ไทยรบพม่า

จาก ตู้หนังสือเรือนไทย

ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

เนื้อหา

ข้อมูลเบื้องต้น

แม่แบบ:เรียงลำดับ เป็นส่วนหนึ่งใน ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖

บทประพันธ์

แผ่นดินสมเด็จพระไชยราชาธิราช

สงครามครั้งที่ ๑ คราวพม่ายกมาตีเมืองเชียงกราน

เมื่อปีจอ จุลศักราช ๙๐๐ พ.ศ.๒๐๘๑ ในแผ่นดินสมเด็จพระไชยราชาธิราช ปรากฎว่าพม่ายกทัพมาตีอาณาเขตรสยามที่เมืองเชียงกราน เมืองเชียงกรานนี้เปนเมืองเดียวกับเมืองแครง มอญเรียกว่า “เดีงกรายน์” เดี๋ยวนี้อยู่ในแดนมอญไม่ห่างด่านเม้ยวะดี ทำครั้งนั้นอาณาเขตรไทย จะออกไปถึงแม่น้ำสละวิน เมืองเชียงกรานจึงอยู่ในอาณาเขตรไทย สงครามคราวนี้มีเรื่องปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดาร หนังสือพงษาวดารพม่า แลจดหมายเหตุของปิ่นโตโปจุเจตประกอบกันว่า มังตราพม่าเปนโอรสของเจ้าเมืองตองอูตั้งตัวเปนใหญ่ได้หัวเมืองพม่ารามัญเปนอันมากแล้วราชาภิเศกขนานพระนามว่า “พระเจ้าตะเบงชเวตี้” แปลว่า พระเจ้าสุวรรณเอกฉัตร แล้วยกกองทัพเข้ามาตีได้เมืองเชียงกราน สมเด็จพระไชยราชากองทัพหลวงไป ได้สู้รบกันเปนสามารถ กองทัพไทยตีกองทัพพม่ารามัญพ่ายถอยไป ไทยได้เมืองเชียงกรานคืน

แผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์

สงครามครั้งที่ ๒ คราวสมเด็จพระสุรโยไทยขาดคอช้าง

ปีมะเมีย จุลศักราช ๙๐๘ พ.ศ. ๒๐๘๙ สมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคต เกิดจลาจลในกรุงศรีอยุทธยา เหตุด้วยท้าวศรีสุดาจัทร์ผู้เปนพระชนนีสมเด็จพระยอดฟ้าเปนใจให้ขุนวรวงษาธิราชผู้เปนผู้ชิงราชสมบัติ เวลานั้นพระเจ้าตะเบงชเวตี้ พม่าที่เคยรบกับสมเด็จพระไชยราชาธิราชที่เมืองเชียงกราน มีชัยชนะ ได้ประเทศที่ใกล้เคียง ทั้งมอญแลพม่ารวมไว้ในอำนาจแล้วตั้งเมืองหงษาวดีเปนราชธานี จึงปรากฏพระนามว่า พระเจ้าหงษาวดี เมื่อได้ทราบข่าวว่าเกิดเหตุจลาจลขึ้นในกรุงศรีอยุทธยา เห็นเปนท่วงทีจะขยายอำนาจแลแก้ความเสื่อมเสียที่ปรากฎว่าเคยรบแพ้ไทย จึงยกกองทัพใหญ่เข้าทางด้านพระเจดีย์ย์ ๓ องค์ ฝ่ายข้างกรุงสรีอยุทธยา เมื่อท้าวศรีสุดาจันทร์กับขุนวรวงษาธิราชคบคิดกับสมเด็จพระยอดฟ้าปลงพระชนม์แล้ว ขุนวรวงษาธิราชครองราชสมบัติอยู่ได้ ๔๒ วัน พวกขุนนางข้าราชการก็ช่วยกันจับท้าวศรีสุดาจันร์กับวรวงษาธิราชฆ่าเสีย เชิญพระเทียรราชาราช อนุชาสมเด็จพระไชยราชาธิราชฆ่าเสียขึ้นครองราชสมบัติเมื่อปีวอก จุลศักราช ๙๙๐ พ.ศ. ๒๐๙๑ ทรงพระนามสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์


สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์เสวยราชย์ได้ ๗ เดือน พระเจ้าหงษาวดี ตะเบงชเวตี้ก็ยกกองทัพเข้ามา ในครั้งนั้นไทยมีกำลังสมบูรณ์ แต่เสียเปรียบพม่าอยู่อย่าง ๑ ด้วยพม่าทำศึกสงครามมีไชยชนะต่อติดกันมาหลายปี กำลังชำนาญแลอิ่มเอิบในการศึก ไทยแต่งกองทัพออกไปต่อสู้ดูกำลังพม่าที่เมืองสุพรรณ เห็นเปนศึกใหญ่ทัพกษัตริย์ จะต่อสู้ทางหัวเมืองไม่ไหว จึงถอยทัพเข้ามาตั้งมั่นที่กรุงศรีอยุทธยา กองทัพพม่าก็ยกตามเข้ามาตั้งล้อมกรุง ฯ ไว้ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ยกกองทัพออกไปรบ ได้ชนช้างกับพระเจ้าแปรเสียทีข้าศึก สมเด็จพระสุริโยไทยพระอรรคมเหษี แต่งพระองค์เปนชายออกไปด้วยเห็นพระราชสามีจะเปนอันตราย จึงขับช้างต่างพระที่นั่งเข้าชนให้พระราชสามีพ้นภัยมาได้ แต่องค์สมเด็จพระศรีสุริโยไทยต้องอาวุธข้าศึกทิวงคตในสมรภูมินั้น ไทยเห็นเหลือกำลังจะต่อสู้ข้าศึกด้วยการรบพุ่งในสนาม จึงเปลี่ยนอุบายการรบ เอาพระนครที่มั่นตั้งต่อสู้ แล้วสั่งให้พระมหาธรรมราชาราชบุตรเขยซึ่งครองเมืองพิษณุโลก รวบรวมพลเมืองฝ่ายเหนือยกกองทัพมาตีโอบข้าศึก ฝ่ายข้างพม่ายกเข้ามาปล้นพระนครหลายคราวตีไม่ได้ จะเข้าตั้งค่ายประชิด ไทยก็เอาปืนใหญ่ลงเรือเที่ยวไล่ยิงเข้ามาไม่ได้ พม่าตั้งล้อมพระนครอยู่เสบียงอาหารเบาบางลง พอได้ข่าวว่าทัพเมืองเหนือจะลงมาช่วยกรุงศรีอยุทธยา ก็จำเปนต้องเลิกทัพกลับไป จะกลับไปทางเดิมสะเบียงอาหารตามทางที่มาย่อยยับเสียหายหมด จึงยกกลับไปทางข้างเหนือ จะไปออกทางด่านแม่สอด ซึ่งเรียกอีกนาม ๑ ว่า แม่ลำเมาทางเมืองตาก ความปรากฎในหนังสือพงษาวดารพม่าว่า เมื่อพระเจ้าหงษาวดีถอยทัพไปคราวนั้น พระราเมศวร ราชโอรสของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ คุมกองทัพไทยออกติดตามตีทัพพม่าทาง ๑ พระมหาธรรมราชาเมืองพิศณุโลก ติดตามตีอิกทาง ๑ ฆ่าพม่าล้มตายมาก เมื่อพระเจ้าหงษาวดี ขึ้นไปถึงเมืองกำแพงเพ็ชร์ กองทัพไทยทั้ง ๒ กองตามไปทางอิก ๓ วันจะทัพกองทัพหลวง พระเจ้าหงษาวดีจึงคิดกลอุบายแต่งกองทัพมาซุ่ม แล้วสั่งให้รบล่อกองทัพไทยเข้าไป ฝ่ายไทยหลงไล่ละเลิงเข้าไป พม่าล้อมจับได้ทั้งพระราเมศวรแลพระมหาธรรมราชา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์จึงยอมเปนไมตรี หย่าทัพกับพม่า ยอมให้ช้างชนะงาแก่พระเจ้าแก่พระเจ้าหงษาวดี ๒ ช้างพระเจ้าหงษาวดีจึงปล่อยพระราเมศวรและพระมหาธรรมราชากลับมา


พระเจ้าหงษาวดีตะเบงชเวตี้กลับไปถึงเมืองหงษาวดี แล้วไม่ช้าก็เกิดประพฤติดุร้ายด้วยอารมณ์ฟั่นเฟือน จนพวกขุนนางล่อลวงให้ไปจับช้างเผือก แล้วจับพระเจ้าหงษาวดีตะเบงชเวตี้ฆ่าเสีย หัวเมืองมอญพม่าแลไทยใหญ่ที่เคยขึ้นหงษาวดี พากันกระด้างกระเดื่องปานเมืองจลาจลอยู่กว่าสิบปี ทางนี้ปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ให้ตระเตรียมการป้องกันพระนครหลายอย่าง เปนต้นว่ากำแพงกรุงเก่า แต่ก่อนมาเปนแต่ถมดินเปนเชิงเทินแล้วปักละเนียดไม้ข้างบน แก้ไขก่อเปนกำแพงอิฐปูนเมื่อในแผ่นดินพระมหาจักรพรรดิ์คราวนี้ หัวเมืองรายรอบพระนครที่มีเชิงเทินเปนที่มั่นคงมาแต่เดิม เห็นว่าจะรักษาไม่ได้ จะไม่ให้ข้าศึกยึดเปนที่มั่นได้ ให้รื้อเชิงเทินกำแพงเสียทั้งเมืองสุพรรณบุรี เมืองลพบุรี เมืองนครนายก ส่วนหัวเมืองเหนือที่มีกำแพงของเดิมตั้งเมื่อพระร่วง ให้ทำป้อมคูต่อออกมาสำหรับสู้ทางปืนทั้งเมืองสวรรคโลก ศุโขไทย (แลเข้าใจว่าเมืองกำแพงเพ็ชร์ด้วย) ทางที่ข้าศึกจะเข้ามาที่ย่านเมืองยังห่าง ก็ให้ตั้งเมืองขึ้นใหม่ ทั้งเมืองนครไชยศรีแลเมืองสาครบุรี นอกจากนี้ตระเตรียมกำลังไพร่พลพาหะอิกหลายอย่าง ไม่ได้ประมาท

สงครามครั้งที่ ๓ คราวขอช้างเผือก

ทางเมืองหงษาวดี มีคนสำคัญขึ้นในพวกพม่าคน ๑ เปนพี่พระมเหษีพระเจ้าหงษาวดีตะเบงชเวตี้ ได้เปนแม่ทัพช่วยพระเจ้าหงษาวดีทำศึกสงครามมาแต่แรก พระเจ้าหงษาวดียกย่องให้มียศเปนบุเรงนอง แปลว่าพระเชษฐาธิราช เมื่อสิ้นหงษาวดีตะเบงชเวตี้แล้ว บุเรงนองพยายามรวบรวมกำลังเข้าปราบปรามหัวเมืองพม่ามอญแลไทยใหญ่ รวบรวมได้อาณาจักรของพระเจ้าตะเบงชเวตี้ไว้ในอำนาจทั้งหมดแล้ว ตั้งตัวเปนพระเจ้าหงษาวดีตีประเทศยะไข่แลเมืองเชียงใหม่ ได้อาณาเขตรขยายยิ่งออกไป จึงคิดจะมาตีกรุงศรีอยุทธยาอิก ด้วยพระเจ้าหงษาวดีบุเรงนองเคยเปนแม่ทัพคน ๑ เข้ามารบเมืองไทยครั้งพระเจ้าตะเบงชเวตี้ รู้ภูมิฐานแลกำลังทั้งวิธีรบของไทยอยู่แล้ว เวลานั้นไม่มีสาเหตุอะไรกับเมืองไทย ความปรากฎว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์มีบุญญาภิหารได้ช้างเผือกถึง ๗ ช้าง ข้างพระเจ้าหงษาวดีไม่มีช้างเผือก จึงแกล้งมีพระราชสาสนเข้ามาขอช้างเผือก ๒ ช้าง เพื่อให้เปนเหตุ เพราะช้างเผือกเปนของคู่บารมีของพระราชาธิบดี ถ้ายอมถวายแก่พระราชประเทศอื่น ก็เหมือนหนึ่งว่า ยอมอยู่ในอำนาจของพระราชาประเทศนั้น ถ้าหากว่าไม่ยอมถวาย ก็จะถือว่าที่ขัดขืนนั้นเปนการหมิ่นประมาท พอเปนเหตุที่ยกกองทัพเข้ามารบพุ่งปราบปราม ฝ่ายข้างกรุงศรีอยุทธยา เมื่อได้รับพระราชสาสนของพระเจ้าหงษาวดี ก็รู้เท่าถึงการตลอดสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์จึงประชุมข้าราชการปฤกษาความเห็น ข้าราชการแตกเปน ๒ ฝ่าย ฝ่าย ๑ เห็นว่าพระเจ้าหงษาวดี บุเรงนองมีกำลังมาก ยิ่งกว่าพระเจ้าเบงชเวตี้ กำลังไทยในเวลานั้นเห็นจะสู้ไม่ไหว พวกนี้เห็นว่ายอมให้ช้างเผือกเสีย ๒ ช้าง อย่าให้มีเหตุวิวาทบาดหมางกับพระเจ้าหงษาวดีดีกว่า แต่อิกฝ่าย ๑ มีพระราเมศวร ราชโอรสองค์ใหญ่ของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ พระยาจักรี แลพระสุนทรสงคราม ผู้ว่าราชการเมืองสุพรรณ ทั้ง ๓ นี้ เปนต้น ว่าการที่พระเจ้าหงษาวดีขอช้างเผือกนั้นแต่เปนอุบายที่จะให้เกิดเหตุหาอำนาจครอบงำกรุงสยาม ถึงให้ช้างเผือกไป พระเจ้าหงษาวดีก็คงหาเรื่องอื่นให้เปนเหตุเข้ามาเบียดเบียนอิก ที่จะให้ช้างเผือกไม่เปนเครื่องป้องกันเหตุร้ายที่มาจากหงษาวดีได้ เปนแต่จะเสียพระเกียรติไปเปล่า ๆ ไหน ๆ อยู่ในจะเกิดเหตุรบพุ่งกันกับพระเจ้าหงษาวดีแล้ว รักษาพระเกียรติยศไว้จะดีกว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเห็นชอบด้วย จึงมีพระราชสาสนตอบไปยังพระเจ้าหงษาวดีว่า ช้างเผือกเปนของได้ด้วยบุญญาภินิหาร ถ้าพระเจ้าหงษาวดีบำเพ็ญพระบารมีให้แก่กล้า ก็คงจะได้ช้างเผือกมาสู่พระบารมี ไม่ควรจะต้องทรงวิตก พระเจ้าหงษาวดีจึงถือเอาเหตุที่ไม่ยอมให้ช้างเผือกนั้น ยกกองทัพเข้ารบเมืองไทย


พระเจ้าหงษาวดีบุเรงนองทัพมาครั้งนี้ ได้เปรียบเมืองไทยหลายอย่าง กำลังไพร่พลก็มีมากกว่าครั้งพระเจ้าตะเบงชเวตี้ พระเจ้าหงษาวดีบุเรงนองเคยเปนแม่ทัพ คน ๑ เข้ามารบเมืองไทยครั้งพระเจ้าตะเบงชเวตี้ รู้ภูมิ์แผนที่เมืองไทย รู้กำลังแลวิธีรบของ ไทยอยู่ชัดเจน จึงจัดเตรียมการเข้ามาทุกอย่าง ที่จะแก้ไขความขัดข้องซึ่งเคยมีในครั้งก่อน เปนต้นว่า ครั้งก่อนยกกองทัพเข้าทางด่านเจดีย์ ๓ องค์ ตรงเข้ามากรุงศรีอยุทธยา ถูก ไทยเอาพระนครที่มั่นตั้งรับแล้วให้กองทัพหัวเมืองเหนือลงมา ตีโอบหลัง คราวนี้พระเจ้าหงษาวดียกเข้ามาทางด่านแม่สอด จะตีทำลายกำลังหัวเมืองเหนือเสียก่อน แล้วจึงยกลงมาตีกรุงศรีอยุทธยา ไม่มีกำลังข้างนอกช่วยได้ สะเบียงอาหารที่เคยฝืดเคืองขัดข้อง คราวนี้ได้เมืองเชียงใหม่ไว้ในอำนาจ ให้พวกเชียงใหม่เปนกองสะเบียงลำเลียงส่งทางเรือ ในเรื่องที่สู้ กำลังปืนใหญ่ของไม่ได้ในคราวก่อนนั้น คราวนี้พระเจ้าหงษาวดีก็เตรียมปืนใหญ่เข้ามาให้พอ แลจ้างโปจุเกตเข้ามาเปนทหารปืนใหญ่ ๔๐๐ คน กองทัพหงษาวดียกเข้ามาคราวนี้ จัดเปน ๕ ทัพ มีจำนวนพลมาก (พม่าว่า ๕ แสน) ยกออกจากเมืองหงษาวดีเมื่อ ณ วันจันทร์ เดือน ๑๒ แรม ๑๒ ค่ำ ปีกุญ จุลศักราช ๙๒๕ พุทธศักราช ๒๑๐๖ ตรงมาตีเมืองกำแพงเพ็ชร์ก่อน เมื่อตีได้เมืองกำแพงเพ็ชร์แล้ว จึงแยกกองทัพเปน ๓ กอง ให้ไปตีเมืองสุโขไทยกอง ๑ ไปตีเมืองสวรรคโลก กอง ๑ ไปตีเมืองพิศณุโลกกอง ๑ เมืองสุโขไทยสู้รบเปนสามารถ จนพระยาศุโขไทยตายในที่รบ พระเจ้าหงษาวดีจึงได้เมืองศุโขไทย แต่เมืองสวรรคโลกนั้นเมื่อได้ข่าวว่าเสียเมืองศุโขไทยแล้ว ก็ยอมแพ้โดยแพ้โดยดีไม่ได้ต่อสู้ พระเจ้าหงษาวดียกมาตีเมืองพิศณุโลก ได้รบพุ่งกันเปนสามารถ พระเจ้าหงษาวดีตีได้เมืองพิศณุโลกแลจับพระมหาธรรมราชาได้ เนื้อความที่กล่าวมาด้วยเรื่องพระเจ้าหงษาวดีตีหัวเมืองเหนือตอนนี้ กล่าวตามพงษาวดารพม่า ในหนังสือพระราชพงษาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐมีเนื้อความปรากฎต่อออกไปว่า ครั้งนั้นเมืองพิศณุโลกขาดสะเบียง แลเกิดไข้ทรพิศม์ขึ้นในเมือง จึงเสียแก่พระเจ้าหงษาวดี เมื่อพระเจ้าหงษาวดีได้หัวเมืองฝ่ายเหนือแล้ว เนื้อความทั้งปวงยุติต้องกันว่า พระเจ้าหงษาวดีเกลี้ยกล่อมพวกไทยข้างฝ่ายเหนือ มีพระมหาธรรมราชาเปนต้นให้เข้าด้วย ไม่ได้ทำอันตราย เช่นเก็บริบทรัพย์สมบัติ หรือกวาดต้อนครอบครัวไปเปนเชลย ให้รวบรวมเรือที่เมืองพิศณุโลก จัดเปนกองทัพเอาปืนใหญ่ลงในเรือ ให้พระเจ้าแปรราชอนุชาเปนนาทัพ ส่วนกองทัพบก ให้พระมหาอุปราชาอนุชาเปนกองกลาง พระเจ้าอังวะราชบุตร์เขยเปนปีกซ้าย ๒ กองนี้เข้าใจว่าเดิมฝั่งตวันออก พระเจ้าหงษาวดียกกองทัพหลวงตามลงมา ที่กรุงศรีอยุทธยาก็จัดกองทัพให้พระราเมศวรคุมขึ้นไปช่วยหัวเมืองเหนือ แต่เห็นจะขึ้นไปช่วยไม่ทัน ด้วยปรากฎในพงษาวดารพม่าแต่ว่า พระราเมศวรคุมกองทัพเรือมีปืนใหญ่ขึ้นไปตั้งดักอยู่ ณ ที่แห่ง ๑ กองทัพบกหงษาวดียกลงมา ถูกไทยเอาปืนใหญ่ยิงต้องหยุดยั้งอยู่คราว ๑ จนกองทัพเรือของพวกหงษาวดีลงมาจากเมืองพิศณุโลก รบพุ่งตีกองทัพเรือของไทยแตกต้องถอยลงมาแล้ว จึงยกกองทัพตามลงมาตั้งล้อมกรุงศรีอยุทธยาไว้ ลักษณการรบคราวนี้ได้ความตามพงษาวดารพม่า ดูประหนึ่งว่า พม่าตั้งใจจะตัดกำลังปืนใหญ่ของไทยนั้นเปนสำคัญ ไทยเอาปืนใหญ่ลงในเรือ แลปรากฎว่าใช้พวกโปจุเกตเหมือนกัน ไปเที่ยวยิงกองทัพพม่า พม่าเพียรทำลายเรือปืนใหญ่ของไทยได้จนหมดแล้ว จึงยกเข้ามาตั้งใกล้พระนคร พอได้ทางปืนใหญ่ เอาปืนใหญ่ระดมเข้าไปในพระนครให้ถูกวัดวาบ้านเรือนแลผู้คนเปนอันตรายไปทุก ๆ วัน ฝ่ายไทยไม่มีกำลังพอที่จะต่อสู้ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์จึงขอหย่าทัพ พระเจ้าหงษาวดีเรียกเอาช้างเผือก ๔ ช้าง กับขอเอาตัวพระราเมศวร พระยาจักรี พระสุนทรสงคราม ซึ่งเปนหัวน่าในการต่อสู้ไปเสียด้วย สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ก็ต้องบัญชาตาม ในหนังสือพงษาวดารพม่าว่าในครั้งนั้นพระเจ้าหงษาวดีเอาพระมหาจักรพรรดิ์ไปด้วย แลเรียกเอาเงินภาษีอากรซึ่งเก็บได้ ณ เมืองตะนาวศรีให้ส่งเปรของพม่าต่อไปด้วย ข้อที่ว่าเอาพระมหาจักรพรรดิไปนั้นไม่เห็นสม แลขัดกับเหตุการณ์ในเรื่องพระราชพงษาดาร ข้าพเจ้าเข้าใจว่าไม่จริง แต่เรื่องเอาภาษีอากรเมืองตะนาวศรีนั้นอาจจะเปนได้

สงครามครั้งที่ ๔ คราวเสียพระนครครั้งแรก

เหตุสงครามคราวนี้ เกิดด้วยพระหงษาวดีตั้งพระไทยจะเอากรุงสยามเปนเรื่องขึนให้ได้ แลฝ่ายไทยเราก็แตกสามัคคีกัน มีเรื่องราวที่เปนสาเหตุปรากฎมาในหนังสือพระราชพงษาวดารดังนี้คือ พระไชยเชษฐาพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต ตั้งพระราชธานีอยู่เมืองเวียงจันทร์ มีราชสาสนมาขอพระเทพกระษัตรีย์ ราชธิดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์เปนอรรคมเหษี ข้างสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ จะใคร่ได้กรุงศณีสัตนาหุตเปนกำลังช่วยต่อสู้พม่า จึงพระราชทานราชธิดา แต่เมื่อฤกษ์จะส่งไป พระเทพกระษัตริย์ประชวร ทำนองสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ไม่อยากจะให้ทางพระราชไมตรีเริศร้างไป จึงประทานพระแก้วฟ้า เห็นจะเปนราชธิดาเกิดด้วยพระสนมไปแทน ไปอยู่ได้ไม่ช้า ได้ความในพงษาวดารพม่าว่า พระเจ้าหงษาวดีให้ยกไปตีกรุงศรีสัตนาคนหุต พระไชยเชษฐาคุมกองทัพออกตั้งต่อสู้อยู่ในป่า พวกหงษาวดีตีเมืองเวียงจันทร์ได้จับได้ครอบครัวของพระไชยเชษฐา แต่ไม่ชนะพระไชยเชษฐา ๆ ตีกองทัพหงษาวดีต้องเลิกถอนกลับไป ทำนองพระแก้วฟ้าจะหลบหนีได้ไม่ถูกจับ พระไชยเชษฐาได้พระนครคืน จะต้องครอบครัวใหม่ จึงให้เชิญพระแก้วฟ้ามาส่งที่กรุงศรีอยุทธยา ว่าแต่ก่อนได้ทูลขอพระเทพกระษัตรี ด้วยเห็นว่าเปนราชธิดาของสมเด็จพระสุริโยไทยซึ่งทิวงคตโดยความกตัญญูพระเกียรติยศ ที่พระราชทานพระแก้วฟ้าไปไม่ตรงต่อความประสงค์ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ จึงส่งพระเทพกระษัตรีย์ขึ้นไป การเรื่องนี้ทราบถึงพระมหาธรรมราชาตั้งแต่แรก พระมหาธรรมราชาลอบส่งข่าวไปถึงหงษาวดี พระเจ้าหงษาวดีจึงให้ทัพพม่ามาตั้งซุ่มอยู่ พอพวกไทยพวกล้านช้าง เชิญพระเทพกระษัตรีย์ ไปถึงแขวงเมืองเพ็ชรบูรณ์ พวกพม่าก็เข้าชิงพระเทพกระษัตรีย์ พาไปถวายพระเจ้าหงษาวดี เปนเหตุให้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์กับพระไชยเชษฐาขัดเคือง ด้วยรู้ว่าเปนความคิดของพระมหาธรรมราชาจึง อุบายให้พระไชยเชษฐายกกองทัพลงมาตีเมืองพิศณุโลก ข้างกรุงศรีอยุทธยา จะทำเปนแต่งกองทัพขึ้นไปช่วย แต่จะดีกระหนาบขึ้นไปจากข้างใต้อิกทาง ๑ พระมหาธรรมราชาที่กรุงศรีอยุทธยา ฝ่ายข้างกรุงศรีอยุทธยาในเวลาจัดกองทัพจะขึ้นไปเมืองพิศณุโลกนั้น ให้พระยาสีหราชเดชกับพระท้ายน้ำล่วงน่าขึ้นไปก่อน เปนอย่างให้ไปช่วยพระมหาธรรมราชารักษาเมืองพิศณุโลกแต่สั่งไปให้เปนไส้ศึกเมื่อภายหลัง พระยาสีหราชเดโชกับพระท้ายน้ำกลับเอาความลับไปทูลพระมหาธรรมราชา พอกองทัพกรุงศรีสัตนาคนหุตยกมาถึงก็เข้าตั้งล้อมเมืองพิศณุโลก พระมหินทร์ก็ยกกองทัพเรือกรุงศรีอยุทธยาขึ้นไปถึงในคราวเดียวกัน ทัพหลวงตั้งอยู่ปากพิง ทัพน่าไปตั้งที่วัดจุฬามณี พระมหาธรรมราชาให้ทำแพไฟปล่อยลงมาเผาเรือทัพน่าแตกพ่ายลงมาจนถึงทัพหลวง ส่วนทัพกรุงศรีสัตนาคนหุตยกเข้าปล้นเมืองพิศณุโลกหลายครั้งตีเมืองยังไม่ได้ พอกองทัพพม่าซึ่งพระเจ้าหงษาวดีให้เข้ามาช่วยพระมหาธรรมราชาเข้ามาถึง กองทัพเมืองศรีสัตนาคนหุตก็เลิกถอยไป กองทัพพระมหินทร์ก็เลิกกลับลงมากรุงศรีอยุทธยา พระมหาธรรมราชาจึงออกไปเมืองหงษาวดี ไปทูลความทั้งปวงแก่พระเจ้าหงษาวดี ในเวลาพระมหาธรรมราชาไม่อยู่นั้น พระมหินทร์ขึ้นไปรับพระวิสุทธิกระษัตรีย์ราชธิดาสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ ซึ่งเปนอรรคชายาของพระมหาธรรมราชา กับพระเอกาทศรถราชบุตร์องค์น้อย พาลงมาไว้กรุงศรีอยุทธยา เวลานั้นสมเด็จพระนเรศวรอยู่กับพระมหาธรรมราชาที่เมืองหงษาวดี พระเจ้าหงษาวดีเห็นไทยแตกกันขึ้นก็จริงเปนที่ก็ยกกองทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุทธยาเมื่อปี มะโรง จุลศักราช ๙๓๐ พุทธศักราช ๒๑๑๑ จัดเปนกองทัพ ๗ ทัพ จำนวนพล (พม่าว่า) ห้าแสน พระมหาธรรมราชาคุมกองทัพไทยฝ่ายเหนือลงมาช่วยพระเจ้าหงษาวดีด้วยทัพ ๑ ทัพพม่ายกเข้ามาคราวนี้เดินทางด้านแม่สอดเหมือนคราวก่อน เข้ามาได้สดวกด้วยไม่ต้องรบพุ่งตามระยะทาง ฝ่ายข้างกรุงศรีอยุทธยาตั้งใจต่อสู้ด้วยเอาพระนครเปนที่มั่นอย่างเดียว การที่ต่อสู้ครั้งนี้ได้ความตามหนังสือพระราชพงษาวดารว่า ผู้คนข้างฝ่ายไทยแตกหนีเข้าป่าเสียมาก เกณฑ์ระดมคนไม่ได้มากเหมือนคราวก่อน การบังคับบัญชาของพระมหินทร์ก็ไม่สิทธ์ขาด สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ทรงผนวชอยู่ ต้องเชิญเสด็จลาผนวชออกมาทรงบัญชาการ แต่มีพระยารามรณรงค์ผู้ว่าราชการเมืองกำแพงเพ็ชร์คนเก่าคน ๑ ซึ่งไม่เข้ากับพระมหาธรรมราชา มาทำราชการอยู่ในกรุง ฯ เปนคนเข้มแข็ง จัดการป้องกันพระนครในเวลานั้นลำน้ำทางด้านตวันออก ตั้งแต่วัดมณฑปลงมาจนวัดพระเจ้าพนัญเชิงยังเปนคลองคูพระนคร กำแพงพระนครข้างด้านตวันออกนั้น ก็ยังอยู่ลึกเข้าไปมาก ด้านนี้ไม่มีแม้น้ำใหญ่เปนคูเหมือนอย่างด้านอื่น ตั้งค่ายรายตลอด แต่ข้างด้านอื่นที่มีแม่น้ำใหญ่นั้น ปรากฎว่าปลูกหอรบเอาปืนใหญ่ขึ้นตั้งรายตลอด แลในคราวนี้ไทยหาปืนใหญ่เตรียมไว้มากกว่าคราวก่อน ๆ พม่าตั้งล้อมเข้าตีปล้นพระนครหลายครั้งก็เข้าไม่ได้ ไทยขอกองทัพกรุงศรีสัตนาคนหุตยกลงมาตีโอบหลัง พม่าก็ตีกองทัพกรงุศรีสัตนาคนหุตแตกไป พระเจ้าหงษาวดีตั้งล้อมกรุงศรีอยุทธยาอยู่ถึง ๗ เดือน ตีหักเอาพระนครอย่างไร ๆ ก็ไม่ได้ ด้วยข้างด้านใต้ลำแม่น้ำเจ้าพระยาน้ำลึกลงไปจนออกปากน้ำ ไทยอาไศรยใช้เรือใหญ่หาเครื่องสาตราวุธแลสะเบียงอาหารส่งเข้าพระนครได้ แต่ถึงกระนั้นข้างไทยในพระนครก็บอบช้ำอิดโรยลงทุกที สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ก็สวรรคต พระเจ้าหงษาวดีเห็นจวนจะถึงฤดูน้ำท่วม จึงให้พระมหาธรรมมหาราชาบอกเข้าไปในพระนครว่า พระเจ้าหงษาวดีขัดเคืองพระยารามรณรงค์คนเดียว ถ้าส่งตัวไปถวายแล้ว เห็นจะยอมเปนไมตรี สมเด็จพระมหินทร์สำคัญว่าจริง ส่งตัวพระยารามรณรงค์ออกไปให้ พระเจ้าหงษาวดีก็ไม่เลิกทัพ กลับเร่งการตีพระนครทางข้างด้านตวันออก ข้างไทยก็ยังต่อสู้แขงแรง พระเจ้าหงษาวดีเสียรี้พลลงอีกเปนอันมาก เห็นจะตีเอาพระนครไม่ได้ จึงเกลี้ยกล่อมพระยาจักรีที่เอาตัวไปพร้อมกับพระราเมศวร ให้รับเปนไส้ศึก แล้วปล่อยตัวให้หนีเข้าไปในพระนคร ข้างสมเด็จพระมหินทร์สำคัญว่าพระยาจักรีหนีเข้ามาได้เอง เห็นเปนผู้ที่ต่อสู้พม่าแขงแรงมาแต่ก่อน ก็มอบการงานให้พระยาจักรีบัญชาการรักษาพระนครแทนพระยารามรณรงค์ ข้างพระยาจักรีเปนไส้ศึกแกล้งถอดถอนผลัดเปลียนแม่ทัพ นายกองที่เข้มแขงไปเสียจากน่าที่ ก็เสียพระนครแก่พระเจ้าหงษาวดี เมื่อ ณ วันอาทิตย์เดือน ๑๑ แรม ๙ ค่ำ ปีมะเส็ง จุลศักราช ๙๓๑ พุทธศักราช ๒๑๑๒ ด้วยความทรยศของไทยด้วยกันเอง


พระเจ้าหงษาวดีได้กรุงศรีอยุทธยาแล้ว จึงตั้งพระมหาธรรมราชาให้ครองราชสมบัติ เอาสมเด็จพระมหินทร์ไปด้วย แลเก็บริบทรัพย์สมบัติแลกวาดต้อนผู้คนพลเมืองไปเปนเชลยเสียเกือบสิ้นพระนคร ปรากฎในพระราชพงษาวดารว่า เหลือกำลังไว้ให้รักษาพระนครรวมทั้งชายเพียง ๑๐,๐๐๐ คน แล้วแต่งกองทัพพม่าให้อยู่กำกับที่ในกรุง แลตามหัวเมืองที่สำคัญทุกแห่ง แต่นั้นกรุงศรีอยุทธยาก็ตกลงเปนเมืองประเทศราชขึ้นพม่า อยู่ ๑๕ ปี

แผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชา

สงครามครั้งที่ ๕ คราวสมเด็จพระนเรศวรประกาศอิศรภาพ

ในสมัยเมื่อเมืองไทยต้องเปนประเทศราชขึ้นหงษาวดี เดชะบุญบังเอิญมีนักรบไทยที่วิเศษสุดเกิดขึ้นในองค์สมเด็จพระนเรศวร สมเด็จพระนเรศวร เปนราชโอรสองค์ ใหญ่ของสมเด็จพระมหาธรรมราชา แลเปนราชนัดดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ ด้วยพระวิสุทธิกระษัตริย์เปนพระมารดา เมื่อสมเด็จพระนเรศวยังทรงพระเยาว์ ได้เคยออกไปอยู่เมืองหงษาวดี คราว ๑ ในระหว่าง ๖ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๑๐๖ จน พ.ศ. ๒๑๑๒ นี้ แต่จะอยู่กี่ปีไม่ทราบแน่ เปนเหตุให้ทรงทราบภาษา แลนิไสยใจคอของพวกพม่ารามัญแต่ครั้งนั้น ครั้นเมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชาได้ครองกรุงศรีอยุทธยา เมื่อ พ.ศ. ๒๑๑๒ พระเจ้าหงษาวดีบุเรงนองได้พระสุวรรณเทวีพี่นางของสมเด็จพระนเรศวรไปเปนพระชายา จึงปล่อยสมเด็จพระนเรศวร เวลานั้น พระชัณษาได้ ๑๕ ปีให้กลับมาช่วยราชการอยู่กับสมเด็จพระมหาธรรมราชา ๆ จึงให้ขึ้นไปครองเมืองพิศณุโลก ซึ่งเปนราชธานีฝ่ายเหนือตามราชประเพณีเดิม


ในระหว่างเวลา ๑๕ ปี เมืองไทยต้องเปนประเทศราชขึ้นหงษาวดีอยู่นั้น พระเจ้าหงษาวดีเกณฑ์กองทัพไปช่วย รบข้าศึกหลายครั้ง สมเด็จพระนเรศวรได้มีโอกาศจัดการทัพศึกฝึกหัดทแกล้วทหารมาแต่แรก ต่อมาพวกเขมรเมืองลแวกเห็นเมืองไทยอ่อนกำลัง ยกกองทัพเข้ามากวาดต้อนผู้คนไปเปนเชลย สมเด็จพระนเรศวร ได้ทรงคุมกองทัพออกรบพุ่งพวกเขมรแตกพ่ายไปด้วยกำลังแลอุบายหลายคราว ได้ความชำนาญการสงครามยิ่งขึ้นโดยลำดับ


ในสมัยนั้นไทยมีความเจ็บแค้น คอยหาช่องที่จะกลับตั้งตัวเปนอิสระอยู่เสมอ แต่หากกำลังน้อยยังเห็นจะทำการไม่สำเร็จได้ดังประสงค์ ก็ต้องอ่อนน้อมแก่พระเจ้าหงษาวดีมาด้วยความจำใจ แลวิธีการปกครองพระราชอาณาจักรของพระเจ้าหงษาวดีนั้น ตามบรรดาเมืองใหญ่ พระเจ้าหงษาวดีตั้งพระญาติวงษ์ไปครอบครองทุกแห่ง ที่สำคัญคือ พระเจ้าตองอู พระเจ้าแปร สองพระองค์นี้เปนลูกเธอของพระเจ้าหงษาวดีบุเรงนอง พระเจ้าอังวะเปนราชบุตรเขย ครั้นเมือ่ได้เมืองเชียงใหม่ไว้ในอำนาจ พระเจ้าหงษาวดีตั้งลูกเธออิกองค์ ๑ ชื่อ มังนรธาช่อมาเปนพระเจ้าเชียงใหม่ กำลังจะคิดตั้งลูกเธอออกไปครองเมืองล้านช้าง พระเจ้าหงษาวดีบุเรงนอง ก็ประชวรทิวงคตเมื่อปีมะเส็ง จุลศักราช ๙๔๓ พ.ศ. ๒๑๒๔ มังไชยสิงห์ราชโอรสผู้เปนพระมหาอุปราชา ได้ครองราชสมบัติเปนพระเจ้าหงษาวดี


เมื่อพระเจ้าหงษาวดีไชยสิงห์ขึ้นครองราชสมบัติ เจ้านายที่ครองเมืองพากันไปเฝ้าพระเจ้าหงษาวดี ตามประเพณีเปลี่ยนรัชกาลใหม่ สมเด็จพระมหาธรรมราชาให้สมเด็จพระนเรศวรไปต่างพระองค์ เวลานั้นประจวบเกิดเหตุด้วยเมืองคัง ซึ่งเปนประเทศราชไทยใหญ่ตั้งแขงเมืองไม่ยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าหงษาวดี ทำนองพระเจ้าหงษาวดีไชยสิงห์ ประสงค์จะให้ปรากฎเกียรติยศมังกะยอชวาราชโอรส (ในหนังสือพระราชพงษาดาร เรียกชื่อมอญว่า มังสามเกลียด) ซึ่งได้เปนพระมหาอุปราชาขึ้นใหม่ จึงเลือกสรรเจ้านายที่หนุ่ม ๆ ไปออกงานศึกตีเมืองคัง ๓ องค์ ด้วยกัน คือ พระมหาอุปราชา องค์ ๑ พระสังขทัต (ข้าพเจ้าใจว่าเปนลูกเธอของพระเจ้าหงษาวดี ที่ได้เปนพระเจ้าแปร เมื่อภายหลังนั้น) องค์ ๑ กับ สมเด็จพระนเรศวร องค์ ๑ ให้คุมทหารเข้ากองทัพยกไปตีเมืองคัง จึงเปนการทำศึกประชันกันในเจ้านาย ๓ องค์ นี้ พเอินเมื่อพระมหาอุปราชา กับ พระสังขทัตเข้าตีเมือง ตีไม่ได้ต้องถอยกลับออกมาทั้ง ๒ คราว ด้วยเมืองคังนั้นตั้งอยู่บนเขา ตียาก ครั้นถึงคราวสมเด็จพระนเรศวรเข้าตี ทำอุบายให้ชาวเมืองสำคัญว่า จะยกขึ้นตีทาง ๑ แต่ที่จริงยกขึ้นตีทางอื่น สมเด็จพระนเรศวรตีได้เมืองคัง จึงเปนเหตุให้พระเจ้าหงษาวดี เห็นความสามารถในการสงครามของสมเด็จพระนเรศวร แลเกิดระแวงว่าอาจจะเปนสัตรูมาแต่ครั้งนั้น


ตั้งแต่พระเจ้าหงษาวดีไชยสิงห์ขึ้นครองราชสมบัติ เจ้านายประเทศราชไม่อ่อนน้อมยอมอยู่ในอำนาจสนิท ไม่เหมือนเมื่อครั้งพระเจ้าหงษาวดีบุเรงนอง พระเจ้าหงษาวดีไชยสิงห์จึงเกิดระแวงพวกเจ้านายประเทศราช ทั้งที่เปนญาติวงษ์ตลอดมาจนเมืองไทย ส่วนเจ้าประเทศราชญาติวงษ์ในชั้นแรกพระเจ้าหงษาวดีจะทำอย่างไรไม่ปรากฎ แต่เมืองไทยนั้น พระเจ้าหงษาวดีไชยสิงห์ได้ครองราชสมบัติแล้ว ไม่ช้าก็เกณฑ์กำลังไทยใหญ่ให้ทำทางตั้งแต่เมืองเมาะตมะเข้ามาเมืองกำแพงเพ็ชร์ ตั้งยุ้งฉางตามระยะทางตลอดเข้ามา แล้วให้นันทสูกับราชสังครำคุมทหารอิกกอง ๑ เข้ามาตั้งรวบรวมเสบียงอาหารไว้ที่เมืองกำแพงเพ็ชร การที่ทำอย่างนี้ในเวลาไม่มีเหตุอย่างใด ส่อให้เห็นว่าพระเจ้าหงษาวดีสงไสยว่าไทยจะต้องแขงเมือง เห็นว่ากำลังทหารพม่าที่อยู่กำกับในพื้นเมืองไม่พอ จึงส่งกำลังเข้ามาเพิ่มเติม แลให้ทำทางเตรียมเสบียงอาหารสำหรับที่จะยกกองทัพใหญ่เข้ามาตีเมืองไทย กวาดต้อน ไพร่บ้านพลเรือนไปเปนเชลยอิก การเปนดังนี้ จึงเชื่อได้ว่า สมเด็จพระนเรศวรจะได้ทรงดำริห์ เตรียมการรบพม่าตั้งแต่ใน เวลานั้น พอประจวบเหตุเกิดขึ้นทางข้างเมืองอังวะ ด้วยพระเจ้า อังวะ ตั้งแขงเมืองไม่ยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าหงษาวดี แล้วแต่งทูต เที่ยวชักชวนเจ้าประเทศราชเมืองอื่น ให้ตั้งแขงเมืองเอาพระเจ้า หงษาวดีไชยสิงห์เหมือนอย่างเมืองอังวะ พระเจ้าอังวะจะได้ชักชวน ถึงกรุงศรีอยุทธยาด้วยหรือไม่ ข้อนี้ไม่ปรากฎ ปรากฎแต่ว่า พระเจ้าแปร พระเจ้าตองอู พระเจ้าเชียงใหม่ ทั้ง ๓ นี้ไม่เข้าด้วย พระเจ้าอังวะ จับทูตส่งไปถวายพระเจ้าหงษาวดี พระเจ้าหงษาวดี จึงเตรียมทัพหลวงจะยกไปตีเมืองอังวะ เกณฑ์พระเจ้าแปร พระเจ้า ตองอู พระเจ้าเชียงใหม่ แลสมเด็จพระมหาธรรมราชา กรุงศรี อยุทธยา ให้ยกกองทัพไปช่วยตีเมืองอังวะด้วย พระเจ้าแปร พระเจ้า ตองอู พระเจ้าเชียงใหม่ยกไปทันตามกำหนด ฝ่ายข้างกรุงศรีอยุทธยา รับว่าจะให้สมเด็จพระนเรศวรคุมกองทัพขึ้นไป แต่กองทัพไทย ไม่ยกไปตามกำหนด พระเจ้าหงษาวดีสงไสยว่าไทย จะคิดร้าย เมื่อพระเจ้าหงษาวดีจะยกไปเมืองอังวะ จึงจัดการป้องกันเตรียมไว้ ทางเมืองหงษาวดี ให้พระมหาอุปราชาคุมกองทัพอยู่รักษาพระนคร แลจัดทหารกองมอญให้พระยาเกียรติ์ พระยาราม ซึ่งเปนผู้คุ้นเคยกับสมเด็จพระนเรศวร คุมลงมาคอยรับสมเด็จพระนเรศวร ถ้ากองทัพไทยยกขึ้นไปเมื่อใด ให้ทำเปนทีต้อนรับ แล้วเข้าอยู่เปนไส้ศึก ล่อสมเด็จพระนเรศวรขึ้นไปให้ถึงที่พระมหาอุปราชาเตรียมกำลังไว้ แล้วช่วยกันตีทัพจับสมเด็จพระนเรศวรไว้ให้ได้


ข้อความตามเรื่องที่ปรากฎ ในพระราชพงษาวดาร แลในพงษาวดาร พม่า ประกอบกันดังกล่าวมานี้ เข้าใจว่า ข้างสมเด็จพระนเรศวรก็คิดร้ายต่อพระเจ้าหงษาวดีจริง ด้วยทราบอยู่แก่พระไทยแล้วว่า พระเจ้าหงษาวดีให้ทำทางตั้งยุ่งฉางเตรียมสะเบียงอาหารเข้ามาในเมืองไทย ด้วยจะมาทำร้ายในไม่ช้า ครั้นทางหงษาวดีเกิดอริกันขึ้นเอง เปนทีที่จะทำได้ก่อน สมเด็จพระนเรศวรจึงรั้งรอจน พระเจ้าหงษาวดียกไปเมืองอังวะ แล้วจึงยกกองทัพหลวงออกจากเมืองกำแพงเพ็ชร์ เมื่อแรม เดือน ๔ ปี วอก จุลศักราช ๙๔๖ พ.ศ. ๒๑๒๗ ถ้าจะคาดดูพระดำริห์ของสมเด็ดจพระนเรศวรที่ยกไปครั้งนั้น เข้าใจว่าจะขึ้นไปให้ถึงในเวลาพระเจ้าหงษาวดีไปทำศึกติดพันอยู่ที่เมืองอังวะ ถ้าพระเจ้าหงษาวดีไปเพลี่ยงพล้ำอย่างไร ก็จะตีเมืองหงษาวดีซ้ำทางนี้ ถ้าได้ข่าวว่าชนะก็จะชิงกวาดแตครอบครัวลงมา ตัดกำลังมิให้กองทัพหงษาวดียกเข้ามาทำร้ายได้โดยง่าย


สมเด็จพระนเรศวรยกกองทัพขึ้นไปถึงเมืองแครง คือเมืองเดียวกับเมืองเชียงกรานที่สมเด็จพระไชยราชาธิราชไปรบพม่าครั้งพระเจ้าหงษาวดีตะเบงชเวตี้ พระยาเกียรติ์ พระยาพระราม ก็ลงมารับเสด็จตามอุบายของพระเจ้าหงษาวดี แต่เวลานั้นพวกมอญเอาใจออกหากจากพระเจ้าหงษาวดีอยู่เปนอันมากแล้ว ด้วยมอญกับไทยใหญ่ ๒ พวก นี้ไม่ได้เคยขึ้นพม่าด้วยใจสมัคร เวลาใดพม่ามีอำนาจมากจึงเอามอญแลไทยใหญ่ไว้ได้ ถ้าพม่าหย่อนอำนาจลงเมื่อใด ทั้งมอญแลไทยใหญ่ก็เอาใจออกหากขัดแขงต่อพม่า เปนดังนี้มาแต่โบราณตลอดจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ความปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า พระมหาเถรคันฉ่องเปนอาจารย์ของพระยาเกียรติ์ พระยา พระราม อยู่ที่เมืองแครง ได้ทราบความลับจากพระยาเกียรติ์ พระยา พระราม ไม่เข้ากับพระเจ้าหงษาวดี จึงพาพระยาเกียรติ์ พระยา พระราม มาสามิภักดิ์ทูลความทั้งปวงให้สมเด็จพระนเรศวรทราบ สมเด็จพระนเรศวรก็ทรงหลั่งสิโนทก ประกาศความเปนอิศรภาพของกรุงสยาม ที่เมืองแครงนั้น เมื่อ เดือน ๖ ปีวอก พ.ศ. ๒๑๒๗ ได้ความในพงษาวดาวพม่าต่อมาว่า เมื่อสมเด็จพระนเรศวรประกาศอิศรภาพแล้ว เสด็จยกกองเทัพจากเมืองแครง ตรงเข้าไปหมายจะตีเมืองหงษาวดี ยังไม่ทันถึงพอได้ข่าวว่า พระเจ้าหงษาวดีไชยสิงห์ชนช้างชนะพระเจ้าอังวะ ตีได้เมืองอังวะแล้ว สมเด็จพระนเศวรก็กวาดครอบครัวในระยะทางกลับมากรุงศรีอยุทธยา ได้ความในหนังสือพระราชพงษาวดารต่อมาว่า พระมหาอุปราชายกกองทัพออกติดตามสมเด็จพระนเรศวร มาทันที่แม่น้ำสะโตง สมเด็จพระนเรศวรให้ต้อนครอบครัวล่วงน่าเข้ามาก่อน ส่วนกองทัพหลวงตั้งคอยต่อสู้พม่าอยู่ที่แม่น้ำสะโตง กองทัพพม่ามาทันอยู่คนละฟากแม่น้ำ สมเด็จพระนเรศวรทรงพระแสงปืนต้น ยิงถูกสุรกันมาแม่ทัพน่าพม่าตาย กองทัพพม่าถอยกลับไปแล้ว ก็เสด็จกลับคืนพระนคร

สงครามครั้งที่ ๖ คราวรบกับพระญาพสิม

เมื่อสมเด็จพระนเรศวรประกาศอิศรภาพที่เมืองแครง แล้วกวาดครอบครัวเข้ามาคราวนั้น เสด็จกลับตรงมากรุงศรีอยุทธยา ทูลสมเด็จพระราชบิดารให้ทรงทราบถึงเหตุที่เกิดสงครามกับพม่าแล้ว แต่นั้นก็ตั้งต้นตระเตรียมการต่อสู้ข้าศึกทีเดียว ด้วยทรงทราบอยู่ว่า ในไม่ช้าพม่าคงจะยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุทธยา เริ่มต้นก็ให้จับกุมขับไล่พวกพม่าที่เข้ามาอยู่กำกับไทยทั่วทุกแห่ง ในพวกไทยที่ใครยังเชื่ออำนาจพม่า เช่นพระยาสวรรคโลก พระยาพิไชย ก็รีบปราบปรามจนสิ้นเสี้ยนศึกภายใน พวกไทยใหญ่ที่พม่าเกณฑ์มาทำทาง เมื่อรู้ว่าไทยจะตั้งแขงพม่า พากันหลบหนีมาเข้าไทย สมเด็จพระนเรศวรก็ให้รับทำนุบำรุงไว้ การอย่างอื่นซึ่งตระเตรียมต่อสู้ข้าศึกครั้งนั้น ตามรายการที่ปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดาร ดูเอาวิธีที่เคยรบพุ่งพม่ามาแต่ก่อน มาทรงพระดำริห์ครองทั้งที่ได้แลทางเสีย แล้วแก้ไขให้สมกับกำลังแลเวลาที่ทำศึกนั้นทุกอย่าง เปนต้นว่าวิธีต่อสู้อย่างครั้งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ ที่เอาพระนครเปนที่มั่น แลเอากำลังหัวเมืองเหนือเปนทัพกะหนาบนั้น เห็นใช้ไม่ได้เสียแล้ว ด้วยถูกพม่ากวาดผู้คนพลเมืองไปเสียกรุงมากกว่ามาก กำลังมีอยู่น้อยกว่าครั้งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์หลายเท่า แลรู้อยู่ว่า ข้างหงษาวดีเข้าใจวิธีกำลังทางเมืองเหนือเสียแล้ว จึงตกลงเอาพระนครเปนที่มั่นแห่งเดียว ให้กวาดคนหัวเมืองเหนือลงมาไว้ในพระนครศรีอยุทธยาหมด ยอมทิ้งหัวเมืองเหนือให้ร้างเสียคราว ๑ ทางเสียอีกอย่าง ๑ ซึ่งเคยเห็นมาแต่ก่อน ที่ชานพระนครด้านตวันออกห่างลำน้ำข้าศึก ตีเข้าได้ทางนั้น คราวนี้ให้ขุดคลองชักแม่น้ำสักเข้าขื่อน่า แลขุดขยายให้กว้างออกไปจนเปนลำแม่น้ำ ส่วนวิธีที่เคยได้เปรียบข้าศึก เปนต้นว่าการที่รวบรวมสะเบียงอาหารเข้าไว้ในพระนครให้มากก็ดี แลระวังทางส่งสะเบียงอาหารก็ดี วิธีเอาปืนใหญ่ลงเรือเที่ยวยิงข้าศึกก็ดี คราวนี้ก็ตระเตรียมแข็งแรงยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน เชื่อได้ว่าการอย่างใดที่จะตระเตรียมต่อสู้ข้าศึกให้เปนประโยชน์ได้ ได้ทำทุกอย่างในคราวนั้น เพราะจำต้องสู้กองทัพใหญ่ด้วยคนน้อย


ในปลายปีวอก พ.ศ. ๒๑๒๗ นั้น กองทัพพม่าก็ยกเข้ามา กองทัพม่าที่ยกเข้ามาคราวนี้ พระเจ้าหงษาวดีให้เจ้าเมืองพสิม ซึ่งเปนน้องยาเธอของพระเจ้าหงษาวดีบุเรงนองเปนแม่ทัพเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ทัพ ๑ ให้พระเจ้าเชียงใหม่มังนรธาช่อราชอนุชายกลงมาทางข้างเหนืออิกทัพ ๑ ให้สมทบกันตีกรุงศรีอยุทธยา ด้วยเห็นว่ากรุงศรีอยุทธยากำลังน้อย คงไม่ต่อสู้ได้แขงแรงดังแต่ก่อน กองทัพเจ้าเมืองพสิมยกเข้ามาถึงเมืองสุพรรณบุรีก่อน ทำนองจะมาถึงราวเดือนอ้าย น้ำยังมาก จึงตั้งยั้งอยู่ที่เมืองสุพรรณรอคอยกองทัพเมืองเชียงใหม่ ข้างกรุงศรีอยุทธยาพอทราบว่า กองทัพพญาพสิมยกเข้ามาถึงเมืองสุพรรณ ในเวลายังมีน้ำพอจะใช้เรือได้ ก็แต่งกองทัพเรือให้พระยาจักรี พระยาพระคลัง คุมออกไปรบพญาพสิมที่เมืองสุพรรณ กองทัพไทยเอาปืนใหญ่ยิง กองทัพพม่าทนอยู่ใกล้แม่น้ำไม่ได้ ต้องถอยทัพย้ายไปตั้งอยู่ที่เขาพระยาแมน ในระหว่างเมืองสุพรรณกับเมืองกาญจนบุรี ครั้นถึงเดือนยี่พอแผ่นดินแห้ง สมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถ เสด็จยกกองทัพไปตั้งที่อำเภอวิเศษไชยชาญ แต่งกองทัพคนหัวเมืองฝ่ายเหนือ ให้เจ้าพระยาศุโขไทยเปนแม่ทัพ รีบยกไปตีกองทัพพญาพสิมที่เขาพระยาแมนแตกพ่ายไป แต่ในเวลากองทัพเมืองเชียงใหม่ยังลงมาไม่ถึง ครั้นกองทัพพระเจ้าเชียงใหม่ยกลงมาถึงปากน้ำบางพุดซา ทัพน่าลงมาตั้งบ้านชะไวแขวงจังหวัดอ่างทองทุกวันนี้ สมเด็จพระนเรศวร ก็เสด็จยกกองทัพหลวงขึ้นไป ให้พระราชมนูเปนทัพน่า เข้าตีกองทัพน่าเชียงใหม่แตกพ่าย ฝ่ายพระเจ้าเชียงใหม่รู้ว่ากองทัพพญาพสิมแตกกลับไปแล้วก็ไม่อยู่สู้รบ รีบถอยกองทัพกลับไป

สงครามครั้งที่ ๗ คราวรบพระเจ้าเชียงใหม่ที่บ้านสระเกษ

เรื่องสงครามคราวนี้ เปนเรื่องติดต่อกับสงครามคราวหลังต่อไป ด้วยเมื่อพญาพสิมเข้ามาเสียทีไทยกลับไป ความปรากฎแก่พระเจ้าหงษาวดีว่า ไทยมีกำลังที่จะต่อสู้ได้แขงแรง การตีเมืองไทยจะต้องทำเปนศึกใหญ่ คิดการแรมปีอย่างครั้งพระเจ้าบุเรงนองเคยทำแต่ก่อนจึงจะตีเมืองไทยได้ พระเจ้าหงษาวดีจึงให้พระมหาอุปราชาคุมพลเข้ามาตั้งทำไร่นาที่เมืองกำแพงเพ็ชร์ สะสมสะเบียงอาหารไว้ปี ๑ ในเวลาที่มาตั้งทำนานั้น ให้พระเจ้าเชียงใหม่ยกกองทัพลงมาข้างใต้ ให้มาคอยรังแกไทยตามหัวเมืองอย่าให้ทำนาได้ ประสงค์จะให้กรุงศรีอยุทธยาขัดสนสะเบียงอาหาร พระเจ้าเชียงใหม่ เมื่อปีระกา จุลศักราช ๙๔๗ พ.ศ. ๒๑๒๘ แล้ว ให้พระยาเชียงแสนเปนทัพน่า ยกลงมาตั้งที่บ้านป่าโมกข์ สมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถ จึงเสด็จยกกองทัพหลวงขึ้นไปจากกรุงศรีอยุทธยา เมื่อเดือน ๕ ขึ้น ๗ ค่ำ ทัพน่าไปประทะทัพพระยาเชียงแสนที่ป่าโมกข์น้อย ตีกองทัพพระยาเชียงแสนแตกพ่ายกลับขึ้นไป พระเจ้าเชียงใหม่ทราบว่า กองทัพน่าแตกก็ยกกองทัพหลวงหนุนลงมา ประทะทัพพระราชมนูกับเจ้าพระยาศุโขไทย ซึ่งเปนทัพน่าของสมเด็จพระนเรศวรที่บางแก้ว รบพุ่งติดพันกันอยู่ สมเด็จพระนเรศวรเสด็จยกกองทัพหลวงขึ้นไปถึงบ้านแห ทรงทราบว่าพระเจ้าเชียงใหม่ยกมาเอง จึงให้ซุ่มกองทัพหลวงไว้ มีรับสั่งไปให้กองทัพน่าเปิดถอยลงมา พระเจ้าเชียงใหม่สำคัญว่าทัพไทยแตก ก็รีบยกติดตามลงมาเข้าในที่ซุ่มกองหลวงยกออกตีทัพพระเจ้าเชียงใหม่แตกยับเยิน แล้วติดตามตีขึ้นไปจนบ้านสระเกษไชโย ได้ค่ายหลวงของพระเจ้าเชียง ใหม่ กองทัพเชียงใหม่เสียช้างม้ารี้พลเครื่องสาตราวุธแก่ไทยเกือบหมด แม้จนเครื่องราชูประโภคของพระเจ้าเชียงใหม่ก็ตกอยู่ในมือไทย เกือบจับพระเจ้าเชียงใหม่ได้ในครั้งนั้น พระเจ้าเชียงใหม่กับพวกพลที่เหลืออยู่ต่างรีบหนีเอาตัวรอดกลับไปยังเมืองกำแพงเพ็ชร์

สงครามครั้งที่ ๘ คราวพระเจ้าหงษาวดีล้อม

สงครามคราวนี้ พระเจ้าหงษาวดีไชยสิงห์ยกกองทัพหลวงมาเอง ได้ความในหนังสือพงศาวดารพม่าว่า ตั้งแต่กองทัพที่พระเจ้าหงษาวดีแต่งให้เข้ามารบพุ่งเสียทีแตกไทยไป พระเจ้าหงษาวดีทรงวิตก ปฤกษากับเสนาบดีเห็นพร้อมกัน ถ้าไม่ปราบปรามไทยลงให้ได้ เมืองประเทศราชทั้งปวงคงจะพากันเอาอย่างไทยกระด้างกระเดื่องขึ้น พระเจ้าหงษาวดีจึงเสด็จเปนจอมพลยกมาเองเมื่อเดือน ๑๒ ปีจอ จุลศักราช ๙๔๘ พ.ศ. ๒๑๒๙ จำนวนพลพระเจ้าหงษาวดียกมาครั้งนั้น ๒๕๐,๐๐๐ คน เดิรทัพเข้ามาทางด่านแม่สอด มาตั้งประชุมพลที่เมืองกำแพงเพ็ชร์ แล้วแยกทัพเดิรเปน ๒ ทาง ให้พระมหาอุปราชากับพระเจ้าตองอูยกลงมาทางฝั่งตวันออก พระเจ้าหงษาวดียกลงมาทางฝั่งตวันตก พระเจ้าเชียงใหม่คุมกองลำเลียงแลเสบียงอาหารลงมาทางเรือ กองทัพลงมาถึงกรุงศรีอยุทธยาเมื่อเดือนยี่ ปีจอ พ.ศ. ๒๑๒๙ พระเจ้าหงษาวดีตั้งทัพหลวงทางทิศตวันตกเฉียงเหนือที่ขนอนปากคู ทัพมังมอดราชบุตร์กับพระยาพระรามตั้งที่ทุ่งมะขามหย่อง ทัพพระยานครตั้งที่ปากน้ำพุทธเลา ทัพนันทสูตั้งที่ขนอนบางลาง ทัพพระเจ้าตองอูตั้งทุ่งชายเคือง ทัพพระมหาอุปราชาตั้งที่ขนอนบางตะนาว การต่อสู้พม่าคราวนี้ รายการที่ปรากฎในพงษาวดารพม่ากับหนังสือพระราชพงษาวดารประกอบเปนเนื้อความยุติต้องกันว่า เมื่อไทยเห็นว่าเปนศึกใหญ่ เหลือกำลังจะต่อสู้เอาไชยชนะได้กลางแปลง จึงเอาพระนครเปนที่มั่น ให้ต้อนคนเข้าพระนคร แต่ทราบอยู่ว่า คราวก่อนมีคนเคยแตกฉานไปเที่ยวซุ่มซ่อนตามป่าดง ต้อนเข้าไปไม่ได้หมด คราวนี้จึงแต่งพวกกององศาให้แยกย้ายออกไปอยู่ตามบ้านนอก ไปรวบรวมราษฎรที่ยังกระจัดกระจายอยู่ จัดเปนกองโจรคอยเที่ยวตัดลำเลียงเสบียงอาหารข้าศึก อยู่ทุกหนทุกแห่ง การป้องกันพระนครคราวนี้ ขุดลำแม่น้ำเปนคูพระนครทางตวันออกสำเร็จ ก่อกำแพงด้านตวันออก ขยายลงไปจนริมน้ำเหมือนกับด้านอื่น ๆ ตั้งปืนใหญ่ประจำป้อมแลกำแพงแขงแรงเหมือนกันหมดทุกด้านมีปืนใหญ่น้อยกระสุนดินดำและเครื่องสาตราวุธเสบียงอาหารบริบูรณ์ เสบียงอาหารที่จะขนเข้าพระนครไม่ได้ก็ให้ทำลายเสีย มิให้เปนกำลังแก่ข้าศึก


กองทัพพม่ายกเข้าถึงพระนครก็ได้แต่ตั้งล้อมอยู่ห่าง ๆ จะเข้าตั้งค่ายประชิดไม่ได้ ด้วยไทยเอาปืนใหญ่ลงเรือเที่ยวยิงกราดเอาอย่างคราวแรก พระเจ้าหงษาวดีแต่งกองทัพเข้าปล้นพระนครหลายครั้งก็ปล้นไม่ได้ ในชั้นแรกฝ่ายไทยไม่ออกดี เปนแต่รักษาพระนครมั่นไว้ จนกองทัพพม่าขัดสนเสบียงแลเกิดความไข้เจ็บขึ้นในกองทัพ สมเด็จพระนเรศวรเห็นกำลังข้าศึกหย่อนลงแล้วจึงยกออกตีข้าศึก ในพงษาวดารพม่ากล่าวว่า พอไทยรู้ว่ากองทัพพม่าเกิดความไข้และอดอยาก ก็ยกกองโจรออกเที่ยวปล้นตีทัพพม่าทั้งกลางวันกลางคืน มิเวลาเปนปรกติได้ ความที่กล่าวนี้ มีรายการปรากฎอยู่ในหนังสือพระราชพงษาวดารหลายคราว ได้คัดลงไว้ต่อไปนี้

  • เดือน ๓ แรม ๑๐ ค่ำ เวลาตี ๑๑ เสด็จยกออกตีทัพพระยานครที่ปากน้ำพุทธเลา ข้าศึกแตกหนี ได้ค่ายพระยานคร
  • ณ เดือน ๔ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เสด็จยกออกตีทัพข้าศึก (เห็นจะเปนกองน่าของพระเจ้าหงษาวดี) ข้าศึกแตกพ่าย ไล่ฟันแทงเข้าไปจนถึงค่ายพระเจ้าหงษาวดี คราวนี้มีข้อความพิศดารกล่าวไว้ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเข้าไปได้ถึงค่ายพระเจ้าหงษาวดี เสด็จลงจากม้าพระที่นั่ง คาบพระแสงดาบนำทหารปีนจะเข้าค่ายพระเจ้าหงษาวดี ต่อเห็นว่าจะเข้าไม่ได้ จึงถอยทัพกลับมา
  • ณ เดือน ๔ แรม ๑๐ ค่ำ เสด็จออกตั้งทัพซุ่มณทุ่งลุมพลี แล้วออกตีทัพข้าศึกได้รบพุ่งถึงตลุมบอนกับม้าพระที่นั่ง ทรงพระแสงทวนแทงเหล่าทหารข้าศึกตาย ข้าศึกแตกพ่าย ไล่ฟันแทงข้าศึกเข้าไปจนถึงน่าค่าย คราวนี้กล่าวความพิศดารไว้ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่าพระเจ้าหงษาวดีทราบว่า สมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปปีนค่ายตรัสว่า สมเด็จพระนเรศวรทำการสงครามกล้าหาญหนัก จะจับเอาให้จงได้ จึงแต่งพลทหารมาล่อ และให้หลักไวทำมูกับทหารทศ ทำนองจะเปนนายทหารที่เข้มแขงในกระบวนทัพม้าคุมพลไปซุ่มอยู่ ถ้าสมเด็จพระนเรศวรไล่หลวมเข้าไปให้ล้อมจับ ครั้นเมื่อสมเด็จพระนเรศวรไล่หลวมเข้าไปถึงค่าย หลักไวทำมูกับทหารทศออกล้อมรบ สมเด็จพระนเรศวร ๆ ฆ่าตัวตายด้วยฝีพระหัตถทั้ง ๒ คน แล้วจึงถอยกลับเข้าพระนคร
  • ณ เดือน ๕ แรม ๔ ค่ำ เสด็จทัพเรือไปตีทัพพระมหาอุปราชาที่ขนอนบางตะนาว พระมหาอุปราชาแตกพ่ายลงไปอยู่บางกระดาน
  • ณ เดือน ๖ แรม ๑๐ ค่ำ เสด็จออกไปตีทัพพระมหาอุปราชาที่ตั้งอยู่บางกระดานแตกพ่ายไป
  • ณ เดือน ๗ ขึ้น ๑ ค่ำ เสด็จยกทัพไชยออกตั้งค่ายมั่นที่วัดเดช
  • ณ เดือน ๗ ขึ้น ๘ ค่ำ เอาปืนใหญ่ลงสำเภาขึ้นไปยิงค่ายพระเจ้าหงษาวดี ๆ ต้านทานไม่ได้ถอยกลับไปตั้งที่ป่าโมกข์ใหญ่


รายการทั้งปวงนี้กล่าวเฉภาะแต่คราวที่สมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปรบเอง ที่แต่งผู้อื่นออกไปรบหรือปล้นค่ายข้าศึกไม่ได้กล่าวถึงในรายการนี้ คงจะมีอีกมาก สมดังที่พม่ากล่าวในพงษาวดารว่า ครั้งนั้นพอไทยได้ที ก็ตีปล้นทั้งกลางวันกลางคืน ไม่ให้กองทัพพม่าอยู่เปนปรกติได้


พระเจ้าหงษาวดีมาตั้งล้อมพระนครอยู่ถึง ๗ เดือน เอาไชยชนะไม่ได้ ปฤกษาแม่ทัพนายกองเห็นว่าเชิงศึกเสียเปรียบไทยลงทุกวัน ก็เลิกทัพกลับคืนไปเมืองหงษาวดี


ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า รุ่งปีขึ้นพระเจ้าหงษาวดียกมาล้อมพระนครอิกครั้ง ๑ ตีพระนครไม่ได้เลิกกลับไปอิก การศึกพระเจ้าหงษาวดีครั้งหลังนี้ ไม่มีในพงษาวดารพม่า ในหนังสือพระราชพงษาวดารก็ไม่ปรากฎรายการ ข้าพเจ้าจึงเข้าใจว่าที่จริงพระเจ้าหงษาวดีเห็นจะยกมาคราวเดียว แต่สงครามทำอยู่ตั้งแต่เดือนยี่ปีจอ จนเดือน ๘ ปีกุญ จดหมายเหตุจดเปน ๒ ปี เปนเหตุให้ผู้แต่งพงษาวดารเข้าใจไปว่า ๒ คราว ข้าพเจ้าจึงไม่นับที่ว่าพระเจ้าหงษาวดียกมาครั้งที่ ๒ อิก คราวนั้น

พระนครแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

สงครามครั้งที่ ๙ คราวรบพระมหาอุปราชาที่เมืองสุพรรณ

สงครามครั้งที่ ๑๐ คราวชนช้าง

สงครามครั้งที่ ๑๑ คราวไทยตีเมืองทวายแลเมืองตนาวศรี

สงครามครั้งที่ ๑๒ คราวรบพม่าที่เมืองลำเลีง

สงครามครั้งที่ ๑๓ คราวพระนเรศวรตีเมืองหงษาวดีครั้งที่ ๑

สงครามครั้งที่ ๑๔ คราวสมเด็จพระนเรศวรตีเมืองหงษาวดีครั้งที่๒

สงครามครั้งที่ ๑๕ คราวสมเด็จพระนเรศวรตีเมืองอังวะแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ

สงครามครั้งที่ ๑๖ คราวพม่าตีเมืองทวายตนาวศรี

สงครามครั้งที่ ๑๗ คราวพม่าตีเมืองเชียงใหม่แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม

สงครามครั้งที่ ๑๘ คราวพม่าตีเมืองทวายแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

สงครามครั้งที่ ๑๙ คราวไทยรบกับพม่าที่เมืองเชียงใหม่

สงครามครั้งที่ ๒๐ คราวรบพม่าที่เมืองไทรโยก

สงครามครั้งที่ ๒๑ คราวเจ้าพระยาโกษา ฯ ขุนเหล็กตีเมืองพม่าแผ่นดินสมเด็จพระเอกทัศ

สงครามครั้งที่ ๒๒ คราวพระเจ้าลองพญาล้อมกรุง

สงครามครั้งที่ ๒๓ คราวพม่าตีหัวเมืองปักษ์ใต้

สงครามครั้งที่ ๒๔ คราวเสียกรุงครั้งหลัง

เชิงอรรถ

ที่มา

เครื่องมือส่วนตัว