โคลงตำราไม้ดัด

จาก ตู้หนังสือเรือนไทย

การปรับปรุง เมื่อ 10:13, 9 มิถุนายน 2553 โดย CrazyHOrse (พูดคุย | เรื่องที่เขียน)
(ต่าง) ←รุ่นก่อนหน้า | รุ่นปัจจุบัน (ต่าง) | รุ่นถัดไป→ (ต่าง)
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

เนื้อหา

ข้อมูลเบื้องต้น

แม่แบบ:เรียงลำดับ ผู้แต่ง: หลวงมงคลรัตน (ช่วง ไกรฤกษ)

บทประพันธ์

๏ พระบาทบรมนาถเจ้าจอมสยาม
ทรงแบบไม้ดัดงามเรียบร้อย
ขบวนดัดคัดจัดตามกรุงเก่า มาแฮ
โปรดแบบบรรยายถ้อยถูกแล้วเกณฑ์หา ฯ
๏ กรมหลวงพิทักษ์สร้อยมนตรี ทรงเฮย
เขนกับญี่ปุ่นทีป่าข้อม
หกเหียนพับดัดดีถวายเทียม แบบแฮ
สิบเอ็ดกิ่งพริ้งพร้อมแยกใช้กิ่งสาม ฯ
๏ พระด้วงรองบาทไท้กรมหลวง
ฝึกหัดสันทัดปวงปลูกแก้
แสดงบอกบ่หันหวงสอนหัด ชินเฮย
จึงประจักษเหตุแท้ท่านอ้างออกองค์ ฯ
๏ ไม้ขบวนวาดเอี้ยววงเวียน ต้นนา
ตอต่ำตัดเรือนเจียนเรียบร้อย
ที่กิ่งชอบใช้เนียนสนิทช่อง ไฟแฮ
ทรงพุ่มชิดเชิดช้อยช่องชั้นจังหวะวาง ฯ
๏ ฉากแบบโคนทอดน้อยหนึ่งงาม
ที่คดคบขดตามหักค้อม
ตอย่อกิ่งต่อสามสมแบบ เดิมนอ
ต้นชดเค้ากิ่งหย้อมอย่าซ้ำเสียคม ฯ
๏ หกเหียนเห็นดัดคู้ขัดทับ
ตอเพล่เร่เรือนรับลอดพลิ้ว
ที่ยอดทอดทวนทับทบกิ่ง กลแฮ
ดูดุจหมัดมวยงิ้วผงาดง้ำผงกหงาย ฯ
๏ ไม้เขนเบนกิ่งท้ายทวนลง
โคนปุ่มภูต้นทรงเกร่อเก้อ
ที่ยอดทอดหวนหงเห็นขด คู้แฮ
ดุจมฤคเหลียวชะเง้อชะโงกเงื้อมมาหลัง ฯ
๏ ป่าข้อมโคนปุ่มต้นตามตรง
คบแยกสามกิ่งจงจัดเก้า
จังหวะระยะวงเวียนรอบ กลมแฮ
จัดช่องไฟให้เถ้าส่วนต้นตัดเรือน ฯ
๏ ไม้ญี่ปุ่นรวมทั้งกำมะลอ
ตลกรากเอนชายมอมากใช้
ท่วงทีที่ขันพอภูมตลก
คงกิ่งจังหวะได้ช่องพร้อมเรือนเสมอ ฯ
๑๐
๏ เก้าชนิดนับชื่ออ้างออกนาม ไม้เฮย
โดยบุราณเรียกตามต่อถ้อย
จัดคัดจัดดัดงามคงเงื่อน นั้นนา
พอประจักษ์นามน้อยเนื่องไม้มีเดิม ฯ
๑๑
๏ ขุนท่องสือเก่าแจ้งจำถนัด
ลิขิตโคลงไม้ดัดแต่งไว้
เคยฝึกเล่นโดยจัดจวบพระ ด้วงนา
เพื่อจักดัดคงไว้ดุจถ้อยกลอนแถลง ฯ
๑๒
๏ ผู้มีวิริยพร้อมเพลินเพียร
เย็นกมลเนาเนียนเนิ่นแก้
เล่นดัดตัดแต่งเจียนจัดพุ่ม เรือนแฮ
โดยประณีตนับแท้ท่านนั้นจิตต์เสมอ ฯ
๑๓
๏ ทำจนกลบบาทได้นับถือ
จึงจักชมฝีมือแม่นไม้
แผลบาดอุจาดคือรอยตัด คงนอ
เป็นที่ตำหนิได้คัดค้านคำฉิน ฯ
๑๔
๏ พระบัณฑูรโปรดไม้นามเขน
กับป่าข้อมชายเอนออกตั้ง
โรงหุ่นแต่งทุกเวรวางเทียบ งามแฮ
สมฉากสมเขาทั้งเทียบพื้นไพรระหง ฯ
๑๕
๏ กรมพระพิพิธได้ทรงมา
กรมพระพิทักษ์หาเช่นบ้าง
เอนชายป่าข้อมตราตรงชื่อ เดิมเอย
พอประจักษ์จิตต์อ้างออกให้เห็นพยาน ฯ
๑๖
๏ ไม้ขบวนฉากแบบทั้งสองชะนิด
ในพระราชวังสถิตเกิดพร้อม
พระบาทพระนั่งเกล้าสฤดิรังรุกข์ ไว้นา
มาบัดนี้ทรงส้อมแทรกฟื้นพรรค์ขบวน ฯ
๑๗
๏ หกเขียนฉากแบบนี้นานศูนย์
เพราะบ่เห็นสมบูรณ์เริดร้าง
สุดงามสุดยากปูนปานเช่น กันแฮ
สองรุกข์แถวบางช้างเชิดคล้ายพอแปลง ฯ
๑๘
๏ รอบกลมกว้างต้นคลี่ยาววัด
สี่ส่วนประจงตัดแต่งได้
ตอสองส่วนเสร็จชัดชาม่อ หมายเอย
พับท่อนหนึ่งสองให้หักรู้ส่วนเดิม ฯ
๑๙
๏ บาดตัววัดหยั่งพื้นพูนดิน บนเอย
พับสี่ปันสองจินตนะไว้
เป็นตอต่ำพอผินผันเล่น แลพ่อ
ที่ดัดหนึ่งสองให้หักซ้ำส่วนเดิม ฯ
๒๐
๏ ดูงามจังหวะคล้องฉันใด
บิดผลักหักเพล่ไผลไพล่พลิ้ว
ทีแรงท่าเพลงไถลถลาเผ่น โผนแฮ
หงายหมัดชัดมวยงิ้วชะโงกเอี้ยวอาจถลา ฯ
๒๑
๏ ทียอดหวนหกให้เห็นแรง
ทีกิ่งสอดพลิกแพลงเพลี่ยงต้น
ทีเรือนตัดเรือนแสดงดุจกระ ทุ่มเอย
ทีวกจังหวะค้นคิดเท้าต้นเสมอ ฯ
๒๒
๏ เขียนไว้หวังวัดเค้าควรตรอง
ฝึกตัดดัดดูลองเล่ห์นั้น
กะคงหนึ่งสองสองสมเหตุ ใช้นา
กิ่งสิบเอ็ดคาดคั้นคิดไม้หกเหียน ฯ
             

เชิงอรรถ

ที่มา

โคลงตำราไม้ดัด หลวงมงคลรัตน (ช่วง ไกรฤกษ) แต่ง พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา โปรดให้พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ เสวกตรี พระยาราชสัมภารากร (ชม ไกรฤกษ) เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๗๒ โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร

เครื่องมือส่วนตัว