นกข.
บุคคลทั่วไป
|
พ้นตรุษจีนไปได้วันสองวันแล้ว แต่คงจะยังคุยเรื่องขนมเข่งได้นะครับ
ในพระราชนิพนธ์บทละครนอกเรื่อง เอ๊ย บทละครนอก (-วรรค-) เรื่อง สังข์ทอง (คือ ไม่ใช่ละครใน เป็นละครนอก แต่ไม่ใช่ละครนอกเรื่อง) ในรัชกาลที่ 2 นั้น ที่ผมเคยเรียนมายังจำได้อยู่ตอนหนึ่ง ตอนที่เสนาลูกน้องท้าวสามลไปล่อเอาตัวเงาะป่าบ้าใบ้ คือพระสังข์ตอนยังไม่ถอดรูป จากนอกเมืองเข้าไปในวังให้พระธิดาเลือกคู่ ฉุดกระชากลากถูทำยังไงๆ เงาะก็ไม่ยอมไป หมดท่าเข้าต้องถามพวกเด็กเลี้ยงควายแถวๆ นั้นซึ่งเคยวิ่งเล่นกับเจ้าเงาะ รู้จักสนิทกันดี ว่าจะล่อเอาอ้ายเงาะไปยังไง ช่วยบอกที ถ้าบอกวิธีให้พาเงาะไปได้สำเร็จแล้ว.... "...กูจะให้ขนมเข่งของทยา กินอร่อยนักหนาประสาจน..."
พวกเด็กๆ ก็บอกให้ว่า จะล่อพ่อเงาะไปนั้นไม่ยาก เอาอะไรสีแดงๆ มาล่อเดี๋ยวก็ตามไปเอง เสนาก็ทำตาม จึงพาเงาะเข้าวังได้สำเร็จ
สงสัยว่าเมืองสามลบุรีคงจะมีชาวจีนโพ้นทะเลไปอาศัยอยู่เหมือนกัน จึงรู้จักกินขนมเข่งกันด้วย แต่ไม่ทราบว่าเมืองสามลบุรีฉลองตรุษจีนด้วยหรือเปล่า ที่ผมเพิ่งจะมานึกสงสัยเอาเมื่อแก่ปานนี้แล้ว (ตอนเป็นเด็กนักเรียนก็ไม่ยักสงสัย ได้แต่ท่องปาวๆ ไป) ก็คือว่า ทยา แปลว่าอะไรครับ ขนมเข่งของทยา นี่ หมายถึงอะไร
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
แจ้ง ใบตอง
บุคคลทั่วไป
|
ความคิดเห็นที่ 1 เมื่อ 15 ก.พ. 02, 01:17
|
|
แปลว่าของดีน่ะครับ คงจะเป็นของที่กินอร่อย เด็กบ้านนอกไม่ค่อยได้กินกัน พวกเสนาจึงเอาขนมเข่งไปล่อ.. พูดถึงเรื่องสังข์ทองนี่ผมกลับไปนึกถึงการตีคลี ไม่ทราบจริงๆ แล้วว่ามันเป็นยังไง จะเหมือนการตีฮ็อกกี้ในปัจจุบันหรือเปล่า?? ที่แปลกคือเรื่องสังข์ทองนี่เค้าเล่นตีคลีแข่งกับพระอินทร์ แต่ในเรื่องกามนิต(ภาคพื้นดิน) วาสิษฐีกลับเอาลูกคลีมาเดาะเล่น จนเป็นสาเหตุให้มาพบรักกับกามนิตได้ เด็กรุ่นใหม่ๆ อย่างผมก็เลยงงครับ ว่าการเล่นคลีนี่มันเป็นยังไงกันแน่ ก็ได้แต่เก็บความสงสัยเอาไว้ในใจ..
เข้าถึงเรื่องขนมเข่งต่อกันดีกว่าครับ จริงๆ ผมว่าขนมเข่งนี่อร่อยสู้ขนมเทียนไม่ได้นะ เวลาที่มีขนมทั้งสองอย่างให้กินผมจะเลือกกินขนมเทียนก่อน ไม่ทราบว่าทั้งขนมเข่งและขนมเทียนนี่เป็นขนมของชาวจีนแท้ๆ เลยหรือเปล่าครับ หรือว่าคนไทยเชื้อสายจีนเอามาดัดแปลงตอนหลัง..
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
นกข.
บุคคลทั่วไป
|
ความคิดเห็นที่ 2 เมื่อ 15 ก.พ. 02, 02:42
|
|
อ้อ เป็นยังงั้นเอง ขอบคุณครับ ขนมเทียนผมก็ชอบมากกว่าขนมเข่งจริงๆ ด้วย ยกเว้นแต่จะเอาขนมเข่งไปชุบไข่หรือชุบแป้งแล้วทอดให้มันค่อยหายหวานลงไปหน่อย ขนมเข่งเปล่าๆ นี่ผมว่าหวานไปสำหรับผม
ขนมเทียนจะเกิดในเมืองไทยนี้หรือไม่ก็ไม่ทราบ แต่ว่าขนมเข่งเข้าใจว่าเป็นของจีนมาแต่เดิม ในเมืองจีนก็พอหาได้ และมีประวัติหรือนิทานจีนอธิบายด้วยว่าทำไมคนจีนถึงได้คิดทำขนมที่ทั้งเหนียวหนึบและหวานเจี๊ยบขนาดนั้นมากินกันตอนตรุษจีน เขาเล่าว่า ตามความเชื่อของจีนโบราณ บ้านคนทุกบ้านจะมีเทพประจำบ้านมีที่สิงสถิตอยู่ในครัวที่เตาไฟ เรียกว่าเจ้าเตาไฟก็คงได้ เจ้าเตาไฟนี้ พอถึงปีใหม่คือตรุษจีนทีก็จะขึ้นสวรรค์ไปเฝ้าเง็กเซียนฮ่องเต้ ถวายรายงานความประพฤติในรอบปีของมนุษย์ที่อยู่ในบ้านที่แต่ละองค์รับผิดชอบ เท่ากับเป็นครูประจำชั้นจดสมุดพกไปรายงานครูใหญ่ มนุษย์เจ้าของบ้านก็เลยตั้งพิธีเซ่นสรวงบูชาเจ้าเตาไฟหนึ่งวันก่อนเจ้าขึ้นสวรรค์ไปถวายรายงาน แล้วก็จงใจทำขนมเข่งให้เหนียวหนึบหนับและหวานเจื้อยยังงั้น มาไหว้เจ้า เพื่อที่ว่า เมื่อเจ้ารับเสวยขนมเข่งเข้าไปเต็มปากแล้ว จะได้พูดฟ้องน้อยๆ หน่อย เพราะขนมเข่งมันเหนียวหนึบ อ้าปากลำบาก แต่ถ้ายังอุตส่าห์พูดออกมาได้ก็ให้พูดแต่อะไรหวานๆ เง็กเซียนฮ่องเต้ฟังแล้วก็จะได้นึกว่าคนในบ้านนั้นเป็นคนดีกันทุกคนตลอดปี จะได้ให้พรลงมา เพราะฉะนั้นสมัยนี้เอา ซูกัส ขนมหนึบสวิส เซ่นเจ้าเตาไฟก็คงได้ผลเท่ากัน หรือถ้าเป็นครัวไทยจะเอากาละแมถวายก็คงได้ จะเรียกรายการขนมเข่งยัดใส่ปากเจ้านี่ว่าเป็นการเอาผักชีโรยหน้าหรือติดสินบนเทวดาก็แล้วแต่จะเรียกเถอะครับ แต่แปลว่าขนมเข่งนี้ใช้ได้ผลทั้งติดสินบนเทวดา (เมืองจีน) มาจนถึงตกรางวัลเด็กเลี้ยงควาย (เมืองสามล) เลย
Amy Tan คนจีนอเมริกันผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Joy Luck Club สะท้อนชีวิตคนจีนในอเมริกา เขียนหนังสือไว้อีกเล่ม ดูเหมือนชื่อ The Kitchen God หรือไงนี่ ก็คือเอาชื่อเทพเจ้าประจำเตาไฟนี่เองมาเป็นชื่อเรื่อง
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
จ้อ
|
ความคิดเห็นที่ 3 เมื่อ 15 ก.พ. 02, 08:01
|
|
ยกมือถามครับ ไม่ทราบว่าขนมเข่งนี่ ภาษาจีนกลางหรือภาษากวางตุ้งเรียกว่าอะไรครับ ภาษาอังกฤษด้วยก็จะยิ่งดีครับ ผมพยายามอธิบายให้เพื่อนคนจีน(สาวๆ)เข้าใจ ไม่ยอมเข้าใจซักกะที แหะๆๆ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
แจ้ง ใบตอง
บุคคลทั่วไป
|
ความคิดเห็นที่ 4 เมื่อ 15 ก.พ. 02, 10:08
|
|
เอ..ชักไม่แน่ใจแล้วสิครับ ผมว่าถ้าจะแปลทำว่าทยาให้เข้ากับคำกลอน น่าจะแปลว่า "ที่อยากได้"มากกว่า เมื่อกี้ไปเปิดพจนานุกรมดู แปลว่าที่อยากได้ ก็ได้ แล้วรู้สึกว่าจะเข้ากับเนื้อหามากกว่าครับแปลว่าเป็นของดีนะครับ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
อ้อยขวั้น
บุคคลทั่วไป
|
ความคิดเห็นที่ 5 เมื่อ 15 ก.พ. 02, 11:50
|
|
ถามคุณแม่เพื่อนที่เป็นคนจีน คุณแม่บอกว่าขนมเข่งเรียกว่า "เหนียนเกา" (ลืมถามไปว่าภาษาจีนอะไรค่ะ น่าจะจีนกลางนะคะ) แต่ขนมเทียนคุณแม่บอกว่าในจีนไม่มี ไต้หวันก็ไม่มี น่าจะเป็นคนแต้จิ๋วที่มาอยู่ในไทยดัดแปลงจากขนมเข่งค่ะ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
ภูมิ
บุคคลทั่วไป
|
ความคิดเห็นที่ 6 เมื่อ 15 ก.พ. 02, 12:21
|
|
โดยส่วนตัวแล้ว ผมชอบขนมเข่งมากกว่านะครับ ไม่ค่อยชอบพวกใส้เละๆ ขนมเปี่ยะก็ชอบกินแต่แป้ง พวกฟักพวกถั่วก็ไม่ค่อยชอบ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
ศศิศ
บุคคลทั่วไป
|
ความคิดเห็นที่ 7 เมื่อ 15 ก.พ. 02, 15:59
|
|
ขนมเทียนทางภาคเหนือก็มีครับ เรียกว่า ขนมจ๊อก บางแห่งก็เรียกว่าขนมเหนียบ จะทำไปทำบุญเป็นประจำ...งานบุญไหน ๆ เป็นต้องเจอครับผม .... หากกินไม่หมด ก็แกะตากแห้ง แล้วนำมาทอด ก็อร่อยไปอีกแบบนึงนะครับผม...
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
นกข.
บุคคลทั่วไป
|
ความคิดเห็นที่ 8 เมื่อ 15 ก.พ. 02, 17:07
|
|
ขนมเข่งเรียก เหนียนเกา ถูกแล้วครับ เป็นภาษาจีนกลาง และแปลว่า ขนมปี (ใหม่) ตรงตัว
มิน่า หาขนมเทียนไม่เจอในเมืองจีน สงสัยดัดแปลงขึ้นในเมืองไทยนี่เอง
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
CrazyHOrse
บุคคลทั่วไป
|
ความคิดเห็นที่ 9 เมื่อ 15 ก.พ. 02, 18:11
|
|
ขนมเข่งถ้าเป็นแต้จิ๋ว จะเรียกว่า ตีก้วย (คำว่าตี ต เต่า ออกเสียงขึ้นจมูกนะครับ) แปลว่าขนมหวาน(ซึ่งหวานจริงๆ) ซึ่งคงไม่ตรงกับภาษาจีนกลาง เพราะชื่อพวกนี้เป็นชื่อตามถิ่นครับ ขนมเข่งนี่เป็นของขายไม่ออกอย่างหนึ่ง เพราะทั้งแข็งทั้งหวานหาคนชอบกินได้ยาก ที่บ้านผมเอามาแปรรูป(คนอื่นก็อาจจะทำเหมือนกัน)โดยการฝานเป็นชิ้นยาวสัก 2-3 นิ้ว กว้างสักนิ้วนึง หนาสัก 3 มิลลิเมตร(อย่างง ไทยแท้ต้องมั่วหน่วยอย่างนี้แหละครับ ฮิฮิ) แล้วเอาไปชุบแป้งทอดพอให้แป้งกรอบ กินร้อนๆก็อร่อยดี ไม่ต้องเอาไปทิ้งให้เสียของครับ สุดยอดโภชนาการ ฝรั่งงงว่ากินเข้าไปได้ไง อ้วนตายพอดี 
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
โอม
บุคคลทั่วไป
|
ความคิดเห็นที่ 10 เมื่อ 15 ก.พ. 02, 20:36
|
|
เรื่อง The Kitchen God‘s wife ครับ คุณ Amy Tan (น้องสาวคุณโบตั๋น Bo Tan) มักเขียนเรื่องเกี่ยวกับความระทมทุกข์ของหญิงจีน เธอเขียนค่อนเทพเจ้าเตาไฟไว้ในเรื่องด้วย ผมชอบขนมเข่งที่เขาดัดแปลงใส่เนื้อมะพร้าวลงไป แต่แม่ไม่ค่อยทำ เพราะว่ามันจะบูดง่าย ขนมจ๊อกนี่มีแต่ไส้หวานหรือเปล่าครับคุณศศิศ กินทีไรเจอแต่ไส้หวาน ผมว่าคล้ายขนมเทียนมากแต่ไม่เหมือนเสียทีเดียว ส่วนผสมของแป้งกับไส้ต่างออกไปจิ๊ดนึง หรือว่าเป็นแต่เฉพาะในพื้นที่ที่ผมเคยไปทำงานก็ไม่รู้ ผมชอบแป้งขนมเทียนอย่างที่เขาผสมหญ้าชนิดหนึ่งลงไปด้วย กินแล้วรู้สึกว่าอร่อยกว่าแป้งขาวๆ ธรรมดา ไม่รู้ว่าอุปทานหรือเปล่า
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
นกข.
บุคคลทั่วไป
|
ความคิดเห็นที่ 11 เมื่อ 15 ก.พ. 02, 21:03
|
|
พอคุณ CrazyHorse พูดขึ้นมาถึงตีก้วยก็เลยเพิ่งจะนึกได้ว่า กาญจนาคพันธุ์ หรือท่านขุนวิจิตรมาตรา เคยเขียนเล่าไว้ใน "กรุงเทพฯ เมื่อวานนี้" เล่าถึงชีวิตชาวกรุงเมื่อเกือบร้อยปีมาแล้ว รวมทั้งของกินและขนมที่คนจีนทำขายในกรุงเทพฯ สมัยนั้นด้วย มีคนไทยสมัยนั้นรวบรวมเอามาแต่งเป็นกลอนยาว แต่ท่านจำได้แค่สองวรรค คือ "ขนมเข่งของดีตีกวย ขนมใส่ในถ้วยกับกวยท้อ" ตีกวย หรือตีก้วย ก็คือขนมเข่งนั่นเอง กวยท้อ ท่านว่า คือขนมทำคล้ายรูปสามเหลี่ยมแบนๆ มีไส้ข้างใน ทอดในกะทะแบนๆ
ผมว่าผมเคยเห็นกวยท้อที่ว่า เป็นแต่ไม่รู้เขาเรียกว่าอะไร เป็นสามเหลี่ยมแบนๆ แป้งสีชมพูแจ๊ด หรือเปล่าครับ?
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
นกข.
บุคคลทั่วไป
|
ความคิดเห็นที่ 12 เมื่อ 16 ก.พ. 02, 01:54
|
|
กลับมาคำถามของคุณแจ้งความเห็นแรก ซึ่งไม่เกี่ยวกับขนมเข่งแต่เกี่ยวกับการตีคลี ผมมีความรู่สึกว่าเกมขี่ม้าตีคลีของพระสังข์นั้น ตรงกับที่ฝรั่งเรียกว่า โปโล (polo) ครับ ขี่ม้าไล่เอาไม้หวดตีลูกกลมๆ ที่เมืองไทยก็เห็นมีเล่น มีซอยชื่อซอยโปโลอยู่แถวๆ โรงเรียนเตรียมทหาร ผมเคยแวะเข้าไป แต่ไปไม่ถึงสนามตีคลีหรือตีโปโลหรอกครับ ไปติดอยู่ที่ร้านขายไก่ทอดซอยโปโลเสียก่อน
ตีคลีตามแบบหกเขยตีกับพระอินทร์นั้นก็ตีกันปกติธรรมดา แต่พอมาถึงตอนพระอินทร์ตีกับพระสังข์ พระอินทร์เล่นตุกติกโดยเหาะขึ้นจากสนามคลี ไปเล่นคลีบนอากาศ แต่พระสังข์เป็นพระเอกนี่ สบายอยู่แล้ว พระอินทร์เหาะได้พระสังข์ก็เหาะมั่ง (เพราะของวิเศษอย่างหนึ่งที่พระสังข์ได้มาจากนางพันธุรัตนั้น ทำให้เหาะได้) - "พระสังข์ไม่พรั่นครั่นคร้าม เหาะตามติดพันกระชั้นชิด" และตีคลีชนะพระอินทร์จนได้ตามธรรมเนียม ที่จริงก็ซูเอี๋ย เพราะพระอินทร์จงใจจะยอมแพ้พระสังข์อยู่แล้ว
พระอินทร์เป็นเทวดา ม้าทรงก็ม้าเทวดา จะเหาะได้ก้ไม่แปลก พระสังข์ไม่ใช่เทวดาแต่มีเกือกแก้วกายสิทธิ์จะเหาะได้ก็ไม่เป็นไรหรอก แต่เหนื่อยตรงที่ต้องหนีบม้าธรรมดาทั้งตัวเหาะตามขึ้นไปด้วยน่ะซิ แต่ที่ผมสงสัยคือลูกคลีทำไมถึงพลอยเหาะได้ตามไปด้วย ให้เดาก็เห็นจะเป็นว่าพระอินทร์ใช้ฤทธิ์บันดาลให้ลูกคลีกลายเป็นลูกควิดดิชท์ไปชั่วคราว เลยเหาะได้ไปด้วย พระอิทร์กับพระสังข์ตีคลีกันกลางอากาศ มาก่อนแฮรี่ พ็อตเตอร์เล่นควิดดิชท์หลายสิบปีครับ
ส่วนที่ว่าทำไมวาสิฏฐีเอาลูกคลีมาเดาะเล่น ไม่ยักขี่ม้า ข้อนี้จนครับ ขอไปค้นก่อน
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
นกข.
บุคคลทั่วไป
|
ความคิดเห็นที่ 13 เมื่อ 17 ก.พ. 02, 08:29
|
|
กามนิต ในฉบับภาษาอังกฤษที่ท่านเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีปใช้ในการแปลเป็นสยามภาษานั้น (ท่านไม่ได้ใช้ต้นฉบับเดิมที่เป็นภาษาเยอรมันครับ) บอกแต่เพียงว่า วาสิฏฐีและนางามทั้งหลายอห่งโกสัมพีเล่นลูกบอลกันครับ Ball ไม่ได้บอกว่าเป็นโปโล เกมที่ใช้ลูกบอลกลมๆ เล่นนี่คงจะมีหลายสิบอย่าง ที่แม่นางทั้งหลายเล่นเป็นการบูชาพระลักษมีนั้น เป็นจินตนาการของฝรั่งคนแต่งเรื่อง (ท่านผู้แต่งฉบับเดิมเป็นชาวสแกนดิเนเวีย แต่สนใจปรัชญาและวัฒนธรรมอินเดีย และแต่งเรื่องเป็นภาษาเยอรมัน) ผมไม่แน่ใจนักว่าคนอินเดียเขาเล่นเกมพรรณนั้นถวายเจ้าแม่จริงๆ หรือเปล่า อ่านจากคำบรรยายคล้ายๆ เหมือน juggling ผสมวอลเล่ย์ผสมบาสเก็ตบอล (แต่ไม่มีบาสเก็ต) คือมีทั้งการเล่นพลิกแพลงเดาะเลี้ยงลูกบอลต่างๆ อย่างนักโยนลูกบอลจั๊กกเลอร์ มีทั้งการตบให้ลูกบอลกระดอนขึ้นแล้วรับและเลี้ยงบอล แถมมีการกระโดดโลดเต้นระบำเข้าจังหวะอีก เห็นจะไม่ใช่คลีอย่างที่พระสังข์เล่น
แต่ผมเข้าใจท่านผู้แปลทั้งสอง ซึ่งถอดบทประพันธ์เรื่องนี้ออกเป็นภาษาไทยได้อย่างหมดจดพิถีพิถัน ไม่เหลือกลิ่นนมเนยเลย จนบางคนที่ไม่ทราบอ่านแล้วนึกว่าเป็นคนไทยเขียนเอง ไม่นึกว่าเดิมเรื่องนี้ฝรั่งแต่งไว้ ท่านคงจะเห็นคำว่า ball แล้วไม่อยากแปลว่า วาสิฏฐีเล่นลูก "บอล" อันเป็นการเอาคำฝรั่งเข้ามาใช้ให้เสียรสคำไป ท่านคงจะพยายามหาคำที่แปลทำนองว่าลูกกลมๆ ที่ใช้ในการเล่นกีฬา ซึ่งเรามีใช้ในภาษาไทยอยู่แล้ว เพื่อหลีกคำว่า ลูกบอล ก้ไปได้คำว่า ลูกคลี ซึ่งฟังเป็นไทยๆ โบราณดี ไม่เสียบรรยากาศ ท่านจึงได้เลือกใช้คำนี้ แต่ไม่ได้แปลว่าเกมที่วาสิฎฐีเล่นถวามพระแม่เจ้าลักษมีนั้นจะเป็นโปโลหรือขี่ม้าตีคลีไปด้วยครับ
จริงๆ ก็อย่างที่เรียนแล้วว่าผมก็ไม่ทราบว่าแขกเขาเดาะลูกบอลถวายให้เทวดาดูจริงๆ หรือเปล่า หรือเป็นความนึกฝันเอาเองของท่านผู้แต่ง กามนิต แต่ผมมีข้อสังเกตว่า เทวดาแขกนั้นชอบดูกายกรรม อย่างพิธีโล้ชิงช้าที่โบสถ์พราหมณ์ในเมืองไทยเคยโล้ชิงช้าถวายทุกปีนั่นก็เป็นกายกรรมและเป็นการเล่นถวายพระเป็นเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งในสามองค์ของพราหมณ์ จะเป็นพระอิศวรหรือพระนารายณ์ก็ลืมไปแล้ว เคยมีธรรมเนียมนี้จริงเป็นเค้าอยู่ ดังนั้นถ้าหากว่าพระลักษมีจะโปรดทอดพระเนตร Juggling จริงๆ ก็คงไม่แปลก
จากเรื่องจีนกลายเป็นเรื่องแขกไปได้ยังไงก็ไม่ทราบครับ คงต้องโทษคุณแจ้ง ดูเหมือนพื่อนร่วมเว็บนี้คุยเรื่อยเปื่อยออกนอกเรื่องกันได้เก่งทุกคน ...
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33477
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 14 เมื่อ 17 ก.พ. 02, 14:37
|
|
แวะมาเรื่อยเปื่อยด้วยอีกคน ความเห็นนี้ยังมีโรตีผสมอยู่มากกว่าขนมเข่งนะคะ
เข้าใจอย่างเดียวกันค่ะว่า ลูกคลีในกามนิตคือคำแปลที่ใกล้เคียงที่สุดของ ball เท่าที่จะหาได้ในภาษาไทยรุ่นเก่า ไม่เคยเห็นลูกคลี แต่คิดว่ากลมแบบลูกกอล์ฟแน่ ้เป็นรูปสี่เหลี่ยมสามเหลี่ยมก็คงตีไม่ไป
เคยเห็นการเดาะคลีแบบวาสิฏฐีเล่น ในงานวันเกิดของท่านผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง เป็นลูกบอลเล็กๆโตกว่าลูกปิงปองเล็กน้อย เหมือนลูกบอลซื้อกันในแผนกของเล่นเด็กอ่อน ขนาดเบาและตบให้กระดอนได้สูง แต่การเต้นแบบแขกโดยนาฏศิลป์ไทยจะช้า แค่ตบและโยนให้เข้าจังหวะก็ถือว่าเก่งแล้ว จะเร็วมากขนาดเห็นลูกคลีวิ่งขึ้นลงเป็นสายเหมือนซี่กรงทอง มีวาสิฎฐีเป็นนกกระโดดโลดเต้นอยู่ในกรงดังที่กามนิตบรรยายไว้ คงต้องใช้ความเร็วสูงมาก วาสิฎฐีคงต้องตบได้ไวระดับแชมป์โอลิมปิค
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|