เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 8095 เชิญคนที่ไม่เบื่อวิชาประวัติศาสตร์ มาคุยกันต่อ
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 07 ก.พ. 02, 07:45

สืบเนื่องจากตอนท้ายๆของกระทู้

href='http://www.vcharkarn.com/snippets/board/show_message.php?dtn=dtn5&ID=RW944'
target='_blank'>http://www.vcharkarn.com/snippets/board/show_message.php?dtn=dtn5&ID=RW944
/>
เชิญแลกเปลียนความเห็นตามอัธยาศัย
/>
-เราเรียนประวัติศาสตร์ไทยไปทำไม
/>
-ทำอย่างไรวิชาประวัติศาสตร์ถึงจะได้รับความสนใจมากกว่านี้
/>
-จะเรียนจะสอนกันแบบไหนดี

ฯลฯ
บันทึกการเข้า
คุณพระนาย
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 05 ก.พ. 02, 11:50

คือว่าเรียนไปทำไมนั้น ก็คงมีคนบอกแล้วว่าเราควรจะรู้ที่มาของเรา ก่อนจะก้าวต่อไป
แต่จริง ๆ ผมมีความคิดนะครับ คือจะว่าคิดเองคงไม่ใช่แต่ได้มาจากฝรั่งนั่นแหละครับ
เท่าที่ผมเห็น นั้น ฝรั่งมีสอนวิชาประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจคือ เค้าสอนเด็ก ๆ ให้รู้จักประวัติศาสตร์ด้วยการเล่นละครครับ คือสมมุติเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ขึ้นมาแล้วก็ให้เด็ก ๆ เล่น เป็นละครกัน อย่างเรื่องเทศกาล Thanksgiving ของฝรั่งเนี่ย เค้าก็ให้เด็กประถม(ผมคิดว่า)  มาแสดงละครกันไป หรือจะเป็นเหตุการณ์ประกาศอิสรภาพก็เช่นกัน ที่ใช้การเล่นละครเหมือนกัน แล้วก็หนังสือแบบเรียนประวัติศาสตร์ หรือแม้แต่วิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐานสำหรับเด็กฝรั่ง ก็จะเป็นการ์ตูน
คือ เป็นการปูทางให้วิชาประวัติศาสตร์ไม่น่าเบื่อมาก เพราะคนทุกคนคงไม่ชอบประวัติศาสตร์ แต่การสอนแบบสมมุติเหตุการณ์ กับอ่านหนังสืออ่านเล่น เด็กน่าจะไม่เบื่อมากนัก ส่วนเด็กที่เกิดประทับใจแล้วก็ชอบ ก็คงสนใจไปอ่านต่อเอาเอง
เด็กไทยบางคนรวมถึงผมเองรู้จักประวัติศาสตร์ ญี่ปุ่นจากการ์ตูนก่อนครับ แล้วผมเกิดสนใจก็เลยไปศึกษาเพิ่มเติมทีหลัง หลังจากชอบอ่านหนังสือก็เลยอ่านต่อไปเรื่อย ๆ แล้วก็เลยชอบอ่านไป
แต่สำหรับคนที่ไม่ได้ชอบการอ่าน ผมว่าวิธีการจูงใจด้วยการละเล่น การแสดงละคร อ่านเป็นการ์ตูน หนังสืออ่านเล่น น่าจะช่วยได้นะครับ คือให้สนุกกับมันก่อนจะได้ไม่รู้สึกเบื่อ
บันทึกการเข้า
ภูวง
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 05 ก.พ. 02, 12:06

เห็นคล้ายกันครับ ผมเองสนใจพุทธประวัติตั้งแต่เล็กๆเพราะรูปวาดของครูเหม เวชกร  ถ้าเราจัดทำหนังสือที่มีรูปภาพประกอบเรื่องราวทางประวัติศาสตร์  ก็เป็นการจูงใจได้ระดับหนึ่ง ยิ่งสมัยนี้ เทคโนโลยีก้าวไกล น่าจะทำประวัติศาสตร์ในรูปการ์ตูนก็ยิ่งดี
คนรุ่นใหม่ มักจะเป็นตัวของตัวเองสูงมากครับ บอกอะไรเขาก็มักจะต่อต้าน หลายครั้งต้องให้ได้บทเรียนของจริง ให้คนต่างชาติเขามาซักมาถามแล้วตอบเขาไม่ได้นั่นล่ะอาจจะรู้สึก
บันทึกการเข้า
ภังคี
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 05 ก.พ. 02, 12:13

ผมเจอหนักกว่าทีคุณนวลเล่าอีกครับว่าเรียนหลักภาษาไทยไปทำไม ยาก ยุ่ง แค่พูดได้อยู่ทุกวันก็ดีแล้ว
ผมเลยตอบว่าก็ตามใจ อยากเป็นคนที่ไม่มีทีมาคิดหรือจะมีที่ไป
อันที่จริงภาษาไทยมีหลักการเป็นเรื่องเป็นราวกว่าที่เราคิดไว้เยอะ การเรียงอักษรก็มีที่มาที่ไปแบ่งหมวดหมู่เป็นเรื่องเป็นราว
เฮ้อออ เอาเป็นว่าคิดทำประวัติศาสตร์ให้น่าสนใจขึ้นก็ดีแล้วครับ ไอ้เจ้ารุ่นที่โตมาแล้วนี่ปล่อยเลยตามเลยแล้วกัน ใครรักดีก็ดีกับตัวเข าใครไม่สนก็ได้บทเรียนเอง
บันทึกการเข้า
ถาวภักดิ์
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 05 ก.พ. 02, 14:41

ประวัติของเราก็คือส่วนหนึ่งในการเป็นตัวตนของเรา  ใครที่ต้องการคบกับเราเขาก็ย่อมอยากรู้จักความเป็นมา หัวนอนปลายเท้า  จะสมัครงานที่ไหนเขาก็ย่อมเรียกหา Resume
ประวัติศาสตร์ของชาติจึงมีความจำเป็นต่อชาติ  มิฉะนั้นความคงอยู่ของชาติก็สั่นคลอน ดูอย่างยิวสิ้นชาติไปสองพันปี ยังมีความมั่นคงในเผ่าพันธุ์ ความเชื่อ วัฒนธรรม จนสามารถรวมกันตั้งประเทศได้อีกครั้ง

เป็นธรรมชาติของมนุษย์อยู่แล้วที่ต้องการรู้ความเป็นมาของตนเองและบรรพบุรุษ  แต่ขั้นตอนในการได้มาซึ่งความรู้นั้นอาจทำให้น่าเบื่อจนผู้คนละความสนใจที่ควรไป

มีข้อเสนอประการหนึ่งที่อาจช่วยกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความสนุกในการเรียนประวัติศาสตร์ได้ เช่น ครูควรติดต่อกับโรงเรียนในต่างประเทศ(ทาง Internet) เพื่อจัดทำโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมทาง Internet กำหนดให้นักเรียนจับคู่สนทนากับนักเรียนต่างชาติ (อาจแบ่งเป็นกลุ่มก็ได้ตามความเหมาะสม) โดยตั้งหัวข้อให้ถามเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของแต่ละฝ่ายในหัวข้อที่ครูกำหนด ประโยชน์ที่จะได้ คือ
1.ได้รู้จักการใช้ Internet อย่างสร้างสรรค์
2.ได้รู้จักค้นคว้าเมื่อถูกถามจากเพื่อนต่างชาติอย่างกระตือรือร้นเพื่อไม่ให้ขายหน้าและอยากโอ้อวด
3.ได้พัฒนาการใช้ภาษาอังกฤษ
4.ได้พัฒนาการใช้คอมพิวเตอร์และ Internet
5.ใช้เวลาว่างอย่างสร้างสรรค์
6.อาจพัฒนาไปสู่ความรู้และการค้นคว้าด้านอื่นๆ เช่น ศาสนา ภูมิศาสตร์ การท่องเที่ยว วัฒนธรรม เป็นต้น
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 05 ก.พ. 02, 18:28

การเรียนการสอนประวัติศาสตร์ถ้าพิจารณาให้ดี ดูจะเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่ายเลยจริงๆ ชนชาติ(เชื่อว่า)ทุกชาติจะต้องมีสิ่งที่ไม่ใช่สิ่งที่น่าภูมิใจนัก(เมื่อยกเกณฑ์จริยธรรมในปัจจุบันเข้าไปจับ) การเรียนเพื่อศึกษาความเป็นมาของชาตินั้นจึงเป็นดาบสองคม เพราะถ้าเราละเลยหรือเบี่ยงเบนด้านมืดในประวัติศาสตร์ไป จะกลายเป็นว่าจุดประสงค์เพื่อรับใช้ลัทธิชาตินิยม

การรักชาติเป็นเรื่องที่ดี แต่การรักชาติแบบผิดๆอาจจะทำให้เรามีทัศนคติต่อเพื่อนบ้านที่ไม่ถูกต้อง ยกตัวอย่างเช่นแบบเรียนของญี่ปุ่นที่เบี่ยงเบนเรื่องของสงครามโลกครั้งที่ 2 จนดูเหมือนกับว่าญี่ปุ่นเป็นผู้ถูกรังแก จนเป็นเรื่องราวประท้วงจากชาติเพื่อนบ้าน หรือเรื่องที่ใกล้ตัวกว่านั้นอย่างแบบเรียนประวัติศาสตร์ไทยเองที่เน้นการสร้างภาพพม่าเป็นศัตรูตัวฉกาจทั้งที่สงครามครั้งสุดท้ายระหว่างไทยกับพม่าก็ผ่านไปมากกว่า 150 ปีแล้ว รวมถึงการพยายามยกเรื่องการเผาทำลายปล้นสะดมกรุงศรีอยุธยาของทัพพม่าเมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 โดยจงใจหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึงการขุดกรุของคนไทยผู้ยากแค้นในช่วงหลังสงครามซึ่งอาจจะเป็นการทำลายที่ให้ผลมากกว่าด้วยซ้ำ นอกจากนี้ยังมีการละทิ้งที่จะกล่าวถึงการเผาทำลายบ้านเมืองวัดวาอารามในกรุงเวียงจันท์ในสงครามเจ้าอนุวงศ์ในสมัยร.3 ไม่ผิดกับที่อยุธราเคยถูกทัพพม่ากระทำเมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 การสร้างภาพเขมรและลาวเป็นเพียงลูกไล่ของอาณาจักรสยามจนเป็นปมของสองชาติเพื่อนบ้านนี้ มาจนถึงประวัติศาตร์ยุคใหม่ช่วงสงครามโลกที่พูดถึงการเข้าร่วมกับญี่ปุ่นอย่างกระมิดกระเมี้ยนที่สุด แล้วจบลงด้วยการเป็นผู้ชนะของไทยในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองโดยเสรีไทย(และเช่นเคย หลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงพื้นที่ๆต้องยกคืนให้กับฝรั่งเศสและอังกฤษ รวมถึงค่าประติกรรมสงครามที่ต้องจ่ายในฐานะ "ผู้ชนะสงคราม?") ยังมีเรื่องใหม่กว่านี้ที่ขอยกเว้นไม่กล่าวถึงในที่นี้อีก

ประวัติศาสตร์ควรถูกชำระหรือไม่? ประวัติศาสตร์ที่ถูกชำระแล้วควรถูกเขียนลงในแบบเรียนอย่างถูกต้อง(และครบด้าน)หรือไม่? จำเป็นต้องอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นให้เด็กฟังหรือไม่?(เรื่องแต่ละเรื่องย่อมต้องมีเหตุผลของตัวเอง การอธิบายให้ผู้ใหญ่ฟังง่ายกว่าการอธิบายให้เด็กฟังอย่างแน่นอน)

ลองคิดมาถึงขนาดนี้ก็รู้สึกเห็นใจคนจัดทำหลักสูตรวิชานี้จริงๆ วิชาประวัติศาสตร์ไม่ธรรมดาเลย!!!
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 05 ก.พ. 02, 19:04

มาทักคุณถาวภักดิ์ครับ ดีใจมากที่พบกันอีก
เรื่องตามหัวข้อประเด็นกระทู้ ขอกลับไปนั่งนึกๆ ดูก่อนครับ

ผมเห็นด้วยกับจอมยุทธ CrazyHorse หลายจุดแต่ก็ไม่เห็นด้วยหลายจุด เรื่องสงครามโลกครั้งที่สอง ผมไม่ได้อ่านตำราประวัติศาสตร์ไทยเดี๋ยวนี้ จึงไม่ทราบว่าเขาเขียนให้เด็กไทยเรียนว่าอย่างไร แต่ที่ผมเรียนมานั้นรู้สึกจะไม่ได้ให้ความรู้สึกนั้น ผมจำได้ว่าได้รับรู้ว่าขณะนั้นไทย โดยรัฐบาลจอมพล ป. เข้าสงครามเข้าข้างญี่ปุ่น จำได้ด้วยว่าได้เรียนรู้ว่าโดยถูกบีบจากญี่ปุ่นอยู่ในที และมีกลุ่มคนไทยอีกกลุ่มคือ เสรีไทย ทำการต่อต้านญี่ปุ่น ไม่ได้รู้สึกว่ากระมิดกระเมี้ยน และฐานะของไทยหลังสงครามผมก็ไม่รู้สึกว่าเป็นผู้ชนะสงคราม จะชนะได้ยังไงในเมื่อรัฐบาลเราเข้าข้างญี่ปุ่นยังงั้น เพียงรู้สึกว่า เราไม่ได้เป็นผู้แพ้สงครามเต็มที่เท่านั้น เพราะอเมริกาสงสารเรา ซึ่งเรื่องนี้ต้องขอบคุณเสรีไทย

แล้วจะมาคุยอีกครับ
บันทึกการเข้า
นวล
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 05 ก.พ. 02, 19:23

นึกไม่ถึงว่า จะต่อยอดกันได้อย่างนี้
ดีใจค่ะ ที่ยังมีคน "ไม่เบื่อ" ประวัติศาสตร์กันพอสมควร

ขอเวลาไปย่อยของที่คุณๆ ทั้งหลายเขียนออกความเห็นมาก่อนนะคะ
แต่ขอตอบของคุณ CrazyHorse วรรคก่อนสุดท้ายว่า
ประวัติศาสตร์ควรมีการชำระ
และควรนำมาเขียนในแบบเรียนอย่างถูกต้อง และครบทุกด้าน
แต่ควรสอนเด็กอย่างค่อยไปค่อยไป เริ่มแต่นิดเหมือนสอนภาษาไทย
ส่วนจุดที่"อ่อนไหว"มากๆ ควรนำเสนอเมื่อเด็กโตขึ้นพอมีวุฒิภาวะ
ที่จะพิจารณาได้เองมากกว่า และถ้าเขาเริ่มสนใจมากขึ้น
เขาก็จะไปค้นหากันต่อไปเองแหละ ... อย่างที่เราๆ ค้นหาอ่านกันเองไงคะ
บันทึกการเข้า
ฝอยฝน
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 05 ก.พ. 02, 19:38

จำได้ว่าตอนเด็กๆ เคย ชอบวิชาประวัติศาสตร์ มากกว่า ภูมิศาสตร์ เพราะ ดูจะมีเรื่องราวที่ชวนให้สงสัย และอยากรู้อยากเห็นมากกว่า
แต่สิ่งแวดล้อม ก็ไม่ได้ส่งเสริมให้เราคิดถึงประวัติศาสตร์ในแง่มุมที่น่าสนใจ  คงจะเป็นอย่างที่กล่าวไว้ในความเห็นที่ 5 ว่าบางทีเราก็ได้รับรู้แต่ด้านที่ดีจนเกินไป  จนกรอบความคิดเราถูกจำกัด
....ไม่อยากจะกล่าวโทษวิธีการสอนมากนัก  แต่เชื่อว่าวิธีการเรียนการสอน มีส่วนในการกำหนด มุมมองของเราต่อประวัติศาตร์ เริ่มต้นที่ท่อง ปีพ.ศ. บ้าง ชื่อบุคคลสำคัญบ้าง  ไม่ค่อยมีใครชี้ และบอกให้เด็กๆ เชื่อมโยง ประวัติศาสตร์กับวิชาอื่นๆ เท่าใดนัก

เป็นได้ไหมว่า.... เรื่องราวทางประวัติศาสตร์  อาจจะน่าสนใจมากขึ้น  ถ้าเริ่มต้นจากการศึกษา ความผิดพลาดในอดีตที่ใกล้ตัวก่อน..??

 ก่อนหน้าที่มีโอกาสเข้ามาที่เวบบอร์ดนี้  ขอสารภาพว่า  การอ่านเรื่องราวทางประวัติศาสตร์  ของตัวเอง ยังอ่านเพียงแค่การรับรู้  เรื่องราวที่เกิดขึ้น  ไม่เคยกล้าคิดเลยเถิดไปว่า ในแต่ละบรรทัดของ พงศาวดาร ก็ดี  จดหมายเหตุ ก็ดี มีความนัยอะไรซ่อนอยู่บ้าง   ความอยากรู้อยากเห็น  ก็ยังไม่ค่อยมีมากมายนัก

เริ่มเห็นว่า ประวัติศาสตร์ น่าสนใจ และสนุก  ก็เพราะ หลายท่านที่นี่ คุยให้ฟัง  วิเคราะห์ให้เห็นปัญหา  ชี้ บางมุมของเหตุการณ์ให้คิดต่อ ทำให้การกลับไป อ่านหนังสือเล่มเดิม ที่เคยอ่านมาแล้ว ได้สนุกยิ่งขึ้น  และยังเข้าใจต่อเรื่องราวที่ผ่านมาในอดีต หลายมุมมากขึ้น  

ดังนั้น การที่มีกลุ่มคนมาคุยกันแบบนี้ ก็เป็นอีกหนทางที่ทำให้ประวัติศาสตร์น่าสนใจขึ้น  เชื่อว่าการสื่อสารตรงนี้ ก็มีส่วนช่วยได้มากทีเดียวค่ะ
บันทึกการเข้า
วรณัย
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 06 ก.พ. 02, 00:45

หากเปรียบเทียบเวลาของสิ่งมีชีวิตบนโลกตั่งแต่ " เริ่มแรก"
ประวัติศาสตร์ ก็จะเป็นเพียงแค่ "ความทรงจำทั้งหมดของ มนุษยชาติ " ในอดีต ที่ไม่จำเป็นต้องกลับไปค้นหาความจริง หรือไม่จริง เพียงเพราะนำมาเป็นความสำคัญในปัจจุบันเพียงเพราะจุดประสงค์ที่มีอคติ ที่แบ่งแยกตนเองออกจากความเป็นมนุษย์
หากแต่ต้องค้นหาความจริง และความไม่จริงของเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีตกลับมาเตือน กลับมาเล่า กลับมาสร้างความเจริญงอกงามและความถูกต้อง ในเวลา "ปัจจุบัน" และ"อนาคต" ของมนุษยชาติ

หากนับการเรียนการสอนในอดีต ที่มุ่งเน้นแต่เอา ความจริง ไม่จริง มาสร้างให้เกิดความสำคัญ เพื่อจุดประสงค์ใด ๆ ก็ตาม " ความทรงจำของมนุษยชาติ" หรือวิชา"ประวัติศาสตร์" ก็จะมีประโยชน์..จำกัดวงอยู่เฉพาะในความหมายหรือในจุดประสงค์นั้น ๆ...ก็เท่านั้น

หากประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ถูกแยกมาเพื่อจุดประสงค์ของความเป็น"ชาตินิยม"
ประโยชน์ก็คงวนเวียนอยู่ในความเป็นชาตินิยม ผลที่ได้รับ คือคนในชาตินั้น ๆ ยังคงมองผู้อื่น หรือมนุษย์ที่แตกต่างไปจากตนอย่างดูถูก เหยียดหยาม

หากประวัติศาสตร์และความทรงจำของมนุษยชาติ คือเรื่องราวที่ถักร้อยสิ่งดีงาม และเหตุผลของความเป็นจริง แบ่งแยกความเพ้อฝัน ตำนานอภินิหารออกจากเรื่องราวความเป็นจริง
แยกจุดประสงค์หรือสิ่งแฝงเร้นให้เห็นภาพของความเป็น"มนุษย์" ในอดีตอย่างแท้จริง โดยไม่เอาอคติและความเป็นตัวเราในวันนี้ไปกำหนด ไปสวมทับ ไปเป็นอดีตเสียเอง
สร้างจินตนาการจากเรื่องเล่า ตำนาน พงศาวดาร และนิทานท้องถิ่นต่าง ๆ เสริมสร้างเรื่องที่"ไม่จริง"ให้เป็นประโยชน์ต่อปัจจุบันและอนาคตในการสอน คติธรรม และสิ่งดีงามที่มนุษย์ในรุ่นต่อไปควรได้รับ

หากคิดว่า ประวัติศาสตร์ คือเรื่องราวของทุก ๆ คน ไม่ใช่เรื่องของชาติใดชาติหนึ่ง  เรื่องของดินแดน และไม่ใช่เรื่องของการกำหนดกฎเกณฑ์แล้ว

ประวัติศาสตร์ของผู้คนในประเทศไทย จะมีขอบเขตที่กว้างใหญ่ น่าสนใจ น่าศึกษา และมีจิตนาการที่สร้างสรรค์มากขึ้นกว่าที่เป็นมา

แต่หากเรายังคงใช้ประวัติศาสตร์ หรือ "ความทรงจำในอดีต" แบบของ"ชาติ" เราคนเดียว มีแต่อคติ อภินิหารและนำตำนานมากมายกกลับมาสร้างเป็นประวัติศาสตร์ของชาติ และนำประวัติศาสตร์เหล่านั้นกลับมาหลอกหลอนตัวเองอีกที
ให้ใช้วิธีอะไรก็ได้อีกมากมายในการสื่อ ในการสร้าง ในการนำเสนอ  ประวัติศาสตร์ก็ยังคงเป็นเพียงเรื่องราวของมนุษย์เพียงไม่กี่คน.....ที่มีแต่อคติและปราศจากซึ่ง "ความทรงจำของมนุษยชาติ"

ประวัติศาสตร์ จะถูกถ่ายทอดออกมาดีได้อย่างไร
คงต้องขึ้นอยู่ในใจและอคติของ"ผู้ถ่ายทอด"นั้นต่างหาก
ที่จะใช้ อคติและความเป็นชาติ หรือ จะถ่ายทอดความทรงจำที่ดีร่วมกันของมนุษยชาติ  ให้กับมนุษย์ในรุ่นต่อ ๆ ไป
บันทึกการเข้า
ปลาดุกไร้นาม
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 06 ก.พ. 02, 02:01

ขออนุญาตเอาเรื่องที่เคยได้โพสต์มาแล้วครั้งหนึ่ง มาตอบใหม่อีกครั้งนะคะ

.....ดิฉันคิดว่าน่าอยู่ที่การปลูกฝังให้เด็ก หรือ คนทั่วๆ ไป เห็นถึงรากลึกของคำว่า "ประวัติศาสตร์" อาจารย์
ผู้สอนควรถ่ายทอดให้เด็กรู้จักการวิเคราะห์เรื่องราว ซึ่งสิ่งที่สอนมีอยู่ในตำราแต่เด็กไม่ได้เรียนรู้ลึกถึงที่มา
ของหลักฐาน เนื่องด้วยระยะเวลาที่มีอยู่จำกัดถึงทำให้เป็นเช่นนั้นไม่ได้ และสิ่งที่สำคัญอยู่ที่ ความสนใจของ
เด็ก ว่าเด็กจะซึมซับแล้วรักสิ่งนั้นมากน้อยขนาดไหน ซึ่งเด็กสามารถหาหนังสือมาอ่านเพิ่มเติมได้ ยอมรับว่า
สมัยนี้มีหนังสือที่เกี่ยวกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ค่อนข้างน้อยและบางเล่มก็มีราคาสูง
ดังนั้นสิ่งที่เราพอจะหาได้ ก็คือ การเข้าห้องสมุดและหาอ่านตามแหล่งต่างๆ  

.....จริงๆ แล้วดิฉันอยากเสนอทางหน่วยงานของภาครัฐให้มีการสนับสนุนเรื่องมุมหนังสือประวัติศาสตร์
อยากให้มีหนังสือที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์อยู่ในห้องสมุดประชาชนมากๆ เพื่อที่คนจะได้มีโอกาสเข้าหา
ประวัติศาสตร์มากขึ้น อีกทั้งทางพิพิธภัณฑ์น่าจะมีการจัดวิทยากรที่มีความรู้มาอำนวยการบรรยาย
ให้คนที่เข้ามาได้รับรู้ เพื่อเป็นอีกทางที่จะซึมซับให้คนรักและภูมิใจในประวัติศาสตร์ของชาติเรามากขึ้น

.....มีประเด็นหนึ่งจากที่ดิฉันได้คุยกับพี่คนหนึ่งก็น่าคิด คือ เรื่องของอาจารย์ผู้สอน สอนแล้วผู้เรียน
ไม่เข้าใจหรือตามไม่ทัน ทางออกที่ดี คือ ควรวางมาตรฐานในการสอน ครูต้องรู้จริง แล้วก็ผลักดันให้
เด็กมองตามและคิดตามสิ่งนั้นให้ได้ค่ะ นอกจากนี้ควรมีการส่งเสริมวัฒนธรรมให้มากยิ่งขึ้น เพื่อที่เด็ก
จะรู้จักและเข้าใจในเรื่องนั้นมากขึ้น อีกทั้งวิถีชีวิตในอดีตก็ควรมีการประยุกต์ให้สอดคล้องกับยุคสมัย
ในปัจจุบัน เพื่อที่จะธำรงรักษาสิ่งดีๆ ของคนไทยให้สืบทอดต่อไป....

.....ดังนั้นการที่จะทำให้คนไทยหันมาสนใจ คือ การเริ่มปลูกฝังให้เด็กมีความเข้าใจและรักที่จะศึกษาหาความ
รู้ต่างๆ เพิ่มเติม นอกจากนี้คุณครูต้องมีบทบาทสำคัญในการผลักดันเด็กให้คิดตามและเห็นภาพ จึงจำเป็น
ต้องได้อาจารย์ที่มีความรู้จริงๆ ที่ไม่ใช่การเรียนรู้เพียงในตำราอย่างเดียวเท่านั้น
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 06 ก.พ. 02, 11:46

ขอบคุณสำหรับคำชี้แนะของคุณ นกข. ครับ ผมเอง(สมัยยังเป็นนักเรียน)อาจมองภาพประเทศไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างนั้น(หรือเกือบขนาดนั้น) เพราะมีความรู้สึกว่าแบบเรียนเน้นภาพของเสรีไทยชัดเจนมาก ในขณะที่กล่าวถึงการประกาศสงครามกับสัมพันธมิตรอย่างรวบรัด และยังจบโดยการหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึงสิ่งที่ไทยต้องชดใช้หลังสงครามโลก(ซึ่งต้องถือว่าไม่มากเลยจริงๆ ต้องขอบคุณเสรีไทย รวมทั้งการตัดสินใจของบุคคลที่เกี่ยวข้องหลายๆฝ่ายจนผลออกมาอย่างนี้)

เห็นด้วยกับประเด็นของคุณวรณัย และถ้าแนวคิดของคุณนวลที่ว่า
...ควรสอนเด็กอย่างค่อยไปค่อยไป เริ่มแต่นิดเหมือนสอนภาษาไทย
ส่วนจุดที่"อ่อนไหว"มากๆ ควรนำเสนอเมื่อเด็กโตขึ้นพอมีวุฒิภาวะ...
โดยสรุปคือการปรับจุดมุ่งหมายทางการศึกษาวิชานี้เสียใหม่ จากที่ให้มีความภูมิใจในชาติ(พร้อมราวีพม่าทุกเมื่อ แต่เบือนหน้าหนีเมื่อได้รับคำของร้องให้ใช้สินค้าไทย) เป็นมีความเข้าใจในชาติ มีความเข้าใจในประเทศเพื่อนบ้าน เข้าใจมนุษยชาติ ผมอยากให้เด็กรุ่นใหม่รังเกียจสงครามมากกว่าที่รังเกียจศัตรูของชาติอย่างปัจจุบัน

เอ๊ะ... ในที่นี้มีใครที่ยื่นมือเข้าไปทำได้ไหมครับ?
บันทึกการเข้า
ชาวบ้าน
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 06 ก.พ. 02, 13:12

ผมดีใจที่หลายท่านได้มีความห่วงใยในเรื่องนี้ และได้ช่วยกันทำให้สิ่งนี้มีคุณค่าขึ้นมา หลังจากที่มีคนไทยบางคน บางหมู่ บางเหล่า ในสมัยหลังนี้มีความรู้สึกที่ไม่ค่อยดีต่อบรรพบุรุษของไทยไปเสียเกือบจะทุกเรื่อง และเห็นอกเห็นใจเพื่อนบ้านเกินพอดี ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ ในสมัยนี้ บ้านมืองอยู่เย็นเป็นสุขไม่มีภัยสงครามอย่างที่บรรพบุรุษไทยประสบมา และเห็นว่าประวัติศาสตร์ เป็นเรื่องของการสดุดีบรรพชน

ถ้าเราศึกษาความเป็นมาและวิถีชีวิตไทยให้ดี เรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในวิชาประวัติศาสตร์ไทยซึ่งเป็นที่รังเกียจกันค่อนข้างมากในยุคปัจจุบัน แต่ไปดูในจารีตประเพณี วัฒนธรรม กฎหมาย(เช่นในกฎหมายตราสามดวง) จะได้คำตอบที่ค่อนข้างชัดเจนว่า การที่เราคงความเป็นไทยมาได้จนถึงทุกวันนี้ ก็เพราะเรามีมาตรการดังกล่าวอย่างค่อนข้างจะเข้มข้น มิฉะนั้น เราก็อาจจะมีสภาพไม่ต่างไปจากบรรดาประเทศที่บ้านแตกสาแหรกขาดที่เห็นๆกันอยู่

เคยมีผู้ให้ข้อสังเกตว่า บรรดาผู้ที่มีอคติต่อประเทศของตนเอง แล้วไปนิยมบูชาประเทศอื่นที่มิได้หวังดีต่อประเทศเรามีพฤติกรรมที่เห็นได้ชัด เขาเหล่านั้นดูไปให้ดีอาจจะเป็นพวกที่ทางโบราณไทยกล่าวเปรียบเปรยเอาไว้ว่า กินบนเรือนขี้บนหลังคา ก็ได้ เพราะในสมัยหลังสงครามมหาเอเซียบูรพามีผู้ที่ได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารจำนวนไม่น้อย จากทั่วสารทิศ มาเป็นคนไทยตามกฎหมายแต่ใจเขายังไม่เป็นไทยยังเป็นอย่างเดิมที่เขาเคยเป็นอยู่ เพราะถ้าเป็นคนไทยที่รักษาแผ่นดินไทยสืบต่อกันมา เขาจะไม่คิดอย่างนั้นและมีพฤติกรรมในรูปแบบนั้น
บันทึกการเข้า
วรณัย
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 06 ก.พ. 02, 14:52

อาจจะต้องคำถามกันอีกครั้ง นะครับว่า
ประวัติศาสตร์ไทย เริ่มเมื่อไหร่
ประวัติศาสตร์ของสยาม เสียน เสียม  เริ่มเมื่อไหร่
ประวัติศาสตร์ของกลุ่มชน(ชาติพันธุ์) เริ่มเมื่อไหร่
ประวัติศาสตร์ของภูมิภาคเริ่มเมื่อไหร่
ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติเริ่มเมื่อไหร่

สำหรับผม วิชาประวัติศาสตร์ เริ่มต้นเมื่อวันที่เราเริ่มรู้จัก โฮโม อิเรคตัส "มนุษย์ผู้เดินตัวตรงบนขาทั้งสองข้าง"
ผมกำลังตามหาร่องรอยของเขาในซุนด้า - ซาอูล ทวีปเอเซีย โดยไม่สนใจว่าเขาเป็นคนไทยหรือเปล่า
ร่องรอยของเขาที่ปรากฏที่เขาป่าหนาม ที่ลำปาง ร่องรอยของเขาที่ทำไว้ตามหมู่ถ้ำต่าง ๆ ใน ดินแดนทั่ว"สวนสวรรค์ของเหล่าสรรพสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม" (เส้นศูนย์สูตร)
ทำให้ต้องใช้ความรู้ในหลากหลายวิชา ที่ต้องมา"สร้างสรรค์" สร้างจินตนาการและความ"ถูกต้อง"
ประวัติศาสตร์ของผม ก็เลยต้องกลายมาเป็นเรื่องราวของ"ความทรงจำในอดีตของมนุษย์ชาติ" เวลาที่กว้างขวางกว่า  5 แสน - 1 ล้านปี และมิติที่ลึกกว่าประวัติศาสตร์ของชาติ ทำให้ผม ที่เรียนรู้ที่จะมีมุมมองในความเข้าใจมากขึ้นกว่าการมองในแนวราบ ที่มีแต่"จุดประสงค์"ของประวัติศาสตร์กำกับอยู่

หากไม่มีหมู่คนในยุคสำริด และการเคลื่อนไหว - เคลื่อนย้าย ของกลุ่มชาติพันธุ์ในอดีต จะมีประวัติศาสตร์ของกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่าสยามไหม จะมีประวัติศาสตร์ของกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า ไทย ไหม
หากจะศึกษาประวัติศาสตร์ ก็ควรแยกบริบทของ"วัฒนธรรม" ออกจากประวัติศาสตร์ เพราะแต่ละกลุ่มชนล้วนมีวัฒนธรรม และทุกวัฒนธรรมในหลาย ๆ กลุ่มชนนั้นต่างหาก ที่ประกอบขึ้นมาเป็นชาติ มาเป็นประเทศไทย  นี่คือการมองลงไปสู่ประวัติศาสตร์ระดับ"รากเง่า"ของมนุษย์

หากยังยอมรับว่า ชาวโยธยาไม่ใช่ชาว"ไทย" ไม่ได้ (เพราะชาวโยเดียถูกกวาดต้อนไปมัณฑะเลย์ในคราวสมภูมิสุริยาสน์อัมรินทร์ 2310)

ชาวไทยทุกวันนี้มาจากชนชาติพันธุ์มากมายที่ผ่านการเพาะบ่ม ผสมผสาน ผสมกลมกลืน จนวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละกลุ่มชนได้กลายเป็นวัฒนธรรมไทย
ประวัติศาสตร์ไทยก็คงจะเป็นเรื่องราวเพียงเพื่อ ครอบงำจากผู้ปกครองลงไปสู่ชนชั้นปกครอง เหมือนในอดีต
ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ไทยที่สอนให้ คน มองเห็นรากเง่าและความเป็น "จริง"ของคนร่วมกัน

ที่เรากำลังต่างแสวงหากันในอนาคต
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 06 ก.พ. 02, 16:44

อ่านความคิดเห็นของคุณวรณัยแล้วนึกถึงข้อเสนอของไมเคิล ไรท์เมื่อหลายปีที่แล้วว่าน่าจะมีการแยกสาขาวิชา ไท(ย)ศึกษา และสยามศึกษา ออกจากกัน แล้วเราจึงจะเข้าใจความเป็นมาของ "ไทย" ได้ชัดเจนขึ้น
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.09 วินาที กับ 19 คำสั่ง