เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 3946 งานแปลทางด้านวรรณกรรม
ดร.แพรมน และ นายตะวัน
บุคคลทั่วไป
 เมื่อ 07 มี.ค. 02, 21:43

สัปดาห์นี้มาฟังคุณเทาชมพู พูดถึงวิธีการแปลการเลือกเรื่องแปลให้ดี กันนะเจ้าคะ

  งานแปลทางด้านวรรณกรรม
ขั้นตอนการเลือกการแปลวรรณกรรม



   
หลังจากได้อ่านวรรณกรรมอังกฤษและอเมริกันมาเป็นเวลาหลายปี และเริ่มแปลหนังสือ ด้วยมีจุดมุ่งหมายที่จะแปลวรรณกรรมสำคัญบางเรื่องของตะวันตกเพื่อประโยชน์ในการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษา
   
อย่างไรก็ตาม เมื่อลงมือแปลจริงๆแล้ว กลับพบว่าไม่ใช่ของง่ายที่จะถ่ายทอดภาษาวรรณกรรมเหล่านั้นได้ตรงกับความเข้าใจ เพราะขั้นตอนของการอ่าน กับ ขั้นตอนของการถ่ายทอด เป็นทักษะคนละชนิดกัน คนที่อ่านภาษาอังกฤษได้เข้าใจดี ไม่ได้หมายความว่าจะถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาไทยได้ดี ทั้งนี้เพราะขาดบางอย่าง ซึ่งบางคนเรียกว่า “ฝีมือ” บางคนเรียกว่า “ศิลป” และบางคนก็อาจจะเรียกว่า “ทักษะ” หรือ “ความชำนาญ”
   
เมื่ออ่านเรื่องแปลของนักแปลคนใดก็ตาม นอกเหนือจากการอ่านเอาเนื้อความในเรื่องอย่างคนอ่านทั่วๆไปแล้ว จึงสังเกตวิธีการใช้ภาษาไทย ในโครงสร้างของประโยค หรือความหมายของคำควบคู่ไปด้วยเสมอ ดังนั้น จึงมักพบบ่อยๆว่า ผู้แปลบางคนมีความรู้ความเข้าใจภาษาต่างประเทศอยู่ในชั้นดี อย่างน้อยก็แปลความหมายจากต้นฉบับได้ไม่ผิด แต่มักจะถอดภาษาต่างประเทศออกมาเป็นไทยให้สะดุดความรู้สึกอยู่เสมอ

   
เธอถูกยกย่องว่าเป็นคนเก่งที่สุดในห้องเรียน
   
ศพของอดีตประธานาธิบดีได้รับการยกออกไปฝัง ณ สุสาน
   
“ไม่จริง”  เธอพูด  “คุณพูดเช่นนี้ได้อย่างไร มันเป็นการโกหกมดเท็จล้วนๆ
   
พระเจ้า”  หญิงชราครวญครางอย่างเศร้าเสียใจ
   
“โอ้ ซูซาน แม่ดีใจเหลือเกินที่ได้พบหน้าลูก เหตุใดลูกจึงไม่เขียนถึงแม่”
   
สิ่งที่ประหลาดก็คือ คนส่วนมากเดินไปเดินมา แต่ชายผู้นี้กลับยืนจ้องมองสารวัตร นั่นคือบุคคลที่ต้องสงสัยนั่นเอง

   
ความรู้สึกสะดุดเช่นนี้ ทำให้ต้องหยุดจุดมุ่งหมายสูงสุดเอาไว้ก่อนและหาทางออก ด้วยการเริ่มการแปลหนังสือเป็นขั้นตอน ด้วยการเริ่มจาก เรื่องง่าย ไปหายากขึ้นเป็นลำดับ จนกระทั่งบรรลุถึงเป้าหมายในที่สุด
   
การเริ่มแปลวรรณกรรมประเภทนวนิยายเป็นครั้งแรกนั้น
   
๑. เลือกนิยายรักที่เห็นว่าอ่านง่ายที่สุด และมีเนื้อเรื่องที่ไม่ต้องอาศัยการค้นคว้าตีความมากมายใดๆ ได้แก่ นวนิยายของ Barbara Cartland นักประพันธ์ชาวอังกฤษผู้มีผลงานจำหน่ายมากเป็นอันดับหนึ่งของโลกติดต่อกันหลายปี และนวนิยายของสำนักพิมพ์ Mills&Boon ซึ่งแบ่งออกเป็นหลายประเภท เช่นเรื่องรัก (Romance) เรื่องรักอิงประวัติศาสตร์ (Historical Romance)
   
การเลือกเรื่องที่ใช้ภาษาง่าย เป็นประโยชน์แก่นักแปลสองประการคือ
   
๑.๑ เกิดความมั่นใจ สบายใจและไม่เกร็งกับงานที่แปล เพราะรู้ว่าไม่ยากเกินความเข้าใจ
   
๑.๒ ภาษาที่ง่ายเช่นนี้เป็นภาษาในชีวิตประจำวัน ย่อมมีปะปนอยู่ทั่วไปในหนังสือทุกประเภทแม้แต่ในวรรณกรรมเอกของโลก จึงเท่ากับเป็นการวางพื้นฐานให้ตนเองในการแปลหนังสือก่อนจะเขยิบขึ้นสู่แปลหนังสือที่ยากขึ้นเป็นลำดับ โดยไม่ก้าวกระโดดจนเสียหลัก
   
๒. เมื่อแปลเรื่องที่ใช้ภาษาง่ายได้สักระยะหนึ่ง ก็จะมั่นใจพอที่จะเขยิบขึ้นไปสู่หนังสือที่ค่อยๆยากขึ้นกว่านี้
   
ในระดับแรก เรื่องรักของ Barbara Cartland และ Romance ของ Mills&Boon ก็ไม่ต้องอาศัยการค้นคว้าประกอบ แต่เมื่อเขยิบขึ้นมาถึงขั้นที่สอง คือ Historical Romance จะต้องค้นคว้าประกอบ มิฉะนั้นคนไทยที่ไม่คุ้นเคยกับประวัติศาสตร์ของอังกฤษ จะเกิดความงุนงง สับสน ไม่รู้ว่าตัวละครและเหตุการณ์ที่เอ่ยถึงในเรื่อง มาจากประวัติศาสตร์ตอนใด ดังนั้นจึงต้องเขียนไว้ในตอนนำของเรื่อง และในเชิงอรรถแต่ละตอน
   
๓. เข้าสู่หนังสือระดับยากกว่านี้ ประเภท best seller หรือหนังสือสูงกว่าระดับ “ตลาด” ทั่วไป เป็นหนังสือที่อยู่ในสายตาของนักวิจารณ์
   
หนังสือประเภทนี้ มักจะแฝงด้วยข้อคิด สำนวนโวหารเฉพาะตัว การอ้างอิงถึงวรรณคดีเรื่องอื่น (allusion) โดยไม่บอกรายละเอียด นัยระหว่างบรรทัด เงื่อนปมต่างๆ (ในกรณีที่เป็นเรื่องนักสืบระดับดี) อารมณ์ขันลึกๆ (ในกรณีที่เป็นเรื่องเสียดสีสังคม) ซึ่งไม่มีในระดับ ๑ และ ๒ ถ้าหากว่าไม่เคยแปลในระดับง่ายกว่านี้มาก่อน ก็อาจจะแปล “สิ่งระหว่างบรรทัด” นี้ตกหล่นไปโดยไม่รู้ตัว ทำให้ขาดอรรถรสของเรื่องราวไป
   
การเลือกแปลหนังสือที่ผู้แปลคิดว่า “อยู่ในระดับดี มีชื่อเสียง” ไม่ใช่เป็นการประกันคุณภาพของตัวผู้แปล อย่างที่นักแปลหน้าใหม่บางคนเข้าใจผิด เพราะบางคนคิดว่า ไหนๆจะแปลแล้วก็ขอแปลหนังสือดีๆมีคุณภาพสำหรับคนอ่าน และจะได้เป็นการแสดงศักดิ์ศรีของตน ดีกว่าจะไปแปลเรื่องอะไรที่ไม่มีคนยกย่อง ความจริงแล้ว การแปลหนังสือดีมีคุณภาพ และมีชื่อเสียงคือการนำเอาคุณภาพที่ตัวผู้แปลมีอยู่ออกมาตีแผ่ว่ามีมากน้อยระดับใด ถ้าหากว่ามีมากเท่ากับคุณภาพของหนังสือก็จะเป็นการพิสูจน์ความสามารถของตนเองได้อย่างน่าภูมิใจ แต่ถ้าผู้แปลมีคุณภาพการแปลน้อยกว่าหนังสือที่ตัวเองแปล ก็จะเป็นการบั่นทอนคุณค่าของหนังสือเล่มนั้น สำหรับคนอ่านที่ไม่มีโอกาสเปรียบเทียบฉบับแปลกับต้นฉบับภาษาเดิม และถ้าหากว่าคนอ่านมีโอกาสเปรียบเทียบฉบับแปลกับต้นฉบับภาษาเดิม ก็จะมองเห็นความบกพร่องของผู้แปลได้มาก
   
๔. หนังสือที่มีชื่อเสียงหรือว่าสำหรับศึกษาในระดับอุดมศึกษา เป็นขั้นสุดท้ายในการแปลวรรณกรรม
   
เมื่อผ่านขั้นตอนทั้งสามที่กล่าวมาได้แล้ว การแปลวรรณกรรมที่มีชื่อเสียงหรือว่าสำรับอุดมศึกษา จึงเป็นเรื่องที่ไม่เหลือบ่ากว่าแรงอีกต่อไป แม้ว่ามีสำนวนโวหารหรือการอ้างอิงวรรณคดีเรื่องอื่นบ้าง ก็เป็นสิ่งที่เคยฝึกฝนมาก่อน ทำให้สามารถค้นคว้าหาคำตอบโดยไม่หนักใจจนเกินไป นอกจากนี้ยังได้ฝึกฝนทักษะทางภาษา ทำให้แปลได้โดยไม่ติดขัดเรื่องการเรียบเรียงประโยคและการใช้ภาษาอีกเช่นกัน
บันทึกการเข้า
คร้าบกระพ้ม
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 02 มี.ค. 02, 01:06

ศิลปะ ต้องมีสระอะ
ศิลป์
วาทศิลป์
แต่ ศิลปะ
บันทึกการเข้า
ดร.แพรมน
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 08 มี.ค. 02, 09:43

กราบเรียนขออภัยด้วยเจ้าคะ
เนื่องด้วยคอมฯ ดิฉัน พิมพ์คำนี้แล้ว สระ อะ หายทุกที ...
แต่จากต้นฉบับที่ คุณเทาชมพู นั้นสะกด ว่า "ศิลปะ" นะเจ้าคะ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.029 วินาที กับ 17 คำสั่ง