เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 3456 เริ่มดีก็ไปได้สวย
ดร.แพรมน และ นายตะวัน
บุคคลทั่วไป
 เมื่อ 31 ม.ค. 02, 06:29

สัปดาห์นี้ มีเื่รื่ื่องเล่าจากคุณเทาชมพูมาให้อ่านกันเจ้าคะ "เขาว่าเริ่มดีก็ไปได้สวย จบดีประทับใจตราตรึงใจคน"

ตอนเริ่มต้นและตอนจบ
ความงามที่มากับความยาก



   
การเขียนนิยายหรือการเขียนบทละครหรือบทภาพยนตร์นั้น ส่วนที่ทำให้เรื่องดึงดูดใจคนอ่านและคนดูได้มากที่สุด ก็คือ ตอนเริ่มต้นและตอนจบ
   
ส่วนกลางๆเรื่องพอลุ้นกันได้ ถ้าหากว่าขึ้นต้นได้สวยเสียอย่าง
   
การขึ้นต้นที่สวยไม่ได้หมายถึงการพร่ำพรรณนาโวหารหวังให้ไพเราะเพราะพริ้งสำหรับบทประพันธ์ และไม่ได้หมายถึงการไปไล่ถ่ายเอาภูมิประเทศงามๆหรือเอาพระเอกนางเอกมาแสดงความหล่อความสวย เพื่อเปิดเรื่องสำหรับหนังและละคร แต่หมายถึงการปูพื้นเข้าสู่หัวใจของเรื่องได้อย่างเหมาะเจาะกลมกลืนเร้าความสนใจของคนอ่านคนดู บอกเป็นนัยให้รู้ว่าต่อไปจะประสบพบเห็นอะไรอันเป็นจุดใหญ่ใจความในเรื่อง หรือผูกปมบอกใบ้เอาไว้ให้สงสัย ฉงนสนเท่ห์หากว่าเป็นเรื่องลึกลับ สอบสวน
   
การเตรียมตัวเข้าสู่เรื่องได้อย่างเหมาะเจาะ รับกันแก่นของเรื่องเช่นนี้คือการวัดฝีมือคนเขียนกันทีเดียวว่ามีศิลปะมากน้อยแค่ไหน
   
ใน แมคเบธ หนึ่งในสี่โศกนาฏกรรมยิ่งใหญ่ของเชกสเปียร์ ฉากแรกเปิดขึ้นตอนแมคเบธและเพื่อนเพิ่งกลับจากสนามรบมุ่งหน้าไปสู่ปราสาทของตน แล้วพบแม่มดทั้งสามเข้าระหว่างทางพอดี อากาศในตอนแรกปลอดโปร่ง แต่พอมาถึงตอนนี้ก็กลับมืดครึ้มขมุกขมัวเต็มไปด้วยกลิ่นอายความลึกลับน่าสะพรึงกลัว แม่มดก็ปรากฏกายขึ้นพร้อมด้วยคำทำนายประหลาดซึ่งเป็นการบ่งชี้ชะตากรรมของแมคเบธต่อไปภายหน้าว่าจะได้เลื่อนยศสูงขึ้นไปเป็นลำดับ จนได้ครองบัลลังก์ในที่สุด
   
เชกสเปียร์เปิดเรื่องขึ้นด้วยการปูพื้นเข้าสู่หัวใจของเรื่องได้อย่างครบถ้วน เพียงเห็นฉากแรก คนดูก็รู้แล้วว่าเรื่องนี้ไม่ใช่สุขนาฏกรรม การเผชิญหน้าระหว่างขุนศึกและแม่มดนั้นไม่นำไปสู่ความเบิกบานอย่างแน่นอน แม้ว่าคำทำนายจะบอกว่าแมคเบธได้เป็นใหญ่ แต่คำทำนายจากแม่มดถ้าฟังดีอย่างไรก็ยังเหมือนคำสาปแช่งอยู่นั่นเอง ไม่มีวันเป็นพรนางฟ้าไปได้ เราจะสัมผัสความมีเกียรติน่านับถือของแม่ทัพระคนกับความเลวร้ายเป็นเงาดำคุกคามดังพบเห็นตั้งแต่ฉากแรกของละครเลยทีเดียว
   
ถ้าหากว่าเชกสเปียร์เลือกเหตุการณ์ตอนอื่นๆในชีวิตของแมคเบธมาเป็นตอนเปิดเรื่อง เช่นไปเปิดฉากที่งานเลี้ยงรื่นเริงในปราสาทของแมคเบธในค่ำวันเดียวกันหรือเลือกฉากสนามรบขณะทหารทั้งสองฝ่ายโรมรันดุเดือด จริงอยู่ ต่อไปก็เข้าสู่เนื้อเรื่องได้ไม่เสียเนื้อเรื่อง แต่สิ่งที่เสียไปคือบรรยากาศอันเหมาะสมในการดึงดูดใจคนให้เข้าสู่เรื่องได้นั่นเอง
   
เหมือนกับว่าเราอาจจะเปิดเรื่องซูเปอร์แมน โดยจับเอานางเอกนุ่งบิกินีเล่นโต้คลื่นอยู่สัก ๕ นาทีก็ได้ ต่อไปก็เข้าเรื่องซูเปอร์แมนได้เหมือนกัน แต่บรรยากาศเสียไปไหมเล่า เพราะคนดูมองไม่เห็นอะไรเกี่ยวกับซูเปอร์แมนในส่วนโค้งส่วนเว้า หรือความงามของชายทะเลสักนิดเดียว แถมอาจจะนึกด่าผู้เขียนบทด้วยซ้ำว่าหลอกกันง่ายๆหรือไง
   
ละครโทรทัศน์หลายๆเรื่องจึงไม่ค่อยยืดยาดอืดอาดในตอนต้น แต่จะมุ่งเข้าสู่ประเด็นใหญ่เพื่อให้คนดู “ติด” เสียก่อน ส่วนที่จะยืดเยื้อมักเป็นตอนกลางเรื่อง ส่วนใหญ่ก็เปิดตัวดาราผู้แสดงกันให้เห็นเสียตั้งแต่ตอนแรก ถ้า ๕ ตอนแล้วนางเอกยังไม่ออก ๑๐ ตอนแล้วพระเอกยังไม่โผล่ ออกมาแต่ตัวประกอบ เชื่อได้เลยว่าพอถึงตอนที่ ๑๑ ละครก็เจ๊งพอดี คนดูจะไม่ทนการปูพื้นเรื่องนานถึงขนาดนั้น
   
ในเมื่อการเปิดเรื่องสำคัญเช่นนี้ ในนิยายและละครหลายเรื่องจึงไม่อาจดำเนินเรื่องตามเวลาในปฏิทินได้ แต่จะพุ่งเข้าสู่เหตุการณ์ปัจจุบันที่สำคัญ แล้วค่อยย้อนอดีต (flashback) แสดงความเป็นมา หรือเหตุจูงใจจากอดีต เพื่อความเข้าใจเนื้อเรื่องและตัวละครในภายหลังอย่างเรื่อง กามนิต ของ เสฐียรโกเศศ และนาคะประทีปก็เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ฉากเริ่มแรกบอกให้รู้ว่าเรื่องนี้เป็นนิยายเกี่ยวกับพุทธศาสนา จึงเปิดขึ้นเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงปัญจคีรีนคร และพบกามนิตเมื่อละทิ้งบ้านเรือนมาเป็นผู้แสวงบุญ แล้วกามนิตจึงได้เล่าความเป็นมาให้รับรู้
   
แต่ในละครไทยหลายเรื่อง นักเขียนบทมักเกรงว่าผู้ดูจะสับสน จึงลำดับเวลาไปตามปฏิทินเลยทีเดียว เราจะเห็นในหลายเรื่องว่านางเอกในวัยเด็กต้องอยู่ในตอนแรก แล้วต่อมาก็ค่อยโตเป็นสาว และเป็นสาวใหญ่ไปตอนถัดไป ไปแก่ในตอนต่อไปอีก ฯลฯ บางทีก็เลยไม่เห็นว่าเหตุการณ์ไหนสำคัญที่สุด เพราะต้องมัวเรียงลำดับเวลากันอยู่เช่นนี้
   
นวนิยายเรื่องหนึ่งในปัจจุบันนี้ที่เห็นว่าเปิดฉากได้ดี และเข้าสู่บรรยากาศของเรื่องได้ตามเป้าหมายคือ หลงไฟ ของกฤษณา อโศกสิน ผู้แต่งเลือกฉากโรงแรมหรูหราทางภาคใต้ในช่วงวันหยุดเป็นฉากเปิดตัวก้านแก้ว สาวเอสคอร์ทชั้นสูงผู้มีปริญญา(จริงๆ) พ่วงท้าย และเศรษฐีหนุ่มใหญ่เมียเผลอซึ่งเป็นลูกค้าของเธอ เพียงเริ่มต้น คนอ่านก็ได้สัมผัสบรรยากาศชีวิตของก้านแก้วได้ แล้วว่า “ไฟ” ที่เธอ “หลง” เข้าไปจนเผาไหม้เธอเป็นจุลนั้นเป็นอย่างไร
   
ก้านแก้วหลงใหลชีวิตหรูหราแต่เปลือก ได้พัก ได้กิน ได้ดื่มอย่างผู้ดีมีเงินก็รู้สึกว่าเป็นกำไรชีวิตแล้ว เนื้อตัวของเธอไม่นับเป็นต้นทุน ประสบการณ์นับเป็นกำไรลูกเดียว พร้อมกับเงินที่เพิ่มพูนขึ้นความทะยานอยากก็พอกพูนเหมือนสนิมจับท่อน้ำ ความฉลาดในฐานะบัณฑิตไม่ได้ช่วยให้ก้านแก้วได้สติในการดำเนินชีวิตเพราะมีแต่ความหลงเงินทองและความฟุ้งเฟ้อ ตลอดจนหลงว่าวันหนึ่งผู้ชายโง่ๆแต่มีเงินสักคนจะทำให้ความเพ้อฝันของเธอเป็นจริง ทั้งที่ผู้ชายที่เธอกิน ดื่ม นอน และรับเงินจากเขาก็พิสูจน์ให้เห็นในฉากแรกแล้วว่าผู้ชายทั้งหลายที่คบผู้หญิงอย่างเธอย่อมฉลาดกว่าเธอมากมายนัก
   
กฤษณา อโศกสิน บอกนัยให้ชวนคิดตั้งแต่ฉากแรกโดยไม่ได้เผยออกมาหมดเปลือกว่าเรื่องนี้จะจบอย่างไร เพียงแต่แนะนำแก่นเรื่อง และชักจูงใจให้ติดตามไปจนถึงตอนจบว่าจะต้องจบแบบนี้…ถึงชวนสลดหดหู่อย่างไรก็ต้องยอมรับว่ามันต้องจบแบบนี้
   
ก็หวังว่าเมื่อถ่ายทอดออกมาเป็นหนัง คงจะไปได้อย่างงดงามหมดจด มีความสะเทือนอารมณ์ กระตุ้นให้เกิดการใคร่ครวญขบคิดแม้เรื่องจบลงแล้ว ไม่ใช่หนังประเภท โหด เลว เซ็กซ์
   
เมื่อเริ่มต้นได้ดีก็เท่ากับประสบความสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง ถ้ายิ่งจบได้สวยละก็ เอาไปเลย ไม่รางวัลมหาชน ก็รางวัลจากคณะกรรมการ ไม่มีพลาดหรอก
   
การจบได้สวยไม่ได้หมายถึงจบลงด้วยความผาสุกระหว่างพระเอกนางเอก วรรณกรรมที่ตราตรึงคนอ่านเป็นระยะเวลายาวนานมักเกิดจากตอนจบที่ไม่สมหวังคือไม่สมหวังทั้งพระเอกนางเอกและคนดู นับเฉพาะของไทยก็มีมาแต่โบราณ ตั้งแต่ ลิลิตพระลอ มาจน ข้างหลังภาพ หลายคนก็ยังสะเทือนใจแทนพระลอและเพื่อนแพง ตลอดจนคุณหญิงกีรติ ผู้อาภัพ
   
เมื่อมาร์กาเร็ต มิทเชล ผู้แต่ง วิมานลอย ตัดสินใจจบเรื่องด้วยการให้พระเอกหมดเยื่อใยลาจากนางเอกไปในตอนจบ ปรากฏว่ามีจดหมายหลั่งไหลเข้ามาถามว่า เรื่องนี้จะมีภาคสองไหม พระเอกนางเอกจะกลับมาคืนดีกันหรือเปล่า ถ้าหากว่าผู้แต่งไม่ถูกรถรางชนตายต่อมาภายในเวลาไม่กี่ปีเธอก็คงจะได้รับคำถามนี้ต่อไปเรื่อยๆจนแก่ตายไปเอง
   
วิมานลอย เป็นวรรณกรรมดังของอเมริกาและเป็นหนังอมตะมาจนทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งก็คือตอนจบที่ไม่สมหวัง
   
ไม่เชื่อลองแก้บทหนังหรือบทสุดท้ายในนิยาย ให้พระเอกหันมาอีกทีแล้วนางเอกกับพระเอกก็วิ่งแบบสโลว์โมชั่นโผเข้ากอดกัน ค่าของเรื่องนี้อาจจะลดลงเหลือสามเล่มสิบบาท แล้วคนเป็นจำนวนมากก็อาจรู้สึกว่าอ่อนเสียเหลือเกินสำหรับเรื่องที่ดำเนินมาด้วยดีตั้งแต่ต้น
   
ลิลิตพระลอ จบลงด้วยความตายอย่างงดงาม สมขัตติยะมานะของกษัตริย์ ต่อมามีการแต่ง พระลือให้จบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง เพื่อมิให้คนผิดหวัง ผลก็ออกมายังงั้นๆ ไม่มีใครเอ่ยถึง อาจจะตายสนิทไปแล้วก็ได้
   
คู่กรรม จบลงอย่างงดงามให้พระเอกสิ้นใจในอ้อมแขนนางเอก หลังจากเข้าใจกันเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้าย น้ำตาคนดูและคนอ่านหลั่งรินให้ “พ่อดอกมะลิ” มากว่า ๒๐ ปีแล้ว แต่ถ้าพระเอกญี่ปุ่นและนางเอกไทยคู่นี้จบลงด้วยความหวานชื่น ก็ไม่มีกล่าวขวัญถึง
   
ตอนดูหนังเรื่องหนึ่งที่จบได้สวยงามประทับใจยิ่ง คว้ารางวัลออสการ์ของฮอลลีวู้ดไปแล้วด้านบทภาพยนตร์ดีเด่นคงนึกออกว่าคือ Dead Poet Society หรือ “ครูครับ เราจะสู้เพื่อฝัน” เคยดูหนังประเภทลูกศิษย์และครูมาแล้วหลายเรื่อง ไม่เคยเห็นเรื่องไหนเขียนบทได้เยี่ยมและจบอย่างละเอียดอ่อนเช่นนี้เลย
   
เสียดายอยู่หน่อยที่ไม่ได้ดูหนังโรง แต่ไปเช่าวีดีโอมาดู ได้ม้วนที่พากย์ไทย เลยเจอการแปลคำว่า Dead Poets Society ว่า “ชมรมกวีนิรนาม” และในตอนจบ เมื่อเด็กนักเรียนค่อยๆลุกขึ้นยืนบนโต๊ะทีละคน ทีละคน ไม่มีใครพูดอะไร มีแต่สายตาซึ่งบอกความเข้าใจอย่างถ่องแท้ระหว่างครูและลูกศิษย์จนคนดูหน้าจอลำคอตีบตันไปกันหมด เสียงดนตรีประกอบนั้นก็แผ่วเบาเหมือนเสียงหัวใจเต้นประสานกันระหว่างครูและนักเรียน เพื่อนกับเพื่อน ฉับพลันก็มีเสียงผู้พากย์สอดแทรกขึ้นมาด้วยความหวังดี เกรงว่าจะเงียบเชียบเกินไป หรือคนดูดูไม่รู้เรื่อง
   
“เอาละวะ เป็นไงเป็นกัน”
   
“ไล่ออกจากโรงเรียนก็ยอมละวะ”
   
“ครูคร้าบ เราจะสู้เพื่อฝันของครูได้เป็นจริงละคร้าบ”
   
หมด ต้องลุกไปปิดเสียงแล้วกลับมาดูแต่ภาพ ประทับใจตอนจบจนต้องเอ่ยถึง
   
ตอนจบของเรื่องนี้งดงามมากเพราะอะไร เพราะว่าคนเขียนบทฉลาดพอจะไม่ตกขอบลงไปในด้านใดด้านหนึ่งอย่างที่เห็นกันง่ายๆ ว่าไม่สุขก็ทุกข์ ไม่แพ้ก็ต้องชนะ เรื่องนี้จบลงแบบไม่สมหวัง แต่ว่ามีหวัง เทียนที่ครูจุดให้ลูกศิษย์ไม่มีวันดับ และโลกก็ยังหมุนต่อไปได้ แม้ไม่ใช่ด้วยความสมหวัง แต่ก็ด้วยความหวัง ซึ่งเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจมนุษย์มาตั้งแต่ถือกำเนิดจนสิ้นชีวิต
   อีกข้อหนึ่งที่ติดใจ และทำให้รู้สึกว่าภาพยนตร์หรือละครได้เปรียบนวนิยายเอาจริงๆ ก็คือการแสดงด้วยภาพเพียงไม่กี่วินาที แต่มีความหมายประทับใจเกินกว่าการบรรยายนับร้อยนับพันคำ มุมกล้องในตอนจบสวยมาก กล้องมองจากประตูที่ครูยืนอยู่ เป็นมุมทแยงมองเข้ามาในห้องเรียน มองเห็นเด็กนักเรียนลุกขึ้นยืนบนโต๊ะ รวมกันเข้าแล้วเป็นกลุ่มคล้ายรูปสามเหลี่ยม เด็กคนที่ยืนหน้ากล้องอยู่ตรงมุมแหลมตรงยอดพอดี พุ่งตรงมายังคนดู มองดูแล้วเป็นรูปทรงคล้ายหัวลูกศร หรือหัวหอก ซึ่งปลายแหลมเป็นสามเหลี่ยมพุ่งตรงมา มองเห็นความแหลมคมและพลังที่จะแหวกสู่ข้างหน้าพุ่งตรงสู่เป้าหมาย ถ้าหากว่ากล้องไปจับตรงมุมอื่นของห้องก็จะมองไม่เห็นรูปนี้เลย เห็นเพียงเด็กยืนกระจัดกระจายอยู่ตรงโน้นบ้างตรงนี้บ้าง ขาดพลังแหลมคมและแรงกล้าอย่างที่ต้องการสื่อ
   
เริ่มต้นสวย จบสวย ก็เอาไปจริงๆ รางวัลตุ๊กตาทอง
บันทึกการเข้า
ศศิศ
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 29 ม.ค. 02, 23:17

ขอบคุณมากครับ ที่นำเรื่องที่ดี ๆ มาเล่าสู่กันฟัง
เรื่องราวที่จบแบบโศกนาฏกรรม นั้นเป็นที่โปรดปรานของศศิศ ยิ่งนักแล
บันทึกการเข้า
ภาธร
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 30 ม.ค. 02, 12:43

พึ่งมีเวลามาอ่านกระทู้นี้ครับ
ผมชอบ Dead Poets Society มาก ไปดูที่แมคเคนนาสองครั้ง เป็นหนังในดวงใจของอีกหลายคน สมัยนั้นดีใจมากที่มีกลุ่มวัยรุ่น(ซึ่งตอนนี้เป็นผู้ใหญ่พอสมควรแล้ว)ติดใจชอบเรื่องนี้เช่นเดียวกับผมด้วย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 30 ม.ค. 02, 14:05

ได้ดูเรื่องนี้ทางยูบีซีอีกหลายครั้งค่ะ เสียงในฟิล์ม  ไม่เคยเบื่อเลย
อยากมีครูอย่างครูคีตติ้งบ้างค่ะ
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 31 ม.ค. 02, 11:43

เยี่ยมตามเคย ขอบคุณครับ
บันทึกการเข้า
หนูนานา
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 31 ม.ค. 02, 18:29

ขอบคุณที่เอาเรื่องดีๆมาเล่าสู่กันฟังค่ะ  หนูนานาก็ชอบบทจบแบบไม่แฮปปี้ค่ะ  ดูมันจะจับใจมากกว่า  แต่มันก็เป็นความชอบในนิยาย  ละคร  ภาพยนต์นะคะ  ชีวิตจริงก็คงไม่มีใครอยากให้ชีวิตต้องจบลงแบบโศกนาฏกรรมหรอกนะคะ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.063 วินาที กับ 19 คำสั่ง