาน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระโสมนัสเบิกบานสำราญราชหฤทัยแระภาสเชยชม แล้วโปรดให้พระราชทานรางวัลอย่างแต่หลัง


อันว่าข้าน้อยกล่าวการพระราชพิธี ๑๒ เดือน เป็นแต่สังเขปมิได้พิสดาร ด้วยเหตุว่าได้เห็นบ้างมิได้เห็นบ้าง จำได้บ้างจำไม่ได้บ้าง ทั้งเป็นสตรี สติปัญญาก็น้อยกว่าบุรุษ แล้วก็ยังอ่อนหย่อนอายุกำลังจะรักรูปและแต่งกาย ซึ่งมีอุตสาหะพากเพียรกล่าวเป็นทำเนียบไว้ทั้งนี้เพื่อหวังจะให้สตรีอันมีประเภทเสมอด้วยตน แต่บรรดาได้ส่ำสมกองการกุศลผลบุญจึ่งบริบูรณ์ด้วยอุปนิสัยสมบัติทั้งสาม คือมีสติปัญญานั้นหนึ่ง มีรูปสิริโสภาคย์นั้นหนึ่ง มีชาติตระกูลทั้งทรัพย์สมบัตินั้นหนึ่ง ได้เป็นนางพระสนมกำนัลกอบไปด้วยอิสสริยศในสมเด็จพระมหากษัตราธิราชเจ้า ผู้ดำรงทรงพิภพพื้นปัถพีในภายภาคหน้า พึงให้ทราบว่าข้าน้อยนพมาศกระทำราชกิจในสมเด็จพระร่วงเจ้ากรุงพระมหานครสุโขทัย ตั้งจิตต์คิดสิ่งซึ่งเป็นการควรกับเหตุ ถูกต้องพระราชอัชฌาสัยพระเจ้าอยู่หัว ก็ได้ปรากฏชื่อเสียงว่าเป็นสตรีนักปราชญ์ฉลาดในวิชาช่างอยู่ชั่วกัลปาวสาน ก็เห็นว่าควรท่านทั้งหลายผู้ได้นามชื่อว่าพระสนมกำนัล จะพึงประพฤติตามเยี่ยงอย่างข้าน้อยนี้บ้าง ในอนาคตเบื้องหน้า

ว่าด้วยความประพฤติแห่งนางสนม

แต่นี้ข้าน้อยพึงใจจะกล่าวความดีและชั่วในหมู่มิตรเสมอหน้า อันเป็นข้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสิ้นด้วยกันนับด้วยร้อยเป็นอันมาก ทั้งนางบำเรอที่เป็นขัตติยะตระกูลก็มี เป็นตระกูลคหบดี ฝ่ายทหารก็มี ฝ่ายพ่อเรือนก็มี เชื้อตระกูลพราหมณ์ก็มี ชาติตระกูลเศรษฐีก็มี เป็นตระกูลพ่อค้าก็มี ชนมายุล่วงมัชฌิมวัยก็มี อยู่ในมัชฌิมวัยก็มี ยังประถมวัยก็มี พึ่งดรุณรุ่นวัยก็มี ที่สืบราช สุริยวงศ์ก็มี เป็นแต่ธรรมดาพระสนมกำนัลก็มี ได้แต่นามชื่อว่าพระสนมกำนัลนั้นก็มี งามทั้งรูปร่างจริตกิริยาวาจาก็อ่อนหวาน มีสติปัญญาวาสนาบรรดาศักดิ์สมด้วยชาติตระกูล ตั้งใจรับราชการทั้งเช้าค่ำสม่ำเสมอ แระพฤติตนอย่างมฤคจามรีรู้สงวนขนมิให้คำคนติฉินยินร้ายดังนี้ก็มี บางคนงามแต่รูปกับวาสนา อุตสาหะเป็นประมาณประพฤติตนเหมือนพระยามฤคราชสีห์จับสัตว์บริโภคแต่เพลากลางวัน กลางคืนแล้วก็นิ่งนอนอยู่ในถ้ำ จะได้บริโภคอาหารนั้นหามิได้ดังนี้ก็มี บางคนงามรูปงามโฉมงามศรีงามศักดิ์ แต่ประพฤติตนเหมือนด้วยนกเค้านกแขวก ออกหาอาหารบริโภคต่อเพลากลางคืน กลางวันเข้าซ่อนสุ้มตัวอยู่ในรกดังนี้ก็มี บางคนงามทรวดทรงตะละอย่างนางเขียน ประพฤติตนเหมือนเหยี่ยวหาอาหาร นานๆ ก็แต่งปีกแต่งหางฉาบฉวยมาเฉี่ยวโฉบได้อาหารบริโภคพอมันปากอิ่มท้องแล้ว ก็โผผินบินร่อนไปตามสบายใจดังนี้ก็มี บางคนงามรูปจริตกิริยาไว้ท่วงทีปั้นปึ้งเป็นผู้ใหญ่ผู้สูงประพฤติดังเสือเฒ่าจำศีล แม้ได้เห็นมัจฉมังสาหารอันควรจะบริโภคถึงใจจะนึกอยากก็ทำเหมือนไม่อยาก ชะม้อยแต่หางตา ม่ายๆ เมินๆ ดังนี้ก็มี บางคนงามคมงามขำงามชาติงามตระกูล แต่ประพฤติตนเหมือนด้วยรากดินตนก็อาศัยแผ่นดิน แต่ไม่นับถือแผ่นดิน มันก็ต้องเลื้อยไปเลื้อยมาอยู่ในแผ่นดินนั้นเอง เหตุด้วยถือชาติถือตระกูลดังนี้ก็มี บางคนงามพิมพักตร์ผุดผ่องดังนวลเดือน นัยเนตรคมขำยิ้มแล้วจึงกล่าววาจา แต่ประพฤติตนเหมือนด้วยปอมข่าง ไว้จริตกิริยาสูงส่งดังนี้ก็มี บางคนงามสระสวยระทวยทอดกรกรายชายนัยนาดังศรแสลงแทงหทัย จะตกแต่งกายช่างช้าเสียทุกอย่าง ออกจากจวนก็จวนจะไม่ทันเพลาเฝ้ารับราชกิจ พอเป็นกิริยาบุญบ้างเล็กน้อย ไม่นั่งนานตะลิบแล่นเร็วเหมือนปูลมชมกันว่าดี ต่างถือเช่นเห็นอย่างย่อมประพฤติดังนี้ก็มีโดยมาก บางคนงามชะอ้อนงอนจริตกิริยาขวยเขินกล้ามวยวาดวงพักตร์ดำดังปีกแมลงภู่ วาดวงคิ้วค้อมดังคันสรสุดหางเนตร นขายาวสามองคุลีดังสีกลีบการะเกดกรายกรีดนิ้วเช็ดปากดูชดช้อย จะเชิญเครื่องสิ่งใดก็กลัวอันตรายเล็บ จะไกวจามรก็กลัวเหงื่อจะย้อยหน้าจะดำ รับราชกิจได้แต่เพียงหมอบม่ายถวายโฉม หนักไม่เอาเบาไม่สู้ ประพฤติตนดังนี้ก็มีโดยมาก บางพวกงามเป็นปกติสตรีฉวีวรรณขาวบ้างดำบ้าง เนื้อสองสีบ้างดำแดงบ้างอมบ้างพีบ้าง ประพฤติตนต่างๆ ตามแต่ใจจะเห็นดี เห็นงามบ้างก็หมั่นเฝ้าแหนอยู่งานคลานใช้มิได้ขาดหน้า บ้างก็เลือกวันเลือกเวลามารับราชการพอกันตรวจ บ้างก็เดือนหนึ่งมาครั้งหนึ่งบ้าง สองครั้งบ้าง บ้างก็บอกป่วยบอกไข้ไม่พอใจจะเฝ้าแหน บ้างก็ถือทิษฐิมานะนอนนิ่งอยู่เฉยๆ บ้างก็มานั่งพอเป็นทีเพื่อนท่านเพลาจวนรุ่ง บ้างก็รังเกียจใจในที่ควรว่าไม่ควร บ้างก็รับราชกิจสิ่งใดสิ่งหนึ่งแต่สักเล็กสักน้อย มีร้อยกรองดอกไม้และวาดเขียนเป็นต้น ที่จะได้มีใจมาอยู่งานคลานใช้สอยนั้น ปีหนึ่งจะมีสักครั้งก็เป็นอันยากอย่าหาเลย อย่างหนึ่งเล่าที่พวกหมั่นประจำทำราชการอยู่เป็นนิจ จะไกวจามรและตั้งเครื่องแต่งที่ก็ดี บ้างก็ดูเยี่ยงอย่างกันกระทำถูกต้องตามแบบแผน ใครได้เห็นก็ย่อมกล่าวคำสรรเสริญเยินยอ บางคนก็ทำตามอำเภอใจตัวแต่งตั้งพอพ้นมือมิได้เป็นที่ชอบพระราชอัชฌาสัยแต่สักสิ่ง พวกพ้องก็ช่างนิ่งดูได้ไม่รำคาญนัยน์ตา ยังพวกหนึ่งจะพรรณนาก็กลั้นยิ้มมิใคร่ได้ ล้วนแต่ถือว่าเข้ามัชฌิมวัยแล้วไม่ควรทำ ได้แต่เฝ้าแหนอยู่กระนั้นเป็นชั้นชนิด จะว่าไปที่จริงก็ดำยิ่งเสียกว่ารุ่นวัยห่มสไบชอบแต่บางเบาเลี่ยนเลื่อนเป็นธรรมดา อีกชนิดหนึ่งนั้นเล่าจะกล่าวก็เป็นกลัวใจทำราชการมิได้ คิดหาความชอบความจำเริญใส่ตัวตั้งใจแต่จะเที่ยวเก็บถ้อยมาร้อยให้เป็นความไล่ยุแยงแกล้งกล่าวให้เกินเหตุบ้าง จัดจ้านพาลทะเลาะไม่เลือกหน้า แม้ผู้ใดเชื่อถือถ้อยคำแล้วก็ซ้ำเติมจนเกิดวิวาทวาทาอันอื้อๆ ฉาวๆ เป็นเหลือปัญญาข้าน้อยนพมาศจะร่ำรำพรรณ อนึ่งโสดอันว่านางบำเรอทั้งหลายนั้นล้วนแต่ทรงลักษณะวิลาศลออเอี่ยมชำนาญในการบำรุงบำเรอพระราชหฤทัยสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสิ้นกาละทุกเมื่อ จะว่าข้างรูปร่างก็งามหล่อเหลาเกลากลึง จะว่าข้างทรวดทรงก็งามประหนึ่งนางกินนร จะดูดวงพักตร์ลักขณาก็งามเพราพริ้มยิ้มแย้ม จะพิศผิวพรรณวรรณะก็เป็นนวลเหมือนนวลจันทร์ จะดูจริตกิริยาก็งามละมัยละม่อมพร้อมพริ้ง จะฟังสำเนียงเสียงเจรจาก็เสนาะเพราะจับจิตร จะตกแต่งกายานุ่งห่มก็งามสมดูคมขำ จะใกล้เคียงกับผู้ใดก็หอมกลิ่นเสาวคนธ์รวยรื่น บ้างก็สันทัดในการสังคีตดีดสีขับไม้มโหรีพิณพาทย์แพนซอกลองชวา บ้างก็ชำนาญในการบรรเลงเพลงขับร้องสำเนียงเสียงอ่อนหวานโหยหวนยวนหทัย บ้างก็เรียนรู้ฟ้อนรำทำบทบาทเป็นน่าชม อ่อนระทวยทอดกรงามดังเทพสุรางค์รำ ถึงเพลาบำเรอก็พรักพร้อมไม่ขาดหน้า แต่ทว่าที่เป็นคนสันดานชั่วก็ประพฤติเชือน ประพฤติดีและชั่วย่อมระคนปนกัน เหมือนคำโบราณท่านว่าไม้ต่างปล้องพี่น้องต่างใจ ใครประพฤติอย่างไรเป็นไปอย่างนั้น อันหมู่นางบำเรอทั้งหลาย งามก็จริงดีก็จริง แต่ข้าน้อยคิดเห็นว่าเสียแรงรู้เสียแรงเรียนวิชาดังนี้มิได้เป็นแก่นสารแต่สักอย่าง พระพุทธฎีกาตรัสพระธรรมเทศนาว่า สิ่งใดซึ่งจะผูกสัตว์ไว้ในสงสารทุกข์แล้วก็เป็นบาป จะมาหลงประดิษฐ์คิดรำฟ้อนให้งดงามอยู่ดังนี้ แม้มิเห็นโทษกลับตัวได้ในประถมวัย ต่อล่วงมัชฌิมวัยปราศจากงามแล้วจึงเลยละ ก็คงจะได้เสวยวิบากในอบายโดยกรรมนิยม ที่ยังมีน้ำจิตรักใคร่ก็ตั้งตัวเป็นครูบาอาจารย์ฝึกสอนศิษย์หาให้ฟ้อนรำต่อไปจนแก่เฒ่าล้มตาย ควรจะนับว่าประพฤติบาปเป็นอาจิณกรรม อำนาจกุศลจะนำตนให้ไปเกิดในอบายภูมิอันชื่อโลหกุมภี ซึ่งเป็นบริวารอเวจีนรก ต้องทนทุกข์เวทนายืนยาวชั่วพุทธันดรหนึ่งคงแท้เที่ยง แต่ผู้หาปัญญามิได้ไม่เห็นพระไตรลักษณ์ หลงใหลในการฟ้อนรำจะให้งามให้ดีจำพวกเดียว อันเหตุซึ่งนางในทั้งหลายประพฤติตนต่างๆ กัน เห็นปานข้าน้อยพรรณนามาทั้งนี้ ใช่สมเด็จพระร่วงเจ้าจะไม่ทรงทราบ ก็ทรงทราบสิ้นทุกสิ่งทุกประการ อันได้โปรดพระราชทานโอวาทสั่งสอนทุกตัวคน พวกที่มีปัญญาก็รู้สำนึกกลับตัวได้เป็นคนดี เหล่าพวกที่มากไปด้วยทิษฐิมานะก็ไม่ประพฤติตามเหมือนยุให้กระทำต่างๆ หนักยิ่งขึ้นกว่าเก่า พระบาทสมเด็จพระร่วงเจ้าทรงดำรัสอยู่เนืองๆ ว่าคนจำพวกนี้จะทรมานถึงไม้แส้และประตัก อย่างช้าม้าโคกระบือกว่าจะสิ้นพยศก็จะได้ แต่คนดีด้วยอาชญานักปราชญ์ไม่พึงสรรเสริญ เมื่อใครดีก็จะใช้ ใครมิได้ก็ช่างใคร มิใช่เกิดในปล้องไม้ ล้วนแต่มีชาติมีตระกูล ในกาลนี้มาตุคามยังประพฤติชั่วแต่เพียงนี้ ไปภายภาคหน้าพระมหากษัตริย์ซึ่งทรงแผ่นดินในสยามประเทศประพฤติดีนั้นจะได้โดยน้อยนักน้อยหนา จะมีแต่ประพฤติลามกต่างๆ ยิ่งขึ้นไปมากกว่าสมัยนี้สักร้อยเท่าพันทวีเที่ยงแท้ ไม่ต้องการที่จะเป็นธุระกังวลด้วยคนสอนยาก ข้าน้อยนพมาศได้ฟังพระราชบริหารแล้วก็ให้สะดุ้งจิตคิดกลัวแต่สงสารวัฎ แม้ชาติหน้าเกลือจะเกิดไปเกิดเป็นพระสนมกำนัลพระมหากษัตราธิราชเจ้าในภายภาคหน้า ก็จะต้องใกล้เคียงด้วยคนพาลสันดานลามก จึงอุตสาหะสร้างกุศลปรารถนาไปเกิดในเทวโลกอย่างเดียว


แต่นี้ข้าน้อยจะบรรยายสหายตำนานสืบไป ในเมื่อสมเด็จพระร่วงเจ้าเสวยสิริราชสมบัติโดยยุติธรรมราชประเพณี ล่วงจุลศักราชไปได้ ๑๘ ปีโดยกำหนด ทรงสำราญภิรมย์ยินดีสโมสร พร้อมเพรียงด้วยหมู่พระสนมกำนัลและราชบริรักษ์ทั้งประยูรวงศาฝ่ายหน้าฝ่ายในเป็นบรมสุข อาณาประชาราษฎรปราศจากภัยอันตราย ราชศัตรูภายนอกภายในก็มิได้กำเริบให้เดือดร้อน มีแต่การบำเพ็ญพระราชกุศลทรงศีลจำแนกทาน บันเทิงพระกมลหฤทัยในทางพระโพธิญาณทุกเช้าค่ำคืนวันเดือนปีเป็นนิจนิรันดร อันตัวข้าน้อยนี้ก็มีความผาสุกด้วยพระคุณสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระเมตตาชุบเลี้ยง พระราชทานยศถาบรรดาศักดิ์ให้งามหน้าบิดามารดา ทั้งใช้สอยกิจราชการใหญ่น้อยสนิทชิดชม เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยในพระราชดำริทุกประการ แม้จะมีที่เสด็จพระราชดำเนินแห่งใด จะค้างแรมใกล้ไกลกันดารและมิกันดารก็ดี ข้าน้อยก็ได้โดยเสด็จทุกครั้งประดุจเกือกทอง อนึ่งเล่าเมื่อยามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะมิสบายพระสกลกายด้วยเหตุกำเริบพระโรค ข้าน้อยก็ได้ถนอมบาทบงกชมาศบำเรอรักโดยใจสวามิภักดิ์ มิได้เป็นกินเป็นนอนผ่อนสบาย ตั้งใจทำราชกิจจะได้คิดแก่ลำบากยากเหนื่อยแต่สักขณะจิตหนึ่งก็หามิได้ ใช่ข้าน้อยนพมาศจะแกล้งกล่าวไว้อวดอ้างนรชาติซึ่งเกิดภายหลัง ผู้ใดอย่าพึงสงสัย อันความจงรักภักดีของข้าน้อยนี้ ควรจะเป็นแบบอย่างไปได้ในแผ่นดินชั่วกัลปาวสาน ฯ

เชิงอรรถ

ที่มา

พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ท่านผู้หญิงสุรสีห์วิศิษฐศักดิ์ (พุ่ม กัลยาณมิตร) ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๗๒ โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร ขอขอบคุณ นายสะอาด บ้านปทุม ผู้พิมพ์เป็นวิทยาทาน

เครื่องมือส่วนตัว