เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 2943 เรื่องราวเกี่ยวกับฉัตร(ต่อ)ครับ
ปลาตะเพียนน้อย
บุคคลทั่วไป
 เมื่อ 18 ก.พ. 02, 09:44

ผมได้มองข้ามพระนามในพระสุพรรณบัตรไปไป เมื่อไปอ่านอย่างละเอียดพบว่าในพระนามของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งจารึกอยู่ในพระสุพรรณบัฏก็ได้มีข้อความเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า “พระบาทสมเด็จพระปวเรนทราเมศ มหิศเรศรังสรรค์ มหันตวรเดโช มโหฬารคุณอดุลยเดช สรรพเทเวศรานุรักษ์ บวรจุลจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติสังสุทธเคราหณี จักรีบรมนาถ อิศรราชรามวรังกูล บรมมกุฎนเรนทร์สูร โสทรานุชาธิบดินทร์ เสนางคนิกรินทราปวราธิเบศร์ พลพยุหเนตร นเรศวรวรมหิทธิวรนายก สยามาทิโลกยดิลกมหาบุรุษรัตน์ไพบูลย์ พิพัฒนศิลปาคม สุนทโรดมกิจโกศล สัปดปดลเศวตฉัตร ศิริรัตโนปลักษณมหาบวรราชาภิเศกาภิสิต สรรพทศทิศพิชิตไชย อุดมมไหสวริยมหาสวามินทร สเมกธรณินทรานุราช บวรนารถชาติอาชาวไสย ศรีรัตนไตรยสรณารักษ์ อุกฤษฐศักดิ์สรรพรัษฎาธิเบนทร ปวเรนทรธรรมิกราชบพิตร พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว” สังเกตพบคำว่าสัปดปดลเศวตฉัตร ซึ่งหมายถึงฉัตรสีขาวเจ็ดชั้น ก็น่าจะเป็นคำตอบที่ถูกต้องนะครับ และพระนามของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งจารึกในพระสุพรรณบัฏ ก็มีคำว่านพปฎลเศวตฉัตรซึ่งหมายถึง ฉัตรสีขาวเก้าซั้น แต่ตอนนี้ก็สงสัยอีกแล้วว่าฉัตรสำหรับกรมพระราชวังบวรพระองค์อื่นๆนี่ใช้กี่ชั้นกันแน่น่ะครับ
บันทึกการเข้า
ปลาตะเพียนน้อย
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 14 ก.พ. 02, 21:34

เนื่องจากในหนังสือเรื่องเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ และ เครื่องสูง โดย ยุพร แสงทักษิณ กล่าวว่า
พระสัปตปฎลเศวตฉัตร คือ ฉัตรสีขาว ๗ ชั้นมีลักษณะคล้ายกับพระมหาเศวตฉัตร แต่มีเพียง ๗ ชั้น เป็นฉัตรสำหรับพระราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ที่ยังมิได้ทรงรับพระบรมราชาภิเษก สมเด็จพระอัครมเหสี สมเด็จพระบรมราชชนนี และสมเด็จพระยุพราช ในสมัยโบราณครั้งที่ยังมีตำแหน่งพระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรฯ ฉัตรขาว ๗ ชั้นก็ใช้เป็นฉัตรสำหรับกรมพระราชวังบวรฯด้วย เรียกว่า พระบวรเศวตฉัตร
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับการสถาปนาเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่สอง ถ้าทรงฉัตร 7 ชั้นแล้วกรมพระราชวังบวรพระองค์อื่นๆก็น่าจะทรงฉัตรน้อยกว่า 7 ชั้นนั่นคือ 5 ชั้นซึ่งไม่ตรงตามที่หนังสือเล่มนี้ได้บอกไว้ ตกลงมันเป็นยังไงกันครับเนี่ยเริ่ม จะเกิดอาการธาตุไฟเข้าแทรกแล้วครับ ใครทราบช่วยบอกผมหน่อยครับ งงๆจังครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 17 ก.พ. 02, 14:51

คนที่จะให้คำตอบคุณได้ดีที่สุดน่าจะเป็นรองศาสตราจารย์ยุพร แสงทักษิณ   ภาควิชาภาษาไทย  คณะมนุษยศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  บางเขน
ลองหาทางติดต่อท่านดูสิคะ
บันทึกการเข้า
สายลม
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 17 ก.พ. 02, 20:09

.   .   .   ผมว่าเรื่องที่มีสาระอย่างนี้น่าจะช่วยกันหาคำตอบนะครับ คิดว่าคุณปลาตะเพียนน้อยคงหาคำตอบที่ต้องการไม่ได้ เพราะถ้าได้คงไม่ถามซ้ำสอง คงไม่ใช่ถามเพื่อความประสงค์อื่น ผมเองติดตามปัญหานี้มาแต่ต้น ก็ยังรอคำตอบอยอยู่เช่นกัน
.  .   .   คิดว่าการถามมาในเว็บนี้น่าจะทำได้ง่ายกว่าไปถามตรงตัวอย่างที่แนะนำไป คนไทยยังไม่มีอุปนิสัยเป็นนักวิชาการอย่างชาวตะวันตก และไม่ชอบตอบจดหมายใครง่ายๆและไม่ค่อยจะมีความสนใจในเรื่องของคนอื่น
.   .   .     ผมเคยได้คุยกับบัณฑิตท่านหนึ่งจากอังกฤษ ท่านเป็นผู้ที่ใฝ่รู้อย่างแท้จริง แม้ว่าท่านจะอายุใกล้ ๙๐ ปีแต่ความจำ ความฉับไว ความทันสมัยในข้อมูลมีอยู่เต็มเปี่ยม ท่านรับราชการในตำแหน่งสูงและใกล้ชิดกับ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ผมคุยกับท่านรวดเดียวเกือบ ๕ ชั่วโมงได้ความรู้ ความเข้า และข้อมูลต่างๆมากมาย ตั้งแต่เรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์จนถึงเรื่องตาลีบันในหลายสาขาวิชา ท่านบอกผมว่า เวลาท่านสงสัยอะไร หรือต้องการจะบอกข้อมูลที่ถูกต้องแก่สาธารนชน ท่านจะมีจดหมายไปยังบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะได้รับการสนองตอบด้วยดีและโดยไม่ชักช้าจากชาวตะวันตกมากว่าชาวตะวันออก สำหรับของไทยเราเองท่านบอกว่ายากยิ่งกว่า ส่วนใหญ่จะไม่ตอบ
.   .   .   ผมเล่าตัวอย่างมายืดยาวก็อยากให้พวกเราช่วยกันในเรื่องที่เป็นสาระประโยชน์เช่นนี้ เรื่องที่มีสาระน้อยกว่านี้ เรายังทำกันได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ สำหรับตัวผมเองก็ไม่รู้ แต่เคยผ่านตาเรื่องพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ในเว็บไซต์หอมรดกไทย (heritage.thaigov.net/)จะลองไปค้นหาดูเผื่อจะมี เพราะพระองค์ท่านได้เขียนเรื่องต่างๆในครั้งนั้นไว้มากมาย ตั้งแต่เรื่องวิถีชีวิตไทยไปจนถึงเรื่องระดับนานาชาติ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 17 ก.พ. 02, 20:31

ถ้าหากว่าคุณสายลมค้นหาได้พบ ก็ขอขอบคุณแทนคุณปลาตะเพียนน้อยด้วย  เธอคงจะเข้ามาขอบคุณเองอีกทีหนึ่งค่ะ
ดิฉันมองว่าคุณปลาตะเพียนน้อยต้องการคำตอบที่ถูกต้อง  เห็นว่าจะเอาไปทำรายงาน  ไม่ใช่เข้ามาถามแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างที่เราทำกันส่วนใหญ่ในเรือนไทย  ซึ่งจะตอบกันได้หลายคน
คนที่จะตอบได้แม่นยำก็น่าจะเป็นนักวิชาการที่ค้นคว้าด้านนี้โดยตรง  อย่างอาจารย์ยุพรค่ะ
ที่แนะนำไปอย่างนั้น เพราะดิฉันมีประสบการณ์ในการถามนักวิชาการไทยแตกต่างจากคุณสายลม   เพราะเคยเขียนไปถามมาหลายคนก็ได้รับคำตอบ  
ดิฉันจะแนะนำตัวเองว่าเป็นใครอยู่ที่ไหน  ถามเรื่องอะไรจะเอาไปใช้อะไร    แล้วส่งซองติดแสตมป์จ่าหน้าถึงตัวเองสอดไปด้วย เพื่อความสะดวกของผู้รับจะได้ตอบทันที  ก็ได้รับคำตอบทุกครั้ง  หนึ่งในจำนวนนี้คือศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการเหล่านี้   ถ้าท่านตอบได้เลยท่านก็ตอบ  ถ้าท่านตอบรายละเอียดไม่ได้ท่านก็จะบอกให้ว่าควรไปถามใครที่รู้ทางนี้
ขอแนะนำอีกอย่างหนึ่งว่าถ้าเขียนไปแล้วกลัวว่าท่านจะไม่ตอบ คุณปลาตะเพียนหาเบอร์ที่ทำงานแล้วโทรไปก็ได้ บอกว่าส่งไปหลายวันแล้วท่านได้รับหรือเปล่า   ให้เวลาท่านตรวจสอบจากหนังสือบ้าง เพราะช่วงนี้ใกล้สอบปลายปี  มีการเก็บคะแนนรายงาน และสอบนอกตาราง  อาจารย์จะงานเยอะมากค่ะ
บันทึกการเข้า
นวล
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 17 ก.พ. 02, 22:51

เห็นด้วยกับคุณเทาชมพูค่ะ
หากต้องการข้อมูลที่ละเอียด แม่นยำ และต้องลงลึกแล้ว
ทางที่ดีที่สุดก็คือ สอบถามกับแหล่งที่มาของข้อมูลนั้นโดยตรงค่ะ
ดิฉันเองก็เคยสอบถามหลายครั้งกับนักวิชาการในหน่วยราชการ
(รบกวนทางโทรศัพท์ด้วยค่ะ) ท่านทั้งหลายนั้น ก็ให้ความช่วยเหลือ
ให้ความกระจ่างด้วยดีเสมอมา
บันทึกการเข้า
ปลาตะเพียนน้อย
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 18 ก.พ. 02, 21:44

ขอบคุณทุกๆคนครับที่ช่วยเสนอความคิดดีๆเหล่านี้ ผมจะทดลองดูนะครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.041 วินาที กับ 19 คำสั่ง