เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 12013 ความพยาบาท ๑๑๖ ปี
ดร.แพรมน และ นายตะวัน
บุคคลทั่วไป
 เมื่อ 15 ก.พ. 02, 22:19

ไ้ด้ฟังคุณเทาชมพูเล่าถึง เรื่อง นวนิยาย เรื่องความพยาบาท ซึ่งเมื่อครั้งครบรอบ ๑๐๐ ปี ...มาฟีังกันคะ

  ความพยาบาทหนึ่งร้อยปี


ปี พ.ศ.๒๕๒๙ นั้นมีความหมายกับวงวรรณกรรมปัจจุบันของไทยอยู่ ๒ เรื่องด้วยกัน ถือเป็นการครบรอบหนึ่งร้อยปีของพระนิพนธ์เรื่อง สนุกนึก ของ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ซึ่งถือกันว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการนำแบบแผนการแต่งวรรณกรรมประเภทใหม่เข้ามาในเมืองไทย คือ นวนิยาย (หรืออาจจะเป็นเรื่องสั้น เพราะว่าเรื่องนี้แต่งไม่จบ)
ส่วนหนังสือที่ครบหนึ่งร้อยปีอีกเล่มหนึ่ง ที่น้อยคนจะรู้ คือการครบรอบหนึ่งร้อยปีของ ความพยายาม-ความพยาบาท เรื่องเดียวกับที่ “แม่วัน” หรือพระยาสุรินทราชาเป็นผู้แปล และผู้ศึกษาประวัตินวนิยายไทยหรือวรรณกรรมปัจจุบันย่อมจะรู้จักดี ในฐานะนวนิยายที่จบสมบูรณ์เรื่องแรกของไทย และนวนิยายแปลเรื่องแรกของไทยด้วย
ต่างจาก ความพยาบาท ของแม่วันอยู่นิดหน่อยที่ว่า ความพยาบาท ที่มีอายุครบหนึ่งร้อยปีนี้คือ ความพยาบาท ฉบับภาษาอังกฤษหรือที่มีชื่อเต็มว่า Vendetta! Or the Story of One Forgotten (โปรดสังเกตว่า นักประพันธ์ได้ใส่เครื่องหมาย “อัศเจรีย์” ไว้หลังชื่อด้วย) นวนิยายที่แต่งโดยนักประพันธ์สตรีชื่อ มารี คอเรลลีนี้ วางตลาดในอังกฤษเมื่อ พ.ศ.๒๔๒๙  เป็นนวนิยายเรื่องที่สองของเธอ และส่งชื่อเสียงของเธอให้โด่งดังขึ้น หลังจากนวนิยายเรื่องแรกคือ A Romance in Two Worlds ประสบผลสำเร็จในฐานะนวนิยายของนักเขียนหน้าใหม่มาแล้ว
สิบสี่ปีหลังจาก Vendetta! ออกวางตลาดเป็นครั้งแรก นักเรียนไทยคนหนึ่งซึ่งเคยไปเรียนที่อังกฤษ และมีความรู้ทางภาษาอังกฤษอย่างแตกฉาน ก็นำเรื่องนี้มาแปลเป็นไทยเป็นครั้งแรก นักเรียนไทยคนนั้นคือ พระยาสุรินทราชา หรือ “แม่วัน”
“แม่วัน” แปลเรื่องนี้ด้วยภาษาสมัยใหม่ ไพเราะ ได้อรรถรส ได้อารมณ์สะเทือนใจอย่างดีเยี่ยม แต่ว่าท่านไม่ได้แปลหมดทั้งเรื่อง คงแปลเฉพาะเนื้อเรื่องอันเป็นหัวใจสำคัญ การตัดรายละเอียดที่ท่านอาจจะเห็นว่าไม่จำเป็น หรือไม่เป็นที่เข้าใจของคนไทยในสมัยนั้นออกเสีย
ส่วนที่ท่านตัดออก คือเนื้อหาการสะท้อนสังคม และการวิจารณ์สังคมอังกฤษ-อันเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญประการหนึ่งของนวนิยายเรื่องนี้
ถูกแล้ว สังคมอังกฤษ ไม่ใช่สังคมอิตาเลียน
เนื้อเรื่องนั้นเป็นเรื่องที่สมมุติว่าเกิดในเมืองเนเปิลล์ ประเทศอิตาลี คอเรลลีได้อ้างเป็นคำนำ (ซึ่งไม่มีในฉบับแปล) ว่าเรื่องนี้ที่มาจากเหตุการณ์จริง สมัยเกิดโรคระบาดในเมืองเนเปิลล์เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๗ แต่ว่าเมื่ออ่านแล้ว จะเห็นว่าเนื้อเรื่องเป็นเรื่องชิงรักหักสวาทของชาวอิตาเลียนเลือดร้อนก็จริง หากแต่ส่วนประกอบคือบทวิพากษ์วิจารณ์สังคมที่แทรกอยู่เป็นระยะๆนั้นคือทรรศนะที่คอเรลลีมีต่อสังคมชั้นสูงของอังกฤษนั่นเอง ไม่ใช่สังคมอิตาเลียน
เมื่อเขียนนวนิยายเรื่องนี้ คอเรลลีเขียนขึ้นโดยไม่เคยไปประเทศอิตาลีมาก่อน หรือพูดให้ถูกคือเธอไม่เคยเดินทางออกนอกประเทศอังกฤษไปที่ไหนเลย ฉากในเมืองเนเปิลล์ที่ปรากฏในเรื่องนี้ก็ดี ฉากพระอาทิตย์เที่ยงคืนของประเทศนอรเวย์ ที่ปรากฏในนวนิยายเรื่อง เต็ลมา ก็ดี ล้วนแต่เป็นจินตนาการของหญิงสาวชาวอังกฤษ ผู้มีชีวิตอยู่อย่างแคบๆในบ้านชนบท รับการศึกษาจากคอนแวนต์ของแม่ชี ก่อนจะเริ่มอาชีพนักเขียนนวนิยายและกลายเป็นนักเขียนยอดนิยมตั้งแต่เรื่อง ความพยาบาท นี้เอง
ถ้าจะดูว่าทำไมคอเรลลีวิพากษ์วิจารณ์สังคมอังกฤษในนวนิยายที่ไม่น่าจะเกี่ยวกับอังกฤษที่ตรงไหน คำตอบอยู่ในพื้นฐานทางสังคมในยุคนั้นนั่นเอง เพราะผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์ของยุควิคตอเรียนตอนกลางและตอนปลาย คงจะจำกันได้ว่าพระราชินีนาถวิคตอเรียพระองค์นี้ทรงขึ้นครองราชย์ตั้งแต่ยังเป็นสาวน้อยและกลายเป็นแม่ม่ายเมื่อพระชนม์เพียง ๔๔ พรรษา หลังจากเจ้าชายพระสวามีสิ้นพระชนม์ไปแล้ว พระราชินีก็ทรงเป็นสตรีผู้ใหญ่ที่เคร่งครัดเข้มงวดทางด้านศีลธรรมจรรยาทำให้สังคมอังกฤษโดยเฉพาะสังคมชนชั้นกลาง ซึ่งค่อนข้างจะเคร่งครัดทางศีลธรรมมาก่อนหน้านี้แล้ว ยิ่งเจริญรอยตามพระราชนิยม เพิ่มความเคร่งครัดกันมากขึ้น คอเรลลีเองในฐานะชนชั้นกลาง ก็ได้รับอิทธิพลทางด้านนี้อย่างเต็มตัวเมื่อเขียนนวนิยาย เธอจึงสะท้อนความรู้สึกนึกคิดไม่พอใจความเสื่อมศีลธรรมของบุคคลบางกลุ่มที่มีอยู่ในฐานะสูงเด่นจนเป็นเป้าหมายการเพ่งเล็งได้ง่าย
บุคคลกลุ่มนี้ไม่ใช่ใครอื่น คือกลุ่มผู้ดีชั้นสูง พวกขุนน้ำขุนนางหรือเจ้านายบางองค์ที่ค่อนข้างจะใช้ชีวิตกันอย่างเสรี
บุคคลที่เป็นผู้นำของกลุ่มหนุ่มสาวทันสมัยนี้คือ พระโอรสพระองค์ใหญ่ของพระราชินีนาถวิคตอเรียหรือ ปรินซ์ออฟเวลส์ เป็นบุคคลเดียวที่พระราชินีทรงปรามเอาไว้ไม่อยู่ เรื่องที่ทรงโปรดความสนุกสนานหรูหราต่างๆ มีพระสหายและข้าราชการบริพารประเภทค่อนไปทาง “เพลย์บอย” และเรื่องที่ขาดไม่ได้ คือพระสหายสาวๆหลายคน บางคนก็เป็นผู้ดีมีตระกูล แต่ว่าบางคนก็เป็นนางละครเช่นนางละครคนสวยที่ชื่อ ลิลี่ เจอร์ซี่ เป็นต้น ดังนั้นเมื่อเจ้าชายเข้าเฝ้าพระมารดาทีไรก็มีเรื่องให้พระราชินีกริ้วเกือบจะทุกทีใครที่เคยอ่านเรื่อง พระราชินีนาถวิคตอเรีย ของ ว.ณประมวญมารค คงจะจำได้ดี
ปรินซ์ออฟเวลส์องค์นี้ ต่อมาขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๗ สวรรคตปีเดียวกับสมเด็จพระปิยมหาราชของเรา เมื่อดาวหางฮัลเลย์มาเยือนโลกครั้งนั้น
ดวงหางที่คุณเปรมปลุกแม่พลอยขึ้นมาดูดวงนั้นแหละ แล้วพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดองค์นี้อีกเหมือนกันที่คุณเปรม เก็บความมาบอกแม่พลอยว่า พระเจ้ากรุงอังกฤษสวรรคต
ย้อนกลับเข้าเรื่อง ความพยาบาท เสียที
ถึงแม้คอเรลลีไม่ได้ระบุลงไปว่าวิพากษ์วิจารณ์ปรินซ์ออฟเวลส์ แต่ที่แน่ๆคือเธอวิจารณ์ความเสื่อมศีลธรรมของผู้ดีชั้นสูงชาวอังกฤษ โดยเฉพาะเรื่องมากชู้หลายเมีย และตำหนิความเหลวแหลกของผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ตลอดจนความบกพร่องของกฎหมายอังกฤษ ที่อนุญาตให้ภรรยาผู้นอกใจสามีได้หย่าร้างกับสามีง่ายๆ ไม่ได้รับโทษทัณฑ์อย่างใดมากกว่านั้น
เหตุผลที่ว่า “แม่วัน” ตัดบทวิพากษ์วิจารณ์ในส่วนนี้ออกไปหมด ผู้เขียนเห็นว่าคงจะเป็นเพราะว่าท่านเห็นว่าเป็นรายละเอียดปลีกย่อยของเรื่อง ไม่ได้เกี่ยวกับเนื้อเรื่องโดยตรง และอีกอย่างหนึ่งสังคมอังกฤษหรือสังคมฝรั่งใดๆในสมัยนั้นย่อมเป็นเรื่องที่ห่างไกลจากความเข้าใจของคนในสมัยที่ท่านแปลหนังสือออกมาให้อ่าน ในเมื่อสังคมไทยสมัยนั้นมีนักเรียนนอกที่รู้จักสังคมฝรั่งอยู่นับคนถ้วนและมีผู้อ่านที่อ่านหนังสืออย่าง “ลักวิทยา” หรือ “ทวีปัญญา” อยู่เพียงกลุ่มเล็กๆกลุ่มเดียว
ท่านจึงแปลเฉพาะเนื้อเรื่องส่วนที่เกี่ยวกับชีวิตของเคานต์ฟาบีโอ โรมานี ซึ่งก็ได้อรรถรสครบถ้วนในส่วนที่เป็นเนื้อหาสำคัญของเรื่อง และเป็นวรรณกรรมร้อยแก้วที่ทรงคุณค่าทางวรรณศิลป์เรื่องหนึ่งจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
จะขอยกตัวอย่างการวิพากษ์วิจารณ์ความเสื่อมของสังคมอังกฤษ ตามที่คอเรลลีเขียนเอาไว้ใน ความพยาบาท มาให้ดูเป็นตัวอย่างสักตอนหนึ่ง
“…ลองหาหนังสือพิมพ์ของลอนดอนมาอ่านดูสักวันซี แล้วท่านจะพบว่าประเทศอังกฤษ ซึ่งเคยเคร่ง “ศีลธรรมจรรยา” นักหนา กำลังวิ่งแข่งสูสีกันไปเต็มฝีเท้ากับชาติอื่นๆ ที่หน้าไหว้หลังหลอกน้อยกว่านี้ในด้านความสกปรกโสโครกในสังคมไม่น้อยไปกว่ากันเลย กฎเกณฑ์ธรรมเนียมที่เคยล้อมกรอบขีดคั่นไว้ในครั้งกระโน้น บัดนี้ถูกทำลายหักสะบั้นลงแล้ว เหล่า”ผู้หญิงหากิน” ได้รับการต้อนรับออกสังคมอย่างออกหน้าออกตา ทั้งที่ปกติจะไม่มีกุลสตรีใดยอมอยู่ร่วมสมาคมด้วยเป็นอันขาด แต่เดี๋ยวนี้ บรรดาคุณหญิงและท่านผู้หญิงกลับเต็มอกเต็มใจไปลอยหน้าสลอนอยู่ในโรงละคร แต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่อวดรูปทรงโจ่งแจ้งที่สุดเท่าที่จะทำได้ ให้สาธารณชนได้มองตาเป็นมันกันตามสบาย หรือไม่ก็ไปร้องเพลงอยู่ในสังคีตศาลาเพื่อจะอวดรูปโฉมโนมพรรณของตนเอง ยอมรับการโห่ร้องตบมือกระทืบตีนอย่างป่าเถื่อนจากคนดูชั้นต่ำ โดยมิได้รู้สึกขัดเขินกลับยิ้มแย้มน้อมรับเสียอีกอย่างซาบซึ้ง
บันทึกการเข้า
ดร.แพรมน และ นายตะวัน
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 13 ก.พ. 02, 14:14

อนิจจา พระเจ้าทรงโปรดด้วยเถิด เหตุใดศักดิ์ศรีอันสูงส่งของแผ่นดินเก่าแก่แห่งนี้จึงกลับกลายไปได้ถึงเพียงนี้เล่า? ความถือตัวที่ทำให้คนอังกฤษรังเกียจการอวดตัวทุกชนิด และยึดเกียรติยศเป็นสรณะยิ่งกว่าชีวิตของตนเองหายไปเสียที่ไหน? ที่ร้ายยิ่งกว่านี้คือค่านิยมอันน่าตระหนกซึ่งยึดถือกันอยู่ในยุคสมัยนี้กล่าวคือ ถ้าสตรีใดเสียพรหมจรรย์ ก่อน แต่งงาน หล่อนจะไม่มีวันได้รับการอภัยโทษเป็นอันขาด บาปผิดของหล่อนก็ไม่อาจลบล้างได้เช่นกัน แต่หล่อนจะทำตัวเหลวแหลกอย่างใดก็ทำได้ เมื่อหล่อนมีชื่อของสามีเป็นโล่กำบังเรียบร้อยแล้ว สังคมรู้อยู่เต็มอกว่าหล่อนประพฤติชั่วช้า แต่ก็ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้เสียเฉยๆ”
หลังจาก ความพยาบาท ออกจำหน่ายเป็นครั้งแรกใน พ.ศ.๒๔๒๙ นวนิยายเรื่องนี้ประสบผลสำเร็จอย่างดี จดหมายหลั่งไหลกันเข้ามาชมเชยคนเขียนว่าได้สะท้อนและตำหนิติเตียนความเสื่อมศีลธรรม ความหน้าไหว้หลังหลอก ความเลวของหญิงที่นอกใจสามีและนวนิยายเรื่องนี้ได้ตีพิมพ์ใหม่เพิ่มขึ้นอีกหลายสิบครั้ง และพิมพ์เรื่อยๆมาแม้หลังจากคอเรลลีถึงแก่กรรมไปแล้วหลายสิบปี อย่างเช่นฉบับที่นำมาอ้างในนี้ เป็นฉบับที่พิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๐ โดยสำนักพิมพ์เมธูเอนแอนด์โค
แต่เนื่องจากผลงานของคอเรลลี เป็นงานที่นักวิจารณ์ร่วมสมัยและนักวิชาการตั้งแต่ปลายศตวรรษก่อนจนปลายศตวรรษนี้ไม่ยอมรับ เนื่องจากไม่เข้ามาตรฐานตามที่นักวิจารณ์และนักวิชาการได้กำหนดเอาไว้เมื่อเทียบกับนักเขียนร่วมยุคคนอื่นๆ จึงเป็นการยากที่จะค้นคว้าหางานของนักวิชาการที่ทำไว้เกี่ยวกับคอเรลลีมาเผยแพร่ได้ จะมีก็แต่สำนักพิมพ์เท่านั้นที่ตีพิมพ์นวนิยายของเธอออกมาอีกเรื่อยๆจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 13 ก.พ. 02, 18:13

อือม์...
เพิ่งจะเข้าใจ ขุนคลัง หรือ The Sorrow of Satan ได้ชัดๆ เดี๋ยวนี้เอง เรื่องนี้มารี คอเรลลีก็แต่งเหมือนกัน แต่ "อมราวดี" เป็นคนแปลในพากย์ไทย

ในเรื่องนั้นซึ่งต่อมามาเป็นแรงบันดาลใจให้เรื่อง เงา ของทมยันตีหรือโรสลาเรน ตัวเอกคือพญามารซาตานที่มาใช้ชีวิตปะปนกับมนุษย์ในสังคมชั้นสูง ในคราบของเจ้าชายผู้หรูหรา (เหมือนท่านชายวสวัตในเรื่องเงา ซึ่งแท้จริงเป็นพญามัจจุราชจำแลง) มีกล่าวถึงมกุฎราชกุมารอังกฤษขณะนั้นหลายตอนที่ผมไม่เข้าใจ ว่าทำไมมารซาตานจึงไปคบค้าสมาคมเฝ้าแหนใกล้ชิดกับปรินซ์ออฟเวลส์ได้ เพราะมารีเธอจะวิจารณ์เจ้าฟ้าชายรัชทายาทกรุงอังกฤษนี่เอง
บันทึกการเข้า
จ้อ
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1081

แต่งงานแล้วจ้า ...


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 14 ก.พ. 02, 05:40

มาลงชื่ออ่านครับ อิอิ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 14 ก.พ. 02, 10:28

ในชีวิตจริง   เจ้าชายเคยทรงอ่านงานของเธอหรือเปล่าก็ไม่ทราบนะคะ  แต่น่าจะเคย  แล้วก็ชอบ
คอเรลลีจึงได้รับเกียรติจากปรินซ์ออฟเวลส์อย่างสูง    ได้ร่วมโต๊ะเสวยหลายครั้ง  และทรงถือว่าเธอเป็น "มิตร" คนหนึ่ง แม้จะอยู่นอกกลุ่มของพระองค์ท่านก็ตาม

The Sorrows of Satan มีประวัติบันทึกไว้ว่า เมื่อออกจำหน่าย  เป็นนิยายที่มีจำนวนจำหน่ายสูงสุดเป็นประวัติการณ์...นับแต่มีกำเนิดนวนิยายเป็นต้นมาเมื่อศตวรรษที่ ๑๘
แต่พอพ้นรัชสมัยวิกตอเรีย  และต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑  งานของเธอถูกตัดสินว่า..เน้นศีลธรรมมากเกินไป    มาตรฐานศีลธรรมเปลี่ยน  ค่านิยมเปลี่ยน   แบบของวรรณกรรมเปลี่ยน   งานของเธอก็เสื่อมความนิยม
กลายเป็นงานที่นักวิชาการเรียกกันเหยียดๆ ว่า นิยายสำหรับประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง คือพวกอาณานิคม
ก็น่าเศร้าเหมือนกัน
ล่าสุด ดร. กิ่งแก้ว อัตถากร แปลเรื่อง A Roman to Two Worlds เสร็จแล้วกำลังพิมพ์  หลังจากท่านแปลเรื่องแรกคือ ชีวิตนิรันดร์ Life Everlasting
บันทึกการเข้า
ดวงเทียน/duangthien@hotmail.com
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 16 ก.พ. 02, 10:19

ตามมาอ่านหาความรู้เพิ่มเติมด้วยคนค่ะ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.051 วินาที กับ 19 คำสั่ง