เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 3568 รำลึก บาร์บารา คาร์ดแลนด์ กันอีกครั้งเจ้าคะ
ดร.แพรมน และ นายตะวัน
บุคคลทั่วไป
 เมื่อ 27 ม.ค. 02, 04:39

จากที่เคยเสนอเรื่องราวของ บาร์บารา คาร์ตแลนด์  ในกระทู้ก่อนๆ เรามีเรื่องราวเพิ่มเติมของเธอผู้นี้จาก คุณเทาชมพูมาให้อ่านกันอีกเจ้าคะ

บาร์บารา คาร์ตแลนด์
นั ก เ ขี ย น ย อ ด นิ ย ม



   
ความจริง บาร์บารา คาร์ตแลนด์มาเที่ยวเมืองไทยหลายครั้งแล้ว แต่ไม่ได้ฮือฮา อาจจะเป็นเพราะเมื่อก่อนนี้ยังไม่ค่อยมีใครได้แปลนวนิยายของเธอเป็นภาษาไทยมากเท่าปัจจุบันก็ได้ จึงมีแต่เพียงคนในวงการหนังสือไม่กี่คนที่รู้ข่าวคราวนอกเหนือไปจากเจ้าของสถานที่ที่เธอมาพักคือโรงแรมโอเรียนเต็ล และบัดนี้ก็มีห้องสวีทตั้งชื่อเป็นเกียรติให้เธอว่า “ห้องสวีท บาร์บารา คาร์ตแลนด์” ประดับประดาตกแต่งด้วยสีชมพูล้วนอันเป็นสีโปรดของเธอ เพราะว่านักเขียนสตรีผู้นี้นิยมสีชมพูแปร๊ดบาดตาที่เรียกว่าสี ”ช็อคกิ้ง พิงค์” เรื่อยตั้งแต่หมวกไปจนจดรองเท้า และรวมทั้งปากกาที่เธอเซ็นลายเซ็นให้แฟนๆหนังสือด้วย
   
บาร์บารา คาร์ตแลนด์ เป็นนักเขียนที่นักวรรณคดีไม่ค่อยอยากจะพูดถึงเท่าไร โดยเฉพาะนักวรรณคดีประเภทที่เอาเป็นเอาตายกับการศึกษานวนิยาย เพราะพวกนี้ถือว่านวนิยายเป็น “ศาสตร์” อย่างหนึ่ง จึงควรประกอบด้วยคุณสมบัติหลายๆอย่างเช่น นวกรรม (Innovation) หรือความแปลกใหม่ไม่ซ้ำแบบกับนวนิยายที่มีมา ความคิดสร้างสรรค์ ศิลปะในการแต่ง ตลอดจนปรัชญาลึกซึ้งที่พวกตะวันตกนิยมขบคิดกัน หรือไม่ก็ควรลึกล้ำสุดหยั่งคะเนจิตใจตัวละครซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของมนุษยชาติ ฯลฯ คืออะไรก็ฟังโก้และขลังแต่ว่ายากจะเข้าใจพวกนี้ นวนิยายของบาร์บารา คาร์ตแลนด์ไม่มีสิ่งดังกล่าว เธอเป็นแต่เพียงนักเขียนนวนิยายรักที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก เขียนมากว่า ๔๐๐ เรื่อง ทำสถิติการเขียนนวนิยายจำนวนมากที่สุดจนขึ้นอันดับหนึ่งในหนังสือกินเนส คือในพ.ศ.๒๕๑๙ เขียนได้ ๒๑ เล่ม และทำลายสถิติตัวเองในปี ๒๕๒๐ คือเขียนได้ถึง ๒๔ เล่ม หนังสือของเธอจำหน่ายไปได้แล้วรวมทั้งหมดกว่าหนึ่งร้อยล้านเล่ม หนังสือกินเนสก็เลยยกเธอขึ้นเป็นอันดับหนึ่งตำแหน่ง “นักเขียนที่มีผลงานจำหน่ายแพร่หลายที่สุดในโลก” โดยไม่มีข้อแม้
   
คุณสมบัติของบาร์บารา คาร์ตแลนด์ที่ไม่ค่อยจะเกี่ยวกับงานเขียนมีอีกหลายข้อล้วนแล้วแต่หรูหราน่าทึ่ง ใครสนใจก็ไปหาอ่านได้จากประวัติของเธอที่พิมพ์เอาไว้ในนวนิยายที่เธอแต่งทุกเล่ม สำนักพิมพ์พรรณนาเอาไว้อย่างหยดย้อยทีเดียว เธอเป็นที่รู้จักในอีกฐานะหนึ่งคือเป็นแม่ของเคานเตสสเปนเซอร์ผู้เป็นแม่เลี้ยงของเจ้าหญิงไดอาน่า แต่ว่าการเกี่ยวดองกับราชตระกูลนี้มิได้นำผลประโยชน์ส่วนตัวมายังนักเขียนสตรีผู้นี้นัก เพราะว่าเจ้าหญิงไดอาน่าไม่ค่อยจะชอบแม่เลี้ยงเท่าไร ในวันอภิเษกสมรสบาร์บารา คาร์ตแลนด์ก็ยังไม่ได้รับเชิญด้วยซ้ำไป
   
ย้อนกลับมาถึงนวนิยายของเธออีกครั้งหนึ่ง บาร์บารา คาร์ตแลนด์ แต่งนวนิยายอยู่แนวเดียวคือแนวรัก เมื่อหลายสิบปีก่อนเธอเคยแต่งนวนิยายโดยใช้ฉากเหตุการณ์ยุคปัจจุบันอยู่บ้าง เป็นทำนองรักระคนชีวิตเช่นเรื่อง Stolen Halo เป็นต้น แต่ว่าเรื่องที่ประสบผลสำเร็จมากคือนวนิยายที่ใช้ฉากเหตุการณ์ในอดีตเช่น ฝรั่งเศสสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ สมัยนโปเลียน หรือถ้าเป็นประเทศอังกฤษก็สมัยพระราชินีอลิซาเบธที่ ๑ สมัยพระเจ้าจอร์ชที่ ๓ สมัยวิคตอเรียน และสมัยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๗ เป็นต้น แล้วก็หยุดอยู่เพียงแค่นั้น ไม่ได้คืบหน้ามาถึงสงครามโลกครั้งที่ ๑ และ ๒ จะมีก็แต่เล่มสองเล่มซึ่งเอาเป็นสถิติไม่ได้
   
เนื้อเรื่องของนวนิยายเหล่านี้ ร้อยละร้อยเป็นเรื่องของผู้ดีอังกฤษเช่นเหล่าเจ้านายและขุนนางผู้ดีมีตระกูลทั้งหลาย ในฐานะที่เป็นนักประวัติศาสตร์ด้วย บาร์บารา คาร์ตแลนด์จึงรู้รายละเอียดของแต่ละยุคสมัย พอจะนำเอาบรรยากาศหรือ “ความทันสมัย” ในแต่ละยุคมาเพิ่มสีสันให้คนอ่านของเธอได้ฝันหวานกันได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นบรรดา “หนุ่มสังคม” หรูหราฟุ้งเฟ้อต่างๆที่เรียกกันว่า พวก Bucks หรือพวก Corinthians ในสมัย “รีเจนท์” (หรือสมัยพระเจ้าจอร์ชที่ ๓ ซึ่งเป็นปรินซ์ออฟเวลส์พระโอรสเป็นผู้สำเร็จราชการแทน เจ้าชายองค์นี้ต่อมาขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าจอร์ชที่ ๔ ทรงเป็นผู้นิยมความหรูหราฟุ้งเฟ้อต่างๆตลอดจนแวดล้อมด้วยพระสหายชายหญิงชาวสังคมระดับสูง แถมด้วยมีหม่อมลับๆอีกหลายคน) หรือว่าถัดมาในสมัยปลายวิคตอเรียน และสมัยเอ็ดเวิร์ดเดียน ซึ่งเป็นยุคสมัยของความเหลวไหลทางศีลธรรมพอๆกันในหมู่ชนชั้นสูง ทั้งนี้ บาร์บารา คาร์ตแลนด์ จะนำเหตุการณ์เข้าไปโยงกับสังคมของฝรั่งเศสในยุคเดียวกันด้วย หัวข้อเรื่องที่เธอชอบนำมาเขียนมากคือสังคมของพวกโสเภณีชั้นสูงของฝรั่งเศสที่เรียกกันว่าพวก Demimonde
   
อย่างไรก็ตาม มิได้หมายความว่านวนิยายของบาร์บารา คาร์ตแลนด์ เป็นเรื่องที่แสดงความสำส่อนของตัวละคร ตรงกันข้าม นักเขียนสตรีผู้นี้จะระมัดระวังมากทีเดียวในการแสดงพฤติกรรมทางเพศเธอจะอนุญาตแต่เพียงฝ่ายพระเอกเท่านั้นที่ไปนอนเตียงเดียวกับสาวสังคมคนไหนก็ได้ตั้งแต่ฉากแรก ส่วนนางเอกนั้นจะทำได้ก็เฉพาะในฉากสุดท้าย…กับพระเอกคนเดียว และหลังจากสมรสกันอย่างถูกต้องตามกฎหมายและประเพณีแล้วด้วย
   
ถ้าเราจะเทียบว่าสิงห์เป็นเครื่องหมายการค้าของเบียร์ไทย หรือพญานาคเป็นตราประทับบนกลักไม้ขีดหรือไม่ก็ยาสตรีเพ็ญภาค พระเอกนางเอกของบาร์บารา คาร์ตแลนด์ก็จะมีแบบฉบับเฉพาะตัวเป็น “ยี่ห้อ” ของนวนิยายของเธอเหมือนกัน เพราะว่านวนิยายจำนวน ๔๐๐ กว่าเรื่องนั้น มีพระเอกนางเอกอยู่คู่เดียว เหมือนมิตร-เพชรา ในสมัยก่อน หรือ สันติสุข-จินตหรา …บาร์บารา คาร์ตแลนด์ทำแต่เพียงเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนสีผมกับเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวให้พระเอกนางเอกของเธอเท่านั้นเวลาปรากฎอยู่ในเรื่องต่างกัน พระเอกของเธอคือหนุ่มผู้ดีมีตระกูลวัยราวสามสิบปี ผมสีเข้ม นัยน์ตาสีเทา เป็นหนุ่มเสน่ห์แรงเจ้าของคฤหาสน์โอฬารในชนบทแต่ว่าตัวเองเข้ามาอยู่ในลอนดอนเพื่อเข้าสังคมแล้วก็เบื่อสังคมชั้นสูงแทบล้มประดาตาย เนื่องจากเอ่ยปากขอนอนกับสาวสังคมคนไหนแล้วไม่มีใครปฏิเสธเลยสักคน ยศของพระเอกผู้นี้อย่างสูงคือ ดยุค อย่างต่ำคือ เซอร์ แต่ว่าโดยมากจะเป็นมาควิส หรือไม่ก็ เอิร์ล ส่วนนางเอกนั้นเป็นสาวเอวบางร่างน้อยอายุ ๑๘ ปี รูปหน้าเรียวแหลม นัยน์ตากลมโต สวยบริสุทธิ์ไร้เดียงสาชนิดไม่รู้ว่าไก่ออกไข่อย่างไร เธอเป็นสาวผู้ดีมีตระกูลเช่นเดียวกับพระเอก หากยากจนเพราะว่าพ่อของเธอไม่ใช่ลูกคนโตของปู่จึงไม่มีสิทธิสืบมรดกตามธรรมเนียมการสืบตระกูลอังกฤษ เธอจึงมักจะเกิดมาและใช้ชีวิตอยู่ในชนบทเล็กๆของอังกฤษ จนกระทั่งได้มาพบพระเอกเข้าส่วนใหญ่พ่อแม่ของเธอจะอายุสั้น ตายไปเสียก่อนบทแรก เพื่อประหยัดบทบาทเอาไว้ให้พระเอกนางเอกเล่นกันได้เต็มที่ และเป็นโอกาสให้นางเอกได้เข้ามาผจญภัยในกรุงลอนดอนได้โดยสะดวกด้วย
   
แนวเรื่องในจำนวนสองสามแนวในสี่ร้อยกว่าเรื่องนี้คือนางเอกถูกเข้าใจผิดว่าเป็นโสเภณีจะด้วยเหตุบังเอิญหรืออะไรก็ตาม สาวน้อยบริสุทธิ์ไร้เดียงสาจะพลัดเข้าไปปะปนอยู่ในวงการนางละครบ้าง ในกลุ่มโสเภณีชั้นสูงบ้าง ซึ่งเป็นวงการที่ได้ต้อนรับหนุ่มผู้ดีมีตระกูลมากกว่าวงการอื่นๆ แต่ว่านางเอกก็จะปลอดภัยจากความแปดเปื้อนมาได้ชนิดไม่มีริ้วรอยขีดข่วน แล้วสมรสกับพระเอกอย่างเงียบเชียบและผาสุกในตอนจบ แต่บาร์บารา คาร์ตแลนด์จะไม่ยอมจบจนกว่านางเอกจะสารภาพรักอย่างเอียงอายเป็นเนื้อที่หลายหน้ากระดาษ เช่นเดียวกับพระเอกจะสบถสาบานความรักยิ่งใหญ่กว่าสวรรค์ชั้นฟ้าของเขาอีกหลายหน้ากระดาษเช่นกัน และจบลงด้วยย่อหน้าอมตะที่ไม่ต้องแปล เช่น
   
Then the fire within then burst into flames and rising higher and higher carried them burning wildly and passionately with the violence of love up towards the peaks of ecstasy
   
ลักษณะเฉพาะที่อาจเรียกได้ว่า “ยี่ห้อ” อีกประการหนึ่งของนักเขียนสตรีผู้นี้คือเธอจะตั้งชื่อที่ยาวและลงท้ายด้วยเสียง “อา” กับ “เอีย” เท่านั้นให้นางเอกของเธอ ร้อยทั้งร้อยเป็นชื่อที่ไม่คุ้นหูในทะเบียนบ้านของชาวอังกฤษ คือนางเอกของเธอจะไม่มีวันชื่อ เจน เมรี่ ซูซาน หรือแม้แต่ไดอาน่า แต่ว่าจะมีชื่อหยดย้อยกว่านี้เช่น ควีเนลลา กราซิลลา ซาลีนา เดเมลซา มาริสกา วาลดา สำหรับเรื่อง “อา” และ ลูเครเซีย กาเลเซีย แอนเดรีย สำหรับเสียง “เอีย”
   
แม้ว่าเนื้อเรื่องส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกิดในอดีตเหมือนสองสามศตวรรษก่อน แต่ว่านวนิยายของบาร์บารา คาร์ตแลนด์เขียนด้วยภาษาอังกฤษที่ง่ายมาก สามารถจำหน่ายได้อย่างแพร่หลายในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง เช่นประเทศในยุโรปทั้งตะวันตกและตะวันออก (ยกเว้นประเทศในเครือคอมมิวนิสต์) เรื่อยมาจนถึงประเทศฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ ข้อนี้คงจะเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่นวนิยายของเธอขายได้มากคือไม่ยากเกินแก่ความเข้าใจของคนอ่าน นอกเหนือไปจากเหตุผลว่าเธอขยันเขียนออกมาถึงสี่ร้อยกว่าเล่ม ซึ่งถ้าหากว่าเล่มหนึ่งๆขายได้สักสองแสนห้าหมื่นเล่ม สี่ร้อยเล่มก็คงถึงหนึ่งร้อยล้านได้อย่างไม่ยาก ขณะที่นักเขียนที่เขียนได้เล่มละล้านฉบับ มีแรงเขียนได้ยี่สิบเล่มก็เก่งแล้ว ยอดจำหน่ายจึงเทียบกันไม่ติด
   
เหตุผลอีกอย่างหนึ่งอาจจะเป็นด้วยเหตุผลคล้ายกับความสำเร็จของนวนิยายพาฝันทั้งหลาย คือเป็นเรื่องที่ประเทืองอารมณ์ ไม่ว่าในโลกแห่งความเป็นจริงจะเป็นอย่างไร ในโลกของบาร์บารา คาร์ตแลนด์ยังมีหญิงสาวที่บริสุทธิ์สะอาด มีความรักที่อมตะของชายหญิง มีเรื่องยุ่งยากที่จบลงด้วยดีอยู่เสมอในหน้าสุดท้าย ไม่มีความตาย ไม่มีการหลั่งเลือด ไม่มีความผิดหวังหรือระทมทุกข์ อย่างน้อยคนอ่านซึ่งเผชิญกับความจริงอันโหดร้ายอยู่ทุกวันนี้ไม่ว่าโดยตรงหรือทางอ้อม ก็จะได้ผ่อนคลายความเคร่งเครียดลงได้จากนวนิยายของเธอ
   
นักวรรณคดีหวังอะไรมากกว่านี้ จึงผิดหวังเมื่อได้อ่าน  ใครโชคดีกว่ากันก็ไม่รู้!
บันทึกการเข้า
ใบตอง
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 26 ม.ค. 02, 19:50

เคยอ่านเรื่องจุมพิตพญามาร (Kiss of the devil) แปลโดย อมราวดี สนุกดีค่ะ
http://vcharkarn.com/reurnthai/uploaded_pics/RW939x002.jpg'>
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 27 ม.ค. 02, 16:39

บาร์บารา คาร์ทแลนด์อำลาโลกไปเมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ปี ๒๐๐๐    อายุ ๙๗ ปี

มีเว็บของเธอชื่อ

www.barbaracartland.com

เปิดเข้าไปดูประวัติ ครอบครัวและคฤหาสน์ของเธอได้ค่ะ
http://vcharkarn.com/reurnthai/uploaded_pics/RW939x003.jpg'>
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.084 วินาที กับ 20 คำสั่ง