จดหมายนายทรงอานุภาพ เล่าเรื่องเสด็จประพาสต้นครั้งแรก

จาก ตู้หนังสือเรือนไทย

ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

เนื้อหา

ข้อมูลเบื้องต้น

แม่แบบ:เรียงลำดับ พระนิพนธ์: สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

บทประพันธ์

จดหมายฉบับที่ ๑

บางปะอิน

ณ วันที่ ๑๒ เดือนกรกฎาคม ร.ศ.๑๒๓


ถึง พ่อประดิษฐ์


ฉันมาตามเสด็จคราวนี้ หมายว่าจะมาตั้งหน้ากินและนอนให้สบายจนเสด็จกลับ อย่างเคยมาตามเสด็จบางปะอินเที่ยวก่อน ๆ แต่เที่ยวนี้เห็นจะต้องพลัดที่นาลาที่อยู่ไปเที่ยวเตร็จเตร่หลายวันทีเดียว ด้วยได้ทราบว่าจะเสด็จไปประพาสเมืองราชบุรีหรืออย่างไรยังรู้แน่ไม่ได้ เป็นแต่เห็นเขาตระเตรียมเรือนแพชุลมุนกันอยู่


เหตุที่จะเสด็จประพาสต่อไปในคราวนี้ ได้ทราบว่าเมื่อก่อนจะเสด็จขึ้นมาบางปะอิน พระเจ้าอยู่หัวไม่ใคร่จะทรงสบาย หมายจะเสด็จขึ้นมาพักรักษาพระองค์ตามเคย ก็มีพระราชกังวลและพระราชกิจติดตามขึ้นมา หาเวลาพักไม่ใคร่ได้จึงไม่ทรงสบายมากไป เสวยไม่ได้และบรรทมไม่หลับทั้งสองอย่าง หมอเห็นว่าจะต้องเสด็จประพาสเที่ยวไปให้พ้นความรำคาญ อย่าให้ต้องทรงเป็นพระราชธุระในราชกิจอย่างใด ๆ เสียสักคราวหนึ่ง จึงจะรักษาพระองค์ให้ทรงสบายได้ดังเก่าโดยเร็ว เจ้านายผู้ใหญ่ที่มาตามเสด็จจึงพร้อมกันกราบบังคมทูล ขอให้ทรงระงับพระราชธุระ เสด็จประพาสตามคำแนะนำของหมอ ทรงดำริเห็นชอบด้วยจึงจะเสด็จไปประพาสตามลำน้ำด้วยกระบวนเรือปิกนิกพ่วงเรือไฟไปจากบางปะอินนี้ จะเสด็จไปถึงไหนและจะเสด็จไปกี่วันฉันยังหาทราบไม่ เป็นแต่ทราบว่าการเสด็จครั้งนี้เจ้ากระทรวงท่านห้ามปรามไม่ให้จัดการรับเสด็จตามทางราชการ จะให้เป็นการเสด็จอย่างเงียบ ๆ แล้วแต่พอพระราชหฤทัยจะเสด็จที่ใด หรือประทับที่ใดได้ตามพระราชประสงค์ อย่างให้มีเครื่องขุ่นเคืองรำคาญพระราชหฤทัยได้เลยเป็นอันขาด


ส่วนตัวฉันเองนั้นท่านสั่งให้ไปตามเสด็จด้วยในคราวนี้ ต้องตระเตรียมหาผู้คนเสบียงอาหารลงเรือ ได้เรือ ๖ แจวลำหนึ่งจะไปด้วยกันกับนายอัษฎาวุธ หวังใจว่านายอัษฎาวุธจะไม่ไปเจ็บไข้ลงกลางทางอย่างเมื่อไปตามเสด็จเมืองชวาด้วยกันคราวนั้น


ขอจบจดหมายฉบับนี้เพีงนี้ที ด้วยกำลังจัดเรือแพวุ่นวาย แล้วจึงจะจดหมายบอกข่าวคราวมาให้ทราบต่อไป


นายทรงอานุภาพ หุ้มแพร


จดหมายฉบับที่ ๒

วัดโชติทายการาม คลองดำเนินสะดวก

วันที่ ๑๖ กรกฏาคม ร.ศ. ๑๒๓


ถึง พ่อประดิษฐ์


ฉันได้บอกมาในจดหมายฉบับก่อนว่า จะจดหมายส่งข่าวการเสด็จประพาสมาให้ทราบเนือง ๆ วันนี้ประทับแรมอยู่ที่วัดโชติทายการาม คลองดำเนินสะดวก ฉันจึงมีเวลาว่างอยู่บ้างจึงได้เขียนจดหมายฉบับนี้ฝากเขามาให้ หวังใจว่าจะไม่ไปหายสูญเสียกลางทาง


เสด็จออกจากบางปะอิน เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓ ล่องมาตามลำน้ำ เรือฉันมาล่วงหน้า ทราบว่าเสด็จประทับวัดปรมัยยิกาวาสอยู่ครู่หนึ่ง แล้วเลยประพาสสวนสะท้อนของนายบุตร ที่แม่น้ำอ้อม แขวงเมืองนนทบุรี ว่ามีสะท้อนอย่างดี ๆ ที่สวนนั้นมาก กำลังสะท้อนออกผล เจ้าของสวนเชิญเสด็จเก็บสะท้อน ทราบว่าเป็นที่พอพระราชหฤทัย และทรงพระกรุณาแก่เจ้าของสวนมาก เวลาเย็นเสด็จมาประทับแรมที่หน้าวัดเขมา จอดเรือพระที่นั่งเข้ากับสะพานหน้าวัดอย่างเราไปเที่ยวกัน ใช้ศาลาน้ำหน้าวัดเป็นท้องพระโรง ไม่มีพลับพลาฝาเลื่อนอย่างใด เจ้าพนักงานเจ้าของท้องที่ก็ดูเหมือนจะไม่รู้ตัวว่าจะเสด็จมาประทับแรมที่นั้น การล้อมวงกงกำจัดกันตามแต่จะทำได้ ดูก็สนุกดี จนเวลา ๒ ทุ่มเศษกรมหลวงนเรศร์เสนาบดีกระทรวงนครบาลจึงเสด็จไปถึง ได้ยินรับสั่งว่า "อาสน์แข็ง ๆ กันไม่รู้ พอรู้ก็รีบมา จะต้องนั่งอยู่ยังรุ่ง"


วันที่ ๑๕ เวลาเช้า ออกกระบวนล่องลงมาเข้าคลองบางกอกใหญ่และคลองภาษีเจริญ ฉันมากระบวนหน้าตามเคย ประจวบเวลาหัวน้ำลง เมื่อพ้นหนองแขมเจอเรือไฟที่ไปก่อน ติดขวางคลองอยู่ลำหนึ่ง ฉันจึงปล่อยเรือไฟที่จูงเรือให้คอยตามเรือไฟลำหน้า ส่วนตัวฉันเองให้คนแจวเรือล่องเลยไปจอดคอยเรือไฟที่น้ำลึกบ้านกระทุ่มแบน รอ ๆ อยู่เท่าใด ๆ ก็ไม่เห็นเรือไฟตามออกมา น้ำก็แห้งงวดลงไปทุกที พอแน่ใจว่าเรือไฟคงติดเสียกลางทางแล้ว ก็พอนึกขึ้นได้ว่าครัวมอเสบียงอาหารอยู่ในเรือไฟหมดทั้งนั้น และดูนายอัษฎาวุธท่าจะออกหิว จึงชวนกันขึ้นบก เดินไปเที่ยวซื้อข้างแกงกินที่ตลาดบ้านกระทุ่มแบน ไปเจอคนผัดหมี่ดี คุยว่ารู้จักคุ้นเคยกับเจ้าคุณเทศา ผ่านมาเป็นต้องแวะกินหมี่เสมอ ซื้อเสบียงอาหารได้พอกันแล้ว ได้ยินเสียงโรงละครที่โรงบ่อน นายอัษฎาวุธเกิดอยากดูละคร พากันไปดูไปเจอเจ้าของละครเจ้ากรรม รู้จักว่าฉันเป็นหุ้มแพรมหาดเล็ก ต้องรีบหนีพากันมาลงเรือ แต่กระนั้นก็ไม่พ้น พอประเดี๋ยวเจ้าหมี่เจ้าหม่าพากันมารุมมาตุ้ม พิธีแตกเพราะนายอัษฎาวุธทีเดียว ถ้านายอัษฎาวุธไม่พาไปดูละคร ก็คงได้นั่งกินข้าวแกงกันในตลาดให้สนุก นี่กลับต้องกินสำรับคับค้อนแล้วตอบแทนเขาแทบไม่ไหว


จอดรอกระบวนเสด็จอยู่จนค่ำ กลางคืนน้ำขึ้น เรือไฟพ่วงล่วงหน้าหลุดออกมาทีละลำสองลำ ถามดูก็ไม่ได้ความว่ากระบวนเสด็จอยู่ที่ไหน จนยามกว่าจึงได้ความจากเรือลำหนึ่งว่าประทับแรมอยู่ที่หน้าวัดหนองแขม ฉันก็เลยจอดนอนคอยเสด็จอยู่ที่กระทุ่มแบนนั่นเอง ครั้นรุ่งเช้าวันที่ ๑๖ ออกเรือล่วงหน้ามาคอยเสด็จอยู่ที่ปากคลองดำเนินสะดวก พอประมาณ ๔ โมงเช้ากระบวนเสด็จมาถึง เลยเข้าคลองต่อมาน้ำกำลังท่วมทุ่งท่วมคันคลองเจิ่งทั้งสองข้าง เรือแล่นได้สะดวก พอสักบ่าย ๒ โมงก็มาถึงหลักหก หยุดกระบวนประทับแรมที่วัดโชติทายการาม


เวลาบ่ายทรงเรือเล็กพายไปประพาสทุ่ง คือไร่ที่น้ำท่วม เจ้าของไร่กำลังเก็บเอาหอมกระเทียมขึ้นผึ่งตามนอกชานบ้านเรือนตลอดจนบนหลังคาเพราะไม่มีที่ดิน น้ำท่วมเป็นทะเลหมด ไปถึงบ้านแห่งหนึ่งเจ้าของเป็นผู้หญิงกำลังตากหอมกระเทียม พอเห็นเรือก็ร้องเชื้อเชิญให้แวะที่บ้าน เห็นได้ว่าแกไม่รู้จักว่าใครเป็นใคร คงเข้าใจว่าพวกขุนนางที่ตามเสด็จ ครั้นเสด็จขึ้นเรือนแล้วเพียงต้อนรับยายผึ้งยังไม่พอใจ ยังเข้าไปยกหม้อข้าวกับกะบะไม้ใส่ชามกะลา มีผักกาดผัดหมู ปลาเค็ม น้ำพริก กับอะไรอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งแกหาไว้สำหรับแกกินเองในเวลาเย็นมาตั้งจะเลี้ยงอีก


ใครเคยตามเสด็จประพาสไปรเวตมาแต่ก่อนย่อมเข้าใจว่า ถ้ามีของสนุกในการที่จะทรงสมาคมกับราษฎรเกิดขึ้นอย่างนี้แล้ว ที่พระเจ้าอยู่หัวของเราจะเว้นเป็นไม่มี พอยายผึ่งเชิญพวกเราก็เข้าล้อมสำรับกับพระเจ้าอยู่หัวด้วยกัน ว่ากันคนละคำสองคำ เจ้าเจ๊กฮวดลูกยายผึ้งอายุราวสัก ๒๐ ปีมาช่วยยกสำรับคับค้อน ขณะเมื่อพวกเรากินเลี้ยง เจ๊กฮวดมันนั่งดู ๆ พระเจ้าอยู่หัว ประเดี๋ยวเอ่ยขึ้นว่า "คล้ายนักคล้ายนักขอรับ" ถามว่าคล้ายอะไร มันบอกว่า คล้ายรูปที่เขาตั้งไว้ตามเครื่องบูชา พอประเดี๋ยวก็ลุกขึ้นนั่งยอง ๆ เอาผ้าปูกราบพระเจ้าอยู่หัวบอกว่า "แน่ละขอรับไม่ผิดละเหมือนนัก" ยายผึ้งยายแพ่งเลยรู้ว่าพระเจ้าอยู่หัว แต่ก็ได้รับพระราชทานมากอยู่ เห็นจะหลายสิบเท่าราคาสำรับกับข้าวที่ยายผึ้งเลี้ยง


เสด็จเที่ยวนี้ตั้งต้นชอบกลดี ทีจะสนุกมาก ตั้งแต่เสด็จออกจากบางปะอิน พระเจ้าอยู่หัวทรงสบายขึ้นมาก


นายทรงอานุภาพ


จดหมายฉบับที่ ๓

เมืองราชบุรี

วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓


ถึง พ่อประดิษฐ์


ว้นนี้ฉันเหนื่อยเหลือทน ไม่ได้คิดว่าจะเขียนจดหมายฉบับนี้ ตั้งใจว่าจะนอน แต่เหตุใดไม่ทราบนอนไม่หลับ มาคิดขึ้นได้ว่าพรุ่งนี้จะตามเสด็จลงไปเมืองสมุทรสงคราม อยู่ห่างทางรถไฟ จะส่งจดหมายมาถึงพ่อประดิษฐ์ยาก จึงลุกขึ้นมานั่งเขียนจดหมายฉบับนี้ในเวลาเห็นจะราวสักสองยาม ถ้าเขียนวิปลาสคลาดเคลื่อนอย่างใดบ้าง ขออภัยโทษเถิดอย่าถือเลย


ในจดหมายฉบับก่อนได้บอกข่าวตามเสด็จมาถึงวัดโชติทายการาม ครั้น ณ วันที่ ๑๗ เวลาเช้า กระบวนเสด็จออกจากที่ประทับแรมมาถึงเมืองราชบุรีราวเวลาเที่ยง จอดเรือพระที่นั่งประทับที่หน้าบ้านเทศา พอจอดเรือแพกันเรียบร้อย ฉันไปฟังราชการที่พลับพลาได้ข่าวว่ารับสั่งให้เตรียมรถไฟพิเศษ จะเสด็จไหนในบ่ายวันนั้นไม่ทราบ เป็นแต่ได้รับสั่งว่าให้ฉันไปตามเสด็จด้วย จนกระทั่งออกรถไฟแล่นลงไปข้างใต้ จึงเข้าใจว่าเห็นจะเสด็จเมืองเพชรบุรี นั่งไปสักครู่หนึ่งจึงทราบความสมจริงดังคาดว่าจะเสด็จเมืองเพชรบุรี นัยว่าจะจู่ไปไม่ให้ผู้ใดทราบ ด้วยมีพระราชประสงค์จะใคร่ทอดพระเนตรบ้านเมืองในเวลาเป็นปกติ ไม่ได้จัดการตระเตรียมอย่างหนึ่งอย่างใดไว้รับเสด็จแต่อย่างไร เมื่อรถไฟถึงสะเตชั่นบ้านปากท่อหยุดรถหลีกรถเมืองเพชร พบเจ้าพระยาสุรพันธ์ยืนยิ้มคอยรับเสด็จอยู่ที่สะเตชั่น ดูเป็นที่ประหลาดใจกันมาก ด้วยการที่เสด็จก็สั่งกันเป็นปัจจุบันทันด่วน และได้บังคับเจ้าพนักงานรถไฟมิให้บอกไปเมืองเพชรว่าจะเสด็จ เหตุใดความนี้จึงรู้ไปถึงเจ้าพระยาสุรพันธ์ถึงล่วงหน้ามารับเสด็จอยู่ได้เป็นครึ่งทาง ใคร ๆ ซักไซ้ไต่ถามเจ้าพระยาสุรพันธ์ ว่าทำไมจึงได้รู้ว่าจะเสด็จ ท่านก็ยิ้มเยาะบอกว่าคอยสืบอยู่จึงได้ทราบ ทำให้เกิดฉงนสนเท่ห์แปลกันไปต่าง ๆ จนท่านผู้เป็นต้นรับสั่งเรื่องเสด็จวันนี้จะออกตกใจ เกรงความผิดว่าจะไม่ปิดข่าวเสด็จให้มิดชิดตามพระราชประสงค์ ต่อมีรับสั่งซักไซ้ จึงได้ความจากเจ้าพระยาสุรพันธ์กราบทูลว่าบ่าวมาอยู่ที่สะเตชั่นรถไฟ ได้ทราบจากนายสะเตชั่นว่าได้รับโทรเลขสั่งไปจากเมืองราชบุรี ว่าจะมีรถไฟพิเศษไปเมืองเพชรบุรีในบ่ายวันนั้น บ่าววิ่งไปบอกเจ้าพระยาสุรพันธ์ เจ้าพระยาสุรพันธ์นึกว่ารถไฟพิเศษนี้ บางทีจะเกี่ยวด้วยการเสด็จสักอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงรีบขึ้นรถบ่ายมาจากเมืองเพชร คาดว่าถ้าไม่พบเสด็จในรถไฟพิเศษก็จะเลยมาเฝ้าฟังราชการที่เมืองราชบุรี มิได้สั่งให้ตระเตรียมการรับเสด็จไว้อย่างหนึ่งอย่างใดในเมืองเพชร ได้ความดังนี้ ดูสมกิริยาเจ้าพระยาสุรพันธ์ เมื่อได้ทราบว่าจะเสด็จเมืองเพชรจริง ๆ ดูท่านตกใจวุ่นวาย จะไปโทรเลขสั่งโน่นสั่งนี่จนต้องคุมตัว และต้องสั่งเจ้าพนักงานมิให้รับโทรเลขของเจ้าพระยาสุรพันธ์ไปส่ง และมิให้บอกข่าวเสด็จล่วงหน้าไปเมืองเพชรเป็นอันขาด เมื่อไปถึงเมืองเพชรบุรีสังเกตดูเห็นได้ว่า ไม่มีการรู้ว่าจะเสด็จจริง ผู้คนเป็นปกติตามธรรมเนียมเมือง ต่อทรงพระราชดำเนินไปตามถนนเป็นนาน เจ้าเมืองกรมการจึงวิ่งกระหืดกระหอบมาทีละคนสองคนใส่เสื้อมากลางทางบ้าง สวมถุงเท้ากันบ้าง มาแต่ด้วยสลิบเปอร์บ้าง วิ่งกันไขว่ไปทั้งเมืองดูก็สนุกดี ประทับเสวยที่เมืองเพชรแล้วเสด็จรถไฟพิเศษกลับมาแรมเมืองราชบุรี


วันที่ ๑๘ กรกฎาคม วันนี้ประจวบเป็นวันกำหนดบวชนาคบุตรพระแสนท้องฟ้า เวลาเช้าเสด็จประพาสตลาดแล้วเลยเสด็จไปทอดพระเนตรแห่บวชนาคที่วัดสัตนาถ การแห่นี้ก็แห่อย่างนาคราษฎร มีกลองยาวเถิดเทิงตามแบบที่เคยเห็นกัน ถ้าจะว่าก็ไม่น่าสนุก แต่บังเอิญในเวลาเถิดเทิงตีอยู่ในลานวัด มีอ้ายบ้าคนหนึ่งซึ่งพระเลี้ยงไว้ในใต้ถุนกุฏิออกสนุกขึ้นมาอย่างไร กรากออกมาช่วยรำ ใครจะห้ามก็ไม่ฟัง เจ้าพนักงานจะไปไล่ก็มีรับสั่งว่า ช่างมันเถิด อ้ายบ้ารำไปรำมาประเดี๋ยวแลบลิ้นหลอกแล้วก็เดินออกไปเสียจากวัด ใครจะไปเรียกให้มารำอีกก็ไม่รำ


เวลาบ่ายวันนั้นทรงเรือมาด ๔ แจว เรือไฟเล็กลากล่องน้ำไปประพาสในแม่น้ำอ้อม เรือลำเดียวอยู่ข้างจะยัดเยียด จึงมีพระราชประสงค์จะหาซื้อเรือ ๔ แจวสำหรับตามเรือมาดพระที่นั่งสักลำหนึ่ง ช่วยกันเสาะหาไปตามทาง ไปเห็นที่บ้านแห่ง ๑ จึงแวะเข้าไปถามซื้อ ได้ความว่าเป็นเรือของกำนันเหม็น แต่เป็นเรือชำรุดหาได้ซื้อไม่ ที่เรียกว่ากำนันเหม็นนั้น ที่จริงแกจะชื่อไรก็ไม่ทราบแต่บ้านเรือนแกเหม็นเต็มที จึงสมมติกันว่าแกควรจะชื่อเหม็น ข้อนี้ฉันเห็นเป็นคติควรระวังอย่าให้บ้านเรือนสกปรก ถ้าเสด็จประพาสไปแวะพบจะได้รับสมมติชื่อว่าหลวงเหม็นพระเหม็นอะไรก็จะเป็นได้ ไปจนถึงวัดเพลง จึงซื้อเรือมาดประทุน ๔ แจวได้ลำ ๑ พระราชทานชื่อว่าเรือต้น ได้ยินรับสั่งถามให้แปลกันว่าเรือต้นแปลว่ากระไร บางท่านก็แปลว่าเรือเครื่องต้น บางท่านแปลว่าเรือทรงอย่างในเห่เรือว่า "ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย" ดังนี้ แต่บางท่านแปลเอาตื้นๆว่าหลวงนายศักดิ์เป็นคนคุมเครื่องมหาดเล็กตามเสด็จ หลวงนายศักดิ์ชื่ออ้น รับสั่งเรียกว่า ตาอ้น ตาอ้น เสมอ คำว่าเรือต้นนี้ก็จะแปลว่าเรือตาอ้นนั่นเอง แปลชื่อเรือต้นเป็นหลายอย่างดังนี้อย่างไรจะถูกฉันก็ไม่ทราบแน่ แต่วันนี้กว่าจะเสด็จกลับมาถึงเมืองราชบุรีเกือบยาม ๑ ด้วยต้องทวนน้ำเชี่ยวมาก เหนื่อยบอบมาตามกัน เริ่มเรียกการประพาสวันนี้ว่า ประพาสต้น เลยเป็นมูลเหตุที่เรียกการประพาสไปรเวตในวันหลัง ๆ ว่าประพาสต้นต่อมา


วันที่ ๑๙ เสด็จเรือมาดแจวประพาสทุ่งทางฝั่งตะวันออก ฉันไปตามเสด็จไม่ทัน ต่อเวลาค่ำจึงไปพลับพลา ได้ยินโจษกันเป็นปัญหาขึ้นอย่าง ๑ ว่า ในเมืองไทยทุกวันนี้ก็มีรถไฟไปมาได้รวดเร็ว ถ้าจะไปเที่ยวกันในทางรถไฟสักวันหนึ่งสองวันไม่มีอะไรไปเลยมีแต่เงินติดกระเป๋าไปอย่างผู้ดี ๆ เช่นนี้ จะไปเที่ยวได้หรือไม่ บางคนว่าไปได้ บางคนมีนายวงศ์ตะวันเป็นต้น ซึ่งเคยไปอยู่เมืองนอกเมืองนาเห็นว่าจะไปไม่ได้ ขัดข้องด้วยไม่มีโฮเต็ลที่พักเป็นต้น ความทั้งนี้ทราบถึงพระกรรณ จึงตกลงว่าควรจะทดลองดูให้เห็นจริงในเที่ยวนี้ พรุ่งนี้จะเสด็จที่แห่งใดแห่งหนึ่งด้วยรถไฟ แล้วและกลับทางเรือจนถึงพลับพลาแรมไม่มีอันใดนอกจากเงิน ลองดูสักทีจะมีติดขัดอย่างใดบ้าง ฉันได้รับคำสั่งให้ไปตามเสด็จด้วย มานึกดูก็ชอบกล ถ้าเป็นคนเลวจะขัดข้องอันใดมี เที่ยวซื้อข้างแกงตามตลาดหรือเที่ยวขอเขากินก็จะได้ ส่วนที่อยู่ที่พักจะเที่ยวหาอาศัยบ้านเรือนเขา หรือแม้ที่สุดจะไปอาศัยนอนตามวัดก็ไม่เห็นจะขัดข้อง เขาเที่ยวกันเช่นนั้นถมไป ซึ่งรังเกียจกับข้าวของกินที่เขาวางเร่ขายไว้ตามตลาด และรังเกียจความโสโครก จะไปหาที่พักอาศัยให้สมควรดูก็เป็นการยากที่จะหาได้ แต่อย่างไรคงจะได้เห็นกันในวันพรุ่งนี้


วันที่ ๒๐ กรกฎาคม เสด็จอาศัยรถไฟบ่ายที่จะไปกรุงเทพฯ ที่ใช้คำว่าเสด็จอาศัยในที่นี้ เพราะเสด็จรถไฟชั้น ๓ ประทับปะปนไปกับราษฎร ไม่ให้ใครรู้ว่าใครเป็นใคร เพื่อจะใคร่ทรงทราบว่าราษฎรอาศัยไปมากันอย่างไร เจ้าพนักงานรถไฟก็เหลือดีมีอัธยาศัยรู้พระราชประสงค์ที่จริงแกรู้แต่แกล้งทำเฉย มาเรียกติเก็ตตรวจพวกเราเหมือนกับราษฎรทั้งปวง ทำให้ไม่ผิดกันอย่างไร ต่อผู้ใดสังเกตจริง ๆ จึงจะพอเห็นได้ว่าหน้าแกออกจะซีด ๆ และเมื่อไปเรียกติเก็ตพระเจ้าอยู่หัวมือไม้แกสั่นผิดปกติ


เรื่องทดลองเดินทางด้วยไม่มีอะไรนอกจากเงินตามที่ปรึกษากันเมื่อคืนนี้นั้น เป็นตกลงว่าจะเสด็จรถไฟไปลงที่โพธาราม หาเสวยเย็นที่นั้นแล้วหาเรือล่องกลับลงมาเมืองราชบุรี ได้แบ่งหน้าที่ผู้ที่ไปเป็นพนักงานพาหนะพวก ๑ พนักงานครัวพวก ๑ ต่างมีหน้าที่ที่จะต้องจัดทำการที่เกี่ยวด้วยแผนกนั้น ๆ ให้ตลอดไป


รถไฟไปวันนี้ไม่สะดวกด้วยน้ำพัดสะพานที่บ้านกล้วยเซไป รถไฟข้ามไม่ได้ ต้องไปหยุดรถให้คนโดยสารลงเดินไต่ทางไปขึ้นรถพ่วงใหม่ฟากสะพานข้างโน้น ฝนก็ตกออกจะลำบากบ้างเล็กน้อย แต่ก็มีประโยชน์อยู่บ้างที่เป็นเหตุให้พนักงานกองเสบียงได้เห็นปลาทูสดเจ๊กเอามาแต่เมืองเพชรบุรีกระจาดหนึ่ง จะเอาไปขายที่ไหนไม่ทราบ ว่าซื้อตกลงได้ปลาทูสดนั้นมาเป็นเสบียงสำหรับเวลาเย็น เป็นที่อุ่นใจว่าอาหารเย็นวันนี้จะไม่ฝืดเคือง ครั้นไปถึงโพธารามต่างกองต่างแยกกันเที่ยวทำการตามหน้าที่ที่กะไว้ พวกกองพาหนะก็เที่ยวหาเช่าเรือและที่อาศัยชุมนุมเลี้ยงกันเวลาเย็น พวกกองครัวก็เที่ยวหาซื้อหาอาหารเครื่องภาชนะใช้สอยต่าง ๆ คือหม้อข้าวและถ้วยชามรามไหเป็นต้น ได้พร้อมแล้วก็หุงข้าวต้มแกงตามลำพังฝีมือพวกที่ไปตามเสด็จสำเร็จได้เลี้ยงกันพอเวลาพลบค่ำ ที่คาดหมายไปว่าจะได้กินสนุกยิ่งกว่าอร่อยเป็นการคาดผิดทั้งสิ้น อาหารวันนี้อร่อยเหลือเกิน ดูเหมือนจะกินอิ่มจนเกือบเดินไม่ไหวแทบทุกคน


เวลาสัก ๒ ทุ่มออกเรือที่เช่าเขา ๓ ลำ ล่องลงมาจากโพธาราม เรือเหล่านี้เป็นเรือประทุน ๒ แจว ที่เขาบรรทุกของสวนขึ้นไปขาย เสร็จแล้วจ้างเจ้าของเขาแจวลงมาส่ง


ได้บอกข้างต้นว่าการเสด็จวันนี้ ไม่ได้ตั้งใจจะให้ใครรู้ว่าใครเป็นใคร แต่มาเกิดกลแตกขึ้นเมื่อขาล่องเรือลงมาในประทุนเรือลำพระที่นั่ง เจ้าของเขามีพระบรมรูปเข้ากรอบติดไว้ที่เครื่องบูชา ไปรับสั่งถามยายเมียเจ้าของเรือว่ารูปใคร ยายนั่นกราบทูลว่า พระรูปเจ้าชีวิต รับสั่งถามต่อไปว่า แกได้เคยเห็นเจ้าชีวิตหรือไม่ แกกราบทูลว่าได้เคยเห็น ๓ หน รับสั่งถามว่า ได้เห็นที่ไหนบ้าง แกกราบทูลว่า "ได้เห็นในบางกอก ๒ หน กับมาเห็นวันนี้อีกหน ๑" ล่องมาถึงเมืองราชบุรีเวลา ๔ ทุ่ม เขียนมาถึงนี่ออกหาวนอนเต็มทีขอยุติเรื่องราวตอนนี้แต่เพียงเท่านี้


นายทรงอานุภาพ


จดหมายฉบับที่ ๔

เมืองสมุทรสงคราม

วันที่ ๒๓ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓


ถึง พ่อประดิษฐ์


ในจดหมายฉบับที่ฉันส่งไปจากเมืองราชบุรี ได้เล่าถึงเรื่องที่ไปทำครัวปัจจุบันเลี้ยงกันที่โพธาราม บรรดาผู้ที่ได้ไปในวันนั้น ตั้งแต่พระเจ้าอยู่หัวเป็นต้นลงมาพากันเห็นคุณในการทำครัวเลี้ยงกันในเวลาเที่ยวหาความสบายเช่นนี้ ว่าเป็นเหตุให้เจริญอาหารดีกว่าบริโภคอาหารซึ่งกุ๊กทำเป็นอันมาก จึงตกลงกะการให้มีเครื่องครัวปัจจุบันติดไปในเวลาเสด็จประพาสต้น คือมีหม้อข้าวเตาไฟ ถ้วยชามและเครื่องครัวบรรทุกไปในเรือมหาดเล็ก กำหนดว่าไปถึงตลาดจะมีที่ซื้อหาเสบียงอาหารได้แห่งใด จะแวะซื้ออาหารและไปหาที่ทำครัวเลี้ยงกันในระยะทางทุกโอกาสที่จะมีจะทำได้ ส่วนพวกที่ตามเสด็จนั้นก็แบ่งหน้าที่กันตามถนัด ใครทำกับข้าวของกินเป็นก็มีหน้าที่เป็นหน้าเตาสำหรับทำกับข้าวของกิน ที่หุงข้าวดีก็เป็นพนักงานหุงข้าว ส่วนตัวฉันนั้นอยู่ในพวกที่ทำอะไรไม่เป็นแต่ท่านไม่ยอมให้กินเปล่า จึงต้องรับหน้าที่เป็นกองล้างชามกับคุณหลวงรัตนาวุธ นายอัษฎาวุธ และท่านมหาสม รวมสี่คนด้วยกัน ที่จริงนายวงศ์ตะวันก็ทำอะไรไม่เป็น ควรจะมาเข้ากองล้างชามด้วยกัน แต่เข้าอาย ดูเหมือนจะเห็นว่า การล้างถ้วยชามนั้นเป็นหน้าที่เลวทรามนัก สู้ไปอาสาพวกหน้าเตาให้เขาใช้สอยขอดเกล็ดปลาและสับหั่นไปตามเพลง ที่จริงหน้าที่กองล้างชามนั้นเป็นการประณีตมาก เมื่อฉันเล่าให้ฟัง พ่อประดิษฐ์ก็คงจะได้เห็นว่าไม่ใช่การเลวเลย คือในกองนี้มีสบู่ แปรง ผ้าสำหรับเช็ด และส้มสำหรับฟอก จัดลงไว้ในหีบซึ่งเที่ยวซื้อเอาตามตลาดเหมือนกับหีบปิกนิกเป็นเครื่องมือสำหรับตัว เมื่อเสด็จไปถึงที่ใดซึ่งกะว่าจะเป็นที่ทำครัวและเลี้ยงอาหาร หน้าที่ของพนักงานกองล้างชาม ในเบื้องต้นจะต้องเที่ยวตรวจหาว่าสถานที่ใดควรจะเป็นที่เลี้ยงและเป็นที่ทำครัวได้ ยกตัวอย่างดังว่าจะทำครัวเลี้ยงกันที่วัดแห่งใด พอจอดเรือเข้าไปพนักงานกองล้างชามก็ต้องขึ้นก่อน ไปเที่ยวหาที่ว่าจะควรใช้การเปรียญหรือศาลาน้ำจะเหมาะดี เมื่อตกลงสมมติที่แล้ว กองล้างชามจะต้องเที่ยวหาโอ่งอ่างและน้ำสำหรับใช้ให้พอการ กระบวนเที่ยวค้นหาเหล่านี้เกือบจะถูกหมากัดก็หลายครั้ง บางทีก็ไปตกร่อง บางทีหัวโดนชายคามีอันตราย ต้องการความกล้าหาญอยู่บ้าง ครั้งได้ที่แล้วต้องลงมือล้างถ้วยชามฟอกสบู่ให้สะอาดหมดคาว และเรียบเรียงไว้จ่ายแก่พวกหน้าเตาให้ทันต้องการใส่กับข้าว ล้างชามเสร็จแล้วคราวนี้ต้องปูเสื่อปูพรม ตั้งกระโถนคนที และยกกับข้าวไปเรียบเรียง เสร็จแล้วพนักงานล้างชามยังมีหน้าที่ที่จะต้องเชื้อเชิญบริษัทให้พร้อมกันมาบริโภคอาหารจึงเป็นเสร็จธุระ ที่ฉันพรรณนามาถึงหน้าที่กองล้างชามนี้อยู่ข้างจะยืดยาว แต่ถ้าไม่พรรณนาให้เข้าใจ พ่อประดิษฐ์ก็จะเห็นว่าหน้าที่ของฉันเลวทราม เพราะที่จริงชื่อกองล้างชามไม่สู้เพราะ มันไปเข้าสุภาษิตโบราณที่ว่า "อิ่มก่อนดูโขนดูหนัง อิ่มที่หลังล้างถ้วยล้างชาม" เรื่องล้างชามออกจะเสียชื่ออยู่จึงต้องอธิบายให้เข้าใจไว้


เมื่อว่าถึงระยะทางที่เสด็จต่อมา วันที่ ๒๑ กรกฎาคม เวลาเช้าเสด็จประพาสตลาด ไปพบยายเจ้าของเรือที่แกเคยเห็นเจ้าชีวิต ๓ หน แกพาลูกมาเฝ้า ทรงพระกรุณาพระราชทานเครื่องแต่งตัวแก่เด็กนั้นหลายอย่าง ประพาสตลาดแล้ว ออกเรือพระที่นั่งจากเมืองราชบุรี กระบวนเรือพลับพลาให้ล่องไปตามลำแม่น้ำใหญ่ไปคอยที่เมืองสมุทรสงคราม เสด็จเรือมาด ๔ แจว มีเรือต้นที่ซื้อใหม่เป็นเรือที่นั่งรอง พ่วงเรือไฟเล็ก เข้าทางแม่น้ำอ้อม ไปแวะซื้อเสบียงอาหารที่ตลาดปากคลองวัดประดู่ พวกเราเดินชุลมุนขวักไขว่กันไปตามเพลงไม่มีใครรู้จัก เขากำลังเล่นลิเกกันหน้าโรงบ่อน ฉันเดินไถลไปดู ไปพบทหารเรือซึ่งเคยเป็นบ๋อยพระยาชลยุทธ รู้จักกันมาแต่ก่อน เห็นมันรู้จักจึงกระซิบบอกอ้ายหมอนั่นว่า เอ็งอย่าอึกทึกให้ใครรู้ว่าเสด็จ ดูมันก็ทำนิ่งเฉยดีอยู่ ไม่เห็นผู้ใดรู้เห็นวี่แวว จนกระทั่งเสด็จกลับลงเรือ พอเรือออกจากท่าเจ้าพิณพาทย์ลิเกก็ตีเพลงสรรเสริญพระบารมีส่งเสด็จ นี่แลจะเป็นด้วยเหตุบ๋อยพระยาชลยุทธไปโจษขึ้นหรืออย่างไรก็หาทราบไม่ ออกจากตลาดแจวเข้าคลองเล็กไปจนถึงวัดประดู่ หยุดพักทำครัวเสวยเช้าที่วัดนั้น กองล้างชามเที่ยวตรวจไปได้ความแปลกประหลาดที่วัดนี้ว่าเป็นหมอน้ำมนต์ มีผู้คนที่เจ็บไข้ไปคอยรดน้ำมนต์รักษาตัวอยู่หลายคน ได้ความว่าเป็นโรคผีเข้าบ้าง ถูกกระทำยำเยียบ้าง และเป็นโรคอื่น ๆ บ้าง เมื่อเลี้ยงกันเสร็จแล้วจึงพร้อมกันไปดูรดน้ำมนต์ รดน้ำมนต์อย่างนี้ฉันก็พึ่งเคยเห็น คนพูดจากันอยู่ดี ๆ พอเข้าไปนั่งให้รดน้ำมนต์ก็มีกิริยาอาการวิปลาสไปต่าง ๆ บางคนก็เฝ้าแต่ขากเสลดพ่นน้ำลายดังขากปู ๆ ไปจนพระหยุดรดน้ำมนต์จึงหยุดขาก กลับหันมาบอกเราว่าสบายเบาในอกโล่งทีเดียว ยายแก่คน ๑ ตาบอดลูกสาวพามาให้พระรดน้ำมนต์ พอรดเข้าก็ร้องครวญครางและวิงวอนว่ากลัวแล้ว จะไปแล้วเท่านั้นเถิดอย่างนี้จนพระหยุด ถามคนไข้ได้ความว่า ยายคนนี้เดิมมีผู้มาขอลูกสาวแกไม่ให้ เขาโกรธกระทำให้ผีสิงจนไม่เป็นสติอารมณ์ ต้องมารักษาตัวที่วัดประดู่ พอได้สติค่อยยังชั่วขึ้นสักหน่อย นี่เเหละจะจริงเท็จเพียงใดก็ไม่ทราบ เล่าเท่าที่ตาเห็น แต่พวกเราที่ไปตามเสด็จไม่มีใครรับอาสาเข้าไปให้พระรดน้ำมนต์ถวายตัวจึงไม่มีพยานที่จะยืนยัน ถ้าหากพวกเราเข้าไปขากปูลงสักคนก็เห็นจะน่าเชื่อขึ้นมาก ออกจากวัดประดู่ล่องกลับออกมาได้ยิน เสียงกลองละครชาตรีมีอยู่ในสวน รับสั่งให้แวะเรือพระที่นั่งเข้าไป จะใคร่ทรงทราบว่าเขามีงานการอะไรกัน ไปพบละครชาตรีมีอยู่ที่บ้านตาหมอสี เป็นพลเรือนอย่างโบราณลงมาต้อนรับ เห็นตานี่จะนอนดูละครจนหลับ หน้าตายู่ยี่ ตัวยังเป็นรอยเสื่อ แต่แกต้อนรับแข็งแรงพูดจาอย่างเก่าว่า ยังงั้นซีพะยังงี้ซีพะ ไม่ใช่ขอรับหรือจะจ๋า นาน ๆ ได้พบอย่างนี้น่าฟังดี ได้ความว่าลูกแกเจ็บได้บนบานไว้ ครั้นรักษาหายจึงได้มีละครชาตรีแก้สินบน ออกจากคลองวัดประดู่เย็นมากแล้ว เรือไฟลากล่องมาถึงแม่น้ำใหญ่จวนจะค่ำ หาที่ทำครัวเย็นก็ไม่ได้เหมาะ ล่องเรือลงมาเห็นบ้านแห่งหนึ่งสะอาดสะอ้านดี มีเรือนแพอยู่ริมน้ำ รับสั่งว่าที่นี่เห็นจะพออาศัยเขาทำครัวสักครั้งหนึ่งได้ ให้กรมหลวงดำรงรับหน้าที่ขึ้นไปขออนุญาตต่อเจ้าของบ้าน กรมหลวงดำรงเสด็จขึ้นไต่ถาม ได้ความว่าเป็นบ้านนายอำเภอ นายอำเภอไปจัดฟืนเรือไฟที่ตรงบ้านข้าม อยู่แต่ภรรยา หารู้จักกรมหลวงดำรงไม่ ขออนุญาตทำครัวที่เรือนแพได้ดังปรารถนา พอขนของครัวขึ้นแพแล้ว กรมหลวงดำรงยังไม่ทันเสด็จลงมาจากบนเรือนใหญ่ นายอำเภอก็กลับมาถึง ไม่ทันเหลียวแลเห็นพระเจ้าอยู่หัวที่เรือนแพ มุ่งหน้าตรงขึ้นไปถวายคำนับเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยที่เรือนใหญ่ นายอำเภอเพ็ดทูลกรมหลวงดำรงอยู่ไม่ทันได้กี่คำ นายอัษฎาวุธก็คลานศอกนำหนังสือรับสั่งไปถวายกรมหลวงดำรงว่า ขอให้เขารู้จักแต่กรมหลวงดำรงพระองค์เดียวเถิด ฉันนั่งดูท่านายอัษฎาวุธคลานเข้าเฝ้ากรมหลวงดำรง ทำท่าทางสนิทราวกับเป็นข้าไท แต่กรมหลวงดำรงนั้นพออ่านหนังสือรับสั่งแล้วดูพระพักตร์สลดเห็นประทับนิ่งไม่รับสั่งว่ากระไร เป็นแต่พยักพระพักตร์ให้นายอัษฎาวุธกลับลงมา อีกสักครู่หนึ่งจึงได้ยินรับสั่งกับนายอำเภอและกำนันผู้ใหญ่บ้านถึงราชการ งานเมืองอะไรต่ออะไรอึงอยู่บนเรือน พวกกองครัวก็ทำครัวกันอยู่ที่เรือนแพ ทำเสร็จแล้วแต่งเครื่องให้คุณหลวงนายศักดิ์เชิญขึ้น ไปตั้งถวายกรมหลวงดำรงเสวยพร้อมกับเครื่องเคราที่เจ้าของบ้านเขาหาถวาย ครั้นเสร็จแล้วเมื่อจะลาลงเรือ กรมหลวงดำรงเสด็จกลับมาจะลงเรือ นายอำเภอกำนันผู้ใหญ่บ้านตามลงมาส่งเสด็จมารุมมาตุ้ม พวกที่ไปตามเสด็จรับกระแสรับสั่งไว้ให้หมอบกรานรับเสด็จกรมหลวงดำรงอย่างเป็นข้าในกรม ส่วนพระเจ้าอยู่หัวเสด็จหลบออกไปบังอยู่เสียหลังเก๋งท้ายเรือ พระราชทานพระราชอาสน์ไว้สำหรับกรมหลวงดำรงประทับ กรมหลวงดำรงเลยทรงไถลว่าเดือนหงายสบายดีจะยืนอยู่หน้าเก๋ง รีบให้ออกเรือ แต่พอพ้นหน้าบ้านก็รับสั่งบ่นใหญ่ ว่าเล่นอย่างนี้เต็มทีไม่สนุก แต่คนอื่นพากันหัวเราะกรมหลวงดำรงทั่วทั้งลำ เวลาสักยามหนึ่งจึงมาถึงที่ประทับเมืองสมุทรสงคราม


วันที่ ๒๒ กรกฎาคม เวลาเช้าเสด็จไปทอดพระเนตรวัดพวงมาลัยแล้วเสด็จขึ้นไปประพาสตลอดคลองอัมพวา เสด็จเป็นอย่างประพาสต้นเหมือนเมื่อเสด็จวัดประดู่ แต่วันนี้เกิดเหตุขัดข้องประพาสไม่ได้สะดวก ด้วยในเมืองสมุทรสงครามนี้เขามีข้อบังคับกวดขัน ถ้าเรือหรือผู้คนแปลกประหลาดมาในท้องที่ ราษฎรบอกกำนันผู้ใหญ่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านต้องรีบลงเรือไปทักถามเป็นธรรมเนียมบ้านเมืองอยู่ดังนี้ วันนี้ไม่ได้บอกให้ใครทราบว่าจะเสด็จอัมพวา เขาคงจะทราบแต่ว่ามีเรือและคนแปลกประหลาดมาก็ทำตามหน้าที่ จนเรารำคาญ แจวกระดิกไปข้างไหนก็พบแต่เรือกำนันผู้ใหญ่บ้านออกมาถามว่าเรือใครไปไหน หลบลำนี้ไปเจอลำโน้นเหมือนกับจะถูกล้อมจับ ใช่แต่เท่านั้นเจ้านายที่ไปตามเสด็จ ๒ พระองค์ กับขุนสวรรค์วินิตมีญาติวงศ์พงศาและพวกพ้องอยู่ในแถวอัมพวานี้มาก ท่านพวกเหล่านี้พอเหลือบแลเห็น ก็พากันชื่นชมยินดีเรียกร้องกันติดตามมารุมมาตุ้ม ยิ่งหนีก็ยิ่งตาม ลงที่สุดพระเจ้าอยู่หัวต้องเสด็จลงเรือต้นแยกไปประพาสแต่ลำเดียว ปล่อยเรือพระที่นั่งมาดไว้ให้กำนันผู้ใหญ่บ้านและชาวอัมพวาติดตามให้พอใจ ฉันถูกอยู่กับเรือมาด นั่งนึกขันในใจที่พวกชาวบ้านบางช้างพากันยิ้มแย้มแจ่มใสติดตามมาเฝ้าเจ้านายที่เป็นญาติ และหมายจะพบปะขุนสวรรค์วินิต ไม่มีใครในพวกนั้นจะคิดเห็นเลยว่ามาทำความรำคาญแก่ท่านทั้ง ๒ นั้นสักเพียงใด เขามาดี ๆ จะโกรธขึ้งก็ยาก ขุนสวรรค์จึงออกปัญญาว่า ยายหนูแก่แล้วแดดร้อนเอากลับไปบ้านเสียเถิด ยายหนูกลับไปประเดี๋ยวเรือลำนั้นกลับมาอีก ยายหมับแกไม่แก่เหมือนยายหนู และแกไม่กลัวแดดจะทำอย่างไร ช่วยกันคิดอ่านไล่พวกอัมพวาอยู่จนกระทั่งเสด็จกลับจากประพาสคลองอัมพวา แล้วจึงออกเรือเลยไปพักเสวยเช้าที่วัดดาวดึงส์ เสร็จแล้วแจวต่อไปบางน้อย ประพาสที่บ้านกำนันจัน แล้วกลับทางคลองแม่กลองมาถึงที่ประทับเวลา ๒ ทุ่ม


วัน ที่ ๒๒ กรกฎาคม เวลาเช้าเสด็จทอดพระเนตรที่ว่าการเมืองแล้วเสด็จวัดอัมพวา กลับมาถึงที่ประทับเวลาค่ำ พรุ่งนี้กำหนดจะเสด็จเมืองเพชรในกระบวนใหญ่ เพราะจะต้องข้ามอ่าวทะเลจากปากน้ำแม่กลองไปข้างบางตะบูน แต่น้ำมากเรือกระบวนจะออกอ่าวได้ต่อเวลาเที่ยง ได้ทราบว่าตอนเช้าจะเสด็จไปทอดพระเนตรจับปลาที่ละมุก่อน แล้วจึงจะเสด็จมาขึ้นเรือพระที่นั่งที่เมืองสมุทรสงคราม


แต่เดิมฉันตั้งใจว่าจะเขียนจดหมายต่อเมื่อเสด็จไปถึงเมืองเพชรบุรี แต่เมื่อมาถึงเมืองสมุทรสงคราม ได้ข่าวว่ามีเรือเมล์เดินถึงกรุงเทพฯ ประจวบเรือเมล์จะออกพรุ่งนี้เช้า จึงได้จดหมายฉบับนี้ส่งมา


นายทรงอานุภาพ


จดหมายฉบับที่ ๕

เมืองเพชรบุรี ณ วันที่ ๒๙ เดือนกรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓


ถึง พ่อประดิษฐ์


จดหมายฉบับก่อนฉันส่งไปแต่เมืองสมุทรสงคราม บัดนี้ได้ตามเสด็จมาประพาสเมืองเพชรบุรีได้ ๖ วัน จะเสด็จจากเมืองเพชรบุรีพรุ่งนี้ มีเวลาว่างอยู่บ้างฉันจึงได้จดหมายฉบับนี้ส่งมาบอกข่าวคราว


วันที่ ๒๔ เวลาเช้าเสด็จทรงเรือฉลอม แล่นใบออกไปประพาสละมุที่เขาจับปลาตามปากอ่าวแม่กลอง มีเรือฉลอมแล่นไปในกระบวนเสด็จ ๓ ลำด้วยกัน เที่ยวซื้อกุ้งปลาที่เขาจับได้ตามละมุ แล้วต้มข้าวต้ม ๓ กษัตริย์ขึ้นในเรือฉลอม ที่เรียกว่า ข้าวต้ม ๓ กษัตริย์นั้นคือต้มอย่างข้าวต้มหมู แต่ใช้ปลาทู กุ้ง กับปลาหมึกสดแซกแทนหมู เป็นของทรงประดิษฐ์ขึ้นในเช้าวันนั้นเอง ตั้งแต่ฉันเกิดมาไม่เคยกินข้าวต้มอร่อยเหมือนวันนั้นเลย เฉพาะเหมาะถูกคราวคลื่นราบลมดี เรือฉลอมแล่นใบลมฉิวราวกับเรือไฟ เสด็จพระองค์อาภาเป็นกัปตันถือท้ายเรือพระที่นั่ง แล่นลิ่วออกไปจากปากน้ำแม่กลอง แต่อย่างไรแล่นไกลออกไปทุกที ๆ นานเข้าพวกเจ้าของเรือเห็นจะออกประหลาดใจแลดูตากันไปมา ท่านก็ทอดพระเนตรเห็นแต่เห็นท่านยิ้ม ๆ กัน ฉันออกเข้าใจว่าเห็นจะแล่นใบเลยไปเมืองเพชรแน่แล้ว ดูใกล้ปากน้ำบ้านแหลมเข้าทุกที พอแล่นเข้าไปก็พบกรมหมื่นมรุพงศ์ทรงเรือไฟศรีอยุธยามาคอยรับเสด็จอยู่ที่ปากน้ำ เป็นอันเข้าใจได้ว่ามีอะไรที่จะเล่นกันสักอย่างหนึ่งซึ่งท่านได้ทรงนัดแนะกันไว้แล้วเป็นแน่ ได้ยินแต่กรมหมื่นมรุพงศ์กราบทูลว่าสำเร็จสนิททีเดียว เสด็จลงเรือศรีอยุธยาแล่นขึ้นไปตามลำแม่น้ำเมืองเพชรบุรี พอจวนจะถึงเมืองรับสั่งเรียกพวกที่ไปตามเสด็จให้เข้าซ่อนตัวอยู่ในเก๋ง มีแต่กรมหมื่นมรุพงศ์ประทับอยู่หน้าเรือพระองค์เดียว ฉันแอบมองตามช่องม่าน เมื่อแล่นผ่านพลับพลาเห็นเจ้าพระยาสุรพันธ์นั่งอยู่ที่นั้น ได้ยินเสียงกรมหมื่นมรุพงศ์ร้องรับสั่งขึ้นไปแก่เจ้าพระยาสุรพันธ์ว่า "เห็นจะเสด็จถึงค่ำละเจ้าคุณ ให้เตรียมคบไฟไว้เถิด ฉันจะขึ้นไปหาเสบียงที่ตลาดสักประเดี๋ยวจะกลับลงมา" แล้วเรือศรีอยุธยาก็แล่นลอดสะพานช้างขึ้นไปจอดหน้าบ้านเจ้าพระยาสุรพันธ์ เสด็จขึ้นประทับในบ้านเจ้าพระยาสุรพันธ์ แล้วรับสั่งให้กรมหมื่นมหิศรไปตามเจ้าพระยาสุรพันธ์มาเฝ้า ประเดี๋ยวใจเจ้าพระยาสุรพันธ์วิ่งตุบตับมาหน้านิ่วถวายคำนับแล้วยืนถอนใจใหญ่ มีรับสั่งว่ามาตอบแทนที่เจ้าพระยาสุรพันธ์ล่วงหน้าไปรับถึงบ้านปากท่อเมื่อเสด็จคราวก่อน เจ้าพระยาสุรพันธ์ก็ไม่เพ็ดทูลว่ากระไร พวกเราก็สิ้นเกรงใจลงนั่งหัวเราะเจ้าพระยาสุรพันธ์งอ ๆ ไปตามกัน พอลับหลังพระที่นั่ง เจ้าพระยาสุรพันธ์ไพล่มาโกรธเอาพวกเราไม่เลือกหน้าว่าใคร กรมหมื่นมรุพงศ์เป็นผู้ถูกตัดพ้อต่อว่ากว่าผู้อื่น แต่ท่านยิ่งโกรธเท่าใดก็ยิ่งทำให้พวกเราหัวเราะยิ่งขึ้นจนหายโกรธไปเอง


เสด็จประทับอยู่ที่เมืองเพชรบุรีนี้ ไม่ใคร่มีโอกาสได้เสด็จประพาสต้น เพราะไม่มีทางที่จะเล็ดลอดหลีกไปได้เหมือนแถวแม่น้ำราชบุรีและสมุทรสงคราม ความสนุกแปลกประหลาดไม่ใคร่จะมี จะเล่าระยะทางที่เสด็จให้พ่อประดิษฐ์ทราบแต่พอเป็นเลา ๆ คือ วันที่ ๒๕ เสด็จประพาสทางเรือข้างเหนือน้ำ วันที่ ๒๖ เสด็จทางเรือไปประพาสบางทะลุ ประทับแรมที่บางทะลุคืนหนึ่งยุงชุมพอใช้ วันที่ ๒๗ เสด็จเรือฉลอมแล่นใบจากบางทะลุมาทางทะเลเข้าบ้านแหลม น้ำงวดเรือติดปากอ่าว พายุฝนก็ตั้งมืดมาจะรออยู่ช้ากลัวจะถูกพายุ ผู้ไปตามเสด็จจึงพร้อมใจกันอาสาลงลุยเลนเข็นเรือกับพวกเจ้าของเรือ สงสารแต่นายอัษฎาวุธ เขายอมยกให้แล้วว่าไม่ต้องลงไปก็ไม่ฟัง อุตส่าห์ลงลุยเลนเข็นเรือโคลนเปื้อนมอมไปทั้งตัว พอเรือพ้นตื้นเข้าปากน้ำได้ ก็ถูกฝนใหญ่เปียกกันมอมแมม กลับมาถึงเมืองเพชรบุรีสักทุ่ม ๑ วันที่ ๒๘ เสด็จประพาสพระนครคิรี ถวายพุ่มพระสงฆ์เข้าพระวษาด้วย วันที่ ๒๙ เช้าเสด็จประพาสวัดต่าง ๆ ในเมืองเพชรบุรี บ่ายวันนี้จะออกกระบวนเรือใหญ่ล่องลงไปประทับแรมที่บ้านแหลม พรุ่งนี้จะออกจากบ้านแหลมเสด็จไปประทับแรมเมืองสมุทรสาคร


นายทรงอานุภาพ


จดหมายฉบับที่ ๖

บ้านปากไห่

วันที่ ๖ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๓


ถึง พ่อประดิษฐ์


พรุ่งนี้ฉันจะกลับถึงบ้านแล้ว วันนี้เขียนจดหมายเล่าเรื่องตามเสด็จให้พ่อประดิษฐ์ฟังเสียอีกฉบับ ถ้ามีเรื่องราวอะไรต่อนี้ไป จะเล่าให้ฟังเมื่อไปพบกับพ่อประดิษฐ์ในกรุงเทพฯ ทีเดียว


ตั้งแต่ฉันจดหมายไปถึงพ่อประดิษฐ์ จากเมืองเพชรบุรี เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม บ่ายวันนั้นออกกระบวนใหญ่ล่องลงมาประทับแรมที่บ้านแหลม ทอดพระเนตรเห็นเรือเป็ดทะเลทอดอยู่ที่นั่นหลายลำ รับสั่งว่าเรือเป็ดทะเลมีประทุนน่าจะสบายดีกว่าเรือฉลอม ใครกราบทูลไม่ทราบว่าเรือเป็ดแล่นใบทะเลเสียดดีกว่าเรือฉลอมด้วย จึงตกลงว่าจะลองเสด็จเรือเป็ดทะเลแล่นใบจากบ้านแหลมตรงมาเข้าปากน้ำท่าจีน เพราะเมืองสมุทรสงครามและคลองสุนัขหอนก็ได้เคยเสด็จประพาสแล้ว ตระเตรียมเรือเป็ดทะเลกัน ๓ ลำ พอเวลาเช้าก็แล่นใบออกจากปากน้ำบ้านแหลม ฉันตามเสด็จมาในเรือลำพระที่นั่ง ตอนเช้าคลื่นราบได้ลมดี ได้เห็นเรือเป็ดทะเลแล่นเสียดรวดเร็วดีกว่าเรือฉลอมจริงดังเขาว่า มาได้สัก ๒ ชั่วโมง พอพ้นปากน้ำแม่กลองมาตรงบ้านโรงกุ้งออก ๆ จะมีคลื่น เรือโยนแรงขึ้นทุกที ๆ มีคนที่ไปตามเสด็จด้วยกันเมาคลื่นลงหลายคน แต่ฉันมั่นใจว่าตัวเองคงไม่เมา เคยไปตามเสด็จทะเลมาถ้าจะนับเที่ยวก็แทบจะไม่ถ้วน ไม่เคยเมาคลื่นกับใครง่าย ๆ แต่อย่างไรวันนี้ดูออกจะสวิงสวายใจคอไม่สู้ปกติ แต่แข็งใจทำหน้าชื่นมาได้สักชั่วโมงหนึ่ง คลื่นเจ้ากรรมก็หนักขึ้น ลงปลายฉันเองก็ล้มขอนกับเขาอีกคนหนึ่ง ข้าวต้มสี่กษัตริย์ห้ากษัตริย์อะไรที่ทรงทำในวันนี้รับพระราชทานไม่ไหว ลงนอนแหมะอยู่หน้าเสาตอนศีรษะเรือ นึกน้อยใจนายมานพ เห็นเพื่อนกันเมาคลื่นชอบแต่ว่าจะหาน้ำหาข้าวมาช่วยหยอด นี่กลับเอากล้องถ่ายรูปกันเล่นเห็นเป็นสนุก แต่จะตอบแทนอย่างไรเราก็เมาคลื่นเต็มทน ต้องนิ่งนอนเฉยจนเรือแล่นใบเข้าปากน้ำท่าจีนจึงลุกโงเงขึ้นได้ หิวเหมือนไส้จะขาด เที่ยวค้นคว้าหาอะไรกิน ได้แต่ข้าวต้มซึ่งทรงพระกรุณาโปรดให้เก็บรักษาไว้พระราชทานชามหนึ่ง นอกจากนั้นจะเป็นลูกหมากรากไม้อะไรไม่มีเหลือ เพราะพวกที่เขาไม่เมาคลื่นว่ากันเสียชั้นหนึ่งแล้ว เหลืออยู่เท่าใดพวกที่หายเมาคลื่นก่อนฉันยังช่วยกันซ้ำเสียหมด เพราะฉันออกมานอนแน่วอยู่ทางหัวเรือ ลุกไม่ทัน ที่ได้กินข้าวต้มชามหนึ่งก็เพราะรับสั่งให้รักษาไว้พระราชทานฉันโดยเฉพาะ ถ้าหาไม่ข้าวต้มชามนั้นก็คงจะพลอยสูญไปด้วย แต่อย่างไรก็ตามเถิด พอเข้าแม่น้ำได้ก็นึกสาปส่งว่า ขึ้นชื่อว่าเรือเป็ดทะเล ถึงจะแล่นใบเสียดดีกว่านี้อีกสักเท่าใด ๆ ก็เห็นจะไม่ยอมไปเรือเป็ดทะเลอีกแล้ว


เสด็จมาถึงท่าจีน พอเวลาบ่ายแวะขึ้นซื้อเสบียงที่ตลาดบ้านท่าฉลอมแล้ว เรือกระบวนใหญ่ยังมาไม่ถึง จึงไปพักทำครัวเย็นที่วัดโกรกกราก ตัวฉันเองยังรู้สึกบอบช้ำเรื่องเมาคลื่นไม่หาย นึกว่าถ้าได้อาบน้ำเสียสักทีเห็นจะสบาย จึงขึ้นไปขออาบน้ำบนกุฏิพระ ไปเห็นตุ่มน้ำตั้งเรียงกันอยู่บนนอกชานเป็นแถวเหมือนที่วัดประดู่ เข้าใจว่าท่านเจ้าของกุฏิคงเป็นพระหมอน้ำมนต์ การก็จริงดังคาด พอฉันไปขออาบน้ำ ท่านก็เข้าใจว่าฉันจะไปขอรดน้ำมนต์ ชี้มือให้ไปนั่งที่ข้างตุ่ม ฉันได้เคยเห็นเยี่ยงอย่างที่วัดประดู่มาแล้ว จึงผลัดผ้าเข้าไปนั่งที่ข้างตุ่ม ทำท่าทางเอาอย่างตาขากปูที่ได้เคยเห็นมาแล้ว ท่านพระก็เอาขันมาตักน้ำเสกเป่ารดน้ำมนต์ให้ ฉันนึก ๆ ในใจว่าน่าจะลองขากปูหรือดิ้นปัด ๆ ถวายพระสักที แต่ก็มายั้งใจเห็นไม่ได้การบาปกรรม และถ้าคนแถวนี้มีคนรู้จักว่าฉันเป็นใครก็เกิดเสียชื่อขึ้นจะเลยเห็นกรรมทันตา แต่น้ำมนต์ของท่านองค์นี้ดีจริง ตั้งแต่รดแล้วรู้สึกโล่งใจหายเมาคลื่นสนิทดีทีเดียว


วันที่ ๓๑ กรกฎาคม เวลาเช้าเสด็จกระบวนต้นออกจากเมืองสมุทรสาครขึ้นไปตามลำน้ำ ไปพักทำครัวเช้าที่วัดบางปลา ส่วนกระบวนเรือใหญ่ ให้ตรงขึ้นไปจอดที่บ้านงิ้วรายแขวงเมืองนครไชยศรี ระยะทางวันนี้ไกลด้วยไม่มีอะไรสนุกด้วย ที่สุดเมื่อเสด็จไปแวะทำครัวเย็นที่วัดตีนท่า ก็เป็นวัดศาลารวนเรจวนจะหักพัง ซ้ำถูกฝนถูกพายุ จนกลางคืนจึงได้ออกเรือแจวคลำขึ้นมามืด ๆ รอดตัวที่ได้น้ำขึ้น แจวตามน้ำขึ้นมาจนใกล้บ้านท่านา พบเรือไฟได้พ่วงต่อขึ้นมาถึงพลับพลาแรมเกือบ ๕ ทุ่ม


วันที่ ๑ สิงหาคม เสด็จรถไฟไปประพาสพระปฐมเจดีย์ ทำครัวเช้าที่ลานพระ เจ้าคุณสุนทรเทศาแกงไก่ดีพอใช้ เพราะไก่พระปฐมเป็นที่เลื่องลืออยู่ด้วย แล้วลงเรือล่องมาประพาสที่พระประโทน มาพบมิวเซียมใหญ่ซึ่งโจษกันว่ามีอยู่นั้น คือท่านสมภารวัดพระประโทนเป็นผู้เก็บรวบรวมสะสมของโบราณที่ขุดได้ในแถวพระปฐมพระประโทนไว้มาก แต่ข่าวว่าเก็บซุกซ่อนมิยอมให้ผู้หนึ่งผู้ใดดูเป็นอันขาด ครั้นเสด็จไปถึง ไปถามถึงเรื่องของเก่า ท่านสมภารก็ยินดีเชิญเสด็จเข้าไปในกุฏิแล้วยกหีบห่อของโบราณที่ได้สะสมไว้มาถวายให้ทอดพระเนตร และยอมให้ทรงเลือกแล้วแต่จะพอพระราชประสงค์ ทรงเลือกได้เครื่องสัมฤทธิ์ของโบราณ คือพระพุทธรูป เป็นต้น ซึ่งเป็นของแปลกดีหลายอย่าง ออกจากพระประโทนมาประทับทำครัวเย็นที่บ้าน ซึ่งพระเวียงไนออกไปตั้งผสมม้าอยู่ที่ธรรมศาลา แล้วเสด็จกลับมาทางเรือถึงบ้านงิ้วรายเวลาสัก ๒ ทุ่ม


วันที่ ๒ สิงหาคม ฉันล่วงหน้าขึ้นมาก่อน ทราบว่าเสด็จแวะประพาสที่คลองภาษี แล้วเสด็จต่อมาถึงสองพี่น้องเวลาค่ำ


ตามกำหนดเดิมกะว่าจะเสด็จถึงสองพี่น้องราวเวลาบ่ายสัก ๒ โมง จะประพาสบ้านสองพี่น้องและบ้านบางลี่ในเย็นวันนั้น รุ่งขึ้นจะออกกระบวนจากสองพี่น้องแต่เช้า ไปประทับแรมที่เมืองสุพรรณทีเดียว แต่เสด็จมาถึงเย็นเวลาไม่พอประพาส จึงต้องกะระยะทางแก้ใหม่ คือวันที่ ๓ เช้าประพาสบ้านสองพี่น้อง จะออกจากสองพี่น้องต่อเวลากลางวัน จะไปถึงเมืองสุพรรณไม่ได้ จะต้องจัดที่ประทับแรมกลางทางระหว่างสองพี่น้องกับเมืองสุพรรณอีกแห่งหนึ่ง รับสั่งให้กรมหลวงดำรงเสด็จไปเลือกและจัดที่สำหรับประทับแรม ฉันถูกมีหน้าที่ไปตามเสด็จกรมหลวงดำรง จึงได้ออกเรือล่วงหน้ามาแต่เช้ามืด กรมหลวงดำรงทรงเลือกเห็นที่วัดบางบัวทองเป็นที่สมควรดี ตกลงจะให้จัดที่ประทับแรมที่หน้าวัดนั้น ฉันออกนึกหนักใจว่าเวลามีเพียงราว ๘ ชั่วโมง ไม้ไล่ผู้คนและเครื่องมือก็ไม่มี จะทำอย่างไรกันจึงจะมีที่ประทับทันเสด็จ ฉันทูลถามกรมหลวงดำรง ท่านรับสั่งว่ามีมากันเท่านี้ ก็ลองดูว่าจะทำได้อย่างไร มีรับสั่งให้เรียกประชุมอำเภอกำนันผู้ใหญ่บ้านพร้อมกัน แล้วรับสั่งว่าวันนี้เจ้านายของเราจะเสด็จมาประทับแรมที่ตรงนี้ เราต้องช่วยกันแผ้วถาง และทำสะพานที่จะจอดเรือพระที่นั่งให้ทันเสด็จ พวกแกและชาวบ้านแถวนี้ยังไม่ได้เคยรับเสด็จเลย และที่ยังไม่ได้เคยเห็นเจ้านายของพวกแกเองก็มีเป็นอันมาก ให้กำนันผู้ใหญ่บ้านไปเที่ยวป่าวร้องราษฎรในแถวนี้มาช่วยกันรับเสด็จพระเจ้าอยู่หัว มีมีดพร้าเครื่องมือให้เอามาด้วย ช่วยกันทำรับเสด็จสักทีจะได้หรือไม่ พวกกำนันผู้ใหญ่บ้านพากันรับอาสาแข็งแรง ต่างคนเที่ยวติดตามเรียกลูกบ้านและหาไม้ไล่มาทำการตามรับสั่ง ใน ๒ ชั่วโมงมีคนมาช่วยทำงานสักสามสี่ร้อย ดูเต็มใจแข็งข้อที่จะทำการรับเสด็จด้วยกันทุกคน แม้แต่พวกผู้หญิงที่ไม่ได้ถูกขอแรงทำงานก็พากันมารับอาสาตั้งเตาหุงข้าวทำครัวเลี้ยงคนงาน ประเดี๋ยวมีคนเอาข้าวมาให้ ประเดี๋ยวมีใครเอาปลามาเติม ตลอดลงไปจนผักหญ้า หมากบุหรี่ก็มีผู้เอามาช่วย กรมหลวงดำรงจะขอใช้เงินค่าเสบียงอาหารให้ก็ไม่มีใครยอมรับ ว่าอยากจะช่วยกันรับเสด็จ พอบ่าย ๔ โมง การแล้วเสร็จเลี้ยงกันเอิกเกริกสนุกสนานราวกับงานไหว้พระอย่างใหญ่ ใครได้เห็นแล้วก็ต้องยินดี ด้วยเห็นแล้วว่าไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินมีความสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าอยู่หัวเพียงไร


ส่วนข้างทางที่เสด็จนั้น ได้ยินว่าเสด็จไปประพาสข้างปลายคลองสองพี่น้อง จะประพาสที่ใดบ้างหาทราบไม่ ได้ความว่านายวงศ์ตะวันไปถูกหมากัด ประพาสคลองสองพี่น้องแล้วเสด็จมาพักทำครัวเย็นที่วัดบางสาม เมื่อทำครัวอยู่นั้นพวกเราใครตกเบ็ดได้ปลาเทโพตัว ๑ ทราบว่าแกงเทโพวันนั้นอร่อยนัก แต่นายอัษฎาวุธเคราะห์ร้าย ไปตกร่องที่วัดบางสามฟกช้ำไปหน่อยหนึ่ง เสด็จมาถึงที่ประทับวัดบางบัวทองเวลาประมาณสัก ๒ ทุ่ม


วันที่ ๔ เวลาเช้าออกกระบวนเรือไฟจูงขึ้นไปได้เพียงบางปลาม้าถึงที่น้ำตื้น ต่อนั้นต้องแจวขึ้นไปจนถึงเมืองสุพรรณบุรี จอดเรือพระที่นั่งประทับที่สุขุมาราม ชื่อสุขุมารามที่เรียกกัน เรียกตามได้ยินรับสั่ง เห็นจะเป็นชื่อพระราชทาน ไม่ได้ยินพวกชาวสุพรรณเขาเรียก ความจริงนั้นที่ตรงนั้นเป็นบ้านเดิมของเจ้าคุณสุขุม ญาติวงศ์ของท่านยังอยู่หลายคนได้พากันมารับเสด็จเฝ้าแหน ดูทรงพระกรุณามาก แต่คำอาราม ๆ เคยได้ยินแต่เป็นชื่อวัด นี่ทำไมจึงเอามาพระราชทานต่อท้ายชื่อบ้านเจ้าคุณสุขัม ข้อนี้ฉันยังตรองไม่เห็น


เสด็จเมืองสุพรรณคราวนี้เป็นที่น่าเสียดายอยู่อย่างหนึ่ง ด้วยไม่ถูกฤดูเหมาะ ในเวลานี้น้ำแม่น้ำยังน้อยจะเที่ยวทางเรือก็ขัดข้อง ส่วนทางบกฝนก็ตกพอแผ่นดินเป็นหล่มเป็นโคลน จะไปไหนก็ยาก เพราะฉะนั้นจึงเสด็จประพาสได้ที่ใกล้ ๆ ในบริเวณเมือง ในวันที่ ๔ นั้นเสด็จไปประพาสเหนือน้ำประทับเสวยที่วัดแค วันที่ ๕ เสด็จทอดพระเนตรที่ว่าการเมืองวัดมหาธาตุ หลักเมือง และวัดป่าเลไลยก์ เวลาบ่ายออกกระบวนล่องลงมาประทับแรมที่บางปลาม้า ถึงยังวันอยู่ จึงทรงเรือพระที่นั่งเล็กล่องลงมาประพาสข้างใต้ ประทับเสวยเย็นที่วัดบางยี่หน


วันที่ ๖ สิงหาคม เวลาเช้าออกเรือเสด็จในกระบวนใหญ่ เรือไฟจูงเข้าคลองบางปลาม้ามาทางคลองจระเข้ใหญ่ เวลากลางวันถึงบ้านผักไห่ จอดเรือประทับแรมที่บ้านหลวงวารี เวลาบ่ายทรงเรือเมล์ของหลวงวารีขึ้นไปประพาสข้างเหนือน้ำ เสด็จกลับมาถึงพลับพลาแรมสัก ๒ ทุ่ม


การเสด็จคราวนี้เป็นที่เรียบร้อย มีความสุขสบายทั่วกัน คือพระเจ้าอยู่หัวโดยเฉพาะเวลานี้ นับว่าทรงสบายหายประชวรเป็นปกติแล้วได้


นายทรงอานุภาพ

จดหมายฉบับที่ ๗

บ้านถนนเจริญกรุง

วันที่ ๑๐ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๓


ถึง พ่อประดิษฐ์


ฉันตามเสด็จกลับมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ต่อมาอีกสองวันฉันก็จะไปที่บ้านพ่อประดิษฐ์ หมายว่าจะไปเยี่ยมเยียนถามข่าวคราว คนที่บ้านบอกว่าพ่อประดิษฐ์ออกไปเมืองสงขลาเสียแต่เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม และไม่ทราบกำหนดว่าจะกลับเมื่อใดแน่ ฉันเสียดายที่มาแคล้วคลาดกับพ่อประดิษฐ์เสียดังนี้ เมื่อกำลังไปตามเสด็จ ฉันได้มีจดหมายมาถึงพ่อประดิษฐ์หลายฉบับ พ่อประดิษฐ์จะได้รับทั้งหมด หรือพลัดพรายหายสูญไปเสียบ้างก็ไม่ทราบ ฉันได้บอกมาในจดหมายฉบับหลังที่ส่งมาจากบ้างผักไห่ว่า ถ้ามีข่าวคราวในการเสด็จต่อมาอย่างใด จะไว้มาเล่าให้ฟังเมื่อถึงบ้าน มาไม่พบกันเสียเช่นนี้ ยังมีข่าวคราวอีกเล็กน้อย จึงบอกมาให้ทราบในจดหมายฉบับนี้


วันที่ ๗ สิงหาคม กำหนดระยะทางเสด็จตามที่กะไว้ในวันนั้น กระบวนเรือใหญ่จะล่องลงมาทางบ้านเจ้าเจ็ดและบางไทร ไปรอเสด็จที่บางปะอิน แต่พระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จกระบวนต้นแยกขึ้นทางบางโผงเผง เข้าคลองบ้านกุ่มมาออกภูเขาทอง ล่องมาบรรจบกระบวนใหญ่ที่บางปะอิน แต่ไปเกิดเข้าใจผิดกันด้วยเหตุใดไม่ทราบ พวกหัวเมืองเข้าใจว่ากระบวนเรือใหญ่จะแยกขึ้นทางบางโผงเผง แล้วไปล่องลงทางลำน้ำสีกุก พวกนำร่องนำเรือกระบวนใหญ่ไปทางบางโผงเผง เรือกระบวนต้นตามมาภายหลังติดกระบวนใหญ่ ถูกทั้งคลื่นและเครื่องบูชาชยันโตรับเสด็จทั้งสองฟาก เป็นเหตุให้ลำบากและขัดข้องแก่การประพาสเป็นอันมาก จะรีบไปก็จะเข้าไปถูกคลื่นอยู่ระวางกลางกระบวนใหญ่ จึงจำเป็นต้องรอเรือลากตุบ ๆ ตามมา จะหาที่แวะทำครัวเช้าที่วัดวาแห่งไร พระก็ลงมานั่งสวดชยันโตตั้งเครื่องบูชาเสียทุกวัด แต่เสาะแสวงหาที่ทำครัวมาจนหิวอ่อน จึงมาพบบ้านแห่งหนึ่งที่บางหลวงอ้ายเอียง ดูท่าทางชอบกล มีสะพานและโรงยาวอยู่ริมน้ำหน้าเรือนฝากระดานเจ้าของบ้าน เห็นจะอาศัยทำครัวเลี้ยงกันที่นั้นได้ จึงแวะเรือเข้าไปไต่ถาม ได้ความว่าเป็นบ้านกำนัน แต่ตัวกำนันไปค้าข้าว อยู่แต่นายช้าง อำแดงพลับ พ่อตาแม่ยาย ออกมาต้อนรับแข็งแรง ตัวนางพลับเองมาช่วยทำครัวด้วย


ดูท่าทางนายช้างจะรู้จักผู้ลากมากดีกว้างขวาง พอเห็นพวกเราก็ไม่ต้องไต่ถามว่าใครเป็นใคร เข้าใจเอาทีเดียวว่าเราเป็นพวกขุนนางที่ตามเสด็จมาข้างหลัง บอกว่าเสด็จไปเมื่อสักครู่นี้เอง เชิญให้พวกเราเข้าไปนั่งบนแคร่ในโรงยาว หาน้ำร้อนน้ำชามาตั้ง แล้วเข้าไปนั่งเคียงไหล่สนทนากับพระเจ้าอยู่หัว มิได้มีความรู้สึกสงสัย ที่เราคาดว่าแกกว้างขวางทางรู้จักผู้ลากมากดี ก็สมดังถ้วยคำที่แกเล่า ว่าแกได้ลงไปบางกอกบ่อย ๆ และบุตรชายของแกก็บวชเป็นเณรอยู่ที่วัดเบญจมบพิตร แกรู้จักขุนน้ำขุนนางมาก ถึงพระเจ้าอยู่หัวแกก็เคยเฝ้า มีใครสอดเข้าไปตรงนี้ว่า แกจำพระเจ้าอยู่หัวได้หรือไม่ แกกลับขู่เอาว่าทำไมจะจำไม่ได้เคยเฝ้าแล้ว และพระรูปก็ยังมีติดอยู่บนเรือน เลยชวนพวกเราขึ้นไปบนเรือน ไปนั่งคุยที่หอนั่งอีกพักหนึ่ง ประเดี๋ยวได้ยินเสียงยายพลับเอะอะขึ้นในครัว ได้ความว่าแกเอ็ดหมื่นสรรพกิจเรื่องชิมแกง แกว่าเป็นผู้ลากมากดีทำไมชิมแกงด้วยจวัก เขาถือกันไม่รู้หรือ เลยเฮกันใหญ่ การทำครัวที่บ้านนายช้างวันนี้สนุกยิ่งกว่าที่ได้เคยทำมาในที่อื่น ๆ ด้วยเจ้าของบ้านทั้งผัวเมียรับรองแข็งขอบ มิได้มีความสงสัยว่าผู้ใดเป็นใครเลย เมื่อเลี้ยงดูกันเสร็จแล้วนายช้างปรารภว่า อยากจะได้ปืนเมาเซอร์สักกระบอกหนึ่ง เขาว่าจะสั่งเสียซื้อหาต้องขออนุญาต แกไม่รู้จะไปขออนุญาตที่ไหนขอให้คุณ (คือพระเจ้าอยู่หัว) ช่วยเป็นธุระหาซื้อให้แกสักที ส่วนเงินทองราคาปืนจะสิ้นยังเท่าใดไม่เป็นไร แกจะคิดให้ให้เต็มราคาอย่าวิตกเลย "คุณ" ก็ยินดีรับเป็นธุระที่จะให้นายช้างได้ปืนเมาเซอร์ดังประสงค์ เมื่อก่อนจะออกเรือจากบ้านนายช้างพระราชทานกระดาษธนบัตรซองหนึ่ง ดูเหมือนเป็นเงินสักสามสี่ร้อยบาทตอบแทนที่นายช้างรับเสด็จ บางทีนายช้างจะรู้ได้ว่าใครเมื่อตรวจธนบัตรดู รู้ว่าจำนวนเงินมากผิดปกติที่ผู้อื่นจะให้ในการเช่นนี้


เมื่อเสด็จประพาสบ้านนายช้างใคร ๆ สนุกหมดเว้นแต่พระยาโบราณผู้แทนเทศากรุงเก่า ซึ่งไปในท้ายเรือพระที่นั่งถูกบังคับให้ซ่อนตัวอยู่ในประทุน เพราะคนแถวนั้นรู้จัก ต้องส่งข้าวส่งน้ำพระยาโบราณเหมือนกับคนโทษ ต่อเรือออกแล้วพ้นทุกข์ เสด็จมาถึงบางปะอินเวลาบ่าย ๕ โมง ทรงรถไฟพิเศษกลับกรุงเทพฯ ในวันนั้น เป็นจบเรื่องระยะมทางเสด็จประพาสต้นแต่เท่านี้


นายทรงอานุภาพ


ป.ล. เสด็จกลับมาถึงกรุงเทพฯ แล้ว รุ่งขึ้นนายช้างกับยายพลับพาลูกหลานลงมาเกือบหมดครัว แกเที่ยวสืบถาม เมื่อได้ความว่าใครได้ไปตามเสด็จที่บ้านแกบ้าง ก็เที่ยวไปกราบไหว้ขอขมาไม่เลือกหน้า ดูจนน่าสงสาร ฉันถามแกว่าทำไมจึงได้รู้ว่าพระเจ้าอยู่หัว แกบอกพอเสด็จแล้วพวกเพื่อนเขาพากันมาถามข่าว มีผู้ที่จำพระเจ้าอยู่หัวได้มาบอกยืนยันว่าพระเจ้าอยู่หัวแน่ แกเห็นสมด้วยเงินที่พระราชทานถึง ๔๐๐ บาท เกินกว่าผู้ใดนอกจากพระเจ้าอยู่หัวจะพระราชทาน ก็ยิ่งตกใจจึงรีบจัดเรือพาลูกหลานล่องลงมากรุงเทพฯ ในวันรุ่งขึ้น แกยังไปกราบทูลวิงวอนเจ้านายที่ตามเสด็จขอให้พาเข้าเฝ้าจะไปกราบทูลขอขมาพระเจ้าอยู่หัวด้วย แต่จะได้เฝ้าแล้วหรือยังฉันยังไม่ทราบ


ท.อ.

จดหมายฉบับที่ ๘

บ้านถนนเจริญกรุง กรุงเทพฯ

วันที่ ๒๓ ตุลาคม ร.ศ. ๑๓๑


ถึง พ่อประดิษฐ์


ด้วยเมื่อศก ๑๒๓ ฉันไปตามเสด็จประพาสต้น ได้มีจดหมายเล่าเรื่องประพาสต้นครั้งนั้นไปยังพ่อประดิษฐ์เป็นจดหมาย ๗ ฉบับ จดหมายเรื่องนี้ได้ลงพิมพ์ในหนังสือทวีปัญญารายเดือน ตั้งแต่เดือนเมษายน ร.ศ. ๑๒๕ เดือนละฉบับจนจบเรื่อง บัดนี้คิดจะรวมจดหมายเรื่องประพาสต้นเข้าพิมพ์เป็นเล่มเดียวกัน ฉันเที่ยวหาต้นฉบับครั้งที่ลงในหนังสือพิมพ์ทวีปัญญาและที่มีต้นร่างอยู่ รวบรวมได้จดหมายแต่ ๖ ฉบับ ขาดจดหมายฉบับที่ ๓ ตอนเสด็จประพาสเมืองราชบุรี หาต้นฉบับไม่ได้ จึงต้องมีจดหมายฉบับนี้มายังพ่อประดิษฐ์ ขอให้ช่วยค้นต้นจดหมายเหล่านั้น ถ้ายังมีอยู่ที่พ่อประดิษฐ์ ขอจงสงเคราะห์คัดสำเนาจดหมายฉบับที่ ๓ ทิ้งไปรษณีย์ส่งมาให้ด้วย ถ้าได้สำเนามาดังประสงค์ ฉันจะขอบคุณพ่อประดิษฐ์เป็นอันมาก


บางทีพ่อประดิษฐ์ได้เห็นจดหมายฉบับนี้ จะนึกฉงนว่าจดหมายเรื่องประพาสต้นก็ได้ลงพิมพ์เป็น ๕ -๖ ปีมาแล้ว เหตุใดจึงพึ่งจะมาคิดรวมเป็นเล่มเมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จสวรรคตล่วงไปแล้ว คำอธิบายในข้อนี้ขอชี้แจงว่าเมื่อพิมพ์เรื่องประพาสต้นลงในหนังสือทวีปัญญารายเดือน ผู้อ่านโดยเฉพาะผู้ที่ได้ตามเสด็จไปด้วยในคราวนั้น พากันชอบว่าเป็นหนังสืออ่านสนุกดี มีผู้อยากจะให้พิมพ์รวมเป็นเล่มแต่ครั้งนั้นแล้ว เพราะเรื่องเสด็จประพาสต้นเป็นเรื่องที่สำหรับเล่ากันเล่นอยู่เรื่องหนึ่ง แต่ฉันไม่เห็นสาระพอถึงแก่ควรจะพิมพ์ใหม่จึงได้เพิกเฉยเลยมา ครั้นเมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จสวรรคตแล้ว เรื่องราวต่างๆในรัชกาลที่ ๕ กลายเป็นเรื่องเก่า "เมื่อกระนั้น" สำหรับชอบเล่าชอบคุยกัน เรื่องประพาสต้นนี้เป็นเรื่องหนึ่งซึ่งกลับเป็นเรื่องชอบเล่ากันขึ้น มีเพื่อนฝูงชักชวนให้พิมพ์รวมเป็นเรื่องขึ้นใหม่มากกว่าแต่ก่อน ฉันใคร่ควรดูมาคิดเห็นว่า เรื่องประพาสต้น แม้จดหมายเดิมแต่งเป็นเรื่องสำหรับอ่านเล่นสนุก ๆ ก็จริงอยู่ แต่ถ้าได้อ่านในเวลานี้โดยตั้งใจใคร่ครวญก็อาจจะแลเห็นความกว้างขวางออกไป เป็นต้นว่าเหตุใดสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจึงเป็นที่รักใคร่ของอาณาประชาราษฎรทั่วหน้า สมกับที่ได้ถวายพระนามจารึกไว้ในฐานพระบรมรูปทรงม้าว่า "ปิยมหาราชาธิราช" ที่จริงพระองค์ทรงรักใคร่ในไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเหมือนกับบิดารักบุตร พอพระราชหฤทัยที่จะคุ้นเคยคบหาและถึงเล่นหัวกับอาณาประชาราษฎรโดยมิได้ถือพระองค์ ยกตัวอย่างดังจะเห็นได้ในเรื่องประพาสต้นนี้เป็นพยาน การที่พระองค์ทรงสมาคมกับราษฎร ไม่ใช่สักแต่ว่าเพียงจะรู้จักหรือสนทนาปราศรัยให้คุ้นเคยกันเท่านั้น ย่อมทรงเป็นพระราชธุระไต่ถามถึงความทุกข์สุข และความเดือดร้อนที่ได้รับจากผู้ปกครองอย่างใด ๆ บ้างทุกโอกาส ผู้ที่เคยตามเสด็จย่อมเคยได้ยินและทราบความอันนี้ ฉันได้เคยเห็นบางทีราษฎรกราบทูลร้องทุกข์เป็นข้อความซึ่งทรงพระราชดำริเห็นว่าเป็นความทุกข์ร้อนจริง ทรงรับธุระมาต่อว่า ทำเอาเจ้าหน้าที่ตั้งแต่เสนาบดีลงมาได้ความรำคาญใจหลายคราว บางทีถึงต้องผลัดเปลี่ยนพนักงานปกครองก็มีบ้าง เป็นเหตุให้การเสด็จประพาสเป็นคุณเป็นประโยชน์แก่ความสุขสำราญของราษฎร ได้อีกเป็นอันมาก ใช่แต่เท่านั้น บรรดาราษฎรที่ได้เสด็จไปทรงคุ้นเคยในเวลาเสด็จประพาสพระองค์มิได้ทรงละลืม ในเวลาต่อมาเมื่อคนเหล่านั้นเข้ามาถึงกรุงเทพฯ จะเข้าเฝ้าแหนก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานโอกาสให้เข้าเฝ้าได้ตามความปรารถนา บางทีถึงรับสั่งให้เข้าไปรับพระราชทานเลี้ยงในพระราชวัง รับสั่งเรียกพวกที่คุ้นเคยเหล่านี้ว่า "เพื่อนต้น" มีอยู่ทั้งชายหญิงแทบทุกหัวเมืองที่ได้เสด็จประพาส เมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรป ร.ศ. ๑๒๖ ได้ทรงหาของฝากมีไม้เท้าเป็นต้น เข้ามาฝากพวกเพื่อนต้น เมื่อพวกเหล่านั้นได้ข่าวว่าเสด็จกลับเข้ามาเฝ้าเยี่ยมก็ได้พระราชทานของฝาก ไม้เท้าพระราชทานเลยเป็นเครื่องยศสำหรับพวกเพื่อนต้นถือเข้าเฝ้า ทั้งเวลาเข้ามาเฝ้าในกรุงเทพฯ และเฝ้าตามหัวเมืองเวลาเสด็จประพาสไม่ว่าที่ใด ๆ เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันนี้ทรงเคารพต่อพระราชนิยมของสมเด็จพระบรมชนกนาถ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พวกเพื่อนต้นเข้ามาทำบุญให้ทานในงานพระบรมศพ และถวายพระเพลิงเหมือนกับเป็นข้าราชการ และยังพระราชทานเครื่องประดับไม้เท้าสลักอักษรพระนาม จ.ป.ร. ให้ติดไว้เป็นที่ระลึก ทั้งพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เฝ้าแหนเพ็ดทูลพระองค์ได้ต่อไปเหมือนกับเมื่อครั้งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทุกประการ ส่วนราษฎรซึ่งพระองค์ได้ทรงคุ้นเคยมาในเวลาเสด็จประพาสแต่ยังเสด็จดำรงพระเกียรติยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ก็ได้รับพระราชทานไม้เท้าและพระบรมราชานุญาตเหมือนกับพวกเพื่อนต้นในรัชกาลก่อน มีจำนวนเพื่อนต้นเพิ่มเติมขึ้นในรัชกาลนี้อีกหลายคน ฉันเข้าใจว่าธรรมเนียมประพาสต้นและเพื่อนต้นจะยังมีต่อไปในรัชกาลนี้เหมือนกับรัชกาลที่ล่วงแล้ว


ตั้งแต่เสด็จประพาสต้นคราวศก ๑๒๓ แล้ว สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงยังเสด็จประพาสทำนองเดียวกันอีกหลายคราว บางทีเสด็จประพาสในจังหวัดกรุงเทพฯ นี้เองบ้าง ประพาสตามมณฑลหัวเมืองบ้าง ครั้งหนึ่งใน ร.ศ. ๑๒๕ เสด็จขึ้นไปประพาสเมืองสระบุรี แล้วขึ้นทางลำแม่น้ำใหญ่ไปจนถึงเมืองกำแพงเพชร คราวนี้ก็สนุกพอใช้ แต่พ่อประดิษฐ์ออกไปอยู่เสียหัวเมือง ฉันจึงไม่ได้จดหมายราชการบอกไปให้ทราบ อีกคราวหนึ่งใน ร.ศ. ๑๒๗ เสด็จประพาสเมืองนครสวรรค์ ขากลับล่องลงทางคลองมะขามเฒ่ามาเมืองสุพรรณบุรี บ้านผักไห่ อ่างทอง แล้วเสด็จกลับทางบางแล้วเข้ากรุงเก่า อีกคราวหนึ่งในศกเดียวกันนั้น เสด็จทางคลองรังสิตไปประพาสถึงเมืองปราจีน แล้วกลับออกทะเลมาเข้าปากน้ำเจ้าพระยา แต่ประพาสคราวหลัง ๆ นี้ ความขบขันน้อยไปกว่าคราวแรก ๆ ด้วยเหตุ ๒ ประการ คือราษฎรรู้เสียมากว่าพระเจ้าอยู่หัวโปรดเสด็จอย่างคนสามัญ ถ้าเห็นใครแปลกหน้าเป็นผู้ดีชาวบางกอก ก็ชวนจะเข้าใจไปเสียว่าพระเจ้าอยู่หัว บางทีมหาดเล็กเด็กชาพากันไปเที่ยว ไปถูกราษฎรรับเสด็จเป็นพระเจ้าอยู่หัวก็มี เพราะฉะนั้นในตอนหลังจะหาใครไม่รู้จักพระองค์สนิทอย่างนายช้าง ยายพลับ ไม่มีอีก อีกประการหนึ่งตั้งแต่เสด็จกลับจากยุโรปคราวหลัง มีเรือยนต์เข้ามาใช้ในกระบวนเสด็จ เสด็จประพาสด้วยเรือยนต์เสียมาก เมื่อเสด็จประพาสด้วยเรือยนต์แล้วก็ต้องเป็นอันรู้ว่าพระเจ้าอยู่หัวอยู่เอง จึงไม่ใคร่มีเรื่องขบขันอย่างคราวแรก


วันนี้เป็นวันทำบุญถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ในวันตรงกับวันสวรรคตครบ ๒ ขวบปี ดูคนในกรุงเทพฯ ตั้งแต่เจ้านายตลอดลงมาจนราษฎร ทำบุญให้ทานกันมาก ที่สำคัญนั้นฉันเห็นว่าที่พากันถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้าที่หน้าพระลานไม่ว่าใครต่อใคร ดูผู้คนล้นหลามตั้งแต่เช้าจนกลางคืน เห็นจะเป็นธรรมเนียมปีดังนี้เสมอไป ที่จริงพระบรมรูปทรงม้าองค์นี้ควรนับว่าเป็นของวิเศษได้ ไม่เฉพาะแต่ที่เป็นของงดงามสง่าพระนคร หรือเป็นพระบรมรูปสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเท่านั้น ถ้าผู้รู้เรื่องราวของพระบรมรูปนี้ว่าเป็นของชาวสยามทุกชั้นบรรดาศักดิ์ทั่วทุกหนแห่งได้เข้าเรี่ยรายตามกำลังและใจสมัคร อย่างต่ำคนละ ๑๐ สตางค์ก็มี สร้างขึ้นด้วยความรักใคร่เป็นใจเดียวกันถวายสมโภชสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รวมเงินได้กว่า ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท เกินราคาพระบรมรูปนี้สัก ๕ เท่า ใช่แต่เท่านั้น พระบรมรูปนี้ได้แล้วสำเร็จทันถวายพระองค์ ได้ทรงอนุโมทนาประจักษ์แก่พระราชหฤทัย ว่าความรักใคร่สวามิภักดิ์ของคนทั้งหลายมีมากมายกว้างขวางทั่วไปเพียงไร ผู้ใดรู้เรื่องที่กล่าวมานี้ ก็จะเข้าใจได้ว่าพระบรมรูปทรงม้านี้ผิดกับอนุสาวรีย์หรือวัดวาที่จะสร้างถวายเฉลิมพระเกียรติยศเมื่อพระองค์ล่วงลับไปเสียแล้วอันจะเป็นที่ระลึกและปรากฏแต่แก่ผู้อื่น แต่ส่วนพระองค์เองมิได้ทันทอดพระเนตรเห็น ฉันได้ไปถวายบังคมพระบรมรูปแล้วกลับมาก็เขียนจดหมายฉบับนี้ มาเกิดนึกขึ้นว่าบางทีการพิมพ์หนังสือเรื่องประพาสต้นครั้งนี้จะมีส่วนกุศลบ้างกระมัง เพราะเหตุที่จะให้ผู้อ่านเจริญความระลึกถึงในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ถ้าจะมีส่วนกุศลเพียงไรในการพิมพ์หนังสือเรื่องนี้ ฉันตั้งใจอุทิศส่วนกุศลนั้นถวายสนองพระเดชพระคุณแด่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตามสติกำลัง ขอให้พ่อประดิษฐ์จงอนุโมทนาด้วยเทอญ ฯ


นายทรงอานุภาพ

เชิงอรรถ

ที่มา

เสด็จประพาสต้น กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ พิมพ์ครั้งที่ ๙ พ.ศ. ๒๕๓๕

เครื่องมือส่วนตัว