เจอคนถามหาบ่อยๆเรื่องที่มาของ สามก๊ก ก็เลยเรียบเรียงมาไว้ที่นี่ครับ
สามก๊กเป็นเรื่องราวของประวัติศาสตร์จีนในช่วงหลังราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ที่กษัตริย์อ่อนแอ เกิดจลาจลแย่งกันเป็นใหญ่จนแผ่นดินแตกแยกเป็นสามก๊ก กินเวลาราว ค.ศ.190-280
ที่มาของเรื่องราวในสามก๊กนั้นเริ่มมาจาก ซานกั๋วจื้อ (จดหมายเหตุสามก๊ก) ซึ่งเขียนโดยเฉินโซ่ว(ตันซิ่ว ในสำเนียงแต้จิ๋ว)หลังจากที่วุยก๊ก(ก๊กโจโฉ-ในยุคของสุมาเอี๋ยน)ตีจ๊กก๊ก(ก๊กเล่าปี่-ยุคพระเจ้าเล่าเสี้ยน(อาเต๊า))แตกได้ไม่นาน เฉินโซ่วเองเป็นชาวจ๊กก๊ก บิดาของเฉินโซ่วอยู่ในทีมกุนซือของม้าเจ๊ก และต้องรับโทษไปกับมาเจ๊กในคราวเสียด่านเกเต๋ง ชีวิตราชการของเฉินโซ่วในจ๊กก๊กก็เลยพลอยไม่รุ่งไปด้วย หลังจากจ๊กก๊กเสียให้แก่วุยก๊กแล้วเฉินโซ่วจึงย้ายไปรับราชการกับวุยก๊กที่เมืองหลวงลกเอี๋ยง(ลั่วหยาง ในสำเนียงจีนกลาง) และก็เขียนจดหมายเหตุนี้ขึ้นมาหลังจากเหตุการณ์เพียง 40 ปี
จนในสมัยราชวงศ์หยวน(มงโกล) มีบทประพันธ์เรื่องหนึ่งในชื่อ ซานกั๋วจื้อผิงฮั่ว (เล่าเรื่องจดหมายเหตุสามก๊ก) โดยขยายความและวิพากษ์ ซานกั๋วจื้อ ของเฉินโซ่ว (ไม่ทราบผู้แต่ง)
ปลายราชวงศ์หยวน หลอกว้านจง(ค.ศ.1330-1400) รวบรวมข้อมูลแต่งนิยายขึ้นมาในชื่อ ซานกั๋วจื้อทงสู่เหยียนอี้ นิยายเรื่องนี้เองคือต้นกำเนิดของ"สามก๊ก"ที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน
นิยายของหลอกว้านจงเป็นที่นิยมต่อมาราว 300 ปี จนถึงต้นยุคราชวงศ์ชิง(แมนจู) จึงมีนักศึกษานามว่า เหมาจ้งกัง นำเรื่องของหลอกว้านจงมาปรับปรุงใหม่ แก้ไขสำนวน(มองว่าของเก่าโบราณ) แก้ไขเนื้อเรื่องบางตอน แบ่งบทใหม่ เขียนบทกวีนำบทและแทรกในตอนสำคัญๆ ว่ากันว่าเล่าปี่มาเป็นพระเอกก็ยุคนี้เอง เพราะเหมาจ้งกังเป็นนักศึกษาที่ศรัทธากับระบบสืบสันตติวงศ์มาก เล่าปี่ที่เป็นเชื้อเจ้าก็เลยเป็นผู้ชอบธรรม ในขณะที่โจโฉผู้ยึดฮ่องเต้เอาไว้ในมือจึงกลายเป็นผู้ร้ายในสายตาเหมาจ้งกังไป นิยายของเหมาจ้งกังนี้ใช้ชื่อว่า ซานกั๋วเหยี่ยนอี้ และซานกั๋วเหยี่ยนอี้นี้แหละที่ฮิตระเบิดเถิดเทิง สำนวนภาษาถูกอกถูกใจคนรุ่นใหม่(ยุคกรุงศรีอยุธยา) จนแพร่หลายมาถึงปัจจุบัน ซึ่งถึงแม้ว่าจะนิยมเรียกกันว่าเป็น สามก๊ก ของ หลอกว้านจง แต่ก็เป็นฉบับปรับปรุงใหม่โดยเหมาจ้งกังคนนี้แหละครับ
ในยุค ร.1 พระองค์ทรงสนับสนุนให้มีการแปลหนังสือที่เป็นประโยชน์ในเชิงอุบายกลศึกต่างๆ ซึ่งแน่นอน สามก๊ก เป็นโปรเจ็คสำคัญโปรเจ็คหนึ่งที่ดำเนินการโดยพระยาพระคลัง(หน) สามก๊กฉบับพระยาพระคลัง(หน) นี้ไม่น่าจะเรียกว่าเป็นหนังสือแปล เพราะเข้าข่าย localize มากกว่า เพราะมีการปรับแต่ง เพิ่มเติม ตัดออก ดัดแปลงเนื้อเรื่องและรายละเอียดหลายตอนให้เข้ากับสภาพวัฒนธรรมและการเมืองยุคต้นรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ชื่อเรียกสถานที่ ตัวละครต่างๆก็ค่อนข้างแปลกประหลาดเพราะว่ามีการแปลต่อๆกันผ่านสำเนียงจีนหลายสำเนียง ทำให้ผิดเพียนไปมาก กระนั้นก็ตาม สามก๊ก ก็เป็นวรรณกรรมที่ทรงคุณค่าที่สุดเรื่องหนึ่งของยุครัตนโกสินทร์เลยทีเดียว
ในยุคปัจจุบันมีสามก๊กหลายฉบับหลายสำนวนออกมาให้เลือกอ่านกัน โดยเฉพาะมีฉบับเต็มที่แปลโดยตรงจากภาษาจีนโดยผู้มีความรู้ภาษาจีนเป็นอย่างดีโดยตรง กระนั้นก็ตามชื่อเรียงสถานที่หรือตัวละครยังคงต้องยึดหรือกำกับชื่อจากฉบับพระยาพระคลัง(หน) ไว้ด้วย ก็ถ้าไม่บอกแล้วใครจะรู้ล่ะครับว่า "เฉาเชา" กับ "โจโฉ" น่ะคนเดียวกัน

หวังว่าคงเป็นประโยชน์บ้างนะครับ
เรียบเรียงบางส่วนจากบทความของคุณทองแถม นาถจำนง โดยไม่ได้ขออนุญาตเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาครับ