เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 4132 บรรพชนไทยกับภาษาต่างประเทศ
ดร.แพรมน และ นายตะวัน
บุคคลทั่วไป
 เมื่อ 26 ก.พ. 02, 11:43

ทุกวันนี้เราใช้ภาษาอังกฤษกันได้อย่างคล่องอย่างครูเคทในหนังโฆษณา ระบบโทรศัพท์มือถือ...ทำให้เราสองคนสงสัยว่าคนไทยรุ่นไหนหนอที่เริ่มเรียนภาษาอังกฤษกัน...คุณเทาชมพูท่านกรุณาชี้แจงดังนี้...

ในสมัยรัตนโกสินทร์ คนไทยที่รู้ภาษาต่างประเทศมีอยู่น้อยมาก ได้แก่พวกคนไทยเชื้อสายโปรตุเกสตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งบ้านเรือนอยู่แถวตำบลกุฎีจีน สามเสน จึงเรียกกันว่า “ฝรั่งกุฎีจีน” พอจะเรียนรู้ภาษาโปรตุเกสบ้าง จึงมักรับราชการในตำแหน่งที่เรียกว่า “ล่ามฝรั่ง” อยู่ในกรมท่า มีอัตราอยู่ ๕ คน หัวหน้ามีราชทินนามเป็นขุนเทพวาจา รับเบี้ยหวัดปีละ ๗ ตำลึง หน้าที่การงานมีน้อยมาก เพราะไทยติดต่อกับโปรตุเกสก็แต่เฉพาะการค้าขายที่เมืองมาเก๊า นานๆเจ้าเมืองจะมีหนังสือมาสักครั้งหนึ่ง
   
ส่วนการติดต่อค้าขายกับอังกฤษที่มีบ้างในประเทศไทย นายเรืออาศัยแขกมลายูเป็นล่าม ดังนั้นการติดต่อการค้าขายระหว่างรัฐบาลไทยกับเรือสินค้าอังกฤษก็ดีหรือการติดต่อทางราชการกับอังกฤษที่เกาะหมาก และสิงคโปร์ก็ดี ต้องใช้ภาษามลายูทั้งสิ้น
   
ในปลายรัชกาลที่ ๓ ผู้สำเร็จราชการแห่งอินเดีย ให้นายจอห์น ครอฟอร์ด เป็นทูตมาเจรจาติดต่อกับประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.๒๓๖๔ ก็ต้องอาศัยภาษามลายูเป็นพื้นฐานการติดต่อ ปรากฏในจดหมายเหตุของครอฟอร์ดว่า ทูตอังกฤษต้องพูดภาษาอังกฤษแก่ล่ามที่นำมาด้วย ล่ามแปลคำพูดเป็นภาษามลายูให้ล่ามไทยชื่อหลวงพระยาพระคลังรับทราบอีกทีหนึ่ง เมื่อเจ้าพระยาพระคลังจะตอบว่าอะไร ก็ต้องแปลย้อนกลับเป็นลำดับจากไทย มลายู และอังกฤษ เช่นกัน
   
เมื่ออังกฤษรบกับพม่า ครอฟอร์ดแจ้งข่าวให้ไทยทราบจากสิงคโปร์ ก็ต้องแปลหนังสือพิมพ์ข่าวจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาโปรตุเกส เพราะมลายูมีคำน้อยไม่พอจะอธิบายความได้แจ่มแจ้ง
   
ดังนั้น ในสมัยรัตนโกสินทร์ ภาษาต่างประเทศที่คนไทยรู้จักเพื่อจะติดต่อกับประเทศตะวันตก มีอยู่ ๒ภาษาเท่านั้นคือโปรตุเกสและมลายู ส่วนภาษาจีนใช้ติดต่อกันระหว่างไทยกับจีนเท่านั้น
   
ในรัชกาลที่ ๓ เมื่อพ.ศ.๒๓๗๑ พวกมิชชันนารีชาวอเมริกันเดินทางมาเผยแพร่ศาสนาในประเทศไทย ทำให้คนไทยเริ่มเรียนภาษาอังกฤษโดยตรงเป็นครั้งแรก เพราะมิชชันนารีไม่ได้วางตัวเป็นสมณะเหมือนพวกบาทหลวง แต่วางตัวเป็นเพื่อนฝูงทำความรู้จักมักคุ้นเคยและสงเคราะห์ประชาชนทั่วไป เช่นรักษาโรคต่างๆและสอนวิชาความรู้ให้ด้วย คนไทยจึงมีความสนิทชิดเชื้อ คบหามิชชันนารีเหล่านี้ได้ง่าย
   
ประกอบกับชนชั้นสูงหลายคนในประเทศ เล็งเห็นว่าประเทศไทยไม่อาจจะหลีกเลี่ยงการคบหาสมาคมกับชาวตะวันตกได้ และนับวันจะต้องติดต่อกันมากขึ้น ภาษาอังกฤษจะกลายเป็นภาษาสำคัญสำหรับประเทศตะวันออก คนเหล่านี้ซึ่งมีทั้งเจ้านายและขุนนาง จึงตกลงใจศึกษาวิชาการและภาษา ตลอดจนขนบธรรมเนียม เพื่อเตรียมพร้อมในการเปิดประเทศให้กว้าง รับความเปลี่ยนแปลงในรูปแบบใหม่
   
บุคคลเหล่านี้ดังที่ได้ทราบกันแล้วคือ เจ้าฟ้ามงกุฎ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) พระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนอิศเรศรังสรรค์(พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) และหลวงสิทธินายเวรหรือต่อมาเลื่อนขึ้นเป็นจมื่นไวยวรนารถ(สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์) ในจำนวนทั้ง ๓ นี้ ผู้รู้ภาษาอังกฤษได้ดีคือเจ้าฟ้ามงกุฎและกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ส่วนจมื่นไวยวรนารถนั้นพอพูดได้บ้างแต่ไม่ถึงกับเชี่ยวชาญ เพราะท่านไปสนใจวิชาการต่อเรือมากกว่าสนใจภาษา
   
คนไทยที่ศึกษาวิชาการจากมิชชันนารี มีอยู่นอกจากนี้ คือกรมหลวงวงศาธิราชสนิท (ต้นสกุลสนิทวงศ์) ทรงกำกับกรมหมออยู่ในเวลานั้น จึงสนพระทัยศึกษาการแพทย์แบบตะวันตก จนได้ประกาศนียบัตรถวายเป็นพระเกียรติยศจากมหาวิทยาลัยแพทย์ในสหรัฐอเมริกา
   
อีกองค์หนึ่งคือ กรมหลวงมหิศวรินทรามเรศ ทรงศึกษาการช่างฝรั่ง
   
นายโหมด อมาตยกุล (ต่อมาคือพระยากระสาปนกิจโกศล) ศึกษาเรื่องเครื่องจักรและวิชาประสมแร่ธาตุโลหะจากมิชชันนารี และวิชาถ่ายรูป
   
บุคคลสำคัญอีกผู้หนึ่งที่เรียนรู้ภาษาอังกฤษ จนมีบทบาทในวงการทูตและวงวรรณคดีไทยต่อมา คือหม่อมราโชทัย (ม.ร.ว. กระต่าย อิศรางกูร)
   
หม่อมราโชทัยเป็นบุตรหม่อมเจ้าชอุ่ม (กรมหมื่นเทวานุรักษ์) พระโอรสในเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ เป็นข้าหลวงเดิมในเจ้าฟ้ามงกุฎ เมื่อทรงศึกษาภาษาต่างประเทศ ก็ได้เรียนวิชาภาษาอังกฤษตามเจ้านายด้วยจนมีความรู้ดี ต่อมาได้เป็นล่ามไทยไปประเทศอังกฤษในคราวแรก และได้แต่ง นิราศลอนดอน ไว้เป็นที่รู้จักกันมาจนทุกวันนี้
   
นายดิศ (หลวงสุรวิเศษ) มหาดเล็กในพระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) ศึกษาวิชาเดินเรือ ฝรั่งเรียกว่า “กัปตันดิก” ต่อมาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษให้พระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวแทบทุกพระองค์
   
นายฉุน เป็นคนของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ทรงเห็นว่าเฉลียวฉลาดดี จึงฝากกัปตันเดินเรืออังกฤษไปฝึกวิชาเดินเรือกำปั่น ได้ไปเรียนอยู่ที่อังกฤษจนได้ประกาศนียบัตรเดินเรือกลับมา รับราชการในรัชกาลที่ ๔ เป็นขุนจรเจนทะเล ได้เดินทางไปเป็นล่ามไทยคราวราชทูตไทยชุดแรกไปอังกฤษในรัชกาลที่ ๕ จึงเลื่อนเป็นพระชลธารพินิจจัย
   
สรุปแล้ว ในรัชกาลที่ ๓ อังกฤษมอบให้เซอร์เจมส์ บรุ๊ก เป็นทูตโดยตรงมาจากรัฐบาลอังกฤษ มาติดต่อกับไทยเพื่อขอแก้สัญญาที่ เฮนรี เบอนี่ เคยทำไว้ และนำเรือรบมาด้วย ๒ ลำ
   
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเห็นทูตที่มาคราวนี้มีท่าทีทะนงองอาจผิดกับครั้งก่อนๆ ไม่สู้จะน่าไว้ใจนัก จึงตั้งพระทัยที่จะหาผู้มีความรู้พอรับรองได้ตอบกับทูตอังกฤษได้ ไม่ให้เสียที และควรเป็นผลดีแก่ประเทศชาติด้วย ดังปรากฏในจดหมายเหตุกระแสรับสั่งว่า
   
   
ทรงพระราชดำริ..เห็นว่า ผู้ใดมีสติปัญญาก็ควรจะเอาเข้ามาเป็นที่ปรึกษา ด้วยการครั้งนี้เป็นการฝรั่ง สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ทราบอย่างธรรมเนียมฝรั่งมาก ควรจะเอาเป็นที่ปรึกษาใหญ่ได้ แต่ก็ติดประจำปืนอยู่ที่เมืองสมุทรปราการ (ด้วยครั้งนั้นไม่ไว้พระทัย เกรงอังกฤษจะเอาอำนาจมาบังคับให้แก้หนังสือสัญญาอย่างที่ทำกับเมืองจีน จึงให้ตระเตรียมรักษาป้อมคูให้มั่นคง) จมื่นไวยวรนารถก็เป็นคนสันทัดหนักในธรรมเนียมฝรั่ง ก็ลงไปรักษาเมืองสมุทรปราการอยู่ให้พระยาศรีพิพัฒน์ (ต่อมาคือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) เป็นผู้รั้งราชการกรมท่า ด้วยเจ้าพระยาพระคลัง ลงไปสักเลกอยู่ที่เมืองชุมพรในเวลานั้น) แต่งคนดีมีสติปัญญา เข้าใจความ เชิญกระแสพระราชดำริลงไปปรึกษา


   
การเตรียมพร้อมของไทยประสบผลสำเร็จด้วยดี หนังสือของราชทูตอังกฤษที่เซอร์เจมส์ บรุ๊ก นำมานั้น ไทยมอบให้นายแพทย์จอห์น เทเลอร์ โจนส์ มิชชันนารีชาวอเมริกัน แปลเป็นภาษาไทย โดยมีผู้ช่วยอีก ๒คนคือนายโจเซฟ ล่ามลูกครึ่งชาวยุโรป และเสมียนยิ้ม (ชื่อเจมส์ เฮย์) ชาวอังกฤษอีกคนหนึ่ง
   
ส่วนทางด้านคำตอบจากรัฐบาลไทย ร่างหนังสือตอบนั้น นำขึ้นถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าฯ ให้ทรงตรวจทานแก้ไขจนเห็นว่าถูกต้องครบถ้วนแล้ว จึงแปลความเป็นภาษาอังกฤษโดยหมอจอห์นกับล่าม แล้วนำถวายเจ้าฟ้ามงกุฎให้ทรงตรวจสอบความถูกต้อง เพราะทรงรู้ภาษาอังกฤษดีกว่าคนไทยทั้งหมดในสมัยนั้น
   
ล่วงมาถึงรัชกาลที่ ๔ เหตุการณ์ทางด้านการต่างประเทศเป็นไปดังที่ไทยคาดล่วงหน้าไว้ ประเทศไทยไม่อาจจะเพิกเฉยต่อการแผ่อิทธิพลของมหาอำนาจทางตะวันตก การรักษาแผ่นดินให้อยู่รอดด้วยสันติวิธี คือการเรียนรู้ทำความเข้าใจกับประเทศอังกฤษให้ได้
   
สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ตรัสเป็นภาษิตไว้ว่า
   
   
เมื่อรัชกาลที่ ๑ ใครแข็งแรงทัพศึกก็โปรด ในรัชกาลที่ ๒ ใครเป็นกวีก็เป็นคนโปรด ในรัชกาลที่ ๓ ใครมีศรัทธาสร้างวัดวาก็เป็นคนโปรด ในรัชกาลที่ ๔ใครรู้ภาษาฝรั่งก็เป็นคนโปรด

   
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้เจ้านายที่ทรงพระเยาว์และเจ้าจอมหม่อมห้ามฝ่ายในเรียนรู้ภาษาอังกฤษตามสมควร ในจำนวนนี้คือเจ้าจอมมารดากลิ่นในกรมพระนเรศวรฤทธิ์ (ต้นสกุล กฤดากร) ทรงตั้งโรงเรียนขึ้นในพระบรมมหาราชวัง จ้างครูสตรีชาวอังกฤษมาสอนพระเจ้าลูกเธอทั้งชายและหญิงที่พระชันษาพอจะเล่าเรียนได้
   
ผู้ที่เรียนรู้พอจะทันรับราชการในรัชกาลที่ ๔ มีอยู่ ๕ คนคือ
   
๑. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ครั้งทรงดำรงพระยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ทรงศึกษากับนางแอนนา เลียวโนเวนส์ และมิชชันนารีอื่นๆตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ต่อมาทรงศึกษาด้วยพระองค์เอง
   
๒. กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ (พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ หรือพระนามเมื่อครั้งประสูติว่าพระองค์เจ้ายอร์ช วอชิงตัน) พระโอรสองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบภาษาอังกฤษบ้างพอตรัสได้ และเชี่ยวชาญเรื่องวิชาช่าง
   
๓. พระยาอรรคราชวราทร (หวาด บุนนาค) บุตรพระยาอภัยสงคราม สมเด็จเจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์ฝากนายเรือรบอเมริกันไปเรียนวิชาทหารเรือ เรียนรู้แต่ภาษากลับมา กลับมารับราชการในกรมท่าและได้เป็นพระยาเมื่อชรา
   
๔. พระยาอรรคราชวราทร(เนตร) บุตรพระยาสมุทบุรานุรักษ์ ไปเรียนภาษาอังกฤษที่เมืองสิงคโปร์จนรู้ดี กลับมารับราชการได้เป็นขุนศรีสยามกิจ ผู้ช่วยกงสุลสยามที่เมืองสิงคโปร์ และหลวงศรีสยามกิจ ไวส์กงสุลสยามในเมืองสิงคโปร์ในรัชกาลที่ ๔ ต่อมา ในรัชกาลที่ ๕ ได้เป็นพระยาสมุทบุรานุรักษ์ตามอย่างบิดาและพระยาอรรคราชวราทรตามลำดับ
   
๕. เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) เป็นลูกหลานสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ส่งไปเรียนที่อังกฤษอยู่ ๓ ปี ต่อมาเดินทางกลับพร้อมกับเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์เมื่อครั้งเป็นราชทูตไปฝรั่งเศส ได้เป็นล่าม กลับมารับราชการเป็นนายราชาณัตยานุหาร หุ้มแพรวิเศษ ในกรมอาลักษณ์ พนักงานเชิญรับสั่งไปต่างประเทศ และเป็นราชเลขานุการภาษาอังกฤษตลอดรัชกาล
   
นอกจากนี้ มีคนไทยที่เรียนภาษาอังกฤษในเมืองไทยบ้าง ไปเรียนที่สิงคโปร์บ้าง จนพูดได้เล็กน้อยอีกหลายคน
   
คนไทยที่เรียนวิชาเฉพาะคือนายจิตร อยู่กุฎีจีน เรียนวิชาถ่ายรูปกับบาทหลวงหลุยส์ ลานอดี ชาวฝรั่งเศส และนายทอมสัน ช่างถ่ายรูปชาวอังกฤษ จนตั้งห้างถ่ายรูปได้ ได้เป็นขุนฉายาทิศลักษณะ และหลวงอัคนีนฤมิตร เจ้ากรมแกสหลวง
   
ในรัชกาลที่ ๔ได้ส่งนักเรียนไปไทยไปเรียนต่อที่ยุโรปอีก ๓ คน
   
๑. เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค) บุตรเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ ไปเรียนที่อังกฤษ
   
๒. พระยาราชานุประพันธ์ (สุดใจ บุนนาค) บุตรเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) ไปเรียนที่อังกฤษ
   
๓. หลวงดำรงสุรินทฤทธิ์ (บิน บุนนาค) บุตรเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ไปเรียนที่ฝรั่งเศส
   
นอกจากนี้ยังมีผู้เรียนภาษาอังกฤษกับมิชชันนารีแล้วเข้ารับราชการอีก ๖ คน บางคนไปเรียนต่อต่างประเทศ บางคนก็เข้ารับราชการโดยตรง ส่วนใหญ่จะเจริญรุ่งเรืองในราชการอย่างดี
   
ในรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯให้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นที่โรงทหารมหาดเล็กจัดครูอังกฤษมาถวายพระอักษรบรรดาพระเจ้าน้องยาเธอทั้งหลาย มีบางองค์เท่านั้นที่สมัครไปเรียนในโรงเรียนภาษาไทย
   
สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส กับเจ้านายที่ได้รับราชการเป็นเสนาบดีในรัชกาลที่ ๕ ได้ทรงเล่าเรียนจากโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษนี้มาแทบทุกพระองค์ จึงทรงเป็นกำลังสำคัญอย่างมากในการพัฒนาประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้าตลอดรัชสมัย
   
นอกจากนี้ ยังโปรดเกล้าฯให้คัดเลือกเชื้อพระวงศ์ส่งไปเรียนที่สิงคโปร์อีกชุดหนึ่ง และบางคนก็ได้ไปเรียนที่อังกฤษอีกด้วย เช่นหม่อมเจ้าปฤษฎางค์ หม่อมเจ้าเจ๊กในกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส และพระยาไชยสุรินทร์ เป็นต้น
บันทึกการเข้า
คุณพระนาย
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 19 ก.พ. 02, 14:38

เรื่องนี้ดูเหมือนจะเคยถามแล้วหรือเปล่าผมไม่แน่ใจ สมัยสมเด็จพระนารายณ์นั้น ไทยเราถึงกับส่งทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส อย่างนี้ก็น่าจะมีคนไทยพูดภาษาฝรั่งเศสได้บ้างหรือเปล่าครับ แล้วทำไมถึงหายไปหมดเลย
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 19 ก.พ. 02, 17:32

เคยอ่านพบในศิลปวัฒนธรรมเก่าๆฉบับหนึ่ง แสดงหลักฐานว่ามี"กุลบุตร"ชาวสยามติดตามคณะทูตไปศึกษาที่ฝรั่งเศสด้วยหลายคน น่าเสียดายว่าทั้งหมดได้เข้ารีตและไม่เคยกลับมากรุงศรีอยุธยาอีกเลยครับ
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 25 ก.พ. 02, 19:26

แจมครับ
เมื่อสยามกับสหรัฐมีสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีฉบับแรกสมัยเอ็ดมันด์ โรเบิร์ตเข้ามาเป็นทูต เข้าใจว่าในรัชสมัย ร. 3 นั้น สนธิสัญญาต้องทำกันเป็นสี่ภาษา คือ ภาษาไทย จีน อังกฤษ และโปรตุเกส ทั้งนี้ เป็นเพราะมีแจ้งไว้ในตัวสัญญาเองว่า "ไทมิรู้จักหนังสือมริกัน มริกันมิรู้จักหนังสือไท"  (ที่จริงภาษาอเมริกันก็ภาษาอังกฤษนั่นแหละ) ภาษาฝรั่งที่ไทยพอจะรู้รือหาคนรู้ได้ คือโปรตุเกส ภาษาทางเอเชียที่ฝ่ายสหรัฐฯพอจะหาคนรู้ได้ ก็คือภาษาจีน แล้วจีนกับโปรตุเกสก็ติดต่อกันอยู่  ก็เลยพอจะเจรจากันได้
ด้วยความที่แปลกันหลายทอดอย่างนี้ ในสนธิสัญญาฉบับนั้นในภาคไทย จึงเรียกประเทศหรือรัฐบาลสหรัฐอเมริกา (ไม่ใช่คนชาวอเมริกัน เพราะคนชาวอเมริกันในสัญญาเรียก มริกัน) คู่สัญญาว่า อุศตาโดอุนีโดอะเมริกะ อันเป็นเสียงคำว่า United States of America ในภาษาโปรตุเกส
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 26 ก.พ. 02, 00:53

ผิดครับขอโทษ  อิศตาโด .. ครับ แปลว่า States
อุนีโด แปลว่า United อะเมริกะ ก็ตรงตัว
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 26 ก.พ. 02, 23:43

ผมเป็นอะไรหว่า สงสัยจะแก่แล้ว
ผิดอีกครับ
คำว่าสหรัฐอเมริกาในเอกสารนั้นใช้ว่า อิศตาโดอุนีโดดาอะเมริกะ ครับ ตก "ดา" ไปตัวหนึ่ง
อิศตาโด - States
อุนีโด - United
ดา - of
อะเมริกะ - America
คราวนี้เห็นจะถูกเสียที ใครที่ค้นเอกสารได้ง่ายกว่าผมช่วยตรวจสอบให้ด้วยครับ  ที่ผมว่ามานี่จากความจำ อ่านนานแล้วเห็นชื่อแปลกๆ ดีก็เลยจำติดหัวมาเรื่อย ตอนหลังจึงพยายามไปหาภาษาโปรตุเกสของจริงมาเทียบ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.058 วินาที กับ 17 คำสั่ง